แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความภาคเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมไทยธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนา เนื่องมาจากธรรมเทศนาที่แสดงแล้วในตอนเย็น ซึ่งมีใจความสำคัญสรุปได้สั้น ๆ เป็นการบอกให้ทราบว่าชีวิตของคนเรานี้เป็นสิ่งที่จะต้องเทียมด้วยควายสองตัว เรื่องควายสองตัวนี้มีความหมายเป็นอุปมาอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นไปในทางต้องละอีกอย่างหนึ่งเป็นไปทางที่จะต้องปฏิบัติให้มีขึ้นมา ควายสองตัวที่จะต้องละนั้นก็เคยแสดงแล้วในโอกาสอื่น ที่ว่าในจิตใจของคนเรานี้มีความรู้สึกที่ตรงกันข้ามเป็นสองฝ่าย รบกวนกันอยู่เสมอ คือเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องผิดเรื่องถูก เมื่อคนเรามีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องผิดเรื่องถูกมันก็มีปัญหาอยู่เรื่อยไป มีอาการเหมือนกับควายสองตัวขวิดกันอยู่ในจิตใจได้แก่ความลังเล ความไม่แน่ใจ หรือความไม่ได้อย่างใจ นี่เป็นเรื่องของพวกเซนอุปมาขึ้นไว้ว่าลูกศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมในสำนักของอาจารย์คนหนึ่ง
เมื่ออาจารย์ไปถามว่าปฏิบัติถึงขั้นไหนแล้วมีผลเป็นอย่างไร ลูกศิษย์คนนั้นก็ตอบว่าเห็นแต่ควายสองตัวขวิดกันอยู่เรื่อยไป ถามอย่างไรถามทีไรก็ตอบอย่างนี้เป็นเวลาเป็นปี ๆ แต่ก็เป็นที่รู้กันในระหว่างศิษย์และอาจารย์ไม่ถามอะไรมากไปกว่านั้น ต่อมาในครั้งสุดท้ายไปถามอีกก็ตอบว่าเดี๋ยวนี้ควายที่ขวิดกันนั้นได้ตกน้ำละลายไปหมดแล้วทั้งตัวดำและตัวขาว เพราะว่ามันเป็นควายดินด้วยกัน อาจารย์ก็บอกว่าพอแล้ว เรื่องก็ไม่มีอะไรที่จะต้องพูดกันอีก ข้อนี้มันหมายความว่าความรู้สึกที่ขัดกันอยู่ในจิตใจมีอาการเหมือนกับสัตว์สองตัวขวิดกันอยู่เรื่อยไปเพราะอำนาจความยึดมั่นถือมั่น ใจหนึ่งมันก็ยึดข้างดี ใจหนึ่งมันก็อยากข้างชั่ว มันก็ต้องขวิดกันไปเรื่อย และที่สูงขึ้นไปกว่านั้นก็คือแม้ที่เป็นเรื่องดีล้วนๆ ก็เป็นเรื่องยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จะต้องสลัดความยึดมั่นถือมั่นออกไปโดยประการทั้งปวง ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าเรารู้สึกว่าอะไรเป็นของดีนี่ย่อมหมายความว่าเรารู้ว่ามันมีสิ่งที่ชั่วที่ตรงกันข้าม มันก็ไม่พ้นไปจากความหวาดกลัวต่อความชั่วหรือความเป็นห่วง ความยึดมั่นถือมั่นในฝ่ายข้างดี ยังมีความรู้สึกว่าดีอยู่เพียงไร ความรู้สึกว่าชั่วก็จะต้องตามมารบกวนจิตใจอยู่เพียงนั้น
เพราะฉะนั้นจะต้องเลิกให้หมดทั้งตัวดีและตัวชั่ว เพราะฉะนั้นจึงจะเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง อย่าเข้าใจไปว่าเราสามารถที่จะเอาไว้แต่ตัวดี ตัวชั่วนั้นไม่เอาหรือไม่ต้องเอาก็ได้ อย่างนี้มันทำไม่ได้เพราะว่าถ้ารู้สึกว่าดีแล้ว ก็จะต้องมีความรู้สึกว่าชั่วแฝงอยู่ด้วยเสมอไป เพราะรู้สึกว่าดีนั้นมันหมายความว่าตรงกันข้ามจากความชั่วแล้วแยกเอามาแต่ความดี ความชั่วมันก็ยังคอยเป็นศัตรูรบกวนอยู่เรื่อยไป ต่อเมื่อมีจิตใจสูงเหนือความดี มันจึงจะหมดปัญหา ไม่รู้สึกว่าดีก็หมายความว่าไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ตรงกันข้ามคือความชั่ว เป็นเรื่องอยู่เหนือความดีและความชั่วชนิดนี้จึงจะดับทุกข์สิ้นเชิง ดังนั้นขอให้เข้าใจว่าเรื่องของนิพพานนั้นเป็นเรื่องเหนือความดีและความชั่วทั้งสองอย่าง เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ ทั้งสองอย่างเสมอไป ถ้าจะเลือกเอาแต่เรื่องดีเรื่องบุญเรื่องสุขอย่างนี้ มันก็ทำได้เหมือนกัน แต่ทำด้วยความโง่หรือทำด้วยความหลอกลวงตัวเอง ถ้าจิตยังพอใจยึดมั่นเรื่องดีเรื่องบุญเรื่องสุขอยู่แล้วก็หมายความว่าได้ยึดเอาเรื่องตรงกันข้ามคือเรื่องชั่วเรื่องบาปเรื่อทุกข์แฝงอยู่ในนั้นซ่อนไว้ในนั้น เพราะถ้าไม่มีชั่วมีบาปมีทุกข์มาเป็นคู่เปรียบแล้วเรื่องฝ่ายดีฝ่ายสุขฝ่ายบุญมันเกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งใดจะมีค่ามีราคาก็เพราะมันมีการเปรียบเทียบกับคู่ที่ตรงกันข้ามเสมอไป
ดังนั้นในพุทธศาสนานี้จึงบัญญัติที่สุดของความทุกข์ไว้ ในฐานะที่อยู่เหนือความดีความชั่วเหนือบุญเหนือบาปเหนือสุขเหนือทุกข์ แต่แล้วคนก็ไม่อาจจะเข้าใจเพราะมันยังยากหรือลึกเกินไป และข้อนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงท้อพระทัยในการที่จะสั่งสอนสัตว์ในเมื่อได้ตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ว่าจะสอนไปทำไมจะเหนื่อยเปล่าจะไม่มีคนเข้าใจ แต่แล้วในที่สุดพระองค์ก็ทรงใช้ความเมตตากรุณามาเป็นกำลังใจสำหรับกระตุ้นให้ทนลำบาก โดยหวังว่าจะมีคนบางคนแม้จะไม่กี่คนซึ่งอาจจะเข้าใจได้ และคนเหล่านั้นจะได้ประโยชน์ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงตั้งพระทัยที่จะแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นแก่สัตว์คือเรื่องความหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง จะเรียกว่าเรื่องสุญตาก็ได้เรื่องอนัตตาก็ได้แต่พูดเป็นไทย ๆ ก็คือเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง จึงจะเป็นความดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ๆ ก็หมายความว่าไม่มีของที่เป็นคู่เปรียบอะไร ๆ เข้าไปหลอกลวงจิตใจให้เลือกเอาข้างใดข้างหนึ่ง เหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว
คนเราถ้าชอบดีรักดียึดมั่นดียึดมั่นในฝ่ายดีมันก็ต้องหวาดกลัวชั่วระแวงต่อความชั่วสงสัยว่าความชั่วจะเข้ามาทำลายความดี เมื่อมีรู้มีความรู้สึกเป็นสุขยึดมั่นในความสุขก็ต้องระแวงว่าความทุกข์มันจะแทรกแซงเข้ามา เพราะตัวมันรักความสุข หวงแหนความสุข ถ้ายึดมั่นในบุญ มันก็กลัวว่าบาปจะแทรกแซงเข้ามา หรือว่าบุญจะหมดไปแล้วบาปจะเข้ามาแทนที่อย่างนี้อยู่เสมอไป เรื่องดีเรื่องบุญเรื่องสุขนี้ ไม่มีค่าอะไรมากกว่าเป็นของตรงกันข้ามกับเรื่องชั่วเรื่องบาปเรื่องทุกข์ มันต้องเนื่องกันอยู่อย่างนี้เสมอไป เพราะฉะนั้นแหละผู้ปฏิบัติธรรมคนนั้นจึงได้พูดว่า เดี๋ยวนี้ควายสองตัวทั้งตัวดำและตัวขาวชนกันจนตกน้ำละลายหายไปหมดสิ้นไม่มีควายเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว แล้วอาจารย์ก็รับรองว่าพอแล้ว ดังนี้เป็นต้น เรื่องควายสองตัวอย่างนี้นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเป็นควายที่จะต้องทำให้สูญให้ละลายไป เป็นอุปมาอีกอย่างหนึ่ง อย่าเอามาปนกันกับเรื่องที่ได้กล่าวแล้วเมื่อตอนบ่ายว่าชีวิตของเรานี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว ถ้าจะถามว่าทำไมจะต้องเทียมด้วยควายสองตัว ตอบได้อย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ที่สุดว่า เพราะว่าคนเรานี้ มันมีทั้งร่างกายและจิตใจ
คนเราไม่ได้มีแต่ร่างกายหรือว่ามีแต่จิตใจ มันมีทั้งร่างกายทั้งจิตใจเป็นของควบคู่กันไปไม่อาจจะแยกกันได้ กายกับใจนั้นแยกกันไม่ได้ทั้งที่มันเป็นของคนละอย่างต่างกัน ทำลายร่างกายเสียเมื่อไร ใจมันก็พลอยถูกทำลายด้วย ทำลายจิตใจเสียเมื่อไรร่างกายมันก็ไม่มีความหมายอะไรเท่ากับถูกทำลายไปด้วยแล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในภาษาธรรมะนี้เขาเรียกแฝดกันเลยว่ากายกับใจหรือกายใจ ไม่แยกกันว่ากายอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่ง เมื่อเราพูดเราแยกกันได้ว่ากายอย่างหนึ่งหรือใจอย่างหนึ่ง แต่ที่มันเป็นอยู่จริง ๆ นั้นมันแยกกันไม่ได้ ถึงแยกจากกันมันก็สูญหายไปทั้งสองอย่าง นี้แต่ว่าเราก็ยังมีกายและใจอยู่นั่นเอง ถึงแม้ว่าจะแยกกันไม่ได้ กายมันก็มีอาการลักษณะอาการไปอย่างหนึ่ง ใจมันก็มีลักษณะอาการไปอย่างหนึ่ง เรามีของสองอย่างอย่างนี้ก็หมายความว่ามันต้องการอะไรสองอย่างอีกเหมือนกันที่จะมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงมัน นี่จึงเป็นเหตุให้เกิดอุปมาที่พูดว่าชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว
สิ่งที่เรียกว่าร่างกายนี้ในบางศาสนาก็เรียกตรง ๆ ว่าเนื้อหนัง จิตใจนั้นก็เรียกว่าวิญญาณหรือธรรมะหรือเรียกเป็นพระเจ้าไปเสียเลย เนื้อหนังนั้นเป็นเรื่องของร่างกายเป็นเรื่องของกิเลส จิตใจนั้นเป็นเรื่องของพระธรรมเป็นเรื่องของพระเจ้า แต่คิดดูเถิดว่าทำไมมันมาอยู่กันได้มาอยู่ด้วยกันได้ อันหนึ่งเป็นเรื่องของกิเลส อันหนึ่งเป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของของธรรมคือความไม่มีกิเลส แล้วทำไมมันมาแฝดกันอยู่ได้ เป็นของที่น่าอัศจรรย์ นี่ก็เพราะกล่าวไปในทำนองให้แยกกัน หมายความว่าเรื่องเนื้อหนังนั้นมันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาทางเนื้อหนัง เป็นความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยเป็นเรื่องทางเนื้อหนัง ส่วนเรื่องทางจิตทางวิญญาณนั้นให้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามคือไม่เกี่ยวกับเนื้อหนัง มันก็เลยมีความหมายต่างกันต้องการต่างกัน จนถึงกับว่ามันเป็นของตรงกันข้ามอยู่ทีเดียว ถ้าเราต้องการตามใจกิเลสหรือตามใจความสุขทางเนื้อทางหนังซึ่งเป็นเหยื่อของกิเลส มันก็ต้องทำไปอย่างหนึ่ง ถ้าต้องการความสุขในทางจิตใจล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับเนื้อหนังไม่เกี่ยวกับกิเลส มันต้องทำไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นแหละเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาดูให้ดี ให้รู้จักสิ่งทั้งสองนี้โดยความเป็นของแตกต่างกัน
ความรู้สึกที่เป็นไปตามธรรมดาสามัญนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องเนื้อหนังทั้งนั้น คือเป็นเรื่องทางฝ่ายร่างกายทั้งนั้น ความรู้สึกที่เกิดมาจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมของพระอริยเจ้าเท่านั้นจึงจะกลายเป็นเรื่องที่สูงขึ้นไป ตามธรรมดาคนเราพอเกิดมามันก็ไม่รู้อะไร เมื่อได้รับอารมณ์ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายกระทั่งทางใจเป็นความพอใจ มันก็ยึดมั่นถือมั่นไปแต่ในทางนั้น เรื่องที่ทางอื่นที่ตรงกันข้ามนั้นไม่รู้จัก จึงเติบโตขึ้นมาด้วยความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่เป็นความเอร็ดอร่อย หรือจะเรียกว่าความสุขก็ได้ ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย จนกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในนิสัยสันดาน เหนียวแน่นยิ่งไปกว่ายาเสพติดไปเสียอีก ที่แท้มันก็เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อปล่อยไปตามธรรมชาติของสัตว์แล้ว มันก็รู้จักแต่เรื่องเนื้อหนัง ยิ่งเป็นที่พอใจมากก็ยิ่งมีความยึดมั่นถือมั่นมาก ยิ่งมีความยึดมั่นถือมั่นมากมันก็ยิ่งมีความเห็นแก่ตัวมาก เมื่อยิ่งเห็นแก่ตัวมากเท่าไรมันก็ยิ่งไม่เห็นแก่ผู้อื่น และแม้ผู้อื่นจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ามีความเห็นแก่ตัวมากแล้ว มันก็ทำลายตัวมันเอง เบียดเบียนตัวมันเอง รบกวนตัวมันเอง ด้วยความเห็นแก่ตัวของตัวนั่นเอง
ความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดความโลภ ความโลภมันก็เป็นไฟเผาเอาบุคคลนั้น ในกรณีอื่นความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดความโกรธ ความโกรธมันก็เป็นไฟเผาเอาบุคคลนั้น ในกรณีอื่นอีกความเห็นแก่ตัวมันทำให้หลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าโมหะ โมหะหรือความหลงก็เป็นไฟแผดเผาบุคคลนั้น รวมความแล้วก็คือว่าราคะหรือโลภะนี้ก็เป็นไฟ โทสะหรือโกรธะนี้ก็เป็นไฟ โมหะนี้ก็เป็นไฟ เราก็มีไฟสำหรับเผาเราถึงสามชนิดด้วยกันคือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าความโลภความโกรธความหลง ซึ่งงอกงามออกมาจากความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวงอกงามออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นที่เคยชินอยู่เป็นปรกติ นี่แหละคือข้อแรกหรือสิ่งแรกที่เราจะต้องดูให้ดีว่าสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์นี้มันเป็นอย่างไร เมื่อปล่อยไปตามธรรมชาติ ทีแรกแท้ๆมนุษย์ก็ไม่รู้เรื่องดีเรื่องชั่วยังเหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน ไม่รู้เรื่องดีเรื่องชั่ว ความทุกข์มันก็มีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ต่อมามนุษย์นี้เริ่มรู้จักดีรู้จักชั่วก็เกิดการตั้งต้นใหม่หรือขึ้นศักราชกันใหม่ เป็นการตั้งต้นสำหรับให้มนุษย์มีความทุกข์
เรื่องนี้พวกคริสเตียนก็พูดไว้ดีเป็นอุปมาว่า เพราะไปกินผลไม้ที่พระเจ้าห้ามเข้า ผลไม้ต้นนั้นกินเข้าไปแล้วทำให้รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักของเป็นคู่ ๆ ขึ้นมาทันที รู้จักบุญรู้จักบาป รู้จักสุขรู้จักทุกข์ รู้จักได้รู้จักเสีย รู้จักแพ้รู้จักชนะ ล้วนแต่เป็นคู่ๆๆๆไปมากมายหลายสิบคู่ พอไปเริ่มรู้เรื่องคู่เหล่านี้เข้าเท่านั้น ก็มีความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นมาทันที แล้วก็จะเกิดความเห็นแก่ตัว และเกิดความโลภความโกรธความหลงไปตามลำดับ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง จะเล่าเรื่องปลาให้ฟัง ในฐานะเป็นผลของการนั่งดูปลามาเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีแล้ว ปลาไม่มีความรู้สึกไปในทำนองที่ว่าผัวหรือเมีย จึงไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเรื่องผัวเรื่องเมีย โดยเฉพาะปลาประเภทที่ไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ เช่น ปลาตะเพียนหรือปลาตระกูลปลาตะเพียน บ้านบ้านเรือนหรือที่อยู่ที่ยึดมั่นว่าเป็นของตัวก็ไม่มี คู่ครองว่าเป็นผัวของตัวนั้นเป็นเมียของตัวนี้ก็ไม่มี มันก็เลยไม่มีโอกาสที่จะยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด อันเป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว
ส่วนปลาอีกพวกหนึ่งตรงกันข้าม คือปลาที่อยู่น้ำนิ่ง เช่น ปลากัด ปลากระดี่ เป็นต้น ปลาพวกนี้มีความรู้สึกว่านี่เป็นที่อยู่ของกูเป็นรังของกูเป็นเขตแดนของกู มีความรู้สึกว่านี่เป็นเมียของกูเป็นผัวของกู ความแตกต่างกันมีมาก คือปลาพวกหลังนี้มีความรู้สึกที่เป็นความโลภเป็นความโกรธเป็นความหลงอย่างเห็นได้ชัด ปลาทองเป็นปลาตระกูลปลาตะเพียน ไม่มีอาการที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นความโลภหรือความโกรธหรือความหลงมากเหมือนปลาตระกูลปลากัด เมื่อปลาตัวหนึ่งมาแย่งอาหารไปจากปาก พวกปลาทองก็ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่ถ้าพวกปลากัดแล้วก็จะต้องต่อสู้และกัดทีเดียว ความรู้สึกที่เป็นบ้านเรือนของกูนี้ก็ไม่มีในหมู่ตระกูลปลาตะเพียน เพราะปลาตะเพียนไม่ได้ทำรังไม่ได้ยึดครองส่วนใดว่าเป็นที่อยู่ของตัว มีแต่จะแหวกว่ายไปตามสายน้ำไหล ไม่เหมือนกับปลาตระกูลที่ขุดรูอยู่ก็มี ทำหวอดอยู่ก็มี ยึดครองตรงนั้นตรงนี้เป็นของตัว ใครเข้าไปใกล้ไม่ได้ อย่างนี้มันก็มีชนวนที่จะทำให้เกิดความโกรธหรือความรักหรือความหลงใหลมัวเมาได้มากกว่ากัน จนกระทั่งเราจะมองเห็นได้ว่าปลาตระกูลปลาตะเพียนนั้นแทบจะไม่มีความทุกข์เลย ส่วนปลาตระกูลปลากัด ปลาช่อน ปลากระดี่ ทำนองนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ คือมีความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกู เกิดราคะ โทสะ โมหะ อยู่เป็นประจำ
