PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
  • อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่20/ตัวกูเกิดมาจากรสของเนื้อหนัง
อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่ ... รูปภาพ 1
  • Title
    อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่20/ตัวกูเกิดมาจากรสของเนื้อหนัง
  • เสียง
  • 2934 อบรมพระที่หน้าโรงหนัง เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ ปี 2513 ครั้งที่20/ตัวกูเกิดมาจากรสของเนื้อหนัง /buddhadasa/2513-19-2.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
วันที่นำเข้าข้อมูล
วันอาทิตย์, 22 มีนาคม 2563
ชุด
อบรมพระหน้าโรงหนัง ชุดธรรมปาฎิโมกข์
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • ธรรมปาฏิโมกข์วันนี้จะพูดโดยหัวข้อว่า  “ตัวกูเกิดมาจากรสของเนื้อหนัง” คนที่เพิ่งมาใหม่อาจจะยังไม่ทราบว่าธรรมปาฏิโมกข์นี่พูดแต่เรื่อง ตัวกู-ของกู ไม่พูดเรื่องอื่น  เช่นเดียวกับเรื่องวินัยไม่พูดเรื่องอื่น  พูดแต่เรื่องวินัย  เรื่องธรรมนี่ก็พูดแต่เรื่องธรรม  แล้วไอ้เรื่องธรรมทั้งหมดนี่มันสรุปไปอยู่ที่เรื่อง ตัวกู-ของกู  เพียงเรื่องเดียว  ฉะนั้นเราพูดเรื่อง ตัวกู-ของกู นี่กันมาตั้งเป็นร้อยหรือสองร้อยครั้งแล้วไม่ได้พูดเรื่องอื่น  ผู้ที่ไม่เคยฟังมาแต่ทีแรกก็จะฉงนบางอย่างโดยเฉพาะก็เกี่ยวกับคำว่า ตัวกู นี่ยังไม่ชัดเจน  ทีนี้ก็พูดกันเรื่อง ตัวกู  หรือ ของกู นี่แง่ใดแง่หนึ่งเรื่อยมา  พูดกันมากมายแต่ว่าพูดเรื่องเดียว  พูดมุมนั้นทีมุมนี้ที  เหลี่ยมนั้นทีเหลี่ยมนี้ทีก็เพื่อให้เข้าใจ  และก็อย่าลืมว่าไอ้ความเข้าใจในลักษณะอย่างนี้มันเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ใช่ตัวธรรมะอยู่นั่นละ  เพราะตัวธรรมะมันอยู่ที่เห็นแจ้ง  เลยความเข้าใจนี้เราพูดกันแต่พื้นฐานทางปริยัติเพื่อความรู้หรือเพื่อความเข้าใจตามธรรมดา  แม้จะเป็นสติปัญญาก็เป็นสติปัญญาธรรมดา  ไม่ใช่สติปัญญาของการรู้แจ้งแทงตลอดแต่มันก็มีประโยชน์หรือจำเป็นอยู่เหมือนกันที่จะต้องค่อย ๆ รู้ไปตามลำดับ ค่อย ๆ เข้าใจไปตามลำดับ

    ทีนี้หัวข้อที่ว่า ตัวกูเกิดมาจากรสของเนื้อหนัง นี้ไม่ได้หมายถึงร่างกายที่สมมติเฉกว่าตัวกู  ตัวกูที่เราพูดถึงกันนี้หมายถึงความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นคือเป็นอุปาทานว่า “ตัวกู”  มันจึงเป็น “ตัวกู” ภาษาธรรม  ภาษาธรรมะโดยเฉพาะไม่ใช่ตัวกูภาษาชาวบ้าน  ตัวกูภาษาชาวบ้านเขาหมายถึงทั้งตัวทั้งตนนี้คือร่างกายด้วย, มีจิตใจรู้สึกคิดนึกเป็นตัวกูอยู่ด้วย  รวมกันหมดนี้เรียกว่าตัวกู  แต่ในภาษาธรรมะที่ละเอียดออกไปเขาจะเล็งถึงเฉพาะแต่ความรู้สึกที่เป็นตัวอุปาทานว่านั่นคือ “ตัวกู”  ไอ้เนื้อหนังก็กลายเป็นส่วนนอกหรือเปลือกหรือส่วนอื่นของตัวกูไป  เพราะฉะนั้นเราถึงพูดได้ว่า “ตัวกู” เกิดมาจากรสของเนื้อหนัง  เนื้อหนังคือวัตถุร่างกายมันให้รสให้ชาติ  ให้รสชาติเป็นอย่างไร ? ก็เพื่อปรุงแต่งไอ้ความรู้สึกที่เป็นอุปาทานขึ้นมาว่าเป็น “ตัวกู” อย่างนั้นอย่างนี้  ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า “ตัวกู” อย่างนี้ต้องเขียนกันในอัญประกาศ  ให้รู้ว่าเป็นคำพิเศษเฉพาะ ในทางธรรมะในพุทธศาสนาแล้วก็รู้ว่ามันเล็งถึงแต่เรื่องจิต  ในทางพุทธศาสนาถือว่าทุกอย่างประกอบอยู่ที่จิตเพียงสิ่งเดียวหรือสำเร็จอยู่ที่จิตเพียงสิ่งเดียว  คำว่า ทุกอย่างในที่นี้เขาใช้คำว่า ชีวิต, อัตตภาพ, ความสุข, ความทุกข์  คือตัวชีวิตก็ขึ้นอยู่กับจิตดวงเดียว, อัตตภาพทั้งหมดขึ้นอยู่กับจิตดวงเดียว, ความสุข ความทุกข์ ขึ้นอยู่กับจิตดวงเดียว  นี้ก็ควรจะรู้ไว้ด้วยว่าในทางธรรมะคือหลักพุทธศาสนานั้นเขามองกันแต่...เขามองในแง่จิตหรือถือเอาจิตเป็นหลัก  เหมือนกับร่างกายอย่างนี้มันก็ไม่ใช่จิต  แต่ที่ว่าขึ้นอยู่กับจิตสำเร็จอยู่กับจิตนั้น เพราะว่าจิตมันรู้สึก  จิตมันรู้สึกอย่างไร-ร่างกายก็กำลังเป็นอย่างนั้น  นับตั้งแต่ว่าจิตมีอยู่-ร่างกายก็ยังเป็นร่างกายที่ไม่ตาย  ทีนี้ในขณะนั้นจิตมีความคิดอย่างไร-ร่างกายนั้นเป็นอย่างนั้น  ถือว่าแล้วแต่จิตอยู่เรื่อยไป  เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นพวกที่ถือเอาจิตเป็นหลัก  ตรงกันข้ามกับพวกอื่น  ซึ่งตรงกันข้ามที่ถือเอาร่างกายเป็นหลักคือเอาวัตถุเป็นหลัก  ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ตัวกู” ในที่นี้ก็คือจิตในขณะหนึ่ง  จิตก็คือความรู้สึกคิดนึกอยู่ อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะหนึ่ง  ในที่นี้จิตประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ; ความยึดมั่นหรือสำคัญว่าตัวกู, ว่าตัวเรา, ว่าตัวฉัน  แล้วแต่จะใช้คำไหนก็ได้  ทีนี้เราก็ต้องมองให้เห็นว่าไอ้ความรู้สึกที่เกี่ยวกับจิตที่เกิดขึ้นแก่จิตนั้นมันแยกออกเป็น ๒ ประเภท  คือเกี่ยวกับตัวกูก็มี  ไม่เกี่ยวกับตัวกูก็มี  ความรู้สึกอาจจะเกิดขึ้นแก่จิตทุก ๆ คราวหรือทุกสถานที่ ๆ มันเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสผิวหนังก็ตาม  แต่ความคิดที่ทำให้ถูกขึ้นมานั้นในบางครั้งก็เป็น “ตัวกู” ในบางครั้งก็ไม่เป็น “ตัวกู” คราวไหนมันโง่ไปก็เรียกว่าอวิชชาเกิด  ปราศจากวิชชา, ปราศจากสติสัมปชัญญะ ; คราวนั้น “ตัวกู” เกิด  หรือว่าเพราะ “ตัวกู” เกิด  มันจึงปราศจากอวิชชาก็ได้เหมือนกัน  พูดพร้อม ๆ กันไปได้เพราะมันแยกไม่ออก  เพราะตัวกูชิงเกิด-วิชชาก็ไม่มีโอกาสจะเกิด  อวิชชาก็เกิด  แต่ในบางครั้งไม่ได้เกิดเป็นทำนองนั้นคือมันไม่มีเรื่องมากจนถึงกับจะเกิดความรู้สึกคิดนึกในทำนองนั้นก็ได้  หรือว่าเป็นผู้รู้, มีสติปัญญา, รอบคอบ, สมบูรณ์, ดำรงจิตด้วยดีอยู่เสมอ  มันไม่เกิด ตัวกู-ของกู ก็ได้  มันแล้วแต่ไอ้สิ่งแวดล้อมที่เข้ามาและจิตใจของบุคคลนั้นมันอยู่ในระดับไหน  แต่ถึงแม้ตามธรรมดานี่มันก็ไม่เกิดก็ได้  คือเราเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น,ลิ้มรส, สัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง  ความคิดไม่ได้เกิดเป็น “ตัวกู” ก็ได้  ไม่ได้เกิดเสมอไป

    ทีนี้ในกรณีไหนมันเกิด ?  ในกรณีที่มันให้ รส  ไอ้ รส นี่คำว่า รส นี่มันคือเป็นคำกลาง ๆ ไม่ได้หมายถึงรสอร่อยอย่างเดียว  แต่มันให้รสอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขนาดเพียงพอที่จะปรุงให้ “ตัวกู” เกิด  ถ้ารสอร่อยยิ่งเกิดง่าย  เกิดในทางที่จะเอาคือ โลภะ, ราคะ เป็นต้น  ถ้ารสไม่อร่อยเป็นรสแสบเผ็ด  มันก็เกิดในทางตรงกันข้ามเกิดโทสะ, เกิดโกรธะ  มันก็เป็น “ตัวกู” เหมือนกัน  หรือว่ามันจะให้เกิดไปทางหลงใหลมัวเมา จนไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ก็ได้เหมือนกัน  แต่ถ้ามันไม่ได้ให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ก็เรียกว่า “ตัวกู” ยังไม่เกิด  บางทีเราทอดตาไปเห็นวิวสวย ๆ ในทะเลนี้จิตก็เคลิ้มไปกับความเวิ้งว้าง  มันก็ไม่มีความนึกชนิดเป็น ตัวกู-ของกู  เว้นแต่จะรำพึงเรื่องอะไรอื่นเลย ๆๆ จากนั้นไป  วกไปหา ตัวกู-ของกู  หรือแม้ที่สุดแต่ว่า, เราเห็นดอกไม้สวย ๆ มันก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิด ตัวกู-ของกู เสมอไป  แต่ว่าส่วนมากสิ่งที่สวย, ที่หอม, ที่ไพเราะ, ที่อะไรมักจะชวนให้เกิด “ตัวกู” มากกว่าอย่างอื่น

    ทีนี้ส่วนที่มันตรงกันข้าม ; มันเหม็น, มันน่าเกลียด, มันอะไรก็ชวนให้เกิด “ตัวกู” ได้เท่ากัน  “ตัวกู” ในทางที่จะเกลียดชัง  เพราะฉะนั้นรู้จักแยกออกมาให้ดีว่าความคิดชนิดไหนเรียกว่า “ตัวกู” หรือ “ของกู”  ความคิดชนิดไหนยังไม่ถึงขนาดนั้น  ถ้าหากว่าไอ้ ตัวกู-ของกู เกิดไปเสียทุกครั้งทุกคราวที่ตาเห็นรูป, หูฟังเสียงแล้วเราก็ตายแล้วต้องตายแน่แล้ว  คือมันเป็นเรื่องทรมานที่มากเกินไป  ทีนี้มันก็อยู่กันมาได้ไม่ถึงกับตายนี้แต่ว่ามีความทุกข์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก็ต้องจัดการ  เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันเฉพาะ“ตัวกู” ทั่ว ๆ ไป “ตัวกู” พื้นฐานที่จะเกิดเป็นความเคยชินเป็นนิสัยขึ้นมาแล้วว่ามันตั้งต้นขึ้นมาอย่างไร ? เราจะถือว่าเด็กในท้องยังไม่มีความรู้สึกมันก็หมายความว่ามันยังไม่มี ตัวกู-ของกู จนกว่าเด็กนั้นจะอยู่ในท้องหรือจะออกมานอกท้องก็ตามใจ  รู้สึกทางสัมผัสชนิดที่ว่านี้ชนิดที่จะให้เกิดรักหรือเกิดเกลียดนี่มันจึงเกิดเป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา  แต่เราถือกันว่าเด็กในท้องแม้จะรู้สึกเวทนา ; อ่อน, แข็ง, เย็น, ร้อน, เจ็บปวดอะไรก็ความคิดยังไม่เลยถึงจะเป็น ตัวกู-ของกู มันยังเป็น ตัวกู-ของกู ที่ไม่ถึงขนาด  มันเจ็บมันก็ดิ้นอย่างนี้เป็นต้น  แต่ความคิดที่จะถึงกับเป็น ตัวกู-ของกู นี่ยังไม่ถึง  ถ้าหากว่ามันมีความรู้สึกทางสัมผัสสมบูรณ์นั่นละ  รู้สึกในรสอร่อยหรือรสที่ตรงกันข้ามก็ตาม  ถึงขนาดที่มันจะปรุงแต่งความคิดได้มันจึงจะเป็นความยึดมั่นถือมั่นเป็น ตัวกู-ของกู เพราะฉะนั้นจึงมองเห็นว่าไอ้เด็กในท้องนี้ยังไม่มีปัญหาอย่างนี้  แต่พอเด็กคลอดมาแล้วนี้ก็เริ่มมีปัญหา  เมื่อเขารู้จักความเอร็ดอร่อยทางตา, ทางหู, ทางเนื้อทางหนังอะไรขึ้นมา  นี่มันก็เริ่มเจริญโดยความคิดที่จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น

