แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูไปตามเคย ในครั้งที่แล้วเราได้พูดกันถึงลักษณะของความสุขทั้งที่อยู่ในรูปของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ คือทั้ง Positive และ Negative เช่น ความสุขกับความไม่ทุกข์ ความอิ่มกับความไม่หิว เป็นต้น ส่วนวันนี้จะพูดให้รู้ถึงข้อที่ว่า “การมองแล้วบัญญัติเป็นนัยบวกหรือนัยลบนั้นเป็นของไม่จริง เป็นของสับปลับ”
การที่จัดคำพูดเป็น Positive เป็น Negative นั้น จัดเอาตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ ซึ่งยังไม่ถึงความจริง ตามตัวอย่างที่เราได้ยกมาให้เห็นในวันก่อนว่า มันเหมือนกันทั้งนัยบวกหรือนัยลบ โดยความจริง เช่นว่า ความอิ่มกับความไม่หิว มันก็คือสิ่งเดียวกัน แต่คำพูดแรกมันเป็นนัยบวก คำพูดหลังมันเป็นนัยลบ คือมีคำว่า “ไม่” เข้ามา เมื่อเอาความสุขเป็น Positive มันก็ควรจะเอาความทุกข์เป็น Negative คือนัยลบ แต่แล้วก็ยังไม่ใช่ เพราะความทุกข์มันก็มีทางที่จะเป็น Positive คือนัยบวก ในเมื่อมีผู้พอใจและนัยลบของมันก็คือความไม่สุข ที่เห็นกันอยู่ง่ายๆก็คือ ความอิ่มถือว่าเป็น Positive แต่ถ้าอิ่มหนักเข้า หนักเข้า ก็ไม่มีใครต้องการ ต้องการจะไม่อิ่มคือต้องการจะหิว นี่คือความสับปลับของภาษาที่ใช้พูดกันเกี่ยวกับ Negative และ Positive เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะเข้าใจพุทธศาสนาไม่ได้ พระพุทธศาสนาต้องการให้รู้จนอยู่เหนือความหลอกลวงของคำว่าบวกหรือลบ Positive หรือ Negative
เมื่อถามว่าพุทธศาสนาต้องการอะไรเป็นจุดหมายปลายทาง เป็น Positive หรือ Negative คำตอบที่ถูกต้องจริงๆจะต้องเป็นในรูปของว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือว่าง ต้องการความว่างหรือภาวะที่ว่าง ซึ่งเป็นไม่ได้ทั้ง Positive และ Negative แต่เราถูกสอนให้เข้าใจผิด เป็นต้องการคำพูด สิ่งที่อยู่ในรูปของ Positive คือความสุข แต่แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ชอบใช้คำว่าความสุข ใช้คำว่า “ความไม่มีแห่งความทุกข์” เป็นคำพูดที่อยู่ในรูปของ Negative คือนัยลบ แต่แล้วก็ยังไม่ใช่คำพูดที่สูงสุดเด็ดขาด คำพูดที่สูงสุดขึ้นไปอีกก็คือ “ต้องการให้ว่าง” มีความหมายอยู่เหนือความเป็นบวกหรือลบ ไม่มีโวหารที่จะเป็นบวกหรือลบ ขอทบทวนอีกทีหนึ่งว่าถ้าพูดอย่างโฆษณาชวนเชื่อหลอกเด็กก็ว่า “ความสุข” ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาตามความจริงตามธรรมชาติก็คือว่า “ปราศจากความทุกข์” ไม่มีความทุกข์ ที่นี้พูดอย่างผู้รู้ในที่สุดก็บอกว่า “ต้องการว่าง” ไม่รู้ไม่ชี้กับความสุขหรือความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ คืออยู่เหนือความหมายหรือคุณค่าใดๆทั้งสิ้น
