PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
  • อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่35/ศิลปะของความสุข(ต่อ)
อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่ ... รูปภาพ 1
  • Title
    อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่35/ศิลปะของความสุข(ต่อ)
  • เสียง
  • 2949 อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่35/ศิลปะของความสุข(ต่อ) /buddhadasa/2513-34.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอาทิตย์, 22 มีนาคม 2563
ชุด
อบรมพระหน้าโรงหนัง ชุดธรรมปาฎิโมกข์
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  •         ธรรมปาฏิโมกข์ของเราก็เป็นการบรรยายเรื่องที่เกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ไปตามเดิม  ขอให้สังเกตว่าทุกเรื่องที่เรากล่าวมาแล้วถึงสัญลักษณ์ หรือลักษณะที่จะสังเกตได้ของสิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้นมันอยู่ที่ ความที่มันไม่มี ตัวกู-ของกู ปรากฏอยู่ในขณะนั้น  เราจะพูดในรูป positive ว่า ความนั่น, ความนี่คือ มีนั่น, มีนี่ ก็ต้องหมายความว่า ความเป็นอย่างนั้นมันไม่มีความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู เจืออยู่ เช่น เราจะพูดว่า ความสุข, ความแน่ใจ, ความอิ่ม, ความพอใจ, ความรักใคร่, อะไรก็ตามนี้  ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสุขแล้วมันต้องไม่เจืออยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู  ถ้าไม่อย่างนั้นมันเป็นความสุขปลอม  ทีนี้สำหรับพวกที่เป็นการพูดอย่าง negative คือใส่คำว่า ไม่, ไม่ เข้ามา เช่น ไม่หิว, ไม่ทุกข์, ไม่ร้อน, ไม่กลัวอะไร, ไม่ต้องมีอะไรกระตุ้น, กระทั่งไม่รำคาญ เป็นต้น ไอ้, ไม่, ไม่, เหล่านี้ มันก็หมายความว่า ไม่ถูกรบกวนด้วยความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู มันจึงจะ ไม่ อย่างนั้นขึ้นมาได้  เพราะฉะนั้นจึงหมายถึงลักษณะที่ไม่มี ตัวกู- ของกู คือ ไม่มีความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู ทั้งนั้น  มันมีให้เรามองดูกันหลายแง่เราจึงมองดูกันทีละแง่

                   ในครั้งสุดท้ายที่แล้วมานี้เราพูดกันเรื่อง ความรำคาญ  ต่อเมื่อไม่มีความรำคาญมันจึงจะเป็นสัญลักษณ์ของความสุข  ทีนี้ความรำคาญนั้นมันมีรกรากมาจาก ตัวกู-ของกู  ถ้าความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู มิได้มีอยู่  ความรำคาญก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้คือไม่รู้สึกรำคาญเช่น พระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกู จึงไม่รู้จักกับความรำคาญ  ฉะนั้นจึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อุทธัจจะ มันเป็น สังโยชน์ ที่พระอริยบุคคลขั้นต้นๆ ก็ละไม่ได้  ไปละได้แต่พระอรหันต์ในขั้นสุดท้าย  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าความรำคาญนั้นมีความละเอียดแล้วก็ขึ้นอยู่กับ ตัวกู-ของกู คือ เมื่อหมด ตัวกู-ของกู จึงจะละความรำคาญได้จึงละได้แต่พระอรหันต์  ทีนี้คนที่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ก็มีโอกาสเพียงแต่กลบเกลื่อนให้สงบรำงับไปด้วยวิธีใดก็ตามมันก็เลยได้รับความสุขตามสมควรด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่างความรำคาญที่จะมีเป็นประจำวัน และก็ละได้ไม่ยากนี่

                   ทีนี้ก็วันนี้ก็อยากจะพูดถึง ความระแวง ซึ่งเป็นของที่เนื่องกันกับความรำคาญเป็นกิเลสเครือเดียวกันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  แต่ความระแวงอาจจะเป็นมูลเหตุของความรำคาญที่สุดอย่างหนึ่งก็ได้ สำหรับความรำคาญทั่วๆ ไปนั้นเป็นไปอย่างหนึ่งมีขอบเขตกว้าง  ทีนี้ความระแวงนี้ก็มีความมุ่งหมายไปอีกอย่างหนึ่งแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความรำคาญได้มากที่สุด  ตลอดเวลาที่ระแวงอยู่ ก็จะเต็มไปด้วยความทรมานใจซึ่งเป็นความรำคาญ  เพราะนั้นเราจึงอยากจะพูดถึงความระแวงต่อไป

                   ความลังเล หรือ ความระแวง นี้เราเรียกกันว่า วิจิกิจฉา คำว่า วิจิกิจฉา นี้ก็เหมือนกับคำว่า อุทธัจจกุกกุจจะ คือ มันหลายความหมาย, ความหมายหลายชั้น วิจิกิจฉา ที่เพียงแต่ระงับไป  ในเมื่อมีจิตเป็นสมาธิ นั้นมันก็อย่างหนึ่ง, ระดับหนึ่ง หรือขณะหนึ่ง  ส่วน วิจิกิจฉา ที่พระโสดาบันจะพึงละเด็ดขาดไปนั้นมันก็มีความหมายระดับหนึ่ง  แต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องเดียวกันคือ ความลังเล ซึ่งในที่นี้เราเรียกรวมกันว่า ความระแวง ถ้ามีอยู่จิตก็ไม่เป็นสมาธิเนื่องมาถึงความสงสัยความอะไรด้วยมันรบกวน  ทีนี้พระโสดาบันก็ละความระแวงสงสัยได้ในความหมายที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ หรือสิ่งที่เนื่องกันเช่น ความระแวงว่าไอ้ข้อปฏิบัติในพุทธศาสนานี้จะดับทุกข์ไม่ได้นี่มันไม่มี หรือจะระแวงว่าพระพุทธเจ้ามิใช่บุคคลผู้ตรัสรู้จริงอย่างนี้ก็ไม่มี  ระแวงพระธรรมว่าไม่อาจจะดับทุกข์จริง, ระแวงว่าพระสงฆ์ว่ามิใช่ผู้ปฏิบัติดีจริงอย่างนี้ก็มิได้มี, ไม่มีความสงสัยเหล่านี้, ลังเล, ไม่มีความสงสัย, ลังเล หรือระแวงในเรื่องเหล่านี้

