แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาติโมกข์ของเราเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เป็นการพูดเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ในทุกแง่ทุกมุม ในวันนี้จะได้พูดโดยหัวข้อว่า โมหะ คือ ตัวกูที่รู้จักยากที่สุด ตัวกูที่อยู่ในรูปของ โลภะ รู้จักง่ายกว่า ยิ่งตัวกูที่อยู่ในรูปของ โทสะ ก็ยิ่งรู้จักได้ง่ายกว่าคือ เรารู้จักว่าเมื่อไรเรามีความโลภ หรือราคะนี้, เมื่อไรเรามี โทสะ หรือ โกธะ นี้ มันง่ายกว่าที่จะรู้ว่าเมื่อไรเรามี โมหะ ตัวกูที่อยู่ในรูปของ โมหะ รู้จักยาก มองเห็นยากกว่าตัวกูที่อยู่ในรูปของ โลภะ หรือ โทสะ ฉะนั้นวันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องของตัวกูที่อยู่ในรูปของ โมหะ จึงพูดว่า โมหะ คือ ตัวกูที่รู้จักยากที่สุด เมื่อพูดอย่างนี้ก็อาจจะนึกไปถึงไอ้คำที่เราพูดกันอยู่เสมอๆ และเข้าใจง่ายที่สุดว่า คนบ้าก็ยากที่จะรู้ว่าตัวเองบ้า, คนเมาก็ยากจะรู้จักว่าตัวเองเมา มันอย่างนั้น ฉะนั้น โมหะ เมื่อมี โมหะ ก็ยากที่จะรู้จักว่าตัวเองมี โมหะ เราจึงถือว่า โมหะ เป็นตัวกูที่รู้จักยากที่สุด นี่เราก็ตั้งข้อสังเกตในสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ โมหะ
โมหะ ในภาษาไทยไม่ใช่ โมหะ ในภาษาบาลี, โมหะ ในภาษาไทยไม่ใช่ โมหะ ในภาษาบาลี คนไทยพูดว่า โมโหโทโส โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ น่ะ เมื่อพูดว่า เขาโมโห ก็หมายถึง เขาโกรธนั่นเอง เขาโมโห มันก็อย่างเดียวกับโทโส โมโหโทโสเลยเป็นอันเดียวกันไป นี่ภาษาไทยทำยังไงกันก็ไม่ทราบให้ โมหะ เปลี่ยนความหมายเป็นโทสะ เป็น โมโหโทโสเหมือนกันเสียสองอย่าง หรือว่าแม้ว่ามันจะต่างกันนิดหนึ่งนี่ในภาษาไทยนี้ แต่มันก็ไม่ใช่ โมหะ ในภาษาบาลี ซึ่งมันหมายความอย่างอื่น ในภาษาไทยหมายถึง ไอ้ความโกรธอย่างมุทะลุดุดันอย่างหน้ามืด ทีนี้ที่รองลงมาเรามักจะพูดกันแม้ในวัดในวา นี่ โมหะ คือ ความหลงไหลมัวเมา นี่พิจารณาดูให้ดีเถอะไอ้ความหลงไหลมัวเมามันกระเดียดไปทาง โลภะ หรือ ราคะ เพราะไปหลงไหลในของรักของพอใจมัวเมาในของรักของพอใจนี้ มันเป็นในทาง โลภะ หรือ ราคะ ไม่ใช่ความหมายของ โมหะ โดยตรง ที่เราไม่รับผิดชอบ, พูดกันอย่างไม่รับผิดชอบ, สอนกันไปอย่างไม่รับผิดชอบ โมหะ คือ ความหลงไหลมัวเมา ถ้าเอากันไว้แต่ความหลง จะถูก, จะถูกกว่า ถ้าหลงไหลมัวเมาแล้วผิดไปได้, ถ้าหลงไหลมัวเมามันไปเรื่องทางรักทางพอใจ นี้โมหะ คือ ความหลงนี่หลงอะไรก็ยังไม่รู้นะ นั่นนะจะถูกต้องตามความหมายของคำว่า โมหะ ทีนี้เรา, รวมทั้งผมเองด้วย ก็มักจะพูดว่า โมหะ คือความโง่ นี้มันก็ไม่ปลอดภัยหรือไม่ถูก เพราะคำว่า ความโง่ มีความหมายเฉพาะอย่างอื่นเช่น คนไม่เรียนหนังสือก็ไม่รู้หนังสือจะว่าเขาโง่ ถ้าโง่อย่างนี้ไม่ใช่ โมหะ หรือเขาโง่เพราะสมองชำรุดไม่ปกติมาแต่กำเนิด เขาโง่อย่างนี้, โง่อย่างนี้ไม่ใช่ โมหะ ฉะนั้นการที่พูดว่า โมหะ คือ ความโง่ มันก็ยังไม่ค่อยจะถูกต้อง ถ้า โมหะ คือความโง่ มันก็ต้องเป็นความหลงชนิดใดชนิดหนึ่งที่เกี่ยวกับที่ว่า ตามธรรมดาก็ไม่ควรจะโง่, ไม่ควรจะหลง หรือจะพูดให้ชัดออกไปอีกว่า โมหะคือหลงไม่รู้จริง อย่างนี้มันก็ยังผิวเผินอยู่นั่นละคือ รู้ไม่จริงเป็น โมหะ นี้ แต่ก็มีความหมายที่ดีขึ้น โมหะ คือ หลง, หลงคือ ไม่รู้จริง นี่เพราะฉะนั้นไอ้คำว่า โมหะ นี้มันเข้าใจยาก ถ้าจะพูดว่า โมหะ เป็นความมืดคือ ไม่เห็นอะไรเสียเลยอย่างนี้มันก็ไม่ถูก มันยังมีเห็นผิด, เห็นผิดๆ มันไม่ได้มืดหมด แต่มันเป็นแสงสว่างที่ลวง ที่พูดนี้ก็เพื่อต้องการจะให้ทุกองค์สังเกตให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า โมหะ นั่นเอง
ผมเคยพูดให้เป็นหลักเท่าที่จะทำได้ เกี่ยวกับ โลภะ, โทสะ, โมหะ นี้ให้เป็นหลักง่ายๆ ตามธรรมชาติว่า โลภะ หรือ ราคะ นั้นน่ะคือ ความรู้สึกที่จะเอาเข้ามาดึงเข้ามาหา เพราะรักเพราะต้องการ ส่วน โทสะ หรือ โกธะ นั้น เป็นความรู้สึกที่มันจะผลักออกไป หรือจะทำลายเสีย อันโน้นเป็นเอาเข้ามา, อันนี้ผลักออกไป ไอ้ตัว โมหะ นี้มันไม่ใช่อย่างนั้นทั้งสองอย่างคือ ไม่รู้ว่าอะไรแน่ เพราะฉะนั้น มันจึงลังเลสนใจอยู่ด้วยความลังเล ก็คล้ายๆ กับว่าเวียนอยู่รอบๆ ไม่รู้ว่าจะเอาเข้ามา หรือจะผลักออกไป นี่อาการของ โมหะ เป็นอย่างนี้ ถ้าพูดอย่างภาษาวิทยาศาสตร์ หรือจิตวิทยา ไอ้ โลภะ หรือ ราคะ นี้มันเป็นไปในทาง optimistic คือ มันหวังไปในทางรัก, ทางดี, ทางอุ่นใจจะเอาเข้ามา ไอ้ โทสะ, โกธะ นี้มันเป็น pessimistic เช่น หวังร้าย, มันมองในแง่ร้าย, มันประทุษร้าย ส่วน โมหะ นั้นมันไม่ใช่ทั้งสองอย่างคือ มันไม่รู้อย่างไรแน่ แล้วมันจึงเป็นแต่ความทึ่ง หรือความสนใจ หรือความระแวง หรือความลังเล หรือความสงสัย นี่คุณลองคิดดูสิว่า ความลังเลระแวงนี่มันเป็น โลภะ หรือเป็น โทสะ มันไม่ใช่ทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้นมันจึงเหลือมาสำหรับเป็น โมหะ ฉะนั้นถ้าจะเข้าใจ โมหะ ให้ดีให้ง่ายแล้ว ก็ให้ศึกษาจากเรื่องที่เกี่ยวกับ นิวรณ์ ทั้ง ๕
เราจะพูดถึงเรื่อง นิวรณ์ ทั้ง ๕ เพราะมันเป็นหลักสำหรับการเจริญสมาธิว่า เราจะต้องเจริญสมาธิโดยตัด นิวรณ์ ออกไปทั้ง ๕ ฉะนั้นคำว่า นิวรณ์ ทั้ง ๕ นี้ คงจะเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปในหมู่นักสมาธิไม่ว่าในพุทธศาสนาหรือนอกพุทธศาสนา ก็ยังแถมจะรู้จักกันมาก่อนพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นสั่งสอนเช่นเดียวกับเรื่อง ขันธ์ ๕ เรื่อง ธาตุ ๔ หรืออะไรทำนองนี้ เรารู้กันมาแล้วก่อนพระพุทธเจ้าพูดกันอยู่แล้วเป็นอย่างนั้น แต่มันพูดไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ทีนี้ นิวรณ์ ทั้ง ๕ นี้ ก็คงเป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้วตามประสาของผู้ที่ต้องการมีจิตสงบ ไอ้ นิวรณ์ ทั้ง ๕ มันรบกวน ฉะนั้นจึงพูดเรื่อง นิวรณ์ ทั้ง ๕ นี้เป็นปัญหา, เป็นตัวปัญหาที่ทำให้ต้องเจริญสมาธิ เจริญสมาธิเพื่อจะขจัด นิวรณ์ ออกไป ฉะนั้นเราดูที่ นิวรณ์ ๕ ที่มันมีอยู่เป็นลำดับนั่นละจะรู้จัก โลภะ, โทสะ, โมหะ ได้ง่ายขึ้น
