แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมบรรยาย ทบทวนธรรมในวันนี้ จะได้ขยายความเกี่ยวกับการให้ทานชนิดที่หก ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป ก็จะได้กล่าวโดยหัวข้อที่พอจะสรุปได้ว่า อยู่เฉยๆนั้นแหละ คือให้หมด ก็จะทบทวนถึง หลักเกณฑ์หรือถ้อยคำต่างๆ ที่ได้พูดมาแล้วให้แจ่มแจ้งอยู่ในใจเสมอว่าเรากำลังพูด พระพุทธศาสนาทั้งหมดหรือพรหมจรรย์ทั้งหมด โดยสรุปลงเหลือเพียงคำพูดพยางค์เดียวว่า ทาน หรือการให้ ที่นี้คำว่า การให้ หรือการบริจาค หรืออะไรก็ตาม มันมีความหมายหลายชั้น อย่างน้อยเราพูดภาษาธรรมดา เป็นภาษาคน ชาวบ้านพูดนี้ก็ความหมายหนึ่ง ภาษาธรรม ภาษาผู้รู้ หรือภาษาผู้ที่เห็นธรรมแล้วนี้มันก็อีกความหมายหนึ่ง เพราะฉะนั้นอยากจะพูด ถึงคำพูดต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่แล้วมันอยู่ในลักษณะที่เป็นปัญหา วันนี้เราจะไม่พูดอะไรกันมากนอกจากเรื่องธรรม ที่มีความหมายที่แปลกออกไปจากที่เคยได้ยินได้ฟังกันอยู่ ในฐานะที่มันมีความหมายลึกก็มี มีความหมายได้หลายอย่างก็มี แต่แล้วคำทุกคำนี้จะเกี่ยวกับหัวใจของพระพุทธศาสนา คือคำว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ก็พูดกันมาหลายสิบครั้งแล้ว ที่นี้ก็จะยกตัวอย่างให้เห็นเสียเลย คำว่า ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ในที่นี้ในประโยคนี้ ถอดรูปออกมาจากคำพูด คือคำว่า อภินิเวสายะ คำว่า อภินิเวสายะ นั้นไม่ได้แปลว่า ยึดมั่น ถือมั่น ตัวหนังสือแปลว่า ฝังตัวเข้าไปโดยเฉพาะ คำว่ายึดมั่น ถือมั่น นั้นคือคำว่าอุปาทาน คำว่า อภินิเวสายะ นี้ตัวหนังสือแปลว่า เข้าไปในสิ่งนั้นโดยเฉพาะ โดยไม่มีส่วนเหลือคือเข้าไปหมด โดยจิตใจ หมายความว่า จิตใจทั้งหมดมันเข้าไปในสิ่งนั้น เข้าไปอยู่ในสิ่งนั้น คือเข้าไปอยู่ในลักษณะอย่างไร เข้าไปอยู่ในลักษณะที่รู้สึกว่าเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน อาการอย่างนั้นก็คืออาการที่เราเรียกกันว่า ยึดมั่น ถือมั่น ฉันก็เลยแปลคำว่า อภินิเวสายะ ว่ายึดมั่น ถือมั่นซะเลย นี้เป็นคำพูดที่มันดิ้นได้ มีความหมายที่โยกย้าย ยักย้ายได้ เราจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันแต่ใครไม่ควรฝังตัวเข้าไป ไม่ควรจะฝังจิต ฝังใจเข้าไป มันเท่ากับได้พูดว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ใครๆไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น ถ้าพูดในภาษาบาลีแก่คนที่รู้ภาษาบาลี มันก็พูด อภิณเวสายะ ก็รู้กันดีหมายความว่าอะไร แต่พอมาพูดในเมืองไทย ในประเทศไทย แปลออกมาเป็นภาษาไทย พูดอย่างนั้นมันรุ่มร่าม ก็ฟังยาก ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แต่เมื่อเห็นว่า