แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเป็นอภิรักขิตสมัย กล่าวคือวันขึ้นปีใหม่ ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว ธรรมเทศนาในวันนี้จะได้แสดงโดยหัวข้อว่า อัปปะมัตตา น มียันติ เย ปะมัตตา ยะถา มะตา ซึ่งแปลว่า บุคคลผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมไม่ตาย บุคคลผู้ประมาทแล้ว ย่อมเป็นเหมือนผู้ตายแล้วดังนี้ รวมความว่าเป็นพระพุทธภาษิตตรัสไว้เกี่ยวกับความประมาทและความไม่ประมาท โอกาสเช่นวันปีใหม่นี้เป็นเรื่องที่เนื่องด้วยเวลา ความสำคัญที่เกี่ยวกับเวลานั้น ก็ย่อมเกี่ยวกับความประมาทและความไม่ประมาท เพราะว่าเวลาเป็นสิ่งที่ล่วงไปอย่างที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด บุคคลผู้มีอะไรเกี่ยวกันกับเวลาก็จำเป็นจะต้องประพฤติ กระทำ ให้ถูกกันกับเรื่องของเวลา ธรรมเทศนาเกี่ยวกับความไม่ประมาท จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเวลา หรือว่าถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับเวลาแล้ว เราก็จะต้องพูดกันถึงเรื่องความไม่ประมาท จึงจะสามารถเอาชนะสิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นได้
การเอาชนะเวลานั้นหมายความว่า ไม่มีปัญหาหรือความทุกข์ยากใดๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับเวลา อย่างน้อยที่สุดก็เพราะว่าเราได้สามารถทำสิ่งที่ควรจะทำให้สำเร็จลุล่วงไปทันแก่เวลา ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะเวลา และถ้ามากกว่านั้น หรือมากถึงที่สุดแล้วก็หมายความว่าเรามีจิตใจชนิดที่อยู่เหนืออำนาจของเวลา เพราะเหตุว่าเราไม่ต้องการอะไร สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นมันเกิดมีความหมาย หรือเกิดมีอำนาจขึ้นมาได้ก็เพราะความต้องการของคนที่ต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ถ้าเกิดไม่ต้องการอะไรขึ้นมาแล้ว เวลาก็ไม่มีความหมายอะไร อย่างพระอรหันต์เป็นผู้ไม่ต้องการอะไร เวลาก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่ได้ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้ แล้วเวลาจะทำอะไรได้ ขอให้ลองคิดดูเถิด สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นเล่า ก็เป็นของลมๆ แล้งๆ แต่ว่ามันก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความต้องการ
มนุษย์รู้จักบัญญัติกฎเกณฑ์อันเกี่ยวกับเวลา เช่นว่า เท่านั้นวัน เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี เป็นต้น ก็เพราะมีความเกี่ยวข้องกัน สำหรับจะได้รู้อะไรบางอย่างที่มนุษย์จำเป็นจะต้องรู้ อันเกี่ยวกับเวลา เช่นว่า อายุล่วงมาเท่าไร ประมาณอีกสักเท่าไรจะต้องตาย ดังนี้เป็นต้น และการนับเวลาก็ถือเอาสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับมนุษย์นั่นเองเป็นหลัก เช่นว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือ โลกนี้มีความสัมพันธ์ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นรอบๆ อย่างไรก็เอาสิ่งนั้นแหละเป็นหลักเกณฑ์สำหรับจะบัญญัติเวลาขึ้นมาว่าอย่างนั้น อย่างนี้ มันจึงเลยเนื่องกันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น และเนื่องกันไปหมด เช่นมนุษย์นี้ก็เนื่องกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าโลก หรือดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ ฤดูฝน ฤดูแล้ง ฤดูหนาว เป็นต้น ทีนี้เวลาก็บัญญัติขึ้นมาจากฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูแล้ง ซึ่งผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ของดวงอาทิตย์ ของดวงดาวต่างๆ จึงทำให้เกิดความสัมพันธ์กันขึ้นในระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่าเวลา และสิ่งที่ใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับบัญญัติเวลานั้นๆ ดังนั้น เราจะต้องทำกับมันให้ดีๆ อย่าให้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้ จึงจะได้ไม่เป็นทุกข์ การจะทำอะไรให้ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือการทำจิตใจนั่นเอง เราต้องทำจิตใจชนิดที่จะไม่ต้องมีความทุกข์เพราะสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะสิ่งที่เรียกว่าเวลา สิ่งที่เรียกว่าเวลาที่เนื่องกันกับวันนี้นั้นก็คือเวลาที่ครบขวบปีตามที่เราบัญญัติกันขึ้น เราบัญญัติวันนี้ว่าเป็นวันปีใหม่ หมายความว่าฤดูฝนได้ล่วงผ่านไปอีกฤดูหนึ่งแล้ว แล้วก็จะย่างขึ้นฤดูใหม่ คือรอบปีใหม่ โดยถือเอาฝนตกครั้งหนึ่งเป็นปีหนึ่ง ฝนตกคราวหนึ่งเป็นปีหนึ่ง บัญญัติวันนี้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ สำหรับตัวเวลาเองนั้นมันไม่รู้ไม่ชี้กันกับการบัญญัติของมนุษย์ แต่มนุษย์นั่นต้องรู้ต้องชี้ เพราะว่าตัวมีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรให้ทันแก่เวลา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้มันเป็นระเบียบสักหน่อยมันจึงจะก้าวหน้าไปด้วยดี เราจึงมีการทำอะไรๆ เกี่ยวกันกับเวลาที่เรียกว่าวันปีใหม่ เช่นวันนี้ก็มีการตักบาตรปีใหม่เพื่อเป็นการแสดงว่าขึ้นปีใหม่ แล้วก็ทำบุญเนื่องด้วยปีใหม่ ถ้าเราจะทำบุญเนื่องด้วยปีใหม่ก็ต้องให้มันมีความหมายเป็นพิเศษไปกว่าการทำบุญตามวันธรรมดา
การทำบุญในวันปีใหม่นี้อย่างน้อยที่สุดมันก็จะต้องทำด้วยความรู้สึกคิดนึกชนิดที่เป็นความไม่ประมาท ที่ว่าได้ล่วงมาปีหนึ่งแล้ว ก็จะได้ทำให้ดีในปีต่อไป ที่เรียกว่าทำบุญนั้น ก็ได้เคยพูดกันมามากแล้วว่าหมายถึงอะไรโดยละเอียด เดี๋ยวนี้ก็จะกล่าวแต่สรุปสั้นๆ ว่า ที่เรียกว่าทำบุญนั้น ตามธรรมดาสามัญก็คือ ทำสิ่งที่ทำให้เกิดความสบายใจ อิ่มอก อิ่มใจ นี้อย่างหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นอย่างต่ำก็ได้ ถัดขึ้นไปนั้น การทำบุญก็คือการทำสิ่งที่จะทำให้บาปหมดไป เอาบุญนั่นแหละเป็นเครื่องล้างบาป นี้ก็ยังน่าดูขึ้นไปกว่าที่จะพูดว่าทำบุญเพียงเพื่อให้มันอิ่มอกอิ่มใจ ทีนี้ถ้าสูงขึ้นไปอีกแล้ว มันก็ต้องพูดว่าทำบุญก็คือทำเพื่อให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เพราะว่าถ้ามีแต่บุญแล้วก็ยังจะต้องเวียนว่ายไปในวัฏสงสารบุญอย่างนี้ มันก็ยังไม่วิเศษวิโสอะไร เพราะว่าการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยบุญนั้น มันก็ยังจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นเอง ก็ต้องมีความทุกข์ ครั้นถ้าจะให้หยุดเวียนว่ายเสียสักทีนั่นแหละจะเป็นการดีที่สุด เพราะฉะนั้น การทำบุญมันจึงมีอยู่กัน ๓ ชั้นอย่างนี้ ทำบุญให้สบายใจเหมือนคนที่ทำกันทั่วไปนี้ ไม่ยาก ทำตามเขาว่า ละเมอเพ้อๆ ไปก็ยังอิ่มอกอิ่มใจได้ แม้ที่สุดจะเป็นบุญปลอม ก็ยังอิ่มอกอิ่มใจได้ เหมือนคนมีเงินปลอม เมื่อไม่รู้ว่าปลอมมันก็สบายใจว่ามีเงินมากได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่จะเอาแต่ความอิ่มใจเป็นหลักนั้น ยังไม่ปลอดภัย ยังจะต้องระวังให้ดีๆ ว่ามันอิ่มอกอิ่มใจถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า
ทีนี้บุญชั้นที่ ๒ ก็คือให้มันเห็นชัดลงไปว่ามันล้างบาป อะไรที่เป็นบาป มันก็ทำให้หมดไปสิ้นไป เช่นว่าความขี้เหนียว เป็นสิ่งที่ทำให้ร้อนใจ ก็ทำบุญ เพื่อจะล้างความขี้เหนียวนั้นเสีย คือการบริจาค เพื่อจะทำลายเสียซึ่งมัจฉริยะ ดังนี้เป็นตัวอย่าง เรียกว่าทำบุญเพื่อล้างบาป