    ทีนี้ตามหลักในพระบาลีมันต้องมีความอยากด้วย หรือความโง่เสียก่อน หรือตัณหา  ถ้าเขาอยากตามธรรมดาตามธรรมชาติ  อยากสามัญตามธรรมชาตินี้ไม่ได้...ไม่ใช่อยากด้วยความโง่  เพราะฉะนั้นในความอยากของบุคคลที่นึกคิดเป็นแล้ว  แล้วก็มีความโง่, ความเข้าใจผิดเอามาผสม  มันจึงจะเป็นความอยากของความโง่คือตัณหา  แล้วตัณหาก็ให้เกิด ตัวกู-ของกู คืออุปาทาน  ฉะนั้นถ้าจิตมันไม่สูงถึงขนาดที่จะรู้จักอยากให้ถึงขนาดเป็นตัณหาอุปาทาน  มันก็ไม่มี ตัวกู-ของกู ถ้าจะมีมันก็ยังต่ำเกินไปจนไม่เรียก เช่น ความต้องการของต้นไม้เราไม่เรียกว่า ตัณหา-อุปาทาน หรือของเด็กในท้องมันก็ไม่เรียก ตัณหา-อุปาทาน มันต้องมีความรู้สึกเต็มที่  รู้จักอยากด้วยอวิชชาถึงจะเรียกว่ามี ตัณหา-อุปาทาน  ฉะนั้นจะต้องเป็นเด็กทารกที่โตขนาดที่รู้เรื่อง  อร่อย-ไม่อร่อย มีความหมายเป็นเรื่องได้หรือเรื่องเสียอย่างนี้กันก่อนถึงจะเกิดได้  แต่แล้วในที่สุด มันก็ต้องเกิดมาจากรส  รสของสิ่งที่มากระทบเรียกว่ารสของเนื้อหนัง ; ทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกายอะไรมากระทบสิ่งเหล่านี้แล้วมันมีรสอย่างใดขึ้นมา  แล้วมันมีความโง่ในเรื่องนั้น  นี่คือเกิดตัณหา และเกิดอุปาทาน  ฉะนั้นจึงถือว่าไอ้ “ตัวกู” นี้เกิดเมื่อมีความรู้สึกในรสของเนื้อหนัง  เนื้อหนังคือร่างกายคือวัตถุ  ทีนี้ครั้งแรกมันก็ไม่เท่าไร  ไม่มีน้ำหนักหรือความหมายมากเท่าไร  ทีนี้มันเติบโตขึ้นมา  เติบโตขึ้นมา ไอ้เด็กนี้มันโตขึ้นมาจนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาวนี้  ทีนี้ระยะที่เติบโตขึ้นมานี้มันก็คือความเติบโตของทุกสิ่ง โดยเฉพาะไอ้ความเจริญก้าวหน้าไอ้ของวัตถุ เอ้ย ของอายตนะที่จะรับอารมณ์น่ะคือประสาทหรือเครื่องรับสัมผัสทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกายนี้มันก็ก้าวหน้า  ร่างกายมันก็ก้าวหน้า  จิตมันก็เรียกว่าก้าวหน้าเพราะมันได้ผ่านอะไรมากขึ้น ๆๆ มันจึงรู้จักอยากและรู้จัก...รู้จักอยากด้วยความโง่  แล้วรู้จักยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานมากขึ้นจนเป็นพื้นฐานของจิตใจ  คนธรรมดาสามัญจึงมีพื้นฐานของจิตใจอย่างนี้คือเป็นไปในทางที่จะอยากด้วยความโง่และยึดมั่นถือมั่น  ไม่เป็นไปในทางตรงข้ามคือรู้แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น  อย่างนี้คือมันเป็นไปเองไม่ได้เพราะเหตุที่ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่ารสนั้นมันครอบงำจิตใจอย่างสิ้นเชิงอยู่ตลอดเวลา  ตรงนี้ก็เป็นตอนที่จะต้องเข้าใจให้ดีว่าธรรมชาติมันไม่อำนวยให้ในทางที่จะให้เด็กทารกค่อย ๆ รู้ขึ้นมาในลักษณะที่ว่าไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นหรือว่าเป็นอันตราย  แต่มันแวดล้อมไปในทางที่ให้โง่มากขึ้นคือให้เห็นว่าไม่เป็นอันตราย, อร่อยดี  แล้วก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่นก็ยิ่งอร่อย  แม้ในการที่ได้โกรธเขา, ได้ด่าเขา ก็เป็นความอร่อยที่เรื่องได้อย่างใจก็เป็นความอร่อย  ฉะนั้น “ตัวกู” จึงเจริญ  “ตัวกู” ที่เป็นนามธรรมไม่ใช่หมายถึงร่างกาย  ความคิดที่มันยึดมั่นถือมั่นมันก็เจริญแล้วก็มีความเคยชินในการที่จะเป็นอย่างนั้นยิ่งขึ้น