แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๓ วันนี้จะได้พูดถึงเรื่อง “ตัวกูกับจริตของตัวกู” ดังที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่าธรรมปาฏิโมกข์นี้ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวกู” ซึ่งมีมาก หากพูดกันจนตายก็ได้ไม่มีจบ ดังที่ได้เคยบอกมาแล้วว่าทุกเรื่องนั้นมันเกี่ยวกับ “ตัวกู” ไม่ว่าเรื่องอะไรในพระพุทธศาสนานี้ เรื่องกิเลส, เรื่องความทุกข์ทั้งหมดมาจาก “ตัวกู” เรื่องปฏิบัติดับกิเลส, ดับทุกข์ทั้งหมดมันคือดับ “ตัวกู” เพราะฉะนั้นทุกเรื่องจึงเกี่ยวกับ “ตัวกู” หากแต่ว่ากล่าวไว้โดยปริยายใดปริยายหนึ่งทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ จึงเรียกว่าพูดกันจนตายก็ไม่จบสำหรับเรื่อง ตัวกู-ของกู ในแง่เกิดก็ได้-ในแง่ดับก็ได้
ส่วนวันนี้จะได้พูดโดยหัวข้อว่า “ตัวกูกับจริตของตัวกู” เพื่ออธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่ได้พูดไปแล้วในคราวก่อน ๆ นั้นให้ชัดเจนออกไปตามลำดับ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวกู” คืออะไร ? เราพูดกันอย่างละเอียดลออมาแล้วหลายครั้งหรือหลายสิบครั้ง โดยสรุปแล้วก็หมายถึงความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมาในขณะที่เรามันโง่ไป เป็นความรู้สึกสำคัญมั่นหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในลักษณะที่เป็น “ตัวกู” เป็น “ของกู” มันก็มีความทุกข์ นี่คือ “ตัวกู” โดยเนื้อแท้ก็หมายถึงความคิดปรุงแต่งที่ผลุนผลันเกิดขึ้นมาด้วยความโง่ ไม่ได้หมายถึงเนื้อหนังร่างกาย เนื้อหนังร่างกายนี้เป็นเปลือกอย่าไปโทษมัน ต้องไปโทษที่จิตที่มันโง่ประกอบด้วยความโง่ปรุงเป็นจิตที่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแม้ว่ามันจะอยู่ในร่างกาย ไอ้ร่างกายมันก็ไม่รู้ไม่ชี้เป็นเพียงเปลือกอยู่นั่น ความผิด, ความชั่ว, ความทุกข์อะไรมันก็อยู่ที่ความคิดหรือความรู้สึกของจิต ฉะนั้นขอให้จำไว้ให้เป็นหลักตลอดกาลว่าไอ้ “ตัวกู” นี่หมายถึงความคิดหรือจิต โดยนึกเอารูปภาพฝาผนังภาพหนึ่งที่เขียนไว้ว่า แม่น้ำคด น้ำไม่ได้คด แม่น้ำกับน้ำนั่นมันคนละอันกัน แม่น้ำมันคดได้แต่น้ำมันคดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตนี่ที่มันคดได้แต่ร่างกายนี่มันคดไม่ได้และก็ไม่ตรงด้วยไม่อะไรด้วย ไม่ควรจะเรียกว่าอะไรด้วย เมื่อใดจิตมีความรู้สึกไปในลักษณะที่มีความหมายเป็น “ตัวฉัน”, เป็น “ของฉัน” ด้วยความโง่นี้คือ “ตัวกู” ทีนี้ถ้าเราพูดกันรวม ๆ ตามประสา ตามภาษาหรือตามประสาที่พูดกันอยู่นี้ก็เรียกว่ารวมหมดทั้งคนเลย เช่น นาย ก นี้ก็เป็นทั้งหมด ทั้งกายทั้งใจ ตัวนาย ก นั้นที่แท้ก็คือจิตและความคิดนึกของคน ๆ นั้นซึ่งมันบันดาลให้ร่างกายกระทำไปตามความคิดความนึกนั้น ที่จริงร่างกายไม่ควรจะรับผิดชอบ แต่เนื่องจากว่ามันเป็นเปลือกพอถูกอะไรกระทบกระเทือนมันก็ถูกที่ร่างกายก่อนแล้วมันก็จึงส่งไปให้ที่จิตใจ
ทีนี้ตัวกูก็เลยหมายความว่าคน ๆ หนึ่งก็แล้วกันกับจริตของเขา เพราะฉะนั้นวันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องจริต เพราะเรื่อง “ตัวกู” นี้ก็พูดกันมาเรื่อย วันนี้เรื่องจริตของ “ตัวกู”
