แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะปาติโมกข์สำหรับวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๓ ก็ยังคงพูดเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ไปตามเคยโดยหัวข้อว่า “เมื่อตัวกูมันอยากนิพพาน” ในคราวที่แล้วมาเราพูดเรื่อง “ตัวกูกับจริตของตัวกู” คือสมบัติ ๖ ประการของ “ตัวกู” ที่มันหอบหิ้วไปด้วย, ไปไหนไปด้วยกัน, อยู่ที่ไหนอยู่ด้วยกัน นี่ก็สมบัติประจำตัวของตัวกู คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ, วิตก, สัทธา, พุทธิ ที่เรียกว่าจริต ๖ ซึ่งเรากล่าวกันมาแล้วโดยละเอียด ทีนี้ “ตัวกู” หอบหิ้วสมบัตินี้ ทีนี้เดี๋ยวนี้มันอยากจะนิพพาน นี่พูดกันให้จำง่ายว่าเมื่อตัวกูมันอยากจะนิพพาน พูดอย่างนั้นก็คือว่ากิเลสมันอยากนิพพาน ฟังดู! ถ้าไม่ใช่กิเลสมันอยากนิพพาน อ้าว, ใครอยากนิพพาน ? ชาวบ้านทำบุญอธิษฐานให้เป็นปัจจัยแห่งนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ อย่างนี้ก็มีกิเลสชนิดหนึ่งสำหรับอยากในสิ่งที่มันดีกว่า ฉะนั้นกิเลสชั้นนี้มันเป็นกิเลสชั้นละเอียดจนไม่เรียกว่ากิเลส คือเขาเรียกไปว่า อุปธิ เป็นอุปธิ อุปธิ ธิ ธ ธง อุปธินี้ถ้าตามธรรมดาสามัญก็แปลว่าของที่หอบหิ้ว หาบหาม แบกทูน อะไรเอาไปด้วยพะรุงตุงนัง เรียกว่าอุปธิ
บุญเป็นชื่อของความสุข พระพุทธเจ้าก็เคยตรัส แต่แล้วก็ตรัสมากที่สุดเลยว่าบุญมันเป็นอุปธิหรือเป็นฝักฝ่ายของอุปธิ ฉะนั้นต้องพ้นบุญพ้นบาปจึงจะเป็นนิพพาน นี่กิเลสมันก็อยากจะนิพพานกับเขาด้วยเหมือนกัน เราเคยพูดเป็นอุปมาบุคลาธิษฐานว่า “ปีศาจที่หางไหม้ไฟอยู่เสมอ มันอยากแต่งงานกับนางสาวสุญญตา เพราะรู้ว่านางสาวสุญญตาเป็นผู้ที่สาวเสมอสวยเสมอเป็นนิรันดรนี้” แม้ปีศาจที่หางไหม้ไฟอยู่เป็นนิจ มันก็ยังเผยอจะอยากแต่งงานกับนางสาวสุญญตา ทีนี้ปีศาจที่หางไหม้ไฟอยู่เป็นนิจนี่มันอยู่ที่ไหนก็ลองเหลือบดูสิ ใครมันมีจริตอะไร ราคะ โทสะ โมหะ วิตก สัทธา พุทธิ นี้นี่คือกิเลสที่ไหม้หางอยู่ คนเรามีสิ่งนี้ประจำอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับปีศาจที่หางไหม้ไฟดับไม่ได้ เปรียบเล่นสนุก ๆ เหมือนกับหางไหม้ไฟนี่ หมายถึงว่ามันดับไม่ได้ ดับอย่างไรก็ดับไม่ได้ ฉะนั้นมันก็ทนอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้คนอื่นเห็นก็นั่งทับเอาไว้ ไม่เชื่อก็ลองลุกขึ้นดู จะเห็นหางที่ไฟไหม้อยู่เป็นนิจ นี่มันคอยกลบเกลื่อน คอยซ่อน ซ่อนกิเลส ซ่อนอะไรอย่างของน่าละอาย มันก็ซ่อนเสีย มันก็นั่งทับเอาไว้ พอลุกขึ้นหรือเปิดไปก็แสดงอาบัติมันก็คือ เห็นหางไหม้ไฟอยู่แดงโร่อยู่แทบทุกตัว ปีศาจที่มันหางไหม้ไฟอยู่เป็นนิจอย่างนี้มันก็ยังอยากแต่งงานกับนางสาวสุญญตาคือมันอยากนิพพาน นี่ให้เห็นเป็นของธรรมดาสามัญแต่ก่อน และมันเป็นจริงกี่มากน้อยก็ลองคิดดู
ทีนี้มันน่าหัวนะ มันแต่งงานกับนางสาวสุญญตานี้คือว่ามันเชือดคอตัวเอง มันก็น่าหัวด้วย คนมันอยากจะเชือดคอตัวเองโดยไม่รู้สึกตัวก็เป็นของน่าหัวนะ เพราะว่าถ้า ตัวกู-ของกู มันเข้าถึงนิพพาน มันก็สลายไม่มีเหลือ นี่มันอยากเข้าถึงนิพพานก็มันคืออยากจะฆ่าตัวตายโดยไม่รู้สึกตัวมากกว่าที่จะรู้สึกตัว เพราะชาวบ้านอยากไปนิพพานนี่อยากตาม ๆ กันทั้งนั้นเป็นธรรมเนียม อุทิศ อธิษฐาน ขอให้บรรลุนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญอะไรนั่นนะ มันอยากไปฆ่าตัวตาย ถ้าพูดโดยอุปมา “ตัวกู” มันต้องการนิพพานก็ตาม ปีศาจหางไหม้ไฟอยากแต่งงานกับนางสาวสุญญตาก็ตาม คือมันอยากเชือดคอตัวเองตายโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ยังโง่อยู่ มันก็ต้องมีอาการอย่างนี้มันช่วยไม่ได้ มันไม่มีทางอื่นนะ เพราะ(ฉะ)นั้นจึงว่ามันน่าหัวอยากจะเชือดคอตัวเองตายหรืออยากจะทำลายตัวเองตายให้หมดไปโดยไม่รู้สึกตัว เป็นได้อย่างไรก็ควรจะลองคิดดูต่อไป คือเราจะต้องนึกถึงข้อเท็จจริงซึ่งใคร ๆ ก็ต้องยอมรับว่าในโลกนี้ทีแรกไม่มีพระพุทธเจ้า ครึ่งพระพุทธเจ้าก็ยังไม่มี หรือว่าคนฉลาดที่จะรู้เรื่องคำว่านิพพานอะไรนี้มันก็ยังไม่มี