แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายสำหรับผู้ที่จะลาสิกขาบทในตอนนี้ จะได้พูดกันถึงธรรมะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการเดินทาง หรือสำหรับการทำการงาน หรือสำหรับการต่อสู้ในชีวิตนี้ก็ตาม มันใช้เครื่องมือรวมกันเพราะว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน ขอให้ทบทวนไอ้ข้อความที่แล้วมาถึงเรื่องการบวชและการลาสึก ก็เพื่อให้ได้เรียนรู้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับฆราวาส แล้วก็ออกไปปฏิบัติ ให้ความเป็นมนุษย์นั้นดีที่สุด เพื่อให้ชีวิตเป็นการเดินทางที่ดีที่สุด เป็นการทำการงานที่ดีที่สุด หรือว่าต่อสู้จนชนะโลกทั้งสามโลก คือทั้งโลกนี้ทั้งโลกอื่นทั้งโลกอุดร ทีนี้สิ่งที่จะได้เป็นความรู้ออกไปมันก็คือความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ว่า ไอ้ชีวิตนี้มันคืออะไร จะต้องเพื่อประโยชน์อะไร หรือว่าจะทำอย่างไร สำเร็จได้โดยวิธีใด มันเนื่อง ๆ กันอยู่ ก็รู้แล้วชีวิตคือการเดินทางและการต่อสู้ในหน้าที่ ทีนี้ก็จะเหลืออยู่ว่าเดินอย่างไร ต่อสู้อย่างไรโดยเฉพาะ
มีธรรมะอยู่ประเภทหนึ่งตั้งอยู่ในลักษณะที่เป็นเครื่องมือที่จะต้องใช้ในการเดินทางหรือในการต่อสู้ในชีวิตนี้ แต่ขอย้ำอีกสักนิดหนึ่งว่าเรื่องการเดินทางหรือการทำการงานหรือการต่อสู้นี้มันเป็นเรื่องเดียวกันหรือสิ่งเดียวกัน
เป็นการเดินทางนั้นหมายความว่าจากต่ำไปหาสูง ด้วยการทำหน้าที่ ด้วยการทำการงานถูกต้องหมด
และในการทำการงานนั้นย่อมเป็นการต่อสู้ ทั้งภายนอกและภายใน
ฉะนั้นเครื่องมือสำหรับต่อสู้ก็คือธรรมะประเภทนี้ ซึ่งในที่นี้ก็จะยกเอาธรรมะหมวดที่ดีที่สุด ที่สำคัญทีสุด เฉพาะเจาะจงที่สุดแก่ฆราวาส คือธรรมะหมวดที่เรียกว่า ฆราวาสธรรมอยู่ในหมวดที่ปฏิบัติใน นวโกวาท คงจะเคยอ่านเคยผ่านมาแล้ว จะจำได้แล้วด้วยซ้ำไป ปัญหาก็เหลืออยู่ว่าจะเอามาใช้มันได้อย่างไร จะปฏิบัติให้ได้อย่างไรตามนั้น
ที่จริงธรรมะนี้ไม่มีฆราวาส ไม่มีบรรพชิต ธรรมะสำหรับดับทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าจะกันเอามาเฉพาะที่มันเหมาะสำหรับฆราวาสมันก็ได้พวกหนึ่ง แต่ธรรมะพวกนั้นมันก็ยังใช้ได้สำหรับบรรพชิต หรือใช้ได้สำหรับเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีก เช่นมีดสักเล่มหนึ่งคน ๆ หนึ่งหรือคนพวกหนึ่งก็ใช้ไปอย่างหนึ่ง ใช้ไปอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน ใช้เป็นอาวุธก็ได้ ใช้เป็นเครื่องมือก็ได้ ธรรมะ ฆราวาสธรรมนี้ก็บรรพชิตก็ใช้ได้ แต่ทีนี้เราจะพูดกันเฉพาะในแง่ที่ฆราวาสจะต้องใช้
ฆราวาสธรรม แปลว่าธรรมสำหรับฆราวาส ทีนี้ชื่อบอกชัดอยู่แล้วว่าจำเป็นแก่ฆราวาส ไปจัดไว้เฉพาะสำหรับฆราวาสในความหมายอันหนึ่งระดับหนึ่ง มีอยู่สี่ข้อ คือ
โดยใจความสัจจะก็คือจริง ในการที่ว่าตั้งใจจะทำ ลงมือทำ หรือทำอยู่ก็เรียกว่าจริง ฉะนั้นเป็นพระเป็นเณรนี้ก็บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง เรียกว่า สัจจะ ต้องมีความจริงซึ่งกินความกว้าง จริงต่อตัวเอง จริงต่อผู้อื่น จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์หรือเกียรติของความเป็นมนุษย์ นี้ก็เรียกว่าจริงทั้งนั้นน่ะ
ทมะ คือการบังคับใจ บังคับตัวเองได้ คือบังคับใจได้ เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่าการบังคับตัวเอง จะเรียกว่าการข่มกาย ข่มใจ ข่มกิเลส ข่มอะไรก็ได้ทั้งนั้น ทีนี้ภาษาทั่ว ๆ ไปในโลกนี้ใช้เรียกว่าบังคับตัวเอง การบังคับตัวเอง
อันถัดไปก็คือ ขันตี ความอดกลั้นอดทน หมายถึงรอได้คอยได้ด้วยความอดกลั้นอดทน ก็ทำไปเรื่อย ทนทำไปได้เรื่อยไม่เลิก
ทีนี้อันสุดท้าย จาคะ คำนี้แปลว่าสละออกไป บริจาค สิ่งใดไม่ควรมีอยู่ในตนก็ต้องเอาออกไป สิ่งใดควรบริจาคก็ต้องบริจาคออกไป รวมทั้งวัตถุสิ่งของด้วย และความรู้สึกคิดนึกนิสัยสันดานอะไรด้วย เป็นสิ่งที่ต้องบริจาคออกไป ถ้ามันไม่ควรจะมีอยู่ในตน นี้เรียกว่ามีอยู่สี่ข้อ
