แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ไปตามเคย แล้วก็ต่อจากครั้งที่ได้บรรยายมาแล้วในคราวก่อน เรากำลังพูดกันถึงเรื่อง ศิลปะของความสุข พร้อมทั้งสัญลักษณ์ของความสุขคือ มันเป็นเรื่องที่จะมองพร้อมกันไปในคราวเดียวกันได้คือ ถ้าเรารู้ว่าความสุขที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไร เราก็พยายามที่จะทำให้มีลักษณะอย่างนั้นเกิดขึ้น แล้วลักษณะอย่างนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความเฉลียวฉลาดถึงขนาดที่เรียกว่ามีศิลปะซึ่งมีความหมายว่า มันน่าดู มัน, เมื่อมันน่าดูก็หมายความว่ามันงดงาม สิ่งที่ทำยากเมื่อได้ทำสำเร็จจะน่าดูที่สุด ฉะนั้นมันก็งดงามที่สุดด้วย ฉะนั้นมันกลายเป็นชีวิตที่งดงามคือ การเป็นอยู่ที่งดงามไม่ระคนด้วยความทุกข์ หรือสิ่งที่น่าเกลียด คำว่าความทุกข์นั้นนอกจากจะแปลว่าทรมานแล้วมันยังแปลว่าน่าเกลียดดูแล้วน่าเกลียด ทุ แปลว่า น่าเกลียด อิกขะ นั่น แปลว่า ดู ฉะนั้นความทุกข์จึงไม่ใช่ศิลปะคือ ไม่งามไม่น่าดู ทีนี้เท่าที่บรรยายมาแล้วในครั้งก่อนๆ ก็พอจะสังเกตดูเองได้เดี๋ยวนี้ว่า ชีวิตที่มีความสุขมีสัญลักษณ์ของความสุขนั้นมันน่าดูอย่างไรมันเป็นศิลปะมากน้อยเท่าไร มันเป็นศิลปะในทางนามธรรมหรือทางวิญญาณไม่เกี่ยวกับสี, แสง, เส้น, ลาย อะไรทำนองนี้ แต่มันยังเป็นศิลปะยิ่งกว่า ฉะนั้นขอให้ทำกับมันอย่างละเอียดลออ, สุขุม, ประณีต, ลึกซึ้ง, งดงาม
เราได้พูดกันมาถึงเรื่องสัญลักษณ์ของความสุขหลายแง่หลายมุมแล้ว และก็ยังมีที่จะพอพูดกันต่อไปได้บางแง่บางมุม ที่จริงถ้าจะพูดกันมันก็พูดกันได้ไม่รู้จักสิ้นสุด ดังนั้นจึงต้องพูดกันเพียงเท่าที่จะเป็นเครื่องสังเกต เราได้พูดกันถึงเรื่องไม่หิว, ไอ้เรื่องกิน, เรื่องกาม, เรื่องเกียรติ, ไม่เป็นทาสทางอายตนะ, ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ นี้ เรื่องไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเป็นทุกข์เป็นร้อนเพราะความวิบัติต่างๆ นานา หรือแม้เพราะผลแห่งกรรมตามมาทัน และได้พูดกันถึงเรื่องที่ว่ามีสภาพของจิตชนิดที่ไม่รู้จักกลัวอะไรไม่มีอะไรที่ทำให้กลัวได้ และก็มีสภาพของจิตที่ไม่ต้องมีอะไรกระตุ้น และกระตุ้นไม่ได้ เมื่อมันอยู่ในสภาพที่อะไรอะไรมันกระตุ้นมันไม่ได้มันก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรกระตุ้นนั่นเอง ฟังดูให้ดีแล้วมันเป็นเรื่องเดียวกันคือ ถ้าจิตนี้มันอยู่ในสภาพที่อะไรอะไรมันกระตุ้นให้มันผิดไปจากปกติไม่ได้ เมื่อมันอยู่อย่างนั้นมันก็คือไม่มีอะไรมากระตุ้นมันไม่ปรากฏว่ามีอะไรมากระตุ้นเพราะมันหายหรือมันสลายไปทั้งๆ ที่ว่าสิ่งแวดล้อมตัวเราอยู่นี่เป็นสิ่งกระตุ้นทั้งนั้นแต่นี่กลายเป็นไม่มีไปเพราะมันไม่มีอำนาจ ทีนี้เพียงเท่านี้ก็รู้สึกว่าน่าดู
ทีนี้ก็อยากจะพูดต่อไปอีก ๒-๓ อย่างถึงเรื่องว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความหม่นหมองหรือขัดใจ พูดอย่างนี้ก็เข้าใจได้ทันทีว่าเกี่ยวกับกิเลสประเภท โทสะ ผู้ที่มีความสุขต้องไม่มีอะไรทำให้เขาหม่นหมองได้หรือขัดใจได้ ถ้ายังมีอะไรทำให้หม่นหมองได้ขัดใจได้มันก็ยังไม่มีความสุขมีอะไรที่มาทำให้หม่นหมองขัดใจไม่ได้ แล้วก็ไม่ต้องถึงกับแสดงอะไรออกมามีความปกติอยู่เสมอ ที่ไม่มีอะไรมาทำให้ขัดใจนี้มันมีความหมายหลายอย่างคือว่า ไอ้อย่างสูงสุดนั้นมันอยู่ที่หมดกิเลสสิ้นเชิงมันก็ไม่มีอะไรที่ทำให้ขัดใจหรือหม่นหมองได้ นี่มันก็เป็นเรื่องสิ้นสุดไปแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่มียังไม่หมดกิเลสยังมีอะไรทำให้ขัดใจหม่นหมองใจได้นี่มันจึงต้องระวังจึงต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าศิลปะ หรือสำนวนชาวบ้านที่พูดว่าต้องจัดหลีกกันให้ดีๆ อย่าให้มากระทบกันได้ มันไม่ได้หมายความว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจึงจะไม่มีความขัดใจหรือหม่นหมอง มันต้องหมายความว่า แม้เป็นปุถุชนอยู่นี้เราก็ต้องมีเวลาที่ไม่มีความขัดใจ หรือความหม่นหมองนี่ให้มันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กระทั่งวันหนึ่ง, สองวัน, สามวัน มันก็ไม่เคยมีเรื่องขัดใจหม่นหมอง หรือเดือนหนึ่งก็ไม่เคยมีเรื่องขัดใจหม่นหมอง, หลายๆ เดือนก็ยังเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็หมายความว่า มันมีศิลปะหรือเป็นผู้ที่มีสัญลักษณ์ของความสุข
