แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวถึงการปฏิบัติวินัย คือวิธีที่จะทำให้มีวินัยขึ้นมาได้อย่างไรนั่นเอง ในครั้งที่ ๑ เราพูดกันถึงประโยชน์ของวินัย ครั้งที่ ๒ พูดเรื่องตัววินัย ครั้งนี้จะพูดถึงวิธีปฏิบัติวินัยว่า ปฏิบัติอย่างไรเราจึงจะมีวินัย การปฏิบัติวินัยในที่นี้จะไม่พูดถึงการปฏิบัติตัวสิกขาบทนั้น ๆ ตามที่มีอยู่ในพระ ปาฏิโมกข์ หรือในตำรับตำรา เพราะว่านั้นเป็นการกล่าวไว้ชัดแล้วว่า ห้ามอย่างนั้นหรือให้ทำอย่างนั้น ก็ทำอย่างนั้นหรืออย่าทำอย่างนั้น ทุก ๆ คนก็อาจจะรู้ได้ อ่านเอาแล้วก็รู้ได้ และก็ปฏิบัติได้ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงวิธีปฏิบัติที่เป็นความหมายของการปฏิบัติที่มันกว้าง ๆ ออกไปว่า จะปฏิบัติอย่างไร ด้วยวิธีใด ด้วยอะไรเป็นเครื่องช่วยเหลือ อย่างนี้เป็นต้น
ข้อแรกที่สุด ก็อยากจะเตือนให้นึกถึงอานิสงส์ของวินัยว่า เราต้องปฏิบัติวินัยโดยอยากจะได้อานิสงส์ของวินัย พูดแล้วคล้ายกับกำปั้นทุบดิน แต่ไม่ใช่กำปั้นทุบดิน เป็นความจริงหรือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างนั้น คนเป็นอันมากปฏิบัติวินัยอย่างงมงายก็มี คือปฏิบัติเพ้อ ๆ ไปอย่างนั้น ตามธรรมเนียม ตามระเบียบ รู้ตามการถูกบังคับ หรือว่าบวชเข้ามาแล้วก็ปฏิบัติให้มันแล้ว ๆ ไปอย่างนี้ นี่เรียกว่าปฏิบัติวินัยอย่างงมงายตามธรรมเนียม มันก็มีอยู่มาก
ขอให้ทุกคนชำระจิตใจของตัวให้มันมีความถูกต้อง ปฏิบัติวินัยเพื่อจะให้ได้อานิสงส์ของวินัยจริง ๆ เหมือนกับบวชนี้จะให้ได้ให้อา ได้ ให้ได้อานิสงส์การบวชจริง ๆ ดังนั้นการปฏิบัติวินัยก็ต้องปฏิบัติชนิดที่จะได้อานิสงส์ของวินัยจริง ๆ อย่าปฏิบัติเพียงเสียให้ได้ หรือเพื่อตบตาคนอื่น ตบตาเพื่อนฝูง ตบตาประชาชน อย่างนั้นมันใช้ไม่ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ของเรา เราปฏิบัติวินัยให้ได้ประโยชน์ ให้ได้อานิสงส์ของวินัย อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เราก็ได้อานิสงส์ หมู่คณะก็ได้อานิสงส์ พระศาสนาเป็นส่วนรวมก็ได้อานิสงส์ จากการปฏิบัติวินัยของเรา
ดังนั้นจะต้องถือเอาข้อนี้เป็นข้อแรกข้อต้น เป็นหลักสำคัญ แจ่มชัดอยู่ในใจเสมอ เพ่งเล็งถึงอานิสงส์ที่จะได้จากการปฏิบัติวินัยอยู่เสมอไป เรียกว่าคิดบัญชีในใจกัน ทั้งเช้า ทั้งเย็น ทั้งค่ำเลย กระทั่งเวลาจะหลับจะนอนลงไปก็ต้องคิดบัญชี ได้เสียขาดทุนกำไรอะไรเกี่ยวกับการปฏิบัติวินัยนี้ เพื่อให้มันได้อานิสงส์นั้นจริง ๆ นี้ข้อหนึ่ง เป็นเครื่องมือสำหรับปฏิบัติวินัยได้ดีและได้สนุกสนาน ได้ร่าเริง ได้กล้าหาญในการปฏิบัติ
นี้ข้อถัดไป จะต้องมีนิสัยซื่อตรงหรือเคารพตัวเอง ผู้ที่จะปฏิบัติวินัย จะต้องสร้างนิสัยที่ซื่อตรงและเคารพตัวเองให้มากขึ้น ๆ ที่มันมีอยู่แล้วให้ถือว่าไม่พอ ให้พยายามสร้างนิสัยที่ซื่อตรงต่อตัวเองเคารพตัวเองให้มากขึ้น เราจะต้องสังเกตดูให้ดี เราก็ตาม ผู้อื่นก็ตาม ไม่ถือระเบียบ ไม่ถือวินัย คดโกงหน้าที่การงาน เป็นอยู่ทั่วไปทั้งวินัยชาวบ้านและวินัยชาววัด เพราะมันขาดนิสัยที่ซื่อตรง ไม่เคารพตัวเอง ไม่ ๆ นับถือตัวเอง คือปล่อยให้ตัวเองเลวได้ นี้เขาเรียกว่าคนไม่นับถือตัวเอง คนนับถือตัวเองเขาไม่ปล่อยให้ตัวเองเลว เพราะรัก เพราะเคารพ พยายามให้ตัวเองดี ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่เสมอ ถ้ามีนิสัยอย่างนี้ ก็อาจจะปฏิบัติวินัยได้ วินัยที่ออฟฟิศหรือบ้านเรือนของชาวบ้านก็ตาม วินัยในวัดของภิกษุบรรพชิตก็ตาม มันอยู่ได้ด้วยการที่มีความเคารพตัวเอง
แล้วอันที่ ๓ ก็มีความละอาย ความกลัว ความรู้จักเข็ดหลาบ มีความละอายก็หมายถึงว่า เมื่อทำผิดวินัยแล้วก็ละอาย จะมีคนรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ มีความละอาย ไม่มีใครรู้ก็ละอายตัวเอง มีคนรู้ก็ละอายตัวเอง เอาความละอายตัวเองเป็นที่ตั้ง ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ เราเป็นคนที่มีความละอาย คือมี หิริ มีความละอาย ไม่เป็น ถัทโธ คือคนกระด้าง ไม่รู้จักอาย ที่เขาเรียกว่าคนหน้าด้าน ไม่รู้จักอาย ไม่อายตัวเองแล้วก็ไม่ ๆ อายคนอื่น ถ้าถึงไม่ อ่า, ถึงขนาดไม่ละอายคนอื่นเห็นนะ เมื่อ ๆ ๆ คนอื่นเห็นแล้วก็ไม่มีล่ะที่จะไม่ละ เอ่อ, ที่จะละอายตัวเอง นี้ถ้าละอายตัวเอง มันก็เป็นละอายเมื่อคนอื่นเห็นอย่างยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นต้องมีความละอาย แล้วก็มีความกลัวที่เรียกว่า โอตตัปปะ คือความกลัว กลัวยิ่งกว่ากลัวผี เรากลัวบาป กลัวความชั่ว กลัวความผิด นี่ยิ่งกว่ากลัวผีหรือยิ่งกว่ากลัวอะไรที่เรากลัว มันน่ากลัวยิ่งกว่าผีหรือว่าไอ้สิ่งที่เรากลัว ความชั่วความผิดนี้ มันน่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เขากลัวกัน ทีนี้เราก็ไม่กลัว เพราะว่าความโง่ของเราก็ได้ หรือเพราะเป็นคนประมาท เป็นคนกระด้าง มาเสียแต่เดิมแล้ว คือไม่ละอายแล้ว มันก็ไม่กลัว มันไปถือลัทธิวัตถุนิยม เมื่อได้อะไรแล้วก็เรียกว่าดีทั้งนั้น นี้เพียงแต่ทำผิด คราวนี้ก็ไม่ต้องกลัว มันยังมีการที่จะได้อะไรที่จะ ที่ตัวอยากจะได้ คนอย่างนี้ไม่กลัวบาป แต่ไปกลัวว่าจะเสียเงินเสียอะไรที่ตัวจะได้ ไปกลัวอย่างนั้น
