แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่พูดกันแต่เรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ซึ่งเป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา เกิด ตัวกู-ของกู ก็เป็นวัฏฏสงสาร มีความทุกข์, ว่าง ตัวกู-ของกู ก็เป็น นิพพาน ไม่มีทุกข์ มีเท่านี้เอง นี่วันนี้มันเป็นวันปวารณา เรื่องปวารณานั้นเกี่ยวกับเรื่อง ตัวกู-ของกู โดยตรง เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็พูดเรื่อง ตัวกู-ของกู ที่เกี่ยวกับการปวารณา ในฐานะที่การทำปวารณานี้เป็นเครื่องมือกำจัด ตัวกู-ของกู อยู่ส่วนหนึ่ง นี้จะพูดกันให้ตรงๆ ก็ยังพูดได้ว่า ปวารณานี่คือ ห้าม ตัวกู-ของกู ไม่ให้โผล่หัวออกมา เมื่อเรารู้ความหมายของคำว่า ปวารณา ดี, เราก็จะรู้ว่า ไอ้ปวารณานี้ห้าม ตัวกู-ของกู มิให้โผล่หัวออกมาในลักษณะอย่างไร นี้เราก็พูดกันถึงเรื่องปวารณาก่อนเพื่อคนบางคนที่ยังไม่เข้าใจ ปะ แปลว่า หมดหรือทั่ว, วารณะ แปลว่า ห้าม ปวารณะ แปลว่า ห้ามหมด, ห้ามทั่ว, ห้ามสิ้นเชิง, ห้ามเด็ดขาด ตัวหนังสือเป็นอย่างนี้ ทีนี้ที่มาเกี่ยวกันกับวินัยของภิกษุนี่ก็มีความหมายตามเดิมแต่ว่าเป็นไปตามรูปเรื่อง, ของเรื่องที่ภิกษุจะต้องทำ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าวินัย หรือสิกขาบทนั้นมันมีอยู่แล้วทั้งสำหรับภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา มันมีอยู่แล้ว ทีนี้มันมีปัญหาว่าใครจะเป็นผู้รักษาวินัยนั้น หรือรักษากฎหมายนั้น ถ้าถือตามหลักปวารณาก็เห็นได้ชัดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวินัยนั้นจะต้องช่วยกันรักษา, รักษาวินัย, รักษากฎระเบียบนี้ให้มันมีอยู่
ทีนี้การรักษานั้นมันมีหลายอย่าง ถ้าเรามีอาวุธมีอำนาจ เราก็ใช้อาวุธใช้อำนาจ แต่เดี๋ยวนี้หลักธรรมะในพุทธศาสนาไม่มีการใช้อาวุธ, ไม่มีการใช้อำนาจ แต่ใช้ธรรมะในฐานะที่เป็นอาวุธหรือเป็นอำนาจ ไม่ใช้มีด, ไม่ใช้ปืน, ไม่ใช้กำลังกาย, ไม่ใช้อะไรหมด นี้ธรรมะมันก็คือ ความถูกต้อง, ความเป็นธรรม, ความจริง จะใช้เป็นอำนาจได้อย่างไร นี่ถ้าเรามองดูให้ดีเราจะเห็นว่า อำนาจธรรมะนี่ดีกว่า, ยั่งยืนกว่า, มีประโยชน์กว่า, อะไรๆ ก็กว่า, กว่าอำนาจในทางวัตถุ, ทางโลก, ทางเนื้อหนัง แต่มันมีปัญหา มันยากอยู่ตรงที่ว่าจะมีธรรมะขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่มีธรรมะขึ้นมามันก็ไม่มีอำนาจต่อเมื่อมีขึ้นมามันจึงมีอำนาจ เราจึงต้องช่วยกันให้มันมีขึ้นมา
การกระทำปวารณานี้ช่วยทำให้ธรรมะมีอำนาจขึ้นมา เมื่อทุกคนปวารณาแก่หมู่คณะนี้ว่าให้ว่ากล่าวตักเตือนได้ พอปวารณาออกไปอำนาจมันก็เกิดขึ้นโดยธรรมแก่ฝ่ายที่จะใช้อำนาจคือการ, คือผู้ว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ โลกมันก็มีความสงบไม่ต้องใช้อาวุธทางวัตถุ นั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดูให้ดีๆ อย่าทำปวารณาอย่างคนโง่พูดว่า วันนี้เอาเปรียบหน่อยไม่ต้องทำปาฎิโมกข์ให้เหน็ดเหนื่อย ทำปวารณา ๒-๓ คำก็เสร็จแล้วก็ไปเที่ยว นั้นคนโง่พูดที่จริงมันเนื่องกันกับปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์คือ ตัวระเบียบ, ตัววินัย, ตัวกฎหมาย แล้วปวารณานี้คือ เครื่องมือที่จะให้คนต้องปฏิบัติตามกฎหมายตามระเบียบนั้น ปัจจุบันอยากให้คนนั้นปวารณาแก่คนอื่นว่า ให้ว่ากล่าวตักเตือนถ้าตัวไม่ปฏิบัติตามระเบียบตามวินัยนั้น เมื่อไปปวารณาเข้าแล้ว ก็จะมีคนคอยตักเตือน เพราะฉะนั้นตนก็ต้องปฏิบัติอย่างดีตามระเบียบ, ตามวินัยนั้น ก็กลายเป็นหมู่คณะที่มีระเบียบมีวินัยที่ดีหลักเกณฑ์อย่างนี้ ไม่ใช่ใช้ได้แต่ในคณะสงฆ์, ฆราวาสก็ใช้ได้ นี้ฆราวาสที่เป็นพุทธบริษัท, เป็นอุบาสก, อุบาสิกาในพุทธศาสนาแล้ว