แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมปาติโมกข์ของเราวันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูไปตามเดิม ขอย้ำไว้เสมอว่าเรื่องอื่นมันไม่มี ไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับตัวกูของกู จะเป็นเรื่องโลก เรื่องธรรม เรื่องสูงหรือเรื่องต่ำ เรื่องศาสนา เรื่องพระเจ้า เรื่องสูงสุดคือนิพพานหรือเรื่องอะไรก็ตามใจ จงมองให้เห็นว่ามันเกี่ยวกันกับเรื่องตัวกูของกูเสมอไป แล้วก็มีเรื่องตัวกูของกูเป็นแกนกลาง เป็นจุดศูนย์กลางหรือว่าเป็นแกนกลางก็แล้วแต่จะเรียก ที่เป็นแกนกลางนี้มันเป็นได้ทั้งที่ว่าจะเป็นทุกข์หรือว่าจะดับทุกข์ ไอ้ความงอกงามแห่งตัวกูมันก็เป็นเรื่องทุกข์ ความสิ้นไปแห่งตัวกูมันก็ดับทุกข์ ดังนั้นขอให้รู้จักมองให้ทุกเรื่องนี้มันออกไปจากจุดศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว คือที่เรียกว่าตัวกูหรือของกูที่เราหรือว่าคนโดยมากทั่ว ๆ ไปไม่ค่อยพูดกันถึงเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ค่อยจะชอบพูดกันถึงเรื่องนี้ เพราะว่ามันจะเป็นเรื่องที่ลึกเกินไปบ้าง คือว่าลึกเกินไปกว่าที่จะไปสนใจมัน ที่เขาไปสนใจกันแต่เรื่องได้ เรื่องได้เรื่องเสีย ขอให้สังเกตดูเถอะไอ้เรื่องที่มนุษย์สนใจที่สุดทั้งโลกนี้คือเรื่องได้กับเรื่องเสีย กลัวจะเสียและอยากจะได้ แล้วก็ไม่สนใจไอ้เรื่องธรรมะแท้ ๆ ที่เป็นเรื่องส่วนลึกที่จะทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เขาเอาแต่ว่าได้แล้วเป็นสุข เสียแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นเสียเท่านี้ ก็เลยรู้เพียงเท่านี้ ไอ้เรื่องได้เรื่องเสียนี่มันเกี่ยวกับตัวกูโดยตรงเดี๋ยวก็จะว่าให้ฟัง
ตอนแรก ๆ นี่ อยากจะย้ำอยู่เสมอว่า มันไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่องตัวกูของกู แต่ถ้าชื่อเรื่องมันอาจจะเป็นอย่างอื่น รูปร่างมันอาจจะเป็นอย่างอื่น เพราะว่ามันไปดูกันที่ผิวนอกเปลือกนอก ไม่ดูที่แก่นลึก ที่เป็นตัวกูของกู
ทีนี้ในทางพุทธศาสนาก็มีบ่งชัดอยู่แล้วว่าให้ละอัตตา อัตตนียา ๒ อย่าง คือ อัตตา คือตัวตน อัตตนียา คือของตน ก็คือตัวกูของกูนั้นเหมือนกัน ศาสนาทุกศาสนาในเครือเดียวกันโดยเฉพาะในอินเดียใช้คำร่วมกันอยู่คู่หนึ่งคือคำว่าอหังการ, มมังการ คำว่าอหังการ, มมังการ ก็มีใช้ในพุทธศาสนา ในฝ่ายเถรวาทนี่ก็มี แต่เนื่องจากใช้คำว่าอัตตา