ทีนี้สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสนี้ ทางที่จะให้เกิดความหม่นหมองก็คือ มีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วมันไม่ได้ตามที่อยาก, มันไม่เป็นไปตามที่อยาก, ในสัตว์, บุคคล หรือในสังขารใดๆ ก็ตามคือ ทั้งคนและทั้งของนี่ หรือภาวะ หรือเหตุการณ์ หรืออะไรก็ตามที่มันไม่เป็นปตามที่ตัวอยากมันเกิดขัดใจเกิดหม่นหมอง ทีนี้ไอ้ความหม่นหมองนี้มันมีเมื่อกระทบกับสิ่งที่ทำให้หม่นหมองก็มี แล้วมันยังมีได้ถึงกับว่า แม้มันไม่มีอะไรมากระทบให้หม่นหมอง, มันก็คิดเอาได้, มันก็คิดเอาคือ ให้เกิดความรู้สึกที่ขัดใจหรือหม่นหมองได้เหมือนกัน หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก แม้ไม่ขัดแม้ไม่คิดไม่นึกแต่ความจำหรือสัญญาในอดีตมันมีมากมันก็ปรุงแต่งเป็นความขัดใจ หรือหม่นหมองขึ้นมาได้แม้ในความฝัน ฉะนั้นเราจึงมีโรคทางวิญญาณชนิดนี้กันมาก, มีความขัดใจหรือหม่นหมองใจเพราะมันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
ทีนี้คนโดยมากพูดว่า, โดยมากที่สุดก็ได้, เขาไม่รู้เรื่องนี้ไม่สนใจที่จะแก้ไขแต่เขาโง่เป็นอันธพาลในการที่จะไปตามใจมันยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นก็เลยเป็นเรื่องมีนิสัยขัดใจหม่นหมองง่ายขึ้น ไอ้เรื่องความโกรธนี้เขามีคำเปรียบอุปมาไว้ในพระคัมภีร์ว่า มันหวานที่โคนถึงแม้ว่าปลายมันจะเผ็ด หรือร้อน หรือจืด อะไรก็สุดแท้ แต่ที่โคนมันหวานหมายความว่า ได้โกรธใครได้ด่าใครแล้วมันรู้สึกเอร็ดอร่อยแม้แต่จะไปด่าลมด่าดินฟ้าอากาศก็ยังรู้สึกเอร็ดอร่อยก็ที่โคนมันหวานแต่แล้วมันก็จะต้องเสียใจทีหลังที่ปลายมันก็จะเป็นเรื่องเผ็ดเรื่องจืดเรื่องอะไรกันไป ไม่มีรสไม่มีชาติอะไรบางทีมันก็ขมมากเพราะมันไปทำในลักษณะที่มันมากเกินไป ฉะนั้นจึงขอให้ระวังให้ดี
ธรรมชาติเดิมๆ ในสันดานของคนเรานั้นพอได้โกรธมันก็อร่อยได้ทำไปตามความโกรธก็ยิ่งอร่อย ไม่รู้สึกว่าเป็นไฟ หรือว่าเป็นความเจ็บปวดอะไร ต่อภายหลังมันจึงจะรู้สึกเจ็บปวดมันจึงมักจะเคยชินไปแต่ในทางที่จะโกรธให้มันมากขึ้น มีเรื่องเล็กน้อยก็เก็บมาโกรธให้ได้มากขึ้นยืดยาวขึ้น บางทีไม่มีเรื่อง, ไม่ควรจะมีเรื่อง, ไม่ควรจะเป็นเรื่อง, ไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องก็เอามาเก็บ, ก็เก็บเอามาคิดนึกปรุงแต่งให้มันเป็นเรื่องสำหรับจะได้เพลินไปในการที่จะโกรธ หรือจะขัดใจ หรือจะหม่นหมองใจจนกลายเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นกิเลสตัวนี้เกี่ยวกับ โทสะ หรือความโกรธนี้มันเป็นปัญหามากในการที่ทำให้เราไม่ได้ประสบความสงบสุขอันแท้จริง มันจึงอยู่ในบัญชีกิเลสที่เป็นประธานอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง คือ โลภะ, โทสะ, โมหะ เพราะนั้นจะต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แล้วก็แสดงออกมาเป็นประจำวันไม่ต้องมีใครมาทำให้โกรธ มันก็คิดขึ้นมาสำหรับจะขัดใจหรือโกรธคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วยความจำหรือสัญญาในอดีต อย่างที่ว่ามาแล้วไอ้ความอร่อยของมันนั่นแหละทำให้คนติดไม่ชอบจะทำลายมันเสีย, ไม่ชอบจะสละหรือละมันเสีย ทีนี้ยิ่งมีโอกาส, มีอำนาจวาสนานี้, มีอะไรนี้ก็ยิ่งโกรธ หรือขัดใจได้ง่าย ฉะนั้นการอยู่กับคนที่เขาไม่มีทางที่จะต่อสู้หรือไม่มีฝีไม้ลายมือนี้เราว่าเขาได้ข้างเดียว, เราทำเขาได้ข้างเดียว นี้ก็เป็นการช่วยให้กิเลสตัวนี้มันเจริญหนาแน่นออกไปกว่าเดิม ฉะนั้นการที่มีคนใช้ที่ด่าได้หรือมีคนที่ด่าได้ นั่นละมันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสข้อนี้มันก็ทำให้นายหรือผู้มีอำนาจนั้นเสียหายบอกไม่ถูก แต่เขาก็ไม่รู้สึกคือ มันมีนิสัยที่เลวทรามไปโดยไม่รู้สึก ถ้าอยู่ด้วยคนที่เสมอกันโอกาสอย่างนั้นมันก็มีน้อยแต่มันก็มีทางออกอย่างอื่นอีกที่จะโกรธ