นิวรณ์ ที่ ๑ คือ กามฉันทะ รักพอใจในสิ่งที่น่ารัก กามะ แปลว่า น่ารักน่าใคร่, ฉันทะ แปลว่า พอใจ, กามฉันทะ แปลว่า พอใจในสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ นี่ก็เป็น โลภะ หรือ ราคะ
นิวรณ์ ที่ ๒ พยาบาท นี่คือความโกรธ หรือความโทสะ หรือประทุษร้าย มันก็เป็นไอ้พวกโทสะ หรือ โกธะ
ทีนี้มันเหลืออยู่อีก ๓ ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ, วิจิกิจฉา อีก ๓ นี้นั่นหน่ะ มันคือ ไอ้พวกโมหะ, ถีนมิทธะ นี่, ความซึมเซา, ง่วงงุน, ซึมเซา, ละเหี่ยละห้อย, ละห้อยละเหี่ย คือ มันยุบลง เรียกว่าถีนมิทธะ ความซึมเซาละเหี่ยละห้อย ที่นี้ไอ้ อุทธัจจกุกกุจจะ นั้น มันตรงกันข้ามคือ มันฟุ้ง, ฟุ้งไปทางรำคาญ นี่, ฟุ้ง, ฟุ้งซ่าน, รำคาญ เขาเรียกอย่างนี้ ทีนี้ วิจิกิจฉา ก็คือ ลังเลสงสัย ไอ้ ๓ อันท้ายนี้ เห็นชัดได้แล้วว่าไม่ใช่ โลภะ และไม่ใช่ โทสะ มันยังไม่อยู่ในรูปนั้นไม่ถึงขนาดนั้น นี่มันจึงเป็น โมหะ ที่อื่นเขาอาจจะอธิบายเป็นอย่างอื่นก็ได้ นี่ให้รู้ไว้ว่า ผมอธิบายอย่างนี้ แล้วเมื่ออยากจะรู้จัก โมหะ ก็จงพยายามรู้จักสิ่งที่เรียกว่า นิวรณ์ ที่เกิดอยู่กับจิตใจเป็นประจำวันนั่นนะ แล้วไอ้ โมหะ นี่ จะประจำวันมากกว่าใครๆ เสียด้วย ไอ้ ถีนมิทธะ นี่, ซึมเซา, ละห้อยละเหี่ยนี่ บางทีก็ไม่มีความหมายไม่มีเหตุผล ไม่รู้เรื่องอะไรตื่นนอนขึ้นมาก็ละห้อยละเหี่ยเสียแล้ว ทีนี้ความฟุ้งซ่านนั้นนะอย่างที่ทำให้นอนไม่หลับ มันคิดมากไป ก็ไม่รู้ว่าไปทางไหนฟุ้งซ่านรู้สึกรำคาญ นี่คือ โมหะ หลง หรือไม่หลงลองคิดดู ไอ้ วิจิกิจฉา จะแปลว่า ลังเล ก็ได้, จะแปลว่า สงสัย ก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน ไอ้เราสงสัยก็ทำให้ลังเล, ลังเลเป็นผลของการสงสัย นี่มันเป็นความหลงที่อยู่ในรูปของอะไร ทีนี้ไอ้ความลังเลสงสัยนี่ ต้องมองให้ละเอียดนะ เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลไม่มีความหมายนะเช่น ที่คุณมีความรู้สึกอยู่อย่างนี้พอนึกถึงเรื่องอนาคตของชีวิตก็ลังเลก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี, จะบวชอยู่ดี หรือจะสึกออกไปดี มันเป็นเรื่องที่มืดมน และทำให้ไม่แน่ว่าจะเอาอย่างไร นี้ก็เรียกว่าเป็น โมหะ ฉะนั้นการที่เราจะแปลคำว่า โมหะ ว่าความหลงลุ่นๆ อย่างนี้มันไม่พอ
ฉะนั้นถ้าใครเก่งใครฉลาดในทางภาษา ก็ขอให้ช่วยเอาไอ้คำสามคำ คือ ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ, วิจิกิจฉา รวมกันเข้า แล้วแปลความหมายเป็นภาษาไทยมาสั้นๆ ว่าอย่างไร ในที่สุดก็อาจจะต้องแปลว่า หลง, หลงอยู่ดี เพราะไม่มีคำอื่นที่นึกออก นั่งซึมเซาละห้อยละเหี่ยอยู่มันก็หลง ไอ้คนหลง, ฟุ้งซ่าน, ใจคอฟุ้งซ่านไปนี่ มันก็หลง, สงสัยลังเล, สลัวไปหมด นี้ก็ไอ้หลง เพราะมันจะเอาไปคล้ายความโลภ หรือความโกรธไม่ได้ มันก็เลยเกิดเป็นความหลง แล้วถ้าพูดแต่หลงสั้นๆ ในภาษาไทยมันหมายไปอย่างอื่น มันมีความหมายที่แคบไม่ครอบคลุมทั้ง ถีนมิทธะ, อุทธัจจจะกุกกุจจะ, และ วิจิกิจฉา ได้ ทีนี้เมื่อเราไม่มีคำอื่นที่ดีกว่า