อัตตนียา เสียโดยมาก ส่วนฝ่ายอื่นออกไป ฝ่ายฮินดู ฝ่ายไชนะ (เชน) ก็มีคำว่า อหังการ, มมังการนี่ใช้จนถือได้ว่าเป็นคำทั่วไปที่ใช้อยู่ในอินเดียสำหรับทุกศาสนาฟังออก ชาวบ้านทุกคนฟังรู้เรื่อง ว่าต้องละอหังการ, มมังการ (ที)นี้ เรายิ่งเห็นได้ชัดว่านั่นละคือตัวกูของกูโดยตรง อหัง แปลว่า เรา การะ แปลว่า กระทำ อหังการ แปลว่า กระทำการรู้สึกว่าตัวเรา มะมะ แปลว่าของเรา มมังการะ ก็แปลว่า กระทำความรู้สึกว่าของเรา รวมกันก็คือรู้สึกว่ากูอย่างหนึ่ง รู้สึกว่าของกูอย่างหนึ่ง นี่เป็นอันว่าทุกศาสนาในอินเดียในชมพูทวีปมันนี่มันก็มีความมุ่งหมายจะให้ทำลายตัวกูของกูในนามว่าอัตตา อัตตนียาบ้าง ในนามว่าอหังการ, มมังการบ้าง ในนามอื่น ๆ อีกเยอะแยะ แต่ที่ใช้กันมากก็คือ ๒ คู่นี้
ทีนี้ถ้าเราจะมองดูให้ลึกและกว้างออกไปถึงศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสเตียน ก็จะจับใจความได้เหมือนกันอีกที่พระเยซูตรัสว่าให้รัก ให้สละชีวิตเสียแล้วก็จะได้ชีวิต ทีนี้คน ขออภัย คนโง่ ๆ ฟังไม่ถูก พวกคริสเตียนเอง แบบคุณย่าคุณยายอะไรเองก็ฟังไม่ถูกแล้วก็ไม่สนใจ ทีนี้พระเราฟังไม่ถูกแล้วก็พาลดูถูกพวกคริสเตียนไปเสียซ้ำ ดูถูกคำพูดของพระเยซูไปเสียด้วยซ้ำ ว่าให้สละชีวิตแล้วจะได้ชีวิต นั่นก็เพราะเขาฉลาดมากกว่าเรา เราโง่มากกว่าเขา เขาพูดสำหรับให้เราโง่ ช่วยจำกันไว้ด้วย คำพูดเหล่านั้นมันพูดไว้สำหรับให้เราเป็นคนโง่ ให้สละชีวิตแล้วจะได้ชีวิตมันหมายความว่าอย่างไร เราไม่รู้ เราก็เลยหาพูดบ้า ๆ บอ ๆ ไม่ฟังถูก คำว่า สละชีวิต ทีแรกนั่น คือสละชีวิตประเภทตัวกูของกู คือชีวิตประเภทยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูของกู ชีวิตชนิดนี้ให้สละเสียแล้วก็จะได้ชีวิตอีกชนิดหนึ่งเป็นชีวิตชีวิตนิรันดร์ เป็นชีวิตแท้จริง ไม่เกิดไม่ดับ เป็นชีวิตนิรันดร์ คือบรรลุถึงธรรมะประเภทที่เป็นนิรันดรเขาเรียกชีวิตเหมือนกัน แต่ชีวิตแรกนี้เป็นชีวิตปลอม ชีวิตมายา ชีวิตปรุงแต่งมายา ส่วนชีวิตหลังนั้นเป็นชีวิตจริง สละชีวิตตัวกูของกูเสียก็จะได้ชีวิตที่ไม่มีตัวกูของกูนั่นใจความสำคัญทั้งหมดมีแค่นั้น