มนุษย์ก็ตั้งต้นขึ้นด้วยเป็นคนป่าสมัยหิน สมัยอะไรเรื่อย ๆ มา นี่แล้วมันเกิดรู้เรื่องนิพพานขึ้นมาได้อย่างไร ทีแรกมันโง่จนไม่รู้เรื่องดี-เรื่องชั่ว แล้วมันก็รู้เรื่องดี-เรื่องชั่ว มันก็รู้ต่อไปอีกว่าไม่ไหวโว้ย ไอ้ดี-ไอ้ชั่ว นี้ไม่เอาแล้วโว้ย ไม่เอาทั้ง ๒ อย่าง นี่มันจึงถึงที่สุดของไอ้ความทุกข์หรือถึงที่สุดของความดับทุกข์ ถึงที่สุดของอิสรภาพนี่มันมีได้โดยอะไร คือว่าทีแรกมันไม่รู้ มันเหมือนก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้นะ ทีแรกมันก็อย่างนั้นแล้วมันเกิดมารู้นั่นรู้นี่กระทั่งรู้ดี-รู้ชั่ว แล้วก็หลงยึดมั่นเรื่องดี-เรื่องชั่ว จนกระทั่งรู้ว่า อะ...ไอ้นี่เองคือความทุกข์ตลอดกาล ความตายนิรันดรอยู่ที่นี่ ก็เลยอยากจะขึ้นพ้น ข้ามขึ้นพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ก็พบไอ้ความรู้อันสูงสุดนี้คือไม่มี “ตัวกู” เสีย เรียกว่าเลิกร้าง “ตัวกู” ไปเสีย
อาการอย่างนี้มันแทบว่าจะมีไม่ได้หรือไม่น่าเชื่อ แต่มันก็ได้มีได้อย่างง่ายดายจนมีผู้รู้นั่นรู้นี่รู้เกือบเป็นพระพุทธเจ้า กระทั่งรู้เป็นพระสัมมาพุทธเจ้ามันก็มีได้ ถ้าถามว่าทำไมมันจึงมีได้ เรามีทางที่จะมองเห็นได้หลายอย่าง อย่างแรกที่สุดพูดกำปั้นทุบดินก็เพราะว่ามันเป็นอนิจจังมันไหลเรื่อยเปื่อยไปมันหยุดไม่ได้ สังขารธรรมทั้งปวงที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย จิตใจ นาม รูป นี้มันไหลเรื่อยเอื่อยไปไม่หยุด นั่นละมันเป็นอานิสงส์ของความอนิจจัง ความเป็นอนิจจังถ้ามันเกิดเที่ยง-ไม่อนิจจัง ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเรื่อย มันก็ตาย ได้ที่นั่นก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ทีนี้มันไม่เที่ยง มันไหลเรื่อย มันเปลี่ยนเรื่อย คือไหลเรื่อย เรียกว่า perpetual flux มันมี ๆ ยิ่งกว่าทุกขณะจิตหรือทุกขณะจิตเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่ทุกวินาทีมันยิ่งกว่านั้นอีก ทุกขณะจิตมันก็ต้องเปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนมันก็แปลก เมื่อแปลกมันก็ใหม่นี่จนกระทั่งมันไปพบอะไร ไปเกิดอะไรใหม่ นี่ผลของอนิจจังทำให้เกิดพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาในที่สุด กิเลสที่มันเคยหลงใหลมัวเมาในเนื้อหนังมันก็เปลี่ยน ๆๆ ไป เป็นอยากนิพพานก็ได้ ฉะนั้นเราจงพยายามอธิษฐานว่าให้มันเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปจนสูงสุด เมื่ออะไรเกิดขึ้นแก่เราเป็นปัญหาก็เหมือนกันก็มองให้เห็นว่า มันเป็นของเปลี่ยน มันต้องเปลี่ยน ขอให้มันเปลี่ยนไปในทางที่ดี อย่างศัตรูเกิดขึ้นรบกวนเรา คนเลวเกิดขึ้นรบกวนเราอยู่เดี๋ยวนี้ เราก็ว่ามันเป็นอนิจจัง มันเปลี่ยน ฉะนั้นขอให้มันเปลี่ยนเรื่อยไปและเป็นไปในทางที่ดี อย่าไปโกรธมัน มันก็ต้องเปลี่ยน มันอยู่อย่างนั้นไม่ได้ มันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะว่าเรามันยอมรับไอ้เรื่องอนิจจัง
ทีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกให้มันเพราะเลยว่ามันเพราะอำนาจวิวัฒนาการ นี่หมายความว่าไอ้อนิจจังเปลี่ยนนี่เปลี่ยนไปในทางดีจึงได้เรียกว่าวิวัฒนาการ ถ้าไม่เป็นไปในทางสูงขึ้น ดีขึ้น เจริญขึ้น อะไรขึ้นก็เราก็ไม่เรียกว่าวิวัฒนาการ เดี๋ยวนี้มันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า เราเรียกว่าวิวัฒนาการเพราะฉะนั้นมันต้องดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามันดีจนเรามองเห็นว่ามันดีขึ้นทุกขั้นตามลำดับ ถ้าเรามองสั้นเกินไปมันจะไม่เห็นอย่างนั้น จะไม่เห็นว่ามันดีขึ้น จะเห็นว่ามันกลับไปกลับมา ๆ เป็นวัฏฏสงสาร เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบากอย่างนี้มันก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่ถ้ามองอีกทีหนึ่งในระยะยาว รอบหลังมันดีขึ้น รอบหลังมันดีขึ้น เพราะมันจะกลับไปผิด ไปชั่ว ไปเลวอีก แล้วมันก็เปลี่ยนไปเป็นดีแล้วก็ดีขึ้นกว่าเดิมในลักษณะที่เรียกว่า “ความผิดก็เป็นครู-ความถูกก็เป็นครู” ความ[ผิด](นาทีที่ 15:08)ก็เป็นครู ความ[ถูก](นาทีที่ 15:09) ก็เป็นครู เพราะ(ฉะ)นั้นวิวัฒนาการเมื่อดูโดยระยะไกลระยะยาวแล้วคือสิ่งที่มันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นสำหรับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจคือมีวิญญาณมีความรู้สึกคิดนึกนี้ มันจึงมีสัญชาตญาณอยู่อันหนึ่งซึ่งไม่ต้องเจตนาคืออยากดี ความรู้สึกอยากดีก็แล้วกัน ดีอย่างไรก็ตามใจ อยากดีนี้มันเป็นสัญชาตญาณคล้ายเจตนา คือมันเป็นของมันได้เอง เกิดเอง เป็นได้เอง สำหรับสิ่งที่มีจิต มีวิญญาณ มีความรู้สึกคิดนึก แม้แต่สุนัขเดี๋ยวก็จะหาว่าพูดคำหยาบ ทีนี้การผสมสัตว์ ผสมปลา ผสมสัตว์นี้มันก็เพราะสัญชาตญาณแห่งความอยาก ความอยากดีมันมีอยู่ในนั้น มันดีขึ้นมาได้ออกมาได้ ทีนี้การผสมพันธุ์ไม้ซึ่งเราถือว่าแม้ต้นไม้มันก็มีความรู้สึกคิดนึกระดับหนึ่งต่ำมากแต่ก็เป็นความรู้สึก มันดิ้นรน มันต่อสู้ มันอยากชีวิตรอด ; มันก็คืออยากดีด้วยเหมือนกันแต่มันต่ำมากจนมองไม่ค่อยเห็น เพราะ(ฉะ)นั้นจึงมีพันธุ์ไม้ที่แปลก ที่ดี ที่สวยงาม ที่อะไรออกมาได้ด้วยการช่วยเหลือของมนุษย์ มันก็เป็นเรื่องอยากดีประเภทมาตรฐานเรียกพื้นฐาน รากฐาน เพราะฉะนั้นนะเราจึงพูดได้ว่าไอ้โพธินี้มันก็มีวิวัฒนาการมาจากกิเลส กิเลสที่แสนจะสกปรกตามความรู้สึกของเราที่จริงมันก็ไม่ได้สกปรกตามความรู้สึกของโพธิ ถ้ามีปัญญาถึงที่สุดจะไม่มีอะไรปฏิกูลหรือไม่ปฏิกูล หรือไม่ ๆ ปฏิกูล คือมันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นกิเลสก็คือความรู้สึกอย่างหนึ่ง โพธิก็คือความรู้สึกอย่างหนึ่ง เมื่อความรู้สึกอย่างกิเลสมันหมดท่าเข้าแล้ว มันไม่ไปไหนหรอก มันต้องไปสู่ความเป็นโพธิ มันจึงถือว่ากิเลสวิวัฒนาการเป็นโพธิ โพธิก็วิวัฒนาการมาจากกิเลส
เมื่อมันยังไม่รู้มันก็คิดผิด ปรารถนาผิด ต้องการผิดก็เรียกมันว่ากิเลส เครื่องเศร้าหมอง เครื่องอะไรอย่างนี้ พอความคิดมันฉลาดขึ้นเพราะการถูกวิบากกรรมซ้ำ ๆ ซาก ๆ เข้ามันก็เปลี่ยน มันก็รู้จักเข็ดหลาบของมันเอง มันก็วิวัฒนาการเป็นโพธิ เพราะ(ฉะ)นั้นบางคนก็พูดเสียเลยว่ากิเลสกับโพธินี้โดยเนื้อแท้เป็นของสิ่งเดียวกัน แทนที่จะพูดว่าอย่างเดียวกันกลับพูดว่าสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่ ๒ สิ่งแล้ว คือเป็นความรู้ที่วิวัฒนาการ ระดับนี้เรียกว่ากิเลส ระดับนี้เรียกว่าโพธิ นิพพานอยู่เหนือนั่นออกไปอีกไม่รวมอยู่ในนี้ เพราะอำนาจไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิวัฒนาการนี่ “ตัวกู” มันก็อยากไปนิพพานขึ้นมา ถึงที่สุดมันก็ร้องว่า “กูอยากไปนิพพานเน้อ” กับเขาด้วยเหมือนกัน ทีนี้จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็จะพูดว่ามันก็เป็นความสุกงอมในวัฏฏสงสาร ความสุกงอมของวัฏฏสงสาร “วัฏฏะ” แปลว่า วน วนเวียน “สงสาร” แปลว่า แล่นไป ท่องเที่ยวไป “วัฏฏสงสาร” แปลว่า วิ่งวนไปเรื่อย ๆ มันเป็นความสุกงอมแห่งวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารนี่อย่าลืมนะ ว่าพูดกันง่าย ๆ คือว่าวัฏฏะ ๓ กิเลสคือความอยาก แล้วก็กรรมคือการกระทำไปตามความอยาก แล้วก็วิบากคือผลของกรรม ทีนี้ผลของกรรมก็คือทำให้อยากต่อไปอีก อยากอย่างอื่นต่อไปอีกก็ส่งเสริมกิเลสให้เกิดขึ้นมาอีก แต่มันไม่อยากเหมือนเดิมแล้ว ซึ่งก็มีผลอีกแล้วมันทำกรรมอีก มีผลอีกแล้วมันก็อยากอีก แต่มันไม่ได้ซ้ำอย่างเป็นนิจจังหรือเป็นของเที่ยง มันเปลี่ยนเรื่อย เลวลงก็ได้ ดีขึ้นก็ได้ ถ้ามันเปลี่ยนไปในทางเลวลง เจ้าตัวมันทนไม่ไหวมันก็เข็ดหลาบ มันก็ดิ้นรนไปทางดีขึ้น-ดีขึ้น วัฏฏสงสารมันก็จะเปลี่ยนไปทางดีขึ้น ในระยะยาวจนกระทั่งถึงขั้นหนึ่งที่เราจะเรียกในที่นี้ว่าสุกงอม เป็น ปริปากะ คือว่ามันสุกรอบ แก่รอบ ถึงที่สุดของมัน จะเอาอย่างไร ทีนี้มันก็อยากดี ทำดีได้ผลดี แล้วก็อยากดียิ่งขึ้นไปอีก แล้วทำดีก็ได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก ก็ทำแต่บุญ ทีนี้หนักเข้ามันเกิดการเบื่อบุญ เพราะบุญก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าไอ้เรื่องยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปธิ บุญเป็นอุปธิ คือของต้องแบก ต้องหาม ต้องทูน ต้องหิ้ว ต้องหอบนี้ อย่างขี้เกียจจะหิ้วแล้ว เดี๋ยวนี้มันก็เบื่อบุญจึงอยากจะกระเด็นขึ้นไปเหนือบุญ นี้คือ “ตัวกู” มันอยากนิพพานเพราะความสุกงอมของวัฏฏสงสาร นี้เรียกว่าเป็นไปตาม...