คำว่า “จริต” ในลักษณะอย่างนี้หมายถึงนิสัย ทำไมจึงเรียกว่าจริตก็เพราะว่าคือการประพฤติมาจนชิน คำว่า “จริต” นี้ก็แปลว่าประพฤติแล้ว...ประพฤติแล้วจนเป็นนิสัย, จนชินเป็นนิสัย, จนแสดงออกมาว่า คนนั้นมีจริตหรือมีนิสัยอย่างไร สิ่งที่เรียกว่าจริตนี้ตามหลักที่เราศึกษากันอยู่ก็แจกไว้เป็น ๖ ชนิด เป็นเรื่องที่กล่าวเอาไว้ในหนังสือวิสุทธิมรรคไม่พบในบาลีโดยตรง แต่แม้เป็นเรื่องในหนังสือชั้นวิสุทธิมรรคคือหนังสือชั้นหลังนี่ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล ไม่ขัด แล้วก็รับมาศึกษามีประโยชน์ได้ แล้วก็ถือเป็นหลักที่ศึกษากันทั่วไปหมดโดยเฉพาะในวงของผู้ปฏิบัติกรรมฐานก็ต้องรู้เรื่องจริตที่ว่าแบ่งไว้ ๖ ชนิด ก็คือราคะจริต, โทสจริต, โมหะจริต ๓ อย่าง แล้วก็มีวิตกจริต, สัทธาจริต, พุทธิจริต เพิ่มออกไปจากกิเลส ๓ ชนิดที่เราเคยรู้กันอยู่แล้ว
(๑) ราคะจริต ก็คือจริตที่หนักไปทางราคะ (๒) โทสะจริต ก็ไปทางโทสะ (๓)โมหะจริต ก็ไปทางโมหะ ทีนี้ (๔) วิตกจริต คือคิด ๆ มาก ใช้คำว่าคิดมากดีกว่า ทีนี้ (๕) สัทธาจริต ก็คือเชื่อง่าย (๖) พุทธิจริต ก็แปลว่ารักรู้, อวดรู้, ชอบรู้อะไรก็ตาม เราต้องรู้เสียก่อนว่าแม้จะได้แบ่งเป็น ๖ จริตอย่างนี้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ หนึ่งจะมีจริตใดจริตหนึ่งแต่เพียงจริตเดียว คน ๆ หนึ่งมีได้ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ จริตก็ได้ แต่ถ้าอันใดมันขึ้นหน้าอันนั้นมันก็ต้องเอาอันนั้นเป็นหลัก คือพูดได้เลยว่าคนหนึ่งมีครบทั้ง ๖ จริต บางทีก็มีราคะ, บางทีก็มีโทสะ, โมหะ, บางทีก็ชอบคิด, บางทีก็เชื่อง่าย, บางทีก็อยากรู้-นักรู้ แต่มันไม่หนักออกหน้ามาพร้อม ๆ หรือเท่า ๆ กันทั้ง ๖ จริต มันก็จะมีจริตใดจริตหนึ่งออกมาข้างหน้า ก็เลยถือว่าคนนั้นมีจริตอันนั้น ๆ นี่คือกฎเกณฑ์ง่าย ๆ ทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับจริต
ทีนี้ “ตัวกู” ของใครมันมีจริตอันไหน ? ก็ต้องดูสิว่าอะไรมันออกหน้า ซึ่งคนนั้นจะต้องทราบได้ดีกว่าคนอื่น มันเป็นเรื่องทางจิตใจ คนอื่นต้องดูนานมากถึงจะรู้ว่าคนนี้มันมีจริตอะไร แต่ตัวเองนั้นรู้ได้ง่าย สำหรับราคะจริตก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามหรือการได้รับบำเรอขับกล่อมทางอายตนะ ; ทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกายนี้มันชอบมาก มันก็เรียกว่าราคะจริต เข้าใจได้ง่ายและก็รู้จักกันได้ดีทุกคนด้วย ทีนี้โทสะจริตคือมันโกรธง่าย เป็นฟืนเป็นไฟง่าย ทีนี้โมหะจริตนี่เข้าใจยาก โมหะจริตนะ คำว่าโมหะในที่นี้มันไม่ค่อยเหมือนกับโมหะในที่อื่น โมหะในที่นี้มันหมายถึงซึม ๆ เฉย ๆ ซึม ๆ อะไรก็ได้อย่างนั้นนะ คือว่าไม่ ๆ หนักไปทางราคะหรือโทสะนี่มันกลายเป็นทึม ๆ ไปก็เรียกว่าโมหะจริตของคนนั้น ทีนี้ วิตกจริตมันก็มีอะไรทำให้เขาเป็นคนคิดเก่ง เลยชอบคิดมาแต่เล็ก มันก็เลยติดนิสัยเป็นคนคิดเก่งหรือคิดมากเกินกว่าที่จำเป็นไปเลย สำหรับสัทธามันก็...เราก็สังเกตได้ว่าบางคนนั้นมันเชื่อง่าย เพราะมันไม่มีปัญญา มันเชื่อง่าย ส่วนพุทธิจริตมันตรงกันข้าม ; มันมีปัญญามาก มันเชื่อยาก
ฉะนั้นเราจะแยกไอ้ ๖ อย่างนี้ออกให้เป็น ๒ พวก คือพวกที่มันไวหรือมันฟุ้งซ่านเก่งนี้ก็คล้ายกับ dynamic นี่พวกหนึ่ง แล้วก็พวกที่มันอืดคือเนือยคล้ายกับ static นี่มันก็อีกพวกหนึ่ง แล้วก็จะเห็นทันทีว่าไอ้ราคะ, ไอ้โทสะ, ไอ้วิตก, พุทธิ นี้คือพวก dynamic เกิดง่าย, เกิดเร็ว, ฟุ้งซ่าน ทีนี้ส่วนโมหะจริตกับสัทธาจริตนี่มันอืดหรือเนือยก็เลยแบ่งได้ง่าย แบ่งคนได้ง่ายขึ้น คือว่าเป็นคนฉุนเฉียวหรือว่าเป็นคนเนือย ๆ ถ้าคนฉุนเฉียวมันก็อยู่ในกลุ่มแรก ราคะจริต, โทสะจริต, วิตกจริต, พุทธิจริต ไอ้คนที่เนือย ๆ ช้าต่อความรู้สึก ไม่ค่อยเคลื่อนไม่ค่อยไหวนี่ก็เป็นพวกโมหะจริต สัทธาจริต