คนที่เคยเลี้ยงปลากัด ก็ควรจะสังเกตเห็นความจริงข้อนี้ ว่าปลากัดตัวที่มันคึกคะนองจัดนั้น เพียงแต่เราไปมองดูมันเท่านั้น มันก็แสดงอาการจะกัดเอาแล้ว ปลาอื่น ๆ ก็ยังมีอีกมาก เพียงแต่แหย่มือเข้าไปใกล้ ๆ มันก็จะกัดเอาทันที แต่ลักษณะอย่างนี้จะไม่มีในปลาตระกูลปลาตะเพียน นี่ลองคิดดูเถอะว่าแม้แต่ในสัตว์เดรัจฉานมันก็ยังต่างกันมาก แม้ในหมู่พวกปลามันก็ยังต่างกันถึงกับตรงกันข้ามอย่างนี้ ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงเอาปลาไปเปรียบกับสัตว์อื่น เช่น สุนัขและแมว ที่ในหมู่สุนัขและแมว สูงขึ้นไปถึงหมูถึงวัวถึงควาย ก็ลองไปพิจารณาดูเถิดว่ามันต่างกันอย่างมากมาย สัตว์บางประเภทนั้น มันมีจิตใจชนิดที่ไม่รู้จักยึดมั่นถือมั่น แต่บางประเภทนั้นมันรู้จักยึดมั่นถือมั่นหวงแหนเป็นตัวกูของกู นี้สัตว์ประเภทใดรู้จักความยึดมั่นถือมั่นหวงแหนเป็นตัวกูของกูแล้ว สัตว์ประเภทนั้นก็จะต้องมีความทุกข์มากเป็นธรรมดา คือมีจิตใจที่หุนหันอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แทบตลอดเวลา แต่แล้วมันก็ยังไม่มากเท่ากับคน
เมื่อพูดถึงคนก็ยังจะต้องแยกกันเป็นคนละแบบ หรือคนละยุค ในยุคที่ยังอยู่กันอย่างคนป่าคล้าย ๆ กับสัตว์นั่นก็มีความยึดมั่นถือมั่นน้อย มีอาการคล้าย ๆ กับสัตว์เดรัจฉาน นี้เหมือกับว่ามันยังไม่ได้กินผลไม้ต้นที่ทำให้รู้จักความดีความชั่ว ต่อมาคนป่านั้นเจริญขึ้นมาจนถึงขนาดที่รู้จักบัญญัติสมมตินั่นนี่ว่าดีว่าชั่ว มันก็เริ่มมีความยึดมั่นถือมั่นที่เข้มข้นลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก จึงเริ่มต้นความทุกข์กันที่ตรงนี้ คัมภีร์เหล่านั้นได้กล่าวไว้ถูกต้องทีเดียว ว่าเมื่อได้กินผลไม้ที่ทำให้รู้จักดีจักชั่วจักผิดจักถูกจักบุญจักบาป รู้จักความเป็นหญิงความเป็นชายรู้จักความเป็นผัวความเป็นเมีย รู้จักการได้การเสียรู้จักการแพ้การชนะเป็นคู่ ๆ ไปเหล่านี้ตามลำดับไปแล้ว ปัญหาเรื่องความยึดมั่นถือมั่นมันก็มีมากขึ้นเหนียวแน่นขึ้นลึกซึ้งขึ้น จึงได้เป็นผู้ที่มีความทุกข์มากขึ้น ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้ว ก็แปลว่าไม่เข้าใจเรื่องกิเลส คือจะไม่รู้จักความยึดมั่นถือมั่นจะไม่รู้จักความโลภความโกรธความหลง และจะไม่รู้ว่ามนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงมาอย่างไร หรือว่าความโลภความโกรธความหลงได้ตั้งต้นขึ้นเมื่อไร
ถ้าเราจะถือว่าสัตว์เดรัจฉานมีอยู่ก่อนมนุษย์ เราก็จะเห็นว่าสัตว์เดรัจฉานนั้นมีความยึดมั่นถือมั่นน้อยมาก มีความโลภความโกรธความหลงน้อยมาก แล้วมันก็ค่อยมากขึ้นๆๆตามความเจริญ เป็นสัตว์ที่เจริญมากขึ้นเท่าไรมันก็มีความยึดมั่นถือมั่นได้เก่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราจะเอาลิงไปเปรียบกันดูกับหมู เราก็จะเห็นได้ว่าหมูโง่กว่าลิง หมูรู้จักยึดมั่นถือมั่นน้อยกว่าลิง หรือแทบจะไม่รู้จักเอาเสียเลย ฉะนั้นเรื่องทางจิตทางใจของหมูกับลิงมันก็ต่างกัน มีความทุกข์ตามธรรมดาสามัญไม่เท่ากัน ทีนี้ก็เอาไปเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นที่สูงขึ้นไปอีกจนกระทั่งถึงคนจนกระทั่งถึงคนยุคปัจจุบันนี้ มีสติปัญญารู้ดีรู้ชั่วไปในทางที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นสูงสุด จึงได้มีความทุกข์มากกว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดทั้งหมดทั้งสิ้น ตรงนี้ต้องฟังดูให้ดี ๆ ว่ารู้ดีรู้ชั่วแล้วทำไมจึงต้องเป็นทุกข์ เรื่องรู้ดีรู้ชั่วนี้มันมีอยู่สองความหมาย รู้ดีรู้ชั่วสำหรับยึดมั่นถือมั่นนั่นความหมายหนึ่ง นี่ยิ่งรู้เท่าไรยิ่งเป็นทุกข์เท่านั้น แต่ถ้ารู้ดีรู้ชั่วไปในทำนองที่ว่าทั้งดีและทั้งชั่วไม่ควรยึดมั่นถือมั่นดังนี้แล้ว ยิ่งรู้เท่าไรก็ยิ่งไม่มีความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องรู้ดีรู้ชั่วนี้มันมีอยู่สองความหมาย ความหมายทีแรกสำหรับให้หลงในความดีความชั่ว ความหมายที่สองทำให้ไม่หลงและหัวเราะเยาะทั้งความดีและความชั่ว
ดังนั้นคำว่ารู้ดีรู้ชั่วนี้มันหลอกหรือเป็นคำพูดที่กำกวมเข้าใจยาก คนเข้าใจไม่ได้แล้วก็ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมะดับทุกข์ได้เลย เพราะเหตุฉะนั้นทุกคนควรจะพิจารณาตนของตนดูให้ดี ๆ ว่าไอ้ที่ตัวเองรู้จักดีรู้จักชั่วนั้นมันรู้จักกันในลักษณะไหน ถ้ารู้จักกันในลักษณะที่ให้ยึดมั่นมากขึ้นแล้วก็ควรจะเรียกว่าไม่รู้เสียจะดีกว่า เพราะว่ายิ่งรู้เท่าไรมันยิ่งเป็นทุกข์มากเข้าเท่านั้น เดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นทุกข์เพราะข้อนี้กันอยู่ทั่วไปทั้งโลก มันอยากดีอยากเด่น มันจึงได้ทำไปตามอำนาจของความอยาก มันไม่รู้จักยอมเพราะมันอยากจะดีอยากจะเด่นอยากจะชนะ มันจึงปรองดองอะไรกันไม่ได้ มันก็ต้องรบราฆ่าฟันกันไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้ามันเกิดมีความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมา ไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องแพ้เรื่องชนะ เรื่องอะไรให้มากมายกันไปให้กันกันไปนักแล้ว มันก็พอจะพูดจาเข้าใจกันได้ ปรองดองกันได้ ต่างฝ่ายต่างมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เหนือความโง่ความหลง ไม่มองเห็นอย่างต่ำ ๆ โง่ ๆ เหมือนคนทั่วไป ที่เห็นว่าของแต่ละคู่ละคู่นี้มันต่างกัน เราจะเอาข้างชนะ เราไม่ยอมแพ้อย่างนี้มันก็ถูกของเขา แต่แล้วคิดดูเถิดว่าเมื่อต่างคนต่างจะเอาชนะด้วยกันแล้ว มันก็ต้องรบราฆ่าฟันกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าจะเอาข้างฝ่ายแพ้มันก็ทนไม่ไหวอีกเหมือนกัน เพราะมันเป็นความเจ็บปวดทุกข์ยากลำบากหรือทนทรมานเกินไป
ด้วยเหตุดังนี้เองพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่าอย่าเอามันเสียเลยทั้งสองอย่าง อย่าเอาทั้งแพ้และอย่าเอาทั้งชนะ เป็นผู้อยู่เหนือการแพ้และชนะแล้วก็จะนอนเป็นสุข คนที่ชนะอย่าเข้าใจว่าจะนอนเป็นสุข เพราะว่าคนที่ชนะนั้นต้องถูกจองเวร ตนเองก็จะต้องระแวงว่าเขาจะมากลับชนะเราเมื่อไรก็ได้ ส่วนคนที่พ่ายแพ้อยู่ในเวลานี้ก็ต้องนอนระทมเป็นทุกข์ เมื่อไม่เอาเสียทั้งสองอย่างคือไม่เอาทั้งแพ้ไม่เอาทั้งชนะ ก็เลยนอนเป็นสุข ถ้าทุกคนในโลกเป็นอย่างนี้กันหมดโลกนี้จะมีความผาสุกหรือความร่มเย็นเป็นสุขสักเท่าไรก็ลองคิดดูก็แล้วกัน นี่แหละที่ได้พูดมายืดยาวนี้ก็เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อเอาเนื้อหนังเป็นหลักกันแล้วมันก็เป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเอาสติปัญญาหรือธรรมะหรือความถูกต้องเป็นหลักกันแล้วมันก็เป็นไปเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นแก่ร่างกายหรือเนื้อหนังแล้วมันก็หลงไปในเรื่องของร่างกายคือเรื่องที่เป็นคู่ ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเรื่องได้เรื่องเสียเรื่องแพ้เรื่องชนะเรื่องอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเอาเรื่องทางจิตทางวิญญาณเป็นหลักกันแล้วมันต้องการจะอยู่เหนือสิ่งที่เป็นคู่ ๆ เหล่านี้ คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นคู่ ๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในทางที่จะให้เป็นทุกข์ขึ้นมา
