แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่สองนี้จะได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าวินัย ในครั้งที่แล้วมาเราได้พูดถึงประโยชน์ถึงอานิสงส์ของวินัย ทั้งที่ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าวินัย นอกจากจะเป็นการพูดอย่างตามสะดวกหรือเรียกว่าแหวกแนวหรืออะไรทำนองนั้น มันก็ยังมีส่วนที่จะต้องพิจารณาดูเองให้เห็นว่า เมื่อเราพูดถึงประโยชน์อานิสงส์อย่างไรแล้ว เมื่อจะพูดถึงสิ่ง ๆ นั้น ก็คือพูดถึงสิ่งที่จะให้ประโยชน์หรืออานิสงส์อย่างนั้น ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้ ก็คือสิ่งที่จะให้ประโยชน์หรืออานิสงส์ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วโดยละเอียดในครั้งที่หนึ่งนั่นเอง และสำ อ่า, ความสำคัญมันก็อยู่ที่ตรงนี้ วินัยอย่างอื่น ในความหมายอย่างอื่น เพื่อประโยชน์อย่างอื่น เราไม่เรียกว่าวินัยในที่นี้
ทีนี้สำหรับคำว่าวินัยนี่ ต้องแยกกันเป็นสองชนิด คือวินัยตามภาษาชาวบ้านหรือภาษาไทยธรรมดานั้นอย่างหนึ่ง และคำว่าวินัยในพุทธศาสนานี้อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน คำว่าวินัยในภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ภาษาไทยธรรมดานั้น ไปพิจารณาดูเถิดว่า มันจะได้แก่กฎหรือระเบียบของหมู่ของคณะ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เรียกกันว่า Disciplinary Rule กฎเกี่ยวกับการปกครอง จะเป็นวินัยทหาร วินัยตำรวจ วินัยข้าราชการ วินัยอะไรก็สุดแท้ มันเนื่องเกี่ยวกับกฎสำหรับการปกครอง ไม่มีความหมายมากไปกว่านั้น ส่วนคำว่าวินัยในพุทธศาสนานี้ ให้ถือเอาตามตัวหนังสือ ตามคำ ๆ นั้นว่าวินัยนี้ ซึ่งแปลว่าเครื่องนำไปอย่างวิเศษ
วินัยภาษาชาวบ้าน คือกฎของการปกครอง วินัยในพุทธศาสนา เครื่องนำไปอย่างวิเศษ ไปสู่ผลที่น่าปรารถนาไปตามลำดับ ๆ อย่างแรกก็ความงดงามของหมู่ของคณะ ตลอดถึงความน่าเลื่อมใสของชาวบ้าน ตลอดถึงความผาสุกทางกายทางใจของผู้นั้น แล้วขึ้นไปถึงเป็นบาทฐานของการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเลย ซึ่งเป็นรากฐานของความอยู่ได้ของศาสนา คำว่าวินัยในพระพุทธศาสนาไปไกลลิบอย่างนี้ กว้างขวางยืดยาว ไม่เป็นเพียงไอ้ Disciplinary Rule อย่างของชาวโลกทั่ว ๆ ไป ซึ่งทางโลกเขาหมายกันเพียงแค่นั้น
ดังนั้น อ่า, เพราะฉะนั้นจะต้องรู้กันเสียทีในทีแรกนี้ว่า คำว่าวินัยในพุทธศาสนาหมายความอย่างนี้ และเราต้องการจะพูดกันถึงวินัยนี้ ซึ่งที่แท้มันก็รวมไอ้วินัยที่เป็นกฎของการปกครองหมู่คณะอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่มันมากกว่านั้น มันไปไกลกว่านั้น ทีนี้เพื่อเห็นชัดข้อนี้ ก็จะต้องดูกันที่คำที่เราใช้พูดกันอยู่ในพุทธศาสนาที่มันเนื่องกันกับคำคำนี้
คำว่าวินัยคำหนึ่ง แล้วคำว่าธรรมวินัยนี้อีกคำหนึ่ง แล้วคำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่าวินัยก็คือส่วนหนึ่งของคำว่าธรรมวินัย ซึ่งได้แก่ตัวศาสนา ธรรมะหรือข้อ ๆ แนะนำที่ไป เอ่อ, ที่ไม่บังคับ ที่เป็นไปเพื่อคุณธรรมยิ่งขึ้นไป ส่วนวินัยนี้เป็นเรื่องบังคับ เป็นธรรมที่บังคับ ดังนั้นคำว่าวินัยก็คือส่วนหนึ่งของธรรมวินัย ทีนี้เมื่อพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวศาสนาอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าไตรสิกขา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา คำว่าวินัยก็อยู่ที่ สีลสิกขา คือหนึ่งในสามอย่างของสิกขา ซึ่งเป็นตัวการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ผู้แรกศึกษาอาจจะยังไม่ทราบ ก็ควรทราบเสียว่า การปฏิบัติในพุทธศาสนาทั้งหมดมีเพียงสามตอนนี้เท่านั้น คือ สีลสิกขา ปฏิบัติในส่วนศีลนี้ตอนหนึ่ง แล้วก็ จิตตสิกขา ทำสมาธิ ปัญญาสิกขา ทำให้เกิดความรู้จนไม่ ๆ ยึดมั่นถือมั่น นี้คำว่าวินัยก็คือส่วนที่เป็น สีลสิกขา เป็นพื้นฐาน เป็นเบื้องต้น เป็นส่วนหนึ่งของไตรสิกขาหรือ ๆ ของ ๆ ศาสนานั่นเอง นี้มาดูกันว่า สิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมวินัย ซึ่งก็เป็นตัวศาสนา แล้วก็คำว่าวินัยเป็นส่วนหนึ่งของไตรสิกขา ซึ่งมันก็เป็นตัวศาสนา
เราจะเห็นได้ว่า วินัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวศาสนา ไอ้ตัวการปฏิบัติที่เป็นพุทธศาสนานั่นเอง นี่มันไม่เพียงแต่ว่าเป็นเครื่อง เป็นกฎหรือระเบียบสำหรับปกครองหมู่คณะอย่างเดียว มันเป็นเลยไปถึงการปฏิบัติตัวศาสนา เพื่อบรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไปด้วย แล้วก็มีอานิสงส์หลายอย่าง อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมา นี่ข้อที่จะต้องเข้าใจทีแรกก็คือว่า มันไม่ใช่เป็นเพียงกฎสำหรับปกครองหมู่คณะให้เรียบร้อยอย่างเดียว มันเป็นอะไรมากไปกว่านั้น ไม่เหมือนกับคำคำนี้ ที่ใช้สำหรับภาษาไทยธรรมดาหรือชาวบ้านธรรมดา