                ทีนี้มันก็ยังมีความสงสัย, ลังเล, ระแวงในสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งรบกวนความรู้สึกเป็นสุขในชีวิตประจำวันของคนซึ่งเป็นความคิดนึกตามประสาชาวโลก  มันจะระแวงว่า ไอ้บวชอยู่นี่จะดีแน่หรืออย่างไร หรือว่าสึกออกไปดีกว่า หรือว่าจะระแวงว่า เรานี้จะทนได้ไหมจนตลอดชีวิต หรือว่าจะมีอะไรมาช่วยเราให้เราอยู่ได้จนตลอดชีวิตในเพศบรรพชิตนี้หรือไม่  นี่เป็นความการระแวงสงสัยอย่างนี้มันก็เป็นความระแวงที่เกิดแก่บุคคล, แก่บรรพชิตเป็นประจำวันได้  แล้วมันก็รบกวนอยู่ทั้งวันทั้งคืน  ทีนี้ต่ำหรือเลวลงมาอีกก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลงมาอีก ระแวงเรื่องจะมีกินมีใช้, เรื่องปาก, เรื่องท้อง  แม้แต่จะระแวงถึงเรื่องความปลอดภัยเล็กๆ น้อยๆ ระแวงว่าประตูหน้าต่างไม่แน่นหนาพอ, ระแวงว่าคนจะรู้ความลับในบ้านเรือน, จะเข้ามาขโมยได้อะไรนี้มันก็รบกวนจิตใจของคนชาวบ้านอีกมากมายหลายสิบอย่างหลายร้อยอย่างจนทำให้เป็นโรคเส้นประสาทไปเสียก็มี  รวมความแล้วมันรบกวนความสงบสุขลักษณะอย่างนี้มันมาจากต้นตอเดียวกันคือ ความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู มันไม่อยากให้สูญหาย, มันไม่อยากจะตาย, มันไม่อยากจะอะไรทุกๆ อย่างที่มันอยาก  แล้วมีอะไรมาทำให้มันไม่แน่ใจก็ความรู้สึกอันนี้ก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องทำลายความสงบสุข  เพราะนั้นจึงมีกล่าวไว้ในพุทธศาสนาถึงเรื่องที่จะต้องมีความไม่ระแวงเช่น ศรัทธา, ความเชื่อ, ความไม่ระแวง, ความไม่ลังเลสงสัย  แม้ในขั้นต่างๆ ก็ต้องมีการจำกัดออกไปด้วยอำนาจของสมาธิ, กำจัด นิวรณ์ ๕ ได้ กามฉันทะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ, วิจิกิจฉา   อันนี้นี่ก็เป็นเรื่องโลกโลกแต่เป็นเรื่องที่ถ้าไม่กำจัดออกไปแล้วมันก็ไม่มีความสุข  จนกระทั่งผู้ที่จะเข้าไปในขอบเขตของนิพพาน คือเป็น พระโสดาบัน ก็ต้องกำจัดไอ้ความลังเลเหล่านี้ได้มากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะที่เป็นหลักใหญ่ๆ  เราจึงสรุปความว่า จะต้องไม่มีความระแวงรบกวนจิตใจจึงจะมีความสุข  ขยายความออกไปถึงความลังเล, ความสงสัย  สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ ความแน่ใจ พูดในรูป positive  ก็ความแน่ใจ พูดในรูป negative ก็ความไม่มีความลังเล, ไม่มีความระแวง, ไม่มีความสงสัย