ดังนั้น ขอให้ลองนึกดูว่า คำว่าความสุขนั้นมันหมายถึงอะไร และถ้ามันมากเข้าๆ มันจะทนไหวหรือไม่ เดี๋ยวก็เบื่อหรือระอา เพราะคำว่าความสุขหมายถึงได้อย่างอกอย่างใจ ตามความหมายตามภาษาธรรมดา ถึงแม้จะอ้างอิงไปถึงนิพพานว่า นิพพานเป็นความสุข เป็นคำพูดของคนที่ไม่รู้ หรือพูดสำหรับคนที่ยังไม่รู้ หรือพูดสำหรับเด็กให้เด็กมันสนใจ เพราะสิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้นเป็นเพียงสุข เป็นเพียงเวทนา คือความรู้สึกว่าเป็นสุข ถ้าไปมัวรู้สึกว่าเป็นสุขอยู่ มันก็ไม่ไหว รู้สึกว่าเป็นทุกข์ มันไม่ไหวยิ่งไปอีก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นสุขอยู่มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ฉะนั้น จึงต้องการว่างจากสุขและความทุกข์
ทีนี้เราจะพูดตามหลักที่เราเคยพูดกันมาเรื่อยๆ คือความมีอยู่แห่งตัวกู นี่ต้องการหรือไม่ นี่เป็น Positive ความมีอยู่แห่งตัวกูเป็น Positive เอาสิ ใครอยากได้เอาเข้าไปสิ มันคือความทุกข์ทั้งนั้น นี่ความไม่มีอยู่แห่งตัวกู ไม่รู้สึก หรือไม่ปรากฏ หรือไม่มีอยู่แห่งตัวกู ฟังดูแล้วคนธรรมดารู้สึกว่าเคว้งคว้าง รู้สึกว่ามันฉิบหายหมดไม่มีอะไร แล้วก็ไม่ต้องการ แต่ความไม่มีอยู่แห่งตัวกูนั่นแหละคือความไม่มีทุกข์ หรือถ้าจะเรียกก็ว่าเป็นความเป็นสุขที่แท้จริง ฉะนั้นถ้าใครชอบนัยบวกคืออยากได้ อยากเอา ส่งตัวกูให้เข้าไป ให้มันลองดูที เต็มอัดอยู่ด้วยตัวกูของกูนี่ มันจะทนไหวหรือไม่ นี่คือค่าของ Positive ในกรณีของธรรมะในพระพุทธศาสนา Negativeกลับดีกว่า ความไม่มีอยู่แห่งตัวกู คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าตัวกูว่าของกู หลับสบาย
ที่นี้คำว่า “ว่าง” มันไปไกลกว่านั้นอีกทีหนึ่ง คือไม่เกี่ยวข้องกับมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ไม่ให้เป็น Positive หรือ Negative ขึ้นมาได้ นี่เราเรียกว่าว่าง ดังนั้น อย่าเข้าใจว่านิพพานเป็น Negative หรือ Positive รูปศัพท์มันแปลได้ มันมีความหมายดิ้นไปได้ทุกอย่าง นิพพานแปลว่าเย็น นี่มันเป็น Positive แต่ถ้านิพพานแปลว่าไม่ร้อน มันก็เป็นรูป Negative ไม่เสียดแทง ไม่ผูกพัน คือนิพพานแปลว่าดับ ไม่มีอะไรเหลือ มันก็อยู่ในรูปของ Negative เป็นเรื่องยุ่งกันไปหมดเกี่ยวกับภาษาพูด เพราะฉะนั้นการรู้ธรรมะโดยอาศัยภาษาพูดนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ มันต้องอาศัยความจริงหรือข้อเท็จจริงของธรรมชาติที่ได้รู้สึกรู้จักหรือผ่านไปจริงๆ จึงจะรู้เรื่องความว่าง ซึ่งไม่เป็นทั้ง Positive และ Negative ถ้ายังไม่กระจ่างก็ไปเปรียบเทียบดูตามคู่ๆที่ได้พูดกันมาแล้ววันก่อน ลักษณะความสุข เช่น ความอิ่ม ตรงข้ามกันก็คือไม่หิว แต่แล้วมันเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าเอาว่าอิ่มกับหิวเป็นคู่ตรงกันข้าม คือบวกกับลบ อยู่ที่อิ่มกับหิว มันก็ไม่ไหวทั้งสองอย่าง เพราะมันเป็นความรู้สึกที่เป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือ อย่างใครกินอะไรอิ่มแล้วให้มันกินอีก ให้มันอิ่มอีก มันก็สู้ไม่ไหวเหมือนกัน ถ้าหิวมันก็สู้ไม่ไหวเหมือนกัน เราจึงต้องการสิ่งที่ไปไกลกว่านั้นคือไม่เกี่ยวข้องกับการอิ่มหรือหิว ไม่มีฉันซึ่งเป็นผู้อิ่ม ไม่มีฉันซึ่งเป็นผู้หิว ให้ความอิ่มกับความหิวมันหมดค่า หมดความหมายไปกลายเป็นว่าง ไม่มีตัวผู้กิน ไม่มีตัวผู้รู้สึก หรือสิ่งที่รู้สึก
