แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายสำหรับภิกษุนวกะวันนี้ จะได้พูดถึงโดยหัวข้อว่า โทษที่เกิดเพราะไม่มีวินัย ในครั้งแรกเราได้พูดกันถึงประโยชน์หรืออานิสงส์ของวินัย ครั้งต่อมาได้พูดถึงตัววินัย ลักษณะของวินัย ครั้งต่อมาอีกได้พูดถึงวิธีปฏิบัติที่จะทำให้มีวินัยได้โดยสะดวก ในวันนี้จะได้พูดถึงโทษที่เกิดจากการไม่มีวินัย ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญจะต้องพูดมากมายอะไรนัก เพราะว่าเมื่อรู้ประโยชน์อานิสงส์ของวินัยแล้ว มันก็รู้ได้โดยนัยตรงกันข้ามว่า ถ้าไม่มีวินัยมันก็ไม่ได้ประโยชน์อานิสงส์นี้
แต่แล้วก็อยากจะพูดเสียเลย ในฐานะเป็นของพิเศษ ให้ได้ฟังแปลกออกไปบ้าง แม้ไม่พูดก็ไม่เป็นไร แต่อยากจะพูดเพื่อประโยชน์ที่แปลกออกไปบ้าง โทษที่เกิดเพราะไม่มีวินัยนี้ ใคร ๆ ก็พอจะเดาได้ หรือว่าเห็นชัดอยู่แล้วโดยไม่ต้องเดาก็ได้ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าว่าคนเราไม่มีวินัย ในครอบครัว ในบ้านเมือง กระทั่งถึงในธรรมวินัยนี้ คือในพระศาสนานี้ แต่ว่าอาจจะมองไม่ลึกซึ้งก็ได้ เพราะฉะนั้นเราดูกันให้ลึกให้กว้าง ก็คงจะมีประโยชน์เหมือนกัน
เมื่อตั้งคำถามหรือตั้งหัวข้อขึ้นมาว่า มูลเหตุที่ทำให้เกิดมีสิ่งที่เรียกว่าวินัย หรือกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผน หรืออะไรนี่ขึ้นมาในโลกนี้ มันคืออะไร หรือตั้งแต่เมื่อไรก็ได้ หรือเป็นมาอย่างไร สำหรับพุทธศาสนาเรา ก็ถือพระคัมภีร์ในพุทธศาสนาเป็นหลักโดยเฉพาะ คือพระไตรปิฎก นี้เราก็เลยอาจจะคุยโตบ้างว่า พระไตรปิฎกในพุทธศาสนานี่ ก็มีเรื่องครบไปหมดทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ โดยที่เราถือว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าวินัยหรือกฎหมายนี้ มันเกิดขึ้นมาในโลกนี้ มันเป็นเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ คือก่อนที่มนุษย์จะได้บันทึกเวลาหรือไอ้อะไรไว้อย่างชัดเจนได้ เรื่องก่อนที่ อ่า, เรื่องก่อนการบันทึกหรือทราบกันอยู่อย่างมีหลักฐานนั้น เขาเรียกว่าเรื่องก่อนประวัติศาสตร์
สูตรในทีฆนิกายเล่าถึงเรื่องที่คนชั้นหลังเรียกกันว่า เรื่องพระเจ้าสมมติราช สมมติราช แปลว่า พระราชาที่ถูกสมมติขึ้น แล้วก็หมายถึงคนแรกที่สุดในโลก แม้จะเป็นเรื่องนิยายก่อนประวัติศาสตร์ ก็อยากจะเอามาเล่าให้ฟัง โดยที่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ คือพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเล่าเรื่องนี้เอง เพื่อจะแสดงเรื่องการเกิดขึ้นแห่งวรรณะทั้ง ๔ นี้ หรือเกิดขึ้นแห่งสังคมมนุษย์นี้อย่างไร
ไอ้เรื่องที่เล่าไปถึงว่า พรหมลงมากินน้ำผึ้งในแผ่นดินแล้วเกิดกิเลส กลายเป็นมนุษย์เป็นคนขึ้นมานี้ เรายกออกไปเสีย คือไม่เอามาเกี่ยวข้องก็ได้ เราประมาณว่ามนุษย์เกิดขึ้นในโลกในลักษณะอย่างนั้น ทีแรกก็เป็นมนุษย์ ทีแรกก็เป็น ๆ อ่า, พรหม เป็นเทวดา แล้วมันมาหลงไอ้รสน้ำผึ้งอะไรที่แผ่นดินนี้ ในโลกนี้ กินเข้าไปแล้วกลับไปเทวโลกไม่ได้ ต้องมาเป็นสัตว์ เป็นคนอยู่ในโลกนี้ อย่างนี้ก็มี
เราเอาเรื่องเริ่มต้นแต่เพียงว่า มันเกิดคนขึ้นมาในโลกแล้ว มีกิเลส มีเนื้อ มีหนัง อย่างคนนี้แล้ว ไม่ใช่เป็นเทวดาแล้วทีนี้ เมื่อเป็นคน มันก็ต้องกินอาหารอย่างคนที่มีเนื้อหนังอย่างคนนี่ ก็คือกินข้าวกินปลานี่ เหมือนกับที่สัตว์ป่ามันจะกินอาหารได้อย่างไร นี่มนุษย์สมัยนั้นก็กินสิ่งที่เกิดอยู่ในป่า เกิดอยู่เองในป่า เป็น ๆ เมล็ดสารของหญ้าหรือของพันธุ์ข้าวหลาย ๆ อย่าง ก็มีบางอย่างที่ดีที่สุด ก็ถือเอาพันธุ์นั้นกิน แล้วก็ถึงเวลาก็ไปเก็บเอามาจากในป่ามากิน ทีนี้ต่อมาคนมันมากขึ้น ๆ มันก็ไม่ค่อยจะพอกันกิน ก็เกิดมีคนเอาเปรียบนี่ เรียกว่าเป็นคนเอาเปรียบเกิดขึ้น โดยไปเก็บมาไว้มากกว่าที่จะควรเก็บในวันหนึ่ง ๆ เอามาใส่ยุ้งใส่ฉางไว้อย่างนี้ นี่มันไม่มีระเบียบอะไร ไม่มีกฎหมายอะไรนี่
