แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราก็เป็นการพูดเรื่องที่เกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ไปตามเดิมที่แล้วมาเราพูดกันถึง ตัวกู-ของกู โดยหัวข้อใหญ่ว่า เรื่องความสุขความทุกข์นี่มันขึ้นอยู่กับ ตัวกู-ของกู ตัวกูเข้ามาความสุขก็หายไป ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ตัวกูออกไปความทุกข์ก็หายไปไอ้ความสุขก็ปรากฏอยู่นี้เป็นหัวข้อใหญ่ ทีนี้ก็ได้พูดกันถึงลักษณะที่จะเป็นเครื่องสังเกตสำหรับสิ่งที่เรียกว่าความสุข เมื่อมองกันในแง่ของ positive คือ การได้ หรือการมีอยู่ หรือเป็นการเพิ่มให้คือ ในแง่ของฝ่ายบวกก็เลยได้หัวข้อสิ่งที่พอเป็นตัวอย่างได้เช่น ความอิ่ม, ความรู้สึกอิ่ม, ความรู้สึกเป็นสุขกระทั่งถึงความแน่ใจ และการได้ทำหน้าที่บริสุทธิ์มีความรักสากลรู้สึกไม่มีเวรไม่มีภัย, ไม่กลัวเวรไม่กลัวภัย เพราะไม่มีเวรไม่มีภัยอยู่เป็นประจำก็เลยมีความรู้สึกเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนทุกสิ่ง อิสระทางกาย คือร่างกายสบายดีไม่มีโรคทางกายให้ถูกจำถูกขัง, อิสระทางจิต, จิตปรกติดีไม่มีใครข่มเหงน้ำใจบังคับความคิด แล้วก็เป็นอิสระทางวิญญาณคือ ไม่มีกิเลสเช่น ความโง่ของตนมาผูกมัดกักขัง เป็นต้น, เรียกว่าอิสระ ล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ของความสุขเป็นไปในแง่ของการได้การมีสิ่งที่ตนรู้สึกว่าต้องการ นี่เราเรียกกันง่ายๆว่าเป็นฝ่ายบวก หรือเป็นฝ่าย positive
ทีนี้มันมีเรื่องที่จะต้องมองกันไปอีกด้านหนึ่งอีกทางหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าในแง่ ไม่ได้ หรือ แง่ลบ หรือจะเรียกว่าไม่มี, แง่ไม่มี ก็ตามใจ ซึ่งจะเรียกว่า แง่ลบ หรือ negative ทีนี้ตรงนี้อยากจะขอแทรกเรื่องที่มันเกี่ยวกับภาษากันอีกสักครั้งหนึ่ง ที่จริงก็ได้เคยตักเตือนมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งที่ให้ระวังความสับปลับของภาษาคือภาษานี่มีความหมายหลายชั้นหลายแง่หลายมุมและยังหลายชั้นหมายความว่า ในแง่หนึ่งมุมหนึ่งมันก็มีหลายๆ ชั้นแล้วมันมีทางที่จะสับสนหรือเฝือกันมากจนมีอาการสับปลับ ทีนี้นักภาษาศาสตร์ก็พยายามบัญญัติหรือนิยามความหมายของถ้อยคำให้มันชัดลงไป ทีนี้เขาไม่ได้รู้ทั่วถึงทั้งหมดของสิ่งนั้นๆ การบัญญัติก็บัญญัติตามที่รู้ เท่าที่รู้ไปตามรูปที่มันรู้แล้วมันก็ไม่หมด ยิ่งการบัญญัติทางตะวันตกแล้วเอามาใช้กันไม่ได้กับทางตะวันออก เพราะมันมีจิตใจต่างกันมีความรู้สึกนึกคิดต่างกันมองอะไรต่างกันวิธีใช้เหตุผลก็ต่างกัน ฉะนั้นคำบัญญัติต่างๆ ที่มีอยู่หรือใช้อยู่โดยไม่รู้สึกตัวก็มี, บัญญัติขึ้นมาใหม่ก็มี, มันจึงต่างกันเราจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง นี่ความสับปลับของภาษาเป็นเหตุให้เราทะเลาะกันในระหว่างหมู่ระหว่างกลุ่มก็ได้ หรือว่าในหมู่เดียวกลุ่มเดียวกันก็พูดกันไม่รู้เรื่องเพราะจิตใจมันสูงต่ำกว่ากัน ฉะนั้นพุทธบริษัทพูดธรรมะแก่กันก็ยังไม่รู้เรื่องเพราะพุทธบริษัทมันต่างชั้นกัน นี่ถ้าถือเอาว่าต่างชั้นกันแล้วก็ถือว่าเป็นคนละหมู่คนละพวกอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน, ก็รอดตัวไปคือ กลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่องเพราะมันต่างพวกกัน แม้เป็นพุทธบริษัทด้วยกันมันก็เลยกลายเป็นต่างพวกเหมือนชาวต่างประเทศต่อกันและกันอย่างนี้
ที่จะพูดนี้ก็หมายความว่า เรามีวิธีพูดมีความหมายของคำพูดสำหรับพวกเราโดยเฉพาะ เขาจะพูดกันอย่างไรก็ตามใจเขาแม้ความหมายของคำว่า บวก หรือ ลบ positive หรือ negative นี้ก็ยังไม่เหมือนกัน อย่างฝ่ายหลักธรรมะในพุทธศาสนาหรือว่าศาสนาอื่นๆ ที่ลึกซึ้งทางตะวันออกก็พูดว่า ไอ้ ไม่มี อะไรเลยนั่นละคือ มีหมด ไอ้ไม่เอาอะไรเลยนั้นนะคือ ได้หมด แล้วคุณก็ลองคิดดูสิว่าจะฟังกันได้อย่างไรถ้าไปแยกเป็นบวกเป็นลบเป็น positive, negative อันนี้มันก็ใช้ไม่ได้กับคำเหล่านี้เพราะไม่มีอะไรเลยนั้นนะคือ มีหมด แล้วจะว่ามันเป็น positive หรือ negative สิ่งนั้น การไม่เอาอะไรเลยนะคือ ได้หมด ไอ้ไม่เอาอะไรเลยมันเป็นความหมายของ negative หรือว่างไปเลยนี้แต่มันกลับได้หมด