ส่วนอันสุดท้ายนั้น ทำบุญเพื่อจะให้ส่งขึ้นไปจนถึงระดับที่มีบุญเต็มปรี่แล้วก็ยังรู้สึกว่ามันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็เลยอยากจะให้หยุดเวียนว่ายตายเกิด จึงทำไปในทางที่เป็นวิชาความรู้ ให้รู้ว่าถ้ายังมีความหลง มีอวิชชา มีตัวกู มีของกู อยู่เพียงใดแล้ว ยังมีความทุกข์อยู่เพียงนั้น แม้จะเป็นตัวกูในสวรรค์ชั้นฟ้า ชั้นพรหมอะไรก็ตาม จึงมุ่งที่จะทำลายล้างเสียซึ่งความผูกพันของอวิชชา อย่าให้มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกู อีกต่อไปดังนี้ ในวันนี้ท่านทั้งหลายก็ได้ทำบุญปีใหม่ด้วยการตักบาตร ด้วยการรับศีล ด้วยการฟังเทศน์ เป็นต้น มันจะนำมาซึ่งความอิ่มใจ หรือว่า มันจะนำมาซึ่งการล้างบาป หรือว่า มันจะนำมาซึ่งความหลุดพ้น ก็แล้วแต่ท่านทั้งหลายจะกระทำ แต่อยากจะแนะให้สังเกตอยู่สักข้อหนึ่งว่า เมื่อตอนเช้านี้ก็มีการกล่าวคำถวายทานตามธรรมดาว่า อิทัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีของที่นี่ แต่แล้วขอให้พิจารณาดูจากถ้อยคำที่ว่านั้นว่า อิทัง วะตะ เม ทานัง ทานของข้าพเจ้าวันนี้หนอ อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ จงเป็นสิ่งนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ คำว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะนั้นมันหมายความว่า หมดกิเลส หมดอวิชชา หมดตัณหา หมดอุปาทาน หรือที่เรากล่าวกันตามธรรมดาว่าหมดตัวกู ของกู โดยสิ้นเชิง เมื่อมีการถวายทานยังมีความประสงค์ว่าให้ทานนี้เป็นไปเพื่อความหมดแห่งตัวกู ของกู ดังนี้ ถ้ามันเป็นได้อย่างนั้นจริง ไอ้การทำบุญ ทำทานนั้นก็เป็นทานประเภทที่ ๓ คือเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เพราะมุ่งหมายจะทำลายล้างเสียซึ่งอาสวะ แต่จะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ก็ขอให้ลองคิดดูต่อไป มันจะเป็นเรื่องงมงายทำไปโดยไม่รู้ว่าอะไรก็ยังได้ อย่างนี้ก็เรียกว่ายังประมาทอยู่ และยังไม่สมกับคำว่าทำบุญปีใหม่เลย เพราะว่าทำบุญปีใหม่มันต้องไม่งมงาย มันต้องไม่หลับหูหลับตาอยู่อย่างเดิม มันจะต้องลืมหูลืมตาสว่างไสว แจ่มแจ้งขึ้น ถ้าจะว่า อิทัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง อีกต่อไปแล้ว ขอให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ให้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เป็นไปตามนั้นได้จริงๆ ก็จะเรียกได้ว่าการทำบุญนั้นสมกับที่จะว่าเป็นการทำบุญปีใหม่ และเป็นปีใหม่เอี่ยมทีเดียว
ทีนี้จะพิจารณาดูกันต่อไปถึงข้อที่เรียกว่าจะเป็นความไม่ประมาทได้อย่างไร การทำบุญปีใหม่ต้องทำด้วยความไม่ประมาทนี้เป็นที่แน่นอน เราจะมีความไม่ประมาทอย่างไรมันก็อยู่ที่การพินิจ พิจารณา เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำลายความงมงายเสียได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าความไม่ประมาท สำหรับเกี่ยวกับการทำบุญปีใหม่เนื่องด้วยปีใหม่นี้ ให้ทานก็ได้ รักษาศีลก็ได้ แม้ที่สุดแต่เจริญปัญญาภาวนาก็ได้ ที่เป็นชั้นสูงสุดก็เป็นเรื่องวิชาความรู้ทั้งนั้น คือรู้แจ้งสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียกกันว่าชีวิตจิตใจ คนก็ย่อมจะเข้าใจได้ว่าชีวิตคืออะไรและล่วงไปๆ นี่มันมีปัญหาอะไร เราจะมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันขึ้นปีใหม่ เราจะต้องรู้อย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีความรู้สักสองประการคือว่า รู้สึกยินดีที่รอดมาได้ปีหนึ่ง เพราะว่าการที่รอดมาได้ปีหนึ่งนี้ ทำให้เรารู้อะไรเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง รู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตจิตใจเพิ่มขึ้นอีกปีหนึ่ง รู้กฎของธรรมชาติต่างๆ นาๆ สารพัดที่เกี่ยวกับชีวิต ก็เรียกว่า พอใจในความรู้ที่ได้เพิ่มขึ้นมานี่ และว่ายินดีที่รอดมาได้ปีหนึ่งนี่ พวกที่นับถือพระเจ้าเขาก็ขอบคุณพระเจ้าว่าพระเจ้าได้ช่วยให้รอดมาได้ปีหนึ่งแล้ว ก็ขอบคุณพระเจ้าอย่างนี้ก็มี สำหรับพุทธบริษัทนี้ มีความหมายสำหรับคำว่าพระเจ้าไปตามแบบของตัว พระเจ้าในกรณีอย่างนี้ก็เห็นจะไม่พ้นไปจากสติปัญญาหรือความรู้ของตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ พระธรรมที่ได้ทำให้มีขึ้นมาในตัว นั่นแหละเป็นเครื่องบันดาลให้เป็นไป หรือว่าคุ้มครองให้รอดอยู่ได้เป็นเวลาปีหนึ่ง ถ้าเราจะนึกขอบใจอะไรขึ้นมาบ้าง ก็ต้องขอบใจพระธรรมที่ทำให้รอดมาอีกปีหนึ่ง และรอดมาอีกปีหนึ่งนี้ไม่ใช่รอดมาอย่างโง่เง่างมงาย รอดมาปีหนึ่งด้วยสติปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตามที่เป็นจริงยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากยิ่งขึ้น จึงได้ยินดีว่า แหม! มีชีวิตรอดมาได้ปีหนึ่งนี้เป็นข้อแรก ข้อที่สองก็คือว่า ได้มีความรู้ สำหรับเตรียมตัวสำหรับปีต่อไปข้างหน้าอย่างไรต่อไปอีก ข้อนี้ก็ได้อาศัยความรู้ที่ได้ผ่านมาแล้วแต่ปีหลังๆ ทำให้รู้ยิ่งขึ้นไปว่าปีต่อไปข้างหน้าโน้นเราจะต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวอย่างไรให้มันดีกว่าเดิม ให้มันเป็นการก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เป็นของแปลก ของใหม่ ไม่ซ้ำๆ ซากๆ ท่านทั้งหลายควรจะถือว่าสิ่งที่เป็นครูที่ดีที่สุดนั้นก็คือตัวชี้วัดนั่นเอง การที่มีชีวิตไปวันหนึ่งๆ ๆ มันมีความเป็นครู บอกให้รู้อยู่ในตัวชีวิตนั่นเอง ไม่ต้องมีใครมาสอน ถึงจะมีใครมาสอนมันก็สอนไม่ได้ หรือ ไม่ดีเท่ากับที่ชีวิตมันจะสอนให้เอง เพราะมันผิดถูกอะไร เราก็รู้อยู่แก่ใจ มันสุขหรือทุกข์อย่างไร ได้หรือเสียอย่างไร ขาดทุนหรือมีกำไรอย่างไร มันก็ล้วนแต่รู้อยู่แก่ใจของตนเองทั้งนั้น นั่นคือชีวิตนั่นเองเป็นครู ส่วนที่เป็นผิดก็เป็นครู ส่วนที่เป็นถูกก็เป็นครู แต่ส่วนที่เป็นผิดนี้เป็นครูที่ยิ่งกว่า เป็นครูที่ดีกว่า เป็นครูที่น่ากลัวกว่า เรารอดตัวมาได้นี้ก็เพราะความผิดที่เป็นครูนั่นเอง เรากลัว ไม่กล้าจะทำผิดอีก เพราะความผิดนั่นแหละมันสอนเรา แต่ถ้ามีแต่ความถูกต้องไปเสียหมดแล้ว ก็มีแต่จะเหลิง ไม่ค่อยจะเป็นไปถูกทาง เมื่อมีความผิดสอนให้อย่างเจ็บปวดแล้ว มันก็ระมัดระวังมาก นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าความไม่ประมาท ซึ่งเราจะต้องมีกันให้เต็มที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ปีใหม่ก็คือความไม่ประมาทอย่างใหม่เกิดขึ้นมาดังนี้ จะได้เตรียมตัวสำหรับมีปีใหม่ต่อไปข้างหน้าอย่างไร เป็นความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมความแล้วมันก็เป็นความรู้ ๒ ประการ คือ ความรู้ข้อแรก รู้ในฝ่ายอดีตที่มันล่วงมาแล้วของปีเก่า ความรู้ข้อที่ ๒ ก็คือรู้สำหรับจะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคตคือปีที่กำลังจะมาถึง วันนี้เราถือกันว่ามันล่วงขึ้นมาได้ปีใหม่เพียงวันเดียว ยังมีอีกหลายวันที่จะต้องกระทำต่อไปให้ถูกต้อง ก็จงได้ใช้ความรู้ ๒ ข้อนี้ให้เป็นอย่างดีที่สุดเถิด ทำอย่างนั้นแหละจะชื่อว่าทำบุญปีใหม่อย่างแท้จริง