เราเอาคำว่า ความหลง แต่ว่าเราขยายความหมายไปอย่างนี้, ไม่รู้จริง, หลง, ไม่รู้จริง ทีนี้ถ้าไม่รู้จริงมันจะมาง่วงนอนอยู่อย่างไรได้ ถีนมิทธะ เช่น ง่วงนอน, ซึมเซา, มึนชา, ง่วงงุน แม้กระทั่งขี้ง่วงขี้นอน ก็เป็น นิวรณ์ ตัวนี้ พอเอ้า, ทำสมาธิลงมือกำหนดอารมณ์ อ้าว, มันก็ง่วงเสียแล้วสัปหงกเสียแล้ว นี่เรียกว่า ถีนมิทธะ ก็เรียกว่า ความหลง, ไม่รู้จริงอย่างนี้ มันก็เป็นความหมายที่จำกัดที่บัญญัติไว้เฉพาะ, เป็นศัพท์บัญญัติเฉพาะไปเลย นี่ผมมองเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงเอามาพูดในฐานะที่ว่า โมหะ นี้คือ ตัวกูที่เข้าใจได้ยากรู้จักได้ยาก ถ้าใครอยากจะรู้จัก ก็พยายามศึกษาในเรื่องอันเกี่ยวกับ นิวรณ์ ๕ ประการ แยก โลภะ หรือ ราคะ ออกไปชัดๆ เป็น กามฉันทะ แล้วก็แยก โทสะ หรือ โกธะ ออกไปชัดๆ ในนามของคำว่า พยาบาท และก็เอา ๓ อย่างที่เหลือนั้นเป็น โมหะ พอรู้ตรงนี้ก็คุณจะสะดุดอีกล่ะ เข้าใจได้ด้วยตนเองก็ได้ สะดุด และเข้าใจได้ด้วยตนเองก็ได้ว่า พยาบาทนั้นน่ะ ในภาษาไทยไม่มีความหมายเหมือนกับในภาษาบาลี เช่นอย่างนี้เป็นต้น พยาบาท, ในภาษาบาลีมันกลายเป็นความหมายกลางๆ, อย่างนี้เป็น โทสะ, โกธะ อย่างนี้ได้ แต่พยาบาทในภาษาไทยหมายความว่า จองเวรจองร้าย, เฉพาะ, แคบเข้ามา นี่คำมันแทนกันได้อย่างนี้แล้วมันเปลี่ยนไปในรูปนั้นรูปนี้ แม้จะอยู่ในภาษาบาลีล้วนๆ ก็ทำความยุ่งยากลำบากพอตัวอยู่แล้ว พอเปลี่ยนเป็นภาษาไทยยิ่งเปลี่ยนไปใหญ่เลยเช่นคำว่า ความพยาบาท นี่หมายถึง จองล้าง, จองเวร, อาฆาต ไม่เพียงแต่ว่าความหมายเป็น ประทุษร้าย หรือว่าโมโห นี่ในภาษาบาลีอย่างหนึ่ง พอมาเป็นภาษาไทย กลายเป็นอีกอย่างซึ่งไม่ใช่เลย เหมือนที่พูดแล้ว เป็นต้น
ทีนี้ไอ้ความลำบากอยู่ตรงไอ้ ไวพจน์ หนังสือมันเขียนทีหลังก็ขยายออกไป, ขยายออกไป อยากจะให้สมบูรณ์, เขียนหนังสือในรูปของอักษรศาสตร์เอาไวพจน์ต่างๆ มา นี่แม้ในพระไตรปิฎก มันก็มีไอ้การเขียนอย่างนี้ เขาเรียกว่า ไวพจน์, วิวัจจนะ ไวพจน์คือ คำที่แทนกันได้ที่เรียกว่า synonym ไอ้ไวพจน์นี่ทำยุ่ง เมื่อพูดถึงคำว่า โมหะ อย่างนี้ ไวพจน์ของ โมหะ ก็มี ตมะ มีกระทั่งทุกอย่างกระทั่งอวิชชา, อวิชชา เป็นไวพจน์ของ โมหะ นี่ทำให้คนศึกษาเวียนหัวปวดหัว และยุ่ง ที่แท้ที่จริงนั้น อวิชชา เป็นที่เกิดของ โมหะ และเป็นที่เกิดของ โลภะ และ โทสะ ด้วย เพราะมี อวิชชา จึงเกิด โลภะ, โทสะ, โมหะ ถ้าไม่มี อวิชชา จะเกิด โลภะ, โทสะ, โมหะ ไม่ได้ ฉะนั้นการเอา อวิชชา เป็น synonym ไวพจน์ของโมหะนี้ มันทำให้ยุ่งเลยต้องแบ่งเป็นว่า โมหะ ในความหมายอื่นไปเลย โมหะ ในความหมายที่เป็น อวิชชา ไปเลย ให้ โมหะ มีความหมายเป็น อวิชชา คือ ปราศจากความรู้ไปหมด แล้วโมหะก็ทำให้เกิดความโลภ, ความโกรธ, ความหลง ขึ้นมาอีก อย่างนี้มันก็ยุ่งกันใหญ่เท่านั้นละ
