แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งที่แล้วมาเราพูดกันในหัวข้อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต ส่วนในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า การมีชีวิตอยู่ด้วยจิตที่เหมาะสม เพราะเหตุที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิตเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นมันจึงมีปัญหาอยู่ที่การอบรมจิต ให้ตรงตามความประสงค์ของเรา ซึ่งเราจะเรียกว่าจิตที่เหมาะสม และเราก็มีชีวิตอยู่ด้วยจิตชนิดนั้น เพื่อจะไม่ต้องเป็นทุกข์
ดังนั้นคำว่าจิตที่เหมาะสมก็คือสิ่งที่พึงปรารถนาแก่คนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือฆราวาส เพราะเหตุว่าฆราวาสมีเรื่องมาก มีปัญหามาก มีความยุ่งยากลำบากมากกว่าบรรพชิต ก็ยิ่งต้องการความเหมาะสมหรือความถูกต้องของจิตให้มันเพียงพอกันที่จะเป็นอยู่โดยไม่ต้องเป็นการทนทรมานเหมือนกับอยู่ในนรก หรือว่าหนักอึ้งเหมือนกับคนที่แบกของหนักอยู่เรื่อยไป ฆราวาสหมายความว่าแบกทุกอย่าง บ้านเรือน ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียงอะไรก็ล้วนแต่เรื่องแบกเรื่องหนัก อย่างนี้มันไม่น่าสนุก ฉะนั้นควรจะมีวิธีที่ทำจิตให้เหมาะสมที่มันไม่ต้องเป็นมากถึงอย่างนั้น
ทีนี้เราก็จะได้พูดกันถึงจิตที่เหมาะสม ถ้าพูดโดยหลักทั่วไป ไม่มุ่งเฉพาะฆราวาสหรือบรรพชิต เรามีหลักว่าจิตที่เหมาะสมนั้นคือจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่มั่นคงและจิตที่ไวต่อหน้าที่การงาน แท้ที่จริงความหมายทั้งสามนี้เป็นหลักในพุทธศาสนา มันเกี่ยวกับคำว่าสมาธิ วิจิตรเป็นสมาธิ ทีนี้สมาธิก็มีที่มันเฟ้อเกินไปบ้าง ยังขาดอะไรอยู่บ้างก็มีเหมือนกัน
สมาธิที่เหมาะสมเขาวางหลักไว้ว่า จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่มั่นคงหรือจิตที่ไวต่อหน้าที่การงานของมัน บริสุทโธ แปลว่าบริสุทธิ์ สมาหิโต แปลว่าตั้งมั่น กัมมนีโย แปลว่าควรแก่การงานในหน้าที่ ขอให้ทุกคนลองพิจารณาดูว่าจิตชนิดนี้มันจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนา
จิตบริสุทธิ์ก็หมายความว่ามันไม่มีอะไรทำให้สกปรกมืดมัวเร่าร้อน มันสงบระงับ ไอ้ที่จิตมั่นคงคือมีกำลัง มีความมั่นคงแน่นแฟ้น มีกำลังมาก ถ้ามันฟุ้งซ่านมันก็ไม่มีกำลัง ถ้ามันตั้งมั่นมันก็มีกำลังหมายความว่าอย่างนั้น ทีนี้ กัมมนีโย ควรแก่การงานนี่เราวางไว้กว้าง ๆ ว่าแล้วแต่ว่าจะมีการงานอย่างไร แต่ในที่สุดมันก็จำกัดอยู่ที่ว่าการงานทางจิตนั้นน่ะที่จะต้องทำด้วยจิต การคิด การนึก การพิจารณา การตัดสินใจ การอะไรต่าง ๆ เมื่อจิตมันบริสุทธิ์มั่นคงมันก็มีความเหมาะสมในการงานอยู่ในตัว และก็เราต้องการให้มันไวด้วย ให้ไวในการที่จะทำการงานที่เป็นหน้าที่ของมัน นี่เรียกว่าจิตที่เหมาะสมคือบริสุทธิ์ คือมั่นคง คือไวในหน้าที่ของมัน คิดดูสิว่าฆราวาสนี่จะต้องการหรือจะไม่ต้องการ
บางคนจะเขลาไปหรือเห็นแก่ตัวมากเกินไป ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วมันก็จะไม่ยินดีปรีดากับลูกเมียทรัพย์สมบัติอย่างนั้นไปก็ได้ ถ้าเอาเรื่องอย่างนี้เป็นหลักก็ต้องหมายความว่า อย่าเกี่ยวข้องกับลูกเมียทรัพย์สมบัติหรืออะไรด้วยจิตที่สกปรกแล้วกัน เมื่อจิตที่มันมีความสะอาดเรียบร้อยน่าดู คำว่า บริสุทธิ์ ก็มีระดับต่าง ๆ กัน บริสุทธิ์อย่างจิตฆราวาสก็มีระดับ บริสุทธิ์อย่างจิตบรรพชิตก็มี ถ้าบริสุทธิ์อย่างพระอริยเจ้าก็มีอีกอย่าง พระอริยบุคคล ยันพระโสดาบัน สกิทาคามี ที่ครองเรือนมีบุตรภรรยาสามีก็มี ก็หมายความว่าจิตนั้นมันดีกว่าจิตชาวบ้าน มีความบริสุทธิ์ มีความสะอาดดีกว่าจิตชาวบ้าน เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจิตบริสุทธิ์ที่จะทำกิจหน้าที่ของชาวบ้านไม่ได้ เพราะว่าคำว่าบริสุทธิ์มันยังมีถึงว่าอย่างชาวบ้าน อย่างผู้ครองเรือนก็ยังมี ชาวบ้านที่มันเลวจิตมันสกปรกมืดมัวเร่าร้อนเกินไปอย่างนี้มันก็ไม่ไหว มันก็จะหมกจมอยู่ในความสกปรกมืดมัวเร่าร้อนหรือกองทุกข์
ทีนี้พูดถึงจิตตั้งมั่น ฆราวาสก็ต้องการจิตตั้งมั่นเพราะถ้าจิตไม่ตั้งมั่นแล้วมันก็ฟุ้งซ่านทำอะไรไม่ได้ดี คิดอะไรไม่ได้ดี จิตที่มีกำลังใจมีกำลังสูงมั่นคงแน่นแฟ้นนี้ใคร ๆ ก็ต้องการ ส่วนจิตที่ไวต่อหน้าที่คือเฉลียวฉลาดนี้ไม่ต้องพูดถึงใคร ๆ ก็ยิ่งปรารถนา หวังจะให้จิตของตนเป็นอย่างนั้นอยู่ด้วยกันอย่างนั้น ฉะนั้นจิตที่มีลักษณะอย่างนี้ก็น่าจะใช้ได้แล้วสำหรับที่จะเรียกว่า จิตที่เหมาะสมแก่การที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ทีนี้เราก็สนใจที่ว่าเราจะมีได้อย่างไร จิตที่จะบริสุทธิ์มั่นคงและไวต่อหน้าที่นี่คือจิตที่อบรมมาดีและเราเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า จิตที่ว่างจากความคิดที่เป็นตัวกูหรือของกู
เอาละคุณนั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็ลองกำหนดดูจิตของตัว ว่างจากตัว มันเป็นจิตที่ว่างจากความคิดที่เป็นตัวกูของกูหรือไม่? และจิตชนิดไหนที่มันมีความคิดเป็นตัวกูของกูเดือดพล่านอยู่?
