แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบได้อยู่เองแล้ว
ในวันวิสาขบูชาเช่นวันนี้นี้เรากระทำทุกอย่างทุกประการเท่าที่จะทำได้เพื่ออุทิศบูชาคุณของสมเด็จพระศาสดาเป็นอันว่าทุกอย่างที่กระทำไปเนื่องในวันวิสาขบูชานี้จะเป็นการเสียสละอย่างใดก็ดี จะมากหรือน้อยเพียงไรก็ดี ล้วนแต่ใช้เป็นเครื่องบูชาคุณ และยิ่งกว่านั้นอีกก็คือการทดลองตัวเอง การทดสอบตัวเองหรือว่าเป็นการฝึกฝนตนเองให้มีความเข้มแข็งอดทน หรือถ้ายิ่งไปกว่านั้นอีกก็เป็นการอบรมตนเองให้เป็นคนซื่อตรงไม่หน้าไหว้หลังหลอกต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในโอกาสเช่นนี้ด้วยทุกคราวไป ทำไมจึงว่าต้องไม่เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อนี้ก็เพราะเหตุว่ายังมีอาการบางอย่างที่เหมือนกับหน้าไหว้หลังหลอกก็คือไม่จริงนั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านตรัสกำชับไว้ว่า “ธัมมัง สุจริตตัง จเร” จงประพฤติธรรมให้สุจริต นึกดูเถิดว่าแม้จะมีการประพฤติธรรมก็ยังมีการกำชับว่าจงประพฤติให้สุจริตเพราะว่ายังมีการประพฤติธรรมที่ไม่สุจริต การประพฤติธรรมในที่นี้ หมายถึง การปฏิบัติตามที่ถือกันว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่แล้วความมุ่งหมายนั้นไม่เป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือว่าไม่เคยรู้จักเลื่อนชั้นให้สูงขึ้นมาจนถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ยกตัวอย่างเช่นการให้ทาน เมื่อให้ทานก็อยากจะเอาหน้ากันมาพอสมควรแล้วก็ควรจะมาให้ทานเพื่อการไปสวรรค์ และเมื่อได้ให้ทานเพื่อการไปสวรรค์กันพอสมคววรแล้ว ก็ควรจะเลื่อนมาเป็นการให้ทานเพื่อจะขูดเกลากิเลสของตน คือการทำลายความเห็นแก่ตนให้มีกิเลสเบาบางแล้ว ก็จะได้ประสบผลอันเป็นที่มุ่งหมายของพุทธศาสนา คือ หมดกิเลส หมดกรรม บรรลุมรรคผลนิพพานไปในที่สุดถ้ามัวแต่ให้ทานเอาหน้าหรือว่าให้ทานไปสวรรค์อยู่อย่างนั้นแล้วมันก็ตีบตันอยู่ที่นั่นเอง ไม่สูงขึ้นมาจนถึงกับจะให้ทานเพื่อขูดเกลากิเลสตันหาของตนได้ นี่แหละคือตัวอย่างที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าประพฤติธรรมสุจริตหรือไม่สุจริต ให้ทานเอาหน้านี้เห็นได้ว่าไม่ ไม่สุจริตยังมีอะไรทุจริต ให้ทานเพื่อไปสวรรค์นี้ก็เอากำไรเกินควร ก็ยังนับเนื่องอยู่ในการทุจริต แต่ถ้าให้ทานเพื่อขูดเกลากิเลสแล้วไม่มีทางที่จะกล่าวได้เลยว่าเป็นการทุจริตแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าจงประพฤติธรรมให้สุจริตนี้มีความหมายอย่างนี้
เดี๋ยวนี้เป็นวันวิสาขบูชาเรากระทำวิสาขบูชาก็เป็นการประพฤติธรรมอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่แล้วจะต้องประพฤติให้สุจริตด้วย ถ้าเรารักพระพุทธเจ้าจริงเราก็จะทำได้ทุกอย่างในวันวิสาขบูชา แม้ว่าจะต้องอดนอนสักคืนหนึ่ง แล้วยังแถมอดนอนอีกสักคืนหนึ่ง สองคืน สามคืน ติดกันก็คงจะทำได้ถ้าเราจะรักพระพุทธเจ้าจริง ถ้าว่ารักพระพุทธเจ้าจริงในที่นี้หมายความว่ามีความรัก มีความศรัทธา มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสที่เป็นไปอย่างแรงกล้า เป็นธรรมที่มีกำลังมากสามารถจะครอบงำความรู้สึกอันอื่นเสียได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การอดนอน ถ้าไม่มีศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้าในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ง่วงนอนก็ทนไม่ได้ในที่สุดก็แก้ตัวต่าง ๆ นานาจนได้ไปนอน แต่ถ้าชวนไปเล่นไพ่ บางทีก็จะอยู่ได้จนสว่างถ้าจะชวนไปจับปูจับปลาในทุ่งนาในทะเลก็จะจับอยู่ได้จนสว่าง บางคนก็เล่นหมากรุกได้จนสว่าง อย่างนี้เรียกว่าอาศัยกำลังของความโลภหรือความสนุกสนาน เป็นต้น มาข่มขี่ความง่วงไว้ได้
ทีนี้อีกอย่างหนึ่งซึ่งจะมองเห็นได้อีกก็คือว่า ถ้าบิดามารดาเจ็บไข้ จวนจะสิ้นชีวิต ตลอดคืนเราก็ไม่ง่วงนอนปฏิบัติบำรุงบิดามารดาจนกว่าจะสิ้นชีวิตได้เพราะกำลังของความรักบิดามารดา หรือความกตัญญูกตเวที หรือพูดง่าย ๆ ก็คือความกลัวว่า บิดามารดาจะตายเสีย ทีนี้ก็ไม่ใช่บิดามารดาแม้ว่าสามีหรือภรรยาเจ็บไข้ก็ยังมีตาสว่างอยู่ได้ทั้งคืนไม่ง่วงนอนที่จะพยาบาลรักษา ถ้าว่าการเจ็บไข้นั้นเป็นอาการหนักถึงกับจะต้องตาย ทีนี้แม้แต่ว่าลูกเล็ก ๆ ลูกแดง ๆ เจ็บไข้ขนาดหนักใกล้จะตายพ่อแม่ก็นอนตาไม่หลับได้ทั้งวันทั้งคืน นี้ก็เรื่องความรักเพราะอาศัยความรักจึงไม่ง่วงนอนและอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน
ครั้นมาถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันสมมติกันว่าเป็นวันที่ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระศาสดา ถ้าเรามีความรัก มีความศรัทธาในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จริงแล้วก็จะไม่ง่วงนอนก็จะอยู่ประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้จนสว่างได้เหมือนกัน ทีนี้เราลองเปรียบเทียบกันดูว่าพระพุทธเจ้ากับลูกของเราอันไหนมีความสำคัญกว่ากันอย่างไรถ้าสมมติว่าลูกจะคลอดคืนนี้มันก็นอนไม่หลับมันก็ต้องเฝ้าจนคลอด ถ้ามันไม่คลอดจนสว่างก็ต้องเฝ้าจนสว่าง นี้มันก็ทำได้แต่ถ้าสมมติว่าวันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติเราก็จะต้องเฝ้าดูอยู่ได้ หรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เราก็ต้องเฝ้าดูอยู่ได้ หรือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานดับขันธ์เราก็ต้องเฝ้าดูอยู่ได้ และจะต้องเฝ้าดูด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันแรงกล้าจนถึงกับครอบงำความง่วงเหงาหาวนอนเสียได้เป็นแน่นอน
เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดมีความปรารถนาจะอยู่จนตลอดเวลาสว่างแล้วก็จะต้องทำในใจให้ถูกต้องว่ามีความสำคัญอย่างไรในวันนี้ที่เราจะต้องนั่งเฝ้าดูการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ให้ราวกับว่า ให้เป็นราวกับว่าเราได้แอบดูอยู่จริง ๆ เมื่อพระพุทธเจ้าจะประสูติ ถ้าเรามีโอกาสแอบดูเราก็คงจะแอบดูได้ตลอดคืนถ้ามันมีเหตุการณ์ตลอดทั้งคืน หรือพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ในคืนนี้แล้วเราก็จะต้องทนเฝ้าดูได้ หรือว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานเราก็ต้องเฝ้าดูได้เช่นเดียวกันต้องทำในใจอย่างนั้นจึงจะทนอยู่ได้ เดี๋ยวนี้เราไม่เคยทำอย่างนั้นและบางคนก็ไม่ได้สนใจที่จะทำอย่างนั้นมันจึงง่วงนอน หรือมันจึงเป็นห่วงนั่นห่วงนี่ มาทำวิสาขบูชาไม่ได้เอาเสียเลยดังนี้ก็ยังมี
ทีนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะฝึกฝนความเชื่อ ความเลื่อมใส ความรัก ความกตัญญูในพระพุทธเจ้านั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เราจึงมาอธิษฐานจิตว่า เราจะอยู่ตลอดเวลาคืนหนึ่งวันหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นการรักษาอุโบสถพิเศษตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง รักษาอุโบสถพิเศษคือการเข้าอยู่ในการเฝ้าดูการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นี่จะต้องอาศัยการอธิษฐานจิตที่เข้มแข็ง หรือว่าอาศัยความรักในพระพุทธเจ้าที่แรงกล้า หรือว่าอาศัยกตัญญูกตเวทิตาในพระเดชพระคุณที่พระองค์ได้ทรงมีแก่พวกเราอย่างสูงสุด ถ้ามีคุณธรรมทั้งหมดนี้ครบถ้วนทุกประการแล้ว อย่าว่าแต่จะอดนอนสักคืนหนึ่งเลย อาจจะอดนอนได้หลายวันหลายคืนติด ๆ กันทีเดียวขอให้มีปีติปราโมทย์ในเรื่องนี้ให้มากเหมือนกับถูก เอ่อ,โชค มีโชคลาภอย่างมหาศาลก็ยังนอนไม่หลับ พระพุทธเจ้าเองก็ยังเป็นอย่างนั้น คือว่าเมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็มีความพอพระทัยมีปีติปราโมทย์ไม่ต้องฉันไม่ต้องนอนเป็นเวลาตั้งหลายวันหลายสัปดาห์ นี้ก็อยูได้เพราะอำนาจความปีติปราโมทย์ ความพอใจในสิ่งที่กระทำนั้น ถ้าเรามีความพอใจในการที่จะทำวิสาขบูชาสนองฉลองพระเดชพระคุณของสมเด็จพระบรมศาสดากันจริง ๆ แล้วก็คงจะมีปีติปราโมทย์พอที่จะให้ทนการอดนอนได้สักคืนหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย ถ้ายังทำไม่ได้ก็จะต้องหัดทำให้ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป มันก็จะต้องทำได้สักวันหนึ่งและกลายเป็นของเล่น ๆ ไป ในที่สุดก็จะมีประโยชน์อย่างอื่นต่อ ๆ ไปอีก เช่นว่าจะช่วยเหลือใครให้รอดตายโดยจะต้องอดนอนสักคืนหนึ่งอย่างนี้ก็จะต้องทำได้ อะไร ๆ มันก็จะต้องทำได้ด้วยการพากเพียรพยายามอดกลั้นอดทนนี้ด้วยกันทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้เรามาลองสังเกตดูให้ดีว่าเด็ก ๆ ไม่ได้รับการอบรมให้มากไปด้วยคุณธรรมเหล่านี้ บิดามารดาเป็นไข้หนักมันก็หลีกหนีไปนอนเสีย หรือว่าจะใช้ให้ไปหาหยูกหายาอะไรสักอย่างหนึ่งมันก็ยังเถลไถลเสียได้จนบิดามารดาต้องตายไปนี่เพราะว่าเราไม่ได้อบรมเด็ก ๆ ให้ดีให้มีความกตัญญูกตเวทีที่มากพอนั่นเอง ถ้าเราจะอบรมเด็ก ๆ ในข้อนี้ให้ดีแล้วเราก็จะต้องอบรมตัวเราเองก่อน เพราะฉะนั้นการอบรมตัวเองในโอกาสเช่นวิสาขบูชานี่แหละเป็นสิ่งที่จะกระทำได้โดยไม่ยากและเป็นโอกาสที่ควรจะกระทำ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะพยายามกระทำ การที่ได้ยกตัวอย่างมาอย่างนี้ก็เพื่อจะให้เห็นว่าวันเช่นวันนี้เป็นวันที่เราจะต้องเสียสละ เพื่อเป็นการบูชาคุณของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมีพระคุณเหนือศีรษะของเราทั้งหลายอย่างมากมายเหลือที่จะประมาณได้ และเราเองก็ประกาศตนปฏิญาณตัวที่จะเป็นสาวกของพระองค์อยู่ตลอดเวลา เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็มี เป็นภิกษุสามเณรก็มี ล้วนแต่เป็นพุทธบริษัท ที่มีความตั้งใจในการที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน หรือถ้าจะถามว่าเราเป็นภิกษุสามเณรอุทิศบุคคลใดก็ต้องตอบว่าอุทิศองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาอุทิศบุคคลใดก็ต้องตอบว่าอุทิศพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น
ข้อนี้ก็เพราะเหตุที่พระองค์ทรงมีพระคุณอันใหญ่หลวง คือ ช่วยชี้ทางดับทุกข์ให้ ให้มนุษย์เราได้มีแสงสว่างในการที่จะดับทุกข์หรือให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั่นเอง ถ้าไม่เป็นอย่างนี้แล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะไม่มีอะไรดีไปกว่าสัตว์หรือจะมีอะไรที่เลวร้ายไปกว่าสัตว์ก็เป็นได้ เพราะว่ามนุษย์นี้มีสติปัญญาคิดอะไรได้มากกว่าสัตว์ เมื่อถึงบทที่จะทำความชั่วความเลวแล้วก็จะต้องทำได้มากกว่าสัตว์เป็นธรรมดา เดี๋ยวนี้ได้อาศัยสติปัญญาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเราจึงมีการกระทำที่เป็นมนุษย์คือสัตว์ที่มีใจสูง มีใจสูงอยู่เหนือความชั่วและความทุกข์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราจึงเรียกตัวเองว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดนี้ก็เพราะอาศัยพระพุทธเจ้านั่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพียงบางอย่างในหลาย ๆ อย่างที่ยกมาเป็นเครื่องเตือนสติซึ่งกันและกันไว้ให้ระลึกนึกถึงในโอกาสแห่งวันเช่นวันนี้ และเราก็ควรจะได้พิจารณากันดูต่อไปถึงพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดที่พระองค์ได้ทรงประทานให้ และเราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ลุล่วงไป พระธรรมคำสอนมีอยู่อย่างไร เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรก็ได้วิสัชนากันแล้วทุกคราวที่มีการทำวิสาขบูชา เป็นต้น นับว่าได้บรรยายไปแล้วโดยปริยายใดปริยายหนึ่งมากมายหลายปริยายด้วยกัน ส่วนในวันนี้นี้จะได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่พุทธบริษัทจะต้องถือปฏิบัติตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาว่าจะกระทำได้โดยง่ายอย่างไร โดยอาศัยพระบาลีที่ได้ตรัสไว้โดยนัยยะ เป็นต้นว่า “มา อนุสสะเวนะ” เป็นต้น
ข้อนี้เราจะต้องพิจารณากันดูให้ดีโดยรอบ ๆ ตัว ว่าเราได้ทำผิดอะไรบ้าง เราได้ไปเสียเวลามากมายเกินไปในการกระทำอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ยังไม่เคยและก็ยังไม่ได้รับผลในพระพุทธศาสนาตามที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราไปทำผิดเสียบ้าง เราไปเสียเวลาในส่วนที่ไม่ควรจะทำเสียบ้าง จึงเกิดผลอย่างนี้ ไม่ได้ประสบผลทันตาเห็นในการที่จะดับทุกข์ของตน ของตน ถ้าเราพิจารณาดูอีกสักนิดหนึ่งก็จะพบว่าเราไปสนใจในส่วนที่เป็นข้อปลีกย่อยที่ไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนากันเสียเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราอยากจะเป็นนักปราชญ์มากกว่าที่จะอยากดับความทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว เพราะว่าเราเคยชินกับการที่จะมีหน้ามีตาว่าเป็นคนมีความรู้มากเป็นคนเก่งเป็นคนทำอะไรที่เก่ง ๆ หลาย ๆ อย่าง
เราก็ไปสนใจกันแต่ในเรื่องที่เขานิยมกันว่าจะทำให้เป็นคนเก่ง แล้วเราก็เลยไม่มีโอกาสไม่มีเวลาที่จะไปสนใจในเรื่องอันเกี่ยวกับความดับทุกข์นั้นโดยตรงมันจึงเสียเวลาไปมากเพราะเหตุนี้ เมื่อเราจะศึกษาพุทธศาสนา เราก็มีเรื่องราวเป็นอันมากที่จะต้องศึกษาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ละเรื่องยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรด้วยซ้ำไปก็ต้องทนศึกษาไปอย่างมากมาย จะต้องท่องจะต้องจำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็มีเรื่องที่ทำให้เข้าใจยากยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที ในที่สุดก็ไม่เข้าใจอะไรได้ นี่แหละมีอาการเหมือนกับคนบ้าหอบฟาง ไม่มีเมล็ดข้าวสักเม็ดเดียวอยู่ในฟางนั้นอย่างนี้ก็มีอยู่เป็นส่วนมาก ถ้ามองไม่ดีก็อาจจะไม่เห็น แต่ถ้ามองให้ดีแล้วก็อาจจะเห็น ในข้อที่เราทำอะไรได้มาก ๆ แต่มันก็ไม่มีความดับทุกข์รวมอยู่ในนั้น นี่ก็นับว่าเป็นความประมาทอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกันจึงต้องระวังให้ดี ๆ