ที่นี้ก็ดูให้ดีว่ามันเนื่องกัน อย่างที่มาแยกกัน ถ้าแยกกันมันทำงานไม่ได้ดี หรืออาจจะล้มเหลวก็ได้ เหมือนโต๊ะสี่ขานี่ ถ้าเอาออกสักขาหนึ่งหรือสองขามันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ธรรมะสี่ข้อนี้ก็เหมือนกัน ต้องไปด้วยกันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นขอให้มองเห็นความสัมพันธ์กันว่า อันแรกที่สุดต้องตั้งต้นด้วยความจริงใจว่าเราจะทำอะไร เราเรียนมารู้ทั่วถึงแล้วเกี่ยวกับอุดมคติของความเป็นมนุษย์ อะไรต่าง ๆ นี้ เหมือนที่เราพูดกันมาแล้ว สองครั้งแล้ว ทีนี้เหลือแต่จะตั้งใจจะทำตามนั้น จะเดินทางหรือว่าจะต่อสู้ให้เต็มที่ คือเต็มตามอุดมคติที่เราหวัง เรียกว่าสัจจะ ตั้งสัจจะลงไปในการกระทำ
ทีนี้สัจจะนี้อยู่ไม่ค่อยจะได้ถ้าไม่มีการบังคับตัวเอง ตัวสัจจะที่ไม่มีการบังคับตัวเองนั้นไปไม่รอด หรือว่าไปได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันก็ละลายไปเสีย ต้องมีการบังคับตัวเองนี้ ช่วยให้ทำไป ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมถอยหลัง บังคับให้มันทำตามสัจจะนี่อีกทีหนึ่ง ทีนี้เมื่อทำไปด้วยการบังคับอย่างนี้น่ะมันเจ็บปวดหรือว่ามันต้องทน มันจึงมีขันตีเข้ามา คือต้องทน ถ้าไม่ทนมันก็บังคับไปไม่ได้ เดี๋ยวมันก็เลิกเพราะการบังคับนั้นมันเจ็บปวด ฉะนั้นต้องมีขันตี ความอดทนเข้ามาช่วยอดกลั้นต่อความเจ็บปวด ทีนี้ความอดกลั้นนั้นมันมีขอบเขตจำกัด ถ้ามันเกินนักมันก็อดกลั้นไม่ไหว มันจึงมีการระบายออกไปอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกับลิ้นระบายอะไรสักอย่างหนึ่ง คอยระบายไปเรื่อยพอให้ทนไหว จึงมีจาคะเข้ามาเป็นข้อสุดท้าย นี่ว่าธรรมะสี่ข้อ สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี่ท่องกันไว้ให้ดี ถ้ารู้ว่ามันเป็นอะไร แล้วรู้ว่ามันเนื่องกันอย่างไร
ทีนี้เราจะพิจารณากันดูโดยละเอียด ไอ้สิ่งแรกที่จะมองเห็นก็คือว่า เรามีสิ่งเหล่านี้กันอยู่ หรือว่ารู้จักสิ่งเหล่านี้กันดี แต่แล้วมันไม่จริง นี่ขอให้พวกคุณทุกคนนี่มองย้อนหลังไปแต่หนหลังที่เป็นมาแล้วแต่หนหลัง จะพบว่ามันขาดในคุณธรรมเหล่านี้ สัจจะ มันก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไอ้บังคับตัวเองแล้วก็ยิ่งเหยาะแหยะ ๆ ไม่เอาจริง ขันตี ก็เหมือนกัน มันทนแต่ปาก จาคะ นี่ยิ่งไม่สละ สละก็เพื่อจะได้ของแลกเปลี่ยนอย่างนี้เขาไม่เรียกว่าสละ ถ้าสละจริงก็ต้องเพื่อจะบังคับข่มขี่หรือละลายกิเลส ไม่ใช่ไปซื้อหาอะไรมาบำรุงบำเรอตัว ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่าตั้งแต่แล้วมา ตั้งแต่จำความได้มาจนบัดนี้ จนก่อนบวชนี้แล้วก็มาบวชนี้ สิ่งเหล่านี้เรามีกันอย่างไร ผมพูดโดยไม่เกรงใจว่า มีกันอย่างใช้ไม่ได้ หรือไม่จริง ไม่มีอะไรมาทำให้จริง มันก็เลยไม่จริง
อยากกระบุลงไปว่าสำหรับข้อที่หนึ่งคือ สัจจะ นั้นน่ะ มันกลายเป็นเรื่องโกหกตัวเองไปเสียเรื่อย รู้จักอุดมคติของความเป็นมนุษย์แล้วมันก็ไม่ปรารถนาจะทำ โกหกตัวเอง มันไปตามใจตา หู จมูก ลิ้น กายความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง ยอมเสียอุดมคติ แก้ตัวไปต่าง ๆ นานาว่า อุดมคตินี้มันไม่มีประโยชน์อะไร สู้ของไอ้เป็นชิ้นเป็นดุ้นเป็นก้อนสด ๆ ร้อน ๆ นี้ไม่ได้ นี่มันก็คือโกหกตัวเองเรียกตัวเองว่ามนุษย์แต่ไม่ทำอย่างมนุษย์ จริงหรือไม่จริงไปพิจารณาดู มันก็คือโกหกตัวเอง ทีนี้มันละเอียดหรือสูงขึ้นไปก็เรียกตัวเองว่า พระ ถ้าไม่ทำอย่างพระ ก็ยังเห็นกันอยู่หยก ๆ ว่าเล่นหัวหยอกเอินกันอย่างเด็ก ๆ อย่างฆราวาส ที่เป็นพระนี่ นี่มันพูดกันตรง ๆ เป็นพระก็ไม่ทำอย่างพระนี่ก็เรียกว่ามันก็ไม่จริง คือโกหกตัวเอง นี่ยังจะต้องเป็นอะไรอีกมาก
จะเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา จะเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ของสำนักศึกษา จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ จะเป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้าเหล่านี้ มันว่าแต่ปาก ว่ารักบิดามารดาก็รักแต่ปาก เคารพบิดามารดาก็เคารพแต่ปาก ไม่ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของที่ ๆ ควรจะรัก ที่ควรจะเคารพ เพราะไม่มีใครมาทำอะไรได้อย่างก็เพราะว่าบิดามารดาก็ไม่ได้มาเรียกร้องจู้จี้พิถีพิถัน ไอ้เด็ก ๆ นี่ก็เหลวไหลและก็ไม่จริง นี่โตป่านนี้แล้ว บวชพระแล้ว จะสึกออกไปแล้วนี่ จะเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดากันสักที ก็ดูจะไม่จริง เมื่อนึกเมื่อคิดนี้ก็ดูจริง ตั้งใจจริง แต่พอไปกระทบอะไรเข้ามันก็เตลิดเปิดเปิง มันเฉื่อยชาหรือเลอะเลือนไป ไม่จริง บุตรที่ดีต้องยกบิดามารดาขึ้นมาจากนรก คือความร้อนใจทุกชนิด ข้อนี้ก็ต้องจำไว้ด้วย เพราะคำว่าบุตรนั้นก็แปลว่า ผู้ยกบิดามารดาขึ้นจากนรก คำ ๆ นี้มันแปลอย่างนั้น ตามคำเดิม ความหมายเดิมภาษาอินเดีย ทีนี้ นรก คือความร้อนใจทุกชนิด ทีนี้บุตรนี่ต้องยกความร้อนใจของบิดามารดาออกไปเสียทุกชนิด เดี๋ยวนี้กลับจับบิดามารดาใส่ลงไปในความร้อนใจอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือจับบิดามารดาใส่นรก มันก็เป็นบุตรไปไม่ได้ เพียงเท่านี้มันก็ไม่จริงเสียแล้ว เราไม่ยอมตามความประสงค์ของบิดามารดา เราเอาความต้องการของเราเป็นใหญ่ นี่เป็นตัวอย่างของการที่เรียกว่าไม่จริง ไม่มีสัจจะหรือไม่มีความจริง หลอกตัวเองว่าเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ว่าเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้า นี้ก็เล่นตลกอยู่เรื่อย นี้โดยส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนี้
โดยส่วนที่มันเฉพาะเจาะจงลงไปอย่างเช่นว่าเราจะต้องทำอะไร มีหน้าที่อย่างไร เราก็ไม่ค่อยจะจริงต่อหน้าที่ ต่อความหมาย ต่ออุดมคติหน้าที่นั้น ๆ ถึงคราวที่เราจะต้องเป็นเองบ้าง ทีนี้เราจะเป็นบิดามารดาเองบ้าง เป็นครูบาอาจารย์เองบ้าง เป็นเองบ้าง ก็ไม่จริงอีก ผลสุดท้ายพวกคุณแม้แต่จะละการสูบบุหรี่คุณก็ทำไม่ได้ เพราะมีการโกหกตัวเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านยกเอาข้อสัจจะนี้มาเป็นข้อแรกเป็นจุดตั้งต้น ว่าจะต้องซื่อสัตย์ต่ออุดมคติ ต่อหลักการ ต่ออะไรที่จะต้องทำนั้น จะต้องอธิษฐาน รวบรวมกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้นมาตั้งสัจจะอธิษฐานว่าเราจะทำอะไร มันมีอะไรกี่อย่างที่ต้องทำ อะไรเป็นเรื่องใหญ่ อะไรเป็นเรื่องเล็ก ชีวิตคือการต่อสู้ คือการเดินทาง คือการงานนี้ก็ นี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้มันสำเร็จตามนั้น เพราะในโลกนี้จะต้องมีทรัพย์ มียศ มีไมตรี อย่างที่ว่านี้ต้องมีให้ได้ เรื่องโลกหน้าก็มีจิตใจสงบระงับ ก็ต้องมีให้ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นไปชำระสะสางไอ้เรื่องความหลอกตัวเอง โกหกตัวเองนี้กันเสียทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คน คิดบัญชีมันดูตั้งแต่ต้นจนปลายมา ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้มัน มันมีความเหลวไหล ไม่จริงต่อตัวเอง หลอกตัวเองมาอย่างไรบ้าง มันคงจะจริงบ้างแหละ มันมีส่วนจริงบ้างด้วยความจำเป็น หรือความหวังความอยากอะไรอยู่ แต่มันไม่จริงทั้งหมด มันมีส่วนโลเล ด้วยอำนาจของกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้แก้ตัว ให้บิดพลิ้ว มันก็ฉลาดในการที่จะหาเหตุผลมาแก้ตัว หลอกตัวเองแล้วก็มันก็หาเหตุผลมาให้เห็นว่าไม่ได้หลอกตัวเอง นี่คืออุปสรรค นี่คือข้าศึก คือพญามาร คือศัตรูข้อแรก ต้องรบให้มันชนะ ต้องฆ่ามันให้ตายด้วยธรรมะที่เรียกว่า สัจจะความจริงใจ
ถ้าจะจำแนกด้วยรายละเอียดมันมากนะ จริงต่อเวลา จริงต่อบุคคล บุคคลอื่น จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่ออะไรก็ตาม และจริงต่อตัวเอง คือมันมาสำคัญที่สุด มารวมอยู่ที่จริงต่อตัวเอง ถ้าไม่จริงต่อตัวเองแล้วอย่างอื่นมันเหลวหมดน่ะ ที่เรียกว่าจะตรงต่อเวลา จริงต่อเวลา ต่อการงาน ต่อบุคคลอื่นนั้นมันเหลวหมด มันต้องจริงต่อตัวเองก่อน