พวกคริสเตียนเขาจึงสอนว่ามีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงเหมือนกับไม่มีความสุข มีความทุกข์ก็จงเหมือนกับไม่มีความทุกข์ ไปซื้อของที่ตลาดก็ไม่เอาอะไรมาลองคิดดูเถิดว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจหรือทางวิญญาณมากสักเท่าไร คือมันไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแม้จะมีภรรยาปฏิบัติหน้าที่สามีภรรยาอยู่เป็นประจำก็ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นในทางฝ่ายกิเลสหรือความโง่ความหลงที่ว่าเป็นตัวกูหรือของกู แม้จะมีทรัพย์สมบัติจะกินจะใช้จะเก็บจะรักษาจะเกี่ยวข้องอยู่โดยลักษณะใดก็ตาม ในจิตใจก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจึงไม่มีการขึ้น ๆ ลง ๆ หรือความทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าจะมีความทุกข์เสียเองมันก็เหมือนกับไม่มีความทุกข์ และแม้จะมีความสุขมันก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความสุขชนิดที่มีความยึดมั่นถือมั่น จะไปของไปซื้อของที่ตลาดแล้วก็จะอ้างสิทธิว่านี่เป็นของกูแล้วเพราะกูได้ซื้อแล้วด้วยเงินของกู มันก็ไม่โง่มากถึงอย่างนี้ คงถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของธรรมชาติ เราก็เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้แต่ตามสมมติและบัญญัติ ใครมีสิทธิ์ที่จะบริโภคสิ่งเหล่านี้ก็บริโภคไป แต่อย่าได้กล้าคิดว่ามันเป็นของกู เพราะว่ามันเป็นของธรรมชาติหรือว่าเพราะว่ามันเป็นของพระเจ้า
ถ้าพูดอย่างศาสนาพุทธเราก็ว่ามันเป็นของธรรมชาติหรือของธรรมหรือของพระธรรมคือธรรมชาตินั่นเอง อย่าไปโง่ว่าของกูเข้า เรืองมันก็ไม่เกิดขึ้น ทีนี้มีใครบ้างที่จะมีความรู้สึกในเมื่อมีภรรยาก็ไม่รู้สึกว่ามีภรรยา เมื่อมีทรัพย์สมบัติก็ไม่มีความรู้สึกว่ามีทรัพย์สมบัติ หรือมีอะไร ๆ ก็จะไม่มีความรู้สึกว่ามีสิ่งเหล่านั้น นี่ก็เพราะว่ามันโง่มาตั้งแต่เกิด มันยึดมั่นถือมั่นวัตถุสิ่งของเนื้อหนังเหล่านั้นมาตั้งแต่เกิด มันจึงรู้แต่ด้านเดียว หรือรู้แต่ข้างเดียวฝ่ายเดียวคือฝ่ายที่จะยึดมั่นว่าเป็นตัวกูเป็นของกู ไม่มีใครเคยสอนว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของธรรมชาติ หรือเป็นของพระเจ้า อย่าไปโง่ว่าเป็นของกูหรือเป็นตัวกู พ่อแม่เราก็ไม่เคยสอนอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนที่มหาวิทยาลัยก็ไม่เคยสอนอย่างนี้ มีแต่พระพุทธเจ้าคนเดียวเท่านั้นที่สอนอย่างนี้ คือสอนว่าอย่าได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู ถ้าพระพุทธเจ้าพูดถูกเราก็เป็นคนบ้าคนผิด ถ้าเราเป็นคนถูกพระพุทธเจ้าก็เป็นคนบ้าหรือคนผิด ใครจะเป็นฝ่ายผิดก็ขอให้พิจารณาดูให้ดีสักหน่อย เดี๋ยวนี้ความรู้สึกคิดนึกมันขัดแย้งกันอยู่ถึงอย่างนี้ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้
ทีนี้ใครจะป็นฝ่ายถูกหรือใครจะเป็นฝ่ายที่มีเหตุผล เรื่องนี้ถ้าพูดกันด้วยปากแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไร มันมีอยู่วิธีเดียวเท่านั้นคือวิธีที่จะวิเคราะห์ดูว่าถ้ามีความคิดนึกรู้สึกอย่างไหนแล้วความทุกข์ไม่เกิดขึ้น ความคิดนึกอย่างนั้นถูกต้องแน่นอน ถ้ามีความรู้สึกคิดนึกอย่างไหนแล้วความทุกข์เกิดขึ้นความรู้สึกคิดนึกอย่างนั้นเป็นผิดแน่นอน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ของเราไม่ใช่ตัวเรา ถ้าใครไปปฏิบัติตามเข้าก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเลย ส่วนคนพาลคนหลงที่ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ว่าเป็นตัวเราของเรานั้น มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นการพิสูจน์อยู่แล้วว่าคิดอย่างพระพุทธเจ้าสอน หรือรู้สึกอย่างพระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นความถูกต้องแน่ ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการความทุกข์ แต่ถ้าเราต้องการความทุกข์แล้วอย่างของเราเป็นถูกแน่ คือยึดมั่นถือมั่นให้มากยิ่งขึ้นไปเถิด จะต้องได้รับความทุกข์สมกันทีเดียว ที่นี้เราก็มาแยกกันดูว่า มันมีอยู่คนละอย่างหรือเดินกันคนละทางอย่างไร
ความที่เห็นแก่ตัวเพราะพอใจในความเอร็ดอร่อยทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจนั้น มันเป็นอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามกับความไม่เห็นแก่ตัว เพราะไม่ไปหลงในความเอร็ดอร่อยที่จะเกิดขึ้นทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายนี้อย่างหนึ่ง มันเป็นของที่ตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ อย่างที่หลงอย่างที่มีไว้สำหรับจะหลงเพื่อความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นเรื่องของเนื้อหนัง ส่วนที่จะมีเหมือนกับไม่มีคือไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรนั้นเป็นเรื่องของจิตใจหรือวิญญาณที่ประกอบไปด้วยความรู้ คำว่าจิตคำว่ามโนคำว่าใจหรืออะไรทำนองนี้ทุก ๆ คำล้วนแต่มีความหมายว่าเป็นความรู้คือเป็นเป็นฝ่ายของความรู้ มันต้องตรงกันข้ามกับฝ่ายที่ไม่รู้หรือฝ่ายโง่ อันนี้เองเป็นข้อที่ทำให้เรามอง เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามองเห็นได้ว่ามันมีอยู่คนละส่วน ส่วนเนื้อหนังหรือร่างกายนี้ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้ว มันก็มีความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น แต่ถ้ามีการศึกษามีความรู้มีปัญญามีญาณทัศนะเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว มันก็ไม่เป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่น รวมความแล้วก็คือว่าเรื่องของฝ่ายกายนั้นถ้าปล่อยไปตามเรื่องแล้วก็จะเป็นไปเพื่อกิเลส จึงต้องมีการควบคุมให้ดี สิ่งที่มาควบคุมร่างกายให้ดีก็คือจิตใจที่มีความรู้หรือมีสติปัญญาตามทางของธรรมะนั่นเอง
ดังนั้นคนเราเพียงคนเดียวมันก็เหมือนกับสองคน หรือเป็นสองปัญหาขึ้นมาแล้ว เรื่องของทางร่างกายนี้ก็คนหนึ่งเป็นคนโง่เป็นคนที่จะละโมบโลภลาภหรือตะกละหรือยึดมั่นถือมั่นเสมอไป ส่วนเรื่องทางจิตใจนั้นมันเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม คือมันจะฉลาดมันจะถอนตัวออกจากความทุกข์ ทีนี้มันมีปัญหาอีกนิดหนึ่งว่า ถ้าคนมันโง่แล้วจิตใจของมันก็ตกไปเป็นทาสของร่างกาย ท่านทั้งหลายต้องระวังให้ดีต้องฟังให้ดีต้องจำไว้ให้ดีว่าจิตใจนั้น แม้ธรรมชาติจะสร้างมาเพื่อความรู้หรือความฉลาด แต่ถ้ามันตกมาเป็นทาสของร่างกายแล้วมันก็กลายเป็นจิตใจที่โง่ ที่ว่าตกเป็นทาสของร่างกายนี้คือมันไปหลงใหลในความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง นี้เรียกว่าตกเป็นทาสของร่างกาย จิตใจที่ตกเป็นทาสของร่างกายชนิดนี้ เขาถือบัญ พระพุทธเจ้าหรือบัณฑิตทั้งหลายถือว่ามันมิได้มีเพราะมันไปเป็นทาสของร่างกายเสียแล้ว ก็แปลว่าคนนั้นก็มีแต่ร่างกาย ไม่ได้มีจิตใจที่เป็นอิสระ ต่อเมื่อใดได้มีธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้องมาพรากจิตใจออกไปเสียจากความเป็นทาสของร่างกาย ก็จะเป็นจิตใจที่เป็นอิสระได้มีความสะอาดสว่างสงบได้ในที่สุด
ฉะนั้นอย่าไปเข้าใจว่าร่างกายกับจิตใจนั้นมันจะต้องไปด้วยกันถึงกับว่ามันจะต้องเหมือนกัน อย่างเดียวกันไปหมด มันทำงานด้วยกันแต่มันเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งกันก็ยังได้ จึงจะเรียกว่ามีกายและมีจิตใจที่ทำหน้าที่ถูกต้องตรงตามหน้าที่ของมัน ทีนี้เราก็เห็นได้ชัดขั้นหนึ่งแล้วว่าร่างกายหรือเนื้อหนังนี้เป็นพวกหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง เรื่องจิตใจหรือวิญญาณนั้นเป็นอีกพวกหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง ถ้าฝ่ายไหนเกิดพ่ายแพ้แก่ฝ่ายตรงกันข้ามแล้วผลมันก็ต่างกันมาก คือว่าถ้าจิตใจมีอำนาจเหนือร่างกายเหนือเหนือกิเลสทางกาย มันก็สามารถจะควบคุมร่างกายนี้ให้ดำเนินไปแต่ในทางที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่ในทางที่ตรงกันข้ามถ้าร่างกายเกิดชนะจิตใจแล้ว มันก็ดึงไปสู่ทางของกิเลส หรือตามความเคยชินของร่างกายแต่อย่างเดียวมันก็ต้องมีความทุกข์ ทีนี้เราอยากจะได้รับผลดีที่สุด ก็ตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่าเราจะต้องมีร่างกายที่ดีและจิตใจที่ดีด้วยกันทั้งสองอย่าง ให้มีร่างกายที่ทำหน้าที่ตามความควบคุมของจิตใจที่มีความรู้สึกหรือสติปัญญาที่ถูกต้อง มันก็เลยไม่มีโอกาสที่ความทุกข์ชนิดไหนจะเกิดขึ้นมาได้