นี่อยู่ด้วยคนที่เขาใหญ่กว่ามีอำนาจบังคับบัญชาเรานี่ มันก็มีโอกาสอย่างอื่นอีกเหมือนกันที่จะโกรธทำอะไรเขาไม่ได้ก็เก็บอัดไว้ในใจ เพราะนั้นจึงเรียกว่าความขัดใจหรือความหม่นหมองรวมเป็นพวกเดียวกันหมดว่า ความโกรธ, ความขัดใจ, ความหม่นหมอง ต่อหน้าอารมณ์ที่มากระทบก็มี, ลับหลังอารมณ์ที่มากระทบก็มี ในที่สุดฝันเอาได้ในความฝันก็มี โดยเฉพาะเรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องไปพิจารณาดูให้ดีทดสอบตัวเองดูให้ดีว่ามันมีอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นหรือเปล่าเมื่อมีอะไรมากระทบมันก็ยังมีแบ่งแยกออกเป็นว่า สิ่งที่มากระทบนั้นมันอยู่ในวิสัยที่เราจะโกรธเขาได้ง่ายๆ หรือว่าโกรธได้ยาก หรือว่าต้องเก็บอัดกลัดกลุ้มไว้ข้างในก็มีหลายชั้นก็ต้องหาวิธีที่จะบรรเทาหรือแก้ไขมันให้ถูกกับเรื่อง ไอ้ส่วนที่มันเกิดขึ้นหรือความคิดปรุงแต่งเอาเองนี่ก็ต้องพยายามรู้จักแล้วก็มีโอกาสที่จะปัดเป่าแก้ไขได้ง่ายกว่าเพราะมันมาช้า, ช้ากว่า ส่วนที่เก็บไว้ในสันดานเอามาฝันมันก็ต้องแก้ไขกันมากในส่วนสันดานแล้วดูเหมือนจะถึงขั้นที่เป็นพระอรหันต์กันเท่านั้นที่มันจะหมดไอ้เชื้อสกปรกที่เก็บไว้ในสันดาน ทีนี้ก็เอาเป็นว่ามันเหลืออยู่เพียงประเภทที่ว่า ประเภทที่หนึ่งคือว่า มันจะมากระทบซึ่งหน้า และประเภทที่สองก็คือว่า มันเป็นความผิดของเราเองที่เก็บเอาความคิดนั้นๆ มาคิดมาปรุงมาแต่งเป็นความคิดขึ้นสำหรับจะโกรธ บางคนเป็นนิสัยหรือว่ามีความคล่องแคล่วมากในการที่จะคิดฝันให้มีความโกรธหลายชั้น, โกรธในอนาคต, โกรธล่วงหน้า, โกรธอะไรมากมายไปขัดใจมากมายไป ขอให้ไปสังเกตตัวเองดูให้ดีๆ ว่ามันมีจริงหรือไม่ เมื่อไม่ชอบใครอยู่สักคนหนึ่งแล้วมันก็มีโอกาสที่ความคิดมันจะปรุงแต่งของมันเองว่า มันจะเป็นอย่างนั้นจะเกิดอย่างนั้นขึ้นมันจะเป็นอย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับจะเกลียดน้ำหน้ามันมากขึ้น นี่มันก็กลายเป็นหล่อเลี้ยงความโกรธด้วยความผูกโกรธมันก็เลยขัดใจตลอดเวลา, หม่นหมองตลอดเวลา, หาความสุขไม่ได้
ทีนี้นอกจากบุคคลแล้วมันยังมีสิ่งของอีก, มีสถานการณ์ต่างๆ อีก แม้แต่ธรรมชาติตามธรรมชาติแท้ๆ คนก็ยังโกรธ, โกรธฟ้า, โกรธฝน, โกรธดิน, โกรธน้ำ, โกรธลม, โกรธไฟ, โกรธอะไรที่มันเป็นไปตามธรรมชาติเมื่อมันไม่ตรงกับความต้องการของตัว นี้มันก็ไม่มีอะไรนอกจากทำตัวเองให้มีความทุกข์เป็นการทำตัวเองให้มีความทุกข์ แต่เขาก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการทำให้ตัวเองมีความทุกข์รู้สึกแต่เพียงว่าได้โกรธ, ได้ด่า, ได้ว่า, ได้อะไรไปตามความโกรธ แล้วก็อร่อยไปพักหนึ่งกลายเป็นของอร่อยแทนที่จะเป็น อนิฏฐารมณ์ กลับเป็น อิฏฐารมณ์ ระวังให้ดีไม่ได้ทำอะไรไปโดยความโกรธสักทีแล้วก็นอนไม่หลับ, ยังนอนไม่หลับต้องไปทำมันเสียแล้วจึงจะมานอนหลับ
เอาละทีนี้เราจะพูดกันถึงอารมณ์ของความโกรธประเภทที่มากระทบกันซึ่งหน้า, เป็นสัตว์, เป็นบุคคล, เป็นสิ่งของ, เป็นอะไรก็สุดแท้ อุบายที่จะกำจัดกิเลสอย่างนี้ประเภทอย่างนี้มันก็เหมือนๆ กันไปหมด อันแรกก็คือ ความระวัง, อันที่สองก็คือ ความอดกลั้น, อันที่สามก็คือ ความบรรเทา, บรรเทาออกไป, อันสุดท้ายก็คือ ตัดออกไปเสียจากความรู้สึก หลักอย่างนี้มันเป็นที่พึ่งอย่างยิ่งแล้วใช้ได้ในกิเลสทั่วไป ข้อที่แรกที่ว่า ระวัง ก็กินความกว้าง ถึงกับว่า ถ้าเห็นว่าควรหลีกก็หลีกไปเสีย การที่หลีกไปเสียนี้ก็เรียกเป็นการรวมอยู่ในข้อที่ว่า ระวัง อย่าให้มันเผชิญหน้ากันเข้า เมื่อทำได้ในการที่จะหลีกไปเสียแต่ก็ไม่ใช่มันเป็นความถูกต้องที่ว่าเราจะต้องคอยหลีกอารมณ์ต่างๆ ไปเสียเรื่อย มันก็จะกลายเป็นไม่มีที่อยู่ในโลกนี้มันก็ลำบากเหมือนกัน ฉะนั้นก็มีการสำรวมดี, ระวังดี, มีสติสัมปชัญญะที่ดีที่จะเข้าไปเผชิญกับมัน ถ้าเรามีความรู้ทางธรรมะที่ศึกษาไว้พอมันก็เป็นของน่าสนุกไปก็ได้เมื่อฝ่ายตรงกันข้ามเขาสนุกด้วยการได้โกรธ, ได้ด่า, ได้ว่า เราก็อาจจะสนุกด้วยการได้ถูกโกรธ, ถูกด่า, ถูกว่า, ถูกอะไรก็ได้เหมือนกัน มันเป็นศิลปะที่ยากขึ้นไปอีกแต่ก็ต้องทำได้ คำว่าสังวรณ์ สำรวมระวัง ก็คือ เราระวังไว้ไม่ให้เราเป็น, ไม่ให้เรามีความโกรธเกิดขึ้น ฉะนั้นไม่ว่าอะไรมันจะประดังกันเข้ามาเป็นห่าฝนเราก็โกรธไม่เป็นสังวรระวังอย่าให้ความโกรธเกิดขึ้น