ถ้าจะตั้งคำถามกันขึ้นว่าการที่จะศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนานี้จะต้องเรียนอะไรบ้าง เราก็ตอบกันอย่างนั้นอย่างนี้มีเรื่องที่จะต้องเรียนจะต้องปฏิบัติมากมายเหลือเกิน แต่แท้ที่จริงแล้วมันไม่ได้มีอะไรมากมายอย่างนั้น มันควรจะตั้งต้นกันด้วยเรื่องเพียงเรื่องเดียวว่าอย่าไปฟัง อย่าไปคิด อย่าไปนึกอะไรหมดเลย มาคิดมานึกแต่เรื่องที่ว่าเรามีความทุกข์หรือไม่ แล้วก็ดูว่ามันมีความทุกข์เพราะเหตุอะไรเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว เรื่องที่จะมีความทุกข์หรือไม่นั้นดูจะไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะว่ามันก็รู้สึกกันอยู่ชัด ๆ ว่ายังมีจิตใจที่เร่าร้อนกระวนกระวาย ส่วนข้อที่ว่าความทุกข์นั้นมาจากอะไรนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันสักหน่อยจึงจะเห็นได้ แต่แล้วก็ไม่ยากเย็นเกินไปในการที่จะพิจารณา ยิ่งได้รับคำสั่งสอนกันมามากมายถึงอย่างนี้แล้วมันก็ยิ่งเป็นการง่ายขึ้น คือว่าให้พิจารณาดูให้เห็นแต่เพียงว่าเมื่อใดมีความยึดมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราเมื่อนั้นก็มีความทุกข์ทันที เพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับที่จะรู้จะเข้าใจและจะปฏิบัติพระพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เราต้องไปท่องไปจำไปพูดไปจาเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นทุกที ยากยิ่งขึ้นทุกที เป็นปรมัตถ์เป็นอะไรที่สูงลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปทุกทีจนกลายเป็นบ้าหอบฟาง ท่วมหัว ท่วมหู ท่วมตัว มองไม่เห็นตัวก็ไม่มีข้าวสารอยู่ในนั้นสักเม็ดหนึ่ง ทีนี้ถ้าเราจะเอากันแต่เนื้อข้าวสาร เราก็ไม่ต้องไปดูอะไรนอกจากที่จะดูแต่เพียงว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากอะไร จนพบแล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น จิตใจก็จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปในทำนองที่จะหมดกิเลส มีกิเลสอันเบาบางไปตามลำดับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้เราจะต้องนึกถึงเหตุการณ์ที่ได้เป็นมาแล้วในครั้งพุทธกาลมันก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน คือว่าได้มีคนหมู่หนึ่งได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงข้อที่ว่าจะเชื่อใครดี เพราะว่าเดี๋ยวก็มีอาจารย์นั่นมาสอนว่าอย่างนี้เดี๋ยวก็มีอาจารย์โน้นมาสอนว่าอย่างโน้น เดี๋ยวก็มีอาจารย์อื่นมาสอนอย่างอื่นล้วนแต่สามารถที่จะสอนและล้วนแต่น่าฟัง น่าคิด น่านึกกันทั้งนั้น ในที่สุดก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตามใคร พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสูตรที่เราเรียกกันว่ากาลามสูตร แต่เป็นสูตรที่เราไม่ค่อยจะสนใจจึงได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ ในโอกาสเช่นนี้สักวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแก่คนเหล่านั้นโดยหัวข้อ ๑๐ หัวข้อด้วยกันว่า “มา อนุสสะเวนะ” ท่านอย่าได้เชื่อถือเอาด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นสิ่งที่บอกสอนสืบ ๆ กันมา “มา ปรัมปรายะ” ท่านอย่าได้เชื่อถือเอาโดยเหตุที่ว่าเป็นสิ่งที่ได้ทำตาม ๆ กันมานมนานแล้ว “มา อิติ กิรายะ” ท่านอย่าเชื่อถือเอาตามข่าวที่เล่าลือระบือกันไปอย่างใหญ่หลวง “มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ” ท่านอย่าได้เชื่อถือเอาด้วยการอ้างได้ว่านี้มันมีอยู่ในปิฎก ทั้ง ๔ อย่างนี้ ลองพิจารณาดูให้ดีว่ามันมีอยู่แก่ตัวเราอย่างไร
เราไปสนใจสิ่งที่บอกสอนสืบ ๆ กันมาเรื่องมันก็มีมากมายจนไม่ได้มาตั้งอกตั้งใจพิจารณาดูในข้อที่ว่า ความทุกข์นี้มันเกิดมาจากความที่เราโง่ ปล่อยให้ความคิดยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเราเป็นของเรา หรือว่าเราทำตามที่เขาเคยทำกันมาโดยไม่ต้องดูว่ามันจะเป็นการทำลายกิเลสตัณหาได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำตามสืบ ๆ กันมาแล้วก็ยังคงทำตามสืบ ๆ กันต่อไปเรื่องมันก็มีมากอีกเช่นเดียวกัน หรือว่าเราเป็นคนตื่นข่าวเล่าลือซึ่งเขาเล่าลือกันว่าทำอย่างนี้ดีทำอย่างนี้ดีอย่างนี้ถูก คนนี้เป็นคนรู้จริงมาโปรดแล้ว มีการตื่นข่าวเล่าลือกันอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาในภายในว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่าอะไร ๆ ก็อ้างตำรา มัวแต่เปิดตำราจนติดตำราจนหูตาลายไปหมดเพราะการอ่านการฟัง ไม่เคยคิดเลยว่าความทุกข์นี้มันเกิดมาจากความโง่ไปหลงยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นตัวกูของกู
นี้เป็น ๔ หัวข้อด้วยกันเป็นพวกแรกที่เกี่ยวกับการเชื่อคนอื่น ทีนี้ข้อต่อไป “มา ตักกะเหตุ” เธออย่าได้เชื่อถือเอาเพราะเหตุการคำนวณของตนเอง “มา นะยะเหตุ” เธออย่าได้เชื่อถือเอาเพราะเหตุการณ์คาดคะเนของตนเอง “มา อาการะปริวิตักเกนะ” เธออย่าได้เชื่อถือเอาเพราะการตรึกไปตามอาการนั้น ๓ หัวข้อนี้เรากระทำของเราเองอย่างแรกเรียกว่า “ตักกะเหตุ” คือ คำนวณไปตามวิธีคิดนึกหรือการใช้เหตุผลของเราเองแล้วก็เชื่อมั่น อย่างที่ ๒ เรียกว่า “นะยะเหตุ” เป็นการคาดคะเนด้วยสมมติฐานอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่ ๓ เรียกว่า “อาการะปริวิตักเกนะ” ตรึกไปตามอาการคือคำนวณคืบคลานออกไป ออกไป ออกไป จากอย่างนี้สู่อย่างนั้นจากอย่างนั้นสู่อย่างโน้นเรื่อยไปดังนี้ อาการ ๓ อย่างนี้ก็มีอยู่ในพวกเราเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ไกลออกไปจากความจริง คือเราไปไกลออกไปหาเปลือกหากระพี้ ไม่มุ่งเข้าไปสู่หัวใจอันเป็นเรื่องภายในโดยตรง อย่างนี้แหละยิ่งเรียนเท่าไร ยิ่งคิดเท่าไร ยิ่งคำนวนเท่าไร มันก็ยิ่งไกลออกไป และเพิ่มเรื่องให้มากขึ้นจนเวียนหัว นี้ก็เป็นพวกหนึ่งมีอยู่ ๓ หัวข้อด้วยกัน เป็นการกระทำของตนเอง
