แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำบรรยายทบทวนธรรมะ วันที่ 20 สิงหาคม 2513 นี้ จะได้กล่าวถึงการสละสิ่งที่ไม่ควรมีในตน คือ การให้ทานชนิดที่ ๔ ต่อจากวันก่อนยังไม่จบ การให้ทาน สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนออกไปจากตน เราเรียกว่า การสละหรือการให้ เรียกเหมือนกันเพราะว่าไม่อยากจะให้มันมากเรื่อง ให้เป็นว่าทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยการสละหรือการเสียสละ ประพฤติเพียงอย่างเดียวก็เป็นการเพียงพอเรื่อยๆไปจนถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน
ที่จริงการละนิสัยเลวๆนี้ อย่าไปจัดเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นอะไรให้มันมากเรื่อง จัดเป็นการให้ทาน ง่ายๆเสียดีกว่า คือทำให้มันสิ้นไปจากนิสัยและความเคยชินเหมือนกับว่าพร่ำพูดจาสั่งสอนหรือเฆี่ยนตีลูกหลานให้ละอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อสอนให้เขาละสิ่งเหล่านั้นออกไป ทีนี้เอามาใช้กับตัวเอง ให้ละสิ่งที่ไม่ควรจะมีในตน เอาตนเป็นที่พึ่งแก่ตน เอาตนเป็นทั้งผู้ที่ตีและผู้ถูกตี เป็นทั้งโจทก์เป็นทั้งจำเลย ด้วยความรู้สึกธรรมดาสามัญที่จะพอมองเห็นได้หรือเข้าใจได้สำหรับคนทั่วไป นี่การปฏิบัติธรรมะมันจะได้ง่ายเข้า มันจะไม่ยากเพราะเหตุนี้ เมื่อได้มีหัวข้อว่าการสละนิสัยเลวๆไปจากตนเป็นการให้ทานชนิดหนึ่งก็พูดมาแล้วในตอนที่แล้วมา
ทีนี้ก็อยากจะพูดรายละเอียดบางอย่างต่อไปอีกเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น หรือเผื่อจะเอาไปใช้ปฏิบัติให้ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ครั้งที่แล้วมาถ้ายังจำได้คงจะจำได้ว่าไอ้การละอะไรออกไปนี่ มันมีความหมายวิเศษอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ การที่เราแก้ไขไอ้ที่มันร้ายให้กลายเป็นดีไปเสีย เอามาใช้แต่เป็นคุณโดยส่วนเดียว อย่างน้ำท่วมก็เอามาใช้เป็นแรงงานสำหรับทำกระแสไฟฟ้าเสีย ไฟไหม้บ้านก็เอามาใช้ถลุงเหล็กเสีย อย่างนี้มันก็ทำได้อย่างนี้เรียกว่า แก้ไอ้ที่ร้ายให้กลายเป็นดี ไอ้ที่ร้ายมันไม่ดีก็เท่ากับสละไปแล้วก็สละส่วนร้ายออกไปแล้วก็เหลืออยู่แต่ส่วนดีมีแต่ได้กำไร อยากจะแนะว่าจงทำในลักษณะอย่างนี้ดีกว่าเรื่องมันจะได้น้อยเข้า จะไปละมันโดยตรงไปรบราฆ่าฟันไปต่อสู้กับมันโดยตรงกับกิเลสนี่ เรามีแต่ส่วนที่จะพ่ายแพ้มันมากกว่า นี่เรามา(นาทีที่ 05.19 เสียงไม่ชัด) ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า มาเหนือเมฆ เอากิเลสนั้นมาใช้มาทำให้กลายเป็นเรื่องของโพธิความรู้หรือความสะอาดไปเสีย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือให้เรามารู้จักเล่นตลกกับกิเลส ทำกิเลสไม่ให้กลายเป็นกิเลสมันก็เท่ากับละกิเลสไปแล้วและก็ได้สิ่งอื่นมาแทนด้วย เพราะฉะนั้นอาการที่ต้องสู้ด้วยความยากลำบาก กัดฟัน ทน มันก็จะไม่ค่อยจะมี เพราะเราใช้วิธีอย่างที่เรียกว่าเหนือเมฆอย่างที่กล่าวแล้ว
กิเลสประเภทที่เรียกว่าจริต เห็นได้ง่าย เช่น ราคะจริต เราเปลี่ยนให้เป็นธรรมราคะ ธรรมกามะ ธรรมนันทิไปเสีย ถ้าราคะในกามารมณ์ เราเรียกว่ากามราคะ แรงงานที่จะมีแทนที่จะมีในทางกามารมณ์เอามาเปลี่ยนให้เป็นในทางธรรม ก็เรียกว่า ธรรมราคะ ธรรมกามะไปนี่เอามาใช้ในสิ่งเหล่านี้ ทีเดียวได้ผลทั้งสองทาง ไอ้โทสะนี่ทำให้กลายเป็นนิพพิทาคือเอือมระอา ไม่ชอบ หรือเกลียดในสิ่งที่ไม่ดีไปเสีย ที่โมหะ เอามาทำเป็นอุเบกขาเสีย คือไม่รู้ไม่ชี้ไปเสียล่ะกัน ทำเป็นโง่ มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น วิตก คิดเก่ง เจ้าความคิด ก็เปลี่ยนให้มันเป็น โยนิโสมนัสสิการเสีย ทีนี่ศรัทธา จะใช้ความเชื่อเป็นแรงให้เกิดสมาธิทำศรัทธาให้กลายเป็นสมาธิเสีย เพราะว่ามีศรัทธามากทำสมาธิง่าย พุทธิ มัวเมาในความรู้หรือบ้ารู้ ก็ทำให้เป็นปัญญาเป็นญานไปเสีย
แต่ว่าทั้ง ๖ อย่างเหล่านี้มันเป็นเพียงจริตที่ไม่ถึงกับจะเรียกว่านิสัยเลว ฉะนั้นปัญหามันยังเหลืออยู่ในข้อที่ว่า อะไรเรียกว่านิสัยเลว นิสัยเลวนี้ก็อยากระบุหมวดกิเลสประเภทที่เรียกว่า อุปกิเลส อุปกิเลส ๑๖ อย่าง คนที่เรียนนักธรรมก็ว่าหญ้าปากคอก ท่องได้กันทุกคน แต่อาจจะมองข้ามไปว่านี่เป็นเรื่องอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ไม่ได้เกี่ยวกับความเลวหรือนิสัยเลวของตนที่มีอยู่เป็นประจำวัน ฉะนั้นจึงไม่เคยคิดจะละหรือละไม่ได้
คำว่าอุปกิเลส ถ้าตามตัวหนังสือมันแปลว่าใกล้จะเป็นกิเลสแต่มันไม่ถือเป็นกิเลสโดยตรงให้ถือว่ามันใกล้กิเลส ก็คือไม่ปรับโทษกันมากนักเพราะว่านี้สิ่งเหล่าเป็นเพียงนิสัย อุปกิเลสทั้ง ๑๖ อย่างนี้มันเป็นเพียงนิสัยที่ค่อยๆสร้างขึ้นมาทีละน้อยละน้อยโดยที่เราไม่ได้มีเจตนาอะไรมากมายนัก มันเป็นมาตามธรรมดา สามัญชน ปุถุชน พอเกิดขึ้นมาปล่อยมาตามเรื่องมันก็เป็นอย่างนี้เป็นนิสัยไป เป็นนิสัยที่เจืออยู่ด้วยกิเลสจึงไม่ปรับกันมากนักแล้วก็เพ่งเล็งเอาแต่ที่มันอยู่ที่ผิวๆที่แสดงออกมาข้างนอก