นี่ขอให้รู้ไว้เป็นพื้นฐานทั่วๆไปว่า หลักของพระพุทธศาสนานั้นมันไปไกลกว่าความรู้สึกของคนธรรมดาและใช้ไม่ได้โดยใช้ภาษาพูดตามธรรมดาของคนธรรมดานั้นมันใช้ไม่ได้ เพราะคนธรรมดามีอุปาทาน มีอยู่ตัวกู มีของกู รู้สึกเป็นได้เป็นเสีย เพราะฉะนั้นจึงเลือกเอาฝ่าย Positive ไปเรื่อย เที่ยวให้มันให้มันเอาตัวกูของกู ให้มัน มันก็ทนไม่ไหวอีก คือเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้หลักสำคัญข้อนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคำว่า “ตัวกู” หรือ “ตัวตน” หรือที่เขาเรียกกันว่า Self หรือ Soul คำว่า Self ซึ่งแปลว่าตัวตนนั้นมันเป็นรูป Positive ใครๆก็รัก ก็หวง ก็ถนอมในสิ่งที่เรียกว่า Self คือตัวตน ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่าตัวกู ถ้าสูญเสียสิ่งนี้ไปก็เรียกว่ามันเสียหายไป มันเป็น Negative ทนไม่ได้ แต่นั่นมัน เป็นความรู้สึกของคนที่ยังไม่รู้ คือปราศจากโพธิ ปราศจากความรู้ มืดมนอยู่ด้วยกิเลส พอปราศจากความมืดมนด้วยกิเลส มีความสว่างจึงเกิดขึ้นมา มันจึงจะรู้ รู้ถึงขนาดที่เรียกว่า ไม่เอา ไม่เอาตัวตน หรือไม่เอา Self คำว่า Self นี้มันหมายความว่ารู้กันสากลทั่วไปไม่ว่าศาสนาไหน มันก็มีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า Self หรือตัวตนกันทั้งนั้น ที่เขาให้ความหมายพิเศษไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ว่าสรุปได้มันเป็นความหมายของบวกคือ Positive ต้องการจะมี Self ที่ถาวร ดังนั้น มีตัวตนกับไม่มีตัวตนนี่ตรงกันข้าม ก็ยังจะมีอะไรอีกอย่าง ลองคิดดูว่าจะมีอะไร มันก็คือมี “ว่าง” คือไม่มีทั้งสองอย่าง ไม่มีทั้งตัวตน และไม่มีทั้งไม่ใช่ตัวตน ไม่มีทั้ง Positive และ Negative นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สอนไว้ว่าไม่มีอะไรที่ควรถือว่าเป็นตัวตนหรือของตนก็ตาม มันสิ่งเดียวกัน สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ หัวใจพุทธศาสนา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน และพร้อมกันนั้นก็ไม่ใช่เป็น Negative ล้วนๆ มันเลยไปอีกจนว่าง ว่างจากตัวตน มีตัวตนมันเป็น Positive เป็น Optimism มองในฝ่ายดี หวังดี เอาดี นี่ไม่มีตัวตนมันเป็น Negative แต่พร้อมกันนั้นมันก็ให้ความรู้สึกเป็น Pessimism นี่ถ้ายังเป็นคู่ๆ กันอยู่อย่างนี้แล้ว ยังไม่ใช่ที่สุดของเรื่องของความดับทุกข์ในพุทธศาสนา มันจงเลยไปถึงว่าง ว่างนี้ไม่เป็น Optimism หรือ Pessimism ไม่เป็น Positive หรือ Negative