ตามธรรม ตามธรรม คือตามธรรมชาติ ตามธรรมดา จนสุดท้ายไอ้ “ตัวกู” มันก็ไม่รู้ไปไหน ดูภาพที่เขียนที่ฝาผนัง เสียงขลุ่ยยังต้องกลับมาหากอไผ่ มันไม่รู้จะไปไหน มันก็บ้าไปพักหนึ่งอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อยากมีนั่น อยากมีนี่ อยากเสวยนั้น อยากเสวยนี่ มันก็บ้าเป็นวัฏฏสงสาร ผลสุดท้ายมันก็อยากหยุด ไอ้หยุด ไอ้สงบนี่ คือต้นตอของสิ่งทั้งปวง คือที่เกิดของสิ่งทั้งปวง เป็น origin หรือเป็น source หรือ cause ก็แล้วแต่จะเรียกของสิ่งทั้งปวง เสียงขลุ่ยมันก็หายบ้ากลับมาหากอไผ่ เดี๋ยวนี้เสียงขลุ่ยมันกำลังบ้าใช่ไหม เสียงของขลุ่ย ขลุ่ยไหน เสียงอะไรนี่มันกำลังบ้า มันกำลังอยากไปตามที่มันเข้าใจ ตามที่โพธิของมันยังถูกเคลือบด้วยโคลน ด้วยเลน ด้วยของสกปรก เหมือนกับเพชรที่มันยังจมเลนก็หุ้มอยู่ด้วยโคลน มันก็ดูเป็นก้อนโคลน เอาออกเสียมันก็คงเป็นเพชรแน่นอน
จิตของเราทุกคนเหมือนกับเสียงขลุ่ยกำลังเลื่อนลอยไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วยโน้ตต่าง ๆ ในที่นี้ก็จะ โน้ต ๖ นี้โน้ตของเสียงขลุ่ยนี้มีเพียง ๖ ; ราคะ, โมหะ, วิตก, สัทธา, พุทธิ คือจริตของมันไม่มีมากไปกว่านี้หรือจะไปพูดให้ตั้งร้อยก็ได้ แต่มันก็ไม่ต้องมากไปกว่านี้ มันมีหลักเท่านี้ก็พอแล้ว ถ้า ๖ มากนักเอาแต่ ๓ ก็ได้ คือ ราคะ,โทสะ, โมหะ นี้ก็พอเหมือนกัน ทีนี้เมื่อมันถึงที่สุดเข้ามันก็จะกลับไปสู่กอไผ่คือต้องการจะสงบ อยากจะสงบนี่ตัวกูมันก็ร้องตะโกนว่า “อยากจะไปนิพพาน” กิเลสก็กลายเป็นโพธิ แล้วในที่สุดก็อยากจะพูดว่า “มันเป็นไปได้ด้วยการบังเอิญ” ฟลุ้ค ! นี่ บังเอิญนี่ก็ได้เหมือนกัน ไม่ได้มีเจตนาอะไรนักแต่มันบังเอิญ เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่มันแวดล้อม อำนาจของสิ่งแวดล้อมนี่ไม่ใช่เรื่องเล่น, ไม่ใช่ของเล่น, ไม่ใช่ของเล็กน้อย เมื่อพระพุทธเจ้า เอ้ย, เมื่อพระอานนท์ทูลพระพุทธเจ้าว่า “ไอ้สัมมาทิฏฐินี่เป็นครึ่งหนึ่งของความสำเร็จของพรหมจรรย์ทีเดียว” พระพุทธเจ้าว่าอย่าพูดอย่างนั้นเลยพูดว่า “ไอ้สัมมาทิฏฐินี้เป็นทั้งหมดของความสำเร็จของพรหมจรรย์ดีกว่า” ทีนี้สัมมาทิฏฐินี่เรียกว่า “กัลยาณมิตร” ในโวหารที่โต้ตอบกันนั้นเรียกว่ากัลยาณมิตร พระอานนท์ว่า “กัลยาณมิตร เพื่อนดี เป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าว่า “กัลยาณมิตรนี้เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ไอ้เพื่อนดีในที่นี้เราหมายถึงสิ่งแวดล้อมดี อะไร ๆ ที่แวดล้อมเราอยู่นี้มันดีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์เป็นกัลยาณมิตร สัมมาทิฏฐิมันเกิดขึ้นจากกัลยาณมิตร การที่เรียกว่ากัลยาณมิตรนี้ก็มันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าไม่ต้องการให้มีความยึดมั่นถือมั่น ; นี้เป็นอาจารย์, นี้เป็นลูกศิษย์, นี้ดีกว่า, นี้ เอ่อ ด้อยกว่า ก็เลยเรียกว่าเพื่อนเสียดีกว่าที่จะเรียกว่าอาจารย์ มันมีน้ำหนักน้อยไปหน่อยก็จริงแต่มีความถูกต้องมากกว่า ถ้าคำว่าอาจารย์หมายถึงผู้จูง ผู้นำ นี้มันไม่มีความจริงเลย มันเป็นเพื่อนที่ไปด้วยกันมากกว่า เพราะว่าทางวิญญาณนั้นมันจูงกันเหมือนกับเด็กจูงไม้เท้าของคนตาบอดนี้มันทำไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ มันได้แต่บอกให้เดินเอง ก็เดินไปด้วยกัน เดินไปพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกอาจารย์สอนกรรมฐานว่า “กัลยาณมิตร” ไม่ไปเรียกว่าอาจารย์ให้มันยกหูชูหาง ซึ่งอาจารย์ส่วนมากมันก็พร้อมจะยกหูชูหางอยู่แล้ว ก็เลยให้เรียกว่า “กัลยาณมิตร”