หรือมีหมด พวกฝรั่งคงฟังไม่รู้เรื่องฝรั่งที่เป็นเจ้าตำรับบัญญัติคำพูดทางนิรุกติศาสตร์สมัยปัจจุบันคงฟังไม่รู้เรื่องเว้นไว้แต่เขาจะมาศึกษาวิธีการพูดตามความรู้สึกในขอบเขตของนักศึกษาทางธรรมะทางฝ่ายตะวันออกนี้กันเสียบ้าง ฉะนั้น คำว่า positive, negativism (นาทีที่ 8:28) อะไรก็ตามของพวกฝรั่งนี้มันก็คงมาใช้กันไม่ได้กับฝ่ายตะวันออกโดยเฉพาะของชาวพุทธ ทีนี้ถ้าผมจะพูดอะไรไปก็ต้องให้ถือกันเสียว่าแม้จะใช้คำอย่างเดียวกันคำคำเดียวกันแต่เรามีความหมายอย่างของเราเสมอ ฉะนั้นคำว่าบวก ว่าลบ, ว่า positive, ว่า negative นี่เราจะมีความหมายที่สูงกว่าธรรดาในรูปของภาษาธรรมะไม่ใช่ภาษาคนธรรมดา ฉะนั้นเราจึงมองความสุขหรือสิ่งที่เป็นยอดปราถนาได้ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบคือ ทั้งในแง่ positive และ negative และอย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านชอบใช้สำนวน negative คือ ปฏิเสธทุกอย่างเลยจนมันว่าง ไปไม่มีอะไรเหลือสำหรับจะมีอยู่เป็นอยู่สำหรับเราที่จะยึดถือ นี่ทีนี้พวกฝรั่งบัญญัติ existentialism อะไรออกมานี้มันก็ใช้กันไม่ได้ มันให้มีอยู่หรือมีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ไอ้เราไม่ยอมจะให้ถือว่ามีอยู่เว้นไว้แต่สิ่งที่ตรงกันข้าม นิพพาน หรือ อสังขตะ หรืออะไรที่พวกฝรั่งเขาไม่เข้าใจอีก ทีนี้ก็เอามาพูดกันไม่ได้คือ ไม่เข้าใจกันได้มันต้องต่างคนต่างพูดต่างกันคนละทีดีกว่า
สำหรับพระพุทธเจ้าท่านชอบพูดโวหาร negative ในเมื่อพูดจริงพูดตรง, พูดจริงพูดกับคนรู้แต่พอพูดกับคนธรรมดาชาวบ้านธรรมดาสามัญ หรือเรียกว่าพูดโวหารโลกโวหารชาวบ้านกลับพูดสำนวน positive อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่า นิพพาน นี้คือ ความสุขอย่างยิ่ง นิพพาน คือความสุขอย่างยิ่ง นี้มันเป็นพูดอย่าง positive แต่ทีนี้ พร้อมกันนั้นก็พูดกับคนที่เป็นนักศึกษามีปัญญารู้ได้ถึงกับพูดว่า นิพพาน นี่คือว่างอย่างยิ่ง นิพพาน คือไม่มีอะไรเลยกลายเป็นว่างอย่างยิ่ง ว่าง ตามความหมายของภาษาธรรมะไม่ใช่ ว่าง ภาษาอันธพาลที่ชาวบ้านเขารู้จักกันโดยมาก ฉะนั้น นิพพาน ก็เลยไม่รู้ว่าเป็น positive หรือ negative กันแน่ เราจึงต้องถือว่าแล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน ถ้ามองกันในแง่ positive ก็เป็นของน่ารักน่าเอาเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามองกันในแง่ negative ก็คือ ดับสนิท ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยเพราะว่าตัวกูมันดับไปของกูมันดับไปไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ฉะนั้นเมื่อเราตกลงกันไม่ได้เราก็ถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามมองดูได้ทั้งในแง่ positive และ negative เสมอไป แล้วแต่เราจะมองมันในแง่ไหนตามที่มันจะเป็นประโยชน์แก่เรา หรือว่าตามที่เราถนัดจะมอง หรือว่าตามที่เราจะพูดด้วยความมุ่งหมาย, จะพูดกับคนโง่หรือจะพูดกับคนฉลาด, จะพูดกับคนที่มีจิตใจต่ำหรือมีจิตใจสูง ทีนี้ที่แล้วมาผมก็ได้พูดเรื่องลักษณะของความสุขในแง่ positive คือ น่ารักน่าพอใจ หรือว่าอย่างน้อยมันก็เป็นเรื่องยั่วให้น่าสนใจ, น่าเอา, น่าได้, น่ามี, น่าเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็จะลองมองกันในแง่ของ negative บ้าง ก็ negative นี้ในชั้นลึกอย่างที่เรียกว่า ไม่เอาอะไรเลยนั้น คือ ได้ทั้งหมดไม่มีอะไรเลยนะคือ มีทั้งหมดไม่เป็นอะไรเลยนะ คือ เป็นทั้งหมดไม่ได้มีชีวิตอยู่เลยนั้นนะ คือ มีชีวิตนิรันดร อย่างนี้เป็นต้น แต่เรายังไม่พูดกันถึงเรื่องนั้นโดยตรงเพราะเรากำลังจะพูดกันถึงเรื่องลักษณะของความสุขแต่จะพูดกันในแง่ negative เท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณก็พยายามทบทวนไอ้ที่พูดกันมาแล้วแต่หนหลังว่าที่มันตรงกันข้ามจากที่พูดมาแล้วเป็นคู่ๆ นั่นละคือ พูดใหม่ในแง่ negative แต่ความหมายหรือวิธีพูดนี้มันเป็นอย่างของเรา