คำว่า ยึดมั่น ถือมั่น มันรู้เรื่องกันดีอยู่แล้วก็เลยใช้คำ คำนี้ ถ้าใครอยากจะถือเอาความตามตัวหนังสือ ประโยค คำว่า สัพเพ ธัมมา นารัง อภินิเวสายะ จะต้องแปลว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆไม่ควรฝังตัวเข้าไป อย่างที่เรียกว่าหมดเนื้อ หมดตัว เข้าไปเอาในความสำคัญนั้นไหม เข้าไปยึดมั่น ถือมั่น ในความสำคัญนั้นไหมว่าฉันหรือของฉัน อันนี้คอยสังเกตว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งก่อนว่า ธรรมที่เราใช้กันอยู่เป็นหลักเป็นฐาน เป็นคำสำคัญนั้นมันก็ยังมีความกำกวม ดิ้นได้ ยืดเข้า ยืดออก หรือมีคำอื่นที่ใช้แทนกันได้ เราไม่จำเป็นต้องไปยึดตามตัวหนังสือแล้วทะเลาะวิวาทกัน เพราะตัวหนังสือต่างกันอย่างนั้น อย่างนี้ ในเรื่องนี้ก็มีหลักที่สำคัญอยู่ว่า ตัวพยัญชนะหรือตัวหนังสือไม่สำเร็จประโยชน์ อรรถถะหรือความหมายเท่านั้นที่สำเร็จประโยชน์ พยัญชนะไม่สำเร็จประโยชน์ อรรถถะสำเร็จประโยชน์ อรรถถะคือ ความหมายที่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่เรียกว่า ความหมาย เมื่อแปลเป็นภาษาอื่น อาจจะต้องใช้คำอย่างอื่น ซึ่งตามตัวหนังสือไม่ตรงกับคำในภาษาบาลีก็ได้ แต่ขอให้ความหมายมันตรงและเข้าใจได้เต็มที่เท่านั้น ที่นี้เราก็มาดูกันถึงคำว่า ไม่ยึดมั่น ถือมั่นให้ละเอียดลออเป็นพิเศษ ในฐานะที่เราใช้คำนี้เป็นคำแปลของประโยคภาษาบาลีที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ยึดมั่น ถือมั่น ภาษาร่างกายก็จับด้วยมือ ภาษาจิตใจก็จับด้วยใจ เรียกว่า ยึดมั่น ถือมั่น จับด้วยใจนี้มันหมายถึง มีความคิด ความนึก ความรู้สึก ที่เป็นความสำคัญมั่นหมายเอาหรือเป็นตัวเอง หรือเป็นเข้าไปจับ เข้าไปยึด เข้าไปยึดมั่นด้วยทิฐิ ด้วยความเห็น เป็นเรื่องของจิต จิตแท้ๆมันก็ยึดอะไรไม่ได้ มันต้องมีทิฐิ ความคิด ความเห็นที่ผิดที่ไม่รู้ ที่ปราศจากความเห็นแจ้ง ความคิดเห็นนี้มันยังแตกต่างออกไปหลายอย่าง หลายชนิด ความคิดที่เป็นอุปาทานก็เรียกว่า ปาทาน หรือความยึดมั่นโดยตรง แล้วก็ดูคำว่า ยึดมั่น คือจับเอาไว้ไม่ปล่อย ถ้าตรงกันข้ามกับยึดมั่น ก็คือปล่อย คือปล่อยวาง ก็มีคำคู่กันเกิดขึ้นมาแทนในฐานะเป็นประติพจน์ เป็นโคลนนิ่งว่า วิมุติ คือ ปล่อยวาง มันยึดมั่นก็ตรงกันข้ามกับ ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นคือปล่อยวาง คิดซะว่าปล่อยวาง มีความหมายของการให้ ให้ออกไป ถึงจะเรียกว่า ปล่อยวาง ถ้ายังเอาไว้ เรียกว่ายังไม่ให้ ในความหมายคำว่า วิมุติ หรือปล่อยวางนั้น มีคำว่า มีความหมายคำว่า ให้ออกไป บริจาคออกไป สลัดออกไป เราจึงถือเอาความหมายที่ตรงกันข้ามว่า ไม่ยึดมั่น ถือมั่นนั่นแหละ คือการให้หมด