ใน ๑๖ อย่างนี้ อย่างแรก ก็คือ อภิชฌาวิสมโลภะ ตามตัวหนังสือแปลว่า การเพ่งเล็งด้วยความโลภที่ไม่สม่ำเสมอ ฟังดูแล้วมันยุ่ง แปลกันง่ายๆก็คือ ความมักได้ นิสัยมักได้เป็นนิสัยเลว ใครๆก็ประณามว่าเป็นนิสัยเลว อ้าว, แล้วทำไมมันมีขึ้นมาได้และก็มีแก่ทุกคนอยากจะพูดว่าอย่างนี้ด้วยซ้ำไป คืออยากจะได้โดยไม่มีเหตุผล แต่บางคนก็ปิดไว้เก่งซ่อนไว้เก่งแต่ใจมันก็อยากได้ เป็นมักได้ เท่ากันก็ว่าได้ คนหนึ่งมันไม่ซ่อนอีกคนหนึ่งซ่อนมันเลยดูคล้ายๆว่าต่างกัน ที่มันมีนิสัยมักได้นี้เพราะว่าตั้งแต่เราเกิดมา ตั้งแต่อ้อนแต่ออกไม่เคยถูกสอนให้ ให้ ให้บริจาค เราก็ไม่เคยบริจาคไม่เคยให้ด้วยการให้ที่บริสุทธิ์ นี่คิดดูให้ดีทุกคน อย่าเข้าข้างตัวเอง ย้อนหลังคิดนึกไปถึงตั้งแต่แรกคลอดมาจนบัดนี้ มันไม่เคยมีการให้ที่บริสุทธิ์ มันมีแต่การให้ที่เป็นการแลกเปลี่ยนทั้งนั้น จะให้อะไรแก่พี่แก่น้องแก่เพื่อนแก่ฝูงมันก็หวังการแลกเปลี่ยนทั้งนั้น เพื่อให้เขารัก เพื่อให้เขาขอบใจหรือเพื่อได้อะไรตอบแทน ที่ให้โดยแท้จริงโดยบริสุทธิ์ เป็นการให้ที่แท้จริงนั้น ทำไม่เป็น
บางทีพ่อแม่ก็ไม่เคยสอนว่าให้ให้ชนิดไหนเป็นการให้อย่างบริสุทธิ์ ให้ทำบุญก็สอนให้แลกเอาสวรรค์ จะทำอะไรหน่อยก็อ้างเอาบุญเอาสวรรค์มากๆแบบนี้มันไม่ใช่ให้อย่างบริสุทธิ์ ก็เลยไม่เคยให้ชนิดที่ว่าทำลายความเห็นแก่ตัวมันมีแต่ลงทุนค้าไปทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดมาจนถึงบัดนี้ไม่เคยมีการให้ที่บริสุทธิ์ มันก็มีแต่หวังแต่จะได้ก็เป็นมักได้กันมาในนิสัย ก็ขอให้นึกดูว่าทำไมมันถึงเกิดเป็นนิสัยเลวขึ้นมา เพราะว่ามันไม่เคยให้โดยบริสุทธิ์ มันมีแต่ลงทุนค้า หัวการค้า หรือนักการค้าหรือความรู้สึกที่เกี่ยวกับการค้านี้มันก็ต้องการได้มากไม่มีสิ้นสุด พอโตขึ้นมันก็มีนิสัยมักได้ ถึงเรียกว่า อภิชฌาวิสมโลภะ มีกันทุกคน บางคนก็ไม่นึกคิด บางคนก็ปล่อยออกมาโล่ๆน่าเกลียด นี่ก็เลยมีปัญหาว่าจะละนิสัยเลวนี้ได้อย่างไร ก็เหมือนทางอื่นว่าถ้าจะทำอย่างที่เรียกว่า ซัดกิเลสร้ายให้กลายเป็นดีนี้ ก็ลองมักได้ความดีดูบ้างสิ น่าจะถูกเรียกว่าบ้าบุญก็ยังดี