แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันนี้เป็นไปตามคำขอร้องของผู้ที่ต้องการจะลาสิกขาบท ดังนั้นจึงเลือกเรื่องที่เห็นว่าเหมาะแก่ผู้ที่จะลาสิกขาบทเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็มีความประสงค์ว่าจะให้เป็นการบรรยายเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์กันเสียที เพื่อว่าจะไม่ต้องบรรยายอีก ก็จะดีเหมือนกัน
สำหรับเรื่องที่จะบรรยายก็รู้สึกว่ามีหัวข้อสำคัญอยู่ที่วิชาความรู้ที่จะทำให้ออกไปอยู่ในโลกที่แสนจะอยู่ยากขึ้นทุกทีนี้ได้อย่างไร คือให้สามารถที่จะไปอยู่ในโลกซึ่งแสนจะยุ่งยากลำบาก อยู่ได้ยากนี้อย่างไร อย่างนี้รู้สึกว่าเป็นการถูกต้องที่สุด ก็เป็นหัวข้อใหญ่ครอบคลุมปัญหาทุกอย่างทุกประการได้ ฉะนั้นขอให้ถือว่าคำบรรยายนี้มีชื่อว่า เราจะอยู่ในโลกอันแสนจะอยู่ยากยิ่งขึ้นทุกทีนี้ได้อย่างไร ส่วนหัวข้อย่อย ๆ นั้นก็จะมีไปตามสมควรแก่ลำดับที่จะพูด
สิ่งแรกที่จะพูดก็น่าจะเป็นเรื่องบวช ๆ สึก ๆ นี้มากกว่า เพราะถ้าไม่เข้าใจเรื่องบวชมันก็ย่อมจะไม่เข้าใจเรื่องสึก คือ หรืออาจจะเข้าใจผิดไปหมด ทีนี้เรื่องบวชนี้ก็รู้สึกว่ามันมีความหมายหลายอย่างและลึกอยู่เหมือนกัน ดังนั้นไม่ได้เป็นการดูถูกท่านทั้งหลายว่าไม่รู้เรื่องการบวชเอาเสียเลย อาจจะรู้บ้างในบางแง่หรือบางระดับ แล้วก็บวชตามประเพณีเป็นส่วนใหญ่ ทีนี้เรามาลองรู้เรื่องการบวชกันเสียให้ถูกต้องหรือสมบูรณ์ แล้วปรับปรุงการบวชนั่นให้เป็นไปตามนั้น แล้วก็มาถึงการสึกชนิดที่ยังสำเร็จประโยชน์ตามนั้นอยู่นั่นเอง ถ้าพูดกันอย่างธรรมดาสามัญแล้วก็อย่างที่เรียกว่าตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีการเกรงอกเกรงใจ เป็นการประหยัดเวลา
เรื่องการบวชนี่มันเคยเปลี่ยนแปลงความมุ่งหมายมาเรื่อย ๆ ตามยุคตามสมัย ถ้าเอาอย่างพุทธกาลเป็นหลักแล้วมันก็เป็นเรื่องของคนที่เบื่อชีวิตฆราวาส หรือว่าผ่านชีวิตฆราวาสมาอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว รู้สึกว่ายังไม่ประเสริฐ ยังไม่ถึงที่สุด จึงออกแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นจึงได้บวช ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ก็พวกคุณที่ว่าบวชตามประเพณีก็ยังไม่รู้จักโลกไม่รู้จักชีวิตฆราวาสที่ถูกต้องและสมบูรณ์ด้วยซ้ำไป ทีนี้ต่อมาความหมายนี้มันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามความรู้สึกของคนที่มีความต้องการอย่างอื่น แต่อาจจะถือเอาประโยชน์นั้นได้จากการบวชในพุทธศาสนานี้เหมือนกัน ดังนั้นจึงเกิดธรรมเนียมที่ว่าบวชชั่วคราว บวชตั้งแต่หนุ่ม บวชตั้งแต่เด็กกันขึ้นมา เพื่อที่จะได้ศึกษาให้รู้จักแนวทางทั้งหมดของมนุษย์ ของการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้รับคำสั่งสอนทุกอย่างทุกประการสำหรับการที่จะเป็นมนุษย์ แล้วจึงเอาความรู้นั้นไปใช้ในเมื่อลาสิกขาบทออกไปเป็นฆราวาสอีกครั้งหนึ่ง เป็นฆราวาสที่ดีที่สุดสมบูรณ์แล้วจึงค่อยมานึกถึงการบวชในอันดับสูงสุดกันอีกครั้งหนึ่ง นี่จึงเกิดมีประเพณีอย่างนี้ขึ้นในประเทศไทย โดยที่เอาระเบียบธรรมเนียมประเพณีในอินเดียมาใช้ โดยเฉพาะก็คือว่าคนหนุ่มนี่ควรจะไปศึกษาในสำนักครูบาอาจารย์ให้จบหลักสูตรครูบาอาจารย์ แล้วก็ได้นามว่า บัณฑิต กลับออกมา มีลูกมีเมีย มีบ้านมีเรือน ทำถูกทุกอย่างทุกประการในการที่จะเป็นมนุษย์ เขาก็เรียกว่า บัณฑิต ในประเทศอินเดียก็ยังมีใช้อยู่สำหรับคำ ๆ นี้ คือผู้ที่ผ่านการศึกษาเรื่องชีวิตชีวามาจากสำนักหรืออาศรมที่สมบูรณ์แบบแล้วก็มาเป็นบัณฑิต ไม่ใช่เรียนในมหาวิทยาลัย เรียนในสำนักทางศาสนา บัณฑิต คำนี้แปลว่าผู้ที่มีปัญญาที่จะเอาตัวรอดได้ นาทีที่ 0.07.47 บัณดา แปลว่า ปัญญาเอาตัวรอดได้ ฑิต มันแปลว่า ถึงหรือมี มีปัญญาที่เอาตัวรอดได้ เป็นบัณฑิตกลับออกไปต่อสู้ในโลกนี้ จนกว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
ทีนี้ประเทศไทยเรามีพวกพราหมณ์ที่เป็นชาวอินเดียมาเป็นครูบาอาจารย์ในทางวัฒนธรรม ดังนั้นก็เอาวัฒนธรรมชนิดนี้มาด้วย มาแนะนำให้ด้วยว่า กุลบุตรควรจะบวช หรือควรจะเข้าสู่สำนักศึกษาที่มันมีลักษณะเป็นการบวชสักพักหนึ่งจนกว่าจะรอบรู้ แล้วก็ให้เป็นบัณฑิต ด้วยความรับรองของครูบาอาจารย์ สึกออกมา สึกออกมาเป็นผู้ครองเรือนที่ดี ทีนี้คำว่า บัณฑิต นี่ในภาษาไทยแท้ ๆ มันออกเสียงเป็น บันทิด ไม่ออกเสียง ฑ นางมณโฑ เป็น ด ออกเสียงเป็น ท มันจึงเป็น บันทิด ทีนี้ต่อมาชอบตัดคำทิ้ง ตัดคำว่า บัน ทิ้ง เหลือแต่ ฑิต หรือ ทิด แล้วต่อมาไอ้คนบวชแล้วสึกน่ะมันเลวลง ๆ มันกลายเป็น ทิด ที่น่าหัวเราะเยาะ แทนที่จะเป็นทิต คำเดิมคือ ฑ นางมณโฑ สระอิ ต เต่า สะกด มันมากลายเป็น ท ทหาร สระอิ ด เด็ก สะกด กลายเป็นคำล้อเลียน ไอ้คนที่บวชแล้วสึกออกไปนี่งุ่มง่าม เรียกทิดนั่นทิดนี่ล้วนแต่มีความหมายไปในทางล้อเลียน อันที่จริงมันต้องจากคำว่าบัณฑิตตามวัฒนธรรมโบราณซึ่งได้มาจากอินเดีย ในอินเดียก็ยังมีบัณฑิตนั่น บัณฑิตนี่ ที่เรียนมาจากสำนักทางศาสนาทางฝ่ายฮินดู ไม่ใช่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้ยืมเอาคำว่า บัณฑิต มาใช้เป็นผู้ สำหรับผู้ที่จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้มันชั้นหลัง แล้วก็เป็นบัณฑิตอีกความหมายหนึ่ง ความหมายอื่น คือยังโง่มากในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ บัณฑิตทางกฎหมาย ทางวิศวกรรม ทางธรรมศาสตร์ ทางอะไร บัณฑิตเหล่านั้นยังโง่มากในวิชาความรู้ที่จะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ต้องมีความทุกข์ ฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นบัณฑิตความหมายอื่น ไม่ใช่บัณฑิตในความหมายเดิม มีความรู้เรื่องการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องที่สุด นี่ขอให้เข้าใจว่ามัน แม้แต่คำพูดมันก็สับสนปนเปกันอย่างนี้ ทีนี้คุณบวชแล้วก็สึกออกไป ถ้าตามธรรมเนียมโบราณก็เรียกว่าเป็น ทิด ทิดนั่น ทิดนี่ คือหมายถึงเป็นบัณฑิตในวิชาความรู้ ในเรื่องอันเกี่ยวกับชีวิต ในความเป็นคนที่ถูกต้อง แล้วก็ไปเป็นมนุษย์ที่ดี ถ้าไม่ได้ตามนี้ก็เรียกว่าเป็นบัณฑิตเก๊ สึกออกไปเป็นบัณฑิตเก๊อีกเหมือนกัน คือไม่รู้เรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจที่จะไม่เป็นทุกข์ ไปรู้เรื่องฟุ้งซ่านอย่างอื่นเสียมากมาย
ฉะนั้นคำว่าการบวชนี้ถ้าจะถามกันอย่างภาษาเดี๋ยวนี้ว่าบวชทำไม ให้ต้องพูดว่าบวชเพื่อศึกษาในเรื่องชีวิตนี่ให้ถูกต้อง แล้วก็ไปมีชีวิตที่ถูกต้อง ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ให้จริง ๆ คือบวชเพื่อเรียนเรื่องชีวิต ไม่ใช่เรียนกฎหมาย ไม่ใช่เรียนไอ้วิศวะ ไม่ใช่เรียนแพทย์ศาสตร์ หรือเป็นบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิตทำนองนั้น เพราะนั้นจะต้องพูดกันถึงเรื่องว่าชีวิตนั้นแหละเป็นส่วนใหญ่ แต่ไปสรุปเป็นปัญหาว่าให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ถ้าเราเรียนรู้เรื่องชีวิตจริงเราจะรู้ว่าเกิดมาทำไม เพราะว่าชีวิตในความหมายอื่นนั้นมันยังไม่มีประโยชน์อะไรที่จะช่วยดับทุกข์ได้ ความหมายในทางชีววิทยา หรือ BIOLOGY นี้ ชีวิตคือเซลล์ที่ยังสดอยู่ PROTOPLAST ในเซลล์นั้นยังสดอยู่เขาเรียกว่ามีชีวิตอยู่ คำว่า ชีวิต ในภาษาชีววิทยานี่ไม่มีประโยชน์อะไรนะแก่ผู้ที่จะศึกษาเรื่องชีวิต มันเป็นเรื่องชีวิตในแง่ของวัตถุ ค้นคว้าในแง่ของวัตถุ เพื่อสืบพันธุ์หรือเพาะพันธุ์ให้แปลก ๆ ออกไปก็ได้ แต่มันไม่ดับทุกข์ มันไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ ฉะนั้นจึงต้องรู้ไอ้ชีวิต คำว่า ชีวิต ในความหมายที่มันให้ความกระจ่างแก่การที่จะดับทุกข์ ภาษาธรรมดาชีวิตก็คือยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ อย่างนี้ภาษาทางศาสนาถือว่านั่นแหละมันตายแล้ว มันโง่ขนาดที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม แม้มันยังมีชีวิตอยู่มันก็เท่ากับตายแล้ว ก็ว่าชีวิตในทางศาสนา ในทางธรรมนั้นก็หมายถึงว่า ความสดชื่นในชีวิตจิตใจที่เกิดมาจากการปฏิบัติถูกต้องต่อความเป็นมนุษย์ของตน อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีชีวิต ถ้าไม่ได้อย่างนี้แม้มันจะมีลมหายใจอยู่ก็ถือว่าคนตายแล้ว คือคนโง่ คนประมาท เต็มไปด้วยอวิชชา ฉะนั้นขอให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ให้ดี แล้วจะเป็นเงื่อนต้นถ้าเรารู้ว่าบวชทำไม บวชมาเพื่อศึกษาชีวิตในแง่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าในลักษณะอย่างอื่นก็ไปเรียนเอาตามสาขานั้น ๆ ชีวิตในทางปรัชญาคืออะไร ในทางไอ้มานุษยวิทยาหรือสังคมคืออะไร ว่ากันไปตามนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราหมาย มุ่งหมายเฉพาะไอ้ชีวิตในความหมายตามทางธรรม หรือตามทางศาสนา บวชมาเพื่อให้รู้จักสิ่งนี้ เพื่อจะไปดำเนินสิ่งนี้ให้ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง
ที่เราพูดกันถึงคำว่าชีวิตนี่พอเป็นเค้าเงื่อน ถ้าถือตามหลักของธรรมะหรือศาสนา คือเป็นเรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณแล้ว ก็ต้องถือว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต เดินทางอยู่ทุกขณะจิต คำว่าขณะจิตนั้นก็คือเวลาที่เร็วมาก สั้นมาก วินาทีเดียวตั้งหลายขณะจิต ชีวิตคือการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต เป็นวิวัฒนาการจากต่ำไปหาสูง อย่างนี้แหละชีวิตในความหมายทางศาสนา ถ้าทำไม่ถูกก็เป็นทุกข์ทรมานตลอดเวลา ถ้าทำถูกก็เป็นความสงบสุขที่พอทน ที่เป็นไปได้ ตามทางศาสนาที่แท้จริง ชีวิต คำนี้ต้องหมายถึงความสดชื่นแจ่มใส ที่เกิดมาจากการเดินทางที่เป็นไปได้ดี ก็มันก็ต้องเป็นของบัณฑิต ของคนฉลาดตามความหมายในทางศาสนาจึงจะมองชีวิตกันในแง่นี้ ที่ในแง่ที่ตรงกันข้ามของคนโง่ ชาวบ้าน ปุถุชนทั่วไป ชีวิตก็คือการ นาทีที่ 0.16.52 ติดตัง ๆ อยู่ในเรื่องโลก ๆ ที่มันรักใคร่ หวงแหน อาลัยอาวรณ์คือว่า ติดตัง นี่เด็กรุ่น ๆ รุ่นหนุ่ม รุ่นสาว มันว่าชีวิตคือความหวัง ชีวิตคือความรัก หรืออะไรนี่ไปตามแบบภาษาของเด็กรุ่น ๆ มันก็ยังโง่มาก ชีวิตคือความหวังหรือชีวิตคือความรัก มันรู้เพียงแค่นั้นมันก็ถูกเพียงแค่นั้น เมื่อไม่ได้อย่างใจมันก็ฆ่าตัวตาย โทษที่มันรู้จักชีวิตน้อยเกินไป ทีนี้พวกคุณบวชมาแล้วอย่างนี้ กำลังจะลาสิกขาบทอย่างนี้ ถ้ารู้จักชีวิตในลักษณะที่เป็นเพียงความรักหรือความหวัง มันก็เป็นเด็กวัยรุ่นที่อันธพาลเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรอื่น อันธพาลทางวิญญาณคือโง่ อย่างน้อยก็ควรจะรู้จักชีวิตในลักษณะที่ว่าเป็นการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต จากต่ำไปหาสูง มันยังไม่ตาย มันเคลื่อนไหวไปเรื่อย
