แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเรา ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่อง ตัวกู-ของกู อีกตามเคย ถึงกระนั้นก็ยังพูดซ้ำ เตือนซ้ำอยู่เสมอว่า ให้ทำจิตใจสำหรับจะฟังเรื่องอันเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู เดี๋ยวจะลืมไป ในครั้งที่แล้วมาเราพูดเปลี่ยนเหงื่อเลี้ยงตัวกู ให้กลายเป็นเหงื่อล้างตัวกูในลักษณะที่ว่า คนทั่วไปทำได้ แล้วก็ควรจะทำ ทีนี้ส่วนในวันนี้จะได้พูดถึงลักษณะของภิกษุที่ปฏิบัติเพื่อชะล้างตัวกูในอันดับแรกซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภิกษุผู้อยู่ในป่า หรืออยู่ในที่สงบสงัดที่แสดงให้เห็นว่า แม้ฆราวาสที่อยู่บ้านเรือนก็ต้องทำอย่างนั้น ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ต้องการจะแสดงว่า ไอ้เรื่องปฏิบัติธรรมนี้มันไม่มีพระไม่มีฆราวาส เพราะหนทางนี้ก็มีแต่สายเดียวสำหรับคนเดียว และไปสู่จุดหมายปลายทางเพียงอย่างเดียวเพียงสิ่งๆ เดียว ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือเป็นฆราวาสมันมีแต่เส้นทางเส้นนั้นเส้นเดียวสำหรับบุคคลเดินคนเดียวไปสู่จุดหมายปลายทางเพียงสิ่งเดียวไม่มีสองสิ่งสามสิ่ง นี่ความที่มันเป็นของเดียวอย่างนี้จึงไม่มีทางที่จะแยกเป็นสำหรับพระ, บรรพชิต หรือว่าสำหรับฆราวาสครองเรือน เมื่อเส้นทางมันมีอยู่ทางเดียวไปสู่จุดหมายอันเดียวอย่างนี้ ถ้าสมมติพระเดินอย่าง แล้วจะให้ฆราวาสเดินอย่างไรที่มันไม่เหมือนกัน จะให้วิ่งกลับถอยหลังนี้มันก็ยิ่งน่าหัวมันใช้ไม่ได้ มันก็มีอยู่นิดเดียวว่า พระสะดวกกว่า เดินไปเร็วๆ นี้ฆราวาสมีเรื่องมากก็เดินไปช้าๆ ก็มีเท่านั้นเอง แต่นั้นมันเป็นหลักเป็นคำพูดทางทฤษฎี ฉะนั้นพระหรือฆราวาสนี้มันก็ไม่แน่ พระโง่ๆ ก็เดินช้า ฆราวาสที่ฉลาดก็เดินเร็วกว่าเสียอีก ก็เลยเอาแน่อะไรไม่ได้นักในข้อเท็จจริง ในทางทฤษฎีมันก็วางหลักได้ แต่ในข้อเท็จจริง มันก็ไม่ไปตามทฤษฎีนั้น ฆราวาสขี้เมาฟังพระพุทธเจ้าตรัสสองสามคำเป็นพระอรหันต์บนคอช้างนี้มันก็มีอยู่เยอะแยะตัวอย่างเช่นนั้น เพราะฉะนั้นถ้าว่ามันเป็นเรื่องไป นิพพาน แล้ว มันก็ไม่มีสองชนิด, สามชนิด ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือเป็นบรรพชิตต้องทางอย่างเดียวกัน, เส้นทางเดียวกัน, สู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องสนใจเรื่องจะเป็นฆราวาส หรือจะเป็นบรรพชิต สนใจแต่ว่าจะทำอย่างไรเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรจึงจะเป็นการขูดเกลาตัวเอง ตัวกู-ของกู ไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็มีผลคือ ไม่ปรากฏตัวกู
เอาละ ทีนี้เราจะพูดถึงพระที่ว่าอยู่ป่ามันมีคำว่า อยู่ป่าคือ อยู่ในที่สงัดสงบสงัด นี้ก็มีความหมายกำกวม ไปอยู่คนเดียวในดงป่าโดยไม่พบปะมนุษย์ หรือว่ามีการพบปะมนุษย์ หรือว่าอย่างไร มันเรียกว่าป่า ผู้ที่รู้จักวางจิตใจไว้ให้ถูกต้องมันก็อาจจะทำป่าได้ที่ไหนก็ได้ ในบ้านเรือนก็ทำให้เป็นป่าได้ แต่ว่าวางจิตใจไว้ให้ถูกต้องได้ แต่เดี๋ยวนี้เขาหมายถึงว่า คำว่าป่านี้คือ ที่อำนวยความสะดวกแก่ความสงบ, ไม่ถูกรบกวน, ไม่มีสิ่งยั่วยวน ก็ให้พยายามหาที่เหมาะสมอย่างนี้ตามที่จะทำได้ คำว่า ป่า หมายถึง ที่สงบสงัดปราศจากการรบกวนหรือยั่วยวน เอาความหมายอย่างนั้นให้ได้แล้วถือปฏิบัติอย่างนั้นให้ได้ เดี๋ยวนี้ทำไมจึงชอบเข้าบ้าน ยังชอบไปอย่างที่เรียกว่า เข้าไปในบ้าน, เข้าไปในหมู่บ้าน, ไปติดต่อกับหมู่บ้าน มันจึงอยู่ที่ว่า จริงหรือไม่จริง เพราะนั้นข้อนี้ก็ลืมเสียได้อีกเหมือนกันคือ ไม่รู้ไม่ชี้ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งยั่วยวน อยู่ที่ไหนมันก็เป็นป่าที่นั่น เพราะฉะนั้นมันจึงสำคัญอยู่ที่หลักที่จะปฏิบัตินั่นเอง นี้พระพุทธเจ้าท่านก็วางหลักไว้ที่เหมาะสม วางหลักไว้ในรูปที่มันเหมาะสมสำหรับจะปรับปรุงในส่วนภายในคือ ปรับปรุงที่ตัวเอง