เราควรจะรู้เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับจะศึกษาพุทธศาสนาให้ถึงตัวจริงของพุทธศาสนา ฉะนั้นอย่าได้ไปหลงในความหมายที่บัญญัติไว้ในรูป Positive Negative และก็ศัพท์กลับไปกลับมา เช่นความรู้สึกว่าอิ่ม มันก็อันเดียวกับความรู้สึกว่าไม่หิว แต่แล้วก็ไม่เป็นที่พอใจทั้งสองอย่าง บางที่อิ่มไปนักก็อยากจะให้หิว ถ้าหิวก็อยากจะให้มันอิ่ม โดยมากคนเรามีความสุขอยู่ได้ ได้รู้สึกรสอร่อยเพราะ Negativeก็มีเพราะฝ่ายลบ จนถึงกับบางคนมันอยากตาย ได้ทำอะไรที่มันร้อน เช่น ได้โกรธ ได้ด่า ได้อะไรเขาอย่างนี้มันก็พอใจ นี่มันไม่ใช่รูปของ Positive รวมความแล้วว่าเราต้องไม่หลงเป็นทาสทั้ง Positive และ Negative หรือไม่หลงเป็นทาสทั้งของความบวกและของความเป็นลบ เราจึงจะเป็นอิสระ
เราต้องรู้ว่าที่บัญญัติความสุขเป็น Positive ความทุกข์เป็น Negative นั้นเป็นของคนธรรมดา ตามธรรมชาติมันไม่มี Positive หรือ Negative ที่คนไปว่าเอาเองตามความรู้สึกของตัว มันก็ไม่ใช่ความจริง ความทุกข์เป็น Positive ก็ได้และความเป็นไม่สุขเป็น Negative มันก็เลยเล่นตลกกลับไปกลับมากันอยู่อย่างนี้ แต่ธรรมชาติอันแท้จริงนั้นไม่บัญญัติอะไรว่าเป็นอะไร มันเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คนบัญญัติมันเข้าตามความรู้สึกของคน และบัญญัติเพื่อคน ไม่ใช่บัญญัติเพื่อธรรมชาติ และธรรมชาติก็ไม่รับรู้ คนจะบัญญัติว่าดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าสุข ว่าทุกข์ ไปตามภาษาคน ธรรมชาติไม่รับรู้ ดังนั้น ธรรมชาติแท้จริงอยู่เหนือธรรมชาติความเป็นอย่างนี้ เหนือความเป็นสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป นี่เขาเรียกว่า “มันว่าง” มันว่างจากความหมายที่จะเป็นอะไร ฉะนั้นนิพพานที่แท้จริงตามธรรมชาตินั้นคือว่าง นิพพานสำหรับหลอกคนให้สนใจก็คือสุข นิพพานของผู้รู้ก็คือความไม่ทุกข์ ความไม่ทุกข์มันก็คือความสุข แล้วก็กลับไปกลับมา
เดี๋ยวนี้เราตั้งต้นกันมาจากคนที่ไม่รู้ เอาเรื่องของคนไม่รู้เป็นจุดตั้งต้น นี่คนไม่รู้ คนธรรมดาสามัญปุถุชนนี่มันชอบอร่อย ชอบได้อย่างใจ ก็เลยเอาที่อร่อยหรือที่ได้อย่างใจนี้เป็น Positive หรือเป็นบวก เอาตรงกันข้ามเป็นลบ ส่วนธรรมชาติมันไม่เข้าใครออกใคร ไม่รู้ไม่ชี้ด้วย คนที่ไม่รู้หรือปุถุชนที่ไม่รู้มีความรู้สึกอย่างนี้ พอกลายเป็นผู้รู้ เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา กลายเป็นอย่างอื่น ไปด้วยกันไม่ได้ คือสิ่งที่ปุถุชนชอบ พระอริยเจ้าไม่ชอบ ที่ปุถุชนหลงใหลพอใจ พระอริยเจ้าไม่เล่นด้วย ผู้รู้ไม่เล่นด้วย ดังนั้น ในโลกนี้จึงสับสนไปหมดเกี่ยวกับคำพูด พูดกันคนละที ที่พูดกันคนละทีเราจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันรู้เรียนในระหว่างพวกเรา ดังนั้น จึงแนะให้สังเกตข้อนี้
ดังที่ได้พูดมาแล้วหลายวันก่อนๆนี้ ให้รู้จักสังเกตสิ่งๆเดียวกัน ซึ่งมองในรูปของ Positive ก็ได้หรือ Negative ก็ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งที่บูชากันนักหนาคือความสุขในลักษณะอย่างนั้นๆ ถ้าเราพูดกันเพียงเท่านี้ มันก็รู้สึกว่าน่ารัก น่าพอใจ น่าหลงใหล น่าปรารถนา ความสุขในลักษณะอย่างนี้ในรูป Positive ก็ตาม ในรูป Negative ก็ตาม ทบทวนก็ว่าอิ่มก็คือไม่หิว สุขก็คือไม่ทุกข์ แน่ใจก็คือไม่สงสัยลังเลวิตกกังวล จึงทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็คือตรงข้ามกับไม่ได้ทำความคดโกง มีความรักสากลก็คือไม่มีความเกลียดสากล แล้วก็มีอิสรภาพก็หมายความว่าเราไม่ถูกเหยียบย่ำอิสรภาพ ไม่สูญเสียอิสรภาพ พูดกันไปเท่าไรๆก็เป็นคำพูดที่กลับไปกลับมา สับปลับอยู่ในตัวเอง แล้วในที่สุดก็อาศัยอะไรไม่ได้ อาศัยอะไรไม่ได้อย่างถึงที่สุด จนกว่าเมื่อไรจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอะไรที่เป็นคู่ๆเหล่านี้ ขึ้นไปจนถึงความว่างเมื่อนั้นแหละจึงจะอาศัยได้ กลายเป็นว่าเราอาศัยความว่างเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง หรือจะเรียกกลับมาอีกทีก็กลายเป็นความสุขไปอีก แต่คนละความหมาย ยืมคำพูดบ้าๆบอๆนั้นมาใช้กับของจริง เช่นว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือความว่างนั้นแหละเป็นสุขอย่างยิ่งเพราะเป็นสิ่งเดียวกับนิพพาน ถ้าใครคนหนึ่งเคยได้ยินแต่บาลีพุทธภาษิตว่า นิพพานนัง ปรมัง สุขัง นี้ก็จะเข้าใจผิดอย่างหนักทีเดียว ตามความรู้สึกของเขาเองจึงได้ปรารถนานิพพทาน ตายแล้วไปนิพพาน หรืออะไรก็เพื่อนิพพาน เพราะเข้าใจตามความรู้สึกของเขาเองว่าเป็นความสุขอย่างยิ่งอย่างสุดยอด มันก็เป็นในเรื่องโฆษณาชวนเชื่อสำหรับคนเหล่านั้น ทีนี้พระอรหันต์เกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา คนเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ก็มีความรู้สึกขึ้นในใจ แหมนิพพานนี่คือยอดสุดของความสุข มันเพียงแต่ไปยืมคำชาวบ้านมาพูด เพราะมันไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไร เมื่อก่อนเป็นพระอรหันต์นั้นก็รู้ก็หลงใหลในความสุขอย่างชาวบ้าน พอเป็นพระอรหันต์แล้ว มันได้รับรสใหม่ของนิพพาน มันก็ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไร ก็ต้องพูดเป็นสุขอย่างยิ่ง เอาคำหลอกลวงนั้นมาใช้อีกทีหนึ่งเพราะไม่มีคำพูดจะพูด มนุษย์รู้จักแต่เพียงเท่านั้น มันมีเรื่องปรากฏอยู่ในคัมภีร์ว่า คนหนึ่งเป็นเจ้านายเป็นกษัตริย์ออกมาบวชตอนเป็นพระอรหันต์แล้ว เดินบ่นอยู่ว่าสุขหนอ สุขหนอ เพราะมันไม่มีคำอะไรจะพูด ไม่ใช่ว่าอรหันต์องค์นั้นหลงใหลในความสุข หรือว่ารู้สึกเป็นสุขเหมือนกับที่แล้วมาแต่ที่หนหลัง มันตรงกันข้าม ถ้าเราเอาเรื่องทั้งหมดนี้มาดูคราวเดียวกันพร้อมกัน เราจะเข้าใจได้ ความสุขโฆษณาชวนเชื่อเป็นอย่างไร สุขตรงไปตรงมาเป็นอย่างไร สุขแท้จริงนั้นคืออะไร กลายเป็นเรื่องของความว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวกูของกู
นี่เราพูดกันมากี่ ๑๐ ครั้งกี่ ๑๐๐ ครั้งแล้วนะว่า ความมีอยู่แห่งตัวกูคือความทุกข์ ความไม่มีอยู่แห่งตัวกู นั่นคือความไม่มีทุกข์ ความว่างจากตัวกูคือความว่างจากความทุกข์จากทุกสิ่ง เพราะสุขหรือทุกข์มันอยู่ที่ตัวกู ตัวกูเป็นผู้รู้สึกสุขหรือทุกข์ ฉะนั้นจะต้องว่างจากตัวกูของกู จึงจะว่างจากสุขหรือทุกข์ เขาเรียกว่าว่างจากทุกสิ่ง เท่านี้ก็พอจะนึก นึกเห็น หรือมองเห็นชัดลงไปว่ามันมีอยู่ ๓ สิ่ง คือสุขและทุกข์ แล้วก็ว่างเสียจากสุขและทุกข์ ก็มีอยู่แห่งตัวกู ไม่มีอยู่แห่งตัวกู แล้วก็ว่างทั้ง ๒ อย่าง ไม่เกี่ยวกับมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ถ้ายังรู้สึกมีอยู่หรือไม่มีอยู่ นี่ก็ยังจิตที่ตกเป็นทาสของความหมายบวกหรือลบอยู่นั่นเอง อย่าเข้าใจว่าอันที่ลบก็จะพ้นไปจากไอ้ตัวกูของกู มันยังเป็นตัวกูของกูชั้นที่หลอกลวงอยู่ชั้นหนึ่ง คือมีอยู่และไม่มีอยู่
