แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ในธรรมปาฏิโมกข์ของเราเรื่องตัวกู-ของกู เป็นที่รู้กันอยู่แล้วสำหรับพวกที่อยู่ที่นี่ และวันนี้ต้อง
เปลี่ยนแปลงบ้างเป็นธรรมดา เพราะว่ามีคนที่ไม่เคยฟังนั้นมาร่วมฟังอยู่ด้วยจำนวนมาก จะพูดให้ติดต่อจากที่แล้วมาโดยตรงมันก็คงจะได้ประโยชน์น้อยสำหรับคนเหล่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่พ้นจากเรื่อง ตัวกู-ของกู
วันนี้อยากจะพูดโดยหัวข้อว่า “คนนี้มันเพิ่งเกิด” นี่, หัวข้อสั้นๆ ว่า คนนี้มันเพิ่งเกิด ที่ว่าเพิ่งเกิดนี้ก็หมายความว่า เพิ่งเกิดเมื่อมีเรื่องกระทบทางตา ทางหู เป็นต้น หัวข้อนี้สำคัญที่สุดสำหรับคนเก่าและคนใหม่ คนเก่าก็มักจะเผลอ มักจะเลือน มักจะโง่ไปตามเดิม คนใหม่ที่ไม่เคยฟังก็ยังฟังไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง อยากจะย้ำทบทวนในหัวข้อที่ว่า คนนี้มันเพิ่งเกิด แล้วเกิดอยู่เป็นคราวๆ ถ้าความเข้าใจมีว่าเกิดจากท้องแม่แล้วก็เป็นอันว่าเกิดคน เกิดแล้วก็เกิดอยู่ตลอดไปนั้นมันความหมายหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราไม่ถืออย่างนั้น, ไม่เข้าใจอย่างนั้นและไม่ถืออย่างนั้น ถือว่าคนนี้เพิ่งเกิดทุกทีที่มีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู เป็นต้น แล้วเผลอสติหรือไม่มีสติแล้วคนก็ตายไปจนกว่าจะมีอะไรมากระทบอีก นี่, เป็นเงื่อนสำคัญที่สุด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้, ให้ศึกษาจนตายก็ไม่มีวันจะเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าคุณไม่มองเห็นว่าคนนี้มันเพิ่งเกิด เกิดทุกทีที่กระทบทางอายตนะ เพราะว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นกล่าวไว้สำหรับลักษณะอย่างนี้ คือคนไม่ได้เกิดอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาแล้วก็ไม่บ้ามาก จนถึงกับพูดว่าคนเดียวกันทั้งคนชาตินี้ คนชาติหน้า ชาติโน้น เป็นคนเดียวกันอย่างนี้นั้นเรื่องบ้าที่สุดในหมู่พุทธบริษัท ถ้าพูดด้วยภาษาธรรมะโดยตรงแล้ว คนมันเกิด เพิ่งเกิดและเกิดวันหนึ่งได้หลายๆ หนแล้วไม่ต้องเป็นคนเดียวกัน เพราะว่ามันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งต่างกัน คนหนึ่งดับไปแล้ว คนหนึ่งอาศัยเหตุปัจจัยที่เหลืออยู่ปรากฏออกมาอย่างนี้ ถ้าถือว่าเป็นคนเดียวกันเรื่อย มันก็เป็น สัสสตทิฏฐิ เป็น มิจฉาทิฏฐิ ไป ถ้าถือว่าไม่เกิดก็เป็น อุจเฉททิฏฐิ ไป แล้วถ้าถือว่าไม่มีคน มีแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดความคิดนึกว่าเราเป็นคนขึ้นมาเป็นครั้งๆ นี้จึงจะเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่มีคน ไม่มีตัว ไม่มีตน มีแต่เหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามโอกาสตามกาลเทศะนี่มันเป็นหลักทั่วไป
ทีนี้ผมจะพูดถึงข้อที่ว่าคนเพิ่งเกิดนี่อีกทีหนึ่ง ถ้าเป็นคนมันก็ต้องหมายความว่ากำลังมีตัวตน มีตัวกู-ของกู มีความรู้สึกสำคัญมั่นหมายในลักษณะที่เรียกว่ามีตัวกู-ของกูครั้งหนึ่งเลยละ ก็มีคนมีคนทีหนึ่ง ทีนี้เวลาที่เราไม่มีตัวกู-ของกูนั้นมันก็มีอยู่มาก ตอนนั้นคนไม่มี คนในความหมายนี้้ไม่มี แต่ว่าคนในความหมายเด็กๆ ในความหมายชาวบ้าน ในภาษาคน ในภาษาคนไม่รู้นั้น เขาถือว่าคนมีอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะเข้าโลง เกิดมาจากท้องแม่จนกว่าจะเข้าโลงนี้เขาว่าคนมีอยู่ตลอดเวลา นี้เรามาพูดว่าคนมิได้มีอยู่ตลอดเวลาในลักษณะอย่างนั้น คนเพิ่งเกิดเมื่อมีอารมณ์กระทบแล้วเผลอสติจนกว่าจะหมดเรื่อง แล้วก็ดับไปทีหนึ่ง จนกว่าจะเป็นอย่างนั้นอีกก็เพิ่งเกิด และเกิดได้เรื่อยวันละหลายๆ หน ต่อเมื่อมีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูอยู่ในรูปนามนี้จึงจะเรียกว่าเป็นคน ถ้าไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกู มีแต่รูปนามล้วนๆ ก็เรียกว่ายังไม่ใช่คน หรือถ้าพูดอีกทีหนึ่งให้เหมือนกับที่เขาพูดกันโดยมากก็ว่าเมื่อตัวกิเลสเกิดนะจึงจะเป็นคน เมื่อกิเลสไม่ได้เกิดขึ้นในจิตใจยังมิได้เป็นคน เพราะฉะนั้นคนนี้เป็นของมายา เป็นของไม่จริง เป็นของอวิชชา เป็นของหลอกลวง
