แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ในวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงเรื่องอันเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ไปตามเคย ครั้งที่แล้วแล้วมาเราได้พูดถึงตัวกูอยากไป นิพพาน ขึ้นมา แล้วก็ตัวกูอยากไป นิพพาน เพราะอยากจะกินอาหารทางวิญญาณที่สูงขึ้นไป ส่วนวันนี้จะได้พูดถึงโดยหัวข้อว่า การไต่เต้าไปตามลำดับของตัวกูที่จะไปสู่นิพพาน โดยหลักใหญ่ๆ แล้วก็อยากจะให้ทุกคนสังเกตเอาจากเรื่องการละ สังโยชน์ หรือ อนุสัย คือ ความเคยชินของ กิเลส ที่เป็นไปตามลำดับที่ได้กล่าวไว้ในรายละเอียดของการละ สังโยชน์ ของพระอริยบุคคล คือ เรื่อง สังโยชน์ ๑๐ หรือ อนุสัย ๑๐ นั้น
แต่ทีนี้เราอยากจะสรุปให้มันสั้นเข้ามาให้เห็นได้ชัด หรือง่ายขึ้นกว่าที่จะมีถึง ๑๐ หัวข้อเช่นนั้น เพราะฉะนั้นมันก็จะเหลือแต่เพียงหัวข้อที่สังเกตได้โดยง่ายคือ เกี่ยวกับคำว่า ราคะ ซึ่งจะมีอยู่เพียง ๔ คำ ๑. กามราคะ ๒. รูปราคะ ๓. อรูปราคะ ทีนี้ ๔. ก็ ธรรมราคะ
ราคะ นั้น มีความหมายกว้างไม่ใช่เฉพาะ, ไม่ใช่มีความหมายเฉพาะแต่เรื่องกามารมณ์ คนทั่วไปรู้จักคำว่า ราคะ แต่ในเรื่องทางกามารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงฟังไม่ออกสำหรับคำว่า รูปราคะ อรูปราคะ และ ธรรมราคะในที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ราคะ นี้ให้ดีจนกระทั่งเข้าใจได้ว่า คำว่า ธรรมราคะ หรือมี ราคะใน นิพพาน นั้นคืออย่างไร
เพื่อจะให้เข้าใจคำว่า ราคะ ดี ก็ต้องดูที่ กามราคะ ก่อน เพราะว่าใครๆ ก็รู้จักดีว่า กามราคะ นั้นเป็นอย่างไร ทีนี้ก็แยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนอารมณ์ และก็ส่วนจิตใจคือ ผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ กามะ เป็นผู้ถูกกระทำ, ราคะ เป็นผู้กระทำ กามราคะ คือ มีความกำหนัดในกามแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ กาม กับคำว่า ราคะ ทีนี้เอาแต่ความหมายของคำว่า ราคะ ก็คือ ความกำหนัดในภาษาไทย, ความกำหนัดยินดีในภาษาไทย, กำหนัดยินดีในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็เรียกว่า ราคะ ทั้งนั้น ที่เป็นไปมาก แรงกล้าก็คือ ในอารมณ์ที่เป็น กาม หรือ กามคุณ คำว่า ราคะ แปลว่า ย้อม เหมือนสีย้อมผ้า กิริยาคำว่าย้อมนี่คือรากศัพท์ของคำว่า ราคะ มันก็ติดแน่นมากเหมือนสีย้อมผ้าแต่ก็มิได้หมายความว่าหลุดไม่ออก หลุดออกไม่ได้คือ มันยังมีทางที่ละหน่ายออกไปได้ตามลำดับที่เรียกว่า วิราคะ ราคะ ก็แปลว่า ย้อม วิราคะก็แปลว่า หลุดออกมาก็คือ จางออกมา กิริยาที่ย้อมติดเข้าไปในสิ่งใดก็เรียกว่า ราคะในสิ่งนั้น
ทีนี้การที่จิตในนามของตัวกูนี่มันเปลี่ยนอารมณ์ของความกำหนัดยินดีไปตามลำดับคือ สูงขึ้นไป, สูงขึ้นไป, สูงขึ้นไป ก็เรียกว่า การไต่เต้าไปตามลำดับของจิตที่จะไปสู่ นิพพาน ตามที่มันอยากจะนิพพาน เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าตัวกูอยากไป นิพพาน หรือไต่เต้าไป นิพพาน นี้ คำว่า ตัวกู มันก็มีความหมายกว้างอีกเหมือนกัน ตัวกูที่มันยังหนายังเป็นปุถุชนจนเกินไปนั้นก็อย่างหนึ่ง, ก็ตัวกูจัด, เรียกว่า เป็นตัวกูชั้นเลวที่สุด ทีนี้แม้ว่ามันจะได้มีสติปัญญาเห็นอะไรขึ้นมาบ้างตามลำดับจนกระทั่งกลายเป็น โพธิ กิเลส กลายเป็น โพธิ ในอันดับแรกๆ อย่างนี้มันก็ยังมีตัวกูอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นตัวกูมันไปละได้หมดเมื่อเป็นพระอรหันต์ เมื่อเป็นดังนั้นย่อมหมายความว่า พระโสดาบัน, พระสกิทาคามี, พระอนาคามี นี้ก็ยังมีตัวกูเหลืออยู่ในระดับที่สูงขึ้นมาคือ ตัวกูที่ดีกว่า, ดีกว่า, ดีกว่าขึ้นมา ฉลาดในหลายๆ อย่าง แต่ไม่ฉลาดถึงที่สุดในการที่จะละเสียซึ่งตัวกู เพราะฉะนั้นตัวกูชั้นเลวที่สุดก็อยากจะเป็นอยากจะไต่เต้าไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันก็อยากจะเลื่อนขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี และเป็นพระอรหันต์ในที่สุด แม้เราจะใช้คำว่า อยาก หรือต้องการ หรือไต่เต้า หรืออะไร มันก็ยังต่างกันอยู่มาก ความอยากของตัวกูที่โง่มากนั้นเป็นความอยากอย่างรุนแรง ความอยากของตัวกูที่เป็นพระอริยเจ้า มันก็เป็นความต้องการด้วยสติปัญญา แต่ถ้า อัสมิมานะ ยังละไม่ได้อยู่เพียงไร ก็ยังเรียกว่ามีตัวกูอยู่เพียงนั้น เพราะฉะนั้นพระโสดาบันก็ยังมี อัสมิมานะ ชั้นดี มีตัวกูที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา
ฉะนั้นต้องการที่จะก้าวขึ้นไปตามลำดับก็ต้องการด้วยสติปัญญาไม่ใช่ต้องการด้วย กิเลสตัณหา หรือ อวิชชา ตัวกูที่โง่เขลาที่สุดที่เห่อๆ ตามๆ เขาว่ากันว่า นิพพาน ดีอย่างนั้นก็อยากจะไป อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องการอยากด้วย อวิชชา ด้วย ตัณหา ด้วย อุปาทาน ก็เลยเป็นเรื่องที่น่าสงสารน่าหัวเราะ หรือเป็นเรื่องผิดไปเลยก็มี เพราะไม่รู้จักว่า นิพพาน คืออะไร แต่พระโสดาบันพระอริยบุคคลในอันดับแรกนั้น รู้ว่า นิพพาน นั้นเป็นอย่างไรทั้งที่ยังไม่ถึง เขาจึงเรียกว่า ถึงกระแสแห่ง นิพพาน คือ รู้วี่แววลู่ทาง ลักษณะอะไรของ นิพพาน เป็นอันดับแรก เพราะว่าการขึ้นไปแห่ง สังโยชน์ ๓ ประการของความเป็นพระโสดาบันนั้นก็จัดเป็น นิพพาน ชนิดหนึ่งได้ เรื่องนี้เคยเถียงกันจนถึงกับโกรธเคืองกันด่าว่ากัน ผมก็เป็นผู้ถูกด่าตามเคยที่ว่า สอุปาทิเสสบุคคล ๙ จำพวกนั้น ในบาลีมีไว้ชัดว่า พระโสดาบัน ๓ จำพวก, พระสกิทาคามี ๑ จำพวก, พระอนาคามี ๕ จำพวก รวมกันเป็น ๙ จำพวก นี้คือ สอุปาทิเสสบุคคล คือบุคคลที่ดับกิเลสยังมีเชื้อเหลือ เพราะฉะนั้นคำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ต้องหมายถึงบุคคล ๙ จำพวกนี้ ได้ สอุปาทิเสสนิพพาน ทีนี้ไอ้พวกที่สอนกันอยู่ก่อนเขาว่าไม่ใช่อย่างนั้นคือ พระอรหันต์ยังเป็นๆ อยู่เรียกว่าได้ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ดับลงไปตายลงไปจึงจะได้ อนุปาทิเสสนิพพาน มันไปคนละเรื่องอย่างนี้
แต่เดี๋ยวนี้พูดอย่างผมพูดก็พูดตามที่เคยพูดคือ ตามบาลีอังคุตรนิกายว่า ผู้ได้บรรลุ นิพพาน ในอันดับแรกก็คือ พระโสดาบัน, สกิทาคามี, อนาคามี ขึ้นไปตามลำดับเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน เป็น นิพพาน ของพระอริยบุคคลขั้นต้นต้นก่อนแต่เป็นพระอรหันต์ ต่อเป็นพระอรหันต์จึงจะได้, จึงจะเรียกว่าเป็น อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับไม่มีเชื้อเหลือไม่มีกิเลสเหลือ พูดให้เข้าใจง่ายหน่อยก็ต้องพูดว่า ถ้าพระโสดาบันถึงแก่กรรมลงไปคือ ตายลงนี้ก็จึงเรียกว่า พระโสดาบันดับไปด้วย สอุปาทิเสสนิพพาน พระสกิทาคามีก็เหมือนกัน ถ้าสมมติว่าท่านตายลงก็ต้องเรียกว่า ท่านดับไปด้วย สอุปาทิเสสนิพพาน พระอนาคามีก็เหมือนกันถ้าท่านตายลงก็ต้องเรียกว่าท่านดับไปด้วย สอุปาทิเสสนิพพาน มีพระอรหันต์เท่านั้นเมื่อตายลงก็จะเรียกว่า ท่านดับไปด้วย อนุปาทิเสสนิพพาน อย่างนี้มันจะเข้าใจง่ายว่า นิพพาน นี้ใช้ได้กับพระอริยบุคคลทั้งหมด นิพพาน เหล่านี้อยู่ในเครือของ นิพพาน แท้จริง หรือโดยสมบูรณ์แต่ยังไม่สมบูรณ์ยังอยู่ในลำดับขั้นต้นๆ ต่างๆ กันไปตามลำดับ แต่ว่าแน่นอนที่จะมีการเป็น นิพพาน โดยสมบูรณ์โดยแท้จริง เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคลขั้นต้นต้นก็มีความประสงค์ด้วยสติปัญญาที่จะก้าวหน้าไปตามลำดับเป็นการไต่เต้าไปสู่ นิพพาน ที่สูงขึ้นไป ทีนี้เหตุใดจึงใช้คำว่าตัวกูกับท่านเหล่านั้นกับพระอริยเจ้าเหล่านั้นก็เพราะว่า ท่านยังไม่หมด อัสมิมานะ ยังมี อัสมิมานะ คือ ความสำคัญว่าตัวเรา หรือตัวฉัน หรือตัวกูนี้เหลืออยู่
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงลำดับโดยถือเอาหลักของ ราคะ ๔ ประการนี้เป็นหลัก ปุถุชนธรรมดาสามัญคนอันธพาลชั้นต่ำที่ไม่ใช่ชั้นพระอริยบุคคลนั้นเราไม่ต้องพูดกันก็ได้คือ จะมีความหลงใหลด้วย อวิชชา ด้วย ตัณหา ด้วย กามราคะ เป็นต้นเป็นพื้นฐานอยู่ทั่วๆ ไป
ทีนี้ก็มาจับเริ่มต้นว่า เป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังละ กามราคะ ไม่ได้คงละได้ก็แต่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตปรามาส ละได้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ ก็หมายความว่า ยังละ กามราคะ ไม่ได้ แต่ว่าได้ทำกามราคะ ให้เบาบางลงไปมากกว่าคนธรรมดาสามัญ
ทีนี้เป็นพระสกิทาคามีสูงขึ้นไปในอันดับที่ ๒ ก็ยังละ กามราคะ ไม่ได้
ทีนี้ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามีจึงละ กามราคะ ได้ ทีนี้มันก็เหลืออีก ๒ ราคะ คือ รูปราคะ อรูปราคะ นี่
ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้ เขาเรียกว่า พระอรหันต์จึงจะละได้ นี่ ลำดับมีอยู่อย่างนี้ กามราคะ จะเริ่มละได้ตั้งแต่ความเป็นพระอนาคามีขึ้นไป รูปราคะ อรูปราคะ จะละได้ตั้งแต่ความเป็นพระอรหันต์ขึ้นไป เพราะความเป็นพระอรหันต์ไม่พูดว่าขึ้นไปเพราะมันไม่มีสูงกว่านั้นแล้ว
ทีนี้เราก็ดูกันลงไปที่พระอริยบุคคลขั้นที่ ๑ คือ พระโสดาบันที่ไม่ละ กามราคะ ได้ เพียงแต่ทำให้เบาบางได้นั้น ท่านละอะไรก็คือ ท่านละตัวกูที่หยาบๆ เลวๆ นั่นเอง จะได้ สักกายทิฏฐิ นั่นแหละ คือ ตัวกูอย่างหยาบอย่างเลวที่สุดเลย สักกายทิฏฐิ ก็ สังโยชน์ ข้อที่ ๑ ความเข้าใจ หรือการคิดเห็นว่ากายของตนก็คือ กายของกู สะ แปลว่า ของตน, กายะ แปลว่า กาย, ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ความเห็นว่ากายของกูนี้ท่านละได้ในชั้นหยาบ และ วิจิกิจฉา ข้อที่ ๒ คือ เริ่มแน่ใจในทางฝ่ายนี้ในทางฝ่าย โลกุตตระ นี้ และ สีลัพพตปรามาส ก็ละความโง่เขลางมงายที่ไร้เหตุผลอย่างของชาวบ้านทั่วไปนั้นเสียได้ทุกอย่าง พระโสดาบันละได้ขาด ๓ อย่างนี้ ไม่เกี่ยวกับ กามราคะ เพราะว่ายังละไม่ได้เด็ดขาด
พระอนาคามีก็ละได้เท่านี้ แต่ว่าทำ กามราคะ หรือ โทสะ ให้เบาบางลงไปได้อีกมาก ต่อเป็นพระอนาคามีจึงละ กามราคะ และ ปฏิฆะ คือ โทสะ ได้อีก ๒ อย่าง รวมเป็น ๕ อย่าง จึงจะเรียกว่า เป็นพระอนาคามี ตรงนี้มีข้อที่ต้องสังเกตว่า การไต่ไปตามลำดับสู่ธรรมะอันสูงสุดคือ นิพพาน นั้น มันเริ่มละ ตัวกู-ของกู อย่างหยาบอย่างเลวก่อน ไม่สามารถถึงกับจะละ กามราคะ ได้ แล้วก็ละไอ้ความลังเลที่แกว่งไปแกว่งมาว่าไปทางนี้ดีหรือไปทางโน้นดีนี้เสียได้ ก็ต้องละไอ้ความงมงายที่เคยชินมาแต่กาลก่อนได้ มันกลายเป็นเรื่องละ โมหะ ก่อนที่ละได้ขาด มันกลายเป็นละ โมหะ ก่อน ไม่ใช่ละ ราคะ หรือละ โทสะ ก่อน