ทีนี้เราก็บวชเข้ามาเพื่อจะศึกษาไอ้เรื่องชีวิตนี้ให้รู้ความจริงหรือข้อเท็จจริงอย่างนี้ แล้วจะได้เดินไปให้ถูกทางจนตลอดชีวิตเหมือนกัน ซึ่งมีความหมายเป็นเพียงเวลาระยะหนึ่ง คำว่าชีวิตในลักษณะอย่างนี้เป็นชื่อของเวลาระยะหนึ่ง คือตั้งแต่เกิดจนตาย คือชีวิตหนึ่ง เป็นเครื่องวัดเวลา เช่นพูดว่าจนตลอดชีวิต เป็นต้น แต่ตัวชีวิตจริง ๆ นั้นคือ การที่มันเดินทางไป ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น ทีนี้บวชนี่เพื่อที่จะเป็นบัณฑิตมีปัญญาสมบูรณ์ในเรื่องอันเกี่ยวกับชีวิต แล้วก็ชีวิตอยู่อย่างที่เดินทางไปจนถึงที่สุดจุดหมายปลายทางของ ของชีวิตนั่นเอง ก็ลองคิดดูสิที่นี้ ไอ้การบวชของเราที่กำลังบวชอยู่นี้ยังไม่ทันจะสึกนี้ มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็รีบไปทำความเข้าใจปรับปรุงกันเสียใหม่ให้มันเข้ารูปนี้ แล้วมันจะค่อยเข้ารูปของการสึกอีกทีหนึ่ง เมื่อการบวชเข้ารูปคือถูกต้อง การสึกมันจึงจะถูกต้อง ถ้าการบวชมันไม่ ไม่ ไม่ถูกต้อง ไม่เข้ารูป ไอ้การสึกของมันก็ไม่มีทางที่จะเข้ารูปหรือถูกต้องได้
ที่ ๆ นี้ที่ผมเคยได้ยินมาตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนผมบวชก็เคยได้ยินคำกล่าวทำนองคำพังเพยล้อเลียนว่า บวชลี้ บวชลอง บวชครองเวณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญเข้าสุก บวชสนุกตามเพื่อน เป็นคำกลอนที่คล้องจอง หกบวช ทางภาคอื่นจะมีหรือไม่ก็สุดแท้ แต่ว่าที่นี่มันมีแน่ ผมได้ยินมาตั้งแต่ก่อนผมบวช มีคนร้องตะโกนบ่อย ๆ เมื่อมันเกิดขัดใจอะไรขึ้นมา คือมันด่าไอ้พวกทิด ด สะกด นั่นแหละ ร้องตะโกนอย่างนี้ บวชลี้ คือหนีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นเรื่องโลก ๆ หนีความลำบาก หนีไอ้ทหาร หรือว่าหนีไอ้ความบีบคั้นของบุคคลบางคน หรือว่าเขาจะเอาให้ตายนี้ก็หนีไปบวชเสีย นี่เรียกว่าบวชลี้ คือหลบลี้หนีภัยไปบวช ทีนี้บวชลองก็หมายความว่ามันลองบวช นี่คิดดูให้ดี มันลองบวช มันไม่รู้ว่าบวชนี้เป็นอะไรมันก็ลองดู ทีนี้บวชครองเวณีนั้นคือบวชตามประเพณี อายุครบบวชก็ต้องบวช มันก็บวชเข้าไปอย่างละเมอ ๆ เสียมากกว่าอย่างอื่น ที่นี้บวชหนีสงสารนี่ไม่ใช่ความหมายตามทางที่ถูกต้องตามหลักธรรม ที่จริงบวชหนีสงสารนะถูกต้องอยู่มาก แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้หมายความอย่างนั้น คือมันบวชหนีความลำบาก คำว่า สงสารในที่นี้เป็นภาษาชาวบ้านหมายถึงลำบาก ทีนี้มันบวชเพื่อจะหนีความลำบากเหล่านั้น เช่น มันยากจน อยู่เป็นฆราวาสมันลำบาก มาบวชแล้วมันสะดวกสบาย มันก็หนีความลำบากนั้นแหละเรียกว่าหนีสงสาร และถึงแม้ว่าคำว่า สงสาร จะหมายถึงความทุกข์ทั่ว ๆ ไปตามความหมายคำว่า สังสารวัฏ ก็ยังไม่ถูกอยู่นั่นแหละ ไอ้บวชหนีสงสารนี้ก็ไม่ถูกหรอก ไม่ถูกแท้ เพราะความมุ่งหมายของการบวชที่ถูกต้องนั้นไม่ต้องการให้หนีทุกข์ ต้องการให้ชนะทุกข์ ฉะนั้นต้องพูดว่า บวชเพื่อเอาชนะสงสารน่ะจึงจะ จะถูกต้อง บวชที่ดีที่แท้ต้องบวชเพื่อมีชนะแก่ วัฏฏสงสาร คือหักหรือทำลาย วัฏฏสงสาร เสียได้ อย่างนี้ไม่ใช่หนีสงสาร หนีสงสารนั้นคือคนขลาด คนโง่ คนขี้แพ้ พุทธศาสนาไม่ได้มีไว้เพื่อสอนให้คนแพ้หรือหนีโลก แต่มีไว้เพื่อให้คนอยู่ในโลกนี้แหละแต่อยู่ด้วยชัยชนะ ฉะนั้นธรรมะทั้งหมดเพื่อให้คนชนะโลก ไม่ใช่ให้หนีโลก เพราะฉะนั้นมีคนพูดอยู่ว่าบวชหนีโลก หนีอะไรเสียที นี้มันเป็นคนโง่พูด เพราะว่าการบวชที่ถูกต้องไม่ใช่หนีโลก ไม่ใช่หนีโลกแล้วไปบวชหรือบวชเพื่อหนีโลกธรรม บวชเพื่อจะหาความรู้เพื่อจะอยู่ในโลกนี้ด้วยชัยชนะ ไม่มีพ่ายแพ้แก่กิเลสหรือความทุกข์ เพราะนั้นไม่หนีโลกไปไหน ชนะโลกนี้เขาเรียกว่า โลกุตระ คือยืนอยู่เหนือความบีบคั้นของโลก บวชเพื่อ โลกุตระ ก็เพื่อเอาชนะโลกไม่ใช่หนีโลก หนีก็คือคนโง่ คนขี้แพ้ คนไม่มีความสามารถ พุทธศาสนาไม่ต้องการอย่างนั้น ต้องการให้มันเผชิญกันกับโลก แล้วเอาชนะโลก แล้วอยู่ในโลกด้วยชัยชนะ ฉะนั้นจึงไม่มีความถูกต้องที่จะพูดว่าบวชหนีสงสาร ความถูกต้องมันอยู่ที่ว่าบวชเพื่อชนะสงสาร ฉะนั้นการบวชหนีสงสารน่ะคือบวชหนีความลำบากส่วนตัวมันเอง ส่วนตัวคนขี้ขลาด คนพ่ายแพ้ เรียกว่าบวชหนีความลำบากในชีวิตฆราวาสด้วยความจำเป็น มาอยู่เป็นพระมันยังสบายกว่าสำหรับคนประเภทนั้น นี่บวชหนีสงสารอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ทีนี้บวชผลาญข้าวสุก นี้ก็อธิบายอยู่ในตัวแล้ว นาทีที่ 0.24.42 จะไม่ต้องอธิบาย บวชแล้วไม่ทำประโยชน์อะไรให้คุ้มกัน มันเสียข้าวสุกของชาวบ้านไปวัน ๆ หนึ่งเท่านั้นเอง นี้เขาเรียกบวชผลาญข้าวสุก อันสุดท้ายก็คือบวชสนุกตามเพื่อน เห็นเพื่อนบวชกันเราก็บวช เฮ ๆ ตามเขาไป หรือว่าเพื่อนรักใคร่กันบวช เราก็บวชตามเขาด้วยเพราะความรักเพื่อน