ฉะนั้นตัวหนังสือหรือพระคัมภีร์ชั้นหลังมันก็ทำยุ่งกันใหญ่คือ อธิบายไปตามอัตโนมัติ และทางอักษรศาสตร์, ตรงกันบ้าง, ไขว้กันบ้าง ถ้าจะถือเป็นหลักสำหรับปฏิบัติแล้วให้ถือว่า อวิชชา นั้นไม่ใช่ โลภะ, ไม่ใช่ โทสะ, ไม่ใช่ โมหะ แต่ว่ามันเป็นต้นตอที่มาที่เกิดของ โลภะ, โทสะ, โมหะ ถ้าจิตปราศจากความรู้, ปราศจากสติสัมปะชัญญะเป็น อวิชชา อยู่ในขณะนั้นแล้ว มันจะเป็นเหตุให้เกิด โลภะ ก็ได้, โทสะ ก็ได้, โมหะ ก็ได้, อย่างใดอย่างหนึ่งตามสิ่งที่มันเป็นเหตุที่มันเป็นปัจจัยอยู่ในขณะนั้น ให้ถือความหมายของ อวิชชา อย่างนี้ และก็ไม่ไปปนกับ โมหะ ทั้งที่ในคัมภีร์มันเขียนไว้ ว่า โมหะ, ตมะ, อวิชชา นี้มันเป็นของแทนกันได้ และยังมีอีกยาวเป็นหางว่าวเลยเช่น อญาณะ, อทัศนะ อะไรต่างๆ เวียนหัวไปหมด เป็นแต่เพียงตัวหนังสือ, ทางหนังสือ เพราะทางปฏิบัติก็ต้องแยกออกให้ชัดกันเสียทีเดียวว่า อวิชชา นั้นเป็นต้นตอใหญ่ของทั้งหมดของกิเลสทั้งหมด และมันคลอดออกมา ทำให้คลอดออกมาเป็น โลภะ บ้าง, โทสะ บ้าง, โมหะ บ้าง อย่างนี้ก็ไม่ปนกัน และมันอยู่กันคนละที และมันก็พึ่งเกิดด้วยกันทั้งนั้น เรื่อง โมหะ นี่ มันทำยุ่งอย่างนี้คือ บางทีมันเอาไปยืมไปใช้เป็นคำแทน อวิชชา ก็มี ถ้าตรงนั้นมันเป็นกาพย์กลอน, ถ้าข้อความตรงนั้นมันแต่งเป็นกาพย์กลอนคือ คาถา, คือ ต้องการสัมผัสต้องการ ครุ, ลหุ มันก็เปลี่ยนแทนกันได้ นี่เราไม่รู้เท่าเรื่องนี้แล้วก็ยุ่งเวียนหัว ไอ้เรื่องที่ว่า กิเลส แล้วเพิ่งเกิดนี้ ขอให้ช่วยจำกันไว้ด้วยถ้าพูดว่า กิเลส นอนเนื่องอยู่ในสันดาน, เกิดอยู่ในสันดาน, ติดต่อกันไปในสันดาน อย่างนี้เป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็น สัสตทิฏฐิ แม้ อวิชชา ก็เพิ่งเกิด นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ เมื่อตาเห็นรูป, หูกระทบเสียง เป็นต้น แล้วปราศจากสติสัมปชัญญะ, ปราศจากความรู้นั้น อวิชชา ก็เกิด ก็ทำให้เป็นความโลภบ้าง, ความโกรธบ้าง, ความหลงบ้างแล้วแต่เรื่องของมัน ฉะนั้นการที่จะถือว่าเด็กคนหนึ่งมันไม่รู้หนังสือ แล้วมันเป็นโง่, เป็น อวิชชา หรือเป็น โมหะ อยู่ตลอดกาลอย่างนี้ เป็นคำพูดที่ใช้ไม่ได้ในทางภาษาธรรมจะไม่เรียกอย่างนั้นว่า โมหะ หรือ อวิชชา นะ เพราะเขายังไม่ได้เรียนหนังสือ ก็เพราะว่า เขาได้เห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรสอะไรก็ตามนี่ ถ้ามันโง่ไปก็ไม่มีสติสัมปชัญญะ หรือปัญญา มันก็ไม่รู้สิ่งนั้นตามที่เป็นจริง แล้วมันไปนึกรักเข้าด้วย อวิชชา นั้น หรือไปเกลียดเข้าด้วย อวิชชา นั้น หรือมันไปด้อมๆ มองๆ อยู่ด้วย อวิชชา นั้น อันนี้จึงเรียกว่า โมหะ หรือเป็นความโง่ของมันแล้วแต่กรณี ฉะนั้นเพียงแต่ไม่รู้หนังสือยังไม่ได้เรียนหนังสือจะปรับให้เป็น โมหะ หรือ อวิชชา อยู่ตลอดกาลอยู่ในสันดานอย่างนี้ไม่ได้ มันคนละภาษาทีเดียว, นี่ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ ที่แล้วแล้วมา หรือเวลาที่แล้วแล้วมาเราก็ปล่อยไว้อย่างหลวมๆ ให้เข้าใจไปตามที่พูดจากันอยู่ เดี๋ยวนี้ผมเห็นว่า อย่างนี้มันไม่ได้แล้วจะปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว ก็ค่อยๆ พูด, ก็ค่อยๆ พูดทีละเรื่องทีละอย่างให้เข้าใจชัดเฉพาะขึ้นๆ ให้มันแยกจากกันไป และเข้าใจได้ดี จึงพูดว่า โมหะ นี่คือ ตัวกูที่เข้าใจได้ยากยิ่งกว่าตัวกูที่อยู่ในรูปของ โลภะ ในรูปของ โลภะ หรืออยู่ในรูปของโทสะ