อันแรกเราจะพูดถึงความอิ่มทีนี้เราจะพูดถึงความไม่หิว, ไม่อยาก, ไม่ต้องการ, ไม่ประสงค์, ไม่หวัง, ไม่อาลัยอาวรณ์ ถ้าพูดว่าความอิ่มมันก็เป็น positive คือเป็นบวก ถ้าพูดถึงความไม่หิวมันก็มีความหมายมาไอ้ความลบ, ความไม่ได้ หรือ ไม่มี กระทั่งว่าไม่กินอะไรเลยมันจึงจะอิ่ม ถ้ามันยังต้องกินอะไรอยู่มันก็ไม่อิ่ม เมื่อเราพูดว่าความสุข, ทีนี้คิดง่ายๆ ของ negative เราจะต้องพูดว่า ไม่ทุกข์, ความไม่ทุกข์หรือสิ้นสุดแห่งความทุกข์ และยิ่งสลับซับซ้อนที่เรียกว่า ต้องไม่สุขและไม่ทุกข์นั่นมันจึงจะสุข, ทั้งไม่สุขและไม่ทุกข์ ถ้ายังสุขตามความหมายธรรมดาคือ ยึดถืออยู่ในความสุข, มีความสุข, รู้สึกเป็นสุข, สุขเวทนาอย่างนี้ด้วยแล้วละก็นั่นนะคือ ความทุกข์เสียอีก ฉะนั้นจึงไม่สุขไม่ทุกข์นั่นละคือ ความสุข เราเอากันแต่ว่าไม่มีทุกข์ก็แล้วกันเพราะสุขก็เป็นเวทนา, เวทนาก็เป็นสังขาร, สังขารก็เป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นต้น
ทีนี้เมื่อเราพูดถึงความแน่ใจ, ความไว้ใจตัวเองเคารพตัวเองได้, แน่ใจตัวเองเชื่อตัวเองได้อย่างนี้นั่นมันเป็น positive ทีนี้เราพูดในแง่ negative คือไม่กลัวอะไร, ความไม่กลัวอะไร, ไม่หวาดระแวงอะไร, ไม่สงสัยอะไร นี่ก็คือตรงกันข้าม ไอ้ที่จะพูดกันอย่าง positive ว่า ความแน่ใจไว้ใจนับถือตัวเองอย่างนี้นี่ขอให้รู้ไอ้สิ่งที่มันยังลึกลับซับซ้อนกันอยู่ในวิธีพูดจา หรือการพูดแก่คนที่ต่างชั้นต่างระดับ หรือต่างความมุ่งหมายของพุทธศาสนา อย่างที่ผมพูดว่า พระพุทธเจ้าท่านชอบพูดโวหาร negative เมื่อท่านจะแสดง นิพพาน อย่างแท้จริง ท่านไม่พูดว่า นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง เหมือนจะพูดเหมือนลูกกวาดขนมหวานให้แก่เด็กๆ ท่านก็พูดว่าไอ้อันนั้นนะมันไม่ใช่ดิน, ไม่ใช่น้ำ, ไม่ใช่ลม, ไม่ใช่ไฟ อันนั้นนะมันไม่ใช่ อากาสานัญจายตนะ, วิญญาณัญจายตนะ, อากิญจัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ อันนั้นไม่ใช่การไป, ไม่ใช่การมา, ไม่ใช่การอยู่, ไม่ใช่การอะไรที่ตรงไหนหมด จนไม่รู้ว่าจะพูดว่าอะไรใช้คำว่าก็ไม่ใช่, ไม่ใช่, ไม่ใช่ แล้วก็นี้คือ ที่จบสิ้นแห่งความทุกข์ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เป็นโวหาร negative ตลอดสาย ไม่มีว่าน่าสุขว่าน่าเอา หรือเป็นนั่นเป็นนี่อย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่ทั้งหมด, ไม่เป็นอย่างนั้นทั้งหมดตามที่มนุษย์รู้กันทั้งหมด ตรงนั้นละเป็นที่สิ้นสุดของความทุกข์ ทีนี้คนที่ไปเรียนนักธรรมเอกก็ได้ยินพุทธสุภาษิต อัตถิ ภิกขะเว ตถายตนัง นะอาโป นะเตโช นะวาโย (นาที18.03-18.07) อะไรมาแล้วแต่อาจจะไม่เคยนึกมากถึงอย่างนี้ก็เอามาพูดให้ฟังว่าพระพุทธเจ้าท่านมีปรกติใช้จำนวน negative คือไม่, ไม่เกิด, ไม่แก่, ไม่เจ็บ, ไม่ตายอย่างนี้, ไม่อยาก, ไม่ปรารถนา, ไม่อาลัย, ไม่หวัง, ไม่อะไร, ให้อยู่แต่อย่างนี้ ให้อยู่ในสภาพอย่างนี้, นี้เป็นสัญลักษณ์ของความสุข
ฉะนั้นที่เราพูดมาแล้วเป็นตัวอย่างทางสัญลักษณ์ของความสุขทาง positive ทางลูกกวาดทางขนมหวาน ทางโฆษณาชวนเชื่อ ทีนี้เราก็มาพูดตรงๆ จริงๆ กันบ้างในโวหาร negative คือ ไม่ มีคำว่า ไม่ ตลอดกาล อันแรกที่สุดก็พูดคู่กันกับความอิ่มในที่นี้เราเปลี่ยนเป็นความไม่หิวไม่อยากไม่กิน นี่คุณลองฟังดูไม่อยากไม่หิวไม่กิน ไม่อะไรเลยนี่คือสัญลักษณ์ของความสุข เดี๋ยวนี่เรามันหิว, หิวความสุขนั่นเอง นี่ลองไม่หิวความสุขมันก็จะอิ่ม แต่ว่าคำว่าไม่หิวนั่นมันกว้างกว่านั้น ไอ้หิวมันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาก็มี, ของธรรมชาติแท้ๆ ก็มีเช่น หิวข้าว อย่างนี้, ต้องการอาหารอย่างนี้, ไม่เกี่ยวกันอย่าเอามาปนกันอย่าเอามาเกี่ยวกัน เรื่องนี้เรื่องหิวอาหารหรือกินอาหารแล้วอิ่มนั้นความหิวความอิ่มอย่างนั้นเป็นเรื่องฝ่ายวัตถุไม่ใช่เรื่องธรรมะ ถ้าหิวธรรมะมันก็ต้องหิวกินชนิดอร่อย ถ้ากินอย่างอร่อยนะเป็นหิวอย่างธรรมะขึ้นมา เคยเตือนให้สังเกตว่ากินเป็นอาหารอย่างหนึ่ง, กินเป็นเหยื่อกินเหยื่อนั้นอีกอย่างหนึ่ง ไอ้กินเป็นเหยื่อนั้นเอามาพูดกันในที่นี้กินอาหารประจำวันที่ฉันอยู่ทุกวันนะถ้าฉันอย่างภิกษุมันเป็นกินอาหาร ถ้ากินให้เอร็ดอร่อยอย่างพวกชาวบ้านนั่งรถยนต์ไปกินข้าวกลางวันต่างจังหวัดนี้นั่นมันกินเหยื่อไปหาเหยื่อให้ลิ้น