แต่แล้วทำไมเราจึงไม่ทำอย่างนั้นหรือว่าทำไมเราจึงไม่มองเห็นอย่างนั้น นี่แหละคือความโง่ของเราความเป็นปุถุชนเป็นอันธพาลทางวิญญาณของคนเรา มองเห็นแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุหรือทางฝ่ายร่างกายอย่างเดียว เดี๋ยวนี้โลกกำลังมีปัญหาอย่างนี้ ไม่มีคนบูชาอุดมคติถือว่าอุดมคตินั้นกินไม่ได้ อุดมคตินี้เอาไปซื้ออะไรกินไม่ได้ แต่เงินนั้นเอาไปซื้ออะไรกินได้ วัตถุสิ่งของที่มีอยู่มันก็ยังกินได้ ส่วนอุดมคตินั้นกินไม่ได้ ก็เลยไม่มีใครชอบหรือบูชาอุดมคติ ทำอะไรก็เพื่อเงินไปเสียหมด โลกสมัยนี้กำลังเป็นโลกของวัตถุหรือเป็นโลกของเงิน ได้เงินแล้วก็ดีแล้วเงินนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าที่จะเอาไปหาความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางวัตถุทางเนื้อทางหนัง ไม่มีใครเอาเงินไปสำหรับจะหาความสุขทางจิตใจ เพราะว่าความสุขทางจิตใจมันไม่ต้องหาด้วยเงิน เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านิพพานนั้นเป็นของให้เปล่าไม่ต้องซื้อ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าการบรรลุนิพพานนั้นไม่ต้องใช้เงิน แต่เดี๋ยวนี้คนต้องการเงินกันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็เอาเงินไปใช้อย่างเงิน มันก็เพื่อหาวัตถุมาบำรุงบำเรอร่างกายซึ่งจำแนกออกไปเป็นตาหูจมูกลิ้นกายใจที่ที่ที่เรียกว่าอายตนะ จนเป็นทาสของอายตนะ
เป็นทาสคือเป็นบ่าวเป็นขี้ข้าของอายตนะ เป็นทาสของตาหูจมูกลิ้นกายใจที่มีนิสัยเคยชินแต่ในเรื่องของกิเลส คือร่างกายที่ตกเป็นทาสของกิเลสนั่นเอง จะเรียกว่าเป็นทาสของร่างกายก็ถูก จะเรียกว่าเป็นทาสตาหูจมูกลิ้นกายใจมันก็ถูก แต่พูดให้ถูกที่สุดก็คือว่าเป็นทาสของกิเลส ที่จะอาศัยตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นเครื่องมือสำหรับหาความสุขสนุกสนานทางเนื้อหนังหรือทางร่างกายนี่ ใครอยากจะพูดว่าเป็นทาสร่างกายก็ได้ เป็นทาสตาหูจมูกลิ้นกายใจก็ได้ หรือเป็นทาสกิเลสก็ได้ ผลของมันก็เหมือนกันทั้งนั้นคือมีความทุกข์ร้อนเป็นไฟเป็นความโลภความโกรธความหลงแผดเผาเป็นไฟอยู่ตลอดเวลาทั้งนั้น นี้ถ้ามันไปในทางที่ตรงกันข้ามคือไม่เป็นทาสสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นนายเหนือสิ่งเหล่านี้แล้วก็สามารถจะบังคับสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปแต่ในทางที่ถูกเป็นไปแต่ในทางธรรม มันก็ไม่ต้องมีความร้อนเพราะความโลภความโกรธความหลงเกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้โลกของเราในเวลานี้กำลังเป็นโลกที่เป็นทาสของกิเลส ไม่นิยมเรื่องทางฝ่ายจิตหรือทางฝ่ายวิญญาณ นิยมแต่เรื่องทางวัตถุจนเรียกกันว่าโลกของวัตถุนิยม
อะไร ๆ ก็หันหน้าไปหาวัตถุหวังจะได้รับผลจากวัตถุทั้งนั้น จึงมีการค้นคว้าการศึกษาการค้นคว้าการก้าวหน้ากันแต่ไปแต่ในทางเรื่องของวัตถุ ก็เลยกลายเป็นโลกของวัตถุล้วน ๆ คือเป็นโลกของภูตผีปีศาจที่ลุ่มหลงในความสนุกสนานในทางวัตถุหรือในทางร่างกาย พูดอย่างนี้จริงหรือไม่ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูว่าโลกทุกวันนี้เป็นโลกของภูตผีปีศาจแห่งวัตถุลุ่มหลงแต่เรื่องทางเนื้อทางหนัง หันหลังให้ศาสนาหันหลังให้พระเจ้า มีความรู้สึกคิดนึกที่ตรงกันข้ามจากศาสนาจากพระเจ้าจนรู้สึกว่าศาสนาไม่จำเป็นพระเจ้าก็ตายแล้ว เราไม่มีอะไรที่จะต้องสำรวมระวัง ปล่อยไปตามความต้องการของเนื้อหนังของเราอย่างเดียวก็พอแล้ว นี่คือโลกสมัยปัจจุบัน เป็นโลกของวัตถุไม่มีอุดมคติไม่บูชาอุดมคติ แต่ถ้าจะให้มีอุดมคติเขาก็เอาเงินเป็นอุดมคติและอุดมคติของเงินก็คือการหาความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางร่างกายหรือทางเนื้อหนัง อุดมคติก็เลยมาอยู่ที่สิ่งที่ไม่ใช่อุดมคติคือความเป็นทาสของกิเลสเป็นทาสของเนื้อหนังนั่นเอง คำว่าอุดมคติถูกเปลี่ยนความหมายในลักษณะอย่างนี้
โลกสมัยนี้จึงมีแต่เรื่องของวัตถุ มีวิชาความรู้ความสามารถที่จะให้ได้มาซึ่งวัตถุยิ่ง ๆ ขึ้นไป เราเรียกกันว่าเทคโนโลยีซึ่งยังไม่รู้จะเรียกว่าเรียกเป็นภาษาไทยว่าอะไร อาตมาคิดว่าควรจะเรียกว่าศิลปะศาสตร์เป็นอย่างดีที่สุดแล้ว มนุษย์สมัยนี้มีศิลปะศาสตร์คือมีความรู้ความสามารถในการที่จะให้ได้มาซึ่งวัตถุ ขึ้นชื่อว่าศิลปะศาสตร์แล้ว ไม่ว่าศิลปะศาสตร์ชนิดไหนล้วนแต่หวังผลเป็นวัตถุทั้งนั้น เป็นเงินเป็นของเป็นการได้อำนาจวาสนา ได้อะไรทุกอย่างที่เป็นเรื่องทางวัตถุหรือเกี่ยวกับวัตถุทั้งนั้น นี่มีแต่ศิลปศาสตร์กันอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่าเทคโนโลยี มีหลายแขนงหลายสิบแขนงแต่ทุกแขนงล้วนแต่จะเป็นไปเพื่อวัตถุ เพื่อเป็นภาพของวัตถุเพื่อความลุ่มหลงในวัตถุยิ่ง ๆ ขึ้นไป โลกปัจจุบันนี้กำลังเป็นอย่างนี้ ทีนี้เราจะมามองดูกันว่าพุทธบริษัทเราอยู่ในลักษณะเช่นไร พุทธบริษัทเราก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่ามีโชคร้ายคือเริ่มไปหลงใหลในเรื่องทางวัตถุ ไม่นิยมเรื่องทางจิตทางวิญญาณเหมือนที่ปู่ย่าตายายเคยนิยมกันมา
พูดอย่างกว้าง ๆ แล้วก็ต้องพูดว่าพวกฝรั่งหรือพวกตะวันตกนั้นเดี๋ยวนี้เจริญก้าวหน้าในทางฝ่ายวัตถุ ส่วนพวกฝ่ายตะวันออกหรือพวกพุทธเรานี้เคยมีความเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจ แต่ก็กำลังสูญเสียสิ่งประเสริฐอันนั้นของตนยิ่งขึ้นทุกที คือไปตามหลังพวกฝรั่งในทางวัตถุ ก็เลยจะไปเป็นอย่างพวกวัตถุนิยมยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งว่าจะเอาศาสนานี้เป็นเครื่องมือสำหรับแสวงหาวัตถุไปเสียแล้ว สิ่งที่เรียกว่าศาสนานี้ที่แท้เป็นเครื่องรางป้องกันภัยที่จะเกิดจากการลุ่มหลงในวัตถุ แต่เดี๋ยวนี้ผู้นับถือศาสนานั้น เอาศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาวัตถุไปเสียแล้ว ลองคิดดูให้ดี ๆ พิจารณาดูให้ดี ๆ กำลังหมุนไปตามพวกนิยมวัตถุ หวังเงินหวังวัตถุหวังความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางวัตถุไปเสียหมด จนกระทั่งในวัดวาอารามก็มีความก้าวหน้าในทางวัตถุตามหลังพวกฝรั่งไปแล้ว นี่แหละคือข้อที่ว่า เราได้สูญเสียหลักเกณฑ์อันประเสริฐที่สุดที่ว่าชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว กฎเกณฑ์อันนี้จะถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็ได้ ธรรมชาติมันสร้างไว้ให้คนเรานี้รู้จักใช้ควายสองตัวจึงจะสำเร็จประโยชน์ คือรู้จักใช้วิชาความรู้ในทางฝ่ายร่างกายและรู้จักใช้วิชาความรู้ในทางฝ่ายจิตใจให้มันควบคู่กันไป ให้ร่างกายสนองความประสงค์ของจิตใจ แล้วจิตใจก็นำไปในทางที่ถูกต้อง เรื่องมันก็จบกันไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