ทีนี้ก็มีอีกพวกหนึ่งมีอยู่ว่า “มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา” เธออย่าได้เชื่อถือเอาเพราะว่ามันถูกกับความคิดนึกของเราหรือความเชื่อเดิม ๆ ของเรา “มา ภัพพะรูปะตายะ” ท่านอย่าได้เชื่อถือเอาเพราะว่าผู้พูดนั้นอยู่ในฐานะที่ควรเชื่อได้ “มา สะมะโณ โนคะรูติ” ท่านอย่าได้เชื่อถือเอาเพราะเหตุว่าสมณนั้นเป็นครูของเรา นี่แหละลองพิจารณาดูเถิดว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ถึงอย่างนี้เพื่อให้เป็นคนฉลาดมากถึงอย่างนี้ เพื่อว่าอย่าได้ถือเอาอะไรผิด ๆ อีกต่อไปนั่นเอง ข้อที่ว่าอย่าเชื่อถือเอาเพราะเหตุว่ามันถูกกับนิสัยของเราหรือว่ามันถูกกับลัทธิของเรานี้ นี้หมายความว่าเราก็มีความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งของเราจนถือไว้เป็นลัทธิของเรา ถ้าสิ่งใดมันมาเข้ากันกับลัทธิของเรา เราก็ถือว่าถูกแล้วก็รับเอาและก็เชื่อถือดิ่งอยู่ในสิ่งนี้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องระวังให้มาก มันเป็นสิ่งที่ทำให้ปักหลักมั่นลงมั่นคงอยู่ในลัทธินั้น ๆ ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกได้ ซึ่งเราก็มีกันอยู่ประจำตัวด้วยกันทุกคน และข้อที่ว่าอย่าเชื่อถือเอาเพราะว่าผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ นี้จะต้องเข้าใจให้ดีว่าผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อนั้นเราไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อก็ได้ เราฟังดูว่าอย่างไรแล้วก็เอาไปคิดไปนึก ไปในทำนองที่จะให้เห็นว่ามันจริงอย่างที่ว่านั้นเสียก่อนแล้วจึงเชื่อก็ได้ และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นข้อสุดท้ายว่าอย่าได้เชื่อหรือถือเอาด้วยเหตุว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา นี้ก็รวมความถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งพระพุทธเจ้าเองด้วย
พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้สาวกของพระองค์เชื่อตนเองมากกว่าที่จะเชื่อผู้อื่น และคำว่าผู้อื่นนี้ก็หมายถึงทุกคนไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เองจึงได้ตรัสอย่างนี้ เกี่ยวกับข้อนี้เราอาจจะมองกันได้หลาย ๆ แง่หลาย ๆ มุมแต่ที่สำคัญที่สุดนั้นก็จะมองให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ผูกขาดท่านไม่ได้บังคับเราให้เชื่อ ท่านปล่อยให้มีความเป็นอิสระในการที่จะเชื่อ จึงได้สอนว่าแม้แต่ตถาคตพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อ จะต้องเอาไปพิจารณาให้เห็นตามที่เป็นจริงด้วยสติปัญญาของตนแล้วเชื่อตนเองพระสาวกบางพระองค์ เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ก็ได้ทูลพระพุทธเจ้าเข้ารูปเข้ารอยเป็นเกลียวกันไปทีเดียวว่าข้าพระองค์ก็ไม่ได้เชื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ เป็นต้น
ทีนี้เรามาพิจารณาดูหลักเกณฑ์ทั้งหมดนี้ว่ามันมีอยู่อย่างที่เกี่ยวข้องกับเราอย่างไรและมันทำให้เราไม่ก้าวหน้าไม่งอกงามเจริญในทางของพระธรรมหรือในพระศาสนา เพราะว่าความจริงที่จะต้องรู้และจะต้องปฏิบัตินั้นมันไม่มีมากมายอะไรจนถึงกับจะต้องไปเชื่อคนนั้นคนนี้ มันมีอยู่เพียงนิดเดียวข้อเดียวที่ว่าเราจะต้องเชื่อตัวเองและมองให้เห็นเอง โดยทำนองที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อใดเราเผลอไปเกิดความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกูของกูเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะเกิดความทุกข์ แต่เรื่องนี้เราไม่ต้องเชื่อใครเราก็รู้อยู่แก่ใจประจักษ์อยู่แก่ใจว่าเมื่อใดเกิดความคิดนึกไปในทางเป็นตัวกูของกูแล้วมันก็เกิดความโลภขึ้นมาบ้าง มันก็เกิดความโกรธขึ้นมาบ้าง มันก็เกิดความหลงขึ้นมาบ้างใน ๓ อย่างนี้ ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดีเกิดขึ้นในจิตใจแล้วเป็นของร้อน คือเป็นทุกข์ เป็นของร้อนเผาผลาญจิตใจให้เร่าร้อน อย่างที่เรียกกันว่าเป็นไฟทีเดียว เมื่อมันร้อนไหม้อยู่ในใจดังนี้แล้วจะต้องไปเชื่อใครอีกเล่าว่าความโลภเป็นของร้อน ความโกรธเป็นของร้อน หรือว่าความหลงเป็นของร้อน เรารู้ได้เองและเราเชื่อได้ด้วยตนเองไม่ต้องไปอ้างตำราว่าความโลภเป็นของร้อน ถ้ามัวไปอ้างตำราว่าความโลภเป็นของร้อนก็แปลว่าเรายังโง่จนไม่รู้ว่าความโลภนั้นเป็นของร้อนจริง ๆ
ทีนี้การที่จะไปเชื่อคนอื่นเขาพูดหรือว่าทำตามที่ทำตาม ๆ กันมา หรือตื่นข่าวเล่าลือนี้มันใช้อะไรไม่ได้ เพราะว่าเรื่องโดยแท้จริงนั้นมันต้องรู้ประจักษ์แก่ใจว่าความโลภเป็นของร้อน เป็นต้น ไม่ต้องอาศัยให้ใครบอกว่าความโลภเป็นของร้อน แม้เขาจะบอกว่าความโลภเป็นของร้อนมันก็ยังช่วยไม่ได้ จนกว่าเราจะรู้เองว่าความโลภเป็นของร้อน ดังนั้นเราก็ต้องควรจะหัดโลภให้มาก ๆ เสียดีกว่าแล้วมันจะได้ร้อนมาก ๆ แล้วก็จะได้ถอยหลังออกมาจากความโลภนั้นได้โดยเร็ว เรื่องความโลภเป็นของร้อน ความโกรธเป็นของร้อน ความหลงเป็นของร้อนนี้ ไม่ต้องคำนึงไม่ต้องคำนวณ ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องตรึกไปตามอาการเหตุผลนั่นนี่อีกแล้ว มันอยู่เหนือเหตุผล มันยิ่งกว่าเหตุผล พิสูจน์กันได้ว่าลองโลภเข้าดูก็แล้วกันมันจะเป็นของร้อนอย่างไร เกิดความโลภขึ้นเมื่อใดมันก็มีความร้อนเมื่อนั้น เมื่อเราประพฤติปฏิบัติในการที่จะพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์อยู่ดังนี้แล้ว มันก็ไม่ต้องไปไกลที่ไหน พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าความโลภเป็นของร้อนเราก็รับฟังเอามาสำหรับสังเกตสำหรับศึกษาดูจากข้างในว่าความโลภเป็นของร้อน เมื่อปรากฎว่ามันเป็นของร้อนจริงเราก็เชื่อตัวเราเองมากกว่าที่จะเชื่อพระพุทธเจ้า แต่อาศัยการที่เรามีความเชื่ออันอ่อนโยนในพระพุทธเจ้ามาแต่กาลก่อน เราจึงอยากที่จะพูดว่าเราเชื่อพระพุทธเจ้า แต่ที่แท้นั้นมันเป็นการเชื่อตัวเองเพราะมันเป็นการประจักษ์แก่ใจเอง
นี่แหละขอให้พิจารณาดูให้ดีว่าอะไร ๆ ทั้งหมดนี้เราโกยทิ้งไปเสียให้หมดก็ได้ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาทำให้เสียเวลา พยายามตั้งหน้าแต่ที่จะศึกษาให้เข้าใจ ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงแก่ใจว่าความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเราเป็นของเราทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่เสมอ เรารู้แต่เพียงเท่านี้มันก็เป็นการเพียงพอแล้ว ที่จะรับประกันได้ว่าจะมีแต่ความก้าวหน้าไปในทางของพระศาสนา คือจะเกลียด กลัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง มากขึ้นทุกทีจะขยะแขยงจนถึงกับไม่ให้มันมามีขึ้นในใจของเรา มันเป็นของสกปรกเสียยิ่งกว่าของสกปรกใด ๆ มันเป็นของเร่าร้อนเผาผลาญเสียยิ่งกว่าของเร่าร้อนใด ๆ มันเป็นความทุกข์ทนทรมานเสียยิ่งกว่าความทุกข์ทนทรมานใด ๆ อุตส่าห์พิจารณาดูอยู่อย่างนี้ทุกวันทุกคืนเถิด ก็จะเป็นการก้าวหน้าในพระศาสนา ไม่เป็นบ้าหอบฟางอีกต่อไป