                   ทีนี้เราก็พูดกันถึงลักษณะของความระแวงให้มันเป็นที่เข้าใจมากขึ้นไปอีกพอที่จะเป็นเครื่องมือ สำหรับเอาไปใช้กำจัดหรือสกัดกั้นไอ้ความระแวงที่จะมารบกวนจิตใจนี้ได้บ้างตามสมควร  พูดถึงความระแวง, ความลังเล, ความสงสัยนี่มันก็มีกิเลสที่เป็นคู่ตรงกันข้ามคือ ความทะนง   เดี๋ยวจะไปเข้าใจผิดว่า ไอ้คนที่มีความทะนงนั้นจะกลายเป็นคนที่หมดความระแวง หรือความสงสัย หรือความลังเล และกลายเป็นคนมีความสุขไป  ขอให้มองให้ดีๆ ว่า ไอ้ความทะนง, ความเชื่อตัวเองอย่างทะนง หรืออย่างบ้าบิ่นที่สุด, มันไม่มีความทุกข์ปรากฏชัดจริงในข้อนี้เพราะมันกำลังทะนง, กำลังบ้าบิ่น, กำลังเชื่อตัวเอง ด้วยบ้าบิ่น, ด้วยทะนง ไม่มีความระแวง หรือสงสัยลังเลรบกวน  แต่แล้วไม่ใช่สัญลักษณ์ของความสุขที่แท้จริงได้  ผมจะพูดแรงไปบ้างก็ตามใจผมจะพูดว่า คนส่วนมากนี้มันอยู่ด้วยความบ้าบิ่นหรือทะนงชนิดนี้ ที่จะผลัดวันประกันพรุ่งไปได้ให้พ้นไปจากไอ้ความบีบคั้นของความลังเล หรือความระแวง  ถึงพวกคุณก็เหมือนกันมันจะมีความทะนงอย่างใดอย่างหนึ่งสู้หน้าไอ้ความลังเล, ระแวงสงสัยไปบ้างคือว่า ฮึดสู้ด้วยความทะนงอะไรก็ไม่รู้อวดดีไว้ทีก่อนมันก็กลบเกลื่อนไอ้ความระแวงนี้ได้ก็พอสบายไปได้วันหนึ่งๆ รวมทั้งหลอกตัวเองให้แน่ใจอย่างใดอย่างหนึ่ง  นั่นไม่ใช่ธรรมะที่มันแก้ไขไอ้ความระแวงมันเป็นเครื่องกลบเกลื่อนความระแวงไว้ด้วยกิเลสอีกอันหนึ่ง เพราะความไม่ระแวงนั้นมันไม่ได้อยู่ที่นั่นไม่ได้อยู่ที่ความทะนง หรือความบ้าบิ่น หรือกระทั่งอวดดีอวดเก่งไปเลย  ความทะนงนั้นกลับจะเป็นกิเลสอีกอันหนึ่งซึ่งทำให้โง่, ให้หลง, ให้เข้าใจผิดอย่างลึกซึ้งไปอีกอย่างหนึ่งอีกต่างหาก  แม้ว่าจะดูว่ามันเป็นของตรงกันข้ามกับความระแวง หรือความลังเล  ไอ้สิ่งที่จะตรงกันข้ามกับความระแวงความลังเลได้จริงอย่างขั้นต้นก็คือ ศรัทธา, มีความเชื่อที่ถูกต้องแล้วกระทั่งไปถึงปัญญาที่มีอยู่ในศรัทธา, ที่เนื่องกันอยู่กับศรัทธา มันจึงจะตัดไอ้ความลังเล, ความระแวง, ความสงสัยเสียได้จริง  คู่ปรับกันอยู่ที่โน่นแต่เราเรียกว่า ความแน่ใจเพราะมีปัญญา, เพราะมีศรัทธา, เพราะมี   เพราะนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจลงไปว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไรนี้ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอถูกต้องในเรื่องนั้นมันจึงจะมีศรัทธา หรือความแน่ใจพอที่จะระงับความระแวง, ความลังเล, ความสงสัย  มิฉะนั้นมันก็จะอยู่ด้วยความสลับกันของความรู้สึกเหล่านี้ เดี๋ยวระแวงเดี๋ยวก็ไม่ระแวง, เดี๋ยวก็สงสัยเดี๋ยวก็ไม่สงสัย, เดี๋ยวเกิดบ้าบิ่นทะนงขึ้นมา   มันสลับกันอยู่แต่อย่างนี้หาความสุขไม่ได้  