ให้ทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือ เวลาใดไม่ยึดมั่น ถือมั่น เวลานั้นเราได้ให้สิ่งทั้งปวงออกไปหมด โลกนี้ทั้งโลก หรือชีวิตนี้ก็ดีมันถูกสลัดออกไปจะโดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวนี้มันไม่สำคัญ มันไปได้ทั้งสองอย่าง แต่ผลมันเหมือนกันถ้าสลัดออกไปได้มันก็ไม่มีความทุกข์ เวลานั้นไม่มีความทุกข์ ไม่ยึดมั่น ถือมั่น คือไม่ถือเอาไว้ด้วยจิตใจเวลานั้นก็คือเวลาให้หมด บริจาคออกไปหมด สลัดออกไปหมด มานึกได้ถึงคำที่ขำขันขำอยู่ในภาษาไทย คำหนึ่งคือว่า วาง เมื่อไม่ยึดก็คือวาง เอาไม้เอกใส่เข้าไปก็เป็นว่าง ไม้โทใส่เข้าไปก็เป็นว้าง ทั้งวาง ทั้งว่าง ทั้งว้าง ความหมายมันคล้ายกัน อันเดียวกันว่ามันแสดงอะไรอยู่มากโดยบังเอิญในคำสามคำนี้ ต้องวางก่อนนึกถึงว่าง ลักษณะของความว่างก็คือว้าง ไม่มีอะไร วาง ว่าง ว้าง ลองไปคิดดูเล่นๆ ไม่วางก็ไม่ว่าง มีอยู่อย่างนี้ นึกถึงภาวะของคำว่า วาง คำว่า ว่าง คำว่า ว้าง นั้นแหละมันคือให้หมด บริจาคออกไปหมด ให้ทานหมดไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวมันเอง มีคำว่า สุญญตา ซึ่งแปลว่า ว่างหรือความว่าง ความหมายของคำๆนี้ก็คือ ให้หมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่ วางไว้จนว่าง ว่างคือ สุญญตา ว่าง ก็มีลักษณะ วาง ก็คือไม่มีอะไรเลย คำว่า วาง ว่าว่าง ว่าว้าง สามคำนี้ รวมอยู่ได้ในคำว่าสุญญตา เพราะเหตุที่ว่า ถ้าวางแล้วมันว่างทันทีโดยไม่ต้องเจตนา ถ้าว่างแล้วมันก็ว้างอยู่ในตัวของมันโดยไม่ต้องทำอะไร นี้เรามาทบทวนคำพูดในภาษาไทยธรรมดาสามัญที่เราพูดกันอยู่ทุกวัน ธุรกิจประจำวัน มันก็พูดกันอยู่ทุกวันคือคำเหล่านี้มองดูทางหนึ่งที่ไหนได้ คำที่มีความหมายสูงสุดในทางสติปัญญาในทางธรรมะของพระพุทธศาสนา กิริยาที่เรียกว่า วาง นี้เราทำอยู่วันละหลายๆครั้ง หลายๆหน ยกแก้วน้ำขึ้นมาดื่มแล้วมันก็ถืออยู่ได้ไม่เท่าไหร่มันก็ต้องวาง มีการวาง เดี๋ยววางนั้น เดี๋ยววางนี้ มากมายในวันหนึ่ง แต่แล้วมันก็เป็นเรื่องทางรูปธรรม เป็นเรื่องทางวัตถุ ภาษาชาวบ้านไม่เคยนึก ไม่เคยฝันว่าคำว่า วาง นี้คือคำสูงสุดในพระพุทธศาสนา มันก็เลยไม่ได้เฉลียวใจ ไม่ได้คิดนึกอะไร ในการที่จะยืมเอาความหมายของคำว่า วาง ทาง ทาง ทางวัตถุนี้ไปใช้ทางธรรมะที่ลึกซึ้ง ก็เลยไม่นึกได้ว่าไอ้เรานี้ก็วางอยู่เสมอ ถ้าเราวางอะไรลงไปทำไมเราไม่นึกว่าอื่นๆที่เราไม่วางที่มันยังมีอยู่ ที่จะต้องวาง เป็น วางแก้วน้ำลงไปก็ยังนึกถึงว่า เราก็ต้องวางสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น อย่างอื่น เหมือนกับที่วางแก้วน้ำนี้เหมือนกัน วันหนึ่ง วันหนึ่ง จับแล้ววาง จับแล้ววาง จับแล้ววางมากมาย ทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ทางร่างกายหมายความว่า วันหนึ่งเราทำงานหยิบนั้น หยิบนี้แล้ววางนั้น วางนี้มากมายหลายสิบอย่าง ทางจิตใจเราเกิดความยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งนั้นในสิ่งนี้ เป็นตัวกู ของกู แล้วมันก็ดับไปเอง ในเมื่อมันหมดเรื่องของมันก็เรียกว่า วาง จับมาวางอย่างซ้ำๆซากๆกันอยู่อย่างนี้ ทั้งโดยรูปธรรม และนามธรรม แต่ก็ไม่ค่อยจะนึก ไม่ค่อยจะสนใจ ถ้ามีการจับอะไร การวางอะไรก็ขอให้สะดุดหรือสะดุ้งกันบ้างในเรื่อง ที่ว่าถ้าจับแล้วมันก็คือทุกข์ ถ้าวางก็คือหยุดทุกข์ ดับทุกข์ หรือจะเรียกว่ามีสติอย่างหนึ่งได้เหมือนกันที่ทุกคราที่จับหรือวางอะไร นึกถึงจับและวางในทางส่วนลึกของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อยู่ด้วยทุกคราวไป มันก็น่าจะมีประโยชน์ มันทำให้ชัดเจน สดชื่น แจ่มใสอยู่ในความหมายคำคำนี้ และมันคงจะกระตุ้นหรือดึงไปในทางที่จะให้วางมากขึ้น จนเกิดความรู้สึก ชอบ หรือน้อมไปในทางที่จะวาง
ที่นี้ก็คิด คิดต่อไปถึงความหมายของคำที่ต่อเนื่องกันว่า เฉย ใช้วางก็อย่างหนึ่ง วางเฉยก็อีกอย่างหนึ่ง ที่นี้เอาเฉย เอาวางออกเสียเหลือแต่เฉย มันก็มีความหมายอย่างหนึ่ง คือเพื่อให้มัน มันชัดเจน เราก็มักจะพูดว่า วางเฉย คำว่า เฉย มีความหมายทับซ้อน เช่นเดียวกับคำว่า วาง ถ้าสังเกตดูให้ดีมีความหมายดีกว่า คำว่า วาง เสียอีก คำว่า วางนี้สู้คำว่าเฉยไม่ได้ พระอรหันต์ มีความวางเฉยที่เรียกว่า อุเบกขา เมื่อพูดถึงคำว่า อุเบกขา มันก็จะยุ่งขึ้นมาอีก คำว่า อุเบกขา มีหลายอย่าง มีหลายความหมาย อุเบกขาในเวทนา ในองค์ฌาน ไม่ใช่อุเบกขาที่เป็นลักษณะของพระอรหันต์ อุเบกขาที่เป็นลักษณะของผู้วางหรือผู้หลุดพ้นแล้วหมายถึงเฉย มันเป็นผลของความรู้ที่ถึงที่สุดว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถือมั่นถึงที่สุด มันจึงเกิดอาการเฉยมีสิ่งใดเข้ามาหรือเกิดขึ้นมันก็เฉย มีสิ่งใดออกไป หายไป ดับไป มันก็เฉย เฉยอย่างนี้ มันไม่ใช่เฉยอย่างคนเสียสติ คนวิกลจริต มันเฉยเพราะว่ามันมีอะไรครบหมด สรุปแล้วมันเป็นความว่างหรือความวาง การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเห็น เป็นถึงที่สุดจึงเป็นเหตุให้อยู่เฉยได้ในทุกสิ่ง เพราะทุกสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออย่างน้อยก็เป็นอนัตตาทั้งธารธรรมทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนสังขาร อสังคตะ นั้นก็ไม่เรียกว่า ไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา จึงพูดได้ว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตานี้ มันถึงที่สุด นั้นจึงเฉยได้ในทุกสิ่ง นี้คำว่าเฉย