ทีนี้ที่เราพูดกันอยู่เสมอที่นี่ว่าหลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดก็คือให้ตายเสียก่อนตาย ไอ้ตายเสียก่อนตายนี่ ตายแรกทีก็คือตายเสียแห่งตัวกูของกู ความสำคัญมั่นหมายที่เป็นตัวกูเป็นของกูนั้นให้ตายเสียคืออย่าได้มีอีกต่อไป พอไอ้นี่ตายชีวิตที่เหลือนั้นก็เต็มไปด้วยความสะอาด สว่าง สงบ คือความที่ไม่ทุกข์ ความที่ไม่ทุกข์อีกต่อไป ตายเสร็จเสียก่อนตายแล้วมันก็จะได้ความไม่ทุกข์ ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป เหมือนกับที่พวกคริสเตียนว่าสละชีวิตแล้วก็จะได้ชีวิต เราสละความหมายมั่นที่เป็นตัวกูของกูคือกิเลสตัวนี้เสียแล้วต่อไปก็เหลือแต่ชีวิตที่ไม่มีทุกข์นิรันดร์ ไอ้กิเลสว่าตัวกูของกูนี้มันเป็นแม่บทรวมแห่งกิเลสทั้งหลาย จะแยกเป็นกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด หรือกี่เท่าไหร่ก็ตามใจ มันมารวมอยู่ที่จุด ๆ เดียวคือตัวกูของกู ตัวกูของกูเป็นแกนกลาง แตกแขนงออกมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็แตกแขนงออกไปได้เป็นพันห้า เป็นร้อยแปด ฉะนั้นเราจะต้องมองให้เห็นความจริงอันนี้ชัดเจนอยู่ในใจแล้วมันก็หมดเรื่องกัน อย่าเผลอแล้วก็หมดเรื่องกัน เป็นอันว่าทุกเรื่องมันรวมอยู่ที่เรื่องนี้เรื่องเดียวคือเรื่องตัวกูของกูเรื่องเดียว ที่เรามาแยกพูดทีละเรื่อง ๆ ตามความเหมาะสม พูดได้ตลอดปีตลอดชาติเลย ชี้กันแต่ในแง่ใดแง่หนึ่ง
สำหรับในวันนี้ก็จะพูดในแง่ที่ว่าเรื่องได้เรื่องเสีย ๒ อย่างนี้มันขึ้นอยู่กับตัวกู ตอนนี้ขโมยชุมได้ยินว่าถูกขโมยกันมากก็เลยอยากจะพูดเรื่องได้เรื่องเสียให้ฟัง ถ้าตัวกูไม่มี ความรู้สึกเป็นตัวกูไม่มี มันก็ไม่รู้สึกเป็นได้หรือเป็นเสีย เพราะมีตัวกู ความรู้สึกสำคัญมั่นหมายเป็นตัวกูอย่างเดียวนั้น ความหมายที่เป็นการได้หรือการเสียมันก็เกิดขึ้น ถ้าไม่มีตัวกูจะอยู่เหนือได้เหนือเสีย จิตที่ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูจะอยู่เหนือการได้การเสีย พอจิตประกอบอยู่ด้วยตัวกูของกูในระดับตัวกูของกูมันก็มีการได้และการเสีย เรามองเห็นได้ง่าย ๆ อยู่แล้วว่าไอ้ตัวกูนี่มันเป็นอย่างไร คือมันอยากได้แล้วไม่อยากเสีย มันจึงได้เรียกว่าตัวกู มันอยากได้ อยากมี อยากเอาเข้ามา แล้วก็ไม่อยากเสียไป นี่, พูดถึงตัวกูและความหมายของมันในเรื่องเกี่ยวกับได้หรือเสีย ทีนี้, พอความรู้สึกเป็นตัวกูของกูไม่มีมันก็ไม่เกี่ยวกันเลยกับได้หรือกับเสีย ฉะนั้นพระอรหันต์จึงอยู่เหนือการได้และการเสีย ทีนี้คนปุถุชนก็อยู่ภายใต้การได้และการเสีย ที่เราเผลอสติตัวกูของกูมันยึดครองจิตใจอยู่เรื่อยมันก็มีปัญหาหรือยิ่งกว่าปัญหาก็คือมีภัยคุกคามอยู่ในใจบีบคั้นอยู่ในใจกลัวจะเสีย