แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมบรรยายทบทวนธรรม ในวันนี้จะพูดกันเรื่อง อภัยทาน น่าจะขอให้ทบทวนคำว่าทานมาแต่ต้นอีกครั้งหนึ่ง ทานสามอย่างแรกคืออามิสทานให้วัตถุสิ่งของ อภัยทาน ให้ความไม่มีเวรมีภัย ทำทานให้แสงสว่าง สามอย่างนี้ยังมีถึงบุคคลผู้รับ ให้ออกไปข้างนอกก็เลยเรียกว่าทานภายนอก ทีนี้อีกสามอย่างคือการเสียสละ คือหมดอยากไอ้สิ่งที่ไม่ควรเป็นอยู่ในจิตใจ ออกไปจากจิตใจ โดยทั่วๆ ไปเรียกว่าการบริจาคตัวกูของกูออกไป เป็นการบริจาคทุกอย่าง ไม่เว้นอะไรออกไป อย่างนี้ ทำตามลำพังตัวเอง ไม่ต้องมีบุคคลที่สองเข้ามาเกี่ยวข้อง เลยเรียกว่า ทานภายใน
ในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงวัตถุทาน หรือ อามิสทาน ในวันนี้จะได้พูดถึงอภัยทาน เป็นทานที่สอง ถ้าเปรียบเทียบกันดูจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น วัตถุทานให้วัตถุสิ่งของแก่ผู้ที่รับและยังมีชื่อที่ประหลาดๆ อีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกวัตถุทานนี้ หรือเรียกว่าอามิสทาน ไอ้คำว่าอามิสนี่ตามธรรมดาเขาแปลว่า เหยื่อ เหยื่อล่อ อย่างน้อยก็เป็นเหยื่อให้จิตใจที่ให้วัตถุสิ่งของถูกเรียกว่าอามิสทาน เป็นวัตถุที่เป็นที่พอใจแก่ผู้รับ ส่วนอภัยทานนี้ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่เป็นความรู้สึกที่เรียกว่าอภัย ก็แปลว่าไม่มีภัย ไม่มีเวร แต่คำอภัย แปลว่าอะไร อภัยถ้าแปลตามตัวหนังสือตรงๆ ก็แปลว่า ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว คุณอย่ากลัวฉัน คุณไม่ต้องกลัวฉัน นั่นคือความหมายของคำว่าอภัย อะว่าไม่ ภัยว่ากลัว ซึ่งการให้อภัยทาน คล้ายๆ กับว่าให้ กล่าวคือ คุณไม่ต้องกลัวฉัน อย่างนี้มันฟังเป็นของเล่น ๆ ไป ก็เลยเรียกว่าให้ความไม่มีเวรไม่มีภัย และให้อภัยทานก็หมายความว่าให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยออกไปแก่ผู้อื่น ซึ่งธรรมดาเหมือนกันว่า จะต้องโกรธกันบ้าง จะต้องเกลียดกันบ้าง มีเวรมีภัยต่อกันบ้าง ก็ให้เลิกร้างสิ่งเหล่านี้ไปเสีย ก็เรียกว่าให้อภัย ให้อภัยนั่นแหละคืออภัยทาน
ทีนี้เรามาดูกันต่อไปถึงลักษณะของการให้อภัยหรืออภัยทาน มันก็พอมองเห็นได้ตามธรรมดาสามัญนี้ว่า ให้อภัยเมื่อมันมีเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ให้อภัยกันให้เลิกกันไม่ต้องให้ต่อหน้าผู้รับ พยายามทำตัวไม่มีเรื่อง ไม่ต้องมีเรื่องมากระเทือนจิตใจ พร้อมจะให้อภัย ให้อยู่เรื่อย (เสียงไม่ชัดนาทีที่ 5:23-5:29) แม้จะเป็นการให้ลับหลังก็เป็นการให้ นี่สรุปสั้น ๆ ได้ว่า ให้ต่อหน้ากับให้ลับหลังหรือว่าให้ไม่มีเรื่องเกิดขึ้น มีแต่ให้โดยไม่ต้องมีเรื่องเกิดขึ้น เมื่อสรุปออกมาอย่างนี้ก็พอจะเข้าใจได้ทุกคน เพราะว่าแต่ละคนละคนนี้มีเรื่องกระทบกระทั่งคนนั้นคนนี้อยู่เป็นประจำวัน แต่ชาติที่แล้วๆ มาแต่หนหลังก็น่าจะมีการกระทบกระทั่งคนนั้นคนนี้นับด้วยร้อยครั้งพันครั้งกระมัง ลองคิดดูให้ดี