แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาปรารภมาฆบูชา เราจึงจะต้องพิจารณากันถึงโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงในวันเช่นวันนี้ ดังที่ได้อธิบายให้ท่านทั้งหลายทราบแล้วตั้งแต่ตอนเย็น โอวาทปาฏิโมกข์นั้นเป็นใจความสำคัญที่ทรงแสดงในท่ามกลางที่ประชุมแห่งพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป โดยใจความก็คือเป็นหัวใจของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา แต่บัดนี้เราจะได้พิจารณากันถึงโลกมนุษย์ทุกวันนี้ ว่าได้เอาใจใส่ในพระพุทธภาษิตอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั้นเพียงไร และการแสดงธรรมเทศนาเนื่องในมาฆบูชานี้ก็มีอยู่ทุกๆ ปี ดังนั้นเพื่อจะไม่ให้ซ้ำกันกับปีที่แล้วๆ มา จึงได้กล่าวโดยหัวข้อที่แปลกออกไปเป็นการต่อท้าย โดยหัวข้อว่า อติโลโภ หิ ปาปโก เป็นอาทิ ซึ่งโดยเค้าเรื่องก็คือว่า เมื่อบุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระโอวาทนั้นแล้ว ก็มีแต่จะปฏิบัตินอกลู่นอกทางออกไป และก็ทำให้มนุษย์ในโลกทุกวันนี้ไม่มีความผาสุก มีการเบียดเบียนโดยตรง โดยอ้อม กันอยู่เป็นประจำ
ถ้าเราพิจารณาดูทีละข้อก็จะเห็นได้ว่า ในข้อที่ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ นั้น มนุษย์ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เว้นการกระทำซึ่งบาป มีแต่จะกระทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นบาปนั้นมากขึ้น ขอให้ลองคิดดูเถิดว่า ในมนุษย์ ในหมู่มนุษย์ที่ยังไม่เจริญในสมัยโบราณนั้น ไม่มีความโลภมากเหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้โลภมาก โลภเก่ง โลภลึก ก็เพราะมีการศึกษาชนิดที่ให้เกิดสติปัญญาแต่ในทางที่ทำให้เห็นแก่ตัว ส่วนการศึกษาที่ทำให้เกิดสติปัญญาในทางที่ทำลายความเห็นแก่ตัวนั้นมีน้อยลงทุกที คนสมัยโบราณไม่มีความรู้มากเหมือนคนสมัยนี้ จึงไม่มีปัญญาที่จะเห็นแก่ตัวมากเหมือนคนสมัยนี้ ฉะนั้นคนโบราณจึงทำบาปน้อยกว่าคนสมัยนี้
ส่วนข้อที่ว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา จงทำกุศลให้ถึงพร้อมนั้น พิจารณาดูก็จะเห็นได้โดยทำนองเดียวกัน ว่าคนสมัยนี้ถือ ได้ นั่นแหละเป็นดี ถือการ ได้ นั่นแหละเป็นกุศล เอา ได้ เป็นดี เอา ได้ เป็นศาสนา เมื่อถือเสียอย่างนี้แล้วก็เป็นไปในทางของกิเลสตัณหา สิ่งที่เรียกว่าบุญกุศลอันแท้จริงก็ไม่เกิดขึ้น จะทำบุญอะไรสักหน่อยก็ต้องหลอกลวงกันอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องจัดงานอย่างนั้นอย่างนี้คนจึงจะบริจาคในสิ่งที่เรียกว่าเป็นการบุญการกุศล คนสมัยโบราณไม่ต้องจัดงานหลอกลวงกันอย่างนี้เขาก็ยังบริจาคทรัพย์บำเพ็ญกุศล ส่วนคนเดี๋ยวนี้ต้องมีอะไรมาหลอกหรือมาชดเชยให้ จึงจะบริจาคทรัพย์บำเพ็ญกุศล ที่จะเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ว่าบ้านนอกหรือเมืองหลวง ยิ่งในเมืองหลวงจะยิ่งเป็นเสียมากกว่าบ้านนอก จะต้องมีอะไรมาล่อ เอาเกียรติมาล่อ เอาความสนุกสนานมาล่อ แล้วจึงจัดงานกุศล ดังนั้นการที่จะทำกุศลให้ถึงพร้อมตามพระพุทธโอวาทนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามีแต่จะทำบาปแทรกลงไปในบุญ จัดการกุศลแต่ว่ามีอกุศลเจืออยู่เป็นส่วนมาก คนทุกวันนี้จึงปฏิบัติธรรมะข้อนี้ได้ยาก
ส่วนข้อถัดไปที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ จงชำระจิตของตนให้ขาวผ่องนั้น ยิ่งเห็นได้ว่า ยิ่งเป็นไปได้โดยยากยิ่งขึ้นทุกที คนสมัยนี้ไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำไปว่าจิตชนิดไหนขาวผ่อง ว่าจิตชนิดไหนสกปรกโสมม เอาไปปนกันยุ่งหมด ถือว่า ได้ นั่นแหละดี ฉะนั้นเมื่อได้มา กำลังหลงใหลอยู่ในสิ่งที่ได้มา ก็เรียกว่าจิตนั่นแหละบริสุทธิ์ เพราะเหตุเช่นนี้เองพระพุทธโอวาทเนื่องในมาฆปุณณมี คือวันเช่นวันนี้ จึงค่อยๆ เป็นหมันไป
พระพุทธภาษิตถัดไปอีกที่ทรงแสดงในวันนี้ก็มีว่า อนูปวาโท การไม่กล่าวร้าย อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย ปาติโมกฺเข จ สํวโร สำรวมในระเบียบวินัยที่เป็นประธาน มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ มีความรู้ประมาณในการบริโภค ปนฺตญฺจ สยนาสนํ คบเสพที่นอนที่นั่งอันสงัด อธิจิตฺเต จ อาโยโค มีความพากเพียร ประกอบการทำจิตให้เป็นจิตยิ่ง เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ๖ อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เราจะได้พิจารณากันเป็นข้อๆ ไป
อนูปวาโท การไม่กล่าวร้าย คนทุกวันนี้กล่าวร้ายกันมากขึ้น ในบรรยากาศของโลกนี้เต็มไปด้วยการกล่าวร้าย เขากำลังรบกันโดยตรง โดยอ้อม ทั่วทั้งโลก ใช้เครื่องมืออันวิเศษ เช่น วิทยุกระจายเสียง เป็นเครื่องด่ากันไปด่ากันมาก้องไปทั้งโลก นี้ก็เป็นอันเห็นได้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วย อุปวาโท คือการกล่าวร้าย ส่วนคำว่า อนูปฆาโต การไม่ทำร้ายนั้น การสงครามนี้เป็นการทำร้ายกันอย่างยิ่ง สงครามร้อน สงครามเย็น สงครามบนดิน สงครามใต้ดิน ชนิดไหนก็ตาม เป็นการทำร้ายกันอย่างยิ่ง โลกเรากำลังเต็มไปด้วยสงคราม โดยตรง โดยอ้อม ใต้ดิน บนดิน มีอยู่ทั่วไป นี้เรียกว่าส่วนใหญ่ก็ทำการเบียดเบียนกันอย่างนี้ แล้วยังส่วนตัวบุคคลเป็นรายๆ ไป ก็ยังมีการเบียดเบียนกันยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานข่าว หนังสือข่าวต่างๆ นานา ที่พากันเห็นได้ว่ามีการเบียดเบียนมากขึ้น เพราะความที่มนุษย์มีจิตใจต่ำลง ส่วนข้อที่ว่า ปาติโมกฺเข จ สํวโร สำรวมระวังเป็นอย่างดีในระเบียบวินัยที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นต้น เป็นประธานนั้น หมายถึงหลักธรรมที่เป็นตัวธรรมวินัยในศาสนาของแต่ละศาสนา เดี๋ยวนี้คนพอใจที่จะเรียกตัวเองว่าคน ว่าตนไม่มีศาสนา พวกฝรั่งหนุ่มๆ ที่มาที่นี่ เมื่อถามแล้วก็พอใจที่จะตอบหน้าเฉยตาเฉยว่าตัวไม่มีศาสนา รู้สึกว่าจะเป็นเกียรติ เขาจะรู้สึกว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ตอบเช่นนั้น เมื่อมีจิตใจที่ไม่อยากจะมีศาสนาเสียดังนี้แล้ว การที่จะสำรวมในธรรมะในวินัยของศาสนานั้นๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคนในโลกทุกวันนี้ พอจะเชื่อได้ว่าไม่อยากจะถือระเบียบวินัยในศาสนาของแต่ละศาสนายิ่งขึ้นทุกที แล้วคนเหล่านั้นจะเป็นคนชนิดไหน ก็ลองคิดดูต่อไปเถิด
พระบาลีต่อไปที่มีว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคนี้ พิจารณาดูสักนิดหนึ่งก็จะเห็นได้ว่า คนสมัยนี้ตะกละในทางวิญญาณ มีความตะกละในทางวิญญาณ ไม่รู้ประมาณในการบริโภค ไม่รู้จักจัด ไม่รู้จักทำ ให้เป็นไปในทางประหยัด แต่กับรู้จักจัดจักทำไปในทางให้สุรุ่ยสุร่าย ทำให้จิตใจมีความฟุ้งซ่าน ทะเยอทะยาน ไปแต่ในเรื่องอยู่ดี-กินดีตามความหมายของคนสมัยนี้ ก็คือเป็นทาสของตัณหา เป็นทาสของกิเลสตัณหา คำๆ นี้พระพุทธเจ้าท่านหมายถึงกินอยู่แต่พอดี ขอให้ฟังดูให้ดีว่า ท่านตรัสว่าให้กินอยู่แต่พอดี ส่วนคนสมัยนี้พูดว่ากินดีอยู่ดี แล้วก็ไม่มีขอบเขตอะไร มุ่งแต่จะกินดีอยู่ดีตามที่ลิ้นของตัวต้องการให้มากขึ้นไป มันก็ยิ่งต่างไปจากการที่กินอยู่แต่พอดีมากยิ่งขึ้นทุกที ผู้ที่เคยไปเที่ยวรอบโลกมา ก็จะเห็นได้ว่าคนเป็นทาสของลิ้นหรือของอายตนะมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สนใจเรื่องเอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อหนังนี้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และอันนี้เองก็เป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ต้องหาเงินมาก มีความโลภในการที่จะหาเงินมากเกินไปจนไม่รู้ว่าอย่างไรเป็นการเบียดเบียน อย่างไรไม่เป็นการเบียดเบียน เอาแต่จะให้ได้เข้าข้างตัวมากเข้าไว้ เพื่อจะเอามากินดีอยู่ดีไม่มีขอบเขต จึงเป็นอันว่าโลกกำลังบ้าหลังในการที่จะกินดีอยู่ดี และไม่ชอบการที่จะกินอยู่แต่พอดีดังที่พระพุทธเจ้าสอน เราจึงถือว่ามนุษย์ในโลกนี้กำลังละเลยพระพุทธโอวาทข้อนี้มากขึ้น
