แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำบรรยายและทบทวนธรรมในวันนี้จะได้กล่าวถึงการสละสิ่งที่ไม่ควรมีในตนสืบต่อไปจากวันก่อนที่ยังไม่จบ ขอทบทวนความเข้าใจไว้เสมอ ว่าความมุ่งหมายของการปฏิบัติในขั้นนี้ มุ่งหมายให้มีลักษณะเหมือนกับการให้ทาน เช่นสิ่งที่มีอยู่ในตนที่ไม่ควรจะมีเอาไว้ เหมือนกับสิ่งที่จะต้องสละออกไป เป็นนิสัยเลวๆที่เพิ่งเกิดขึ้นซึ่งอยู่ในฐานะที่ควรจะสละได้ ถ้าหากสละสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติธรรมะสูงๆขึ้นไป คือการปฏิบัติวิปัสสนา เป็นต้น ซึ่งยากไปกว่า แต่การปฏิบัติวิปัสสนาก็เพื่อละกิเลสเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน เพื่อไม่ให้มีกิเลสชั้นเลวเหล่านี้เหลืออยู่มาก ก็จึงควรปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการให้ทานกันไปเรื่อยๆ สำหรับสิ่งที่ควรละออกไปเสียจากตนนั้นได้กล่าวมาโดยชื่อของ อุปกิเลส คือกิเลสที่เพิ่งสะสมเป็นนิสัยขึ้นมา และได้กล่าวถึงอวิชา โทสะ โกรธะและอุปนาหะ เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่การบรรยายครั้งก่อน ในวันนี้จะได้กล่าวถึงอุปกิเลสเป็นอันดับต่อไป อุปกิเลส ชื่อ มักขะ คือนิสัยเลวที่ละเลยในการที่จะตอบสนองคุณผู้มีบุญคุณ คำว่ามักขะมักจะแปลกันว่าลบหลู่คุณท่านผู้มีพระคุณ
แต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้วคนเราไม่มีใครสักกี่คนที่จะคิดลบหลู่บุญคุณของผู้มีบุญคุณ เพราะความรู้สึกขอบคุณนั้นมันมีอยู่มาก แต่มันก็มาบกพร่องในการที่ละเลยต่อการที่จะตอบแทนบุญคุณ รู้สึกอยู่ว่าคนนั้นคนนี้มีบุญคุณแก่เรา คิดอยู่ว่าจะตอบแทน แต่แล้วก็ผลัดวันประกันพรุ่ง ผลัดเพี้ยนเรื่อยมา ละเลยโอกาสที่ควรจะตอบแทนได้จนกลายเป็นไม่ต้องตอบแทน ลักษณะอย่างนี้มีได้ทั่วไปแก่คนทุกคน ส่วนการที่มีเจตนาจะลบหลู่บุญคุณหรือเนรคุณบุคคลที่มีบุญคุณนั้นไม่ค่อยจะมี ความรู้สึกทางสามัญสำนึกของมนุษย์เรามีไม่มีมากขนาดนั้น คือไม่มีถึงขนาดจะเนรคุณคนอื่นหรือลบหลู่บุญคุณที่เขามีอยู่กับตน แต่ว่ามีได้ง่ายที่สุดที่จะละเลยการตอบแทนบุญคุณของผู้ที่มีบุญคุณ คล้ายกับว่าจะแกล้งทำเป็นลืมไปเสียผลัดเพี้ยนเรื่อยไปจนไม่ต้องทำ หรือเกิดเสียดายขี้เหนียวและอายขึ้นมาก็ไม่ทำ จนในที่สุดก็ไม่ได้ทำ นี่คือนิสัยเลวที่เรียกว่าอุปกิเลสชื่อมักขะในที่นี้ที่เราจะต้องให้ทานออกไปเสีย โดยการตั้งใจ จิตที่เข้มแข็งบังคับตัวเองไม่ให้ละเลยในหน้าที่อันนี้ และก็พยายามตอบแทนบุญคุณท่านที่มีบุญคุณ นั่นแหละคือการสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีในตนที่ชื่อว่า มักขะข้อนี้ ทุกคนจะต้องพิจารณาดูอยู่เสมอว่าเราจะอยู่ตามลำพังไม่ได้ เราอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลรอบด้าน ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ไม่มีใครสามารถที่จะอยู่คนเดียวได้โดยสะดวกสบาย ฉะนั้นเราจึงต้องถือว่าสัตว์ทั้งหลายมีบุญคุณแก่กันและกัน มานึกถึงข้อนี้ไว้ให้เสมอๆก็จะละนิสัยเลว คือการละเลยในการที่จะตอบแทนคุณเสียได้โดยไม่ยาก