ทีนี้จะได้พิจารณาดูกันต่อไปว่ามันมีหนทางอะไรที่จะทำได้อย่างนั้น ข้อนี้ขอให้รู้ว่าการจะทำบุญปีใหม่ หรือมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปีใหม่อย่างไรนั้น มันขึ้นอยู่กับความรู้เพียงข้อเดียวเท่านั้น คือความรู้ข้อที่ว่าเกิดมาทำไม เกิดมาทำไม เพียงข้อเดียว ถ้าคนเรารู้ว่าเกิดมาทำไมเพียงข้อเดียวเท่านั้น ความรู้ต่างๆ ก็จะมีขึ้นมาอย่างถูกต้อง ถ้าเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมแล้ว แม้เราจะรู้เรื่องอะไร ฉลาดในเรื่องอะไรอีกกี่ร้อยกี่พันอย่าง มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร กลับจะมีแต่โทษด้วยซ้ำไป คือเราไม่สามารถจะใช้ความรู้นั้นให้ถูกตรงกับข้อที่ว่าเกิดมาทำไม แต่แล้วไปใช้มันผิดๆ ความรู้นั้นก็เลยเป็นภัย เพราะเหตุที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า สัมมาทิฏฐิเป็นรุ่งอรุณ หมายความว่าสัมมาทิฏฐินั้นเป็นแสงสว่างที่เริ่มส่องแสงขึ้นมา สำหรับให้มีการประพฤติ กระทำ ทางกาย ทางวาจา ทุกอย่าง ทุกทาง เป็นไปอย่างถูกต้อง รุ่งอรุณเกิดขึ้นมาแล้ว ก็หมายความว่าเวลากลางวันจะต้องมีขึ้นตามมา เป็นแสงสว่างเต็มที่ สัมมาทิฏฐินี้ก็เหมือนกัน มีลักษณะเป็นรุ่งอรุณ แล้วมันก็เบิกบานเป็นแสงสว่างในเวลากลางวัน สัมมาทิฏฐิอย่างยิ่งก็คือ สัมมาทิฏฐิที่รู้ว่าเราเกิดมาทำไม ถ้าเรามีความรู้ในข้อนี้ถูกต้องจริงๆ แล้ว ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิได้อย่างเต็มที่ คนมิจฉาทิฏฐินั้นก็คือคนที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม นั่นแหละเป็นข้อแรก แล้วมันจึงไปทำอะไรผิดๆ อีกมากมายหลายสิบ หลายร้อย หลายพันอย่าง สมกับที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิก็ทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะมีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจอย่างถูกต้องนั่นเองว่าเกิดมาทำไม โดยแท้จริงแล้วจะต้องทำอะไร ก็ทำแต่สิ่งที่ต้องทำหรือควรทำ ก็ไม่มีเรื่องผิดพลาดอันใดเกิดขึ้นมาได้ เมื่อถามว่าเกิดมาทำไมดังนี้ มันก็มีขอบเขตที่จะตอบ ขอบเขตของคำตอบอย่างกว้างขวางจนถึงกับบางคนอาจจะงงไปได้เหมือนกัน เราพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกัน ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น แต่ต้องขยันพิจารณาตรงไปตรงมาโดยไม่เข้าข้างตัว ถ้าเราจะดูกันกว้างๆ เกิดมานี้มันเกิดมาเพื่อตัวเองหรือว่าเกิดมาเพื่อผู้อื่น หรือว่าเกิดมาทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น เรามีใจที่ไม่ลำเอียง มองดูความคิด ความนึก และการกระทำของเรา จนให้เรารู้ว่าเราเกิดมาเพื่อใครกันแน่ เพื่อตัวเองหรือเพื่อผู้อื่น หรือทั้ง 2 อย่าง ที่ว่าต้องทำจิตใจไม่ให้ลำเอียงนั้น ยกตัวอย่างเช่นว่า เรามองเห็นตัวเองว่า เราทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ประพฤติประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่เหมือนกัน แต่แล้วมองดูให้ลึกลงไปว่า ที่เราทำประโยชน์ผู้อื่นนั้น เราทำเพื่อให้เราได้ประโยชน์แก่ตัวเราอีกทีหนึ่งใช่หรือไม่ เช่นว่า เราเอาอะไรไปให้เขากิน ก็เพื่อให้เขารักเรา และเอาอะไรมาให้เรามากกว่าที่เราให้เขา เมื่อเป็นอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการทำประโยชน์ตัวเองหรือประโยชน์ผู้อื่นหรือว่าทั้ง ๒ อย่าง ถ้าพิจารณาดูให้ดีมันก็เป็นเรื่องทำประโยชน์เพื่อตัวเองชัดๆ เพราะว่าถ้าไม่ได้ประโยชน์แก่ตัวเองแล้วก็ไม่ทำ ไม่เอาไปช่วยเหลือใครที่ไหน นี้เป็นตัวอย่างของการมองอย่างไม่ลำเอียง ต้องมองกันอย่างนี้ ทีนี้ที่ว่าเกิดมาเพื่อผู้อื่นนั้น มันต้องมีจิตใจส่วนใหญ่หรือส่วนมากหรือทั้งหมดก็ได้ เห็นแก่ผู้อื่นจนลืมตัวเอง อย่างที่มีข้อความกล่าวไว้เป็นหลักว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ดี เกิดมาเพื่อผู้อื่นทั้งโลก คือเพื่อผู้อื่นทั้งหมด ไม่ยกเว้นผู้ใดแม้แต่สักคนเดียว ส่วนพระอรหันต์ตามธรรมดาสามัญนั้น มีทั้งที่เกิดมาเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น ไม่มีความคิดกว้างไปถึงผู้อื่นมากมายเหมือนพระโพธิสัตว์ หรือเหมือนพระพุทธเจ้า ส่วนปุถุชนธรรมดาสามัญ เรา ท่าน นั้นเกิดมาเพื่อตัวเอง เกิดมาเพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อเหลน ของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่
เกิดมาเพื่อตัวเองแล้วยังไม่พอ ยังจะต้องเกิดมาเพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อเหลน ดีแต่ว่ามันมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่จะมีเหลน ถ้ามันอยู่นานไปกว่านั้น มันก็เพื่อลูกของเหลน ของลูกของลูกของเหลน ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้ไม่เรียกว่าเพื่อผู้อื่น เพราะคนมีลูกมีหลาน มีเหลนนั้น ก็มีเพื่อสืบแทนตัว หรือเป็นของๆ ตัว การเห็นแก่ลูกแก่หลานของตัวนั้น ยังไม่ชื่อว่าเห็นแก่ผู้อื่นโดยแท้จริง อย่างนี้ เราก็เกิดมาเพื่อตัวเราเองเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็เพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อเหลน ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่ง เมื่อเห็นว่าตัวเองจะตายแล้ว ก็เห็นลูก หลาน เหลน สำคัญกว่าตัว อย่างนี้มันก็ไม่มีความหมายที่จะเป็นผู้อื่นไปได้ เราจึงต้องเปรียบเทียบกันดูว่า การทำประโยชน์เพื่อตัวเองอย่างเดียว กับเพื่อผู้อื่นโดยตรง และทำทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่นนั้น มันต่างกันอย่างไร เราไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระโพธิสัตว์ได้ก็จริง แต่เราควรจะรู้ว่าท่านทำอย่างไร เราก็อาจจะทำได้บ้างในบางเวลา หรือบางโอกาสอย่างนี้ก็ยังดี เช่นว่า ปีหนึ่งมีตั้งหลายร้อยวัน เราจัดตัวเองให้ทำอะไรเพื่อผู้อื่นล้วนๆ กันเสียบ้างสัก ๔-๕ วัน มันก็ยังจะดีกว่าที่จะไม่ทำเสียเลย เพราะว่าการทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น มันดีวิเศษหลายอย่าง หลายประการ คือว่าอย่างน้อยมันก็มีความสุข ยิ่งกว่าที่เราจะทำอะไรเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเอง ขอให้คิดดูว่าขณะที่เราเอาของให้สุนัขกิน หรือให้คนขอทานกิน หรือให้ผู้อื่นชนิดใดกิน เราก็มีความรู้สึกพอใจ สบายใจ เราอาจจะไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นอย่างนั้นก็ได้ มันแล้วแต่ว่าคนๆ นั้นมันมีจิตใจเป็นอย่างไร ถ้ามันรักสุนัขมาก เอาข้าวให้สุนัขกิน คงจะรู้สึกสบายกว่าที่จะกินเองเป็นแน่นอน เพราะว่ามันรักสุนัขมาก แต่ว่าคนที่เขามีใจบุญ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้เพราะรักสุนัขที่เลี้ยงไว้ แต่ให้เพราะว่าอยากจะเผื่อแผ่ผู้อื่น เมื่อเห็นผู้อื่น สัตว์อื่น มีความสุข ตัวเองก็มีความสุขด้วย นี่มันเป็นกฎธรรมดาหรือกฎของธรรมชาติอันลึกซึ้งอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าถ้ามันให้ไปด้วยจิตใจที่เสียสละ หรือบริจาคจริงๆ แล้ว ตอนนั้นมันก็หมด ตัวกู ของกู ไปพักหนึ่ง ขณะหนึ่ง ขณะที่หมดตัวกู ของกูนั้น มันมีความรู้สึกเป็นสุขอีกชนิดหนึ่งซึ่งลึกซึ้ง ประณีต ลึกซึ้งบอกไม่ถูก แต่รู้สึกได้ว่ามีความสุข นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การทำประโยชน์ผู้อื่นนั้นมันก็เป็นความสุขแก่ผู้ทำ และนอกจากจะเป็นความสุขแล้ว มันเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส คือตัวกู ของกู อย่างยิ่งด้วย เราควรจะมองให้ดี และพยายามทำให้มากเท่าที่จะทำได้ และสอนลูก สอนหลาน สอนเหลน ให้ทำอย่างนั้นด้วย เพื่อว่าเขาจะได้เป็นคนที่มีความสุขอันแท้จริงเหมือนกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราปล่อยไปตามอารมณ์ มันก็ได้โอกาสแก่กิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เราจึงหมักหมมกิเลสที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวนั้นมากเข้าๆ มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาคือมันไม่ทำให้เกิดความสุขได้ แต่มันก็ทำให้เกิดความคิดว่า เราดี หรือเรามีความสุข มันจึงเป็นเรื่องที่หลอกลวงกันอย่างงมงาย เหมือนกับว่าคนมีเงินมาก ก็จะต้องเข้าใจว่าตัวมีความสุข แต่ความรู้สึกอันแท้จริงนั้นมันก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุข แต่แล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้คิดไปว่าตัวไม่มีความสุข เพราะตัวเข้าใจว่ามันมีความสุขเสียเรื่อย ต่อเมื่อเมื่อใดเขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับจิตใจในเรื่องนี้แล้ว รู้จักสังเกตให้มากแล้ว ก็จะรู้สึกว่าความสุขนั้นมันจะมีต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไรเป็นของเรา เรารู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรามันเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นถ้าเรามีเงินแต่ไม่รู้สึกว่ามันเป็นของเรา มันก็ยังจะมีความสุขได้ยิ่งกว่าที่เราจะรู้สึกว่าเงินนี้ของเรา เพราะว่าเมื่อเราคิดหรือรู้สึกว่าเงินนี้ของเรา มันก็เป็นจิตใจที่มืดมัว หม่นหมองขึ้นมาทันที เช่น ไปรัก ไปกำหนัด ยินดี ในเงินนั้น มันก็เป็นความหม่นหมอง และเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง แล้วมันก็จะเกิดความลังเล สงสัย วิตกกังวล ในข้อที่มันจะหายไปเสีย ในข้อที่มันจะไม่ปลอดภัย มันก็เลยยิ่งเป็นความหม่นหมองหรือเป็นความทุกข์มากขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น มันจึงสู้เราไม่มีความรู้สึกว่าเงินนี้เป็นของเราไม่ได้ มีก็มีตามที่สมมติว่ามี จะใช้มันไป ก็ใช้ไปอย่างที่จะต้องใช้มันอย่างไร จะเก็บรักษา ก็เก็บรักษาไว้ตามที่ควรจะเก็บรักษาอย่างไร ไม่ต้องมีความรู้สึกคิดนึกไปในทางที่ยึดมั่น ถือมั่น อย่างนี้ นี่คือวิธีที่จะทำจิตใจให้หมดจดจากความหม่นหมอง การเห็นแก่ผู้อื่นก็เป็นอุบายอันหนึ่งที่ทำให้จิตใจหมดจากความหม่นหมองข้อนี้ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ของๆ ตัว จนมีจิตใจชนิดที่ไม่มีความทุกข์อันใดที่เกี่ยวกับตัวหรือของๆ ตัว เรียกว่าเราไม่เห็นแก่ตัว ไปเห็นแก่ผู้อื่นหรือเห็นแก่หน้าที่ การงานที่จะต้องทำเพื่อคนทั้งโลก อย่างนี้ มันก็เลยสนุกสนานไป เป็นความชนิดที่มีความสุขสนุกสนานด้วย ถ้ามัวมาจดจ่ออยู่กับตัว มันก็ไม่มีอะไรนอกจากความทุกข์ ความหม่นหมอง ความวิตกกังวล หนักเข้าก็เป็นโรคทางจิตใจและทางวิญญาณพร้อมกันไป หาความสุขไม่ได้
ในที่สุดนี้ เราจะพิจารณาดูกันต่อไปว่า ถ้าเราจะคิดว่าเราเกิดมาเพื่อผู้อื่นแล้ว เราจะต้องทำอย่างไรในวิสัยที่คนธรรมดาสามัญ ปุถุชน เรา ท่าน จะพึงกระทำได้ ถ้าเราเกิดมาเพื่อผู้อื่น เราก็จะต้องทำสิ่งที่จะเหลืออยู่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือแก่คนทั้งโลก จะกล่าวให้กว้างออกไปถึงเรื่องทางโลกๆ หรือทางสังคม ตามธรรมดาสามัญ เช่นว่า ถ้าเราเกิดมาเพื่อผู้อื่นจริงแล้ว สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว สิ่งนั้นเราจะต้องทำด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น
ข้อแรก เราจะสืบศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ที่ดีงามของประเทศชาติหรือของโลกให้ยังคงอยู่ นี่หมายความว่าเราไม่นึกถึงตัวเรา แต่เราจะนึกไปในข้อที่ว่า โลกนี้มันจะอยู่รอดอยู่ได้อย่างไร แล้วเราก็จะทำสิ่งนั้นๆ ข้อแรกนี้เราจะต้องถือว่าโลกจะรอดอยู่ได้ก็เพราะว่าในโลกนี้ยังมีศาสนาที่ดี ที่ถูกต้อง มีวัฒนธรรม ประเพณี ที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นของคนทั้งโลกอยู่ เราก็จะต้องศึกษาให้รู้เรื่องศาสนา เรื่องวัฒนธรรม เรื่องประเพณี ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วช่วยกันสืบไว้ให้ดีๆ ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปด้วยจิตใจที่กว้างขวาง เหมือนว่าเราจะทำบุญตามประเพณี เช่น ประเพณีทำบุญปีใหม่หรือทำบุญอะไรก็ตาม เมื่อมองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่มนุษย์แล้ว หรือแก่พุทธบริษัทในวงแคบนี้ก็ตามแล้ว ก็จะต้องช่วยกันสืบรักษาไว้ ใจความสำคัญมันรวมอยู่ที่ตัวศาสนานั่นเอง เพราะว่าเป็นหลักใหญ่ ในการที่จะอธิบายให้เห็นว่ามนุษย์เกิดมาทำไม ส่วนวัฒนธรรมหรือประเพณีปลีกย่อยนั้นมันก็เป็นแขนงปลีกย่อยที่แตกแยกออกไปจากหลักสำคัญในพระศาสนา เพราะว่าทุกข้อทุกประเด็นมันจะต้องเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ทั้งนั้น ที่เป็นประเด็นใหญ่ๆ ก็อยู่ในรูปของศาสนาที่มีความสำคัญมาก ที่รองลงมาก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณี อาศัยเหตุผลที่มีอยู่ตามกฎเกณฑ์ในทางศาสนานั้นเป็นหลัก เมื่อเรามาช่วยกันรักษาไว้ หรือสืบอายุไว้ให้มีศาสนา มีวัฒนธรรม มีประเพณีที่ดีในโลกนี้ มันก็เป็นการทำประโยชน์ผู้อื่นอย่างสูงสุดและเต็มที่ ทำนองเดียวกันกับพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าที่ท่านมีความคิดนึก ที่จะช่วยโลกทั้งโลกไว้นั่นเอง แต่เราไม่สามารถทำได้อย่างท่าน เราก็ทำให้มันเป็นไปในทำนองที่จะทำให้ได้ผลคล้ายๆ กัน คือช่วยโลกทั้งโลกเช่นเดียวกับท่าน แต่ในระดับหนึ่ง หรือในปริมาณอันหนึ่ง ตามที่เราจะทำได้อย่างไร โดยมีหลักง่ายๆ ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่โลก เกื้อกูลแก่โลก ทำให้โลกนี้มีอยู่ได้แล้ว สิ่งนั้นเราก็จะต้องทำ และการกระทำนั้นเราต้องทำเองก่อน เช่นจะสืบอายุพระศาสนานี้ เราจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจ จะต้องปฏิบัติ ต้องให้ได้ผลของการปฏิบัติด้วยตนเองก่อน มันจึงจะได้ชื่อว่าสืบอายุพระศาสนา ถ้าเราไม่ได้ทำเองก่อนหรือทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครเชื่อเรา หรือจะทำตามเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าเราทำได้ และแสดงให้เห็นอยู่ว่าอย่างนี้มันมีประโยชน์ เป็นความสงบสุขอย่างนี้แล้ว คนก็พากันทำตาม นี้เป็นการสืบอายุพระศาสนา ไม่ใช่เพียงแต่บอกๆ กันด้วยปากว่าอย่างเดียว ต้องทำกันจริงๆ ด้วย และต้องทำเองก่อน
ถ้าว่าจะพูดให้ต่ำไปกว่านี้อีก เป็นเรื่องของชาวบ้านแล้ว การทำประโยชน์ผู้อื่นก็ต้องเล็งลงไปถึงการช่วยรักษา วัตถุ ปัจจัย อะไรต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จะทำการรักษาหรือจะทำการพัฒนาก็ตามใจ ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเรียกว่าทรัพยากรตามธรรมชาติ เป็นของมนุษย์ส่วนรวมก็ช่วยกันรักษา และแม้สิ่งที่มนุษย์ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น ถนนหนทางหรืออะไรที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันนี้ ที่มนุษย์ทำขึ้นมาก็ต้องช่วยกันรักษาและช่วยกันพัฒนา รักษาหมายความว่าทำให้คงอยู่ ทำให้คงมีอยู่ พัฒนาก็หมายความว่าทำให้มันมีมากขึ้นไป หรือดีกว่าเก่า การรักษาหรือการพัฒนาสิ่งที่มีประโยชน์ร่วมกัน นี้ก็เรียกว่าทำประโยชน์ผู้อื่น เป็นของอย่างต่ำที่สุดแล้ว แต่แล้วเราก็ไม่ทำ ลองพิจารณาดูด้วยจิตใจที่ไม่ลำเอียงเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าเรานี่แหละ รู้อยู่แก่จิตใจของตัวเองดีว่าเราไม่ค่อยสมัครใจที่จะรักษาหรือพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมนั้นสักกี่คน