ข้อถัดไปว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ การเสพคบที่นอนที่นั่งอันสงัด คำนี้มีความหมายว่า เป็นผู้ชอบความสงัด ความสงัดนั้นหมายถึงสิ่งที่ช่วยให้จิตใจของเรามีความเป็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเราออกไปสู่ที่ยั่วยวน จิตใจก็หมดความเป็นตัวเองมากขึ้น จะตกไปเป็นเหยื่อของสิ่งยั่วยวนนั้นมากขึ้น การที่พยายามเก็บตัวไว้ในที่สงบสงัดนั้น ก็เพื่อจะมีโอกาสที่จะบังคับตัวเองได้ดี จะเกิดสติสัมปชัญญะ จะเกิดสติปัญญา คิดนึกได้ลึกซึ้ง จงพิจารณา จงสังเกตดูว่าการที่เราจะคิดอะไรให้ลึกซึ้งนั้น ต้องคิดในโอกาสที่ไม่มีใครรบกวน ไม่มีสิ่งใดรบกวน โอกาสชนิดนั้นแหละเรียกว่า ที่สงัด การทำสมาธิในป่านี้ง่ายมากกว่าที่จะไปนั่งทำสมาธิในโรงละคร เพราะฉะนั้นการเสพคบที่นั่งที่นอนอันสงัดนั้น มีความสำคัญมากสำหรับมนุษย์ผู้จะต้องการใช้สติปัญญาให้บริสุทธิ์ เดี๋ยวนี้ชอบสิ่งยั่วยวน เราจะเห็นได้ว่ามีคนจำนวนมากทำงานอยู่ก็ต้องเปิดวิทยุฟัง เด็กนักเรียนจำนวนมากทำการบ้านอยู่ ก็ยังต้องเปิดวิทยุฟัง ภูตผีปีศาจทางเนื้อหนัง ทางรูป รส กลิ่น เสียง ได้เข้าสิงจิตสิงใจของคนสมัยนี้มากจนถึงกับเกลียดความสงบสงัด เกลียดความวิเวกในการที่จะทำให้เกิดความสงัดกาย สงัดใจ มีสติปัญญาแจ่มใส เพราะฉะนั้นก็ทำไปๆ พอสักว่าทำไปได้เท่านั้น ไม่ลึกซึ้งอะไร
ส่วนบทสุดท้าย บทต่อไปที่ว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค นี้แปลว่า มีความพากเพียรพยายามฝึกฝนอบรมจิตของตนให้เป็นจิตที่ยิ่ง คำว่า จิตยิ่งนี้ หมายความว่า จิตที่มีคุณสมบัติหรือมีคุณค่ายิ่งไปกว่าจิตตามธรรมดา จิตของมนุษย์ตามธรรมดาเป็นอย่างไรนั้น ก็หมายความว่าเป็นไปตามธรรมชาติที่ไม่ได้รับการอบรม พระพุทธเจ้าท่านสอนหรือท่านถึงกับขอร้องในลักษณะเช่นนี้ว่า จงพากเพียรอบรมจิตให้ยิ่ง ให้เป็นจิตยิ่ง คือยิ่งไปกว่าธรรมดา ธรรมชาติสร้างจิตของมนุษย์มาสำหรับให้เจริญงอกงามวิวัฒนาการได้เพราะการอบรม เราก็ควรจะถือโอกาสทำการอบรมให้จิตนี้เป็นจิตที่ยิ่ง คือสูงขึ้นไปตามลำดับจนกิเลสหรือความชั่วครอบงำไม่ได้ แต่คนสมัยนี้พอใจยินดีที่จะให้กิเลสครอบงำ จึงได้ปล่อยตัวไปตามอำนาจของกิเลส ไม่พรากเอาจิตออกมาเสียจากอำนาจของกิเลส แล้วเอามาอบรมให้เป็นจิตที่ยิ่ง จงมองดูไปทั่วๆ โลก จะเห็นได้ว่าไม่มีใครมุ่งหมายที่จะอบรมจิตใจให้มุ่งไปสู่พระเป็นเจ้า หรือให้มุ่งไปสู่พระธรรม หรือไปเพื่อนิพพาน แต่ต้องการจะอบรมจิตของตนให้มีความสยบ มัวเมา ในสิ่งบำรุงบำเรอทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อยู่ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อเราได้พิจารณาดูพระพุทธภาษิตซึ่งเป็นโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงในวันมาฆปุณณมีเช่นวันนี้ ดูอย่างนี้แล้วก็จะรู้สึกว่าน่าใจหาย ที่ว่าคนในโลกนี้กำลังไม่เอื้อเฟื้อต่อคำสอนของพระศาสดาซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายมากยิ่งขึ้นทุกที และเป็นอย่างนี้กันทั่วไปหมด ไม่ว่าศาสนานี้หรือศาสนาไหน มนุษย์กำลังหันหลังให้ศาสนาของตัวยิ่งขึ้นทุกที มนุษย์จึงมีจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะต้องเป็นทุกข์ทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วนรวม คือว่าเมื่อได้ละทิ้งหลักของพระศาสนาซึ่งเป็นเครื่องควบคุมจิตใจแล้ว จิตใจนี้ก็เป็นอิสระด้วยอำนาจของกิเลส ดังนั้นมันจึงโลภมาก โกรธมาก หลงมาก คือมีความโลภมาก มีความโกรธมาก มีความหลงมากกว่าที่จะมีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของสัตว์ เพราะไปอบรมผิดทาง เพราะละทิ้งพระศาสนาของตนๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงได้เจริญขึ้นมาอย่างหนาแน่นดังนี้ โอกาสในวันนี้เราจะพูดกันถึงแต่เรื่องความโลภอย่างเดียว เพื่อจะให้เห็นว่ามันมีอยู่อย่างไร มันเจริญงอกงามขึ้นอย่างไร และเราจะต้องจัดการกันอย่างไร จึงได้ยกเอาพระพุทธภาษิตต่อไปในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย มากล่าวว่า โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ ความโลภนั้นเป็นอันตรายของธรรมะ ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฐพฺพํ ได้สิ่งใด พึงยินดีในสิ่งนั้น อติโลโภ หิ ปาปโก เพราะว่าความโลภมากเกินไปนั้นเป็นของลามก จงกำหนดจดจำหัวข้อนี้ไว้สำหรับฟังสืบต่อไปว่า ความโลภนั้นเป็นอันตรายของธรรมะ ได้สิ่งใด พึงยินดีในสิ่งนั้น โลภเกินไปนั้นลามก
ความโลภนั้นเป็นอันตรายของธรรมะ หมายความว่าถ้าเราต้องการจะมีธรรมะ ความโลภย่อมเป็นอุปสรรค ธรรมะในที่นี้หมายถึงความถูกต้องในทางกระทำ ในทางพูดจา ในทางคิดนึก เราอยากจะมีความถูกต้องในการทำ การพูด การคิด แต่แล้วอันตรายของมันก็มีอยู่คือความโลภ ส่วนพระบาลีภิกขุวิภังค์ (นาทีที่ 21:28) นั้นมีถึงกับว่า อติโลโภ หิ ปาปโก โลภมากเกินไปนั้นลามก ความโลภธรรมดาก็เป็นอันตรายของธรรมะ ความโลภเกินไปกลายเป็นของลามก นี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาที่กล่าวไว้อย่างนี้ ขอให้จดจำไว้ไปพิจารณาดูว่ามีความจริงเพียงใด ศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสเตียนก็ยังมีหลักว่า การแสวงหาเกินจำเป็น เป็นบาป การมีไว้เกินจำเป็นก็มีบาป การบริโภคเกินจำเป็นก็เป็นบาป ทั้งนี้เพราะมันผิด ผิดความประสงค์ของพระเป็นเจ้า ในพุทธศาสนาเราก็มีพุทธภาษิตว่า ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฐพฺพํ ได้สิ่งใดแล้ว พึงยินดีในสิ่งนั้น เพราะว่าถ้าไม่ยินดีในสิ่งที่ได้แล้ว ก็จะมีความโลภเกินไปซึ่งเป็นของลามกนั้นเกิดขึ้นแทน โดยใจความแล้วก็จะเหมือนกันทุกศาสนา คือไม่ต้องการให้มนุษย์แสวงหา หรือมีไว้ หรือบริโภคเกินความจำเป็น ถ้าขืนทำอย่างนั้นจัดว่าเป็นบาป เพราะผิดพระประสงค์ของพระเจ้าและผิดธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ พวกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์มีความรู้เรื่องธรรมชาติดี ก็พอที่จะมองเห็นได้ว่าธรรมชาติมีให้จำกัดหรือพอดี เราใช้มันมากเกินไป มันก็เป็นการผิดกฎของธรรมชาติ หรือผิดความมุ่งหมายของธรรมชาติ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเดี๋ยวนี้มนุษย์ขุดเอาน้ำมันในแผ่นดินมาเผาให้เป็นควันไฟในลักษณะที่ไม่จำเป็นอย่างมากมายที่สุด เอาน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใช้วิ่งรถยนต์เที่ยวเล่นอย่างนี้ก็มีมากกว่าที่ไปธุระ เอามาใช้สำหรับทำสงครามเพื่อประหัตประหารเข่นฆ่ากัน อย่างนี้ยิ่งมีมากกว่าอย่างอื่นโดยเฉพาะเดี๋ยวนี้ อย่างนี้มันผิดความประสงค์ของธรรมชาติซึ่งไม่ได้มีไว้สำหรับให้ใช้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่เราหาหรือมีไว้หรือใช้ไปเกินความจำเป็นนั้น มันผิดความประสงค์ของพระเป็นเจ้าซึ่งได้แก่ธรรมชาตินั่นเอง แต่ว่าพูดว่าผิดความประสงค์ของพระเป็นเจ้านั้นน่ากลัวกว่า เมื่อทำผิดความประสงค์ของพระเป็นเจ้าแล้วก็จะถูกพระเป็นเจ้าลงโทษ เดี๋ยวนี้พระเป็นเจ้าก็กำลังลงโทษให้มนุษย์มีความทุกข์ยาก ลำบากมากขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ได้สิ่งใดแล้วพึงยินดีในสิ่งนั้น คนก็ยังเข้าใจผิด ไม่เห็นด้วย แล้วยังแถมพูดผิดๆ เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้าไปเสียด้วยซ้ำไป บางคนพูดว่า เดี๋ยวนี้ก๋วยเตี๋ยวจานหนึ่งตั้ง ๒-๓ บาท ไม่ใช่จานละ ๕ สตางค์เหมือนแต่สมัยโน้น เหมือนกับสมัยโน้น แล้วจะให้หาเงินน้อยๆ เท่าสมัยโน้นอยู่ได้อย่างไร อย่างนี้เรียกว่ามันพูดกันอย่างเล่นตลก พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าให้คนหาเงินน้อยๆ ไม่ได้ตรัสว่าให้คนหยุดหาเพราะยินดีเท่าที่มีอยู่แล้ว แต่ตรัสว่าสิ่งใดที่ได้มา สิ่งนั้นควรจะพอใจ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์ไม่เคยพอใจเท่าที่ได้มาหรือเท่าที่มีอยู่ เป็นคนโลภเกินไปอย่างลามกด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ มีเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่มจักพอ ยังมีความหิวทางวิญญาณ เป็นเปรตชนิดหนึ่งอยู่เสมอ คือไม่รู้ว่าความพอนั้นอยู่ที่ตรงไหน ข้อนี้มีคำกล่าวไว้ในพระคัมภีร์สังยุตตนิกายว่า ปพฺพตสฺส สุวณฺณสฺส ชาตรูปสฺส เกวลา ให้ภูเขาเป็นทองคำทั้งๆ ลูก, ทั้งๆ ลูก ทฺวิตาว นาลเมกสฺส สักสองลูก มันก็ยังไม่พอแก่ความประสงค์ของมนุษย์คนเดียว อิติ วิทฺธา สมํ จเร เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว พึงทำพอเหมาะสมเถิด
ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้ภูเขาจะกลายเป็นทองคำไปทั้งลูกๆ ตั้งสองลูก ก็ยังไม่พอแก่ความต้องการของมนุษย์เพียงคนเดียว เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จงแสวงหา จงทำ จงใช้แต่พอเหมาะพอสมควรเถิด ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้จริงหรือไม่จริง ก็พิสูจน์ดูได้ด้วยคนเราในทุกวันนี้แหละ มีมากเท่าไรก็ไม่เคยยินดี ยังต้องการมากขึ้นไปกว่านั้น จิตมันต้องการแต่จะมีมากกว่านั้น มันไม่ได้สนใจเรื่องว่าจะกินจะใช้อย่างไร มันสนใจแต่ว่าจะต้องการอีก จะต้องการเพิ่มขึ้นมาอีกโดยไม่มีขอบเขต โดยไม่มีความหมายอะไร ขอแต่จะเอาเพิ่มมาอย่างเดียวจนกระทั่งว่าภูเขาเป็นทองคำให้ตั้งสองลูก ก็ไม่พอแก่ความต้องการของมนุษย์เพียงคนเดียว เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกมีตั้งมากมายเป็นพันล้าน แล้วมันจะเอาที่ไหนมาให้พอแก่ความต้องการของมนุษย์เท่านี้ นี่แหละคือข้อที่ว่า โลภเกินไปนั้นลามก เพราะทำให้สิ่งต่างๆ สับสนวุ่นวาย โกลาหล แย่งกันโดยลักษณะที่ไม่เคยมีมาแต่กาลก่อน การยื้อแย่งกันในโลกนี้ระหว่างนายทุน ระหว่างกรรมกร นี้ไม่เคยมีมาแต่ก่อนในโลกนี้ เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลก เป็นโลกของพวกนายทุนกับกรรมกรแต่สองพวกเท่านั้น และยื้อแย่งกันไม่มีวันจะสิ้นสุดได้ จะมีแต่จะยิ่งขึ้นไปทุกทีเพราะว่าทั้งสองฝ่ายนั้นไม่รู้จักอิ่มจักพอด้วยกันทั้งนั้น การเบียดเบียนกันนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ที่ฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด มันอยู่ที่ต้องการไม่มีที่สิ้นสุดด้วยกันทั้งสองฝ่าย วิกฤตการณ์นานาชนิดจึงเกิดขึ้นในโลก เต็มไปทั้งโลกและยิ่งขึ้นทุกที ทุกคนก็พอจะมองเห็น นี่แหละคือข้อที่ว่า โลกทั้งโลกกลายเป็นโลกของความโลภ เต็มไปด้วยความโลภของคนทุกคนหรือของคนทุกฝ่าย ซึ่งกำลังหันหลังให้ศาสนาของตนด้วยกันทั้งนั้น จนถึงกับไม่มีศาสนาที่แท้จริงเหลืออยู่ในโลก มีแต่พิธีรีตองซึ่งเป็นเพียงเปลือกของศาสนา จึงได้รบราฆ่าฟันกันไปอย่างไม่มีหวังว่ามันจะสิ้นสุดลงได้อย่างไร ขออย่าได้ทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่า กิเลสตัณหา เลย สิ่งที่เรียกว่า กาม หรือความต้องการนั้นมันมีลักษณะอย่างนี้
พระพุทธภาษิตจึงมีเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากมาย มากจนเกินกว่าที่จะนำมาอธิบายในที่นี้ให้หมดสิ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ตรัสว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำที่จะเสมอด้วยตัณหานั้น ไม่มี แม่น้ำคือสายน้ำที่ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน แม่น้ำที่จะเสมอด้วยเกลียวแห่งตัณหาคือความต้องการของมนุษย์นั้น ไม่มี แม่น้ำใดๆ ในโลกนี้มันไม่มากมาย ร้ายกาจเท่ากับกระแสแห่งตัณหา ดังนี้เป็นต้น และตรัสว่า น กหาปณ วสฺเสนติตฺติ กาเมสุ วิชฺชติ ซึ่งแปลว่า แม้ว่าฝนจะตกลงมาเป็นเงินเหรียญ ความอิ่มในความต้องการก็ยังไม่มีแก่มนุษย์ ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า แม้ว่าฝนจะตกลงมาเป็นเงินเหรียญ เหรียญเงิน เหรียญทอง ของประเทศไหนก็ได้ ฝนตกลงมาเป็นเงินเหรียญเท่าไรๆ ความอิ่มหรือความพอก็ไม่มีแก่บุคคลผู้มีความต้องการได้ นี่แหละขอให้คำนวณดูเถิดว่าจิตใจของมนุษย์ที่เพิ่มพูนไปด้วยความโลภนั้น มันมีลักษณะอย่างนี้ ยิ่งอบรมมันผิด จิตใจมันก็เป็นอย่างนี้มากยิ่งขึ้นกว่าเก่าหลายเท่า หลายสิบเท่า หลายร้อยเท่า นี่แหละคือจิตใจของมนุษย์ในโลกในวันนี้
ในพระพุทธศักราช ๒๕๑๓ ที่เรากำลังมานั่งประชุมกันเพื่อทำมาฆบูชาในวันนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักลักษณะหรือรู้จักธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า ความโลภหรือความปรารถนา กันในลักษณะเช่นนี้เถิด แล้วก็จะได้รู้ต่อไปตามลำดับๆ ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความหิวนี้เป็นโรคอย่างยิ่ง พระพุทธภาษิตข้อนี้หมายถึงความหิวในทางวิญญาณ ไม่ใช่หิวข้าว หิวน้ำ แต่ได้แก่ความหิวของกิเลสตัณหา ซึ่งหิวอย่างไม่มีขอบเขตถึงขนาดที่เรียกว่า ภูเขาเป็นทองทั้งลูกๆ ตั้งสองลูก ก็ไม่พอแก่ความประสงค์ของคนๆ เดียว ความหิวทางวิญญาณ หมายถึงความหิวด้วยอำนาจของความหลง มีความทะเยอทะยานไม่มีที่สิ้นสุด หิวในเรื่องกินนั้นยังไม่เท่าความหิวในทางของกิเลสตัณหา คือความหิวในทางกาม หรือความหิวในทางเกียรติ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ สามเรื่องนี้เป็นที่ตั้งแห่งความหิว ความหิวในทางอาหารทางการกินนั้น ไม่เท่ากับความหิวในเรื่องกามและเรื่องเกียรติ ที่พระองค์ตรัสว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่งนั้น เป็นความหิวในเรื่องกามและเรื่องเกียรติ เมื่อใดกระหายที่จะได้เรื่องกามและเรื่องเกียรติแล้ว มันก็เสียดแทงจิตใจ ที่ว่าเป็นโรคนั้นหมายถึงเสียดแทงจิตใจ การหิวข้าวไม่เสียดแทงจิตใจมากเหมือนกับหิวกามหรือหิวเกียรติ นับว่าเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวัง อย่าให้ความหิวชนิดนั้นครอบงำได้ ความหิวชนิดนั้นครอบงำเมื่อใดแล้ว ก็กลายเป็นเปรตไปทันที คำว่า เปรต นั้นหมายถึง ผู้หิว หิวในทางจิตในทางวิญญาณ อย่าได้ไปเข้าใจอย่างลูกเด็กๆ ว่า เปรตไม่ได้กินอาหารแล้วก็ผอมโซ แต่เข้าใจอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ว่า คนที่หิวในเรื่องกาม เรื่องเกียรติ นั้นแหละมีดวงวิญญาณที่ผอมโซและเป็นเปรต สมตามพระพุทธภาษิตนี้ที่ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง พวกนายทุนก็หิว พวกกรรมกรก็หิว มันก็เป็นเปรตกันไปทั้งสองพวก เรียกว่าโลกนี้จะเป็นโลกของเปรตไปแล้วก็ได้ เพราะเต็มไปแต่ด้วยคนหิว และหิวอย่างยิ่ง หิวอย่างร้ายแรง หิวอย่างบอกไม่ถูก หิวในการที่จะมีนั่นมีนี่ เป็นนั่นเป็นนี่ จะชนะพวกนั้น จะชนะพวกนี้ ความหิวทุกอย่างนี้เป็นความหิวที่ทำให้ดวงวิญญาณผอมโซกลายเป็นเปรตไปทั้งนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากฉะนั้นมนุษย์เราถ้าพิจารณาข้อนี้กันให้ดีๆ แล้ว ก็จะเกิดความสลดสังเวช สงสารคนหิว แล้วก็จะได้ช่วยกันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก้ไข ให้คนหิวนั้นหายหิวซึ่งเป็นการกุศล แต่เดี๋ยวนี้ตนกลับเป็นเปรตเสียเอง เป็นคนหิวเสียเอง หิวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเสียเองด้วยกันทุกคนแล้ว ใครเล่าจะเป็นคนช่วยใคร อย่าอวดดีไปว่าจะทำหน้าที่ช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ แต่แท้ที่จริงแล้วตัวเองก็เป็นคนป่วย เป็นคนหิวหรือเป็นเปรตเสียเอง เพราะว่ามีความโลภเกินไป จึงตกอยู่ในสภาพอย่างนี้
มีพระพุทธภาษิตสืบต่อไปที่ควรจะเอามาพิจารณากันคือ เรื่องความทุกข์กับเรื่องความสุข มีพระพุทธภาษิตว่า นตฺถิ กามา ปรํ ทุกฺขํ ความทุกข์อื่นนอกไปจากกามนั้นไม่มี นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ ความสุขอื่นนอกไปจากความสงบนั้นไม่มี เป็นของคู่กันอย่างตรงกันข้าม ทุกข์อื่นนอกจากกามนั้นไม่มี สุขอื่นนอกจากความสงบจากกามนั้นไม่มี ถ้ามีความทุกข์ก็หมายความว่า มาจากกาม หรือความอยาก ความหิว ถ้ามีสุขก็หมายความว่า มาจากความสงบเสียได้ซึ่งความอยากนั้น นี้เป็นแม่บทของเรื่องสุขเรื่องทุกข์ กินความครอบคลุมไปถึงความสุขและความทุกข์ทุกชนิด ขึ้นชื่อว่าความทุกข์แล้วจะต้องมาจากความอยาก คำว่า ความอยาก นี้หมายความว่า อยากด้วยความโง่ ความหลง ถ้าต้องการด้วยสติปัญญาก็จะทำหน้าที่ของตนตามที่ควรทำแล้ว นั้นเขาไม่เรียกว่ากาม ไม่เรียกว่าความอยาก ไม่เรียกว่าตัณหา ถ้าเรียกว่ากาม ว่าความอยาก ว่าตัณหาแล้ว หมายถึงความอยากเพราะความโง่ คือความอยากของกิเลสตัณหานั่นเอง ระวังให้ดี อย่าเอาไปปนกันเสีย จะทำให้เข้าใจพระพุทธภาษิตไม่ได้ จะไม่รู้ศาสนาของตัวที่พูดว่า ความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เมื่อพูดว่า ความอยาก ในภาษาบาลีนั้นหมายถึง ตัณหา แต่ในภาษาไทยนี้กำกวม จึงต้องแยกกันว่า ถ้ามีความอยากด้วยความโง่ มีกิเลสตัณหาเป็นต้นแล้วนำมาซึ่งทุกข์ ส่วนความต้องการด้วยสติปัญญาที่จะทำหน้าที่ของตนนั้นไม่รวมอยู่ในที่นี้ แต่จะเป็นเครื่องแก้ทุกข์ เรามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และมีความอยากความต้องการที่จะทำหน้าที่อันนั้นให้ถูกต้อง อย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ แต่เป็นทางนำมาซึ่งความสุข คือจะให้ระงับความอยากนั้นเสียได้ ในโลกนี้กำลังเต็มไปด้วยความใคร่หรือความอยาก หรือว่ากำลังเต็มไปด้วยความสงบจากความอยาก ก็ลองพิจารณาดูเองก็แล้วกัน มองดูไปทั่วๆ โลกว่าโลกนี้เป็นอยู่ด้วยความใคร่ ความอยาก หรือว่าเป็นอยู่ด้วยความสงบจากความใคร่ ความอยาก แล้วเราก็จะเข้าใจพระพุทธภาษิตนี้ได้ทันที ว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร สันติภาพมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โลกนี้กำลังมีอะไรที่เต็มไปหมดทั้งโลก นี้เป็นเรื่องของกิเลสที่จะต้องทราบไว้เพื่อเข้าใจต่อไปว่า โลกนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้อย่างไร
มีพระพุทธภาษิตต่อไปว่า อิจฺฉา นรํ ปริกสฺสติ แปลว่า ความอยากย่อมจูงจมูกคนไปรอบๆ อิจฺฉา นรํ ปริกสฺสติ ความอยากย่อมจูงจมูกคนไปรอบๆ อันนี้กินความกว้าง คือว่าจะอยากในทางชั่วก็ได้ อยากในทางดีก็ได้ อย่างว่าท่านทั้งหลายมาที่นี่ก็เพราะความอยากมา มันก็จูงจมูกท่านทั้งหลายมาที่นี่ได้ คิดดูมันจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นความอยากอย่างดี คือมาเพื่อจะศึกษา มาเพื่อจะหาความสงบอย่างนี้มันก็จูงจมูกมาหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันจะจูงไปดูหนังดูละครในงานที่เขากำลังจัดอยู่เป็นประจำปีในวันนี้ก็มี อย่างนี้ก็แปลว่ามันจูงจมูกไปหาความทุกข์ยากลำบาก ความหมดเปลือง เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าความอยากในลักษณะที่เป็นสิ่งที่มีอำนาจที่จะจูงจมูกใครไปที่ไหนก็ได้ แต่โดยทั่วไปนั้นท่านหมายถึงการที่มันจูงไปหาความทุกข์ เพราะคำว่า ความอยาก ในที่นี้เป็นความอยากของกิเลสตัณหาหรือความโง่นั่นเอง เพราะเหตุฉะนั้นแหละมันจึงจูงไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เสียมากกว่า แต่ถ้าเราจะเอาตามที่เห็นๆ กันอยู่ในโลกแผ่นดินทุกวันนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ความอยากนี้มันจูงจมูกคนไปให้รบราฆ่าฟันกัน มันมีการรบราฆ่าฟันกันอยู่ที่มุมไหนในโลกนี้แล้ว ก็จงดูเถิดว่า ล้วนแต่ความอยากได้อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้นมันจูงจมูกคนเหล่านั้นมาให้รบกัน เขาต้องการอะไรของเขาอยู่อย่างลึกซึ้งในจิตใจของเขา ในความต้องการของเขา แต่ปากเขาก็พูดไปอย่างอื่น ความอยากของเขาจึงจูงจมูกเขาไปสู่สนามรบกัน แต่ถึงอย่างนั้นคนก็ยังไม่กลัวอำนาจของกิเลสตัณหาข้อนี้
จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้สืบไปอีกว่า ภิยฺโย จ กาเม อภิปตฺถยนฺติ เขาก็ยังปรารถนากามกันให้ยิ่งขึ้นไป แม้ว่าสิ่งที่เรียกว่า ความอยาก นั้นจะกระทำแก่เขามากมายถึงขนาดนั้นแล้ว เขาก็ยังปรารถนาที่จะอยากให้ยิ่งขึ้นไป นี่แหละคือลักษณะความเป็นไปในโลกในทุกวันนี้ เขาไม่ได้รู้ว่าอะไรเป็นศัตรู ไม่ได้รู้ว่าอะไรเป็นมิตร พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสตอบพญามารว่า รูปา สทฺทา คนฺธา รสา ผสฺสา ธมฺมา จ เกวลา เอตํ โลกามิสํ โฆรํ เอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต ซึ่งแปลว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทุกอย่างเหล่านี้เป็นเหยื่อโลกที่แรงร้าย แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสยบอยู่ในเหยื่อนั้น อธิบายว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผิวหนัง และความคิดนึกในใจ ชนิดที่สัตว์ทั้งหลายต้องการกันนักนั้น นั่นแหละคือเหยื่ออันแรงร้าย เหยื่อ หมายความว่า ของล่อ มันเป็นคนละอย่างกันกับสิ่งที่เรียกว่า อาหาร อย่าได้เอาไปปนกันเลย จงกินแต่อาหารเถิด อย่าได้กินเหยื่อเลย ของเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้ มันเป็นอาหารก็ได้ เป็นเหยื่อก็ได้ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปกินไปใช้มัน ก็เป็นอาหาร แต่ถ้าเราโง่ เราหลง เข้าไปเกี่ยวข้อง ไปกินมัน มันก็กลายเป็นเหยื่อ ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่อร่อยๆ ในจานในชามที่เรากินกันอยู่ทุกวันนั้น ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ กินตามปกติมันก็เป็นอาหาร แต่ถ้าเราเป็นทาสของลิ้น กินเพื่อบำรุงบำเรอลิ้น ปรุงนั่นปรุงนี่ เติมนั่นเติมนี่เพื่อให้อร่อยแก่ลิ้นแล้ว ของในจานนั้นก็กลายเป็นเหยื่อที่จะล่อลวงเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี้เป็นเหยื่ออันแรงร้าย นี้หมายความว่าคนไปหลงมันเข้าในทางสวยงาม เอร็ดอร่อย ทางวัตถุนั้น เลยกลายเป็นกินเหยื่อของพญามาร พญามารคือกิเลสตัณหาหรือสภาพที่จะทำลายล้างสัตว์ให้วินาศไป พญามารนั้นมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นเหยื่อสำหรับล่อลวงสัตว์โลก ถ้าสัตว์โลกโง่ ก็กินมันเข้าไปในฐานะที่เป็นเหยื่อ ก็ติดบ่วงของพญามาร ถ้าสัตว์นั้นฉลาดก็กินอยู่แต่พอดี อย่าไปหวังกินดีอยู่ดีให้มากไป การกินอย่างนี้ก็กลายเป็นกินอาหาร ไม่ใช่เป็นเหยื่อ ไม่ติดบ่วงของพญามาร พระพุทธเจ้าท่านทรงชี้แต่ในข้อที่ว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นไปในทางกามารมณ์ นั่นเป็นเหยื่ออันแรงร้ายในโลกนี้ เรียกว่า โลกามิส แปลว่า เหยื่อในโลก โฆรํ นี้แรงร้าย แต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายก็ยังสยบ มัวเมา อยู่ในเหยื่อนั้น นี้มันเป็นเรื่องทางวิญญาณ มันไม่ได้เจ็บปวดทางร่างกาย มันก็เลยสยบหลงใหลอยู่ในเบ็ดในบ่วงเหล่านั้นได้ สัตว์ทั้งหลายสยบอยู่ในเหยื่อโลกอันแรงร้ายมากขึ้นทุกที เราจะเห็นได้ว่าการศึกษาแขนงหนึ่งนั้นก้าวหน้ามาก คือการศึกษาที่จะประดิษฐ์ประดอยสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นการยั่วยวนให้คนหลงใหลมากขึ้น ซึ่งท่านทั้งหลายก็รู้ดีว่าหมายถึงอะไร โลกนี้จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยเหยื่อของพญามาร และสัตว์โลกทั้งหลายก็ยังสยบอยู่ในเหยื่อนั้นๆ พระพุทธเจ้าพูดจริงหรือไม่จริง ก็ลองคิดดู
ทีนี้ก็มีคำตอบของพระพุทธเจ้าแก่พราหมณ์คนหนึ่งที่เข้าไปทูลถาม เกี่ยวกับการที่โลกนี้มันยุ่งเหยิง โกลาหล วุ่นวาย เป็นทุกข์เป็นร้อนมากขึ้นทุกที ว่าเพราะเหตุอะไรหนอ พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้วว่าสัตว์โลกนี้มันสยบอยู่ในเหยื่อ เพราะฉะนั้นมันจึงมีจิตใจที่ผิดแปลกออกไปในทาง เอ่อ, ผิดแปลกออกไปจากธรรมชาติดั้งเดิม พระองค์ตรัสว่า เอตรหิ พฺราหฺมณ มนุสฺสา (นาทีที่ 48:15) พราหมณ์เอย มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ เวลานี้ อธมฺมราครตฺตา กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม วิสมโลภาภิภูตา โลภจัดจนจิตใจกวัดแกว่ง มิจฺฉาธมฺมปเรตา มุ่งแต่ในทางมิจฉาธรรม จึงเกิดการกระทำชนิดที่ทำให้จับอาวุธขึ้นล้างผลาญกันจนโลกนี้ร้างไป ถ้าลองฟังดูให้ดีว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พราหมณ์เอย มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้เวลานี้ กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม โลภจัดจนจิตใจกวัดแกว่ง มุ่งแต่ทางมิจฉาธรรม คำว่า เวลานี้ หมายถึงเวลาไหน พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี้หมายถึงครั้งพระพุทธกาลก็เป็นอย่างนี้แล้ว เรามาลองพิจารณาดูว่าสมัยนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราจะเห็นได้ว่า มันยิ่งไปกว่าสมัยพุทธกาลเสียอีก คนสมัยนี้กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม ยิ่งกว่าสมัยพุทธกาลไปเสียอีก คนสมัยนี้โลภจัดจนจิตใจกวัดแกว่งยิ่งไปกว่าครั้งพุทธกาลไปเสียอีก คนสมัยนี้มุ่งแต่ทางมิจฉาธรรม ถือสิ่งที่ผิดยิ่งไปกว่าสมัยพุทธกาลไปเสียอีก พิสูจน์ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าสมัยพุทธกาลไม่มีการทำอันตรายล้างผลาญกันเหมือนกับสมัยนี้ คนยังกลัวบาปกลัวกรรมมากกว่าสมัยนี้ คนกินอยู่แต่พอดี ไม่ก้าวหน้าในเรื่องกินดีอยู่ดีจนเลยเถิดเหมือนคนสมัยนี้ แต่คนสมัยนี้มีอะไรๆ มากยิ่งขึ้นไปทุกทีในทางที่จะ กำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม หมายความว่า ความกำหนัดยินดีนี้ ถ้ามันเป็นไปในทางธรรม พอเหมาะแก่ธรรม ก็ไม่เป็นอันตรายอะไร ถ้ามีความกำหนัดยินดีในธรรมก็ยิ่งดี เพราะว่าจะได้ประพฤติธรรม แล้วก็จะดับทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้กำหนัดยินดีในสิ่งที่มิใช่ธรรม ไม่เป็นธรรม หรือเป็นอธรรม คือถือว่าได้แล้วก็เป็นดี จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ไม่รู้ไม่ชี้ โดยถือเสียว่าถ้าได้แล้วก็เป็นดี อย่างนี้เรียกว่ากำหนัดยินดีไม่เป็นธรรม เอากิเลสตัณหาของตนเป็นประมาณ ส่วนข้อที่ว่า โลภจัดจนจิตใจกวัดแกว่ง นั้นหมายความว่า ความโลภมันครอบงำมากเกินไปจนจิตใจตั้งหลักไม่ได้ ต้องกวัดแกว่ง กระสับกระส่ายไปตามอำนาจของความโลภนั้น คนสมัยนี้มีลักษณะอย่างนี้ คือไม่ถือธรรมเป็นหลัก ถือเอาประโยชน์ตนเป็นหลัก ถือเอาประโยชน์ตนว่าอยู่เหนือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เหนือศาสนา เหนือความถูกต้อง เหนืออะไรทั้งหมด เพราะเขาถือศาสนาประโยชน์ตน นี้เรียกว่า โลภจัดจนจิตใจกวัดแกว่งออกไปจากธรรม ส่วนข้อที่ว่า มุ่งแต่ทางมิจฉาธรรม นั้นหมายถึงการที่ว่าความมุ่งหมายต่อไปในอนาคตข้างหน้าโน้น ก็มุ่งหมายแต่ในทางผิดธรรม คือถือเอา ได้เป็นดี นี้คือข้อที่ว่ามนุษย์กำลังเป็นอยู่อย่างนี้ มันจึงสร้างปัญหาต่างๆ นานาให้เกิดขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็อวดดีว่าตนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ที่จริงปัญหาเหล่านี้มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่าธรรม มนุษย์กำลังทำสงครามกับสิ่งที่เรียกว่า พระธรรมหรือพระเจ้า แต่มนุษย์ก็โง่จนถึงขนาดที่จะเข้าใจไปว่า เราทำสงครามกันในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เราทำสงครามเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันนี้เป็นความคิดที่โง่ ที่จริงมนุษย์กำลังทำสงครามกับพระธรรม กำลังทำสงครามกับพระเจ้า พระธรรมและพระเจ้าก็เป็นฝ่ายชนะเรื่อย คือทำให้มนุษย์นี้มีความทุกข์ยาก เจ็บปวด ลำบาก อย่างสมน้ำหน้ามันทีเดียว มันมีความโง่เท่าไรที่ไปทำสงครามกับพระเจ้าหรือพระธรรม ฉะนั้นจึงมีความทุกข์ยากลำบากเต็มไปทั้งโลกอย่างนี้ โลกทุกวันนี้จึงมีลักษณะอย่างนี้ โลกในวันที่เรากำลังทำมาฆบูชากันอยู่ที่นี่ เวลานี้ นั้นมันมีลักษณะอย่างนี้ มาเปรียบดูแล้วก็กลายเป็นโลกที่ไม่เอื้อเฟื้อในหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งทรงแสดงในวันนี้