ฉะนั้นกินเข้าไปนั้นมันกินเหยื่อถ้า กินข้างออฟฟิศก๋วยเตี๋ยวชามเดียวนี้มันก็เป็นกินอาหารเพราะนั้นคำว่าหิวในที่นี้เราก็หิวของกิเลสคือ หิวกินเหยื่อ คำว่า หิว เราเลยเอาเป็นสามชั้นสามความหมาย เรื่องกิน, เรื่องกาม, เรื่องเกียรติ หิวกินก็หิวกินเหยื่อ, หิวกามก็หิวกามารมณ์โดยเฉพาะทางเพศตรงข้าม ทีนี้หิวเกียรตินี่คือ เรื่องดีเรื่องเด่นเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ๓ ก, ก-กิน, ก-กาม, ก-เกียรติ นี่หิว ๓ อย่างนี้คือ ความหิวแล้วไม่มีทางจะอิ่ม ครั้นเมื่อพูดจริงกันก็พูดไปทางที่ว่าไม่หิวไม่อยาก และไม่กินไม่ไปกินอาหารเหล่านี้ นั่นละจึงจะเป็นการพูดจริงพูดตรงไปตรงมา หรือพูดจริงพูดลึก ฉะนั้นสัญลักษณ์ของความสุขก็คือความไม่มีความรู้สึกหิว และหมายถึงทางนามธรรม, หิวเรื่องกินเหยื่อ, หิวเรื่องกามารมณ์, หิวเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง แต่ถ้าเราจะเอาเปรียบจะพูดให้ลึกลงไปถึงเรื่องวัตถุแล้วก็ยังแหวกแนวพูด แม้แต่อาหารตามธรรมดาเราก็จะไม่ให้มันหิว หรือไม่ให้มันรู้สึกรบกวนเรา ถ้ามันไม่ได้กินมันกระวนกระวายมันก็กระวนกระวายจนตายไปเลยก็แล้วกัน อย่าให้ความหิวนั้นมันเกิดเป็นปัญหาคือ เกิดเป็นกิเลสคือ เป็นโลภะโทสะอะไรขึ้นมา ให้สังเกตดูให้ดีว่าไอ้ความโกรธมันเกิดขึ้นเพราะเราไม่ยอมเสียสละถ้าเรามีการเสียสละไปแล้วความโกรธไม่มีทางจะเกิดขึ้นมาได้ไม่ว่าความโกรธในกรณีไหนโกรธคน หรือโกรธของ หรือโกรธอะไรก็ตาม เราไม่ยอมเสียสละไอ้ความยึดมั่นถือมั่นของเราแล้วเราจะต้องโกรธ ทีนี้มันหิวขึ้นมาเราก็สละเป็นเรื่องของธรรมชาติหรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนั้น และก็อย่าได้โกรธเพราะความหิวที่เขาเรียกกันว่า โมโหหิวข้าว, ไม่จำเป็นจะต้องมี นี่ แม้แต่กระทั่งวัตถุแท้ ๆ ก็ควรจะเป็นอย่างนี้ เรื่องกินข้าวปลาอาหารก็ไม่ควรจะให้ความหิวมันเผาผลาญจิตใจ มันหิวมันแสบท้องอะไรขึ้นมาก็พิจารณาในฐานะเป็นเวทนาทุกขเวทนาอะไรอย่างหนึ่งไม่ต้องเกิดความโกรธ ไม่ต้องเกิดอารมณ์ร้ายตายก็ตายไป
ทีนี้เรามาพูดถึงความหิวอย่างภาษาธรรม, เรื่องกิน, เรื่องกาม, เรื่องเกียรติ ถ้ายังหิวอยู่ไม่มีความสุข ฉะนั้นไปจัดการให้ดีๆ อย่าให้มีความหิว ๓ อย่างนี้ แล้วก็ไปสังเกตเอาเองว่าพอหิว ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วก็มีความทุกข์มันเป็นเรื่องทางจิต เพราะนั้นเป็นพระเป็นเณรเดี๋ยวนี้มันก็หิวได้, หิวกิน, หิวกาม, หิวเกียรติ, บวชเป็นพระอยู่ก็อยากจะออกไปกินดีๆ เอร็ดอร่อยตามวิธีที่ชาวบ้านเขากิน กามารมณ์นี้เป็นเรื่องคิดนึกได้ด้วยสัญญาในอดีต ก็หิวเหมือนกันหรือความหวังที่มันจะมีอย่างเลยขอบเขตมันก็หิวได้เหมือนกัน ส่วนเรื่องเกียรตินั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นพระเป็นเณรแล้วก็ยังยกหูชูหางอยู่วันหนึ่งหลายๆ หน รู้ได้ด้วยคำพูดกริยาท่าทางอะไรต่างๆเพราะฉะนั้นมันก็ต้องหิว ทีนี้สัญลักษณ์ของความสุขข้อนี้ก็คือไม่หิว และไม่กินด้วยซ้ำไปคือ ไม่ไปทำมันเข้า เรื่องมันก็มีไปถึงว่าจะมีความรู้เรื่องนี้อย่างไรหรือปฏิบัติอย่างไร และต้องใช้ความรู้ที่พูดถึงการบังคับจิตใจการมองเห็นความจริงในที่สุด ให้มันไม่มี...(ให้มันหมด? ให้มันกำจัด?)..[นาทีที่ 26:34 เสียงหายและกระโดด] มีความหิวเหล่านี้ไปได้ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยืดยาวที่เราก็พูดกันมามากมายแล้วแต่หนหลังก็ไปเอาเรื่องนั้นมาศึกษามาปฏิบัติเพื่อกำจัดเสียซึ่งความหิวก็จะกลายเป็นคนอิ่มตลอดกาล ไม่อยากอะไรนั่นละคืออิ่ม, ไม่ใช่กินเข้าไป, กินเข้าไป, กินเข้าไปแล้วจะอิ่ม มันต้องทำให้ไม่รู้สึกอยากอะไรมันจึงจะอิ่ม เดี๋ยวนี้คนสมัยใหม่เขาว่าจะหามาบำรุงบำเรอเข้าไปกินเข้าไปบำรุงบำเรอให้มันมากกว่าแต่ก่อนให้มันแปลกออกไปเป็นวัตถุนิยมอย่างนี้โลกมันก็ลุกเป็นไฟ