เอาละทีนี้จะพูดถึงไอ้อาการที่มันแสดงออกที่เป็นความทรมานแผดเผา นี่ขึ้นชื่อว่า กิเลส แล้วก็เป็นไฟ ก็เรียกว่า ราคัคคิ, โทสัคคิ, โมหัคคิ ไฟคือ ราคะ, ไฟคือ โทสะ, ไฟคือ โมหะ เป็นไฟแล้วก็ต้องเผา นี่ โลภะ หรือ ราคะ เผาอย่างไรนี้, แทบจะรู้จักกันคำว่า หิวเป็นเปรตนี่เผาอย่างนี้ แล้วคนก็มี ราคะ, โลภะ อยู่บ่อยๆ จึงรู้จักมันดีว่ามันเผาอย่างไร, เผาหัวใจอย่างไร ทีนี้ โทสะ ความโกรธ หรือความประทุษร้ายความไม่ชอบอันนี้เกิดขึ้น ก็เผาเห็นได้ชัด เพราะเมื่อเราโกรธอะไร หรือโกรธใครก็ตามมันร้อน, ร้อนระอุไปทั้งตัวนี่มันเผา แต่พอมาถึง โมหะคิ ไฟคือ โมหะ มันเผาอย่างไรลองว่ามาดูซิ เพราะฉะนั้นจะต้องไปดู หรือไปสังเกตในขณะที่มันมี โมหะ อย่างถูกต้องที่ไม่ปนเปกันยุ่ง ที่เห็นได้ชัด ง่ายๆ ก็เช่น ความกลัว ความกลัวมันเผาอย่างไร, ความสะดุ้ง, ขนลุกซ่านี้ มันเผาอย่างไร, ความหวาดระแวง มันเผาอย่างไร, ความสงสัยลังเลมันเผาอย่างไร
ทีนี้มันปรุงขึ้นมาได้ง่ายๆ เช่น นอนหลับอยู่ ก็ตื่นขึ้นมาก็ละเหี่ยคล้ายๆ กับว่า คืนนั้น subconscious ทั้งหมด คิดนึกอะไรอยู่ แล้วก็มีความหวาดกลัว, ความระแวง, ความวิตกกังวลอะไรอยู่ พอตื่นขึ้นมาก็ละเหี่ยแล้ว หรือที่มันเร็วกว่านั้นว่า พอนิมิตแห่งความเสียหายมาเช่นว่า จะเสียชื่อเสียงอย่างล้มละลาย หรือว่าจะต้องตาย เพราะไอ้แว่วมาเท่านั้นละมันก็วูบไปทั้งตัว ขอให้สังเกตกันให้ดีๆ แม้แต่เพียงความคิดมันน้อมไปอย่างผิดๆ นั้นน่ะ โดยเข้าใจไปว่า จะฉิบหายกันคราวนี้ละโว้ย หรือจะตายตอนนี้ละโว้ยมันก็วูบไปทั้งตัว ก็เผาอย่างนั้น นั่นล่ะคือ การเผาของมัน ยิ่งคนที่เป็นโรคเส้นประสาทแล้ว มันจะยิ่งเห็นง่าย และสะดุ้งหวาดเสียวเร่าร้อนอยู่ตลอด, ตลอดเวลา ตัวเกิดเรื่องนั้นเรื่องนี้, เกิดเรื่องนี้เรื่องโน้นติดต่อกันไปอย่างนั้น ขอให้สังเกตให้ละเอียดที่สุดจนว่าบางทีเราทำไมจึงรู้สึกวูบในหัวใจ ยังไม่มีเรื่องอะไรเกิดมากมาย แต่ระแวงไปว่า อะไรมันจะผิดจะเสียหายเท่านั้นน่ะ หรือได้ยินข่าวร้ายมาเท่านั้นน่ะก็วูบกันหมดแล้ว บางคนเป็นเอามากๆ พอได้รับจดหมายไปรษณีย์ฉบับ ไม่ทันฉีกซองใจวูบแล้ว เพราะไอ้นี้ต้องเป็นอย่างนั้น, วูบเอามากๆ เพราะมันเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น นี่ความเผาของ โมหัคคิ ฉะนั้นมันเผามากกว่า, รุนแรงกว่า, ยืดยาวกว่าไอ้ไฟคือ ราคะหรือ โทสะ เสียอีก ไอ้ไฟ โลภะ มันก็เผาไปตามแบบของ โลภะ หรือ ราคะ นี้มันก็เผารุมพอใช้เหมือนกันนะ ไฟ โทสะ นี่ มันวูบใหญ่ ไฟลุกโพรงโพรงโพรง แล้วเดี๋ยวก็จะหายไปเร็ว ส่วนไฟ โมหะ นั้นมันสุมอยู่ใต้ขี้เถ้าเลย, สุมอยู่ใต้ขี้เถ้า หรือใต้ถ่านเลย ซึ่งร้อนอย่างยิ่งแล้วบางทีไม่แสดงควัน, ไม่แสดงเปลวเหมือน โทสะ ทีนี้ คนเขาก็ไม่ค่อยกลัวไฟคือ โมหะ เพราะไม่เข้าใจมัน ที่แท้มันเผาอย่างลึกซึ้งเหมือนกับไฟใต้แกลบ, ไฟใต้ขี้เถ้า, ไฟใต้ถ่าน ระอุอย่างยิ่งไม่มีเปลวให้เห็นเป็นโพรงโพรงเหมือน โทสะ หรือ ราคะ