แต่ว่าอย่าบ้าบุญขนิดที่ว่ายิ่งลึกเข้าไปอีกเอาแต่เพียงว่าบ้าดีมักได้ในความดี ไอ้เรื่องที่จะได้ของได้อะไรจากใครนั้นให้เห็นเป็นเรื่องน่าหัวเราะเป็นเรื่องน่าละอายไปเสีย แล้วไปมักได้หรืออยากได้หรือตะกละในความดี เอาแรงงานที่รุนแรงนั้นมาใช้โดยปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้กลายเป็นเรื่องงมักได้ในความดี พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสทำนองนี้นึกได้นี่เป็นพุทธภาษิตว่า อย่าสันโดษในการทำบุญ อย่ากลัวในการทำบุญ ถ้าเราจะปฏิบัติข้อนี้ก็คือ เอาความโลภที่เคยมีมากๆน่ะเปลี่ยนมาเป็นโลภบุญกันไปสักพักหนึ่ง
บุญนั้น มันคือความดี โดยความหมายทั่วไปที่เป็นเหตุหมายถึงความดีที่เป็นผลหมายถึงความสุข แต่บุญแท้จริงของเขาให้เป็นเครื่องล้างบาป ถ้าใครต้องการบุญก็จงรู้ไว้ว่าความหมายของบุญนี้มันมีซับซ้อนมันเล่นตลก ครั้งแรกก็เป็นเหยื่อล่อให้คนติด คือบุญเป็นเครื่องฟูใจทำให้ใจฟู สบายใจ ถ้าอย่างนี้มันก็เป็นเครื่องล่อในขั้นแรก เขาสบายใจเขาเป็นความสุขแล้วก็มักจะเลยไปเป็นบ้าบุญมีความทุกข์เข้ามาไม่ทันรู้ ก็เลยให้มันเรียกบุญนี้ไปป็นเครื่องล้างบาป ดีตรงที่มันล้างบาปไม่ใช่ดีเอามานอนฝันสร้างวิมานในอากาศ ก็ตรงกับความหมายของคำว่าบุญ เป็นเครื่องล้างบาป ถ้าบ้าบุญชนิดนี้ก็ไม่มีอันตรายอะไร ไม่มีทางที่จะไปขายเถือกขายสวนขายบ้านขายนามาถวายวัด ตัวเองไม่มีอะไรจะกินจะใช้เหมือนที่เขาเอามาหัวเราะกันอยู่ ยิ่งถ้าใครเป็นคนมักได้มีนิสัยมักได้ก็ขอให้เปลี่ยนเป็น มักได้ความดี มักได้บุญชนิดที่ล้างบาป ก็จะละนิสัยเลวข้อนี้ได้เป็นข้อแรก คำว่าบ้าบุญหรือบ้าดีมี ๒ ความหมายสลับกันอยู่ ถ้าใช้ถูกก็ดี มีความหมายถูก มันก็มีประโยชน์
แล้วข้อถัดไปเรียกว่า โทสะ ข้อถัดไปเรียกว่าโกรธะ ข้อถัดไปเรียกว่า อุปนาหะ ไอ้ ๓ ข้อนี้มันเนื่องๆกันเราพูดกันคราวเดียวเลยก็ได้
โทสะ แปลว่า โหดร้าย โกรธะ แปลว่า โกรธ อุปนาหะ แปลว่า ผูกโกรธหรืออาฆาต โทสะประทุษร้าย คือ โหดร้าย ไม่ต้องโกรธมันก็โหดร้าย บางคนเป็นมากมีนิสัยโหดร้าย เห็นอะไรไม่ได้อยากจะทำลายนี้ก็เป็นนิสัย ก็มองดูเไอ้เด็กตัวเล็กๆเห็นมดเห็นแมลงมา ไม่เคยโกรธไม่เคยเป็นศัตรูอะไรกันก็อยากจะบี้ให้ตายมากกว่าอยากจะเอามาเลี้ยงรักษาเอามาอะไรทำนองนั้น มันคล้ายๆกับว่ามีอาการกลัวอยู่ในสัญชาตญาน มองเห็นเป็นสิ่งที่มันจะทำร้ายเราเสมอ แต่ทีนี้แม้สัตว์ที่มันแสดงความอ่อนแอ น่ารักหรือสวยงามก็มีความคิดในทางที่จะบี้ให้ตายมากกว่าที่จะมาทะนุถนอม แม้สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็ยังคิดไปในทางที่โหดร้าย เช่นหยิบก้อนหินขึ้นมาสักก้อนหนึ่งก็อยากจะขว้างให้แตกกระจายมากกว่าจะมาเก็บไว้ดูเล่น นี่ไม่ได้โกรธแต่นิสัยเลว คือประพฤติร้าย โหดร้าย มันมีอยู่เป็นพื้นฐานถ้าไม่ได้รับการอบรมที่ดีเพียงพอและอันตรายที่สุด แต่นี่เรามีการสั่งสอนกันมากในเรื่องชนิดนี้ไอ้ความโหดร้ายมันจึงมีอยู่พอสถานประมาณ เว้นแต่บุคคลพิเศษบางคนที่มันโหดร้ายเกินไป นี้เอาความหมายในข้อนี้ว่า นิสัยโหดร้าย
อันถัดไปเรียกว่า โกรธะ คือ ความโกรธ มีอะไรมาทำให้โกรธ มีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาทำให้โกรธ มันก็เลยโกรธแล้วก็ทำการโหดร้ายหรือประทุษร้าย เพราะความโกรธนั้นเพราะว่าเบียดเบียนด้วยความโกรธ ผิดกับอย่างแรกที่เบียดเบียนด้วยนิสัยที่ไม่ต้องโกรธ คือเห็นเป็นของเล่นสนุกไปเสีย เห็นอะไรตายเห็นแมลงตายเห็นสัตว์เล็กๆตายเป็นของน่าสนุกไปเสีย อันที่ ๓ มันโกรธ มีอะไรมาทำให้มันโกรธ โกรธง่าย มันถึงเรียกว่า ที่มักโกรธ เรามีนิสัยที่มักโกรธ โกรธง่าย โกรธอย่างมีเสรีภาพในการที่จะโกรธ ที่ได้โกรธออกไปนี่มันเป็นอารมณ์ประเภทธรรมารมณ์ชนิดหนึ่ง คือทำให้รู้สึกเอร็ดอร่อยในทางความรู้สึกชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ได้โกรธ ได้ด่า ได้ว่า ได้ตี หรือได้ทำอะไรออกไปนี่มันเป็นอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกสบายขึ้นมา ก็เลยถือโอกาสที่จะโกรธ หรือว่ามันเคยชินเป็นนิสัยเลวขึ้นมา ถ้าความโกรธมันไม่ลด มันไม่(ไม่แน่ใจนาทีที่ 22.20)ชนิดนี้บ้างคนก็คงจะโกรธน้อยลงกว่านี้ แต่นี่เมื่อมันโกรธแล้วรู้สึกคล้ายได้เป็นเจ้าเป็นนายได้เป็นอะไร สบายใจ นี่ต่างจากอย่างที่ ๒ แล้วนะ
อย่างที่ ๔ ผูกโกรธ หมายความว่า ไม่อยากจะลืมในเรื่องที่ทำให้โกรธหรือขัดใจ อันนี้มันก็มีตามมีตามน้อยตามมากตามน้อยไม่เท่ากันทุกคน บางคนก็ผูกไว้นานบางคนก็ผูกไว้ไม่นาน เรียกว่ามีอาฆาตจองเวร คนทำได้ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นก็ไปเปรียบเอาก็แล้วกันว่ามันได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร ยิ่งฉลาดมากยิ่งผูกโกรธได้ลึกได้มากหรือได้นานเพราะมันคิดเก่ง คนโง่ๆมันก็คิดไม่เก่งมันก็ผูกโกรธได้น้อยได้สั้น นี่เป็นหลักทั่วๆไป