                   เพราะนั้นพวกที่เขาใช้ศรัทธาเป็นเบื้องหน้า หรือลัทธิศาสนาบางศาสนาศรัทธาเป็นเบื้องหน้ามันก็เป็นวิธีที่สะดวกและง่ายแล้วก็ได้ผลดีได้โดยง่าย  เพราะฉะนั้นการเชื่อพระเจ้ามันจึงเป็นเรื่องง่ายอบรมให้มากอบรมให้เชื่อถึงที่สุดหมดทั้งจิตทั้งใจมันก็ทำลายความระแวง, ความสงสัย, ความลังเลได้เหมือนกัน  สำหรับความปลอดภัยก็เชื่อว่าพระเจ้าคุ้มครอง  ถ้าอันตรายเกิดขึ้นก็พระเจ้าต้องการให้เป็นอย่างนั้นมันก็เลยหมดความระแวง, ความกลัว, ความลังเลได้  ทีนี้ถ้าว่าในพระพุทธศาสนานี้ไม่มีพระเจ้าอย่างที่เขาว่ากันจะลำบาก  ผมบอกว่าในพุทธศาสนานี้ก็มีพระเจ้าคือ สิ่งที่เรียกว่า พระธรรม แล้วจะมองกันในแง่ไหน  พระเจ้าในฐานะที่เป็นผู้สร้างก็คือ ธรรมประเภทสร้างก่อสร้างมีมูลมาจากอวิชชา  ธรรมประเภทคุ้มครองรักษาก็คือ เรื่องกรรม, เรื่องกฎแห่งกรรมนี้  ธรรมประเภททำลายอะไรให้ไม่มีก็คือ ความรู้ที่ถูกต้องหรือ อวิชชา เป็นพระเจ้าทั้งนั้นที่เรียกว่า พระธรรม พระธรรมเจ้าเลยก็ได้ก็มี  แล้วเราก็เชื่อในพระธรรมเจ้านี้ให้มากเหมือนที่พวกอื่นเขาเชื่อในพระเจ้าตามความคิดความนึกของเขา  เขาพูดไว้ในรูปพระเจ้าที่เป็นบุคคลเหมือนกับคนนี่เรารับเอาไม่ไหว  เมื่อเขารับเอาไหวเขาเชื่อกันจริงก็รอดตัวไปได้เพราะความเชื่อไม่มีความทุกข์ไปจนตายมันก็พอแล้ว  นี่เรามันเชื่อไม่ได้ก็ต้องมีพระเจ้าที่เชื่อได้ก็เลยมี พระธรรม ขึ้นมา  ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจพระเจ้าเพราะมันไม่ใช่เรื่องเชื่อล้วนๆ มันเป็นเรื่องปัญญาความรู้ความเข้าใจรวมอยู่ด้วย  ศึกษาให้มองเห็นชัดแล้วก็เชื่อก็มีความเชื่อเป็นกำลังสำคัญคือ แน่ใจเพราะมีปัญญาก็ระงับไอ้ความลังเลสงสัยกระวนกระวายเหล่านี้ได้เราก็มีความสุขเท่ากันกับพวกที่เขาเชื่อพระเจ้าตามแบบของเขา หรือดีกว่าเพราะว่ามันมีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อีกมากมาย  ฉะนั้นศรัทธาของเราจึงเป็นเรื่องเชื่อกรรม, เป็นเรื่องเชื่อธรรมเชื่อ พระธรรม เป็นส่วนใหญ่  ถ้าเรามีความเชื่อกรรมก็ประพฤติให้มันถูกต้องตามกฎของกรรม  ฉะนั้นทุกเรื่องจะต้องประพฤติให้ถูกต้องและให้ครบถ้วนนับตั้งแต่เรื่องว่า ประตูหน้าต่างของเราไม่ปลอดภัยพอเราก็ทำให้มันปลอดภัยพอเสียสิมันจึงจะเรียกว่าเชื่อกรรม  จนกระทั่งว่าเราลังเลในอนาคตของเราก็ศึกษาให้เข้าใจให้มันแน่ใจจนหมดความลังเลมันจะมีความลังเลสงสัยในตัวพระธรรมนั่นเอง  ในพรหมจรรย์ในการดับทุกข์ตามแบบของพุทธบริษัทนี้ศึกษาก็ศึกษาให้มันเข้าใจจนหมดความลังเลนี่  ความลังเลหรือความระแวงจึงจะไม่รบกวนมันจึงเหลืออยู่แต่ว่าเมื่อใดเผลอสติไปความระแวงก็มารบกวน  พอสติกลับมาอีกความระแวงก็หายไปอีกก็เหลือปัญหาเพียงเท่านี้อยู่ที่ว่าสติมันพอหรือไม่พอ สำหรับตรงนี้  มันก็ควรจะมีหลักไว้ว่า ทุกสิ่งทุกเรื่องทุกปัญหาจะต้องศึกษาจนเข้าใจดีสางออกไปได้หมด จนมีความแน่ใจ  แล้วก็รักษาสติที่จะมีความแน่ใจที่จะรักษาความแน่ใจอะไรไว้ได้อีกทีหนึ่งคือ ให้ระลึกนึกได้ถึงข้อที่มันแน่ใจนั้นอีกทีหนึ่ง  นี่ปัญหามันก็จะหมดไปมากพอที่จะมีความสุขอยู่ได้ในโลกนี้ทั้งที่ยังไม่หมดกิเลสก็ไม่ถูกกิเลสรบกวนมากเหมือนคนธรรมดาเต็มไปด้วยไอ้ความรู้สึกที่เป็นเครื่องทนทรมาน

                เรื่องระแวง, ลังเล, สงสัย นี่มันเนื่องอยู่กับ ตัวกู-ของกู เป็นส่วนใหญ่อย่างที่ว่ามาแล้ว  เพราะฉะนั้นมันจะต้องศึกษาจนรู้ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างสิ่งนี้กับธรรมะ  ธรรมะ, พระเจ้าที่เราประสงค์, เราลดอำนาจกำลัง หรือขอบเขตแห่ง ตัวกู-ของกู ลงไปได้เท่าไร  ไอ้ความระแวง, ความลังเล, สงสัย มันก็ลดอำนาจหรือกำลังของมันลงไปเองเท่านั้น  เพราะนั้นการปฏิบัติที่มันเป็นศิลปะ หรือเป็นเคล็ดก็ไปรวมอยู่ที่ทำลาย ตัวกู-ของกู อยู่เรื่อยให้น้อยลงเรื่อยไปสิ่งเหล่านี้มันก็ลดลงไปตามเอง  อย่าลืมว่าได้เคยพูดมาหลายครั้งหลายสิบครั้งแล้วว่า ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ต่างๆ นี้ มันมาจากความรู้สึกที่อยาก หรือที่ต้องการแห่ง ตัวกู-ของกู, ตัวกู-ของกู มันอยากมันต้องการอย่างไร  ไอ้ความอยากอันนี้มันก็คลอดออกมาเป็นความโกรธ เป็นความเกลียด, เป็นความกลัว, เป็นความอิจฉาริษยาอะไรนานาสารพัดอย่างกระทั่งความระแวง, ลังเล, สงสัย  ก็เพราะมันอยากอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วมันระแวงว่าจะไม่ได้ตามที่ตัวอยาก  ต้องรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า ลังเลหรือสงสัย หรือระแวงนี้ว่า มันระแวง, ลังเล หรือสงสัยว่าจะไม่ได้ตามที่ตัวอยาก  ทีนี้ถ้าไปตัดความอยาก หรือบรรเทาความอยากลงไปเสียได้มันก็จะตัดความระแวงนี้ลงไปเสียได้ หรือบรรเทาไอ้ความระแวงนี้ลงไปเสียได้  ฉะนั้นในเวลาที่เราไม่ต้องการอะไรไม่อยากอะไรตอนนั้นจะไม่มีความลังเล,  ระแวง, สงสัย  แต่ถ้าเราเกิดอยากอะไรขึ้นมา, อยากอยู่, อยากไม่ตาย, อยากอะไรขึ้นมา  ไอ้ความระแวงมันก็ตามมาเพราะมันตั้งอาศัยอยู่บนนั้น  ทีนี้ความอยากนี้มันเป็นเรื่องต้องการไปตามความยึดมั่นถือมั่นแห่งตัวกู-ของกู  มันก็ต้องมุ่งหน้าไปยังจุดศูนย์กลางของทุกเรื่องคือ เรื่องความยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็น ตัวกู-ของกู นี้อยู่เรื่อยไป  ถ้ามีจิตว่างมันก็ว่างจากความระแวง, ลังเล, สงสัยนี้ด้วยเป็นธรรมดา