พระพุทธเจ้าก็เป็นกัลยาณมิตร อย่างนี้มันก็ปลดอะไรลงไปได้มาก แต่เราไม่ใช้ ไม่ใช้ หรือไม่ชอบพูดด้วยโวหารนี้ เราก็เรียกว่าครู, อาจารย์ หรือบรมครู หรืออะไรไป ต่อเมื่อไร, มองเห็นความจริงว่าไอ้จากวัฏฏสงสารไปสู่นิพพานนี่มันเป็นได้แค่เพียงเพื่อนกัน ไม่สามารถจะอุ้มไป หรือจูงไป หรือว่าลากไปถึง พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสว่า “ไอ้เดินนี่ เธอต้องเดินเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทาง”
ทีนี้, ที่เมื่อตะกี้ที่พูดว่า ฟลุ้ค ! นี่เผอิญมันได้กัลยาณมิตรที่ดีหรือสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าอาศัยกัลยาณมิตร เขาเรียกว่า “สสังขาริก” คือความดลบันดาลชักจูงของผู้อื่น ทีนี้ถ้ามันเป็นไปได้เองมันเป็น “อสังขาริก” อย่างพระปัจเจกพุทธะ ตรัสรู้ปัจเจกพุทธะขึ้นมานี้ก็ไม่ใช่ด้วยการสั่งสอนชักจูงของผู้อื่น เป็นแต่ความประจวบเหมาะหรือความแก่รอบของวัฏฏสงสาร มีความประจวบเหมาะก็รู้ขึ้นมาได้เอง ฉะนั้นเราต้องมองให้เห็นว่าถ้ามีสิ่งแวดล้อมเผอิญฟลุ้คถูกต้องตามกฎเกณฑ์อันนี้คนเป็นพระพุทธเจ้าคือเป็นพระอรหันต์ได้ นั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เป็นพระพุทธเจ้าอย่างพระปัจเจกพุทธะก็ได้ แต่ไม่มากถึงจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีนี้ “ตัวกู” ธรรมดาสามัญ ปีศาจหางไหม้ไฟนี่ฟลุ้คแต่เพียงอยากจะเป็นเพียงพระอรหันต์ก็ดีแล้ว เป็นได้มันก็ดี เพราะฉะนั้นถ้าอย่างไรแล้วก็เตรียมให้พร้อมที่จะฟลุ้คที่จะมีความประจวบเหมาะของสิ่งแวดล้อมแล้วจิตก็เปลี่ยนไปได้ถึงที่สุดเลยได้เหมือนกัน ฉะนั้นไอ้ฟลุ้คอย่างนี้เรียกว่าฟลุ้คทางวิญญาณ เป็น spiritual flux ก็ได้ คุณลองสังเกตดูสิมันก็มีได้มาก มีโอกาสมาก มีหวังมากใช่ไหม เพราะอนิจจังต้องเปลี่ยนเรื่อย เมื่อเปลี่ยนเรื่อยมันก็ต้องไม่มีทางไหนจะไปดี ๆๆๆ ขึ้นไป หรือดี ๆ หนักเข้ามันก็เอือม มันก็ออกไปนอกวงของวัฏฏสงสารด้วยความประจวบเหมาะ ถึงแม้ปฏิบัติธรรมะกันเป็นวรรคเป็นเวรก็มันจนกว่ามันจะประจวบเหมาะ ทีนี้มันประจวบเหมาะได้เองง่าย ๆ เร็ว ๆ มันก็ประจวบเหมาะนี่ เขาจึงมีว่า บางคนปฏิบัติลำบาก-รู้ได้ช้า บางคนปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว บางคนปฏิบัติสะดวก-เล่น ๆ ไปอย่างนั้น แต่ก็ยังรู้ได้ช้า บางคนปฏิบัติเล่น ๆ ไปอย่างนั้นแต่ก็รู้ได้เร็ว นี่มันแสดงถึงความไม่เหมือนกันแห่งอุปนิสัยจิตใจของคน คนหนึ่ง ๆ นี่ “ตัวกู” มีหลายแบบแล้วแต่ว่าจริตอันไหนมันมีมาก พยายามแก้ไขจริตอันนั้น ทีนี้เรียกว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนและมันเปลี่ยนไปในทางดี จนกระทั่งว่า “ตัวกู” มันอยากไปนิพพาน แต่ก่อนนี่ “ตัวกู” มันอยากจะนอนอยู่ในโคลน, ในตม, ในหนองที่สกปรก เดี๋ยวนี้มันอยากจะขึ้น มันอยากจะไปนิพพานกับเขาบ้างแล้ว มันเปลี่ยนได้มากอย่างนี้
ทีนี้เราดูไอ้ทรัพย์สมบัติที่ “ตัวกู” มันอุตส่าห์หอบหิ้วมานั้นมันจะเปลี่ยนได้อย่างไร ? ราคะจริต คือราคะนี่มันหมายถึงรัก, ถึงกำหนัด, ถึงยึดถือ แทนที่จะเป็นกามราคะ คำว่าราคะอะไรทำนองนั้นมันเปลี่ยนเป็นธรรมราคะ, ธรรมนันทิ ; ธรรมราคะ (คือ) ราคะในธรรม, ธรรมนันทิ (คือ) เพลิดเพลินยินดีในธรรม คำเหล่านี้เป็นพระพุทธภาษิตด้วยเหมือนกัน ไอ้ราคะที่เราเคยเกลียดนักเดี๋ยวนี้กลายมาเป็นธรรมราคะ รักพระนิพพานเหมือนกับแฟนรักแฟนอย่างนั้นหรือยิ่งกว่านั้น รูปปรัชญาปารามิตากับพระพุทธเจ้านี่ทำเป็นรูปลามกอนาจารที่สุด พุทธศาสนาตันตริกเขาเปรียบเทียบปรัชญาปารามิตากับพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่แยกกันทำเป็นคู่ร่วมนั่นกันเลยอย่างนี้ก็มี ธรรมนันทิ ; นันทิก็เป็นชื่อของกิเลส นันทิ-ความเพลิน, นันทิคือตัณหา ก่อนนี้เป็นเรื่องกิเลส เดี๋ยวนี้กลายเป็นธรรมนันทิ มีนันทิในธรรมะคือในนิพพาน