เดี๋ยวนี้เกิดความนิยมในทางวัตถุอย่างเดียวขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเอาเสียใหม่ว่าเอาเสียเองว่าให้ร่างกายมันสบายมันก้าวหน้ามันเจริญ แล้วจิตใจก็จะก้าวหน้าหรือเจริญตามไปเอง นี่คืออุดมคติของพวกวัตถุนิยม โดยเฉพาะพวก dialectic materialism ซึ่งเป็นหลักของพวกคอมมิวนิสต์ มุ่งหมายแต่จะสร้างวัตถุสร้างความเต็มเปี่ยมทางวัตถุสร้างความเจริญสูงสุดทางวัตถุโดยถือหลักว่าเมื่อวัตถุดีแล้วจิตใจก็ดีเอง เราไม่มีโอกาสเราไม่ถือเอาเป็นโอกาสหรือว่าไม่พยายามที่จะถือเอาเป็นโอกาสสำหรับจะมาเถียงกันในเรื่องนี้ เรามีความรู้ที่ถูกต้องชัดเจนพอแล้วในเรื่องเกี่ยวกับร่างกายหรือจิตใจนี้ เรามีหลักในทางที่ว่าจะต้องไปด้วยกันจะต้องแยกกันทำหน้าที่และให้ฝ่ายจิตใจนั้นควบคุมร่างกายเสมอไป ให้จิตใจควบคุมวัตถุไว้ให้ได้ และถือหลักตรงกันข้ามว่าต่อเมื่อจิตใจดีร่างกายจึงจะดี เราไม่ยอมรับในข้อที่ว่าถ้าร่างกายที่ดีแล้วจิตใจจะดี เราถือหลักมั่นคงว่าต้องจิตใจดีหรือจิตใจถูกต้องแล้วร่างกายจึงจะดีหรือมีความถูกต้อง เราจึงมีหลักง่าย ๆ ว่าถ้าจะเป็นอยู่ให้ถูกต้องแล้ว จะต้องมีความถูกต้องทั้งทางร่างกายและทั้งทางจิตใจ
ด้วยเหตุฉะนี้แหละอาตมาจึงได้กล่าวว่าชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว เรียกอย่างปัจจุบันนี้ก็ว่ามีศิลปศาสตร์หรือเทคโนโลยีเป็นควายตัวหนึ่งสำหรับร่างกาย แล้วก็มีธรรมะหรือความสว่างไสวทางวิญญาณหรือที่เรียกกันว่า spiritual environment นี้เป็นควายอีกตัวหนึ่งสำหรับจิตใจ แล้วควายทั้งสองตัวนี้มันก็ลากแอกชีวิตนี้ไปจนกว่าจะถึงที่สุด ถ้าท่านจะถามว่ามันจะไปถึงที่สุดกันที่ตรงไหน ก็ต้องพูดว่าถึงนิพพาน เพราะว่าไอ้ควายตัวที่หนึ่งมันก็เป็นเรื่องโลกโลกร่างกาย ควายอีกตัวหนึ่งมันก็เป็นเรื่องโลกจิตใจ ทั้งโลกร่างกายและทั้งโลกจิตใจมันแฝดกันอยู่ที่นี่ อย่าเข้าใจไปว่าโลกของจิตใจนั้นจะถึงต่อเมื่อตายแล้ว นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งอย่าเอามาพูดถึงเลย มันไม่มีประโยชน์อะไร พูดถึงว่าเมื่อเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ที่นี่เดี๋ยวนี้แหละมันก็ยังมีทั้งสองโลก คือร่างกายหรือเกี่ยวกับร่างกายก็เรียกว่าโลกนี้ ส่วนปรโลกหรือโลกอื่นนั้นหมายถึงโลกอื่นที่ไม่ใช่โลกของร่างกายเพราะฉะนั้น มันก็ได้แก่เรื่องของจิตใจ ถ้าพูดว่าโลกนี้กับปรโลกแล้วให้เข้าใจเถิดว่าโลกนี้คือเรื่องของร่างกาย ปรโลกคือโลกอื่นที่ไม่ใช่โลกของร่างกายมันก็ต้องได้แก่เรื่องของจิตใจ
ที่ได้พูดเป็นโลก ๆ นี้ก็ เพื่อให้เข้าใจง่าย โลกวัตถุนี้ก็อย่างหนึ่ง โลกจิตใจนี้ก็อย่างหนึ่ง เมื่อทั้งสองโลกนี้มันกลมกลืนกันแล้วมันก็เรียกว่ามีความสมดุลในการที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อดีแล้วถูกแล้วทั้งสองโลกมันก็กลายเป็นเรื่องนิพพานหรือเป็นเหนือโลกขึ้นมา เรื่องนิพพานนี้ก็แปลก็มีความหมายว่าเป็นเรื่องเหนือโลก ถ้ายังอยู่ในโลกไม่ว่าโลกไหนมันก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาไปทั้งนั้น มันต้องเหนือโลกมันจึงจะหมดความเปลี่ยนแปลงหรือหมดความทุกข์ ดังนั้นถ้าจะถามว่าควายสองตัวนี้มันจะพาเราไปที่ไหน ก็ตอบอย่างหลักพระพุทธศาสนานี้ว่าพาไปเหนือโลกหรือพาไปนิพพานไม่ต้องเกี่ยวกับโลกอีกต่อไป นิพพานที่ว่าเหนือโลกนั้นไม่ใช่ตอนตายแล้ว หมายถึงที่นี่และเดี๋ยวนี้ หากแต่ว่าอำนาจต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่ว่าโลกไหนไม่สามารถครอบงำจิตใจได้ จิตใจอยู่เหนือการครอบงำของโลกโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็เรียกว่าจิตที่วิมุติหลุดพ้นจากโลกนี้ไปสู่นิพพาน
สำหรับคำว่านิพพานนั้นเมื่อกล่าวโดยผลของมันแล้วก็คือความไม่มีทุกข์ เป็นความเย็นเป็นความไม่มีทุกข์ จิตใจที่ไม่มีทุกข์เป็นความเย็นนั่นแหละคือจิตใจที่มีนิพพาน เป็นอย่างชั่วคราวก็มีเป็นอย่างถาวรเด็ดขาดไปก็มี ถ้ายังไม่ได้อย่างถาวรก็ให้ได้อย่างชั่วคราวก็ยังเป็นการดี ขอแต่ให้มีความเย็นไว้เถิด ถ้ายังมีการกระทำผิดในเรื่องควายสองตัวนี้แล้ว ไม่มีหวังที่จะมีความเยือกเย็นเป็นนิพพานไปได้ จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการให้ดี ให้มีควายสองตัวที่ถูกต้องลากแอกของชีวิตนี้ไปกว่าจะถึงความพ้นโลกหรือเหนือโลก เดี๋ยวนี้พวกฝรั่งหรือพวกตะวันตกมีแต่ควายตัวเดียวคือเพื่อร่างกายอย่างเดียว แล้วก็มีมากเกินเหตุจนถึงกับเป็นความหลง ดังนั้นจึงได้สร้างวิกฤตการณ์อันถาวรคือความเดือดร้อนนานาขึ้นมาในโลก เพราะมีควายตัวเดียวแล้วมีมากเกินไป เป็นไปแต่ในทางวัตถุอย่างหลับหูหลับตา ทีนี้ทางฝ่ายพุทธบริษัทเราหรือฝ่ายตะวันออกนี้ ก็กำลังพ่ายแพ้แก่วัตถุเดินตามหลังพวกฝรั่งไป ควายตัวนั้นก็พลอยตายไปด้วย ควายตัวใหม่ก็อยากได้ก็เลยไม่มีควายอะไรสักตัวเดียวที่จะช่วยพวกนี้ได้ เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงและอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้เอง
ถ้าอย่างไรจะให้มีบุญกันบ้างแล้วก็รีบรู้สึกตัวอย่าไปตามหลังวัตถุนิยม ต้องพยายามสร้างควายขึ้นมาให้ครบทั้งสองตัวและให้พอเหมะพอดี ตัวหนึ่งสำหรับพาร่างกายนี้ไป ตัวหนึ่งสำหรับพาจิตใจนี้ไป หรือถ้าจะพูดให้ดีกว่านี้ก็ต้องพูดว่าให้มีตัวที่เป็นจิตใจนี้แหละควบคุมหรือพาตัวที่เป็นร่างกายไป ตัวที่เป็นร่างกายนั้นมันเป็นอำนาจหรือเป็นกำลังทางวัตถุ ส่วนตัวที่เป็นจิตใจนั้นเป็นความรู้เป็นสติปัญญาที่จะควบคุมอำนาจหรือกำลังทางวัตถุให้เดินไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้เรียกว่าชีวิตนี้เทียมแล้วดีด้วยควายสองตัว เป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุงสร้างสรรค์หรือพัฒนามันขึ้นมา มิฉะนั้นมันก็ไม่อาจจะมี เมื่อเป็นกันอย่างนี้มาก ๆ เข้าแล้ว ก็เรียกว่าโลกนี้ก็ถูกเทียมไปด้วยควายสองตัว โลกทั้งโลกถูกลากไปด้วยควายสองตัวอย่างถูกต้องแล้วโลกนี้ก็มีสันติสุข เดี๋ยวนี้โลกนี้กำลังถูกลากไปด้วยควายบ้าเพียงตัวเดียวคือวัตถุนิยมหรือเทคโนโลยีอย่างเดียว ไม่มี spiritual environment มาควบคุม มันก็ถูกควายบ้านี้ลากไป ลากไปไหนมันก็ตรงกันข้ามต่อการที่จะลากไปสู่นิพพาน ก็หมายความว่าลากลงไปในนรกหรือในวัฏสงสารคือการเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
ทุกข์อย่างนี้พอแล้วก็เปลี่ยนไปทุกข์อย่างอื่น ทุกข์อย่างนั้นพอแล้วก็เปลี่ยนไปทุกข์อย่างอื่นอย่างนี้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะควายบ้าตัวเดียวนี้มันลากไป ต้องช่วยกันสลดสังเวชใจคิดแก้ปัญหานี้ด้วยการช่วยกันทำให้โลกนี้มีควายสองตัวอย่างครบถ้วน เพื่อให้มีความสว่างไสวแจ่มแจ้งในทางจิตทางวิญญาณเกิดขึ้นมา สำหรับควบคุมบังคับบัญชาความเจริญก้าวหน้าของวัตถุ นี้ชื่อว่าโลกนี้ถูกเทียมไปด้วยควายสองตัวอย่างถูกต้องตามความต้องการของธรรมชาติ และในที่สุดก็จะไปสู่ความสงบสุขตามที่ธรรมชาติต้องการหรือตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ หรือว่าถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นๆ หวังว่าท่านทั้งหลายที่ได้นึกถึงอันตรายที่เกิดจากการที่โลกนี้ถูกควายบ้าอ้วนพลีแสนที่จะเปลี่ยวตัวนั้นลากพาไปสู่ความล่มจมในทางจิตทางวิญญาณ กลายเป็นเมืองนรกในปัจจุบันนี้