ทีนี้พวกเราที่นั่งกันอยู่ที่นี่ก็คงอยู่ใน ๒ กลุ่มนี้ละกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไปรู้เอาเองก็แล้วกันระบุเดี๋ยวก็จะโกรธ ผมสังเกตเห็นนะพอจะระบุได้แต่ว่าไม่จำเป็น ตัวเองไปรู้ตัวเองก็แล้วกัน ประเภทราคะจริต, โทสจริต, วิตกจริต, พุทธิจริตนี้มันไปด้วยกันได้ พวกไว, พวกเร็ว, พวกฟุ้งซ่าน ซึ่งมักจะมากกว่าพวกที่ ๒ ในโลกนี้ก็จะพูดได้ว่าพวกที่ ๑ มันมากกว่าพวกที่ ๒ ซึ่งเป็นโมหะจริต, สัทธาจริต ยิ่งสมัยนี้การศึกษามันก้าวหน้าด้วยแล้วมันก็ส่งเสริมอย่างพวกแรก ถ้าเป็นสมัยโบรมโบราณสมัยอายุหินไอ้พวกหลังจะมาก คือพวกอืด ๆ เนือย ๆ จะมีมาก เดี๋ยวนี้แม้แต่เด็กที่เกิดในป่ามันก็ไม่ค่อยผิดกับเด็กที่เกิดในกรุงเสียแล้ว ทีนี้ถ้าเราอยากจะศึกษาโดยรายละเอียดให้มีประโยชน์มากขึ้นไปอีก เราก็จะมองเห็นได้เป็น ๒ พวกอย่างนี้ เป็น ๒ พวกอย่างนี้เสมอ จริตพวกรวดเร็ว คือ ราคะ, โทสะ, วิตก, พุทธิ นี้มันก็มีลักษณะส่วนใหญ่คือว่ามันบังคับหรือควบคุมยาก ทีนี้พวกที่ ๒ มันก็ตรงกันข้าม สัทธาจริต, โมหะจริต นี่มันชักจะหยุดเสียเองแล้ว มันจะหยุดนิ่งเสียเองอยู่แล้วจะบังคับอะไรมัน ส่วนพวกที่ ๑ มันฟุ้งซ่านรวดเร็วมันก็บังคับยากนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าจะทำการฝึกฝนจิตทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน มันก็เห็นได้ชัดว่าไอ้พวกที่ ๑ นี่เป็นพวกที่มีจิตที่บังคับได้ยากมันก็ทำวิปัสสนาทำกรรมฐานได้ยาก พวกที่ ๒ ก็ได้เปรียบคือทำได้ง่ายแต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่มันพูดแต่เรื่องง่ายเรื่องยากนะ
ลักษณะของพวกที่ ๑ ควบคุมยาก อันนี้มันก็มาจากไอ้ที่มีการศึกษามาก พวกที่ ๒ มันมีการศึกษาน้อย เพราะฉะนั้นพวกที่ ๑ วิตกจริต, พุทธิจริตนี้ มันคือจริตที่อยากรู้ อยากเรียน อยากศึกษา ไม่ให้ศึกษามันก็คิดเอาเองคือวิตกจริต ที่มันมัวเมาในการศึกษาก็เป็นพุทธิจริต แล้วมันก็มีการศึกษามากมันเป็นธรรมดา ทีนี้พวกสัทธาจริต, โมหะจริต โมหะมันก็ไม่ชวนให้ศึกษา ไอ้สัทธามันก็เชื่อว่าพอแล้ว พอแล้ว มันก็มีการศึกษาน้อย-พวกที่ ๒ ไอ้พวกที่ ๑มันก็มีประสบการณ์มากเพราะมันไม่อยู่สุข, มันขวนขวาย, มันทะเยอทะยาน, มันฟุ้งซ่าน, มันคิดนึก, มันก็เลยทำให้มีประสบการณ์มาก พวกที่ ๒ มันก็มีน้อยนี่มันตรงกันข้ามเสมอไป อย่างนี้พวกที่ ๑ ก็คิดเก่ง พวกที่ ๒ ก็คิดไม่เก่ง พวกที่ ๑ ก็นอนหลับยาก พวกที่ ๒ ก็นอนหลับง่าย คุณจำเอาไว้ว่ามันตรงกันข้ามเสมอไป พวกที่ ๑ มันก็ฝันง่าย ฝันเลื่อนเปื้อนไปได้ พอร่างกายผิดปรกตินิดหน่อยมันก็ฝันเลื่อนเปื้อนไปได้ ไม่มีหยุดจนรุ่งก็ได้ พวกที่ ๒ มันก็ฝันยาก ใครจะดีกว่าใคร คุณคอยสังเกตดูต่อไปไอ้พวกที่มีความรู้มาก, ความคิดมาก, การศึกษามากมันก็ชินแต่การคิด-การนึก มันชินเป็นนิสัย ทีนี้มันก็ควบคุมยาก นอนหลับยาก พอร่างกายผิดปรกตินิดหน่อย เช่น ไม่สบายนิดหน่อยนะมันจะคิดของมันเองโดยไม่มีเจตนา ครึ่งฝันครึ่งคิดไปอย่างนั้นนะจนตลอดเวลาก็ได้ เพราะมันมีความเคยชินเหลือประมาณในการคิด การนึก การอะไร ส่วนอีกพวกหนึ่งมันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอย่างนี้ มันก็หลับได้ง่าย แม้จะมีอาการมีโรคภัยไข้เจ็บอย่างเดียวกัน