หลักธรรมะหมวดนี้ ก็มาในบทที่เราสวดกันอยู่เป็นประจำคือ ที่เรียกกันว่า กรณียสูตร สวดมนต์เย็น สวดบ้านเรือนก็สวดบทนี้ แต่ก็มักจะตัดเอาแต่ตอนท้ายที่ว่าด้วย เมตตา ข้อปฏิบัติมันมีอยู่ในตอนต้นๆ กรณียมัตถะ กุสเลนะยันตัง สันตัง ปทัง อภิสเมสจะ ตั้งแต่ตอนนี้ไปคือ ปรารภขึ้นมาว่า ผู้ต้องการ นิพพาน นั้นควรกระทำดังต่อไปนี้
๑. สักโก แปลว่า องอาจ นี้ฟังให้ดีว่า องอาจ นี้ ไม่ใช่ ตัวกู-ของกู ยกหูชูหาง ก็เรียกว่า องอาจ กิริยายกหูชูหางนั้นไม่ใช่องอาจ คำว่า องอาจในบทนี้มันหมายความถึง จิตใจที่มันแน่ใจแล้วก็กล้าหาญ มันรวมความหมายของคำว่า เชื่อ คือ แน่ใจนี้, แล้วกล้าหาญ, แล้วพากเพียร อะไรรวมอยู่ในนี้เสร็จเขาเรียกว่า องอาจ ภาษาบาลีเรียกว่า สักกะ หรือ ศากยะ นี้ คำเดียวกัน ทีนี้มันก็กลายเป็นตรงกันข้ามในข้อที่ว่า กล้าหาญที่จะเล่นงานตัวกูนั่น ยกเอาคำว่า องอาจกล้าหาญ ขึ้นมาเป็นคำแรกก็เพื่อจะไม่ขี้แพ้, ไม่ย่อท้อ, ไม่อ่อนแอ, ไม่ถอยหลัง แปลว่า ยืนหยัดที่จะปฏิบัติต่อไปข้างหน้าเรื่อย ข้อแรกคือ สักโก
ทีนี้ข้อที่ ๒. อุชุ อุชู ถ้าเป็นธรรมะ เรียก อุชุ ถ้าเป็นบุคคล เรียก อุชู นี่ แปลว่า เป็นคนตรง และข้อที่ ๓. สุอุชู เติม สุ เข้ามา แปลว่า ตรงอย่างดี ก็หมายถึง ซื่อ ข้อ ๒. คือ คนตรง ข้อ ๓. คือคนซื่อ สองข้อนี้ร่วมกันก็ได้, เรียกรวมกัน, ศึกษาพร้อมกันไปได้ คำว่า ซื่อ คำว่า ตรง นี้ มันก็เพ่งเล็งต่างกันนิดหน่อย คำว่า ตรงมันยังกินความไปทางที่ว่าไม่ผิด ต้องถูกด้วย เพราะนั้นจึงมาก่อนคำว่า ตรง ต้องหมายความว่าถูกต้อง ทีนี้คำว่า ซื่อนั้นมันหมายถึง ซื่อตรงต่อไอ้ที่มันถูกต้อง เราอาจจะแยกได้โดยความหมายคำว่า ตรง คือไม่ผิดแน่แล้ว เดินตรงทางนี้ แล้วก็ซื่อสัตย์ต่อมัน รวมเรียกคราวเดียวกันว่า ซื่อตรง ก็ตามใจ แต่ในที่นี้แยกทั้งสองอย่าง อุชู ว่า ตรง สุอุชู ว่า ซื่อ เพราะมันมี ตรง นำหน้า ไอ้ซื่อ มันก็กลายเป็นซื่อไปได้ ไม่กลายเป็นเซ่อ คนโบราณเขาบอกให้ระวังว่า ไอ้ซื่อนั้นบางทีมันกลายเป็นเซ่อ ไอ้คนเซ่อมันก็ตรงเหมือนกันนะ ถ้าว่าไปแล้วมันก็ตรงอย่างโง่ ไอ้ตรงอย่างนี้ไม่รวมอยู่ในพวกนี้ไม่รวมอยู่ในคำสอน ฉะนั้นจึงมี อุชู คือ ตรงอย่างถูกต้อง เสียก่อน แล้วทีนี้เอาจริงไปเลยก็ไม่มีทางจะผิดได้ ทีนี้ทั้ง ๓ บทนี้ มันเป็นลักษณะอันหนึ่งที่พอจะเห็นว่า เอาจริง สักโก องอาจ อุชู ตรง สุอุชู ว่า ซื่อ รวมกันเข้าก็เป็น เอาจริง หมวดหนึ่ง เรียกว่า หมวดเอาจริง มีธรรมะ ๓ ข้อ
ทีนี้ถัดไปอันที่ ๔. สุวะโจ แปลว่า ว่าง่าย สุ แปลว่า ดีงาม ง่าย วะโจ แปลว่า คำพูด วาจา หรือการว่ากล่าว พระไตรปิฎกฝรั่งแปลผิดอย่างน่าหัวเราะคำนี้ สุวะโจ เขาแปลว่าพูดดี ที่จริงคำนี้คำว่า สุวะโจ คำนี้ แปลว่า ว่าง่าย, คนว่าง่าย ไอ้เรื่องว่าง่ายว่ายากนี้อย่าไปทำเล่นมีว่ายากอยู่โดยไม่รู้สึกมี สารัมภะ คือความบิดพลิ้วประจำสันดานกันอยู่ทุกคน ขอให้เป็นคนว่าง่ายเถอะได้เปรียบตัวกูแยะเลย ไอ้เรื่องว่ายากนี่ทำให้ล้มละลายได้ ต่อหน้าก็ไม่เถียง แต่ว่าจิตใจไม่ยอมคือ ไม่ยอมทำ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ใช่ สุวะโจ คำว่า ว่าง่าย หมายถึง ทำตามคำสั่ง แนะนำโดยง่าย ไอ้สิ่งใดว่าอย่าทำก็ไม่ทำจริงเหมือนกัน สิ่งใดว่าต้องทำควรทำก็ทำจริงเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า สุวะโจ ทีนี้อันที่ถัดไปที่ ๕. คือ มุทุ แปลว่า อ่อน อันที่ ๖. เรียก อนะติมานี แปลว่า ไม่มีความกระด้าง มันคล้ายๆ กัน มุทุ แปลว่า อ่อนโยน มี อนะติมานี, ไม่มี อติมานะ คือ ไม่มีความกระด้างเข้ามา อีก ๓ อย่างนี้รวมเป็นหมวดเดียวกลุ่มเดียวกันได้คือว่า ว่าง่าย, อ่อนโยน, ไม่กระด้างไม่ดื้อดึง ท่านพระพุทธเจ้าตรัสเป็นรูปพุทธสุภาษิตที่แยกออกไปเป็น ๓ คำ คล้ายๆ กับว่าให้มันแน่นอนให้มันเกลี้ยงเกลา และมีความสำคัญมากในการที่จะละเสียซึ่ง ตัวกู-ของกู หรือละ สักกายทิฐิ เป็นต้น