ทีนี้ต่อมามันก็ไม่มีให้เก็บ ก็เลยคิดปลูกขึ้นมา เพราะเห็นว่ามันงอกขึ้นมาอย่างไรในป่า แล้วก็เอาวิธีนั้นมาทำให้มันงอกขึ้นในเขตในถิ่นที่ตัวอยู่อาศัยนั้นแหละ นี่คำว่าเขตนั้นแหละ ก็แปลว่านา คำว่านา แปลว่าเขต ทีนี้พอคนมันมากขึ้นอีก ๆ ก็มีคนแหวกแนวอีกตามเคย คือไปเอาของผู้อื่นมากินโดยที่ตัวไม่ได้ทำ นี้คนนั้นก็เอาของคนนี้มากินตอบแทนบ้าง มันก็เลยกลายเป็นการเบียดเบียนกันขึ้นมาในสังคม เดือด ความเดือดร้อนก็ตั้งต้นขึ้นมา
ทีนี้มนุษย์เหล่านั้นทนความเดือดร้อนไม่ไหว ก็เลยคิดหาทางที่จะกำจัดหรือป้องกันความเดือดร้อน ประชุมกัน ปรึกษากัน คงจะหลายครั้งหลายหน ในที่สุดตกลงกันว่า จะสมมติไอ้คนที่มีลักษณะเหมาะสม คือคนที่มันทั้งแข็งแรงและทั้งเฉลียวฉลาด สามารถ เป็นที่น่าเกรงขาม เป็นที่เชื่อฟังของคนทั้งปวงนี้ ให้คนนี้เป็นผู้มีอำนาจ ให้คนนี้เป็นผู้ออกคำสั่ง ออกกฎออกระเบียบ ซึ่งคนอื่นจะต้องปฏิบัติตาม แล้วถ้าใครไม่ปฏิบัติตาม จะให้คนนี้เป็นผู้มีอำนาจที่จะลงโทษ และทุกคนก็จะร่วมมือตามข้อตกลงนี้ แล้วก็ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ ก็เกิดบุคคลที่เรียกว่าสมมติราชขึ้นมาในโลก เป็นพระราชาคนแรกในโลก นี่ผมเรียกว่าเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ เป็นอย่างนี้
ทีนี้พอทำอย่างนี้ ตามหลักการอันนี้ ไปได้ระยะหนึ่งเท่านั้น ก็มีผลเห็นทันตา คือมีความสงบสุข แล้วก็มีความเจริญก้าวหน้า การทำมาหากินทุกอย่างเป็นไปอย่าง ถูกต้อง เหมาะสม เจริญก้าวหน้า เห็นทันตาทีเดียว มีความผาสุกมากกว่าก่อน คนเลยร้องออกมาด้วยความปีติยินดีว่า รายา ราชาน่ะ ราชา ๆ ๆ ๆ นี่ คำ ๆ นี้ถ้าแปลตามตัวหนังสือ ตามรากของศัพท์ และเป็นภาษาธรรมดาสามัญที่สุดในเวลานี้นะ ก็จะได้ ก็จะตรงกับคำว่า ถูกใจจริงโว้ย ถูกใจจริงโว้ยนี่ ร้องตะโกนกันลั่นไปหมดทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ถูกใจจริงโว้ย ถูกใจจริงโว้ย
คำว่า ราชา รากศัพท์ว่า รช แปลว่า ยินดี พอใจ แต่มันเป็นภาษาบาลีหรือเป็นภาษาครั้งกระนั้น ซึ่งไม่ใช่ภาษาไทย มัน ๆ ก็มี เอ่อ, มีสำเนียงออกมาเป็น ราชา ราชา มีความหมายเท่ากับ ถูกใจจริงโว้ย ถูกใจจริงโว้ย ทุกหนทุกแห่งพูดกันแต่อย่างนี้ แล้วเขาก็ถือเอาคำ ๆ นี้ คำว่าราชานี้ ให้เป็นสมัญญา เป็นเกียรติ เป็นนาม เป็นนามสมัญญาที่มีเกียรติแก่บุคคลนั้น คือพระเจ้าสมมติราช ที่เรามาเรียกว่าสมมติราช นี้เราพูดทีหลัง นี้เรียกว่าคนป่าสมัยนั้นน่ะเขาร้องว่า ถูกใจจริงโว้ย ถูกใจจริงโว้ย คำนั้นเลยเป็นชื่อตำแหน่งของบุคคลนั้นว่าราชา เป็นพระราชาขึ้นมา
นี้มันเป็นเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ คิดดูสิ แต่มันไม่ใช่เรื่องนิยายไร้สาระ มันเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างซึ่งมีเหตุผล ซึ่งมันจะต้องเป็นอย่างนั้นจริง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แล้วเราก็ดูตรงที่ว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าวินัย มันเกิดขึ้นมาอย่างไร พระราชาองค์แรกนั้นก็ได้บัญญัติสิ่งที่เรียกว่าวินัยหรือกฎหมาย หรือแล้วแต่จะเรียกโดยภาษาไหนก็ตามขึ้นมาแล้ว เช่นว่าลักขโมยไม่ได้ ลักขโมยจะต้องลงโทษอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีอย่างอื่นตามขึ้นมา