อุปกิเลสข้อถัดไปมีชื่อว่า ปลาสะ ความหมายถึงการตีเสมอหรือแข่งดี คำว่าตีเสมอหรือแข่งดีนี่มีความหมายไปในทางที่เป็นอกุศล คือเจตนาชั่ว และเป็นกิเลส ไม่ได้หมายความไปในทำนองที่ว่าจะทำให้ตัวเอง ดีเหมือนเขา แต่มีจิตคิดประทุษร้ายในการแข่งดี ดังนั้นจึงจัดเป็นกิเลส ถ้าแข่งดีในทางที่จะให้ดีเหมือนเขาในสิ่งที่ควรจะดีได้ อย่างนี้ไม่จัดเป็นกิเลส แต่คนธรรมดาสามัญทั่วไปมีนิสัยไม่ยอมแพ้ หรือแข่งดีด้วยจิตที่เป็นอกุศล ไม่สำนึกถึงฐานะของตนหรือของบุคคลใดๆ เป็นเหตุให้ตีเสมอในทางที่ไม่สมควร หรือแข่งดีในทางที่ไม่สมควร เราจะเห็นได้ในหมู่คนที่มีการศึกษาน้อย จะมีการตีเสมอต่อผู้ที่ไม่ควรจะไปตีเสมอ แต่เพราะความโง่ของบุคคลนั้นเองจึงไปตีเสมอในบุคคลที่ไม่ควรจะไปตีเสมอ พูดอย่างบ้านนี้เมืองนี้เขาเรียกว่าคนที่ไม่มองดูหัวแม่เท้าของตัวเอง ที่อื่นอาจจะเรียกเป็นอย่างอื่น แต่เมืองนี้เรียกว่าคนที่ไม่มองดูหัวแม่เท้าของตัวเองว่ามันเล็กใหญ่เท่าไรก็ไปตีเสมอด้วยความลืมตัว เป็นเหตุให้เขาเกลียดน้ำหน้า แทนที่จะรับประโยชน์ในบางอย่าง ก็ไม่ได้รับประโยชน์และก็ทำลายตัวเอง ดังนั้นจึงจัดเป็นกิเลสหรือเป็นนิสัยเลว เราจะต้องดูให้ดีๆอย่าให้มีการแข่งดีในลักษณะที่เป็นบาป เป็นอันอย่างนั้น ต้องพยายามที่จะสละออกไป ด้วยการประพฤติที่เขาเรียกกันว่า เจียมกาย เจียมใจ หรือเจียมตน แต่มันก็เป็นการยากที่คนโง่จะมีความรู้สึกเรื่องเจียมกาย เจียมใจหรือเจียมตน อะไรทำนองนี้ เพราะความโง่เป็นเหตุให้ไม่รู้จักความหมายของคำว่าเจียมนั้นเป็นอย่างไร ก็จะตีเสมอเตลิดเปิดเปิงไป เป็นบาป เป็นอกุศล ทั้งที่การเจียมตนนี้เป็นหนทางที่จะละนิสัยเลว อันนี้เรียกว่า จาคะ คือบริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีในตนได้เหมือนกัน
ข้อต่อไปก็คืออุปกิเลสชื่อ อิสสา ภาษาบาลีว่าอิสสา ภาษาไทยแปลเป็นริษยา ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดีและก็คิดจะทำลายล้างความดีของผู้อื่นอย่างนี้เรียกว่า จิตริษยา บางทีก็ใช้กันผิดสับกันอยู่ ไปใช้คำว่าอิจฉาตาร้อน คำว่า อิจฉาไม่ได้แปลว่า ริษยา คำว่า อิจฉา ในภาษาบาลีแปลว่า ความอยาก ส่วนริษยา นั้นคือ อิสสา ถ้าใครเคยเข้าใจคำว่าอิจฉาคือริษยา ควรเข้าใจเสียใหม่ อิสสาริษยานี่มันมาจากความเห็นแก่ตัว เด็กๆเกิดมาจากท้องแม่ไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ก็เริ่มมีนิสัยริษยา ก็เขารู้สึกว่าคนที่เข้ามาเป็นคู่เปรียบหรือคู่แข่งนั้นจะทำลายอะไรของตน จะทำให้ตนได้รับอะไรน้อยลงไป ยิ่งมีความเห็นมากแก่ตนเท่าไร ก็ยิ่งริษยามากเท่านั้น คนริษยาคนเก่ง แต่ว่าสัตว์นี่ดูไม่ออกว่ามันริษยากัน