ทีนี้เราก็จะได้พิจารณาต่อไปถึงคนผู้โลภจัดแล้วอย่างนี้ ว่าจะเป็นคนลามกจริงเหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นหรือหาไม่ เกี่ยวกับมนุษย์ผู้มีความโลภนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา ผู้มีปัญญาแต่เพื่อประโยชน์ของตนนั้นเป็นคนสกปรก อตฺตตฺถปญฺญา มีปัญญาแต่ในเรื่องประโยชน์ของตนนั้น อสุจี เป็นมนุษย์สกปรก เราลองดูให้กว้างออกไปว่า มนุษย์สมัยนี้มีปัญญาชนิดไหน มีการศึกษาที่คุยอวดกันว่าเจริญก้าวหน้าเต็มไปทั้งโลก แต่ว่าการศึกษานั้นมันเพื่อประโยชน์ตนทั้งนั้น มันมีปัญญาแต่เพื่อประโยชน์ตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมนุษย์สมัยนี้จึงเป็นคนสกปรกที่สุดเพราะว่ามีปัญญาแต่เพื่อประโยชน์ตน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา มนุษย์ที่มีปัญญาแต่เพื่อประโยชน์ตน เป็นคนสกปรก เมื่อมนุษย์ในโลกนี้มีแต่ปัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ตนอย่างนี้แล้ว จะไม่ให้รบราฆ่าฟันกันได้อย่างไร ต่างคนต่างฝ่ายก็แสวงหาประโยชน์ตน รักษาประโยชน์ตน แล้วก็ยังล้วงเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นประโยชน์ของตนอย่างไม่มีขอบเขตด้วย เลยไม่ต้องการจะเผื่อแผ่แก่ผู้ใด สมตามพระพุทธภาษิตว่า พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ พวกคนพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญการเผื่อแผ่ มนุษย์ในโลกสมัยนี้มีการเผื่อแผ่หรือไม่ ลองตั้งปัญหาถามตัวเอง การเผื่อแผ่นี้ต้องทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เพื่อเอาหน้าเอาตา ไม่ใช่เพื่อเอาเกียรติ ไม่ใช่หว่านโปรยออกไปเพื่อซื้อเขามาเป็นพวกเรา แล้วได้ช่วยกันทำเรื่องประโยชน์ตน ดูให้ดีๆ ว่าการเผื่อแผ่รายใหญ่ๆ ในโลกนี้ มันเพื่อซื้อเอาเขามาเป็นพวกเรา แล้วมาสมคบกันแสวงหาประโยชน์ตน อย่างนี้ไม่เรียกว่าการเผื่อแผ่ การทำบุญให้ทานสักบาทหนึ่งแล้วเพื่อเอาสวรรค์วิมาน นี้ไม่ใช่การเผื่อแผ่ ทำบุญให้คนขอทานสัก ๕ สตางค์ แล้วก็ว่าจะได้เอาวิมานสักหลังหนึ่ง อย่างนี้ไม่ใช่การเผื่อแผ่ การบริจาคทรัพย์เพื่อมีหน้ามีตา มีเกียรติในสังคมนั้น มันเป็นเรื่องซื้อเกียรติเอามาใส่ตน ไม่ใช่เรื่องการเผื่อแผ่ ไม่ใช่การให้ทานที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ คนพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญทาน นั้นหมายความถึงข้อนี้ว่า การให้ทานที่แท้จริงนี้ คนพาลไม่ชอบ คนพาลชอบการให้ทานที่ใช้เป็นบ่วงคล้องคอผู้อื่นมาเป็นพวกของตน หรือจะเอาประโยชน์อย่างอื่นชนิดที่ว่าเป็นการค้ากำไรเกินควรด้วยกันทั้งนั้น นี่คนโลภจึงไม่ชอบการให้ทาน คนโลภชอบแต่การลงทุนค้าหากำไรเกินควร คนโลภไม่ชอบการให้ทาน เลยกลายเป็นคนพาลไปเพราะเหตุนี้ แล้วจะหวังอย่างไรกัน หวังว่าถ้าได้มาไว้มากๆ แล้ว จะมีความสุขอย่างนั้นหรือ พระพุทธเจ้าหรือบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้กล่าวไว้ว่า เนกาสี ลภเต สุขํ ผู้กินคนเดียว ย่อมไม่ได้ความสุข ถ้าแปลอย่างสมัยนี้ก็แปลว่า ผู้กอบโกยไว้กินคนเดียวนั้น ไม่มีโอกาสที่จะพบกันกับความสุข ไปดูเถิดว่าใครบ้าง กอบโกยไว้กินแต่คนเดียวนั้นจะมีความสุขได้อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เช่นนี้ เป็นความจริงหรือไม่
ทีนี้เราดูกันต่อไปว่า โลกนี้มันอยู่ใต้อำนาจของใคร คืออยู่ใต้อำนาจของคนพาล หรือว่าอยู่ใต้อำนาจของบัณฑิต ถ้าโลกนี้อยู่ใต้อำนาจของคนพาล ก็เป็นที่น่าเวทนาสงสารหรือหมดหวังในการที่โลกนี้จะมีสันติภาพได้ พระพุทธเจ้าท่านยังได้ตรัสไว้ตรงกันเป็นอันเดียวกับที่บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนพระพุทธเจ้าได้กล่าว คือได้ตรัสว่า พาโล อปริณายโก คนพาลนั้นถึงเป็นผู้นำ ก็มิใช่ผู้นำ ฟังดูให้ดีๆ ว่า คนพาลนั้นถึงเป็นผู้นำ ก็มิใช่ผู้นำ หมายความว่าคนพาลนั้นแม้จะเอามาเป็นผู้นำมันก็ไม่ใช่ผู้นำอยู่นั่นเอง เพราะว่าคำว่า ผู้นำ นั้นต้องหมายความว่า นำไปให้รอด เช่น พระพุทธเจ้านำสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความรอด หรือพระเยซูคริสต์นำสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความรอด นำอย่างนี้จึงจะเรียกว่าผู้นำ ส่วนคนพาลนั้นถึงจะจับเอาตัวมาเป็นผู้นำ มันก็ไม่ใช่ผู้นำอยู่นั่นเอง เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ คนพาลที่ไร้ปัญญานั้นย่อมนำไปในทางที่ไม่ควรจะนำ อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ คนพาลที่ไร้ปัญญานั้นย่อมนำไปในสิ่งที่ไม่ควรนำ นั่นแหละถึงแม้จะจับตัวมาเป็นผู้นำ มันก็ไม่ใช่ผู้นำ จึงมีพระบาลีกล่าวไว้ต่อไปอีกว่า น สาธุ พลวา พาโล ยูถสฺส ปริหารโก ซึ่งแปลว่า คนพาลแม้จะได้อำนาจกำลังมาบริหารหมู่ ก็ไม่มีอะไรดี ข้อนี้หมายความว่า ในบางโอกาสบางสมัย คนพาลที่ไม่มีปัญญานั้นก็มีอำนาจ มีกำลัง ปกครองหมู่บริหารหมู่ แต่แล้วมันก็ไม่มีอะไรดีอยู่นั่นเอง นี่แหละเพราะเหตุใดลองคิดดูเถิด เพราะเหตุว่ามันเต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยความต้องการ มีปัญญาแต่เพื่อประโยชน์ตน และเป็นคนสกปรก จึงเป็นผู้ที่นำสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้ไปสู่ความสงบสุขไม่ได้
เราจะได้พิจารณากันต่อไปในข้อที่ว่า คนเรานี้ทำบาปลงไปได้เพราะเหตุใด เราก็พูดว่า กลัวบาป ไม่อยากจะเป็นคนบาป แต่แล้วทำไมก็ยังเป็นคนบาป พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ปาปานิ กมฺมานิ กโรนฺติ โมหา คนทำบาปเพราะโง่, คนทำบาปเพราะโง่ ท่านพูดสั้นๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นความสำคัญมันจึงอยู่ที่ความโง่หรือความฉลาด ถ้ามีความโง่แล้วก็เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นบาปเป็นบุญไปทันที ถ้าฉลาดแล้วก็รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจึงทำบาปไม่ได้ ทีนี้เมื่อกลายเป็นคนบาป กลายเป็นผู้ทำบาปจนเคยชินเป็นนิสัยแล้ว มันก็ฆ่าตัวเอง ทำลายตัวเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เพราะอยากได้ทรัพย์ที่ตัวต้องการ คนโง่ก็ฆ่าตนเหมือนกับฆ่าผู้อื่น เมื่อตัวอยากได้ทรัพย์ที่ตัวต้องการด้วยอำนาจของความโง่แล้ว ความโง่นั้นก็ฆ่าตนเหมือนกับที่เขาฆ่าผู้อื่น คนพาลอยากได้ทรัพย์ ไปเป็นโจรปล้นเขามา มันก็เป็นการฆ่าตน ยิ่งไปกว่าคนที่ตนไปฆ่าเขา หรืออย่างน้อยก็เท่ากัน เพราะว่าความโง่หรือบาปนั้นย่อมทำลายในส่วนลึกของจิตใจ คือทำให้กลายเป็นคนพาลยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เป็นคนที่ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเหลือ กลายเป็นคนไม่จริง คือเป็นคนโกหก เมื่อเป็นคนโกหกแล้วการที่จะไม่ทำบาปนั้นเป็นไม่มี สมตามพระบาลีที่ได้กล่าวไว้ว่า นตฺถิ อการิยํ ปาปํ มุสาวาทิสฺส ชนฺตุโน ซึ่งแปลว่า คนโกหกไม่ทำบาปนั้นไม่มี เมื่อเป็นคนโกหกแล้วย่อมทำบาปได้ทุกอย่างทุกประการ เดี๋ยวนี้เราอยากจะมองให้กว้างออกไปว่า ในโลกนี้เต็มไปด้วยคนโกหก ที่โกหกอย่างร้ายแรงที่สุดก็คือ คู่สงคราม คู่สงครามทั้ง ๒ ฝ่ายต้องพูดโกหก เหมือนที่ใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น วิทยุ เป็นต้น ด่าทอกัน หลอกลวงกัน โฆษณาชวนเชื่อแก่กัน นี้คือคนโกหก เพราะว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นคำโกหกทั้งนั้น ผู้พูดโกหกเช่นนี้จะไม่ทำบาปนั้นไม่มี เพราะว่าการโกหกนั้นมันก็เป็นบาปอยู่แล้ว และเมื่อมีจิตใจต่ำทรามถึงขนาดโกหกได้อย่างนี้แล้ว ก็ทำบาปทุกอย่างได้