นี่มาสรุปอยู่ที่ว่าจริงต่อตัวเอง ถ้าจะพูดให้เพราะก็ว่าจริงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ของตัวเอง มนุษย์ควรจะได้อะไรบ้าง ก็เป็นอย่างไรบ้าง ต้องให้มันได้ตามอุดมคตินั้นจึงจะเรียกว่าซื่อตรงต่อตัวเอง ทีนี้มันก็ไม่กล้าโกหกคนอื่น ไม่กล้าโกงเวลา ไม่กล้าบิดพลิ้ว ไม่กล้าอะไรต่าง ๆ หมด จึงต้องจำคำว่า ตรงต่อตัวเองไว้ด้วย ซึ่งมันค่อนข้างจะยากน่ะเพราะว่าเมื่อตัวเองเป็นตัวเองแล้วใครจะมาด่า มาว่า มาเตือน มานั่น มันก็ไม่มี มันก็เลยโกหกตัวเองได้ง่าย ถ้าเราโกหกผู้อื่นเพื่อนมันก็ด่าเอา หรือว่าไม่ตรงต่อเวลาเราก็ไปไม่ทันรถไฟอย่างนี้เป็นต้น นี้มันมีไอ้เหล่านี้มันบังคับ แต่ว่าไอ้เรื่องตรงต่อตัวเองสิมันไม่มีอะไรมาบังคับมัน นอกจากไอ้ธรรมะชั้นสูง คือความเป็นผู้ดี ความเป็นผู้มีธรรมะเท่านั้นที่จะมาตักเตือนหรือจะมาลงโทษให้เสียใจ ให้ละอาย ทีนี้เมื่อไม่เกิด เมื่อเกิดไม่ละอาย ไม่กลัว ไม่เสียใจตัวเองก็ล้มละลาย ขอให้มี หิริ มีโอตตัปปะ ให้มากพอสำหรับจะซื่อตรงต่อตัวเองเป็นข้อแรก
สัจจะทั้งหลายมารวมอยู่ที่สัจจะต่อตัวเอง นี้เป็นจุดตั้งต้น ขอให้เหลียวดูไปรอบ ๆ ว่ามีสัจจะกันอยู่ที่ตรงไหนบ้างในโลกนี้ มากน้อยเท่าไร มันมีแต่เล่นตลกหลอกลวงกัน กระทั่งหลอกลวงตัวเองเป็นที่สุด เรียกว่าโลกนี้มันขาดธรรมะ มันจึงเป็นโลกที่เดือดร้อนระส่ำระสาย เป็นโลกนรก ไม่มีความจริงต่อกันและกันไม่มีความจริงต่อตัวเอง ทีนี้สำหรับฆราวาสเรานี่ต้องจริงต่อตัวเองสำหรับทำหน้าที่การงาน หรือการเดินทางตามแบบที่ว่าจะต้องเดินอย่างไร ที่เราพูดกันแล้วในครั้งที่แล้วมา
ในข้อที่สอง ทมะ ทอ ทหาร และ มอ ม้า อ่านว่า ทะมะ คำนี้มันแปลว่าข่ม ก็คือข่มใจบังคับจิตใจ บังคับตัวเอง คำว่าจิตใจ คำว่าตัวเองนี่แทนกันได้ บังคับจิตก็คือบังคับตัวเอง บังคับตัวเองก็คือบังคับที่จิต คำว่าบังคับตัวเองคือบังคับจิตของตัวเอง ไม่ให้ทำอะไรไปตามการบังคับนั้น ข้อนี้ก็ต้องการ การกระทำที่ถึงที่สุดอีกเหมือนกัน พระพุทธภาษิตก็มีอยู่ชัดว่า จงบังคับตัวเองให้ถึงขนาดมาตรฐานเดียวกันกับที่ควาญช้างฉลาดบังคับช้างที่ตกน้ำมัน คุณต้องฟังคำว่าควาญช้างที่ฉลาดและก็ช้างที่ตกน้ำมัน มันมีความหมายอย่างไร ไม่ใช่ควาญช้างธรรมดา ไม่ใช่ช้างธรรมดา แล้วมันจึงเป็นไอ้ศิลปะหรือว่าเป็นไอ้การกระทำที่มันรุนแรงมาก ก็เปรียบจิตเหมือนช้างตกน้ำมัน ไม่ใช่ช้างธรรมดา เพราะว่าจิตนี้มันเหมือนกับสัตว์ป่า สัตว์ที่จับมาจากป่าใหม่ ๆ เอามาขังไว้เฉย ๆ ก็ดูไม่ ไม่ ไม่มีพิษสงอะไร แต่พอไปแตะต้อง ไปบังคับ ไปผูก ไปมัด ไปฝึกแล้วก็มันต่อต้านทันที มันก็เลยตึงตังขึ้นมา เป็นอันตรายขึ้นมา จิตจึงถูกเปรียบด้วยช้างที่ตกน้ำมัน ก็มันบ้า มันจะเอาแต่เรื่องของมัน ไม่ฟังเสียงใคร การบังคับนั้นก็ต้องโดยบุคคลที่ฉลาด เมื่อเป็นควาญช้างที่ถึงขนาดมีความรู้ ความสามารถ มีอาวุธ มีเครื่องมืออะไรดี ก็บังคับช้างที่ตกน้ำมันได้
นี่สำหรับเรากลายเป็นว่าแยกออกเป็นสองคนแล้ว เราคนเดียวถูกแยกออกเป็นสองคน คือจิตดวงหนึ่งที่เป็นจิตเหมือนกับสัตว์ป่า และจิตอีกดวงหนึ่งก็เหมือนกับว่าคนที่จะฝึก บังคับไอ้สัตว์ป่านั้น นี่จะงง ๆ จะเข้าใจยากกันตอนนี้แหละว่า จิตมันมีดวงเดียวแล้วมันจะเล่นตลก เล่นละครสองบทสองบาทได้อย่างไร เรื่องเกี่ยวกับจิตนี้ไปศึกษากันเป็นพิเศษหรือไว้พูดกันคราวอื่น แต่ให้รู้ว่าถ้ามันมีการกระทำหรือการฝึกฝนอย่างใดมาก อย่างนั้นแหละมันจะมีกำลังมาก แล้วมันก็จะข่มขี่ไอ้ที่มันมีกำลังน้อย ฉะนั้นเราถึงอบรมจิตด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ท่านวางไว้ จะเรียกว่ากรรมฐานหรือวิปัสสนาอะไรก็ตามใจ แต่มันเป็นวิธีฝึกฝนอบรมจิต ส่วนที่ให้เป็นไปในทางนี้ ทางขวา สมมติว่าทางขวา มากเข้า มากเข้า มากเข้า มันก็มีอำนาจที่จะควบคุมการปรุงแต่งของจิตที่จะเอียงไปทางซ้าย คือทางเลว ทางต่ำได้มากกว่าหรือได้ก่อนกว่า ฉะนั้นจิตดวงเดียวจึงทำหน้าที่ได้ทั้งสองอย่าง คือฝ่ายดีก็ได้ ฝ่ายชั่วก็ได้ ฝ่ายสูงก็ได้ ฝ่ายต่ำก็ได้ ถ้าเราอบรมไอ้ธรรมชาติฝ่ายสูงมากมันก็เคยชินแต่ที่จะสูง ฉะนั้นมันจึงเกลียด กันออกไปเสียได้ซึ่งฝ่ายต่ำหรือทำลายฝ่ายต่ำไปเสียได้ ไม่ให้มันหือขึ้นมาได้ เรียกว่าฝ่ายสูงมันชนะ นี่อาการอย่างนี้คือ อาการที่เรียกว่าบังคับหรือข่มจิตนี้ไว้อย่างสุดเหวี่ยงเหมือนกับควาญช้างที่ข่มช้างตกน้ำ มันคือมีสติสัมปชัญญะ รักษาไอ้ภาวะหรือสมรรถภาพของจิตที่ฝึกไว้ในฝ่ายสูงให้มันจริงจัง