เดี๋ยวนี้เราก็มีการพูดกันมาก มีการเทศน์กันมาก มีการแจกหนังสือธรรมะกันมาก ระวังให้ดี ๆ อย่าให้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องทำให้เสียเวลา ถ้าจะฟังเทศน์อะไรสักกัณฑ์หนึ่งก็ดี ถ้าจะอ่านหนังสืออะไรสักเล่มหนึ่งก็ดี จงอ่านเพื่อจับใจความให้ได้ว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวตนเป็นของ ๆ ตน แล้วก็ไม่ต้องเชื่อใครอื่น ถ้ายังเชื่อบุคคลอื่นอยู่แล้วก็พึงรู้เถิดว่าเรายังไม่เห็นธรรม ถ้ามีการเห็นธรรมเมื่อไรเราก็เชื่อตนเองเมื่อนั้น ถ้ายังต้องฝากความเชื่อไว้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นเช่น พระคัมภีร์ เป็นต้น หรือฝากไว้กับการคำนึงคำนวณคาดคะเนตรึกไปตามอาการ เป็นต้น หรือว่าจะฝากไว้กับคำของครูบาอาจารย์อย่างนี้แล้วมันก็ยังใช้ไม่ได้ จะต้องรีบเลื่อนชั้นขึ้นไป เลื่อนชั้นขึ้นไป หรือ เลื่อนขึ้นไปจนถึงกับเชื่อตัวเอง มองเห็นด้วยตนเองและเชื่อตัวเองดังนี้มันจึงจะใช้ได้
การที่อุตสาห์พรรณามาเสียอย่างยืดยาวนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นในข้อที่ว่าเรื่องความดับทุกข์ในพระศาสนานั้นมันไม่มากมันเป็นเรื่องเดียว และมันไม่ยากก็เพราะว่ามันมองเห็นได้ด้วยตน เดี๋ยวนี้มันไปทำให้ผิดเสียเอง ไปสนใจเรื่องสนุกสนานมาก ๆ แล้วก็ไม่มองให้ลึกซึ้ง ให้ถูกกับเรื่อง มันจึงกลายเป็นของยาก ของที่ง่ายกลายเป็นของยากขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ของเรื่องเดียวก็กลายเป็นของมากเรื่องขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ ขอให้ระลึกนึกถึงข้อนี้ให้มากแล้วก็มีความละอายแก่ตนเอง มีความสลดสังเวชแก่ตนเองว่าเรามีอายุล่วงมาปีหนึ่ง ปีหนึ่ง ปีหนึ่งก็ทำวิสาขะทีหนึ่ง ล่วงมากี่ปีแล้ว ทำวิสาขะกันกี่ครั้ง หรือ กี่สิบครั้งแล้ว ความก้าวหน้าในเรื่องนี้มันมีอยู่อย่างไรบ้าง ถ้ามันไม่มีการก้าวหน้า มันยังซ้ำ ๆ ซาก ๆ กันอยู่ทุกปีแล้วมันก็ควรจะละอายแก่ใจ ควรจะมีความกลัวว่าชีวิตนี้จะเป็นหมันเสียแล้วเป็นแน่นอน แล้วก็มาตั้งหน้าตั้งตาชำระสะสางกันใหม่ การที่จะตั้งหน้าตั้งตาชำระสะสางนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทำตามคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าจงพิจารณาให้เห็นด้วยตนเองในเรื่องความทุกข์ ในเรื่องให้เกิดทุกข์ โดยไม่ต้องเชื่อบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ให้มันคงมีเพียงเรื่องเดียวและอยู่ในวิสัยที่จะเข้าใจได้ไม่ยากเย็นเกินวิสัย
ทีนี้ก็จะได้พูดกันต่อไปถึงเรื่องการปฏิบัติ เราเป็นคนเหลวไหลในการปฏิบัติ นี่ก็มันเป็นผลตามมาจากการที่เราเข้าไม่ถึงพระพุทธศาสนามัวแต่เป็นบ้าหอบฟางอยู่นั่นเอง ไม่เข้าถึงใจความสำคัญที่ว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นจึงได้ขยันที่จะยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นสิ่งนี้สิ่งโน้นไม่มีที่สิ้นสุดล้วนแต่เป็นการประพฤติเป็นไปเพื่อความทุกข์เป็นไปเพื่อเพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้นนั่นเอง ถ้าเราอยากจะสอบสวนตัวเราเองดูบ้างเราก็ต้องอาศัยหลักที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อีกสูตรหนึ่งเรียกว่าโคตมีสูตร พระพุทธวจนะข้อ เอ่อ, สูตรนี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติสำหรับตัดสินว่าที่ทำอยู่นั้นผิดหรือถูก เราจงขยันสอบสวนดูว่าที่เราทำอยู่นั้นผิดหรือถูก ถ้าเราไม่ขยันสอบสวนดูเราอาจจะเผลอไปเป็นคนประมาทเมื่อไรก็ได้ เพราะเหตุฉะนี้แหละจำเป็นที่จะต้องสนใจในคำสอนสูตรนี้ มีหัวข้ออยู่เป็น ๘ หัวข้อด้วยกัน สำหรับตัดสินว่าอะไรเป็นของผิดอะไรเป็นของถูก อะไรพระศาสดาได้สอนไว้ และอะไรพระศาสดาไม่ได้สอน หัวข้อ ๘ ข้อนี้ ข้อที่ ๑ มีว่าถ้าการประพฤติกระทำใด ๆ เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจแล้วความประพฤติหรือการกระทำนั้น ๆ ผิด ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา
สิ่งที่เรียกว่าความกำหนัดย้อมใจนั้นก็คือความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เมื่อใดมีความยึดมั่นถือมั่นแล้วความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละคือสิ่งกำหนัดย้อมใจเพิ่มให้ยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้นไป มากยิ่งขึ้นไป จนเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นรอบด้าน นี้เรียกว่าเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจเป็นของผิดพระพุทธเจ้าท่านไม่สอน ข้อที่ ๒ เรียกว่าการประพฤติกระทำสิ่งใดเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอน เดี๋ยวนี้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวจึงได้ไปทำในสิ่งที่เป็นความทุกข์ความลำบากอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ คำพูดที่ว่าแส่ไปหาความลำบากก็ดี ว่าแส่ไปหาความทุกข์ก็ดีนี้มันไม่น่าจะมีขึ้นมาได้ แต่แล้วมันก็มีอยู่ทั่ว ๆ ไปลองสำรวจดูตัวเองให้มากว่าบางคราวมันไม่ควรจะลำบาก มันไม่ควรจะเป็นทุกข์เราก็แส่ไปหามันจนมีความลำบากหรือมีความเป็นทุกข์ขึ้นมาได้ โดยส่วนใหญ่แล้วก็คือไปกระทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ สิ่งนั้นไม่จำเป็นจะต้องทำเราก็ไปทำจนได้ เห็นได้ง่าย ๆ ในโลกนี้ ในเวลานี้เขากระทำสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำหรือไปทำแล้วมันลำบากมากเกินกว่าที่ควรทำหรือความจำเป็น ยกตัวอย่างเรื่องใหญ่โตมโหฬารสด ๆ ร้อน ๆ เช่นว่า เรื่องไปโลกพระจันทร์อย่างนี้มันมีความลำบากมาก มันมีความทุกข์มาก มันมีความหมดเปลืองมาก แต่แล้วเราก็ แล้วมนุษย์ก็ชอบทำ ตั้งใจจะทำและเราก็พลอยเห็นเป็นเรื่องดีไปด้วยกับเขา
ถ้าพิจารณาให้เห็นกันให้ลึกซึ้งแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องแส่ไปหาความลำบาก สิ่งอื่นที่น่าทำยิ่งกว่านี้มีอยู่เป็นอันมากแล้วทำไมไม่ทำ ไปทำสิ่งที่มันมีความทุกข์ความลำบากเกิดขึ้นโดยเสียเวลาเปล่า ๆ เสียเงินเปล่า ๆ ไม่มีผลคุ้มค่ากัน ทำไมไม่เอาเงินนั้น เอาเวลาเหล่านั้นมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการที่จะดับความทุกข์ ในโลกนี้ยังมีคนที่กำลังเป็นทุกข์อยู่เป็นอันมาก ทำไมไม่ช่วยให้คนเหล่านั้นให้พ้นจากความทุกข์ ไปมัวสร้างสิ่งที่จะทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากมากขึ้นเป็นความทุกข์แก่คนทุกคนมากขึ้น นี้เรียกว่าทำสิ่งที่ประกอบทุกข์ เพิ่มความลำบากให้มากขึ้นเรียกว่าเป็นของผิด พระศาสดาไม่ได้สอน แม้ที่สุดแต่ว่าเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องตายแล้วก็ควรจะยอมให้มันตาย อย่าไปยุ่งยากลำบากฝืนความตายจนไม่ได้ จนไม่มีสติสัมปชัญญะ ตายไปอย่างคนไม่มีสติ มันก็อยู่ในจำพวกที่ว่าทำในแง่ ในส่วนที่ไม่ควรทำ ทำให้ลำบากไปเปล่า ๆ สมัยนี้ยิ่งเป็นกันมาก ดิ้นรนต่อสู้เพื่อไม่ให้ตายมันก็ต้องตายอยู่ดี มีแต่ทำให้ลำบากมากขึ้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนอย่างนี้ ท่านสอนว่าเมื่อมันถึงคราวที่ควรจะตายก็ให้มันตายไปโดยไม่ต้องหมดเปลืองอะไร พระพุทธเจ้าเองก็ทรงปลงอายุสังขารคือตั้งพระทัยที่จะปรินิพพาน ในเมื่อเห็นว่าสังขารนี้มันควรจะปรินิพพานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้คนสมัยนี้ไม่ยอมไม่เชื่ออย่างนั้นต้องการจะดิ้นรนต่อสู้ไปจนกระทั่งว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่จะรักษาไม่หายแล้วก็ยังดิ้นรนที่จะรักษา แม้อย่างนี้ก็ต้องนับรวมเข้าไว้ในข้อนี้ว่ากระทำสิ่งที่เป็นไปเพื่อความทุกข์เพื่อความลำบากโดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำ
ข้อที่ ๓ มีว่าความคิดหรือการกระทำใด ๆ เป็นไปเพื่อการสะสมกิเลสนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา ข้อนี้หมายความว่ามันเป็นการเพิ่มกิเลสให้มากขึ้นไม่เป็นการลดกิเลสแต่ประการใด เช่นว่าจะเป็นคนดื้อกระด้างถือมานะทิฐิ อย่างนี้มันก็เป็นการเพิ่มกิเลสไม่เป็นการลดกิเลส หรือว่าเราจะหามากิน หามาใช้ หามาบำรุงบำเรออย่างนั้นอย่างนี้มันก็เป็นการเพิ่มกิเลสไม่เป็นการลดกิเลส การกระทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นการกระทำที่ผิด ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา ทีนี้ข้อต่อไปว่าเป็นไปเพราะความอยากใหญ่ ความคิดหรือการกระทำที่เป็นไปเพราะความอยากใหญ่นั้นเป็นของผิด ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา คำว่าอยากใหญ่ในที่นี้หมายถึงอยากเกินกว่าที่มนุษย์ควรจะอยาก แต่ก็น่าเห็นใจที่ว่าสิ่งที่เรียกว่าความอยากนี้มันมีลักษณะอย่างนี้เอง ความอยากของคนเรานั้นมันก็ใหญ่ ๆๆ ออกไปเกินกว่าที่ควรจะอยากเสมอ จึงต้องรู้ความจริงข้อนี้ไว้ว่าการปล่อยให้มันอยากไม่มีที่สิ้นสุดนั้นมันเป็นการกระทำที่ผิด พระศาสดาไม่ได้สอน คนเราไม่จำเป็นจะต้องทะเยอทะยานให้มากไปกว่าความจำเป็นหรือความถูกต้อง จงมีแต่ความปรารถนาที่ถูกต้อง อย่ามีความอยากความทะเยอทะยานด้วยกิเลสตัณหาเลย ความอยากใหญ่นั้นมันเป็นความอยากของกิเลสตัณหา แต่การจะไปนิพพานนั้นมันเป็นความต้องการของสติปัญญา
สิ่งที่เราอยากหรือความอยากของเรามันก็มีอยู่เป็น ๒ ประเภทคืออยากด้วยกิเลสตัณหาก็เป็นการหาเหยื่อให้แก่กิเลส ถ้าต้องการด้วยสติปัญญาก็หมายความว่าต้องการจะฆ่ากิเลสนั้นเสียต้องการจะนิพพาน การต้องการจะนิพพานนี้ไม่ได้เรียกว่าอยากใหญ่แม้ว่านิพพานนั้นจะเป็นของสูงจนเรียกกันว่าสูงสุดเอื้อม แต่การอยากไปนิพพานนั้นก็ยังไม่ใช่อยากใหญ่ในที่นี้ มันเป็นการอยากที่ถูกต้องมันเป็นการอยากที่ควรจะอยาก ขอให้ทุกคนอย่าได้หลงเข้าใจผิดไปเลยว่าการอยากไปนิพพานนั้นเป็นการอยากใหญ่หรือเหนือวิสัย แต่ให้มองเห็นตามที่เป็นจริงว่าการอยากที่จะเป็นทาสของกิเลสให้มากขึ้นไปนั่นแหละคือการอยากใหญ่ จะต้องหามาอย่างนั้น จะต้องหามาอย่างนี้ จะต้องประดับประดาอย่างนั้น จะต้องประดับประดาอย่างนี้ต่าง ๆ นานาสารพัดอย่างจนนำมากล่าวไม่หวาดไม่ไหวนี้กระทำไปด้วยกิเลสตัณหาเรียกว่าความอยากใหญ่เป็นของผิด พระศาสดาไม่ได้สอน
ทีนี้ข้อต่อไปก็คือความไม่สันโดษ ความไม่สันโดษก็คือความหิวกินไม่รู้จักอิ่ม ความไม่สันโดษคือความหิวกินไม่รู้จักอิ่ม ได้มาไม่รู้จักพอมีอาการเป็นเปรต คือหิวอยู่เรื่อย สัตว์ที่เรียกว่าเปรตนั้นมีความอยากเกินประมาณจนพูดโดยอุปมาว่ามีปากเท่ารูเข็ม มีท้องเท่าภูเขา เพราะปากเท่ารูเข็มมันจึงกินให้เต็มท้องเท่าภูเขาไม่ได้ทันใจ มันก็หิวเหมือนจะขาดใจอยู่เรื่อยนี่เป็นอาการของเปรต บุคคลใดก็ตามเมื่อไม่มีความสันโดษแล้วมันก็จะหิวอยู่เรื่อย บุคคลใดก็ตามถ้ามีความสันโดษแล้วมันจะอิ่มอยู่เรื่อยข้อนี้ไม่ต้องพูดถึงคนมั่งมีหรือคนอยากจน มันพูดกันถึงแต่เรื่องว่ามันหิวอยู่เรื่อยหรือไม่หิวอยู่เรื่อย ถ้าเป็นคนมั่งมีหิวอยู่เรื่อยมันก็เป็นคนยากจนหรือเป็นเปรตชนิดหนึ่งอยู่นั่นเอง แม้จะเป็นคนจนถ้ามีจิตใจสงบหรืออิ่มอยู่เรื่อยมันก็เป็นคนร่ำรวยและไม่เป็นเปรต ขอให้ทุกคนระวังให้ดี ๆ ว่าความสันโดษหรือความไม่สันโดษนี้เป็นเรื่องสำคัญ ความไม่สันโดษนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นของผิดและท่านไม่สั่งสอน ท่านสั่งสอนให้มีความสันโดษซึ่งเป็นของถูก
ความสันโดษนี้มีคนเข้าใจผิดกันอยู่เป็นอันมาก คือเขาเข้าใจผิดไปเสียว่าถ้าสันโดษแล้วคนเราก็จะไม่ทำอะไร คนเราก็ไม่อยากก้าวหน้าไม่อยากรวยนั้นเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงนั้นมันมีอยู่ว่าถ้าได้อะไรมาเท่าไรก็ควรจะอิ่มใจด้วยสิ่งนั้นเพื่อให้มันหยุดหิว เพื่อให้มีความชุ่มชื่นในจิตในใจกันเสียบ้างแล้วจะได้นอนหลับสนิทดี จะไม่มีความทุกข์ทั้งทางกายและทางจิตแต่ถ้าเกิดไม่มีความสันโดษเสียเลยแล้วมันก็หิวอยู่เรื่อยมันก็นอนไม่หลับ มันก็จะต้องเป็นบ้าตายสักวันหนึ่งเป็นแน่นอน จะยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่าพวกเราจน ๆ จะต้องทำไร่ทำนาจะต้องขุดดิน ในการขุดดินในนานั้นถ้ามันมีความสันโดษแล้วมันก็จะอิ่มใจทุกคราวทุกครั้งที่ขุดดินหรือฟันดิน แต่ถ้าไม่มีความสันโดษแล้วมันจะร้อนใจเหมือนตกนรกทั้งเป็นทุกคราวที่ขุดดินหรือฟันดินลงไปทีหนึ่ง ถ้ามันรู้สึกว่ามันยังอีกมามันยังอีกนานกว่าจะเสร็จ กว่าจะได้ปลูกข้าว กว่าจะได้เกี่ยวข้าว เหล่านี้มันยังอีกนาน ถ้าคิดอย่างนี้มันก็เกิดความเดือดพล่านเร่าร้อนขึ้นในใจ มีอาการเหมือนกับเป็นเปรต
เดี๋ยวนี้เราเคยทำกันมาอย่างถูกต้องแล้ว เราไม่มีจิตใจเร่าร้อนถึงขนาดนั้น และมีความตั้งใจว่าทำให้ถูกให้ต้องลงไปอย่างไรแล้วก็เป็นการเพียงพอแล้ว เราจึงไม่มีอาการที่เรียกว่าเหมือนกับเป็นเปรตอยู่ตลอดเวลาที่ขุดนา เรามีความพอใจถึงกับร้องเพลงได้อยู่ในปาก ร้องเพลงพลางขุดนาพลางอย่างนี้ก็ยังทำได้ นี่แหละคือผลของการที่รู้จักทำจิตใจให้สันโดษมีความอิ่มได้ในทุกขณะที่มีการกระทำ ขุดนาลงไปทีหนึ่งก็มีความอิ่มใจทีหนึ่งว่าความสำเร็จมันได้ก้าวไปครั้งหนึ่ง ขุดนาอีกกี่ทีก็มีความอิ่มใจเท่านั้นที มันจึงมีมีจิตใจสบายและร่างกายสบายไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่เป็นโรควิกลจริตเหมือนคนสมัยนี้ส่วนมากซึ่งไม่สันโดษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองหลวงซึ่งไม่มีความสันโดษจึงได้เป็นโรคเส้นประสาทมาก เป็นโรควิกลจริตมาก ควรจะถือเป็นหลักไว้สำหรับละอายแก่ใจว่าความไม่สันโดษนั้นเป็นเปรต ทำบุคคลนั้นให้เป็นเปรตอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
ข้อถัดไปเรียกว่าการคิดหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะแล้วนั้นเป็นของผิดพระศาสดาไม่ได้สอน ความคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะนี้มันมีความหมายเฉพาะอยู่บางอย่าง เช่นว่าต้องการจะคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะเพื่อความสนุกสนานเหมือนที่เห็น ๆ กันอยู่โดยมากจนเคยชินเป็นนิสัยไม่อยากจะปลีกตัวออกไปสู่ความสงบและพินิจพิจารณาธรรมอยู่อย่างลึกซึ้งและแยบคาย คนเดี๋ยวนี้อยากจะเข้าไปสู่วงสมาคมที่มีความโกลาหลวุ่นวายไม่อยากจะออกมาอยู่ในที่สงบสงัด จะเห็นได้ง่าย ๆ ว่าตรงไหนมันอยู่กันมากก็ยิ่งจะเข้าไปอยู่กันตรงนั้น อยู่ในทุ่งนาในป่ามันสบายไม่ชอบก็อยากจะไปอยู่ที่ตลาดไปอัดแอกันอยู่ให้มาก ตลาดน้อย ๆ ก็ไม่ชอบชอบตลาดใหญ่ ๆ ตลาดใหญ่ไม่มากก็ไม่ชอบ ชอบที่มันใหญ่ ๆ มาก ๆ จึงได้แห่กันไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือเมืองที่ใหญ่ไปกว่ากรุงเทพฯ แล้วลองคิดดูเถิดว่าปัญหามันจะเกิดขึ้นอย่างไร มันจะมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมายสมกับที่มันอยู่กันมาก ๆ มีปัญหาเกิดขึ้นเท่าไรมันก็มีความทุกข์เท่านั้น ถ้าอย่าอยู่กันมาก ๆ อย่างนั้นความทุกข์ก็ยังจะเบาบางไปมากกว่านี้
เราอยู่กันอย่างแบบโบราณอยู่กันเป็นบ้านน้อย ๆ ในบ้านนอกคอกนา ก็เห็นได้ว่ามีความสุขสบาย พอมาแออัดกันอยู่ในที่ที่แข่งขันแย่งชิงกันหาประโยชน์แล้วมันก็มีโอกาสที่จะเดือดร้อนระส่ำระสายหรือโกลาหลวุ่นวายมีความวิตกกังวล มีความหวาดหวั่นระแวงมากขึ้น เดี๋ยวนี้เราก็เห็นได้ชัดอยู่อย่างเป็นประจักษ์พยานแล้วว่าที่อยู่กันมาก ๆ ในเมืองในนครนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่งดงามไม่น่าดู สิ่งที่เป็นทุจริตไม่งดงามไม่น่าดูไปรวมออกันอยู่ที่นั่น จนเรียกได้ว่าเป็นดงแห่งความสกปรกมืดมัวเศร้าหมองและเร่าร้อน พระพุทธเจ้าท่านเห็นประโยชน์อย่างนี้จึงได้ทรงสั่งสอนการไม่คลุกคลีกันเป็นหมู่ พยายามที่จะอยู่กันอย่างสงบสงัดเพื่ออย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้โดยง่ายนั่นเอง เพื่ออย่าให้ปัญหาต่าง ๆ นานาสารพัดอย่างระดมกันเข้ามานั่นเองขอให้คิดถึงข้อนี้ไว้เป็นหลักด้วยว่าจะเลือกที่อยู่หรือที่ดำรงอยู่ในโลกนี้ในลักษณะอย่างไร ถึงจะเป็นการถูกต้องตามธรรมตามวินัยตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
ข้อต่อไปนั้นมีว่าการคิดหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้านแล้วนั้นไม่ถูก นั่นพระศาสดาไม่ได้สอน คำว่าเกียจคร้านในที่นี้แทบจะไม่ต้องอธิบายอะไรเพราะว่าใคร ๆ ก็รู้จักความเกียจคร้าน เพราะว่าความเกียจคร้านนั้นมาจากความเห็นแก่ตัวดังนั้นมันจึงเป็นของผิด คนเห็นแก่ตัวจึงได้เกียจคร้าน เกียจคร้านจนกระทั่งเอาเปรียบตัวเองนอนอดอยากอยู่ก็เพราะเห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้ง มันไม่อยากทำอะไร มันไม่อยากจะเหน็ดจะเหนื่อย มันก็ไม่ทำการงาน แม้จะต้องอดตายยังสมัครที่จะอดตาย นี้เป็นความเห็นแก่ตัวที่ลึกซึ้งมาก เดี๋ยวนี้มนุษย์ชักจะขี้เกียจทำการงานกันมากขึ้นและอ้างว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าเสียด้วยซ้ำไป ข้อที่พูดว่ามนุษย์สมัยนี้เกียจคร้านทำการงานกันมากขึ้นนั้น หมายความว่าเขาพยายามจะสร้างเครื่องมือเครื่องใช้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา อย่าให้มนุษย์ต้องทำการงาน นี่แหละพิจารณาดูให้ดี ๆ อย่าให้กลายเป็นคนเขลา คนโง่ คนงมงายเห็นงูเป็นปลาขึ้นมาได้ สิ่งที่เป็นความเจริญที่เรียกกันว่าความเจริญชนิดที่ทำให้มนุษย์ไม่ต้องทำการงานนั่นแหละระวังให้ดี ต่อไปข้างหน้าจะลำบาก อย่างที่เรียกว่าเป็นปัญหายุ่งยากแก้ไขไม่ได้ก็ได้ เดี๋ยวนี้มนุษย์มีเครื่องทุ่นแรง เช่น รถทำงานวันหนึ่งได้มาก ๆ เท่ากับคนตั้งร้อยตั้งพัน แล้วคนก็ไม่ต้องทำงานใช้เครื่องจักรนั้นให้ทำงานแล้วก็ว่าดี นี้ถ้าดูเผิน ๆ มันก็ดี แต่แล้วอย่าลืมว่ามันทำให้คนขี้เกียจ แต่แล้วก็อย่าลืมว่าถ้ามันมีเครื่องทุ่นแรงมาช่วยเสียอย่างไม่สมดุลกันกับธรรมชาติแล้วความยุ่งยากลำบากจะต้องเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว คนจะมีการเอาเปรียบแก่กันและกันมากขึ้นกว่าเดิม ความยุ่งยากลำบากจะเกิดขึ้นแก่คนจนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าเป็นการได้เปรียบฝ่ายคนมั่งมีดังนี้เป็นต้น
เครื่องมือเครื่องทุ่นแรงนี้ดูให้ดี ๆ เถิดจะทำความยุ่งยากลำบากให้แก่มนุษย์ในอนาคตเป็นอย่างมากทีเดียว มันมีอยู่มากมายหลายสถาน หลายอย่าง หลายประการ หลายแง่หลายมุมในการที่ทำอะไรให้มันผิดไปจากธรรมชาติมาก ๆ และรวดเร็วนั้นมันจะต้องเกิดความยุ่งยากลำบากขึ้นโดยไม่ต้องสงสัย เช่นว่า เราจะมีเครื่องมือเครื่องใช้ มีคมนาคมที่ดี เราก็เรียกว่าสะดวกสบาย แต่ถ้ามองดูให้ดีแล้วมันมีความยุ่งยากลำบากซับซ้อนอย่างอื่นตามมาด้วยเป็นธรรมดา มันทำให้เกิดความคิดความนึกที่ไม่สมดุล เกิดความอยากที่มากเกินไป เกิดความขวนขวายที่ไม่จำเป็นจะต้องขวนขวาย เป็นเหตุให้คนต้องวิ่งไปวิ่งมาอย่างที่เรียกว่าก้นไม่ติดเรือนไม่ติดกระดานเพราะมันมีเรื่องยั่วให้ทำ เมื่อทุกคนสาละวนจะทำเหมือน ๆ กันเช่นนั้นมันก็กลายเป็นการแข่งขันแย่งชิง เมื่อมีการแข่งขันแย่งชิงแล้วย่อมหาความสงบไม่ได้ จะต้องมีการได้เปรียบเสียเปรียบ คนหนึ่งจะหัวเราะได้แต่คนหนึ่งจะต้องเสียน้ำตา นี่แหละเรียกว่าความเจริญก้าวหน้านั้นมันไม่เป็นคุณโดยส่วนเดียวเสมอไปมันจะต้องเป็นโทษเท่า ๆ กันกับที่มันเป็นคุณ ถ้าว่าได้ทำไปจนเสียความสมดุลของธรรมชาติ
นี้ยกตัวอย่างมาอย่างนี้ไม่ใช่จะเป็นการติเตียนความก้าวหน้าของคนสมัยใหม่ แต่เป็นการบอกให้ทราบว่ามันกำลังจะยุ่งยากมากขึ้นทุกที ถ้าเราทำเครื่องทุ่นแรงขึ้นมาใช้มากขึ้นเท่าไรคนก็จะขี้เกียจและเห็นแก่ตัวมากขึ้นเท่านั้น ต่อไปจะเคลื่อนไหวอะไรสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้จะใช้เครื่องจักรทำแทนเสียให้หมด มันก็มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นไปกว่าเดิมมันก็จะมีกิเลสมากขึ้นไปกว่าเดิม ปัญหาเพราะมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าเดิมนั่นแหละจะทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากในโลกนี้มากขึ้น ดังนั้นเราหัดเป็นคนขยันทำงานด้วยเรี่ยวด้วยแรงให้มาก อยู่ตามธรรมดาตามธรรมชาติเถิดจะป้องกันความทุกข์ความลำบากอันเกิดจากข้อนี้ได้เป็นแน่นอน เพราะเหตุเช่นนี้แหละพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนให้ขยันขันแข็งอย่าได้มีความขี้เกียจเลย แม้ว่าอายุจะล่วงวัย ล่วงกาลผ่านวัยมาถึงกับเป็นคนแก่เป็นคนชราแล้วมันก็ยังมีสิ่งที่เหมาะสมสำหรับจะให้ทำ ก็จงเป็นคนขยันขันแข็งเถิดอย่าเป็นคนขี้เกียจเลย สิ่งที่เรียกว่าความพักผ่อนนั้นมันก็มีอยู่และควรกระทำ แต่มันไม่ได้หมายความว่าเป็นความขี้เกียจ การพักผ่อนนั้นมันจำเป็นสำหรับคนแก่คนชราหรือคนเจ็บคนไข้ แต่แล้วมันก็ยังมีเวลามีเรี่ยวแรงเหลืออยู่สำหรับจะทำอะไรไปตามประสาคนแก่คนชรา นี้เรียกว่าเราจะใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์นับตั้งแต่เกิดมาจนถึงวาระสุดท้ายไม่มีการขี้เกียจ