ความคิดที่เป็นตัวกูของกูนั้นมันเล็งถึงไอ้ความเห็นแก่ตัว ปรารภตัวหรือประโยชน์ของตัว การได้การเสียของตัวมากเกินไป จนเป็นไอ้ที่เรียกว่ากิเลสหรือเศร้าหมอง คือมันปรารภตัวเห็นแก่ตัว ด้วยความโง่ความเขลาความหลงไม่ใช่ด้วยสติปัญญา ถ้าคุณมีจิตอย่างนั้นคุณก็ฟังผมพูดไม่รู้เรื่องนี่ผมรับรองได้ ถ้าจิตที่ปรารภตัวกูเต็มที่อยู่แล้วจะฟังผมพูดไม่รู้เรื่อง แม้ว่าคุณฟังโดยความต้องการจะได้ความรู้ไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวเองนั่นแหละ มันก็ยังมีแตกต่างกันว่า มันด้วยความเดือดพล่านของไอ้กิเลสหรือว่าด้วยความปรกติเรียบร้อยของสติปัญญา ถ้าเดี๋ยวนี้เรากำลังฟังด้วยจิต ด้วยใจคอที่ปรกติ ด้วยสติปัญญา แม้ว่าจะเพื่อให้ได้รับประโยชน์แก่ตัวเรานี้มันก็ไม่ใช่จิตที่เดือดพล่านอยู่ในตัวกูของกู
จิตที่เดือดพล่านอยู่ในตัวกูของกูนั้นจะมีลักษณะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เดี๋ยวนี้เรากำลังไม่มีไอ้โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ กำลังมัน มันยังไม่เกิด เรากำหนดฟังเพื่อจะรู้แจ่มแจ้งเข้าใจเท่านั้นเอง นี่เรียกว่าจิตยังว่างอยู่ ยังว่างจากความคิดที่เป็นตัวกูอยู่ แล้วก็สบายแล้วก็ฟังได้ แล้วก็ใช้จิตนี้ได้เพราะมันยังบริสุทธิ์อยู่ มันยังมั่นคงอยู่ มันยังไวต่อหน้าที่การงานของมันอยู่ จึงฟังผมพูดรู้เรื่องดี ถ้าใครฟังผมรู้เรื่องดี ก็หมายความว่ามันเป็นอย่างนี้ จิตกำลังว่างจากความคิดที่เป็นตัวกูของกูที่เห็นแก่ตัวจัด แล้วก็มีภาวะที่บริสุทธิ์หรือมั่นคงหรือไวต่อความรู้สึกหน้าที่การงานพอสมควร
จิตที่ว่างจากความคิดที่เป็นตัวกูของกูเรียกว่า จิตว่าง เรียกสั้น ๆ สองพยางค์ว่า จิตว่าง แต่ถ้าขยายความออกไป มันว่างจากความคิด หรือรู้สึก หรือยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู มันยาว พูดฟังยืดยาวลำบาก ก็เลยเรียกว่าจิตว่าง ทีนี้คนที่ไม่เคยฟังคำนี้ก็ฟังไม่เข้าใจ ก็เลยเกิดเป็นปัญหายุ่งยากขึ้น
อย่างเมื่อวานนี้ก็ได้รับหนังสือเป็นคำถาม มีผู้ถามที่จะให้ออกคำตอบทางวิทยุกระจายเสียง เพราะถ้าจิตว่างแล้วจะทำอะไรได้เขาถามมาอย่างนี้ เป็นใจความว่าอย่างนั้น นี่มันเป็นปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่าคำพูดนี่มันหมายความได้หลายอย่าง เพราะเขาไม่รู้จักคำพูดในทางภาษาธรรมที่ลึกซึ้ง เขารู้แต่คำพูดภาษาชาวบ้านที่ตื้น ๆ ที่ธรรมดาสามัญ พอได้ยินว่าจิตว่างก็เข้าใจไปตามภาษาชาวบ้านธรรมดาสามัญเลยเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็เลยต้องแยกไอ้คำพูดเป็นสองประเภทเป็นภาษาชาวบ้านกับภาษาธรรมะลึกซึ้ง มันต้องนึกถึงคำว่าความว่างก่อน ความว่างภาษาชาวบ้านนั้นไม่มีอะไร จำไว้นะ ความว่างภาษาธรรมในพุทธศาสนานี้หมายความว่าอะไร ๆ มันก็มี มีอยู่ตามเดิม มีอยู่ครบหมด แต่มันว่างจากสาระที่ควรจะยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู ความหมายของตัวกูของกูไม่มีอยู่ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นเรียกว่ามีความว่าง สังขารทั้งหลายนี่มันว่างจากสาระควรที่จะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูน่ะ ความว่างในภาษาธรรมเป็นอย่างนี้
ทีนี้เมื่อพูดถึงคำว่า จิตว่าง ภาษาชาวบ้านก็หมายความว่า จิตกำลังไม่ทำอะไร ไม่ทำหน้าที่อะไร มันคล้ายกับตลกหรือตายหรืออะไรทำนองนั้นเสีย แต่ภาษาธรรม ภาษาศาสนาก็หมายถึงว่า ว่างจากความคิดที่เป็นตัวกูของกู มันมีความคิดอะไรอยู่ก็ได้ที่มันไม่เกี่ยวกับตัวกูของกู และกำลังคิดได้ดีด้วย เพราะความคิดที่เป็นตัวกูของกูมีอยู่มันก็วุ่น ปั่นป่วน กลัดกลุ้ม มืดมน มัวเมาอะไรไปตามเรื่องของมัน
นี่ถ้าว่างจากตัวกูของกู คือว่างจากความคิดนึกรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูน่ะ มันก็ฉลาดเท่านั้นเอง เพราะมันไม่มีความโง่ มันก็ฉลาดอยู่โดยธรรมชาติ ฉะนั้น จิตว่าง จึงหมายถึงจิตที่กำลังคิดนึกอะไรได้ดีและปราศจากความหมายแห่งตัวกูของกู นี่คำว่าความว่างก็ดี คำว่าจิตว่างก็ดีมีสองความหมายอย่างนี้ ภาษาโลกภาษาชาวบ้านนั้นอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมะอันลึกซึ้งนั่นอีกอย่างหนึ่ง ที่เรากำลังพูดนี่หมายถึงภาษาธรรมะ จิตที่เหมาะสมแก่กิจการที่มีชีวิตอยู่ เป็นจิตที่ว่างจากตัวกูของกูตามแบบภาษาธรรมะ
ทีนี้มันยังมีจิตว่างอันธพาล นั่นคือแกล้งว่าเอา แกล้งแก้ตัว แกล้งว่าเอา เราก็มีจิตว่างเราไม่ยึดถือเราจะฆ่าใครก็ได้ เราจะทำอะไรลามกอนาจารยังไงก็ได้นั่นคือจิตว่างอันธพาล ว่าเอาเองเป็นข้อแก้ตัวสำหรับคนพาล นั้นไม่ต้องเอามาพูด ที่เราพูดแต่จิตว่างคือประกอบอยู่ด้วย สุญญตา หรือความว่าง คือมองเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนี่คือ สุญญตา จิตที่ประกอบด้วยสุญญตา อย่างนี้จะเรียกว่าจิตว่าง มันเลยไม่มีความทุกข์อยู่เป็นพื้นฐาน แล้วมันมีความฉลาดเฉลียวในการที่จะดู จะเห็น จะฟัง จะยิน จะคิด จะนึก จะตัดสินใจจะทำอะไรทุกอย่างด้วยจิตนั้น ซึ่งถือว่าเป็นจิตที่เหมาะสม สำหรับการที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์