ทีนี้วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชาควรระลึกนึกถึงพระบรมศาสดาผู้ได้ประทานธรรมะไว้ในวันเช่นวันนี้ สำหรับที่จะช่วยให้สัตว์โลกนี้ให้พ้นจากกองทุกข์ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสในวันนี้คือวันเพ็ญอาสาฬหนี้ เรียกกันว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือข้อความที่เปรียบเหมือนกับการหมุนไปซึ่งจักรแห่งธรรม จักรแห่งธรรมหรือธรรมจักรนี้ไม่ใช่วัตถุไม่ใช่เรื่องวัตถุไม่เป็นไปเพื่อหนทางวัตถุ แต่เป็นไปเพื่อความถูกต้องตามทางธรรม ให้ทุกอย่างเป็นไปเพื่อความถูกต้องไม่มีอะไรผิด ดังนั้นจึงระบุไปยังมัชฌิมาปฏิปทา คือมรรคมีองค์ ๘ ประการ ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้พิจารณาดูพระบาลีในสูตรนี้ จะเห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่าพระพุทธองค์ทรงระบุมัชฌิมาปฎิปทาว่าเป็นสิ่งที่ตถาคตได้รู้แล้วนำมาสอน มัชฌิมาปฎิปทาก็คือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเราก็จำได้กันคล่องปากคล่องใจ ว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมาวาจา การพูดจาชอบ สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบ สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ สัมมาสติ การตั้งสติไว้ชอบ สัมมาสมาธิ การตั้งใจไว้มั่นคงอย่างชอบหรือถูกต้อง เป็นความชอบหรือความถูกต้อง ๘ ประการด้วยกัน
รวมเข้าด้วยกันแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่ามัชฌิมาปฎิปทา คือการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือพอเหมาะพอสมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือหนทางอันประเสริฐประกอบเข้าด้วยองค์ ๘ ประการ สำหรับจะก้าวล่วงซึ่งความทุกข์ โดยประการทั้งปวง ทั้งหมดนี้นี่แหละ คือควายตัวสำคัญได้แก่ความสว่างไสวทางวิญญาณ ถ้าเราปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้แล้ว ย่อมเป็นการรับประกันความปลอดภัยโดยทุกวิถีทาง เพราะว่ามันเป็นความถูกต้องเท่านั้น มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น หากแต่ว่ามันเป็นความถูกต้องทุกอย่างทุกประการไม่มีเหลือไว้สำหรับความผิดพลาดแม้แต่ประการใดเลย สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ และทรงนำมาสอนในวันอาสาฬหปุณมีนี้ คือเรื่องนี้ คือเรื่องมัชฌิมาปฎิปทานี้ หรือถ้าจะขยายให้มันกว้างออกไปครบถ้วน ก็ขยายออกเป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ประการ เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ เรื่องความทุกข์นั้น มองดูแล้วก็จะเห็นว่ามันมีความหมายอยู่ที่ตัวชีวิตที่กำลังมีความโง่ความหลงหรือความยึดมั่นถือมั่น ชีวิตใดของผู้ใดหรืออะไรก็ตาม ที่กำลังมีความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกูอยู่แล้ว นั่นแหละคือความทุกข์
คนได้ยินได้ฟัง ชนิดที่เรียกว่าฟังไม่ศัพท์จับไปกระเดียด แล้วก็อาจจะเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นได้ โดยที่ได้ยินว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ดังนี้แล้วก็เข้าใจเอาเสียให้ง่ายว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ที่จริงนั้นมีอยู่ว่าความเกิดที่ผู้ใดยึดถือว่าเป็นความเกิดของกูนั่นจึงจะเป็นทุกข์ ความแก่ที่ผู้ใดยึดถือเอาว่าเป็นความแก่ของกูนั่นจึงจะเป็นความทุกข์ ความตายที่ผู้ใดยึดถือเอาว่าเป็นความตายของกูนั่นเป็นความทุกข์ ตัวความเกิดความแก่ความเจ็บความตายเฉย ๆ นั่นไม่พูดว่าเป็นอะไร พระอริยเจ้าโดยเฉพาะพระอรหันต์ไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ เพราะว่าพระอรหันต์ไม่ได้ยึดมั่นว่าความเกิดของกู ความแก่ของกู ความตายของตูของกู เหมือนปุถุชนคนโง่ ๆ ปุถุชนย่อมยึดเมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นจึงยึดถือเอาทุกสิ่งเป็นตัวกูของกูทั้งนั้น แม้แต่ความทุกข์ก็ยึดเอาเป็นของกู ความสุขยึดเอาเป็นของกู ความดีก็ยึดเอาเป็นของกู ความชั่วก็ยึดเอาเป็นของกู ไม่ว่าอะไรยึดมั่นเอาเป็นของกูทั้งนั้น
ดังนั้นมันจึงเป็นความทุกข์และเป็นความทุกข์ไปหมด ในทุกสิ่งที่มีความยึดมั่นว่าตัวกูว่าของกู จึงกล่าวรวมความเสียทีเดียวว่า ชีวิตหรือเบญจขันธ์ก็ตามที่กำลังมีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูนั่นแหละเป็นตัวความทุกข์ ให้รู้ความจริงข้อนี้ไว้เป็นข้อแรก แล้วข้อที่ ๒ อริยสัจข้อที่ ๒ ก็คือสมุทัย ได้แก่ตัณหาที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น คือตัณหาที่มีมาจากอวิชชา ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีพูดว่าตัณหาก็พอแล้ว เพราะว่าตัณหาต้องมาจากอวิชชา แต่ถ้าพูดเป็นภาษาไทยแล้วระวังให้ดี จะสับสนปนเปกันจนเข้าใจไม่ได้ เพราะในภาษาไทยเรียกว่าความอยาก ความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ นี่ไม่จริง ความอยากที่มาจากความโง่เท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ส่วนความอยากที่มาจากสติปัญญานั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ดังนั้นถ้าพูดเป็นภาษาไทยแล้วต้องพูดชัดลงไปว่าความอยากที่มาจากอวิชชาหรือความโง่จึงจะทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีแล้วก็พูดสั้น ๆ เลยว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าตัณหานั้นหมายถึงแก่ความอยากที่มาจากความโง่ ถ้าไม่มาจากความโง่แล้วไม่เรียกว่าตัณหา
เราพูดภาษาบาลีพูดว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะว่าตัณหามาจากความโง่ แต่พูดเป็นภาษาไทยว่าความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นี้ยังไม่แน่ เพราะยังไม่ได้ระบุลงไปว่าความอยากนั้นมาจากความโง่หรือความหรือสติปัญญา ถ้าความอยากมาจากความโง่แล้วก็เป็นทุกข์แน่ แต่ถ้ามาจากสติปัญญาแล้วมันกลับเป็นสิ่งที่จะทำลายความทุกข์ ความประสงค์หรือความต้องการด้วยสติปัญญานั้นเรียกว่าสัมมาสังกัปโปในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง คือเป็นองค์ที่ ๒ แห่งมรรคมีองค์ ๘ คือความปรารถนาหรือความใฝ่ฝันที่ถูกต้อง ถูกต้องในที่นี้ก็คือต้องการจะกำจัดความทุกข์เสีย ดังนั้นเมื่อจะกำจำกัดให้ชัดลงไปว่าเหตุให้เกิดทุกข์คืออะไรแล้ว ก็ต้องระบุลงไปว่าความอยากที่มาจากความโง่แหละที่เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ความหมายมีอยู่เป็นสองตอน ว่าความอยากนี้มาจากความโง่ เรียกภาโดยภาษาบาลีว่าตัณหา แล้วความอยากที่มาจากความโง่นี้แหละเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วที่ใดก็ตาม เมื่อไรก็ตาม ในสิ่งใดก็ตามย่อมมีความทุกข์ทั้งนั้น
ดังนั้นเราจึงสรุปความว่า เหตุให้เกิดทุกข์นั้นคือความอยากที่เกิดจากความโง่และทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นอีกต่อหนึ่ง นี่เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ ที่แสดงถึงต้นเหตุของความทุกข์ อริยสัจข้อที่ ๓ เรียกว่า นิโรธ นี่หมายถึงความไม่มีตัณหาหรือไม่มีความอยากที่เกิดมาจากความโง่ ภาวะใด ๆ หรือสภาวะใด ๆ ที่ไม่มีตัณหานั่นแหละเป็นนิโรธ คือเป็นความเย็น ไม่เป็นทุกข์ หรือเป็นนิพพาน เขาจะพูดว่าภาวะที่ไม่มีตัณหาเป็นนิโรธนี่ถูกแล้ว แต่จะพูดว่าภาวะที่ไม่มีความอยากเป็นนิโรธนี้ยังไม่แน่ เพราะว่าความอยากนั้นมาจากสติปัญญาก็ได้มาจากความโง่ก็ได้ ต้องระบุชัดเสมอไปว่า ความไม่มีความอยากที่มาจากความโง่แล้วก็จะเป็นความดับทุกข์ทั้งนั้น ก็เรียกว่าดับความอยากหรือดับตัณหาเสียได้ที่ไหนเมื่อไรก็เป็นนิโรธเมื่อนั้น ระบุลงไปยังภาวะที่ปราศจากตัณหา ไม่มีตัณหาเมื่อไรแล้วก็ไม่มีความทุกข์เมื่อนั้น นี้อาจจะเป็นชั่วคราวก็ได้ เป็นถาวรก็ได้ และเป็นโดยประจวบเหมาะเองเราไม่ได้พยายามอะไรมากนักก็ได้ แล้วเป็นโดยการที่เราพยายามอย่างสุดฝีไม้ลายมือของเราก็ได้ เช่นเรามาที่นี่ในที่ตามธรรมชาติอย่างนี้ ตัณหาก็ไม่โผล่ขึ้นมาได้ เพราะว่าธรรมชาติอันเยือกเย็นสงบนี้มันช่วยป้องกันไว้ นี้เรียกว่าความประจวบเหมาะ ทำให้เกิดความไม่มีตัณหาขึ้นมาโดยไม่ไม่ใช่เป็นความขวนขวายของบุคคลใด