ความรู้สึกนึกว่า ตัวกู หรือว่า คน นั่นพูดทางวัตถุเพื่อจะเปรียบเทียบกันก่อนเช่นว่ารถยนต์ คน ๆ หนึ่งมันสร้างรถยนต์ขึ้นมาจนเป็นคันรถยนต์พร้อม มีอะไรพร้อมหมด น้ำมันก็มี อะไรก็มี เสร็จ แต่ยังไม่ได้ติดเครื่องยนต์ คุณจะพูดว่าอย่างไร? พูดว่ารถยนต์มีหรือยัง? สร้างรถยนต์ขึ้นมาเสร็จครบทุกอย่าง-น้ำมันก็มี, คนขับก็มี, อะไรก็มีแต่ยังไม่ได้ติดเครื่องยนต์ ตอนนี้จะพูดว่ารถยนต์มีหรือยัง? ภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ภาษาเด็กโง่ ๆ มันก็เรียกว่ามีรถยนต์แล้ว แต่ภาษาผู้รู้จะไม่เรียกว่ามันมีรถยนต์จนกว่ามันจะพร้อมถึงขนาดที่ว่ามันมีเครื่องที่เดินอยู่ เป็นรถยนต์ที่วิ่งได้ ความเป็นรถยนต์มันสมบูรณ์ที่ตรงนี้ ทีนี้, พอรถยนต์วิ่งเสร็จ ทำหน้าที่เป็นรถยนต์ไปพักหนึ่งแล้วทีนี้มันหยุดดับเครื่อง นี่, รถยนต์ในภาษาชาวบ้านพูดก็ต้องยังมีอยู่นะ ในภาษาธรรมะไม่พูดว่ารถยนต์มีนะ มันมีแต่ซากหรืออะไรของรถยนต์อยู่ จนกว่ามันจะติดเครื่องยนต์เดินเครื่องขึ้นมาอีกมันจึงจะมีรถยนต์ขึ้นมาอีก นี่, รถยนต์ในภาษาธรรมกับรถยนต์ในภาษาคนมันก็ต่างกันอย่างนี้ ภาษาคนไม่รู้ ซื้อรถยนต์มาไว้เดินไม่ได้วิ่งไม่ได้ก็เรียกว่ารถยนต์ แต่ภาษาผู้รู้ภาษาธรรมมันจะเรียกว่ารถยนต์ต่อเมื่อมันวิ่งอยู่ทีเดียว พอมันหยุดวิ่งมันก็เป็นซากรถยนต์ รถยนต์มิได้มี ทีนี้ พอเราพูดภาษาธรรมก็ว่ารถยนต์มันมีหรือเพิ่งมีต่อเมื่อมันวิ่งมันออกวิ่ง นอกนั้นมันไม่มีมิได้ถือว่ามี นี้ ในภาษาธรรมอย่างนี้-จะรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทได้ง่าย ถ้ารถยนต์มีกระทั่งรถยนต์ที่ตายวิ่งไม่ได้ก็เรียกว่ารถยนต์มี อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้
ทีนี้, เกี่ยวกับคนก็เหมือนกันนะ คนมีต่อเมื่อในนามรูปนั้นมันมีกิเลสว่าเป็นตัวกู-ของกู เพราะว่าคนนี้ไม่ใช่ของจริง คนนี้คือความคิดที่มาจากความโง่ ความรู้สึกที่มาจากความโง่มีอุปาทาน เป็นอุปาทานว่าตัวกู-ว่าของกู กิเลสมีเมื่อไหร่ก็คืออุปาทาน มีเมื่อไรก็คือมีอวิชชาเมื่อนั้น เผลอสติเมื่อนั้น ก็จึงพูดได้ว่าเมื่อเผลอสติก็มีอวิชชา เมื่อมีกิเลส, เมื่อมีอุปาทานขึ้นมานั้นละ คน เกิดขึ้นมา คนเกิดโผล่ขึ้นมา พอหมดเรื่องกิเลส, หมดเรื่องอุปาทาน คน ก็ตายไปอีก ความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู-ของกู ดับไป ทีนี้, พูดให้สรุปอีกทีหนึ่งก็ว่าเมื่อจิตเป็นประภัสสร คน มิได้มี เมื่อจิตประกอบอยู่ด้วยอุปกิเลสนั้น คน มี ทีนี้ถ้าว่าเรามีกิเลสเมื่อไร คน ก็มีเมื่อนั้น ว่างจากกิเลสเมื่อไร คน ก็ดับไปเมื่อนั้น เพราะคนมันมาจากความโง่ของคนนั่นเอง คือของ นาม-รูป ที่มันคิดว่ามันเป็น คน นั่นเอง นี่, คนมันไม่ได้มีอยู่ที่ร่างกายหรือนาม-รูปล้วนๆ มันต้องมีอุปาทานมั่นหมายว่า ตัวกู-ของกู รวมอยู่ด้วย เหมือนกับรถยนต์นะเราไม่ถือว่ารถยนต์มีจนกว่ามันจะวิ่งอยู่ ทำหน้าที่ของรถยนต์หรือว่าวิ่งอยู่ ถ้ามันอยู่เฉยๆ เราไม่เรียกว่ารถยนต์หรือถือว่ารถยนต์มีอยู่ นี่ภาษาธรรมเป็นอย่างนี้ เพราะ(ฉะ)นั้นจึงพูดได้ว่า คน นี้เพิ่งเกิด ที่สอนกันอยู่ผิดๆ ทั่วไป แม้ในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยอาจารย์ สอนผิดๆ ว่าอวิชชาเกิดอยู่ตลอดเวลา คืออวิชชาเกิดเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลาไม่เคยดับ นี่, สอนผิดพุทธวัจนะที่ตรัสว่า อวิชชาก็เพิ่งเกิด อวิชชาเพิ่งเกิดเมื่อกระทบอารมณ์ทางตาเป็นต้น แล้วเผลอสติ-อวิชชาจึงเกิดมา คือว่าเมื่อ ตัวกู เกิดนั้นละ อวิชชา เกิด เมื่อ ตัวกู เกิด หรือ อวิชชา เกิด ตัวกู จึงเกิดนี่ ฉะนั้น ตัวกู ก็เพิ่งเกิด อวิชชา ก็เพิ่งเกิด ไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าใครถือว่าอวิชชาเกิดอยู่ตลอดเวลาเป็นพื้นฐานก็เป็นสัสสตทิฏฐิคือเป็นมิจฉาทิฏฐิอีกเหมือนกัน เพราะไม่มีสิ่งใดเกิดโดยไม่ดับอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาได้
ในพวกสังขารทั้งหลายนอกจากนิพพานที่เป็นที่ดับของสังขารนั้นมันมีอยู่ตลอดเวลาได้ แต่ฝ่ายสังขารทั้งหลายจะมีอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ จะต้อง เกิด-ดับ, เกิด-ดับ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยจึงจะเกิด ทีนี้, อวิชชานั้นเป็นสังขาร ไม่ใช่วิสังขาร อวิชชานะดูให้ดีเป็นสังขารต้องมีเหตุปัจจัย แล้วเกิดเมื่อมีเหตุมีปัจจัย และเมื่อมีโอกาสจะเกิดก็คือเมื่อตากระทบรูปเป็นต้น แล้วเผลอสติ-ไม่มีสติ ที่ว่าไม่มีสตินี้มันกินความกว้าง หมายความว่ามันไม่มีความรู้ด้วย สตินั้นนะมันคือความรู้ที่มาทันเวลา ถ้าความรู้เฉยๆ เราเรียกว่าปัญญา แต่ความรู้ชนิดนั้นนะถ้ามาทันท่วงที ทันเวลาที่ต้องการ เราเรียกว่าสติ ปราศจากสติคือปราศจากความรู้ที่ต้องใช้ทันเวลา ปราศจากสติแล้วอวิชชาเกิด เพราะ(ฉะ)นั้นจึงแปลอวิชชาว่า ความปราศจากสติ ความประมาท