เรามีแต่จะเอาเปรียบ หรือมีแต่จะใช้ เอาประโยชน์ของตัว ส่วนการจะช่วยกันเสียสละเพื่อรักษา พัฒนานั้น คอยหาทางหลบหลีกอยู่เสมอ เราจึงได้เห็นสิ่งต่างๆ อยู่ในสภาพที่ไม่น่าพออกพอใจ เพราะว่าคนทุกคนหรือแทบทุกคนล้วนแต่จะหลีกเลี่ยงหน้าที่อันนี้ด้วยกันทั้งนั้น ต้องออกกฎหมายบังคับหรือต้องกำหนดกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างขึ้นมาหลอกลวง ล่อหลอก ให้ทำจึงจะทำ ก็เรียกว่ามนุษย์ที่มีกิเลส ก็มีปัญญาที่จะใช้กิเลสนั้นเพื่อบังคับคนที่มีกิเลสให้ทำประโยชน์ผู้อื่น ตั้งระบบภาษีอากรอะไรขึ้นมา เพื่อจะเรียกเอาไปสำหรับรักษาหรือพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน นี่แสดงว่ามนุษย์ธรรมดาสามัญนั้นไม่ได้มีศรัทธาด้วยตนเอง ไม่ได้มีความเสียสละด้วยตนเองเพื่อที่จะรักษาหรือพัฒนาสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน เพียงเท่านี้ก็เรียกว่าใช้ไม่ได้หรือสอบไล่ตกอยู่แล้ว จะต้องไปพูดถึงสิ่งที่สูงไปกว่านี้ให้มากทำไมกัน ไปนึกถึงข้อนี้กันเสียให้มากก่อนเถิด ว่าเราจะมีการเสียสละโดยบริสุทธิ์ใจกันให้มากๆ ขึ้นไปกว่าปีเก่าสำหรับปีใหม่นี้ บางคนบริจาคเงินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากๆ ก็เพื่อจะเอาหน้าเอาตา เอาเกียรติยศชื่อเสียง ไม่ใช่บริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจ แม้ท่านทายก ทายิกา ทั้งหลายก็ยังเป็นอย่างนั้น คือบริจาคทรัพย์สินอะไรออกไปเพื่อจะแลกเอาสวรรค์เอาวิมาน ซึ่งมีกำไรมากเหลือเกิน อย่างนี้ไม่ใช่การบริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในข้อที่ว่าเห็นแก่ผู้อื่นแล้วมีการรักษาหรือการพัฒนาสิ่งที่มีประโยชน์ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น วัดวาอาราม ถือว่าเป็นสิ่งที่จะใช้เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทีนี้คนที่จะช่วยกันบริจาคเงินบำรุงรักษาพัฒนาวัดวาอารามนั้น ส่วนมากที่สุดก็เพื่อแลกเอาบุญเอากุศล ไม่ใช่ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นล้วนๆ และคนที่บริจาคมากๆ นั้นก็เพื่อว่าตนจะได้บุญบ้าง ถ้าไม่เชื่อบุญก็เพื่อว่าตนจะได้เกียรติยศ ชื่อเสียง มีหน้า มีตาบ้าง เพราะว่าเงินมันมีมากจนเหลือใช้เหลือเกิน ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็เอาไปซื้อเกียรติ ซื้อหน้า ซื้อตา อย่างนี้ ส่วนใหญ่เป็นอยู่อย่างนี้ จะหาคนสักคนหนึ่งที่มีจิตใจบริสุทธิ์แล้ว บริจาคทรัพย์หรืออะไรออกไปเพื่อรักษาหรือพัฒนา ซึ่งเป็นประโยชน์ ของมนุษย์โดยส่วนรวมโดยบริสุทธิ์แท้ๆ นี่แหละคือปัญหาที่ว่าเราเกิดมาเพื่อผู้อื่นแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร และว่าเราได้ทำแล้วหรือยัง
ทีนี้ก็จะมองกันต่อไปถึงการบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น การสงเคราะห์กันตรงๆ เป็นรายบุคคล เป็นคนๆ ไปทีเดียว ถ้าถือตามหลักของพระพุทธเจ้าแล้ว การสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์กันนั้น ท่านวางไว้ ๔ ประการเรียกว่า ทาน การให้วัตถุสิ่งของ ปิยวาจา การพูดจาที่มีประโยชน์น่าฟัง อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขา สมานัตตา ทำตนเป็นเพื่อนเกลอของเขา นี่ก็เข้าใจได้ทันทีเมื่อพูดขึ้นมาอย่างนี้ แต่แล้วปัญหามันก็มีอยู่ว่า ได้ทำกันแล้วหรือยัง ได้ทำกันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นการสงเคราะห์ที่บริสุทธิ์หรือหาไม่ ถ้าให้ทานก็ดูจะเป็นเรื่องตกเบ็ดเขาเสียมากกว่า เพื่อจะผูกพันเขาเป็นพวกเรา หรือจะเอาประโยชน์อะไรจากเขาที่มันยิ่งขึ้นไป ถ้าจะเป็นเรื่องปิยวาจาก็จะเป็นเรื่องวาจาที่จะตกเบ็ดเขาเสียมากกว่า พูดเพราะๆ เพื่อจะผูกพันเขา อัตถจริยานั้นก็เหมือนกัน ประพฤติประโยชน์เขาโดยหวังว่าพอประโยชน์ของเราเกิดขึ้น เขาก็จะได้มาช่วยเรา การวางตนเป็นเพื่อนเกลอกันนั้น ก็เห็นแก่ประโยชน์มากกว่าที่จะทำไปด้วยความเมตตา ด้วยความรัก ว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน นี่แหละแม้แต่ข้อที่มีอยู่ ธรรมะที่มีอยู่อย่างง่ายๆ ชัดเจนอย่างนี้ก็ยังมีการบกพร่อง ไม่ได้สงเคราะห์กันจริง ไม่ได้พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์กันจริง ไม่ได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์กันจริง และไม่ได้เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันจริง จึงขอให้ไปสะสาง สังคายนา รื้อฟื้น ขึ้นมา พินิจ พิจารณา วิจารณ์ดู ว่าเราได้ทำสิ่งเหล่านี้ไปโดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ หรือว่ามากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสแห่งวันขึ้นปีใหม่นี้ ก็เพื่อจะสอบกันดูว่ามันดีขึ้นกว่าปีเก่าอย่างไรนั่นเอง เมื่อปีเก่าทำได้เท่าไร ปีใหม่นี้ก็จะตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้มากกว่า ดีกว่า หรือ กว้างขวางกว่า เป็นต้น กว่าปีเก่าอย่างน้อยสัก ๓ เปอร์เซ็นต์ ๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังจะดีกว่าที่จะปล่อยมันไว้ไปตามบุญตามกรรม ไม่มีใครมารู้ของเรา เราก็จะทำไปแต่ในทางที่จะเป็นเรื่องได้ประโยชน์เรา ไม่ต้องนึกถึงผู้อื่น จะไปนึกถึงทำไมอย่างนี้เป็นต้น ผู้ที่เกิดมาเพื่อผู้อื่นจะต้องทำสิ่งที่เป็นการรักษาประโยชน์ของผู้อื่นหรือของโลกด้วยการสืบอายุ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หรือว่าด้วยการรักษา พัฒนา สิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ร่วมกันในวงแคบๆ หรือว่าจะทำการสงเคราะห์ซึ่งกันๆ เป็นรายบุคคล เฉพาะบุคคลดังที่กล่าวมานี้
ทีนี้จะได้พิจารณากันต่อไปถึงข้อว่า ถ้าเราจะเกิดมาเพื่อประโยชน์ตัวเองเล่า เราจะต้องทำอย่างไร ที่ตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ก็เพราะว่า แม้ว่าเราจะถือหลักว่าเราเกิดมาเพื่อตัวเอง เราก็ยังมีทางที่จะทำให้เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษ คือว่าเราจะเห็นแก่ตัวเอง แต่ในลักษณะที่ถูกต้อง เพื่อยกตัวเอง เพื่อช่วยตัวเอง ไม่ใช่เห็นแก่ตัวเองเพื่อจะเอาเปรียบผู้อื่น การเห็นแก่ตัวจนเอาเปรียบผู้อื่นนั้น ยกไปทิ้งเสียก็ได้ ไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าพูดถึงก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ดูเหมือนมันจะไม่ต้องพูดถึงเพราะรู้อยู่แก่ใจด้วยกันทุกคนแล้วว่า ตัวเองก็รังเกียจคนที่เห็นแก่ตัว เรานี่แหละ ทุกคนเป็นผู้ที่รังเกียจคนที่เห็นแก่ตัว และเราจะมาเป็นคนเห็นแก่ตัวเสียเองอย่างนี้ มันก็บอกอยู่แล้วว่ามันไม่ไหว ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะไม่พูดกันในข้อนี้ เราจะพูดกันแต่ในข้อที่ว่า เมื่อเราเกิดมาเพื่อตัวเอง เห็นแก่ตัวเองแล้ว เราจะจัดการกับตัวเองอย่างไร อย่าไปเกี่ยวกับผู้อื่นสิ เมื่อเห็นแก่ตัวเองแล้ว ก็จงจัดการแต่กับตัวเองฝ่ายเดียว เรามีหน้าที่ที่จะจัดการแก่ตัวเองอย่างไร ก็จงพยายามจัด กระทำลงไปแก่ตัวเองโดยไม่ต้องไปเกี่ยวกับผู้อื่น เพื่อว่าจะไม่มีทางที่จะเอาเปรียบผู้อื่น การที่จะทำประโยชน์แก่ตัวเองนั้น ในที่นี้ก็จะต้องแบ่งแยกเป็น ๒ ประเภท คือตัวเองที่เป็นฆราวาส อยู่บ้าน อยู่เรือน กับตัวเองที่เป็นบรรพชิต อยู่วัด อยู่ป่า สำหรับคฤหัสถ์ที่อยู่บ้าน อยู่เรือน ครองบ้าน ครองเรือนนั้น ถือกันว่าอยู่ในระดับที่ต่ำลงไป