ทีนี้ข้อถัดไปที่มันตรงกันข้ามที่เรียกว่า ความสุข หรือความผาสุกความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงอยู่ได้ นั้น ในแง่ positive ทีนี้เราก็มีคำพูดในแง่ negative ว่าคือ ความไม่ทุกข์ความไม่ทุกข์ร้อนซึ่งมีความหมายมากกว่าธรรมดา ความไม่ทุกข์ร้อนที่กำลังจะพูดนี้ี่มีความหมายมากกว่าธรรมดาเราไม่ได้ทำผิดอะไรไม่ได้ทำตัวอะไร ไม่ได้มีอะไรแต่เราก็ยังต้องมีความทุกข์ร้อนเพราะความวิบัติตามธรรมชาติหรือว่าเพราะผลกรรมมาถึง เป็นคนดี เป็นสัตบุรุษ, ทีนี้น้ำมันท่วมใหญ่, อ้าว, มันก็สูญหายหมดทั้งลูกทั้งเมียทั้งทรัพย์สมบัติอย่างนี้เรียกว่า ความวิบัติ แล้วคนนั้นจะทุกข์ร้อนหรือไม่ทุกข์ร้อน ถ้ามีความทุกข์ร้อนมันก็มีความทุกข์เท่านั้นมันไม่สุขหรือผาสุกอะไรอยู่ได้ ในโลกนี้มันเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติไฟไหม้หมดทั้งบ้านทั้งเมืองมันก็พลอยถูกเข้าไปด้วยแล้วจะทุกข์ร้อนหรือไม่ เหมือนตัวอย่างที่ผมเคยเล่าว่า คนธรรมดาปุถุชนแท้ๆ เป็นนักเลงชนไก่ไปชนไก่อยู่ทางที่อื่นกลับมาบ้านเป็นขี้เถ้าหมดแล้วแกตบมือหัวเราะได้ไม่ทุกข์ไม่ร้อนแล้วหาเงินต่อไป, เป็นทนายความควรจะเป็นอย่างนี้ ทีนี้ส่วนมากก็มานั่งร้องไห้กันอยู่ ๗ วัน ๗ คืนก็ยังไม่หยุดพูดทีไรร้องไห้ทีนั้น, อันนั้นเสียไป, อันนั้นรักมาก, หายไปอะไรไป เพราะนั้นให้รู้ว่าไอ้ความวิบัติหรือภัยที่ช่วยกันไม่ได้นั้นมันยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งเขาเรียกว่า อมาตาปุตติกภัย คือ ภัยที่แม่ก็ช่วยลูกไม่ได้, ลูกก็ช่วยแม่ไม่ได้ทั้งที่รักกันมาก นี้ก็เล็งถึงอย่างนี้น้ำท่วมใหญ่, ไฟไหม้ใหญ่กระทั่งถึงความเจ็บความไข้ความที่มันจะต้องตาย ความเจ็บเป็นโรคที่รักษาไม่หายแม่ก็ช่วยไม่ได้, แม่เป็นโรคที่รักษาไม่หายลูกก็ช่วยไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าความวิบัติมีขึ้นก็ต้องหัวเราะมันจึงจะไม่มีความทุกข์
ทีนี้อีกอันหนึ่งซึ่งเป็นของลึกลับไม่มีทางพิสูจน์กันง่ายๆ คือ ผลกรรม เมื่อผลกรรมมาถึงหมายถึงกรรมชั่วกรรมบาปนะ เราไม่ได้ทำผิดทำบาปอะไรเดี๋ยวนี้แต่ว่าผลกรรมเก่าบาปเก่ามาถึงก็ต้องมีอันเป็นไปอย่างนั้น อย่างนั้น เดือดร้อนแสนสาหัสจนหมดเนื้อหมดตัวไม่มีผ้าจะนุ่งได้เหมือนกัน เรื่องผลกรรมเก่าหรือว่าทำดีมันไม่ได้ผลเป็นวัตถุอย่างที่ตัวต้องการนี้ ถ้าไม่มีอะไรก็เป็นเรื่องของกรรมเก่าก็เลยทุกข์ร้อนร้องห่มร้องไห้มีบาปมีกรรมอย่างนั้นอย่างนี้โทษผีโทษสางโทษเทวดาเชื่อพรหมลิขิตอะไรไปตามเรื่องตามราว แต่ถ้าเป็นพุทธบริษัท แม้ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ต้องทำตามวิธีของพุทธศาสนาจึงจะไม่ไปทุกข์ร้อนกับมันเมื่อกรรมเก่าเราก็ไม่ต้องพูดกันอีก ก็ทำกรรมใหม่ให้ดีที่ดีต่อไปกรรมเก่าก็ยกเลิกปิดบัญชีใช้หนี้ไปหมดก็เป็นคนที่ไม่รู้จักทุกข์จักร้อน ทุกข์ร้อนอะไรไม่เป็น ไม่ทุกข์ไม่ร้อนนี้มันจึงจะเรียกว่า มีความผาสุกหรือสดชื่นอยู่ได้ไม่ใช่ว่ามีเงินใช้ มีบ้านอยู่มีลูกเมียพร้อมหน้ามีอะไรจะเป็นผาสุขนั้นมันเรื่องหลอกเด็ก ไอ้ผาสุกจริงๆ ก็คือ ไม่มีทุกข์ร้อนไม่มีอะไรทำให้ทุกข์ร้อนได้ไม่มีธรรมชาติที่จะไปทุกข์ไปร้อนกับมันก็ต้องศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องกรรมนี่เพราะเราอาจจะรวบไอ้ความวิบัติต่างๆ เอามาไว้ในที่แห่งเดียวกันได้หมดคือ เรื่องกรรมเป็นไปตามกรรม บ้านเราพลอยถูกไฟไหม้ก็เป็นไปตามกรรม, น้ำท่วมใหญ่เอาไปหมดก็เป็นไปตามกรรม, เจ็บไข้รักษาไม่ได้ก็เป็นไปตามกรรม ไม่ต้องไปยุ่งยากเดือดร้อนไม่ต้องไปรักษาก็ได้ตายก็ไม่รู้สึกอะไรอย่างนี้จึงจะไม่ทุกข์ร้อนเป็นผู้ไม่ทุกข์ร้อน เป็นสัญลักษณ์ของความสุขในความหมายที่เป็น negative คือ ไม่รับเอาอะไรเข้าไว้สำหรับจะทุกข์ร้อน
เพราะนั้นคุณลองคิดดูให้ดีในตัวอย่างอย่างนี้ว่า อย่างไหนมันดีกว่าไอ้ บวก มันดีกว่า หรือ ลบ มันดีกว่า ความรู้สึกธรรมดาสามัญตามสัญชาติญาณของสัตว์จะมีความรู้สึกไปในทางบวกคือ อยากได้อยากมีอยากเป็น แต่ที่แท้มันตรงกันข้ามคือ ต้องไม่อยากได้, ไม่อยากมี, ไม่อยากเป็น นั่นมันจึงจะเป็นสุขอยู่ได้แต่เราก็ไม่ค่อยชอบไอ้ไม่ได้, ไม่มี, ไม่เป็น เราไม่ชอบ เราอยากได้นั่น, มีนั่นมีนี่ เป็นนั่นเป็นนี่, ใหญ่โตมากมายยิ่งขึ้นทุกที นิสัยสันดานเดิมมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นมันจึงปฏิบัติธรรมยากก็เลยถือว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องฝืนนิสัยกันบ้าง เรื่อง นิพพาน