ทีนี้ข้อต่อไปหรือข้อสุดท้ายนั้นความคิดหรือการกระทำใด ๆ เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยากแล้วนั้นไม่เป็นของถูกต้อง นั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา สำหรับคำว่าเลี้ยงยากนี้หมายความว่าเป็นคนพิถีพิถันในการที่จะกิน ในการที่จะอยู่ ในการที่จะนุ่ง ในการที่จะห่มหรืออะไรก็ตาม เป็นคนจู้จี้พิถีพิถันเกินกว่าเหตุเรียกว่าเป็นคนเลี้ยงยาก การที่เป็นคนเลี้ยงอยากนี้มันมาจากความเห็นแก่ตัว อันเป็นความต้องการของกิเลสที่จะเอานั่นเอานี่จู้จี้พิถีพิถัน กิเลสนี้ก็คือกิเลสแห่งความเห็นแก่ตัว มันโลภจะให้ได้มาก ๆ มากินมาก มากินดี มากินเอร็ดอร่อย เมื่อไม่ได้อย่างใจมันก็โกรธก็แค้นเป็นไฟเป็นฟืนขึ้นมาหรือว่ามันก็มีความลุ่มหลงโง่เง่าอยู่อย่างนี้ตลอดไป ความเลี้ยงยากจึงเป็นเหตุพอกพูนความโลภความโกรธความหลงด้วยเหมือนกัน ให้พิจารณาดูให้ดี ๆ แล้วกลายเป็นคนเลี้ยงง่ายเถิด จะเป็นการบรรเทาความเห็นแก่ตัวลงไปได้โดยแน่นอน
นี่ขอให้พิจารณาดูให้ดีตั้งแต่ต้นจนปลายว่าคำสั่งสอนทั้งหมดนี้สั่งสอนเพื่อให้ทำลายความเห็นแก่ตัว สั่งสอนให้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในการเห็นแก่ตัวด้วยกันทุกข้อ ที่ได้แยกเป็นข้อ ๆ มากข้อนี้มันไม่ได้มากไปคนละอย่างคนละทาง แต่มันมากไปในทางที่จะร่วมกันไปเป็นจุด ๆ เดียวว่าจะเป็นเครื่องช่วยทำลายความเห็นแก่ตัว การปฏิบัติของเราจึงรวมอยู่ที่การทำลายความเห็นแก่ตัว อย่าปล่อยให้เกิดความเห็นแก่ตัว อย่าปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวเจริญงอกงามก้าวหน้า จงบรรเทาความเห็นแก่ตัวด้วยการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพิจารณาให้เห็นโทษของความเห็นแก่ตัวนี้อยู่เสมอไป เมื่อเห็นโทษของความเห็นแก่ตัวแล้วมันก็จะบรรเทาความเห็นแก่ตัว คือ จะมีตัวกูมีของกูที่เบาบางลงไปตามลำดับ การปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องและครบถ้วนทั้งหมดทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนา คือว่าจะเป็นการทำลายถ่ายถอนความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในตัวให้ค่อย ๆ หมดไปและก็ไม่มีอะไรที่จะต้องรู้ จะต้องเรียน จะต้องปฏิบัติอีก เมื่อหมดความโลภความโกรธความหลงแล้วมันก็ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์อย่างที่เรียกกันว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่หมดกิเลสเหล่านี้ก็ต้องพยายามอยู่เพื่อให้มันเบาบางไปจนกว่าจะหมดสิ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะควบคุมสิ่งเหล่านี้คือควบคุมความเห็นแก่ตัว
สรุปความแล้วก็มีว่าเรื่องที่เราจะต้องรู้และรู้ได้นั้นก็คือเรื่องความเห็นแก่ตัวว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะดับทุกข์จะต้องดับความเห็นแก่ตัว และเราจะต้องมีลมหายใจมีชีวิตอยู่วันหนึ่งวันหนึ่งในลักษณะที่จะทำลายความเห็นแก่ตัวจึงมีสติสัมปชัญญะป้องกันความเห็นแก่ตัวไม่ให้เกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะมีสติสัมปชัญญะในการที่จะละมันเสีย ไม่ต้องมีเรื่องอะไรมากมายหลายอย่างหลายประการซึ่งเป็นเรื่องบ้าหอบฟาง เลิกความเป็นคนบ้าหอบฟางเสียเถิดก็จะเป็นการประเสริฐที่สุดในการที่ได้เป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาถือเอาสาระแก่นสารแห่งชีวิตนี้ได้ด้วยการดับทุกข์ทุกอย่างทุกวิถีทางอยู่ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่ง วันหนึ่ง เดือนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ปีหนึ่งอยู่ตลอดไป
เดี๋ยวนี้เราทำวิสาขบูชาก็จะต้องชำระสะสางให้เป็นการพอกพูนไปในทางที่จะทำลายล้างเสียซึ่งความเห็นแก่ตัวให้เหมือนหรือให้ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หมดความเห็นแก่ตัวไม่มีความยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวหรือของตัวเหลืออยู่แต่ประการใด ถ้าเราทำวิสาขบูชาด้วยการตั้งไว้ซึ่งจิตใจอย่างนี้และมีการกระทำทางกายทางวาจาทุกอย่างทุกทางอย่างนี้ ก็จะเป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชา สมควรแก่การบูชาในโอกาสสำคัญเช่นวันนี้ที่เป็นวันวิสาขบูชานั่นเอง เราระลึกนึกถึงธรรมะข้อนี้ให้ประจักษ์แจ้งอยู่ในใจ เพียงเท่านี้ก็เป็นการบูชาอย่างยิ่งอยู่แล้วถ้าเรากระทำได้ตามนั้นอีกก็ยิ่งเป็นการบูชาที่สูงยิ่งขึ้นไป หวังว่าพวกเราทั้งหลายจะอ้างคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นหลักประจำอยู่ในใจแล้วพยายามทำลายความเห็นแก่ตัวหรือทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าของตัวกันอยู่ทุก ๆ คนเถิด ทุกอย่างก็จะเป็นไปในทางที่บัณฑิตสรรเสริญ เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าในหนทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา อย่าได้ปล่อยให้เป็นคนประมาท เป็นคนที่ไม่มีตนเป็นของตนคือว่าปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส แม้แต่ความเชื่อก็ไม่รู้ว่าจะเชื่ออย่างไรจนกระทั่งกลายเป็นคนงมงาย แม้แต่การปฏิบัติก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง จึงต้องปฏิบัติผิดไป ผิด ๆ ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นความประมาทอย่างยิ่งอยู่ทุกทิพาราตรี นี้เรียกว่าจมอยู่ในกองทุกข์ เวียนว่ายอยู่ในวัฏสังสาร ไม่มีโอกาสไม่มีหนทางที่จะไถ่ถอนเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น จึงได้จมอยู่ในกองทุกข์อย่างที่เรียกว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานั่นเอง
พุทธบริษัททั้งหลายถือเอาคุณของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องอ้างว่าเราจะทำตนไม่ให้เสียทีที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนว่าอย่างไรเราจะประพฤติกระทำอย่างนั้นจนมีความรู้ประจักษ์ชัดแก่ใจ รู้ความทุกข์แก่ใจ รู้ความดับทุกข์แก่ใจ เป็นผู้มีสติปัญญาเชื่อตนเองดังนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็จะมามีอยู่ในจิตใจของบุคคลนั้น สติปัญญาทำให้มีความเชื่อตัวเองในข้อที่ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร นั่นแหละคือพระพุทธเจ้าและเป็นพระพุทธเจ้าจริง ๆ เราจงมีพระพุทธเจ้าจริง ๆ ชนิดนี้อยู่ในจิตใจของตน ๆ จงทุก ๆ คนเถิด ก็จะมีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอยู่ทุกทิพาราตรี ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้