ก็ยิ่งจะใช้ได้, แล้วยิ่งจำเป็นจะต้องใช้เพราะถือวินัยระบบเดียวกัน ฉะนั้นในบ้านเรือนของฆราวาสก็ควรมีหลักการอันนี้ให้ทุกคนแสดงโอกาสว่า ให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ตามเหตุผลที่สมควร และด้วยความเมตตากรุณาคือ หวังดี, ให้ใช้ความหวังดี, ให้ใช้เหตุผลที่สมควร แล้วว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ พ่อแม่ตักเตือนลูกไม่มีปัญหามันเป็นหน้าที่ หรือว่าต้องทำอยู่แล้ว แต่ว่าลูกก็ควรจะตักเตือนพ่อแม่ได้ ในลักษณะที่สมควรในเหตุผลที่สมควรด้วยความรักพ่อแม่ นายกับบ่าว หรือว่าที่มันเป็นคู่ๆ ที่ต่ำสูงกันมากนี้ มันก็ควรจะตักเตือนกันได้ด้วยวิธีนี้ มันก็เลยกลายเป็นเพื่อน, อ่า, เพื่อนอะไร, เป็นเพื่อนอย่างยิ่ง เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กันอย่างยิ่ง แทนที่จะเป็นฝ่ายปรปักษ์แก่กันและกัน ถ้านายกับบ่าว, ถ้าผู้บังคับบัญชากับคนใต้บังคับบัญชามันรักใคร่กันแล้วมันก็มีประโยชน์อย่างยิ่งกลายเป็นเพื่อนกัน นั้นปวารณาก็เป็นเหตุหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมา
ไอ้เรื่องการตักเตือนนี้มันจำเป็น โบราณเขาพูดว่า สี่ตีนรู้พลาดนักปราชญ์รู้พลั้ง เป็นนักปราชญ์ก็ยังรู้พลั้งเป็นบางครั้งบางคราว คนที่ไม่เป็นนักปราชญ์ก็ติเตียนได้ ทุกฝ่ายก็ปลอดภัยทั้งนั้น บางๆ ทีมันก็ลืมไป, บางทีมันก็เผลอไป, บางทีมันถูกอะไรยั่วมากไปมันก็เผลอได้ ในชาดกก็มีเรื่องหนึ่ง นกโพธิสัตว์ไปติดบ่วงเข้า ก็เขาเอาตัวเมียมาไปล่อเป็นนกต่อ ทีนี้สัตว์อะไรมาถามก็ลืมเสียแล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนี้เป็นถึงขนาดนี้ แล้วพระโพธิสัตว์ก็บอกว่า ในบางครั้งมันก็เป็นการเผลอ เพราะกรรมก็ได้ เพราะอะไรก็ได้ หรือเพราะมันเผลอไปก็ได้ ก็เลยมีประโยชน์ ผู้ตักเตือนนั้นมีประโยชน์อย่าให้เผลอ ดีกว่าไม่มีผู้ตักเตือนเสียเลยไม่มีผู้ตักเตือนมันก็อย่างหนึ่งนะ ทีนี้ตักเตือนไม่ได้นี่มันอีกอย่างหนึ่ง ใครตักเตือนไม่ได้นี่มันต้องทำการปวารณามาช่วยให้ตักเตือนได้ ถ้ามีการทำปวารณามันก็เกิดการตักเตือนได้ขึ้นมา และก็จะช่วยให้มีผู้ตักเตือนได้ขึ้นมา และเขายอมให้ตักเตือนจึงมีผู้ตักเตือน ถ้าเขาไม่ยอมให้ตักเตือนก็ใครจะไปกล้าตักเตือนให้เสียสมบัติผู้ดี นี้คือการแก้ไอ้ ตัวกู-ของกู ที่หัวแข็ง ใครเตือนไม่ได้ เพื่อกันลืมก็ดูภาพไอ้นกกะเรียนที่ฝาผนังน่ะ ด้านทิศหลังเก่ามีรูปนกกะเรียนอ้าปากเดินแหงนอยู่นั้น นั้นน่ะเขาหมาย, อ่า, เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ใครตักเตือนไม่ได้ เพราะนกกะเรียนตัวนั้นมันพูดว่า อย่ามาเตือนกูอย่ามายุ่งกับกู, กูจะร้องเก้อวๆ ๆ ๆ อยู่ในทุ่งนาตามประสาของกู อย่ามาตักเตือนกู นี่เป็นสัญลักษณ์ของ อัสมิมานะ กระด้างด้วยมานะ, เย่อหยิ่งจองหองไม่ยอมให้ใครตักเตือน ซึ่งเราก็จะพบเห็นว่า ภิกษุสามเณรนี้ก็เป็นนกกะเรียนกันอยู่บ่อยๆ บางคนในบางโอกาสนี่คือ ผลที่มันไม่มีปวารณา ไม่ทำตามหลักเกณฑ์ของการปวารณา แล้วเดี๋ยวนี้มันเป็นวินัยบังคับ ไม่ทำก็เป็นอาบัติ เพราะไม่ทำปวารณา แล้วก็เมื่อเขาตักเตือนแล้วมันก็ต้องทำตาม ไม่ตามก็เป็นอาบัติ ผู้รู้ผู้เห็นแล้วไม่ตักเตือนก็เป็นอาบัติ
ลองคิดดูเถอะว่า พระพุทธเจ้าท่านวางเทคนิคทางวิญญาณไว้ดีอย่างไร มันจะรักษาของมันอยู่ในตัว เพราะอำนาจที่วางไว้ดีในลักษณะเหมือนกับเป็นเทคนิคไม่ทำปวารณาเป็นอาบัติ ปวารณาแล้วก็ห้ามปิดปากไม่ให้เตือน ให้รู้เรื่องที่ควรเตือนแล้วไม่เตือนคนนั้นก็เป็นอาบัติ มันก็ผูกพันกันอยู่อย่างนี้ นี่จึงเกิด ยะทิทัง อันยะมันยะ จะวะเนนะ ยะทิทัง อันยะมันจะ วุฏฐาวะเนนะ (นาทีที่ 11.39) ขึ้นมาในหมู่สงฆ์นี้คือ ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้, ยังกันและกันให้ออกจากอาบัติได้ เอวัง สังวะทา หิตฺตสตฺตสวโต ปริสา (นาทีที่ 11.51) บริษัทของพระผู้มีภาคเจ้าจะเจริญมั่นคงอยู่ได้ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่า วันนี้เราเป็น, เป็นวันที่เราประชุมกัน ทำสิ่งซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ความเจริญของบริษัทของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่น่าปลื้มอกปลื้มใจ หวังว่าจะทำด้วยจิตใจทั้งหมดอย่าทำแต่ความละเมอๆ เป็นพิธี, เสียไม่ได้ก็ต้องทำ
