แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาติโมกข์ของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ในทุกแง่ทุกมุม ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้วในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงองค์ประกอบของความสุขก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าความสุขนี้มันก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของ ตัวกู-ของกู ด้วยเหมือนกัน ถ้ามันเป็นเรื่อง ตัวกู-ของกู แล้ว แม้จะถูกใจเป็นที่พอใจหรืออะไรมันก็เป็นความสุขไปไม่ได้ แล้วก็ได้พูดแยกประเภทความรู้สึกที่เป็นองค์ประกอบของความสุขนั้นให้เป็นสามพวกคือพวก positive, negative และพวกที่ไม่เป็นทั้ง ๒ อย่าง และเราก็ได้พูดกันถึงความรู้สึกประเภท positive คือเรื่องเกี่ยวกับความอิ่มใจ, ความสุขใจ, หรือความแน่ใจมาแล้ว ทีนี้ก็จะได้พูดต่อไปถึงเรื่องความบริสุทธิ์ใจ, ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของความรู้สึกที่เรียกว่า “ความสุข”
สำหรับความบริสุทธิ์ใจนี้มันคล้าย ๆ กับความแน่ใจ แต่ก็ไม่ค่อยตรงกันทีเดียวนัก ความบริสุทธิ์ใจมันเล็งถึงความรู้สึกที่ปราศจากกิเลสรบกวนคือ ปราศจากบาปอกุศลรบกวนเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ตามความหมายในทางธรรมะ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความบริสุทธิ์นี้มันก็มีปัญหา หรือมีความกำกวมอยู่เหมือนกัน ความไม่ประสีประสาหรือที่เรียกกันว่า innocence นี้ ก็เป็นความบริสุทธิ์ใจชนิดหนึ่งบริสุทธิ์อย่างเด็ก ๆ เด็กอ่อนมันก็มีความบริสุทธิ์ใจคือ ความไม่ประสีประสาในการที่จะคดโกงหรือว่าทำชั่ว ฉะนั้นเขาจึงมักจะใช้เด็กอ่อนนี่เป็นคำเปรียบหรือคำสอนให้มีจิตใจเหมือนเด็กอ่อนยังไม่ปรุง ตัวกู-ของกู อะไรมากมายบางเวลามันก็ไม่มีเลย นี้ก็เป็นความบริสุทธิ์ใจระดับหนึ่ง ไอ้ความบริสุทธิ์ใจที่แท้จริงนั่นละหมายถึงความรู้สึกของผู้ใหญ่ที่ได้จัดการกับสิ่งที่เป็นความไม่บริสุทธิ์หรือความสกปรก, ความเศร้าหมองอะไรต่าง ๆ ของจิตใจออกไปเสียได้ หรือว่าออกไปได้บางเวลาก็ยังดี แม้ในบางเวลานั้นก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์หรือมีความบริสุทธิ์ใจ ยกตัวอย่างที่มันเกี่ยวกับมนุษย์เรามากที่สุดก็คือ การทำงานเพื่องาน, หรือทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เรื่องนี้ก็เคยพูดกันมาบ้างแล้วก็อยากจะพูดรวบรัด ไอ้ทำงานเพื่องานมันก็ตรงกันข้ามกับทำงานเพื่อเงิน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่มันก็ตรงกันข้ามกับทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับ ทำงานเพื่องานนี้ไม่เจืออยู่ด้วย ตัวกู-ของกู ทำงานเพื่อเงินมันก็เป็นเรื่องของ ตัวกู-ของกู เต็มที่ มันทำงานเพื่องานมันจึงเป็นความบริสุทธิ์ใจคือโดยอำนาจของธรรมะหรือความถูกต้องเป็นเหตุให้ทำงานเพื่องาน จึงเรียกว่าเวลานั้นเรามีความบริสุทธิ์ และมีความบริสุทธิ์ใจ, บริสุทธิ์กายวาจาอะไรไปพร้อมเสร็จ ถ้าทำงานเพื่อเงินคือทำงานเพื่อกิเลสตามความต้องการของกิเลส มันก็คือ ตัวกู-ของกู นั่นเอง