คืออยู่ในวิสัยที่จะต้องเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่เรียกว่า เรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรตินั้น มากกว่าบรรพชิต บรรพชิตมีความมุ่งหมายที่จะละเสียซึ่งปัญหาอันเกี่ยวกับเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ให้มากที่สุด ส่วนฆราวาสนั้น ยังจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรตินี้ไปพลางก่อน แต่ว่าให้ทำไปอย่างถูกต้อง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ๓ อย่างนี้ ๓ เรื่องนี้ถ้าทำไม่ดีจะกลายเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์อย่างใหญ่หลวงแก่บุคคลนั้น และพาดพิงไปถึงผู้อื่นด้วย จะต้องระมัดระวังให้เป็นการหามาอย่างถูกต้อง การใช้สอยบริโภคอย่างถูกต้อง หรือการเก็บไว้ สงวนไว้ อะไรก็ตามอย่างถูกต้อง อย่าให้เป็นเรื่องโง่เขลาหรือเป็นเรื่องมัวเมาไปด้วยอำนาจของกิเลสเลย เมื่อยังเป็นฆราวาสก็ยังมีปัญหาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ แต่ว่าทำไปในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของฆราวาสก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายมากพอจะเข้าใจกันได้
เรื่องกินก็หามาหรือบริโภคใช้สอยให้มันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เรื่องกาม เรื่องเพศตรงกันข้าม เรื่องการสืบพันธุ์หรืออะไรก็ตามก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่าประกอบอยู่ด้วยธรรม เรื่องเกียรติก็ต้องเป็นเกียรติที่บริสุทธิ์ ไม่หลอกลวง จะได้มาเพราะการที่ตนประพฤติ กระทำ อย่างถูกต้องนั่นเอง ไม่ใช่เกียรติชนิดที่ได้มาอย่างหลอกลวง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติที่ไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด แต่แล้วกลับจะเป็นบาทฐานที่ดีสำหรับที่เราจะมีจิตใจก้าวหน้าต่อไป ในเมื่อรู้ว่าเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้เมื่อมันถึงที่สุดเข้าแล้ว มันก็เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ไม่ควรที่จะยึดมั่นถือมั่นอะไรด้วยเหมือนกัน อย่างที่คนแก่ๆ นี้มีสติปัญญาพอสมควรแล้วก็จะรู้สึกได้ ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสังคม สมาคม ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ตัว เห็นแก่ตัวชนิดที่ไม่เอาเปรียบผู้อื่นนั้น ก็ยังจะต้องประพฤติต่อสังคมในลักษณะที่ไม่เอาเปรียบสังคม แต่ประพฤติต่อสังคมนั้นอย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านตรัสแบ่งสังคมออกไปเป็น ๖ ทิศ ๖ ทาง เรียกว่าทิศ ๖ มองไปข้างหน้า คือบิดา มารดา มองไปข้างหลัง คือบุตร ภรรยา หรือสามี มองไปข้างขวา ก็คือครูบาอาจารย์ มองไปข้างซ้ายก็คือมิตรสหาย เพื่อนเกลอ มองไปเบื้องต่ำก็คือคนที่ยากจน ลำบาก ตกยาก อยู่ในความอุปถัมภ์ เช่น บ่าว ไพร่ เป็นต้น มองไปข้างบนก็คือสมณะ พราหมณ์ ผู้มีคุณธรรมสูง นี่แบ่งเป็น ๖ทิศ ๖ ทาง อย่างนี้ แต่ละทิศ แต่ละทาง เราจะต้องประพฤติ กระทำ ให้ถูกต้อง จนไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เป็นความทุกข์ยากลำบากแก่เรา เรื่องทิศ ๖ นี้มีคำอธิบายอย่างละเอียดอยู่แล้วในตำรับตำราสำหรับเล่าเรียน ผู้ที่จะเรียนนักธรรม เรียนธรรมศึกษาเรียนอะไรก็แล้วแต่ก็ล้วนแต่ต้องเรียนเรื่องนี้ทั้งนั้น ไปหาอ่านดูเองได้ และก็พอจะเข้าใจได้ แม้โดยสามัญสำนึกของตนว่ามันมีความจำเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่เราจะต้องประพฤติให้ถูกต้องต่อสังคมทั้ง ๖ ทิศ ๖ ทางนี้ ในที่นี้ฟังดูอาจจะแปลกหูไปบ้าง ที่จัดบุตร ภรรยา บิดา มารดา ไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันก็ออกจะเป็นหลักวิชาที่แปลกประหลาดในการที่จะถือว่าถ้านอกไปจากตัวเราแล้ว เราก็จะเรียกว่าสังคมทั้งนั้น บิดา มารดา บุตร ภรรยา สามี ถือว่าเป็นผู้อื่น นอกไปจากตัวเรา ซึ่งเราจะต้องประพฤติต่อเขา จึงรวมไว้ในพวกที่เรียกว่าผู้แวดล้อมเราหรือสังคม เพื่อตัดปัญหาให้มันน้อยลงว่านอกจากตัวเราแล้ว เราก็จะต้องประพฤติในฐานะที่เป็นผู้ที่แวดล้อมเรา เกี่ยวข้องกันอยู่กับเรา จะต้องปฏิบัติต่ออย่างถูกต้อง ดังนี้ ผู้ที่เกิดมาเพื่อตัวเอง จะมีคุณธรรมสูง มีความก้าวหน้าดี ก็จะต้องระมัดระวังแม้แต่ในเรื่องสังคมอย่างนี้
ทีนี้มันก็มีหลักธรรมะที่ตนเองจะต้องปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั้งหมดสรุปได้เป็นคำๆ เดียวว่าเป็นหนทางดำเนินไปเพื่อให้ถึงความดับแห่งความทุกข์ หนทางนี้เขาเรียกว่า มรรค มีองค์ ๘ คือหนทางที่ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ โดยเฉพาะก็คือการปฏิบัติที่มันถูกต้องอยู่ ๘ ประการ คือถูกต้องในความคิดเห็น ถูกต้องในความปรารถนา หรือใฝ่ฝัน ถูกต้องในการพูดจา ถูกต้องในการกระทำทางกาย ถูกต้องในการหาเลี้ยงชีวิต ถูกต้องในความพากเพียรพยายาม ถูกต้องในการกำหนดสติ สำคัญมั่นหมายไว้อย่างไร และถูกต้องในการมีความตั้งใจมั่น คือสมาธิ เมื่อมีความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนี้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นหนทางอันเอกที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์โดยเฉพาะตน คือนิพพานในที่สุด คนแม้แต่เป็นฆราวาสก็ต้องปฏิบัติตามมรรค มีองค์ ๘ นี้ตามความสามารถของตนๆ จะได้เป็นการก้าวหน้าสูงขึ้นไปจนพ้นจากความเป็นฆราวาส ฟังดูให้ดี มิฉะนั้น บางคนจะตกใจ เพราะว่าตนยังรักความเป็นฆราวาสอยู่ ถ้าเราปฏิบัติ เดินไปตามหนทางนี้ให้ถูกต้องแล้ว มันจะนำไปสู่ความพ้นไปจากความเป็นฆราวาสคือ เหนือความเป็นฆราวาส แล้วก็ไม่ต้องตกใจอะไร ไม่ต้องกลัวอะไรเพราะว่ามันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้น มันมีสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เห็นจริงในข้อนี้ว่า เราจะมามัวเป็นฆราวาสดักดาน นี่ใช้คำที่ไม่ค่อยจะสมควร ว่าจะมามัวเป็นฆราวาสดักดานอยู่อย่างนี้มันจะไหวหรือ ควรจะพยายามที่จะให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไปทุกที ถ้าไม่มีหลักอย่างอื่นก็อาศัยหลักที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เรียกว่า อนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถา คือเรื่องที่เราจะต้องพูดกันไปตามลำดับๆ จากต่ำไปหาสูง หรือถึงสูงสุด เรื่องที่จะต้องพูดกันไปตามลำดับนี้มีอยู่ ๕ เรื่องด้วยกัน
เรื่องที่ ๑ คือ การให้ทาน คือให้ทานที่แท้จริง ถูกต้อง บริสุทธิ์ ผุดผ่อง เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัว เรื่องที่ ๒ คือ เรื่องศีล คือประพฤติตนในทางกาย ทางวาจา หรือทางจิตใจด้วย ให้มันถูกต้อง ให้มันปรกติ ให้มันงดงาม ให้มันน่าดู เมื่อมีทานและมีศีล ๒ อย่างนี้แล้วก็ได้รับประโยชน์อย่างดีใน เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ และที่มันสูงไปกว่านั้น รวมเรียกว่าเรื่องสวรรค์ เมื่อมีทานดี มีศีลดี แล้วก็ได้รับผลตอบแทนคือสวรรค์ หมายถึงความพอใจ เป็นสุขอยู่ได้ โดยไม่มีความเดือดร้อนในเรื่องโลกๆ ทีนี้เรื่องถัดไปเป็นเรื่องที่๔ ก็คือเรื่องโทษของสวรรค์นั่นเอง เรียกว่า อาทีนพ แปลว่าโทษ โทษของอะไร ก็คือ โทษของสวรรค์ โทษของสวรรค์มีอยู่อย่างไร คือมันเป็นเรื่องหลอกลวงคนให้มัวเมา และเมื่อคนเรามัวเมาแล้วก็กลับทำผิดได้อีก อาศัยสวรรค์นั่นเอง เทวดาก็ทะเลาะกัน กัดกัน เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ในเรื่องสวรรค์คือกามคุณนั่นแหละ ทำให้มนุษย์ฆ่าฟันกัน แม้แต่บิดากับบุตรก็ยังทะเลาะกันเพราะเรื่องกามารมณ์ เช่นว่าไปรักผู้หญิงคนเดียวกันเข้าเป็นต้น พ่อกับลูกก็อาจจะเกิดวิวาทกัน อย่างนี้เป็นชั้นต่ำที่สุด รวมกันทั้งหมดนี้แล้วเรียกว่า อาทีนพ คือโทษของสวรรค์ เป็นเรื่องที่ ๔