ทั้ง ๓ อย่างนี่มันเป็นเครือเดียวกัน มาจากกิเลสคือ โทสะ ที่มีชื่อว่าโทสะด้วยกันทั้งนั้น เป็นความโหดร้ายก็ดี ความโกรธก็ดี ความผูกโกรธก็ดี เพราะฉะนั้นก็ทำวิธีแก้ไขเหมือนกับเราใช้โทสะนี่ คือรู้จักโกรธกิเลส รู้จักโกรธในสิ่งที่ควรจะโกรธ โกรธให้มากๆเหมือนกับที่โกรธคนที่ไม่ควรจะโกรธ ก็ไปโกรธสิ่งที่ควรโกรธมากๆ นั่นก็คือ ความชั่ว ความเลว หรือกิเลสนี่ หรืออีกทีหนึ่งก็ใช้ให้มันเป็นเหมือนกับนรกในปัจจุบันนี้ ทุกคราวที่โกรธขึ้นมามันก็เหมือนกับตกนรกก็แปลว่าได้ชินนรกกันที่นี่ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอให้ตายแล้วก็ดีเหมือนกันจะได้รู้จักเกลียดรู้จักเอือมนรกกันเร็วๆเข้า นี่เอาความโกรธความผูกโกรธที่มันนอนขัดแค้นใจจนนอนไม่หลับอยู่นี่ เอามาเป็นนรกสำหรับสอนตัวเองให้เกลียดนรก มันก็กลายมาเป็นประโยชน์ไปได้เหมือนกัน ที่จะมี นิพพิทาการเบื่อหน่ายความชั่วหรือในนรกเกิดขึ้นต่อความชั่วเกิดขึ้นต่อนรก เรียกว่า นิพพิทา ตามแบบนี้ อย่าให้เป็นว่าโกรธแล้วก็แล้วไป โกรธแล้วก็แล้วไป โกรธแล้วก็เลยไป ไม่เอามาดูให้มันเห็นชัดว่าเป็นอะไร ถ้าโกรธแล้วก็แล้วไปมันก็เคยตัว เคยตัว ขี้โกรธ มักโกรธมากขึ้น จองเวรมากขึ้น ถ้ามาดูอันนี้มันมาสอนเรามาเพื่อที่แก้ไขเราแล้วก็ดี จะเรียกว่านรกในปัจจุบันมาขู่ให้คนนั้นเปลี่ยนนิสัย ทีนี้มันก็เลยแก้ไขไอ้ที่ร้ายให้กลายเป็นดีไปได้ มันมาเพื่อจะทำร้ายแต่ถ้าเราแก้ไขก็กลายเป็นดีไปได้ นิสัยเลวนี่ถูกเพิกถอนไปทีละนิดทีละนิด เรียกว่าให้ คือให้ทาน แก้ได้เท่าไหร่ก็เป็นการให้เท่านั้น
เพราะฉะนั้นก็ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า เราไม่ต้องไปหวังว่าจะไปปฏิบัติกรรมฐานภาวนาเจริญภาวนาอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นอีกมากมายแล้วจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้นั้นมันเกินไป แล้วก็ไม่ได้ทำด้วยหรือจะทำก็ทำไปไม่ไหวมันยังไกลกับความสามารถ ที่มันอยู่ในนิสัยที่ทำได้ก็ทำอย่างเรียกว่า ให้ทาน คือ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจโดยวิธีที่เรียกว่าแยบคายหรือฉลาดเท่าทันกิเลส นี่เวลาสำหรับพูดวันนี้มีเพียงเท่านี้พูดได้เพียง ๔ อย่าง แล้วก็ไว้พูดต่อไปในวันหลังจนกว่าจะครบทั้ง ๑๖ อย่าง