ที่ว่าจะเกิดมีคนแหวกแนวเกิดขึ้นมาอย่างไร ก็ดูสิ ไอ้คนแหวกแนวทีแรก มันสร้างยุ้งสร้างฉาง แล้วขโมยไปเก็บของในป่ามาซ่อนไว้มาก ๆ เอาเปรียบคนอื่นนี่ มันก็เรียกคนแหวกแนว แล้วต่อมาเมื่อเพื่อนฝูงกันทำไร่ทำนา ตัวเองแหวกแนว คือไม่เคยทำมาก่อน ไปลักของเขามาโดยตัวไม่ต้องทำ นี้เรียกคนแหวกแนว ทีนี้มันก็จะมีคนแหวกแนวทำสิ่งที่ไม่เคยทำอย่างอื่นอีก เช่นไปทำชู้กับภรรยาของคนอื่นนี่ เมื่อก่อนนี้ก็ไม่เคยทำ คนมันดี ไม่ประสีประสา ไม่เห็นแก่ตัวจัดนี่ เอ้า, ก็ยังไม่เคยมี
เดี๋ยวนี้พอมันก้าวหน้า มันพลางเห็นแก่ตัว มันก็มีแหวกแนว นอกจากลักขโมยแล้ว มันก็ยังไปทำชู้สู่สาวหรือมันไปทำอะไรเรื่อย ๆ ขึ้นนี่ กระทั่งฆ่าเขา กระทั่งพูดเท็จ กระทั่งสิ่งซึ่งไม่ควรทำต่าง ๆ นี่ ก็เป็นหน้าที่ของพระเจ้าสมมติราชนี่ ให้เกียรติอย่างสูงสุด จะต้องออกกฎหมายมา จะต้องออกกฎระเบียบขึ้นมา ไม่ต้องเขียนใส่กระดาษแล้ว ด้วยวาจาเท่านั้นแหละ สมัย ๆ โน้น คุณคิดดูสิ จะรู้จักกระดาษหรือรู้จักขีดเขียนได้อย่างไร แม้แต่ภาษาพูด มันก็ยังไม่มีกี่คำ แต่เขาทำได้โดยการที่ว่า พูดด้วยปาก เป็นระเบียบ เป็นกติกา แล้วก็ใครฝืนกติกา ก็ถูกลงโทษอย่างแรงนี่ คนมันก็จำ เข็ดหลาบ นี่ระเบียบวินัย มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้
แม้ว่าจะเป็นวินัยทางโลก ๆ ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่สิ่งที่เรียกว่าวินัยมันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยความหมายอย่างเดียว จะทำหมู่คณะนั้น ให้น่าดู ให้งดงาม ที่ทำให้คนทุกคนในหมู่คณะนั้นมีความผาสุก แล้วก็จะให้ก้าวหน้า ให้ตั้งอยู่ได้และให้ก้าวหน้า อย่าลืมว่า ถ้าไม่มีวินัยมันตั้งอยู่ไม่ได้ หรือว่าตั้งอยู่ได้มันก็ไม่ก้าวหน้า หรือว่าก้าวหน้าแต่มันไม่มีความผาสุก หรือว่ามีความผาสุกแต่มันไม่น่าดู ดังนั้นวินัยนี้จะให้มาเป็นโดยลำดับ ตามลำดับว่า น่าดูหรืองดงาม แล้วก็ผาสุก แล้วก้าวหน้าโดยเร็ว เป็นความเจริญก้าวหน้า แล้วก็ตั้งอยู่ได้ไม่สูญไป ไม่หายสาบสูญไป
นี่คุณคิดคำนวณถึงระยะกาลนานไกลเกิดพระราชาคนแรกในโลกนี้ มันไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลป์มาแล้วนะ ถ้าถือตามไอ้ ๆ ๆ นิยายอย่างนี้ เขาถือเป็นกัป ๆ กัลป์ ๆ นั่นแหละ แล้ววินัยมันก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น คราวนั้น แล้วผลของมันก็อย่างนี้ อย่างเดียวกับที่เรากำลังต้องการเวลานี้ คือเป็นสังคม ที่งดงาม ที่ผาสุก ที่ก้าวหน้าและมั่นคง ไม่สาบสูญไป
ดังนั้นเราถือเอาเรื่องพระเจ้าสมมติราชนี่ว่า มันเป็นมูลเหตุที่แสดง อ่า, ที่แสดง อ่า, เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นมูลเหตุของการเกิดขึ้นของวินัย และถ้าไม่มีวินัยจะเป็นอย่างไร ไอ้คนเหล่านั้นก็ยังขโมยกันกลับไปกลับมา แล้วจะฆ่าฟันกัน แล้วก็จะทำลายกันเอง สูญหายไปแล้ว ไม่เหลืออยู่กระทั่งถึงเวลานี้ คนเหล่านั้นจะฆ่ากันเอง ทำลายกันเองตายหมด ไม่เหลืออยู่ซึ่งกระทั่งถึงเวลานี้ เดี๋ยวนี้วินัยโดยพระเจ้าสมมติราชนั้นแหละ ทำให้คนไม่ต้องฆ่ากันตาย ตั้งอยู่ได้ แล้วก้าวหน้า แล้วผาสุก แล้วก็งดงามมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งได้ถ่ายทอดกันมาตามลำดับ นี้เรียกว่าวินัยทั่วไปของมนุษย์ทั่วไป
ทีนี้เราก็มาถึงวินัยในธรรมวินัยในศาสนา ที่เราเข้ามาบรรพชาอุปสมบทกันนี่ มันก็มีวินัยในความหมายอย่างเดียวกัน เพื่อตั้งอยู่ได้ เพื่อก้าวหน้า เพื่อผาสุก เพื่องดงาม สำหรับวินัยของภิกษุ คือวินัยของคณะสงฆ์นี่ ถ้าเราไปเปิดดูในพระไตรปิฎก สังเกตดูให้ดี ทบทวนดูให้ดี จะพบว่า วินัยพวก อภิสมาจาริกาสิกขา นี้เกิดขึ้นก่อน วินัยที่ทำให้งดงามนี้เกิดขึ้นก่อน