มีความหมาย ครอบจักรวาลไปหมด มันไม่โลภ มันก็เฉย ไม่โกรธมันก็เฉย ไม่โง่ไม่หลงมันก็เฉย อยู่ในพวกที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันเป็นเฉยไปหมด สิ่งที่ทำให้โลภและรักเข้ามา เมื่อก่อนนั้นมันเคยเกิดความรัก ความโลภ เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเฉย เฉยเพราะอะไร ก็เพราะความไม่ยึดมั่น ถือมั่นก็มองเห็นเป็นสิ่งที่ว่าง ว่างหรือว้าง ไม่มีส่วนไหนที่มีความหมาย มีค่ามีคุณอะไร สำหรับที่จะไปความรู้สึกอยากได้ อยากมีหรืออะไรทำนองนี้ แล้วท่านจึงเฉยได้ เพราะเห็นความว่างหรือความว้างไปหมดอยู่เป็นประจำ ตัวกูไม่อาจจะเกิด เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน
คิดดูความหมายของคำว่าเฉย มีความหมายของคำว่า ทาน หรือการให้ อยู่ในนั้นถ้าดูเป็นก็เห็น ถ้าดูไม่เป็นก็ไม่เห็น ในความเฉยมีการให้อย่างสูงสุดอยู่ ให้ อย่างที่เขาให้ทานอย่างนั้น อย่างนี้มันไม่ใช่สูงสุด ไม่ใช่การให้อย่างสูงสุด เป็นการให้ชนิดที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม อะไรอย่างนี้ เราจัดกันในชุดนี้เป็นหกอย่าง มันมาอยู่ที่การให้ อันดับท้ายๆ ให้สิ่งที่ไม่ควรจะมีในจิตใจ หรือให้ตัวกู ของกูออกไป ให้ผลของการที่ว่างจากตัวกู ของกูออกไป จะบรรลุนิพพาน แล้วก็ให้นิพพานเสียอีก คือ ไม่ยึดมั่น ถือมั่นนิพพานนั้นโดยความเป็นนิพพานของเรา มันคือเฉยที่สุด พร้อมกันนั้นก็เป็นการให้ การสละ การบริจาค อย่างยิ่งในความหมายสูงลิบ อย่าดูถูก อย่าทำเล่น กับคำว่า เฉย พูดว่า วางเฉย ยิ่งมีความหมายกะทัดรัดยิ่งขึ้นไปอีก นี้ก็สนใจในคำว่า เฉย เป็นการให้ที่สูงสุด นั้นเราเล่นเอาเปรียบกันเสียหน่อยก็ได้ เป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไร อย่างมากก็ลงทุนเฉย ถ้าไปให้ทานอย่างอื่น ต้องลงทุนเป็นเงิน เป็นของเอาให้ไป ให้ทานธรรมก็ให้ความรู้ไป จะให้กิเลสก็ยังต้องเหน็ดเหนื่อยต้องต่อสู้กว่ามันจะเฉย พอเฉยแล้วไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องยุ่งยากใจ อยู่เฉยๆกลับเป็นการให้ที่สูงสุด และให้ทั้งหมด เลยมองเห็นอาตมาอีกลักษณะหนึ่งว่า เฉย คือการให้ทานที่ไม่ต้องลงทุนอะไร ถ้าใครทำได้ก็นับว่ามีบุญ วิเศษ ประเสริฐ มีโชคดี การวางเฉยคือ การให้ทานสูงสุดที่ไม่ต้องลงทุนอะไร มันก็เข้ารูปกันอีกก็เพราะว่านิพพาน ตรงที่ว่านิพพานนี้เป็นของได้เปล่า ไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องซื้อ ต้องหา ถ้าปฏิบัติถูก ก็คือ เฉยได้ เฉยได้ ก็มีนิพพานเกิดขึ้น ก็เลยเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนอะไร การลงทุนอะไร นานา สารพัดนั้นมันไม่ขึ้นมาจนถึงในธรรม