นี้ มันเป็นเรื่องทวนกระแส ไอ้ตัว นิพพาน เองมันก็มีความหมายเป็น negative คือ นิ นั่นละ ตัว นิ นั่นละ ตัวแปลว่า ไม่ ฉะนั้นคำว่า นิพพาน นิพาน คือ เป็นรูปศัพท์ negative อยู่แล้ว ไม่ทุกข์ไม่ร้อน, ไม่เสียดแทง, ไม่เผารน, ไม่ไป, ไม่มา, ไม่เกิด, ไม่อะไรไม่ทั้งนั้นเลย คำว่า นิพพาน มันจึงฝืนนิสัยสันดานเดิมของคนเพราะคนมันอยากจะเอา, อยากจะมี, อยากจะเป็น, อยากจะได้, แล้วก็ไม่รู้จัก นิ ให้มันถูกต้อง อย่าไปหวังได้, อย่าไปหวังเอา, หวังที่จะไม่ได้, ไม่เอา, ไม่อะไร, มันก็เป็นไปเองในทางที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์อย่าให้ขายขี้หน้าพวกคริสเตียนที่เขาสอน, มีเมียมันเหมือนกับไม่มีเมีย, มีทรัพย์สมบัติเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ, มีสุขมันเหมือนก็ไม่มีสุข, มีทุกข์เหมือนกับไม่มีทุกข์ ซื้อของที่ตลาดอย่าเอาอะไรมากเอามานึกถึงไว้บ่อยๆ อย่าให้มันขายขี้หน้าพวกอื่นนี่พูดตรงๆ ในหมู่ที่เราจะต้องรับผิดชอบร่วมกันไอ้โวหาร ไม่ นั่นนะวิเศษ ไอ้ความ ไม่ นะ เป็นความหมายที่จะช่วยให้ไม่เป็นทุกข์, สุขเป็น positive เป็นลูกกวาดสำหรับเด็กอมมือ ไอ้ไม่ทุกข์นั้นเป็นพูดจริงพูดตรงสำหรับผู้ใหญ่โตๆ ด้วยกันแล้ว เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดว่าไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนไม่เป็นทุกข์เพราะอะไรหมด สัญลักษณ์ของความสุขในแง่ negative
ทีนี้อันที่ถัดไปอีกก็คู่ตรงกันข้ามจากความแน่ใจ หรือไว้ใจตัวเอง, เคารพตัวเอง, ชื่นชมตัวเองนี้ ไอ้คู่ตรงกันข้ามของมันก็คือ ความไม่กลัว, ความไม่ระแวง, ความไม่สงสัย, ความไม่วิตกกังวล เราจะต้องสังเกตดูให้ดีๆ ว่าตามธรรมดาเราปล่อยไปตามธรรมดานั้นเราจะรู้สึกเอาอย่างโง่ๆ ที่สุดว่าเราปลอดภัยว่าเราสบาย หรือเราปลอดภัยถือไอ้ความรู้สึกอันนี้เป็นมาตรฐานเสีย ทีนี้พออะไรอะไรมันเข้ามาเป็นความไม่ปลอดภัยในฝั่งตรงกันข้ามเราก็กลัว หรือเป็นทุกข์ ถ้ามีอะไรมาทำให้เราแน่ใจว่าเราไม่มีภัยนี้เราก็สบายใจ ทีนี้ถ้าเราจะแน่ใจอย่างนั้น มันจะแน่ใจได้อย่างไรเพราะว่าภัยมันพร้อมที่จะมีอยู่เสมอมันมีอยู่เสมอก็ต้องรู้จักทำให้มันไม่กลัวเสียดีกว่า, ไม่กลัวภัยไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว พูดๆ ไปมันก็มาก หรือเลยเตลิดไปถึงเรื่องไม่กลัวตายอีกความไม่กลัวตายเสียอย่างเดียวจะทำให้มีความปกติมั่นคง หรือแน่วแน่ หรือแน่ใจอะไรไปทั้งหมด ถ้ายังกลัวตายอยู่แล้วมันก็แน่ไม่ได้, มันจะแน่ใจอะไรได้มันต้องระแวงอยู่เสมอระแวงว่าอาจจะมีอย่างนั้นมาอีกอย่างนี้ไม่กลัวแล้วแต่ระแวงว่าจะมีอย่างโน้นมาอีก ไม่มีอะไรให้ระแวงก็ยังสงสัยว่ามันอาจจะมีอีก, ไม่มีอะไรเป็นวี่แววให้ระแวงมันก็ยังสงสัยว่าอาจจะมีมาอีกที่เราไม่รู้ ทีนี้ก็อยู่ด้วยความวิตกกังวลไม่มีอะไรแน่ใจไม่มีความแน่ใจ อย่างพระเณรนี้มันไม่แน่ใจว่าอยู่ในพรหมจรรย์นี้จะเป็นของดีที่สุดมันไม่(มี)ความแน่ใจ ผ้าเหลืองมันร้อนอยู่ทุกวันทุกคืนมันคอยจะออกจากผ้าเหลืองอยู่ทุกวันทุกคืนมันไม่มีความแน่ใจ บางทีเมื่อศึกษาเล่าเรียนพอจะรู้ว่าหลักมันเป็นอย่างนั้น มันมีได้อย่างนั้นมันก็มีความระแวงว่าอาจจะไม่จริงกระมัง หรือเราทำไม่ได้กระมัง หรือมันก็สงสัยเสียอย่างนี้
ฉะนั้นบวชเป็นพระเป็นเณรอยู่มันก็วิตกกังกลแต่ว่าคงจะอยู่ไปไม่ได้เรา เพราะนั้นสึกเสียแต่เนิ่นๆ จะดีกว่าถึงแม้ว่าทนอยู่ทนไม่สึกทนอยู่ มันก็ยังมีวิตกกังวลว่ามันจะต้องมาถึงสักวันหนึ่งที่จะต้องสึก หรืออยู่ไม่ได้ แล้วในที่สุดมันก็สึก ทีนี้ตลอดเวลามันตกนรกหมกไหม้อยู่ตลอดเวลาในผ้าเหลืองมันจะเอาความสุขมาจากไหนนี่คือความไม่มีความแน่ใจ ทีนี้เรามันจะต้องไม่มีอาการอย่างนี้, ไม่กลัว, ไม่สงสัย, ไม่ระแวง, ไม่วิตกกังวล จึงจะมีความสุขที่แท้จริง ความแน่ใจมันถูกรบกวนให้เป็นทุกข์ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่, ไม่ต้องการ, ไม่กลัว, ไม่สงสัย, ไม่ระแวง, ไม่วิตกกังวล เป็นผู้ไม่มี ตัวกู-ของกู นะ ถ้าพูดตรงๆ แม้ชั่วขณะมันก็ไม่มีความทุกข์ ตัวกู-ของกู ที่ดับไปชั่วขณะบางขณะนั้นะมันก็เกิดจิตใจที่ไม่มีความกลัว, ไม่มีความระแวง, ไม่มีความวิตกกังวล, ไม่มีความทุกข์, สบายบอกไม่ถูก พอประเดี๋ยวตัวกูกลับมาอีก เอาเข้าอีกก็เป็นเปรตบ้างเป็นนรกบ้างไปตามเคย ฉะนั้นเรามองความแน่ใจในลักษณะเป็น positive เป็นของหอมหวนเป็นของสบายอกสบายใจชื่นใจ แต่แล้วมันก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่หาก, ถ้าหากว่าไม่ทำไอ้ที่แง่ตรงกันข้าม คือ negative นี่คือ ต้องเป็นคนไม่กลัวไม่ต้องการจึงไม่กลัว มีการเสียสละอยู่ทุกเมื่อ ฉะนั้นไม่สงสัยไม่ระแวง