เมื่อคุณคิดว่าคุณจะละบุหรี่ จะทิ้งบุหรี่นี่ ตั้งสัจจะลงไปแล้ว ทีนี้มาสักครู่หนึ่งคุณคงเงี่ยนบุหรี่ เอาละทีนี้มันก็มีการต่อสู้ จะเอาอะไรมาบังคับไอ้ความรู้สึกที่เงี่ยนบุหรี่ ที่มันจะไปหลอกตัวเองเลิกล้มความคิดที่จะไปสูบบุหรี่ คุณไปศึกษาข้อนี้ให้เข้าใจ มันก็จะเข้าใจคำว่า จิตที่อบรมดีแล้วมันจะบังคับจิตที่ไม่ได้รับ ที่ฝ่ายต่ำได้อย่างไร ที่เป็นฝ่ายต่ำ นี่เราต้องสร้างจิตชนิดที่เป็นความจริง รักษาอุดมคติจริง แล้วก็บังคับให้มันนึกถึงอยู่แต่ฝ่ายนั้น ดังนั้นมันจะต้องมีวิธีอบรมฝึกฝนจิตตามสมควรแม้ว่าเป็นฆราวาส หัดบังคับตัวเองบังคับจิตนี่ให้ ให้ ให้เต็มที่เหมือนกับพระที่จะไป ไป จะบรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วเหมือนกันน่ะ บังคับให้ทำแต่สิ่งที่ควรทำ แต่สิ่งที่ถูกต้อง อย่างเฉียบขาด เหมือนกับการบังคับข้างนอก เช่น ครูบังคับศิษย์ พ่อแม่บังคับลูก เดี๋ยวนี้จิตบังคับจิต เรียกว่าเราบังคับจิต มัน มันเนื่องกันอยู่กับสัจจะ เพราะฉะนั้นสัจจะมันจะคอยกระตุ้นให้บังคับและการบังคับก็เพื่อจะหล่อเลี้ยงสัจจะไว้ สัจจะมันก็จะคอยกระตุ้นการบังคับไว้อีก มันช่วยกันและกันอย่างนี้
ทีนี้ก็ไปถึงอันที่สามคือ ขันตี ความอดทน กินความกว้างไปถึงว่าเราอดทนได้ในระยะยาว รอได้ คอยได้ แม้เป็นระยะยาว เป็นปี เป็นสิบปีอะไรก็คอยได้ ทนได้ ความหมายมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้คนเข้าใจขันตีเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย อดกลั้นอดทนอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็มาอวดดีอวดเด่นว่า เราเป็นคนอดทน ที่จริงยังไม่รู้ว่าตัวเองยังไม่ได้อดทนกี่มากน้อย ทั้งในโรงเรียนก็มักจะสอนกันแต่ว่า ทนลำบากตรากตรำเจ็บใจ นี้มันก็ยังไม่หมด ทนลำบากคือเมื่อทำการงานแล้วมันลำบาก หรือเจ็บไข้มันลำบาก ทนตรากตรำนี่มันก็ มันต้องทนความเจ็บปวด ทนไอ้ความหนาวความร้อนอะไรต่าง ๆ ทนเจ็บใจเมื่อเขาด่าว่า ก็ทนได้ไม่โกรธ คนสบประมาทก็ทนได้ไม่โกรธ นี้ก็เรียกว่าการอดทนเป็นขันตี ถูกแล้ว เมื่อลำบากเหน็ดเหนื่อยก็ทนได้ เมื่อเจ็บไข้ก็ทนได้ เมื่อถูกเขาสบประมาทก็ทนได้
แต่ว่าการอดทนเพียงเท่านี้มันยังไม่ ไม่เก่ง มันก็ต้องอดทนให้ถึงขนาดที่เรียกว่า การบีบคั้นของกิเลส เราทนการบีบคั้นของกิเลสได้เป็นระยะยาวจึงจะเรียกว่าอดทนที่แท้จริง คำว่า อธิวาสนขันตี เล็งถึงการอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสทั้งนั้น คุณคิดว่าจะเลิกสูบบุหรี่ มีสัจจะแล้วก็มี ทม บังคับตัวเองให้เลิก นี้พอเลิกเข้ามันเงี่ยน มันก็กระสับกระส่ายเหลือประมาณ นี่คือการบีบคั้นของกิเลสล่ะ รู้จักก็ดี ถ้ากิเลสมันจะบังคับให้ไปเลิก เลิกความตั้งใจไปสูบบุหรี่กันใหม่ หรือว่าจะไม่ไปดูหนังบังคับตัวไม่ให้ไปดูหนัง ความอยากจะไปดูหนังนั้นน่ะคือกิเลส มันก็บีบคั้นให้ไปดูหนังให้จนได้ ถ้าเราทนการบีบคั้นของกิเลสไม่ได้ เราก็สูบบุหรี่อีก เราก็ไปดูหนังอีก หรือไปทำอะไรที่เป็นอบายมุขอีก นี่ก็ว่าการบีบคั้นของกิเลส ไม่ใช่เขา ไม่ใช่มีใครมาด่าว่า หรือไม่ใช่มีการเจ็บไข้เจ็บปวด แดดเผาลมพัดน่ะ มันเป็นเรื่องการบีบคั้นของกิเลสที่มีอยู่ในจิตใจ เราต้องทนได้ หรือว่าสู้กันได้กับพญามารตัวนี้ คนเราทนไม่ได้ หรือว่าทนได้แต่ไม่ ไม่ ไม่เป็นระยะยาวนี้ก็เท่ากับทนไม่ได้ เพราะบางอย่างต้องทนเป็นระยะยาว ฉะนั้นคนจะทำมาหากิน จะทำกสิกรรม ทำสวนอย่างนี้ก็ต้องทนระยะยาวกว่าสวนที่ทำมันจะให้ผล ถ้าทนไม่ได้มันก็เลิก ไปขโมยดีกว่า ไปคอรัปชั่นดีกว่า ข้าราชการทนรอคอยไม่ได้ก็คอรัปชั่นดีกว่า เรื่องทนไม่ได้นั่นแหละคือทำให้ไอ้ที่ตั้งต้นไว้ดีเหลวหมด ตั้งใจไว้ดีแล้วเดินมาตั้งครึ่งตั้งค่อนนี่ ถ้าไปเกิดทนไม่ได้ตอนสุดท้ายนี้ก็ล้มละลายเหมือนกัน มันต้องทนกันได้ตลอดเรื่องตลอดราว ต้องการที่จะต้องทน