เพราะฉะนั้น กิเลส ที่เรียงลำดับไว้ว่า ราคะ, โทสะ, โมหะ นั้น อย่าเข้าใจไปว่ามันจะต้องละไปตามลำดับอย่างนั้น มันจะกลายเป็นคนโง่ไปก็ได้เพราะว่า ราคะ, โทสะ มันไม่อาจจะละได้ ถ้าไม่ไปโจมตี หรือว่าทำลายเข้าที่ โมหะ นั้นเสียก่อน ข้อนี้ขอให้ระลึกถึงอีกพวกอีกอันหนึ่งอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญอยู่ คือ ศีล, สมาธิ, ปัญญา เมื่อมีการปฏิบัตินั้นจะต้องปฏิบัติ ปัญญา ก่อน แล้ว ศีล, สมาธิ มันจึงจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครถือไปตามตัวหนังสือปฏิบัติ ศีล แล้ว, ปฏิบัติ สมาธิ, แล้วปฏิบัติ ปัญญา นี่มันขัดกันในตัวเองมันเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องเอา ปัญญา มาก่อน แล้วจึงจะมี ศีล มี สมาธิ แล้วก็ มี ปัญญา ยิ่งขึ้นไป แล้วจึงจะมี ศีล มี สมาธิ ยิ่งขึ้นไป แล้ว ปัญญา มันก็ยิ่งขึ้นไป เห็นได้ง่ายที่สุดที่ อริยมรรคมีองค์ 8 ท่านต้องเริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป ๒ ข้อนี้ก่อน ๒ ข้อนี้เป็น ปัญญา แล้วจึงจะมี สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว นี้เป็น ศีล แล้วมี สัมมาวายาโม, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ นี้เป็น สมาธิ ปัญญา ต้องมาก่อนแล้วมี ศีล แล้วมี สมาธิ ในทางปฏิบัติจริงเป็นอย่างนี้แต่ในตัวหนังสือนั้นเขาวางไว้ตามลำดับความสูงต่ำ มันก็เลยเป็น ศีล, สมาธิ, ปัญญา แต่พวกเธอทั้งทีที่จะปฏิบัติต้อง ปัญญา แล้ว ศีล, สมาธิ และวนกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป เพราะฉะนั้นตัวกูที่จะไต่เต้าไปสู่ นิพพาน ตามทางของ อัฏฐังคิกมรรค นี่ มันก็ต้องเริ่มด้วย ปัญญา ก่อน มันถึงจะลากเอา ศีล เอา สมาธิ ไปตามลำดับ
ทีนี้เรื่อง ราคะ, โทสะ, โมหะ ก็เหมือนกัน มันวางไว้อย่างนั้นโดยตัวหนังสือโดยเหตุผลอะไรก็ตามใจ แต่ในทางปฏิบัติในทางหลักของการปฏิบัติที่จะเป็นไปได้จริงนั้นมันก็ต้องเรียกว่าละ ราคะ ก่อน เอ้ย, ละ โมหะ ก่อนคือ มุ่งไปโจมตีทำลายกันที่ โมหะ ก่อน และไอ้ ราคะ, โทสะ นี่มันก็จะถูกทำลาย เพราะเหตุฉะนั้นการเป็นพระอริยบุคคลท่านจึงละ สักกายทิฏฐิ ความเข้าใจว่ากายของกูนี่ก่อน แล้วก็ละ วิจิกิจฉา คือ ความลังเล ที่บางทีก็เห็นแก่กามารมย์ บางทีก็เห็นแก่ นิพพาน อย่างนี้ เห็นแก่เนกขัมมะ นี้ มันลังเลอยู่อย่างนี้ อยู่บ้านดีหรือออกบวชดี เป็นต้น จะสึกไปมีเมียดีหรือจะอยู่วัดต่อไปดี อย่างนี้มันก็อยู่ในชุดนี้ เพราะฉะนั้นละ วิจิกิจฉา อย่างนี้ได้ ข้อที่ ๒ ทีนี้ ข้อที่ ๓ มันก็ สีลัพพตปรามาส การกระทำใดใดที่กระทำมาอย่างงมงายไร้เหตุผลนี่ต้องละหมด มันนับตั้งแต่เรื่องไสยศาสตร์ที่ไร้เหตุผลที่ปฏิบัติอยู่อย่างงมงายไร้เหตุผล จะต้องละกระทั่งข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่ปฏิบัติอยู่ด้วยความงมงายไร้เหตุผลนี่ก็ต้องละหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ลงปาฏิโมกข์ เมื่อตะกี้นี้ว่า ลงปาฏิโมกข์แล้วจะเหมือนอาบน้ำล้างบาป อย่างนี้นี่คืองมงาย หรือโง่ นี่เป็น สีลัพพตปรามาส แล้วก็พูดกันอย่างนั้นอยู่ทั่วๆ ไป ตั้งแต่ผมแรกมาบวชก็ได้ยินอย่างนั้นว่า ไปลงอุโบสถแล้วก็เหมือนอาบน้ำล้างบาป มันต้องมีเหตุผลว่า ลงปาฏิโมกข์, ลงอุโบสถนั้น, ทำอย่างไรเพื่ออะไร ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของวินัยอย่างไรนั่น จึงจะไม่งมงาย ที่แท้มันก็เป็นการทำให้ดีขึ้นในส่วนวินัยนั้นถูกแล้ว แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นทำนองว่า เหมือนกับอาบน้ำล้างบาปนี้มันเป็น สีลัพพตปรามาส นี่เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่เรากระทำอยู่ในวัด, เรื่องไหว้พระสวดมนต์, เรื่องกิจวัตรอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเข้าใจผิดไปในทางเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์แล้วก็เป็น สีลัพพตปรามาส เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ทำไปโดยงมงาย ไม่มีเหตุผลถูกต้องตามทางธรรมวินัยแล้วก็เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ทั้งหมดไม่ว่าอะไรเลยนับตั้งแต่ไสยศาสตร์เป็นต้น
ขึ้นมาเออ, เมื่อพูดว่าไสยศาสตร์ก็อยากจะเตือนไว้อีกว่า ไอ้ไสยศาสตร์นั้นอย่าไปเหมากันว่ามันจะเป็นไสยศาสตร์อยู่เสมอไป ถ้ารู้ความหมายของมันก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ได้ เพราะว่าคนโบราณเขาบางทีก็ฉลาดกว่าพวกเราพูดไว้พวกเราโง่ก็มี ไอ้ที่เรียกว่าไสยศาสตร์ที่มันโง่จริงๆ ก็มี แต่ที่มีฉลาดหรือเป็นวิทยาศาตร์ แต่พูดไว้ให้ศักดิ์สิทธิ์ให้คนปฏิบัติตามโดยง่ายโดยสะดวกก็มี อย่างที่ผมเคยยกตัวอย่างให้ฟังว่า ผมก็ถือไสยศาสตร์เช่น อาบน้ำตอนเช้าต้องชุบศีรษะก่อนคือ รดลงมาตั้งแต่ศีรษะก่อน อาบน้ำตอนค่ำต้องรดที่เท้าแล้วสูงขึ้นมาตามลำดับก่อน อาบน้ำตอนเที่ยงก็รดที่หน้าอกก่อนนี่ถ้าถือตามคัมภีร์ไสยศาสตร์เขาว่า ขวัญศิริมิ่งขวัญอะไรมันอยู่ที่นั่น