ลำดับที่ ๕ ก็คือ เรื่องเนกขัมมะ แปลว่าออกไป ออกไปจากอะไร ก็ออกไปจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้าหมอง เป็นเรื่องผูกพัน เป็นเรื่องทิ่มแทง เป็นเรื่องเผาลน ฟังดูให้ดีว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องทานก่อนแล้วก็ตรัสเรื่องศีล และว่าทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ได้สวรรค์ และเมื่อได้สวรรค์แล้วก็ให้ดูโทษของสวรรค์ที่ทำให้คนโง่เง่า หลงใหล มัวเมา แล้วก็มองไปยังเรื่องที่ว่าออกไปเสียให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องเนกขัมมะ ในที่สุดก็ไปสู่ความว่าง คือสุญญตา จากความทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ เป็นการตอบคำถามของฆราวาสกลุ่มหนึ่งที่ไปทูลถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุด ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุดแก่ฆราวาสนั้นคือเรื่องอันเนื่องด้วยสุญญตา สุญญตาคือว่างจากตัวกู ของกู ว่างจากความเห็นแก่ตัว ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เลย ฆราวาสก็จะต้องไต่เต้าไปตามลำดับ จนถึงสิ่งสูงสุดคือสุญญตา ซึ่งเป็นเรื่องของความดับทุกข์สิ้นเชิง นี้เรียกว่าแม้เป็นฆราวาส เมื่อเห็นแก่ประโยชน์ตัว ถนอมตัว รักตัวแล้ว ก็อย่าไปก้าวก่ายประโยชน์ของผู้อื่นเลย จงบำเพ็ญประโยชน์ของตัวให้บริสุทธิ์โดยลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้เถิด ก็ยังจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อตัวเอง ชนิดที่ไม่เป็นโทษแต่เป็นประโยชน์
ทีนี้สำหรับผู้เป็นบรรพชิตนั้น มันมีปัญหาน้อยลงไป เพราะว่าได้หลีกออกมาเสียแล้วจากกลุ่มที่ ยุ่งเหยิงของ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ หมายความว่าถ้าเป็นบรรพชิตจริง เป็นนักบวชจริง ก็จะต้องสละทรัพย์สมบัติจริง สละญาติ คือวงศาคณาญาติ แม้แต่บิดา มารดา จริง และสละสิ่งทุกสิ่งซึ่งเป็นเรื่องของฆราวาสโดยหมดสิ้น นี้จึงจะเรียกว่าบรรพชิต คำว่าบรรพชิตแปลว่าผู้มีบรรพชา คำว่าบรรพชาแปลว่าไปหมด เว้นหมด จากความเป็นฆราวาส จึงเป็นอันว่าได้ขจัดปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ไปได้มาก หรือหมดแล้ว อย่างที่เป็นของฆราวาส ทีนี้มันก็เหลือแต่การที่จะเดินไปตามองค์มรรค มีองค์ ๘ ให้สูงไปกว่าที่ฆราวาสเขาเดิน และมีลำดับที่จะต้องไต่เต้าไปคือ มีศีล แล้วก็ไปมีสมาธิ ไม่ใช่ว่ามีศีลแล้วไปมีสวรรค์เหมือนอย่างฆราวาส บรรพชิตจะมีศีลแล้วมีสมาธิ มีสมาธิแล้วก็จะมีปัญญา มีปัญญาแล้วก็จะมีวิมุติ มีวิมุติแล้วก็จะต้องมีวิมุติญาณทัศนะ คือรู้จักสุญญตาในที่สุด จุดหมายปลายทางอยู่ที่สุญญตา คือความว่างจากตัวกู ของกู ว่างจากกิเลสและความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จะทบทวนมาเปรียบเทียบกันดูอีกครั้งหนึ่งว่า การจะไต่เต้าไปตามลำดับสำหรับฆราวาสนั้น ขั้นที่ ๑ มีทานแล้วก็มีศีล ขั้นที่ ๒ มีศีลแล้วก็มีสวรรค์ ขั้นที่ ๓ มีสวรรค์แล้วก็เห็นโทษของสวรรค์ ขั้นที่ ๔ เห็นโทษของสวรรค์แล้วก็มีเนกขัมมะ เห็นเนกขัมมะ พอใจในเนกขัมมะ คือจะหลีกออกไปเสียจากสิ่งเหล่านี้เพื่อไปสู่สุญญตา ส่วนภิกษุนั้น ไม่ต้องข้ามไปหรือวกไปวกมาในเรื่องอันเกี่ยวกับสวรรค์ ถ้าไปเกี่ยวกับเรื่องของสวรรค์ก็เป็นภิกษุปลอม ภิกษุที่ไม่ปลอมก็จะมีขั้นของการไต่เต้าไปตามลำดับคือ ศีล ศีลแล้วก็สมาธิ สมาธิแล้วก็ปัญญา คือรอบรู้ในความจริงของชีวิต ของความทุกข์ มีปัญญาแล้วก็สามารถทำให้วิมุติคือหลุดพ้นไปจากความผูกพันของกิเลสนั้นๆ แล้วก็มีวิมุติญาณทัศนะ คือรู้ผลของความหลุดพ้นนั้น คือสุญญตา คือไม่มีความทุกข์ การไต่เต้าไปตามลำดับในลักษณะที่ถูกต้องของบรรพชิตอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการทำประโยชน์ตน เกิดมาเพื่อตัวเองแล้วก็อย่าไปก้าวก่ายประโยชน์ของผู้อื่นเลย จงบำเพ็ญประโยชน์ของตนไปตามลำดับ แม้จะทำอะไรก็เป็นไปเพื่อการก้าวหน้าไปตามลำดับ ถ้าจะไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็ต้องให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ใช่จะไปเอาประโยชน์ของผู้อื่น มันจึงจะเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนที่ถูกต้องดังนี้ นี้เรียกว่าเราแต่ละคนๆ เกิดมาบางคนก็เพื่อผู้อื่นล้วนๆ บางคนก็เพื่อทั้งตนและผู้อื่น บางคนก็เพื่อตนเองล้วนๆ แต่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตามอย่าให้มันมีผิดพลาดไปได้ อย่าให้เป็นความผิดแต่ให้เป็นความถูกอยู่เสมอ ถ้าเห็นแก่ผู้อื่นล้วนก็จงปฏิบัติอย่างพระโพธิสัตว์ ถ้าเห็นแก่ตนด้วยและผู้อื่นด้วยก็ปฏิบัติอย่างพระอริยเจ้าทั่วๆ ไป ถ้าอยากจะเห็นแก่ตนข้างเดียว เป็นฆราวาส ปุถุชน ผู้เห็นแก่ตัวแล้ว ก็ต้องถือหลักชนิดนี้ ปฏิบัติประโยชน์ตนโดยไม่กระทบกระทั่งถึงประโยชน์ของผู้อื่น มีแต่จะให้ผู้อื่นคอยรับประโยชน์ได้ด้วยโดยอ้อมหรือโดยไม่รู้สึก เราอยากจะรู้สึกแต่เรื่องของตัวก็รู้สึกไปเถิด แต่อย่าให้เป็นการทำลายหรือกระทบกระทั่งประโยชน์ผู้อื่น ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาประพฤติประโยชน์ตนเองอยู่อย่างถูกต้องอย่างนี้แล้ว มันก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นไปได้ด้วยโดยไม่รู้สึกตัวเหมือนกัน จึงเป็นอันว่าหมดปัญหา หมดปัญหาในข้อที่ว่าใครจะเห็นแก่ตนก็เห็นแก่ตนไปเถิด แต่เห็นแก่ตนอย่างถูกต้อง รีบทำประโยชน์ตนให้ลุล่วงไปเถิด ใครจะเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นเพราะว่าไม่รีบร้อนที่จะเอาประโยชน์ตนก็เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นไปเถิด มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดกิเลสเพื่อเห็นแก่ตน ทีนี้ถ้าจะทำพร้อมกันไปทั้ง ๒ อย่างก็ทำได้ตามสมควร แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนักก็ตั้งหน้าตั้งตาทำประโยชน์ตนให้มันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยอ้อมพร้อมๆ กันไปดังนี้ นี่แหละคือคำตอบของปัญหาที่ถามว่าเกิดมาทำไม ซึ่งเราจะต้องสะสางให้ดี ให้ยิ่งขึ้นไปในโอกาสแห่งการขึ้นปีใหม่ที่เราเรียกว่าทำบุญปีใหม่ดังนี้