ทีนี้วันนี้ปวารณากันที่นี่เพียงภิกษุเพียงเท่านี้ ก็อย่าได้หลงไปว่าปวารณากันเพียงเท่านี้มีอายุเพียงวันเดียวเท่านี้ และก็เฉพาะคนเหล่านี้ ปวารณานี้ไม่มีเขตจำกัดเวลา แล้วไม่ๆ จำกัดสถานที่ แล้วก็ไม่จำกัด, เอ่อ, จำนวนบุคคลคือ เป็นการปวารณาทั่วไปในสังฆมณฑล ตัวออกไปจากนี้แล้ว, วันอื่น, เวลาอื่น, ในที่สถานที่อื่นไปสู่วัดอื่น, อารามอื่น, คณะสงฆ์หมู่อื่น ผลบังคับของการปวารณาในวันนี้ก็ยังมีอยู่ คือ ติดตามไป แล้วต้องปฏิบัติอย่างเดียวกันกับที่จะต้องปฏิบัติที่นี่, เวลานี้, แต่หมู่คณะนี้เหมือนกัน ฉะนั้นขอให้ผู้ที่จะเดินทางต่อไปอยู่ที่อื่นนั้น ก็อย่าเข้าใจผิดไปว่ามันพ้นจากอำนาจบังคับของการปวารณา แล้วผู้ที่อยู่ที่นี่ก็อย่าคิดว่าวันคืนมันล่วงไปแล้ว, หมดเขตแล้ว, ไม่ต้องถือแล้ว, ก็ไม่ถูก แล้วคงถือไปตลอดชีวิตที่เป็นภิกษุสามเณรที่เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วผมยังขอร้องแถมไปว่า แม้จะออกไปเป็นฆราวาส ก็ให้เอาหลักการอันนี้ติดไปด้วยสำหรับไปใช้ในครอบครัวให้เกิดเป็นบริษัท หรือหมู่คณะที่มีหลักเกณฑ์อันเดียวกันกับหมู่คณะของพระพุทธเจ้าคือ มีเตือนกันและกันได้อย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าปวารณาที่มันเนื่องกันอยู่กับเรื่องของ ตัวกู-ของกู ในฐานะที่มันเป็นเครื่อง, เอ่อ, มือข่มขี่ ตัวกู-ของกู แล้วก็ทำลาย, เอ้อ, เพิกถอนไอ้ ตัวกู-ของกู
สรุปความว่า มันเป็นเรื่องทั้งทางวินัย และทั้งทางธรรม มีประโยชน์ทั้งทางวินัย และทั้งทางธรรม อย่าเข้าใจว่าเป็นเพียงเรื่องวินัยอย่างเดียว เพราะธรรมวินัยนี้มันเป็นของแฝดกันไม่แยกกัน วินัยเพื่อธรรม, ธรรมเพื่อวินัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อใดวินัยเลอะเลือน, เมื่อนั้นธรรมะเลอะเลือน, เมื่อใดธรรมะเลอะเลือน, เมื่อนั้นวินัยเลอะเลือน ในสูตรที่เกี่ยวกับเรื่อง สุญญตา สูตรนี่ได้ตรัสว่า ถ้าเมื่อใดไม่สนใจเรื่อง สุญญตา กันแล้ว เมื่อนั้นธรรมะจะเลอะเลือน, เมื่อธรรมะเลอะเลือน, วินัยเลอะเลือน, วินัยเลอะเลือน, ธรรมะเลอะเลือน ก็เลยเลอะเลือนกันใหญ่ แล้วคณะสงฆ์นี้ก็จะล้มละลาย ที่แท้หมู่คณะที่จะปฏิบัติเพื่อถอนเสียซึ่ง ตัวกู-ของกู นี้ ก็จะล้มละลาย ฉะนั้นวินัยกับธรรมะนั้นแฝดกันอย่างนี้ แล้วไปรวมอยู่ที่เรื่อง สุญญตา คือ การทำลายเสียซึ่ง ตัวกู-ของกู
สุญญตา แปลว่า ว่าง, ว่างจากอะไร, ว่างจากความคิดที่เป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา ในขณะนั้นเราก็มีเครื่องมือสำหรับทำให้มันว่างจาก ตัวกู-ของกู ก็เลยเป็น สุญญตา อยู่ที่นั่น มันก็เป็นธรรมะเป็นวินัยอยู่ที่นั่น เพราะว่าธรรมะ และวินัยเป็นไปเพื่อกำจัดเสียซึ่งความทุกข์อันเนื่องมาจากตัวกูและของกู, ไม่มีทางอื่น ทีนี้ที่มันเกิดขึ้นมาด้วยอารมณ์อย่างนั้นด้วยอารมณ์อย่างนี้ วันหนึ่งคืนหนึ่งมันมากมายหลายสถาน เกิดได้หลายอย่างหลายทาง ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังอย่างถี่ถ้วนด้วยความไม่ประมาท เรารู้จักกันแต่เรื่องหยาบๆ ไอ้เรื่องละเอียดก็ยังไม่รู้ เดี๋ยวนี้เรื่องหยาบๆ มันยังเป็นปัญหาเผชิญหน้ารบรากันอยู่ เรื่องละเอียดก็ยังไม่รู้มันก็จะเป็นไปตามลำดับ ที่หยาบที่สุดก็หมดไปก็เหลือหยาบ, หยาบไม่มาก