ถ้าเรามาคิดว่าเป็นผู้แพ้เป็นผู้น่าอับอายเสียเปรียบอะไรอย่างนี้แล้วมัน, มันระวังไว้ไม่อยู่, มันปิดกั้นไว้ไม่อยู่ ฉะนั้นเราเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าละอายหรือพ่ายแพ้ในการที่ใครจะมาโกรธเราด่าเราว่าเรา ถ้าเราไปโกรธตอบนั่นนะมันเป็นเรื่องที่น่าละอายหรือพ่ายแพ้ พระพุทธเจ้าท่านถือว่า คนโกรธตอบนั้นเลวกว่าคนโกรธมาทีแรก คนโกรธทีแรกแสดงความโกรธออกมานี้, แล้วคนที่สองแสดงอาการโกรธตอบท่านถือว่า คนโกรธตอบนี่เลวกว่าคนโกรธทีแรก ก็หมายความว่าการอดทนต่อความโกรธนั้นเป็นธรรมะอย่างยิ่งในการไม่โกรธ การบังคับไว้ไม่ให้โกรธได้มันเป็นธรรมะอย่างยิ่งส่วนการโกรธออกไปนั้นมันไม่มีธรรมะอะไรเลย
ทีนี้การสำรวมระวังนี้มันก็มีเหตุปัจจัยของมันโดยเฉพาะอีกเหมือนกันอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมี หิริ และโอตตัปปะ คือ ความละอายและกลัวอยู่, อยู่อย่างมากอย่างพอเพียงกันสำหรับที่จะป้องกันไอ้ความโกรธไว้ได้ ไม่ให้ทะลุความโกรธขึ้นมาเพราะเห็นว่ามันน่าละอายเหลือที่จะน่าละอาย และน่ากลัวคือ มันเป็นอันตรายเมื่อเรารู้สึกว่าทั้งน่าละอายและทั้งน่ากลัวนี้จิตมันก็ไปในทางที่ไม่กล้าโกรธไม่อยากจะโกรธ นี้หมายความว่ายังต้องอาศัยธรรมะที่ประเสริฐวิเศษสำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งคือ สติ สัมปชัญญะ เมื่อ สติสัมปชัญญะ มี ความละอาย, ความกลัวก็รักษาไว้ได้ ยังมีความละอายความกลัวอยู่ได้แล้วมันจึงปิดกั้นไอ้ความโกรธไว้ได้ไม่ทะลุขึ้นมาไม่ระเบิดออกมาก็อยู่ในพวกที่เรียกว่า จัดหลีกดีไม่กระทบกันไม่เกิดเรื่องเกิดราว เพราะเหตุนี้นี่เรียกว่ามันกำจัดไปด้วยจะเรียกว่า กำจัดหรือป้องกันอะไรก็ตามว่า จัดการกับความโกรธนั้นด้วยอุบายที่เป็นการสำรวมระวังป้องกัน
ทีนี้อันถัดไปข้อที่สองก็คือ ความอดทน มันต้องมาด้วยกันมันต้องติดตามมาด้วยกัน ถ้าไม่สมัครจะทนเสียเลยละก็เป็นไปไม่ได้ที่มันจะระมัดระวัง หรือป้องกัน หรืออะไรให้อยู่ได้ หรือว่าในขณะที่เราสำรวมระวังบังคับตัวเองนี้ไม่ให้โกรธนี้มันก็ต้องมีความอดทนด้วย เพราะว่ามันเป็นความเจ็บปวดทางวิญญาณอย่างยิ่ง สิ่งที่มาทำให้โกรธนี่เป็นความเจ็บปวดทางวิญญาณอย่างยิ่งก็ต้องอดทนให้มากให้พอกัน อดทนต่อพิษสงความโกรธ หรือว่าอดทนต่อไอ้การบีบบังคับตัวเองไม่ให้โกรธนี่ ไอ้โกรธออกไปแล้วมันก็ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรที่จะไปอดทนแต่เมื่อมันกดดันหรือบีบบังคับให้ต้องโกรธ เราทนได้นี่เป็นเรื่องที่ดีเรียกว่าเป็น ขันตี ชนิดดีคือ ประเภท อธิวาสนขันตี อดทน คือ อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส กิเลสในที่นี้คือความโกรธที่จะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นอยู่ หรือ โทสะ นี่มันบีบคั้นตั้งแต่มันจะเกิด, แล้วมันเกิดอยู่มันก็บีบคั้น ที่ว่ามันจะเกิดก็หมายความว่า อารมณ์ข้างนอกที่เข้ามากระทบมัน, มันทำให้เกิด ฉะนั้นต้องอดทนกับอารมณ์นั้นเช่น คำด่านี้ ก็ต้อง, เมื่อสำรวมระวังไว้ไม่ได้แล้วมันก็ต้องอดทนอีกทีหนึ่ง ถ้าสำรวมระวังไว้ได้มันก็ไม่ต้องถึงกับทนมันหัวเราะได้ ถ้ามันหัวเราะไม่ได้หัวเราะไม่ออกมันก็บีบคั้นแผดเผาทิ่มแทงมันก็ต้องเป็นหน้าที่ของความอดทนคือ อธิวาสนขันตี ถ้าไม่อดทนมันก็มีการด่าตอบโกรธตอบซึ่งเลวกว่าคนด่าทีแรก ดังนั้นการอดทนความโกรธ หรือต่ออารมณ์ที่มาทำให้โกรธนี้มันทนยากบางทีอดทนจนเหงื่อแตก อดทนจนหน้าแดงปากสั่นมือสั่น นี่ครั้งแรกก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นไม่เชื่อก็ไปลองดูต่อเมื่ออดทนเก่งเข้าชำนาญมากเข้าเท่านั้นมันจึงจะสงบเสงี่ยมยิ้มแย้มอยู่ได้ด้วยความอดทนนั้น เดี๋ยวนี้มันไม่อยากอดทนมาตั้งแต่ทีแรก, ไม่สำรวมระวังด้วย, ไม่อดทนด้วยมันก็เลยออกงิ้วออกยักษ์ออกมารแสดงท่าเป็นยักษ์เป็นมารทั้งที่เป็นพระเป็นเณรนี่ เพราะมันลืมไปมันก็เลยเสีย มันเสียไม่เพียงแต่เสียความสงบสุขหรอกมันเสียอะไรมากไปกว่านั้น เพราะนั้นต้องชอบ บูชาความอดทนพิจารณาว่าไอ้การอดทนได้นี่วิเศษกว่าตรงกันข้ามฝ่ายตรงกันข้ามคือไม่อดทน คนโบราณเข้าพูดไว้เตือนสติง่ายๆ ว่า แพ้เป็นพระ, ชนะเป็นมาร นี่คงจะได้ยินกันเสมอๆ ผู้แพ้นั้นเป็นพระ, ผู้ชนะนั้นเป็นมาร หมายถึงคนที่ทนได้ไม่โกรธตอบมีลักษณะของความเป็นพระ ส่วนคนที่โกรธตอบนั้นก็คือ เป็นยักษ์เป็นมาร, รู้สึกว่าตัวชนะ ก็เป็นอันธพาล ส่วนคนที่แพ้คือ ไม่โกรธตอบ, ไม่ด่าตอบ, ไม่ตีตอบนี่กลับเป็นพระ แต่ว่าคำสอนคำเตือนหรือสุภาษิต หรืออะไรทำนองนี้มันก็อย่างเดียวกันอีกคือว่า ถ้าปราศจาก สติสัมปชัญญะ แล้วมันก็ไม่มาช่วย, ไม่มาช่วยอะไรได้ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนหมด ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าขันติเป็นเครื่องกั้น เอ้ย, สติ เป็นเครื่องกั้นนับตั้งแต่กั้นความผลุนผลัน ขันติสาหะนิวาระณา (นาทีที่ 33.19.370) ขันติเป็นเครื่อง...เอ่อ.. สติ นะ ไม่ใช่ขันติ, สติ เป็นเครื่องกั้นความผลุนผลัน ทำอะไรผลุนผลันออกไปแล้วมันก็กั้นกระแสของความโกรธที่จะเกิดขึ้น แล้วมันก็กั้นกระแสของความโกรธที่โกรธแล้ว และกำลังไหลไปอยู่ ให้มันจบให้มันสิ้นสุดโดยเร็ว ไอ้ สติสัมปชัญญะ นี่มันจึงเป็นธรรมะรวบยอด, ธรรมะสารพัดนึก, ธรรมะที่ต้องใช้ในทุกกรณีในการปิดกั้นก็ดีในการอดทนก็ดี ถ้ามันไม่มีสติแล้ว มันไม่มีทางที่จะเกิดความรู้สึกที่จะระวังสังวรณ์หรือว่าอดกลั้นอดทน
ไอ้เรื่องสังวรณ์ระวังเรื่องอดทนนี้มันเป็นระยะแรก อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในระยะแรกของการกระทบกับอารมณ์ที่จะทำให้โกรธ แล้วก็ขึ้นอยู่กับ สติ ถ้า สติ มีมันก็สังวรณ์ระวังได้มันก็ไม่ถึงกับทนไม่ถึงกับต้องอดทนแต่ถ้ามันพลาดไปในขั้นสังวรณ์ระวังมาถึงในขั้นอดทน มันก็ยังทนได้อีกทีหนึ่ง นี่ลองคิดดูสิว่ามันเป็นศิลปะเท่าไร คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นศิลปะในทางวิญญาณอย่างลึกซึ้งเท่าไร, อย่างงดงามเท่าไรนี้ ถ้าเราทำได้เราก็เป็นศิลปินเท่าไรลองคิดดู
ทีนี้เราไม่เคยนึกหรือไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำไป มันก็เลยมีแต่เพาะนิสัยให้โกรธ, ให้มักโกรธ, ให้ผูกโกรธ, ให้ผลุนผลันไม่อดทนแสดงความโกรธออกมากระทั่งทางวาจา, กระทั่งทางกาย, ไม่มีความอดทน เมื่อพ่ายแพ้ในด่านที่เป็นการสังวรณ์ระวังแล้วมาถึงด่านที่จะต้องอดทนมันก็พ่ายแพ้อีกมันก็แย่
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องระยะยาวที่จะแก้ไขนิสัยสันดานส่วนนี้ก็คือ การบรรเทา ข้อที่สามเป็นการบรรเทา หาโอกาสที่จะตัดทอนกำลังของมันอยู่เสมอ อะไรเป็นกำลังของความโกรธเป็นเหตุปัจจัยของความโกรธหรือเป็นสิ่งปัจจัยหล่อเลี้ยงความโกรธนี่จะต้องพยายามตัดทอนอยู่เสมอบรรเทาอยู่เสมอก็เลยเป็นเรื่องที่ใหญ่ไป มีมากมายหลายวิธี ไปคิดเอาเองบ้างก็ได้ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้วก็คือว่า พอถึงเวลาหนึ่งมี สติ อยู่กับเนื้อกับตัวแล้วเข้าสู่ที่สงัดแล้ว พิจารณาไอ้โทษเลวทรามของความโกรธนี้ว่ามันมีอยู่เท่าไรน่าละอายเท่าไรเหมือนกับที่ว่ามาแล้วข้างต้น กระทั่งรู้ว่ามันเป็นของหวานแต่ในระยะแรกๆ นิดหน่อยเท่านั้น และมันเป็นของขมของเผ็ดของอะไร หรือไม่มีรสไม่มีชาติในที่สุดเรื่อยไปๆ จนกระทั่งมันเกิดไอ้ความสลดสังเวชมีความสังเวชตัวเอง แล้วก็เห็นกว้างออกไปถึงเรื่องโทษภัยในวัฏฏะ ใน วัฏฏสงสาร ซึ่งเราเกิดมาเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์นี้กับความรู้สึกเบื่อหน่ายความรู้สึกสลดสังเวชทำนองนี้มันเกิดขึ้นแล้วละก็ไอ้เชื้อของความโกรธหรือกำลังของความโกรธนี้มันก็จะถูกริดรอนบรรเทาไปได้ให้ทำอยู่เสมอ
เขามักจะพูดกันว่า เมตตา, การเจริญเมตตาเป็นเครื่องกำจัดความโกรธผมว่าทำยาก เพื่อจะให้แผ่เมตตาให้ความรักในสิ่งที่มันทำให้โกรธนี่มันคงจะทำแต่เป็นพิธีพอเป็นพิธีนี่มันทำยาก มันต้องใช้วิธีที่ว่าเราจะต้องดูตัวเราที่อยู่ในสภาพที่น่าสังเวชหลายๆ อย่าง, หลายๆ ทางด้วยกัน อยู่ใต้อำนาจของกิเลส, กิเลสอันนี้มันบีบคั้นเหมือนกับว่าเราทนทรมานอยู่ในนรกแล้วเราละอายแล้วเรากลัว หรือเราเบื่อหน่าย เราสังเวชหรือจะไปมองว่ามันไปเล่นกันกับไฟไม่มีทางที่จะรอดตัวได้ต้องหลีกออกมาเสียจากไฟของความโกรธ, จากอะไรที่มันเกี่ยวกับความโกรธนี่ มันจะบรรเทา, บรรเทา ค่อยๆ บรรเทาความโกรธได้เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราวกว่าที่เพียงแต่จะแผ่เมตตาชนิดที่ว่าไปแต่ปากตามธรรมเนียมตามประเพณีนี้ แต่ว่าการแผ่เมตตานี้มันก็มีผลเหมือนกันถ้ารู้จักแผ่ให้มันลึกซึ้งคือ ไม่พูดแต่เพียงว่า เรามีความรักมีความเอ็นดูสรรพสัตว์นั้นเพียงเท่านั้น มันแผ่ไมตรีจิตแผ่เมตตาเป็นเพื่อนเป็นอะไรกันนั้นมันก็ดีเป็นการตั้งต้นระยะแรกเป็นการปลอบตนเองในระยะแรก แต่แล้วมันจะไปหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ต้องลึกลงไปถึงกับว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น พอตั้งปัญหาว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นมันอาจจะไปพบคำตอบที่ว่า แหมคนโน้นมันก็เหมือนกับเรา, เรากำลังเป็นทุกข์อย่างไร, กำลังเป็นเหยื่อความโกรธหรือกิเลสอย่างไร, อยู่ในวัฏฏสงสารแห่งความทุกข์อย่างไร บุคคลคนโน้นก็เหมือนกันนั่นเขากำลังอยู่ในสภาพเหมือนกับเราในการที่จมอยู่ในความทุกข์ ทีนี้มันก็พลอยสลดสังเวชไปด้วยกันมีความสลดสังเวชกว้างขวางไปด้วยกันว่า เป็นเพื่อนทุกข์, เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย ด้วยกัน เพราะฉะนั้นการจะไปโกรธซึ่งกันและกันนี้มันบ้ามันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ หรือมันเลว หรือมันโง่ มันไม่มีอะไรดีเลย เป็นปุถุชนคนหนา หรือว่าเป็นอันธพาลคนเลว ถ้าเราจะไปทำร้ายแก่กันและกัน, ว่าร้าย, พูดร้าย, ทำร้ายแก่กันและกันในเพื่อนที่มันมีปัญหาอย่างเดียวกัน, มีความทุกข์อย่างเดียวกัน, มีหัวอกเดียวกันนี่มันชวนกันสลดสังเวชไปหมด มัน, มันลึกกว่าที่จะแผ่เมตตาว่าเป็นมิตรกัน, เป็นเพื่อนกัน, รักใคร่กัน, เป็นเกลอกันนั้นมันยังผิวเผินอยู่ ถ้าจะแผ่เมตตาก็แผ่ให้ลึกในข้อที่ว่า เราเป็นเพื่อนทุกข์ในวัฏฏสงสาร ด้วยกันอย่างที่ว่ามาแล้วทีแรก เพราะฉะนั้นถือหลักใหญ่ๆ ว่าพิจารณาว่า กำลังจมอยู่ในกองทุกข์อย่างเหลือที่จะกล่าวอย่างเหลือประมาณอย่างนี้นี่มันก็จะช่วยบรรเทาความโกรธคือ การริดรอนกำลังของความโกรธอย่าง, อย่างได้ผลทีละเล็กทีละน้อย, ทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยไปได้
ทีนี้การทำอย่างนี้นั้น มันก็ยังไม่พ้นไปจากสิ่งที่เรียกว่า สติ เหมือนกัน แต่มันเป็น สติ ที่สูงขึ้นไปเรียกว่า สติปัฏฐาน พิจารณาอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้งด้วย สติ มันเป็น ปัญญา นี่มันเกิดความรู้ขึ้นมาว่า อะไรเป็นอะไร ก็เลยกลายเป็นการเป็นอยู่ , มีชีวิตอยู่ด้วยการบรรเทากิเลสอยู่เรื่อยๆ ถ้าจะพูดให้ดีพูดไปให้ชัดอีกทีหนึ่งก็คือว่า ไอ้เครื่องมือที่เราไม่สำเร็จในระยะสองระยะแรกนี่, ในระยะสังวรณ์, ในระยะอดทนเราใช้ไม่สำเร็จ เอามาใช้ให้สำเร็จในระยะที่จะคอยบรรเทามันอยู่เรื่อย, ลับหลังในโอกาสหลังเครื่องมือเดิมทั้งนั้นแต่ทำหน้าที่ต่างกันบ้างเครื่องมืออันเดียวนะเราใช้ได้หลายหน้าที่นะเช่น มีดเล่มหนึ่งจะใช้ขูด, ใช้ฟัน, ใช้ตัด, ใช้แทง, ใช้อะไรก็ได้ เดี๋ยวนี้มันก็มาใช้ขูดอยู่เรื่อยๆ บรรเทาอยู่เรื่อยๆ เพราะมันทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้
ทีนี้เมื่อทำไปเรื่อยๆ มันก็มีโอกาสหนึ่งที่เราชำนาญ, เชี่ยวชาญ, ชำนาญ, แตกฉาน, รอบรู้ ก็จะมีโอกาสตัดหัวมันจับมาตัดหัวขาดไปเลยจึงเรียกว่าเป็นขั้นที่ว่า ตัดให้ขาดออกไป ถ้าตัดได้หมดมันก็เป็น, อย่างน้อย, ก็เป็นพระอนาคามี การตัดโกรธความโกรธได้ แต่ถ้าเรามาแบ่งเป็นชั้นๆ สำหรับตัดกันเป็นชั้นๆ ตัด, ตัดให้ขาดสำหรับชั้นนั้นๆ ตัดให้ขาดสำหรับชั้นที่เป็นสูงขึ้นมาตามลำดับนั้นเช่น ก่อนนี้เป็นอันธพาลเป็นปุถุชนชั้นเลวมีความโกรธร้อยเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้เป็นปุถุชนชั้นดีเป็นก็ตัดมันสัก ๕ % จะเป็นสัตตบุรุษแท้จริงขึ้นมาก็ตัดมันสัก ๒๐ % ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ แจกแจงความโกรธเป็นชนิดๆ ๆ เป็นลำดับเป็นลักษณะ อันไหนควรจะตัดไปก่อนก็ตัดไปอย่างนี้ก็เรียกว่าตัดเหมือนกัน ตัดขาด, ขาดเฉพาะที่กำหนดไว้เป็นชั้นๆ กระทั่งตัดขาดหมดเลยเป็น พระอนาคามี ส่วนเป็นพระอรหันต์นั้นไม่ต้องพูดถึง เมื่อมันตัดขาดไปแล้วตั้งแต่พระอนาคามีเมื่อเป็นพระอรหันต์ก็ไม่เหลืออยู่