ๆๆ ที่จริงมันก็เกิดเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่งคราวหนึ่งมันเสร็จแล้วมันก็ดับไป  ทางตาก็ตาม, ทางหูก็ตาม  จนกว่ามันจะมาประจบอายตนะครั้งที่ ๒, ที่ ๓ อีก  แต่แล้วมันแรงขึ้นกว่าเดิม  ความคิดในทางอยากหรือในทางยึดมั่นถือมั่นมันแรงขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้นทุกที  นี่คือวิวัฒนาการของจิต, ของสัตว์, มนุษย์นะ  ระบุเฉพาะมนุษย์ก็มันก็ไปดิ่งไปทางหนึ่งคือทางที่จะยึดมั่นถือมั่นยิ่งขึ้น

    ทีนี้ถ้าสมมติว่ามันไม่ไปในทางนี้  มันไปในทางฉลาด  มันก็เริ่มเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาแต่เด็ก ๆ และเป็นพระอรหันต์กันได้ในเวลาอันสั้น  เดี๋ยวนี้มันไม่ไปในทางลักษณะอย่างนี้มันเป็นไปในทางยึดมั่นถือมั่น และเป็นทุกข์มากขึ้น  ฉะนั้นธรรมะก็มีโอกาสเข้ามาที่ตรงนี้คือเข้ามาแทนทดแทนไอ้ส่วนที่มันขาด, ส่วนที่มันไม่เกิดตามธรรมชาติ  ปล่อยไปตามธรรมชาติก็เป็นตัณหา, อุปาทาน, ยึดมั่น, เป็นทุกข์มากขึ้น ๆๆ จนอะไรก็เป็นทุกข์ไปหมด  ทีนี้ผู้ที่เป็นพระศาสดา ; ผู้ตรัสรู้มองเห็นว่าต้องเอาอันนี้ที่ยังขาดอยู่นี่เข้ามาทดแทนให้มนุษย์ได้รู้ทั้ง ๒ ฝ่าย  ฉะนั้นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น  เรื่องทำให้ไม่เกิดตัณหา, แล้วก็ไม่เกิดอุปาทาน, แล้วก็ไม่เกิดความทุกข์  ก็เท่ากับว่าเอาไอ้ซีกที่มันขาดอยู่เข้ามาให้  ทีนี้คนจะรับเอาหรือไม่รับเอานั้นมันก็ ๆ แล้วแต่คน  ถ้าคนมันเป็นปุถุชนมากเกินไปมันก็ไม่ยอมรับเอาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  ไม่ถือว่าเป็นเรื่องมีประโยชน์  เรื่องละตัณหาอุปาทานนี้ไม่มีประโยชน์  ต้องการความอร่อยต่อไปอีกเพราะฉะนั้น “ตัวกู” ของบุคคลประเภทนั้นมันก็หนายิ่งขึ้นไปอีก  ทีนี้เป็นหนุ่มเป็นสาว, เป็นพ่อบ้านแม่เรือน, เป็นคนเฒ่าคนแก่แล้วมันก็ยังหนาขึ้น ๆๆ ในเรื่อง “ตัวกู”  จนกว่ามันจะมีอะไรมาทำให้รู้สึกได้  แล้วก็จึงจะวกมาหาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือวิธีที่จะทำลาย ตัวกู-ของกู  ถ้าไม่มีอะไรมาแวดล้อมอย่างนี้มันก็ตายเปล่า  คนนั้นไม่ต้องรู้เรื่องกันว่าความทุกข์คืออะไร ? คือความไม่มีทุกข์คืออะไร ?  แล้วก็ต้องตายไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น  

    ตรงนี้อยากจะขอร้องให้มองกันในแง่ที่ว่ามันเป็นไอ้วิชชา  ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติ  ไปตามกฎของธรรมชาติ  พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้กฎของธรรมชาติเอามาบอกมากล่าว  ท่านไม่อาจจะมันบัญญัติมาขึ้นเอง  ท่านไม่อาจจะบัญญัติให้สิ่งต่าง ๆ ไปตามที่ท่านบัญญัติ  สิ่งต่าง ๆ มันไปตามธรรมชาติ, ตามกฎของธรรมชาติ  แล้วก็ท่านรู้  แล้วก็ท่านบัญญัติวิธีที่เราจะเอาชนะไอ้ธรรมชาติอันร้ายกาจนี้อย่าให้มันทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้  ท่านบัญญัติธรรมะเพื่อจะแก้ลำไอ้ธรรมชาติเหล่านี้  ไม่ใช่ท่านบัญญัติธรรมชาติได้  ฉะนั้นเรื่องธรรมะนี้ก็คือความลับของธรรมชาติที่พระศาสดานั้น