ถ้าถามว่าว่างจากอะไร ก็ตอบว่า โดยเหตุว่าว่างจากกิเลสที่เป็นตัวกูของกู โดยผลก็คือว่างจากความทุกข์ทุกชนิด แล้วก็เต็มอยู่ด้วยความเฉลียวฉลาดสมรรถภาพ อะไรต่าง ๆ ที่พึงปรารถนา นี่คือจิตว่าง ว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูทำให้เห็นแก่ตัวทุกอย่างเลย คือไม่อาจจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะได้ แล้วมันก็ฉลาดเพราะไม่มีไอ้สิ่งที่ทำให้โง่ แล้วมันก็สบายมันดีอยู่ ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นนี่คือจิตที่เหมาะสมที่จะมีชีวิตอยู่ด้วย ด้วยกัน
ขอให้คิดดูให้ดีว่า ฆราวาสจะเป็นอยู่ด้วยจิตชนิดนี้ได้หรือไม่ นี่ผมพยายามเอามาอธิบายนี้ก็หมายความว่ามันจำเป็นอย่างยิ่งที่ฆราวาสจะต้องมีจิตชนิดนี้กันอยู่ มิฉะนั้นแล้วไอ้ความเป็นฆราวาสนั้นจะเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น หรือว่าเหมือนกันกับคนหาบของหนักอยู่บนบ่าบนหัวอะไรอยู่ตลอดเวลาไม่ปลง ลงไม่ได้นี่ มันจะเป็นบ้าและก็จะตาย เพราะเหตุฉะนั้นแหละ เมื่อมีฆราวาสไปทูลถามพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรื่องสุญญตา เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน แล้วมันตกลงกันไม่ได้หรือต่อรองกันอย่างอื่นก็ตามใจเถอะ แต่ใจความมันแสดงอยู่ชัดแล้วว่าพระพุทธเจ้าท่านถือว่าเรื่องสุญญตา นี่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน หรือเห็นความว่างในสิ่งทั้งปวง แล้วก็มีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วก็ทำไปด้วยสติปัญญาตามหน้าที่ ๆ จะต้องทำ จิตชนิดนี้คือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสุญญตา เหมาะสมสำหรับฆราวาสที่จะเป็นสุข มีความสุขพอสมควร ไม่ต้องเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ในเพศฆราวาสหรือว่าไม่เหมือนกับแบกภูเขาอยู่ตลอดเวลา เขารู้จักทำให้เกิดการปล่อยวาง ว่าง ได้ตามสมควรด้วยเหมือนกัน
ทีนี้คนที่ไม่เข้าใจและไม่อยากจะฟังให้เข้าใจ ปิดหูปิดตาอยู่ก็คอยแต่จะคัดค้านว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่เหมาะสำหรับฆราวาส สูงเกินไป ไม่ใช่เรื่องของฆราวาสนี้ก็มีเหมือนกัน ก็ตามใจ เพราะไม่ฟังและไม่เข้าใจ คอยแต่จะปัดออกไป ด้วยเหตุใดก็พูดยาก. แต่ว่าโดยส่วนใหญ่ก็ด้วยเหตุที่ความโง่นี่เป็นส่วนใหญ่ ผิดจากนี้ก็เพื่อจะแก้ตัวให้แก่ตัวเอง ให้ไปเป็นอยู่ด้วยกิเลสเพราะมันเป็นคนที่เป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของกามารมณ์ เป็นกามารมณ์วิตถารพิสดารมันก็แก้ตัว
ทีนี้เราก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่า จิตว่าง ตามความหมายที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ทีนี้ก็จะดูต่อไปว่า เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ผมอยากจะระบุลงไปว่า ให้เป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างจนตลอดชีวิต เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ทำการงานด้วยจิตว่าง บริโภค บริโภคผลของการงานที่ทำได้นี้ก็บริโภคด้วยจิตว่าง ทีนี้จะมีการต่อสู้สิ่งที่จะต้องต่อสู้ก็ต้องต่อสู้ด้วยจิตว่าง ทีนี้แม้จะมีการพักผ่อนก็พักผ่อนด้วยจิตว่างน่ะมันจึงจะเป็นการพักผ่อน มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง นี่เป็นคำพูดครอบคลุมทีเดียวหมด เพราะสิ่งที่เรียกว่าชีวิตมีความหมายกว้าง แต่เราเล็งกันถึงว่าเราจะมีลมหายใจอยู่ด้วยจิตที่เหมาะสมชนิดนี้ ให้เป็นชีวิตที่เรียกว่าชีวิตจริง
คำว่าชีวิตแปลว่าไม่ตายหรือแปลว่าเป็นอยู่ ถ้าเป็นอยู่ต้องสดชื่น เหมือนใบไม้ที่เขียวสดเพราะมันมีความสดชื่น ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นชีวิตจริงก็หมายความว่าสดชื่น ถ้าไม่สดชื่นไม่ใช่ชีวิต ที่ถูกต้องตรงความหมายของคำว่าชีวิต ฉะนั้นเราจะเป็นอยู่อย่างสดชื่น ชุ่มชื่นเบิกบาน ก็ต้องเป็นอยู่ด้วยจิตที่ไม่ร้อนเป็นไฟ ไม่ไปแบกหามอะไรเอาไว้ให้หนักอยู่ ก็หลับตามองดูภาพของคนที่กำลังแบกอะไรหนักเหลือประมาณอยู่ตลอดเวลา หน้าตาเขาเป็นอย่างไร หาความสดชื่นได้อย่างไร หรือถ้ามีความโลภความโกรธความหลงจัดแล้วมันก็หน้าตาเป็นยักษ์เป็นมาร ดูไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่ามันไม่ใช่ชีวิตเสียแล้ว คือมันไม่มีความสดชื่น มันจวนตายหรือเจียนตายอยู่แล้ว หรือมันตายอยู่โดยปริยายอยู่แล้ว