ไม่ขึ้นมาถึงการให้ทานชนิดสุดท้ายนี้ขอให้เข้าใจว่าถ้ายังต้องลงทุนอยู่ละก็ ยังไม่ใช่สูงสุด ถ้าถึงสูงสุดมันก็คือไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่เอาอะไรกลับได้ทั้งหมด เฉยไม่เอาอะไรกลับได้ทั้งหมด คือได้ สิ่งที่ควรจะได้ ความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ความไม่มีทุกข์ นั้นคือทั้งหมด ของที่ควรจะได้ ที่เฉย คือไม่เอาอะไร กลับได้สิ่งที่ควรจะได้ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ เพียงขอให้เข้าใจคำพูดที่มันกำกวม ดิ้นได้ สัปปรับ ตะลบตะแลง อยู่ในตัวคำพูดนั้นเอง เพราะเหตุที่ว่ามีหลายชั้น หลายระดับ หลายประเภทและมนุษย์ก็พูดออกไปด้วยคำพูดเหล่านี้ ตามความรู้สึก เมื่อความรู้มันยังต่ำ ความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงมันยังต่ำ มันก็พูดคำนี้ออกไปในความหมายที่ต่ำ มันมีความรู้ มันสูงมันนึกว่าพูดคำนี้ออกไปในความรู้สึกหรือความหมายที่ลึก คำไม่ได้เปลี่ยน ความหมายเปลี่ยน ทำให้ยุ่งยากลำบากแก่การที่จะเข้าใจธรรมะสูงสุด ขอให้ถือว่าคำพูดนี้เป็นสิ่งที่ยึดถือไม่ได้ เราจะต้องเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ของคำเหล่านั้น และก็เอาความหมายนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นในทางที่จะดับทุกข์ แต่ขอทบทวนอีกทีหนึ่งก็คือว่า คำพูดธรรมดาสามัญที่พูดกันอยู่ทุกวัน ทุกวัน คำว่า เฉย ก็มีคนพูดกันวันละหลายๆครั้ง รู้สึกว่าตัวเฉย อยากอยู่เฉยๆ และก็หารู้ไม่ว่าคำนี้มีความหมายชนิดสูงสุดที่เป็นความหมายของนิพพาน ยอดสุดของธรรมะ ยอดสุดของพรหมจรรย์ ไม่รู้สึกเพราะว่ายังไม่เคยถึงและคนที่ถึง คนที่เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้าก็ถึงธรรมะอันนี้ ก็ไม่มีคำอื่นจะพูดก็ยังต้องพูดคำนี้ ก็เลยทำให้คำนี้มีความหมายหลายขั้นขึ้นมายากแก่การเข้าใจ ทำให้ฉงน กลับไปกลับมา เราจะตัดบทปัญหาอันนี้ก็โดยที่รู้เสียทีว่า คำพูดคำเดียวมีความหมายหลายชั้น ภาษาคนอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมคือภาษาทางวิญญาณ ภาษาฝ่ายวิญญาณ ภาษาทางวิญญาณไม่เกี่ยวกับรูปธรรมอย่างนี้ เฉยภาษาคนมันนั่งนิ่งๆ ไม่พูดไม่จา เฉยภาษาธรรมก็คือจิตใจหวั่นไหว ก็เป็นภาษาทางวิญญาณสูงขึ้นไปอีก ก็คือว่า ไม่รู้สึกอะไร ทำหน้าที่ยึดมั่นถือมั่นมันเฉยถึงขนาดนั้น คือเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้พูดถึงคำที่เกี่ยวข้องกับเรา หลายๆคำในความหมายอย่างเดียวกันทุกคำ มีความหมายเป็นการให้ทั้งนั้น เป็นความหมายการให้ทานชนิดที่หกโดยเฉพาะ คำว่าหลุดพ้นหรือปล่อยวาง หลุดพ้นก็คือว่าไม่ติด ไม่ยึด ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดมั่นคือ หลุดพ้น