ความจริงถ้ามีความว่าง่าย มันก็ย่อมจะหมายความว่า มีอีก ๒ อย่างนั้นได้ ความแตกต่างก็ไม่สู้จะมากนัก เมื่อ สุวะโจ มันหมายถึง ว่าง่าย, มุทุ มันหมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน ทีนี้ อนติมานี ก็หมายถึง ไม่จองหองพองขน ไม่ยกหูชูหาง คือ ไม่กระด้าง เราจะต้องพิจารณาดูให้ดีว่า ไอ้สิ่งเหล่านี้คนทั่วไปถือว่า มันไม่เกี่ยวกับเรื่องไป นิพพาน มันกลายเป็นสมบัติผู้ดีกลางบ้านอยู่แถวๆ นี้เองไม่ใช่เรื่องไป นิพพาน แต่นี้กล่าวไว้ในฐานะที่จะไป นิพพาน ที่ต้องเป็นคนว่าง่าย, เป็นคนสุภาพอ่อนโยน และเป็นคนไม่เย่อหยิ่งจองหอง ขอให้สังเกตดูให้พิจารณาดูว่า ไอ้ความหยิ่งจองหองมันมาจากอะไร มันก็มาจาก ตัวกู-ของกู เต็มที่ เป็น กิเลส เต็มที่ ถ้าใครไม่หยิ่งจองหองมันก็คล้ายกับว่าหมดไปตั้งเยอะแยะ แล้วคือ กิเลส ประเภท มานะ มันหมดไปมาก ฉะนั้นจึงได้เปรียบอยู่โดยธรรมชาติ ถ้าใครมันมีนิสัย, นิสัยสันดานเป็นมาอย่างนี้ก็แปลว่าหมวดนี้ ๓ อย่างนี้ มันก็คือ เรื่องว่าง่าย, อ่อนโยน, ไม่กระด้าง
ทีนี้ในหมวดถัดไปในอันที่ ๗, ที่ ๘, ที่ ๙, ที่ ๑๐ นี้ มันเป็นหมวดรวมๆ กันได้ ก็เรียกว่าเบาสบาย อันที่ ๗ มันโผล่ขึ้นมาเป็น สันตุสสโก เป็นคนสันโดษ สำหรับเป็นพระนั้นความหมายอาจจะรัดกุมมากขึ้นไปกว่าฆราวาสก็ได้ เพราะมันมีเรื่องน้อยอยู่แล้ว, มันมีเรื่องราวน้อยอยู่แล้ว เพราะนั้นมันสันโดษได้มาก มันยินดีเอาเท่าที่จำเป็นแก่ความเป็นภิกษุ หรือว่ายินดีเท่าที่มันจำเป็นแก่การปฏิบัติธรรม ถ้าเกินนั้นถือว่าเป็นของเฟ้อ แล้วก็เป็นผิด, ผิดทั้งวินัย, ผิดทั้งธรรมะ เพราะนั้นเท่าที่จำเป็นแก่ที่จะเป็นภิกษุนี่ยินดีเท่านี้ เช่น อาหาร, บิณฑบาตร, เสนาสนะ, เภสัช ก็ตาม ทีนี้เราไปดูกุฏิมันของเหลือเฟือ, เกินนี้อย่างใดอย่างหนึ่งไปดูเอาเองละกัน ทีนี้อันถัดไป ๘. สุภโร เลี้ยงง่าย สันโดษกับเลี้ยงง่ายนี้มันคล้ายกันมากอยู่แล้ว แต่คำว่า เลี้ยงง่ายนี่ ให้มันเนื่องกับผู้อื่น เพราะว่า ชีวิตของภิกษุนี้เนื่องด้วยผู้อื่นคือ เป็นผู้อาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เป็นปรทัตตูปชีวี (นาทีที่ 20.59) เป็นภิกษุผู้ขอ เพราะฉะนั้น ต้องเลี้ยงง่ายคือ อะไรก็ได้ที่มันพอเป็นไปได้ นี่เรายังเห็นมีการขวนขวายเกินกว่าที่เรียกว่า เลี้ยงง่าย, จู้จี้อย่างนั้นอย่างนี้
อัปกิจโจ ถัดไปแปลว่า มีธุระน้อย หรือพอประมาณ มีการงานน้อย, มีการงานพอประมาณ นี้หมายถึง การงานในความรับผิดชอบที่ทำให้มันวิตกกังวล, ให้ฟุ้งซ่าน, ให้เดือดร้อนรำคาญนั้น มันต้องออกไปให้มากที่สุดให้มันเหลือแต่น้อย เดี๋ยวนี้เรามันมีการงานมาก ถ้ามันเป็นการงานที่จำเป็นที่ดีที่มีประโยชน์มันก็อย่างหนึ่งไปอย่างหนึ่ง ก็ยังมีการงานที่เราไปรับเอามาโดยไม่จำเป็นก็เรียกว่า การงานมาก เช่นเดียวกับ, คู่กันกับ พหุกิจโจ อัปกิจโจ นี้ มีการงานมาก, มีการงานน้อย ฆราวาสมีการงานมาก เพราะ เป็นครอบครัวใหญ่ มันต้องเลี้ยงดูกันมาก หรือมีเรื่องอื่นมากเรียกว่า มีการงานมาก ส่วนภิกษุนี้ไม่มีครอบครัวไม่มีสิ่งผูกพันอะไร มีทรัพย์สมบัติที่เรียกว่า เหมือนกับนกมีแต่ปีกเป็นสมบัติ ก็เลยอยู่ที่ไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้เรียกว่า มีการงานน้อยทั้งนั้น และมี สัลลหุกวุตติ อันที่ ๑๐ มีความประพฤติเป็นไปอย่างเบาสบาย, อย่างเบาสบาย นี่ถ้าว่าฟังไม่ดี หรือให้ช่องแก่ กิเลส คือขี้เกียจก็ได้ ทั้งหมดนี้มีความประพฤติเบาสบาย, มีการงานน้อย, แล้วก็เลี้ยงง่าย, แล้วก็สันโดษ นี้รวมๆ กันแล้วกลายเป็นขี้เกียจก็ได้, ขี้เกียจทำงาน แล้วกลายเป็นขี้เกียจกินไปด้วยก็ได้ แม้แต่กินก็ไม่อยากจะกินไม่อยากจะลุกมากิน เพราะนั้นต้องเข้าใจให้ดีๆ หมวดนี้มี ๔ ข้อ, ข้อความเหมือนๆ กันหมดคือ ให้น้อย, ให้เบา สันตุสสโก เป็นคนสันโดษ, สุภโร เป็นคนเลี้ยงง่าย, อัปปกิจโจ เป็นคนมีการงานน้อย, สัลลหุกวุตติ มีความเป็นไปเบา สิ่งใดที่มันตรงกันข้ามคือ มันหนัก ก็พยายามจะตัดทอนบรรเทาออกไป และก็วิธีที่จะตัดทอนบรรเทาออกไปก็คือ อย่ายึดถือไว้โดยความเป็นตัวกู ตัดทอนจากภายนอกมันตัดทอนได้น้อยมากแล้วมันไม่ค่อยมีผลอะไร ตัดทอนภายในคือ จิตใจไม่สำคัญมั่นหมายเป็นตัวกูเป็นเรื่องของกู หรือเป็นความได้-เสีย ของกู, เป็นความรับผิดชอบของกูคือ ไม่มีตัวกูเป็นเจ้าของเรื่องนั่นละ มันตัดทอนได้มาก และก็จะทำอะไรได้มาก, ทำประโยชน์ได้มาก, มีจิตใจเหมาะสมที่จะก้าวหน้าในการบรรลุธรรม เพราะนั้นรวมความแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้ดีให้มันเป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายของคำว่า สันโดษ ของคำว่า เลี้ยงง่าย ของคำว่า มีการงานน้อย ของคำว่า ประพฤติเบาพร้อม
นี่เราอยู่ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ได้ยินว่า บางองค์ยังมีอะไรต้องไปรบกวนญาติโยมอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องไปรบกวน บางองค์ก็ทำเคร่ง, นุ่งห่มเคร่ง, ทำจีวรเคร่ง, ท่าทางเคร่งให้โยมเลื่อมใส แล้วก็ไปรบกวนขอนั่นขอนี่ แม้สุดจะขอน้ำชา, กาแฟ, บุหรี่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพระเลย ดูสิมันจะขาดทุนเท่าไร ไปประจบคฤหัสถ์นี่มันเป็นข้อเสียหายทางวินัยอย่างยิ่ง และเพื่อให้ได้มาสิ่งที่ไม่จำเป็นแก่การประพฤติพรหมจรรย์กลายเป็นสิ่งให้โทษ มันก็เลยขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง ก็มองข้ามไปเสีย เพราะว่าไม่เคยมุ่งหมายที่จะถือหลักธรรมะ มันลืมตัวไปมันก็เลยคิดแต่ว่าจะได้, จะเอา, จะได้, จะเอา, จะอย่างนั้นจะอย่างนี้ เป็นอาจารย์วิปัสสนาเพื่อทำนาบนหลังญาติโยมร่ำรวยด้วยบุหรี่ซึ่งเป็นของโปรดที่สุดเลย น่าหัวไหมของโปรดที่สุดของอาจารย์วิปัสสนาคือ บุหรี่มาก่อนสิ่งอื่น มันล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมี แต่มันก็ได้มีอยู่จริงๆ ผมอยากจะพูดว่า แม้แต่เรื่องจะเย็บปะจีวรนี้ก็ไม่ควรจะไปกวนญาติโยม ควรพยายามทำเองให้มากที่สุดให้เป็นภิกษุตามธรรมชาติของพระพุทธเจ้า มีเข็มมีด้ายสำหรับเย็บปะจีวรเองอย่างนี้ก็ดี เพราะมีวินัยที่ให้มีเข็มมีด้าย แล้วก็เย็บจีวรเอง ฉะนั้นไม่ต้องไปประจบญาติโยมไว้ให้คุ้นเคยกันไว้ แล้วจะได้วานให้เย็บจีวร แล้วขอนั่นขอนี่ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่เรื่องของพระบ้าง เย็บจีวรเองนี้เป็นพระมากกว่าไปวานคนอื่นเย็บ เพราะพระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายอย่างนั้นมันรวมอยู่ในสิ่งเหล่านี้นะ รวมอยู่ในคำว่า สันโดษ, เลี้ยงง่าย, การงานน้อย, ประพฤติเบาพร้อม นี่ถ้าไม่เช่นนั้น, มันต้องมีเรื่องมาก, ต้องหาพรรคหาพวก, หาญาติหาโยม, หาอุปัฏฐาก, หาอะไรอย่างที่มีๆ กันนี่มันรุงรังเป็นครอบครัวไปเลย จะเรียกว่าเบาพร้อมได้อย่างไร ก็แล้วแต่ว่า ส่วนใหญ่มันก็อยู่ที่จิตใจว่า รู้จักทำจิตใจให้ไม่ไปติดพันกับอะไร