แล้วทีนี้ก็จะได้ดูกันต่อไปถึงสิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้ ที่แบ่งแยกออกเป็นเค้าหรือเป็นประเภทใหญ่ ๆ พวกใหญ่ ๆ ก็จะพบว่า มันมีอยู่เพียงสองประเภท คือวินัยที่เป็นส่วนสำคัญ ก็เรียกว่าเป็นเบื้องต้นหรือเป็นเงื่อนต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ นี้มีชื่อเรียกกันตามภาษาวินัยนี้ว่า อาทิพรหมจริยกาสิกขา อาทิ แปลว่าเบื้องต้น พรหมจริยกา อันเนื่องด้วยพรหมจรรย์ แล้วก็ สิกขา ก็คือสิกขา คือการปฏิบัติ นี้พวกหนึ่ง
แล้วก็อีกพวกหนึ่ง ก็คือพวกที่ไม่มีความ ไม่มีความสำคัญเท่านั้น แต่ก็จำเป็นจะต้องมี เพื่อความงดงามหรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น นี้มันต่างกับอย่างแรกที่ว่าต้องมี ไอ้อย่างแรกนั้นต้องมี ถ้าไม่มีเป็นอันว่าใช้ไม่ได้ล้มเหลวหมด มันจึงได้แก่ไอ้ส่วนที่สำคัญ ๆ เป็นหลักสำคัญ ทีนี้ส่วนที่สองนี้เป็นเครื่องประกอบให้ดียิ่งขึ้น ให้งามยิ่งขึ้น ให้น่าดูยิ่งขึ้น แม้จะไม่มีหรือว่าย่อหย่อนไปบ้างอะไรบ้าง ก็ไม่ถึงกับล้มละลายหรือเสียหาย ส่วนนี้เขาเรียกว่า อภิสมาจาริกาสิกขา อภิ ก็แปลว่ายิ่ง สมาจาร ก็แปลว่าการประพฤติที่สม่ำเสมอ สิกขา คือสิกขา เนื่องด้วยการประพฤติที่สม่ำเสมอให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ดูอีกทีก็เป็นเครื่องค้ำจุน หรือเป็นเครื่องประดับประคับประคองไปนี้ เห็นบ้านเรือนมันมีเสาเป็นหลัก แต่มันก็ยังมีอย่างอื่นที่ช่วย เช่น ฝา ผนัง หรืออะไรก็ตามที่มันช่วยเสา ดังนั้นเราก็หลับตามองให้เห็นว่า วินัยพวกหนึ่งนั้นมันเป็นหลักสำคัญ ที่ถ้าขาดแล้วมันล้มละลาย ที่มัน อ่า, ถ้ามันเสียไปแล้วมันล้มละลายทีเดียว เช่นอย่างเสาเสียไปอย่างนี้ มันก็จะซวนเซไป คือเหมือนกับต้นไม้ ถ้าลำต้นมันเสียไปแล้วก็ อื่น ๆ มันก็เสีย อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องช่วยเหลือ ช่วยเหลือไอ้สิ่งเหล่านั้นน่ะ มั่นคงยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น น่าดูยิ่งขึ้น นี้ก็เรียกว่าวินัยด้วยเหมือนกัน คือเป็นสิกขาด้วยเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นย่อมเข้าใจได้เองว่า ไอ้อย่างแรกนั้นมันทำเล่นไม่ได้ ต้องทำกันอย่างสุดฝีไม้ลายมือนี้ ในที่นี้ก็ระบุถึง ปาฏิโมกข์ ถึงตัว ปาฏิโมกข์ ที่สวดกันทุก ๆ วัน ปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท นี้ประเภทที่สอง ประเภทหลัง ก็คือนอก ปาฏิโมกข์ มีอยู่ในคัมภีร์พระวินัยเหมือนกัน แต่อยู่นอกตัว ปาฏิโมกข์ เป็นหมวด ๆ ๆ ๆ มากมาย นับไม่ไหว นี้ไม่รู้ว่ากี่ร้อย หรือถ้าเอากันจริงก็ไม่รู้ว่ากี่พันกระมัง แต่ส่วนที่ถือว่าเป็นหลัก ก็ ปาฏิโมกข์ นั้นมีอยู่ ๒๒๗ สิกขาบท
แต่พิจารณาดูตามหลักฐานต่าง ๆ ในตัวพระบาลีเองจะเห็นได้ว่า ครั้งแรกทีเดียวจะมีเพียง ๑๕๐ สิกขาบท ก็มีพุทธภาษิตพูดถึงว่าสิกขาบท ๑๕๐ ซึ่ง ๆ มาสู่ปา ซึ่งมาสู่ ปาฏิโมกข์ ทุกกึ่งเดือนนี้ ซึ่งมาสู่การยกขึ้นสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ๑๕๐ สิกขาบท แล้วมากลายเป็น ๒๒๗ สิกขาบท คือเพิ่มเข้าอีก ๗๗ สิกขาบทนี้ และจะเป็นของที่ เอ่อ, ของเพิ่มทีหลัง แต่แล้วก็มีปรากฏอยู่ในวินัยปิฎกนั้นเป็น ๒๒๗ นี้เหมือนกัน คุณมีโอกาสใดโอกาสหนึ่งที่จะเพิ่มเข้าไปก็ได้ เพราะมันมีพุทธภาษิตว่า ๑๕๐
ทีนี้พิจารณาดูไอ้เพิ่มเข้ามา ๗๗ นี้เป็น เสขิยวัตร ทั้งนั้น แล้วก็อีกสองอันก็เป็นเรื่อง อนิยต คือยังไม่ได้กล่าวไว้ชัดว่าอาบัติอะไร กล่าวไว้อย่างเผื่อว่า ถ้าอย่างนั้นต้องอาบัตินั้น ถ้าอย่างนี้ต้องอาบัตินี้ นี่มันไม่แน่ นี้เรียกว่า อนิยต นี้มีอยู่ ๒ เรื่อง มันจึงเป็น ๗๗ เรื่อง ดังนั้นทำให้คิดไปว่า ไอ้ ๑๕๐ สิกขาบทนั้น เขามีมาตั้งแต่แรก คือมีความสำคัญมาก เป็นตัว อาทิพรหมจรรย์ จริง ๆ ส่วน เสขิยวัตร นี้ลักษณะของมันไม่ใช่ อาทิพรหมจรรย์ เป็นพวก อภิสมาจาร
แต่คงจะมีการเห็นกันขึ้นมาในชั้นหลังนี้ว่า แม้ อภิสมาจาร ก็มีความสำคัญ เพราะว่าถ้าขาด อภิสมาจาร ส่วนนี้แล้ว จะทำให้ประชาชนเกลียดภิกษุก็ได้ แล้วมันความเสื่อมเสียมันก็เสียแก่พระศาสนา ทำให้พระศาสนาง่อนแง่นคลอนแคลนไปทีเดียว ดังนั้นจะถือว่า เสขิยวัตร นี้เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ ก็เลยมาบรรจุลงไปใน ปาฏิโมกข์ เสียเลยจะดีกว่า ดังนั้นเราจึงเห็น ปาฏิโมกข์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๒๒๗ ทั้งที่มีบาลีหลักฐานที่มาดั้งเดิมเป็นพุทธภาษิตว่า ๑๕๐ สิกขาบทเท่านั้น
ทีเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราไม่ต้องเถียงไม่ต้องยกมาเพื่อจะเลิก อ่า, ลบ เลิกล้างอะไร เพียงแต่รู้ไว้ในฐานะเป็นประวัติหรือเป็น ๆ โบราณคดีของ ปาฏิโมกข์ ก็ได้ แต่แล้วจะต้องยอมรับในข้อที่ว่า มาถึงสมัยนี้ มาถึงสมัยปัจจุบันนี้โดยเฉพาะแล้ว ถ้าภิกษุมีมรรยาทหยาบ เกกมะเหรก ซูดซาดเรื่องกินเรื่องอะไรทำนองนี้ด้วยแล้วมันก็ เขาไม่เลื่อมใสแน่ มันก็สำคัญถึงขนาดที่เรียกว่าเป็น อาทิพรหมจรรย์ ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพื่อประโยชน์แก่ ๆ สังคม
นี่ก็ขอ ที่พูดนี้ก็เพื่อจะขอร้องว่า อย่าไปเห็นว่า เสขิยวัตร นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าจะเป็นของเพิ่มทีหลังแล้วจะเป็นเรื่องเล็กน้อย มันเป็นเรื่องเป็นเรื่องตายเกี่ยวกับสังคมทั้งนั้น ถ้าภิกษุไม่มี เสขิยวัตร แล้ว สังคมจะไม่ให้ความเคารพนับถือแก่หมู่สงฆ์เลยก็ได้ ดังนั้นขอให้มีความเคร่งครัดในส่วน เสขิยวัตร นี้เช่นเดียวกับไอ้ตัว ปาฏิโมกข์ ที่สำคัญ ๆ เช่น ปาราชิก สังฆาทิเสส เป็นต้นด้วยเหมือนกัน
นั้นน่ะสรุปความว่า สิ่งที่เรียกว่าวินัยของภิกษุนี่แบ่งเป็นสองประเภท คือประเภทที่เป็นหลักที่สำคัญบกพร่องไม่ได้ แล้วก็ส่วนที่เป็นเพียงประกอบให้งดงามยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้นอีกส่วนหนึ่ง ทีนี้ภิกษุที่มีศีล มีอาจาร มีมรรยาท มีความละอาย มีอะไร ก็รักษาไว้ด้วยดีทั้งสองส่วน เช่น กิริยาท่าทางเก้งก้าง หัวเราะดัง หรืออะไรทำนองนี้ ไม่ ๆ เสียไม่ผิดในส่วน อาทิพรหมจริยกาสิกขา ไม่เป็นอาบัติตามพระ ปาฏิโมกข์ ก็จริง แต่มันเสียในส่วน อภิสมาจาริกาสิกขา
ดังนั้นเป็นอันว่าไม่มีอะไรเหลือให้เราทำมักง่าย เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องหลับ เรื่องนอน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องแสดงตัว ต่อสังคม ต่อเพื่อนกันเอง อะไรก็ตาม ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้สำหรับทำอย่างมักง่าย สะเพร่า ๆ แม้ทำไปด้วยความโง่เขลาก็ไม่ยกเว้น คือต้องถือว่าเป็นคุดเสียไปในส่วนนี้ด้วยเหมือนกัน
นี้จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้เป็นของขูดเกลาจริง ๆ แล้วก็อย่างมหาศาลด้วย ถ้าใครถือวินัย ปฏิบัติตามวินัยให้ครบถ้วนถูกต้องจริง ๆ มันจะเป็นการขูดเกลาอย่างมหาศาล ทั้งตบแต่งและขูดเกลา ถ้าจะพูดให้ฟังง่าย ๆ อย่างภาษาไทยเราแล้วก็ ใช้คำว่าตบแต่ง อ่า, ขูดเกลาและตบแต่ง วินัยใน ปาฏิโมกข์ เป็นเครื่องขูดเกลา ขูดเลือดไหลเลย แล้ววินัยนอก ปาฏิโมกข์ คือตบแต่งให้งดงาม
ดังนั้นขออย่าได้ทำเล่นในวินัยทั้งสองประเภท คือทั้งเรื่องขูดเกลาและทั้งเรื่องตบแต่ง นี้สิ่งที่เรียกว่าวินัยโดยหลักใหญ่ ๆ มีอยู่อย่างนี้ คือระเบียบที่บังคับให้ประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นการขูดเกลาโดยตรง แล้วก็เพื่อเป็นการประดับ อ่า, ตบแต่งประดับประดาให้งดงามยิ่งขึ้น ที่เนื้อที่ตัวหรือที่หมู่ที่คณะ
นี่ถ้าว่าพวกเรานี่ พวกคุณ ผู้บวชใหม่ก็ตาม มีความเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ซื่อตรงต่อตัวเองแล้ว พูดเพียงเท่านี้ก็ดูเหมือนจะพอแล้วนะ คือหมายความไม่ต้องรู้ว่า ปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท หรือไอ้ อาทิพรหมจริยกาสิกขา อีกหลายร้อยหรือหลายพันข้อนั้นน่ะ มันคืออะไร แม้แต่คนบวชหลายพรรษาก็ยังไม่เคยอ่านไอ้ อภิสมาจาริกาสิกขา ทั้งหลายร้อยข้อนั้น แม้แต่ ปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนี้ บางคนก็ยังลืมเลือนอยู่บ่อย ๆ ไม่รู้ ไม่ได้แจ่มกระจ่างอยู่ทั้ง ๒๒๗ ข้อ
แต่ทีนี้ถ้าเราถือหลักอย่างที่ว่า ไอ้สามัญสำนึกนี้มันจะบอกให้เองว่า อะไรที่น่าเกลียดน่าชังอย่างยิ่งแล้วก็ให้ถือว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เปิดโอกาสไว้ให้ทำอะไรเลย นี้ส่วนที่เราเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่มีความเจริญมาขนาดนี้แล้ว พอจะรู้ได้เองว่า ส่วนใหญ่ที่น่าเกลียดน่าชังของชาวบ้านนี้ เช่นที่มาบัญญัติไว้เป็น ปาราชิก นี่ มันก็หลักทั่วไปธรรมดา นี้ซึ่ง ๆ จะ ซึ่งประเดี๋ยวก็จะชี้ให้เห็นอย่าง ๆ ละเอียด