ไอ้ความที่กลัวจะเสียนี่ที่ทำให้นอนไม่หลับ ความอยากจะได้ก็ทำให้นอนไม่หลับ ทีนี้ได้มาอย่างถูกอกถูกใจก็ทำให้นอนไม่หลับนั่นนะดูพิษสงของการได้เสียหรือตัวกูของกูซึ่งเป็นมูลเหตุของการได้และการเสีย ไอ้ที่เราพูดว่าพระอรหันต์หมดอุปาทานหมดตัวกูของกูเลยอยู่เหนือได้เหนือเสียนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางทีเราจะค่อยพูดกันก็ได้
ทีนี้คนที่ไม่เป็นพระอรหันต์ยังอยู่ในการได้การเสีย มีขึ้นมีลงเพราะได้เพราะเสีย มันจะต้องพูดกันให้ชัดเจน คือตามปกติแล้วความรู้สึกเป็นตัวของกูนี้จะไม่อยากเสีย จะอยากเอา เอาไม่มีที่สิ้นสุด จนพูดว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี ให้ภูเขาเป็นทองทั้งลูก ๆ สักสองลูกก็ไม่พอแก่ความประสงค์ของคนเพียงคนเดียว เป็นต้น นี่เป็นปกติวิสัยของตัวกูของกูมันอยากได้ขนาดนี้ มันอยากได้เท่าไร มันก็ไม่อยากเสียมากเท่านั้นคือมันอยากได้เท่าไรมันก็กลัวจะเสียมากเท่านั้น เท่ากันพอดี แล้วมันก็เป็นทุกข์มากเท่านั้น ทั้งขึ้นทั้งล่อง อยากได้ก็เป็นทุกข์ กลัวจะเสียก็เป็นทุกข์ แล้วเมื่อเสียเข้าไปจริง ๆ มันก็เป็นทุกข์เท่ากันโดยปริมาณนั้น นี่ถ้าได้มามันก็ดีใจและก็เพิ่ม ๆ ไอ้ความอยากได้ เพิ่มไอ้ความเห็นแก่ตัวต่อไปก็จะอยากได้มากขึ้นไปอีก และในที่สุดใคร ๆ ก็มองเห็นว่าไอ้เรื่องอยากได้นี่มันจะต้องมีทั้งสมหวังและไม่สมหวัง ฉะนั้น มันจึงมีแต่สลับกันไปด้วยความทุกข์ทรมาน ๒ แบบ เมื่อสมหวังมันก็ทรมานไปอีกแบบหนึ่ง อย่าหลับหูหลับตาจนมองไม่เห็นว่าเมื่อสมหวังนั้นเป็นการไม่ทรมาน เมื่อสมหวังมันทรมานไปแบบหนึ่งและทรมานสนิทสนมมาก เมื่อไม่สมหวังมันทรมานหยาบ ๆ แสบ ๆ เผ็ด ๆ รู้สึกได้ง่าย แต่แล้วทั้งได้และทั้งเสียเป็นเรื่องทรมานทั้งนั้น ต้องอยู่เหนือได้เหนือเสียนั่นจึงจะไม่ทรมาน สำหรับส่วนนี้ให้นึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า เหนือแพ้เหนือชนะนั่นถึงจะนอนเป็นสุข ถ้าแพ้หรือชนะก็ตามไม่นอนเป็นสุข ผู้ชนะย่อมประสบการจองเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ ทั้ง ๒ คนนอนไม่เป็นสุข ต่อเมื่ออยู่เหนือการแพ้และการชนะแล้วก็นอนเป็นสุข ไอ้การได้มันคือการชนะ ที่จะกลับแพ้ การเสียก็คือการแพ้ชนิดที่มันทรมานกันเดี๋ยวนั้น ระวังให้ดีเรื่องได้เรื่องเสียมันจะทรมานทั้ง ๒ อย่าง ทั้ง ๒ สถานและตลอดเวลา
ทีนี้ถ้าว่าอยู่ในวิสัยปุถุชนอยู่ในระดับปุถุชนยังพอใจในเรื่องได้, เสียใจในเรื่องเสียแล้ว ก็ต้องมีวิธีการที่จะจัดกับมันให้ดี ๆ อย่าให้มีเรื่องเสียเลย นี่ฟังดูให้ดี ๆ ว่า ผมว่าให้จัดกับมันให้ดี ๆ อย่าให้มีเรื่องเสีย ให้มีแต่เรื่องได้เสมอไป คุณถูกขโมยคุณจะคิดว่าเป็นเรื่องเสียไม่ใช่เรื่องได้ ทีนี้ถ้าว่าคิดต่อไปอีก คิดอย่างไรมันจึงจะกลายเป็นเรื่องได้ ถ้าเคยเรียนธรรมะธัมโมมาบ้างก็ไม่ยากนัก เอาอย่างเลว ๆ ของชาวบ้าน พอถูกขโมยไปก็กรวดน้ำให้มันเลย ถูกขโมย พริก มะเขือ ตะไคร้ ในเรือกในสวนอะไรก็ตามกรวดน้ำให้มันเลย พูดหยาบ ๆ ก็ว่ากรวดน้ำให้แม่มันเลย ไอ้อย่างนั้นไม่ค่อยได้บุญหรอก คือคนมันโกรธเสียแล้วแต่ก็ยังดีกว่าที่จะพูดอย่างอื่น มันขโมยไปแล้วกรวดน้ำให้แม่มันเลย แสดงว่าในใจมันโกรธหรือมันขุ่นแต่มันก็ยังดีกว่าทำอย่างอื่น ทีนี้บางคนก็ไม่ถึงกับโกรธ ไม่พูดหยาบ ๆ อย่างนั้น อุทิศจริง ๆ ให้ไปเลย ทำบุญไปเลย อย่างนี้จะเรียกว่าเขาเสียหรือเขาได้และได้มากไปกว่าที่เสียไปหรือเปล่า ถูกขโมย พริก มะเขือ ฟัก แฟง แตง เต้าเอาไปกระบุงหนึ่งในเรือกในสวนและเขามีจิตใจอย่างนี้กระทำลงไปอย่างนี้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ตามที่ปู่ย่าตายายสอนนะ ปู่ย่าตายายของเราดีมากสอนแต่อย่างนี้ ผลสุดท้ายจะคิดบัญชีดูว่าไอ้คนนี้มันได้หรือมันเสีย ถ้าเป็นนักธรรมก็จะคิดได้ว่ามันได้ ได้มากกว่าไอ้ค่าของวัตถุกระเฌอ กระบุง ที่เขาลักขโมยไปมันเลยไม่มีเสีย เพียงเท่านี้มันก็ไม่มีเสีย ๆ แล้ว มันได้เสียแล้ว แต่อย่าให้หยาบคายถึงกับว่าอุทิศให้แม่มัน อย่างนั้นมันได้น้อยเพราะมันทำไปด้วยความโกรธ
ทีนี้ที่สูงขึ้นไปกว่านั้นตามวิธีของพระอรหันต์ตามคำสั่งสอนของพระอรหันต์ เรามีโอกาสหรือเราได้โอกาสที่จะทดสอบจิตใจของเรา โอกาสนี้แพงมาก คุณถูกขโมยไป ๕๐ บาทอย่างนี้มันเป็นโอกาสให้คุณทดสอบธรรมะของคุณเอง นี่, ราคาตั้งหมื่นตั้งแสนตั้งล้าน ถ้าอันนี้มันไม่เกิดขึ้น มันไม่เป็นโอกาสที่จะทดสอบ มันก็ยังโง่อยู่ตามเดิมยังไม่รู้จักตัวเอง นี่, เพียงแต่ได้โอกาสทดสอบนี่ก็เป็นการได้แล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีเสีย ทีนี้เมื่อทดสอบไป ๆ มันก็เพิ่มความปล่อยวาง มีอาการของความปล่อยวางเกิดขึ้น คือปล่อยวางได้จริงว่าเป็นของธรรมดาที่จะเป็นอย่างนั้นหรือว่าอย่างนั้นมันยิ่งดี...