                   ทีนี้มาดูถึงคนเรามันมีนิสัยต่างกันมากมายหลายอย่าง แต่ว่าอาจจะสรุปให้มันสั้นเข้ามาว่า มันมีเพียงสองอย่างก็แล้วกัน  คนหนึ่งพวกหนึ่งมันมีนิสัยรู้สึก หรือมองไปแต่ในแง่ร้าย  ทีนี้อีกพวกหนึ่งมันก็ตรงกันข้ามมีนิสัยรู้สึกเอียงไปแต่ในแง่ดีมองไปแต่ในแง่ดี  ก็ควรจะศึกษาตัวเองให้เข้าใจด้วยว่าเรานี้ขี้มักจะมองไปในแง่ร้ายหรือในแง่ดี  หายากที่สุดที่คนจะมีนิสัยมองไปในแง่ดีคนส่วนมากจะมีนิสัยมองในแง่ร้ายไว้ก่อนเสมอ  เพราะฉะนั้นจึงมีความทุกข์มากเพราะว่าไอ้การมองในแง่ร้ายนี้เป็นเหตุให้ระแวงมาก, ให้สงสัยมาก, ลังเลมาก, ให้กลัวมาก  ถ้าคนมีนิสัยมองในแง่ดีแล้วมันก็ตัดไปได้มากมันจะเหลืออยู่ เพียงแต่ว่ามันจะไม่ได้ตามที่ดีตามที่มองในแง่ดีมันมีเหลืออยู่น้อย เพราะว่าเรามองไปว่า อะไรมันจะสมประสงค์ให้เราทุกอย่าง หรือทุกอย่างจะเป็นไปแต่ในแง่ดี  ส่วนที่จะเหลือให้ระแวงมันจึงมีน้อยที่ระแวงว่ามันจะไม่เป็นไปตามนั้นๆ มันจะเป็นไปได้ยาก เพราะคนนั้นมันมีนิสัยมองในแง่ดีรู้สึกแต่ในแง่ดีเรื่อย  ผมเคยสังเกตคนแก่, คนแก่ๆ ที่มีตัวตนอยู่จริงที่อยู่ใกล้ชิดไม่ใช่เป็นเรื่องนิยาย  แหมบางคนน่าเลื่อมใสที่เขามีความทุกข์น้อยเพราะเหตุนี้มันยิ้มเรื่อยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  แม้อันตรายเกิดขึ้นมันก็ยังยิ้มก่อนแล้ว  บางทีผัวเป็นผู้มีนิสัยรู้สึกมองไปในแง่ดีรู้สึกเองไปทางแง่ดี  ภรรยาตรงกันข้ามรู้สึกเป็นไปได้เองแต่ในแง่ร้ายโดยมาก  เรื่องในครอบครัวนั้นมันก็สนุกพออะไรเกิดขึ้นผัวมันยิ้ม, เมียมันเป็นยักษ์เป็นมาร และในที่สุด ส่วนมากมันก็เป็นไปในทางที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นคือ มันถูกของผัว  เพราะนั้นพวกที่มองในแง่ดีนี่มีส่วนได้เปรียบหลายอย่าง หรือหลายเท่า เพราะเรื่องโดยมากจะมิได้เกิดขึ้นตามความคาดคะเนในด้านร้าย ส่วนมากมักกลัวไปเองกลัวมากกว่าของจริงหลายเท่า, หลายสิบเท่า, หลายร้อยเท่า  มันก็ได้เปรียบตอนนี้ ทีนี้ถ้าว่าเรื่องมันเกิดขึ้นมาจริงเป็นเรื่องร้ายมันก็ยังสู้คนที่มองในแง่ดีไม่ได้เพราะว่าใจมันเย็นมันแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่าคนที่กลัว หรือว่าจิตใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว  ไอ้คนที่มองในแง่ดีมันก็มองต่อไปว่าไอ้เรื่องนี้คงจะดับลงโดยเร็วจะสิ้นสุดลงโดยเร็วแล้วไม่มีอะไรมากนักมันก็ได้เปรียบกันเรื่อยไป  มีความสุขมากกว่าเพราะเหตุนี้  เพราะนั้นพวกที่มองทุกอย่างในแง่ดีเป็นนิสัยคือ พวก optimist  นี้ มันได้เปรียบพวก pessimist มาก  ทีนี้ถ้าให้มีอะไรมาช่วยสนับสนุนให้เป็นอย่างนี้ได้มันก็จะมีมากกว่าธรรมดานะให้มากกว่าธรรมดาขึ้นไปอีกกว่าที่เป็นนิสัยของเขาก็ยิ่งดียิ่งสบายมากขึ้น