ทีนี้ฆราวาสนี่มันจะต้องตั้งตัวจนมีทรัพย์ มียศ มีไมตรีอย่างที่ว่าแล้ว มันยิ่งต้องการระยะยาว กว่าจะมีทรัพย์มากพอ มีทรัพย์แล้วกว่าจะมีเกียรติยศชื่อเสียงมากพอ และกว่าจะมีคนรักรอบด้านนี้มันก็ต้องทน ทนทำไป คนโบราณเขาสอนไว้อย่างที่เราไม่ยอม ไม่ค่อยจะเชื่อหรือดูถูก คือเขาพูดสั้น ๆ ว่าอุตส่าห์ทำไปเถอะเท่านี้ ก็เห็นว่าเป็นคำสอนที่เล็ก ๆ น้อย ๆ คำสอนเด็กเล่น อุตส่าห์ทำไปเถอะมันดีเองแหละ ผมได้รับคำตักเตือนอย่างนี้จากคนเฒ่าคนแก่ กระทั่งจากพระมหาเถระที่รักใคร่เอ็นดูผม ท่านไม่เคยให้คำสั่งสอนอะไรมากไปกว่าประโยคสั้น ๆ นี้ว่า อุตส่าห์ทำไปเถอะมันดีเองแหละ นี่หมายความว่าเมื่อเรามีสวนโมกข์ใหม่ ๆ กำลังเริ่มกิจการสวนโมกข์ พระธรรมทานใหม่ ๆ นี้ พระเถระผู้เฒ่าบางองค์คิดว่าผมอาจจะเลิกล้มความตั้งใจเพราะสู้ไม่ไหว อุตส่าห์เตือนกันแต่เพียงเท่านี้ นี่ผมก็เอามาเตือนพวกคุณอีกว่า อุตส่าห์ทำไปเถอะมันดีเองแหละ มีแต่คุณทนไม่ได้ ทำไปเถอะนี่มันทนไม่ได้ มันจะเอาเดี๋ยวนี้ มันจะเอาเร็ว ๆ เอาเอร็ดอร่อยในทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง ไม่เอาอุดมคติเสียแล้ว ก็ไม่มีการอดทนในระยะยาว
ฉะนั้นจะต้องรู้จักอบรมจิตใจอีก ไม่มีอะไร อบรมจิตใจให้มันทนได้ เมื่อเราอบรมจิตใจให้บังคับตัวเองได้ และอบรมจิตใจให้มันทนได้ ทนไปถ้าทนได้ ก็มีเคล็ดอยู่ว่า ให้รู้สึกสนุกในการทนกันเสียบ้าง คือว่าดึงเอาไอ้ความเคารพนับถือตัวเองเข้ามาช่วย ว่าพอเราทำอะไรในลักษณะที่เราเห็นว่ามันถูกต้อง เราควรจะมีความอิ่มอกอิ่มใจว่าเราก็มีอะไรดี และเราเคารพตัวเองได้ว่ามีอะไรดี อันนี้มันจะช่วยให้ทนได้ หรือให้มันยิ้มได้ ให้มันสนุกในการทน ไม่ใช่ว่าเราจะไปยินดีปรีดาพอใจต่อเมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้ชื่อเสียง ได้อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น นั่นละจะทำให้ทนไม่ได้ เราจะต้องยินดีเมื่อได้ทำ เมื่อได้ทน เมื่อได้ลงมือทำและได้ทน ได้อดทนอยู่นี่เราจะยินดี จะพอใจว่าเป็นการได้ที่ดี แล้วก็นับถือตัวเอง เคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองว่ามันอุตส่าห์ทำมาได้ถึงขนาดนี้เชียวนะ ในการอดกลั้นอดทนหรืออะไรก็ตาม
นี่ผมพูดนี่ก็เพื่อให้คุณไปทบทวนทดสอบดูว่าคุณเคยทำกันอย่างนี้รึเปล่า ที่แล้วมาแต่หลัง ถ้าไม่เคยทำก็จะต้องเตรียมตัวที่จะทำแล้ว เพราะว่าต่อไปนี้มันต้องออกไปเผชิญโลกให้ดีกว่าที่แล้วมา มีเหตุการณ์บังคับหลายอย่างและโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่า สังคมเขาจะไม่ให้อภัยแก่เราแล้วถ้าเราไปทำผิดทำพลาด เพราะเราได้บวชแล้ว เขาถือว่าคนบวชแล้วรู้แล้ว ทำอะไรผิดไม่ได้แล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อนยังไม่ได้บวชได้เรียนทำอะไรผิดบ้างก็ไม่ค่อยจะถือสาอะไร แต่นี่บวชเรียนแล้วสึกออกไปทำผิดอะไรก็ไม่ยอมแล้ว จะชี้หน้าว่าบวชเสียผ้าเหลืองแล้ว นั่นแหละเตรียมตัวให้ดีที่จะมีความจริงใจ มีการบังคับตัวเอง มีความอดทน ให้เขาเห็นน่ะ มันประกอบอยู่ด้วยคุณธรรมเหล่านี้จริง ๆ เขาจะยกมือสาธุการว่าไม่เสียทีที่ได้บวช
ทีนี้อันสุดท้าย จาคะ บริจาคนี่ ใช้กับสิ่งของก็ได้ ข้าวของเงินทองอะไรก็ตามที่เป็นวัตถุ บริจาคออกไป นี้ก็บริจาคความรู้สึกคิดนึกนิสัยสันดานเลว ๆ ออกไป ก็ต้องบริจาคออกไป ถ้ามันมีอะไรเป็นความเลวอยู่ในตัวต้องบริจาคออกไป นิสัยเลว ๆ สันดานเลว ๆ ที่เพิ่งมาจับได้เดี๋ยวนี้ว่า นี่มันนิสัยเลวนี่หว่า ก็ต้องบริจาคออกไป นี้เรียกบริจาคไอ้สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่ใช่วัตถุ ละเว้นความชั่วนี่ก็เรียกว่าบริจาคความชั่วออกไป ละเว้นนิสัยสันดานที่เคยประพฤติเลว ๆ เช่นสูบบุหรี่นี้ นิสัยนี้เลว บริจาคออกไป ไม่ใช่เอาบุหรี่ไปเที่ยวแจกคนอื่นนะ ไม่ใช่อย่างนั้น เรียกว่าจะละการสูบบุหรี่ ทิ้งบุหรี่ สละบุหรี่