ฉะนั้นความสุขมันจึงเป็นของกำกวม ทำงานเพื่อเงินได้เงินมาใคร ๆ ก็คิดว่ามันเป็นความสุข เพราะมันได้เงินมาเป็นที่ถูกใจ แต่มันก็ประเภทสุก ตัว “ก” สะกด สุกประเภท ตัวกู-ของกู ทีนี้ถ้าว่าทำงานเพื่องาน สำหรับเงินนั้นถือเป็นของพลอยได้หรือเป็นขยะมูลฝอยที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องของธรรมะเป็นเหตุให้ทำงานจะเรียกว่าทำงานเพื่อธรรมะก็ได้ในเมื่ออีกอย่างหนึ่ง ทำงานเพื่อ ตัวกู-ของกู ถ้าเป็นอันธพาลมันก็จะพอใจทำงานเพื่อเงิน แล้วก็รู้สึกเป็นสุขเมื่อได้เงิน ถ้าเป็นสัตตบุรุษมันก็พอใจเมื่อได้ทำงานตามหน้าที่เพราะว่าธรรมะคือหน้าที่ การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่, การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม นี่เป็นหลักมาแต่โบราณก่อนพุทธกาล, กระทั่งพุทธกาล, กระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ขอให้คิดดูการปฏิบัติหน้าที่, เพื่อหน้าที่นั้นน่ะคือธรรม, คือประพฤติธรรม ถ้าปฏิบัติงานเพื่อเงิน, เพื่อชื่อเสียง, เพื่อกิน, กาม, เกียรติอะไรก็ตามเหล่านั้นนะมันไม่เป็นการประพฤติธรรมตามความหมายนี้ไปได้ เพราะมันเป็นการประพฤติธรรมอย่างแบบอันธพาลก็เลยเป็นเหตุให้เบียดเบียนตนเอง, เบียดเบียนผู้อื่น
ทีนี้ในแง่ที่เกี่ยวกับความสุขนั้นขอให้สังเกตเอาเองก็แล้วกันคือ บางเวลาเราก็มีทำงานเพื่องานที่พอจะสังเกตเห็นได้ด้วยตัวเอง แต่ส่วนมากถ้าปล่อยไปตามธรรมดาเราก็ทำงานเพื่อนั่นเพื่อนี่ เพื่อเห็นแก่คนนั้นคนนี้ หรือเพื่อเห็นแก่ความขอบใจ, ชมเชย หรือผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเราเคยประสบมาแล้วทั้งสองอย่าง เราก็เปรียบเทียบกันดูว่าอันไหนเป็นความสุขหรือควรจะเป็นองค์ประกอบของความสุข ขณะที่เราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และก็ขณะที่ทำหน้าที่เพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง อันไหนจะเป็นองค์ประกอบของความสุขคือ รู้สึกเป็นสุขถ้าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่แล้วมันไม่มีความหิวในการงาน, ในระหว่างทำงานไม่มีความทะเยอทะยาน, ไม่มีความรู้สึกที่เหมือนกับกระหาย หรือหิว ถ้าทำงานเพื่อเงินแล้วมันหิวอยู่ตลอดเวลามันจะเรียกได้ว่าตรงกันข้าม ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริงต้องให้เป็นการทำงานเพื่องาน หรือทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ พระพุทธเจ้าก็ทำงานเพราะทำหน้าที่ก็เรียกว่า โลกัตถะจริยา ญาตัตถจริยา พุทธจริยา อย่างนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นบาลีพุทธภาษิตมันก็เป็นหลักที่พอจะเอามาศึกษาได้ว่าพระพุทธเจ้าทำหน้าที่เพื่อโลกทั่ว ๆ ไป นี้ก็มี, ทำหน้าที่ (เติมเอง คิดว่าน่าจะเป็นคำนี้)เป็นพิเศษเฉพาะพระญาติก็มี และก็ทำหน้าที่ตามหน้าที่ของพระพุทธเจ้าโดยตรงก็มี, นี้มันต่างกันอยู่ ทำหน้าที่เพื่อโลกก็ต้องทำตามความต้องการหรือเหตุผลของโลก, ทำหน้าที่เพื่อญาติโดยเฉพาะ, มันก็มีความหมายแคบเข้ามา, เหตุผลแคบเข้ามา ทีนี้ถ้าไม่เป็นสองอย่างนี้ก็ทำหน้าที่ตามที่พระพุทธเจ้าจะต้องทำอะไรบ้างคือ ทำเป็นประจำไปแล้ว อย่างนี้ก็ไม่มีทางที่จะทำงานเพื่อเงิน หรือทำงานเพื่อกิน, กาม, เกียรติ, หรือทำงานเพื่อประโยชน์แก่ ตัวกู-ของกู ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านเป็นบุคคลที่หมดความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู จึงทำได้โดยสะดวก ทีนี้เราจะทำตามท่านก็จะต้องระวังเพราะฉะนั้นจึงขอร้องแล้ว, ขอร้องอีก, ตลอดเดือน, ตลอดปี, เป็นปี ๆ มาแล้วว่าระหว่างอยู่ที่นี่ขอให้ทำงานเพื่อเป็นการกวาดล้าง, ล้าง ตัวกู-ของกู อย่าหวังอะไรมากไปกว่านั้น ให้ใช้เหงื่อนี่เป็นเครื่องล้าง ตัวกู-ของกู อย่าใช้เหงื่อเป็นเครื่องเลี้ยง ตัวกู-ของกู ไม่ทำงานนั้นมันเห็นแก่ ตัวกู-ของกู คือขี้เกียจ ทีนี้ทำงานเพื่อนั่นเพื่อนี่ที่เป็นประโยชน์โดยตรงทางอารมณ์ ก็เรียกว่ามันทำงานเลี้ยงความต้องการของ ตัวกู-ของกู นี้ขอให้เลิกเสีย ทำงานสักว่างานน่ะ, ทำงานเพื่อความว่างน่ะ, อย่างนี้ยิ่งฟังไม่ถูก ชาวบ้านฟังไม่ถูกเพียงแต่พูดว่าทำงานเพื่องานนะ เด็กสมัยนี้ก็ฟังไม่ถูกแล้วแม้แต่เด็กนักเรียนในโรงเรียน, ในมหาวิทยาลัยบางทียังจะฟังไม่ถูก เพราะเขาสอนเป็นอย่างอื่นกันเสียหมดแล้ว ถ้าคนสมัยโบราณเขาฟังถูก