ฉะนั้นขอให้สังเกตให้ดีๆ ทั้งวันทั้งคืนนี่มีอยู่เสมอๆ ที่ไฟ ราคะ เผาแล้วเราไม่รู้สึกเลย, เราไม่รู้สึกเลย หรือว่าแวบเดียวแล้วหายไปไม่มีความหมายอะไร เพียงแต่คิดกลับเสียใหม่มันก็หายไป อย่างนั้นเรียกว่ามองอย่างผิวๆ เผินๆ ยังหยาบอยู่, ยังประมาทอยู่ ถ้าเอาตามภาษาเด็กๆ พูดก็จะว่า ไอ้ ราคะ, โทสะ นั้นน่ากลัว, เป็นไฟที่น่ากลัว แต่ผมอยากจะพูดว่า ไฟ โมหะ น่ากลัวกว่ามาก และไฟใต้ถ่านใต้แกลบ, ใต้นี้มันรุมร้อนระอุมากไม่เหมือนกับไฟ เอาเบนซิน, แอลกอฮอล์ราดแล้วจุด บางทีไม่ทันไหม้ หรือไหม้ก็ไม่ตาย แต่ถ้าไปหมกสุมอยู่ใต้ถ่านไฟนี้มันก็แน่นอนที่มันจะไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้นขอให้กลัวไฟ โมหะ กันให้มากๆ เพราะมันไม่แสดงไฟ, มันไม่แสดงเปลว, ไม่แสดงความเป็นไฟเหมือนไอ้ ราคะ หรือไอ้ โทสะ คนเลยทำเล่นๆ กับมัน มันก็เลยได้โอกาสได้ช่องเผากันใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเผาอยู่มากกว่า, เรื้อรัังกว่า, อะไรทำนองนี้
ความสะดุ้งกลัวมันมีฤทธิ์เดชอย่างไรนี้ เราเดินไปมืดๆ เราก็กลัวแล้ว ยิ่งคนขี้กลัวผี, กลัวเสือ, กลัวอะไรด้วย พอเดินเข้าไปในที่มืดคนเดียวมันก็ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนแล้ว เป็นร้อนฉี่ไปทั้งตัวได้เหมือนกัน ทีนี้พอมีอะไรกะโตกกะตากออกมาจากไอ้ที่มืดนั้น ก็ไม่รู้ว่าตัวตนอยู่ที่ไหนแล้วขนลุกไปหมดทั้งตัว นี่ไปคิดดูอย่างนี้บ้างไปเทียบกับ ราคะ, โทสะ ดูบ้าง ที่จัดเอาความรู้สึกที่เนื่องด้วยความมืดมาเป็น โมหะ นี้เพราะว่ามันไม่ใช่ ราคะ, ไม่ใช่ โทสะ เพราะว่าความมืดนั้นมันส่อแต่ภาพที่น่าระแวง น่าสงสัยคือ วิจิกิจฉา นั้นนะ เราเดินเข้าไปในที่มืดนี่ วิจิกิจฉา รอบด้านเข้ามา ไม่รู้ว่า มันอะไรมันดี หรือร้าย หรือมันจะมีอะไรเกิดขึ้น ไอ้เราก็กลัวความมืด เพราะฉะนั้นคนก็กลัวความมืดกันอยู่มาก นี่มันคือตัว โมหะ แต่ไม่รู้สึกตัว ความมืดทางวัตถุ ก็เป็นนิมิตแห่งความลังเลสงสัย เพราะว่าไม่รู้ว่าในความมืดนั้นมันมีอะไร
ทีนี้ความมืดในทางจิตใจในทางวิญญาณมันก็ยิ่งกว่านั้น อนาคตของกูจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มันรำพึงได้ทุกวันทุกคืน, อนาคตของกูจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่แล้วมันก็เป็น subconscious ไม่แสดงชัดๆ แต่แล้วมันก็เผาลนเหมือนกับไฟใต้ขี้เถ้า,ไฟใต้แกลบ มารู้จักตัวกูตัวนี้กันเสียบ้างที่มันทรมานอยู่ใต้สำนึกตลอดเวลาหลับ และเราเวลาตื่น มันก็ทรมานอยู่บ่อยๆ ปัญหายุ่งยากมันก็เกิดขึ้นมากที่ว่า ชีวิตทุกวันนี้ไม่รู้จะเอาอะไรดี นี้ถ้าใครมันมีความคิดนึกที่แจ่มใสชัดเจนไม่มีความระแวงสงสัยในชีวิตอย่างนี้ก็นับว่ามีบุญมาก ทีนี้ไอ้คนธรรมดาสามัญ, คนโง่, คนไม่รู้จักชีวิตนี่มันเต็มไปด้วยความทรมานด้วย โมหะ นี้ เพราะฉะนั้นในบาลีพระพุทธภาษิตจึงเรียกว่า อัคคิ เหมือนกัน ราคัคคิ ไฟคือ ราคะ, โทสัคคิ ไฟคือ โทสะ, โมหัคคิ ไฟคือ โมหะ แล้วผมก็ลองมาบอกว่า ไฟ โมหะ ร้อนที่สุด, ยาวนานที่สุด, น่ากลัวที่สุด, รู้จักยากที่สุด จริงไม่จริงไปคิดดูเอง เนื่องจากไอ้ไฟ โมหะ หรือว่าไอ้ตัว โมหะ นี่มันมีทางมา