ขอให้ท่านทั้งหลาย จงได้พิจารณาดูตามพระพุทธภาษิตที่ได้ยกเอามากล่าวให้ฟังนี้ ว่ามันเป็นเรื่องของความโลภย่อมจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว ดังพระบาลีข้อสุดท้ายนี้ว่า อนุปาเยน โย อตฺถํ อิจฺฉติ โส วิหญฺญติ หาประโยชน์ไม่ถูกในทางธรรมแล้วย่อมเดือดร้อน ท่านว่า หาประโยชน์ไม่ถูกในทางธรรมแล้วย่อมเดือดร้อน เดี๋ยวนี้ทุกคนกำลังทำไปเพื่อประโยชน์ของตน แต่มันไม่ถูกในทางธรรมแล้วมันก็เดือดร้อน ถ้าเป็นเรื่องใหญ่มันก็เดือดร้อนกันไปทั้งโลก เพราะว่าต่างฝ่ายต่างหาประโยชน์ไม่ถูกในทางธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคนโลภจัดจนลามก
ทีนี้มาดูกันอีกทางหนึ่งถึงเรื่องคนที่ไม่โลภ เป็นคนดี เมื่อความโลภเป็นความชั่ว คนโลภเป็นคนชั่ว คนไม่โลภก็คือคนดี พระพุทธเจ้าท่านจึงสรรเสริญบุคคลผู้ไม่โลภ และถือเอาลักษณะที่ไม่โลภนั่นแหละว่าเป็นลักษณะของคนดี ทรงสอนว่า ทเทยฺย ปุริโส ทานํ เป็นคนควรให้ทาน, เป็นคนควรให้ทาน นี้หมายความว่า เป็นคนควรสละออกไป เผื่อแผ่แก่ผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ อย่าเป็นคนกอบโกยเอาไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้ในสมัยนี้ก็มีผู้กล่าวว่า (นาทีที่ 1:06:50) มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณา สโห อัธยาศัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณานั้นคือลักษณะของมหาบุรุษ มหาบุรุษคือบุคคลที่น่านิยมนับถือ น่าบูชา น่าถือเอาเป็นผู้นำเพราะเป็นมหาบุรุษ ลักษณะของมหาบุรุษนั้น คืออัธยาศัยที่ทนไม่ได้เพราะความกรุณา หมายความว่า มหาบุรุษย่อมทนอยู่ไม่ได้ในการที่จะไม่ช่วยเหลือผู้อื่น แต่เดี๋ยวนี้ในโลกนี้ มหาบุรุษเขาให้ความหมายกันไปเสียอย่างอื่นแล้ว ให้ความหมายไปในทางที่มีอำนาจวาสนา บางพวกก็ว่า คนที่กอบโกยไว้ได้มากนั่นแหละเป็นมหาบุรุษ นี้ก็เพราะว่าความโลภครอบงำจิตใจมากเกินไป อย่างไรๆ ก็อย่าลืมเสียว่า ท่านได้กล่าวไว้เป็นหลักว่า อัธยาศัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณานั้นเป็นลักษณะของมหาบุรุษ พระบาลีข้อหนึ่งยังมีว่า มหาการุณิโก นาโถ ผู้ที่เป็นที่พึ่งของคนนั้น ย่อมมีกรุณาใหญ่ ท่านฟังดูให้ดีว่า ผู้ที่จะเป็นที่พึ่งของมนุษย์ได้นั้นย่อมมีความกรุณาอันใหญ่หลวง เช่น พระพุทธเจ้ามีความกรุณาอันใหญ่หลวง จึงถือว่าเป็นที่พึ่งของมนุษย์ แม้ว่าเราจะมีมหาบุรุษคนใดคนหนึ่งเป็นที่พึ่งกันในเวลานี้ คนนั้นก็ต้องมีความกรุณาอันใหญ่หลวง อย่างบริสุทธิ์แท้จริง จึงจะเป็นที่พึ่งได้
มีพระพุทธภาษิตที่น่าสนใจสืบต่อไปอีกว่า พหูนํ วต อตฺถาย สปฺปญฺโญ ฆรมาวสํ ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญาแม้ครองเรือนก็เพื่อประโยชน์แห่งมหาชน ท่านต้องฟังดูให้ดีๆ ว่าผู้มีปัญญาในที่นี้ท่านหมายถึง ฆราวาสผู้ครองเรือน และยังกล่าวว่า ผู้มีปัญญาแม้ครองเรือนก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งมหาชน ไม่ใช่ครองเรือนเพื่อประโยชน์แห่งตน เดี๋ยวนี้คนเป็นฆราวาสเพื่อประโยชน์แห่งตน เห็นแต่ประโยชน์แห่งตน โดยถือกันเสียว่า ที่เป็นฆราวาสนี้ก็เพื่อจะสร้างประโยชน์แห่งตน มันเลยไขว้กันอยู่ ตรงกันข้ามกับหลักของพระธรรม หรือแม้ที่สุดแต่หลักของธรรมชาติ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า การที่มนุษย์เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มันต้องเพื่อความสงบสุขของมนุษย์นั้นเอง ฉะนั้นเราเป็นฆราวาสด้วยกันแต่ละคนๆ นี้ ก็เป็นฆราวาสเพื่อจะให้เกิดประโยชน์แก่ฆราวาสที่เป็นมหาชนทั้งหมดนั้น ถ้าเราจะเห็นแต่ประโยชน์ตนคนเดียวแล้ว เราก็เป็นมนุษย์ไปไม่ได้ จะเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาไปไม่ได้ ดังพระบาลีสืบต่อไปว่า สนฺโต สตฺตหิ เต รตา คนดียินดีในการเกื้อกูลมนุษย์ คนดียินดีในการเกื้อกูลสัตว์ เดี๋ยวนี้คนไม่ดีก็ไม่เกื้อกูลใคร หวังอยู่แต่ประโยชน์ตนเท่านั้น แม้ว่าจะบริจาคออกไป ก็ไปซื้อเขามาเป็นพวกตน ช่วยกันแสวงหาให้ประโยชน์แก่ตน อย่างนี้ผิดหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ดังที่กล่าวไว้ในบาลีพระธรรมบทว่า น กามกามา สปยนฺติ สนฺโต คนดีย่อมไม่หว่านล้อมเพื่อเอากามมาเป็นประโยชน์ตน, คนดีย่อมไม่หว่านล้อมเพื่อเอากามมาเป็นประโยชน์ตน คนดี หมายความว่าคนดีย่อมไม่พูด ไม่ทำ ไม่คิด เพื่อจะหว่านล้อมใคร แล้วเพื่อจะได้ซึ่งสิ่งที่ตัวใคร่นั้นมาเป็นประโยชน์ของตน เดี๋ยวนี้มีแต่การหว่านล้อมกันในทางพูดจา ทางการกระทำ หรืออะไรต่างๆ นานา เพื่อให้ตนได้ประโยชน์ตามที่ตนต้องการ นี้ไม่ใช่ลักษณะของคนดี ส่วนมากมีแต่หว่านล้อมเขาเพื่อเอาประโยชน์ของเรา คนที่ช่วยเหลือผู้อื่นโดยบริสุทธิ์ใจนั้นมีน้อย จึงมีพระพุทธภาษิตสืบต่อไปว่า หิรินิเสโธ ปุริโส โกจิ โลกสฺมิ วิชฺชติ แปลว่า ผู้ที่เว้นจากความชั่วเพราะความละอายแก่ใจเอง ในโลกนี้มีน้อยเหลือเกิน ผู้ที่เว้นจากการทำความชั่วเพราะมีความละอายแก่ใจนั้น ในโลกนี้มีน้อยเหลือเกิน คนเว้นจากความชั่วเพราะกลัวอย่างอื่น มิใช่ความละอายแก่ใจเองนั้น พอจะหาได้ มีมากอยู่ แต่ผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่กล้าทำชั่วเพราะละอายแก่ใจตัวเองผู้เดียวนี้ ช่างมีน้อยเหลือเกิน นี้คือพระพุทธภาษิตที่แสดงว่า คนไม่โลภนั้นเป็นอย่างไร คนที่เรียกว่ามีปัญญาจะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลายได้นั้น จะต้องมีลักษณะอย่างไร
ทีนี้เราก็มาถึงคำสั่งสอนที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ นานาอันเกี่ยวกับข้อนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดีอีกครั้งหนึ่งเถิด ซึ่งอาตมาจะได้ประมวลคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมาพอเป็นเครื่องศึกษา เป็นความรู้สำหรับการศึกษาและการปฏิบัติสืบไป เพื่อจะแก้ไขเสียซึ่งความเป็นคนโลภเกินไปแล้วลามก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อตฺตานํ นาติ วตฺเตยฺย เป็นคนไม่ควรจะลืมตน ฟังให้ดีๆ ว่า เป็นคนไม่ควรจะลืมตน ถ้าลืมตนก็ไม่ใช่คนนั่นเอง ถ้าใครจะเป็นคน คือเป็นมนุษย์แล้วต้องไม่ลืมตน ลืมตน หมายความว่า ลืมไปว่าเราเป็นมนุษย์แล้วก็ไปทำอย่างสัตว์เดรัจฉาน อย่างนี้เรียกว่าลืมตน สัตว์เดรัจฉานนั้นไม่มีสติปัญญาความรู้ ความรับผิดชอบชั่วดีอะไร เอาแต่ได้กินก็แล้วกัน เขามีคำกล่าวไว้ว่า อาหารนิทฺทา ภย เมถุนนญฺจ การแสวงหาอาหาร กินอาหารก็ดี การแสวงหาความสุขจากการนอนก็ดี การขี้ขลาดวิ่งหนีอันตรายก็ดี การประกอบเมถุนธรรมระหว่างเพศก็ดี สามาญฺญเมตปฺปสุภิ นรานํ ทั้ง ๔ อย่างนี้มีได้เสมอกันแม้ในหมู่คนกับสัตว์เดรัจฉาน ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนผิดแปลกแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ธมฺเมน หีนา ปสุภิ สมานา เมื่อปราศจากธรรมะเสียแล้ว คนกับสัตว์เดรัจฉานก็เท่ากัน นี้คือข้อที่ต้องไม่ลืมตน ถ้าลืมตนแล้วคนก็จะเท่ากับสัตว์เดรัจฉาน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ยทตฺต ครหี ตทกุพฺพมาโน แปลว่า ติเตียนตนได้เพราะเหตุใด ไม่ควรกระทำซึ่งสิ่งนั้น การที่คนไม่ลืมตนนั้น ก็คือมันนึกได้อยู่เสมอว่าตัวเราเองติเตียนเราเองได้เพราะข้อใด เราอย่าทำข้อนั้นเลย อย่าทำสิ่งนั้นเลย คนเดี๋ยวนี้เหยียบรู้ รู้อยู่ว่านี้ไม่ดี นี้เป็นความชั่ว แต่ก็พ่ายแพ้แก่อำนาจของกิเลส ก็เหยียบความรู้ คือเหยียบธรรมะไปทำความชั่ว ทั้งที่รู้อยู่ว่า นี้มันเป็นความชั่ว ตนทำเข้าแล้วก็รังเกียจตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้ารังเกียจตนเองได้ด้วยเหตุใดแล้ว อย่าได้ทำสิ่งนั้นเลย ถ้าพวกเราจะถือหลักอย่างนี้ไว้แล้ว โลกนี้ก็จะกลายเป็นโลกของพระอริยเจ้าไปทันที เดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ได้นิดเดียวเท่านั้น ก็ทำสิ่งที่ตนเองก็รังเกียจตนเองได้ จึงมีพระบาลีสืบต่อไปเกี่ยวกับข้อนี้ว่า นฆา สเหตูปิ กเรยย ปาปัง แปลว่า ไม่ควรทำบาปเพราะปากและท้อง, ไม่ควรทำบาปเพราะปากและท้อง ฟังดูให้ดีๆ ว่า ทำบาปเพราะปากและท้องนั้นไม่ควรกระทำ เดี๋ยวนี้ทำบาปเพราะเห็นแก่ปากและท้อง ปากและท้องนี่มีความหมายกว้าง หมายถึง ความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไปทั้งหมดเลย แต่ความหมายสั้นๆ ก็คือว่า กามารมณ์ จึงได้ความชัดลงไปว่า ไม่ควรทำบาปเพราะเห็นแก่กามารมณ์ หรือแม้ที่สุดแต่เห็นแก่การกิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง ก็อย่าได้ทำบาปเลย