แต่เดี๋ยวนี้ มันเป็นเรื่องวินัยไม่ใช่เรื่องเงิน เป็นเรื่องวินัยที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ เราบวชแล้วจะต้องมีวินัยอย่างนี้ เราก็ต้องกลัว กลัวความผิดวินัย กลัวความไม่มีวินัย แล้วก็เลยพ่วงท้ายด้วยความรู้จักเข็ดหลาบ นี่ความเข็ดหลาบนี้ ทำผิดทีไรก็ละอายตัวเองจนเป็นทุกข์ เขาก็กลัวจนเป็นทุกข์ มันก็รู้จักเข็ดหลาบกันเสียบ้าง เข็ดหลาบความ อ่า, ต่อความทุกข์นั้นเสียบ้าง นี่เมื่อเป็นคนที่มีความละอาย ความกลัว และรู้จักเข็ดหลาบแล้ว ก็สามารถปฏิบัติวินัยได้ดี
ทีนี้อีกข้อหนึ่ง ก็อยากจะพูดเป็นทำนองว่า ถ้ายังไง ๆ ก็ขอให้เห็น แก่พระพุทธ แก่พระธรรม แก่พระสงฆ์เถิด นี่เป็นคำขอร้องหรือวิงวอนอันสุดท้ายแล้วล่ะ ถ้าตัวเองมันกระด้าง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อะไรตัว แล้วก็ขอให้เห็นแก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง เพื่อรักษาวินัย เพื่อปฏิบัติวินัย จะเรียกรวม ๆ กันว่าเพื่อเห็นแก่ศาสนาก็ได้ บางทีจะมีจิตใจเหลืออยู่ในส่วนนี้ เห็นแก่พระพุทธ เห็นแก่พระธรรม เห็นแก่พระสงฆ์ที่เราบูชา หรือว่าอุทิศชีวิตนี้เพื่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการบวชนี้เป็นต้น มันก็เห็นแก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะปฏิบัติวินัยได้ดีเหมือนกัน
เพราะเรารู้อยู่ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นเป็นตัววินัย เป็นตัวต้องการให้ปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอนและทรงสอนทรงประสงค์ให้เราปฏิบัติ ตัวพระธรรมนั้นก็เป็นตัววินัย ตัวนินัยก็เป็นตัวพระธรรมอยู่ส่วนหนึ่ง พระสงฆ์ก็คือผู้ที่ปฏิบัติวินัยได้ดีมาแล้ว ลักษณะทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องขั้นต้น จะสงเคราะห์เข้าในพวกศีลก็ได้ คือมีหลักอย่างเดียวกับความหมายของคำว่าศีล ศีลนี้ คือสำรวมปฏิบัติ ควบคุมตัวเองอย่างนี้ รวม ๆ กันเรียกว่าเหมือนกับความหมายของคำว่าศีล อาศัยแนวของศีลเป็นหลักปฏิบัติวินัย
ข้อที่ ๑ ให้มีความตั้งใจอยากจะได้อานิสงส์ของวินัย ข้อที่ ๒ ให้มีนิสัยเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ซื่อตรงตัวเอง ข้อที่ ๓ ให้มีความละอาย ความกลัว และความเข็ดหลาบ ข้อที่ ๔ เห็นแก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก่ศาสนา นี่ขอให้สร้างความรู้สึกประเภทนี้ขึ้นมา แล้วก็จะง่ายดายในการปฏิบัติเพื่อให้มีวินัย จะสะดวก จะสบาย จะรื่นเริงร่าเริง ในการปฏิบัติวินัย จะสะดวกราบรื่น ไม่ ๆ ๆ หนักอกหนักใจ ไม่เหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา สำหรับผู้ที่คดโกงต่อตัวเอง มันก็เหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา ระเบียบให้ทำอย่างนี้ แต่ใจมันไม่สมัครจะทำ มันเล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่าอาศัยอำนาจการปรับปรุงตัวเองตามหลักของศีล หรือ สีลสิกขา ทำให้เราสามารถปฏิบัติวินัยได้ดี
ทีนี้หมวดต่อไป เราจะอาศัยอำนาจของสมาธิ คือกำลังจิต ที่รวม ๆ เรียกกันว่าพวกสมาธิ ข้อนี้จะต้องเริ่มขึ้นด้วยความมี สติสัมปชัญญะ หรือความไม่ประมาท ความมี สติสัมปชัญญะ ไม่ประมาทนี่ ก็คือตรงกันข้ามกับ ความสะเพร่า อวดดี เลินเล่อ หยาบคาย ความไม่ประมาทนี่มีความหมายกว้าง รวม ๆ สติสัมปชัญญะ รวมอะไรไว้เสร็จ ความขยันขันแข็งอะไร มันรวมอยู่ในความไม่ประมาทเสร็จ แต่ใจความสำคัญมันอยู่ที่ความรู้สึกตัว มีสติอยู่ มีสติอยู่ในเรื่องนี้ ไม่เผลอสติ ไม่เลินเล่อ ถ้าเอาแต่คุยโขมงโฉงเฉง เอาแต่กินแต่เล่น เอาแต่สรวลเสเฮฮา อย่างนั้นเขาเรียกว่าประมาท ปราศจาก สติสัมปชัญญะ แล้วมันก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าไม่มีวินัย นี้เรามาเป็นผู้ที่สำรวมระวังให้มี สติสัมปชัญญะ สุขุมรอบคอบ ละเอียดลออ ไม่ประมาท มันก็มีวินัยได้ ๆ ง่ายหรือได้มาก
นี้ข้อถัดไป เขามีคำเรียกว่า สังวร สังวร แปลว่าสำรวมระวัง ในลักษณะที่เป็นการควบคุม ๆ ๆ ตัวเอง เรื่อง สังวร นี้เขาแจกไว้เป็น ๒ เรื่อง ปาฏิโมกขสังวร สังวรตามพระ ปาฏิโมกข์ อินทรียสังวร ก็สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปาฏิโมกขสังวร เราก็อ่าน ปาฏิโมกข์ หรือฟัง ปาฏิโมกข์ อย่างที่เคยฟังมาแล้วว่า มีอยู่ ๒๒๗ ข้ออย่างนั้น ๆ ๆ แล้วตั้งอกตั้งใจสำรวมตามนั้นอยู่ตลอดเวลา พอถึงวันอุโบสถลง ปาฏิโมกข์ เขาไล่ไปทีละข้อ ๆ ให้เราฟัง เราก็ตั้งใจฟัง และถ้านึกได้ว่าได้ทำผิดในข้อไหน ก็บอกขึ้นในเวลานั้นก็ได้ แล้วค่อยจัดการกันต่อไปอย่างนี้ เกี่ยวกับ ปาฏิโมกข์ ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ต้องสำรวมอย่างนี้ อย่าไปนั่งหลับเสียหรือว่าแกล้งไม่รู้ไม่ชี้เสีย มันจะเสียหมดในเรื่อง ปาฏิโมกข์