จาคะ หรือบริจาคนี้จึงใช้ได้เป็นความหมายรวม ๆ กันว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรเอาไว้ คำแปลที่ดีที่สุดของคำ ๆ นี้คือบริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่หรือเอาไว้ เงินส่วนนี้ถ้าไม่บริจาคออกไป มันจะทำให้คนนั้นเลวลงมาก คือเป็นคนขี้เหนียวเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด เมื่อเหตุการณ์มันอยู่ในสถานะที่ควรช่วยเหลือกันด้วยเงิน ด้วยของ ด้วยแรงอะไรก็ตาม คนนี้มันยังไม่ช่วย มันยังไม่บริจาค ดังนั้นเราถือว่าไอ้เงินส่วนนี้คือเงินที่เอาไว้ไม่ได้ คือเงินที่ต้องบริจาค ถ้าขืนเอาไว้เราจะเป็นคนเลว คือขี้เหนียวเกินไป เห็นแก่ตัวเกินไป ฉะนั้นเราจึงบริจาคเงินนี้ให้คนขอทานบ้าง ให้การกุศลที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ๆ ในเมื่อควรจะบริจาค ให้ถือว่าเงินนั้นเอาไว้ไม่ได้ ถ้าขืนเอาไว้มันทำให้เราเลว ให้เป็นคนเห็นแก่ตัว ก็บริจาคมันออกไป คือบริจาคเงินนั้น
ทีนี้ดูให้ดีบริจาคเงินนั้นไม่ใช่บริจาคแต่เงิน มันบริจาคความเห็นแก่ตัว บริจาคความตระหนี่ขี้เหนียวออกไปด้วย นั่นน่ะคือบริจาคข้างใน
บริจาคข้างนอกคือ เงินหรือของ ให้สุนัขกิน ให้แมวกินอะไรก็ตามใจ มันบริจาคของข้างนอก ทีนี้ข้างในก็คือบริจาคความเห็นแก่ตัว
ไม่ให้ใครกิน จนไม่เอ็นดูเมตตาปราณีใครเสียเลยนี่มันเลวมาก ก็เลยบริจาคความเห็นแก่ตัว ความขี้เหนียวออกไปด้วย นี้มันก็เรียกว่าเนื่องกัน ทีนี้ที่มันยังมีอีกไกลไปกว่านั้นก็คือว่า นิสัยเลว ๆสันดานเลว ๆ นี้ จะต้องตั้งปณิธานที่จะละมัน ยกตัวอย่างมาแล้ว แล้ว ๆ เล่า ๆ เช่นการสูบบุหรี่ ไอ้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ ขืนเอาไว้ทำให้เราเลวลง เป็นคนไม่มี ทมะ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
เพราะฉะนั้นก็เห็นอยู่ว่า บุหรี่มันไม่มีประโยชน์แล้วทำไมเราต้องไปเป็นทาสมัน จนต้องไปซื้อหามาสูบแล้วเป็นทาสมันหละ ทำอย่างนั้นมันเป็นคนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักผิด ฉะนั้นสันดานหรือนิสัยอันนี้ต้องละออกไป แม้ว่าจะเคยสูบบุหรี่มาแล้วตั้งสิบปี ยี่สิบปี เขาเรียกว่าบริจาคสิ่งที่ควรบริจาคออกไปเสียจากจิตใจ อย่าเอาไว้ในจิตใจ จริตหรือนิสัยที่เลวนั้น สันดานที่เลวนั้นจะต้องสละออกไป ต้องมีการไขออกระบายออกอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ ไป เราจึงจะรักษาหลักต่าง ๆ ไว้ได้ ไม่นั้นจะมีความกดดันมากจนเรียกว่าทน ทนไม่ไหว จริงใจอยู่ไม่ไหว บังคับตัวเองไม่ไหว อดกลั้นทนไม่ไหวเพราะมันมีความกดดันในส่วนนิสัยสันดานน่ะมันมากเกินไป ช่วยแก้ไขมันทุกอย่างทุกทางเป็นการระบายออกไป
ระบายออกไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุก ๆ วิถีทางที่มันจะระบายไอ้ความชั่วหรือนิสัยเลวออกไปได้ ถ้านั้นอย่า อย่าเห็นเป็นของเล็กน้อยในการที่จะสงบจิตสงบใจไหว้พระสวดมนต์ภาวนาเช้า ๆ เย็น ๆ ก่อนนอนอะไรกันบ้าง มันก็เป็นเครื่องช่วย ระบายนิสัยเลว ๆ ออกไป แล้วก็สร้าง หิริโอตตัปปะ ขึ้นมา นี่คุณคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพ้นสมัยแล้ว เป็นเรื่องของคนโง่เง่า หรือเป็นเรื่องของปู่ย่าตายายที่พ้นสมัยแล้ว ในการที่จะมาไหว้พระสวดมนต์บ้าง เช้า ๆ เย็น ๆ หรือมานั่งนึกรำพึงถึงสังขาร อนิจจัง ทุกขังอนัตตาบ้าง อย่าเข้าใจผิดว่านี้มันไม่มีประโยชน์หรือพ้นสมัยแล้ว หรือว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา เพราะว่านั่นแหละคือไอ้รูเล็ก ๆ ที่จะเปิดไขระบายไอ้นิสัยสันดานเลว ๆ ออกไป เรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อยมันจะได้มีเหลือความกดดันน้อย แล้วเราจะทนได้
ไอ้เรื่องที่เราจะต้องทนนี่มันจะทนได้ ทีนี้คำว่า จาคะ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนออกไปเสียจากตนนี้มีความหมายกว้างมาก นับตั้งแต่ให้เงิน ให้ของ ช่วยเหลือผู้อื่น จนกระทั่งให้ไอ้ความเห็นแก่ตัวทุกชนิด สละความเห็นแก่ตัวทุกชนิด ความโง่ ความเขลา ความหลง ความมัวเมาต่าง ๆ นี้ต้องสละออกไป นี่จาคะคำนี้มันกว้างอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าให้ของ ให้นั่นให้นี่แก่กัน แล้วจะเป็นจาคะขึ้นมา นั้นมันเป็นเรื่องค้าขาย เอาเงินไปซื้อความรักอย่างนี้มันไม่ใช่จาคะ เอาเงินไปจ้างเขามาเป็นพรรคพวกของเรานี้มันไม่ใช่จาคะ ไม่ใช่การให้ทาน เป็นการลงทุนเพื่อผลกำไร