ทีนี้คำว่าชีวิตมีความหมายแยกกันหลายแขนง แขนงที่สำคัญที่สุดคือการงาน ชีวิตที่ปราศจากการงานไม่ใช่ชีวิต มีชีวิตต้องมีหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง หน้าที่ก็คือการงาน ฉะนั้นเราต้องทำการงานด้วยจิตว่าง ทำการงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง นี่เป็นบทสำหรับถือเป็นหลัก งานทุกชนิดไม่ว่างานอะไรต้องทำด้วยจิตว่าง ไอ้งานทุกชนิดนี่มัน ไปคิดเอาเองก็ได้ นับตั้งแต่ไอ้งานตามธรรมชาติบังคับให้ต้องทำก็เรียกว่างานเหมือนกัน คือการบริหารร่างกาย ต้องกิน ต้องนอน ต้องตื่นนอนและต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องไปถ่ายอุจาระปัสสาวะ ต้องบริหารร่างกายอย่างนั้นอย่างนี้ ร่างกายมันจึงจะรอดอยู่ได้ นี้ก็เป็นหน้าที่หรือการงานคือบริหารร่างกาย
และทีนี้มันก็มีหน้าที่ตามลำดับวัยไป เช่นเด็กก็ต้องศึกษาเล่าเรียนไป ต้องทำรับการอบรมสั่งสอน พ่อบ้าน ผู้ใหญ่ก็ต้องประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง เหงื่อไหลไคลย้อยตามหน้าที่ ทำนาทำสวน ทำอะไรก็ตามใจ ทีนี้มันยังมีหน้าที่โอ้ย,อีกหลายอย่างที่จะต้อง ต้องทำ เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับคนข้างเคียง เกี่ยวกับไอ้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ในโลกมี ๆ เห็น ๆ กันอยู่นี่เป็นงาน เป็นหน้าที่ไม่ทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็ได้แล้วก็เรียกว่าไม่ใช่หน้าที่ คำว่าหน้าที่ในที่นี้ถ้าไม่ทำแล้วไม่ได้คือเสียหาย คือเดือดร้อน กระทั่งหน้าที่ในทางจิตทางวิญญาณ คือต้องศึกษาเรื่องทางฝ่ายศาสนา ฝ่ายธรรมะเพื่อจะให้ความสุขในทางจิตทางวิญญาณนี้ก็เรียกว่าหน้าที่ ทั้งหมดเป็นหน้าที่ นี้เป็นการงานทั้งนั้นแหละ เช่นทำวิปัสสนาก็เรียกว่าการงาน กรรมฐาน
ทีนี้เราหมายถึงการงานที่จำเป็น เพื่อมีชีวิตอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออาชีพ ก็ต้องทำด้วยจิตว่าง อย่างคุณจะสึกออกไปเป็นข้าราชการหรือว่าเป็นงานส่วนตัว งานอะไรก็ตาม มันก็ต้องทำงาน ต้องฉลาดพอที่จะทำงานด้วยจิตที่เหมาะสมที่เรียกว่าจิตว่าง จิตที่ไม่เหมาะสมทำให้การงานเป็นทุกข์ จิตที่เหมาะสมทำให้การงานสนุก ช่วยจำไว้หน่อย ถ้ามีจิตเหมาะสมการงานสนุกสนานเลย ถ้าจิตไม่เหมาะสมการงานเป็นทุกข์น่าเบื่อน่าระอายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ไม่อยากทำ บังคับให้ทำก็ทำแกน ๆ ไปอย่างนั้น
จิตวุ่นการงานเป็นทุกข์ จิตว่างการงานเป็นสุขเป็นของสนุก จะเห็นได้ง่าย ๆ วันไหนคุณมันกำลังวุ่นอยู่ด้วยไอ้โลภะ โทสะ โมหะอย่างใดอย่างหนึ่งนี่ คือหงุดหงิดขัดเคืองหม่นหมองอยู่นี่คุณทำอะไรไม่ได้ ถ้าทำแล้วก็เกือบจะไม่มีผลอะไรจะไม่สำเร็จเลย แม้แต่จะกวาด เอาไม้กวาดมากวาดพื้นซึ่งเป็นการงานที่ง่ายที่สุด มันก็ไม่ทำได้ มันก็ไม่อยากทำ ถ้าจิตมันไม่ ไม่สบายเสียแล้วก็เรียกว่า จิตมันวิปริตผิดปรกติไปแล้ว ถ้าว่าจิตสบายใจคอสบาย แม้แต่กวาดขยะกวาดพื้นที่นี่ก็ทำได้สนุก และสนุกไปเลยในการทำนั้น พอใจหรือสนุกสนานชื่นบานไปในการทำนั้น นี่เรื่องเล็ก ๆ นิดเดียวนั้นน่ะ เรื่องขี้เล็บ ก็ยังอยู่ในหลักที่ว่าถ้าจิตวุ่นคือจิตไม่เหมาะสมการงานก็เป็นทุกข์ ถ้าจิตว่างคือจิตเหมาะสมการงานก็สนุก
ถ้างานที่ออฟฟิศของคุณก็ลองไปสังเกตดู วันไหนใจคอสบายงานก็สนุก วันไหนหัวเสีย ไอ้งานก็เหมือนกับว่าเอานรกมาสวมให้ ก็งานอย่างเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้นขอให้ทำงานด้วยจิตที่เหมาะสม คือใจคอที่ปรกติไม่มีความวุ่นเพราะตัวกูของกู อย่างนั้นอย่างนี้เข้ามาแทรกแซง ฝึกไป ฝึกไป ฝึกไปไม่เท่าไหร่มันก็จะทำได้ ครั้งแรก ๆ มันก็ฝืนอยู่มาก
เรียกว่าข้อนี้มีคนเข้าใจผิดว่าไม่ให้หวังว่าจะได้ผลงานอย่างนั้นหรือ เราก็บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น งานคืออะไร จะต้องทำอย่างไร จะได้ผลอย่างไร รู้กันเสร็จแล้ว คิดตกแล้วเข้าใจแล้ว พอใจแล้ว ที่เหลือแต่ทำนี่ ในขณะที่ทำจะทำให้สำเร็จต้องทำด้วยจิตที่เหมาะสม คือจิตที่ว่างจากสิ่งรบกวน ให้การงานมันสนุกมันก็ทำได้มาก ทำได้เร็ว คือจิตมันเหมาะสมที่จะทำการงานอย่างที่ว่า ฉะนั้นขอให้ทำการงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง งานก็จะสนุกไปหมด