ไอ้หยาบไม่มากหมดไป หยาบที่ละเอียดกว่านั้นมันก็ยังมีอีก จนกระทั่งเรื่องที่ละเอียดก็เป็นเรื่อง กิเลส เรื่องตัวกูทั้งนั้น เพราะว่าถ้าไม่มีเรื่อง ตัวกู-ของกู แล้ว ก็ไม่มี, ไม่มีปัญหาอะไรทั้งทางธรรมและทางวินัยคือว่า ถ้ามันไม่มีปัญหาเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู แล้ว ธรรมะก็ไม่ต้องมีในศาสนานี้ในโลกนี้ ถ้าไม่มีเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู แล้ว ก็ไม่ต้องทำปวารณาก็ได้มันไม่มีอะไรจำเป็นจะต้องมีวินัยหรือทำปวารณาเลย เพราะมีตัวกู-ของกู เป็นปัญหาใหญ่จึงต้องมีเรื่องทางธรรมะสำหรับไถ่ถอน ตัวกู-ของกู ทำลาย ตัวกู-ของกู มีเรื่องทางวินัยสำหรับไถ่ถอน ตัวกู-ของกู ทำลาย ตัวกู-ของกู
นี่จึงพูดได้ว่า ถ้าไม่มีเรื่อง ตัวกู-ของกู แล้ว เราไม่ต้องมีศาสนา, ไม่ต้องมีกฎหมาย, ไม่ต้องมีระเบียบ, ไม่ต้องมีวินัยอะไร ความผิดพลาด, การเบียดเบียนตนเองผู้อื่นนี้ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนแต่มาจาก ตัวกู-ของกู ที่รบราฆ่าฟันกันอยู่ตลอดเวลาในโลกนี้เวลานี้ก็มาจาก ตัวกู-ของกู ไปดูให้ดีมันไม่มีอะไรเลยนอกจาก ตัวกู-ของกู เพราะว่าวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่โลกทั้งโลก, แก่หมู่คณะบางหมู่บางประเทศ หรือแก่บุคคลบางคน มันก็มาจาก ตัวกู-ของกู ทั้งนั้น นี่เพราะว่ามีไอ้เจ้านี่ ตัวกู-ของกู นี่ทำให้ต้องมีธรรมะ, มีวินัย, มีศาสนา, มีกฎหมาย, มีวัฒนธรรม, มีอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมดจนเวียนหัว ฉะนั้่นต้องทำให้ดีอย่าให้ปนกันยุ่งจนเวียนหัว มันจะไม่แก้, มันจะไม่แก้ปัญหา ถ้าเวียนหัวเสียแล้วมันไม่แก้ปัญหาแก้ไม่ถูก นี่เรารู้ให้ชัดลงไปว่า นี้ส่วนวินัย, นี้ส่วนธรรมะ, นี้ส่วนเหตุปัจจัยที่จะช่วยให้มีวินัย, ที่จะช่วยให้มีธรรมะ มันเป็นส่วนๆ ๆ กันอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็มีปวารณาเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้มีธรรม, มีวินัย นี้โดยรวมๆ กันก็เพื่อทำลายเสียซึ่งตัวกูและของกูให้เข้าไปสู่ สุญญตา คือ ความว่างจาก กิเลส และความทุกข์ ก็หมดเท่านั้น เรื่องก็หมดเท่านั้น
นี่คือ, คือวันปวารณา วันนี้มีความสำคัญอย่างนี้ อย่าถือเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือพอประมาณ ต้องเข้าใจให้ดีที่สุดจนไปตอบคนต่างชาติต่างศาสนาก็ได้ นี้เพราะว่าภิกษุสามเณรบางรูปไม่รู้ความหมายอันแท้จริง เขาไปถามเอาพวกต่างชาติต่างศาสนา เขาถามว่า ทำปวารณาทำไม ก็จะตอบอย่างโง่เขลาเหมือนที่ว่ามาแล้วว่า วันนี้พระพุทธเจ้าให้สบายเป็นพิเศษไม่ต้องทำปาฏิโมกข์ อย่างนี้เป็นคำตอบที่โง่เขลา ตอบให้ฉลาดให้ถูกต้องเพื่อจะให้มันมีธรรมวินัยอยู่ในคณะสงฆ์นี้จึงทำปวารณาเป็นไปเพื่อให้ ข่มขี่ ตัวกู-ของกู แล้วธรรมวินัยจะมีอยู่ได้ หรือว่าทำให้ธรรมวินัยมีอยู่ได้ ตัวกู-ของกู ก็จะหมดไป ปัญหาของมนุษย์ของโลกก็จะหมดไปเพราะเหตุนี้
เอาล่ะมองดูกันเป็นส่วนใหญ่บ้าง ทีนี้ว่าเดี๋ยวนี้ปัญหามันมีอยู่ว่า คนไม่ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ในโลกนี้คนไม่ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันอยู่เป็นประจำเพราะการไปว่ากล่าวตักเตือนเขานั่นอาจจะต้องถูกเขาด่าเอานี่ข้อแรก ทีนี้ถ้าเขาไม่ด่ามันก็เสียเวลาของเรา เราไปทำอะไรของเราดีกว่า เพราะฉะนั้นจึงมี, ไม่มีการตักเตือนไม่มีการพยายามต่อต้านผู้ที่ทำผิดโดยธรรม การต่อต้านโดยธรรมไม่ใช้อำนาจไม่ใช้กำลังนะต่อบุคคลที่ทำผิดนี่ไม่ค่อยมีใครนั่นหรอก มันว่าเสียเวลาบ้าง, เหนื่อยบ้าง, ธุระไม่ใช่บ้าง ที่ชอบพูดกันอย่างนั้นนี่ก็เพราะว่าเขาไม่มีเมตตากรุณาเขาเป็นคนธรรมดาไม่มีเมตตากรุณา หรือว่าเขาเป็นคนไม่รับผิดชอบว่าการอยู่ในโลกร่วมกันนี้มันมีหน้าที่อย่างไรบ้าง ในคณะสงฆ์ในโลกคณะสงฆ์นี่ก็มีหน้าที่ตักเตือนกันและกันมันเป็นหน้าที่ขึ้นมา พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นวินัยในทางโลกไม่มีใครได้บัญญัติไว้ชัดเจนอย่างนั้น ต้องรู้กันโดยนัยว่า ศาสนาทุกศาสนาก็ต้องการอย่างนั้น ต้องการให้ตักเตือนกันและกัน กระทั่งให้เข็นกันเลยให้เข็นกันอย่างเข็นครกขึ้นภูเขาให้มันไปในทางของไอ้ธรรมะหรือศาสนาให้จนได้ เป็นเพื่อนกันจริงต้องเป็นอย่างนั้น