ความปราศจากสตินี้คืออวิชชา ทีนี้, เมื่อตากระทบรูป หูฟังเสียง เป็นต้น ในกรณีที่ไม่มีสตินะ ตัวกู เกิด อวิชชา เกิดก็คือ ตัวกู เกิด ทีนี้มันแบ่งได้เป็น ๒ พวก คือพวกที่รู้แล้วศึกษาแล้วๆ ก็ยังเผลอสติอีกนี่พวกหนึ่ง แล้วอีกพวกหนึ่งก็คนธรรมดาไม่เคยเรียน ไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้เรื่องนี้ ก็แปลว่าสติมันก็ต้องเผลอเป็นธรรมดา คือชาวบ้านประชาชนทั่วไปที่ๆ ไร้การศึกษา ที่ไม่เคยได้ศึกษาพระธรรมคำสอนนี่พอมีอะไรมาผิดใจ เขาก็ต้องโกรธ ต้องรัก ต้องเกลียด ต้องกลัว ต้องเกิด ตัวกู-ของกู เป็นธรรมดา นี่สติมันๆ ไม่มีทีเดียว จะเรียกว่าเผลอหรือจะไม่เรียกว่าเผลอก็ได้ คือว่าเขาไม่ได้เผลอนะเพราะว่าเขาไม่รู้เสียทีเดียว ก็เป็นปราศจากสติเหมือนกัน เรียกว่าปราศจากสติ ทีนี้ที่เป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกา ที่เรียนมาจนหลายสิบปีแล้วนี่มันก็รู้ มีความรู้ว่าอย่างนั้นนะเรียกว่าเผลอสติก็ยังไม่วายที่จะเผลอสติ ความรู้ที่ได้ศึกษาอยู่เป็นประจำมาไม่ทันยังเป็นคนเผลอสติอยู่ นี่เรียกว่าคนรู้เรื่องนิพพาน เรื่องสังขาร เรื่องอายตนะ เรื่องปฏิจจสมุปบาทแล้วก็ยังเผลอขาดสติจนอวิชชาเกิดอยู่ ก็เกิดตัวกูขึ้นมา นี้เป็นตัวกูชนิดหนึ่ง คนเกิดขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้คนที่ไม่รู้หรือถ้าสมมติว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานบางชนิดมันไม่เคยศึกษาธรรมะ มันก็เหมือนกับคนที่ไม่เคยศึกษาธรรมะ พออะไรมาให้โกรธ-มันก็โกรธ, พออะไรมาให้รัก-มันก็รัก มันก็เกิด ตัวกู-ของกู ตามธรรมชาติอย่างนี้เรียกว่ามันปราศจากสติปัญญาอะไรทั้งหมดเลย เรียกว่าไม่มีสติด้วยเหมือนกัน เพราะ(ฉะ)นั้นมันจึงเกิด ตัวกู-ของกู เราจะมองเห็นได้ว่าไอ้คนนี้มันเกิดต่อเมื่อไม่มีสติ ถ้าเป็นคนไม่รู้มันก็เกิดอยู่เป็นประจำ-ไม่มีสติ ไม่มีความรู้อยู่เป็นประจำ ไอ้คนรู้แล้วก็เผลอ เผลอแล้วมันก็มีผลเท่ากันคือเกิดตัวกู เกิดอวิชชา เกิดคนขึ้นมาอีก เพราะ(ฉะ)นั้นจึงถือโอกาสพูดเสียเลยว่า ไม่ว่าคนชนิดไหนนะเกิดเพิ่งเกิดทั้งนั้น แม้แต่คนที่มันเกิดมาสำหรับคนที่ไม่รู้ คนโง่ คนพาล คนไม่เคยศึกษาธรรมะ มันก็เพิ่งเกิด ไอ้ความเป็นคนของมันเพิ่งมีเป็นคราวๆ เมื่อมันมีอุปาทานว่าตัวกูว่าของกู เช่นเดียวกับพวกเราที่เรียนมากแล้วรู้มากแล้ว คนก็เพิ่งเกิดเมื่อเผลอมีอุปาทานว่า ตัวกู-ของกู เกิดขึ้น ในขณะใดไม่มีอุปาทานชนิดนี้ คือไม่มีกิเลสมันก็เหลือแต่นามรูปล้วนๆ เป็นซากของคนมากกว่าจะเรียกว่าคน
ตามความหมายในภาษาธรรม คำว่า คน ในภาษาธรรมต้องเจืออยู่ด้วยความรู้สึกหมายมั่นว่ากู ว่าตัวกู มันหลายครั้งหลายหนที่เคยพูดกันมาแล้ว แต่ก่อนว่าตัวกูนี้มันเพิ่งเกิด คุณก็คงจะเข้าใจว่าตัวกูนี้เพิ่งเกิด คือความมีอุปาทานว่าตัวกูนี้เพิ่งเกิดนั้นมันก็เรื่องเดียวอย่างเดียวกันกับที่จะพูดว่าคนมันก็เพิ่งเกิด เพราะคนมันก็คือความหมายว่า ตัวกู-ของกู นั้นละ ทีนี้เราก็มองเห็นได้ทันทีว่าไอ้คำว่า คน คนที่แท้จริงในความหมายว่า สัตว์ คน ตัวตน เรา เขา อย่างนี้มันเพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อโง่ เมื่อเผลอสติ ถ้าไม่เผลอสติยังมีสติคือมีปัญญา มีความรู้ถูกต้องอยู่ มันก็ไม่เกิด
เอาละ, สมมติว่าถ้ามันเป็นๆ ได้หรือถ้าหากว่ามันจะเป็นไปได้ คนๆ หนึ่งเขาไม่เคยศึกษาพระพุทธศาสนาเลยแต่เขาก็เป็นคนมีปัญญา รู้จักสังเกต พอมีเรื่องมาให้โกรธ-เขาไม่โกรธ, มีเรื่องมาให้รัก -เขาไม่รัก เขาควบคุมสติอยู่ได้ แล้วทำไปด้วยสติปัญญาในหน้าที่ที่ควรกระทำนี่เขาเรียกว่าเป็นคนที่ดีที่สุด เป็นพุทธบริษัทที่สุดทั้งที่ไม่เคยรู้เรื่องพระพุทธศาสนา มันกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เขารู้ได้อย่างไร? ถ้าอย่างนั้นจะถามว่าเขารู้ได้อย่างไร? เพราะว่าเขารู้จักเข็ด รู้จักหลาบ รู้จักละอาย รู้จักกลัว คือเมื่อเขาไปรักเข้าทีหนึ่ง ไปเกลียดเข้าทีหนึ่งนี่มันร้อนเป็นไฟ นี่มันตกนรกทั้งเป็น เขารู้จักเข็ด รู้จักหลาบ และรู้จักกลัว และรู้จักละอายว่า แหม นี้ มันไม่สมควรแก่เราเลยนี่ เพียงเท่านี้เขาก็เป็นพุทธบริษัทเต็มตัวมากกว่าพระกว่าเณร อุบาสกอุบาสิกาที่ประกาศตัวเป็นพุทธศาสนาเสียอีกนะ ถ้ามันมีได้นะว่าบุคคลคน ๆ หนึ่งไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเกิดที่ไหนก็ไม่รู้ แต่อาศัยธรรมชาติเป็นครูบาอาจารย์สอนเขา โกรธทุกทีเป็นไฟทุกที, รักทุกทีเป็นไฟทุกที เกลียด กลัว อิจฉาริษยา อะไรก็ตามทุกทีเป็นไฟทุกที เขารู้จักเข็ดหลาบ รู้จักระวังไม่ให้มันเกิดอย่างนั้นอีกนี่ก็เรียกว่าเขามีธรรมะเป็นพุทธบริษัทโดยไม่รู้สึกตัว และเขาก็รู้จักควบคุมการเกิดของคน คนมันไม่เกิด ตัวกูมันไม่เกิด อวิชชามันไม่เกิด ความทุกข์มันไม่เกิด มีอยู่อย่างนี้ ทีนี้เรื่องมันมีเท่านี้ มันไม่มากกว่านี้ เราจะพูดกันอีกกี่ปีๆ มันก็เรื่องเท่านี้ เรื่องมันมีเท่านี้ เราพูดกันมาแล้วหลายร้อยครั้ง ยังจะพูดอีกกี่ร้อยครั้งก็ไม่ทราบ แต่ว่ามันเรื่องมันมีเท่านี้ ถ้ามีตัวกูมันก็คือเกิดขึ้นมาและต้องเป็นทุกข์ เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ถ้ามันไม่มีตัวกู ไม่เกิดอุปาทานเป็นตัวกู มันก็ไม่มีการเกิดและไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นก็หมายถึงว่าคนเกิดทีหนึ่ง-ตัวกูเกิดทีหนึ่ง คืออวิชชาเกิดทีหนึ่งแล้วมันก็จะดับเมื่อเรื่องมันสิ้นสุดลงไป เพราะว่าสังขารมันจะอยู่ตลอดกาลไม่ได้ มันต้องดับตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเรื่องที่ทำให้รักเข้ามา มันก็เกิดเป็นคนรักขึ้นมา แล้วสักครู่หนึ่งมันก็จางไป เหตุปัจจัยนั้นมันจางไป มันก็ดับไปจนกว่าจะเกิดคนถัดไปอีก เกิดครั้งหนึ่งรอบหนึ่งมีความทุกข์เสร็จไปทีหนึ่งนั้นนะมันคือปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่ง
ฉะนั้นนามรูปคือกายกับใจล้วนๆ เป็นเหมือนกับซากรถยนต์รอคอยอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะออกวิ่งด้วยอำนาจอุปาทาน ว่าตัวกู-ของกู มันจึงจะเป็นคน และเป็นทุกข์จนกว่ามันจะตายลงไปเพื่อเกิดใหม่อีก เมื่อๆ ก่อนเกิด เมื่อก่อนเกิดเรื่องชนิดนี้ นามรูปมันเหมือนกับซากรถยนต์ รถยนต์ที่ไม่วิ่ง มีอะไรพร้อมแต่ไม่วิ่ง แต่พอมีอะไรมาทำให้มันติดเครื่องวิ่งขึ้นมามันจึงเป็นรถยนต์ที่สมบูรณ์ ไอ้ ตัวกู-ของกู ก็เหมือนกัน ธรรมดามันไม่มีไม่ได้เกิดอยู่ แต่ว่าไอ้พื้นฐานคือกายกับใจ, อายตนะหรืออะไรเหล่านี้มันมีอยู่ จนกว่ามันจะมีการประจวบเหมาะ และในการประจวบเหมาะนั้นไม่มีสติหรือปัญญาคือไม่มีวิชชา พูดง่ายๆ ก็พูดว่า ไม่มีวิชชาดีกว่า ในการที่รูปกระทบตาคราวนี้วิชชาไม่ได้มีอยู่ด้วยเหตุใดก็ตามก็ต้องมีอวิชชา คือปราศจากวิชชา ทีนี้เมื่อมีอวิชชา มันก็ต้องมีตัณหาอุปาทานเป็นแน่นอน ในกรณีที่ตากระทบรูปเป็นต้น และสติปัญญามันมา สติปัญญาอย่างของพวกเราที่เล่าเรียนนี้ก็ดี หรือสติปัญญาของบุรุษสมมติคนหนึ่งที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ก็ดี มันมีมาว่าอันนี้เป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องบ้าว่างั้นเถอะ พูดกันภาษาหยาบคายก็เป็นเรื่องบ้าที่มันเกิดขึ้นสำหรับจะให้รักหรือให้เกลียดนี้เลยไม่ไปเอากับมัน นี่พูดกันภาษาตรงไปตรงมา สติปัญญามันมีอยู่หรือวิชชามันมีอยู่ สติมันมีอยู่ ว่านี้ทุกทีเลยไอ้อย่างนี้มาแล้วเป็นเดือดร้อนทุกที ทีนี้ไม่เอากับมัน ทีนี้ การปรุงแต่งของจิตในขณะนั้นมันก็ชะงัก ไม่ปรุงแต่งที่จะให้เกิดตัณหาอุปาทาน มันคงเป็นปัญญาอยู่เรื่อย เพราะการกระทบด้วยตา กระทบทางตานี้มันทำให้เกิดปัญญา เกิดวิชชาเสีย ให้เกิดความรู้เสียว่านี่คืออะไร? นี้เป็นอย่างไร? นี้จะต้องทำอย่างไรมันไปเสียทางนั้น? ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ทำให้เกิดกิเลสคือความรัก คือความโกรธ ๒ อย่างนี้-อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้, มันทำให้เกิดกิเลสหรือความโง่ เรารู้จักทางแยก ๒ แพร่ง หรือทางที่มันจะไปทางไหนนี่ก็ตรงนี้ ตรงที่ว่ามีการกระทบทางอายตนะหลังจากนั้นมันจะปรุงไปทางไหน ถ้าสติมี ปัญญามี วิชชามี ก็ปรุงไปทางเรื่องของสติปัญญา ไม่ๆ เป็นตัวกู-ของกู มันก็ดับ เป็นความเป็นนิพพาน ดับเป็นความไม่มีทุกข์อยู่เรื่อยไป ทำงานไป-คิดไป-อะไรไป มันเป็นเรื่องของวิชชา ของปัญญา ดับอยู่เรื่อย ไม่มีคน ไม่มีเกิด
แต่ถ้าในโอกาสเช่นนั้นมันเผลอมันโง่มันโดยวิธีใดก็ตามเถอะ มันมีอวิชชาที่เป็นต้นเหตุของตัณหาอุปาทานเกิด ก็เกิดตัวกู เกิดรัก เกิดโกรธ แล้วแต่กรณี มันก็มีความทุกข์ เป็นนรกบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้างไปตามเรื่อง อย่างดีที่สุดก็เป็นมนุษย์, เป็นเทวดา, เป็นพรหม มันก็มีความทุกข์ตามแบบมนุษย์, เทวดา, พรหมทั้งนั้นไม่ยกเว้น ถ้ามันเกิดเป็น ตัวกู-ของกู คือเกิดเป็นตัวคนขึ้นมาแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์ทั้งนั้น ยึดมั่นถือมั่นอย่างเทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา ยึดมั่นถือมั่นอย่างพรหมก็ทุกข์อย่างพรหม จนกว่าจะดับ ตัวกู-ของกู เสียก่อนจึงจะถึงนิพพานไปตามเดิม ทีนี้จะพูดให้น่าชื่นใจก็ว่า คนนี้มันเพิ่งเกิด อย่าท้อถอย-คนนี้มันเพิ่งเกิด ฉะนั้นระวังอย่าให้มันเกิด ไอ้ผีบ้านั้นอย่าให้มันเกิด มันก็จะเป็นนิพพานอยู่เรื่อย เป็นนิพพานชนิดตทังคนิพพานอยู่เรื่อยไป ความประจวบเหมาะของการที่ไม่เกิด ตัวกู-ของกู นั้นยังมีอยู่เรื่อยเราเรียกว่าตทังคนิพพาน ตลอดเวลาที่เป็นตทังคนิพพานมันก็เย็นสบาย เป็นสุขประกอบไปด้วยธรรมะอยู่เรื่อย แต่อย่าเผลอนะ พอเผลอเมื่่อไรมันเกิดวัฏฏสงสาร เป็นตัวกูของกู เป็นใน ๘ อย่างนั้นละที่ว่านกติดอยู่ในใยแมงมุมนั้น เป็นอบาย๔ (นรก, เดรัจฉาน, เปรต, อสุรกาย), เป็นมนุษย์๑, เป็นเทวดา (กามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร)๓ รวมกันเป็น ๘
ถ้าเกิดเป็นคน มันก็เป็นชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๘ ชนิดนี้แล้วมันก็ได้ทุกข์ มันเป็นวัฏฏสงสารขึ้นมา สังขาราปรมาทุกขา หมายความว่าถ้ามีการปรุงแต่งนี้ก็มีทุกข์อย่างยิ่ง ทีนี้, ถ้ามันไม่มีการปรุงแต่งที่เป็นตัวกูหรือปรุงแต่งเป็นคนเกิด มันก็เป็นนิพพานอยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นจึงสอนว่าให้ทำงานด้วยจิตว่างก็คือทำงานด้วยนิพพาน ทำงานด้วยจิตที่ดับเป็นไม่มี ตัวกู-ของกู มีจิตเป็นตทังคนิพพานอยู่เรื่อย ทำงานไปเรื่อยตทังคนิพพานนั้น นี่เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง มันไม่ง่ายนักหรอก คุณก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ง่ายนัก แต่ถ้าคุณพยายามไป, พยายามไป มันก็จะดีขึ้น, ดีขึ้น จนสามารถทำงานด้วยจิตว่าง เพราะ(ฉะ)นั้นขออย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สนใจ ถือว่าเป็นเรื่องทั้งหมดในพรหมจรรย์ในศาสนานี้ที่วันหนึ่งๆๆ จะพยายามทำงานด้วยจิตว่าง คือทำงานอยู่ด้วยนิพพานเรื่อยไป ไม่มีสังสารวัฏ พอเผลอ อ้าว, มันก็เป็นสังสารวัฏ เช่น โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ โกรธเครื่องไม้ โกรธเครื่องมืออะไรขึ้นมา มันก็เป็นผีบ้าเกิดขึ้น ในทันใดนั้นเป็นคนขึ้นมา เป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา ถ้าร้อนก็เป็นสัตว์นรก, ถ้าโง่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน, ถ้าหิวก็เป็นเปรต, ถ้ากลัวก็เป็นอสุรกาย อย่างนี้หรือจะเป็นมนุษย์ มีความหมายถึงความเหน็ดเหนื่อย เดือดร้อนอยู่ที่ความเหน็ดเหนื่อย เป็นเทวดาเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามารมณ์ว่างด้วยความสุขในรูปบ้าง, ความสุขในอรูปบ้าง มันล้วนแต่เป็นคนบ้าทั้งนั้นคือไม่ปกติทั้งนั้น แต่ว่าไอ้อย่างหลังที่เขาเรียกว่า สุคติ คือเป็นมนุษย์, เป็นเทวดา, เป็นพรหมนี้มันน่าดูหน่อย จึงจัดเป็นสุคติ ไม่จัดเป็นทุคติ แต่แล้วทั้งสุคติ ทั้งทุคตินี้ ก็ยังเป็นคนที่ประกอบไปด้วยอวิชชายังเป็นวัฏฏสงสารอยู่ ทีนี้ไอ้สัตว์ในชุดสุคตินี้ ในบางเวลามันไม่ได้เป็นวัฏฏสงสาร เป็นนิพพาน เช่น มนุษย์นี่อย่าโง่ให้มันมากเกินไป อย่าปรุงเป็น ตัวกู-ของกู มันก็เป็นนิพพานอยู่ มีความสุขพอสมควรอยู่ พอเกิด ตัวกู-ของกู มาก็เป็นนรก, เป็นเดรัจฉาน, เป็นเปรต, เป็นอสุรกาย, เป็นอบายขึ้นมาทันที เมื่อเราพูดว่าคนเพิ่งเกิด มันก็พูดได้เลยว่าแม้นรก-สัตว์นรกก็เพิ่งเกิด, เดรัจฉานก็เพิ่งเกิด, เปรตก็เพิ่งเกิด, อสุรกายก็เพิ่งเกิด, เทวดาก็เพิ่งเกิด, พรหมก็เพิ่งเกิด แล้วแต่จิตใจมันจะปรุงแต่งขึ้นในลักษณะไร ความหมายเขาระบุไว้ชัดแล้วอย่างนั้นเรียกว่าเดรัจฉาน อย่างนั้นเรียกว่านรก อย่างนั้นเรียกว่าเปรต อสุรกาย มนุษย์ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร มันมีบัญญัติไว้ ง่ายแก่การศึกษาอยู่แล้ว
นี่หมายความว่าคนโบราณที่เป็นบัณฑิต, นักปราชญ์, เป็นพระพุทธเจ้า เป็นต้น ท่านรู้ลักษณะของความเปลี่ยนแปลง ของการปรุงแต่ง ของการเกิดนี่ ครบทุกอย่างแล้ว เราก็สะดวกเรียนได้เลยไม่ต้องคิดเอง แต่แล้วทั้งหมดนั้นมันไม่ไหวทั้งนั้น คือเป็น ตัวกู-ของกู อยู่ทั้งนั้น ตัวกู-ของกู อย่างเลวบ้าง, อย่างกลางบ้าง, อย่างดีบ้าง แต่ถ้าเป็น ตัวกู-ของกู แล้วมีความทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์อย่างเลวบ้าง, ทุกข์อย่างกลางบ้าง, ทุกข์อย่างดีบ้าง เป็นเทวดาทุกข์อย่างเทวดา เป็นพรหมทุกข์อย่างพรหม ยังมีกิเลสตัณหาตามแบบของตนของตน จนกว่าจะเป็นพระอริยเจ้า เพราะ(ฉะ)นั้นพวกเทวดาจึงอยากมาเกิดในพวกมนุษย์โลกเพื่อพบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่มีพระพุทธภาษิตตรัสอยู่อย่างนี้ ที่พูดว่า พระพุทธเจ้าขึ้นไปโปรดเทวดาบนดาวดึงส์ นั้นไม่มีในพระพุทธภาษิต ผมท้าให้ค้นในพระไตรปิฎก หรือในอรรถกถาของอภิธรรมปิฎกก็ยังไม่มี เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นทีหลังว่าเอาเอง ว่าพระพุทธเจ้าขึ้นไปโปรดเทวดาบนดาวดึงส์ แต่เรื่องที่มีในคัมภีร์มัชฌิมนิกายชัดๆ พระพุทธเจ้าพูดถึงเทวดาปรารภกันว่า ...เทวดาตายลงนี้จะไปเกิดที่ไหนดี? ในที่สุดตกลงกันว่า มาเกิดที่มนุษย์นี้ มนุษย์โลกนี้เป็นสุคติของเทวดา จะได้พบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยง่าย...