ๆ ค้นพบแล้วก็เอามาสอนได้กล่าวไว้เป็นหลักอยู่ทั่ว ๆ ไป  ในที่นี้เราจะมองกันแต่ในแง่ที่ว่า “ตัวกู”  นี้มันเกิดมาจากรสของเนื้อหนังอย่างไร ? เมื่อทารกก็เริ่มรู้จักความอร่อยหรือความตรงกันข้ามหรือไม่อร่อย  เขาก็เริ่มมีความอยากไปตามไอ้สิ่งที่มากระทบ  ถ้าอร่อยก็อยากในทางกามตัณหาหรือภวตัณหา  ถ้าไม่อร่อยก็อยากไปในทางวิภวตัณหาคือตรงกันข้าม  เรามองที่ตรงนี้ก็มองเพื่อจะเห็นว่าไอ้ ตัวกู-ของกู นี้มันเพิ่งตั้งต้นเมื่อไปรู้จักรสอร่อยหรือรสทั่ว ๆ ไปของเนื้อหนัง  เนื้อหนังในที่นี้หมายถึงกลุ่มของไอ้อวัยวะร่างกายที่มันจะทำหน้าที่รู้สึก  เรารวมเรียกกันว่าเนื้อหนัง  มันเกิดความรู้สึกเป็นรสอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาก็เป็นจุดตั้งต้นของไอ้ความอยากในรสอร่อยนั้นจะให้เกิดขึ้น, หรือจะให้ตั้งอยู่, หรือจะให้ไม่เปลี่ยนแปลง  ทีนี้ “ตัวกู”  เพิ่งเกิดตรงนี้เอง  ไม่มีหลักฐานที่จะมาพูดว่ามันติดมาในสันดานแล้วมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  มันผิดหลักธรรมชาติ  มันค่อยวิวัฒนาการตัวเองขึ้นมาพร้อม ๆ กันกับไอ้สิ่งแวดล้อมมันเข้าไปกระทบถึงขีดที่จะเป็นความอยากโดยความโง่  แล้วเป็นความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานก็เรียกว่า ตัวกู-ของกู เกิด  เกิดมาจากความรู้สึกทางเนื้อหนัง  ดังนั้นจึงต้องมีไอ้เนื้อหนังคือร่างกายนี้เป็นที่ตั้งของจิตใจให้เกิดความรู้สึกอะไรได้และมีรสในความรู้สึกนั้น  เราเรียกว่ามันเกิด...มันเกิดมาจากความรู้สึกทางเนื้อหนัง  นี่เป็นจุดตั้งต้นแล้วต่อมามันก็เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกที่เห็นแก่เนื้อหนัง  และมันก็อยู่ได้ด้วยความรู้สึกที่ไม่รู้จักเนื้อหนังตามที่เป็นจริง  เราสังเกตดูให้ดีมันเป็นตอน ๆ อยู่นะ  เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกทางเนื้อหนังคือรสอร่อยหรือไม่อร่อย  และก็เพราะเห็นแก่รสนั้นน่ะแก่เนื้อหนัง  หรือเห็นแก่รสที่เกิดมาทางเนื้อหนังแล้วก็เพราะไม่รู้จักตามที่เป็นจริงว่าไอ้นั่นนะมันคืออะไร ? นี่มันก็สมบูรณ์คือเป็นอวิชชาโดยสมบูรณ์, เป็นอุปาทานโดยสมบูรณ์  ถ้ามันไปเกิดรู้เสียว่าไอ้รสอร่อยหรือไม่อร่อยนี้เป็นเรื่องตามธรรมชาติ, เป็นเรื่องอันตราย หรือเป็นเรื่องไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  มันก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น  

    เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จักเรื่องของเนื้อหนังหรือรสที่เกิดจากเนื้อหนัง  เพราะฉะนั้นถ้าจะให้สมบูรณ์เราจะพูดว่า “ตัวกู”  นี่มันเกิดมาจากความรู้สึกทางเนื้อหนัง  เกิดมาจากความรู้สึกที่เห็นแก่เนื้อหนัง  และเกิดมาจากความรู้สึกที่ไม่รู้จักเนื้อหนังตามที่เป็นจริงอย่างไร  เพราะฉะนั้นก็เลยปล่อยไปตามอำนาจของเนื้อหนังที่แท้คือไปตามอำนาจของความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของเนื้อหนัง  แล้วมันก็ไม่มีความรู้มาแต่ไหนที่จะมารู้แยกเป็นเนื้อหนัง หรือเป็นจิตหรือเป็นอะไรนี้  