ฉะนั้นขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ ว่าทำงานเพื่องานนี้มันต่างกันอย่างไรกับทำงานเพื่อผลเป็นอารมณ์ตามที่กิเลสต้องการ ผมเห็นว่าไม่มีทางอื่นใดดีกว่าที่ว่ามีชีวิตอยู่ด้วยการทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนี้ คนเขาเอาไปล้อเล่นก็ตามใจเขาแต่ว่ามันเป็นหลักที่ได้ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว และเห็นว่ามันดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด ที่ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างหมายความว่าพอลงมือทำงานแล้วก็ลืมหมดเรื่อง ตัวกู-ของกู ลืมหมด, มีเหลืออยู่แต่กำลังใจหรือสมาธิที่จะทำอย่างไรเท่านั้นละ มันจึงเหลืออยู่แต่ความตั้งใจ และความมีสติสัมปัชชัญญะ, หรือปัญญานี้เต็มที่อยู่ว่าจะทำอย่างไรไม่มีว่าทำให้ใคร, หรือว่าจะทำสำเร็จ, หรือไม่สำเร็จนี้, ไม่มี, ไม่มีความรู้สึก มันจึงเลยไปถึงความหมายอีกอันหนึ่งว่า เราทำงานเสร็จทุกวัน ใครถามผมว่าเมื่อไรจะเสร็จผมบอกว่าเสร็จทุกวัน บางคนก็หัวเราะเยาะคล้าย ๆ กับว่าเห็นเป็นเรื่องแก้ตัว แต่บางคนก็เข้าใจว่าทำงานเสร็จทุกวันนี้ หมายความว่าอย่างไร
ฉะนั้นขอให้ไปคิดกันดูให้ดี ๆ ว่าทำงานแล้วงานนั้นเสร็จทุกวันเลย, เสร็จสมประสงค์ถึงที่สุดทุกวันเลย รุ่งขึ้นก็เป็นงานใหม่ก็ทำอีก, ก็เสร็จอีกเหมือนกัน, เสร็จทุกวัน ไม่มีทางจะเกิดความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู หิวกระหายหรือว่าน้อยเนื้อต่ำใจที่ทำไม่เสร็จ และเสร็จ, ก็เสร็จในฐานะที่เสร็จไปแล้วไม่มาข้องอยู่ในจิตในใจอะไรอีก และก็ไม่หลงใหลยินดีในผลงานนั้น นี่อธิบายความหมายของทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างก็คือทำงานเพื่องานนั่นเอง, ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นั่นเอง แต่มันในระดับสูงสุดขอให้สังเกตดูให้ดี ทีนี้ในเมื่อมันไม่เกิด ตัวกู-ของกู เมื่อไม่เกิดกิเลสใด ๆ ขึ้นมามันก็เป็นสุข, สบายที่สุด และเราก็เรียกว่า ความบริสุทธิ์แห่งใจ, ความบริสุทธิ์แห่งกาย, ความบริสุทธิ์แห่งวาจาด้วยถ้ามันมีการพูด
ทีนี้ความบริสุทธิ์เป็นเหตุให้รู้สึกเป็นสุข อย่าไปเอาว่าถ้ามันได้อย่างที่ต้องการแล้วก็จะเป็นสุขที่ถูกต้อง, มันก็ต้องเป็นความบริสุทธิ์เสียก่อน ไอ้เรื่องได้ตามต้องการหรือไม่ตามต้องการนั้น ไม่แน่ แล้วไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเอามาเกี่ยวข้อง เราไม่ได้ต้องการอะไรเพื่อตัวเรา, ต้องการเพื่อธรรมะ ทำหน้าที่ตามความต้องการของธรรมะหรือตามกฎของธรรมชาติ เมื่อได้ทำแล้วมันก็เป็นอันว่าถูกต้องแล้ว แม้ว่าจะเป็นฆารวาส, มีครอบครัว, เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย, ทำงานเหน็ดเหนื่อยนี้ก็เหมือนกัน ตั้งใจทำเพื่อหน้าที่ แล้วก็จะไม่เกิดน้อยเนื้อต่ำใจ, ไม่เกิดฟุ้งซ่าน, ไม่เกิดหลงใหล, ไม่เกิดอะไร แล้วจะทำดีที่สุดด้วย, งานทำได้ดีที่สุดด้วย เรื่องรักลูกรักเมีย, เรื่องเห็นแก่คนนั้นคนนี้น่ะไว้เวลาอื่นจะรักใครจะช่วยเหลือใครก็ต้องทำด้วยสติสัมปัชชัญญะคือ ความถูกต้องอีกเหมือนกันเช่น จะไปรักลูกรักเมียนี้ต้องรักด้วยความรู้สึก หรือความคิดนึกที่มันถูกต้อง อย่าเป็นเรื่อง ตัวกู-ของกู เป็นกิเลส เรื่องนี้ก็ได้พูดกันมากแล้วเมื่อคราวอบรมเกี่ยวกับฆารวาสธรรมไปหาอ่านดูได้เช่นว่า ครอบครัวนี้คือเพื่อนเดินทางไปนิพพานอย่างนี้เป็นต้น