คุณสมบัติอันสุดท้ายที่ทำให้เป็นพระอรหันต์ คือ ละมานะ หรือ อุทธัจจะ เสียได้ หมายถึง ข้อนี้ไม่มีตัวฉันที่อยากที่จะต้องการจึงไม่กลัว, ไม่ระแวง, ไม่สงสัย, ไม่มีอุทธัจจะ คือ ไม่ทึ่งในสิ่งใด คำนี้แปลกันผิดสอนกันผิดเป็น อุทธัจจะ ใน นิวรณ์ ไปหมด อุทธัจจะ ใน สังโยชน์ คือว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้ทึ่งได้ ไม่มีจิตใจที่ไหวไปตามอารมณ์อะไรก็คือ ไม่กลัว, ไม่ระแวง, ไม่สงสัย, ไม่วิตกกังวล, ไม่ทึ่งในสิ่งใดหมด, ไม่ทึ่งในสิ่งใดหมดนั้น มันจึงจะแน่ใจมีใจมั่นคงและเป็นสุข ฉะนั้นเราเอาไอ้ความที่ไม่ระแวง, ไม่สงสัย, ไม่กลัว, ไม่วิตกกังวลเป็นหลัก, เป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่ถูกต้องตามโวหารพูดในภาษาธรรมที่พูดตรงๆ ไม่พูดโฆษณาชวนเชื่อ
ทีนี้เราก็มองดูกันได้ต่อไปอีกเป็นรายเบ็ดเตล็ดที่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นอยากจะระบุข้อต่อไปเป็นความไม่ต้องมีอะไรเป็นแรงกระตุ้น, เราจะไม่ต้องมีอะไรเป็นแรงกระตุ้นหรือส่งเสริม การที่ต้องมีอะไรเป็นของกระตุ้นส่งเสริมนั้นคือ ความอ่อนแอไม่เข็มแข็ง มันก็มาจากความไม่แน่ใจความไม่เป็นตัวเองความไม่มีความไว้ใจตัวเอง เด็กๆ สมัยนี้ชอบพูดกันนัก, ไม่มีความหวัง, ไม่มีกำลังใจ, ไม่ให้กำลังใจเสียเลย, พ่อแม่ไม่ให้ความอบอุ่นเสียเลยเพราะนั้นกูหนีไปเที่ยวตามใจกู เด็กสาวๆ ก็ทำอย่างนี้เลยฉิบหายเสียคนไปเลยเพราะไปหวังแต่จะให้ผู้อื่นสนับสนุนส่งเสริมกระตุ้นเอาอกเอาใจ วัฒนธรรมโบราณบางชาติบางแง่เขา, บางประเทศบางชาติ บางยุคนะเขาไม่อบรมเด็กอย่างนี้เขา treat เด็กให้มันไม่คิดพึ่งแต่ผู้อื่นเลย ทีนี้วัฒนธรรมใหม่ๆ หรือว่าการศึกษาใหม่ๆ เขาทำกันอย่างไงก็ไม่รู้มันมากเกินไปสำหรับที่จะให้ผู้ใหญ่พะเน้าพะนอเด็ก หรือตามใจเด็ก หรือปล่อยเด็กเป็นอิสระเสรีเป็นประชาธิปไตย นั่นมันที่พูดนั้นมันก็ยังนอกเรื่อง ทีนี้เอาไอ้เราที่กำลังมีความเป็นอยู่ มีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ดีกว่าว่า หากพวกเราพระเณรนี้จะทำอะไรต้องมีอะไรให้กำลังใจเป็น motif ถ้าอย่างนั้นหาความสุขไม่ได้ ผมบอกตรงๆ ว่าถ้าคุณทำอะไรอยู่โดยที่จะต้องมีอะไรมากระตุ้นมาให้กำลังใจแล้วคุณจะหาความสุขไม่ได้ ไอ้ motif มันมีมากเช่นว่า อาจารย์จะขอบใจอย่างนี้ก็มีกำลังใจทำงานทำนั่นนี่ หรือชาวบ้านจะสรรเสริญเยินยอก็ขยันกวาดขยะหามรุ่งหามค่ำอย่างนี้ หรือว่าจะได้เกียรติยศชื่อเสียงจะได้อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ แม้ที่สุดแต่ว่าจะได้บุญ, จะได้บุญในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ตามใจนี่มันก็เป็นเครื่องกระตุ้นเป็นเครื่องให้กำลังใจ ถ้ายังอยู่ด้วยสิ่งที่ให้กำลังใจหรือกระตุ้นอย่างนี้ยังไม่มีความสุข, จะมีความหิว, มีความระแวง, มีความสงสัย, มีความวิตกกังวลอยู่ตามเดิม ฉะนั้นมันก็เลยกินความหมายไปถึงเรื่องทำงานเพื่องานทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ไม่ต้องมีอะไรมากระตุ้นไม่ต้องมีอะไรมาให้กำลังใจเป็นธรรมะสูงสุดได้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่แล้วก็เท่านั้นละ มันก็มีความหยุดมีความหยุดของความต้องการแล้วมันก็สบาย ผมก็ยอมรับสารภาพว่าผมก็เป็นเหมือนกับที่เขาเป็นๆ กัน ทำอะไรต้องรู้สึกว่ามีอะไรให้กำลังใจมาตลอดเวลาแต่เดี๋ยวนี้มันก็ซาไปซาไป มันเห็นความโง่ข้อนี้เข้ามันก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ได้มากขึ้น ไอ้ที่แล้วมาแต่หนหลังที่มีการแต่งหนังสือหนังหาไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยนั่นเพราะมันมีกำลังใจจากภายนอก นี่เป็นเรื่องพูดตรง