นี้ ปาฏิโมกข์ สวดเป็นภาษาบาลี เราก็ต้องพยายามจำภาษาไทย ท่องจำภาษาไทย ไล่ไปตามหัวข้อที่เขาออกชื่ออาบัติชื่อหนึ่ง ๆ ผมเคยทำมาแล้ว ผมแรกบวชก็ไม่ได้เรียนบาลี ก็ไม่ ๆ รู้คำแปลของ ปาฏิโมกข์ โดยตรง แต่ก็เดาได้มาก เพราะว่าเรียน นวโกวาท ก่อนบวช ก่อนบวชนี้ท่องวินัย นวโกวาทปาฏิโมกข์ นั้นน่ะได้แม่นยำ นี้พอบวชเข้ามาได้ฟัง ปาฏิโมกข์ ก็พยายามกำหนดไปทีละอัน ๆ ๆ ก็ไม่ยากนัก ไม่ยากเกินไป ถ้าสนใจและรักที่จะทำ ทำได้ เมื่อไม่สนใจ มันก็หมด ไม่มีทาง
ดังนั้นเรื่อง ปาฏิโมกข์ นี้จะต้องคล่องแคล่วอยู่ในใจเสมอว่า มันมีอะไรบ้าง เพื่ออย่าได้ทำผิด อ่านดูสักสองสามเที่ยว มันก็จะทำให้พอนึกได้ คือเมื่อไปทำผิดเข้า มันก็นึกได้ เอ้า, ผิดแล้ว แล้วก็จะได้แสดงอาบัติเสีย หรือเพิ่งไปนึกได้เมื่อนั่งฟัง ปาฏิโมกข์ ก็จะได้ลุแก่โทษขึ้นกลางคันนั้นน่ะ ระเบียบวินัยเขามีให้ลุแก่โทษขึ้นกลางคัน หยุดสวด ปาฏิโมกข์ ขณะหนึ่ง เพื่อรับรู้ไอ้ความที่ภิกษุองค์นี้ต้องอาบัติอย่างนี้ แล้วจะแสดงคืน ที่นั่น เดี๋ยวนั้น หรือจะไว้แสดงทีหลังก็ได้ นี้ถ้าเราเคารพ ปาฏิโมกข์ ถึงขนาดนี้แล้วก็ แน่นอนจะต้องมีวินัย แล้วหมู่คณะสงฆ์นั้นก็จะมีวินัย ศาสนาก็จะยั่งยืน
ทีนี้ไอ้ที่เรียกว่า อินทรียสังวร สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้คาบเกี่ยวไปถึงธรรมะ คือเป็นเรื่องทางจิตใจขึ้นมาว่า ถ้าเราไปเห็นแก่ความเอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็ยากที่จะถือวินัยไว้ได้ เช่นเห็นแก่กินอย่างนี้ เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่กินอย่างนี้ มันก็ไปผิดวินัยเรื่องกินเข้าจนได้ เห็นแก่ของสวยงาม มันก็ไปทำผิดวินัยเพราะของสวยงามนั้นเข้าจนได้ ถ้าไอ้ความสวยงามนั้นเป็นเรื่องเพศตรงกันข้าม เพศหญิง เพศอะไรทำนองนี้ด้วยแล้ว มันก็มีทางที่จะต้องอาบัติใหญ่น้อยไปมากมายทีเดียว แม้แต่ไปเพียงยักคิ้วเพศตรงกันข้ามเข้า หรือไปพูดจาแทะโลมเพศตรงกันข้ามเข้านี้ มันก็เป็นอาบัติซึ่งไม่น่าดู รอง ๆ ลงมาจากอาบัติ ปาราชิก
ดังนั้นจึงต้องควบคุมไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้พอสมควรแก่การรักษาวินัย กระทั่งควบคุมจิตใจอย่าให้มันไปตามเรื่องของกิเลส เกิดความรู้สึกกำหนัดกระสันขึ้นมานี้ ต้องเห็นเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องหาทางป้องกันแก้ไขให้เรียบร้อยไปด้วยดี อย่าไปลุอำนาจแก่กิเลส สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อย่างนี้เป็นอาบัติ สังฆาทิเสส ข้อที่ ๑ คุณก็อ่านแล้ว รู้แล้ว ฟังแล้ว นั่นก็เพราะไม่สำรวมจิตใจ มันต้องสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงจะรักษาไอ้วินัยส่วนที่ล่อแหลมนี้ไว้ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า อินทรียสังวร อินทรีย มันแปลว่าเรื่องใหญ่ คำว่าอินทรีย์นี้แปลว่าเรื่องใหญ่ คือสิ่ง ๆ ใหญ่หรือสิ่งที่มีความสำคัญ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น่ะเรียกว่าอินทรีย์ คือเป็นสิ่งสำคัญหรือเป็นเรื่องใหญ่ ไอ้เรื่องเสียหายร้ายกาจต่าง ๆ เกิดมาจากไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ทั้งนั้น ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ก็ฟังเสียเดี๋ยวนี้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรื่องใหญ่ ก็ให้ระวังให้ดี อย่าทำเล่น ถ้าเกิดเป็นทาส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาแล้ว มันก็ชักจูงไป จูงจมูกไป ให้ทำผิดทำชั่วนานาประการ ทั้งทางธรรมะและทางวินัย จึงมีระเบียบให้สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อินทรียสังวร คู่กันกับ ปาฏิโมกขสังวร ถ้าเราสำรวม ปาฏิโมกข์ ดี ก็สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ดี ถ้าเราสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ดี เราก็สำรวม ปาฏิโมกขสังวร ได้ดีเหมือนกัน พึ่งพาอาศัยกันอย่างนี้ ก็เลยเอาไว้เป็นสังวรที่คู่กัน เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวร อินทรียสังวร เรียกว่า สังวร สั้น ๆ เพียงคำเดียว โดยอาศัยการ สังวร เราก็มีวินัยได้ง่าย ปฏิบัติวินัยได้ง่าย ได้รับอานิสงส์ของวินัยได้โดยสะดวก
ทีนี้เรื่องถัดไปเรียกว่า ปหานะ ปหานะ แปลว่าละ มีคำแทนกันอย่างอื่นอีกหลาย ๆ คำเช่นคำว่าจาคะ นิสสัชชะ อะไรเป็นต้น ความหมายของมันอยู่ที่ละ ละอะไร ก็ความหมายว่า ละนิสัยที่ไม่ดี ละความเคยชินที่ไม่ดี คำว่า จาคะ ก็แปลว่าละ แต่ไม่ใช่ให้วัตถุสิ่งของ ให้ความรู้สึกในใจที่ไม่ดี ที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจนี่ หรือพูดรวม ๆ กันก็คือ ให้ละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ถ้าไม่เคยฟังหรือเคยฟังมาแต่อย่างอื่นว่า จาคะ ให้สิ่งของนี้ ก็ให้รู้เถิดว่า คำว่า จาคะ นั้นหมายถึงละภายในด้วยก็ได้ บรรดาสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน ให้ละออกไปเสีย ก็เรียกว่า จาคะ ได้เหมือนกัน หรือจะเรียกว่า ปหานะ ก็ได้ ดังนั้นความประพฤติอะไรที่ไม่ดี ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี จะต้องละ ละความชั่ว ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ละทางกาย คือว่ากิริยาที่หยาบคายที่ไม่ดี ก็ต้องละไปเสียจากความเคยชิน ที่เรามันเคยชินมาก่อน ก่อนบวช นี้การพูดจาโดยไม่ระมัดระวัง ไม่สำรวม โป้งเป้ง ๆ เป็นคนขี้โวขี้โม้อะไรนี้ หรือขี้พูดหยาบ พูดเล่น พูดอะไรก็ตาม ต้องละ นี้ก็มาถึงความรู้สึกในใจ ความรู้สึกชนิดที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจ ก็ละเสีย นี่เรียกว่าละทั้ง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ดังนั้นเราต้องขยันตรวจสอบเป็นประจำวันว่า อะไรพลาดไปแล้ว ไม่ได้ละ คือได้ทำเข้าไปเสียแล้ว วันหนึ่ง ๆ เอามาละอายให้มาก เอามากลัวให้มาก จะได้สำรวม อ่า, สังวร หรือละต่อไปในวันรุ่งขึ้น นี่เรื่องละมันเป็นอย่างนี้ พยายามละอยู่ตลอดวันตลอดคืน แล้วมีสรุปงบบัญชีประจำวันดู ในเรื่องที่เกี่ยวกับจะต้องละ
นี้ข้อถัดไปอีก ความไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จะเขียนเป็นบาลีมันก็ยาว เช่นไล่สวดอยู่ท้าย ปาฏิโมกข์ ว่า อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี ถ้าเป็นธรรมมะก็ต้อง วิตา อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวิตา ความเป็นผู้เห็นภัยใหญ่หลวงในโทษแม้มีประมาณน้อย ที่ว่าในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็เห็นว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวง อย่าดูถูกดูหมิ่นว่าเรื่องเล็กน้อย เรื่องนี้เล็กน้อย ๆ เล็กน้อยไปหมด ให้เห็นว่า ไอ้เรื่องเล็กน้อยนี้ก็เป็นภัยอันใหญ่หลวง มันจะทำให้เสียหายใหญ่หลวงได้ เมื่อไรก็ได้ หรือจะนึกถึงตัวอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดกันอยู่เสมอว่า ไม้ขีดไฟก้านเดียวนี้มันเผาเมืองก็ได้ เผาเมืองทั้งเมืองก็ได้ มันเป็นไม้ขีดไฟก้านเดียว
นี้ในบรรพชาของเรานี้ ไอ้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นิด ๆ เรื่องเดียวนี่ มันจะทำลายเป็นใหญ่โตใหญ่หลวงเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นไม่มีเลยเรื่องเล็กน้อย จะไม่ ๆ มีอะไรว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จะเห็นเป็นเรื่องน่ากลัวทั้งนั้น นี่สร้างจิตใจอันนี้ขึ้นมา สร้างความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา สร้างนิสัยอันนี้ขึ้นมา ให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่ากลัว ขึ้นชื่อว่าความผิด ความชั่ว บาป อกุศล แล้วไม่มีเล็ก ไม่มีเรื่องเล็ก ดังนั้นจึงไม่ทำแม้แต่การหัวเราะกันเล่น นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้นะ จะไม่ทำแม้แต่การพูดหยอกหัวเราะกันเล่น คนอาจจะเห็นว่า พูดเล่นกันหัวเราะกันบ้างนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เป็นไร แต่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำว่า ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
ทีนี้เรื่องถัดมาอีก ก็อยากจะระบุถึงความอดทนอดกลั้นที่เรียกว่า ขันตี บทบอกวัตรแบบโบราณพูดถึง ขันตี ดีมาก คือเอาออกมา เอาออกมาจาก โอวาทปาฏิโมกข์ ที่สรุปใจความไว้ทั้งหมดก็คือบทว่า ขนฺตี พลํ ว ยตีนํ ขนฺตี พลํ ว ยตีนํ ขันตี เป็นกำลังแห่งผู้บำเพ็ญพรตทั้งปวงทั้งหลาย ขันตี ความอดทนนี้เป็นตัวกำลังของนักบวช ยติ แปลว่านักบวช ยตีนํ แปลว่านักบวชทั้งหลาย ขันตี เป็นกำลังของนักบวช นักบวชคนใดไม่มี ขันตี คนนั้นไม่มีกำลัง ไม่มีกำลังก็ต่อสู้กับศัตรูไม่ได้ ศัตรูเอาตายเลยนี่ ศัตรูคือกิเลส เมื่อนักบวชนั้นไม่มีกำลัง ก็ไม่มีอะไรเกินฝีไม้ลายมือที่จะไปต่อสู้ศัตรูได้ ดังนั้นบรรพชิต นักบวช หรือผู้บำเพ็ญพรตก็ตามนี้ จะต้องมีกำลังคือความอดทน
คนทั่วไปอาจจะมองแล้วไม่เข้าใจหรือเห็นเป็นของน่าขัน ทำไมเอากำลัง เอาความอดทนเป็นกำลัง ทำไมไม่เอาไอ้การชกต่อยเข้าไปเป็น ๆ กำลัง กลับเอาความอดทนเป็นกำลัง เพราะว่านี่มันเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องฝ่ายวิญญาณ ความอดทนนั่นแหละคือกำลัง ที่ตั้งมั่นอยู่ได้ไม่พ่ายแพ้ นี้เรื่อง ขันตี นี้ต้องหมายถึง อธิวาสนขันตี คืออดทนต่อความบีบคั้นของกิเลส เขามักจะสอนกันแต่ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บไข้ ทนคนด่าคนว่านี้ แจกเป็นรายละเอียดไปอย่างนั้น มัน ๆ ไม่ ๆ ๆ รัดกุม ขอให้ ๆ ระบุไปยังไอ้การอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส เขาเรียกว่า อธิวาสนขันตี อธิวาสน นี่มันหมายถึงกิเลส
เมื่อกิเลสมันอยากจะทำอะไรตามกิเลส ข้อแรกที่สุดเราจะต้องทน คือไม่ยอม ดังนั้นอันแรกที่สุดจะต้องทน คือไม่ยอม กิเลสมันจะชวนให้ทำอะไรก็ตามใจเถิด ข้อแรกที่สุดเราจะไม่ยอมทำ ไม่ยอมไว้ก่อน แล้วจึงจะค่อยหาทางแก้ไข เอ่อ, ทำลายอะไรกันไปทีหลัง กิเลสมันต้องการให้ทำชั่ว ให้ทำผิดวินัย ให้ทำผิดวินัยอะไรอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วนั่นแหละ มีความกำหนัด มีความกระสัน มีอะไรขึ้นมา ก็จะทำไปตามกิเลสเหล่านั้น นี่จะต้องทนก่อน ต้องทนน้ำตาไหล ก็ทนได้