เวลาเช้ามันอยู่ที่นั่น, เวลาเย็นมันอยู่ที่นั่น และกลางวันมันอยู่ที่นั่น มันเป็นคำพูดอย่างไสยศาสตร์ ทีนี้ที่ผมปฏิบัติอยู่นั้นคือ ได้ผลดี มันกันเป็นหวัดได้ถ้าทำอย่างนี้จะกันเป็นหวัดได้เกือบ ๑๐๐% คุณไปลองดูก็แล้วกัน อาบน้ำตอนค่ำน่ะอย่าพรวดพราดไปรดที่ศีรษะจะเป็นหวัดทันทีเลยก็ได้ ถ้ารดขึ้นที่เท้าแล้วสูงๆ ขึ้นมาตามลำดับนี่รับประกันได้ แต่ถ้าตอนเช้าล่ะไม่เป็นไรรดที่ศีรษะได้ผลกว่า ตอนเที่ยงนี้รู้สึกว่ามันสบายมาที่จะสาดเข้าไปที่หน้าอกก่อนมันก็เลยกลายเป็นวิทยาศาสตร์ นี้เป็นตัวอย่างของไสยศาสตร์ หลายๆ อย่างที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่คนโบราณเขาฉลาดกว่าเราเขาพูดไว้อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ก็ต้องยกเว้น เว้นไว้แต่จะไปถืออย่างตามตัวหนังสือว่า มิ่งขวัญมันอยู่ที่นั่นเวลาเช้ามันอย่างนั้นจึงจะเป็น สีลัพพตปรามาส แต่ถ้าปฏิบัติไปตามเหตุผลมันก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่ สีลัพพตปรามาส แม้ทำด้วยความเชื่อที่เขียนเป็นตัวหนังสือแล้วเหมือนกัน อาบน้ำตอนเช้าต้องทำอย่างนั้น, อาบน้ำตอนเที่ยงต้องทำอย่างนั้น, อาบน้ำตอนเย็นทำอย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่างของไสยศาสตร์ที่จะเป็น สีลัพพตปรามาส หรือไม่เป็น ที่จริงไสยศาสตร์ต้องเป็นหมด แต่ว่ารูปของไสยศาสตร์นั้นมันเปลี่ยนเป็นไม่ใช่ไสยศาสตร์ก็ได้ คำว่า ไสยศาสตร์ก็ต้องเอาเป็นพวกไม่มีเหตุผลเสมอ
ทีนี้พระโสดาบันก็ละ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส เริ่มถอนไอ้ส่วนที่เป็น โมหะ ก่อนเป็นพื้นฐานก่อน ทีนี้ถ้าให้สูงขึ้นไปนี่จึงจะมาประชันกันกับ กามราคะ ชั้นที่ละเอียดชั้นที่ไม่หยาบคายกับ โทสะ ชั้นที่ละเอียด ละได้ถึงจะเป็นพระอนาคามี ทีนี้ถ้าเป็นพระอนาคามีแล้วก็ยังมี รูปราคะ, อรูปราคะ เหลือเผชิญหน้าอยู่อีก ความกำหนัดพอใจยินดีในความสุขที่เกิดแต่ รูป ที่เกิดแต่ อรูป เป็นราคะ ๒ ราคะ เหลืออยู่ ซึ่งพระอนาคามีจะต้องฟันผ่าไปแล้วในที่สุดก็ไปละ โมหะ ที่ละเอียดที่ลึกซึ้งที่เหลืออยู่ มานะ, อุจทัจจะ, อวิชชา นี่ อีก ๓ ต้องละพร้อมกันไปทั้ง ๕ นี้ จึงจะเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ รูปราคะ ก็หมายถึง ความกำหนัดในรูป แต่คำว่า รูป ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึง รูป ล้วนๆ หมายถึง รูป ที่กำลังทำหน้าที่ให้เกิดความพอใจ รูป ที่บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์สำหรับทางจิตใจ และที่เกี่ยวกับหลักธรรมมะในการละ สังโยชน์ นี้ เขาเพ่งเล็งไปถึงความสุขที่เกิดจาก รูปฌาน เจริญ รูปฌาน นี้คือ เอาสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์เช่น ดวงกสิณเขียวแดง หรือว่าเช่น ลมหายใจ หรือว่าอะไรก็ตามนี่ เขาเรียกว่า รูป ไปหมด เจริญ รูปฌาน เหล่านี้จนได้รับผลเป็นความสุขขึ้นมาแล้วก็พอใจในความสุขอันนี้ก็เลยละ ราคะ ในกามารมณ์ได้ มามี ราคะ ในรูปบริสุทธิ์นี้นี่เรียกว่าละบ่วงนั้นมาติดบ่วงนี้ ทีนี้ยังมีที่สูงขึ้นไปกว่าก็คือ อรูปราคะ เพราะว่าเอาไอ้สิ่งที่ไม่มี รูป มาเป็นอารมณ์ของการเจริญสมาธิ ถ้าสำเร็จก็เรียกว่าได้ อรูปฌาน ความสุขที่เกิดจาก อรูปฌาน นี้ดึงดูดใจอย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปกว่า รูปฌาน เพราะนั้นจึงเอาไว้ทีหลัง รูปราคะ, อรูปราคะ ก็ถือได้ว่าเป็นระดับสูงสุดของอารมณ์ของ ราคะ ที่มันเป็นเรื่องดึงดูดใจอย่างโลกๆ
อรูปราคะ ความสุขความยินดีพอใจในความสุขที่เกิดจาก อรูปฌาน พูดอย่างสรุปสั้นๆ อรูปฌาน ในที่นี้ก็แทนที่ว่า จะเอาของภายนอกมานั่งเพ่งหรือเพ่งลมหายใจ เขาเอาของที่ไม่มีรูปร่างมาเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นอันดับที่ ๑ ก็คือ เอาอากาศ หรือความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ ทำในใจถึงข้อที่ว่า อากาศคือ สิ่งที่ว่างไม่มีที่สิ้นสุดมีบทบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำสำเร็จมันก็เป็น อรูปฌาน ขั้นที่ ๑ มีความสุข, ประณีต, ละเอียด, สุขุมยิ่งไปกว่า รูปฌาน
ทีนี้ อรูปฌาน ที่ ๒ ก็เอา วิญญาณธาตุคือ ธาตุจิต หรือสิ่งที่เรียกว่านามธรรมเป็นอารมณ์ พิจารณา วิญญานํ อนนฺตํ นี้ วิญญาณก็เป็นธาตุที่ไม่มีที่สิ้นสุดคือว่า ไม่มีกว้างยาวสูง อะไรอย่างนี้ก็เรียกว่า เวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุดว่า อนนฺตํ วิญฺญานํ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำได้สำเร็จจิตมันก็ละเอียดประณีตสูงไปกว่า อรูปฌาน ที่ ๑ ความสุขมันก็ประณีตกว่า ทีนี้ อรูปฌาน ที่ ๓ เอาความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ บริกรรมว่า ไม่มีอะไรเลย นตฺถิ กิญจิ นตฺถิ กิญจิ แล้วอะไรๆ ก็ไม่มี นี่ถ้าทำสำเร็จมันก็เป็น อรูปฌาน ขั้นที่ ๓ นี้ซึ่งมันสูงหรือประณีต หรือละเอียดขึ้นไปอีก อรูปฌาน ที่ ๔ ทำในใจถึงความที่ว่า มีสัญญาก็ไม่ใช่, ไม่มีก็ไม่ใช่คือ ความรู้สึกถึงขนาดว่า มีความรู้สึกอยู่ก็ไม่ใช่, ไม่มีความรู้สึกก็ไม่ใช่ ก็มันยังไม่ตาย แต่จะว่ามีความรู้สึกมันก็ไม่ใช่ เพราะมันหมดความรู้สึกมันก็เลยเป็นอันสูงสุดของฝ่ายฌาน หรือว่า โลกียสมาธิ นั้น