การจะทำอะไรแม้เพื่อครอบครัวก็สามารถที่จะทำได้ในลักษณะที่เรียกว่าทำงานเพื่องานหรือทำงานด้วยจิตว่างเพื่อจะไม่มีความทุกข์ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย เพื่อว่าจะไม่ให้ฆารวาสมันเป็นทุกข์ เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น เราจึงมีอุบายหรือมีศิลปะนลักษณะอย่างนี้ ทีนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงไอ้เรื่องอื่นน่ะ เรื่องที่ไม่ใช่เกี่ยวกับลูกกับเมียนี้มันทำได้ง่ายกว่ายกตัวอย่างเรื่องความรักด้วยกิเลสมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะชี้ให้เห็นว่ามันก็เป็นสิ่งที่ทำได้, ทำงานเพื่องานแก่สิ่งเหล่านั้น
ทีนี้เรื่องความก้าวหน้าในการงานนั้นมันก็มีเต็มที่ และมีดีเสียกว่าทำงานด้วยอำนาจกิเลส ทำงานด้วยจิตที่หมกมุ่นอยู่ด้วย ตัวกู-ของกู นี้ มันก็คือคนที่ตกนรกทั้งเป็นทำมันก็เวียนหัว, มันก็อะไรหลาย ๆ อย่าง และงานมันก็ดีไปไม่ได้ ทีนี้เราทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิอย่างนี้มันก็งานนั้นมันก็ดี ก็สำเร็จ สังคมก็ตอบแทนให้เลื่อนชั้นเงินเดือน, เลื่อนยศ, เลื่อนอะไรขึ้นไปได้ แล้วอย่าลืมสังเกตดูว่าเมื่อคนบางคนคนธรรมดาสามัญนี่เมื่อเขาทำงานดีนี่เขาต้องทำจากใจคอที่โปร่ง, ที่สงบ, ที่เยือกเย็นเป็นปรกติเสมอ แล้วเขาจึงปฏิบัติงานได้ดี ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องกลัดกลุ้มอยู่ด้วยเรื่องยึดมั่นถือมั่น คนจำนวนมากในโลกนี้ที่ทำงานในโลก ๆ อย่างโลก ๆ ก้าวหน้าไปด้วยดีนั้น ให้ไปสังเกตดูว่าในนาทีหรือในชั่วโมงที่เขาทำงานนั้นเขาต้องใจคอปกติลืมเรื่อง ตัวกู-ของกู อย่างนี้มันก็เป็นงานเพื่องาน แต่ว่าโดยไม่รู้สึกตัวหรือว่าโดยที่เขาไม่ได้ถือเป็นหลัก แต่อย่างน้อยเขาก็ต้องถือเป็นหลักว่าถ้าจะทำงานก็ต้องทำให้ใจคอสบายเสียก่อน ทีนี้ใจคอสบายนี้มันไม่มีความหมายเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากผลักออกไอ้เรื่อง ตัวกู-ของกู ออกไปเสีย ความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุให้รัก, ให้เกลียด, ให้โง่นี้ออกไปเสีย
ทีนี้เราก็พอจะเข้าใจได้ถึงข้อที่ว่าใจคอบริสุทธิ์เป็นอย่างไร และปัญหาหนักของเราก็คือเรื่องงาน สิ่งที่เรียกว่างานนี้มันท่วมทับคนทั้งโลกอยู่ตลอดเวลา ถ้าแก้ปัญหาอันนี้ไม่ถูกต้องแล้วมันก็กลายเป็นผิดตลอดเวลา, แล้วเป็นผิดอย่างใหญ่หลวงตลอดเวลา, ทำชีวิตนี้ให้เป็นเหมือนตกอยู่ในนรกตลอดเวลาแล้วมันจะมีความสุขได้อย่างไร ฉะนั้นเมื่อเราพูดเรื่องความบริสุทธิ์ก็ต้องเป็นความบริสุทธิ์ที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา และเป็นผลของการที่เราใช้สติปัญญาไม่ใช่ innocent อย่างสัตว์เดรัจฉานหรืออย่างเด็กทารกหรืออย่างอะไรทำนองนั้น แต่ว่ามันเป็นความรู้, เป็นสติปัญญา เป็นญานทัศนะอะไรที่เข้ามามั่วสุมกันอย่างถูกต้องนี้มันเรื่องมันมาก ถ้าจะไปเจียระไนรายละเอียด นี้เราก็ไม่ต้อง, เอาแต่ว่าปราศจากความเห็นแก่ตัวหรือปราศจาก ตัวกู-ของกู มันจะเป็นงานเพื่องานขึ้นมาทันที ฉะนั้นงานทุกชิ้นที่เราทำกันอยู่ในวัดนี้ไม่ว่าแผนกไหน, โดยใคร, อย่าปล่อยให้จิตใจมันคำนึงไปถึงไอ้การเห็นแก่ตัวหรือเป็นไปเพื่อผลได้หรือผลเสียของตัวไม่ว่าทางวัตถุหรือว่าทางเกียรติยศ, ชื่อเสียง, หรือนามธรรมอื่น ๆ มีความอิ่มใจได้ในผลงานที่ทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อย่างนี้ไม่ถึงกับเป็นกิเลสก็เป็นเครื่องช่วยให้รู้ว่าเราได้ทำงานเพื่องานสำเร็จไปด้วยดี แล้วก็พอใจได้ มีความเคารพนับถือตัวเองหรือมีความแน่ใจในตัวเองซึ่งเป็นองค์ประกอบที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมันเนื่อง ๆ กัน, มีความบริสุทธิ์ใจ, มันก็มีความแน่ใจ, มีความแน่ใจ, มันก็มีความอิ่มใจ, มีความอิ่มใจก็มีความรู้สึกว่าเป็นสุขใจ มันเนื่อง ๆ กันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราแยกออกเป็นข้อ ๆ เพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติ เพราะความสุขที่แท้จริงมันมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง และก็แต่ละอย่างต้องไม่เนื่องกับ ตัวกู-ของกู เสมอไป