มีพระบาลีที่น่าสนใจอย่างยิ่งสืบต่อไปว่า ผาตึ กยิรา อวิเหฐยํ ปรํ จงทำแต่กำไรที่ไม่เป็นการเบียดเบียนใคร จงหาแต่กำไรที่ไม่เป็นการเบียดเบียนใคร ข้อนี้หมายความว่า ท่านไม่ได้สอนให้หยุดค้าขายหรือหยุดทำกำไร ท่านอนุญาตให้ทำกำไร แต่ให้ทำชนิดที่ไม่เบียดเบียนใคร ถ้าไปทำชนิดที่เบียดเบียนใครแล้ว ท่านถือว่าเป็นการขาดทุน เช่น ไปปล้นไปโกงเขามาได้สักหมื่น สักแสน สักล้าน อย่างนี้พวกโจรก็คิดว่าเราได้กำไร แต่พระอริยเจ้าท่านถือว่าเป็นการขาดทุนยิ่งกว่าล้มละลายเพราะเป็นการทำชั่ว ทำให้หมดความหมายของความเป็นมนุษย์ การสูญเสียเช่นนี้เป็นการสูญเสียมากกว่าการได้มาซึ่งเงินนั้น ดังนั้นท่านจึงสอนให้ทำกำไร แต่ต้องเป็นชนิดที่ไม่เบียดเบียนใคร ขืนแสวงหากำไรชนิดที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นการฆ่าตัวเอง ดังพระพุทธภาษิตว่า หนนฺติ โภคา ทุมฺเมธํ โภคทรัพย์ย่อมฆ่าคนโง่เสมอไป, โภคทรัพย์ย่อมฆ่าคนโง่เสมอไป ฟังดูให้ดีๆ ว่าโภคทรัพย์ที่ได้มา ที่น่ารักน่าพอใจนั้น ย่อมฆ่าคนโง่เสมอไป แต่คนโง่ก็คิดว่าเราร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์ เพราะเหตุฉะนี้แหละจะต้องระมัดระวังให้ดี อย่าทำเล่นๆ กับกิเลสตัณหาหรือความประมาท จะต้องทำให้พอเหมาะพอดี ให้ถูกต้องตามวิถีทางของธรรมะ และอย่าได้คิดว่า การทำบาปทำชั่วนี้จะมีทางรอดตัวไปจากบาป ท่านตรัสไว้ว่า นตฺถิ โลเก รโห นาม ปาปกมฺมํ ปกุพฺพโต ที่ลับเพื่อทำความชั่วนั้นไม่มีในโลกนี้ อธิบายว่า คนทำความชั่วแล้วจะพ้นไปจากผลของความชั่วนั้นไม่มีในโลกนี้ ที่ที่คนทำความชั่วแล้วจะไม่ต้องรับผลของความชั่วนั้น หาไม่ได้ในโลกนี้ ไม่ได้รับเดี๋ยวนี้ ก็ต้องได้รับในวันหน้าเป็นแน่นอน เพราะไม่มีเครื่องต้านทานที่จะทำให้คนชั่วไม่ต้องได้รับผลแห่งความชั่ว เมื่อเรามารู้สึกว่าที่ลับสำหรับทำความชั่วไม่มีแล้ว ก็จะได้เกิดความกลัว ไม่กล้าทำความชั่ว
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสถึงมูลเหตุที่จะทำให้คนไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวงไว้ เป็นข้อสรุปสุดท้ายว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย แปลว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เดี๋ยวนี้เรายึดมั่นถือมั่นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ที่น่ารักก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยความรัก ที่น่าโกรธก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยความโกรธ ที่น่าเกลียดก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยความเกลียด ที่น่ากลัวก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยความกลัว จึงไม่มีความสงบสุขเลย จะต้องมีสติปัญญารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในลักษณะที่เป็นของ เป็นอยู่ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือของตน หรือเดือดจัดขึ้นมาถึงกับเป็นตัวกูหรือของกู เดี๋ยวนี้โลกนี้กำลังเดือดร้อนอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกู ด้วยกันทั้งนั้น ยึดมั่นว่าตัวกูแล้วมันก็ไม่ยอมใคร มันก็รักษาหน้ารักษาตา ยกหูชูหางไว้ไม่ยอมลดลง มันจึงยอมกันไม่ได้ มันตกลงเรื่องสันติภาพกันไม่ได้ก็เพราะว่าแต่ละฝ่ายมีความยึดมั่นเรื่องตัวกู จึงทะเลาะวิวาทกันถึงกับฆ่ากันตายโดยที่รู้อยู่ว่าที่แท้ก็ไม่ควรกระทำ แต่มันกลัวจะเสียหน้าเสียตา กลัวจะเสียเกียรติของตัวกู มันจึงยอมกระทำความชั่วและวินาศลงไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นในทางที่เป็นตัวกู อีกทางหนึ่งก็ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของกู นี้คือโจรที่ปล้นธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันของธรรมชาติ แต่คนยึดมั่นถือมั่นชนิดนี้ มันปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นของกู ธรรมชาติจึงตบหน้าให้ คือทำให้คนนี้มีความทุกข์ นอนไม่หลับ ไม่รู้จักความสงบเสียเลย นี่อย่าได้เป็นโจรปล้นธรรมชาติซึ่งๆ หน้า เอามาเป็นของกู ธรรมะหรือธรรมชาติมันจะตบหน้าให้ จะลงโทษให้ พวกที่ถือพระเจ้าเป็นใหญ่เป็นหลัก เขาก็ไม่กล้าคิดว่าสิ่งใดเป็นของตัวกูเพราะว่าทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า แม้แต่ชีวิตนี้ ชีวิตของเรานี้ ก็ยังเป็นของพระเจ้า แล้วจะเอาส่วนไหนมาเป็นตัวกูหรือของกู ถ้านับถือพระเจ้าจริง ก็ต้องเชื่อตามที่พระเจ้าว่า ว่าทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า แม้แต่ชีวิตของคนทุกคนก็เป็นของพระเจ้า แม้แต่เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ บุตร-ภรรยา อันไหนจะมาเป็นของตัวกู ในศาสนาคริสเตียนแท้ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลแท้ๆ ก็ยังมีสอนว่า มีภรรยาก็จงให้เป็นเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงเป็นให้เหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความทุกข์ก็จงเป็นเหมือนกับไม่มีความทุข์ มีความสุขก็จงเป็นเหมือนกับไม่มีความสุข ซื้อของที่ตลาดแล้วอย่าได้เอาอะไรมา นี่แหละพุทธบริษัททุกคนจะต้องฟังให้ดี จะต้องเข้าใจไว้ มิฉะนั้นแล้วจะเสียเกียรติของความเป็นพุทธบริษัท เพราะว่าพวกคริสเตียนที่ปฏิบัติได้อย่างนั้น กลับเป็นพุทธบริษัทกว่าพวกพุทธบริษัทที่พูดแต่ปาก คือยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ไว้เป็นของกูอยู่เสมอไป คำกล่าวประโยคนั้นที่ว่า ซื้อของที่ตลาดแล้ว อย่าเอาอะไรมา นั้นหมายความว่า คริสเตียนที่ดีย่อมมีความเชื่อ มีความแน่ใจว่าทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า แม้ว่าเราจะใช้เงินนี้ซื้อเอามาจากตลาด มันก็ยังเป็นของพระเจ้าอยู่นั่นเอง เป็นของพระเจ้าอยู่ตามเดิม เราซื้อแล้วหิ้วมาบ้าน มากินมาใช้ มันก็ยังเป็นของพระเจ้าอยู่นั่นเอง ไม่กล้ามีความคิดว่า นี้เป็นของเรา นั่นแหละจึงกล่าวว่า ซื้อของที่ตลาดแล้วไม่ได้เอาอะไรมาเป็นของกู คงเป็นของพระเจ้าอยู่ตามเดิมดังนี้ มีทรัพย์สมบัติก็เป็นทรัพย์สมบัติของพระเจ้า ไม่ใช่ของเรา มีบุตร ภรรยา สามี ก็เป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของเรา มีสุขมีทุกข์ก็เป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของเรา ถ้าใครรู้สึกดังนี้ย่อมไม่มีทางที่จะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีทางที่จะเห็นแก่ตัว มีแต่จะทำตามคำสั่งของพระเจ้าว่าให้ทำอย่างไรกับบุตรภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติ ข้าวของเหล่านั้น แล้วก็ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นแก่ฝ่ายใดๆ เลย
นี่แหละคือคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ เป็นคำสรุปสุดท้ายว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู ถ้าพวกนายทุนก็ตาม พวกกรรมกรก็ตาม มีความรู้ในข้อนี้แล้ว มันก็จะหมดความเป็นนายทุน หมดความเป็นกรรมกร แต่จะเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีต่อกันและกัน ไม่มีสงครามระหว่างนายทุนกับกรรมกรอีกต่อไป ดังนี้
ในที่สุดก็ไม่มีอะไรที่จะต้องพูด นอกจากว่า พระพุทธภาษิตมีอยู่ว่า จาค มานุพฺรู เหยฺย จงพอกพูนการบริจาค, จงพอกพูนการบริจาค คือว่าเผื่อแผ่ออกไปเพื่อเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน เหมือนกับว่าเป็นคนๆ เดียวกัน อย่าได้คิดว่า มีตัวกู มีของกู มีสู มีแก ให้ถือว่าสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มีปัญหาอย่างเดียวกัน มีหัวอกอย่างเดียวกัน มีศัตรูร่วมกันคือกิเลส ศัตรูอื่นไม่มีนอกจากกิเลส เราต้องร่วมมือกันในการที่จะกำจัดกิเลสเสีย แล้วทุกคนในโลกก็จะมีความสุขเพราะการเข้าถึงพระเจ้าหรือการเข้าถึงพระธรรม มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ดังนี้
ทีนี้ต่อไปอีก ก็จะได้พูดกันถึงเหตุผลว่าทำไมเราจะต้องปฏิบัติตนอย่างนี้ ข้อนี้จะถือเอาตามพระพุทธภาษิตในคัมภีร์มัชฌิมนิกายก็ได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ แปลว่า เมื่อคุณตาย ทรัพย์สักนิดหนึ่งก็ไม่ตามคุณไป ฟังดูให้ดีว่า น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ เมื่อคุณตาย ทรัพย์สักนิดหนึ่งก็ไม่ตามคุณไป แล้วทำไมคุณจะมาโง่ นี้อธิบายว่าแล้วทำไมคุณจะมามัวโง่ เป็นทาสของทรัพย์ ทำความชั่วเพราะเห็นแก่ทรัพย์ ทำบาปเพราะเห็นแก่ทรัพย์ มีความโลภในทรัพย์เกินไปจนลามก อย่าลืมว่า อติโลโภ หิ ปาปโก เพราะว่าความโลภเกินไปนั้นลามก มีพระพุทธภาษิตในทีฆนิกายว่า อฑฺฒา เจว ทฬิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุ ปรายนา (นาทีที่ 1:29:00) แปลว่า ทั้งมั่งมี ทั้งยากจน ล้วนแต่จะต้องตายกันทุกคน, ทั้งมั่งมี ทั้งยากจน ล้วนแต่จะต้องตายกันทุกคน นี้หมายความว่า ความมั่งมีก็ไม่ช่วยให้คนไม่ต้องตาย ความยากจนก็ไม่ได้ป้องกันมิให้คนจะต้องตาย ทั้งคนมีและคนจนมันก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพวกนายทุนและกรรมกรจะมานึกถึงข้อนี้กันบ้างแล้ว ก็จะหยุดรบกันทันที เพราะว่าทั้งสองฝ่ายนั้นมีศัตรูร่วมกันคือความตาย เดี๋ยวนี้ไม่หันหน้ามาหาศาสนาของตนๆ เสียเลย เตลิดเปิดเปิงออกไปนอกศาสนา จนถือการได้เป็นศาสนา ถือการได้กินได้เล่นตามใจตัวเป็นศาสนา คนใดที่พูดว่าตนไม่มีศาสนานั้นเป็นคนโกหก เพราะว่าทุกคนมีสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดนั่นแหละเป็นศาสนา พวกฝรั่งหนุ่มๆ ที่มาที่นี่ ที่มาคุยอวดว่าตนไม่มีศาสนา อาตมาคิดว่าเขาเป็นคนโกหก เขาชอบอย่างไรสิ่งนั้นเป็นศาสนาของเขา ถ้าเขาชอบเงิน เขาก็มีเงินเป็นศาสนา ถ้าเขาชอบเพศตรงกันข้าม เขาก็มีเพศตรงกันข้ามเป็นศาสนา ทุกคนจะว่างจากศาสนาไม่ได้ ที่เขาพูดว่าไม่มีศาสนานั้นจึงไม่จริง ถ้าเขาทิ้งศาสนาคริสเตียนเสีย เขาก็มาถือศาสนาเงิน ศาสนาของ ศาสนากิน เล่น สนุกสนาน เอร็ดอร่อยตามปากตามท้อง เรียกว่ามีวัตถุนิยมนั้นเป็นศาสนา