สมัยนี้เกือบจะไม่ต้องพูดถึงเพราะว่า ไม่มีใครสนใจ หรือจะพูดว่า ไม่มีใครได้ความสุขชนิดนี้ แต่ถ้าเป็นสมัยพุทธกาลเป็นของธรรมดาสามัญคือ มีอยู่มาก และมีอยู่ก่อน พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่พร้อมแล้ว ท่านเคยไปศึกษาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงถูกนับไว้ในบัญชีที่ว่าเป็นอารมณ์สำหรับที่จะเข้าไปยึดมั่นด้วยความกำหนัดยินดีนี้อยู่ด้วย กลุ่มหนึ่งเรียกว่า รูปราคะ ยินดีในความสุขเกิดจาก รูปฌาน อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า อรูปราคะ ยินดีในความสุขอันเกิดจาก อรูปฌาน นี่ก็เพื่อจะที่เอามาพูดนี้ก็เพื่อจะให้มองเห็นชัดว่า กามราคะนั้นมันหยาบที่สุด, โยกโคลง, หวั่นไหว, รุนแรง, สกปรก หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ส่วน รูปราคะ นั้นน่ะมันไม่หวั่นไหว, โยกโคลง, รุนแรง, สกปรก เหมือนนั่น แต่มันก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดชนิดที่สูงขึ้นไป ทีนี้ อรูปราคะ นั้น ละเอียด, ประณีต, สุขุมยิ่งไปกว่า และก็เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดีนี่คือ อรูปราคะ เพราะฉะนั้นเราเลยได้ ราคะ มา ๓ อันดับแล้วว่า เรียกว่า กามราคะ อันดับหนึ่ง รูปราคะ อันดับหนึ่ง อรูปราคะ อันดับหนึ่งที่ตัวกูมันจะไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับเรียกว่า มันกินอาหารทางวิญญาณสูงขึ้นมาตามลำดับ, สูงขึ้นมาตามลำดับ ทีนี้ในสังโยชน์ ๑๐ ยังมี ๓ อันต่อท้ายว่า มานะ, อุทธัจจะ, อวิชชา นี่ละพร้อมกันตอนนี้ทั้ง ๕ อย่างนะ ทั้ง รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธธัจจะ, อวิชชา จึงจะเป็นพระอรหันต์ รูปราคะ, อรูปราคะ พูดแล้วก็เหลืออยู่แต่ มานะ คือความสำคัญว่า ตัวมีตัว ตัวมีตัวอยู่ อันนี้ละเอียดประณีตกว่าไอ้อันแรกที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ โน่นมันตัวกูหยาบๆ ง่ายๆ เลวๆ ที่พระโสดาบันก็ละได้ แต่พอมาถึง มานะ นี่มันคือตัว ความรู้สึกว่า มีตัวที่ละเอียดประณีตไปกว่านั้น, พอยังเหลืออยู่, พอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ดีกว่า หรือเลวกว่า หรือเสมอกัน มีความสำคัญด้วย มานะ ว่า เราดีกว่าเขา หรือว่าเราเลวกว่าเขา หรือว่าเราเสมอกันกับเขา ถ้าความรู้สึกอย่างนี้ยังเหลืออยู่นี่เรียกว่ามี มานะ อยู่นี่ต้องละไป
ทีนี้ อุทธัจจะ ก็คือ ความสะดุ้งสะเทือน ในเมื่อมีอะไรมาเข้ามาในคลองของความรู้สึกทางตา ทางหู อะไรก็ตาม อุทธัจจะ อย่างนี้ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านอย่าไปแปลเอาความฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ อุทธัจจะ ในนิวรณ์ ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านอย่างใน นิวรณ์ นั่นมันเป็น อุปกิเลส ของสมาธิชั้นเลวชั้นต่ำ ความฟุ้งซ่านนั้นชื่อมันเหมือนกัน อุทธัจจะ ใน สังโยชน์ นี้คือ ความเกิดสะดุ้ง หรือสนใจ หรือทึ่ง ภาษาอังกฤษอาจจะเหมาะที่สุดที่จะใช้คำสั้นๆ ว่า move ถ้ามีอะไรเข้ามาในคลองของสายตา หรือของหู ของจมูก ทางอะไรก็ตาม มันเกิด move ก็เรียกว่า อุทธัจจะ คือมันไปทึ่งว่านี่จะเป็นอย่างไร นี่จะให้คุณหรือให้โทษ จะได้หรือจะเสีย, น่ารัก, น่าอันตราย หรือว่าน่าคบค้าสมาคม อันนี้ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ภาษาไทยจะใช้ว่าอะไรก็ลองคิดดูเอง ผมจะเรียกง่ายๆ ว่าสนใจ, มีความสนใจ, เกิดความสนใจในสิ่งที่เข้ามากระทบคือ ทึ่งในสิ่งที่เข้ามากระทบ ถ้าละได้แล้วคือ เป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่ทึ่งจะไม่สนใจในอะไร เพราะไม่รู้สึกว่าตายหรืออยู่, ได้หรือเสีย, น่ารักหรือน่าเกลียด, อะไรก็ตามใจ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ move ต่อสิ่งใดหมด
ทีนี้อันสุดท้าย อวิชชา ความหมายที่เหลืออยู่สำหรับ อวิชชา เดี๋ยวนี้น้อยมากคือมันหมายถึง ขั้นสุดท้าย อวิชชา ขั้นสุดท้ายที่ทำให้ละสิ่งต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ไม่ได้ ถ้าละ อวิชชา นี้ได้ก็เป็นอันว่าละกิเลสอนุสัย ที่เหลืออยู่ได้ อวิชชา ก็พึงรู้ว่ามันมีอยู่หลายระดับแม้ว่าความหมายมันเหมือนกัน ความหมายมันเหมือนกันตรงที่ว่า ไม่รู้ความทุกข์, ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์, ไม่รู้ความดับสนิทของความทุกข์, ไม่รู้ทางให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์ มัน ๔ อย่างเหล่านี้ทั้งหมดเลย ถ้าเป็น อวิชชา แล้วก็ต้องไม่รู้ ๔ อย่างเหล่านี้ แต่ว่าการไม่รู้ หรือการรู้ ๔ อย่างเหล่านี้มันมีอยู่หลายชั้น เพราะฉะนั้นพระโสดา, พระสกิทา, อนาคา ก็ได้ละ อวิชชา บางชั้นไปได้แต่ไม่หมด อวิชชา เพราะฉะนั้นจึงเหลืออยู่เป็นสุดท้ายสำหรับพระอรหันต์ละ ก็เลยละ อวิชชา ซึ่งเป็น สังโยชน์ อันสุดท้ายได้มันจึงหมดกัน