ราคะจริตวิวัฒนาการเปลี่ยนไปเป็น “ธรรมราคะ-ธรรมนันทิ” มันก็กิเลสกลายเป็นโพธินั่นเอง ทีนี้ โทสะ ; รูปของโทสะไม่มีทางจะกลายเป็นอื่นได้นอกจากเป็นนิพพิทา นิพพิทา แปลว่าความเบื่อหน่าย เมื่อเราถูกบังคับให้กินน้ำพริกทุกวัน กินข้าวกับน้ำพริกทุกวัน วันหนึ่งเราก็จะฟาดถ้วยน้ำพริกแตกกระจายเพราะความเบื่อหน่าย ถ้ามันโกรธขึ้นมา แต่ว่าเดี๋ยวนี้โทสะนี้กลายเป็นนิพพิทาคือความเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่มันเคยชอบ ที่มันเคยรักเคยชอบ นิพพิทานี่ถ้าพูดผิด ๆ แล้วก็เป็นโทสะ เมื่อเราเบื่ออะไร เบื่อแม้แต่เบื่อคู่ครองนี่มันก็เป็นโทสะ เบื่อของรักของชอบใจ ของเคยเอร็ดอร่อย มันก็เป็นโทสะ แต่นิพพิทาทางวิญญาณที่สูงขึ้นไปมันคือเบื่อโลก อย่าเข้าใจว่านิพพิทานี้เป็นความหลุดพ้นนะ นิพพิทานี้คือกำลังเดือดร้อนที่สุดเลย พอนิพพิทาเกิดขึ้นแล้วกระสับกระส่ายเร่าร้อนที่สุด มันไม่รู้จะอยู่ที่ไหน, ไม่รู้จะอยู่อย่างไร ทุกอย่างแวดล้อมนี้มันน่าเบื่อไปหมดเหมือนกับว่าถูกเอาซากศพมาแขวนที่คอนี้ เราถูกเอาซากศพมาแขวนที่คอ นี้ทำอย่างไร มันก็เลยไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ตรงไหน เป็นความเบื่อหน่ายอย่างขนาดนี้ เพราะ(ฉะ)นั้นนิพพิทายังไม่ใช่มรรคผลนิพพาน ยังไม่ใช่สันติ มันกำลังต่อสู้ เป็นยอดสุดของ conflict เพราะ(ฉะ)นั้นโทสะนี้ กลายเป็นนิพพิทาได้หรือไปรอยเดียวกันได้ ไปสำเภาเดียวกันเป็นเกลอกัน ในที่สุดไอ้โทสะจริตก็เปลี่ยนเป็นนิพพิทา คือความอึดอัดต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะ(ฉะ)นั้นต้องก้าวต่อไปอีกทีหนึ่งไปจนถึงวิราคะ ไปจนราคะก้าวไปถึงวิสุทธิ์ บริสุทธิ์ จนถึงมรรคผล นิพพาน นิพพิทาเป็นเงื่อนต้นเป็นจุดตั้งต้นที่จะเลี้ยวหรือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเลี้ยวจากไอ้โลกบ้า ๆ นี้ไปสู่ไอ้โลกหรือเหนือโลก เรียกว่าโลกุตตระหรือโลกอุดรนั่นมันตรงกันข้ามเลย ไอ้หัวเลี้ยวมันอยู่ตรงที่นิพพิทาเพราะ(ฉะ)นั้นเราโกรธหรือเกลียดไอ้โลกนี่ขึ้นมาเมื่อไรมันก็จะเลี้ยวไปสู่ไอ้โลกุตตระได้ เพราะ(ฉะ)นั้นโทสะก็กลายเป็นนิพพิทาได้ นี่โทสะจริตของใครมีมาก ๆ ก็ยุมันให้ดี ๆ วันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นนิพพิทาได้ แต่ถ้ายุผิด ๆ แล้วมันก็หัวชนฝาเรื่อยไป มันก็ไม่สนุก
ทีนี้สมบัติชิ้นที่ ๓ คือโมหะ มันมืด มันไม่รู้จะทำอะไร แต่ว่าหนักเข้ามันก็กลายเป็นอุเบกขาได้เพราะ(ฉะ)นั้นเหมือนคนโง่ได้เปรียบคนฉลาด คนโง่มันหยุดได้เร็วกว่า เฉยได้เร็วกว่า เพราะมันคิดไม่ค่อยจะเป็น เพราะ(ฉะ)นั้นคนฉลาดอย่าอวดดี คนฉลาดอย่ายกหูชูหางนัก ไอ้คนโง่นี้มันจะหยุดก่อนก็ได้เพราะ(ฉะ)นั้นโมหะอาจจะกลายเป็นอุเบกขาเมื่อไรก็ได้ คนที่ไม่รู้หนังสือเป็นตาแก่ไปพูดทูลพระพุทธเจ้า ๒-๓ คำกลายเป็นพระอรหันต์ไปในลักษณะที่โมหะกลายเป็นอุเบกขาไปได้ ที่มันเคยเป็นโมหะนั้นมันเปลี่ยนวิวัฒนาการไปเป็นอุเบกขาได้เพราะมันเครือเดียวกัน, สำเภาเดียวกัน นี่โมหะจริตนี่ช่วยเลี้ยงมันให้ดี ๆ ไปในทางที่ให้มันกลายเป็นอุเบกขาก็เอา อย่างน้อยอย่างต่ำที่สุดไม่ต้องดีไม่ต้องอะไรมากให้มันอุเบกขาได้ก็แล้วกัน เพราะ(ฉะ)นั้นถ้าพระเณรองค์ไหนไม่ฉลาดคือโง่มาก ก็ขอให้ใช้หลักอันนี้คือว่าอย่าไปทะเยอทะยานอะไรกับใคร ไอ้คนโง่ไปทะเยอทะยานมันก็ไม่พ้นที่จะเอาหัวชนภูเขา จงสันโดษไปตามประสาที่เรามันโง่ ไม่เท่าไรมันจะหยุดได้ โมหะกลายเป็นอุเบกขานี่คือกิเลสกลายเป็นโพธิ
ทีนี้ไอ้วิตกกับจริตเจ้าความคิด คิดได้เหมือนฝัน ตื่น ๆ ก็ฝันอย่างนี้ หลับก็ฝันตื่นก็ฝันเป็นวิตกจริต ก็มีทางที่จะทำให้มันเปลี่ยนเป็นโยนิโสมนสิการ ไอ้โยนิโสมนสิการนั้นไม่ใช่มันหยุดนะ มันคิดเรื่อยแต่มันคิดดี คิดถูก คิดสมควร คิดแบบแยบคาย เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ที่มันคิดไหลเหมือนเครื่องจักรนั้นเขาเรียกว่าวิตกจริต ทีนี้เรามันคิดมาก ทุกคนมันคิดมากไม่ใช่แกล้งพูด ทุกคนคิดมากเป็นวิตกจริตอยู่ไม่น้อยแต่มันไม่เป็นโยนิโสมนสิการ นี่จากวิตกจริตนี่วิวัฒนาการเป็นโยนิโสมนสิการ เราเปิดนวโกวาทแรกเรียนนักธรรมตรีนี้ก็จะพบแต่คำว่าโยนิโสมนสิการนี้อยู่ในหมวดธรรมเยอะแยะไปหมดในฐานะเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าขาดอันนี้แล้วมันก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ ต้องมีโยนิโสมนสิการคือคิดถูกต้องและพอดี ความคิดที่เรียกว่าโยนิโสนั้นเขาแปลกันว่าแยบคาย โยนิโส แปลว่าแยบคาย ถ้าไม่รู้ว่าอย่างไรก็ให้รู้เสียว่ามันถูกต้องและพอดี เดี๋ยวนี้เรามีแต่ว่าคิดอย่างสร้างวิมานในอากาศ จบไปทำงานอย่างนั้นไม่เท่าไรมีเงินเท่านี้, ค้าขายต่อไปมีเงินเท่านั้น, ไปหานั่นหานี่หาไอ้ที่ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้เรื่อยเปื่อยไป นี่มันเป็นวิตกจริต อย่างนี้ไม่ใช่โยนิโสมนสิการ ; ไม่ถูกต้อง, ไม่พอดี เพราะ(ฉะ)นั้นวิตกจริตควรจะถูกกระทำให้กลายเป็นโยนิโสมนสิการ
ทีนี้อันถัดไปเรียกว่าสัทธาจริต ; เชื่อง่าย, เชื่องมงาย, เชื่ออย่างอ่อนแอ, เชื่ออย่างหลับหูหลับตา นี้ก็เปลี่ยนให้มันเป็นสมาธิเสีย มันง่ายกว่าคนเจ้าความคิด คนไม่รู้จักคิดเอาแต่เชื่อนี้ทำสมาธิได้ง่ายกว่าก็ทำได้มาก ทำได้ไกลเลย แต่ในทางสมาธินะไม่ใช่มรรค ผล นิพพานนะ แต่ไปในทางของสมาธิ เมื่อเล็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ ไอ้ที่จะเล่นทรงผี แม่ศรี ทรงผี ปลุกตัวนี้ ต้องเลือกเอาคนที่ใจอ่อนเชื่อง่ายนี้มาเป็นคนสำหรับเป็นตัวทรง ร้อง ๒-๓ คำ ไอ้นี้มันก็เป็นคน subconscious เสียแล้ว ลุกขึ้นรำลุกขึ้นอะไรได้ตามไอ้ความต้องการของคนที่ควบคุมนั่น นี้คนสัทธาจริตมันก็มีประโยชน์ไปในทางอย่างนี้คือเป็นสมาธิง่าย เปลี่ยนไปได้ง่าย ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าสัทธาจริตก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนให้เป็นสมาธิได้โดยง่าย, โดยยิ่ง, โดยสมบูรณ์ หรือเกินกว่าสมบูรณ์
ทีนี้อันสุดท้ายคือพุทธิจริต นี่ไม่มีทางอื่นนอกจากจะแก้ไขให้กลายเป็นปัญญา ไอ้พุทธิมันก็แปลว่าความรู้อยู่แล้ว แต่ในที่นี้เขาเรียกว่าพุทธิจริตนะ มันหลงใหลในความรู้, มันบ้ารู้, มันเกินไป, มันก็ไม่ใช่ปัญญา, มันก็ไม่ใช่ พุทธิก็ทำให้มันกลายเป็นปัญญาคือ รู้สิ่งที่ควรรู้ครบถ้วน, ทั่วถึง, บริบูรณ์ นอกนั้นสลัดทิ้งไปหมดแล้วก็อยู่ในขอบเขต อยู่ในการบังคับควบคุม อย่าให้มันรู้เพ้อเจ้อกลายเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งไป เป็นโรคทางวิญญาณชนิดหนึ่ง คนที่บ้ารู้นี้ผลสุดท้ายมันก็ไปไม่ได้ มันจมปลักของความรู้ ไอ้ความรู้ก็เป็นแสงสว่างบังลูกตา เป็นความมืดสีขาวบังลูกตายิ่งกว่าความมืดสีดำ เราแก้ลำมันด้วยทำพุทธิจริตนี้ให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าปัญญา แล้วก็ปัญญาก็คือปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปัญญาโกง, ไม่ใช่ intellect ; intellect นี้ไม่แน่ว่าจะไปทางดีหรือชั่ว ต้องเป็นปัญญาที่สูงกว่านั้น เป็น intuitive wisdom ที่แท้จริงนี่ไม่มีทางที่จะเป็นไปฝ่ายทุกข์ คือไม่มีทางที่จะเป็น [โพธิจริต ] (นาทีที่ 46:44) เป็นโพธิจริง ๆ ขึ้นมา แต่นี้หลงใหลกันอยู่ก็เป็นปัญญาโกง intellect หรือเฉโก ภาษาบาลีเขาเรียก “เฉโก” มันเฉลียวฉลาด, มีเหตุผล, มีอะไร มันเฉโก คนอย่างนี้บรรลุพระนิพพานไม่ได้แล้วยังยิ่งจะช้าด้วย สู้คนที่มีสัทธาที่ถูกวิวัฒนาการ ทำวิวัฒนาการไปอย่างถูกต้องก็ไม่ได้ ที่ฝาผนังเขียนภาพไอ้เอาลูกน้ำเต้ามาทำเครื่องมือช้อนปลาดุกข้างประตูนั่น ปัญญาชนิดนั้น “เฉโก” ไม่มีทางที่จะรู้เซนได้ เขาเขียนนี่ต้องเป็นปัญญาจริง, ปัญญาซื่อตรงและปัญญาถูกต้อง และปัญญาสมบูรณ์ และก็เท่าที่จำเป็นเท่านั้น นี่พุทธิจริตกลายเป็นโพธิขึ้นมา เลิกเรียกพุทธิจริตแล้วก็เรียกว่าโพธิ หรือโพธิปัญญาอะไรไปทำนองนั้น
นี่ไอ้ของรุงรังที่ “ตัวกู” อุตส่าห์หอบหิ้วมาตั้ง ๖ อย่างนี้ถูกกระทำให้เปลี่ยนไปเป็นของที่มันมีประโยชน์ คือว่าไม่เป็นอุปสรรค ข้าศึก ศัตรู อีกต่อไป ทบทวนอีกทีหนึ่งว่า