ที่จริงจิตนี่ถ้ามันไปหลงทางเนื้อหนังเสียแล้วมันก็กลายเป็นเนื้อหนังเป็นพรรคพวกของเนื้อหนังไป  ส่วนที่เป็นจิตมันก็ไม่มี  ทุกอย่างมันกลายเป็นเนื้อหนังหรือวัตถุไปหมด  นี่ไอ้วัตถุนิยม  ไอ้ความรู้สึกที่เป็นวัตถุนิยมก็ตั้งต้นหรือเกิดขึ้นในจิตใจคืออะไรสำเร็จอยู่ที่เนื้อหนังหรือวัตถุ  เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้จึงไม่มีความรู้จักแยกให้เป็น ๒ ฝ่าย  คือฝ่ายที่จะเป็น เนื้อหนังแห่งความยึดมั่นถือมั่น กับฝ่ายที่ว่าจะเป็นสติปัญญา ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่รู้จักแยก  มันมีแต่ฝ่ายเดียวที่ว่าอร่อยก็ยึดมั่นไปตามที่มันอร่อย  ไม่อร่อยก็ยึดมั่นไปตามที่มันไม่อร่อย  ความรู้สึกที่ยึดมั่นนั้นเป็น “ตัวกู”  คือเป็นทั้งหมด  เป็นเจ้าของทั้งหมด  ก็เลยไม่รู้วิธีที่จะควบคุมจิต, ควบคุมความคิดนึก  ไม่รู้สึกว่ามีจิตด้วยซ้ำไป  เอาแต่ความรู้สึกสามัญสำนึก อร่อย-ไม่อร่อย กันท่าเดียวไปเรื่อยไป  ไม่มีความรู้เรื่องจิต  ไม่มีความรู้ว่าจิตมันโง่, มันหลง หรือมันไปยึดมั่นถือมั่น  นี้ไม่มีความรู้  เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการฝึกฝนจิตในหมู่คนธรรมดาสามัญ หรือในหมู่ปุถุชนก็เป็นเรื่องไม่รู้โดยรอบด้านคือเป็นอวิชชาไปหมด ; ไม่รู้เรื่องจิต, ไม่รู้เรื่องอารมณ์ของจิต, ไม่รู้เรื่องการกระทบ, ไม่รู้เรื่องการปรุงแต่ง, ไม่รู้ทุกเรื่อง  นี้มันเป็นอวิชชาพื้นฐานที่จะทำให้เกิดอวิชชา ตัวการที่ทุก ๆ คราวที่มันกระทบกันกับอายตนะ  เพราะความไม่รู้พื้นฐานนี่มันมีอยู่แล้ว  ทีนี้พอมากระทบอายตนะอะไรเข้ามันก็เกิดแต่ความไม่รู้หรือไม่มีความรู้เกิดมา  เพราะ (ฉะ) นั้นมันจึงไปตามอำนาจของความไม่รู้

    ตรงนี้อาจจะพูดได้   พูดให้เห็นได้เลยว่า “ตัวกู”  เกิดมาจากรสของเนื้อหนังนี้  มันหมายความว่าไอ้ร่างกายที่เป็นที่ตั้งของการรับสัมผัสทีนี้ในบางคราวหรือว่าส่วนมากมันก็เป็นไปในเรื่องของกามารมณ์หรือกามภพ  เป็นความรู้สึกที่อร่อยทางเนื้อหนัง, แล้วก็เนื่องไป, แล้วก็เป็นไปในทางเพศ  เพศตรงกันข้าม  เรียกว่าเนื้อหนังที่เอร็ดอร่อย “ตัวกู”  ที่เกิดมาจากเนื้อหนังที่เอร็ดอร่อย  มันก็เป็น “ตัวกู” แห่งกามภพ  ถ้ามันเป็น “ตัวกู” ที่เกิดมาจากเนื้อหนังที่จืดสนิทไม่เกี่ยวกับกามารมณ์  มันก็เป็น “ตัวกู” แห่งรูปภพหรือถ้ามันไม่ให้ความสำคัญแก่เนื้อหนังหรือถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีเนื้อหนัง  มันก็เป็น “ตัวกู” แห่งอรูปภพ  คือ “ตัวกู” แห่งเนื้อหนังที่ไม่ปรากฏไม่สำแดงให้ปรากฏ  เรื่องกามภพ, รูปภพ, อรูปภพนี้  เขาอธิบายกันอย่างอื่นที่เขาอธิบายกันในหมู่นักศึกษาเล่าเรียนอภิธรรมหรือไม่ก็ตาม  เขาเอาไปไว้ที่ภพอื่น, ชาติอื่น, โลกอื่น  ไปเกิดในโลกนั้นได้กามารมณ์  ไปเกิดในโลกนั้นได้เป็นพรหมมีรูป  นี่ผมว่าไม่มีประโยชน์  ต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ไปทั้งหมดเลย  มันจึงจะอยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการกับมันได้  ฉะนั้นจึงพูดว่าถ้ามันเกิดมาจากรสอร่อยคือจากเนื้อหนังที่มีรสอร่อยก็เรียกว่ากำลังเกิดในกามภพ  