เมื่อพูดเอาความบริสุทธิ์แล้วมันตัด ตัวกู-ของกู ออกไปหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือมันจะมีความบริสุทธิ์อยู่ที่ ตัวกู-ของกู นั้นไม่ได้ พอ ตัวกู-ของกู เข้ามาเมื่อไรมันก็เป็นเรื่องไม่บริสุทธิ์ทันที เพราะฉะนั้นพอพูดเรื่องความบริสุทธิ์เท่านั้น มันก็หมายความว่าปัดเรื่อง ตัวกู-ของกู ออกไปแล้ว, ออกไปเสร็จแล้ว จึงไม่มีความเห็นแก่ตัว, แต่เห็นแก่ธรรม, หรือความถูกต้อง ถ้าเห็นแก่ตัวมันก็เป็นไอ้ ตัวกู-ของกู ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันก็ต้องเห็นแก่ธรรมคือความถูกต้อง หรือหน้าที่ที่ควรกระทำ
นี่ความบริสุทธิ์ใจรายใหญ่ที่สุด หรือความบริสุทธิ์แห่งใจ, แห่งการกระทำทางกาย, วาจา, ใจนี่ที่รายใหญ่ที่สุดมันจึงอยู่ที่การทำงาน, เพื่องาน หรือทำหน้าที่, เพื่อหน้าที่ เรื่องอื่นไม่ใหญ่เท่าเรื่องนี้ เพราะว่าชีวิตนี้มันอยู่ด้วยการงานไอ้สิ่งที่เรียกว่าการงานกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่ดูจะเป็นอันเดียวกันไปเลยมันแยกกันไม่ได้ เราต้องทำงานทุกชนิด, งานบริหารร่างกายของเราเอง, หรืองานที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิด, หรืองานที่เกี่ยวข้องกับสังคม, งานที่เกี่ยวข้องกับโลกทั้งโลกนั้น มันก็ล้วนแต่เป็นการงาน ฉะนั้นจึงยกตัวอย่างของความบริสุทธิ์ที่การงาน, ให้การงานนั้นบริสุทธิ์คือ งานเพื่องาน เมื่องานบริสุทธิ์ไอ้คนผู้ทำมันก็บริสุทธิ์เอง แล้วจะรู้สึกเป็นสุขชนิดที่ถูกต้องคือ สุขตามความหมายทางธรรม, ทางศาสนา ไม่ใช่สุก “ก” สะกด
ทีนี้ความบริสุทธิ์อย่างอื่นมันก็ยังมีอีกทุก ๆ เรื่อง แต่มันมารวมได้ที่การงาน เอ้า, ลองคิดดูสิ เราจะทำอะไร, อย่างไร, ที่ไหน, เมื่อไร ที่มันจะไม่รวมอยู่ที่การงาน เพราะแม้แต่เราจะอาบน้ำ, จะฉันอาหารนี้, มันก็เป็นการงาน เราจะไปเกี่ยวข้องติดต่อคนนั้นคนนี้, ที่นั่นที่นี่, มันก็คือการงาน เพราะฉะนั้นโดยทางปฏิบัติกันตรง ๆ หรือที่เป็นอยู่กันจริง ๆ นี่ยกเอาตัวการงานนี้มาเป็นหลัก สำหรับดำเนินความบริสุทธิ์ให้มันเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นสุข
ทีนี้ที่ว่าจะบริสุทธิ์จากกิเลสนั่นมันก็สูงขึ้นไป แต่แล้วก็อย่าลืมว่าบริสุทธิ์จากกิเลสนั้นมันก็คือบริสุทธิ์ที่กายวาจาใจเมื่อมีการกระทำหรือมีการเคลื่อนไหวอยู่นั่นเอง มันก็มารวมอยู่ในคำว่า การงาน พระอริยเจ้า เป็นพระโสดา, พระสกิทาคา, พระอนาคา, พระอรหันต์ ท่านก็ทำงานท่านมีการเคลื่อนไหวทางกาย, ทางวาจา, ทางใจ ถ้าท่านมีการกระทำที่บริสุทธิ์คือ ทำงานตามทางธรรม, ทำงานเพื่อธรรม, ทำงานโดยธรรม, อะไรก็ล้วนแต่เนื่องอยู่กับธรรม, ไม่เนื่องอยู่กับ ตัวกู-ของกู ตามมากตามน้อยตามระดับของท่านเท่าที่จะทำได้ กระทั่งถึงขั้นพระอรหันต์นั้นจึงจะถึงอันดับสุดท้ายหรือสูงสุดไม่เจืออยู่ด้วย ตัวกู-ของกู อย่างเร้นลับแต่ประการใด แต่นี้หลักใหญ่มันมีตายตัวลงไปได้เลยว่าไม่เนื่องด้วย ตัวกู-ของกู คือ ไม่เนื่องด้วยความเห็นแก่ตัว เราจึงทำลายความเห็นแก่ตัวเอาเหงื่อล้างความเห็นแก่ตัวอยู่ทุกวัน ๆ ๆ เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมา แล้วก็เจริญงอกงามก้าวหน้าไปตามลำดับแล้วขอให้ฝึกหัดเสียเลยด้วยว่าฝึกหัดสบายใจเมื่อได้ทำงานด้วยจิตว่างนี้, ฝึกหัดสบายใจด้วยเมื่อได้ทำงานเพื่องานเช่น จะกวาดขยะอยู่ที่ลานวัดอย่างนี้มันควรจะรู้สึกสบายใจที่ว่าได้ทำหน้าที่ และก็ไม่ให้มากไปกว่านั้นไม่ให้เกิดไอ้ความรู้สึกคิดนึกที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวอย่างใดอย่างหนึ่งเจือขึ้นมา จะให้เขามองดูว่าเราเป็นคนขยันสรรเสริญเยินยอ หรือว่าจะให้รับนั่นรับนี่ ไอ้ทำนองอย่างนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องทำงานเพื่องานแล้ว, มันเพื่อผล, มันเป็นความต้องการเพื่อ ตัวกู-ของกู แล้ว
เอาทีนี้เพื่อให้ถูกต้องตามหน้าที่ บางคนอาจจะแย้งว่า อ่ะ, นี่มันก็เพื่อตัวตนเหมือนกันนี่เพื่อจะเป็นคนดีถูกต้องตามหน้าที่ เราก็ระวังในข้อที่ว่าไม่ได้ทำเพื่อว่าให้เราเป็นคนดี หรือดีกว่าใคร หรือเป็นคนนี้คนนั้นขึ้นมานี่, อย่ามีคนขึ้นมา, ทำด้วยจิตที่ว่างจากคน, จิตที่ว่างจากความรู้สึกว่าคนอยู่เสมอไป แล้วก็พอใจชนิดที่มันบริสุทธิ์ความอิ่มใจนี้มันบริสุทธิ์เป็นปีติที่บริสุทธิ์มันก็มีความสุขอยู่ได้แม้ขณะกวาดถือไม้กวาดกวาดแผ่นดินอยู่นี้
ทีนี้ชาวบ้านที่เขาอยู่ที่บ้านก็เหมือนกัน ถ้าเขามีศิลปะในการฝึกจิตใจอย่างนี้, มีเคล็ดลับอย่างนี้, เขาก็จะไม่มีความทุกข์ และเขาจะมีความสุขไปทุก ๆ นาที ทุก ๆ ลมหายใจเข้า-ออก พูดอย่างภาษาวัด หายใจเข้าก็เป็นสุข หายใจออกก็เป็นสุข ก็เป็นอย่างนี้ตลอดไป ฉะนั้นเรียกว่าเขามีชีวิตอยู่ด้วยความบริสุทธิ์กลายไปเป็นเรื่องจิตว่างจาก ตัวกู-ของกู เมื่อใดมันว่างจาก ตัวกู-ของกู มันก็เป็นเย็นเมื่อนั้น, เป็นสุขเมื่อนั้น, สะอาดเมื่อนั้น พอกลุ้มไปด้วย ตัวกู-ของกู มันก็กลายเป็นร้อน, เป็นทุกข์, เป็นสกปรกไปเมื่อนั้น นี่ขอให้สังเกตตลอดเวลาที่ได้ทำงาน, ที่ลงมือทำงาน แล้วก็ให้มันปล่อยให้มันเป็นไปเพื่องาน อย่าเพื่อผลแห่ง ตัวกู-ของกู การที่ทำเพื่อผลแห่ง ตัวกู-ของกู นั้นเป็น, เป็นธรรมดาสามัญของคนทุกคนอยู่แล้วหรือของเราเองด้วยตามธรรมดามาก่อนแล้ว ไม่แปลกอะไรมันก็เลยไม่ต้องเห็นว่ามันแปลกอะไร จะต้องไปวกไปสนใจมันทำไม
ในเรื่องใหม่ก็คือเรื่องที่ว่าเปลี่ยนเป็นทำงานเพื่อหน้าที่, หน้าที่คือธรรมะ เพราะฉะนั้นทำงานเพื่อธรรมะ, ตามธรรมะ, โดยธรรมะ เพื่อธรรมะมันก็เลยเป็นเรื่องบริสุทธิ์ก็มีความสุขชนิดที่แท้จริงเกิดขึ้นนี่ก็เป็นข้อหนึ่งแห่งองค์ประกอบของความสุข
ทีนี้ข้อถัดไปที่จะให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นองค์ประกอบของความสุขอีกแง่หนึ่งก็คือความรู้สึกปลอดภัย ในภาษาบาลีเขาเรียกว่า อภโย อเวโร นี่ ไม่มีภัย, ไม่มีเวร, ไม่มีอุปปัทว, ไม่มีอันตราย ความรู้สึกเหล่านี้เราเรียกง่าย ๆ ในภาษาธรรมดาสามัญว่า “ความปลอดภัย” ถ้าเราไม่รู้สึก ไม่แน่ว่ามีความปลอดภัยแล้วก็, มันรู้สึกเป็นสุขไปไม่ได้ เรียกง่าย ๆ ว่า อภโย ไม่มีภัย, ความไม่มีภัย อภยตา ความไม่มีภัย, ความเป็นคนไม่มีภัย คนส่วนมากเวลานี้ไม่กล้านอนเล่นใต้ถุนบ้านเหมือนสมัยก่อน นี่คือข้อเท็จจริงซึ่งเป็นมากขึ้นมากขึ้น สมัยปู่ย่าตายายของเราจะนอนเล่นอยู่บนร้าน, อยู่บนใต้ถุนบ้าน หรือริมสวนที่ไหนจนค่ำมืดดึกดื่นที่ไหนก็ได้เพราะความไม่มีภัย, ไม่มีเวร ส่วนคนสมัยนี้ไม่กล้าเพราะเต็มไปด้วยเวร, ด้วยภัยที่ทำกันขึ้นไว้ก็แปลว่าจะนอนไม่ปิดประตูเรือนเหมือนสมัยโบราณนั้นไม่ได้น่ะ นี้จะปิดประตูเรือนต้องใส่กลอนให้แน่นหนาต้องป้องกันอีกมากมาย ทีนี้โดยคณะโดยหมู่คณะก็เป็นอย่างนั้น หรือทั้งโลกก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความรู้สึกที่เป็นความปลอดภัยเลยกลายเป็นความกลัวเข้ามาแทน ภย แปลว่ากลัว อภย แปลว่าไม่มีความกลัว อภโย คนที่ไม่มีความกลัว อภยตา ความที่เป็นคนที่ไม่มีความกลัว