สรุปแล้วก็ควรจะมีปัญหาหรือมีหัวข้อของปัญหาที่ตั้งขึ้นไว้ว่า เราจะต้องเกิดมาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ โดยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามฐานะของตนๆ หรือตามความพอใจของตนๆ ว่าจะเกิดมาเพื่อผู้อื่น หรือเกิดมาเพื่อตน หรือว่าเพื่อทั้ง ๒ อย่าง หรือว่าตนกำลังเป็นฆราวาส หรือว่าตนกำลังเป็นบรรพชิต ตนจะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิตก็ตาม ล้วนแต่มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกันคือความดับไป หมดแห่งความทุกข์ คือ ว่างจากตัวกู ของกู ไม่มีการเวียนว่ายในวัฏฏสงสารอีกต่อไปดังนี้ นี่แหละคือข้อที่เรียกว่าเกิดมาเพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่ใช่เกิดมาเพื่อมีนั่น มีนี่ เป็นของตัว แล้วเพื่อลูกเพื่อหลานของตัวไม่ใช่ว่าเกิดมาเพื่อจะมีเงิน มีทอง มีทรัพย์สมบัติ สิ่งของ บริบูรณ์มากมายแล้ว ก็เป็นการเพียงพอแล้วเพราะว่าเกิดมาเพียงแต่ มีกิน มีกาม มีเกียรติ สมบูรณ์แล้วจะถือว่าหมดแล้ว จบแล้วนั้นไม่ได้เพราะว่านั่นยังมิใช่สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์นั้นมันต้องไปไกลกว่านั้นโดยเราจะตั้งปัญหาขึ้นมาว่าเมื่อเรากินอิ่มแล้ว สบายแล้ว เราจะต้องทำอะไรอีกต่อไป บางคนคิดแต่ว่าเมื่อมีกิน มีใช้ อิ่มสบายแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไป นั้นมันเป็นเรื่องของคนที่มีความคิดอย่างวัว ควาย สุนัข และแมว เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคนที่มีความคิดนึกอย่างมนุษย์แล้ว จะรู้สึกทีเดียวว่าแม้เมื่อเรากินอิ่มแล้ว มีกิน มีใช้ สบายแล้ว เราก็ยังมีเรื่องที่จะต้องทำต่อไปคือเรื่องที่จะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั่นเอง
ตามหลักจริยธรรมสากลของพวกนักจริยธรรมในโลกนี้ในสมัยนี้ ยุติกันว่าเราจะต้องมีความสุข เราจะต้องมีความเต็มของความเป็นคน เราจะมีชีวิตอยู่อย่างทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วเราจะต้องมีความรักสากล นี่พูดอย่างภาษาชาวบ้าน แต่แล้วก็เป็นความหมายที่สูงอย่างเดียวกัน ขอแต่ให้อธิบายถ้อยคำนั้นๆ อย่างถูกต้อง เช่นว่า เราจะต้องมีความสุขอย่างนี้ เราต้องหมายถึงมีความสุขที่แท้จริง ไม่กัด ไม่แทะวิญญาณ ไม่มีอะไรมากัดแทะดวงวิญญาณของเรา ความสุขปลอมคือเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรตินั้น มันมีอะไรมากัดแทะดวงวิญญาณของเรา ไม่เท่าไรดวงวิญญาณของเราก็จะเป็นขี้กลาก เป็นโรคขี้กลาก เกิดขึ้นในดวงวิญญาณเพราะเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นั่นเอง อย่างนี้จะถือว่าเป็นความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่มีอะไรชนิดที่จะเป็นการเบียดเบียนหรือทำลายอย่างเร้นลับเช่นนั้น หมายความว่าไม่มีกิเลสที่ซ่อนเร้นไว้ จึงจะเป็นความสุขที่แท้จริง ไม่มีความเบียดเบียนที่ซ่อนเร้นไว้ จึงจะเป็นความสุขที่แท้จริง นี้เรียกว่ามีความสุข ในฐานะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้เรื่องที่หนึ่ง
เรื่องที่ ๒ นี่ก็แกล้งพูดออกไปให้มันเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่า จะต้องมีความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ คนโดยมากไม่มีความเต็ม ไม่มีความเต็มของความเป็นคน คือเป็นคนที่ไม่เต็ม ยังบ้าๆ บอๆ ยังมีอะไรที่ไม่เต็มอยู่ เพราะว่ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น มันแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า มันเป็นความผิด มันเป็นความโง่ มันเป็นความเขลา ถ้าขืนเอาไว้มันก็ทำให้ความเต็มของความเป็นคนนั้นไม่เต็ม เหมือนว่าดวงจันทร์ ถ้ามีไฝฝ้าอะไรปิดบัง มันก็ไม่เป็นดวงจันทร์ที่เต็ม จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีกิเลสที่เป็นไฝฝ้าปิดบังแล้ว มันก็ไม่เป็นจิตที่เต็ม และความเป็นคนของบุคคลนั้นก็ไม่เต็ม เราจะต้องไม่มีอะไรที่เป็นความพร่องของความเป็นคน ไปคิดดูเถิด ข้อนี้น่ากลัวมาก ถ้าไปทำเล่นๆ กับมัน มันก็จะเป็นคนที่ไม่เต็มอยู่เรื่อยไป และไม่รู้สึกตัวด้วย ถ้ามีความเต็มของความเป็นมนุษย์เมื่อไหร่ ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้เป็นรายการที่ ๒
เรื่องที่ ๓ ได้มีชีวิตอยู่อย่างทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ข้อนี้หมายความว่าถ้าทำหน้าที่เพื่อเงิน มันก็เป็นทาสเงิน ทำหน้าที่เพื่อคนรัก มันก็เป็นทาสของคนรัก ทำหน้าที่เพื่ออะไร มันก็เป็นทาสของสิ่งนั้น แต่ถ้าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นี้ มันควรจะพูดว่าเป็นทาสของหน้าที่ แต่แล้วมันก็ไม่เป็น เพราะว่าเราเป็นผู้ทำหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่มันทำเรา และที่เราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นั้น ก็หมายความว่าเราไม่มีกิเลสใดๆ ที่จะปฏิบัติหน้าที่มนุษย์อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทำ ทีนี้ถ้าทำก็ต้องทำหน้าที่ ถ้าทำหน้าที่ก็ต้องทำเพื่อหน้าที่ อย่าไปทำเพื่อสิ่งอื่น มันจึงจะบริสุทธิ์ การได้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นี้ ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่า เราได้มีชีวิตหรือลมหายใจอยู่อย่างมีความบริสุทธิ์ เท่านั้นเอง เรียกว่าเป็นการได้สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ข้อที่ ๓
ข้อสุดท้ายเรียกว่าความรักสากล หมายความว่าความเห็นแก่ผู้อื่นเหมือนกับพระโพธิสัตว์นั้น ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีมึง ไม่มีกู ถือว่าทั้งหมดเป็นคนๆ เดียวกัน หรือว่าถ้าจะให้เป็นหลายคนก็เป็นคนที่เหมือนกัน คือเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน มีหัวอกอย่างเดียวกัน คือว่าถูกเบียดเบียนอยู่ด้วยความทุกข์ และกิเลสแล้ว จะต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ทำลายกิเลสนั้นเสีย ให้มนุษย์นี้พ้นจากความทุกข์ ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็จะรักคนทั้งหลาย รักเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายอย่างกับว่าเป็นคนๆ เดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นความรักสากล เมื่อมีความสุขแท้จริง มีความเต็มของความเป็นคนอยู่อย่างทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และมีความรักสากลอย่างนี้แล้ว ไปคิดดูเถิด มันก็ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นการได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เป็นแน่แท้ สำหรับความเต็มของความเป็นมนุษย์นั้น ฟังดูให้ดีแล้วจะรู้สึกได้ว่า เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง และถ้าใครยังขาดอยู่ก็เป็นสิ่งที่น่าอับอายอย่างยิ่ง ความเต็มของความเป็นคนนั้นคือเต็มของสติปัญญา มีความรู้หรือสติปัญญาเต็ม เมื่อเต็มแล้วก็มีความบริสุทธิ์สะอาดที่เต็ม แล้วก็มีความเมตตา รักใคร่ผู้อื่นที่เต็ม เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ตัวเองก็พอใจตัวเองได้ จึงเป็นความเต็มแห่งจิตใจของตัวเอง
ปีใหม่ของเราดีกว่าปีเก่าอย่างไร ในข้อนี้จงได้ไปพิจารณาดูให้ดีด้วยกันทุกๆ คนเถิด และตักบาตร ปีใหม่นี้ก็คือตักสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจทิ้งออกไปเสียจากจิตใจ ทำได้เท่าไหร่ ปีใหม่ก็จะดีกว่าปีเก่าเท่านั้น เป็นแน่นอน หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมาในธรรมเทศนา ที่เป็นโอกาสของการขึ้นปีใหม่โดยนัยดังที่ได้กล่าวมานี้แล้ว มองเห็นตามที่เป็นจริงว่ามันมีอยู่อย่างไร เราได้ทำแล้วเพียงไร ปีใหม่จะดีกว่าปีเก่าอย่างไร แล้วมีความพอใจในการกระทำของตนจงทุกๆ คนเถิด ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทสมตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์ แล้วก็จะเป็นผู้ที่ไม่ตาย สมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า อัปปะมัตตา นะ มียันติ บุคคลผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมไม่ตาย เย ปะมัตตา ยะถา มะตา ส่วนบุคคลเหล่าใดเป็นผู้ประมาทแล้ว ก็เป็นผู้ที่เหมือนกับตายแล้ว มีนัยดังที่ได้วิสัชนามา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้