ตอนนั้น คือตอนแรก ๆ นั่นแหละ คนที่เข้ามาบวชนั่นน่ะ เป็นคนเจตนาดี ซื่อตรงต่อตัวเอง เคารพนับถือตัวเอง คือเป็นคนดีเข้ามาบวช ดังนั้นจึงไม่มีไอ้ความเลวร้ายอะไรที่จะ ๆ ๆ ประพฤติให้มันเสียหายแก่หมู่คณะ มันจึงเหลือแต่ไอ้ของที่เป็นชั้นประณีต ที่เป็น อภิสมาจาร ไม่รู้จะปฏิบัติต่อ อุปัชฌายะ อย่างไร อุปัชฌายะ จะปฏิบัติต่อศิษย์อย่างไร หรือว่าแม้จะปฏิบัติต่อจีวร ต่อบาตร ต่อกุฏิวิหาร อย่างไร นี้ก็ไม่รู้ หรือว่าจะปฏิบัติแก่เนื้อหนังร่างกายอย่างไร ก็ยังไม่รู้ ดังนั้นวินัยส่วนนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นก่อน
เมื่อเราดูในคัมภีร์ ขันธกะ แห่งวินัย เรื่องก็แสดงให้เห็นว่า วินัยที่จะปฏิบัติระหว่าง อุปัชฌายะ กับ สัทธิวิหาริก นี้เกิดขึ้นก่อน ส่วนวินัยเรื่องจะไปทำเป็นปาราชิก เป็นอะไรอย่างร้ายแรงนั้นยังไม่มี เพราะว่าผู้มาบวชนั้นล้วนแต่เป็นคนดี เรียบร้อย เจตนาดี จิตใจสูงแล้ว แต่มันก็ไม่อาจจะรู้เรื่องไอ้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อยเหล่านี้ได้ แล้วก็ไม่รู้ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องบอกเรื่องนี้กันก่อนว่า ให้ อุปัชฌายะ ทำอย่างนั้น ๆ ๆ ๆ แก่ สัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริก ทำอย่างนั้น ๆ แก่ อุปัชฌายะ เป็นต้น ไอ้เรื่องคนที่อยู่กันมาก ๆ จะต้องทำกันอย่างไร ให้เรียบร้อย ให้น่าดู ให้สม่ำเสมอ ให้เป็นคณะสงฆ์ที่เป็นระเบียบนี่ มันก็ต้องพูดกันก่อน
พอต่อมาหลายปี นี่จะพูดว่าหลายปีก็ไม่ ๆ ผิด มันจึงได้เกิดบัญญัติวินัยที่ ๆ เป็นขนาดหนัก ๆ ๆ มากขึ้น จนถึงวันหนึ่งต้องบัญญัติเรื่องวินัยชั้น ปาราชิก รู้กันอยู่แล้วตามนิทานในสิกขาบทนั้นว่า พระสุทินน์เป็น ๆ ภิกษุองค์แรกที่ทำให้เกิดการบัญญัติอาบัติ ปาราชิก พระสุทินน์ไม่ได้เป็นคนเลวถึงขนาดที่จะทำกรรมอันเลวนี้ แต่มันมีเหตุผลบังคับหรือมันเสียไม่ได้ในข้อที่ว่า ทางวงศ์สกุลนั้นไม่มีใครสืบทายาท ดังนั้นเขาส่งภรรยาเก่าของแกมา เพื่อขอให้มีบุตรไป แล้วเพื่อจะให้มีทายาท พระสุทินน์ก็ทำไปเพื่อให้เกิดทายาท ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดเพื่อประโยชน์แก่กามารมณ์
พระพุทธเจ้าก็เลยบัญญัติ ทำไม่ได้ จะเพื่ออะไรก็ทำไม่ได้ การประกอบ เมถุนธรรม นี้ทำไม่ได้ นี่มันจึงบัญญัติไอ้วินัยขนาด อาทิพรหมจริยกาสิกขา ขึ้นมา เช่นว่าทำประกอบ เมถุนธรรม ไม่ได้ แล้วต่อมามันจึงมีเรื่อง อทินนาทาน เรื่องฆ่ามนุษย์ เรื่องอะไรมากันเรื่อย ๆ นี้ อันไหนก่อนหลังนี้ไม่แน่นัก แต่ว่าแน่นอนที่สุดว่า ไอ้เรื่องขนาดหนักนี้มาทีหลัง นี้เรียกว่าขนาดหนักชั้น ๆ ปาราชิก ก็ยังเป็นอย่างนี้ คือทำโดยบุคคลที่ไม่ได้มีเจตนาจะทำ เพื่อ ๆ ล่วงไอ้กรรมอันเลว อัน ๆ ๆ เลวทรามนี้ แม้ทำเพื่อความบริสุทธิ์ใจ เพื่อเหตุผลอย่างอื่น ก็ทำไปเหมือนกัน ทำได้เหมือนกัน
ทีนี้เราก็ดูต่อไปจะเห็นได้อีกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติวินัยข้อไหนไว้ ผู้ที่บวชแล้วแม้เป็นพระอรหันต์นั้นน่ะ ท่านก็ไม่รู้ว่าจะถืออย่างไร แล้วก็ท่านก็ต้องถือไปตามความพอใจ ตามที่จิตใจของท่านรู้สึก พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส ไม่มีเจตนาจะทำบาป แต่เมื่อไม่มีวินัย ท่านก็ยังทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าจะต้องห้ามไม่ให้ทำ ตัวอย่างที่ง่าย ๆ เช่นการฉัน อ่า, การบิณฑบาตมาฉัน เมื่อวินัยยังไม่ได้บัญญัติ ภิกษุทั้งหลายก็ไปบิณฑบาตมาฉันเมื่อรู้สึกว่าหิว หรือเมื่อรู้สึกว่าสะดวก หรือเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจึงมีการบิณฑบาต คือออกไปหาอาหารฉันนั้นน่ะ เมื่อไรก็ได้ เช้าก็ได้ เที่ยงก็ได้ บ่ายก็ได้ กลางคืนก็ได้