ภาษาบาลีก็เป็นปล่อยหรือวาง หลุดพ้น หลุดพ้นออกมาจากการเอา การมี การเป็น มันติดกันอยู่ การเอา การมี การเป็น การได้ การรู้สึกโดยอารมณ์นี้คือถูกบ่วงมัด ถ้าเป็นอยู่เพราะไม่มีสิ่งนั้นผูกมัด มันก็เรียกว่าเป็นการหลุดพ้น หรือปล่อยวาง คือ วิมุติ เรียกว่าให้สิ่งต่างๆออกไป ถ้าปล่อยวางมันก็ว่าง ว่างคือไม่เอาอะไร นั้นแหละคือการวางเฉย เป็นการให้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ในตัว ทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราจะมองเห็นว่าการที่ไม่มีอะไรผูกพัน ผูกมัด ปล่อยวาง นี้ก็คือ การสละคืนกายทุกอย่าง เป็นนิพพาน นิพพานในลักษณะอย่างนี้ แปลว่าความที่ไม่ ไม่มีอะไรผูกมัด รึงรัด เสียบแทง นิพพานแปลว่า เย็น นั้นแสดงว่าผลสุดท้าย แต่เหตุของมันก็คือ ไม่ยึดมั่น ไม่ผูกพัน ไม่ครอบงำ ไม่เสียบแทงไม่อะไรซักอย่าง แยกคำว่า นิพ แปลว่า ไม่ คำว่า วานะ แปลว่าเสียบแทง อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน นิพพานเราไม่เสียบแทง แต่ความหมายตามธรรมดาที่ไม่เอาตัวหนังสือเป็นหลัก นั้นก็คือไม่ทุกข์ ดับสนิทแห่งทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าไม่รู้สึกว่ามีตัวเราที่เป็นอะไรหรือได้อะไรแม้แต่ความสุขนั้น เขาจึงเรียกว่าไม่ยึดถือนิพพาน โดยความเป็นนิพพานหรือเป็นนิพพานของเรา นี้เป็นคำพูดเอาเรื่องความรู้สึกในใจของพระอรหันต์มาพูดคล้ายๆเราเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้มันก็ไม่เหมาะแต่เมื่อต้องการให้อธิบาย มันก็อธิบายอย่างนี้ในความรู้สึกของผู้เป็นพระอรหันต์นั้นจะไม่มีความรู้สึกว่า นิพพานของเรา ก็ไม่ตะกละเหมือนคนทั่วไป อะไรก็จะเอาเป็นของเรา ได้นิพพานมาก็จะเป็นของเรา ความรู้สึกที่อยากเอามาเป็นของเรานั้นมันสิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วมันจึงเกิดผลอันนี้ขึ้นมา เกิดความหมดทุกข์ และก็จะไม่เกิดความรู้สึกต่อไปว่า ความหมดทุกข์นี้เป็นของเรา เพราะเราถูกทำลายไปก่อนหน้านั้นแล้วนี้พิสูจน์ว่า ทานที่หก ที่ว่าให้ ให้นิพพานออกไปเสียอีกครั้งหนึ่ง นี้เพื่อจะให้เป็นเครื่องรับประกันเท่านั้น ที่จริงถ้าบรรลุแล้วมันก็ไม่มีอะไรต้องให้กันอีก แต่นี้เราพูดตัดหนทางเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่น ถือมั่นในนิพพาน โดยความเป็นนิพพานของเรา สำหรับเราที่ยังไม่บรรลุถึงนิพพาน ก็เป็นอันว่า การให้ทานอันดับสุดท้าย คือให้นิพพานออกไปเสียอีกทีหนึ่ง ให้อะไรต่างๆก็ตามลำดับ ขั้นบรรลุนิพพาน สิ่งที่เรียกว่านิพพาน นิพพานให้ออกไปเสียทีหนึ่ง จึงจะเป็นความวางเฉย ถูกต้องตามความหมายของที่สุด ไม่ได้ยึดมั่น ถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน