แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในตอนนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อที่ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียว คือ จิต เพื่อว่าผู้ที่จะลาสิกขาออกไปเผชิญโลกอย่างสมบูรณ์แบบนี้ จะได้รู้จักสิ่งซึ่งสำคัญที่สุดซึ่งเป็นต้นตอหรือว่าเป็นตัวการหรือเป็นผลสุดท้ายก็ตามแห่งสิ่งทั้งปวง ขอเตือนว่าเราได้พูดกันมาแล้วว่า การลาสิกขาออกไปนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือจะไปเผชิญโลกอย่างสมบูรณ์แบบซึ่งทำอย่างไรเสียก็ต้องให้ดีกว่าที่แล้วมา เพราะว่าก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้เรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณกี่มากน้อย ทีนี้พอบวชแล้วสึกออกไปมันพาเอาความรู้เรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณนี้ออกไปมาก ก็เลยจะต้องเผชิญโลกได้ดีกว่าเดิมจึงจะเรียกว่าสมบูรณ์แบบ และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าก่อนนี้เขาให้อภัยแก่เรา เราจะทำผิดพลาดไปบ้าง ทีนี้มาบวชแล้ว สึกแล้วนี้เขาไม่ให้อภัยถ้าทำผิดก็จะชี้หน้าว่าบวชเสียผ้าเหลือง นี่คือข้อที่ต้องนึกอยู่เสมอ
ทีนี้ใจความสำคัญของไอ้เรื่องนี้มันก็คือว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือ จิต นี่มันเป็นต้นตอของความสำเร็จหรือความล้มละลาย เราจะต้องรู้เรื่องที่เกี่ยวกับจิตทุกเรื่องที่ควรจะรู้ จะรู้ไปทั้งหมดมันก็ไม่สามารถจะรู้ แต่ว่าทุกเรื่องที่ควรจะรู้นี้ต้องรู้ เพื่อว่าเราจะได้ จะได้ใช้จิตให้ถูกต้อง แล้วเราก็จะสามารถมีฆราวาสธรรม สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี้ได้โดยสะดวก โดยง่ายและครบถ้วน ฉะนั้นขอให้ทุกคนสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าจิตกันจริง ๆ จัง ๆ
ผมคิดว่าที่แล้วมาพวกคุณไม่ได้สนใจกับสิ่งที่เรียกว่าจิต โดยตรงหรืออย่างถูกต้องหรือไม่อาจจะ อาจจะไม่ได้สนใจว่า มีสิ่งที่เรียกว่าจิต อยู่เป็นพิเศษหรือสำคัญอีกด้วย โดยถือเสียว่าเอาตามอารมณ์ ทำอะไรไปตามอารมณ์ จิตจะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ฉันเอาแต่ตามอารมณ์ที่ต้องการ อย่างนี้มันเป็นความเขลา เพราะว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิต มันออกมาจากจิต แต่ทีนี้เรามาเอาปลายเหตุของมัน ไอ้ที่เรียกว่าอารมณ์ ๆ นี้ ที่เรียกกันว่า ที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า AWAKE AWAKE EMOTION นี้มันเป็นปลายเหตุ หรือผลของจิตหลังจากที่คิดนึกอะไรไปตามสิ่งที่มากระทบ ซึ่งเรียกว่าอารมณ์อีกเหมือนกัน ตรงนี้ให้ระวังให้ดี ภาษาไทยดิ้นได้กำกวมปนเปกันยุ่งไปหมด ภาษาธรรมะอารมณ์นั้นก็หมายถึง สิ่งที่จะมากระทบจิต ภาษาที่พวกคุณพูดกันตามสมัยใหม่นี้อารมณ์หมายถึงพื้นเพของจิตหลังจากที่มันมีอารมณ์มากระทบแล้ว จึงไม่รู้เรื่องจิตพอสมควรที่จะจัดการกับมันได้คือจะควบคุมจิตได้อะไรเหล่านี้
เดี๋ยวนี้เรามามองกันให้เห็นชัดเป็นพื้นฐาน เป็นหลักฐานทั่วไปก่อนว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือ จิต ในส่วนที่จะเป็นต้นเหตุคือความคิดนึกที่จะกระทำมันก็อยู่กับจิต ขึ้นอยู่กับจิต การกระทำมันก็ขึ้นอยู่กับจิต ผลของการกระทำมันก็อยู่กับจิต ฉะนั้นไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ ความ ที่ไม่ใช่หน้าที่การงานของจิต ถ้านั้นเราจะต้องรู้จักไอ้สิ่งนี้ ซึ่งรวมความว่าเราจะต้องมีจิตที่เหมาะสม เราจะต้องมีจิตที่เหมาะสม ฟังดูให้ดี คล้าย ๆ กับผมบอกว่าที่แล้วมาคุณมีจิตที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรนักเรื่องเกี่ยวกับจิต มันก็ตกไปฝ่ายวัตถุ คือไปบูชาวัตถุ รู้จักแต่วัตถุ เกี่ยวข้องอยู่แต่กับวัตถุ จัดการอยู่แต่กับวัตถุ มันก็เกิดเป็นไอ้วัตถุนิยม MATERIALISM ขึ้นมาโดยไม่ทันรู้ตัว เกิดลัทธิวัตถุนิยมขึ้นมาหนาแน่นในโลก เต็มไปทั้งโลก
กระทั่งที่รุนแรงก็เป็น DIALECTIC MATERIALISM เพราะอะไร ๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุ ถ้าทำวัตถุให้ดีแล้วอะไรก็ดีหมด กระทั่งจิตนี้เป็นเพียงผลพลอยได้จากวัตถุ เป็นเพียงปฏิกิริยาของวัตถุ ไม่ต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าจิต คือจัดเรื่องวัตถุให้ดีแล้วจิตมันก็ดีเอง ปัญหามันก็หมดไป เขาคิด เขาคิดกันอย่างนั้น จึงระดมกันแต่เรื่องวัตถุ ให้จิตนี้เป็นเพียงปฏิกิริยาของวัตถุ หรือของการจัดการทำทางวัตถุ เช่นร่างกายอย่างนี้มันจะให้เกิดความคิดนึกรู้สึกอย่างนี้ ที่เราปรับปรุงร่างกายนี้ให้ดีไปกว่านี้มันก็เกิดความรู้สึกคิดนึกที่ดีกว่านี้ จนกระทั่งมีความสุขเป็นที่พอใจแล้วเรื่องก็เลิกกันจบกัน ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพานอะไรที่ไหนอีกแล้ว
อย่างนี้เป็นวัตถุนิยมเป็นหัวใจของลัทธิคอมมิวนิสต์ แล้วคุณดูให้ดีคุณกำลังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่แล้วเต็มประตู เต็มตัว โดยไม่รู้สึกตัว พวกคุณกำลังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว อย่างเต็มตัว เพราะบูชาวัตถุ แล้วก็ปากก็พูดว่า ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องที่น่าหัว เป็นคอมมิวนิสต์นั่นไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องจะฆ่าคน หรือเผาบ้านเผาเมืองอะไร หัวใจของมันอยู่ที่บูชาวัตถุเป็นพระเจ้า แรงเกินกว่าพวกอื่น ๆ พวกอื่น ๆ มันก็บูชาวัตถุ แต่ไม่หวังพึ่งวัตถุอย่างเดียวล้วน ๆ เหมือนลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาไปพึ่งพระเจ้า พึ่งอะไรกันบ้างแต่ในที่สุดมันก็เหลวทั้งนั้น พึ่งพระเจ้าแต่ปาก มีพระเจ้าแต่ปาก พระเจ้าก็ตายไปแล้วมันก็เป็นลูกน้องของคอมมิวนิสต์ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าอวดดีไป พวกที่ว่าตั้งตัวเป็นศัตรูของคอมมิวนิสต์ จะปราบคอมมิวนิสต์ ที่แท้มันก็เป็นคอมมิวนิสต์ชนิดหนึ่งอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้นมันจึงปราบไม่ได้ มันจึงปราบคอมมิวนิสต์ให้หมดไปจากโลกไม่ได้ นี่คือโทษอันตรายเกิดมาจากการเข้าใจผิดในเรื่องเกี่ยวกับจิต ฉะนั้นขอให้ตั้งอกตั้งใจศึกษาให้ดีเป็นพิเศษในข้อที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต คือว่าหลักพระพุทธศาสนามีหลักอย่างนี้ คือให้ร่างกายหรือวัตถุนี้อยู่ใต้อำนาจของจิต ให้จิตอยู่เหนือวัตถุ อย่าไปกลับกันเสียอย่างพวกคอมมิวนิสต์ว่าไม่มีจิต หรือจิตถ้าจะมีก็เป็นเพียงปฏิกิริยาเล็ก ๆ น้อย ๆเกิดมาจากการงาน จากผลงานของวัตถุ
ทีนี้เมื่อเราเห็นว่าทุกอย่างมันสำคัญอยู่ที่จิต ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิตเพียงสิ่งเดียวอย่างนี้ เราก็ต้องจัดการกับจิต ในเรื่องที่เกี่ยวกับจิตนั้นน่ะเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสรุปความสั้น ๆ ว่าเราจะต้องมีจิตที่เหมาะสม ถ้าเรามีจิตไม่เหมาะสม แล้วเราจะเป็นอะไร เราจะเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ เกิดมาก็เรียกว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์กันทั้งนั้นน่ะ ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นอย่างอื่น แต่แล้วมันยังมีจิตไม่เหมาะสมที่จะเป็นมนุษย์ นี่ต้องระวังให้ดี ต้องพัฒนาจิตให้เป็นจิตที่มีความเหมาะสม นี่ถ้าพูดกว้าง ๆ ที่สุดก็คือเหมาะสมแก่การที่จะเป็นมนุษย์ พูดรายละเอียดปลีกย่อยออกไปก็เหมาะสมแก่การที่จะทำการงาน แก่การที่จะมีชีวิตอยู่ การที่จะคบหาสมาคม อะไรเยอะแยะไปหมด แต่รวมความแล้วก็เพื่อความเหมาะสมในการที่จะเป็นมนุษย์ ที่มีการได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มนุษย์ที่ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นไม่ควรจะเรียกว่ามนุษย์
ทีนี้ในทางตรงกันข้ามก็ขอให้มองอีกเพื่อรู้เห็นแจ้งเห็นจริงว่า ไม่มีศัตรูใด ๆ ที่จะร้ายยิ่งไปกว่าจิตที่ตั้งไว้ผิด จิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นเป็นศัตรูและเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุดกว่าศัตรูใด ๆ อย่าไปคิดว่าศัตรูข้างบ้านหรือว่าศัตรูข้างประเทศเรา หรืออะไรทำนองนี้มันเป็นศัตรูหรือศัตรูที่ร้ายที่สุดนั้นออกจะโง่มากไปหน่อย ศัตรูที่ร้ายที่สุดอยู่ข้างใน คือ จิตที่ตั้งไว้ผิด พอตั้งจิตไว้ผิดเท่านั้นทุกอย่างจะกลายเป็นศัตรูไปหมด เพราะว่าตัวจิตเองมันกลายเป็นศัตรูไปเสียแล้ว จึงไม่สามารถจะปราบศัตรูใด ๆ หรือเอาชนะบุคคลใดได้เลย แม้แต่สุนัขหรือแมวสักตัวหนึ่งที่เลี้ยงไว้เองนี้ก็เอาชนะมันไม่ได้ คือทำให้มันเป็นไปตามความประสงค์ของเราไม่ได้ เพราะเราตั้งจิตไว้ผิด ไม่ชนะแก่กิเลส ไม่ชนะแก่ตัวเองเสียก่อน
ถ้าเราตั้งจิตไว้ถูกก็หมายความว่า มีความรู้ความเข้าใจ สติปัญญา สามารถ อำนาจ กำลัง ที่จะจัดการกับสิ่งทั้งปวงให้ราบเรียบ ให้เรียบร้อยไปได้ มันเป็นอันว่าเราจะต้องรู้จักจิตที่ตั้งไว้ผิดนี่กันก่อนเพราะปัญหามันเกิดจากสิ่งนี้ แม้ที่ทำให้คุณต้องมาบวชนี่ มันก็เกิดมาจากปัญหานี้ คือจิตที่ตั้งไว้ผิดทำให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยากลำบาก คิดหาทางแก้ไขจึงได้มาบวชเพื่อมาศึกษาหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ตามแบบที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางไว้ดังนั้นเราจึงมาบวช เพื่อหาความรู้อันนี้ คือตั้งจิตให้ถูกแล้วก็ไปเผชิญโลกอย่างสมบูรณ์แบบดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
จิตที่ตั้งไว้ผิดมันเนื่องมาจากการปรุงแต่งที่ปราศจากสติสัมปชัญญะ เมื่อตามากระทบ เมื่อรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูกเป็นต้นนี้ และในขณะนั้น ในเวลานั้นมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสติสัมปชัญญะ จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม จะเป็นด้วยคนนั้นมันโง่ไป หรือมันเผลอไป หรือมันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมันไม่รู้อะไรเสียเลยก็ตามใจ ในขณะนั้นมันไม่มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น นี่ก็เกิดการปรุงแต่งทางจิตไปตามลำดับ ลำดับ ลำดับ จนมีผลเป็นความเข้าใจผิด ความรู้ที่ผิดที่เรียกกันว่ากิเลสนั้นน่ะ นี่คือจิตที่ตั้งไว้ผิด เต็มอยู่ด้วยกิเลส มันเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภก็คือจะเอาเข้ามาด้วยความโง่ ความหลงก็คือจะตีกลับออกไป ความโกรธก็คือต้องการจะทำลายหรือจะตีกลับออกไปด้วยความโง่อีกเหมือนกัน ส่วนความหลงนั้นมันไม่รู้อะไรได้แต่วนเวียนมัวเมา วนเวียนอยู่รอบ ๆ นี้เรียกว่าลักษณะของจิตที่ตั้งไว้ผิด มีอาการเป็นกิเลส มีเค้าเงื่อนใหญ่ ๆ คือ โลภ โกรธ หลง
จิตที่ตั้งไว้ถูกก็หมายความว่ามีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องก่อน แล้วความรู้นั้นวิ่งมาทันท่วงทีเสมอ เราเรียกว่าสติสัมปชัญญะ ในขณะที่ตาเห็นรูป หูกระทบเสียงเป็นต้น เมื่อมีสติสัมปชัญญะนี้แล้ว มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดการปรุงแต่งที่ผิดได้เพราะสติสัมปชัญญะมันเป็นปัญญา มันเป็นวิชชา การปรุงแต่งไปตามลำดับของจิตก็เป็นไปในทางที่ไม่ผิด คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไรและควรจะจัดการกับมันอย่างไร ไม่ต้องมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น แล้วทำสิ่งต่าง ๆ ไปในลักษณะที่เรียกว่า ที่ถูกที่ควร ที่เป็นธรรม ประกอบไปด้วยธรรม ไม่มีความทุกข์
ทีนี้ขอให้มองศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์เราคือจิตที่ตั้งไว้ผิด เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกกำลังรับบาปหรือรับผลของการที่ตั้งจิตไว้ผิดเดือดร้อนวุ่นวายระส่ำระสายไปทุกหัวระแหง ทั้งที่มันเป็นสงครามและไม่เป็นสงคราม หมายความว่า แม้ไม่มีสงครามไอ้คนมันก็เดือดร้อนเพราะกิเลสของตัวเอง เผาผลาญตัวเองให้เร่าร้อนเป็นนรก หิวกระหายเป็นเปรต อยู่ด้วยความรู้สึกที่หวาดกลัวระแวง เป็นอสูรกาย นี่เรียกว่าโง่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน นี่เรียกว่าไม่มีสงครามมันก็มีศัตรูร้ายกาจนี่ย่ำยีอยู่อย่างนี้ ทีนี้ถ้ามันเผลอไปทำไม่ดีไม่ถูกไม่ควรในทางสังคมมันเกิดสงครามขึ้นทั่วไปหมด มันก็มีผลเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอย่างอื่นอีกมาก ล้วนแต่มาจากจิตตั้งไว้ผิดทั้งนั้น ถ้าจิตตั้งไว้ถูกแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดไม่ได้ สงครามเกิดขึ้นในโลกไม่ได้ มันเกิดมาจากการที่จิตตั้งไว้ผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย คนละอย่าง คนละทาง ทีนี้เราเรียกตัวเรานี้ว่า โลก ตามแบบพระพุทธเจ้าก็ได้เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าไอ้โลกก็ดี ไอ้เหตุให้เกิดโลกก็ดี ดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติว่ามันมีอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่ยังมีจิตใจ คือยังเป็น ๆ ยังไม่ตาย คนที่กำลังเป็น ๆ อยู่คนหนึ่ง เขามีอะไรทุกอย่างที่เกี่ยวกับโลกของเขา แต่รวมความแล้วมันคือปัญหา ปัญหาคือความทุกข์ ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักจัดการกับตัวปัญหาคือสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายนี้ ในโลกนี้ให้ดี ๆ ให้ถูกต้อง และที่สำคัญก็คือสิ่งที่เรียกว่าจิตที่เนื่องกันอยู่กับกายนี้ ที่จะหาพบได้จากการมองดูหรือการกระทำที่เกี่ยวกับร่างกายนี้ ทุกคนจะต้องมองเห็นศัตรูตัวนี้เสียก่อนมันจึงจะดำเนินเรื่องไปได้ ถ้าไม่มีศัตรูมันก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่ต้องมาทำอะไรให้เสียเวลา เดี๋ยวนี้เรามองเห็นศัตรูตัวนี้เราจึงมีปัญหาที่จะต้องกำจัดมัน มาบวช มาเรียน มาศึกษา มาปฏิบัติเพื่อจะกำจัดศัตรูตัวนี้คือจิตที่ตั้งไว้ผิดให้กลายเป็นจิตที่ตั้งไว้ถูก นี้โดยเฉพาะฆราวาสมันก็มีช่องทางที่จะให้เกิดการตั้งจิตไว้ผิดอีกมากมายเหลือเกินยิ่งกว่าพระเณร ยิ่งกว่าบรรพชิต เพราะว่าฆราวาสมันอยู่กลางดงของสิ่งที่จะยั่วให้เกิดการปรุงแต่งที่ผิด ๆ ขึ้นมาในทางจิต มันจึงมีผลเหมือนว่าอยู่กลางดงไฟที่กำลังลุกอยู่รอบด้าน เดี๋ยวร้อนเพราะราคะเดี๋ยวร้อนเพราะโลภะ เดี๋ยวร้อนเพราะโทสะ เดี๋ยวร้อนเพราะโมหะนี่ เรียกว่าอยู่กลางดงไฟยิ่งกว่าเพศบรรพชิตโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่จะกลับออกไปเป็นฆราวาสก็เตรียมตัวสำหรับไปต่อสู้ที่กลางดงไฟ ให้ไฟนั้นมันหมดไป มันก็จะเกิดความเย็นขึ้นมาแทนที่อย่างตรงกันข้าม ถ้าร้อนมากก็เย็นมาก ถ้าร้อนน้อยก็เย็นน้อย ร้อนถึงที่สุดมันก็เย็นได้ถึงที่สุด ขอให้ทำมันให้ถูกในลักษณะที่เอาไอ้ส่วนที่มันเป็นความร้อนออกไป ความเย็นก็เหลืออยู่ที่นั่น ไม่ต้องสร้างอะไรมันขึ้นมา เอาไอ้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกไป สิ่งที่ควรปรารถนามันก็เหลืออยู่ที่นั่น คือการตั้งจิตไว้ให้ถูก เอาไอ้ความผิด ๆ นั้นออกไปเสีย ความถูก ๆ มันก็เหลืออยู่ที่นั่น
พูดอย่างนี้เพื่อให้เรื่องมันสั้นเข้าหรือให้มันง่ายเข้า อย่าให้มีพิธีรีตองมากมายเป็นภูเขาเลากาท่วมตาท่วมหู ท่วมไปเสียหมดแล้วมันจะล้มเหลว ให้มองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้มันจึงจะเกิดกำลังใจในการที่จะทำ ถ้าความรู้สึกแท้จริงในภายในมันว่า นี่เหลือวิสัยเสียแล้ว มันก็ไม่มีความคิดที่จะทำ เช่นไปเกิดมีความคิดว่าไอ้ความโลภนี้มันเหลือวิสัยที่เราจะละมันได้ ความโกรธนี่เหลือวิสัยที่เราจะละมันได้ ความโง่นี่เหลือวิสัยที่เราจะละมันได้ อย่างนี้มันก็ไม่ต้องละกัน มันปิดประตูเสียตั้งแต่ทีแรก ถ้าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักก็ต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ละได้ ถ้าละไม่ได้พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสสอนวิธีที่จะละ เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนวิธีที่จะละ หรือจะทำลายก็ตามนี้ไว้มากมาย ในลักษณะที่ทุกคนจะปฏิบัติได้ ถ้าหากว่าเขาเป็นคนธรรมดาสามัญนี่ อย่าเป็นคนบ้า คนบอ คนโง่ คนหลง คนมิจฉาทิฐิเกินไป หรืออาภัพอย่างอื่น ระบอบของพรหมจรรย์นี้หรือศาสนานี้วางไว้สำหรับคนธรรมดาสามัญที่มีสัญชาติแห่งความเป็นมนุษย์ คือสัตว์ที่จะมีจิตใจสูง หรือว่าสัตว์ที่มีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะอยู่ในตัว ยังไม่เบิกบาน แล้วทำให้มันเบิกบานขึ้นมา อย่าได้ถือว่าไอ้การที่จะตั้งจิตไว้ให้ถูกนี่เป็นสิ่งเหลือวิสัย มันเป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญ คู่กันมากับมนุษย์ตามธรรมชาติ
ความเจริญนั่นแหละทำให้เป็นปัญหา ถ้ามนุษย์ไม่เจริญยังมีสภาพอย่างเดียวกับสัตว์เดรัจฉานปัญหาก็ไม่มี คุณลองคิดดูสิ สัตว์กำลังนอนสบาย ในเมื่อคนเดือดร้อนอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างกับว่าอยู่กลางกองไฟ นี่ก็เพราะว่าคนมันเจริญ มันพัฒนาการไปในทางที่เจริญ รกรุงรังมากขึ้นเท่านั้นเอง คิดมากเกินกว่าเหตุ ทำมากเกินกว่าเหตุ คือเกินกว่าที่ธรรมชาติต้องการ มันจึงได้รับบาป ให้มีความทุกข์มาก แล้วมันต้องการเท่าที่ธรรมชาติต้องการมันก็ไม่มีความทุกข์หรือปัญหามากเหมือนอย่างนี้ ฉะนั้นใครตั้งจิตไว้ผิดนี่มันเป็นผลเกิดมาจากการที่เจริญนั่นเอง มันเจริญไปในทางผิด แต่เขาก็เรียกกันว่ามันเจริญไปในทางที่ถูก ที่แท้ความเจริญแบบนี้เป็นความเจริญไปในทางที่ผิด อย่างน้อยก็ผิดความต้องการของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ต้องการให้คนเรายุ่งมากเหมือนอย่างนี้ ความเจริญมาจากความต้องการ สัตว์ที่มันแยกทางกันเดิน มาเป็นมนุษย์นี่เพราะมัน มันต้องการ พอมันเป็นสัตว์เดรัจฉานมันต้องการอยู่เท่านั้นมันก็ไม่มีปัญหา ทีนี้สัตว์บางสายมันต้องการเจริญอย่างนั้นอย่างนี้ จนกระทั่งมาเป็นสัตว์อย่างมนุษย์เข้า และเป็นสัตว์มนุษย์ที่รู้จักคิดจักนึกมากออกไป ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดีเรื่องชั่วมากเกินไปจึงมีสภาพอย่างที่ทนทรมานที่สุดเลยอย่างเดี๋ยวนี้ จะกินมันก็กินอย่างเกินธรรมชาติต้องการ จะนุ่งจะห่มมันก็นุ่งห่มอย่างที่เกินธรรมชาติต้องการ หรือว่ากลับตรงกันข้ามไปเสียจากที่ธรรมชาติต้องการ
เดี๋ยวนี้เขาหลอกให้ผู้หญิงแต่งตัวอย่างที่เรียกว่าธรรมชาติไม่ต้องการ คือมิได้ปกปิดในสิ่งที่ควรจะปกปิด ป้องกันหนาวร้อนหรืออะไรอย่างถูกต้อง ไปเป็นเหยื่อของกิเลส ต้องการจะยั่วให้เกิดกิเลสแก่กันและกันมากขึ้น อย่างนี้มันเดินไกลไปจากความต้องการของธรรมชาติ ก็เรียกว่าทำผิด แต่เขาว่าทำถูก และเรียกมันว่าเป็นความเจริญ ดังนั้นความเจริญนั้นน่ะเป็นไฟขึ้นมา แล้วจะเรียกว่าความเจริญที่ถูกต้องได้อย่างไรกัน มันก็เป็นเรื่องความเจริญรกรุงรังไปด้วยกิเลส ฉะนั้นก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาเพราะเหตุนี้
ทีนี้การอยู่อาศัยก็เหมือนกันน่ะ มันทำเกินจำเป็น ที่อยู่ที่อาศัยทำเกินจำเป็น เกิดทำผิดเรื่องกิน เรื่องนุ่งเรื่องห่ม เรื่องอยู่อาศัยแล้วมันก็เกิดโรคแปลก ๆ ออกมาเกินจำเป็น ให้หยูกยามันก็เฟ้อเหลือเฟือไปในทางเกินจำเป็น ในที่สุดก็มีความทุกข์ เพิ่มขึ้น เพิ่มมากขึ้นเท่ากับความเจริญ ความเจริญมากขึ้นเท่าไรความทุกข์แปลก ๆ เกิดขึ้นเท่านั้น ขอให้ไปมองดูในข้อนี้กันให้มาก ที่กรุงเทพมองง่ายที่สุด อยู่ที่นี่ไม่ค่อยมีอะไรจะมอง
แล้วทีนี้เราก็เป็นอันว่าได้หลักในข้อที่ว่า จะต้องดำรงจิตไว้ในสภาพที่ถูกต้องเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต ดำรงไว้ผิดแล้วมันก็เป็นความเจริญของศัตรู ตั้งจิตไว้ผิดแล้วจะเป็นความเจริญของความทุกข์ ของกิเลสซึ่งเป็นศัตรู เมื่อมีหัวข้อว่าจะต้องมีจิตที่เหมาะสม ก็มีการอบรมจิต ตามวิธีอบรมจิต ให้เราได้รับความสำเร็จในการที่เราจะมีธรรมะหรือมีความสงบสุข
เราได้พูดกันมาแล้วในตอนก่อนว่า ฆราวาสจะต้องมีฆราวาสธรรม คือ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ และฆราวาสธรรม ๔ ประการ นี้มีความสำคัญไปทุกอย่างที่เกี่ยวกับฆราวาส ซึ่งสรุปได้เป็นเพียงสองอย่าง ไอ้ที่เราจะต้องปฏิบัติธรรมะนี่มันสรุปได้เป็นเพียงสองอย่างคือ การสร้างขึ้นมากับการสละออกไป สิ่งที่เราจะต้องสร้างก็หมายความว่าไอ้ความดี ความงาม ความถูกต้องที่เราจะต้องทำให้มันเกิดขึ้น ทีนี้ไอ้ที่เป็นอุปสรรค เป็นศัตรู เป็นกิเลส เป็นความทุกข์นั้นจะต้องสละออกไป ก็หมายความว่าให้สร้างความถูกต้องขึ้นมา สละความผิดพลาดออกไป จิตที่ตั้งไว้ถูกมันจะต้องสร้างขึ้นมา ส่วนจิตที่เคยตั้งไว้ผิด ๆ นั้นจะต้องสละออกไป นี่คือหน้าที่ซึ่งมีอยู่สองอย่าง สร้างไอ้ที่มันต้องสร้างแล้วก็สละไอ้สิ่งที่มันต้องสละ ทีนี้ฆราวาสธรรมสี่ประการนั้นจะต้องใช้ทั้งสองกรณี
เราก็พูดกันมามากแล้วในส่วนที่จะต้องสละ นับตั้งแต่จะต้องทิ้งบุหรี่ หรือว่าอบายมุขใด ๆ กระทั่งถึงกิเลส หรือความรู้สึกที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตในใจให้ออกไปนี้ต้องสละก็ด้วยฆราวาสธรรม มีสัจจะในการที่จะสละมัน แล้วก็บังคับตัวเองให้สละอยู่เสมอตามสัจจะนั้น แล้วก็อดทนกันฟันทนรอได้ คอยได้กว่ามันจะสละออกไปได้ แต่พร้อมกันนั้นก็มีการระบายเป็นรูรั่ว ทีนี้มันรั่วไปทีละนิดทีละหน่อย ทีละนิดทีละหน่อย ช่วยการเสียสละนั้นน่ะให้มันเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ในที่สุดก็ชนะไอ้กิเลส คือสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนได้ ทั้งทางกาย ทั้งทางจิตใจ หรือการพูดจาด้วยก็ได้ สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในการกระทำ หรือในการพูดจา หรือในการคิดการนึก คือทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิตนี้มันก็ออกไปได้ เรียกว่าใช้ฆราวาสธรรมนี้เป็นเครื่องมือ
ทีนี้ในการสร้างสรรค์ก็ใช้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือสารพัดนึกใช้ได้ทุกอย่างเลย จะสร้างสรรค์อะไรมาต้องมี สัจจะ ในการสร้าง มี ทมะ บังคับใจให้มันทำการสร้างอยู่ แล้วก็ทนได้ รอได้กว่าไอ้การสร้างมันจะเป็นไปถึงที่สุด พร้อมกันนั้นก็ระบายอุปสรรคของการสร้าง สิ่งที่มันเป็นทางรั่วทางใจ อุปสรรคนี้ก็ต้องสละออกไปเหมือนกัน การสร้างก็สำเร็จได้ในเวลาอันควร นี้เป็นหัวข้อใหญ่ที่จะต้องจำไว้แล้วไปหารายละเอียดเอาเอง มันไม่ยาก เพราะว่าไอ้รายละเอียดนั้นมันมีมาก แต่รวมแล้วมันมีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันหมดว่าจะต้องทำอย่างนี้
นี่เราพูดกันถึงหัวข้อใหญ่ ๆ เท่านั้นคือ การสร้างขึ้นมากับการสละออกไป ทีนี้แม้แต่การที่จะบริโภคผลของมัน จะบริโภคผลงานของมันนี่ก็ต้องยังมีสติสัมปชัญญะบริโภคผลของมัน มิฉะนั้นมันจะกลับไปสู่ความผิดอีก จะต้องมีสติสัมปชัญญะ บริโภคผลที่เกิดขึ้น ไม่ใช่บริโภคด้วยกิเลสและตัณหา มันจะกลับไปผิดอีก เดี๋ยวจะมีหน้าที่ ๆ จะต้องทำอีก ไม่มีที่สิ้นสุด
ทีนี้เราก็พิจารณาฆราวาสธรรมกันโดยละเอียดออกไปอีกหน่อยว่าเราจะมี สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ถึงขนาดที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบหรือเป็นเทคนิคสมบูรณ์ได้อย่างไรกัน เราก็จะพูดกันข้อแรกคือ สัจจะ นี่ก่อน ถ้าเราต้องมี ความจริง ตัวเอง เป็นประธานของสัจจะทั้งหลาย ทีนี้ก็จะเกิดเครื่องมือที่จะช่วยให้สัจจะนี้สมบูรณ์ขึ้นมา หรือทำหน้าที่ของมันได้สมบูรณ์ สิ่งที่ให้เกิดความสำเร็จโดยแท้จริงนั้นพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้โดยชื่ออย่างอื่นเรียกว่า อิทธิบาท แปลว่ารากฐานแห่งความสำเร็จ อิทธิ แปลว่าความสำเร็จ บาท นี่แปลว่าฐานหรือรากฐาน อิทธิบาท แปลว่ารากฐานแห่งความสำเร็จ ระบุเป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และเป็นเครื่องมือให้เกิดความสำเร็จทุกชนิดเลย แม้แต่หากว่า ถ้าพระองค์ต้องการจะอยู่สักกัปหนึ่งก็ทำได้ จะมีชีวิตอยู่สักกัปหนึ่งก็ทำได้ด้วยอำนาจของอิทธิบาทนี้ นี่กล่าวไว้ให้มันหมดจดสิ้นเชิงอย่างนี้ว่ามันเป็นให้เกิด เป็นเครื่องให้เกิดความสำเร็จทุกชนิดเลย ทีนี้คุณตั้งสัจจะให้มันจริง ๆ ลงไปสิ มันจะเกิดอิทธิบาทขึ้นมา จนจะเรียกว่า อิทธิบาทนี้มันก่อรูปขึ้นมาในสัจจะ หมายความว่าจะแยกไอ้สัจจะออกไปเป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ได้ คือเมื่อเราตั้งใจจริง มีความจริง จริง จริง มันต้องมีไอ้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จึงจะเรียกว่าจริง
ฉันทะ แปลว่า ความพอใจ หมายถึงพอใจในสิ่งที่ทำนั่นแหละ กำลังทำสิ่งใดพอใจในสิ่งนั้น ทีนี้เราตั้งสัจจะที่จะละอะไร หรือจะสร้างอะไร เราก็พอใจในการกระทำนั้น ให้เป็นอย่างยิ่ง มากเหมือนกับที่พอใจอะไร ๆ ด้วยกิเลส รักผัว รักเมีย รักลูก รักแก้วแหวนเงินทองด้วยกิเลสมากเท่าไรนี่ เดี๋ยวนี้ขอให้มีความรักในสัจจะหรือในสิ่งที่กำลังทำนี้มากเหมือนอย่างนั้น เท่านั้น ภาพอุปมาในปริศนาธรรมเขาเขียนเป็นดวงแก้ว เทวดาได้แก้วแล้วก็ดีใจมากนี้เป็นอุปมาของฉันทะในที่นี้ แล้วก็มีฉันทะมากขนาดนั้น นี่มันก็จริงไปอย่างแล้ว จริงในความรักความพอใจในสิ่งที่จะทำ นี่เรียกว่าจริงที่หนึ่งขึ้นมาแล้ว
ทีนี้จริงที่สอง วิริยะ แปลว่า ความเพียร ตัวหนังสือนี่แปลว่าความเพียร แต่มันรวมอะไร ๆ ที่เนื่องกับความเพียรไว้ด้วยเสร็จ เช่นความกล้าหาญ ความบากบั่น ความอดทนอะไรก็ตาม มันรวมอยู่ในนี้ได้ด้วย เป็นความพากเพียรบากบั่นไม่ถอยหลัง นี่คือการต่อสู้ ลงมือต่อสู้ เป็นการต่อสู้อยู่ในตัวมันเองด้วยสิ่งที่เรียกว่า วิริยะ และจริงไม่จริงคุณลองคิดดู คุณลองมองดู จะเห็นว่าวิริยะนั่นแหละคือสัจจะที่กำลังแสดงบทบาท นี้กลัวว่าเรามันจะไม่จริงขนาดนั้น ความพากเพียรของคนหนุ่มคนสาวสมัยนี้ รู้แต่จะพากเพียรไปในการตามใจกิเลสเสียตั้ง ๘๐ – ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไอ้ความพากเพียรในการงานนั้นมันทำเป็นจำเป็น บังคับไม่อยากทำ มาทำงานสาย เลิกทำงานก่อนเวลา แล้วก็ไปเที่ยว FLIRT เที่ยวอะไรที่ไหนก็ไม่รู้ คือมันไม่จริง มันไม่มีสัจจะในทางธรรม ไปมีสัจจะในทางกิเลสเสียตั้ง ๘๐ – ๙๐ เปอร์เซ็นต์นี้ มันเหลือแต่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์สำหรับมาเป็นสัจจะในทางธรรมมันไม่คุ้มกัน นี่วิริยะมันไม่มีในข้อนี้เพียงพอ สัจจะที่สองมีไม่พอ คือวิริยะนี่มันมีไม่พอ ไปสร้างสัจจะที่สองคือวิริยะนี่กันเสียให้เต็มที่ ให้กลับกันเสีย พากเพียรในหน้าที่การงานสัก ๘๐ – ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็พากเพียรที่จะหนีการงานไปเที่ยว FLIRT เที่ยวเล่นนั้นสัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์นี้กลับกันเสีย มันก็มีอิทธิบาทข้อที่สองคือ วิริยะ
นี่หลังจากวิริยะท่านตรัสถึง จิตตะ แปลว่า ความเอาใจใส่เต็มที่ ความเอาใจใส่ในที่นี้ก็หมายถึงการระดมทุ่มเทกำลังจิตลงไปหมดในสิ่งนั้น จิตมีหน้าที่คิดนึกพิจารณาหรือรู้สึกในสิ่งนั้น ๆ ฉะนั้นเมื่อระดมกำลังจิตลงไปหมดมันมีการคิดนึกพิจารณาถึงที่สุด นี่ก็คือความจริง สัจจะหรือความจริงที่สาม จริงในการที่จะเอาใจใส่จดจ่ออยู่แต่สิ่งนั้นไม่ภักดีต่อสิ่งอื่นแล้ว เรื่องมันก็ก้าวหน้าไปมากมาย เราเอาใจใส่แต่สิ่งนั้นไม่เอาใจใส่สิ่งอื่น นี่หมายความว่า มันมี ในชีวิตของคนเรามันมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานอยู่ สิ่งนอกนั้นจัดให้เป็นเรื่องฝอย เรื่องเบ็ดเตล็ดเรื่องฝอย ฉะนั้นสิ่งใดที่เรากำลังจะทำ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าจะต้องทำ เช่น ฆราวาสธรรม ของเรามีอย่างไร เราจะต้องทำ นี่เป็นเรื่องใหญ่นอกนั้นเป็นเรื่องเล็กมากมายหลายร้อยเรื่อง เป็นบริวารของเรื่องใหญ่ ทีนี้ความเอาใจใส่ทั้งหมดมันก็ระดมอยู่ที่เรื่องใหญ่ ทำด้วยชีวิตจิตใจ ทำการงานด้วยชีวิตจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น คืออิทธิบาทข้อนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่ทำอย่างนั้น เอาจิตใจไปอยู่กับสิ่งที่สวยงามเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ไปบูชาสิ่งเหล่านั้น ไอ้ตัวการงานแท้ ๆ ตัวธรรมะแท้ ๆ ไม่ได้ให้ความสนใจหรือไม่ ไม่บูชามากเท่า นี่เรียกว่าไม่มีจิตตะในสิ่งนั้น และขอให้เปลี่ยนเสียใหม่ ถ้ามันเป็นอย่างที่ว่านั้นขอให้เปลี่ยนเสียใหม่ ให้บูชาสิ่งที่กำลังกระทำนั้นน่ะเหมือนบูชาพระเจ้า บูชาพระธรรม บูชาพระพุทธ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำการงานนั่นเอง การทำการงานนั่นเองคือการปฏิบัติธรรม นี่มันเป็นจริงที่สามคือจิตตะ มอบชีวิตจิตใจไปกับสิ่งนั้น
อันสุดท้ายเรียกว่า วิมังสา วิมังสา แปลว่า การใช้สติปัญญาสอดส่องไปอย่างทั่วถึง นี้มารั้งท้ายในลักษณะที่จะเป็นผู้แก้ไขอุปสรรคทุกประการด้วย แล้วก็หาช่องทางที่จะก้าวหน้าต่อไปจนถึงที่สุดด้วย วิมังสาเป็นชื่อของปัญญา ปัญญาแปลว่ารอบรู้ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ แต่ในที่นี้เขาเอามาสำหรับสอดส่องเพื่อจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไป ให้มันเจริญก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ควร รวมความแล้วก็อยู่ในคำพูดคำเดียวว่าแก้อุปสรรคนานาชนิดได้ เมื่อแก้อุปสรรคได้แล้วไม่ต้องกลัว ความก้าวหน้ามันเป็นไปเองเพราะเดี๋ยวนี้มันตันอยู่ที่มันมีอุปสรรคมาขวาง จิตแท้ ๆ ต้องการจะก้าวหน้า ต้องการจะเจริญ ต้องการจะดีกว่า หรือดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ทีนี้อุปสรรคมาขวาง เอาอุปสรรคออกเสียได้มันก็ไปของมันเอง มันเหมือนกับเราปลูกต้นไม้ เราทำอย่าให้มีอุปสรรคอันใดที่จะทำให้ต้นไม้ตาย ต้นไม้มันก็เจริญของมันเอง เราไปทำให้มันเจริญด้วยฝีมือเรานั้นไม่ได้ มองดูให้ดี ๆ อย่าอวดดีว่ากูทำให้ต้นไม้เจริญ ต้นไม้มันเจริญของมันเอง แต่เราต้องช่วยขจัดอุปสรรค เช่นไม่ได้ปลูก มันเป็นเม็ดอยู่ไม่ได้ปลูก มันก็เป็นอุปสรรคของการงอก ฉะนั้นเราก็ปลูก ขจัดอุปสรรคของการงอก มันก็งอก แล้วอุปสรรคอื่น ๆ ที่จะทำให้มันตายหรือไม่เจริญนั้น ขจัดออกไปเสีย มันก็เจริญงอกงามไปตามลำดับจนมีดอกมีผล
นี่คือคำพูดที่ยุติธรรมที่สุด เราอย่าโมโห อย่าเอาเปรียบ พูดเข้าข้างตัวให้มันมากไป หน้าที่ของวิมังสาคือขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงออกไปเสีย แล้วสิ่งต่าง ๆ ก็เจริญงอกงามไปเอง เราก็รออยู่กว่าจะถึงผล สุดท้าย นี่คือหลักของโพชฌงค์ ๗ ประการ ที่เป็นองค์การตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเป็นพระอรหันต์ เพราะทำถูกต้องและเรารอให้มันเจริญไปเองจนถึงที่สุด
นั่นคือเรื่องโพชฌงค์ มีสติก่อน สติ โพชฌงค์นี่ เลือก ระลึก เลือกไอ้สิ่งที่ควรทำ ระลึกถึงทุกอย่างแล้วเอามาเลือกสิ่งที่ควรทำ คือ ธัมมวิจยะ และก็มีวิริยะความพากเพียร และก็มีปีติหล่อเลี้ยง ขอเราพอใจ เรารัก เรามีฉันทะในสิ่งนี้ หล่อเลี้ยงการกระทำไม่ให้ ไม่ให้ชะงัก แล้วมันก็มี ปัสสัทธิ คือ ปรับตัวกันเข้าลงรูปลงรอยเพื่อจะเจริญงอกงามไป แล้วก็ทุ่มเทกำลังจิตทั้งหมดคือสมาธิลงไป แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไปของมันตามเรื่องของมัน คืออุเบกขา เพราะว่าทุกอย่างถูกต้องแล้วความเจริญเป็นไปเอง เฉย ควบคุม ควบคุมความถูกต้องทั้งหมด เฉยนิ่งอยู่ ไม่ใช่เฉยไม่ทำอะไรเสียเลย คำว่าเฉยนี้ควบคุมอยู่ เหมือนกับไอ้คนขับรถม้า สารถีขับรถม้าน่ะเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว สารถีนั้นก็เพียงแต่ถือเชือกบังเหียนเฉยอยู่เท่านั้น ม้ากับรถก็ไปจนถึงจุดหมายปลายทางนั้น ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับรถที่เดินทาง จัดทุกสิ่งทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้เรียบร้อย ให้ดี แล้วก็คุมเฉยอยู่อย่างนั้น ทีนี้ วิมังสา ก็มีหน้าที่ ๆ จะจัดให้มันถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้องแก้ไขให้ถูกต้อง อะไรเป็นอุปสรรคแก้ไขเสียให้หมดไป นี่เป็นหน้าที่ของ วิมังสา เมื่อทำอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า สัจจะ เหมือนกัน วิมังสาน่ะคือตัวสัจจะอย่างยิ่ง เพราะมันเอาจริงในการสอดส่อง ในการแก้ไขอุปสรรค แล้วก็มีสัจจะที่สี่ครบบริบูรณ์ เป็นสัจจะที่แท้จริงสมบูรณ์ที่สุด ไม่ใช่แค่สัจจะแต่ปากเหมือนคนทั่วไปพูด สัจจะที่หนึ่งคือรักพอใจมีจริง สัจจะที่สองพยายามพากเพียรมันไปจริง ๆ สัจจะที่สามมอบชีวิตจิตใจกับมันจริง ๆ สัจจะที่สี่คอยแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปจริง ๆ อิทธิบาททั้งสี่นี้รวมกันเข้าแล้ว มันก็เป็นสัจจะที่แท้จริง ในชั้นแรกเราจะมองเห็นว่าอิทธิบาทนี่มันเกิดในสัจจะ เกิดมาจากสัจจะ เพราะเราตั้งสัจจะลงไปมันถึงจะมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉะนั้นอิทธิบาทมันเกิดมาจากสัจจะ ทีนี้พอเกิดมาจากสัจจะแล้วมันก็สร้างส่งเสริมสัจจะนั้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นลูกออกมาจากสัจจะ พอมันออกมาได้แล้วมันก็เลยกลายเป็นการส่งเสริมสัจจะนั้นให้เต็มรูป ให้บริบูรณ์ในที่สุด มันสร้างสัจจะ สนับสนุนสัจจะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้สัจจะมันยิ่งขึ้นไปก็หมายความว่า ไอ้อิทธิบาทสี่มันยิ่งขึ้นไป เป็นเงาตามตัว สัจจะแรงเท่าไรอิทธิบาททั้งสี่มันก็แรงเท่านั้น อิทธิบาททั้งสี่แรงเข้าไปเท่าไรมันก็สร้างสัจจะใหม่แรงขึ้นเท่านั้น
ในการทำการงานคุณมีเทคนิคอย่างนี้หรือเปล่าที่แล้วมา การงานที่ออฟฟิศก็ดี การงานที่บ้านก็ดี ถ้ายังไม่เคยมีอย่างนี้ก็รีบไปทำเสียคราวนี้ที่ผมว่า สึกออกไปนี้จะไปเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ เป็นผู้ต่อสู้ที่สมบูรณ์แบบและมีคนคอยโห่อยู่รอบด้าน ถ้าเราทำพลาดเขาก็โห่อย่างเยาะเย้ย ถ้าเราทำไม่พลาดเขาก็โห่อย่างแสดงความยินดีด้วย นี่อยู่ในโลกขอให้มันเป็นอย่างนี้ นี่คือฆราวาสธรรม ข้อที่หนึ่งคือสัจจะ มันต้องอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นอยู่ในชีวิตในการงานถึงขนาดสมบูรณ์แบบ เป็นอิทธิบาทขึ้นมา แล้วไม่ต้องสงสัยความสำเร็จไม่ไปไหน ความสำเร็จหนี หนีไปไหนไม่ได้จะต้องอยู่ในกำมือของบุคคลนั้น ในการสร้างก็ดี ในการสละก็ดี อยากจะละ สละอะไร จะพ้นจากอะไรก็ทำได้ อยากจะมีอะไรขึ้นมาในที่ควรจะมีมันก็ทำได้ ก็คือผู้ประสบความสำเร็จ
เอ้า, ทีนี้เราดูกันต่อไปอีกนิดหนึ่งว่าเมื่อมี สัจจะ ถึงขนาดนี้แล้วอื่น ๆ ไม่ต้องสงสัย ทมะ ขันตี จาคะ ก็พลอยเป็นของเบาสบายไปด้วยเพราะสัจจะมันแรงมาก การบังคับใจบังคับตัวเองก็อยู่ในวิสัยที่บังคับได้โดยง่าย ไม่เหลือวิสัย ไม่เหลืออำนาจ เพราะสัจจะมันแรงมาก มันแรงทั้งความคิดและการกระทำและการแก้ไขอุปสรรคปัญหาด้วยอิทธิบาทสี่นั้น อิทธิบาทสี่มันก็มามีอยู่เองโดยอัตโนมัติในสิ่งที่เรียกว่า ทมะ คือการบังคับตัวเอง ถ้าอิทธิบาทที่มีสมบูรณ์แบบในสัจจะแล้ว มันก็มามีใน ทมะ ขันตี จาคะ ของมันเองเพราะมันไม่แยกกันได้ เรามีสัจจะแรงอย่างนั้น พอถึงไอ้ ทมะ บังคับตัวเองมันก็บังคับแรงอีกเหมือนกัน เขาก็ทนได้จริง ๆ จัง ๆ เหมือนกัน แล้วมันก็ระบายไอ้ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะต้องระบายออกไปได้จริงเหมือนกัน นี่ก็คือความสำเร็จด้วยอำนาจของอิทธิบาทซึ่งจะต้องใช้ในฆราวาสธรรม เป็นคฤหัสถ์ครองเรือนมี สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ไปตามแบบของคฤหัสถ์ แต่อย่าลืมนะว่าไอ้สี่ข้อนี้ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี่แม้พระเราต้องใช้เท่ากันกับฆราวาสนะ เป็นพระก็ต้องมี สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เหมือนกับฆราวาสมี ทว่าไปทำหน้าที่กันคนละแนว หรือคนละระดับ แล้วแต่กรณีที่มันจะมีอยู่อย่างไร
เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดกันถึงเรื่องฆราวาสก็พูดให้ชัดในเรื่องของฆราวาส ฆราวาสนี่จะต้องเป็นพรหมจารีที่ดี จนกว่าจะขึ้นถึงความเป็นคฤหัสถ์ แบ่งไว้เป็นอย่างนี้ ชีวิตนี้ ในขั้นต้นที่สุดเป็นพรหมจารี เป็นเด็กจนกระทั่งเป็นหนุ่มสาว จะต้องมีฆราวาสธรรม ที่จะรักษาความเป็นพรหมจารี ปฏิบัติความเป็นพรหมจารีให้ได้ผลถึงที่สุดของความเป็นพรหมจารี คือเป็นคนหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์สะอาดฉลาดพร้อมที่จะเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดี และก้าวที่สองก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ทำหน้าที่มนุษย์อย่างแท้จริง ตรงที่ความเป็นพ่อบ้านแม่เรือน มันก็ทำได้ดี อะไรเป็นหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนก็ใช้ไอ้นี้ระดมทุ่มเทเข้าไป คือ ฆราวาสธรรม ที่ประกอบอยู่กับ อิทธิบาทสี่ ไม่ว่า สัมปยุต อยู่ด้วย อิทธิบาทสี่ เสมอไปทุกข้อทุกกระทงว่าเป็นฆราวาสที่ดีในความหมายของคำว่าฆราวาสคือผู้ครองเรือน ทีนี้ชีวิตมันจะก้าวไปอีกสองขั้นไปเป็น วนปรัสถ์ หาความสงบทางจิตใจ แล้วไปเป็น สันยาสี คือเที่ยวแจกของส่องตะเกียงให้กับเพื่อนมนุษย์ ก็ต้องทำสิ หลักการอันนี้เหมือนกัน คือทำจริงเหมือนกัน แต่ว่าไอ้ความจริงนี้มันทำมาจนเสียจนเพียงพอแล้ว ทีนี้มันก็จริงง่าย จริงสบาย จริงสะดวก ไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไรแล้ว การที่จะไปหาความสงบในทางจิตทางวิญญาณก็หาได้ง่าย ช่วยแจกของส่องตะเกียงก็ทำได้ง่าย นั่นเป็นขั้นปลายขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นการง่าย ถ้าเราทำไอ้สองขั้นแรกนี้ซึ่งเป็นบันไดขั้นต้นนี้ให้มันสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้ จงเป็นพรหมจารีที่ดีในระหว่างที่ยังไม่แต่งงานแล้วก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดีหลังจากการแต่งงานแล้ว อย่าให้มันเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่ามหรือว่าก้าวก่ายกันไม่มีหลักเกณฑ์ โดยอาศัยหลักธรรมะนี้ ฆราวาสธรรม ที่สัมปยุต อยู่ด้วยอิทธิบาท ทั้งสี่ ก้าวหน้าไปตามหลักเกณฑ์ของโพชฌงค์ ๗ ก็เรียกว่าเป็นเทคนิคที่สมบูรณ์ตามแบบของพระพุทธศาสนา
ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วใช้ได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต ธรรมะชื่อเดียวกันใช้ได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต อย่าไปโง่ตามคนบางพวกเอาไปแยกกันเดินกันคนละทางนั้นมันไม่ถูกไม่จริง เป็นความโง่ที่คิดไปเอาเอง คิดไปเอง แม้ฆราวาสก็ต้องไปนิพพาน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของฆราวาสก็อย่างเดียวกับของบรรพชิต บรรพชิตมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างไร ฆราวาสก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นแหละ ถือสรณาคมน์เดียวกันและปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาก็ปฏิบัติด้วยหลักอย่างเดียวกันคือ อัฏฐังคิกมรรค นั่นเอง หากแต่มันคนละระดับหรือว่าคนละแง่ คนละมุมแต่มันเปลี่ยนไม่ได้ มันต้องเป็นตัวนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาตัวนั้นน่ะ ทีนี้ธรรมะที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือเช่น ฆราวาสธรรม นี่ก็ใช้ได้แก่บรรพชิตเต็มที่ ฉะนั้น อิทธิบาทสำหรับไปนิพพานนำมาใช้สำหรับอยู่ในโลก เพื่อชนะโลก มีนิพพานในโลก โพชฌงค์ ๗ สำหรับตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นก็นำมาใช้เป็นเครื่องบ่มให้เชื้อแห่งความเป็นพุทธะที่มีอยู่ในร่างกายของเราให้เจริญงอกงามผลิดอกออกผล อย่าไปแยกให้ฆราวาสเดินไปทางทิศเหนือ บรรพชิตเดินไปทางทิศใต้ มันคนโง่พูด โลกุตตระต้องมีอยู่ในโลก อยู่เหนือโลก ชนะโลก อยู่ที่ในโลกนั่นเอง ความเย็นอยู่ที่ความร้อนนั่นเอง เอาความร้อนออกก็พบความเย็นนอนอยู่ที่นั่น เรื่องก็ไม่มาก
สรุปความแล้วก็ว่าในที่นี้ก็อย่าลืมว่า เราต้องการจิตที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา เป็นฆราวาสก็มีจิตที่เหมาะสมแก่ความเป็นฆราวาส เป็นบรรพชิตก็มีจิตที่เหมาะสมแกความเป็นบรรพชิต แต่เรื่องมันเรื่องเดียวกันคือจะทำลายอุปสรรคอย่างเดียวกัน กิเลสและความทุกข์นี้จะต้องถูกทำลายอย่างเดียวกัน ตามฝีไม้ลายมือ ตามโอกาส ตามภาวะของชีวิตที่เป็นอยู่อย่างไร และนี่เราจะเดินทางไปนิพพานโดยผ่านชีวิตฆราวาส ขอให้เข้าใจอย่างนั้น ต้องการจิตที่เหมาะสมเพราะว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่าจิตให้ถูกต้องและเพียงพอ ปัญหาก็จะหมด เวลาของเราก็มี สิ้นสุดลงเท่านี้
โอวาทลาสิกขาบท แก่พระนวกะวัดชลฯ ปี 2513 ครั้งที่ 4 เรื่องทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว คือจิต