                พุทธศาสนาเราจะไม่ถือว่ามองในแง่ร้าย หรือมองในแง่ดี  แต่มองในแง่ที่ว่า เป็นสิ่งที่แก้ไขได้คือ ไอ้สิ่งที่เรียกกันว่าความร้ายไอ้ pessimism นั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้นี่ก็เท่ากับมองในแง่ดีไปโดยปริยาย  ฉะนั้นอย่ากลัว, อย่ากลัว, อย่าระแวง, อย่าลังเลอะไรให้มันป่วยการเปล่าๆ ก็ถือหลักพุทธศาสนาก็ถือหลักในข้อที่ว่า ไม่ต้องกลัวไม่ต้องลังเลทุกอย่างแก้ไขได้เพราะว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยก็ศึกษาเหตุปัจจัยนี้ให้ดีแล้วมันก็แก้ไขได้  นี่ก็เป็นหลักที่จะให้อยู่สงบสุขได้ไม่เป็น pessimist ไม่เป็น optimist  แต่ว่ามันก็เป็น optimist อยู่โดยปริยายคือ ยิ้มอยู่ได้เสมอก็นับว่ามีความได้เปรียบในการที่จะมีความสงบสุข  พวกที่มีนิสัยสันดานเป็นรู้สึกในแง่ร้ายเรื่อยนั้นเป็นคนที่มีบาปมากๆ หน่อยมันทุกข์เปล่าๆ ปรี้ๆ และมันมักจะเกินกว่าเหตุเสมอ  ทีนี้ไอ้พวกที่รู้สึกอะไรในแง่ดีไปหมดนั้นจะมีความประมาทบ้างมันก็ยังไม่เท่ากับไอ้ความเสียหายของพวกที่มองในแง่ร้าย  มองในแง่ดีนี้ไม่ได้หมายความว่าละเลยอะไรไปเสียหมดมันพร้อมที่จะแก้ไขอยู่เหมือนกันมันยิ้มเข้าไว้ก่อนแล้วพร้อมที่จะแก้ไขอยู่เหมือนกัน ให้ถือว่าพุทธบริษัทเรามีเคล็ด หรือมีศิลปะในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้แล้วก็มีความสุข  ไม่เป็น optimist เกินไปไม่เป็น pessimist เกินไป มันก็อยู่ตรงกลางที่ว่าทุกอย่างแก้ไขได้ตามที่เราต้องการแล้วแต่เราจะต้องการอะไรให้มันร้ายก็ได้ให้มันดีก็ได้แล้วจะต้องระแวงทำไมต้องกลัวทำไมก็ควรจะนอนหลับสนิท

                   เดี๋ยวนี้มันยังมีความระแวงอีกชนิดหนึ่งเป็นความระแวงที่สองซ้อนสามซ้อนคือ ระแวงเผื่อไว้มากเกินไปก็จะเป็นไปแต่ในพวก pessimist คือว่า มันมองในแง่ร้ายรู้สึกในแง่ร้ายจนเป็นนิสัย  มันก็คิดที่จะระแวงได้เป็นสองชั้นสามชั้นสี่ชั้นซ้อนๆ ๆ ๆ กันไปอย่างนี้ก็แย่เหมือนกันจะมีปัญหามาก, หาความสุขยาก, หาที่อยู่ยาก และนอนหลับยากอะไรก็ยากไปหมดสู้พวกที่มองในแง่ดีไม่ได้  แม้จะมองในแง่ดีอย่างงมงายนะก็ยังได้เปรียบพวกที่มองในแง่ร้ายเพราะว่าเขาจะตายไปสักทีก็ยังตายไปด้วยความแน่ใจ หรือความสงบสุขมากกว่าคือ ตลอดเวลาที่เขายังไม่ตายยังเป็นๆ อยู่นี้มันสบายอยู่เรื่อย, มันแน่ใจสบายอยู่เรื่อย แล้วมาตายปุ๊บลงไปมันก็เลิกกัน  ส่วนคนที่มองในแง่ร้ายมันก็ลังเลอยู่ด้วยความวิตกกังวลความหวาดกลัวตลอดเวลา  ถ้าตายลงไปมันก็ตายลงไปด้วยความรู้สึกอย่างนั้น  ฉะนั้นอย่าเป็นคนลังเล, ระแวง, สงสัยในแง่ร้ายให้มีความเชื่อความแน่ใจในแง่ดีอย่างน้อยก็ว่ามันแก้ไขได้  ตามหลักของพุทธศาสนาไม่มีอะไรที่จะเป็นอะไรเกินกว่าที่จะแก้ไขได้อย่างนี้ก็สบายไม่เป็นโรคเส้นประสาท  เดี๋ยวนี้กำลังเป็นโรคเส้นประสาทกันอยู่มาก และมากขึ้นๆ ก็เพราะต้นเหตุอันนี้  ความระแวง, ลังเล, สงสัยในชีวิต, ในชีวิตประจำวัน, ในชีวิตทั้งหมด, ในอนาคต, ในอะไรต่างๆ แล้วจึงมีอะไรออกมาแปลกๆ ใหม่ๆ ในโลกนี้  มันก็ช่วยให้ต้องระแวงมากขึ้น, กลัวมากขึ้น, ลังเลมากขึ้น แล้วมันกลายก็เป็นนิสัยอันใหม่คือ เข้ารูปเข้ารอยไม่ได้เตลิดเปิดเปิงไป  ในที่สุดมันก็เป็นบ้ายิ่งกว่าเป็นโรคเส้นประสาท