นี่ในหกอย่างนี้คุณลองพิจารณาดูให้ดี ว่ามันมีอยู่อย่างไรที่เกี่ยวกับตัวคุณเอง การที่คุณบวชเข้ามาคราวนี้ บวชลี้ภัยอะไรมาหรือเปล่า หรือเพียงลองบวชดูหรือเปล่า หรือบวชตามประเพณีครบอายุ บวชก็บวช หรือบวชหนีความลำบาก หรือว่าบวชสนุกตามเพื่อน เขาบวชกันมาก ๆ ก็พลอยเอากับเขาด้วย นี่เป็นหัวข้อสำหรับวัด สำหรับทดสอบการบวชของเราว่าอยู่ในลักษณะอย่างไร ถ้ามันไปรวมอยู่ในอย่างใดอย่างหนึ่งในหกอย่างนั้นแล้วก็ให้รีบแก้ไขเสีย โดยทางจิตใจ ให้เข้าใจเสียให้ถูกต้อง ให้เป็นว่าเราบวชนี้เพื่อเป็นบัณฑิต คือมีปัญญารอบรู้ในเรื่องอันเกี่ยวกับชีวิต เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้าทุกขณะจิต เป็นการเดินทางจากต่ำไปหาสูง จะอยู่ในเพศบรรพชิตก็ดี จะออกไปสู่เพศฆราวาสก็ดี ชีวิตนี้เป็นการเดินทางก้าวหน้าจากต่ำไปหาสูงอยู่เสมอไป จับความหมายนี้ให้ได้ เราจึงจะพูดกันต่อไปได้ถึงเรื่องการสึก แล้วถ้าบวชอย่างนี้มันเป็นการบวชที่ถูกต้องตรงตามความหมาย แล้วเอาเป็นว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน ถึงว่าแม้ครั้งแรกมันจะเผลอไปหรือโง่ไปแต่ก็เปลี่ยนให้มันถูก ให้ฉลาดได้ เช่นว่า บวชหนีอะไรมา หรือลองบวชตามเพื่อนอะไรก็ตาม หรือบวชตามประเพณีก็ตาม แต่พอบวชเข้ามาแล้วรู้เรื่องนี้แล้ว ก็เปลี่ยนไอ้ความมุ่งหมายให้มันถูกต้องตามความมุ่งหมายของการบวชในพระพุทธศาสนา โดยถือเอาหลักอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า บวชออกจากเรือน บวชแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นกุศล พระพุทธเจ้าเองก็ออกบวชด้วยลักษณะอย่างนั้น ออกจากเรือน บวชด้วยการแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล นี้เป็นพุทธภาษิตตรัสอยู่ในสูตรนั้น ๆ มีหลายๆ สูตร ไอ้ที่เรามาเขียนกันให้มากมายทีหลังนั้นมันเป็นเรื่องประดับ เรื่องราวคราวทีหลัง ไอ้ที่พระพุทธเจ้าตรัสเองก็ว่าบวชเพื่อแสวงหาว่าอะไรมันเป็นกุศลเพื่อที่ดีกว่า ที่ฉลาดกว่าที่จะอยู่ในเพศฆราวาส เราก็เหมือนกันทีแรกออกมาอย่าง ออกมาบวช อย่างบวชลอง หรือบวชตามเพื่อน หรือบวชหนีอะไรมาก็สุดแท้ แต่แล้วมันก็ต้องให้กลายเป็นว่า บวชนี้เพื่อค้นหาหนทางให้พบ นี่ไปสู่จุดหมายปลายทางอันประเสริฐสุดของมนุษย์ ของชีวิต แล้วแต่จะเรียก ฉะนั้นระหว่างบวชก็พยายามศึกษาไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ ให้รู้จักหนทางแห่งความดับทุกข์ด้วยตัวเราเอง มีความรู้แจ่มแจ้งสว่างไสวในหนทางของชีวิตที่มันจะเดินไปสู่ความดับทุกข์สิ้นเชิงคือ นิพพาน นี่ให้ได้อย่างนี้ทีก่อน มันก็ได้เพียงความรู้ก่อน ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ส่วนการปฏิบัตินั้นยังปฏิบัติไม่ได้เท่าไรหรอก ยิ่งบวชพรรษาเดียวอย่างนี้ด้วยแล้ว เพียงแต่จะเรียนให้รู้มันก็ยังไม่ค่อยจะพอแล้ว การปฏิบัติมันก็ทำไปได้น้อย
เอาละทีนี้สมมุติว่าเราจะต้องสึก บวชสามเดือนสี่เดือนสึก มันก็ได้ความรู้นี้ไป ติดตัวไป สำหรับที่จะไปเดินทางให้มันถูก ให้ชีวิตมันเดินทางไปในทางที่ถูก เรียกว่าเพื่อรู้จักหนทางแล้วเดินไปในทางอยู่เสมอนั่นแหละคือบัณฑิต สึกออกไปเป็นบัณฑิตที่ถูกต้องตามพระพุทธ ตามหลักของพระพุทธศาสนา รู้ว่าจะต้องเดินไปอย่างไรจึงจะถึงจุดหมายปลายทางคือนิพพาน นี่ทำไมจะต้องสึก ก็เพราะว่าเรามีหลักเกณฑ์มาตั้ง มีความตั้งใจมาตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าจะบวชเพื่อศึกษาให้รู้ แล้วก็จะไปปฏิบัติให้ถูกต้อง จะทนอยู่เป็นภิกษุนี้เรื่อยไปนี้เชื่อว่าไม่ได้ ฉะนั้นจึงตั้งใจจะบวชเพียงระยะหนึ่งหรือชั่วคราว ขืนอยู่เป็นภิกษุถ้าทำไม่ถูกต้อง ทำไม่ดีตามระเบียบของภิกษุมันก็ยิ่งเป็นการไม่เดินทาง เป็นการทำผิด เป็นการถอยหลัง อย่างนี้ก็ยังมีเหตุผล ทีนี้ขอให้เข้าใจเสียว่า ชีวิตนี้มันเป็นการเดินทางอยู่เรื่อยไม่ว่าชีวิตฆราวาสหรือชีวิตบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นเณร หรือว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ถ้าปฏิบัติถูกตามหลักพุทธศาสนาแล้วชีวิตนี้เป็นการเดินทางอยู่เรื่อย ทีนี้ใครจะถึงก่อน มันก็ไม่แน่ จะว่าบรรพชิตจะถึงก่อนหรือฆราวาสจะถึงก่อนนี้มันไม่แน่ มันแน่อยู่ที่ว่าชีวิตบรรพชิตน่ะมันเบาสบาย เหมือนกับนกมีปีก ส่วนฆราวาสนั้นมันอุ้ยอ้ายเหมือนไอ้เรือที่หนัก ๆ หรืออะไรที่มันหนัก ๆ รถ เรือ เกวียน อะไรที่มันหนัก ๆ แต่เมื่อถามว่าใครจะถึงก่อน มันยังไม่แน่ มันเหมือนกับเต่าวิ่งแข่งกับกระต่ายนั้นมันยังไม่แน่ว่าใครจะถึงก่อน ถ้ากระต่ายมันโง่มันประมาทมันก็ถึงทีหลังเต่า อย่างนิทานสุภาษิตที่เรารู้กันอยู่ดีแล้ว ฉะนั้นเรื่องมันจึงมีว่า ฆราวาสก็บรรลุความเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี กันอยู่ทั่วไป ทั้งที่พระ บรรพชิตนี้ไม่ได้เป็นอะไรเลยก็มีอยู่มากแม้ในครั้งพุทธกาล ถามว่าใครจะถึงก่อนนั้นมันไม่แน่ แต่ถามว่าใครเบากว่าใครนั้นมันแน่ บรรพชิตเบากว่าฆราวาส ตามที่ถูกแล้วบรรพชิตควรจะถึงก่อน ฉะนั้นผู้ที่อยากจะถึงเร็ว ๆ จึงออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อว่าจะถึงเร็ว แต่ถ้ากระต่ายตัวนี้มันโง่และมันประมาทเสียมันก็ถึงทีหลังเต่า ขอให้จำไว้อย่างนี้ ฉะนั้นจึงอยู่ที่การประพฤติถูกต้อง มีเจตนาดี มีความตั้งใจจริง นี่ในชีวิตฆราวาสนั้นน่ะ ถ้าตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติถูกต้องอยู่เสมอ มันก็ก้าวหน้าเหมือนกัน แม้มันจะมาช้า ๆ มาหนัก ๆ แต่ถ้ามันถึงมันก็มีประโยชน์กว่าที่จะไปเบา ๆ เร็ว ๆ โดยที่ไม่เคยรู้เรื่องอะไรอย่างกว้างขวาง ฉะนั้นเขาจึงถือว่าการเป็นฆราวาสที่สมบูรณ์แล้วไปบวชเป็นบรรพชิตนั้นจะเร็วมากในการที่จะบรรลุธรรมะที่เป็นมรรคผลนิพพาน เพราะความเป็นฆราวาสที่จำเจที่แจ่มแจ้งอะไรนี่มันสอนให้ มันฉลาดกว่าคนที่ไม่เคยเป็นฆราวาส ฉะนั้นก็อยากพูดลงไปได้เลยว่า ผู้ที่ผ่านฆราวาสมาอย่างสมบูรณ์แล้วนั้นน่ะจะก้าวหน้าในทางธรรมได้เร็วกว่าไอ้คนหนุ่มที่มาบวชเป็นพระเสียด้วยซ้ำไป เพราะว่ายังไม่รู้จักทิศทางอะไรเสียด้วย ยังไม่รู้เรื่องโลก ไม่รู้เรื่องชีวิต ไม่รู้เรื่องทุกข์ ไม่รู้เรื่องสุข จึงสู้คนที่อายุมากที่รู้เรื่องเหล่านี้ดีแล้วมาบวชไม่ได้ เอาละแต่เดี๋ยวนี้เราไม่มีความมุ่งหมายอย่างนั้น ถ้ามีความมุ่งหมายว่าคนหนุ่มควรจะมีความรู้เรื่องหนทางแห่งชีวิตแล้วดำเนินชีวิตที่ดีให้เหมาะสมแก่ภาวะและสถานะของตนในเวลานั้นคือยังเป็นหนุ่มอยู่ เป็นนักบวชไปไม่ได้ก็สึกไปเป็นฆราวาสที่ดี มีการเดินทางก้าวหน้าตามแบบเต่าที่เข้มแข็งและสม่ำเสมอและไม่ประมาท ก้าวหน้าไปเรื่อย นี่ผมพูดอย่างนี้คุณก็จะพอมองเห็นได้แล้วว่าหมายถึงอะไร หมายถึงคนที่บวชตามประเพณีหรือตามอะไรก็สุดแท้ บวชเข้ามาแล้วมาศึกษาให้รู้จัก เมื่อกลับออกไปเดินให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ หนักแน่น มั่นคงไป
ทีนี้ก็มีถึงปัญหาถึงการสึก เมื่อการบวชเป็นอย่างนั้น คืออย่างนั้น เพื่ออย่างนั้น โดยวิธีนั้นแล้ว ทีนี้ก็มาถึงการสึก ก็อยากทำความเข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคำพูดคือตัวหนังสือนี้อีกเหมือนกัน ถ้าคุณบวช เห่อ ๆ ตามๆ กันมา คุณก็สึกกลับเห่อ ๆ ตาม ๆ กันไป โดยไม่รู้ทั้งเรื่องบวชและเรื่องสึก แม้แต่คำว่า สึก คืออะไรคุณก็ไม่รู้เสียแล้ว เพราะว่าเราทำเพียงแต่ตาม ๆ กันไป มันก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้ มันก็ทำได้ นี่บางทีจะมีความรู้สึกที่ขัดขวางกันอยู่ในจิตใจก็ ก็ได้ หรืออาจจะเป็นอย่างนั้นเสียมากกว่า เมื่อคุณจะสึก คุณก็หลับตาเห็นตัว ส-สระอึ-กอไก่ สะกด ลาสึก นี่มันคือสึกหรอ สึกหรอลงไป นี่คุณจะสมัครเป็นคนสึกหรอเท่านั้นแหละ มันคงจะโง่มากไปแล้วกระมัง นี่เพราะคำพูดมันหลอก ที่แท้มันมาจากคำว่า ลาสิกขา ในภาษาบาลี ลาสิกขา แต่คำว่า สิกขา นี้ถ้าเป็นภาษาสันสกฤต มันเป็น นาทีที่ 0.36.27 ศึกฉา เป็นไทยคือ ศึกษา คำว่า ศึกษา ในภาษาไทยมาจากคำว่า สิกขา ในภาษาบาลี หรือ ศึกฉา ในภาษาสันสกฤต ฉะนั้นลาสึกในที่นี้ก็คือลาศึกษา ลาสิกขา คือ ลาศึกษา เอา ษา ออกไป เหลือแต่ ศึก หรือจะการันต์ สอ-บอ (ษ) เสีย ก็เหลือแต่ สอ-คอ(ศ) สระอึ กอไก่ สะกด สอ–บอ การันต์ นั่น ลาศึกษ์ อย่างนั้นน่ะถูกต้องตามความหมายเดิม คือลาสิกขาอย่างพระ อย่างบรรพชิต ไปเอาสิกขาอย่างฆราวาส อย่างนี้ไม่ใช่สึกหรอ อย่าไปมองที่ไอ้ สอ รอ- สอเสือ –สระอึ- กอไก่ สะกด นั่นมันสึกหรอ มองของเราว่าลาศึกษ์นี่คือ ลาสิกขา หรือลาศึกษา สอ-คอ (ศ) สระอึ- กอไก่ สะกด สอ-บอ (ษ) การันต์ ถ้าคำว่า ลาศึกษ์ อย่างนี้ไม่มีในปทานุกรม ก็เพราะว่าคนแต่งปทานุกรมมันยังโง่ มันยังไม่รู้ มันเอา สอ รอ สระอึ กอไก่ สะกด ไปให้คนที่จะสึกจากศาสนาไปสู่เป็นฆราวาสนี้มันกลายเป็นสึกหรอ นี่เราไม่ต้องอ้างเหตุผลอื่นแล้ว เรามองดูความจริงที่มันเป็นอยู่จริง เราบวชเข้ามา รับการศึกษาคือ ศีล สมาธิ ปัญญาอย่างภิกษุ ต้องศึกษารู้อย่างทั่วถึง เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว เราก็กลับไปปฏิบัติในเพศฆราวาส คือปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาในเพศฆราวาสตามที่จะทำได้ ให้ชีวิตนี้คือการเดินทาง เพราะเราไม่อาจจะทนอยู่ในเพศบรรพชิต ขืนทนอยู่ทำไม่ได้ก็เป็นความผิด เป็นการทำชั่ว เป็นบาป เป็นกรรม ไปทำอย่างฆราวาสปลอดภัยกว่า เพราะเราหมายมั่นมาตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าเราจะบวชเพียงเท่านั้น เราไม่สามารถจะอยู่ตลอดชีวิต ถ้าเผอิญอยู่ได้ตลอดชีวิตก็อยู่ไป ถ้ามันสู้ไม่ไหวก็ไปเป็นฆราวาส คือเป็นเต่าที่มีการเดินที่เข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคงไม่ประมาท ก้าวหน้าไป แต่ก็ไม่พ้นจากการที่จะปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นคุณอย่าคิดว่าสึกนี้สึกหรอ แล้วบอกคืนสิกขานี้คือบอกคืนหมด จะโง่โดยไม่รู้ตัว จะบอกคืนสิกขาแต่ชนิดของพระ ของบรรพชิต แล้วคงเอาไว้สำหรับสิกขาของ ของฆราวาส มันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญาในระดับหนึ่งแม้เป็นฆราวาส เท่าที่เราได้เรียนมาในเมื่อเป็นภิกษุนี่ เรื่องมรรคมีองค์แปดน่ะคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นี่คือระบบสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขยายออกไปเป็นมรรคมีองค์แปด เราก็เลยได้ความรู้นี้ออกไปเป็นฆราวาส แล้วก็ยังปฏิบัติสิกขาในพระพุทธศาสนาอยู่ดี แต่หากว่าในระดับฆราวาส