เริ่มด้วยการ อืม, เริ่มด้วยหลักธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่โกหก แล้วก็ไม่ทำสิ่งที่ไม่ใช่มีไว้สำหรับเพศหรือภูมิของตัว ทีนี้เราก็มองดูต่อไปถึงเรื่องศีล ที่เป็นประธานคือศีล ๕ ศีล ๕ เป็นศีลประธานของศีลทั้งหลายทั้งสิ้น รวม เอ่อ, รวมทั้ง ปาฏิโมกข์ นี้ด้วย เรามองดูให้เห็นไปเสียอย่างนี้ทีก่อนว่า บรรดาสิ่งที่เรียกว่าศีลหรือระเบียบวินัยอะไรทำนองนี้แล้ว ทุกศาสนาจะเหมือนกันหมด ถ้าพูดถึงศาสนาไม่ว่าศาสนาไหน จะมีห้าม เรื่องฆ่า เรื่องลัก เรื่องโกหก เรื่องล่วงเกินของรักผู้อื่น แล้วก็เรื่องสิ่งมึนเมาทั้งนั้น ทุกศาสนา
คือศีล ๕ ในพุทธศาสนานี้ ก็ตรงกับศีลที่เป็นหลักเป็นประธานของทุกศาสนา คือแม้จะไม่พูดกันถึงศีลในศาสนา พูดกันถึงวัฒนธรรมภูมิธรรมอะไรของมนุษย์แล้ว มันก็ไม่พ้นไอ้ ๆ ๆ ๆ สี่ห้าข้อนี้ ดังนั้นโดยสามัญสำนึกเราก็ต้องรู้ได้ว่า ต้องห้ามอย่างแน่นอนสำหรับภิกษุ เหมือนเรื่องของคนทั่วไปทั้งโลก เขาก็ห้ามกันอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องของภิกษุ มันก็ต้องห้ามแน่นอน
แม้ยังไม่เคยท่องเรื่องไอ้ ปาราชิก หรืออะไรทำนองนี้ แล้วก็อาจจะรู้ได้ นี้ต้องห้ามแน่นอน นี้ดีแต่ว่ามีระเบียบวางไว้ว่า ให้รีบบอก อนุศาสน์ เรื่อง ปาราชิก ๔ เสียโดยเร็ว เมื่อบวชแล้วนี่ ก็อย่าให้ทำเข้าโดยไม่รู้ตัว นี้ก็เป็นการป้องกันไว้อย่างสูงสุดเท่านั้น เพราะว่าโดยสามัญสำนึกทุกคนจะรู้ได้ว่า นี้ทำไม่ได้แน่ เป็นฆราวาสยังไม่ทำ แล้วเป็นพระจะทำได้อย่างไร
เอาละ, ทีนี้จะพูดให้เห็นในที่ว่า ในข้อที่ว่าศีล ๕ นี้มันเป็นประธาน เป็นหลัก และเป็นที่สรุปยอดของวินัยทั้งหมดอย่างไร ถ้าคุณไม่เคยฟังก็ฟังเดี๋ยวนี้ว่า ศีล ๕ น่ะเขาเรียกว่าวินัยของฆราวาส เป็นอาคาริยวินัย คือวินัยของพวกฆราวาสที่ครองเรือน ศีล ๕ เขาก็เรียกว่าวินัย หรือว่าศีลที่มากขึ้นไปก็เรียกว่าวินัย เป็นศีล ๑๐ ก็เป็นวินัยของเณรนี้ ศีล ๒๒๗ หรือรวมทั้งหมดก็เป็นวินัยของพระ ดังนั้นคำว่าศีลกับคำว่าวินัยนั้น เล็งถึงสิ่ง ๆ เดียวกัน เพียงแต่ว่าคำว่าศีล มันกว้าง มันเป็นความหมายที่กว้างออกไปอีก แต่แล้ว เอ่อ, ระเบียบปฏิบัติเพื่อที่ห้ามไว้นั้น มันก็ตรง ๆ กันไปหมด หรือถ้าสรุปแล้วมันก็จะรวมลงในสิ่งที่เรียกว่าศีล ๕
ดังนั้นถ้าว่าเราถือศีล ๕ ให้ถูกต้องตามความหมายโดย ๆ บริบูรณ์ โดย ๆ บริบูรณ์ โดยความหมาย ไม่ใช่ถือเข้าข้างตัว คอยจะแก้ตัว คอยหาช่องที่จะแก้ตัว มันก็จะคุ้มไปได้หมดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะพูดเรื่องนี้ก่อนว่า ศีล ๕ นี่ เป็นวินัยของฆราวาสนี่ มันเป็นแม่บทของวินัยทั้งหมดได้อย่างไร
ข้อนี้เราจะต้องรู้ความหมายของศีล ๕ ตลอดถึงความมุ่งหมายของศีล ๕ ข้อ ศีล ๕ ข้อนี้ให้ดี อย่าเอาแต่ตามตัวหนังสือล้วนๆ เพราะตัวหนังสือนั้นมันมีความหมาย ความหมายมันกว้างกว่าตัวหนังสือเสมอ ดังนั้นให้เอาความหมายเป็นใหญ่ ไม่เอาตัวพยัญชนะหรือว่าตัวหนังสือเป็นใหญ่ แต่เอาอรรถหรือความหมายเป็นใหญ่ ถ้าเอาความหมายเป็นใหญ่แล้ว มันก็จะกว้าง ๆ หมด กว้างไปจน ๆ ครอบคลุมไอ้ส่วนที่ควรจะห้ามไว้หมด ซึ่งเราจะได้พิจารณาดูกันตามลำดับ
ศีล ๕ ข้อที่ ๑ มีว่า ไม่ให้ทำสัตว์มีชีวิตให้ตาย ตัวหนังสือมันมีเพียงเท่านั้น แต่ความหมายของมันที่จะบัญญัติให้กว้างเป็นบทนิยามที่กว้างที่สุด มันก็คือไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกาย ไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายผู้อื่น คุณ ๆ ไม่มีทางแก้ตัว ไม่กระทบกับ แต่มัน ๆ ๆ ๆ ๆ หมายไปหมดเลย
ประทุษร้าย มันหมายถึงกระทบกระทั่งหรืออะไรก็ตามใจ มากน้อยเบาหนักยังไงก็ตาม ฆ่าให้จนตายเลยก็ได้ ครึ่งตายก็ได้ หรือนิดหน่อยก็ได้ มัน ๆ เรียกว่าประทุษร้ายชีวิตและร่างกายของเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าจะถือศีลให้เป็นศีล ก็ต้องถือโดยความหมายอย่างนี้ ปาณาติบาต นี้ไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายผู้อื่น ดังนั้นจะมีวิธีประทุษร้ายกันกี่วิธีก็ตามใจ ถึงตายหรือไม่ถึงตายก็ตามใจ ต้อง ๆ งดเว้นกันหมด
ทีนี้ข้อที่ ๒ อทินนาทาน ก็ต้องใช้คำว่า ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขา มันกว้างกว่าลัก ไอ้ลักนี่ มันเอา ลักเอามากินมาใช้นี่ มันแคบ ถ้าประทุษร้ายแล้วจะเอามากินมาใช้หรือไม่เอามากินมาใช้ แล้วก็เป็นศีล อ่า, เป็นผิดศีลข้อนี้ทั้งนั้น ไปทำทรัพย์สมบัติของเขาให้เสียหายหรือว่าไปจุดไฟเผาเล่นเสียอย่างนั้น อ่า, ไม่ ๆ ๆ ๆ ได้เอามากินมาใช้เองอะไรนี้ ไม่ได้ลักหรือ นี่มันก็ต้องผิดศีลข้อนี้ ดังนั้นเราใช้คำบัญญัตินิยามลงไปว่า ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ด้วยวิ ด้วยวิธีใดก็ตาม มันก็หมด ไม่มีช่องที่จะทำอะไรได้ ที่จะไม่ ๆ ๆ ขาดศีลข้อนี้ คือประทุษร้ายทรัพย์ของเขา