ทีนี้บริโภคผลงานก็บริโภคด้วยจิตที่เหมาะสม อย่าบริโภคด้วยกิเลสตัณหาตะกละตะกลาม ได้ผลงานมามากเป็นที่พอใจ แม้จะได้มาด้วยการทำด้วยจิตว่าง พอถึงทีที่จะบริโภคผลงานก็ยังคงบริโภคด้วยจิตว่าง อย่าตะกละตะกลามด้วยกิเลสตัณหาที่เป็นตัวกูของกู นี่เรื่องบริโภคผลงานหรือการกินอาหารนี่มันมีอยู่สองความหมายอย่างนี้ บริโภคด้วยจิตวุ่นมันก็เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นกิเลสเป็นภูตผีปีศาจและสิ่งที่กินเข้าไปนั้นล้วนแต่เป็นเหยื่อจะให้ติดเบ็ดเพื่อจะให้เป็นทุกข์ ที่มีใจคอปกติสะอาดสว่างสงบแจ่มใสดี บริโภคผลที่ได้นั้นน่ะไม่มีกิเลสตัณหาตะกละตะกลามอะไรก็เข้ามาแทรกแซง แต่มีสติสัมปชัญญะบริโภคสิ่งที่จะบริโภคนั้น ก็สบายดี นี่บริโภคผลงานด้วยความว่าง แม้จะมี จะเก็บ รักษาทรัพย์สมบัติอะไรไว้มันก็ด้วยจิตที่มีความว่าง ไม่รู้สึกที่จะเป็นทุกข์เพราะความวิตกกังวล ความห่วง ความหวง ความหึง ความอะไรต่าง ๆ
ทีนี้ก็พูดถึงการต่อสู้ทุกชนิดด้วยจิตว่าง อยู่ในโลกนี้ที่จะไม่มีการต่อสู้นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะเราพูดกันแล้วแต่วันแรกว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมเราอยู่นี้ มันจะทำให้เกิดปัญหา มันต้องต่อสู้ทั้งนั้นแหละ แม้แต่เราจะต้องต่อสู้ว่า เราจะรอดชีวิตอยู่ได้ไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บหรือตัวพยาธิมันเบียดเบียนอย่างนี้ เราก็ต้องเลือกกินอาหาร เราจะต้องรู้จักรักษาความสะอาดอนามัย ก็เป็นการต่อสู้ไปหมด จาระไนเป็นราย รายอย่างโดยละเอียดนี้มันไม่ไหวมันมากนัก เอาแต่ว่าเป็นเค้าใหญ่ ๆ กันเป็นก็ได้
ต่อสู้อุปสรรคในหน้าที่การงานหรือการสังคม เรามีคนที่ เรามีอุปสรรคนานาชนิดในการงานที่จะทำให้การงานไม่สำเร็จ แล้วก็ต้องต่อสู้ฟันฝ่าไปให้มันสำเร็จ อย่างที่ว่าใช้ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ สี่อย่างนี้ สร้างสิ่งที่ควรสร้างหรือสละสิ่งที่ควรสละ อย่าให้มันเกิดอุปสรรคในหน้าที่การงานอะไรขึ้นมาได้ เพราะต้องทำด้วยจิตว่าง ถ้าอุปสรรคความยากลำบากเกิดขึ้นแล้วไปโกรธเสีย ไปอารมณ์เสีย พื้นเสียของเขา เป็นคนโง่ที่สุด พออะไรเกิดขึ้นก็หงุดหงิดฉุนเฉียวแล้ว คิดบัญชีไม่ถูกก็หงุดหงิดฉุนเฉียวแล้ว อะไร ๆ ไม่ได้อย่างใจก็ฉุนเฉียว คือคนโง่ ไม่รู้จักต่อสู้อุปสรรคในการงานด้วยจิตว่าง
ทีนี้โรคภัยไข้เจ็บอีกประเภทหนึ่งก็เป็นประเภทโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแก่ร่างกายแล้วจะแก้ไขเยียวยานั่นน่ะคือการต่อสู้ ก็ต้องใจเยือกเย็น พิจารณาธรรมเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บนั่น แล้วต่อสู้ด้วยใจชื้น ใจนักเลง ใจปรกติ นี่มันจะป้องกันไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดเกิดขึ้น ไอ้ที่เกิดอยู่ก็จะหายไป แล้วมันจะไม่หายมันก็ทำอะไรเราไม่ได้เพราะจิตใจของเรามันอยู่เหนือ นี่เอาชนะอุปสรรคอย่างนี้
ทีนี้อุปสรรคนอกนั้นก็ได้แก่ ศัตรูหรืออันตรายแก่ชีวิตนานาชนิด เช่นคนที่จองเวรจองภัยแก่กันและกันอยู่ คนร้าย คนพาล คนอันธพาลหรือสัตว์ร้ายก็ตาม นี้อยู่ในพวกที่เป็นศัตรูก็ต้องต่อสู้ด้วยจิตว่าง อย่าไปโกรธเพราะโกรธนั่นคือจิตวุ่นที่เห็นแก่ตัวกูแล้วมันโกรธ จะไปปะทะกันด้วยวาจา โต้วาทีโต้วาทะอย่างนี้ก็ต้องทำด้วยจิตว่าง คือจิตอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ บริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย ที่เหมาะสมนั่นน่ะ แล้วก็จะชนะคู่ปรปักษ์ที่โต้วาทะวาทีอะไรกัน จะไปเป็นความที่ศาลก็ต้องทำด้วยจิตว่าง ถ้าทำด้วยจิตโง่เขลา จิตวุ่นวาย จิตมีตัวกูของกู มันก็ล้วนแต่ผิด เสียเปรียบเข้าไปทุกที ก็จะแพ้คดีเป็นต้น
แม้ที่สุดแต่จะทะเลาะวิวาทชกต่อยกันถึงขนาดนั้นก็ต้องทำด้วยใจคอที่ปรกติ คือเฉลียวฉลาดหรือจิตว่างนั่นเอง นักฟันดาบต้องฟันด้วยจิตว่างจึงจะชนะการฟันดาบ ทีนี้จิตว่างในที่นี้ก็คือไม่กลัว เมื่อไม่กลัวมันก็ปรกติ มันก็มีสติสัมปชัญญะที่จะทำได้ดี พอกลัวก็คือมีตัวกู ตัวกู กูกลัวตายแล้วก็ใจสั่นอยู่ด้วยความกลัว แค่นี้ก็ทำอะไรไม่ถูก เพราะมันไม่มีสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ที่เกี่ยวกับศัตรูหรืออันตรายนั้นอย่ากลัว อย่าเสียกำลังใจ อย่าเสียขวัญ เสียกำลังใจ เสียขวัญนั้นน่ะคือตัวกูเข้ามาทำให้เสียขวัญหรือเสียกำลังใจ ตัวกูอย่าเข้ามา สติปัญญาเข้ามา แล้วทำการต่อสู้แก้ไขไป
แม้แต่สุนัขวิ่งเข้ามาจะกัดเห็นบางคนกระโดดโหยงเหยง ๆ ไม่เป็นท่าเลย เรียกว่ามันสูญเสียสติสัมปชัญญะ สูญเสียปัญญา สูญเสียอะไรหมด จิตกำลังเป็นตัวกูที่ขี้ขลาดอยู่อย่างยิ่ง หมาก็กัดให้จริง ๆ เหมือนกัน นี่ถ้าว่ามันมีสติสัมปชัญญะพอมันก็ยืนอยู่นิ่ง ๆ มันก็ไม่กัด หรือว่ามันจะกัดก็กัดไม่ได้เพราะเราพร้อมอยู่เสมอที่จะต่อต้าน