บางทีไม่มีที่โกรธคนก็ไปโกรธที่สุนัขโกรธแมว กระทั่งสัตว์ที่มันมาทำความรำคาญให้แก่เรา จิ้งจก หนู ตุ๊กแก นี่ก็พาลโกรธมัน คิดจะฆ่ามัน มดแมลงก็มีอยู่มาก อย่างนี้เรียกว่าไม่ให้อภัย และการที่มีความรู้สึกคิดนึกเป็นเวรเป็นภัยนี้ไม่ใช่มันละออกไปได้โดยง่าย มันเหนียวหนืดติดแน่นอยู่ในใจ ละได้ยาก บางทีเป็นเดือน ๆ บางทีอาจจะเป็นปี ๆ มันก็ยังอยู่ที่นั่น ถ้าเราไม่คิดจะสละ หรือให้ออกไปเสีย นี่จึงต้องสนใจเรื่องอภัยทานกันให้มาก
แล้วทีนี้เราเรียกว่าทาน ที่จะเตือนให้มีความรู้สึกว่าเป็นที่สิ่งที่เราจะต้องให้ ที่จริงอาจจะมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น เช่นว่า การแผ่เมตตา หรือการทำสมาธิ มีเมตตาเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ได้ แต่นั่นมันจะสูงเกินไปกว่าที่ชาวบ้านจะปฏิบัติ เมื่อชาวบ้านถือเป็นหลักชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ ให้ออกไปแก่คนที่มีเวรมีภัยโดยวิธีทั้งต่อหน้าและลับหลังดังที่กล่าวมาแล้ว พระพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีอยู่มาก เช่นว่า อะโกสิมัง อะวะสิมัง อะทินิมัง อะหาสิเน เยจะตัง อุปไนหันติ (ไม่แน่ใจ และเสียงไม่ชัดนาทีที่ 8:21-8:24) ผู้ใดเข้าไปผูกความคิดนึกไว้ว่า มันได้ด่าเรา ได้ดูหมิ่นเรา มันได้ชนะเรา มันได้รับของของเราอย่างนี้เป็นต้นแล้ว เวรของคนเหล่านั้นไม่อาจจะระงับได้ นี่ลองคิดดูว่า ใครบ้างจะ ปลอดภัยได้จากความรู้สึกชนิดนี้เพราะว่าจะถูกคนนั้นด่า จะถูกคนนี้ขโมยของไป หรือมาท้าทายอะไรกันแล้วก็ชนะกันขึ้นมา ท้ายที่สุดก็อาจจะเป็นว่าไอ้นี้เคยประชดเราฉะนั้นเราจะต้องตอบแทนมันให้สาสม เพียงเท่านี้ก็เรียกว่าเวรแล้ว และเวรนี้มันไม่อาจจะระงับถ้ายังไม่มีทางสละออกไปบริจาค ถ้าทำหนักเข้าหนักเข้า มันก็จะเสียกลายเป็นนิสัยของคนผูกเวรที่มักผูกเวร มันก็จะเป็นคนระแวง นอนไม่หลับ ทรมานตัวเองให้มีความทุกข์ทนอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าต้องสละออกไป ต้องให้ออกไป ต้องสลัดออกไปได้จากจิตใจ ก็จะตั้งใจทำได้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตามธรรมดาเราเมื่อโกรธใครหรือเกลียดใครแล้วก็ไม่อยากจะพบปะพูดจาด้วย มันก็เลยไม่มีโอกาสที่จะเลื่อนเวรตรงนี้ ที่จะให้อภัยแก่กัน นี่มันก็ลำบากอย่างยิ่ง ถ้ามีมานะทิฐิ ฉะนั้นการที่มาหัดเป็นคนใหม่ให้รู้จักให้อภัยนี้ ก็รู้สึกว่าล่วงเกินกันแล้วตอนที่ให้อภัย ทีนี้ขออภัยหรือให้อภัยให้ถือว่ามันความผิดพลาดหรือบกพร่องทั้งสองฝ่ายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อภัย เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกไม่ถือหลักอย่างนี้ ไม่ถือหลักในการให้อภัย มีแต่จะตอบโต้ออกไปให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
พระเยซูสอนว่า ถ้าเขาตบแก้มซ้ายก็ให้เขาตบแก้มขวาด้วย ถ้าเขาขโมยเสื้อเอาไปก็เอาผ้าห่มตามไปให้ด้วย มันก็กลายเป็นสิ่งที่น่าหัวเราะสำหรับคนสมัยนี้ ไม่มีใครยอมเชื่อพระเยซู แต่กลับไปเชื่อหลักธรรมของ ยิวโบราณก่อนเยซูเมื่อพันพันปีที่แล้ว ที่เชื่อว่าฟันต่อฟัน ตาต่อตา เขาทำเราฟันหักซี่หนึ่งก็ทำให้เขาฟันหักซี่หนึ่ง ถ้าเขาทำให้ตาเราบอดข้างหนึ่งก็ให้ทำเขาให้ตาบอดอย่างหนึ่ง กลับไปถือหลักอันนั้นหรือมากกว่านั้น บางทีอาจเข้าใจผิดกันได้ คำสอนนี้เขาไม่ได้เอาไว้สำหรับให้สอนคนนะเอาไว้สำหรับให้พระเจ้าใช้หลักอันนี้ พระเจ้าเป็นผู้ให้หลักอันนี้แก่มนุษย์ มนุษย์ทำผิดอะไรลงโทษมันเท่านั้น ฟันต่อฟันตาต่อตา พระเจ้าให้มนุษย์ ไม่ใช่ให้มนุษย์ฆ่ากันเอง ถ้าเราพูดเป็นธรรมาธิษฐานก็ว่าให้กรรมใช้ ทำบาปเท่าไรก็ต้องบาปเท่านั้น ทำชั่วเท่าไรมันก็ต้องชั่วเท่านั้น ไม่ว่าทำผิดอะไรก็ต้องลงโทษมันเท่านั้น ให้กรรมเป็นผู้ใช้ ให้พระเจ้าเป็นผู้ใช้ มนุษย์เราอย่าได้ใช้หลักอันนี้เลย ช่วยกันลืมเสียดีกว่า ฟันต่อฟันตาต่อตาอะไรทำนองนี้
หันไปหาคำสอนของพระเยซูที่ว่าเขาตบแก้มซ้ายแล้วก็ให้เขาตบแก้มขวาด้วย ถ้าทำได้ถึงเพียงนั้นมันก็เลยเคลียร์กันได้ เขาตบแก้มซ้ายแล้วเคลียร์กันได้ก็ยังดี นี่มันมีความหมายมาก มีความสำคัญมากอย่างไรขอให้ลองคิดดู เรื่องการรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกันในโลกนี้ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้มันกำลังถึงยุคที่ว่า เลือดเข้าตา ไม่รู้จักให้อภัย ต่อไปนี้มันก็จะรู้จักเข็ดหลาบก็จะรู้จักให้อภัยขึ้นมา
นี่เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธก็ต้องนึกถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ก็ถือหลักการให้อภัยตลอดเวลา พระเยซูสอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสมากอย่างนั้น แต่ก็มีน้ำหนักพอพอกัน มีพระบาลีที่ชื่อว่า พระปัจตูกะวะสูตร มัชฌิมานิกาย ได้ตรัสไว้ว่า ถ้าพวกโจรจับเธอมัดแล้วเอาเลื่อยเลื่อย ในเมื่อเลื่อยมันบาดผิวหนัง มันเจ็บปวด เท่านี้จิตเกิดความประทุษร้ายต่อโจรนั้น เธอไม่ใช่คนของเรา เท่านี้ยังไม่พอ ตรัสต่อไปว่า ทีนี้เลื่อยมันเลื่อยหนังขาดลงไปถึงเนื้อ ท่านก็ตรัสแบบเดิม ถ้าเธอมีจิตประทุษร้ายต่อโจรนั้น เธอไม่ใช่คนของเรา ก็ยังเลยไปอีกว่า เมื่อเลื่อยเลื่อยลงไปถึงกระดูก เหมือนกับมากขึ้นไปอีก ถึงเธอมีจิตที่ประทุษร้ายต่อโจรนั้น ก็เรียกว่าเธอไม่ใช่คนของเรา กระทั่งเลื่อยต่อไปอีกถึงเยื่อในกระดูก และยังมีจิตประทุษร้ายเนื่องจากเหตุนั้น เธอไม่ใช่คนของเรา นี่เจ็บปวด ทำให้ทนไม่ได้ โกรธ ขัดใจ มันก็คืออยากจะฆ่าคนที่ทำให้เราเจ็บปวด อย่างนี้ไม่ใช่คนของเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า คือไม่ประพฤติกับเรา นั่นลองไปเทียบกันดูว่าพระเยซูบอกว่า ถ้าเขาตบแก้มซ้ายก็ให้ตบแก้มขวาด้วย แล้วตรัสว่า ถ้าเขาเลื่อยเราแล้วเราโกรธเขา ไม่ใช่คนของพระพุทธเจ้า ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องการให้อภัย ถ้าเราเคยทำได้เท่าไหร่ การให้อภัยนี่เราเคยทำได้เท่าไหร่ เคยประพฤติไปเท่าไหร่ แม้แต่เด็กๆ มันพูดอะไรประชดมาสักคำหนึ่ง เราก็อยากจะฆ่ามันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเอาเลื่อยมาเลื่อยกระมัง ลองคิดดู
ซึ่งเรื่องให้อภัยนี้เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา ทั้งโดยส่วนใจความและส่วนปลีกย่อย ที่เราเรียกกันว่าทำวัตร ทำแบบโบราณที่เขาใช้กันมา และนั่นก็คือการให้อภัยอย่างยิ่ง คือเอามาใช้ทำวัตรเข้าพรรษา หรือทำวัตรทุกๆคราวที่มีการล่วงเกินกัน ผู้ใดมีการล่วงเกินกับใครแล้วก็ไปทำวัตร ผู้ที่ถูกล่วงเกินก็ไปทำวัตรอย่างเดียวกับที่ทำเมื่อเข้าพรรษา ซึ่งกอรปอยู่ด้วยความหมาย 3 อย่าง อุกาสะ วันทา ภันเต ข้าพเจ้าขอถือโอกาสทำความเคารพต่อท่านอย่างแสดงความเคารพ ขอโอกาสด้วย อุกะทัง วะราธัง มะถะเม ภันเต ขอท่านจงขอโทษทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า มะยา ปะตัง ปุณยัง พะอันนา อนุโมธิตะพัง บุญอะไรที่ข้าพเจ้าทำขอให้ท่านอนุโมทนาด้วย พะอันนา ปะตังปุณยัง มัยหัง วาตะภัง หากท่านได้กระทำขอให้ข้าพเจ้ามีส่วนด้วย ให้มันหมดเกลี้ยงเกลาจากจิตใจไม่มีเวรมีภัย นี่เป็นการปฏิบัติหรือวิธีปฏิบัติ ไม่ต้องอายไม่ต้องกลัว เข้าไปขอโอกาสทำความเคารพและขอให้อดโทษและขอแลกเปลี่ยนส่วนบุญ ถ้าทำได้ถึงขนาดนี้ก็แปลว่าเป็นผู้ยอม ยอมอย่างเต็มที่ ยอมอย่างที่สุดให้ความเป็นภัยเป็นเวรให้หมดไปไม่มีเหลือ ซึ่งขออย่าถือว่าเป็นเพียงพิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วทำเพ้อ ๆ ไปโดยไม่รู้ว่าอะไร หรือว่าปีหนึ่งทำหนเดียวสองหนแล้วก็เลิกกัน นั่นมันไม่ถูกแต่ต้องทำอยู่เสมอ วันนี้พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ก็ทำไป ถ้ามีเรื่องล่วงเกินผู้ใดแล้วก็จะต้องขอให้อดโทษ ใช้โวหารที่พูดนั้นให้เหมาะสมแก่ความเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ ถ้าเราเป็นผู้น้อยเราก็ง่าย ที่จะไปขอให้อดโทษ แต่แม้ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ล่วงเกินเด็ก ๆ เข้า ก็ต้องขอให้อดโทษเพื่อความไม่มีเวรไม่มีภัยด้วยเหมือนกัน ถ้าทำได้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นวัฒนธรรมประจำบ้านประจำเรือนไปเลยก็ยิ่งดี มันจะคุ้มกันอะไรได้มาก นี่ขอภัยทานถึงแม้มันไม่มีการล่วงเกินผู้ใด ก็ตั้งปณิธานไว้ที่จะไม่ล่วงเกินใครและก็หวังจะให้ทุกชีวิตทุกสรรพสัตว์มีความสุขไม่มีเวรไม่มีภัยแก่กันและกัน เมื่อไม่มีเวรไม่มีภัยแต่คนเดียว ขอให้ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่กันและกันตลอดทั้งโลกทัศน์ใหญ่เท่าไรก็ไม่ต้องพูดถึงกันล่ะ แต่ทั้งหมดในบรรดาสิ่งที่มีชีวิตในโลกทัศน์ทั้งปวงนี้ ขออย่าได้มีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อะเวรา จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด อนีฆา อย่ามีความทุกข์เลย อัพพะยา ประชา อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย สุขี อัตตานัง ปริหารันตุ จงรู้จักบริหารตน ให้มีความสุขความสุขเถิด นี่บทสำหรับให้อภัยทานมันมีมาอย่างนี้ บทสำหรับพิจารณา สำหรับสวด สำหรับท่อง สำหรับทำในใจมันมีอยู่อย่างนี้