นี่พระที่บริสุทธิ์นี่ ไปบิณฑบาตกลางคืน แล้วก็มาฉันกลางคืน เพราะว่ามัน ๆ กลางวันไม่ได้ไป มีเรื่องอื่นหรือว่าทำความเพียรหรืออะไรก็ตาม แล้วเวลากลางคืนก็ยัง พวกชาวบ้านเขาก็ยังมีกินการกินอาหาร มันก็ไปขออาหาร ไปบิณฑบาตได้ นี้มันก็เกิดเรื่องมากมายหลายอย่าง อย่างแรกก็เรียกว่าไม่สมควรสำหรับภิกษุบรรพชิต นี้มันเกิดเรื่องที่ว่า ไปค่ำ ๆ คืน ๆ ก็ไปโดน ไปประสบอันตรายเข้า ไปมีเรื่องเป็นที่เรียกว่าเป็นเรื่องอะไรล่ะ เป็นเรื่องที่มันมาจากเรื่องอื่น เขาเรียก ที่เรียกว่าพลอย ไปพลอยฟ้าพลอยฝนอะไรเข้านี่ ค่ำ ๆ คืน ๆ เรื่องหนุ่มเรื่องสาวเขาทำอะไรกันก็ไม่รู้ พระก็แทรกเข้าไปบิณฑบาต มันก็เลยได้รับปฏิกิริยาโดยไม่มีเจตนาอะไรขึ้นมา มันทำให้ยุ่งยากลำบากไปหมด และการฉันอาหารกลางคืน มันก็เป็นการส่งเสริมเลยไปถึงความรู้สึก ทางกิเลส ทางราคะ เป็นต้นด้วย
พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติว่า ไม่เอาแล้วโว้ย เรื่องบิณฑบาตไม่เป็นเวลา ฉันไม่เป็นเวลานี่ จึงบัญญัติว่าต้องฉันเวลานั้นเวลานี้ หลังจากนั้นจากนี้ไปแล้วไม่ได้ ดังนั้นการบิณฑบาตมันก็เลยถูกจำกัดเวลา การฉันบิณฑบาตก็ถูกจำกัดเวลา เป็นวินัยขึ้นมา นี่เรื่องทั้งหลายที่เป็นตัว ปาฏิโมกข์ ก็ถูกบัญญัติขึ้น แปลว่า อาทิพรหมจริยกาสิกขา ๑๕๐ สิกขาบททีแรกก็ถูกบัญญัติขึ้น แล้วก็ผนวกกับ เสขิยวัตร กับไอ้อะไรขึ้นไปอีกเป็น ๒๒๗ นี้ ส่วน อภิสมาจาริกาสิกขา นั้นมากนับไม่ถ้วน ก็ ๆ มีบัญญัติทีหลังขึ้นมาอีกด้วย คือ บัญญัติตลอด ๆ ๆ เวลา นี้เราก็ดูตรงที่ว่า วินัยเกิดขึ้นด้วยเหตุใด ก็เหตุที่ว่า เมื่อไม่มีวินัยแล้ว มันมีไอ้ความเสียหาย ยุ่งยาก โกลาหล เป็นเดือดร้อนอย่างนี้
ทีนี้อีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญมาก ก็คือส่วนที่เกิดมีผู้หญิงเข้ามาในคณะสงฆ์ คือภิกษุณี นี่คุณคิดดูเถิด คำนวณดูเองนี้ว่า เมื่อมีผู้หญิงเข้ามาอีก มัน ๆ เป็นเรื่องล่อแหลมแก่ความเสียหายมากขึ้นเท่าไร มากขึ้นหลายเท่า ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติวินัยที่ ๆ เกิดจากการที่มีภิกษุณีขึ้นมานี่ ให้ภิกษุต้องถือเพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อป้องกันการที่ภิกษุจะไปทำความเสียหายในหมู่ภิกษุณี แล้วก็บัญญัติวินัยในหมู่ภิกษุณีนั้นแหละมาก ๆ ขึ้นมาอีก มากมายรัดกุมกว่าวินัยของภิกษุมากมาย
เท่าที่ผมจำได้ ถ้าจำไม่ผิด เช่นว่าภิกษุณีถกผ้าขึ้นมาพ้นเข่าเป็นอาบัติ สังฆาทิเสส อย่างนี้ แม้เมื่อลุยน้ำ ข้ามน้ำ เป็นอาบัติขนาดหนัก เมื่อภิกษุ ภิกษุณีข้ามน้ำแล้วถกผ้าขึ้นมาเหนือหัวเข่านี้ ก็พลอยเป็นเรื่องสำหรับเราจะได้คิดนึกดู เปรียบเทียบดูว่าพระพุทธเจ้าท่านมีความรู้สึกในเรื่องนี้อย่างไร แล้วมาเทียบดูกับสมัยนี้สิ ที่เขาจะไม่นุ่งผ้ากันแล้ว มันไกลกับเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องเพศนี้มากมายอย่างไร พอภิกษุณีถกผ้าขึ้นมาเลยเข่า มันก็เลยแสดงเนื้อส่วนที่ไม่ควร หรือว่าภิกษุณียอมให้ผู้ชาย เอ่อ, ให้ภิกษุจับส่วนที่ปกปิดน่ะ จะมีอาบัติถึงขนาด ถุลลัจจัย หรือ ปาราชิก มันก็มีเรื่องเข้มงวดกวดขันมาก เพื่อป้องกันไอ้ความเสียหายทางเพศที่จะเกิดขึ้น
อยากรู้ละเอียดไปอ่านดูในวินัยของภิกษุณีเอาก็แล้วกัน ผมเอามาให้ พูดมาให้ เอามาพูดให้ฟังพอเป็นตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าท่านต้องบัญญัติวินัยที่ถี่ยิบและเข้มงวดรุนแรงขึ้นเพียงไร เพราะมีภิกษุณีเข้ามาในศาสนานี้เกิดขึ้น แล้วในที่สุดภิกษุณีก็สาบสูญไป เพราะทนต่อไอ้ระเบียบอันเข้มงวดถี่ยิบนี้ไม่ไหว ก็สูญสิ้นไป ใน มหาปรินิพพานสูตร ที่พูดถึงเรื่อง ปรินิพพาน ไม่มี ๆ พูดถึงภิกษุณีเลย ทำให้คิดไปว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนี่ ภิกษุณีก็หายหน้าไปหมดแล้ว ทนอยู่ไม่ได้กับไอ้ระเบียบที่ถี่ยิบเข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับผู้หญิง