ในเรื่องอริยสัจจากพระโอษฐ์ มีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่งที่พูดไว้ควรจะนึกเป็นตัวอย่างว่า พระโพธิสัตว์เองผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเองไม่อยากไปสู่สำนักของสมณพราหมณ์คือ พระพุทธเจ้าหมายถึง ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นะ ที่เพื่อนของท่านดึงให้ไปอะไร, ให้ไปก็ไม่ยอมไป ถึงวันหนึ่งเพื่อนคนนั้นซึ่งเป็นคนต่ำกว่านะ, เป็นคนมีฐานะต่ำกว่านะ ก็ดึง, ก็จับพระโพธิสัตว์เข้าที่มวยผม แล้วก็ดึงให้ไปวัด ไม่ไปเป็นตายกันทั้งคู่ พระโพธิสัตว์ก็ได้สำนึกว่า เอ้อ, ไอ้ๆ เพื่อนคนนี้มันไม่เคยทำกับเราอย่างนี้เลย มันรักมันเคารพเรามันอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าเรา วันนี้มันทำไมจึงมาทำอย่างนี้ มันก็ยอมไป เพราะว่าได้ยินได้ฟังพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเทศน์สั่งสอนกลายเป็นผู้เจริญในธรรมไปคือ ลองคิดดูสิว่าไอ้เพื่อนคนนั้นในฐานะต่ำต้อยกว่ากล้าทำอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะมีความรัก, มีความเมตตา, มีความรักจริง รักเพื่อนจริงๆ มันจึงทำอย่างนี้ เดี๋ยวนี้จะไม่มีใครทำอย่างนี้ ฉะนั้นการที่เข็นกันไปให้เป็นไปในทางของธรรมนั้นมันก็มีน้อย เพื่อจะให้ไม่เกิดเรื่องอะไรขึ้นขอให้มีระเบียบปวารณากันเสีย สมบัติผู้ดีควรจะมีในข้อนี้ว่า เปิดโอกาสอยู่บ่อยๆ ว่า เพื่อนเอ๋ย หรือใครก็ตามใจน่ะ จงว่ากล่าวตักเตือนเราเมื่อเห็นเราเผลอไปบกพร่องหรืออะไรอย่างนี้ ถ้าทุกคนมัวแต่พูดกันอยู่อย่างนี้ทุกบ้านทุกเรือนนั้นก็จะดีมาก ก็จะมีคนตักเตือนซึ่งกันและกันด้วยความรักด้วยความเมตตา โลกก็จะดีกว่านี้ไอ้ ตัวกู-ของกู ก็จะหมดไปจากโลกได้ นี่คือเจตนารมณ์ของไอ้คำว่า ปวารณา ที่เราทำกันในวันนี้
นี้ทำอย่างไรจึงจะให้เพื่อนมนุษย์ของเรานิยมในการที่จะช่วยเหลือกันในทางด้านวิญญาณนี้ เป็นที่พึ่งแก่กันในทางด้านวิญญาณนี้คอยว่ากล่าวตักเตือนในทางธรรมแล้วก็ไม่เชื่อฟัง แล้วก็ใช้ไอ้ความรักความเมตตานั้นน่ะเอาให้เชื่อฟังให้จงได้ ถ้าตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นความมุ่งหมายของพุทธศาสนา เป็นหลักของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับปวารณาว่า มุ่งหมายให้ทุกคนเปิดโอกาสให้ผู้อื่นช่วยเหลือตนด้วยการว่ากล่าวตักเตือนให้ออกมาเสียจากความผิดพลาด หรือความทุกข์ คนเราถ้าว่าเกิด อวิชชา เกิด กิเลสครอบงำขึ้นมาแล้วมันก็มืด คนที่อยู่ในที่มืดอย่างนั้นมันต้องการที่พึ่งต้องการแสงสว่าง เขากำลังช่วยตัวเองไม่ได้พึ่งตัวเองไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของเพื่อนที่จะต้องช่วย ฉะนั้นอย่าไปถือเสียว่าไม่ใช่ธุระ หรือเหนื่อยเปล่าๆ หรือเขาจะอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ดูความสมควรในการที่จะเข้าไปเตือน, กิริยาอาการในการที่จะเข้าไปเตือน, คำพูดคำจาที่จะเข้าไปพูดด้วย, อะไรทุกอย่างที่จะเข้าไปติดต่อด้วยนั้นให้สมกับที่เป็นพุทธบริษัทคือ มีสติปัญญา, รู้จักเหตุ, รู้จักผล, รู้จักตน, รู้จักประมาณ, รู้จักการ, รู้จักความพอดี, รู้จักบริษัทบุคคลนี้