                   สำหรับข้อนี้ก็ขอให้ไปคิดดูให้ดีๆ เฉพาะข้อนี้ว่า ไอ้ที่เรียกว่าโรคเส้นประสาทนี้มันจะต้องมาจากความระแวง, ความลังเล, ความสงสัย ซึ่งรวมถึงความกลัวเรียกอีกอย่างว่า วิตกกังวล  มันไม่แน่ใจลงไปได้ แล้วมันก็ต้องวิตกกังวลอยู่เสมอ  ถ้าปลงหรือสลัดออกไปเสียกูตายแล้วอย่างนี้ก็กูตายเสร็จแล้ว  นี้มันก็ช่วยได้มากเหมือนที่เราก็พูดถึงเรื่อง ตายให้เสร็จเสียก่อนตาย นิพพาน อยู่ที่นั่น เป็นยาแก้โรคเส้นประสาทที่ดีที่สุด งามอยู่ที่ผี, ดีอยู่ที่ละ, พระอยู่ที่จริง, นิพพานอยู่ที่ตายแล้วก่อนตาย หมายความว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันตัดความทรมานทุกอย่างไปได้ไม่มี ตัวกู-ของกู ก็เลยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น หรือความอยาก ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอย่างอื่นๆ ออกไปมากมายหลายสิบอย่างรวมทั้งความระแวง, ความวิตกกังวลซึ่งเป็นเหตุให้เป็นโรคเส้นประสาท

                   มันมีปัญหาสำหรับคนในโลกมากมาย, มากมายเหลือเกินที่เป็นการยากที่จะตัดสินใจ  ปัญหาที่เรียกว่ายากที่จะตัดสินใจนั้นมันมีมาก  มันยิ่งมากสำหรับคนที่ขี้ระแวง หรือมองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้าย ธรรมดามันก็มีมากอยู่แล้ว  แม้คนที่จะมองในแง่ดีมันก็มีมากอยู่แล้วเพราะสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ทีนี้ความประสงค์ของเรามันไม่ตรงกับสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่เกี่ยวพันกันอยู่เช่น ความประสงค์ของเราไม่ตรงกับความประสงค์ของบิดามารดา อย่างนี้เป็นต้น  ความประสงค์ของเรามันไม่ตรงกับความประสงค์ของคนทั้งหมดในเมืองนี้ หรือในโลกนี้เลย มันก็เลยมีปัญหาที่ทำให้ต้องตัดสินใจ แล้วมันก็ตัดสินลงไปไม่ได้  เหลืออยู่เป็นความลังเลระแวงสงสัยเพราะว่ามันมีการผูกพันกันอยู่ หรือว่าเพราะสิ่งเหล่านั้นมันมีอิทธิพลเหนืออยู่  ถ้าไม่เอาออกไปได้มันก็ไม่มีความสงบสุขมันจึงจะต้องมีอะไรที่เรียกว่า มันมาเหนือเมฆ มาเพื่อตัดให้มันขาดลงไป เอาอย่างนั้นๆ ๆ หรือถ้าไม่มีอะไรขึ้นมาจริงๆ บอกว่า เราไม่ได้มีชีวิตอยู่อยู่แล้ว เพราะนั้นเราไม่มีได้, ไม่มีเสีย, ไม่มีอะไรอีกแล้ว, ไม่มีกำไร, ไม่มีขาดทุน ก็ทำไปตามที่สติปัญญาที่เป็นอิสระนั้นมันจะระบุให้ทำ  ไม่ได้ทำก็ไม่เสียดายเพราะว่าเรามันตายแล้ว  นี่อย่าลืมข้อนี้แล้วตั้งใจว่าจะทำอะไรที่ดีวิเศษถูกต้องที่สุดที่ดีที่สุดอะไรเสียอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ต้องระแวงว่าจะไม่ได้ทำ หรือว่าความตายจะมาถึงเสียก่อน  ไม่ได้ทำอย่างนี้มันก็ไม่ต้องเสียใจเพราะว่าเรามันตายเสร็จแล้ว  นี่เรียกว่าวิธีตัดออกไปซึ่งหน้าลุ่นๆ อย่างนั้นตัดออกไปอย่างลุ่นๆ อย่างง่ายๆ จนกว่ามันจะเป็นเรื่องจริงสมบูรณ์เพื่อหมด ตัวกู- ของกู หมดกิเลสตัณหาจริงๆ  รวมความแล้วมันก็อยู่ในพวกที่ว่า เป็นเคล็ดที่จะตัดเสียสิ่งซึ่งรบกวนวิญญาณคือ ความลังเล, ระแวง, สงสัย พูดตามประสาพุทธบริษัทตามภาษา, พูดตามภาษาพุทธบริษัทมันก็ฟังดูแล้วก็น่ากลัวสำหรับชาวบ้านพูดอย่างเราว่าตายเสียก่อนตายนี้เขาก็กลัวไม่อยากฟัง  พูดว่าเราไม่มีอนาคตอย่างนี้เขายิ่งไม่เชื่อ และไม่อยากฟัง  แต่ตามหลักของธรรมะเรื่องหลุดพ้นนั้นมันต้องไม่มีอนาคต,  กระทั่งไม่มีอดีต, กระทั่งไม่มีปัจจุบัน  ทีนี้เขามันอยากมีอนาคตอย่างนั้น, อย่างนี้, อย่างโน้น ยิ่งหนุ่มเป็นสาวอยู่ด้วยยิ่งมีอนาคตออกมาเด่นกว่าอะไรหมดจึงเป็นทุกข์มาก หรือมีเรื่องมาก  พวกที่หลุดพ้นหรือเป็นพระอรหันต์นั้นจึงไม่มีอนาคต, ไม่มีอดีต และไม่มีปัจจุบัน  มันจึงไม่มีเรื่องที่ต้องระแวง, สงสัย, ลังเล เพราะมันว่างไปเท่านั้น  มันก็ไม่มีอดีต, ไม่มีปัจจุบัน, ไม่มีอนาคตนั่นจึงจะเป็นความถูกต้อง  ที่พูดว่ามีแต่ปัจจุบันอย่างนี้พูดถึงศีลธรรมที่ให้ทำหน้าที่ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าอย่าไปนึกถึงอดีตหรืออนาคต  แต่ถ้าพูดกันอย่างถึงที่สุดที่เป็นผลสำเร็จของการกระทำนั้นไม่มีทั้งอดีต, ทั้งปัจจุบัน, ทั้งอนาคต  อนาคตไม่มีเพราะเราไม่อยากอะไร  ปัจจุบันไม่มีเพราะว่าเราไม่มี ตัวกู-ของกู ที่ต้องการอะไร  มีแต่การเคลื่อนไหวของนามรูปที่มีสติปัญญา  ส่วนอดีตนั้นเลิกร้างไปได้ไม่ยากนัก  ถ้า ตัวกู-ของกู ไม่มีในปัจจุบันนี้แล้วไอ้เรื่องในอดีตนั้นมันก็ยิ่งไม่ต้องไป  ก็ลองคิดดูสิว่า อดีตก็ไม่มี, ปัจจุบันก็ไม่มี, อนาคตก็ไม่มี แล้วความกลัวความระแวงลังเลสงสัยมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรมันไม่มีทางที่จะเกิดไม่มีที่ตั้งไม่มีที่อาศัยสำหรับที่จะเกิด