ทีนี้มันก็เนื่องมาถึงร่างกายได้ด้วย เมื่อคิดมากก็คือใช้สมองมาก แล้วสมองของใครจะชำรุดเร็วกว่ากัน สมองของใครจะมีเส้นโลหิตแตกได้ง่ายและเป็นอัมพาตง่าย-มันก็ไอ้พวกที่ ๑ โดยส่วนใหญ่มันต้องเป็นพวกที่ ๑ พวกที่ ๒ นอนหลับง่าย สมองไม่ถูกทรมานมาก เส้นโลหิตแตกยากก็เป็นอัมพาตได้ยาก ทั้งความดันสูงหรือว่าโรคอื่น ๆ ที่มันเนื่องมาจากความดันสูงมันก็มีน้อย ส่วนกลุ่มที่ ๑ ก็มีมาก
ทีนี้พูดถึงคดโกง คุณทายเอาเองก็ได้พวกไหนจะคดโกงเก่ง เป็นคนคด ๆ งอ ๆ หรือเป็นคนโกง เป็นคนฉลาดแกมโกงกระทั่งโกงที่สุดเลย ไอ้พวกไหนมันจะโกงได้เก่งมันก็คือกลุ่มที่ ๑ ซึ่งสมองมันเฟื่อง ส่วนกลุ่มที่ ๒ ก็คดโกงยาก, ทำได้ยาก, ทำไม่ค่อยเป็น, คิดไม่ค่อยเป็น, มันโง่ นี่มันแสดงออกมาทางร่างกาย, ทางการประพฤติ, ทางการกระทำอย่างนี้ จริต ๒ กลุ่มนี้มาในลักษณะที่ตรงกันข้ามเป็นคู่กันอย่างนี้
คิดดูต่อไปถึงจะมาทำสมาธิกันแล้ว จะปฏิบัติสมาธิไอ้พวกที่ ๑ ก็ทำยากบางทีทำไม่ได้เลย ไอ้พวกที่จริตหมวดที่ ๑ ไอ้ประเภทที่ ๑ ราคะ, โทสะ, วิตก, พุทธิ นี่จิตเป็นสมาธิได้โดยยากหรือบางทีไม่ประสบความสำเร็จต้องยกเลิก ทำโดยวิธีอื่น ไม่ไปเอาดีกับสมาธิ ส่วนกลุ่มที่ ๒ มันก็ทำสมาธิได้โดยง่าย พวกสัทธาจริตโดยเฉพาะนี้หรือพวกโมหะจริตก็เถอะ ทำสมาธิได้ง่ายกว่าพวกที่ฉลาดเฉลียว, ฟุ้งซ่านเก่ง
ทีนี้พอขึ้นมาถึงขั้นปัญญา นี่ก็ได้เปรียบพวกที่ ๑ พวกที่ ๑ มีปัญญาได้ง่าย พวกที่ ๒ มีปัญญาได้ยาก ทีนี้ท้ายสุดผลของการปฏิบัติพวกแรกกลุ่มแรกกลุ่มที่ ๑ ก็...มันก็เอียงไปทางปฏิสัมภิทา มีความรู้ที่แตกฉาน ถ้าประสบความสำเร็จนะ ผลสำเร็จนั้นมันเอียงไปทางปฏิสัมภิทา นอกจากจะหมดกิเลสแล้วมันยังมีไอ้ความรู้ต่าง ๆ สารพัดอย่างแตกฉาน ไอ้ส่วนพวกที่ ๒ ก็จะเอียงไปทางสุกขวิปัสสก เรียกว่าไปอย่างแห้งแล้ง, ดับทุกข์อย่างแห้งแล้ง, หมดกิเลสอย่างแห้งแล้ง คำว่า “สุกข” นี่แปลว่าแห้ง มันต่างกันอยู่อย่างนี้คือตรงกันข้ามกันอยู่อย่างนี้เสมอไป ไม่ต้องมีใครหรือไม่มีเทวดาไหนมาเกี่ยวข้องมันก็เป็นไปตามจริตของมัน
ที่พูดนี้ก็หมายความว่าเรามีหลักว่าจะต้องรู้จักตัวเองก่อนจะทำอะไรก็ตาม ถ้าแม้จะปฏิบัติธรรมะโดยเฉพาะนี่ก็ต้องมีการรู้จักตัวเองที่เพียงพอเสียก่อนไม่เช่นนั้นมันก็ทำไม่ได้ ถ้าทำก็ทำอย่างงมงายเหมือนที่ทำ ๆ กันโดยมาก ทำอย่างงมงาย ตัวเองก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จักจริตนิสัยของตัวว่าเป็นอยู่อย่างไร ก็คือไม่รู้จักกิเลสของตัว ทั้งที่ตัวเองนั่นละคือกิเลส กิเลสนั่นก็คือตัวเอง-มันก็ไม่รู้จัก
ฉะนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีมากที่สุด คือเรื่องให้รู้จักตัวเองจนกระทั่งสามารถตักเตือนตัวเอง, แก้ไขตัวเอง, ทำที่พึ่งให้แก่ตัวเอง นี่ทำตัวเองให้หลุดพ้นไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่จะต้องกระทำก็จะต้องรู้จักตัวเอง ทีนี้คนมันโง่มันไม่มองตัวเอง ไปมองแต่เรื่องของคนอื่น จะหาแฟนนี่ไปมองแต่แฟน มันก็ไม่มองตัวเองว่าเป็นอย่างไร บ้าบออย่างไรก็ไม่มอง นี่เป็นเรื่องต่ำที่สุด เรื่องเลวที่สุดนะ ทีนี้จะทำการงาน จะสังคม จะทำอะไรอันอื่นที่มันสูงขึ้นไปมันก็ต้องมองตัวเองก่อนเสมอ เราเป็นอย่างไร, เรามีอะไรเท่าไร, เราควรจะทำอย่างไร กระทั่งเราควรจะประกอบอาชีพอะไร เราควรจะดำรงชีวิตอย่างไรนี้มันก็เรื่องมองตัวเอง เรื่องมองตัวเอง ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าอาศัยหลักต่าง ๆ ที่ท่านวางไว้ เช่น เรื่องจริต ๖ ประการนี้ เพราะ(ฉะ)นั้นจึงเอามาพูดมันเกี่ยวกับ “ตัวกู” ในฐานะที่มันเป็นทรัพย์สมบัติของ “ตัวกู” คือเป็น “ของกู” หมายความว่าจิตมันประกอบอยู่ด้วยจริต ๖ นี้ แล้วก็มีจริตใดจริตหนึ่งนำหน้าซึ่งเป็นปัญหาหนักกว่าอันอื่น