รอบด้านมากกว่าไฟ ราคะ, โทสะ พูดอย่าง logic ก็ว่า ไอ้ไฟ ราคะ หรือ โลภะ มาจากสิ่งที่น่ารักทั้งนั้นละ ทีนี้ไฟ โทสะ ก็มาจากสิ่งที่น่าเกลียด หรือไม่ชอบ ส่วนไฟ โมหะ มาจากทุกสิ่งเลย, มาจากทุกสิ่งเลย ทั้งที่น่ารักและไม่น่ารัก และไอ้ที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรน่ะมันมีมากเหลือเกิน
เพราะฉะนั้นไอ้ไฟ โมหะ มันจึงมาจากทุกด้าน และทุกสิ่ง ถ้าพูดถึง ตัณหา ก็มาจากทั้ง ๓ ตัณหา, มาจากทั้ง ๓ ตัณหา ทั้ง กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา เหล่านี้ให้เกิดไฟ โมหะ อย่างร้าย ส่วนไฟ ราคะ หรือ โทสะ นั้นน่ะมันจะเนื่องกันอยู่แต่ไอ้พวก กามตัณหา มันน่ารักอยากได้ ก็เผาหัวใจ เป็นไฟ ราคะ ทีนี้เมื่อไม่ได้อย่างใจก็คือไฟ โทสะ นี่มูลมาจากสิ่งที่น่ารัก ถ้าไม่เช่นนั้นไม่เกิด โทสะ ขอให้เข้าใจเสียก่อนว่า มันต้องมีอะไรที่ต้องการ หรือรัก หรืออะไรอยู่ มันจึงเกิด โทสะ ได้ ถ้าได้ หรือว่าหวังว่าจะได้ มันเกิด ราคะ,โลภะ ไป พอมันแสดงเป็นอาการไม่ได้ตามที่รักที่ต้องการมันก็เกิด โทสะ ถ้ามันจำกัดอยู่แต่เพียงว่า มาจากสิ่งที่น่ารักน่าพอใจอะไรทำนองนี้ ส่วน โมหะ มาจากทุกสิ่งเลยมาจากกามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา เป็นไฟที่ร้อนไปหมดได้ทุกอย่าง, ทุกประการ, ทุกเวลา, ทุกสถานที่ นี้แม้แต่เราอยู่เฉยๆ มันก็เผาเราได้ แม้เราอยู่เฉยๆ ปล่อยอารมณ์เลื่อนลอยไป, ไม่นั่นอะไรมันก็ยังเผาเราได้ เป็น โมหะ ที่เผาอยู่ได้ นี่มันน่ากลัวอย่างนี้มันน่ากลัวอย่างที่สุด แล้วก็รู้จักมันยากที่สุด ไม่แสดงอาการชัดๆ เหมือนไฟ ราคะ, โทสะ
นี่เรียกว่า ไอ้ตัวกูที่อยู่ในรูปของ โมหะ เข้าใจยากรู้จักได้ยากอย่างยิ่งกว่าตัวกูที่อยู่ในรูปของ โลภะ, ราคะ, โทสะ, โกธะ อย่าลืมหลักพื้นฐานที่ว่า พอเราได้รับ เวทนา ทางตา, ทางหู เป็นต้นนะ ก็เกิด ตัณหา อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ตัณหา ถ้ารักก็รัก, ถ้าไม่น่ารักก็เกิดความขัดแค้น หรือไม่ได้อย่างใจรักก็ขัดแค้นอย่างนี้ หรือว่าที่มันยังสงสัยลังเลอยู่มันก็ทรมานใจอยู่ เพราะฉะนั้นก็ให้เกิด อุปาทาน เป็นตัวกูกำลังรักอยู่ หรือกำลังไม่รักอยู่ หรือกำลังมีปัญหาไม่รู้ว่าอะไรกันแน่อยู่ จึงเรียกว่า ตัวกู หรือ อุปาทาน ที่มาจาก กามตัณหา มาจาก ภวตัณหา มาจาก วิภวตัณหา หรือพูดอีกทีว่า ตัวกูที่มาจากความรู้สึกอาจจะเป็น ความโลภ หรือ ราคะ ตัวกูที่มาจากความรู้สึกที่เป็นโทสะ หรือ โกธะ และตัวกูที่มาจาก โมหะ เมื่อใดกำลังโลภก็มีตัวกูแบบหนึ่ง เมื่อใดกำลังโกรธก็มีตัวกูแบบหนึ่ง เมื่อใดกำลัง โมหะ นี้คือ ไม่รู้จะพูดว่าอะไรดีนี้ ก็มีตัวกูแบบหนึ่งคือแบบ โมหะ เข้าใจยาก
วันนี้ทั้งตอนนี้ไม่พูดเรื่องอะไรที่มากมายอะไร เพียงแต่บอกให้รู้ว่า ตัวกูที่อยู่ในรูปของ โมหะ นั้นระวังให้ดี ร้ายกาจมาก, ยืดยาวมาก, ยุ่งยากมาก, อะไรมาก และเราก็ไม่ค่อยรู้จักมัน เวลาของเราก็หมด