ทีนี้ตอนนี้จะมาเรียกว่า ธรรมราคะ หรือ ราคะ ใน นิพพาน อีกไม่ได้ แต่ว่าเราเรียกกันโดยเปรียบเทียบเหมือนกับว่ามี ราคะ ในกาม มี ราคะ ในความสุขที่เกิดแต่ รูปฌาน, อรูปฌาน ขอให้นึกถึงคำว่า ธรรมราคะ, ธรรมนันทิ, ธรรมกามะ เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎกซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงอยู่เสมอว่า ธรรมราคะ มันไม่ใช่ กามราคะ, ไม่ใช่ รูปราคะ, ไม่ใช่ อรูปราคะ และก็ไม่ใช่ไม่สักแต่ว่า ธรรมารมณ์ ที่เรียกว่า ธรรมะ ใน อายตนะ ๖ แล้วก็มี ราคะ ใน ธรรมารมณ์ นั้น จะเรียก ธรรมราคะ นี้ไม่ได้ ไอ้ ธรรมราคะ นี้ต้องตรงกันข้ามกับ ๓ ราคะ ที่แล้วมาเสมอ เพราะฉะนั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็มี ธรรมราคะ ได้ แม้ว่าเป็นปุถุชนแต่เป็นปุถุชนชั้นดีนะก็มีธรรมราคะได้ในบางครั้งบางคราว, บางโอกาส หรือว่าในบางลักษณะ อาจจะมีความรักความพอใจในธรรม, ในพระธรรม, ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกามราคะนี่ได้ และคนเหล่านี้ก็ไม่มีปัญญาจะเรียนรู้เรื่อง รูปราคะ, อรูปราคะ ฉะนั้นก็ยกเลิกไปเอง มารู้เรื่องแต่ กามราคะ และบางคราเกลียดชัง มีจิตน้อมไปในทางเนกขัมมะจริงๆ อย่างนี้ก็เรียกว่า ธรรมราคะ ได้ ก็มีคำว่า ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ผู้มีกามในธรรมเป็นผู้เจริญ ในสูตรเรื่อง ภวาภวสูตร (นาทีที่ 41:26) บางทีก็เรียกว่า ธรรมนันทิ นันทิ นี้ก็เป็นกิเลส อย่างเดียวกับ ราคะ เป็นเครื่องแทนกันได้มีความเพลินในธรรม เพราะฉะนั้นต้องจัด ธรรมราคะ นี้ว่าสูงไปกว่า รูปราคะ หรือ อรูปราคะ ถ้าว่าปุถุชนมีได้มันก็หมายความว่าในขณะนั้นโดยเฉพาะมันมี ตัวกู-ของกู ระงับลงไปมากเป็นพิเศษ มันก็มีความรู้สึกอันนี้ได้ แต่ทีนี้มันไม่เด็ดขาดลงไปได้เท่านั้นมันกลับมามันกลับไปสู่ไอ้ความโง่ความเลว ความผิดอย่างเดิมอีก
ฉะนั้นจะเรียกว่า ธรรมราคะ จริงๆ ได้ก็เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ไอ้ความรู้สึกยินดีพอใจนั้น มันมีอยู่ ไม่ใช่ว่าจะไม่มี แต่มันไม่มีผลเหมือนกับไอ้ที่คนที่ไม่เป็นพระอรหันต์มี ความยินดีของคนที่ไม่เป็นพระอรหันต์มันก็ต้องปรุงเป็น อุปาทาน เป็น ภพ เป็น ชาติ อะไรไปตามลำดับ แต่ว่าความยินดีในนิพพาน โดยบริสุทธิ์นั้นมันไม่ปรุงให้เป็น ตัณหา, อุปาทาน, ภพ, ชาติ อีกได้คือ มันไม่ปรุง ปฏิจจสมุปบาท ไปได้ แต่ท่านก็รู้สึกเหมือนกับที่คนเราธรรมดาสามัญรู้สึกยกตัวอย่างเช่นว่า อาหารนี้อร่อยๆสำหรับท่านว่าอย่างนั้นท่านก็รู้ว่ามันอร่อยไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกจน, จนไม่รู้สึกว่ามันอร่อย หรือไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ว่าเมื่อรู้สึกว่าอร่อยแล้ว มันมีปฏิกิริยาเกิดขั้นต่างกันมันเพียงแต่รู้สึกว่าอร่อย ส่วนถ้าปุถุชนธรรมดาสามัญพอรู้สึกว่ามันอร่อยแล้ว มันไม่หยุดอยู่แค่อร่อยมันปรุงความคิดอย่างอื่นต่อไป ทีนี้ถ้าเป็นพระอรหันต์ไอ้ความอร่อยมันหยุดชะงักอยู่เพียงว่าสิ่งนี้มันอร่อย ของนี้มันอร่อย หรือของนั้นมันไม่อร่อย แล้วมันก็หยุดอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นไอ้ความรู้สึกทางลิ้น, ทางจมูก, ทางอะไรมันยังดีอยู่ ยังรู้สึกถูกต้องอยู่ตามสมมติตามบัญญัติทั่วๆ ไปว่าอะไรเขาเรียกว่าอะไร เพราะฉะนั้น ความอร่อยทางตา, ทางหู, ทางจมูกนั้น ถ้าเกิดขึ้นถ้ากระทบขึ้นท่านก็รู้สึกว่าอร่อยแล้วมันก็หยุดอยู่แค่นั้น มันจึงไม่มีความหมายที่จะทำหน้าที่ตามความหมายของคำว่า อร่อยเพื่อให้เกิดกิเลสตัณหานั่นคือคำอธิบายของคำที่ว่า เห็นสักว่าเห็น, ได้ยินสักว่าได้ยิน, ได้ฟังสักว่าได้ยิน, ได้ดมสักว่าได้ดม หมายความว่า มันรู้ว่ากลิ่นอะไร ทีนี้มันมีอยู่ก็แต่เพียงว่า ไม่สนใจต่อไปอีกเช่น กลิ่นหอมเข้ามาก็รู้ว่ามันกลิ่นหอมของอะไร หรือว่าไม่อยากจะสนใจว่ากลิ่นหอมของดอกไม้อะไรก็ได้ แต่ก็ต้องอย่างน้อยก็ต้องรู้สึกว่ามันหอม แล้วมันก็เป็นที่ตั้งแห่ง สุขเวทนา แต่ทีนี้มันไม่ปรุง ตัณหา เท่านั้นเอง ฉะนั้นท่านก็รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจไม่ได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นของที่ต่ำเกินไปคือ ธรรมดาสามัญเกินไป
ทีนี้เอาใจความกันสักทีหนึ่งว่า ไอ้ความรู้สึกว่าอะไรอร่อย หรือไม่อร่อยนี่ท่านมีอยู่เหมือนกัน รู้สึกว่าสุขหรือทุกข์นี้ก็มีแม้ที่เกี่ยวกับทางจิตใจล้วนๆ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ก็มีความพอใจได้ แต่ไม่ใช่ความพอใจที่จะปรุง กิเลส หรือปรุง ตัณหา, อุปาทาน หรือ ภพชาติ คือ มีความสบายใจ หรือมีความพอใจในความสงบรำงับแห่งพระ นิพพาน นั้นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไอ้ ราคะ, กามะ หรือนันทิ อย่างนี้มันถูกเปลี่ยนเป็น ไอ้ ธรรมนันทิ, ธรรมราคะ, ธรรมกามะ อะไรไป แต่ขอให้เข้าใจว่า คำบางคำมันมีความหมายกำกวม หรือหลายระดับเช่น ธรรมกามะ อย่างนี้ไม่ต้องถึง นิพพาน ก็ได้เช่นว่า ชอบใจพระธรรมตามธรรมดาสามัญที่เราจะรู้สึกได้, ชอบใจพระพุทธศาสนา, ชอบใจหลักพระธรรม ชอบใจว่าหลักปฏิบัติอันนี้จะดับทุกข์ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า ธรรมกามะ ได้ ธรรมราคะ ได้ เพราะเรายินดีที่จะมอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ, แก่พระธรรม, แก่พระสงฆ์ ด้วยความพอใจนี้ เอาละ, ทีนี้มันก็พอจะได้เค้าเงื่อนว่า เรามี ราคะ อยู่ ๔ ระดับ กามราคะ นี่ เรื่องวุ่นวายโกลาหล, เรื่องเปียก, เรื่องสกปรก เรื่องอะไรอยู่กันที่นี่, จะเป็นอย่างมนุษย์ก็ดี, อย่างสัตว์เดรัจฉานก็ดี, อย่างเทวดาในสวรรค์กามาวจรก็ดี เหมือนมีความหมายเหมือนคือ เพ่งเล็งถึงเรื่องเพศตรงกันข้ามเป็นใหญ่กว่าเรื่องอื่น