                   เดี๋ยวนี้เราไม่เป็นพระอรหันต์เราก็ทำได้เพียงแต่ระวังด้วยสติปัญญาความสามารถเฉลียวฉลาดนี่ อย่าให้ไปติดในอดีต, ปัจจุบัน และอนาคต  ที่ว่าทำสิ่งด้วยจิตที่ไม่ผูกพันอยู่ด้วย ตัวกู-ของกู ซึ่งจะทำให้มีอดีต, ปัจจุบัน และอนาคต  เรายังไม่หมดกิเลสแต่เราจะพยายามทำเหมือนกับคนหมดกิเลสเท่าที่เราจะทำได้เพื่อจะไม่มีความทุกข์  ท่านทำได้สำเร็จแล้วโดยไม่ต้องทำอีก  ไอ้เรานี่ยังพยายามกระทำให้เป็นอย่างนั้นให้มากเท่าที่จะทำได้เวลาที่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่ ให้มันมีมากกว่าเวลาที่เราเผลอไปไม่มีสติสัมปชัญญะ  ให้มีจิตว่างจาก ตัวกู-ของกู นี้ เป็นเวลามากวันหนึ่งๆ กว่าเวลาที่เผลอไป และมี ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นมา  พอเผลอไปมันก็มี ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นมาไม่มีเรื่องอะไรมันก็รำพึงถึงอดีตถึงอนาคตได้มาก เป็นไปในทางที่จะเป็นทุกข์ไม่ใช่เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ  มันไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบสำหรับ ตัวกู- ของกู มันจะมีแต่จะโง่มากขึ้นไปเป็นทุกข์มากขึ้นไป  ไอ้การศึกษาเปรียบเทียบนี่มันของสติปัญญาต้องเป็นเวลาที่ไม่มี ตัวกู-ของกู เข้ามายุ่งด้วย  เพราะฉะนั้นขอให้สังเกตเป็นพิเศษในแง่หนึ่งอีกแง่หนึ่งคือ เรื่องความลังเลระแวงสงสัยว่า เรามีอยู่มากน้อยเท่าไร และก็มีอะไรเป็นวัตถุที่เป็นที่ตั้งของความระแวง, ลังเล, สงสัย  ก็จงดูที่ว่าเรากำลังอยากอะไรหรือมีอะไรผูกพันอยู่เป็นเรื่อง กามตัณหา หรือ ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา มันไม่พ้นไปจากสามเรื่องนี้ก็พยายามแก้ไขไอ้สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความอยากนั้นให้มันหมดความหมายจนไม่ต้องให้เป็นเรื่องของความอยากจนเกิดความทุกข์  มันเป็นเพียงหน้าที่ที่จะพึงกระทำไปตามทางที่ถูกที่ควรนี้  ก็เรียกว่า เป็นผู้อยู่ในร่องรอยของพระอริยเจ้าคือ ไม่มีความทุกข์รบกวนมาก, กระทั่งไม่มีความทุกข์เลย  เราอาจจะไม่มีความทุกข์เลยเป็นวันๆ เดือนๆ ก็ได้, ทั้งวัน, ทั้งคืน, ทั้งเดือนก็ได้ ถ้าเราตั้งตนไว้ชอบในลักษณะอย่างนี้แล้วปีหนึ่งจะเผลอสักสองสามครั้งก็ได้กำไรถมไปแล้ว  นี่เรื่องที่ว่า จะเดินตามรอยของบุคคลผู้ไม่มีความทุกข์มีลักษณะสำหรับสังเกตศึกษากันอย่างนี้ทั้งในแง่ของการปฏิบัติ และในแง่ที่เป็นผลของการปฏิบัติเป็นการทดสอบเรื่อยๆ ไปในความเป็นอยู่ เป็นประจำวัน  พอพบว่า, แหม, เราอยู่ด้วยรู้สึกลังเล, ระแวง, สงสัย ก็ควรจะเสียใจให้มากละอายให้มากว่า มันไม่สมกับการเป็นสมณะศากยบุตร, สมณะศากยบุตร  ลองคิดดูมันมีความหมายว่าอะไร  มันไม่ควรจะเป็นไปด้วยความระแวง, ลังเล, สงสัย  ต้องมีความสงบ, ต้องมีความแน่ใจ, ต้องมีความอิสระ, มีความกล้าหาญ  นี่ตรงกันข้ามหมดเลย  

                   เวลาของเราก็หมด

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service