เดี๋ยวนี้เรามาคิดกันดูให้ดีแล้วว่า ถ้าให้ดีจนเห็นว่าทุกคนต้องมีหลักมีเกณฑ์ในทางศาสนาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อตนจะได้รอดด้วยกันทั้งนั้น เหตุผลที่จะต้องนึกต่อไปว่า มีพระพุทธภาษิตว่า อสนฺโต นิรยํ ยนฺติ สนฺโต สคฺคปรายนา คนไม่ดีหรือคนชั่วนั้นต้องไปนรก คนดีนั้นมีสุขคติสวรรค์เป็นที่ไป ท่านต้องมองให้เป็นของคู่ว่า คนชั่วไปนรก คนดีไปสวรรค์ ทีนี้ก็มาตั้งปัญหาว่า พวกนายทุนและกรรมกร สองพวกนี้จะไปไหน มันรบกันเป็นวรรคเป็นเวรไม่มีที่สิ้นสุด มันต้องการจะไปไหน คนดีไปสวรรค์ คนชั่วไปนรก คนที่กำลังรบกันอยู่ทุกวันนี้จะไปไหน ข้อนี้พระเยซูตรัสไว้เป็นอย่างดีว่า การที่จะชวนนายทุน คนมั่งมี ไปสวรรค์นั้นยากกว่าการจูงอูฐลอดรูเข็ม พระเยซูว่า จูงอูฐลอดรูเข็มง่ายกว่าการชักชวนพวกนายทุนไปสวรรค์ เพราะเช่นนี้แหละพวกนายทุนจึงไม่ชอบพระเยซู ไม่ชอบศาสนาคริสเตียนซึ่งพระเยซูเป็นผู้ประดิษฐานขึ้น ในที่สุดเขาจะไปไหน ท่านทั้งหลายก็คิดได้เอง อาตมาไม่ต้องกล่าว เหตุผลอย่างนี้มันเป็นเหตุผลทางศาสนา ถ้าคนไม่เชื่อ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เราจะได้พิจารณากันต่อไปตามวิถีทางของพวกพุทธบริษัท คือสรุปความแล้วว่า ถ้าคนเราไปหลงใหลในอายตนะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนเป็นเหยื่อของกิเลสตัณหาแล้วก็ต้องไปนรก และตกนรกที่นี่ ทันที และเดี๋ยวนี้ นรกหมายถึงความร้อนใจ ผู้ใดมีความร้อนใจที่ไหน เมื่อไร ผู้นั้นตกนรกที่นั่นและเมื่อนั้น ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว นรกที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ ความแผดเผาในจิตใจเพราะความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยอาการว่านั่นไม่ใช่ตัวกู นั่นไม่ใช่ของกูแล้ว เขาย่อมหมดความกำหนัดในอารมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ คนที่หมดความกำหนัดแล้วเช่นนี้ ปลอดภัยแล้วเช่นนี้ พ้นจากเครื่องผูกพันทั้งปวงแล้วเช่นนี้ ต่อให้พญามารและเสนาเที่ยวตามหาเขาทุกแห่งหน ก็ไม่พบ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้พวกมารและเสนามารเที่ยวติดตามหาคนชนิดนี้อยู่ทุกแห่งหน ก็ไม่พบคนชนิดนี้ คือไม่หาพบคนที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูนั่นเอง ถ้าท่านทั้งหลายผู้ใดกลัวต่อพญามารแล้ว จงมีเครื่องป้องกันตัวด้วยการถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู นี้เสียเถิด สิ่งที่น่านึก น่าศึกษา น่าสนใจ ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้ นี่แหละคือทางรอดจากการบีบคั้นของสิ่งที่เรียกว่า มาร
มีพระพุทธภาษิตที่น่าสนใจที่ตอบโต้กับพญามารอีกข้อหนึ่งว่า พญามารนั้นมาท้าทายพระพุทธเจ้าว่า บ่วงสำหรับคล้องใจสัตว์ของเรา มีอยู่ว่อนไปในอากาศ เราจะใช้บ่วงเหล่านี้คล้องใจท่าน สมณะเอ๋ย เจ้าไม่พ้นมือเราไปได้ดอก พญามารว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า มารเอ๋ย รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ บรรดาที่น่ารื่นรมย์ใจเหล่าใดมีอยู่ในโลก ความพอใจของเราในสิ่งเหล่านี้สูญสิ้นแล้ว มารเอย แกต่างหากที่ถูกเราฆ่าตายแล้ว ถ้าไม่เข้าใจก็แปลว่าไม่เคยสนใจในเรื่องชนิดนี้ ถ้าเคยเป็นพุทธบริษัทที่เคยสนใจในเรื่องชนิดนี้ก็จะเข้าใจได้ทันที ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ฆ่ามารแล้วอย่างไร มารมาอวดดีว่าเขามีบ่วงสำหรับคล้องใจสัตว์อยู่เต็มไปทั้งอากาศ ลอยว่อนอยู่ในอากาศ ไม่มีใครพ้นมือของเขาไปได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันนี่แหละเป็นผู้ที่ไม่มีความพอใจอะไรในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่เป็นบ่วงของแก ดังนั้นแกนั่นแหละถูกฉันฆ่าตายแล้วตั้งแต่ทีแรก หมายความว่าพระพุทธเจ้ากำจัดมารหรือทำลายให้มารหมดความเป็นมารไปเสียแล้วตั้งแต่ทีแรกดังนี้ มารไปท้าทายพระพุทธเจ้าอีกอย่างหนึ่งว่า พวกมนุษย์กล่าวกันซึ่งสิ่งใดว่าเป็นของกูหรือกล่าวว่าตัวกู ถ้าจิตของท่านยังข้องอยู่ในสิ่งนั้นแล้ว สมณะเอ๋ย เจ้าไม่พ้นมือของเราไปได้ดอก พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คนเขากล่าวสิ่งใดกันว่าของกู เรามิได้กล่าวสิ่งนั้นว่าของกู คนใดที่เป็นคนกล่าว เราก็ไม่ได้กล่าวว่านั่นมันเป็นตัวกู มารเอย เจ้าจงรู้จักเรา ว่าเราเป็นคนอย่างนี้ แม้แต่ร่องรอยของเรา เจ้าก็จักมองไม่เห็น พระพุทธเจ้าตรัสท้าทายแก่มารว่า ลู่ทางหรือร่องรอยของพระพุทธเจ้านั้น พวกมารมองไม่เห็นดอก ไม่ต้องพูดถึงการที่มารจะติดตามล้างผลาญพระพุทธเจ้า เพราะมารไม่รู้จักหนทาง ไม่รู้จักร่องรอยของพระพุทธเจ้าผู้หมดเสียแล้วซึ่งความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู แล้วมารจะฆ่าพระพุทธเจ้าได้อย่างไร จะเอาบ่วงคล้องพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ปัญหามันก็เหลืออยู่แต่พวกเราที่นี่ ที่มีอะไรๆ ก็พร้อมอยู่เสมอไปที่จะยื่นคอเข้าไปในบ่วงของพญามาร เพราะเหตุว่า อติโลโภ หิ ปาปโก ความโลภเกินไปนั้นลามก เพราะว่าเรามีความโลภเกินไป จึงได้ยื่นคอเข้าไปในบ่วงของมาร นั่นแหละคือความลามกของความโลภที่มากเกินไป ความโลภนี้เป็นอันตรายแห่งธรรมะทั้งหลาย และถ้ามีความโลภมากเกินไปแล้วย่อมเป็นของลามก คือสูญเสียความเป็นมนุษย์ สูญเสียความเป็นพุทธบริษัท เกิดมาทั้งที ไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี่แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ลามก เกิดมาทั้งทีไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี่แหละคือสิ่งที่ลามก มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของความโลภ มีความโลภเกินไป เพราะไม่คำนึงถึงคำสอนดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ในวันมาฆปุณณมี คือวันเช่นวันนี้ที่เป็นวันประชุมแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ เป็นการประดิษฐานคณะสงฆ์ลงไปอย่างมั่นคงในโลกนี้ ข้อนั้นได้แก่ คำสอนที่ล้วนแต่จะเป็นไปเพื่อจะกำจัดเสียซึ่งความโลภดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เว้นเสียจากการทำชั่วทั้งปวงได้ก็เพราะไม่มีความโลภ ทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อมได้ก็เพราะไม่มีความโลภ ชำระจิตของตนให้ขาวผ่องได้ก็เพราะว่าชำระความโลภให้พ้นออกไปจากจิตใจของตนได้ ไม่เป็นผู้ว่าร้าย กล่าวร้าย ต่อใครอีกต่อไปก็เพราะว่าเอาชนะความโลภในใจของตนเสียได้ เป็นคนสำรวมระวัง รักษาระเบียบวินัยไว้ได้อย่างดีอย่างถูกต้องก็เพราะว่าความโลภไม่ครอบงำ เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค เอาแต่เพียงว่ากินอยู่พอดีดังนี้ได้ก็เพราะควบคุมความโลภได้ ซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด รู้สึกเป็นสุขเพราะอยู่ในความสงัด นี้ก็เพราะความโลภไม่ครอบงำ เป็นผู้ฝึกฝนในการทำจิตให้เป็นจิตที่สูงยิ่งได้ด้วยการพ้นไปจากความโลภนั่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
โอกาสนี้เป็นโอกาสที่เราจะระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกนึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ได้ปฏิบัติแล้วโดยลักษณะอย่างนี้ เป็นผู้ชนะมารแล้ว พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายแล้ว จงนำมาเป็นอนุสรณ์อยู่ในจิตใจตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชาเช่นวันนี้ด้วยกันจงทุกคนเถิด การทำมาฆบูชาของเราก็จะเป็นการได้ที่ดี เป็นการกระทำที่ถูกต้อง สมกับที่เป็นพุทธบริษัท ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้