ฉะนั้นคนที่จะแก้ไขจริตของตัวนี่ก็ต้องทำอย่างที่เรียกว่าให้สาสม เกลือจิ้มเกลือหรือฟันต่อฟัน ตาต่อตาให้มันสาสมเพื่อจะแก้ไขจริตอันนั้นโดยเฉพาะ ส่วนอันอื่น ๆ ก็ทำไปตามสะดวกแต่ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่าไอ้เรื่องแก้ไขชนิดฟันต่อฟัน, ตาต่อตา, เกลือจิ้มเกลือนี้ไม่ใช่ทำอย่างโง่ ๆ ต้องทำอย่างฉลาด ไม่ใช่ทำอย่างที่คนโบราณเขาเรียกว่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่าอะไรทำนองนั้นมันทำไม่ได้ มันต้องมีอะไรที่ฉลาดพอ จึงจะไปนั่นมันได้ เดี๋ยวนี้พูดคล้าย ๆ ว่าเป็นคน ๒ คนขึ้นมาแล้ว ในร่างกายนี้คือคนที่จะฝึกคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นคนถูกฝึก ถ้าพูดอย่างสมมติก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้มันจะเป็นไปไม่ได้ที่ว่าในร่างกายนี้จะมีคน ๒ คน มันก็คือมีจิตหรือมีความรู้สึก ๒ ชนิด อันไหนมาก่อน, อันไหนมาหลัง, อันไหนมาช้า, อันไหนมาเร็ว, อันไหนมามาก, อันไหนมาน้อย นี่นั่นละมันก็จะเป็นอิทธิพลที่จะครอบงำหรือแก้ไขอันที่มาน้อย, มาช้า เพราะสิ่งนี้ก็คือสติสัมปชัญญะ ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครรับผิดชอบ นี่ร่างกายและจิตใจนี้มันก็ยังมีกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง, มีรูปร่างของมันเอง, มีความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาเอง รู้สึกหลาบ รู้สึกจำขึ้นมาเอง รู้จักไอ้เกลียดความทุกข์ ประสงค์ความไม่ทุกข์ขึ้นมาเอง มันก็เลยเป็นเรื่องของจิตและความคิดนึกความรู้สึกของจิต เพราะจิตนี้มันรู้สึกเจ็บปวด, รู้สึกสุข, รู้สึกทุกข์ เพราะฉะนั้นมันก็มีทางที่จะเกิดการปรุงแต่ง, เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่มาแวดล้อม คือมันก็จะเกลียดทุกข์ขึ้นมาหรือเบื่อความทุกข์ขึ้นมา มันก็จะเปลี่ยนไปหาความไม่ทุกข์ ให้ถือว่านี่เป็นลักษณะเฉพาะของจิตหรือสิ่งที่เรียกว่า “จิต” ซึ่งแปลว่ารู้ หรือก่อ หรือแก้ไข, หรือคำว่า “มโน” ก็แปลว่า รู้, คำว่า “วิญญาณ” ก็แปลว่ารู้ อะไรก็ล้วนแต่แปลว่า “รู้” ทั้งนั้น ถ้าคำพูดที่เป็นชื่อของสิ่งที่เรียกว่าจิตนี่จะแปลว่ารู้ นี่มันก็รู้ตั้งแต่รู้จักเข็ดหลาบเพราะฉะนั้นจิตมันก็รู้จักเข็ดหลาบ รู้จักดิ้นไปทางที่ไม่อยากจะได้, จะมี ถ้ามันเผอิญมันมีความรู้ที่ถูกต้องมันก็ดิ้นไปถูกทาง ถ้าไม่มีความรู้ถูกต้องมันก็ดิ้นไปผิดทาง แต่หลาย ๆ หนเข้ามันก็จะต้องถูกทาง
แม้แต่สุนัขนี้มันยังรู้จักเลือกที่จะพบที่นอนที่สบาย ไม่ใช่ว่าพบได้ในครั้งแรก มันก็ต้องนอนตรงนั้นตรงนี้จนพบที่ ๆ สบาย แล้วถ้ามันมีความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศมันก็ต้องเลือกต่อไปอีกจนพบที่สบายเพราะมันมีจิตเหมือนกัน ทีนี้คนเราก็ต้องดีกว่าสุนัขนะ จิตของมนุษย์จะต้องรู้จักหรือรู้สึกสุข ทุกข์ อยากจะหลีกจากทุกข์ อยากจะทำให้มันดีขึ้น ทีนี้จิตที่มันยังต่ำอยู่ มันเคยชินแต่ในทางที่มีตัวตน มีตัวกู เอ้า, ก็ยอมให้ เพราะมันยังเด็กอยู่ แต่ว่า ให้มันมีตัวกูหรือมีตัวตนที่เป็นไปในทางดี ทางถูก เรื่อยไปก็แล้วกัน กว่ามันจะรู้ว่า “ราคะ” นี่เป็นไฟมันก็ผ่านความเจ็บปวดมามาก