แม้ที่สุดแต่ว่าไปทอดกฐิน ไปทำบุญให้ทานอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะได้สวรรค์วิมาน อย่างนี้ก็ไม่ใช่จาคะ เป็นการค้าขายเอากำไรเกินควร อย่างงมงาย บริจาคเงินทำบุญออกไปจริงแต่มันไม่ล้างความตระหนี่ มันไม่ล้างความเห็นแก่ตัว เพราะมันหวังว่าจะได้สวรรค์วิมานอะไรเป็นกำไรมหาศาล นี่มันไม่ละความเห็นแก่ตัว ไม่ละความตระหนี่อย่างนี้
มันจะได้เป็นจาคะแล้วก็ทำบุญนี้ออกไปนี้เพื่อผู้อื่น จะไปทอดกฐินหรือจะไปทำอะไรก็ตาม สิ่งที่บริจาคไปนั้นขอให้มันเป็นไป เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเถอะ เราจะไม่ยอมรับเอาอะไรเลย ก็แล้วนี่เราจะได้มากที่สุด คือได้ทำลายความเห็นแก่ตัว
ไม่เอาอะไรเลยนั้นได้มากที่สุด
คำพูดนี้ฉลาดเกินไปกว่าที่คนสมัยนี้จะเข้าใจได้ เพราะว่าคนสมัยนี้มันมัวเมาแต่จะเอาแต่ได้ทางวัตถุ คนโบราณเขาพูดว่า ไอ้ไม่เอาอะไรเลยนั่นแหละจะได้หมด เพราะว่าเมื่อเราไม่เอาอะไรเลยหมายความว่าเราไม่เห็นแก่ตัว เราก็ได้ธรรมะสูงสุดคือความไม่เห็นแก่ตัว ถ้าบริจาคสิ่งของอะไรออกไปก็ขอให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเถอะ อย่ามานึกถึงเรา อย่ามาเกี่ยวกับเราเลย บริจาคไป สมมติว่าไปทอดกฐินนี่ ให้เงินนั้นมันไปเป็นประโยชน์แก่การสร้างวัดสร้างวา สร้างการศึกษา สร้างหมู่คณะสงฆ์ที่ดี มีศาสนาเป็นที่พึ่งอยู่ในโลก ให้สัตว์โลกทั้งหลายมีความสุขเถิด เราอย่านึกเอา นั่นแหละจะได้มาก และได้สูงสุด คงเป็น จาคะ ที่แท้จริงในที่นี้ คือมันสละออกไปจริง ๆ ไม่ใช่ลงทุนค้าหากำไรเกินควร
ฉะนั้น จาคะ ที่แท้ก็ต้องสละไอ้ความรู้สึกเลว ๆ นี้ไป เลว ๆ สันดานเลว ๆ โดยเฉพาะความเห็นแก่ตัวนั้นน่ะต้องสละออกไป ก็ทำทุกอย่างทุกทางที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว เมื่อขี้เกียจก็ขยันเสียมันจะทำลายความเห็นแก่ตัว เมื่อมันจะไปเที่ยวสนุกสนานอบายมุขก็หยุดเสียเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ไหว้พระสวดมนต์เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวเพราะว่ามันขี้เกียจ ไม่อยากทำ มันจะทำเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว จะทำไปแต่ในทางที่ตรงกันข้ามต่อความเห็นแก่ตัว อะไรเป็นความเห็นแก่ตัวเราจะทำอย่างทางตรงกันข้ามเรื่อย อย่างประชดมันเลย นี่จึงจะเป็นจาคะในที่นี้
นี่เราพูดกันถึง ฆราวาสธรรมสี่ข้อ ในฐานะที่เป็นตัวธรรมะบริสุทธิ์ ก่อน ๆ เวลามันมีจำกัด ให้เรารู้จักไอ้สิ่งทั้งสี่นี้อย่างถูกต้อง เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวอย่างไรเสียก่อน แล้วเราจึงจะศึกษาให้มันจำกัดเข้าไป ลงไป ที่เรียกกันว่าประยุกต์ แล้วเอาธรรมะนี้มาใช้ได้อย่างไร พูดกันให้เห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ในที่นี้ก็ขอให้ทุกคนนี่จำคำพูดสี่คำนี้ของพระพุทธเจ้าไว้ว่า สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี้เป็นธรรมะสำหรับฆราวาสโดยตรง ถ้าไม่เชื่อก็จงไปถามสมณพราหมณ์ ครูบาอาจารย์เหล่าอื่นดูทีว่า ยังมีธรรมะไหนอีกบ้างที่เหมาะสำหรับฆราวาสยิ่งไปกว่าธรรมะสี่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ เมื่อฆราวาสมีธรรมะสี่อย่างนี้แล้วจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้หมด สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เป็นพระเครื่องรางแขวนไว้ที่คอ ให้ที่คอของเรามี สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ เป็นสัญลักษณ์ที่แขวนไว้ มีความจริงและบังคับให้ได้ แล้วก็ทนได้ แม้จะต้องทนในระยะยาว และก็ระบายความกดดันต่าง ๆ ออกอยู่เสมอ ทนได้ เรียกว่า ฆราวาสธรรมสี่อย่าง เจาะจงไว้สำหรับฆราวาสโดยเฉพาะอย่างนี้ เราจะได้พูดกันถึงที่ใช้เป็นเครื่องมืออย่างไรโดยละเอียดในวันต่อไป นี้ก็หมดเวลาสำหรับวันนี้
ที่มา - โอวาทลาสิกขาบท แก่พระนวกะวัดชลฯ ปี 2513 ครั้งที่ 3