หรือแบบฆราวาส ฉะนั้นเอาคำว่าสึกหรอออกไปเสียให้พ้น เอาคำว่า ศึกษา มาแทนไว้เรื่อย ลาสิกขาอย่าง อย่างพระ ไปเอาสิกขาอย่างฆราวาส ลาศึกษาอย่างพระไปเอาศึกษาอย่างฆราวาส ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่คำพูด เป็นการปฏิบัติโดยตรง ที่ว่าสึกออกไปทีนี้มันก็เป็นผู้พร้อมที่จะเดินทางอย่างถูกต้อง อย่างแน่วแน่มั่นคง ไปสู่จุดหมายปลายทางของความเป็นมนุษย์ในเพศฆราวาส นี่คือการสึก ไม่ใช่สึกหรอ ไม่ใช่กลับเป็นคนเลว ไม่ใช่ถอยหลัง ไม่ใช่อะไรหมด แล้วบากบั่นเข้ามาศึกษาหาความรู้แล้วนำออกไปปฏิบัติเพื่อการก้าวหน้า เป็น ให้ชีวิตเป็นการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต จะไปมีทรัพย์สมบัติมันก็กลายเป็นการศึกษา จะไปมีบุตรภรรยามันก็กลายเป็นการศึกษา จะไปมีเกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจวาสนามันก็กลายเป็นการศึกษา เพระว่าเราไม่โง่ต่อสิ่งเหล่านี้ ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เป็นอุปกรณ์สำหรับการก้าวหน้าไปยังจุดหมายปลายทางอยู่เรื่อยไป ถ้าไม่บวชนั้นน่ะมันอาจจะโง่ในเรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องลูกเรื่องเมีย เรื่องอำนาจวาสนา ไปหลงอย่างหลับหูหลับตา หรือว่าถ้าบวช แม้บวชแล้วนี่แต่ถ้ามันไม่ได้เรียนให้ถูกต้อง มันสึกออกมันก็ไปโง่ไปหลงไอ้เรื่องทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา อำนาจวาสนาอีกเหมือนกัน ฉะนั้นเราก็ต้องเรียนให้มันรู้ เข้าใจจริงในเรื่องชีวิต ในเรื่องสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิต ฉะนั้นออกไปนี้ไอ้สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะกลายเป็นวัตถุสำหรับการศึกษา ไม่ใช่เป็นการ ไม่ใช่เป็นวัตถุสำหรับให้หลงใหลหลับหูหลับตาอยู่ที่นั่น
ฉะนั้นชีวิตในสองความหมายคือ ชีวิตหนึ่งคือการเดินทางไปทุกขณะจิตโดยเร็ว ชีวิตหนึ่งคือการ นาทีที่ 0.42.03 ติดตัง อยู่ที่นี่ มันเป็นชีวิตผิด ชีวิตโง่ เราต้องเอาชนะให้ได้ ต้องให้เป็นการเดินทางตามลำดับ ก็จะเห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมหรือประเพณีที่ให้คนหนุ่มเข้ามาบวชในพุทธศาสนาเสียระยะหนึ่ง หนึ่งพรรษา สองพรรษา สามพรรษา ห้าพรรษา อะไรก็ตามใจ จนกว่าจะมีความรู้ ความเข้าใจแจ่มแจ้งขนาดที่จะเรียกว่าเป็นบัณฑิตในชีวิต ในความเป็นมนุษย์นี่แล้วขอให้ต่อไปเดินทางแสดงบทบาท ก็เป็นวัฒนธรรมที่ดี ฉะนั้นคนไทยหรือประเทศไทยนี้ไม่ได้โง่ วัฒนธรรมไทยนี้ก็ไม่ได้โง่ ในการที่ตั้งขึ้นมาสำหรับให้คนหนุ่มบวชชั่วขณะหนึ่ง แม้มันจะนอกรีตนอกรอยไม่เหมือนครั้งพุทธกาลโน้น ก็มันก็ยังไม่โง่ ถ้าทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่อย่างนี้ ช่วยให้คน มนุษย์นี่เดินทางได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยบวชเสียด้วยซ้ำไป เพราะว่าเมื่อเขาบวชแล้วรู้จักการครองชีวิตที่ดี ไปเป็นฆราวาสที่ดี ที่สมบูรณ์โดยเร็ว ทีนี้เบื่อโลกก็ออกไปบวชครั้งหลังมันก็ง่ายที่จะเป็นพระอรหันต์ เมื่อไม่ได้ศึกษาให้ถูกต้องออกไปเป็นฆราวาสที่โง่งมงาย จมปลักอยู่ที่นั่น นาทีที่ 0.43.37 ติดตัง อยู่ที่นั่นก็ไม่มีการบวชในบั้นปลาย ซึ่งเบื่อโลกแล้ว ก็จมตายอยู่ที่นั่น ฉะนั้นการบวชต้องดีกว่า การที่คนหนุ่มได้บวชเสียทีหนึ่งนี้จะต้องดีกว่าที่ไม่ได้บวช ฉะนั้นการสึกไม่ใช่ข้อเสียหาย ไม่ใช่ข้อสึกหรอหรือถอยหลังอะไร อย่าเข้าใจผิดเหมือนคนบางคนที่มันบวชเข้ามาผิด ๆ คือคนที่บวชลี้ บวชลอง บวชครองเวณี หนีสงสาร ผลาญข้าวสุกนั้นบวชเข้าผิด เพราะฉะนั้นการสึกก็สึกกลับออกไปผิด มันเข้ามาโง่แล้วมันก็ออกไปโง่ยิ่งกว่าเดิม มันรู้สึกคล้าย ๆ กับว่า โอ้, ทีนี้หลุดตารางแล้วโว้ย บวชอยู่เป็นพระเป็นเณรนี่เหมือนกับติดตาราง สิกขา วินัย บัญญัติ กฎเกณฑ์ อย่างนั้น อย่างนี้แทบจะกระดิกไม่ไหว กูสึกออกไปคราวนี้เหมือนกับหลุดจากตาราง ฟัง ฟังที่มันพูดนี่ เพื่อจะไปสำมะเลเมาตามเรื่องของเขาที่ทนอัดอยู่ในระหว่างบวชนี่ อย่างนี้น่ะคือสึกหรอ สึกออกไปเป็นคนเลว ไม่รู้ว่าบวชคืออะไร ไม่รู้ว่าสึกคืออะไร อย่างนี้อย่าให้ได้มีแก่เรา เราต้องเป็นคนลืมตา หูตาสว่างไสว เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี่ ตามความหมายของคำว่าพุทธศาสนา เข้ามาหาแสงสว่างแล้วก็พาแสงสว่างกลับออกไป เดินหรือปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปตามกฎที่ ตามที่กฎของธรรมชาติมันมีอยู่ เราจะฝืนกฎธรรมชาติไปไม่ได้ เป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่านี้ต้องไปตามลำดับนะ ศึกษาให้มันฉลาดในการที่จะเป็นเด็ก เป็นคนหนุ่มคนสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดีไปตามลำดับ นั่นน่ะคือวิชาความรู้ในเรื่องนี้ มันช่วยได้อย่างนี้ สมมุติว่าบวชออกไป สึกออกไป ไปเป็นคนหนุ่มที่ดี เป็นบิดามารดาที่ดี ทีนี้ก็สามารถที่จะสอนเด็กที่คลอดออกมานั้นน่ะให้มันเป็นเด็กที่ดี แล้วก็ดี มีโอกาสที่จะดีทั้งเป็นเด็ก ทั้งเป็นหนุ่มสาว ทั้งเป็นผู้ใหญ่ผู้แก่ผู้เฒ่า เรื่องมันก็ดีไปหมด ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างนี้ คนโบราณหลายพันปีมาแล้วเขาก็รู้เรื่องนี้ ดังนั้นเขาจึงวางระเบียบแบบฉบับไว้สำหรับให้ประพฤติปฏิบัติให้เดินกันให้ถูกทาง