ทีนี้ข้อ ๑๑ ว่า สันตินทริโย มี อินทรีย์ อันระงับ อินทรีย์ นี้ หมายถึง นกอินทรีย์ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ นั่นละ อินทรีย์, มี อินทรีย์ อันสงบรำงับ ไม่ใช่หมายถึง อินทรีย์ ธรรมะที่มีประโยชน์ ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา อินทรีย์ ๕ ไม่ได้หมายถึง อินทรีย์นั้น แต่หมายถึง อินทรีย์ ที่เป็นต้นเหตุหรือตัวการทำเสียหาย คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ มี ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ที่รำงับ ไม่ได้หมายถึง ตัววัตถุ แต่หมายถึง ความรู้สึกทางอวัยวะเหล่านั้น ระงับในที่นี้ก็หมายถึง มันไม่ถูกกระตุ้นด้วยความโลภ, ความโกรธ, ความหลง ไม่ถูกกระตุ้นด้วย ตัวกู-ของกู ดังนั้น ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ จึงอยู่ในสภาพตกลง หรือหยุดลงในลักษณะที่เรียกว่า สงบหรือระงับ ถ้ามันยังอยากดูผู้หญิง, อยากฟังวิทยุ, อยากดมดอกไม้อะไรอยู่ทำนองนี้ มันก็เรียกว่าไม่ระงับ ฉะนั้นสังเกตตัวเอง, รู้จักตัวเอง โดยไม่ต้องใครบอกว่า อินทรีย์ มันระงับหรือไม่ระงับ ถ้ายังต้องการอารมณ์ทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย, ทางผิวหนัง หรือทางความคิดนึก, ในลักษณะที่เป็นเหยื่ออยู่แล้ว ก็เรียกว่าไม่ระงับ, ไม่ระงับก็คือ หิว, หิวหรือก็คือ เป็นเปรต ดังนั้นดูลูกตาก็รู้ว่าคนนี้เป็นผู้มี อินทรีย์ อันระงับหรือไม่ระงับ แล้วความที่มี อินทรีย์ ระงับหรือไม่ระงับนี้ เขาใช้เป็นหลักสำหรับวัด, หรือว่าตรวจสอบ, หรือว่าจะลงสันนิษฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแก่นักบวชนั้นๆ เพราะนั้นเราจึงมีข้อความ, อ่านพบข้อความในบาลีทั่วไปทุกหนทุกแห่งคำว่า มี อินทรีย์ ระงับแล้วจึงได้เลื่อมใสจึงได้ติดตามมา เรื่องแรกที่สุดก็เรื่อง พระอัสสชิมีอินทรีย์ระงับ ด้วยเหตุผลเพียงข้อนี้ให้อุปติส กับโกลิตติดตามมาสู่ธรรมวินัยนี้จนมากลายเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ต้นเหตุของมันก็คือ ความที่มี อินทรีย์ สงบระงับของพระอัสสชิองค์เดียว ถ้าเขาจะทักทายกันเขาก็จะทักทายเรื่อง อินทรีย์ ผ่องใสหรือไม่ผ่องใสเช่น พระพุทธเจ้าเดินมานี้ ปริพาชกคนหนึ่งสวนทางกันเขาว่า มี อินทรีย์ ผ่องใส อุปกาชีวกพร่ำพูดแต่ว่า อินทรีย์ ผ่องใส, อินทรีย์ ผ่องใส อยู่ที่ไหนเรียนกับใครนี่ เขาเห็น อินทรีย์ ผ่องใสจึงสนใจขึ้นมา นี้คือความหมายของคำว่า อินทรีย์ ระงับ คือมี ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ที่สงบรำงับแสดงแววออกทางหน้าตา, ท่าทางนี้เห็นเข้าแล้วก็น่าสบายใจ ทีนี้ถ้าเป็นเสียเองได้ก็ดีสบาย เพียงแค่เห็นคนอื่นเป็นก็พลอยสบายด้วย และเป็นได้เสียเองก็ยิ่งสบายใหญ่ เพราะคำว่า ระงับ นี่ก็คือ เย็นสบาย
คำที่ ๑๒ นิปโก แปลว่า มีปัญญาให้สำเร็จประโยชน์ คำว่า นิปโก นี้ แปลว่า ปัญญา เขาแปลกันว่าปัญญา เฉยๆ ก็ได้ แต่ความหมายของมันเฉพาะคือความหมายเป็นปัญญาที่ให้สำเร็จประโยชน์, เลี้ยงตัวได้ คุ้มครองได้, เอาตัวรอดได้ เพราะมันยังมีปัญญาที่ทำให้ยิ่งแย่, ยิ่งมียิ่งแย่, ยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน, ยิ่งฉลาดยิ่งเข้ารกเข้าพงไปเลย มันฉลาดจนเลือกไม่ถูกว่าจะเอาอะไร มันก็มากเรื่องมากราวเข้ารกเข้าพงไปบางทีกลายเป็นไปโกงเก่งเพราะมันฉลาด รู้มากยากนานก็ฉลาดจนทำอะไรไม่ถูก ส่วนคำว่า นิปโก นี้ มีความหมายว่า พอดีเท่าที่จำเป็นเท่าที่พอดี และเอาตัวรอดได้ด้วย เดี๋ยวนี้เรามันมักจะมีปัญญาเฟ้ออ่านหนังสือเป็นตู้ๆ ผมเองก็อยู่ในพวกนั้นด้วยเหมือนกันคือว่า อ่านหนังสือมากเหมือนกัน แต่แล้วก็ระวังให้ดีอย่าให้มันเป็นเครื่องช่วยให้ปัญญาเฟ้อ ให้มันช่วยกำจัดขจัดปัญญาเฟ้อให้เหลือแต่ปัญญาพอดี นี้ผมกลัวที่ว่า นี่สั่งหนังสือกันใหญ่เขาลดราคาเหลือ ๕๐% นี้สั่งกันมามากๆ กลัวจะมาช่วยส่งเสริมปัญญาเฟ้อ มันควรอ่านให้มาก แต่เพื่อที่จะจำกัดปัญญาให้แคบเข้า, ให้มันอยู่ในวงแคบเข้าก็จะพอดีสำหรับที่จะใช้เจาะแทง กิเลส เขาจำกัดความหมายไว้อย่างนี้มีปัญญาสำหรับเจาะแทง