เอาละทีนี้เรามาพิจารณาดูกันต่อว่ามันมีเป็นชั้นอีกว่า ความโกรธรุนแรงมันก็เป็นความโกรธเต็มที่ แล้วก็มาถึงความโกรธเพียงขัดใจหงุดหงิด, หงุดหงิดขัดใจอย่างนี้มันก็เบาลงมาแล้วก็เบาลงมาอีกก็เป็นความรำคาญ แล้วเบาลงมาอีกก็เป็นความหม่นหมองเล็กๆ น้อยๆ นี่เรื่องความโกรธมันก็ต้องมีมากไปตามอารมณ์ที่มันมีมาก ทีนี้คนมันมีจิตใจหรือสันดานหรืออะไรไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นมันจึงโกรธได้ต่างกันแม้ว่าอารมณ์มันเหมือนกันเช่นว่า เรื่องนี้คนนี้ไม่โกรธแต่คนโน้นโกรธ เรื่องนี้คนนี้จะไม่สู้โกรธแต่คนโน้นโกรธมากแล้วแต่ว่าเขามีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยในภายใน เราจึงแบ่งความโกรธแต่เพียงว่า มันโกรธมากเป็นฟืนเป็นไฟ, แล้วโกรธเพียงขัดใจ, โกรธเพียงรำคาญ, โกรธเพียงหม่นหมองเล็กๆ น้อยๆ ล้วนแต่ไม่ต้องมีทั้งนั้น ถ้ามีก็หมายความว่ามี ตัวกู-ของกู ในระดับใดระดับหนึ่งอยู่ ไอ้ความโกรธนั้นมันเป็นเรื่องของ ตัวกู-ของกู ชัดๆ นะ ที่มันมากหรือน้อยก็แล้วแต่ว่าตัวกูมันมากหรือน้อย ตัวกูมันจะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่อารมณ์ที่มันจะเข้ามาปรุงแต่งให้เกิดตัวกูมาก หรือเกิดตัวกูน้อย ตัวกูนี่คือ อุปาทาน เกิดมาจาก ตัณหา, ตัณหา เกิดมาจาก เวทนา เพราะฉะนั้นมันจึงอยู่ที่ปริมาณของ เวทนา คุณภาพหรือปริมาณของ เวทนา มันมากหรือน้อยเพียงไร ถ้ามันรักมาก, มันก็โกรธมาก หรือเกลียดมาก เพราะว่าไอ้สิ่งที่รักมาก มันก็ทำให้เกิดความอยากความต้องการมาก เมื่อผิดหวังไอ้ความผิดหวังมันก็มีพลังมากทำให้โกรธมาก เมื่อสุขเวทนา มีปริมาณมาก ไอ้ ตัณหา มันก็เกิดขึ้นมีปริมาณมากหรือน้ำหนักมาก แล้ว อุปาทาน ที่เกิดจาก ตัณหา มันก็มีน้ำหนักมาก ฉะนั้น ตัวกู-ของกู ที่เป็นภพเป็นชาติเกิดขึ้นมันก็มากที่จริงก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือเนื้อหาอะไรของสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่ได้เกิดขึ้นมารู้สึกขึ้นมาในจิตในใจ
ฉะนั้นเมื่อเราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็น เวทนา ที่มี อัสสาทะ มากนั้นก็ระวังให้ดีหมายความว่าเวทนา ที่มีความยั่วยวนมาก เวทนา ที่มี อัสสาทะ มาก เวทนา ที่มันตรงกันข้ามก็คือ เวทนา ที่เจ็บปวด มันก็ให้เกิดโทสะไปอีกทางหนึ่ง ไอ้ เวทนา ที่เป็นที่ตั้งของความรักความเอร็ดอร่อยนั้นมันต่อเมื่อมันผิดหวังมันจึงจะเกิด โทสะขึ้นมากตามกำลังของ เวทนา นั้น และเราก็ได้พูดกันมาแล้วว่าไอ้ โทสะ นี่มันเกิดมาจากการที่ไม่ได้ตามที่อยากหรือตามที่หวัง ฉะนั้นเรื่องที่ทำให้อยากมากหวังมากก็ทำให้เกิด โทสะ มาก ทีนี้ไอ้อารมณ์ที่ต้องให้มีความยึดมั่นถือมั่นมากก็เป็นเหตุให้ต้องโกรธมาก, โกรธลึก, โกรธนาน, โกรธอะไรไปตามเรื่องของมัน ความขัดใจอะไรเล็กๆ น้อยๆ จากอารมณ์ที่มันไม่ยั่วยวนมากเดี๋ยวเดียวมันก็ดับไปไม่เอามาคิดให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ยืดยาวนักเช่น วันนี้เราจะไม่อยากให้มีฝนตกอยากจะให้มีแดดดีทำอะไรสักอย่างหนึ่งมันก็ไม่มี ทีนี้มันก็หงุดหงิดขัดใจนี้เดี๋ยวมันก็หายไปมันก็ไม่มีอะไรยั่วยวน
ฉะนั้นไอ้ความโกรธที่แท้จริงนั้นเป็นความโกรธที่เกิดมาจากความรักคือ สิ่งที่อยากจะได้, ควรจะได้, หวังจะได้ ความโกรธนอกนั้นไม่เท่าไรไม่สู้มีความหมายอะไร ฉะนั้น สุขเวทนา จึงเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธอันลึกซึ้ง ทุกขเวทนา ให้เกิดอึดอัดขัดใจบ้างเท่านั้นเอง ส่วน อทุกขมสุขเวทนา นั้นบางทีจะให้รำคาญโดยไม่รู้สึกตัวบ้างแต่มันก็น้อยเช่น ทำให้เกิดความสงสัยมันก็รำคาญบ้างเท่านั้นเอง, หม่นหมองบ้างนิดหน่อย ฉะนั้นขอให้ระวังไอ้สิ่งสวยงามหอมหวนเอร็ดอร่อยคือ อิฏฐารมณ์ ทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกายนั่นละให้มาก มันจะให้เกิดความโกรธที่ทั้งรุนแรง, ทั้งลึกซึ้ง, ทั้งยาวนาน, ทั้งอะไรล้วนแต่ร้ายกาจไปหมด