ผมจึงพูดให้จำง่าย ๆ ว่าไม่ใช่เพียงแต่หมาต่อให้เสือมาก็ไม่กลัว ไปในป่าเจอะเสือนี่ เผชิญกับศัตรูหรืออันตรายแล้ว ก็ต้องต่อสู้ด้วยจิตว่าง จิตว่างคือไม่กลัว ไม่ให้ความโง่ ความหลง อวิชชา อะไรก็มาปรุงให้เป็นความกลัว ความไอ้ ประหม่า ความอะไรเหล่านี้ จิตยังคงเดิม ยัง บริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย ตามเดิม แล้วมันก็รู้สิว่าต้องทำอย่างไร ถ้าจะขึ้นต้นไม้มันก็ขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะอันนี้ มันก็ขึ้นได้ดี ถ้าจะวิ่งหนีก็วิ่งด้วยสติสัมปชัญญะที่ดี ไม่ใช่วิ่งด้วยความกลัว มันก็วิ่งได้ดี จะได้วิ่งเร็วไม่พลาดไม่หกล้ม ที่นี้ถ้ามันเห็นว่าวิ่งก็ไม่ไหว ไม่ใช่โอกาสที่จะวิ่งก็ต้องสู้กัน ก็ต้องชกต่อยกับเสือด้วยใจคอที่ปรกติ ก็มีโอกาส มีทางที่จะเอาชนะเสือได้มากทีเดียว หลายสิบเปอร์เซ็นต์ทีเดียว นี่ถ้ามันกลัวแล้วมันก็หลับตาสู้เสือมันก็น่าสมเพช ไม่มีประโยชน์อะไร ก็ใช้ฝีไม้ลายมือวิชามวยหรือวิชายูโดอะไรก็ตามใจ มันอาจจะเล่นงานเสือให้ตายได้ด้วยสติสัมปชัญญะและความความเฉลียวฉลาดและไม่กลัว นี้เป็นตัวอย่างสำหรับกันลืมว่าแม้แต่เจอะเสือก็ไม่กลัว มีสติปัญญารู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จะขึ้นต้นไม้หรือว่าจะวิ่งหนี หรือว่าจะปล้ำกันกับเสือเลย นี่มันพูดเป็นหัวข้อว่า แม้จะต้องต่อสู้ศัตรูและอันตรายก็ต่อสู้ด้วยจิตว่าง ต่อสู้ด้วยจิตว่าง
ทีนี้ก็มีข้อต่อไปว่า แม้ว่าจะพักผ่อน ในชีวิตนี้ต้องมีการพักผ่อนนะ ก็ต้องพักผ่อนด้วยจิตว่าง ถ้าไม่อย่างนั้นไม่เป็นการพักผ่อน ไอ้คำว่าพักผ่อนน่ะใคร ๆ ก็ต้องหมายถึงนอนหลับเป็นต้น ถ้าจิตมันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยตัวกูของกูมันนอนไม่หลับหรอก ถึงให้ร่างกายบังคับ บังคับร่างกายให้มันนอนลงไป ให้มันหลับตาเสีย มันก็ไม่หลับเพราะจิตมันไม่ว่าง มันกลุ้มอยู่ด้วยตัวกูของกู วิตกกังวลอย่างนั้นอย่างนี้ หวาดกลัวอย่างนั้นอย่างนี้ หวัง ทะเยอทะยาน หิวอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ไม่ ไม่เป็นการพักผ่อน ฉะนั้นต้องมีจิตที่พักผ่อน คือจิตว่าง จิตว่างเป็นการพักผ่อนอยู่ตลอดเวลา นี่ก็คือว่าจิตที่เหมาะสมน่ะมันจำเป็นอย่างนี้
พูดตามภาษาผมพูดผมเรียกว่า จิตว่าง แต่พูดถึงภาษาวิทยาศาสตร์หน่อยก็เรียกว่า จิตที่เหมาะสม ต้องเป็นอยู่ด้วยจิตที่เหมาะสม ต้องทำงานด้วยจิตที่เหมาะสม บริโภคผลงานด้วยจิตที่เหมาะสม ต้องต่อสู้ด้วยจิตที่เหมาะสม ต้องพักผ่อนด้วยจิตที่เหมาะสม แต่ผมพูดว่า มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ทำงานด้วยจิตว่าง บริโภคผลงานด้วยจิตว่าง ต่อสู้ด้วยจิตว่าง พักผ่อนด้วยจิตว่าง คุณชอบอันไหนก็เอาเลย เลือกเอาเองก็แล้วกันสำหรับคำพูดแต่ตัวจริงนั้นมันเหมือนกัน ที่ว่าเป็นอยู่ด้วยจิตที่เหมาะสมคือการเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง
ทีนี้เราจะดูกันต่อไป มันคือ คือว่า หัวข้อที่ว่า จะทำให้มันว่างได้อย่างไร มันไม่ใช่เป็นของง่ายนักที่ว่าจะทำให้ว่าง ทั้งที่จริงตามธรรมชาติมันก็ว่างอยู่ แต่พอเผลอมันก็วุ่น ใครเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูกเป็นต้น ก็ปรุงกันเป็นจิตวุ่น ที่มันมาทำให้กลัวก็กลัวเสีย อะไรทำให้รักก็รักเสีย อะไรมาทำให้โง่ก็โง่เสียอย่างนี้ มันยากที่จะคงสภาพความว่างตามธรรมชาติอยู่ได้
อย่างจิตประภัสสรนี้ถือว่าเป็นจิตว่างชนิดหนึ่ง ทีนี้มันไม่ประภัสสรอยู่ได้ มีนั่นมีนี่เข้ามาทำให้เป็น โลภะ โทสะ โมหะ ดังนั้นจึงต้องมีแผนการหรืออุบาย หรือวิธี หรือระเบียบปฏิบัติอะไรก็ตามทีให้มัน จิตมันว่างอยู่ตลอดไป ให้ประกอบอยู่ด้วยธรรมะหรือสติปัญญา สัมปชัญญะ อยู่ตลอดไป ก็เกิดเป็นหลักเกณฑ์ขึ้นมาว่า จะอบรมจิตให้เป็นจิตว่างเป็นนิสัยไปเลยนี่อย่างไร เป็นประจำอยู่เลย หรือว่าจะอบรมจิต ให้เป็นจิตว่างเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ที่สำคัญ ที่เผชิญหน้าอยู่นี้ได้อย่างไร คือว่าเราจะมีชีวิตจิตใจที่ว่างสบายอยู่ตลอดวันตลอดคืนเป็นพื้นฐานนี้อย่างไร อีกทีหนึ่งก็คือว่ากรณีพิเศษเกิดขึ้นเช่นเจอะเสือนี้จะทำให้จิตว่างอยู่ได้อย่างไรที่จะไม่ต้องกลัวจนเป็นจิตวุ่น เป็นหลักใหญ่ ๆ อย่างนี้ก็ไปคิดดู
เราจะอบรมจิตให้ว่างเป็นนิสัยสันดานยิ่งขึ้นทุกที ก็อุตส่าห์เจริญภาวนาที่เรียกว่า จิตตภาวนา สมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนา ตามแบบฉบับที่มีอยู่ ที่สอน ๆ กันอยู่นั้นแหละ ขอแต่ทำให้จริงเท่านั้น แล้วก็ทำไปทุกวันทุกเดือนทุกปีมันก็จะเป็นนิสัย เป็นผู้ที่มีจิตว่างได้โดยง่าย คือเป็นจิตที่บริสุทธิ์มั่นคงควรแก่การงานยิ่งขึ้นทุกทีและโดยง่าย ฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นรายละเอียด มันมีรายละเอียดมากเกินกว่าที่จะมาอธิบายได้ในชั่วโมงเดียวและคุณก็ไปหาคำอธิบายจากครูบาอาจารย์ หนังสือหนังหา ตำรับตำราเป็นพิเศษ