คำว่าอดทนต่อความบีบคั้นของกิเลสนี้ ผมขอร้องให้ทุก อ่า, ทุกองค์จำไว้ให้แม่นยำ ให้ความสำคัญให้มาก เพราะนี่เป็น ๆ เรื่องที่จะเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไปอยาก ไปโลภ ไปคอรัปชั่น ไปอะไรเข้า ก็เพราะไม่ทนต่อการบีบคั้นของกิเลส เราไปโกรธคนนั้น โกรธคนนี้ บันดาลโทสะได้แม้แก่อุปัชฌาย์อาจารย์อย่างนี้ ก็เพราะไม่อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ดังนั้นจะต้องตั้งใจแน่วแน่ หัน ๆ มาดูไอ้ข้าศึกตัวนี้ ความบีบคั้นของกิเลสนี่คือเป็นข้าศึกอย่างยิ่ง แล้วก็สร้างความอดทนขึ้นมาให้เพียงพอ
ถ้ามีความอดทนต่อความบีบคั้นของกิเลสแล้ว อะไรจะทนได้หมด เช่นเขาด่าเขาว่านี้ กิเลสมันอยากจะด่าตอบ เอ้า, เราก็บีบคั้นกิเลสได้ ไม่ใช่กิเลสบีบคั้นเรา เราก็ทนได้ เราไม่ด่าตอบ หรือเมื่อมีความเจ็บความไข้เกิดขึ้น มันอยากจะร้องครวญครางหรือมันอยากจะตกใจจะกลัว มันเป็นความบีบคั้นของกิเลสที่มีมูลมาจากความเจ็บไข้นี้ เราก็ทนได้ หรือว่าทนลำบากตรากตรำ ทนแดดทนฝน เราก็ทนได้ต่อการบีบคั้นของกิเลส คือความเกียจคร้าน
ความเกียจคร้านก็จัดเป็นกิเลสเหมือนกัน มันไม่ยอมเหนื่อย มันไม่ยอมทนแดดทนฝน มันไม่ยอมทนลำบากตรากตรำนี้ เพราะกิเลสมันอยากจะชวนไปนอนสบาย ๆ ไม่เห็นแก่การงานแม้ของส่วนรวมอย่างนี้ เป็น อ่า, กิเลสเป็นผู้ชักจูงไป นี้ถ้าเราทนต่อการบีบคั้นของกิเลสได้ เราก็เลยไม่เห็นว่าน่ากลัวอะไร เรื่องหนาว เรื่องร้อน เรื่องเหนื่อย เรื่องหิว เรื่องอะไรต่าง ๆ นี้ ดังนั้นขอให้มี ขันตี ที่แท้จริง คือ อธิวาสนขันตี แล้วเขาจะอดทนได้หมด ทีนี้วินัยก็ไม่มีทางที่จะล้มละลาย เพราะทนได้ต่อการบีบคั้นของกิเลส เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวกันว่า ขนฺตี พลํ ว ยตีนํ ท่องไว้เป็นมนต์ด้วย ความอดทนเป็นกำลังของนักบวช
ทีนี้ข้อถัดไป ก็อยากจะพูดถึงการบังคับตัวเอง เขาเรียกว่า ทมะ หรือทมถะ ท ทหาร ม ม้า ทมะนี่ อ่านว่า ทะ-มะ แปลว่าบังคับ บังคับอะไร บังคับตัวเอง ตัวเองคืออะไร ตัวเองคือจิต ก็คือบังคับจิต มีพระพุทธภาษิตว่า จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การบังคับจิตเป็นการดี การบังคับจิตเป็นการดี คือทำให้ประโยชน์สำเร็จ เมื่อตะกี้เราพูดถึงความอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ทีนี้เราจะบังคับจิตคือกิเลสนั่นแหละ เพราะว่าเดี๋ยวนี้จิตกำลังประกอบด้วยกิเลสหรือกิเลสเป็นตัวจิตในที่นี้ เมื่อจิตถูกกิเลสครอบงำ จิตนั้นก็เป็นกิเลสหรือกิเลสนั้นเป็นจิต เราจะบังคับจิตชนิดนั้น เรื่องการบังคับจิตนี้ มันใหญ่โตกว้างขวาง เป็นเรื่องทางธรรมะทางทำสมาธิอะไรไปเลย แต่ในที่นี้เราจะกันเอามาเฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการปฏิบัติวินัย คือจะบังคับตัวให้รักษาวินัยไว้ให้ได้เท่านั้น
พระพุทธภาษิตที่อื่นยังมีอีกว่า จะบังคับจิตเหมือนควาญช้างที่ฉลาด ใช้ขอบังคับช้างที่ตกน้ำมัน ช้างที่ตกมัน ควาญช้างฉลาดบังคับช้างที่ตกมันนี่ ท่านให้ความหมายหรือคำเปรียบไว้ขนาดนี้นะว่า จิตนั้นเหมือนช้างที่ตกมัน ไม่ใช่ช้างธรรมดาสามัญ ช้างที่กำลังตกมัน เมื่อจิตมันได้กิเลสแล้วนั้นแหละ กิเลสนั่นแหละคือ ๆ ๆ ๆ น้ำมันที่ช้างมันตก ๆ มัน ดังนั้นบังคับจิตชนิดนั้น มันต้อง ๆ ต่อสู้ด้วยความฉลาด เหมือนหมอช้างที่สามารถบังคับช้างที่ตกน้ำมัน รวมความแล้วคือว่า อย่าได้ทำเล่น อย่าเห็นเป็นเรื่องง่าย ๆ หรือทำเล่น มันต้องเข้มแข็ง เฉียบขาด ฉลาด มันก็บังคับให้ได้
การบังคับจิตได้เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกอย่างทุกประการเลย ไม่เฉพาะแต่วินัย ดังนั้นจงเป็นผู้ที่ฝึกหัดบังคับจิตอยู่เป็นประจำ อย่าไปตามจิต อย่าปล่อยไปตามความโลเลของจิต อยากเล่น อยากหัว อยากโลเล อยากเหลาะแหละอะไร ก็ปล่อยไปตามนั้น ถ้าขืนปล่อยไปตามนั้น มันจะเป็นนิสัยอย่างนั้น และยากที่จะบังคับจิต มันจะนึกถึงระเบียบ นึกถึงวินัย จะไม่เคลื่อนไหว จะไม่พูดจา หรือจะไม่ทำอะไรลงไปโดยที่ไม่ได้นึกถึงวินัยเสียก่อน เมื่อทำได้อย่างนั้น เรื่องเล่น เรื่องหัว เรื่องเหลาะแหละโหลกเหลกทางกิริยาวาจา มันก็ไม่มี มันก็บังคับถึง เข้าไปถึงจิตนู่น มันมีการบังคับที่กายที่วาจานี้ แต่การบังคับนั้นมีผลลึกเข้าไปถึงจิต ขอให้ฝึกไว้เป็นนิสัยอย่างนี้ เรียกว่าการบังคับจิต เป็นเครื่องมือให้ปฏิบัติวินัยได้โดยสะดวก
ทีนี้ข้อต่อไป ก็อยากจะพูดถึง สัจจะ คือความจริง สัจจะ คือความจริงใจ ความตั้งใจ ความอธิษฐานจิต ความปักใจแน่วแน่ อา, นี้ก็เรียกว่า สัจจะ ทั้งนั้น อาศัยความมี สัจจะ นี่เราจะมีวินัยได้โดยง่าย จะปฏิบัติวินัยได้โดยง่าย เพราะว่าเมื่อบวชเราก็พูดกันแล้วว่า บวชนี้เพื่อทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ ก็ขอบรรพชา ขออุปสมบทในท่ามกลางสงฆ์ ล้วนแต่อ้างเหตุผลอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ นี้ถ้าว่ารักษาความสัตย์หรือคำพูด ๆ ที่เป็นคำสัตย์ไว้ได้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร
เดี๋ยวนี้กลัวจะลืมเสียหรือแกล้งลืมเสียซึ่งความสัตย์ คำที่ได้พูดกันเมื่อวันบรรพชาอุปสมบท ขอบรรพชาขออุปสมบท ตลอดถึงความตั้งใจที่จะมาบวชมาบรรพชาอุปสมบท แม้ในระยะอันสั้นนี้ มันมีความตั้งใจอย่างไร ก็ขอให้มันจริงอย่างนั้น เรียกว่าจริงต่อตัวเองอย่างนี้ และจริงต่อญาติโยมบิดามารดาประชาชนอะไรด้วย ประชาชนเขาหวังอยู่อย่างไรในเรานี้ บิดามารดาหวังอยู่อย่างไรในเรานี้ เราก็ต้องเป็นคนจริง เป็นคนสัตย์คนจริง ทำให้ได้ตามที่เขาหวังไว้ นี้เรียกว่าจริงต่อผู้อื่นนะ แล้วเมื่อบวชเข้ามาเป็นภิกษุสามเณรอย่างนี้แล้ว มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างนี้ เราก็ต้องจริงต่อหน้าที่ มีความสัตย์ต่อหน้าที่ต่อเกียรติยศของเราเอง เรียกว่าจริงต่อตัวเองอีกเหมือนกัน
รวมความอยู่ที่นี่ ถ้าจริงต่อตัวเอง ต่อตัวเองแล้วมันจริงไปหมด จริงต่อผู้อื่น จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่ จริงต่ออะไรไปหมดได้ ขอให้จริงต่อตัวเอง แล้วมันก็มีความสัตย์ได้แน่ นี่เกี่ยวกับทางสมาธิ เราก็มีการฝึกจิตอย่างที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ นับแต่มี สติสัมปชัญญะ แล้วก็มี สังวร ทั้ง ปาฏิโมกข์ และอินทรีย์ มี ปหานะ คือละ ๆ ไอ้ของสกปรกที่ กาย วาจา ใจ แล้วก็มีความเห็นว่า โทษทั้งหลายแล้วไม่มีเล็กน้อยเป็นอันตรายทั้งนั้น อาบัติไม่มีเล็กน้อยเป็นอันตรายทั้งนั้น แล้วก็มีความอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลส แล้วมีการบังคับจิต แล้วก็มี สัจจะ ซื่อตรงต่อตัวเอง ซึ่งหมายความถึงว่าจะซื่อตรงต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือต่อผู้อื่นทั้งหมด ต่อหน้าที่ ต่อธรรมวินัย ทั้งหมดนี้มันเป็นการบังคับจิต มันเนื่องกับจิต เพราะฉะนั้นจึงจัดสงเคราะห์ไว้ในหมวดของ จิตตสิกขา หรือสมาธิ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำให้เราเป็นผู้มีวินัย หรือปฏิบัติวินัยได้เป็นอย่างดี นี้เป็นหมวดที่สอง เกี่ยวกับการใช้อำนาจของจิตเป็นหลัก
ทีนี้ถัดไปถึงหมวดที่สาม เราจะใช้อำนาจของปัญญาเป็นหลัก เรียกว่าเอาความหมายหรือประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าปัญญา มาใช้ในการที่จะเป็นผู้มีวินัย ที่เกี่ยวกับปัญญานี้ ข้อแรกที่จะนึกถึงก่อนสิ่งอื่นก็คือ สัมมาทิฏฐิ เราจะต้องสมาทาน สัมมาทิฏฐิ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ถูกต้องอยู่เสมอ มีความคิดเห็นที่ ๆ ถูกต้องอยู่เสมอ ทิฏฐิ แปลว่าความเห็น คือความเห็นของ ๆ ๆ จิตนั่นแหละ จะต้องถูกต้องอยู่เสมอ ถ้าพูดให้สั้นเข้ามาก็คือเห็นอยู่ว่า การทำผิดวินัยนี้มัน ๆ คือความล้มละลาย การรักษาวินัยไว้ได้นั่นคือความรอด คือหนทางแห่งความรอด นี่ถ้า สัมมาทิฏฐิ มันเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว มันก็ ๆ ช่วยได้มาก เพราะว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิต ทีนี้จิตนี้มันขึ้นอยู่กับความเห็นที่ผิดหรือถูก ดังนั้นเดี๋ยว ๆ นี้เรามีความเห็นถูก มันก็เรียกว่ามีต้นเงื่อนที่ถูก มีต้นเงื่อนที่ดี มีรากแก้วที่ดี มันก็เลยเป็นเรื่องที่จะไหลไปแต่ในทางดี
ถ้าเป็นเรื่องทางจิต มันบังคับ มันเจอบังคับ ถ้าเป็นเรื่องทางปัญญา มันไม่เกี่ยวกับบังคับ แต่ว่ามันเป็นการดึงจูง หรือว่าเชิญไป หรือเกลี้ยกล่อมไป โดยไม่เจ็บปวด โดยไม่ ๆ มีการเจ็บปวด ถ้าเป็นเรื่องสมาธิ หรือเรื่องบังคับจิตนั่น มัน ๆ ออกจะโกลาหล วุ่นวาย ตึงตัง หรือเจ็บปวด แต่ถ้าเป็นเรื่องปัญญาแล้ว มันก็แนบเนียน ราบรื่นในการที่จะไหลไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ดังนั้นเราจะต้องสร้างปัญญาหรือ สัมมาทิฏฐิ นี้ให้มันพอ จนถึงกับเป็นกระแสเหมือนกระแสน้ำ ที่มันไหลไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไอ้น้ำที่มันไหลนี่ มันไหลไปหาทะเลทั้งนั้นแหละ เพราะทะเลมันต่ำกว่าทั้งหมด เพราะฉะนั้นไอ้น้ำที่มันไหลตามลำห้วย ลำธาร เอ่อ, คลอง หนอง ไอ้แม่น้ำอะไร มันไหลไปทะเลทั้งนั้นแหละ มันง่ายเห็นไหม เพราะมันไหลไปทางต่ำ
ทีนี้กระแสแห่งปัญญา กระแสแห่ง สัมมาทิฏฐิ นี้มันก็ไหลไปนิพพาน ถ้าเราสร้างขึ้นได้นี่ มันไม่ ๆ ไหลไปอื่น เพราะความรู้มันต้องการจะดีจะดับทุกข์ ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ และมันก็ไหลไปหาไอ้นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุด คือดีที่สุดหรือสูงสุด ดังนั้นกระแสแห่ง สัมมาทิฏฐิ มันจึงไม่ไปอื่น ไปหานิพพาน ถ้ากระแสแห่ง มิจฉาทิฏฐิ นั่นแหละ มันจึงจะไหลเพ่นพ่านไม่มีทิศทาง หรือว่าในที่สุดก็ไปหาความทุกข์ เป็น วัฏฏสงสาร เป็นความทุกข์อยู่เรื่อย นี่แม้เราจะมีวินัย จะเป็นผู้มีวินัย ก็ต้องอาศัยปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ ประคับประคองตนให้อยู่ในกระแสแห่ง สัมมาทิฏฐิ เรื่อย ๆ ไป ก็จะมีวินัยได้โดยราบรื่น แนบเนียน สะดวกสบาย ไม่ต้องเจ็บปวด