ทีนี้ความกลัวนี้รู้จักกันดีแล้วนี่ แม้แต่เป็นพระเป็นเณรก็ยังไม่กล้านอนในที่โล่ง เปิดเผย อย่างนี้เช่น จะนอนที่นี่ก็ยังกลัวคนจะทำอันตราย นี้เป็นตัวอย่างของคำว่าความรู้สึกปราศจากเวรภัย ทีนี้มันก็กินความเลยไปถึงไม่มีอันตรายไปในอย่างอื่น ๆ ด้วยเช่น เราไม่ต้องคิดว่า, ตึกนี้มันจะพังทับเรา เป็นต้น หรือมีวัตถุสิ่งของที่มันเป็นอันตรายเบียดเบียนชีวิตเราอยู่นี่ก็ต้องไม่มีด้วย นี่จะว่าโดยคนก็ตาม, โดยวัตถุก็ตาม, โดยอะไรก็ตาม, ไม่มีสิ่งที่เราจะต้องกลัว
ทีนี้เราจะเป็นคนอย่างนี้ได้อย่างไร มันก็เนื่องมาแต่การทำที่ถูกต้องเรื่อย ๆ มาจนกระทั่งหมดกิเลสนี่ถ้าเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของก็ทำให้ถูกต้องมันก็ไม่มีอันตราย นี่ถ้าเกี่ยวกับบุคคลเราก็มีความรักมีความเมตตาปราณีที่เรียกว่า, มีพรหมวิหาร, มี อัปปมัญญา แผ่ไปทุกทิศทุกทาง เราก็เลยนอนใต้ถุนบ้านไม่มีอะไรป้องกันได้, ไม่มี, ไม่กลัวว่าใครจะมาทำอะไร หรือว่าเขาถือหลักกันมาแต่โบราณนะ ไม่รู้ เราไม่มีเวรไม่มีภัยอะไรกับใคร, เรานอน, เขาก็นอนได้ ถ้าจะมีใคร, ศัตรูคนใดแอบมาฆ่าเขาตายมันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะว่าเขาเป็นส่วนตัวเขา หรือทางฝ่ายเขานั้นเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย ฉะนั้นคนโบราณเขาถือกันอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่กล้าถือกันอย่างนี้ ทีนี้ถ้ามันเป็นเรื่องของกิเลสที่มันบีบคั้น, ที่มันทำอันตราย เราก็ต้องทำเพื่อความหมดกิเลสนี่มันจึงจะไม่มีภัย, ไม่มีอันตรายจากกิเลส ควรจะมองดูกันในสามระดับว่าภัยจากวัตถุ, สิ่งของ, สัตว์เดรัจฉาน อะไรเหล่านี้น่ะก็จัดมันให้ถูกต้อง หรือภัยจากเพื่อนมนุษย์ที่เป็นศัตรูกัน ก็ทำกับมันให้ถูกต้อง ทีนี้ภัยจากตัวเราเอง ตัวกู-ของกู ที่มันจะกัดเอา, ตบหน้าเอา ไอ้ภายในเองก็ต้องจัดการมันให้ถูกต้อง ก็กลายเป็นผู้ไม่มีเวร, ไม่มีภัย และสิ่งที่เรียกว่าเวร, ว่าภัยนี้มันออกมาจากภายในอย่าไปเข้าใจว่ามันอยู่ที่คนข้างนอก การที่คน ๆ หนึ่งจะเป็นศัตรูกับเราเพราะเราจะต้องทำผิดต่อเขาหรือเราวางตัวไว้ผิดเท่านั้นละ มันก็เกิดศัตรูรอบด้าน
นี้คือว่าภัยหรือบุคคลที่เป็นศัตรูนั้นมันเกิดมาจากภายในของเราเอง ถ้าเรามีความถูกต้องในการดำรงชีวิตอยู่มันก็ไม่มีเวรไม่มีภัยจากคนด้วยกัน ถ้ามีความฉลาดพอก็ไม่มีเวรไม่มีภัยจากสัตว์เดรัจฉาน, จากวัตถุสิ่งของ หรืออะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการจัดการกับภายในกับสิ่งที่มีอยู่ภายใน คือความรู้สึกที่เป็น ตัวกู-ของกู นั่นละสำคัญที่สุด จะระงับเวรภัยได้ดีที่สุดก็ที่จัดการกับไอ้ ตัวกู-ของกู นั่นละให้ถูกต้องให้มีการปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้อง, ดำรงอยู่อย่างถูกต้อง มันก็ไม่เกิดขึ้นกัด (กับ) ตัวเราในภายใน แล้วมันไม่สร้างศัตรูข้างนอก แล้วมันก็ไม่เผลอให้อุปทวอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น โดยไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตวิญญาณ แต่มันก็เป็นอันตรายกระทำแก่เราได้เหมือนกันถ้าเราเป็นคนโง่ แม้ที่สุดแต่เรื่องไอ้โรคภัยไข้เจ็บ, เรื่องไอ้การหกล้มหกลุกอะไรเหล่านี้ก็เหมือนกัน มันมาจากการที่เราดำรงจิตใจไว้ไม่ดี ฉะนั้นก็จะต้องถือว่าความสะเพร่านี้ก็เป็นบาป เป็นกิเลสไม่มีทางที่จะแก้ตัว ความสะเพร่านี้เขาจัดไว้ในประเภทโมหะ, ไม่ใช่ราคะ, ไม่ใช่โทสะ, แต่เป็นโมหะ ก็อยู่ในเครือเดียวกันก็เป็นกิเลสที่เกิดจาก ตัวกู-ของกู ฉะนั้นอย่าถือว่าเป็นความแก้ตัวว่าเราไม่รู้, หรือเราเผลอไป, หรือเราไม่ทันรู้อย่างนี้เป็นต้น ต้องถือว่าเราจะต้องรู้สิ่งที่ควรจะรู้