นี่ก็คือเรื่องที่เราจะต้องรู้ตัวกันไว้ให้ดีๆ ว่าไอ้โอกาสที่เราจะมีความสงบสุขเยือกเย็นเป็น นิพพาน บ้างเป็นครั้งเป็นคราวนั้นมันอยู่ที่ความหายไป หรือสงบไปแห่ง ตัวกู-ของกู ถ้า ตัวกู-ของกู มันเกิดขึ้นมาในลักษณะใดก็ตาม มันจะต้องมีความทุกข์ คือเป็นนรกขึ้นมา ตัวกู-ของกู เกิดใน สุขเวทนา มันก็โกรธมากเป็นฟืนเป็นไฟ ตัวกู-ของกูเกิดในทุกขเวทนา มันก็โกรธอึดอัดขัดใจบ้าง และใน อทุขมสุขเวทนา มันก็แทบจะไม่มีเรื่องราวอะไรนะเพียงแต่เราพูดได้ว่า ความโกรธนั้นก็ต้องมาจาก ตัวกู-ของกู ความว่าง จากความโกรธมันก็ต้องไม่มี ตัวกู-ของกู ฉะนั้นความสุขทุกชนิดขึ้นอยู่กับ ตัวกู-ของกู ที่จะมารบกวน หรือไม่มารบกวน นี่เราก็ปฎิบัติในทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิด ตัวกู-ของกู เป็นอยู่ด้วยจิตที่มันบริสุทธิ์สะอาด, ประภัสสร หรือว่าง หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกอยู่เรื่อยๆ ไปเป็นประจำ ด้วยการระวังบ้าง, ด้วยการอดทนบ้าง, ด้วยการบรรเทาบ้าง, ด้วยการตัดออกไปได้ตามที่มันจะตัดได้บ้าง นี่เขาเรียกว่าผู้บำเพ็ญพรต, เป็นพระ, เป็นนักบวช, เป็นบรรพชิต, เป็นสมณะ, เป็นอะไร มีความสุขอยู่ได้เพราะความไม่โกรธ, ไม่อึดอัดขัดใจ, ไม่หม่นหมอง ถ้ามันเกิดขึ้นก็ละอายให้มาก, เสียใจให้มาก, ละอายให้มาก และกลัวให้มาก อย่าให้ถึงกับออกท่ายักษ์ท่ามาร, ออกงิ้ว, ออกอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธในบุคคลก็ดี, ในสิ่งของก็ดี, ในเหตุการณ์ในธรรมชาติอะไรก็ดี, ก็ระวังให้มาก ในสัตว์หรือในบุคคลที่มันต่ำต้อยน้อยหน้ากว่าเรานั้นเช่นแมว เช่นสุนัขนี้เราอาจจะโกรธมันได้ง่ายจะเตะมันกระเด็นไปเลยก็ได้ ระวังให้ดีว่าไอ้สิ่งที่มันต่ำต้อยน้อยหน้าน้อยวาสนานี่ มันจะเป็นที่เพาะปลูกความโกรธให้แก่เรา ส่งเสริมความโกรธ ฉะนั้นเด็กๆ นั้นนะ เรามีโอกาสที่จะไปด่าไปว่ามัน ไปล้อมันในที่สุดได้ง่ายกว่าคนโตๆ ด้วยกัน ระวังให้ดีๆ ไอ้สิ่งที่มันง่ายแก่การที่จะไปทำอะไรนั่นละมันจะเป็นต้นเหตุความเสียหายหรือความเสื่อมเสีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดขึ้นแก่บิดามารดาเนื่องมาจากลูกจากหลานนี้ เพราะว่าคนธรรมดาทั่วๆไปนี่ มันก็จะไม่ค่อยจะยอมให้แก่คนที่มันเป็นลูก, เป็นหลาน, เป็นน้องกัน เมื่อยอมแก่คนอื่นได้เพราะเป็นเพื่อนบ้านมันยอมได้ แต่ที่เป็นลูกเป็นหลานเป็นอะไรของเรา, ใต้อำนาจของเรา, ใต้บังคับบัญชาของเรา หรือเราเกิดมานี้มันยอมไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นกิเลสประเภทนี้มันก็เกิดจากบุคคลที่มันเล็กกว่าเราที่มันอยู่ใต้อำนาจเรา, ที่เราจะตี, จะด่า, จะอะไรมันเมื่อไรก็ได้, ระวังให้ดี บิดามารดาก็มีโอกาสที่จะเกิดบาปข้อนี้มาจากบุตรมากกว่าจากชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเราไปทำอะไรเขาไม่ได้ แต่กับลูกกับหลานกับเหลนนี่มันทำได้, อยากจะด่ามันก็ได้, อยากจะตีมันก็ได้, อะไรได้หมด แล้วก็ระวังให้ดีมันก็จะขาดทุนเอง ฉะนั้นเป็นอุปัชฌาอาจารย์มันก็จะมีบาปเกิดขึ้นจากลูกศิษย์ลูกหา เด็กเล็กๆ นี้คือ ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจใต้บังคับบัญชามันยั่วให้โกรธง่าย แล้วมันก็หายยาก แล้วมันก็บังคับยากยั้งไว้ยาก หยุดไว้ยาก อันนี้เองเพาะนิสัยให้เรากลายเป็นคนมีความโกรธเป็นเบื้องหน้า ทีนี้เราก็ระวังให้มากเป็นพิเศษกว่าไอ้คนที่เสมอกัน
ทีนี้ส่วนคนที่สูงกว่าเรานั้นมันก็ระวังน้อยลงไปอีก เพราะเราไปแสดงอะไรได้ยากนอกจากจะมาคิดอึดอัดอยู่ในใจจะทำให้เราเกิดนิสัยสะเพร่าในความโกรธคือ คนที่ต่ำกว่าเรา หรือกระทั่งสัตว์เดรัจฉานคือ ทำอะไรมันได้ตามชอบใจ ทีนี้เพื่อนเสมอกันมันก็จะน้อยลงมาหน่อยก็จะเป็นบทเรียนที่ดีให้ระมัดระวังได้ดีขึ้น ถ้าเขาใหญ่กว่าเรา, เราก็ต้องคิดนึกมากขึ้น ในที่สุดเราก็เป็นผู้ปิดกั้น หรือว่าอดทน หรือบรรเทา หรือละความโกรธอยู่เสมอได้เรื่อยๆ เป็นสัญลักษณ์ของบุคคลผู้มีความสุข, เป็นผู้มีศิลปะในการมีความสุข, เป็นอยู่ด้วยความสุข เพราะว่าดับไฟแห่งความโกรธนี้ได้มากยิ่งขึ้นตามลำดับ, ตามลำดับนั่นเอง
และวันนี้เราพูดถึงเรื่องความไม่โกรธ, ไม่อึดอัดขัดใจ, ไม่หม่นหมองในฐานะที่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสุข เกิดมาจากจิตที่มันว่างจาก ตัวกู-ของกู ได้ตามสมควรแก่สติปัญญาสามารถของเรา ขอให้จำไว้อีกข้อหนึ่งแล้วเวลาของเราก็หมดกันที