ในที่สุดมันก็รู้ กว่าจะรู้ว่าโทสะนี้เป็นไฟ มันก็กระทบกันมาแล้วมาก ในที่สุดมันก็รู้มันก็ฉลาดขึ้นที่ไม่อยากจะไปเล่นกับไฟ นี่เรียกว่าความรู้ ทีนี้มันเผลอไปมันก็ถูกไฟไหม้ ทีนี้มันรู้จักเข็ดรู้จักหลาบ ทีนี้มันก็รู้จักกลัว ไอ้กลัวนี้ก็จะทำให้รู้จักมีสติที่จะไม่เผลอให้ไฟมันไหม้อีก มันเป็นมาได้ตามกฎเกณฑ์ในตัวมันเองของธรรมชาติ ของธาตุที่เรียกว่ามโนธาตุ สำหรับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันเป็นแต่เพียงเปลือกหรืออุปกรณ์ให้เป็นออฟฟิศ ให้มโนธาตุมันทำงานไปตามเรื่องตามราวของมัน มันก็ฉลาดขึ้นมา ฉลาดขึ้นมาเป็นวิวัฒนาการ ทีนี้ระหว่างนี้ถ้ามันจะฉลาดให้เร็วอย่างที่พวกเราต้องการจะมีจิตใจที่ดี ที่งาม ที่สูงอะไรเร็ว ๆ นี่ก็ต้องรู้จักวิธีการ หลักการ หรือปัญหาที่จะต้องแก้ไขแล้วก็แก้ไข ดังนั้นจึงรู้จักตัวเองให้มากเป็นข้อใหญ่เป็นข้อแรกโดยอาศัยรู้เรื่องจริตนี้ ว่าเรามีจริตอะไร ? อย่างไร ? ใน ๖ จริตนี้อะไรมานำหน้า แล้วอะไรที่ ๒ อะไรที่ ๓ อะไรที่ ๔ อะไรที่ ๕ อะไรที่ ๖ คือแทบจะไม่มีเลย ไอ้คำว่าที่ ๑ นี้มันจะต้องเอาไปตั้ง ๕๐%, ๖๐% , ๘๐% ก็ไม่แน่ และที่ ๒ ก็เหลือ ๒๐% ที่ ๓ ก็เหลือ ๑๐ เหลือ ๕ เหลือ ๑ ไปเลย เพราะฉะนั้นเขาจึงยกเอาจริตที่รุนแรงนั้นมาเป็นตัวปัญหา เรียกว่าปัญหาที่ต้องเผชิญ
ทีนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแม้มันจะมีถึง ๖ จริต แต่ก็แบ่งออกได้เป็น ๒ พวก ทีนี้ในพวกหนึ่งมีวิธีแก้ไขคล้ายกันหรือไปด้วยกันได้ มันก็ยังเหลือ ๒ ปัญหา แต่ว่าที่จริงมันไม่ถึง ๖ ปัญหา แต่ให้แยกละเอียดมันก็เป็น ๖ ชนิด ๖ ปัญหา เดี๋ยวนี้ก็เอามารวมกันเป็นหมวดหมู่ที่มันคล้ายกันไปด้วยกันก็เหลือเพียง ๒ ชนิด คือพวกรุนแรง, รวดเร็ว, ว่องไว แล้วก็พวกที่อืด หรือหนืด หรือช้า หรืองุ่มง่าม หรือชวนแต่จะหยุด ทีนี้เมื่อสิ่งแวดล้อมของสมัยปัจจุบันนี้มันส่งเสริมไปในจริตกลุ่มไหนปัญหามันก็อยู่ที่จริตกลุ่มนั้น พูดได้เลยว่ามันเป็นกลุ่มแรก มีการศึกษามีความเฉลียวฉลาดมากมันก็มีราคะมาก โทสะมาก มีความคิดมาก มีความอยากรู้มากจนเกินที่ควรจะเป็น เปรียบเทียบกันสมัยที่คนมีการศึกษาน้อยสมัยปู่ย่าตาชวดของเรา เรื่องราคะนี้ก็มีน้อย ไม่โลดโผนเหมือนสมัยที่มันมีการศึกษามาก เพราะการศึกษาทั้งหมดนี้ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสของเนื้อหนัง ความต้องการเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังเป็นเหตุให้จัดการศึกษาพูดอย่างนี้ได้เลยจะเป็นคำด่าที่สุดก็ได้ การศึกษาของโลกในสมัยปัจจุบันนี้มันเพื่อประโยชน์สุขแก่เนื้อหนัง จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องอะไรซึ่งมันเนื่องกันมาอีก เป็นเรื่องทหาร เรื่องการเมืองอะไรก็ตามเพื่อผลคือเนื้อหนังทั้งนั้น ฉะนั้นเด็ก ๆ ของเราจึงประสบปัญหาทางกิเลสนี้มาแต่เล็กและก็มากไปจนโต ไอ้โลกต้องการความอยู่ดีกินดีที่ยิ่งขึ้นไป ใช้คำว่าอยู่ดีกินดีนี้มันขี้โกงมันไม่ตรง ถ้าอยู่ดีกินดีมันก็ต้องไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้ความทุกข์มันมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรจะเรียกว่าอยู่ดีกินดี ถ้าอยู่ดีกินดีก็ตามประสาของคนที่โง่ที่หลงในเนื้อหนังก็ได้ ภาษาธรรมะเราอยากจะพูดกันว่ากินอยู่พอดีพอป้องกันกิเลสอยู่ในตัว นี่เขาไปเอากินดีอยู่ดีแล้วก็ไม่มีขอบเขต ทั้งโลกเลยระดมกันเฮไปทางนั้น นี่มันจึงเป็นปัญหาที่หนัก