ทีนี้ให้ดูต่อไปว่าทุกอย่างมันเนื่องกันข้างในหรือข้างนอก หรือข้างนอกไปอีกมันเนื่องกัน เราอาจจะใช้ไอ้ข้างนอกนี่เป็นเครื่องแวดล้อมเข้ามาก็ได้ หรือใช้ข้างในนี่เป็นเครื่องส่งออกไปก็ได้ จนเรามีความเมตตาปราณีกับสัตว์เดรัจฉาน, เมตตาปราณีแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน มันก็ทำให้ ตัวกู-ของกู นี่มันร่อยหรอไป, ความเห็นแก่ตัวนั่นมันร่อยหรอไปข้างใน หรือว่าเมื่อเราไม่มีความเห็นแก่ตัว เราก็จะเมตตาปราณีแก่ผู้อื่น หรือแก่สัตว์เดรัจฉาน มันจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างนี้
ดังนั้นในกรณีที่ต้องปฏิบัติเพื่อแผ่ออกไปในภายนอกก็แผ่ออกไปภายนอก ในบางกรณีจะต้องปฏิบัติชนิดที่มองดูเข้ามาในภายในแก้ไขในภายใน, เราก็แก้ไขในภายใน เราก็จะเป็นผู้ไม่มีเวร (ไ)ม่มีภัยคือ มีความปลอดภัยทุกชนิด เมื่อนั้นละ, จิตนี้จะรู้สึกเป็นสุขเมื่ออยู่ด้วยความรู้สึกว่าปลอดภัย เดี๋ยวนี้คนมันละเลยธรรมะกันมากก็เลยยากที่จะปฏิบัติ มันมี ตัวกู-ของกู น่ะ, มากเกินไป, จัดเกินไป, บ่อยเกินไป, อะไรเกินไป มันก็เกิดความโง่ชนิดที่มองเห็นเป็นความไม่ปลอดภัยไปหมดคือ ความระแวงสงสัยนี่มันพอกพูนขึ้นมาเองได้จนคนเดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยโรคเส้นประสาท สิ่งที่เป็นอันตรายก็มิได้มีอยู่จริงหรือมากมายถึงขนาดนั้น แต่ความวิตกกังวลลังเลสงสัยนี่มันมากเกินไปมันก็สร้างภัยหลอก ๆ ขึ้นมามากเกินไปทั้งที่ภัยอันแท้จริงมันไม่ได้มีมากถึงอย่างนั้น มันก็เลยเป็นโรคเส้นประสาทคือ ความวิปริตแห่งระบบความรู้สึกคิดนึกทางเส้นประสาท ทีนี้ทุกอย่างมันก็เหลวหมดเมื่อไอ้ระบบเส้นประสาทมันเสียไปแล้วทุกอย่างมันก็ทำไม่ได้ ทีนี้ถ้าเราระวังป้องกันไว้ดีไม่เป็นโรคเส้นประสาท, ทุกอย่างก็ทำได้ อาจจะไม่กลัวในสิ่งที่ควรกลัวด้วยซ้ำไป เดี๋ยวนี้มันอยู่ในสภาพที่ว่ากลัวมากเกินไปแม้ในสิ่งที่ไม่ต้องกลัว, ไม่ต้องห่วง, ไม่ต้องวิตก, ไม่ต้องกังวล ก็เลยรู้สึกเหมือนกับมีเวรภัยอยู่รอบด้าน, ทุกอย่าง, ทุกประการ, จากนั่น, จากนี่, ทุกสิ่งไปหมด แล้วความสุขจะมีมาแต่ไหน นี่ผลของมันก็คือเป็นโรคเส้นประสาทเหมือนที่เป็นกันอยู่ทั่วโลกเวลานี้ จนเขาเรียกกันว่าอาณาจักรแห่งความกลัวกำลังครอบงำโลก นั่นล่ะคือโลกเป็นโรคเส้นประสาท และก็จะมัวแก้ปัญหากันด้วยเอาเวรล้างเวรนี้มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ ในเมื่อพุทธศาสนาสอนให้เอาความไม่มีเวรนี่มาล้างความมีเวร, ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธอย่างนี้เป็นต้น แต่นี่เขาก็ไม่เอาอย่างนั้นมันก็เป็นการเพิ่มให้อาณาจักรแห่งความกลัวมันเข้มข้นขึ้นไปทุกทีเลยทั้งโลกนี้ไม่มีความสุขอยู่ด้วยความระแวงหวาดกลัว ฉะนั้นจึงไม่ได้ชิมรส หรือรู้รสแห่งศาสนา, แห่งพระเจ้า, แห่งอะไรต่าง ๆ ที่เป็นธรรมะบริสุทธิ์นั้นเลย นี่ขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ ว่าไอ้ความรู้สึกว่าปลอดภัยนี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญองค์หนึ่งของความรู้สึกที่เป็นสุข ถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้วจะรู้สึกเป็นสุขไม่ได้
นี่วันนี้เราก็ได้พูดกันสองอย่างเพิ่มเข้ามาถึงองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าความสุขนับมาตั้งแต่ความรู้สึกอิ่ม, ความรู้สึกเป็นสุขสบาย, ความแน่ใจ และความบริสุทธิ์ใจ และก็ความปลอดภัย เวลาของเราก็หมด