นี้เราก็มองดูสิ มองดูไปถึงต้นตอต้นเหตุว่า ทำไมถึงต้องบัญญัติวินัย ถ้าไม่บัญญัติวินัยจะเป็นอย่างไร นี่แม้จะบัญญัติอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีเรื่องที่เป็นเรื่องที่ไม่ ๆ น่าดูอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งภิกษุณีหมดไปเสียทีก็ดีเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะลำบากมาก เพราะว่าภิกษุณีนั้นจำเป็นจะต้องอยู่ในอาวาสเดียวกับภิกษุ เพื่อการคุ้มครองของภิกษุ ผู้หญิงช่วยตัวเองไม่ได้จาก อ่า, ป้องกันตัวเองไม่ได้ ก็ให้ภิกษุผู้เป็นผู้ชายนี่ช่วย เท่าที่จะช่วยได้ ก็เลยอยู่ในอาวาสเดียวกันเป็นส่วน ๆ ไป ส่วนนั้นของภิกษุณี ส่วนนี้ของภิกษุ มีระเบียบที่จะติดต่ออย่างนั้นอย่างนี้อย่างเข้มงวดที่สุด สงฆ์เป็นผู้เลือก สงฆ์เป็นผู้สมมติว่า ภิกษุนี้เท่านั้นที่จะไปสอน ภิกษุณีได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่แล้วมันก็ไม่วายที่จะมีเรื่อง แล้วก็สาบสูญไป
นี่ดู คำนวณดูว่า ถ้าไม่มีวินัยมันจะเป็นอย่างไร ก็จะรู้ได้เองว่า โทษที่จะเกิดขึ้นเพราะไม่มีวินัยนั้นจะเป็นอย่างไร ทีนี้เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มันสรุปได้ว่า ถ้าไม่มีวินัยแล้วก็มันก็มีความ ๆ ยุ่งยาก นับ ๆ ๆ ตั้งแต่ความยุ่งยากขึ้นไป เอ่อ, โกลาหลวุ่นวาย กระทั่งเดือดร้อน กระทั่งเสียหายแก่หมู่คณะ การ ๆ ตั้งอยู่เป็นหมู่เป็นคณะก็ล้มละลาย คณะสงฆ์จะล้มละลาย ทีนี้เรามองดูให้ลึกไปกว่านั้นอีกว่า ถ้าแม้ว่าไม่ถึงกับคณะสงฆ์ล้มละลายเพราะความไม่มีวินัยนี้ ยังพอตั้งอยู่ได้ ดังนั้นก็เรียกว่า ธรรมะน่ะมันไม่มีที่ตั้งที่อาศัย
การที่คนเราจะมีใจคอปรกติ สงบ เยือกเย็น ปฏิบัติธรรมะในทางจิตได้น่ะ ก็เพราะมีไอ้ความถูกต้องในทางวัตถุ ในทางร่างกาย ในทางสิ่งของก่อน ถ้าเราไม่มีไอ้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือผาสุก ในทางร่างกาย ทางการเป็นอยู่ ทางไอ้เครื่องใช้ไม้สอยอะไรก่อนนี้ ใจมันก็ฟุ้งซ่าน นี้การปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไป คือสมาธิ เอ่อ, ปัญญานั้น มันก็ทำไม่ได้ เพราะมันมี ๆ เรื่องรบกวนเบื้องต้นหรือเป็นพื้นฐานเสียแล้ว นี่ก็เข้าในบทที่ว่า เมื่อมีศีลดีนี่ สมาธิจะมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่นี่ เมื่อมีศีลดี สมาธิก็จะมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ เมื่อสมาธิดี ปัญญาก็จะมีผลใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าไม่มีวินัย ก็หมายความว่าไม่มีศีล ไม่มีศีลจะดีได้อย่างไร จะมีศีลดีได้อย่างไร นี้มันก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยให้แก่สมาธิหรือปัญญา คือการประพฤติในทางจิต
ดังนั้นขอให้ทุก ๆ องค์นึกถึงข้อนี้ให้มาก อย่าให้เกิดความยุ่งยากลำบากเสื่อมเสียขึ้นในทางฝ่ายพื้นฐาน คือทางฝ่ายที่มันเกี่ยวกับภายนอก คือร่างกาย การเป็นอยู่ กินอยู่ วัตถุสิ่งของอะไรต่าง ๆ นี้ อย่าให้มันมีเรื่องที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย เรียกง่าย ๆ ว่า อย่ามีเรื่องรบกวนจิตใจ นี่เราก็มีระเบียบวินัยเกี่ยวกับเนื้อหนังร่างกาย เกี่ยวกับการเป็นอยู่ของชีวิตนี่ ทุก ๆ ๆ ๆ สา อ่า, ทุก ๆ แขนง ให้ถูกต้อง ให้ดี ก็เรียกว่าเป็นพื้นฐานสำหรับที่จะมีสมาธิ คือมีใจคอปรกติ สบาย ดังนั้นถ้า ๆ ไม่มีวินัย ก็แปลว่าธรรมไม่มีพื้นฐานที่ตั้งที่อาศัยที่มั่นคง
ในสูตรที่เกี่ยวกับ สุญญตา มีอยู่สูตรหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้เป็นพิเศษมากที่แสดงให้เห็นว่า ไอ้ธรรมกับวินัยนี้มันเนื่องกัน ในสูตรนั้นมีใจความว่า ถ้าธรรมะเลอะเลือน วินัยก็เลอะเลือน ถ้าวินัยเลอะเลือน ธรรมะก็เลอะเลือน แล้วถ้าธรรมะเลอะเลือน วินัยก็เลอะเลือนนี่ กลับไปกลับมากันอยู่นี่ ถ้าจะไม่ให้เลอะเลือน ต้องไม่เลอะเลือนด้วยกัน ดังนั้นวินัยต้องไม่เลอะเลือน ธรรมะจึงจะไม่เลอะเลือน แล้วธรรมะและวินัยจะไม่เลอะเลือน ก็เพราะภิกษุสนใจศึกษาและปฏิบัติเรื่องที่เกี่ยวกับ สุญญตา เอ่อ, กล่าวรกกล่าวราก รกรากของธรรมวินัยไว้ลึกซึ้ง ถึงกับเกี่ยว ถึงกับ ถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ สุญญตา คือพระพุทธเจ้าท่านหมายความว่า ถ้ามีความรู้เรื่องที่เกี่ยวกับ สุญญตา อยู่แล้ว คนมัน ๆ ๆ ผิดวินัยยากหรือเสียธรรมะยาก