ปีศาจที่หางไหม้ไฟเลยกลายเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นโพธิสัตว์ “วัชรปาณี-ปัทมปาณี” ที่คุณโกวิทกำลังสร้างใหม่นี่ อวโลกิเตศวรนั่นละเขาเรียกว่า “วัชรปาณี” มันมีดวงวัชระ-เพชรน่ะอยู่ในมือ นี่หมายความว่า มันมีความรู้, มีปัญญารอบรู้ บางทีก็เรียกว่า “ปัทมปาณี” มีดอกบัวในมือ ดอกบัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของความตื่นนอน ตื่นจากหลับคือกิเลส ; ความบริสุทธิ์, สะอาด, เยือกเย็น, เป็นสุข ปีศาจหางไหม้ไฟกลายเป็นโพธิสัตว์ แล้วแต่จะเรียก เป็น “วัชรปาณี” ก็มีปัญญาอย่างยิ่ง เป็น “ปัทมปาณี” ก็มีความสุข, ความสะอาด, ความอะไรอย่างยิ่ง และในที่สุดก็กลายเป็นอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทีนี้มองดูรอบด้านคอยช่วยเหลือผู้อื่น “ตัวกู” ที่เคยเห็นแต่แก่ตัวเองมันกลายเป็นผู้ที่มองรอบด้านทั่วสากลจักรวาลเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่น นี่เรียกว่า อวโลกิเตศวร “ตัวกู” ที่เคยยกหูชูหางมันก็กลายเป็นวัชรปาณี-ปัทมปาณีไป นี่เมื่อ “ตัวกู” มันอยากไปนิพพานมันก็มีทางที่จะเป็นไปได้ แล้วก็ลองคิดดูให้ดีว่ามีคนไหนบ้างที่ไม่อยากดี มีคน ๆ ไหนบ้างที่ไม่อยากดี แม้แต่คนพาลโจรสันดานบาปมันก็อยากดี มันเป็นสัญชาตญาณ ถ้ามันรู้เรื่องนิพพานมันก็อยากไปนิพพานแน่ มี “ตัวกู” ตัวไหนบ้างที่ไม่อยากไปนิพพาน ดูเหมือนจะไม่มี แต่เพราะมันไม่รู้จักนิพพาน ถ้ามันรู้จักนิพพานผิด ๆ มันก็อยากไปนิพพานผิด ๆ นั้นไปก่อน จนกว่ามันจะรู้จักนิพพานที่ถูกต้อง มันก็อยากไปนิพพาน ฉะนั้นเราจึงถือว่า “ตัวกู” มันก็อยากไปนิพพาน อีเก้งก็อยากเข้ากรุง อีเก้งบางตัวหรือบางทีหลายตัวด้วยซ้ำไปอยากจะเข้ากรุง ไม่เช่นนั้นมันจะไปเรียนกรุงเทพฯ ทำไม นี่อีเก้งมันก็อยากเข้ากรุง ฉะนั้น “ตัวกู” มันก็อยากไปนิพพาน มันก็ตะโกนว่า “กูก็อยากไปนิพพานเน้อ” อย่าว่ามันสิ มันก็ควรจะช่วยสนับสนุนให้มันได้ไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตที่เราเรียกว่านิพพานคือหยุด
นิพพานนี่แปลว่าหยุดก็ได้ แปลว่าดับก็ได้ ไม่เวียนว่ายไปในวัฏฏสงสารก็คือหยุด นี่ดับไฟที่ไหม้หางเสียได้ ไม่มีราคะ, โทสะ, โมหะ, วิตักกะ, สัทธา, พุทธิ อะไร ไม่มีหมด มันก็ดับ หยุด ดับ เย็น นี่เขาพูดไว้อย่างให้กำลังใจนะ พูดให้มันมีกำลังใจว่าไม่ต้องกลัวในที่สุดจะต้องไปนิพพาน ไปไหนไม่ได้ต้องกลับไปสู่ต้นเดิมคือมันออกมาเวียนว่ายจนเบื่อแล้วมันก็กลับไปสู่ความหยุดตามเดิม ทีนี้มันหยุดถาวร ก่อนนี้มันหยุดเพราะว่ามันยังโง่ มันก็หยุดไม่ได้ถาวร เดี๋ยวมันก็อยากไปนั่น, อยากไปนี่, อยากไปโน่น ความคิดของคนเรานี่มันยังไม่รู้เรื่องความจริงของความหยุด มันก็หยุดไม่ได้ มันก็เปลี่ยนเรื่อย เบื่ออันนี้ก็ไปอันโน่น เบื่ออันโน้นก็ไปอันโน้น มันก็ไม่หยุด มันหยุดเป็นระยะ ๆ นิดเดียว ๆ ทีนี้พอมันรู้จริงถึงที่จริงเข้ามันก็หยุดเป็นการถาวรนี่เราเรียกว่า “พระอรหันต์” ไม่แล่น แต่แล้วเกิดคำพูดที่กำกวมดิ้นได้สับปลับขึ้นมาอีกว่าก็ไม่หยุดด้วย คือไม่หยุดอย่างทีแรก ทีแรกมันมาเที่ยวหยุดชิมนั่น ลองนี่ ดมนั่น ดมนี่ เที่ยวหยุดอย่างนั้น ไปหลงติดอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง, ภพใดภพหนึ่ง อย่างนั้นไม่ใช่หยุดถาวร ไปติดอยู่ ฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์จึงพูดว่าไม่วิ่งแล้วก็ไม่หยุดอยู่ที่ไหน ไม่วิ่งหาอะไร นี่อย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ไปหยุดหลงติดอะไรอยู่ที่ไหน นั่นนะคือหยุดตามแบบพระพุทธเจ้า ตรัสแก่องคุลีมาลว่า “ฉันหยุดแล้ว” [แกหยุด] (นาทีที่ 54:31) คือมันหยุดแห่งความมี “ตัวกู” ที่จะวิ่งไปไหน ไม่มี “ตัวกู” แล้วมันจะวิ่งไปได้อย่างไร นั่นนะคือหยุด เพราะฉะนั้น “ฉันหยุด” ในลักษณะอย่างนี้ “แกไม่หยุด” แกมี ตัวกู-ของกู ที่จะวิ่งไปอย่างนั้นวิ่งอย่างนี้ ทำให้องคุลีมาลเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุดเหมือนกัน เพราะมารู้เรื่องหยุดนี่เอง คนที่วิ่งกลายเป็นคนหยุดก็คือ “ตัวกู” มันบรรลุนิพพาน ความสูญสิ้นไปแห่ง “ตัวกู” ตัวกูที่เคยหอบหิ้วสมบัติ ๖ ประการไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้ก็ไอ้สมบัติเหล่านั้นมันกลายเป็นเครื่องมือที่ฆ่า “ตัวกู” ตายไปเลย ไม่มี “ตัวกู” สำหรับจะหอบหิ้ว นิทานมันก็จบ เอาละ, พอกันที