ทีนี้ศีลข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร ตัวหนังสือมันว่า ไม่ประพฤติผิดในของรักทั้งหลาย ในของรักของใคร่ทั้งหลาย ตัวหนังสือมันว่าอย่างนั้น กาเมสุ แปลว่าของรักทั้งหลาย มิจฉา ก็แปลว่าผิด อาจาร ก็แปลว่าประพฤติ เว้นขาดจากประพฤติผิดในของรักทั้งหลาย นี้เราก็ใช้บทนิยามว่า ไม่ประทุษร้ายของรักของผู้อื่น ความหมายกว้าง ไม่มีทางยกเว้น จะไปล่วงเกินลูกเมียของเขา ลูกสาวของเขา หรืออะไรของเขา มันก็ไม่มีทางยกเว้น กระทั่งว่าไปประทุษร้ายวัตถุสิ่งของที่เขารัก ก็ไม่ยกเว้น มันก็ผิดเหมือนกัน
นี่ความมุ่งหมายของเขาเป็นอย่างนี้ แต่คนบางพวกไปอธิบายแคบเพียงว่า ทำชู้หรือประทุษร้ายเรื่องเกี่ยวกับเพศ ทางเพศเท่านั้นเอง นี้ไม่ตรงตามตัวหนังสือด้วยซ้ำไป ตัวหนังสือมันว่าของรักทั้งหลาย ดังนั้นก็น่าหัวที่เขาไปสอนว่า อย่าทำชู้ ก็ไอ้เด็กเล็ก ๆ ชั้นอนุบาลนี่ อย่าทำชู้อะไร มันจะไปทำชู้อะไรได้ ไอ้เด็กอายุห้าหกขวบ ถ้าว่า เอ่อ, ไม่ให้ ถ้าอธิบายเพียงทำชู้อย่างเดียวแล้ว ก็แปลว่าไอ้เด็กนี้ก็ไม่ต้องถือศีลข้อนี้
นี้ถ้าเอาตามตัวหนังสือ ของรักทั้งหลายแล้ว เด็กนี้ก็ต้องถือศีลข้อนี้ คือเด็กเล็ก ๆ ด้วยกัน มันรักอะไรอย่างยิ่ง จะเป็นตุ๊กตาหรือเป็นอะไรก็ตามที่มันรักอย่างยิ่ง อย่าไปประพฤติผิดต่อสิ่งนั้น คืออย่าไปล่วงเกินสิ่งนั้น ดังนั้นข้อที่ ๓ ศีลข้อที่ ๓ นี้ก็ เราก็ว่า อย่าประทุษร้ายของรักของผู้อื่น
ทีนี้มาถึงศีลข้อที่ ๔ มุสาวาท เว้นจากพูดเท็จ ไอ้พูดเท็จน่ะ เขาเล็งถึงไอ้ทำให้ประโยชน์ของผู้อื่นเสียไปแล้วมาได้แก่ตัว ถ้าไม่ได้ทำให้ผู้อื่น ถ้าไม่ ถ้าไม่ได้ทำให้ประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นประโยชน์ของตัว เขาไม่เรียกพูดเท็จ เขาเรียกพูดเพ้อเจ้อหรือพูดอะไรไปอย่างอื่น ดังนั้น มุสาวาท นี้มันเล็งถึงเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตน โดยใช้วาจาเป็นเครื่องมือ
ทีนี้ไอ้ประโยชน์นี้มันกว้าง หมายถึงความเป็นธรรม สิทธิอันชอบธรรม หรืออะไรก็ได้ ถ้าเราไปทำลายของเขาแล้วด้วยวาจา แล้วก็เรียกว่าผิดศีลข้อนี้ ดังนั้นจึงอยากจะพูดว่า ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรมหรือสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่นด้วยวาจาของตน ไม่ประทุษร้ายสิทธิอันชอบธรรมหรือความเป็นธรรมของผู้อื่นด้วยวาจาของตน นี่แปลว่าไม่ ๆ มีโอกาสจะใช้วาจาเป็นเครื่องประทุษร้ายใครได้
แต่อย่าลืมนะ คำว่าวาจานี้ มันมีความหมายเฉพาะ อ่า, มี ๆ ความหมายเฉพาะของมันมากกว่าที่เราพูดกัน คำว่าวาจาในที่นี้เป็นตัวหนังสือก็ได้ เป็นกิริยาท่าทางก็ได้ หมายความว่าเราพูดทางปากด้วยวาจานี้ก็ได้ เราพูดทางตัวหนังสือ หรือทางสัญลักษณ์อื่น ๆ ก็ได้ เช่นกิริยาท่าทาง เอ่อ, อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งรู้กันว่ามีความหมายอย่างไร นี้ก็เรียกว่าวาจาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่นด้วยวาจานี่ คำว่าวาจาหมายหลาย ๆ อย่าง
นี้ข้อสุดท้าย สุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท ความสำคัญมันอยู่ที่เป็นที่ตั้งของความประมาท ไอ้สุราเมรัยนั้นไม่สำคัญหรอก จะเรียกว่าอย่างอื่นก็ได้ ไม่เรียกว่าสุราเมรัย แต่ถ้ามันเป็นที่ตั้งของความประมาทแล้วต้องห้ามทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไอ้ศีลข้อนี้ต้องให้บทนิยามว่า ไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง เราไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดีของเราเองก็แล้วกัน จะโดยอาศัยสุรา หรือเมรัย หรือเครื่องอะไรมัวเมาอย่างอื่นก็ตามใจ ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ คือถ้าทำให้สติสมปฤดีเสียไป แล้วก็เรียกว่าผิดศีลข้อนี้ทั้งนั้น ดังนั้นนอกจากไอ้เครื่องดื่ม เครื่อง อ่า, เครื่องดื่ม เครื่องกิน เครื่องสูบ เครื่องทาอะไร แล้วมันก็ยังหมายได้ทุกอย่างที่ทำให้สติสมปฤดีเสียไป
นี้ลองพิจารณาดูสิว่า ไอ้ ๕ อย่างนี้มันกินความไปถึงไหน ถ้าเราถือตามบทนิยามนี้แล้วมันกินความครอบจักรวาลเลย ไม่มีทางจะทำผิดอะไรได้ ทีนี้จะชี้ให้ดูว่า ใน ๕ อย่างนี้มันขยายความออกไปเต็มทั้ง ปาฏิโมกข์ ได้อย่างไร ปาฏิโมกข์ ของพระนั้นได้อย่างไร เมื่อเราวางหลักไว้ว่าไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายผู้อื่นนี่ มันก็ไม่ ต้องไม่ฆ่าให้ตาย หรือไม่ฆ่าให้ครึ่งตาย หรือไม่ อ่า, เจ็บเล็กน้อยนี้ก็ไม่ทำ แล้วมันก็ทั้งสัตว์ อ่า, ทั้งคน ไม่ฆ่า ไม่ ๆ ๆ กระทำอย่างนั้น ไม่ประทุษร้ายชีวิตหรือร่างกายของคน แล้วก็ของสัตว์ แล้วก็ของสิ่งที่มีชีวิต แม้เช่นต้นไม้เป็นต้น