นี่ภาพ สัปปุริสธรรม ๗ ที่เขียนอยู่ที่ฝาผนังด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับทำให้เกิดความถูกต้องเรียบร้อยในทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีการอาศัยหลัก สัปปุริสธรรม ๗ แล้วไม่มีอะไรล่ะที่จะไม่สำเร็จ จะไปเตือนยักษ์ตัวหนึ่งก็ยังจะได้, จะไปเตือนยักษ์ที่ดุร้ายสักตัวหนึ่งก็ยังได้ ถ้าว่ามี สัปปุริสธรรม ๗ อันที่ถูกต้องและสมบูรณ์ อย่าว่าแต่มนุษย์ด้วยกันเลย นี้ขอให้, เอ่อ, เชื่อฟังพระพุทธเจ้า ยอมรับปฏิบัติในข้อนี้ด้วยการพยายามว่ากล่าวตักเตือนกันและกันด้วยความเมตตากรุณาแม้ในวงกว้างออกไปไม่เฉพาะอยู่แต่ในวงของภิกษุสงฆ์ ให้โลกนี้มันเป็นโลกที่มีสันติมีความสงบเพราะว่ามันไม่ถูกรบกวนด้วย ตัวกู-ของกู นี้ เพราะฉะนั้นธรรมะใดที่เป็นเครื่องมือสำหรับกำจัด ตัวกู-ของกู แล้ว ก็ต้องสนใจปวารณานี้เป็นอันหนึ่ง และมีความสำคัญมาก และมีความดีวิเศษมากคือ ความนิ่มนวลไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ความสุภาพและนิ่มนวลด้วยกัน ๒ ฝ่ายไม่เกิดการปะทะกันด้วยกำลัง นี้จึงถือว่าวิเศษตอนนี้ แล้วให้ถือว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าอยู่มาได้ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุที่ว่า ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้จนไม่เป็นที่รังเกียจแก่กันและกัน, มีความรักใคร่สามัคคีกัน, มองดูด้วยสายตาแห่งความรัก, เข้ากันได้สนิทเหมือนกับน้ำและนม นี้เป็นสำนวนในบาลีว่าอย่างนี้ เพราะผลของปวารณา เดี๋ยวนี้เรามันก็ปล่อยกันมากพอถึงวันปวารณาก็ทำปวารณาเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร, อาจารย์ก็ไม่รู้, ลูกศิษย์ก็ไม่รู้ว่าทำทำไม, ว่ามันมีความหมายอย่างไรทำแล้วแล้วไป ฉะนั้นมันจึงไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาทำพอให้แล้วๆ, นี่มันก็ได้ผลแล้วๆ ไปก็เลิกกัน เดี๋ยวนี้เราทำจริงไม่ให้มันแล้วๆ ไป ตลอดชีวิตจะมีเจตนารมณ์ของปวารณาอยู่ที่เนื้อที่ตัวเราในการที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่น หรือปฏิบัติต่อตัวเอง เราจะตักเตือนผู้อื่นด้วยความรัก, เมตตา, เอ็นดู และเมื่อเขาตักเตือนเรา เราก็รับฟังอย่างเขาว่า เอาไอ้ขุมทรัพย์มาให้
พุทธภาษิตข้อหนึ่งว่า ให้เห็นให้ถือว่าคำด่านั้นคือ คำบอกขุมทรัพย์ นี้ฟังยากคำว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนมักจะมีลักษณะเป็นคำด่า เพราะมันไปจี้จุดบกพร่องที่ผิดเสียหายของคนผู้ถูกตักผู้ถูกตักเตือน เพราะความรู้สึกเป็นคำด่า ทีนี้ถือกันโดยคำด่าเป็นคำบอก ขุมทรัพย์ นี่กลัวจะรับไม่ไหว ถ้าเขาด่าเรา แต่ถ้าเรารับได้มันก็กลายเป็นคำชี้ขุมทรัพย์คือ ทำให้เราทนได้, ทำให้เราปลง อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ได้ แล้วเราก็ไป นิพพาน นั่นก็คือ ขุมทรัพย์ เขามาด่าเรา เราก็เกิดไอ้ความรัก, ความเอ็นดู, ความสงสาร แล้วก็มองเห็นไอ้ความน่าสลดสังเวชรู้ความเป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของ กิเลส ว่ามันต้องเป็นไปอย่างนี้ จิตใจมันก็เลยก้าวหน้าไปในทางของ นิพพาน ไอ้การที่เขามาด่าเราก็เลยเหมือนกับว่า มาบอกทางให้ไปหาขุมทรัพย์ให้ได้ขุมทรัพย์ ก็ควรจะมีความรู้ข้อนี้ไว้สำหรับปะทะกันกับไอ้การด่าว่าของผู้อื่นตามธรรมดาก็ได้ หรือว่าเมื่อเอาไว้ตักเตือนเขา, เขาโกรธเอาก็ได้ ไม่ถือว่าคำพูดที่ไม่ถูกใจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า กล่าวสั่งสอนตักเตือนนี้, ที่อยู่ตามบ้านเรือน, พ่อแม่ตักเตือนลูกหรือว่า มันก็มีอยู่ทั่วไปหมดว่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์เสมอ แล้วก็น้อมรับฟังด้วยความพอใจยินดีปรีดามีความสุขตั้งแต่เวลานั้นแล้ว แล้วเด็กคนนั้นก็ปิดปากได้ด้วยปวารณาเหมือนกัน