ทีนี้ที่จะอบรมจิตให้ว่างเฉพาะกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะหน้า อย่างว่าเจอะเสืออย่างนี้ ก็มันมีอีกทางหนึ่ง มันก็ต้องอาศัยพื้นฐานที่เราทำไว้เป็นนิสัยสันดานนั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็อาศัยความฝึกฝนที่จะมีสติสัมปชัญญะให้ทันควัน นี่สำคัญมากเรียกว่า สติสัมปชัญญะ เป็นอุปการะอย่างยิ่งเพราะเหตุนี้ ไอ้เสือสี่ขาในป่ามันก็ไม่น่ากลัวอะไร ไอ้เสือสองขาตามบ้านนั้นน่ะน่ากลัวมาก คือเพศตรงกันข้าม ที่จะครอบงำจิตแล้วก็ดึงจิตไปสู่ความเป็นจิตวุ่น เป็นตัวกูของกู เป็นกิเลสตัณหา
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไม่มีเสียงอะไรที่จะครอบงำจิตของบุรุษอย่างยิ่งเหมือนเสียงของสตรี ไม่มีรูปอะไรที่จะครอบงำจิตบุรุษอย่างยิ่งเหมือนรูปสตรี ไล่ไป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามนั้นน่ะ ถ้า ถ้า ถ้าเราเป็นบุรุษมันก็สตรี. ถ้าเป็นสตรีก็คือบุรุษ นี่ผมว่าเสือที่ร้ายกว่าเสือที่อยู่ในป่า หันมาเผชิญหน้ากับเสือในบ้านอย่างนี้มันจะมีสติสัมปชัญญะมาแต่ไหน ช่วยได้อย่างไร มันก็เกี่ยวกับการฝึก ในระยะกระชั้นชิดเลย ถ้าจิตไม่ว่างก็คือพ่ายแพ้อยู่ในอำนาจของเสือแล้วมันก็ไปตามอำนาจของเสือ ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็ยังว่างอยู่ตามเดิมมันก็ไม่แพ้ ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับคำว่าสติสัมปชัญญะที่รวดเร็ว ที่กะทันหัน
ฉะนั้นเราต้องฝึกไว้ให้เป็นชำนาญ เป็นพื้นฐาน เป็นฝีไม้ลายมือประจำตัวอยู่ ฉะนั้นพอเกิดศัตรูเฉพาะหน้ามาอย่างนี้ต้องมาเร็ว สติสัมปชัญญะต้องมาเร็ว การใช้อาวุธก็ต้องใช้ได้เร็ว ใช้ถูกต้อง ใช้ให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า มันเหมือนกับว่าเรามีอาวุธหลาย ๆ ชนิด เพราะว่าศัตรูมัน มันหลายชนิด เรามีอาวุธหลายชนิด เราฝึกการใช้ไว้ให้คล่องแคล่วทุกชนิด แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าปลอดภัยเพราะพอเอาเข้าจริงมันเสียขวัญหรือว่ามันไม่มีสติสัมปชัญญะมาทันแล้วก็เลยไม่ได้ใช้อาวุธสักอย่างหรือว่าใช้ผิด ๆ ถูก ๆ นี่
คุณจะอยู่ในการต่อสู้ในโลกนี่ นอกจากจะฝึกความชำนาญในหน้าที่การงาน ในอะไร ความรู้แล้วก็ยังจะต้องฝึกในส่วนที่เป็นสติสัมปชัญญะ ให้ความรู้หรืออาวุธหรือปัญญาหรืออาวุธน่ะมันมาทันท่วงที มาใช้ได้ทันท่วงที มิฉะนั้นอาวุธเป็นหมัน จะมีอาวุธวิเศษวิโสอย่างไรมันก็ไม่พ้นที่จะเป็นหมันถ้าปราศจากความเชี่ยวชาญที่จะมาทันท่วงที คือ สติสัมปชัญญะ เป็นพระเดินไปบิณฑบาตเห็นผู้หญิงลับ ๆ ล่อ ๆ แต่งกายลับ ๆ ล่อ ๆ เท่านี้มันก็หมดแล้ว ถ้าหากว่าจิตมัน มันเผลอ คือความรู้ที่เล่าเรียนมา มาช่วยไม่ทัน มันก็เป็นการฉิบหายไปกรณีหนึ่งในทางจิตใจ คือกิเลสมีราคะเป็นต้น ครอบงำ สูญเสียความเป็นภิกษุไปพักหนึ่ง
ทีนี้เป็นฆราวาสก็เหมือนกัน คือต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องคุ้มครอง ไปเปิดดูพระสูตร พระบาลี พระอะไรที่มาต่าง ๆ นั้นน่ะแล้วจะพบว่าไอ้เครื่องกั้น เครื่องคุ้มครอง เครื่องป้องกันนั้นคือสติ ทั้งนั้นเลย กระทู้นักธรรมตรีก็มีสติเป็นเครื่องกันเสียได้ถึงความผลุนผลัน สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งอารมณ์ทั้งหลาย ขั้นสูงสุดที่จะไปนิพพานก็ใช้สติเป็นเครื่องกั้น อยู่ในโลกธรรมดาสามัญที่จะหุนหันพลันแล่นไปตามกิเลสของคนหนุ่มนี่ก็ต้องใช้สติเป็นเครื่องกั้น ทีนี้เคล็ดของมันก็มีอยู่บ้าง ว่าสติมันจะมาทันได้อย่างไร เราต้องให้โอกาสมันบ้าง นี่มันมีเคล็ดอยู่ที่ว่าก่อนที่จะทำอะไรลงไปต้องห้ามล้อไว้สักนิดหนึ่งก่อน จะคิด จะพูด จะทำ จะรัก จะโกรธ จะเกลียด จะอะไรก็ตาม เราต้องระงับห้ามล้อมันไว้ขณะหนึ่งก่อนเพื่อให้มันเป็นโอกาสแก่สติสัมปชัญญะที่จะมา มาทันเวลา เราหัดนิสัยที่เขาเรียกเป็น ใน ในนิทานสุภาษิตสอนเด็ก ว่านับสิบเสียก่อน ก่อนที่จะโกรธใครให้นับหนึ่งถึงสิบเสียก่อน นิทานสุภาษิตเขามีอย่างนั้น ระหว่างนับหนึ่งถึงสิบน่ะมันเกิดความคิดเปลี่ยนได้จนกลายเป็นไม่โกรธเสียได้ นี่สติสัมปชัญญะมาทัน นี่ถ้าเราหัดทำอะไรปุบปับ ๆ อย่างที่เรียกว่า ไวเป็นลมกรดอย่างนี้มันยากที่จะมีสติมาทัน ฉะนั้นในการฝึกสติยุบหนอพองหนอ ย่างหนอเหยียบหนอนั่นก็คือ การฝึกให้เกิดโอกาสสำหรับสติจะมาทัน จะมาช่วยทัน นี่คุณไปสังเกตดู ฉะนั้นเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นหรือทางไหนก็ตาม เราจะหัดหยุดชะงัก เพื่อรวบรวมมาซึ่งสติสัมปชัญญะ แล้วจึงจะสะสางปัญหานั้นว่า คืออะไร อย่างไร เพื่ออะไร มันจะได้ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอะไรขึ้นมาได้ เราหัดยั้ง ให้โอกาสแก่จิตฝ่ายที่จะเป็นที่พึ่งได้ให้มาทันเวลา ถ้าเราหัดยั้งในลักษณะอย่างนี้มัน มันได้เปรียบแก่จิตฝ่ายที่จะเป็นที่พึ่งได้ ไม่ได้เปรียบแก่จิตในฝ่ายที่จะเป็นศัตรู เอาไปคิดดู ไอ้ผลุนผลันทันควันมันได้เปรียบแก่จิตที่เป็นฝ่ายศัตรู คือราคะ โทสะ โมหะ ในระหว่างที่เราหยุดชะงักอยู่น่ะมันก็คือ คือการให้โอกาสในการที่จะนึกโดยรอบด้าน ว่าอะไรเป็นอะไร อะไร อย่างไรนี่ แล้วมันก็จะตอบได้ว่าคืออะไร อย่างไร ๆ เข้ามาเป็นความรู้ เป็นสติสัมปชัญญะ ไอ้ว่านับหนึ่งถึงสิบนี้ไม่ใช่ว่า มันจะยาวถึงสิบวินาทีนะ มันอาจจะเพียงวินาทีเดียวก็ได้ ที่พูดนับหนึ่งถึงสิบนั้นเป็นอุปมา หรือว่าเป็นเรื่องที่พูดให้เข้าใจง่าย มันอาจจะเป็นเพียงสองสามขณะจิต สี่ห้าขณะจิต ไม่ถึงหนึ่งวินาทีก็ได้ เราอาจจะมีสติสัมปชัญญะทัน ทันแก่เหตุการณ์ได้ นี่การฝึกจิตให้เป็นจิตที่เหมาะสมเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้น อย่างหุนหัน อย่าง อย่างกะทันหัน ทีนี้มันก็ต้องเนื่องกัน การฝึกจิตให้เป็นจิตว่างอยู่เป็นนิสัยสันดานพื้นฐาน ทำทุกวันทุกคืน ตามเวลาตามโอกาส แล้วก็ฝึกอีกทีหนึ่งก็คือว่าให้มันทันแก่กรณีฉุกเฉิน
แล้วทีนี้เราก็จะสรุปเรื่องว่า จิตที่เหมาะสมคือจิตที่ว่างจากตัวกูของกู มีความบริสุทธิ์สะอาด มีความมั่นคง มีความไวต่อหน้าที่การงาน ทีนี้จิตไม่เหมาะสมคือจิตวุ่น กลัดกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกในตัวกูของกู เต็มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดเป็นคำคู่ขึ้นมาคู่หนึ่ง สองคำคือ จิตว่างกับจิตวุ่น จิตวุ่นนั้นทำลาย จิตว่างนั้นส่งเสริมหรือมีประโยชน์ แล้วศึกษาให้รู้จักสิ่งทั้งสองนี้ ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง วันหนึ่งคืนหนึ่งเรามีจิตวุ่นอย่างไร มีจิตว่างอย่างไร ทีนี้ก็สรุปได้ว่าเมื่อใดจิตวุ่นเมื่อนั้นเป็นทุกข์ เมื่อใดจิตว่างเมื่อนั้นไม่มีทุกข์ ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะที่ลึกไปอีกก็ว่า เมื่อใดจิตวุ่นเมื่อนั้นมีวัฏสงสารอยู่ในจิต เมื่อใดมีจิตว่างเมื่อนั้นมีนิพพานอยู่ในจิต นิพพานตามธรรมชาติที่เราไม่ได้ทำมันด้วยเจตนาหรือฝีไม้ลายมือของเรา ก็เรียกว่า ตทังคนิพพาน นิพพานสำหรับความประจวบเหมาะแห่งสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ก็ทำให้เราจิตว่างจากตัวกูของกู สบาย มันเป็นนิพพานชนิดนี้ ทีนี้เมื่อใดจิตวุ่นคือการปรุงแต่ง ๆ ตามลำดับมาจนเกิดกิเลสและความทุกข์นี้เรียกว่าวัฏสงสาร วัฏสงสารกับนิพพานนี่สลับกันอยู่ แล้วแต่ว่าเราทำให้จิตว่างหรือจิตวุ่น ที่เราทำให้มันเป็นจิตว่างเป็นนิพพานชนิดชั่วคราว ให้บ่อย ๆ เถอะแล้วก็จะทำให้เจริญก้าวหน้าเป็นนิพพานที่ยาวออกไปยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป เป็นนิพพานที่ไม่มีช่องโหว่สำหรับจะให้เกิดวัฏสงสาร คือบรรลุพระอรหันต์ เป็นนิพพานจริงขึ้นมา เมื่อใดจิตวุ่นอยู่ในตัวกู วัฏสงสารมีอยู่ที่นั่น เมื่อใดจิตว่างจากตัวกูนิพพานก็มีอยู่ที่ตรงนั้น แล้วให้ถือว่านี่คือเรื่องสำคัญหรือสาระแก่นสารของความเป็นมนุษย์เพราะมันจะสุขหรือจะทุกข์มันก็อยู่ที่นี่ แล้วเราศึกษาเรื่องนี้คือศึกษาเรื่องจิตที่เหมาะสมนี่คือจิตว่างนี่ไว้เป็นเครื่องแก้อุปสรรคนานาชนิดให้หมดสิ้นไป แล้วก็สร้างความก้าวหน้าหรือความเจริญให้เกิดขึ้นมา เป็นผู้ไม่มีความทุกข์ แล้วประเสริฐที่สุดก็คือว่า จะทำให้ชีวิตของความเป็นฆราวาสนั้นไม่เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น หรือว่าไม่เหมือนกับแบกภูเขาอยู่ตลอดเวลา เป็นศิลปะที่จะทำให้ฆราวาส ให้ความเป็นฆราวาสนั้นไม่มีความหมายเหมือนกับผู้แบกภาระหนักอยู่ตลอดเวลา มันก็จะสบายทั้งทางกายและทางจิต ทางวิญญาณ ไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่วิกลจริตไม่ตายในที่สุด เหมือนที่เขาเป็น ๆ กันอยู่ คุณดูเถอะเวลานี้ในโลกฆราวาสนั้นน่ะมีคนเป็นโรคจิตมากขึ้นจนโรงพยาบาลล้นไม่มีที่เก็บ แล้วคนก็เป็นโรคเส้นประสาทมากขึ้น จนว่าจะสร้างโรงพยาบาลประสาทขึ้นมาอีกสักร้อยโรงก็ยังล้นอยู่นั่นแหละ เพราะว่าโรคสมัยนี้มันเป็นโรคที่มีบาปหนา คือมันสร้างสิ่งที่จะให้คนหลงใหลมากขึ้น ๆ สิ่งยั่วยวนนี่มากขึ้น ๆ จนคนหัวปั่นก็เป็นโรคประสาท เป็นโรคจิตมากขึ้น คุณจะออกไปเป็นฆราวาสอีกก็ควรจะมีเครื่องมือ หรือเครื่องราง หรืออะไรก็ตามใจแล้วแต่จะเรียกที่เป็นของพระพุทธเจ้า ติดตัวไปเพื่อคุ้มกันอย่าให้ไอ้สิ่งเหล่านั้นมาครอบงำได้ นี่คือเรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่มา มาห้าครั้งกระทั่งครั้งนี้ว่า ไอ้ความรู้เรื่องจิตเหมาะสมนั่นแหละพิเศษที่สุด เป็นเครื่องรางคุ้มกันอะไรได้หมด ขอให้เป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยจิตที่เหมาะสมเถอะ จะเป็นความปลอดภัยด้วยประการทั้งปวงและเวลาของเราก็หมด