เมื่อคุณบวชแล้วหลายวันเข้า คุณเรียน ปาฏิโมกข์ ไปถึงหมวด ปาจิตตีย์ ก็จะพบว่าการฆ่าต้นไม้หรือทำให้ต้นไม้เสียชีวิตไปนี้ ก็เป็นอาบัติเหมือนกับฆ่าสัตว์เดรัจฉานตัวหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไอ้ ปาฏิโมกข์ ของภิกษุข้อที่ห้ามไม่ให้ทำลายต้นไม้นี้ ก็คือห้ามไม่ให้ฆ่าต้นไม้นั่นเอง มันก็ต้องรวมอยู่ในศีล อ่า, ข้อ ๆ ๑ ศีล ๕ ข้อ ๑ คือไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกาย ภิกษุจะถอนต้นไม้ขึ้นมาให้มันตายทั้งต้น หรือว่าจะไปตัดกิ่งของมันบางส่วนก็ตาม มันเป็นอาบัตินี้ คือฆ่า ฆ่าหรือประทุษร้ายพฤกษชาติภูตคาม นั้นน่ะต้องไม่ฆ่าคน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตเช่นต้นไม้ รวมทั้งไอ้สิ่งที่ยังเป็นจุลินทรีย์อยู่ด้วยซ้ำไป
นี้ ปาฏิโมกข์ หมวด ปาจิตตีย์ นั้นมีมากที่มันเป็นเพียงไอ้แขนงหนึ่งของการประทุษร้ายชีวิตหรือร่างกายนี้ เช่นไปตีเขา หรือไปตีเด็กนี้ หรือว่ายกมือขึ้นทำท่าจะตีเขา มันก็เป็นอาบัติ เป็นอาบัติ ปาจิตตีย์ เหมือนกับฆ่าสัตว์ นี่เท่ากับฆ่าสัตว์เดรัจฉานตัวหนึ่ง เงื้อมือขึ้นจะตีเขา นี้ไอ้สิก ไอ้สิกขาบทข้อนี้ใน ปาฏิโมกข์ นี้ มันก็รวมอยู่ในศีลข้อที่ ๑ คือไม่ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายเขา แม้ขนาดเบาที่สุดเพียงแต่เงื้อมือให้เขาตกใจ
ทีนี้ที่พูดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ศีล ๕ ข้อที่ ๑ นั้นน่ะ มันขยายออกไปเป็นอีกหลาย ๆ ข้อ คือตั้งสิบข้อยี่สิบข้อที่มีอยู่ใน ปาฏิโมกข์ ของภิกษุ แล้วก็มีโดยนัยหรือปริยายที่ต่าง ๆ กัน เช่นภิกษุปล่อยน้ำอสุจิด้วยเจตนานี้ ก็ถือว่าเป็นการฆ่าสิ่งที่มีชีวิตจำนวนมากในน้ำอสุจิอย่างนี้ และถ้าเราเพ่งเล็งอย่างนี้ มันก็มารวมอยู่ในศีล ๕ ข้อที่ ๑ แต่ถ้าทำเพื่อความใคร่อย่างอื่นหรือเจตนาเพื่อความใคร่อย่างอื่น มันก็ไปรวมอยู่ในข้อมัวเมาใน ๆ ๆ ทุษ ประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง นี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ไอ้บางข้อมันมีความหมายที่แบ่งแยกได้ แล้วแต่เราจะเพ่งเอาเจตนาอันไหนเป็นหลัก ศีลข้อที่ ๑ ข้อเดียวนี้ มันจึงแยกออกไปเป็นสิกขาบทหลายข้อ สิบข้อ ยี่สิบข้อ ในพระ ปาฏิโมกข์ ได้
ทีนี้ศีลข้อที่ ๒ ศีล ๕ ข้อที่ ๒ คือ อทินนาทาน ไม่ลักทรัพย์นี้ เราให้คำนิยามว่า ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น มันก็มีแง่ที่จะขยายความออกไปมาก ออกไปได้มาก ไอ้ลักทรัพย์เอามาเป็นประโยชน์ของตนนั้นมันเป็นความหมายอันแรก แต่ทำลายทรัพย์ก็ต้องรวมอยู่ในข้อนี้ แม้แต่ที่สุด ที่สุด แม้ที่สุดแต่ที่ภิกษุขอเกินควรนี้ ขอเกินสมควร ขอในสิ่งที่ไม่ควรขอหรือขอเกินสมควร เห็นว่าเขาศรัทธาแล้วก็ขอใหญ่นี้ มันก็อยู่ในศีลข้อนี้ มันประทุษร้ายทรัพย์เขาเหมือนกัน ดังนั้นมีวินัยอีกหลายข้อที่เนื่องด้วยการที่ทำให้ผู้อื่นลำบาก เดือดร้อน รำคาญ เกี่ยวกับทรัพย์ของเขา เพราะภิกษุไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า นั่นแหละประทุษร้ายทรัพย์ของเขา นี่ขยายออกเป็นหลาย ๆ ๆ ข้อในพระ ปาฏิโมกข์
นี้ศีลข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร ล่วงเกินของรัก ประทุษร้ายของรัก มันก็ไปถึงว่าคู่รักของเขา หรือว่าคนรักลูกหลานอะไรของเขา กระทั่งของวัตถุของรักของเขา กระทั่งข่มเหงน้ำใจเขา ก็ล้วนแต่เรียกว่าประทุษร้ายของรักของผู้อื่นทั้งนั้น
นี้ข้อที่ ๔ มุสาวาท ไม่พูดเท็จ เราไม่ประทุษร้ายสิทธิหรือ ๆ อ่า, ความเป็นธรรมของผู้อื่นด้วยวาจานี้ มันมีพูดเท็จโดยตรง นี่เป็นอันแรก แล้วพูดเท็จโดยตรงใน ปาฏิโมกข์ แล้วเรียงไว้เป็นนั่น ๆ ไว้เลย ต้องอาบัติ ปาราชิก เช่นไปหลอกเขาว่าบรรลุมรรคผลแล้วนี้ ถึงให้เป็น ปาราชิก ก็เป็นออกสูญเสียความเป็นภิกษุไปเลยคราวนี้ และพูดเท็จอย่างอื่นเป็นเพียง ปาจิตตีย์ ก็มี พูดเท็จอย่างอื่นต้องอาบัติที่รองลงไปก็มี แล้วก็มีหลาย ๆ ข้อ ต้องอาบัติหลาย ๆ ชื่อ ไอ้ ปาฏิโมกข์ นั้นน่ะเกี่ยวกับการพูดเท็จ
นี้มันยังมีอย่างอื่นที่ว่าใช้เล่ห์ เช่นพูดเท็จต้องอาบัติ สังฆาทิเสส เพราะว่าไปพูดไม่จริง นี่ว่าคนนั้นไปโจทเขาให้อาบัติไม่จริง นี้มันเป็นอาบัติ สังฆาทิเสส เขาพูดเท็จ และยังมีวิธีใช้เล่ห์เหลี่ยมจะให้เขาคนอื่นเขาเข้าใจอย่างนั้น มันก็ยังมีแยกออกไปอีกสิกขาบทหนึ่งอีก ดังนั้นสิกขาบทที่เกี่ยวกับการพูดเท็จใน ปาฏิโมกข์ มีมาก มารวมอยู่ในข้อเดียวในศีล ๕ เรียกว่าพูดเท็จ พูดมายาว พูดบิดพลิ้วในที่ประชุม หรือว่าหลอกลวงผู้หญิงให้ ๆ ทำสำเร็จอะไรแก่ประโยชน์ของตัวอย่างนี้ ก็ต้องอาบัติขนาดหนัก ๆ นะ ดังนั้นคำว่าพูดเท็จนี่มีอยู่หลายสิกขาบทในพระ ปาฏิโมกข์ ซึ่งในศีล ๕ มันมีข้อเดียวเท่านั้น