มันก็เลยได้คนดีทั้งโดยตัวและโดยส่วนสังคมที่กว้างออกไป, กว้างออกไป, กว้างออกไป จนถึงทั้งโลกมันก็อยู่ได้ด้วยการพูดจากันรู้เรื่อง เดี๋ยวนี้โลกมันกำลังจะฉิบหายเพราะมี ตัวกู-ของกู จัดกันแต่ละฝ่าย ว่ากล่าวตักเตือนแนะนำกันไม่ได้ ล้วนแต่มุ่งหมายที่จะเอาชนะด้วยกำลังไม่เอาชนะด้วยธรรมะตามวิธีของพระศาสดาทั้งหลายในโลก เพราะ ตัวกู-ของกู มันจัดเกินไป มันจึงเอาชนะกันด้วยกำลังมันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เ ดี๋ยวนี้ก็ดูสิที่มันพอบิดตะกูดพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วก็รบกันไปพลาง แล้วก็ประพฤติผิดธรรมะกันไปพลาง, รบกันไปพลางอยู่เรื่อยไปน่ะ จนกว่าเมื่อใดจะมีธรรมะเข้ามามันจึงจะหยุดรบกันได้ แล้วธรรมะจะตั้งต้นขึ้นมาได้อย่างไรถ้ามันพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือเตือนกันไม่ได้, แนะนำกันไม่ได้, ชี้แจงกันไม่ได้
เอาล่ะเป็นอันว่าเราถือว่า ปวารณา คือ ปิดปากตัวเองไม่ให้พูดไม่ให้เถียง เมื่อมีคนมาว่ากล่าวตักเตือนนี้เป็นทางรอด, เป็นหนทางรอดของมนุษย์ แล้วก็ไปช่วยกันทำ พยายามช่วยกันให้มันมีขึ้นมาในโลกนี้โดยการตั้งต้นที่ตัวเรานี้ เราต้องปฏิบัติก่อนเราต้องตั้งต้นที่ตัวเราด้วยการที่เราต้องปฏิบัติก่อน อย่าไปใช้คนอื่นให้ปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมะไม่ว่าเรื่องไหน, ข้อไหน, ลักษณะไหน ต้องตั้งต้นที่ตัวเราโดยที่เราปฏิบัติลงไปเลย นั่นละเป็นการตั้งต้น ขอให้เป็นคนที่มีการตั้งต้นด้วยความสุภาพอ่อนโยนที่ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้, ไม่กระด้างด้วย มานะ อย่างที่เราพูดกันใน ๒ ครั้งที่แล้ว มาน, สักโก เป็นผู้องอาจกล้าหาญ, อุชู เป็นคนซื่อ, สุอุชู เป็นคนจริงจัง, มุทุ เป็นคนอ่อนโยน, อนติมานี ไม่เป็นคนกระด้างด้วยมานะ, สุวโจ เป็นผู้ที่บุคคลว่ากล่าวได้โดยง่าย
มันสำคัญอยู่ที่ไอ้ ๓ อย่างนั้น ว่า มุทุ อ่อนโยน สุภาพอ่อนโยน, อนติมานี ไม่กระด้างด้วยมานะ แล้ว, สุวโจ เป็นผู้ที่บุคคลว่ากล่าวได้ง่ายที่สุดไม่ต้องพูดกันกี่คำ หรือยิ่งกว่านั้นพอแย้มให้รู้กันบ้าง ก็บอกพอ, ไม่ต้องพูดอีกพอแล้วปฏิบัติตามได้เลย, ทำตามได้เต็มที่ อย่างนี้มันไม่เสียมรรยาทกันทั้ง ๒ ฝ่ายมันไม่กระดากมันไม่เดือดร้อนกันทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะความเป็น สุวโจ บุคคล ถ้าเป็นธรรมก็เรียกว่า โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ถ้าเป็นบุคคลก็เรียกว่า สุวโจ เป็นผู้ที่บุคคลว่าง่ายสอนง่าย
ทีนี้ก็สำรวจตัวเองกันทุกองค์ดูสิว่าเราเดี๋ยวนี้อยู่ในฐานะที่บุคคลว่าง่ายสอนง่ายหรือเปล่า ทำไมจึงมีการขึ้นเสียงแผดเสียง หรือต่อว่าต่อขานกันอยู่บ่อยๆ แม้ในวัดในวานี้ เพราะมันไม่มี โสวจัสสตานี่เอง ไม่นิ่ง, ไม่ยอมนิ่งในเมื่อเขาว่ากล่าวตักเตือน ไม่ฟังให้ดีแล้วปฏิบัติตามมีปากแข็งคือ กระด้างด้วยมานะ เป็น อนติมานี เป็น อติมานี กระด้างด้วย มานะ อยู่เสมอว่า เราต้องเป็นฝ่ายถูกเรื่อย, เราต้องเป็นฝ่ายชนะเรื่อย แต่ให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายผิด, ฝ่ายแพ้เรื่อยไป, ไม่ต้องการอย่างอื่น นี่ กิเลส ก็โผล่ขึ้นมา นี่ ตัวกู-ของกู มันโผล่ขึ้นมาว่ากูต้องชนะเรื่อย, กูต้องเป็นฝ่ายถูกเรื่อย ก็เอาเหตุผลโกหกมดเท็จอะไรก็มาอ้างมาอิงไปตามเรื่องเถียงกันหน้าดำหน้าแดงนี้ นี่ไม่มีความสุภาพอ่อนโยนไม่มีความเป็นผู้ไม่กระด้างด้วยมานะ ไม่ใช่คนว่าง่ายสอนง่ายเสียเลย นี่เป็นเรื่องส่วนตัว ผมก็ไม่ต้องพูด แต่ละคนก็เอาไปสอบสวนตัวเองทดสอบตัวเองว่ามีอยู่มากน้อยเท่าไรส่วนไหนอย่างไร แล้วแก้ไขส่วนนั้น เป็นผู้มี หิริ และ โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป, ความละอายบาป แล้วมันก็สำเร็จน่ะ เดี๋ยวนี้มันไม่ละอายบาป, ไม่กลัวบาป มันก็รักไอ้ความกระด้างด้วย มานะ นี้เรื่อยไป คือ รัก กิเลส แทนที่จะรักธรรมะ นี่รักพญามาร, ซาตาน, ภูตผีปีศาจ แทนที่จะรักพระพุทธเจ้าพูดว่าอย่างนี้ดีกว่า มันก็เลยเดินกันคนละทาง มันก็ไปสู่ความเป็นผู้ที่ใครๆ ตักเตือนไม่ได้เป็นคนแข็งกระด้างด้วย มานะ เป็นคน แปลว่า กลายเป็นยักษ์เป็นมารไปเลย