กิเลส ไม่ได้กว้างขวางใหญ่โตครอบโลกจักรวาลนะเล็กทีเดียว ฉะนั้นถ้าใครมีปัญญากำลังเพ้อเจ้อ แล้วก็รีบจัดการให้มันเข้ามาอยู่ในวงจำกัดให้มีโฟกัสที่ถูกต้องที่ดีเจาะจงให้ตรงกับเรื่องราว แล้วเรื่องนี้ก็เคยพูดกันมากแล้วหลายครั้งหลายหนแล้ว เรื่องปัญญาที่มันใช้อะไรไม่ได้ยิ่งฉลาดยิ่งยากนาน นึกถึงรูปภาพเอาลูกน้ำเต้ามาจับปลาดุกเอาไปติดไว้ในที่ที่มองเห็นง่ายดีกว่าติดรูป calendar สวยๆ เหมือนบางกุฏิติดรูปภาพที่ทำให้แย่ เอาไปทิ้งจะดีกว่า มีรูปภาพอย่างนี้ติดแทนดีกว่า แม้แต่รูปโครงกระดูกนั่นถ้ามันชินชาเข้าไปนัก มันก็ช่วยอะไรไม่ได้มันไม่ค่อยจะเตือนอะไรมาก ไอ้รูปภาพอย่างนี้ว่าอย่ามีปัญญาโง่, อย่ามีปัญญาจนโง่คือ มันเฟ้อมันไม่มีความสามารถที่จะเจาะแทง กิเลส ฉะนั้นเราต้องมีปัญญาชนิดที่มีสมรรถภาพ หรือมีคุณสมบัติชนิดที่จะเจาะแทง กิเลส โดยตรง แล้วรูปน้ำเต้าจับปลาดุกมันก็ช่วยเตือนสติได้ อันที่ ๑๓ มันมีคำว่า อัปปคัพโภ คำนี้แปลว่า ไม่คะนอง ไอ้ที่หลุกหลิกริกริกอะไรกันอยู่เรื่อยๆ ไป หัวเราะมากนั้นละคือ คะนอง คือ ปคัพโพ ทีนี้ อัปปคัพโพ ก็คือ ไม่มีสิ่งเหล่านั้น เพราะนั้นระเบียบปฏิบัติพระพุทธเจ้าจึงไม่มีการหัวเราะ หัวเราะเป็นเรื่องของเด็ก, ของเด็กอมมือ เพราะนั้นคนโตๆ เป็นพระด้วย หัวเราะนี้ก็กลายเป็นเด็กอมมือเป็นความคะนองอย่างหนึ่งก็ต้องเป็นคะนองทางวาจา ทีนี้ไอ้ริกๆ รี้ๆ มันก็เป็นคะนองทางกายทางร่างกาย ส่วนใจนั้นดูไม่เห็นมันก็มีความคะนองด้วย เพราะการหัวเราะหรืออะไรมันก็ออกมาจากจิตใจ คำว่า ปคัพโพ แปลว่า คะนอง คำว่า คะนอง ก็เป็นการคะนองของ กิเลส กิเลส กำลังร่ายรำ ไม่ใช่ธรรมะ หรือสติปัญญากำลังแสดงตัวออกมา มันเป็นเรื่องของ กิเลส กำลังแสดงความร่าเริง ปราศจากการบังคับตัวเองปล่อยไปตามสบาย, หัวเราะ, เล่นหัว แล้วไปออกละครให้เพื่อนดูนี้ อันนี้ต้องไม่มี จึงจะเรียกว่า อัปปคัพโพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อุตส่าห์มาอยู่ถึงในป่านี้ไม่ควรจะมี
อย่างสุดท้ายก็คือ กุเลสุ อนนุคิทโธ ไม่พัวพันในสกุล คำว่าสกุลนี้ ก็หมายถึง ชาวบ้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อุปัฏฐาก ชาวบ้านนั้น เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือโดยความมีศรัทธาเป็นผู้อุปัฏฐาก ทีนี้ บทบัญญัติสุดท้ายมีว่า ไม่พัวพันด้วยสกุลอุปัฏฐาก หรืออย่างอื่นใดที่มันมีความหมายเหมือนกับสกุลอุปัฏฐาก หรือว่า จะตั้งอุปัฏฐากกันขึ้นมาเสียเอง องค์ไหนรวยมากก็ตั้งโรงครัวเลี้ยงองค์อื่นๆ นี้ อันนี้ก็ควรระวังให้ดี เปิดโรงเลี้ยงหรือเปิดบาร์เครื่องดื่มอะไรขึ้นในกุฏิ, เชิญเพื่อนมาเลี้ยงอย่างนี้มันก็กลายเป็นเรื่องที่มีความหมายคล้ายกัน ไม่ควรจะมีในหมู่ผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมะ รวมแล้วมันเป็น ๑๔ หัวข้อด้วยกัน, เบื้องต้นด้วย, เบื้องปลายด้วย, ท่ามกลางด้วยอยู่ในตัวเสร็จ เพราะมันขยายความได้มาก มันมีรากฐานอยู่ที่ ตัวกู-ของกู หรือว่าไม่มี ตัวกู-ของกู มันคำๆ เดียว มันก็มีความหมายที่ขยายออกไปได้มาก หรือย่นเข้ามาได้มากเช่นว่า อนติมานี นี้เป็นพระอรหันต์เลยก็ได้เพียงข้อเดียว ไม่มีความกระด้างโดยทิฏฐิมานะ นี่เป็นพระอรหันต์เลยก็ได้ หรือจะเป็นเพียงการบังคับในอันดับแรกก็ได้ นี้ก็ไปตรวจดูรายการเหล่านี้ทั้ง ๑๔ ข้อเอาเอง นี่เขียนเป็นบัญชีหางว่าว แล้วก็พิจารณาดูทุกวันทุกวันติดไว้ที่ฝาห้องจะได้ไม่มีช่องโหว่เผลอ ทำไมพระพุทธเจ้าท่านระบุไว้เพียงเท่านี้สำหรับผู้อยู่ป่า นี่มันหมดนะมันไม่ใช่เพียงเท่านี้ เพราะว่าถ้าประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างนี้เท่านี้มันพอ