ทีนี้มาถึงข้อสำคัญข้อสุดท้ายคือ สุราเมรัย นี้ ถ้าไปพูดแต่เพียงว่า สุราเมรัย แล้วมันแคบนิดเดียว ต้องไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง อะไรที่ทำเข้าไป ประพฤติเข้าไป กินเข้าไป อะไรเข้าไป แล้วสติสมปฤดีเสียไป เกิดความประมาทขึ้นมาแล้ว ต้องผิดศีลข้อนี้ทั้งนั้น ไอ้ของดื่มเข้าไป เช่น น้ำเมา สุราเมรัย ของสูบเข้าไป เช่น ฝิ่น กัญชา หรืออะไรนี้กี่อย่างก็ตาม มันประทุษร้ายสติสมปฤดี คือความปรกติของสติสมปฤดีนั้นเสียไป ดังนั้นคนนั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น บ้า ๆ บอ ๆ บ้าง ไอ้ หรือกระทั่งทุกอย่างน่ะ คือว่าผิดปรกติทางสติสมปฤดี เหมือนของมึนเมาหรือของเสพติดทุกชนิด
ทีนี้ถ้าสำหรับภิกษุแล้ว ไอ้วัตถุสวยงาม ไอ้วัตถุเหลือเฟือ ไอ้ที่เรียกกัน Luxury Luxurious อะไรนี่ มันก็ต้องสงเคราะห์ไว้ในข้อนี้ นี่อาจจะไม่มีใครนึกคิดอย่างนี้ แล้วอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ที่ผมพูดนี่ เขา ๆ ไม่อาจจะเห็นด้วยก็ได้ แต่ผมพูดว่า ไอ้สิ่งประดับประดาสวยงามตกแต่งอะไรเหล่านี้ ที่มีอยู่ตามในกุฏินี่ แม้แต่ของหอมของทาอะไรต่าง ๆ นี่ มันทำให้สูญเสียไอ้ความเป็นปรกติแห่งสติสมปฤดี
วัตถุเพื่อกามารมณ์หรือทางกามารมณ์นี้ สำหรับภิกษุแล้วมันก็เป็น นอกจากจะต้องอาบัติตาม ๆ ๆ สิกขาบทนั้น ๆ แล้ว ที่ไม่ถึงขนาดนั้น มันก็ทำให้สูญเสียความ ๆ มีสติสมปฤดี เราไปในที่ไม่ควรไปนี่ ในที่อโคจรที่ไม่ควรไปนี้ สติสมปฤดีเขาเสียไป อย่างนี้ก็เหมือนกันน่ะ เที่ยวกินเหล้าเข้าไปหรืออะไรเข้าไป แม้ที่สุดแต่ความขี้เกียจ ความหัวดื้อ หรืออะไรเหล่านี้ เรียกว่าสูญเสียความปรกติของสมปฤดีไปทั้งนั้น
เหมือนกับที่พูดเมื่อตะกี้ว่า การสำเร็จความใคร่ด้วยตน คือการปล่อยอสุจิด้วยเจตนานี้ ในขณะนั้นเป็นขณะที่สูญเสียสติสมปฤดีที่สุด ดังนั้นก็ต้องจัดว่าเป็นการผิดในข้อนี้ด้วย แล้วก็ไปปรับถึงอาบัติ สังฆาทิเสส เท่านั้นแหละ เขาจะไม่ถือเพราะ ไม่ ๆ ถือความหมายที่ว่า ทำสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายให้ตายไปด้วยน่ะ มาถือได้ในข้อนี้ว่า ไปทำในสิ่งที่ให้สูญเสียสติสมปฤดี เหมือนกับดื่มน้ำเมาเหมือนกัน
ดังนั้นด้วยศีลข้อที่ ๕ นี่ เราสามารถที่จะขยายความออกไปเป็นหลาย ๆ สิบข้อ หลาย ๆ ร้อยข้อในวินัยส่วนนั้นวินัยส่วนนี้ว่า ถ้าอะไรทำให้มันสูญเสียความรู้สึกผิดชอบชั่วดีตามปกติแล้ว ก็ต้องผิดศีลข้อนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นไอ้ของเล่น ของสนุกสนาน ของอะไรต่าง ๆ ก็ควรรวมอยู่ในที่นี้ ดังนั้นถ้าถือศีลข้อนี้ให้ดี กินความหมายกว้าง ๆ อย่างนี้ มันหมดทั้ง ปาฏิโมกข์ ได้ คือไม่ประมาท เพราะว่าศีลข้อนี้เขามุ่งหมายสิ่งที่ทำให้เกิดความประมาท ความประมาทคือสูญเสียสติสมปฤดี ทุกอย่างที่ทำให้สูญเสียสติสมปฤดีต้องผิดศีลข้อนี้
เอ้า, ทีนี้ลองทบทวนดูใหม่ทั้ง ๕ ข้อนี่ การถือศีล ๕ ข้อนี้ให้ได้แล้ว มันจะขยายความไปหมดทั้ง ปาฏิโมกข์ ได้อย่างไร มี ปาฏิโมกข์ อยู่หลายสิกขาบทที่ปรับอาบัติ เพราะว่าเป็นคนเผอเรอ ไม่รักษาบาตรจีวรนี้ หลาย ๆ วิธี หลาย ๆ แง่ หลายสิกขาบทอยู่ ไอ้ความเผลอทิ้งจีวรอย่าง ทิ้งบาตร ทิ้งอะไรอย่างขว้าง ๆ ไว้ที่ทำกันอยู่เดี๋ยวนี้นั้นน่ะ นั่นคือความประมาท คือความเลินเล่อ คือความสูญเสียสติสมปฤดี ดังนั้นจึงมีบัญญัติไว้ในพระ ปาฏิโมกข์ เพื่อจะไม่ให้ประมาท เพื่อจะไม่ให้สูญเสียสติสมปฤดี ให้นึกได้ ให้ไม่ขี้ลืม นี้ถ้าเราถือไอ้หลักใหญ่ว่าไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดีของเราเองแล้ว มันก็คลุมได้หมดเลย ไม่มีทางที่จะผิดวินัยใน ปาฏิโมกข์ ตั้งหลาย ๆ ๆ ข้อเหมือนกัน
ทีนี้ไม่พูดถึงภิกษุถือวินัยแล้ว พูดถึงชาวบ้านทั่วไป ถ้าใครถือศีล ๕ ในความหมายที่กว้างอย่างที่ผมกำลังพูดนี้แล้ว มันก็เท่ากับถือศีลของภิกษุ ของสามเณรหรือของภิกษุได้เหมือนกัน อ่า, โดยไม่รู้สึกตัวซ้ำไป ดังนั้นขอให้ช่วยพิจารณาดูไอ้บทนิยามที่ให้ไปนี้ให้ดี ๆ เกี่ยวกับศีล ๕ ว่า ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกายผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายของรักผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่นด้วยวาจา และไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง
นี่ใครถือให้ได้เท่านี้โดยหลักสามัญสำนึก จะเป็นคนดีที่สุดทั้งใน แง่โลก แง่ธรรมะ แง่ไหนก็ตาม ในศาสนาไหนก็ตาม ในวัฒนธรรมระบบไหนก็ตาม นั่นแหละอย่าทำเล่นกับศีล ๕ จะมีแต่คนโง่เท่านั้นที่ว่า ศีล ๕ เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องชาวบ้าน เป็นเรื่องเบื้องต้น แต่มันเป็นทั้งหมดของทุกเรื่อง ขอแต่ให้ถือเอาความหมายมันครบเท่านั้นน่ะ เช่นข้อ ๓ กาเมนี้ อย่าถือแต่เรื่องทำชู้นี่ เด็ก ๆ มันจะเอา ๆ ชู้ไหนมาทำล่ะ มันต้องของรักทุกชนิด อย่างนี้เป็นต้น
นี่เวลาวันนี้ของเรามันก็หมดไป นี้เราพูดเรื่องนี้ไม่จบ ก็จะพูดวันหลังอีก ที่ ๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้มันคืออะไร แล้วก็ขอให้รู้ความมุ่งหมายของผมด้วยว่า ไม่ได้หมายถึงไอ้ตัวสิกขาบทเป็นข้อ ๆ ๆ ๆ เหล่านี้ แต่หมายถึงหลักเกณฑ์ที่มันครอบคลุมสิกขาบทเหล่านั้นว่าอย่างไร หลักเกณฑ์เพียงไม่กี่ข้อนี่จะครอบคลุมสิกขาบท ๒๒๗ สิกขาบท และอีกหลายร้อยหลายพันสิกขาบทก็ได้อย่างไร
ทีนี้ก็จะรู้จักศีล ๕ ดีขึ้น ศีล ๕ นี้เรียกว่าศีล และก็เรียกว่าวินัยของผู้ครองเรือน แล้วขยายความออก ๆ เป็นวินัยของผู้ไม่ครองเรือนก็ได้ ก็ยังได้ มันจะมีแปลกออกไปเป็นข้อสุดท้ายข้อเดียว คือไม่ทำอะไรที่ไม่สมแก่เพศและภูมิของตัว ถ้าเติมข้อนี้เข้ามาแล้วก็จะหมดไม่มีอะไรเหลือ ปาฏิโมกข์ มีสิกขาบทหลายข้อที่ไม่ให้ภิกษุทำอะไรที่ไม่สมกับเพศและภูมิของตัว เพศบรรพชิต เพศคฤหัสถ์ เพศบรรพชิต ไม่ใช่เพศหญิงเพศชาย คำว่าเพศนี่มันไม่ได้หมายแต่เพศหญิงเพศชาย เพศครองเรือน เพศไม่ครองเรือน เพศคฤหัสถ์ เพศบรรพชิต อะไรไม่เหมาะสมแก่เพศบรรพชิตไม่ทำ แล้วอะไรมันไม่สมแก่ภูมิ ภูมิหรือชั้นระดับของตัวนี้ไม่ทำ
ถ้าถือหลักอย่างนี้แล้วมันก็พอเหมือนกัน ตัวอยู่ในภูมิของภิกษุผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็ว มันอยู่ในภูมิสูง ดังนั้นไปประพฤติกระทำไอ้สิ่งที่เป็นภูมิของชาวบ้านไม่ได้ เช่นเสพเมถุน เสพเมถุนนี้บัญญัติไว้ว่า เป็นภูมิของชาวบ้าน ของเพศต่ำ หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อะไรนี่ ดังนั้นเรื่องกามารมณ์ทุกชนิดนี่มันเป็นสำหรับเพศต่ำ เมื่อภิกษุอยู่ในเพศสูงก็ทำไม่ได้เท่านั้นเอง ไม่ต้องมีใครมาห้าม สามัญสำนึกมันห้ามว่า นี่มันต่ำกว่าเพศและภูมิของเรา เพราะฉะนั้นทำไม่ได้ อะไรอีกมากอย่างหลายสิกขาบทในพระ ปาฏิโมกข์ นั้นไม่ทำ เพราะว่ามันไม่สมแก่ระดับหรือเพศหรือภูมิของเรา
แล้วควรจะถือศีลข้อนี้กันให้ดี จะมีประโยชน์ที่สุด สิ่งใดไม่ ๆ ๆ สมแก่ เพศ ภูมิ หรือเกียรติยศ หรืออะไรของเราแล้ว เป็นไม่ยอมทำ เดี๋ยวนี้มันบกพร่องอย่างยิ่งอย่างที่สุด เพราะไม่สำนึกในข้อนี้ ดังนั้นภิกษุสามเณรจึงมีกิริยาวาจาเก้งก้าง พูดดัง พูดโม้ พูดอวดอะไร ชนิดที่มันไม่สมแก่เพศและภูมิของตัวนี้ เหมือนกับเราถือศีลเพียงข้อเดียวว่า จะไม่ทำอะไรที่ไม่สมแก่เพศและภูมิของตัวแล้ว มันจะหมด จะหมดเอาทั้ง ๆ ๆ ไอ้ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๕ ประเภทข้างต้นด้วยซ้ำไป ดังนั้นถ้าใครอยากจะถือศีลเพียงข้อเดียว ผมก็แนะให้ถือข้อนี้ จะไม่ทำอะไรที่มันไม่เหมาะสมแก่เพศและภูมิของตัว เลยทำอะไรไม่ได้ ลักก็ไม่ได้ ฆ่าก็ไม่ได้ อะไร ๆ ก็ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ
ดังนั้นขอให้ถือศีลอย่างน้อยสักตัวหนึ่งเถิด สรุปคือศีลข้อนี้ แล้วก็จะหมดทั้ง ปาฏิโมกข์ นอก ปาฏิโมกข์ หรือนอกจากนั้นไปอีก หรือทุกศาสนาเลย แต่ถ้าพูดอย่างนี้เขาถือว่า มัน ๆ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มากน้อยแค่ไหน ก็มาบัญญัติกันเป็นข้อ ๆ แล้วแจง ๆ เป็นข้อ ๆ ก็ขอให้ถือไอ้หลัก ๕ ประการนี้ ไอ้เบญจศีลนี้ ให้เต็มตามความหมายนี้ แล้วมันจะคลุมได้หมดเหมือนกัน ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้ทำผิดได้
นี่ดูเอาเองสิว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าศีลนี่มันคืออะไร ไอ้สิ่งที่เรียกว่าวินัยมันคืออะไร วินัยในพุทธศาสนาคืออะไร มันเป็นเครื่องมือเป็นยานพาหนะสำหรับนำไปสู่ ความดี ความงาม ความประเสริฐยิ่ง ๆ ขึ้นไป จริงหรือไม่ สมตามคำว่าวินัยจริงหรือไม่ ส่วนวินัยของชาวโลกชาวบ้าน เป็นเพียงไอ้กฎสำหรับปกครองหมู่ ซึ่งเขาเรียกกัน Disciplinary Rule นี้ทั่วไปทั้งโลก มันแคบนิดเดียว เอามาเทียบกับวินัยในพุทธศาสนาไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าวินัยในพุทธศาสนาจึงหมายถึง สิ่งที่จะนำไปสู่คุณธรรมอันสูงยิ่งขึ้นไป ไม่ ๆ จำกัด จนกว่าจะถึงที่สุด นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวินัยในพระพุทธศาสนา
เอาล่ะ, พอกันทีเวลา