ทีนี้ก็มาถึง รูปราคะ นี่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์โดยประการทั้งปวง แต่ให้เกิดความรู้สึกสบายใจ พอใจยินดีได้ ที่จะเห็นได้ง่ายๆ เช่น คนธรรมดาสามัญจะมี รูปราคะ ได้เช่น เขาชอบของเล่น, ของเล่นที่เป็นวัตถุ, เล่นต้นไม้, เล่นอะไรจนลืมลูกลืมเมีย ที่ใกล้ๆ นี่ก็มีคนหนึ่งรักปลากัดรักนกเขายิ่งกว่าเมีย อย่างนี้มันเป็นวัตถุสำหรับเป็นที่ตั้งให้ความกำหนัดเลยไม่ต้องมีเมียกันอย่างนี้ก็มี แต่ว่าที่เป็นของที่พระอรหันต์จะต้องละนั้นมันไปไกลกว่านั้นคือ ความสุขที่เกิดแต่ รูปฌาน แต่ก็มีความหมายเหมือนกันตรงที่ว่า ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ที่เป็น อรูปราคะ คือ ไม่มี รูป ก็เป็นนามธรรม จะบ้าบุญ, บ้ากุศล, บ้าเกียรติ, บ้ายอ, ยอมตายเพื่อเกียรติ, เพื่อนี้ไปก็ได้ ที่เห็นได้ง่ายๆ อย่างนี้บางคนอยากจะบ้าดีหรือบ้าเกียรติจะยอมเสียสละอะไรหมดก็ได้เขาก็สบายใจเหมือนกัน แต่ถ้าเรื่องของธรรมะอะไรหลักศาสนานั้นก็หมายถึงความสุขที่เกิดมาแต่ อรูปฌาน นี้ก็ต้องเปรียบเทียบดูสิว่า กามารมณ์นั้นน่ะมันเรื่องโกลาหลวุ่นวาย ทีนี้เรื่องรูปบริสุทธิ์นั้นมันละเอียดลงไป, มันหยุด, มันระงับ, มันสะอาด นี้, ทีนี้ อรูปฌาน นั้นยิ่งไปกว่านั้นอีก, ละเอียดไปกว่านั้นอีก เพราะมันไม่เอา รูป มาเป็นหลัก รูป นี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและแตกสลายได้ เพราะนั้นเราเอาสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่แตกสลายมาเป็นอารมณ์มันก็เป็นที่ตั้งแห่งความดึงดูดกว่า ทีนี้ถ้าผิดจากนี้ก็ต้องเป็นเรื่องเหนือโลกคือ เป็น โลกุตตระ จะมาเป็นอารมณ์ของความพอใจยินดีเรื่อง กาม เรื่อง รูป เรื่อง อรูป นี่ก็รวมๆ เรียกว่า โลกียะ คือ ยังเป็นฝ่ายโลก เหนือจากนั้นไปก็เป็นฝ่าย โลกุตตระ คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร, เอาความว่างเป็นอารมณ์ของความพอใจ ความที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูหรือในของตัวกูนี้เป็นอารมณ์สำหรับความพอใจเรียกว่า เอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ของความสุข
ทีนี้เราพูดกันโดยหัวข้อว่า การไต่เต้าของตัวกูไปสู่ นิพพาน นี่คุณก็ลองพิจารณาดู โดยไอ้หลักทั้ง ๔ นี้, ทั้ง ๔ ราคะ เพราะว่าทางอื่นมันไม่มี หรือว่าทางอื่นนั้นมันมีก็มีแต่วกวนไม่สูงขึ้นไปตามลำดับ ตัวกูมันก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของ อวิชชา ที่มีอยู่ หรือเหลืออยู่มีความหมายเป็นตัวฉันเป็นของฉัน ทีนี้มันโง่มากมันก็ไปหลงในของที่ต่ำมาก, มันฉลาดขึ้นมันก็หลงในของที่สูงขึ้นไป, สูงขึ้นไป, สูงขึ้นไปจนสูงสุดจนไม่มีอะไรจะหลง ฉะนั้นแนวมันมีอยู่อย่างนี้ ทีนี้ทางที่เป็นไปได้คือ หนทางที่มันจะรอดได้มันก็ยังอยู่ตรงที่ว่า ไอ้สิ่งต่างๆ มันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนแปลงได้เป็น อนิจจัง นี่มันรอดตัวเพราะเหตุนี้ เรารู้จักใช้ความเป็น อนิจจัง ให้มันถูกต้องคือ ให้มันเปลี่ยนไปในทางดี หรือทางสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีความซ้ำซาก, ซ้ำซากใน กามราคะ นี่ ในอารมณ์ที่เป็น กาม นี่มากเข้า, มากเข้า มันก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเบื่อได้, เบื่อกระทั่งเกลียดคือ เป็น โทสะหรือเป็น นิพพิทา ขึ้นมาได้ ทีนี้ถ้าศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปในทางจิตวิทยามันก็พอจะมองเห็นได้ว่า ไอ้ความรักกับความเกลียดนี่มันแฝดกันอยู่เสมอไป ไอ้ที่เรียกว่ารักหรืออะไรนั่นละ ลองให้มันซ้ำซากหนักเข้าเดี๋ยวมันก็กลายเป็นความเกลียด แล้วก็เพราะเหตุที่ว่า ไม่มีสิ่งใดที่มันจะคงที่อยู่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความรักมันก็เปลี่ยนเป็นสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความเกลียดได้ เพราะที่เบื่อในสิ่งที่ซ้ำซากนี้มันก็เป็นเรื่องของสามัญสำนึก หรือสัญชาติญาณอยู่แล้วมันจึงมีโอกาสที่จะเบื่อหรือจะเกลียดได้