ดังนั้นคนก็เสียเปรียบสัตว์ในข้อนี้ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเราเกิดละอายอย่างนี้ขึ้นมาก็จะละความริษยาได้ง่าย เป็นหนทางที่จะละความริษยาได้ง่าย โดยละอายสัตว์ ถ้าให้ดีกว่านั้นก็จะนึกได้เองว่า ความริษยานี่ก็เป็นความโง่เขลาชนิดหนึ่ง เป็นการตัดทอนหนทางความเจริญของตัวเอง มันจะทำลายมิตรภาพโดยไม่รู้สึกตัว ทำไปในบุคคลที่ไม่ควรกระทำ เมื่อมันเกิดเป็นนิสัยเหนียวแน่นหนาแน่นขึ้นในสันดานแล้ว มันก็จะทำไปอย่างหลับหูหลับตาออกมานอกหน้า จนคนเขาเกลียดน้ำหน้ากันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วมันจะดีได้อย่างไร ฉะนั้นควรจะกลัวให้มาก และไม่ควรจะต้องเสียประโยชน์หรือเสียบุญกุศลออกไปเพราะสิ่งนี้มีท่านผู้รู้ได้กล่าวว่าความไม่ยินดีซึ่งกันและกัน คือความริษยาซึ่งกันและกันนี้ทำโลกให้ฉิบหาย นี้เป็นคำกล่าวที่จริงที่สุด ลองไปพิจารณาดูแม้ในหมู่ เล็กๆคณะเล็กๆหรือแม้ในครอบครัว ให้ไม่มีความยินดีแก่กันและกันแล้วมันก็ต้องล่มจมนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่าริษยาในที่นี้ จะมองเห็นโทษว่ามันได้เท่าไรก็เป็นหนทางให้ละมันได้เท่านั้น เพราะที่แท้มันก็เพิ่งเกิด เมื่อเติบโตขึ้นมาตามลำดับ ฉะนั้นก็ควรจะละได้ตามลำดับถอยหลังกลับลงไป ที่เรียกว่าอุปกิเลส หรือนิสัยเพราะมันมีมากมีได้ง่ายแก่ทุกคน บางคนมันซ่อนเก่งซ่อนความริษยาของตัวเองไว้มิดชิดคนอื่นไม่รู้ แต่แล้วมันก็เผาจิตใจของบุคคลนั้นอยู่ดี ดังนั้นอย่าร้ายดีกว่า
อุปกิเลสข้อถัดไปเรียกว่ามัจฉริยะ ความตระหนี่ มันก็ไม่พ้นไปจากมูลเหตุคือความเห็นแก่ตัว ที่ทำให้เกิดความตระหนี่ ด้วยเหตุว่าไปติดในรสของอารมณ์ที่มากระทบ ก็เลยอยากจะมีไว้ตลอดการณ์ไม่แบ่งปันผู้อื่น มีทั้งรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสหรือปัจจัยที่เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเป็นที่ตั้งแห่งความริษยา เอ้อ,ความตระหนี่ เราจะมองเห็นได้ทันทีว่ามันเป็นเรื่องของความโง่มากกว่าเป็นเรื่องของความโลภ ครั้นจะมีหรือเป็นกิเลส แต่ความมัธยัสถ์หรือการที่ไม่ยอมให้ในกรณีที่ไม่ควรจะให้ก็ไม่เรียกว่าความตระหนี่ การเก็บหอมรอมริบด้วยสติปัญญาไม่เรียกว่าความตระหนี่ การไม่ยอมให้โดยเด็ดขาดในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควรจะให้ก็ไม่ใช่ความตระหนี่ ความตระหนี่หมายถึงกรณีที่ควรจะแบ่งปันไม่ยอมให้ มันก็ยังโง่ถึงขนาดที่ไม่ยอมแบ่งปัน นั้นก็เลยเป็นบุคคลที่ทำลายตัวเองทำลายมิตรภาพที่มีอยู่ หรือว่าป้องกันไม่ให้เกิดมิตรภาพที่มาใหม่เป็นการทำลายตัวเองอย่างนี้ ถ้าไม่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องมันก็ทำผิดได้มาก คือไม่รู้ว่าเท่าไรพอดีเท่าไรเหมาะสมที่ควรจะแบ่งปัน ผมเองเมื่อเด็กๆก็ได้รับสมัญญาว่าเป็นคนขี้เหนียวเหมือนกัน แต่ก็ไม่มองเห็นถึงขนาดที่ว่ามันเป็นขี้เหนียวชนิดที่ไม่ควรจะขี้เหนียว จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ขี้เหนียวในสายตาของพระเณรทั่วๆไป อะไรนิดหนึ่งก็ไม่ยอมให้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรจะให้ ถึงแม้จะไม้ขีดสักก้านหนึ่งก็ไม่ยอมให้ แต่แล้วก็มีข้อพิสูจน์ว่าไอ้สิ่งที่เขาหาว่าขี้เหนียวนั่นกลับไม่ได้เอาไปไหน กลับเอาไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่นหรือพระเณรนั้นเองในเมื่อถึงคราวจำเป็นที่มันจะต้องใช้ คือใช้ส่วนตัวเองไม่รู้จะใช้อะไรเลยกลายเป็นขี้เหนียวไว้ช่วยคนที่หาว่าขี้เหนียวนั่นเอง นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาให้เข้าใจดูว่ามันต่างกันอย่างไร discriminageแยกแยะดูให้ดีๆว่ามันต่างกันอย่างไร ความขี้เหนียวที่มีมูลมาจากการเห็นแก่ตัวนี่มันเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีมูลมาจากการเห็นแก่ตัว มันก็คือหวงเอาไว้ช่วยผู้อื่นไม่ควรจะนับรวมเข้าไว้ในข้อนี้และอยากให้ทุกๆคนเข้าใจข้อนี้ให้ดี ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่าให้เสียทีแก่กิเลส ให้พิจารณาถึงโทษของความขี้เหนียวที่ทำลายมิตรภาพและป้องกันไม่ให้เกิดมิตรภาพ ว่า มันน่ากลัวที่สุด มันก็จะค่อยบริจาคออกไปได้ คือให้ออกไปได้เสียจากจิตใจของตัว นี่เราก็ได้พูดมาถึงอุปกิเลส ๔ ข้อ คือ มักขะ ละเลยในการตอบแทนบุญคุณผู้อื่น ปลาสะ แข่งดีตีเสมอ อิสสา คือริษยา มัจฉริยะ ตระหนี่ ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องบริจาคออกไปเสียจากจิตใจอย่างนี้
ทีนี้ก็มีอีกแง่หนึ่งที่เราเคยพูดกันมาแล้วว่าการที่จะบริจาคขว้างทิ้งออกไปดื้อๆอย่างนี้ บางทีก็จะกลายเป็นความโง่ชนิดหนึ่ง นี่ถ้าเราไปเปลี่ยนชนิดที่ว่าเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ก็เป็นสิ่งที่น่าทำ ทีนี้สิ่งที่ควรจะขว้างทิ้งถ้าไปแก้ไขใช้แทนอย่างอื่นได้ก็ไม่ต้องขว้างทิ้ง บางส่วนกลับใช้ได้ประโยชน์มากขึ้นไปอีกเขาเรียกว่า subination อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องคิดนึกถึงให้มาก จะไม่ขาดทุนยุบยับ
ทีนี้มาดูว่าเราจะเปลี่ยนไอ้ที่ร้ายให้กลายเป็นดีได้อย่างไร มักขะไม่รู้บุญคุณหรือลบหลู่คุณหรือว่าละเลยต่อการทดแทนบุญคุณนี่ ถ้ามีนิสัยอย่างนั้นจริงก็เปลี่ยนให้มันไปเนรคุณกิเลสเสีย เพราะว่ากิเลสนั้นเป็นเหตุให้เกิดตัวกูของกูขึ้นมา มีลักษณะเหมือนบิดามารดาในฝ่ายบาปอกุศล ที่เราคิดว่าตัวกูของกูนี่เพราะความโง่คืออวิชชา เพราะความอยากคือตัณหา ฉะนั้นถ้ามีนิสัยเนรคุณก็ไปเนรคุณอวิชชาหรือตัณหาให้หนักๆไม่มาฆ่าพ่อฆ่าแม่ ตามพุทธภาษิตบริษัทว่าฆ่าบิดามารดาเสียแล้วจะปรินิพพาน บิดามารดาในที่นี้หมายถึง อวิชชาเหมือนกับบิดา ตัณหาเหมือนกับมารดา ทำให้ก่อภพก่อชาติเป็นตัวกูของกู ถ้ามีสันดานเนรคุณก็เนรคุณกิเลสคืออวิชาและตัณหานี่กลับจะได้ผลดี