ฉะนั้นอย่าได้ไปหลับหูหลับตาหลงใหลเทวดาสวรรค์วิมานอะไรนัก มันเป็น ตัวกู-ของกู ที่หวาน ที่หอม ที่มีเสน่ห์ มีอะไรก็จริง แต่มันมีความทุกข์ตามแบบนั้นๆ จะดับทุกข์ได้ต้องไม่มี ตัวกู-ของกู คือไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าตัว ว่าตน ว่าสัตว์ ว่าคน ว่าเรา ว่าเขา อย่างนี้นี่จึงจะมีความสุขหรือดับทุกข์ได้ ถ้ายังมีสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ตัวกู-ของกู อะไรนี้ มันก็คือวัฏฏสงสารที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ในกองทุกข์ ทีนี้อย่าไปดูวัฏฏสงสารที่อื่น ดูวัฏฏสงสารมันก็เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดบ่อยๆ เกิดที่นี่ และเดี๋ยวนี้และเกิดอยู่บ่อยๆ วัฏฏสงสารเกิดอยู่บ่อยๆ ยินดีก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ยินร้ายก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง คือความรักก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ความโกรธก็เป็นวัฏฏสงสารชนิดหนึ่ง ก็มีอยู่เท่านี้ เดี๋ยวยินดี-เดี๋ยวยินร้าย, เดี๋ยวยินดี-เดี๋ยวยินร้ายอยู่นี่เป็นวัฏฏสงสารอยู่เท่ากัน อย่าวัฏฏสงสารต่อตายแล้ว แล้วก็อย่าได้คิดว่าวัฏฏสงสารนี้เกิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนที่คนโง่เขาคิด อวิชชาก็เพิ่งเกิด-คนก็เพิ่งเกิด เพราะฉะนั้นวัฏฏสงสารมันก็เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อโง่ เพิ่งเกิดเมื่อมีความโง่ ทำให้เกิดรู้สึกเป็น ตัวกู-ของกู นี่ จึงเป็นวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารก็คือของที่เพิ่งมาและก็เพิ่งเกิดคือตัวกูนั่นละ หรือที่เรียกว่าอวิชชา หรือกิเลสนั้นนะถ้ามันอยากเกิดมา มันก็เป็นนิพพานชนิดตทังคนิพพานอยู่เรื่อยไป ความประจวบเหมาะ ถูกต้องตามธรรมชาติ ไม่เกิดความทุกข์เป็น ตัวกู-ของกู ก็สบาย
ฉะนั้นเคยพูดว่าไหนๆ ก็เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีก็อย่าให้เสียเปรียบสุนัข เพราะว่าสุนัขมีวัฏฏสงสารน้อย เกิด ตัวกู-ของกู น้อย เพราะมันคิดไม่เก่งเหมือนคน นี่มันมีเวลาที่ไม่ทุกข์มากกว่าคน เพราะฉะนั้น คนอย่าด้อยกว่าสุนัข พยายามปรับปรุงอบรมตัวเองให้ดี ให้มันเกิด ตัวกู-ของกู น้อยลงทุกที และมันก็เก่งกว่าสัตว์เดรัจฉานนะ เพราะว่าเราก็ไม่มีความทุกข์ด้วย และเราทำประโยชน์อะไรต่างๆ ได้มากกว่าสัตว์เดรัจฉานมากมายนัก มีสติปัญญารู้อะไรได้มากกว่าสัตว์เดรัจฉานมากมายนัก แต่ถ้าไม่ถือตามหลักนี้คือไม่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาแล้วคนจะเลวกว่าสุนัข เพราะจะเกิด ตัวกู-ของกู ( โลภะ โทสะ โมหะ) เดือดร้อนวุ่นวายตลอดทั้งวันทั้งคืนยิ่งกว่าสุนัข นี่, รอดมาได้เพราะสติปัญญาของพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ พวกเราก็รับช่วงต่อๆ กันมา พุทธศาสนาไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่องว่าอย่าสำคัญมั่นหมายสิ่งใดว่าเป็น ตัวกู-ของกู พระพุทธภาษิตข้อที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่พูดกันแล้วพูดกันอีกนั้นละอย่าเห็นเป็นของเล็กน้อยและอย่าลืมเสีย สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู) พอไปยึดมั่นเป็น ตัวกู-ของกู เมื่อไรก็เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็นวัฏฏสงสารขึ้นมาทันที ส่วนมากเป็นอบายคือความทุกข์ แม้จะไปหลงเป็นเทวดาอยู่ก็เป็นเทวดามีความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่ตามแบบของเทวดา โง่ที่สุดเพราะไปหลงในกามารมณ์นี้เป็นต้น
ถ้าเรามีสติอยู่เสมอว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย มีสติจริงๆ ไม่ใช่ปากท่องปากว่านะ สติไม่ใช่ปากว่าหรือปากท่อง คือความรู้สึกในใจรู้สึกแจ่มแจ้งจริงๆ ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น) นี่คือสติ สติที่มีอยู่ และสตินี้อย่าเผลอไปเสีย อย่าขาดตอนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออารมณ์มากระทบ ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี นั้นเป็นวินาทีที่แพงที่สุด อย่าเผลอเป็นอันขาด ถ้าเผลอตรงนั้นก็จะฉิบหายหมด ให้ความรู้ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย มันอยู่ตลอดเวลาเมื่ออารมณ์มากระทบ