เพราะฉะนั้นเราก็มีหวังที่จะเบื่อหน่ายหรือคลายกำหนัดไม่ช้าก็เร็วไม่เร็วก็ช้า อยากจะให้มันเร็วเข้าก็ศึกษาเล่าเรียนให้มันถูกวิธีเช่น ศึกษาพุทธศาสนา, ศึกษาพระธรรม นี้มันเป็นเรื่องถูกวิธีที่จะทำให้ไม่โง่อยู่นานนักคือ ทำให้เกิดรู้สึกเบื่อหน่ายคลายกำหนัดขึ้นมาได้ในโอกาสอันควร เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่บรรลุธรรมะตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ก็มี เริ่มเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เด็กๆ นี้ก็มี แต่มันน้อยคนมาก ทีนี้เราเอาคนทั่วๆ ไปตามธรรมดาสามัญเป็นหลัก มันก็พอที่จะทำให้ทันได้ในชีวิตนี้เช่น สมมติว่ามีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ถ้าหากว่ามันมีการแวดล้อมถูกต้องนะ สิ่งต่างๆ ที่มันแวดล้อมเราอยู่เป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่า ๑๐๐ ปีนี่พอ, พอที่จะเบื่อหน่ายไปตามลำดับ, ตามลำดับ, ตามลำดับจนถึงที่สุดได้ เดี๋ยวนี้มันมีการแวดล้อมไม่ดีเช่น โลกนี้ประดิษฐ์อารมณ์ของ กามราคะ มามากเกินไป, เฟ้อเกินไป, ล้นเกินไป, นี้ก็อย่างหนึ่ง แล้วทีนี้วัฒนธรรมในครอบครัวนี้มันเลวลงมันไม่ดีมันไม่ได้ทำให้เด็กๆ นี่ก้าวหน้าในทางจิตใจ หมุนกลับให้เด็กๆ ลุ่มหลงมากขึ้น นี่วัฒนธรรมในครอบครัวของพุทธบริษัทที่ดีในสมัยโบราณไม่เป็นอย่างนี้มีแต่ทำให้ก้าวขึ้นไปข้างหน้า, รู้จักอิ่ม, รู้จักพอกันไปตามลำดับ เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมในครอบครัวของคนเจริญแผนใหม่นี้เลวมาก และเลวลง, เลวลงในการที่จะทำให้มันหมกจมอยู่ในอารมณ์ของ กามราคะ นี้มาก เพราะฉะนั้นร้อยปีคงไม่พอ มันก็ต้องตายเปล่า เกิดมานี่เรียกว่า สิ่งแวดล้อมมันไม่ดีจะโทษใครก็ไม่ได้ มันเป็นยุคเป็นสมัย หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่จะพูดเช่นว่า สิ่งแวดล้อมเป็นไปตามธรรมชาติ, อย่าเข้าใครออกใคร, อย่าไปดัดแปลงอะไรให้มันมาก ผมว่ายังมีหวังที่มันจะพอสำหรับคนที่มีอายุ ๑๐๐ ปี พูดเหมือนกับที่เราเคยพูดกันมาแล้วว่า อาศรม ๔ นี้ในร้อยปีนี้พอจะทัน แต่ขอให้ตั้งต้นด้วยการถูกต้องกันตั้งแต่อาศรมแรก คือ เป็นเด็ก, เป็นหนุ่ม, เป็นสาว, เป็นอาศรมพรหมจารีย์ นี้ให้ถูกต้อง อย่าให้มันบ้ามากเหมือนสมัยนี้
ทีนี้มันก็เป็นเด็กเป็นหนุ่มสาวที่เตรียมพร้อมที่จะที่ไม่มีอะไรเลวมาก หรือว่าหมกจมลุ่มหลงมากนี่มันก็ก้าวขึ้นไปสู่อาศรม คฤหัสถ์ ได้ดีแล้วมันก็เบื่อได้เร็ว มันก็จะเป็น วานปรัสถ์ ชอบความสงบได้ในเวลาอันสมควร แล้วก็ไปถึง สันยาสี ๔ ทำประโยชน์กับผู้อื่นได้ในอายุ ๑๐๐ ปี ถ้าสิ่งแวดล้อมมันเป็นไปดี หรือว่าอย่างน้อยเพียงเท่าที่ธรรมชาติมันมีให้ เดี๋ยวนี้มนุษย์เข้าไปแทรกแซง ความเจริญแผนใหม่นี่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะเดินไปตามหลักอันนี้ได้ในระยะเวลาชั่วชีวิตหนึ่ง มันก็ตายเปล่าเสียเป็นส่วนมาก หรือลุ่มหลงในเรื่องเนื้อหนังจนตายเปล่า ทีนี้ตัวกูไหนที่มันจะไต่เต้าไปได้ เพราะว่าตัวกูมันหลอก, มันถูกหลอก, ถูกลวง, ถูกมัด, ถูกยึด, ถูกตรึงอะไรไว้มากเกินไป มันก็มีอยู่แต่ตัวกูที่มันกล้าหาญ หรือมันฉลาด หรือมันไม่โง่มาก หรือว่าเผอิญประจวบเหมาะ มันมีการพบกันเข้ากับพระธรรมนี้ พระศาสนาหรือพระธรรมในลักษณะพิเศษนี้มันก็คงจะออกไปได้เหมือนกัน แต่ต้องถือว่าเป็นน้อยเป็นส่วนน้อยที่สุดแล้ว นี่มันไปเข้ากับเหลักโบรงโบราณที่เขาหากันว่าครึคระคือว่า คนจะบรรลุมรรคผลได้ไม่ยาก ในสมัยที่โลกนี้มันมีอะไรๆ พอประมาณคือว่า ไม่มีไอ้สิ่งยั่วยวนนั้นมากเกินไป และก็ไม่มีความขาดแคลนมากเกินไป หรือว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นในโลก ก็เฉพาะในโลกที่มันไม่มีอะไรมากเกินไปด้วยเหมือนกัน, ไม่มีสิ่งยั่วยวนมากเกินไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเกิดไม่ได้ในสวรรค์ แต่ก็ไม่มีไอ้สิ่งที่เจ็บปวดทรมานมากเกินไป พระพุทธเจ้าก็ไม่เกิดในอบาย เพราะฉะนั้นจึงเกิดในหมู่มนุษย์ซึ่งไม่มีอะไรมากเกินไปคือ ไม่มีกามารมณ์มากเกินไป, ไม่มีอบายมากเกินไป แปลว่า ไม่มีความยั่วยวนมากเกินไป และก็ไม่มีความทนทรมานมากเกินไปนี่, พอดี
เพราะฉะนั้นในประเทศอินเดียในสมัยนั้นเวลานั้นที่พระพุทธเจ้าเกิดนั้นมันมีอะไรตรง, ตรงกันอยู่พอดีกัน และที่มันเป็นพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือว่า ที่นั่นเวลานั้นเต็มไปด้วยการคิดค้นทางจิตทางวิญญาณ เต็มไปด้วยผู้แสวงหาความสุขทางวิญญาณเต็มไปหมด กำลังพอเหมาะพอสมพร้อมไปทุกอย่างที่จะให้เกิดบุคคลชนิดนี้จำนวนมาก แล้วก็มีบุคคลหนึ่งกระเด็นออกไปได้ถึงที่สุดคือ พระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้มันล่วงลงมาตั้งสองพันกว่าปีนี้ มันก็มีความเปลี่ยนแปลงมาในทางที่จะมีสิ่งที่จะดูดดึงเอาคนไว้ในความโง่นี้ พูดแล้วก็ว่านินทาเขา ผมก็ถูกด่าว่านินทาเขาที่ว่าดูดดึงไว้ในความโง่นี้ก็หมายความว่า มีสติปัญญาสำหรับจะโง่ หรือมีเวลา หรือมีสติปัญญาสำหรับจะไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ เช่น ไปโลกพระจันทร์ เป็นต้นนี้เห่อกันนักเห่อกันทั้งโลก พระเราก็อุตส่าห์ดูโทรทัศน์พาไปเห่อกับเขาเหมือนกัน มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ แล้วสิ่งที่ไม่ต้องทำทำนองนี้มันมีมาก มากเข้าๆ มันก็ดึงจิตใจดึงเวลาไปหมด ถ้าไม่มีอะไรทำนองนี้มาช่วยดึงมันก็มีโอกาสที่จะไปตามทางที่มันควรจะไปให้มันมากขึ้น
เพราะฉะนั้นจงช่วยกันระมัดระวังให้ดีอย่าไปหลงในเรื่องอย่างนี้ ใช้เวลา, ใช้เรี่ยวแรง, ใช้อะไรให้มันไปในทางที่จะก้าวไปตามลำดับให้ตัวกูมันไต่เต้าไปตามลำดับถึงที่สุดปลายทางได้ในทันตาเห็นนี้ สมมติว่าอายุ ๑๐๐ ปีนี่การไต่เต้าไปสู่ นิพพาน โดยลำดับของตัวกูมีเรื่องคร่าวๆ พอที่จะพูดได้อย่างนี้
เอาละพอกันที