ทีนี้ว่าในโลกนี้มันเต็มไปแต่สิ่งที่ยั่วให้เกิดราคะ ถ้ายังไม่ถึงเรื่องเพศ เรื่องตรงกันข้ามมันก็เป็นความเอร็ดอร่อยทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางเนื้อหนังไปตามประสาเด็ก ๆ ก่อน และในที่สุดก็ไปสู่เรื่องเพศ ปัญหามันจึงเกิดขึ้น เป็นโลกแห่งราคะ ถ้าราคะในกามารมณ์ก็เรียกว่ากามราคะนี่คือตัวสำคัญที่กำลังครอบงำโลกอยู่เวลานี้ ทีนี้ถ้าไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็เป็นรูปราคะ เดี๋ยวนี้เราก็มีอะไรหลายอย่างเหมือนกันนะที่มันเป็นเรื่องความก้าวหน้าทางศึกษา ทางวัตถุ มีวัตถุอะไรล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์โดยตรงมันก็ก้าวหน้า เช่น จะเล่นนั่นเล่นนี่ ไอ้ของเล่นที่สมัยนี้ยิ่งวิเศษ พิเศษขึ้นไป หรือว่าเพลิดเพลินในความคิด การค้นคว้าหาความรู้ การประดิษฐ์อะไรต่าง ๆ นี้เมื่อพอใจก็เรียกว่าราคะ เป็นรูปราคะบ้าง เป็นอรูปราคะบ้าง กระทั่งไปโลกพระจันทร์อะไรนี้มันก็ไม่พ้นจากเรื่องของราคะ แต่มันไม่ใช่เป็นเรื่องของกามราคะโดยตรงก่อน แต่ในที่สุดมันก็เพื่อกามราคะก็ได้ก็เรียกว่าราคะกำลังครอบงำโลกอยู่ เป็นกามราคะเป็นส่วนใหญ่ แล้วราคะอื่น ๆ อีก แม้แต่เด็ก ๆ ที่รักแก้วแหวนเงินทองที่ใช้ประดับประดาแต่งกายนี้เขาก็เรียกว่าราคะตามภาษาบาลี ทีนี้ราคะมากเท่าไหร่โทสะจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะว่าโทสะนั้นเกิดมาจากการที่ไม่ได้ตามราคะต้องการ ถ้าราคะก้าวหน้า-โทสะก็ต้องก้าวหน้า เพราะ(ฉะ)นั้นไอ้เรื่องอื่น ๆ ก็ต้องก้าวหน้าตามไอ้ราคะซึ่งนำหน้า ความอยาก-ความต้องการมันนำหน้า ไม่ได้ตามต้องการมันก็โกรธ ที่มันอยากได้ มันก็คิดคือวิตกจริต คิดจนคิด ๆๆ ไปจนเหมือนไอ้เครื่องจักร จนฝันก็คิดได้ subconscious ก็คิดได้ หลับแล้วก็ยังฝันเป็นการคิด คิดค้นเลยคิดค้นของใหม่ ในที่สุดไอ้พุทธิจริตมันก็ถูกลากตามมา อยากรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็พอใจหยิ่งผยอง หยิ่งผยองในเรื่องความรู้มันเนื่องกันอย่างนี้
เพราะฉะนั้นสรุปแล้วมันมาจากความต้องการซึ่งเรียกว่าเป็นราคะได้โดยตรง แต่ว่ามันต่างกันคนละ...คนละจังหวะ ไอ้ความอยากเมื่อมันอยากขึ้นแล้วมันก็ต้องยินดี ตอนที่ยินดีนี้เขาเรียกว่าเป็นราคะ ถ้าไม่ได้ตามอยากมันก็เกิดเป็นตรงกันข้ามคือยินร้าย ก็มีปัญหาต่าง ๆ ต่อเนื่องกันไป นี่เรียกว่ารู้จักคน ๆ หนึ่ง ก็ได้ รู้จักคนทั้งโลกก็ได้ เป็นอยู่อย่างนี้
ทีนี้จะเหลียวไปดูไอ้กลุ่มที่ ๒ คือโมหะกับสัทธา มันก็ยังเป็นทาสเป็นบ่าวของความอยากอยู่เหมือนกัน โมหะแม้ว่ามันจะเฉย จะอืด จะเนือย จะคล้าย ๆ กับจะหลับตาอยู่ มันก็ยังมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ไอ้ศรัทธาความเชื่อมันก็เพราะว่าหวังว่าจะได้อะไรอย่างหนึ่งเหมือนกัน นี่มันก็ขึ้นอยู่กับความอยากด้วยกันทั้งนั้นแต่วิธีมันต่างกันโดยแยกออกเป็น ๒ พวกเพราะเหตุนี้
ทีนี้เมื่อเรารู้ไอ้เรื่องจริตคือเป็นตัวปัญหาที่เป็นตัวปัญหาพอสมควรแล้ว ก็อาจจะรู้ลู่ทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น อย่างที่ผมพูดว่ามันก็ต้องใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือ ฟันต่อฟัน ตาต่อตา เมื่อพวกที่ ๑ ไอ้จริตพวกที่ ๑ มันรู้มาก มันอะไรมาก มันเก่ง มันก็ถ่วงมันไว้กับสิ่งที่ตรงกันข้าม คืออย่าไปรู้ไปชี้อะไรให้มันมากนัก นี่พูดแล้วมันก็ไม่น่าเชื่อเพราะเขาจะถือว่ามันไม่ก้าวหน้า แต่อย่าลืมว่าปัญหามันเกิดขึ้นเพราะไปรู้ไปชี้ไอ้สิ่งต่าง ๆ มากเกินไป เพราะฉะนั้นมันลดลงเสียบ้าง อย่าไปรู้ไปชี้อะไรมันมากนักนี่พวกที่ ๑