นี่ขอแถมพกสักนิดหนึ่งว่า ไอ้เรื่องเกิดทางวิญญาณนี้อย่าลืมเสีย ผมพูดหลายสิบครั้ง, หลายร้อยครั้งแล้วว่า เรื่องเกิดทางวิญญาณนั้นอย่าลืมเสีย ร่างกายเป็นมนุษย์อยู่อย่างนี้ แต่ว่าจิตใจเกิดเป็นอะไรก็ได้มันอยู่ที่นี่ทั้งนั้นน่ะ นับตั้งแต่ นรกเดรัจฉาน, เปรต, อสุรกาย ก็เกิดได้ทันทีที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นคนที่มี กิเลส และไม่บังคับจิตมันก็เกิดเป็นนรก, ร้อนใจเป็นสัตว์นรก, โง่เป็นสัตว์เดรัจฉาน, หิวเป็นเปรต, กลัวขี้ขลาดเป็นอสุรกายนี่, นรกอยู่ในใจ นี่ทำดีทำงามทำถูกต้องก็เป็นสวรรค์ขึ้นมาทันทีเหมือนกัน, เกิดเป็นชาวสวรรค์ขึ้นมาทันที, สบายใจ, ร่าเริง, เคารพตัวเอง, ได้เป็นชาวสวรรค์ขึ้นมาทันที ก็อยู่ในใจเหมือนกัน, เกิดในใจ, สวรรค์ในอก, นรกในใจอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต่อตายแล้ว ภาวะต่อตายแล้วผมก็ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดเรื่องต่อตายแล้ว พูดกันเรื่องที่มันมันมีอยู่จริงที่นี่และเดี๋ยวนี้
นี่อย่างเราเคยพูดกันว่าอะไรๆ มันอยู่ที่จิตใจนั่นแหละ พอจิตใจเปลี่ยนไปอย่างไรมันก็เกิดเป็นอย่างนั้นแหละ, เป็นคนพาล, เป็นคนบัณฑิต, เป็นคนสัตตบุรุษ หรือเป็นคนพาล มันก็กลับไปกลับมาอยู่ที่นั่น เดี๋ยวก็เป็น วัฏฏสงสาร, เดี๋ยวก็เป็น นิพพาน อยู่ในจิตใจนั้นไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ต่อตายแล้วน่ะไม่มีปัญหาอะไร มันยังไม่, ยังไม่ถึงทีนี้เราทำให้ถูกต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้, ต่อตายแล้วได้อย่างนั้น เราทำเป็นสวรรค์อยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้, ต่อตายแล้วมันก็ไปสวรรค์นะ แต่ผมว่าสวรรค์ต่อตายแล้วนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปนึกถึง ตายแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรด้วย เอาที่นี่และเดี๋ยวนี้สิจึงจะมีประโยชน์ ฉะนั้นจึงพูดให้ฟังว่า กามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร, โลกุตตระ อะไรก็อยู่ในกายนี้ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ทำให้มันสำเร็จได้ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ อะไรก็ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ แม้มนุษย์สมบัติ, สวรรค์สมบัติ, นิพพาน สมบัติ ก็ได้ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ นี่เป็นรายละเอียดยืดยาวมากไว้พูดกันคราวอื่น เดี๋ยวนี้เราจะใช้ไอ้หลักที่ว่า ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้นี้สร้างไอ้คุณสมบัติอะไรๆ ที่มันดีได้ขึ้นมาที่นี่ และเดี๋ยวนี้, เป็นสวรรค์ที่นี่ และเดี๋ยวนี้, เกิดเป็นสัตบุรุษที่นี่ และเดี๋ยวนี้, อยู่ในมรรคผลนิพพานกันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เพราะความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย, เป็นคนไม่กระด้างด้วย มานะ, เป็นคนอ่อนโยนโดยธรรมะ, เป็นผลของปวารณา เรื่องเกี่ยวกับปวารณาโดยหลักโดยเจตนารมณ์ หรือโดยความสำคัญมันอยู่อย่างนี้ ช่วยจำไว้ และก็ปฏิบัติด้วย เพื่อความเอาตัวรอดได้จากตัวกูและของกู หรือจาก กิเลส และความทุกข์ ไม่เสียทีที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เวลาก็หมดเพราะเทปมันหมด