ชนชาติจีนมีความรู้สึกในเรื่องนี้ ในลักษณะอย่างเดียวกันนี้มาหลายพันปี จึงเขียนไอ้ภาพที่เรียกว่าภาพฝึกวัวหรือจับวัว ขึ้นมาได้ในที่สุด ฉะนั้นสนใจไปดูในตึกนี้ด้านหลังจอมีภาพเกี่ยวกับวัวสิบภาพ นั้นละคือการบรรยายหรือคำบรรยายชีวิตทั้งหมดของมนุษย์เราที่ดีที่สุดในตามทัศนะชนชาติจีน ภาพแรกที่สุด เด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งยืนหันหน้าหันหลัง หันรีหันขวางไม่รู้จะไปทางไหน ภาพที่สอง เด็กคนนั้นเริ่มเห็นรอยเท้าวัวที่พื้นดิน ภาพที่สาม เด็กคนนั้นมันเดินสะกดรอยวัวไปจนเห็นก้นวัว ภาพที่สี่ มันต่อสู้ฟัดกันกับวัวจนจับวัวได้ ภาพที่ห้า มันก็จูงไปตามความปรารถนา ภาพที่หก มันก็เป่าปี่ขี่วัวสบายไปเลย ทีนี้ภาพที่เจ็ด มันเอือมวัว แหงนหน้าขึ้นเบื้องบนไม่สนใจกับวัว ทีนี้ภาพที่แปดเป็นวงกลม ว่าง ทั้งคนทั้งวัวไม่มีอีกแล้ว คือความเห็นแก่ตัวกูก็ไม่มีอีกแล้ว ความเห็นแก่ของกูคือวัวก็ไม่มีอีกแล้ว มันเป็นว่าง ทีนี้ภาพที่เก้า มันก็งอกงามออกหน่อออกใบต่อไปใหม่ไปในทางอื่น ภาพที่สิบ มันก็ช่วยแจกของส่องตะเกียงให้ผู้อื่น นี่เขาก็มีชีวิตที่สมบูรณ์อย่างนี้ นี่เราจะไปได้ถึงนั่นหรือไม่ควรจะคิดดู ทีนี้ความเหมาะสมหรือจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะคิดดูว่าเราจะไปได้ถึงนั่นหรือไม่ เดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นเด็กเหมือนในภาพที่หนึ่งกระมัง หันหน้าหันหลัง รี ๆ ขวาง ๆ ไม่รู้ไปทางไหน กว่าจะเห็นรอยวัวที่พื้นดินคือการศึกษาที่ถูกต้อง ทำให้เห็นร่องรอยว่า เกิดมาทำไม จะไปไหนกัน ก็เดินไปตามทางนั้นจนพบหน้าที่ ๆ ต้องทำ คือวัว คือ ก็ต่อสู้ฟัดเหวี่ยงกับวัวจนให้ชนะ ก็หมายความว่า ปฏิบัติหน้าที่ในความเป็นฆราวาสนี้จนสำเร็จ จับวัวได้ คือเป็นฆราวาสที่มีทรัพย์สมบัติ มีครอบครัว มีเกียรติยศชื่อเสียง มีสังคมดี อะไรหมด ครบหมดเลยในเรื่องของฆราวาส นี่ก็เสวยความสุขตามภาษาโลก ๆ เรียกว่าเป่าปี่ขี่วัว พอหนักเข้า ๆ มันก็เอือมระอา มันเบื่อ เรื่องบ้า ๆ บอ ๆ นี้พอกันที ตัวกูก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นสาระที่ยึดถือได้ หมดความเห็นแก่ตัว ส่วนของตัวว่าง ไปเป็นความว่าง ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องผู้อื่น เที่ยวแจกของส่องตะเกียงให้แก่ผู้อื่น นี่คนจีนเขาพูดเป็นอุปมาเขียนรูปภาพไว้อย่างนี้ แล้วมันไม่มีขัดอะไรกันเลยกับหลักพระพุทธศาสนา อย่างพระพุทธเจ้านี้แรกเกิดมาท่านก็ไม่รู้ว่าไปทางไหน ท่านพยายามไปจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ หมดเรื่องตัว หมดเรื่องของตัวก็เที่ยวสอนสัตว์ ประชาชนในโลกให้รู้ตามบ้าง มันก็หลักเกณฑ์อันเดียวกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรายังเห็นแก่ตัวจัด หรือว่ายังไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมด้วยซ้ำไป แล้วก็ไปลุ่มหลงไอ้ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูของกูเสียตลอดเวลา บวชเข้ามาทีหนึ่งก็ให้รู้เรื่องนี้สิ ว่าไอ้เรื่องตัวกูของกูหรือความเห็นแก่ตัวนั้นมันไม่ไหว เต็มไปด้วยความทุกข์ รู้วิธีขจัดออกไปเสีย ทีนี้เรื่องตัวกูมันไม่ต้องการอะไรแล้วก็เพื่อผู้อื่นสิ
ที่นี้ก็ไปเข้ากับหลักของชาวอินเดียโบราณเขาเรียก มนูธรรมศาสตร์ ไม่รู้กี่พันปีก่อนพุทธกาล ที่วางหลักชีวิตไว้สี่ระยะ คนเราเกิดมาชีวิตหนึ่งนี้ให้แบ่งเป็นสี่ระยะ ระยะที่หนึ่งเป็นพรหมจารี คือเป็นเด็กกระทั่งเป็นหนุ่มสาวนี่เรียกว่าระยะพรหมจารี มีหน้าที่แต่เพียงศึกษาและปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เรียกว่าพรหมจารี ไม่มีหน้าที่อื่น เป็นเด็ก ๆ จนกระทั่งเป็นหนุ่มสาวเต็มที่นี่เขาเรียกเป็นพรหมจารี หน้าที่มีแต่เพียงการศึกษาและการประพฤติปฏิบัติตามระเบียบวินัยของตนอย่างเคร่งครัด ทีนี้อันดับที่สองเรียกว่าอาศรมที่สอง นี่ก็เป็น คฤหัสถ์ แต่งงาน เป็นสามีภรรยา พ่อบ้านแม่เรือน ทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัดจนเป็นพ่อบ้านแม่บ้านที่ดี มีลูกมีหลาน นี่ก็ขึ้นอาศรมที่สาม เบื่อความเป็นอย่างนั้นก็ออกไปอยู่ที่สงบสงัด ไม่สนใจกับเรื่องบ้านเรื่องเรือนเรื่องเงินทอง อยู่ในที่สงบสงัด ก็เรียกว่า วานปรัสถ์ แปลว่า อยู่ป่า แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในภูเขานะ อยู่ที่บ้านที่เรือนนั้นก็ได้ แต่ว่าตัดออกไปในเรื่องคน เรื่องของ เรื่องเงิน เรื่องงานอะไรนี่ตัดออกไป ไปอยู่ที่กอไผ่ มุมบ้าน กอกล้วย มุมบ้านอะไรก็ สงบระงับ อย่างนี้ก็เรียกว่า วานปรัสถ์ ได้ แต่ออกไปอยู่ป่าอยู่ดงอยู่ถ้ำก็ได้เหมือนกัน เป็นระยะที่สามที่จะอยู่กับความสงบ ศึกษาในด้านใน ในทางจิตทางใจ ทางวิญญาณ เมื่อเป็นที่พอใจแล้วก็เข้าขึ้นอาศรมที่สี่ อันสุดท้ายเรียกว่า สันยาสี เที่ยวทำความสว่างไสวในทางวิญญาณแก่ผู้อื่น เป็นปู่ เป็นตา เป็นชวดแล้วก็สอนลูกหลานเหลนนั้นให้มันมีความสว่างไสวในชีวิต เพราะว่าตัวเองอยู่มาจนถึงขนาดนี้แล้วย่อมเจนจัดไปทุกอย่างทุกทาง สามารถที่จะสอนลูกหลานเหลน หรือชาวบ้าน