เราควรจะมองเห็นต่อไปว่าคำว่า “ว่าง” นี่มันไม่ได้เกี่ยวกับคำว่าไม่มีอยู่ มันพ้นนั้นไปอีก ถ้าไม่เข้าใจก็เอาไปคิดต่อๆไปก็แล้วกัน ว่ามีก็อย่างหนึ่ง ไม่มีก็อีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือไม่ ไม่ทั้งมีและไม่ทั้งไม่มี คือว่าง ว่างจากมีและว่างจากไม่มี นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเป็นคำพูดที่หลุดพ้นไปจากความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นเรื่องละเอียดสุขุมจนถึงกับพระพุทธเจ้าท้อพระทัย ในเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ โอ๊ย, ไม่สอนแล้วโว้ยไอ้เรื่องนี้ ใครจะฟังถูก สอนไปก็ป่วยการ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆท่านนึกอย่างนี้ คิดว่าจะไม่สอนเรียนนี้ เรื่องที่ว่างหรือเหนือไปจากโลก แล้วจึงมีเรื่องเล่าไว้เป็นบุคคลาธิษฐานว่า พรหมลงมาอาราธนาว่าให้ช่วยสอนเถิด คนที่ไม่สู้จะโง่นักก็ยังมีอยู่ สัตตาปปะระฃักขะชาติกา สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็ยังมีอยู่ คนพวกนี้อาจจะเข้าใจได้ ขอให้สอนเถิด พระพุทธเจ้าจึงกลับพระทัยเสียใหม่ แล้วมาสอน ตั้งใจสอน แล้วก็ไม่วายที่จะทรงเน้นอยู่เสมอว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง อันนั้นสงบระงับเหลือเกิน อันนี้ประณีตเหลือเกินคือ สัพพะ สังขาระ สะมาโถ นี่ การเข้าไประงับเสียซึ่งสังขารทั้งปวง สัพพูปธิปฏินิสสัคโค กำจัดเสียซึ่งอุปาทิทั้งปวง วิราโค นิโรโธ นิพพานัง คือเรื่องนิพพานนี่เอง
ดังนั้น ขอให้ทนอดทนหน่อยที่จะศึกษาให้เข้าใจว่ามันมีอะไรอีกอันหนึ่งซึ่งเหนือความไม่มีไปอีก นอกออกไปจากความไม่มี จนรู้ว่าความมี Positive นี้ก็ไม่ไหว ความไม่มี Negative นี้ก็ไม่ไหว ออกไปทางอีกอันหนึ่งก็คือว่าง ว่างจากทั้งที่มีและไม่มี นั่นแหละคือนิพพาน ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไปทบทวนกันใหม่ ความสับปลับของคำพูดที่มนุษย์บัญญัติเป็น Negative หรือ Positive เป็นบวกหรือเป็นลบ เพราะมนุษย์ยังไม่รู้ความจริง คนธรรมดายังไม่รู้ความจริง ก็ต้องบัญญัติไปตามความรู้สึกของตัว ก็บัญญัติในขอบเขตจำกัดนะ ไม่ใช่ครอบคลุมไปทั้งหมดได้ ในขอบเขตอย่างนี้อันนี้พอจะเป็น Positive หรือ Negative ก็ตามได้ แต่พอในขอบเขตที่มากกว่านั้นมันใช้ไม่ได้กฎเกณฑ์อันนี้ เพราะว่าเราไม่ต้องการทั้งสองสิ่ง มันเลยเป็น Negative ไปหมด เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าชัง น่าระอาไปหมดทั้งความสุขและทั้งความทุกข์ ความสุขก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความทุกข์ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจะเอากับมันอย่างไรทั้งสองอย่างนี้ ทั้งบุญและบาปก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งดีและทั้งชั่วก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจะเอากับมันที่ตรงไหน เมื่อก่อนเคยถือเป็น Positive น่าเอา ส่วนดี ส่วนสุข ส่วนอะไร เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว มันไม่เป็นสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจนะ มันกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่าย น่าขยะแขยงไป นี่เขาเรียกว่าชั้นที่มันเหนือโลกรู้สึกอย่างนั้น แต่ชั้นที่จมอยู่ในโลกไม่รู้สึกอย่างนั้น จึงได้เที่ยวหลงนั้นหลงนี่เป็นตัวกูเป็นของกูไป เพราะว่าโพธิมันยังไม่เกิด ดังนั้น เราจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “โพธิที่แท้จริง” คือความรู้ถึงขนาดที่เรียกว่าตรัสรู้ ถ้าอันนี้มามันจะมีความรู้มากพอถึงขนาดไม่หลงไปตามความโง่เง่าของคนธรรมดาบัญญัติสิ่งต่างๆว่าอย่างไร เราจะได้พูดกันวันหลัง มันยืดยาวเรื่องโพธินี้ เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่าตรงกันข้ามกับโพธิ ที่เราเรียกกันว่าตรงกันข้ามกับโพธิคือ “กิเลส” มันยังครอบงำจิตใจอยู่ ยังไม่เป็นโอกาสของโพธิ ดังนั้นก็ต้องค่อยๆทำกันไปจนกว่าโพธิจะมีโอกาสแสดงบทบาท มันจึงจะขจัดความหลงใหลในขอที่เป็นคู่ๆนี้ได้
แต่แล้วก็น่าหัวตรงที่ว่าแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าโพธิก็จะต้องถูกขจัดตามไปด้วย คือจะไม่ยึดถือส่วนที่เรียกว่าโพธินั้นว่าเป็น Positive เป็นตัวเราของเราขึ้นมาอีก ทั้งที่มันมันมีอำนาจมีความสามารถหรือเป็นเครื่องมือที่จะขจัดกิเลส กิเลสกับโพธิจะกลายเป็นของเหมือนกันตรงที่ว่าจะต้องขจัดออกไปเสียจากความยึดถือ มันก็จะเป็นเรื่องศึกษาได้ยาก เข้าใจศึกษาได้ยากขึ้นทุกที พอผมพูดไปคนก็หลับ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครสนใจคำพูดชนิดนี้เพราะมันยากเกินไป ที่นี้เรามันก็จำเป็นที่ว่าเราก็ไม่อยากทำอะไรให้มันไม่คุ้มค่าข้าวสุก มันก็จะพูดแต่สิ่งที่คนเข้าใจไปเรื่อยๆ ให้คนมันเข้าใจสักวันหนึ่งจนได้ ฉะนั้นขอให้ถือว่ามันเป็นหน้าที่ของพวกที่อยู่ที่นี่ เขาจะชอบหรือไม่ชอบ ชาวบ้านจะชอบเรื่องนี้หรือไม่ชอบเรื่องนี้ เราไม่รู้ไม่ชี้ เรามีหน้าที่จะต้องพูดในสิ่งที่เป็นตัวพุทธศาสนาให้คนได้ยิน เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจมันก็อีกเรื่องต่างหาก คำบรรยายในระยะนี้มันก็มีเรื่องนี้ เรื่องให้รู้จักความสับปลับของสิ่งที่มนุษย์บัญญัติกันไว้ว่าเป็นบวกหรือลบ เป็น Positive หรือ Negative เป็น Optimism หรือ Pessimism สำหรับเราจะได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งซึ่งอยู่เหนือความรู้สึกเหล่านั้น แล้วมันจะว่างไปทั้งหมด ว่างไปจากบวก ว่างไปจากลบ ว่างไปจากดี จากชั่ว จากบุญ จากบาปอะไรทั้งหมด วันนี้มันมีเวลาพูดได้เท่านี้เพราะเทปมันหมด