ความไม่มีตัณหาหรือความเย็นในลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าตทังคนิโรธหรือตทังคนิพพาน ความไม่มีทุกข์เพราะความประจวบเหมาะ ทีนี้ดีไปกว่านั้นก็คือว่าเราปฏิบัติธรรมะอยู่ ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ตัณหาไม่อาจจะเกิดขึ้นมาเป็นภาวะแห่งความสงบเย็นเป็นนิโรธ อย่างนี้ก็เรียกว่าวิกขัมภนนิโรธหรือวิกขัมภนนิพพาน คือชั่วเวลาที่เราพยายามอยู่ด้วยการประพฤติทางกายทางวาจาทางใจ ไม่ให้เกิดตัณหาขึ้นมาได้ ทีนี้ในขั้นสูงสุดก็คือการทำกิเลสให้หมดสิ้น ตัณหาไม่มีทางที่จะเกิดอีกต่อไป นี่หมายความว่าทำลายอวิชชาหรือความโง่เสียได้หมดแล้ว ตัณหาก็ไม่มีทางที่จะเกิดอีกต่อไป ก็กลายเป็นนิโรธที่ถาวร อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมุจเฉทประหารเป็นสมุจเฉทนิโรธเป็นสมุจเฉทนิพพาน ไม่มีการกลับไปกลับมา นี้คืออริยสัจข้อที่ ๓ คือความไม่มีตัณหา ความที่ตัณหาไม่ปรากฏนี่เป็นความดับทุกข์ อริยสัจข้อสุดท้าย เรียกว่า มรรค คือการเป็นอยู่ชอบ เป็นอยู่อย่างถูกต้อง มีชีวิตอย่างถูกต้อง มีชีวิตที่เทียมไปด้วยควายสองตัวอย่างถูกต้อง จนตัณหาไม่มีโอกาสจะเกิด นี้คือมรรค คืออริยมรรค คืออริยมรรคมัชฌิมาปฏิปทา
เราเป็นอยู่ให้ถูกต้อง จนตัณหาไม่มีทางจะเกิด นี่แหละคืออัฏฐังคิกมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา แล้วเป็นเรื่องสำคัญหรือเป็นหัวใจของเรื่อง สังเกตดูให้ดีว่าคำแรกที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสขึ้นมา เสด็จตรัสออกมาในธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้น ท่านระบุมัชฌิมาปฏิปทา คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าไม่ต้องการจะเอาความยาวสาวความยืดอะไร ก็ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็พอแล้ว ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ท่านกลัวว่าคนที่เป็นนักคิด นักเขียน นักพูด นักปรัชญาเพ้อเจ้ออะไรเหล่านี้มันชอบถามว่าอะไรเป็นอะไร อะไรมาจากอะไร อะไรเพื่ออะไรโดยวิธีใดอย่างนี้ ท่านก็บอกให้หมดเลย จึงเกิดเป็นการตรัสอริยสัจ ๔ ต่อท้ายมัชฌิมาปฏิปทาขึ้นมาอีกชุดหนึ่งคือ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ และเรื่องมรรค เป็น ๔ เรื่องขึ้นมา แล้วเรื่องสุดท้ายคือเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาอีกตามเดิม กษัตริย์ระบุว่าความเต็มเปี่ยมของการปฏิบัตินั้นคือรู้อริยคือรู้เรื่องทุกข์ แล้วก็ละเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้ แล้วทำให้แจ้งออกมาซึ่งความดับทุกข์ แล้วก็เจริญมรรคหรือองค์มรรคทั้งหมดนั้นให้งอกงามให้เต็มที่ให้สมบูรณ์ นี้เป็นความสมบูรณ์ในรูปของอริยสัจ ๔ เป็นการกล่าวตามวิธีที่เขากล่าว อย่างที่เรียกว่าเป็นการกล่าวที่ครบถ้วนที่บริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ทั้งโดยอัฏฐะ ทั้งโดยพยัญชนะ ทั้งโดยเหตุ ทั้งโดยผล เป็นการกล่าวที่สมบูรณ์
แต่ถ้าจะกล่าวกันโดยสรุปสำหรับคนที่ไม่ชอบพูดมากแล้ว ก็พูดแต่ว่ามัชฌิมาปฏิปทาอย่างเดียวก็พอแล้ว จงมีการเป็นอยู่ที่ชอบที่ถูกต้อง เป็นชีวิตที่เทียมอยู่ด้วยควายสองตัวดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเถิด เรื่องควายสองตัวเป็นอย่างนี้ มีใจความสำคัญเป็นอย่างนี้ และควายสองตัวนี้จะพาไปสู่นิพพานหรือนิโรธหรือความดับทุกข์สิ้นเชิง ทำไมต้องมีควายถึงสองตัว เพราะว่าเรามีทั้งร่างกายและจิตใจ มันมีปัญหาแฝดกันอยู่คือปัญหาทางร่างกายทางจิตใจ ชีวิตนี้จะต้องเทียมด้วยควายสองตัวเสมอไป แต่ถ้าเราไถนาสำหรับปลูกข้าวแล้วจะใช้ตัวเดียวหรือสองตัวก็ได้ตามใจ เพราะมันเป็นเรื่องทางวัตถุอย่างเดียว แต่ถ้าใช้ควายสองตัวยังฉลาดกว่าควายตัวเดียวเสมอไปไม่เชื่อก็ลองไปพิจารณาดู แต่ถ้าเป็นเรื่องของชีวิตแล้วจะต้องเทียมด้วยควายสองตัวดังนี้ ตัวหนึ่งคือเทคโนโลยีคือศิลปศาสตร์ ตัวหนึ่งคือ spiritual environment ธรรมศาสตร์หรือจะเรียกว่าสัจจศาสตร์หรือสันติศาสตร์หรืออะไรก็ตามใจ ให้มันเป็นเรื่องทางจิตใจก็แล้วกัน
โลกกำลังมีควายเปลี่ยวตัวเดียว พาไปสู่นรกมากยิ่งขึ้นทุกทีหรืออย่างดีที่สุดก็พาให้เวียนว่ายไปในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด เป็นที่น่าสังเวชยิ่งนัก วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ควรแล้วที่เราจะมานึกถึงเรื่องนี้กันให้มากที่สุด ให้สมกับที่เป็นวันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าท่านได้ประทานควายตัวประเสริฐที่สุดให้แก่เรา คือความสว่างไสวในทางวิญญาณ สำหรับจะได้ควบคุมชีวิตนี้ให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง จะดึงควายที่เป็นตัวมีกำลังมากนั้นให้ผลักไสชีวิตนี้ไปได้โดยรวดเร็วแต่ว่าถูกต้อง จะมีแต่กำลังหรือความเร็วนั้นพอ ต้องมีความถูกต้องด้วย เราจึงต้องมีควายสองตัวด้วยเหตุนี้ และควายตัวที่ประเสริฐที่สุดก็คือมัชฌิมาปฏิปทา ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานให้แก่โลกนี้ในวันอาสาฬหปุณมีคือวันเช่นวันนี้ เราจงมาสำรวจตรวจสอบดูให้ดีเถิดว่าเรากำลังตามก้นพวกฝรั่งหรือพวกวัตถุนิยมอย่างอื่น เอาแต่จะกินดีอยู่ดีเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางเนื้อทางหนังยิ่งขึ้นไปทุกทีหรือแต่อย่างเดียวนี้หรือหาไม่ ถ้ามันเป็นแต่เพียงอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะมีความสลดสังเวชให้มาก เพราะว่าเรากำลังละทิ้งหนทางของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว หรือจะพูดให้มากกว่านั้นก็คือว่าเราเป็นผู้ไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้าเสียแล้ว หรือถ้าจะจะพูดให้มากไปกว่านั้นอีกก็ว่าเราเป็นคนอกตัญญูต่อพระพุทธเจ้าเสียแล้ว
จงไปคิดดูให้ดีเถิดมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้องกันเสียทีเถิด จะเกิดความสุขสวัสดีทั้งทางกายและทางใจ ทั้งทางโลกและทั้งทางธรรม ทั้งสองอย่างนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง การที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่เหนือวิสัย และจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายด้วยซ้ำไปถ้าเราจัดการกับควายสองตัวนี้ให้ดี ๆ ข้อความที่เกี่ยวกับควายสองตัวก็มีอยู่เพียงเท่านี้ พูดเป็นภาษาอุปมาก็ว่าชีวิตนี้หรือโลกทั้งโลกนี้ต้องเทียมด้วยควายสองตัว ถ้าพูดภาษาศาสนา ภาษาธรรมะแล้วก็คือให้มีความถูกต้องทั้งทางฝ่ายร่างกายและทั้งทางฝ่ายจิตใจ ฝ่ายรูปก็ถูกต้อง ฝ่ายนามก็ถูกต้อง เป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว การบรรลุถึงนิพพานนั้นก็จะไม่ไปไหนเสีย จัดการแน่นอนที่ว่าจะบรรลุถึงนิพพาน เพราะการเดินตามหนทางถูกต้องดังที่กล่าวมา หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นึกคิดเป็นกิเลสถึงเรื่องนี้ในวันเช่นวันนี้คือวันอาสาฬหปุณมี ไม่มีเรื่องอื่นที่จะดีหรือประเสริฐยิ่งไปกว่าเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนโลกนี้ในวันวันนี้แล้วก็สอนสืบๆกันมาจนถึงพวกเราในปัจจุบันนี้ แล้วเราก็เอามาศึกษา เอามากระทำให้เกิดขึ้นแก่เนื้อแก่ตัว หรือให้มีอยู่ที่กาย วาจา ใจ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ และย้ำอยู่ทุกปีทุกปีด้วยการทำอาสาฬหบูชาดังเช่นที่ได้กระทำในวันนี้ โดยหวังว่าจะเป็นความเจริญ งอกงาม ก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายเพื่อว่าจะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานั้น ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้