ทีนี้เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นแล้วควรทำอย่างไร? ก็ทำไปตามสติปัญญานั้น ถ้าไม่มีเรื่องจะต้องทำก็ไม่ต้องทำ ถ้ามีเรื่องต้องทำก็ทำไป เช่น เราจะกินข้าว จะอาบน้ำ จะไปถาน จะทำงานทำการ จะช่วยเหลือผู้อื่น จะทำอะไรก็ตามแต่ก็ทำไปตามสติปัญญานั้น อย่าปรุงไปถึงขนาดว่ามีตัวกู มีตัวสู มีได้ มีเสีย มีรัก มีโกรธ มีเกลียด มีกลัวอะไรนี่ คำว่าสติ หมายถึงความรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มาช่วยเราทันท่วงที ถ้าเราเขียนจดไว้ในสมุดหรือท่องจำไว้ สักว่าจำๆ ไว้นี่มันไม่มาทันท่วงทีก็เรียกว่าไม่มีสติอยู่นั่นเอง ไอ้ความรู้หรือสติ ความรู้ หรือปัญญาที่มาทันท่วงทีนี้เราเรียกว่าสติ ทีนี้พอถูกเข้าครั้งหนึ่งเผลอสติ ก็ควรจะรู้จักเข็ดรู้จักหลาบกันเสียบ้าง อย่าเป็นคนที่โง่ถึงขนาดที่ไม่รู้จักเข็ดไม่รู้จักหลาบ หรือว่ารู้จักละอายกันเสียบ้าง อย่าเป็นคนหน้าด้านไม่รู้จักละอายเสียเลย ถูกเข้าอย่างนี้เป็นทุกข์ เป็นร้อน เป็นไฟ เป็นนรกในจิตในใจแล้วยังไม่รู้จักละอาย นี่ก็เป็นคนหน้าด้าน มันก็ได้โอกาสข้างฝ่ายกิเลส มันจะมาได้โดยสะดวกมากขึ้นๆ หรือว่ามีความกลัวกันเสียบ้างว่านี้คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่มีอะไรที่น่ากลัวกว่า แล้วก็กลัวจริงๆ มันก็เผลอยากอีกเหมือนกัน
ฉะนั้นจึงพูดว่ารู้จักเข็ดหลาบกันเสียบ้าง รู้จักละอายเสียบ้าง รู้จักกลัวเสียบ้าง มันก็จะดีขึ้นๆ ในทางที่จะไม่เผลอสติ ทีนี้เราก็ลองคิดเปรียบเทียบว่าไอ้สัตว์เดรัจฉานนี่ใครสอนมัน? จะเป็นสุนัขหรือเป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทไหนก็ตาม ไอ้เรื่องต่างๆ นั้นใครสอนมัน? มันธรรมชาตินั่นละสอน ชีวิตนั่นละสอน เช่น สุนัขทำไมไม่ไปงับก้อนถ่านไฟกินเข้าไปใครสอนมัน? คือธรรมชาติมันสอน ชีวิตนั้นมันสอน มันเคยไปดมถ่านไฟหรือว่าไปแตะถ่านไฟเข้าแล้วมันก็รู้ว่ากินไม่ได้ อันตรายมันก็ไม่กิน ต่อไปนี่มันฉลาดขึ้นมาได้ โดยธรรมชาติสอนพอสมควร มันจึงรอดชีวิตอยู่ได้
ทีนี้มนุษย์ดีกว่าสัตว์มาก มันก็ควรจะฉลาดกว่ากันหลายเท่าหลายสิบเท่า จนรู้ว่าอะไรไปแตะเข้าไม่ได้ คือว่าความรู้สึกความคิดนึกแบบไหนไปแตะเข้าไม่ได้ แตะเข้าแล้วร้อนเหมือนกับกินถ่านไฟ มันก็ได้แก่ ความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกู-ว่าของกู ไปแตะเข้านะมันร้อน ทีนี้มันเป็นสุนัขโง่หรือคนโง่ โง่ขนาดที่ว่ามันไปคาบถ่านไฟแล้วยังไม่รู้ว่าร้อน นี่คือคนที่ชุ่มแช่อยู่ด้วยตัวกูของกูแล้วก็ยังไม่รู้ว่ามันร้อนหรือยังเป็นทุกข์ นี่, คนเป็นอันมากกำลังถูก ตัวกู-ของกู ขบกัดอยู่ทุกวันก็ยังไม่รู้ว่านี่เป็นอสรพิษหรือเป็นไฟ หรือเป็นยาพิษ นี่มันก็คือคนโง่ไม่รู้จักไฟ ไฟ ในภาษาธรรมคือ กิเลส ไฟในภาษาวัตถุคือไฟแดงๆ ที่เรารู้จักกันดี แต่ไฟในภาษาธรรมคือกิเลสนี้ไม่ค่อยจะรู้จัก ถึงรู้จักแล้วก็ไม่รู้จักเข็ดหลาบ ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว ทำผิดซ้ำๆ อยู่นั่นนะ ดังนั้นเข้าใจกันเสียทีว่าเรื่องมันไม่มาก เรื่องมันไม่ยาก เรื่องมันไม่ลึกซึ้ง แต่มันอยู่ที่ความเหลวไหลของคนนั่นเอง ความไม่จริงไม่เอาจริง ไม่ซื่อตรงของคนนั้นเอง ไม่รู้จักเข็ดไม่รู้จักหลาบ ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัว แล้วที่เรื่องว่าบวชเข้ามานี่บวชมาทำไม ก็เพื่อจะศึกษาเรื่องนี้ จะรู้เรื่องนี้ให้มันเร็วเข้า แต่แล้วกลับมาไม่รู้เสียอีกกลับมาไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้เสียอีกก็เหมือนกับไม่ได้บวช ฉะนั้นก็จะสู้คนที่ไม่ต้องบวช นั่งคิดนึกๆ ให้ดีๆ อยู่ในป่าที่ไหนนานๆ เข้าก็รู้หรือว่ามีจิตใจเปลี่ยนแปลงไปไกลลิบจนไม่อยากจะแตะต้องกับสิ่งเหล่านี้ก็ได้ เพราะเราก็ได้เห็นอยู่ว่านักบวชบางคนก็มาลุ่มหลงอยู่ในลาภ สักการะ สรรเสริญ ไอ้ที่เป็นต้นเหตุของกิเลสนั้นยิ่งไปกว่าเมื่อเป็นฆราวาสเสียอีก บรรพชิตนี่มัวเมาในลาภ สักการะ สรรเสริญ ไอ้ความสุขทางเนื้อหนังยิ่งกว่าฆราวาสบางคนไปเสียอีกก็มีอยู่ทั่วๆ ไป เพราะ(ฉะ)นั้นมันจึงไม่มีฆราวาสหรือมีบรรพชิตสำหรับเรื่องนี้ ถ้าจะให้มี มันก็ต้องมีต่างกันนิดเดียวว่า บรรพชิตนี่จะเอาจริง จะไปก่อน จะไปเร็ว จะศึกษากันอย่างจริงๆ พวกฆราวาสก็ทำไปอย่างล้มลุกคลุกคลาน พวกบรรพชิตก็จะควบคุมจิตใจไว้เป็นอย่างดีไม่ให้มันล้มลุกคลุกคลานและมันก็ได้เปรียบอยู่มาก ที่ว่าคนนี้มันเพิ่งเกิด ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดไป แล้วจะไปขุดไปฟันมันให้ทลายลงไป ไม่ใช่มันเพียงแต่ระวังไว้อย่าให้มันเกิด มีสติมากขึ้น, มากขึ้น, มากขึ้น ตามความรู้ที่เราได้เรียนมากขึ้น มันก็เอาจริงกับเรื่องการมีสติก็จะป้องกันการเกิดได้
ธรรมะลึกนี้ใน โสฬสปัญหา ใน สุตตนิบาต นั้นมีมากอ่านดู สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งวิญญาณนี้ กระแสแห่งตัณหากระแสแห่งการเกิดนั่นนะ พูดถึงแต่สติมากที่สุด เพราะเรื่องความรู้ไม่ต้องพูดกันแล้ว มันเกินกว่าที่จะรู้แล้ว แต่มันขาดสติ คือความรู้ที่จะมาทันท่วงทีนั้นมันไม่มี นี่เรียกว่ามันไม่มีสติ หรือเผลอสติ ตัวกูก็เกิดได้เรื่อย จนเกิดวันละหลายหนหลายสิบหน ดูคล้าย ๆ ว่าชีวิตเต็มไปด้วยวัฏฏสงสารไม่มีนิพพานเจืออยู่เลย ที่แท้นั้นนิพพานเป็นพื้นฐานของชีวิตอย่าเผลอให้ ตัวกู-ของกู เกิด มันเป็นนิพพานชนิดหนึ่งอยู่เป็นประจำเลยเรียกว่าตทังคนิพพาน เย็นเหมือนกับนิพพานจริง เพียงแต่ว่ามันยังถูกแทรกแซงได้อยู่เรื่อยไป ทีนี้เราไปสกัดสิ่งแทรกแซงออกไปเสียให้หมดมันก็เป็นนิพพานแน่นอน ถาวรตลอดกาลไปได้ อย่าไปคิดมากสิ ว่าเอาอย่างนี้เวลาที่ไม่มีกิเลสเกิดในใจเอาอย่างนี้ เอาอย่างเดียว ไม่เอาอย่างอื่น รักษาให้มันอยู่ตลอดวันตลอดคืนไม่ต้องเอาอย่างอื่นแล้ว พอแล้ว พอเท่านี้แล้ว ไม่ยากไม่ลำบาก ไม่อะไร ไม่ต้องเรียนอะไรอีกก็ได้ เดี๋ยวนี้มันไปเรียนวิชาที่ขบถทรยศต่อตัวเอง ขบถทรยศต่อพระธรรม พระพุทธ พระสงฆ์ คือว่ามันเป็นสมัครเป็นลูกสมุนของกิเลสไปเสียหมด เรียนด้วยความอยากให้ ตัวกู-ของกู จะได้ดี จะได้ยกหูชูหาง เรียนกระทั่งสิ่งที่พระเณรไม่ควรเรียน นี่, ตัวกู-ของกู มันพาไป มันก็เลยกลายเป็นขบถ ขบถต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นไม่สำคัญเท่าขบถต่อตัวมันเอง มันไม่สร้างความดับทุกข์ให้ตัวมันเองนี่เรียกขบถต่อตัวมันเอง มันก็เป็นการขบถต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปเสร็จ
ทีนี้เรื่องมันง่ายถึงขนาดว่า ตัวกู-ของกู นี้มันเพิ่งเกิด กิเลสนี้มันเพิ่งเกิด อวิชชานี้มันเพิ่งเกิด เราก็เรียนรู้มาพอที่จะรู้ว่ามันคืออะไรก็มีแต่การระวัง ถ้าเผลอแล้วต้องรู้จักละอาย รู้จักเสียใจ รู้จักเข็ด รู้จักหลาบ ถือเพียง ๓ อย่างนี้เอาตัวรอดได้ เมื่อพวกเราเข้ามาถึงระดับนี้แล้วในชั้นนี้แล้วถือเพียง ๓ อย่างนี้ รู้จักเข็ดหลาบ รู้จักละอาย รู้จักกลัว - เอาตัวรอดได้ เดี๋ยวนี้เป็นคนหน้าด้าน เถียงซึ่งๆ หน้า ดันทุรังไปซึ่งๆ หน้า หาทางแก้ตัวอย่างนี้ จนไปหากิเลสจนได้
เอาละขอให้ช่วยจำให้ดีๆ ว่าคนนี้มันเพิ่งเกิด เกิดมาทีไรเป็นทุกข์ทุกที นี่มีสติสัมปชัญญะให้เพียงพอ อย่าให้มันเกิดคนขึ้นมา เป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา มันก็จะเหมือนกับรถยนต์ที่ไม่ต้องวิ่งเท่านั้นนะ แต่เดี๋ยวนี้เรามันยังดีกว่านั้นที่ว่าเรายังวิ่งได้ในทางที่ไม่มีความทุกข์ คือว่าวิ่งไปในทางที่ไม่ใช่ ตัวกู-ของกู อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าวิ่ง แต่ถ้าพูดอย่างชาวบ้านพูดก็ต้องพูดว่ายังวิ่งอยู่นะเพราะว่าทำงานเพื่อผู้อื่น เที่ยวแจกของส่องตะเกียงคล้ายกับยังวิ่งอยู่แต่ที่จริงไม่ใช่วิ่ง พระพุทธเจ้าท่านเรียกอาการอย่างนี้ว่าไม่ไป ไม่มา ไม่หยุด ไม่หยุดอยู่ที่ไหน ไม่ไปไหน ไม่มาไหน จิตที่เป็นอย่างนี้พระพุทธเจ้าเองก็ดี พระอรหันต์เองก็ดี ที่เที่ยวเดินสอนคนอยู่ทั่วๆ ประเทศ ทั่วๆ โลกนี้ก็มิได้ไปไหน มิได้มาไหน มิได้อยู่ที่ไหน เพราะตัวกูมันไม่มี เรามันยังดีกว่ารถยนต์อย่างนี้ คือมันยังวิ่งได้ชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ไม่มีความทุกข์ แต่ที่แท้เขาเรียกว่าไม่วิ่งนะ ฟังให้ดีๆ นะ หยุดแล้วนะ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านพูดกับองคุลิมาลว่า ฉันหยุดแล้ว แกไม่หยุดนะ คือฉันไม่มี ตัวกู-ของกู ที่จะไปไหนมาไหน นี่คือมันก็ไม่มีความทุกข์ นี่พูดกับคนชาวบ้านก็พูดอย่างนี้ว่า “แกไม่หยุด – ฉันหยุด”
ทีนี้ถ้าพูดให้ถูกกว่านั้นนะ พูดกับคนที่มีปัญญาจริงๆ บอกว่ามิได้มีตัวฉันอยู่เลย มิได้มีตัวแก มิได้มีตัวฉันอยู่เลย มันก็ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องวิ่งไป, วิ่งมา หรือว่าหยุดอยู่ พูดภาษาคนก็พูดอย่าง พูดภาษาธรรมก็พูดอย่าง พูดกับคนไม่รู้ก็พูดอย่าง พูดกับคนรู้ก็พูดอย่าง อย่าหาว่าพูดตลบตะแลงเพราะมันแล้วแต่จะพูดกับใคร-ในกรณีเช่นไร? เดี๋ยวนี้พูดอย่างผู้รู้ท่านสอน ท่านพูดกันว่า คนนี้มันมิได้เกิด มันเพิ่ง เกิด เมื่อ อวิชชา เกิด เมื่อ อุปาทาน เกิด ที่มันเกิดมาจากท้องแม่นั้นมันเหมือนกับรถยนต์ที่มันไม่วิ่ง จนกว่าเมื่อไรมันจะวิ่งได้ ทีนี้พอมันวิ่งเป็นทุกข์ เราก็รู้จักวิ่งชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ก็คือไม่วิ่ง ไม่มี ตัวกู-ของกู ก็ไม่มีอะไรวิ่ง นามรูปบริสุทธ์เคลื่อนไหวไป นามรูปล้วนๆ เบญจขันธ์ล้วนๆ ที่บริสุทธ์เคลื่อนไหวไปด้วยสติปัญญา อะไรควรทำก็ทำ นี่เป็นเรื่องแจกของส่องตะเกียงให้ผู้อื่น ไม่ใช่ว่า ตัวกู-ของกู หมดแล้วไม่ทำอะไร ตัวกู-ของกู หมดแล้วมันก็ทำอะไรก็ไม่เป็นอันกระทำ เป็นอัพยากฤตไม่เป็นกรรม ไม่เป็นดี ไม่เป็นชั่ว ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป แต่ยังทำได้อีกเยอะคือแจกของส่องตะเกียงให้ผู้อื่นได้มีความสุขทางวัตถุ ทางวิญญาณเรื่อยไป นี่ประโยชน์เรื่อง ตัวกูมิได้มี-ตัวกูมิได้เกิด นะมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นหลักพื้นฐานทั่วไปของธรรมปาฏิโมกข์ ทุกๆ เรื่องที่เราจะต้องพูดถึงกันคือเรื่อง ตัวกู-ของกู ฉะนั้นขอให้แจ่มกระจ่างชัดเจนอยู่ในใจเสมอว่า คนนี้มันเพิ่งเกิด ตัวกู-ของกู นี้มันเพิ่งเกิด แล้วก็ระวังอย่าให้มันเกิด เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เมื่อมันไม่เกิดก็เป็นความเย็นเป็นนิพพานอยู่ชนิดหนึ่งตลอดไป นิพพานนั้นนะคือไม่ต้องเกิด ส่วนที่ตรงกันข้ามกับนิพพานแล้วต้องเกิดทั้งนั้น เกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกาลเทศะ
ดูให้ดีในข้อนี้-พอ เป็นเรื่องทั้งหมดในพระพุทธศาสนาทั้งพระไตรปิฏก เอาละ, พอกันที