ทีนี้ส่วนไอ้พวกที่ ๒ โมหะจริต, สัทธาจริตนั้นนะ พวกนี้ไปรู้ไปชี้อะไรให้มันมากเข้าอีกหน่อย อย่าสันโดษนักในเรื่องความรู้ความชี้ แต่พวกที่ ๑ นี้ต้องลดลงเสียบ้างหรือลดลงเสียให้มากที่สุด พวกที่ ๒ ก็ไปรู้ไปชี้ให้มันมากอีกหน่อย ทีนี้พวกที่ ๑ นั่นมันอยากดี อยากเด่น อยากดัง อยากชนะ นั่นก็แก้มันโดยที่ว่าอย่าไปอยากดัง อย่าไปอยากเด่น อย่าไปอยากชนะสิ ลดไอ้อยากดี อยากเด่น อยากดัง อยากชนะลงเสียสิหรือว่าไม่เอาเสียเลยสักพักหนึ่งก็ได้ มันจะได้ลดไอ้สิ่งที่มันเกินไป ทีนี้ไอ้พวกที่ ๒ นั้นขยันสักหน่อยสิ ขยันจะดี จะเด่น จะดัง จะชนะอะไรบ้าง ขยันสักหน่อยให้มันตรงกันข้าม
สรุปแล้วก็ว่าไอ้พวกที่ ๑ นั้นมันควรจะอยากด้อยลงเสียบ้าง แล้วพวกที่ ๒ มันก็อยากเด่นให้มาก ๆขึ้นไป นี่เมื่อรู้จริตว่ามันมีอยู่อย่างนี้แล้ว เป็น ๒ พวกอย่างนี้แล้ว ตรงกันข้ามกันอยู่อย่างนี้แล้ว ก็พบคำตอบที่ง่าย ๆ คือทำที่มันตรงกันข้ามให้ทันกัน ถึงขนาดที่เรียกว่าเกลือจิ้มเกลือ “ตัวกู” มันอยากดังอยากเด่นก็ลดลงเสีย ไอ้ “ตัวกู” ที่มันซึม มันโง่ ก็ค่อย ๆ ยุให้มันอยากเด่นอยากดังขึ้นมาบ้างให้พอดีตามสมควรแก่จริตที่มีอยู่ ทีนี้ผลสุดท้ายปัญหาที่มันแก้ไม่ตกก็คือว่าไม่รู้จักตัวเองได้โดยเฉพาะพวกโมหะจริต สัทธาจริตนี้มันหนังเหนียว มันเข็นไม่ไป หรือมันอะไรทำนองนี้ มันยากที่จะรู้จักตัวเองได้ ฉะนั้นการศึกษาก็คงจะช่วยได้ การศึกษาที่ทำให้พวกกลุ่มที่ ๑ เฟ้อไปหรือเกินไปนี่มันก็จะช่วยกลุ่มที่ ๒ ให้พอดีได้ แต่มันก็ไม่เอาอีกละ ถ้ามันลงเป็นโมหะจริต, สัทธาจริตแล้วมันสั่นหัว มันไม่อยากเรียน มันไม่อยากจะลืมตา นี่ ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ในโลกนี้เพราะฉะนั้นมันจึงมีครบถ้วนอยู่อย่างที่เห็น ๆ อยู่ ๖ จริตนี้หรือ ๒ กลุ่มนี้
เอาละทีนี้มันพูดถึงเรื่องตัวเองมันก็จบ ถ้าคิดจะช่วยผู้อื่นบ้างก็ต้องใช้หลักเกณฑ์อันนี้เพราะว่าเรามีหน้าที่ นอกจากจะช่วยตัวเองแล้วยังต้องช่วยผู้อื่นบ้างพร้อม ๆ กันไป ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์อันเดียวกันนี้ เอาไปจัด เอาไปปรับกันเข้าให้พอเหมาะให้พอดี ไม่เกิดเรื่องไม่เกิดราว ทำผิดมันก็เกิดเรื่อง ทำไม่พอเหมาะพอดีมันก็เกิดเรื่อง ต้องโทษตัวเองที่ว่ามันทำผิด ไม่รู้สิ่งที่ควรทำและไม่รู้ว่าควรทำเท่าไรหรืออย่างไร
นี่วันนี้เราไม่ได้พูดกันถึงเรื่องอะไรอื่นนอกจากเรื่องของจริตคือตัวเอง ตัวเองที่ธรรมชาติหลอมหล่อขึ้นมาจนกระทั่งมีอายุเท่านี้มานั่งอยู่นี่มันประกอบอยู่ด้วยสิ่งนี้ หรือมันหลอมขึ้นมาด้วยสิ่งนี้ด้วยจริตทั้ง ๖ นี้ แล้วก็มามีผลอยู่อย่างนี้ เป็นจริตอยู่อย่างนี้ เป็นบุคคลที่มีจริตอย่างนี้ แล้วก็คือเรื่อง ตัวกู-ของกู มีจริตอย่างไร ตัวกู-ของกู ก็เต้นรำไปตามจริตอย่างนั้น ตามแบบของมัน ตามลักษณะของมัน จึงได้มีการกระทบกระทั่งทั้งภายในและภายนอก ภายในก็ไม่มีความสุข ภายนอกก็ไม่มีความสุข คือมีการเบียดเบียน กระทบกระทั่ง ช่วยกันศึกษาให้ดีในส่วนนี้เพื่อจะไปใช้ความรู้อันนี้ประกอบกันเข้ากับส่วนอื่น ๆ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เคยบรรยายมาแล้วหลาย ๆๆ ครั้งก็ได้ แก้ปัญหา ตัวกู-ของกู ได้ไปตามลำดับ ๆ สักวันหนึ่งก็คงจะเป็นที่พอใจ แล้ววันนี้พอกันที