ดังนั้นให้สนใจศึกษาและปฏิบัติเรื่องที่เกี่ยวกับ สุญญตา จะทำให้คนนั้นง่ายที่จะปฏิบัติวินัย และง่ายที่จะปฏิบัติธรรม แล้ว สุญญตา นี้เป็นรากฐานของธรรมและวินัย ที่จะ ๆ ทำให้วินัยไม่เลอะเลือน ธรรม เอ่อ, ธรรม ธรรมะไม่เลอะเลือน ไม่เลอะเลือนด้วยกันทั้งสองอย่าง นี้ใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า ของสองอย่างนี้เนื่องกัน ถ้าอย่างหนึ่งเสีย อย่างหนึ่งก็เสีย ดังนั้นจึงถือว่า ความไม่มีวินัยนั้นหรือความเสียไปของวินัยนั้น ทำให้ธรรมเสียไปด้วย ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย ดังนั้นเราจะต้องทำทั้งสองอย่างนี้ให้ควบคู่กันไป
ทีนี้ไอ้สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อยากจะระบุถึงตัวศาสนาเอง เราก็ได้พูดกันมาตั้งแต่ครั้งการพูดครั้งที่ ๑ แล้วว่า วินัยเป็นรากแก้วของศาสนา ศาสนาอยู่ได้เพราะมีวินัยเป็นรากแก้ว ในที่นี้ผมก็อยากจะพูดในความหมายอย่างนั้น แต่จะใช้คำอย่างอื่น คือว่าใช้คำว่าเปลือก ถ้าไม่มีวินัย จะทำให้ศาสนาไม่มีเปลือกหุ้มห่อที่แข็งแรง คำว่าเปลือกนี้มีความหมายพิเศษ มันคือมันสองความหมาย ในบางกรณี เราให้ความหมายแก่คำว่าเปลือกนี้ เป็นของทิ้ง เช่นเปลือกผลไม้เปลือกอะไร เราทิ้งไม่มี ๆ ค่าไม่มีสาระ นั่นมันมองอย่างวัตถุเกินไป อย่างโง่ ๆ พูดว่าอย่างนั้นดีกว่า หรือว่าเปลือกในความหมายอย่างนั้น ในระยะกาลอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นก็ได้
ทีนี้อยากจะให้มองเปลือก ในความหมายอย่างอื่นหรือตรงกันข้ามว่า เปลือกนี้สำคัญมาก คือเป็นเครื่องหุ้มห่อปกป้องคุ้มครองรักษาเนื้อใน ไม่มีเนื้อในแล้ว อ่า, ไม่มีเปลือกแล้ว เนื้อในมันอยู่ไม่ได้ ไอ้เนื้อในมันเป็นของดี เป็นของประณีตละเอียดอ่อนสุขุม เป็นอันตรายง่ายแตกง่าย ดังนั้นต้องมีเปลือกที่แน่นหนาแข็งแรง เป็นเครื่องป้องกันและหุ้มห่อ ดังนั้นดูแต่ธรรมชาติ ธรรมชาติแท้ ๆ ไม่ใช่คน ๆ ไม่ใช่มนุษย์ทำนี่ คือต้นไม้นี่ แล้วมันจะออกดอกมา แล้วมันจะออกลูกนะ เมื่อมันออกลูกแล้วมันจะ ๆ ออกเปลือกมาก่อน มันจะออกส่วนที่เป็นเปลือกมา ให้เป็นหลักเป็นฐานมั่นคงแน่นแฟ้นอะไรก่อน แล้วมันจึงจะเกิดไอ้ส่วนที่เป็นเนื้อในขึ้นมาในเปลือกที่มั่นคงแน่นอนแล้ว
ถ้าลองเป็นต้นไม้บ้า ออกเนื้อในมาก่อนไม่มีเปลือกสิ จะ ๆ ทำได้อย่างไร หรือว่าก็ออกมา มดแมลงก็กินหมด เพราะมันไม่มีเปลือกหุ้ม นี้มันจะต้องออกเปลือกมาก่อน เมื่อเปลือกนี้ถูกต้องดีแล้ว มันจึงจะมีเนื้อในตั้งขึ้นมาในเปลือก แล้วขยายตัวออกไปจนมีเนื้อในที่สมบูรณ์ วินัยนี้เหมือนกับเปลือก ในความหมายอย่างนี้ ไอ้ตัวศาสนา ตัวธรรมะ ตัวมรรคผลนิพพาน อันนั้นมันเป็นเนื้อใน นี้ถ้าวินัยไม่ ๆ มี ก็เท่ากับศาสนาไม่มีเปลือก มันก็ล้มละลาย กระทั่งถึงว่าไม่อาจจะอยู่เหลือรอดมาจนถึงบัดนี้ได้ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องพิทักษ์ป้องกัน
คำว่าเปลือกในความหมายอย่างนี้ ในลักษณะอย่างนี้ มีค่าเท่าไหร่ ลองคำนวณดู ถ้าไม่มีเปลือกเนื้อในมีไม่ได้ หรือว่ากำลังมีเนื้อในอยู่แท้ ๆ นี่ ยังจะต้องมีเปลือกด้วย สำหรับใส่เนื้อในไว้เสมอไป หรือจะพูดถึงภาชนะก็ได้ ภาชนะเช่นถ้วยชามนี้ มันใส่ของ ถ้าไม่มีภาชนะจะทำอย่างไรกัน จะกินน้ำได้อย่างไร ไม่มีตุ่ม ไม่มีไห ไม่มีขวด ไม่มีแก้ว ไม่มีกระบอก เอาละ, ว่าใส่ฝ่ามือ ฝ่ามือก็กลายเป็นภาชนะทันที หรือสมมติว่าจะก้มลงไปดูดน้ำกินด้วยปากใน อ่า, จากหนองน้ำเลย ไอ้ปากน่ะมันจะกลายเป็นภาชนะไปทันที