รวมความแล้วก็คือว่า ไม่มีเวรต่อกันและกัน เวรคือความผูกโกรธไว้ ผูกความเจ็บใจไว้ งั้นเราควรพยายามดูให้ดี ว่าวันหนึ่งวันหนึ่งมันมีความผิดปรกติของจิตในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างไรบ้างแล้วก็รีบชำระชะล้างกันทันทีหรือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เสมือนหนึ่งเชื้อโรคร้ายที่ไปเปื้อนเขาแล้วก็ต้องล้างออกทันที บางทีครูบาอาจารย์บ่นคำเดียวก็โกรธผูกเวรไว้ พ่อแม่บ่นคำเดียวก็โกรธผูกเวรไว้ เพื่อนเผลอไปพูดเกินไปหน่อยก็ผูกเวรไว้ มันมีโอกาสที่จะมีได้ แม้ในบุคคลที่เรียกว่าหวังดี เพื่อนที่รักพูดไปก็โกรธ บิดามารดาพูดเผลอไปก็โกรธ ครูบาอาจารย์พูดไปตามตรงก็โกรธ ผมพูดบนธรรมมาสมีคนลุกขึ้นสะบัดก้นนี่ก็โกรธ มันก็เป็นของที่ระวังยากเหมือนกัน เพียงตัวเราไม่โกรธ ก็เมื่อโกรธนั้นก็ขอให้มันระงับหายไปเสีย อย่าให้กลายเป็นเวร แต่เมื่อผูกไว้จึงจะเรียกว่าเวรก็คือความโกรธนั่นเอง ไม่ผูกไว้ ยังไม่ทันจะผูกไว้โกรธขึ้นมานั่นก็คือ ความโกรธ ถ้าเราผูกไว้ในฐานะที่จะแก้แค้นนั่นก็เรียกว่าเวร ฉะนั้นเราจงเป็นผู้อยู่โดยที่ไม่มีเวร
ทีนี้อาจจะมีปัญหา ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นว่า ถ้าเราเป็นคนใจดีขนาดนี้ คนพาลมันก็มารุมเบียดเบียนเราเรื่อย อันนี้มันเป็นไปไม่ได้ ขอให้ลองทำดูก่อนเถอะ ความเมตตากรุณานี้เขาถือกันว่า ทำให้เสือเชื่องทำให้สิงโตเชื่องไม่เฉพาะไม่ต้องพูดถึงคน อย่าไปกลัวอย่างเขลาๆ ว่าถ้าเราใจดีแล้วคนข่มเหงอยู่เรื่อย ถ้าเราไม่อดภัยแล้วเบียดเบียนเราเรื่อยอย่าไปกลัว ขอให้ลองทำดูก่อน ยินดีที่จะให้อภัยทานเสมอไป มันจะมารุกล้ำอีกเป็นครั้งที่สองที่สามก็ยินดีให้อภัยทานเสมอไป ที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะความดีความไม่ดีด้วยความดี ชนะเวรด้วยการไม่มีเวร พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ถ้าเราถือหลักอย่างนี้ ผูกโกรธไว้แล้วศัตรูมันมากขึ้นทุกทีไอ้เราก็นอนไม่หลับแล้วมันก็เป็นโรคประสาทหนักเข้าเป็นบ้า ด้วยอานิสงค์ของอภัยทานให้มากๆ จะเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องมีอภัยทานแก่กันและกัน ชนชาติไทยได้รับพระพุทธศาสนามานานแล้ว อาจจะถึงสองพันกว่าปีแล้ว มันก็ทำให้ชนชาติไทยมีสายไม่ผูกเวรไม่จองเวร ใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมที่จะพูดเสมอว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร อย่ากลัว คุณไม่ต้องกลัวผม ท่านไม่ต้องกลัวฉัน เป็นของธรรมดา นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอภัยทาน ถือว่าทำยากหรือสูงกว่าวัตถุทาน แต่ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์เลย ขอให้ไปคิดดู วันนี้ก็พอกันที ทบทวนธรรมะเรื่องอภัยทาน