ดีกว่าเอาไว้ ดีกว่ามีไว้เป็นการดีกว่า อ้าว! มันก็เลยยิ่งได้มากกว่าหมื่นกว่าแสน นี่ถ้าตัวกูมันเป็นตัวกูของกูมันไม่ยอม มันไม่ยอมคิดอย่างนั้น ถ้ามันคิดอย่างนั้นหมายความว่าตัวกูของกูมันเบาบางหรือมันหมดไปขณะหนึ่ง ฉะนั้นการที่เราได้ความเบาบางแห่งตัวกูหมดไปขนาดนี้เป็นแสนเป็นล้านเป็นโกฏิเลย ยกตัวอย่างด้วยนิทาน ไอ้โน่นไม่ใช่นิทาน ตัวอย่างที่เรื่องจริงที่เขาเล่ากันมาว่าสมเด็จ...สมเด็จโต สมเด็จที่มีชื่อเสียงสมเด็จโต ขโมยมาล้วงของที่ร่องบ้วนน้ำหมาก กุฏิแบบโบราณมันเตี้ย ๆ ใต้ถุนมันล้วงถึงไอ้ร่องบ้วนน้ำหมากที่เปิดบ้วนน้ำหมากมันก็มีอยู่ มันมาดูไว้ตั้งแต่กลางวัน คือคนในนั้นมันเป็นหนอน เกลือเป็นหนอน ก้อนเส้าเป็นเสือ เกลือเป็นหนอนอะไรขึ้นมามันก็ล้วงมือขึ้นมาหยิบของใช้ของท่านที่ข้างปากร่องเป็นปั้นชาบ้าง เป็นอะไรบ้าง ทีนี้ท่านเห็นคือขโมยนี้มันไม่รู้ว่าท่านตื่นอยู่ นั่งสมาธิอยู่ หรืออะไรอยู่ ท่านก็เลยขยับไอ้สิ่งที่อยู่ไกลร่องมาเทียบ มาอยู่ที่ปากร่องอีก ล้วงไปอันหนึ่งแล้วก็ขยับไอ้สิ่งที่อยู่ปลายร่องเข้ามาที่ปากร่องอีก ทำอย่างนี้ตั้ง ๔-๕ ครั้งขโมยมันชักจะสงสัย ทำไมมันมีของมาอยู่ที่ปากร่องเรื่อยมันเลยหนีไป นี่เราดูจิตใจของคนชนิดนี้ไม่มีเสีย จิตใจของมนุษย์ชนิดนี้ไม่มีเสีย มีแต่ได้ แล้วก็ได้มากขึ้น ..... นานด้วย...มันเอาลงไปในร่อง....
23:50 จากนี้ไป ขาดตอนเพราะเครื่องบันทึกขัดข้อง แต่ไปมีเสียงเอาตอนปลายนิดหน่อย 24:46
เอาละ, ทีนี้ก็จะสรุปความในข้อที่ว่า ได้หรือเสียมันขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู เป็นอหังการ, มมังการ เพราะฉะนั้นไอ้การได้หรือการเสียมันก็เป็นของหลอกหรือมายาเท่ากันกับตัวอหังการ, มมังการนั่นเอง แต่ทีนี้เราไม่รู้สึกว่าได้หรือเสียนี่เป็นมายา เห็นเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไอ้ได้ก็สำคัญไอ้เสียก็สำคัญเรื่องมันก็เลยไปในทางที่จะต้องมีความทุกข์ ถ้าเห็นว่าไอ้ตัวกูของกูมันเป็นมายา ทีนี้ปฏิกิริยาอะไรต่าง ๆ ที่เกิดมาจากตัวกูของกูมันก็เป็นมายา มันก็เลยไม่มีความหมายอะไรไม่มีปัญหาอะไร ที่บางโอกาสเรานี่ไม่ใช่พระอรหันต์ เราธรรมดาบางโอกาสมันก็นึกสนุกขึ้นมาก็ได้