นี้ปัญญาข้อถัดไป ก็อยากจะระบุความไม่เห็นแก่ตัวหรือแก่ ๆ ๆ ตัวใน ไอ้ อย่างลึกซึ้ง ความเห็นแก่ตัวนี้รู้จักกันดีทั่วโลก เป็นคำพูดที่พูดกันทั่วโลก คนเห็นแก่ตัวใช้ไม่ได้ คบไม่ได้ ไว้ใจไม่ได้ แต่นั่นเขาจะเล็งถึงไอ้ความเห็นแก่ตัวที่มันเนื่องกับสังคมมากกว่า เดี๋ยวนี้เราไม่เนื่องกับสังคม เนื่องกับตัวเราคนเดียวนี้ จะไม่เห็นแก่ตัว คือจะไม่เห็นแก่กิเลส คำว่าตัวในที่นี้ มันเป็นมายาเหมือนหนวดเต่าเขากระต่าย ไม่มีจริง คือมันเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันทำให้คิดไปว่ามี มีตัวกู มันก็เลยเห็นตัวกู เห็นแก่ตัวกู ก็ทำตามความชอบใจของตัวกูนี้ นี่ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัว มันก็ทำลายตัวนั่นแหละ ทำลายตัวมันนั่นแหละ แล้วก็ทำลายผู้อื่นด้วย ผู้อื่นเขาจึงไม่อยากคบคนเห็นแก่ตัว แต่มันไม่ทำลายแต่ผู้อื่น ทำลายตัวด้วย
กิเลสเกิดขึ้นที่ไหน มันก็ทำลายที่เกิดที่มันเกิดนั่นแหละ กิเลสขึ้น เกิดขึ้นในจิต กิเลสเกิดขึ้นในคน กิเลสขึ้นที่ไหน มันก็ทำลายที่ตรงนั้นแหละ ทำลายจิต ทำลายคน ดังนั้นพยายามที่จะเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว นับตั้งแต่ไม่เห็นแก่ปาก ไม่เห็นแก่ท้อง ไม่เห็นแก่ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง ไม่เห็นแก่ความเคยชินพอใจอะไรของตัวนี้ รวมเรียกว่าความไม่เห็นแก่ตัว เมื่อมีความเห็นแก่ตัว มันก็ทำตามกิเลส แล้วก็ผิดวินัย ทำลายวินัย นี้เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่พระธรรม เห็นแก่ความจริง เห็นแก่ไอ้วินัยในที่สุด ไม่เห็นแก่ตัวแต่เห็นแก่วินัย แก่ระเบียบ แก่ความถูกต้อง ก็เลยเป็นคนมีวินัยขึ้นมาอย่างราบรื่น แนบเนียน สะดวกสบายเหมือนกัน
ทีนี้ข้อถัดไป ก็อยากจะระบุความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี้มันคล้ายกันมากกับความเห็นแก่ตัว แต่ยังอยากจะแยกออกมาเป็นอีกอันหนึ่งซึ่งให้เห็นชัดว่า มัน ๆ มีความหมายของมันอีกอันหนึ่ง ความยึดมั่นถือมั่นที่เรียกว่า อุปาทาน มีอยู่หลายอย่าง ตามที่เราพูดกันคล่องปากก็ กามุปาทาน ยึดมั่นในกามหรือของรักใคร่ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความคิดความเห็นของตัวเอง สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา จนชินอย่างงมงาย จนชินเป็นนิสัยนี่ แล้วก็ยึดมั่นว่าตัวตน สี่ ๆ ยึดมั่นนี้
ยึดมั่นในกาม ในของรักของใคร่ เป็นเหยื่อของกิเลส ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวางอย่างนี้ มันก็รักษาวินัยไว้ไม่ได้ ยึดมั่นในทิฏฐิ คือมานะทิฏฐิ ความคิดความเห็นของตัวว่ากูถูก คนอื่นผิดทั้งนั้น นี่ยึดมั่นในความคิดเห็นของตัวปักดิ่งลงไปอย่างนี้ มันก็เอาวินัยไว้ไม่ได้เหมือนกัน มันเอาความ ๆ เห็นของตัวเสียเรื่อย ไม่รับฟังคำแนะนำตักเตือนสั่งสอน เป็นคนกระด้างหัวแข็งไปเลย ที่ยึดมั่นใน ศีลวัตร ก็หมายถึง ศีลวัตร ที่งมงาย ที่ประพฤติอย่างไม่มีเหตุผล การกระทำชนิดที่โง่งมงายไม่มีเหตุผล แต่ทำมาจนชินเป็นนิสัย จะต้องละเหมือนกัน คือมันมีอยู่มากอย่างที่มันขัดกันกับวินัย แล้ววินัยเขาจะขูดเกลา ให้มันสะอาด ให้มันฉลาด ไอ้ความยึดมั่นนี้มันจะดึงไปหาความโง่ความงมงายอยู่เรื่อย ดังนั้นถ้าเคยถือไสยศาสตร์ ถือไอ้งมงายอะไรมาบ้างแล้วก็ต้องละมันไปเสีย เพื่อเกิดความสะอาดหมดจดขึ้นมา ที่ยึดมั่นด้วยความคิดความสำคัญมั่นหมายว่าตัวตน นี้มันก็อยู่ในพวกเห็นแก่ตัว มีตัวกู รวมสี่ยึดมั่นนี้ เราเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น พยายามกำจัดออกไปเสียให้เกิดเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา มันก็เกิดความสะดวกดายที่จะปฏิบัติวินัย
ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นดั้งเดิมนี้ มันเป็นเหมือนกับว่าอุปสรรคกีดขวางเป็นภูเขาทีเดียว ภูเขาเลากากีดขวางไปไม่รอด คือความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ปัดไปเสีย กวาดทิ้งไปเสีย มันก็เกิดเป็นทางโล่งเตียนเดินสบายขึ้นมา เพราะว่าจิตใจมัน ๆ โล่งจากความผูกมัดรัดรึงกีดขวางปิดกั้น มันก็เดินได้สะดวกไปตามทางของพรหมจรรย์ คือวินัยที่วางไว้เป็นหลักแล้วอย่างไรนี้
ที่อยากจะพูดอันสุดท้ายอีกสักนิดหนึ่ง ซึ่งมันคล้ายกันอีกแหละ เขยิบออกไปเป็นเรียกว่าความมีจิตว่างจากไอ้ตัวกูของกู จิตที่ว่างจากตัวกูของกูมีลักษณะอย่างไร พูดกันมาหลายสิบครั้งแล้ว เอาแต่ใจความสั้น ๆ ก็ว่า เวลานั้นจิตไม่มีความคิดปรุงแต่งชนิดที่เป็นตัวกูของกู ที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว หมายความว่า ใจคอปรกติ โปร่ง โล่ง เยือกเย็น เป็นอิสระ แจ่มใสที่สุดนี้ จิตว่างจากตัวกูของกู ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ก็คือไม่มีความอยากชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามาเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าพูดให้สั้นที่สุดก็แปลว่า คนที่จิต เอ่อ, ที่ใจคอสบายที่สุดนั่นแหละ จะรักษาวินัยได้ดีที่สุด หรือเวลาที่เรามีใจคอสบายที่สุด เป็นเวลาที่เราจะปฏิบัติวินัยได้ดีที่สุด จะมีใจคอสบายที่สุดได้ก็เฉพาะเมื่อจิตมันว่างจากการปรุงแต่งแห่ง อ่า, ของตัวกูของกู ถ้ามันมีการปรุงแต่งในจิตเกิดเป็นตัวกูของกูแล้ว มันไม่มีว่าง มันมีวุ่น มันมีกลัดกลุ้มหม่นหมอง คือไม่โปร่ง ดังนั้นพยายามให้มีจิตใจโปร่ง เป็นการว่างอย่างชั่วคราวชั่วขณะก็ ๆ ยังดี ยังใช้ได้ ไอ้จิตมันจะว่างเป็นการถาวรนั้น มันมีแต่พระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้ว ทีนี้เราเมื่อมันเมื่อ ๆ ไม่เป็นพระอรหันต์ ก็มีจิตว่างสักบางคราวบางเวลา เป็นระยะ ๆ ๆ แต่เมื่อใดจิตว่าง เมื่อนั้นจะโปร่งสบาย จะเห็นวินัยเป็นของน่าถนอมให้บริสุทธิ์ผุดผ่องทีเดียว
นี้เราก็พยามทำให้จิตใจมันโปร่ง ให้ใจคอมันสบาย ให้มันมีจิตที่เรียกว่าจิตว่างจากตัวกูนี้เรื่อย ๆ ไปเถิด มันว่างเอง มันน้อยนัก เราขยายไอ้ความว่างนั้นมันยาวออกไป ถ้าพูดอย่างภาษาง่าย ๆ ธรรมดาก็ว่า ทำให้ใจคอนี้มันสบาย ว่าง โปร่ง นาน ๆ หลาย ๆ ชั่วโมงออกไป เวลานั้นเป็นเวลาที่มันรักความดี รักความถูกต้อง หรือสนุกสนานไปในความถูกต้อง มันเป็นความถูกต้องไปเสียเองในตัว คือจิตที่ว่างจากตัวกูของกูนี้ เป็นความว่างที่มีความสบายสนุกสนานไปในตัว มีความพอใจใน ๆ ตัวมันเอง ในตัวความว่างนั้นแหละ จนไม่ไปทำผิดอะไรได้ จนไม่เกิดความคิดที่จะไปทำผิดอะไรที่ไหนได้ นี้ถ้าใครเป็นคนที่นิยมเรื่องจิตว่าง ก็อาศัยหลักนี้เพียงหลักเดียวก็คุ้มครองได้หมด มันจิตมันว่างโปร่งสบายอยู่เสมอ มันไม่มีทางผิดวินัยได้
นี่เท่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างสักสี่อย่างนี้ว่า ความเห็นชอบหรือ สัมมาทิฏฐิ ก็ดี ความไม่เห็นแก่ตัวก็ดี ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ดี มี อ่า, ความมีจิตว่างก็ดีนี้ มันเป็นพวกปัญญาทั้งนั้นแหละ เขาจัดไว้ในสายแห่งปัญญา ในกลุ่มแห่งปัญญา คือมีความรู้จริงแล้วก็ครบถ้วน เรียกว่าปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ว่าที่จริงถ้ามีปัญญาถูกต้องสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว มันมีเพียงสิ่งเดียวก็ ๆ พอ มันไม่ต้องพูดถึงศีล ไม่ต้องพูดถึงสมาธิก็ได้ เพราะว่าถ้ามีปัญญาจริงแล้ว มันดึงเอาอื่น ๆ มาหมดได้ แต่นี่เราพูดมาเป็นลำดับ ในกลุ่มศีล ในกลุ่มสมาธิ แล้วมายังกลุ่มปัญญา เพราะว่าเรายังไม่มีปัญญาชนิดนี้ เราจึงสร้างรากฐานมา จากศีล จากสมาธิ แล้วก็มา ๆ มีปัญญาชนิดนี้ นี้ถ้าผู้ใดสามารถจะมีปัญญาชนิดนี้ขึ้นมาได้ มันก็ได้ ก็หมดเท่านั้นเอง มันจะดึงศีล ดึงสมาธิ ดึงอะไรมาทุกอย่าง
ในพุทธศาสนานี้ถือหลักกันว่า ปฺา หิ เสฏฺา กุสลา วทนฺติ นกฺขตฺตราชาริว ตารกาน ผู้รู้กล่าวปัญญาว่าประเสริฐที่สุดกว่าธรรมทั้งปวง เหมือนดวง ๆ จันทร์เด่นกว่าดาวทั้งหลายนี่ สีล สีรี จาปิ สตฺจ ธมฺโม ก็เรียกว่าไอ้ทุก ๆ อย่าง เช่นศีล เช่นสิริ คือว่าธรรมใด ๆ ก็ตามที่เป็นของสัตบุรุษนั้น ย่อมเป็นไปตามอำนาจของบุคคลผู้มีปัญญา ถ้า ๆ เขามีปัญญา เขาก็หาสิ่งเหล่านี้ได้หรือสิ่งเหล่านี้มาหาเขาเอง แต่เดี๋ยวนี้เรามันมีปัญญาถึงขนาดนั้นไม่ได้ ก็เลยสร้างกันมา เคียงคู่กันมากับศีลกับสมาธิ เมื่อศีลดีขึ้นสมาธิก็มากขึ้น สมาธิมากขึ้นปัญญาก็มากขึ้น ปัญญามากขึ้นก็ไปทำให้ศีลมากขึ้น ให้สมาธิมากขึ้น แล้วปัญญาก็มากขึ้น ปัญญามากขึ้นอีกก็ไปทำศีลสมาธิให้มันมากขึ้นอีก มัน ๆ หล่อเลี้ยงกันไปในตัวอย่างนี้ แต่เขายกปัญญาเป็นยอด เป็นประธาน หรือเป็นประเสริฐที่สุด ผมจึงเอามาพูดด้วย
ทีนี้รวมความหมดนี้ก็ว่า เราจะปฏิบัติวินัยโดยอาศัยหลักในกลุ่ม สีลสิกขา เราก็ปฏิบัติด้วยความสำรวมระวัง อยากได้อานิสงส์ของวินัย บังคับให้เคารพซื่อตรงต่อตัวเอง มีความละอาย ความกลัว เห็นแก่พระรัตนตรัยนี้เป็นเบื้องต้น แล้วก็มาถึงกลุ่มสมาธิก็มี สติสัมปชัญญะ มี สังวร มี ปหานะ มีความเห็นโทษทั้งหลายเป็นของไม่เล็กน้อย มีความอดทน มีการบังคับจิต มี ๆ สัจจะ แล้วในที่สุดเราก็มีความเห็นชอบ มีความไม่เห็นแก่ตัว มีความไม่ยึดมั่นถือมั่น มีจิตว่างจากตัวกูอยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้เป็นวิถีทางที่จะทำให้คนเรามีวินัย ทั้งวินัยที่บ้าน วินัยในครอบครัว วินัยในออฟฟิศทำงาน วินัยทหาร วินัยพลเรือน วินัยอะไรก็ตามใจ จนกระทั่งมาถึงวินัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์เหล่านี้ คนเราจึงจะมีวินัยได้โดยสนุกสนานรื่นเริง ไม่อึดอัดขัดใจ ไม่หม่นหมอง ไม่เป็นการจำยอมจำทนอะไรเลย กลับเป็นความสุขอยู่ในการปฏิบัติรักษาวินัยนั้นเอง สิ่งที่คนอื่นเห็นเป็นความทุกข์ก็รังเกียจ คือระเบียบวินัยแล้ว เขารังเกียจกัน เขาไม่อยากนั่น ไม่อยากจะถือ เรากลับรู้สึกเป็นสุขสนุกสนานพอใจในการถือ ก็มีวินัยได้โดยง่ายอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เรียกว่าวิธีการปฏิบัติวินัย เพื่อให้มีวินัย นี่เป็นเรื่องที่ ๓ ที่เอามาพูดให้ฟังเกี่ยวกับวินัย
แล้วก็พอกันทีสำหรับวันนี้