ๆ หรือสารภาพก็ได้คือว่า คนเขาคอยอ่านอยู่, คนที่เรารักคนที่เรานับถือเขาคอยอ่านอยู่ เพราะนั้นมันมาขี้เกียจไม่ได้มันแต่งหนังสือเขียนหนังสือค้นพระไตรปิฎกหามรุ่งหามค่ำมันทำได้ อย่างน้อยก็แม่คอยอ่านอยู่เมื่อไม่นึกถึงคนอื่นแล้วแม่ของผมคอยอ่านอยู่, แล้วก็มีคนทั่วๆ ไปหลายจังหวัดเขาคอยอ่านอยู่ มันเป็นเครื่องกระตุ้นเป็น inspiration เป็น, ไม่รู้มันจะเรียกอะไร, เป็น stimulant โง่ ๆ นี้ มันก็เลยทำอะไรได้มันก็เป็นบ้าเป็นหลังไปได้แต่ที่แท้มันไม่ใช่ความสุขที่ว่าจะมีคนคอยชมคอยขอบใจคอยอะไรนี่, ไม่ใช่เรื่องของความสุข มันต้องชนะสิ่งนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุดว่าเราจะอยู่เหนืออำนาจกระตุ้นของสิ่งที่กระตุ้น นี่ผมจะบัญญัติคำว่าอย่างนี้, เราจะไม่พึ่งอาศัยแรงกระตุ้นแต่เราจะอยู่เหนืออำนาจของแรงกระตุ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราอยู่ใต้อำนาจของแรงกระตุ้นนั้นมันยังน่าหัวเราะยังน่าสงสารยังเป็นเด็กอมมือ แม่ต้องคอยบอกว่า เอ้า, เอาอย่างนั้นๆ ๆ คอยปลอบคอยโยนไม่รู้จักโต เป็นพระเป็นเณรแล้วก็ยังเป็นเด็กอมมือไม่รู้จักโตเพราะต้องการแรงกระตุ้น นี้เป็นปัญหามากเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับการศึกษาสมัยปัจจุบันที่ทำให้เด็กๆ หวังสิ่งสนับสนุนหรือสิ่งกระตุ้น เล่นกีฬาต้องมีกองเชียร์มานั่งเชียร์อยู่ก็เลยพอกนิสัยสันดานตัวกู- ของกู, พวกกู ตัวกู มากขึ้น, มากขึ้น ไม่มีประโยชน์อะไรมันควรจะทำไปได้ โดยที่ไม่ต้องมีแรงกระตุ้น ถ้ายังต้องมีแรงกระตุ้นอยู่ก็เรียกว่า ยังต่ำมากยังธรรมดามาก ไอ้สิ่งกระตุ้นนี่มันมีได้ทั้งทางร่างกายทางวัตถุล้วนๆ ไม่ใช่มีเฉพาะทางจิตใจ เขาพูดกันว่า ดนตรีนี่กระตุ้นให้สัตว์เดรัจฉานเช่นช้าง, เช่นม้า, เช่นอะไรที่จะมาใช้ในกองทัพที่จะมาแสดงละครนี่คึกคักคึกคักขึ้นมาได้ ผมก็เชื่อว่าจริงสังเกตเห็นก็ว่าจริงเพราะว่าไอ้สิ่งที่ว่ามันเป็นวัตถุมันก็มีแรงงานมีพลังงานอะไรกระทบกระเทือน จนกระทั่งคราวหนึ่งเขาพูดกันว่าเอาดนตรีมาบรรเลงอยู่เหมาะๆ ทำให้ข้าวกล้าในนาออกรวงเร็วขึ้นดีขึ้นนี้ก็มี แต่ว่าช้างม้านี่ก็เคยได้ยินช้างศึกพอได้ยินกลองศึกแล้วก็สู้ไม่คิดตายเลย ทีนี้คนนี่พอดนตรีกระตุ้นเข้านี่มันก็เป็นลุกขึ้นรำเป็นผีสิงไม่รู้สึกตัว เจ๊กคนหนึ่งที่ร้านขายจานเสียงมันรำอยู่เรื่อยมันทนไม่ได้ก็มันเปิดเพลงนั้นอยู่ในร้านเบาๆ อยู่เรื่อยโฆษณาอยู่เรื่อยมันทนอยู่ไม่ได้เพราะไอ้แรงกระตุ้นมันผลักดันอย่างนั้นมันก็นั่งกระดิกมือกระดิกเท้า ผมเห็นพระบางองค์ไปฉันในที่นิมนต์ในบ้านที่เขามีงานนั่งกระดิกเท้าไปตามจังหวะพิณพาทย์ที่เขากำลังบรรเลงโคมอยู่ นั่นละแรงกระตุ้นที่มันทำให้ทนอยู่ไม่ได้นี่ทางวัตถุแท้ๆ มันก็เป็นอย่างนี้
ทีนี้ทางจิตใจมันยิ่งไปกันใหญ่ ทีนี้ว่าทางจิตใจที่มันประกอบอยู่ด้วยกิเลสมันก็มากกว่าธรรมดา คู่รักหญิงชาย, คู่หมั้นนี่แรงกระตุ้นจะยิ่งกว่าสิ่งใดหมดจะยิ่งกว่าพระเจ้า หรือยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า หรือยิ่งกว่าอะไรหมดที่คู่รักเขาหวังอะไรจากคู่รักของเขาที่จะเป็นกำลังใจเป็นแรงกระตุ้น เพราะนั้นพวกนี้กำลังหลงที่สุดไม่รู้จักเรื่องบุญเรื่องบาปเรื่องพระเจ้าเรื่องธรรมะอะไร มันหลงอยู่แต่แรงกระตุ้นที่มันกระตุ้นส่งเสริมอยู่เรื่อยนั้นนะคือเป็นทาสทางวิญญาณ, เป็นขี้ข้าทางวิญญาณ, ไม่เป็นอิสระแก่ตัว เราต้องเป็นอิสระแม้แก่สิ่งกระตุ้น เราจึงพูดว่า ไม่, ไม่อยู่ภายใต้วิสัยของสิ่งกระตุ้นหรือแรงกระตุ้นเราจึงจะมีสิ่งที่เรียกว่า ความสุข
ความสุขมันเป็น positive เป็นลูกกวาด ทีนี้เราจะพูดเสียใหม่ว่ายังจะมีความสงบมีความหยุด หรือมีความสงบ ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะลุกขึ้นรำอยู่เรื่อยไม่ทางร่างกายก็ทางวิญญาณ, ทางจิตใจนอนหลับก็ฝันไป นี่ข้อนี้ก็สำคัญว่าเราจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งกระตุ้นเป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่เป็น negative ประเภทหนึ่งตามความหมายของพุทธบริษัท
และเวลาเรามีสำหรับพูดเท่านี้มันก็ต้องจบไว้ที เอาไว้พูดต่อวันหลังว่ามันจะมีอะไรอีก.