อย่างสมเด็จนี่จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่ก็ไม่มีใครสันนิษฐานหรือวินิจฉัยกัน แต่ว่าจิตใจสูงถึงขนาดที่ว่าจะทำอย่างนั้นบ้างก็ได้เพราะว่าสงสารมัน มันโง่หรือมันจนหรือมันอะไรก็ตาม มันจนต้องขโมยก็เลยสงสารมันก็เลยให้มันโดยการที่บริสุทธิ์ใจ คือให้โดยบริสุทธิ์ใจถ้าไม่อย่างนั้นก็จะจับเอามือไว้เชือกมัดดึงตัวขึ้นมา มันก็ทำได้เหมือนกัน แต่นี่กลับเอาของไปวางปากร่องให้มันได้ยินเสียงให้มันเอาไป ทีนี้ถ้าเรานะ ถ้าเรา ๆ มองเห็นประโยชน์ของการเสียสละ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวขึ้นมาเมื่อใดก็คงจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างพระเวสสันดรนี้ในบทพรรณนานั้นน่าเลื่อมใสมากเหมือนกับคนอยากเหล้า เหมือนกับคนอยากกินเหล้ากระวนกระวายว่าเมื่อไรไอ้ยาจกจะมา ๆ นั่งเตรียมพร้อมอยู่เพื่อจะให้ทาน แล้วยาจกคนขอทานยังไม่มาตอนนี้ก็เปรียบกระวนกระวายของพระเวสสันดรเหมือนไอ้คนติดเหล้าแล้วคอยว่าเมื่อไร เหล้าจะมาเพื่อจะให้ทาน คนอย่างนี้คือคนที่ไม่มีเสียมีแต่ได้ ฉะนั้นมันก็เลยสบายไปหมด
ฉะนั้นขอให้ศึกษาเรื่องตัวกูของกูนี้เพื่อจะฆ่ามันเสียให้ตายโดยบทว่าตายเสียก่อนตายก็เลยหมดทุกเรื่อง ปัญหาหมดทุกเรื่อง พรหมจรรย์มันก็จบ แล้วกลายเป็นผู้มีแต่ได้ไม่มีเสีย ในปริยายหนึ่งคือเสียของนิดหน่อยก็ได้ของประเสริฐวิเศษมากจนกระทั่งว่ามันอยู่เหนือได้และเหนือเสียเป็นพระอรหันต์ มีจิตใจอยู่เหนือได้หรือเหนือเสีย แต่นี่เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็เอาแต่เพียงว่ามีศิลปะในการที่จะทำจิตใจให้มีแต่ได้ไม่มีเสีย ความเจ็บไข้มาก็มาสอนปรมัตถธรรม สอนสัจจธรรม แล้วมันจะมีเสียอะไร แม้แต่ปวดหัว ปวดฟันมา ก็มาสอนไอ้ความอดทน ขันติ หรือว่าการพิจารณาอะไรต่าง ๆ ถ้ามันไม่มีความเจ็บมันก็ไม่มีการพิจารณา ทีนี้ถ้าขโมยมันลักของไปบ้างมันก็เป็นการสอนหรือทดสอบน้ำใจหรือเป็นการสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือสอนการเสียสละ การปล่อยวาง มันเลยเป็นเรื่องที่มีแต่ได้ไม่มีเสียแค่นั้น ยิ่งถ้าเป็นพระเป็นเณรแล้วยิ่งสบายเลยคือไม่ต้องการอะไรอยู่แล้วมันไม่มีอะไรที่จำเป็น ไอ้ที่จำเป็นมีแต่บาตรกับจีวรนี้มันหาได้เรื่อยนอกนั้นมันของไม่จำเป็น ทีนี้เอาของที่ไม่จำเป็นนี้ละซื้อหาของที่ดีกว่า ที่ประเสริฐกว่า หรือที่จำเป็นที่สุด คือมรรคผลนิพพาน ผมจึงเลยว่ามันมีแต่ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปไม่มีเสีย นี่, เขาให้ถือไว้เป็นเครื่องรางกันขโมยด้วย คือขโมยจะขโมยคนชนิดนี้ไม่ได้เป็นอันขาด เอาล่ะพอกันที