ดังนั้นเนื้อในมันอยู่ได้ด้วยภาชนะหรือเปลือกอย่างนี้ เราเลยต้องให้ความสำคัญหรืออย่างน้อยก็ให้ความสนใจเท่า ๆ กัน ให้มันอยู่ได้เป็นเรื่องควบคู่กันไป ทั้งเปลือกและทั้งเนื้อใน นี่ถ้าไม่มีวินัย ศาสนาไม่มีเปลือกหรือไม่มีภาชนะจะใส่ ก็ล้มละลายหมด เหมือนน้ำไม่มีภาชนะใส่ มันก็หกราดเรี่ยราดลงไปในดินหมด แกงกับไม่มีภาชนะใส่ มันก็หล่นลงดินหมด เอาอะไรมาใส่มาถือไว้ อันนั้นเป็นภาชนะ ดังนั้นเราจงอยู่ เป็นอยู่โดยที่มีทั้งเนื้อและทั้ง ๆ เปลือก เราที่มีชีวิตอยู่นี้ก็ ๆ ต้องมีทั้งเนื้อและทั้งเปลือก สมมติว่าร่างกายเป็นเปลือก จิตใจเป็นเนื้อในก็ได้
ทีนี้ในส่วนการปฏิบัติพรหมจรรย์นี้ พรหมจรรย์มันก็มีวินัยนี้เป็นเปลือก แล้วก็มีธรรมะเป็นเนื้อใน เนื้อในคุ้มครองธรรมะ ไอ้เนื้อ อ่า, ไอ้เปลือกคุ้มครองเนื้อใน เนื้อในก็สนับสนุนเปลือก คุ้มครองเปลือก ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนคุ้มครองให้แก่กันและกัน ดู ๆ ๆ ผลไม้ก็แล้วกัน ดูเปลือกผลไม้กับเนื้อในของผลไม้น่ะ มันหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน ทีนี้พรหมจรรย์นี้ก็เหมือนกัน มีธรรมวินัยเป็นสอง ๆ ๆ ชั้นอยู่ ชั้นหนึ่งเป็นเปลือก ชั้นหนึ่งเป็นเนื้อใน มันก็หล่อเลี้ยงซึ่งกันและกันอยู่ แยกกันไม่ได้ ขอให้มองเห็นข้อเท็จจริงข้อนี้ให้มาก แล้วก็เกิด แล้วก็จะเกิด ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความพากเพียรหรือกล้าหาญขึ้นมาในที่จะปฏิบัติวินัย สิ่งต่าง ๆ ก็จะเป็นไปด้วยดี
นี่จึงหวังว่า เท่าที่ยกมาให้เป็นตัวอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจกันได้ทุก ๆ ๆ ๆ องค์ว่า ถ้าไม่มีวินัยแล้ว ผลร้ายจะเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นมัน ๆ แทบจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ในส่วนบุคคล มันก็จะฆ่ากันตายหมดทั้งโลก หรือว่าไม่เหลือรอดมาจนถึงบัดนี้ ที่มันเหลือรอดมาได้ในส่วนชีวิตตามธรรมดาอย่างนี้ มันก็ยังไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ดังนั้นเราจึงมีการเกิดหรือมีการตั้งเป็นหมู่เป็นคณะแบบที่สูงขึ้นไป คือสังคมของผู้ปฏิบัติเพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้ เช่นสังคมของพุทธบริษัท ก็มีคณะสงฆ์นี้เป็นหลักเป็นประธาน มันก็เลยต้องมีวินัย เพื่อให้ไอ้สังคมนี้หรือว่าการที่เกิดกันขึ้นมาสูงถึงระดับนี้ มันตั้งอยู่ได้ ให้การประพฤติ ปฏิบัติเป็นไปได้ แล้วก็ให้หลักการอันนี้ยังคงยืดยาวถาวรต่อไปในโลก เพราะอาศัยเปลือกหล่อเลี้ยงเนื้อในควบคู่กันไป นี่ความจำเป็นที่จะต้องมีวินัยมีอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่มีวินัยก็คือความล้มละลาย
เอาล่ะ, หวังว่าพอจะมองเห็นเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่พูดกันแต่เพียงอานิสงส์ของการมีวินัย เดี๋ยวนี้ชี้ให้เห็นโทษของการที่ไม่มีวินัย เอาไปบวกกันเข้าแล้วก็จะเกิดความพอใจในวินัย รักที่จะเป็นผู้มีศีลมีวินัย จนเรียกตัวเองได้ตามคำบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้และทรงหวังว่า ภิกษุจะเป็นอย่างนั้น คือคำว่า มีศีลเป็นที่รัก ให้ภิกษุทุก ๆ องค์มีศีลเป็นที่รัก เท่านั้นมันก็พอแล้ว อย่ามีลาภสักการะหรือไอ้อะไรนั่น เป็นเสียงสรรเสริญเยินยอเป็นที่รัก ขอให้มีศีลเป็นที่รัก แล้วปัญหาก็จะหมดไปในการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ นี่คือโทษของการไม่มีวินัยและอานิสงส์ของการมีวินัย ควบคู่กันไปอย่างนี้
เอาละ, พอกันทีสำหรับวันนี้