เอาอำนาจเนรคุณไปใช้กับสิ่งที่ควรจะเนรคุณนี้ก็เลยได้ผลดี นิสัยที่เนรคุณนั้นก็เลยกลายเป็นถูกนำไปใช้ในทางที่มีประโยชน์ได้ ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาที่จะเข่นฆ่าอวิชชาตัณหากันเป็นการใหญ่ สำหรบตีเสมอหรือแข่งดีนี่ก็คล้ายๆกันอีก มีพุทธภาษิตทำนองที่ยั่วยุให้ภิกษุคิดว่า เมื่อผู้อื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ เมื่อผู้อื่นเป็นพระอรหันต์ได้เราก็ต้องเป็นได้ การปฏิบัตินี้ไม่เหลือวิสัยของเราก็มีผู้ปฎิบัติได้ การที่จะละกิเลสและเป็นพระอรหันต์ก็เลยมีการแข่งดีตีเสมอชนิดที่เป็นผลดี เราก็คนเขาก็คน เมื่อเขาละกิเลสได้เราก็ควรละกิเลสได้ การแข่งดีตีเสมอลักษณะนี้กลายเป็นผลดีไปอย่างนี้
ทีนี้การริษยานี่ รู้สึกว่ายากที่จะหาแง่ดีหรือหามุมดีของมัน ใช้หลักธรรมดาสามัญทั่วๆไป ถ้าหากกลัวว่าเขาจะดีกว่าเรา เราก็อุตส่าห์ขยันขันแข็งเข้าไว้ อาศัยอำนาจของความริษยาอยู่ในใจนั้นมาทำให้ตัวเองขยันขันแข็งพากเพียรให้มันมากเข้า ส่วนที่เป็นความริษยาก็จะตายด้านไปได้เป็นหมันไปได้ มาได้ผลที่เราพยามพากเพียร ยิ่งริษยาเท่าไรยิ่งพากเพียรเท่านั้น กำลังของความริษยามีมากเท่าไรก็ยิ่งมีกำลังของความเพียรที่ว่าเอาชนะหรือต่อสู้หรือป้องกันหรือหามาให้มันมากเข้าเท่านั้น แรงริษยาเราใช้เป็นแรงของความเพียรเพื่อจะต่อสู้แข่งขันกับผู้ที่เราริษยา ถ้ามัวริษยาอยู่เฉยๆมันก็ฆ่าตัวอง
อันสุดท้ายที่เรียกมัทฉริยะขี้เหนียวไม่เผื่อแผ่ควรจะเปลี่ยนเป็นสะสม เป็นคนสะสมสิ่งที่ควรสะสมก็ไม่พ้นไปจากกุศลหรือความดีหรือความเฉลียวฉลาดที่เรียกว่ากุศลนั้นนะ คิดที่จะตั้งยุ้งตั้งฉางตั้งคลังขนาดใหญ่เก็บสะสมบุญกุศลก็คงไม่เป็นอันตรายอะไร อย่าไปริษยาวัตถุสิ่งของภายนอกหรืออะไรทำนองนั้น อย่าไปขี้เหนียววัตถุสิ่งของภายนอก แล้วก็สะสมกุศลหรือความดีนี้ ได้อาการของความขี้เหนียวนี้มันก็ได้ง่ายขึ้นไม่ต้องสลัดสิ่งที่มันเป็นนิสัยทิ้งออกไปโดยสิ้นเชิง ก็เปลี่ยนความหมายหรือเปลี่ยนกำลังเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของมันเสีย เหมือนที่ได้พูดมาแล้วว่าน้ำมันจะท่วมบ้านตายกันหมดก็เปลี่ยนให้มันเป็นเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าเสียอย่างนี้เป็นต้น มักจะมองข้ามข้อเท็จจริงอันนี้กันเสียเป็นส่วนมาก
ดังนั้นเราจึงเห็นสิ่งต่างๆถูกทิ้งๆขว้างๆไม่มีประโยชน์เน่าเปื่อยผุพังไป ถ้ามีปัญญาก็จะสามารถประดิษฐ์สิ่งที่คนอื่นทิ้งให้เป็นประโยชน์ได้ วิชานี้ควรจะสนใจ คือวิชาที่จะเอาของที่เขาเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เขาทิ้งแล้วมาทำให้มีประโยชน์เป็นของที่ใช้ได้ อันนี้เป็นรากฐานของการมีสติปัญญาต่อไปข้างหน้าในการที่จะเปลี่ยนกิเลสให้เป็นโพธิได้สนุก อุปกิเลส ๔ ข้อมีอยู่อย่างนี้และจะละมันอย่างนี้เราจะแก้แง่ร้ายให้กลายเป็นแง่ดีได้ลักษณะนี้