ทีนี้อีกอันหนึ่งก็เป็นเรื่อง เมตตา ส่วนที่ปฏิบัติส่วนตัวนั้นก็มีอยู่ ๑๔ ข้อ แล้วเพื่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทั่วไปและตัวเองด้วยก็คือ เมตตา ให้เป็นอยู่ด้วย เมตตา ที่ไม่มีขอบเขตหมายความว่า แก่สัตว์ที่มีชีวิตทั่วไปไม่มีขอบเขต มนุษย์, เดรัจฉาน, เทวดา, นรกอะไรก็ตามอยู่ในข่ายของความ เมตตา ของภิกษุนั้นทั้งเบื้องบน, เบื้องล่าง, เบื้องขวาง, เบื้องใด นี้ก็คือมี เมตตา แต่เพียง เมตตา เรื่องเดียวมันก็ดูจะรู้สึกกันว่าหนักมากเป็นภูเขาเลากาทำยาก คือหมายความว่า ทำยาก ที่จริงมันก็ทำยากถ้าทำด้วยใจจริงๆ ถ้าว่าแต่ปากก็ทำง่าย สพฺเพ สตฺตา อเวรา สุขิโน ว่ากันไปเรื่อยว่ากันแต่ปากเหมือนสวดมนต์นั้นมันก็ว่าได้ แต่ที่มีจิตใจเป็นไปตามนั้นจริงๆ จะต้องฝึกฝนกันอยู่นาน เพราะฉะนั้นค่ำลงอย่าไปคุยกันเลย นั่งหลับตานึกถึงจิตใจที่มันมีความ เมตตา ในสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์, เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย หรือเปล่า นี่จึงจะได้เพราะความ เมตตา นั้นพระพุทธเจ้าท่านต้องการมากเลย อายุสา ปุตตะมะนุรักเข มาตา อายุสา ปุตตะมะนุรักเข เหมือนกับแม่รักลูกด้วยชีวิตจิตใจ อายุสา เหมือนกับด้วยชีวิตเลยคือ แม่รักลูกอย่างสุดชีวิตจิตใจอย่างไร, เธอจงมี เมตตา ในสัตว์ทั้งหลายอย่างนั้น มันก็ต้องการความจริงอยู่มาก นี้เราก็มีต้นทุนอยู่ข้างต้นแล้วมี สักโก อุชู สุอุชู นั่นละ คือ ความจริง, ความซื่อ, ความจริง, ความตรง แล้วก็มีปัญญาพอเหมาะถูกต้องมาช่วยกัน ก็เลยเป็นผู้ที่มี เมตตา มีจิตใจที่ปราศจากเวรภัย ฉะนั้นจึงไม่กลัวอะไรโดยที่เชื่อว่าไม่มีเวรภัยกับใครก็ไม่มีใครจะทำอันตรายใดๆ แม้แต่เสือนี่ก็ไม่กลัว ทีนี้เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้, เมื่อภิกษุผู้ปรารถนาอยู่ซึ่งคุณเบื้องสูง คือ สันตปทังค นิพพานนี้, ปฏิบัติอยู่อย่างนี้มันก็มีความสำเร็จแสดงอานิสงค์ไว้ตอนสุดท้ายของสูตรว่า ทิฏฐิญจะ อะนุปปะคัมมะ สีลวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน นี้เป็นพระโสดาบัน ทิฏฐิญจะ อะนุปปะคัมมะ ไม่เข้าไปสู่ ทิฏฐิ คือ ละมิจฉาทิฐิ ต่างๆ ได้หมด สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลพพัตปรามาส ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ทิฏฐิ หรือว่า มิจฉาทิฏฐิ ไม่เข้าไปสู่ ทิฐิ ทั้ง ๓ นี้อีกต่อไป นี้ก็ สีลวา เป็นผู้มีศีล หมายถึง มีศีลจริง, มีศีลไม่ด่างไม่พร้อย, มีศีลชนิดที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ ถ้าเอาหลักเรื่องละ ทิฐิ ก็เอาหลักเรื่อง สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลพพัตปรามาส ซึ่งเป็น มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ขึ้นมาเป็นหลักแล้วก็ละได้, เป็นพระโสดาบันก็มีหลักอยู่ในเรื่องสังโยชน์ ๑๐ นี้
ทีนี้ถ้าเอาเรื่องศีลเป็นหลัก มันก็มีอยู่หลายๆ สูตรในสังยุตตนิกายเรียกว่า โสตาปัตติยังคะ องค์แห่งความเป็นโสดาบันก็มีว่า ศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า, ศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระธรรม, ศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์, แล้วก็มี อริยกันตศีล มีศีลเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าคือ สีลวา ในที่นี้ขยายความหมายว่า มีศีลไม่ด่างไม่พร้อย, ไม่ทะลุไม่คอดไม่กิ่ว, ไม่อะไร, ยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นก็คือ ความเป็นพระโสดาบันนั่นเอง โดยไม่ต้องนึกถึงเรื่องอื่นก็ได้ ถ้ามันได้ถึงขนาดนี้มันแน่นอนที่จะเป็นพระโสดาบันที่จะก้าวไปข้างหน้าไม่มีถอยหลัง แล้วถ้าไม่เอาอย่างนี้เป็นหลักมันก็เอา อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลัก มีครบนั่นในอันดับแรกก็เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน มันมีเครื่องวัดหลายๆ อย่าง ทีนี้เขารวมกันเรียกว่า ไม่เข้าถึงมิจฉาทิฏฐิ, มีศีลแล้วก็ถึงพร้อมด้วย ทัศนะ ทัสสะเนนะสัมปันโน คือ มีความรู้ถูกต้องในเรื่องทุกข์, เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์, เรื่องความดับทุกข์, เรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ ให้ถึงพร้อมใน ทัศนะ อย่างนี้นี่เป็นพระโสดาบันรวมทั้งพระสกิทาคามีด้วย
ทีนี้ถ้าก้าวหน้าต่อไปอีกก็ถึงบทที่ว่า กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นำออกซึ่งความกำหนัดในกามทั้งหลายได้ เคธะ หมายความว่า ความกำหนัดยินดี กาเมสุ ในกามทั้งหลาย วิเนยยะ นำออกได้ นี้ก็เป็นพระอนาคามี ทีนี้มันยังมีก้าวหน้าต่อไปอีกก็ถึงบทสุดท้าย นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนเรตีติฯ ไม่เข้าไปนอนในห้องอีกต่อไป ตัวหนังสือแปลว่า ไม่เข้าไปนอนในห้องอีกต่อไป ห้องในที่นี้หมายถึง คัพโภทร ที่เกิด คือ ท้องมารดา, ไม่มีการเข้าไปสู่ท้องมารดาอีกต่อไป, จะเป็นการเกิดทางกาย หรือเป็นทางจิต ทางวิญญาณอะไรก็ตามใจ ที่เขาเรียกว่า คัพภะ ไม่มีการเกิดแห่ง ตัวกู-ของกู อีกต่อไป, ก็เป็นพระอรหันต์ สูตรนี้มันมีอยู่อย่างนี้ แสดงอานิสงค์ไว้เป็น พระโสดาบัน, พระสกิทาคามี, อนาคามี, อรหันต์ ด้วยการปฏิบัติ ๑๕ อย่างด้วยกัน ๑๔ อย่างนั้นเพื่อขูดเกลานะ ๑ อย่างก็คือ เมตตา
ทีนี้ที่ผมอยากจะพูดก็คือว่า อยากให้ผู้ฟังทุกองค์นี้รู้จักสรุปไอ้หลักปฏิบัติต่างๆ นี่เข้าไปไว้ในหลักเดียวกันเรื่อยไป อย่าได้เห็นว่ามากเรื่อง หรือหลายชุดหลายแบบหลายระบบ มันจะกี่ระบบกี่แบบก็ตามมันเรื่องเดียว สรุปความแล้วมันในเรื่องล้างตัวกู, ชะล้างตัวกูอยู่เรื่อย นี่ลองปฏิบัติอย่างนี้ดูมันเหมือนจะเอามีดขูดหนังตัวกูเอายาแสบๆ ใส่ นี่เป็นเรื่องชะล้างตัวกูอย่างนั้น ฉะนั้นเราจะได้ฟังบทธรรม ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ หรือว่าจะเอามาจัดทำเป็นชุดๆ กี่ร้อยชุดก็ตาม มันจะเหลืออยู่แต่เพียงว่า ไถ่ถอนตัวกู, ขัดเกลาตัวกู, ชะล้างตัวกู, ทำลายตัวกูในที่สุด ไอ้เรื่องคดนี่มันก็เรื่องตัวกู หมวดแรกมันแก้ความคดในเรื่องของตัวกู ทีนี้หมวดถัดมามันเป็นเรื่องกระด้าง, กระด้างก็เป็นเรื่องของตัวกู, มันก็ต้องแก้ความกระด้าง นี้หมวดถัดมามันเป็นอยู่เรื่องหนักอึ้งเลี้ยงยากไม่สันโดษนี้มันก็เป็นเรื่องตัวกูที่มันหนักอึ้งที่ อินทรีย์ ไม่ระงับนั่นละคือสัญลักษณ์ที่ตัวกูส่งออกมาจากภายใน ก็ต้องทำให้ระงับมันบีบคั้นตัวกู ทีนี้จะมีปัญญาเจาะแทง กิเลส และมีปัญญาเจาะแทงตัวกูคือ มีอาวุธที่แหลม, ที่คม, ที่รุนแรง, อะไร, แทงยิงเข้าไปที่ตัวกู ทีนี้ความคะนองก็เป็นเรื่องของตัวกู หยุดความคะนองเสียได้ตัวกูก็หมดหนทางระบายอารมณ์ ที่ไม่พัวพันด้วยสกุลก็คือ เรื่องไม่เห็นแก่ความสุขของตัวกูที่มี เมตตา ไปเห็นแก่ผู้อื่น ไม่ให้โอกาสแก่ตัวกู, ไปให้ผู้อื่นเป็นใหญ่, ไปให้ผู้อื่นเป็นหลัก ทำงานถ้าเหงื่อเลี้ยงตัวกู, มันก็เลี้ยงตัวกู ถ้าทำงานล้างตัวกูก็เห็นแก่ผู้อื่น ฉะนั้นการทำงานล้างตัวกูต้องทำงานเพื่อสิ่งอื่นไม่ใช่เพื่อตัวเอง, เพื่อศาสนา, เพื่อโลก, เพื่อส่วนรวม, เพื่อความว่างอะไรก็ได้มันจะทำลายตัวกู
ทีนี้ทำไมเราจึงพูดหลักปฏิบัติไว้เป็นชุด, เป็นระบบนั้นระบบนี้, อย่างนั้นอย่างนี้ก็เพื่อเผื่อเลือก, เพื่อถูกใจบุคคล แล้วมันก็จำได้ง่าย เมื่อเรามันชอบใจข้อปฏิบัติที่กล่าวไว้ในรูปอย่างนี้ชุดนี้ แล้วก็ชอบใจ มันก็ง่ายที่จะมี ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่ามันมากกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เลย
เอาละ เวลาของเราก็หมด