หรือใครก็ตามให้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง เขาเรียกว่า สันยาสี เที่ยวสั่งสอน เที่ยวแจกของส่องตะเกียง ความหมายอย่างนั้น เกิดมาทีหนึ่งให้ดีให้ถูกทั้งสี่ระยะ สี่อาศรม เป็นพรหมจารีที่ดีแล้วก็จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดีได้ เดี๋ยวนี้มันชิงสุกก่อนห่าม เป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก เรียนหนังสือเหลวไหลหมด นี้เป็นคนเลวไปเสียตั้งแต่ในขั้นพรหมจารี เขาจะเป็นคฤหัสถ์ที่ดีได้อย่างไร ความที่ชิงสุกก่อนห่ามนั้นแหละทำให้สติปัญญาไม่สมบูรณ์ในเรื่องต่าง ๆ การบังคับตนเอง การบังคับจิตใจก็ไม่มีเพราะมันล้มละลายไปตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ฉะนั้นระเบียบโบราณเขาให้เคร่งครัดที่สุด ให้เรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ เอาใจใส่แต่เรื่องการศึกษาและการปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเดียว ต่อมาถึงขั้นที่จะเป็นคฤหัสถ์จึงจะไปนึกถึงเรื่องแต่งงาน มีบุตร ภรรยา สามีแล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพราะมันอบรมเตรียมตัวมาดีที่สุด มันก็มาเป็นคฤหัสถ์ที่ดีที่สุด มันก็ได้ผลก้าวหน้าทางจิตใจเร็วจนถึงกับว่าจะเบื่อได้เร็ว พอมีบุตรมีหลานมีอะไรก็ตามมันก็เบื่อได้ อายุสักหกสิบปีมันก็จะเบื่อได้ ไม่เป็นคนบ้าหลังจนเข้าโลงก็ยังไม่รู้จักเบื่อ อายุสักหกสิบปีมันก็เป็น วานปรัสถ์ ไปสนใจเรื่องสงบ นี่เจ็ดสิบปีมันก็เข้าไปเป็น สันยาสี ได้ อายุเก้าสิบปีก็สอนลูกหลานเหลนได้ ได้อย่างนี้ก็เต็มที่ของความเป็นมนุษย์ เรียกว่าเดินทางได้ครบหมดบริบูรณ์
ฉะนั้นคุณบวชเข้ามาก็ศึกษาลู่ทางอย่างนี้ หนทางอย่างนี้ กลับออกไปก็เดินให้มันได้อย่างนี้ อย่าให้มันไปตายด้านจมปลักอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เกิดมาทั้งทีให้มันถึงอันดับสุดท้ายคือเที่ยวแจกของส่องตะเกียงได้ ขอให้ถือว่าเกิดมานี้เพื่อไปนิพพาน คือถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง แล้วก็ยังจะสอนผู้อื่นให้รู้จักนิพพานได้อีก วัฒนธรรมโบราณของเขา ของเราน่ะ ของคนไทยเราน่ะ มี มีวางไว้เป็นหลักว่าเราต้องไปสู่นิพพานในที่สุด ทำอะไรก็ขอให้เป็นปัจจัยเพื่อนิพพาน ขอให้บรรลุถึงนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ นี่จุดหมายปลายทางวางไว้อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ลูกหลานโง่ ๆ มันกลับหัวเราะเยาะเสีย มันไม่เข้าใจ มันก็ต้องการแต่เรื่องเนื้อหนัง มันก็ไม่รู้จักนิพพาน ก็เรียกว่าหมดความเป็นไทย ไม่มีวัฒนธรรมไทยที่มีหลักไว้ว่าทุกคนจะต้องพยายามไปถึงจุดหมายปลายทางคือนิพพาน ไม่ใช่มาหลงอยู่ที่นี่ในเรื่องเนื้อเรื่องหนัง เรื่องเอร็ดอร่อยทางอารมณ์ นี่มันเข้ากันหมดไม่ว่าของชาติไหนภาษาไหนที่เป็นชาติที่เจริญมาตั้งพัน ๆ ปี รู้เรื่องอะไรดีก็ต้องพูดตรงเป็นอันเดียวกันหมดว่า ต้องไปให้ถึงที่สุดจุดหมายปลายทางของมนุษย์ โดยให้เห็นว่าชีวิตคือการเดินทางอยู่ทุกขณะจิต ไปให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนแต่จะตาย นี่เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้โดยเร็ว มาบวชมาเรียน ศึกษาให้เป็นบัณฑิต แล้วก็ละออกไปจากอาศรมนี้ไปเป็นฆราวาส ก็ด้วยการเป็นบัณฑิตนั่นแหละ จะครองเรือนดี จะอะไรดีไปตามลำดับจนเป็น วานปรัสถ์ เป็น สันยาสี หรือว่าเปรียบด้วยภาพจากวัวก็มันก็กลายเป็นผู้เที่ยวแจกของส่องตะเกียงอยู่ในที่สุด เรื่องของเราหมด เรื่องปัญหาส่วนตัวหมดเหลือแต่ช่วยผู้อื่น แจกของก็หมายความว่าช่วยเหลือด้วยทางวัตถุ สิ่งของตามที่มันจะช่วยได้ ส่องตะเกียงก็คือให้ความรู้ความเข้าใจ ความสว่างไสวในทางจิตทางวิญญาณ สมมุติว่าคนหนึ่งมันปิดฉากชีวิตลงด้วยมันเป็นผู้มีอันจะกิน มีทรัพย์สมบัติมั่นคงเป็นหลักฐาน มีความรู้เรื่องทางจิตทางวิญญาณสูงสุดจนแนะบุคคลอื่นให้เข้าใจในเรื่องนี้ แล้วเขาก็ช่วยเหลือด้วยเงิน ด้วยของ ด้วยความรู้สูงสุดนี้ นี่เขาเรียกว่าคนนี้คือคนที่ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง แล้วเขาหมดกิเลสก็เป็นพระอรหันต์ ก็เที่ยวสั่งสอนในเรื่องจิต เรื่องวิญญาณที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก รวมความว่าเป็นบัณฑิตโดยแท้จริงทั้งโดยการศึกษาและโดยการปฏิบัติ และโดยผลของการปฏิบัติ นี่เขาเป็นบัณฑิตที่แท้จริง ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราทุกคนที่บวชนี้ก็บวชเพื่อให้เป็นบัณฑิตในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ออกไปดำเนินชีวิตด้วยความรู้ที่ถูกต้องของการเป็นบัณฑิต แล้วก็เป็นบัณฑิตในการประพฤติกระทำ เป็นบัณฑิตในการได้รับผลของการกระทำ เกิดมาก็เรียกว่า ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้จะพูดแต่เพียงเท่านี้ว่า ให้การบวชและการสึกของคุณ ทุก ๆ รูป ทุก ๆ องค์นี่สำเร็จประโยชน์ คือการเป็นบัณฑิตในแสงสว่างของชีวิตที่จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง นี่เตรียมบวชอย่างนี้ให้ดีแล้วก็เตรียมสึกอย่างนี้ให้ดี สำหรับวันนี้ก็มีเรี่ยวแรงที่จะพูดได้เพียงเท่านี้ ขอยุติไว้ทีก่อน