บุคคลนั้นที่มันเกิดมาจากเนื้อหนังที่จืดสนิท เช่น ความพักผ่อนอย่างนี้เป็นต้น  มันก็เป็นรูปภพ-เป็นตัวกูที่เกิดมาจากเนื้อหนังที่จืด  คือไม่เกี่ยวกับกามารมณ์  ทีนี้ถ้ามันไม่ให้ความสำคัญแก่เนื้อหนังทั้ง ๆ ที่มันมีอยู่  มันมองข้ามไปเสีย  มันก็กลายเป็นอรูปภพ  ในบางครั้งเราได้อาศัยร่างกายเรานี้ได้สร้างอะไรมันขึ้นมาเป็นความรู้สึกแล้วก็ไม่ให้ความสำคัญกับร่างกาย  ไปให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่เป็นความรู้สึก เป็นเวทนา เป็นเกียรติยศ เป็นอะไรไปเสียก็เรียกว่ามันเป็น “ตัวกู” ที่เกิดมาจากเนื้อหนังที่ไม่ปรากฏ  ฉะนั้นกามภพก็ดี รูปภพก็ดี อรูปภพก็ดี  วนเวียนอยู่ในบุคคลคนหนึ่ง  ที่นี่และเดี๋ยวนี้ไม่ต้องเอาไปไว้ชาติอื่น ภพอื่น หลังจากเข้าโลงแล้ว  ฉะนั้นในวันเดียวนี่มันมีได้ทั้งกามภพ รูปภพ  อรูปภพ สับเปลี่ยนกันอยู่  แต่ว่าส่วนมากที่สุดนั้นมันเป็นกามภพ   เพราะฉะนั้นสัตว์ ปุถุชนโดยทั่วไป จึงถูกจัดไว้ในพวกกามภพหรือกามาวจร  คือว่าเขามีจิตที่มีความเคยชินแต่ในทางที่จะท่องเที่ยวไปในกามารมณ์เท่านั้น  

    ฉะนั้นคนสามัญทั่วไปก็ถูกจัดไว้ในกามาวจรภูมิ  มีจิตอยู่ในชั้นที่จะท่องเที่ยวไปในกามารมณ์เท่านั้น  ทีนี้ถ้ามีคนบางคนซึ่งมีน้อยคนนะก็มีจิตใจสูงกว่านั้นด้วยการเบื่อหน่ายขึ้นมาก็ดีหรือด้วยการไปบำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญสมาธิ ให้เกิดรสอร่อยทางสมาธิ  จนกลายเป็นอย่างนั้นไป  คือว่าคือ ไม่ย้อนกลับมานิยมไอ้เรื่องกามารมณ์อีก  เขาก็ถูกบัญญัติให้เป็นบุคคลที่อยู่ในรูปาวจรภูมิ คือฤษีมุนีบางคนที่แท้จริงมันก็อยู่ในพวกรูปาวจรภูมิ  และหมายถึงการสมาธิที่ต้องอาศัยไอ้ร่างกายเป็นหลักหรืออาศัยเวทนาที่เนื่องอยู่กับร่างกายเป็นหลัก เช่น เป็นปิติสุขอะไร  ทีนี้ถ้าเรามีโยคีบางคนน้อยคนลงไปอีก  ไปฝึกฝนไอ้เรื่องความสงบทางจิตสูงขึ้นไปถึงกับไม่ข้องเกี่ยวด้วยร่างกาย  แต่เอาความรู้สึกล้วน ๆ เช่นเอาความว่างเป็นอารมณ์มองเห็นอยู่ว่าความว่างหรืออากาศนี้ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้เป็นต้น  อากาสานัญจายตนะหรือวิญญานัญจายตนะหรือความไม่มีอะไรที่เรียกว่าอากิญจัญญายตนะ  หลงใหลแต่ในอย่างนี้  มีความสุขอยู่แต่อย่างนี้ก็เป็นพวกอรูปาวจรภูมิ  แต่มันก็ยังเป็นคนนั่นเอง  ที่มีร่างกาย  มีอายตนะสำหรับสัมผัส  ฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ มันก็ตั้งต้นอยู่ที่ร่างกายนี้  แต่เขาไม่ให้ความสำคัญแก่ร่างกายนี้  เรียกว่ามองข้ามร่างกายไปเสีย  ไอ้ชั้นธรรมดาสามัญอยู่กับร่างกายที่มีรสอร่อยทางกามารมณ์  สูงขึ้นไปก็เป็นร่างกายที่จืดจากกามารมณ์  สูงขึ้นไปอีกก็ไม่คำนึงถึงร่างกายมองข้ามร่างกายไปเสีย  นี่จึงเรียกว่า กามภพ รูปภพ อรูปภพ  แต่อย่าลืมว่าทั้ง ๓ ภพนั้นเป็น “ตัวกู” ทั้งนั้น  เป็น “ตัวกู” แบบหนึ่ง  แบบหนึ่ง  และ “ตัวกู” ที่เหนียวหนืดที่สุดเขาเอาไปไว้ที่ชั้นสูง  คือชั้นรูปภพ  อรูปภพ  ที่มันดับไม่ได้  แม้มันจะสูงสุดถึงเป็นอรูปภพแล้วมันดับไม่ได้  เพราะ “ตัวกู” มันยังอยู่  เพราะมันรัก “ตัวกู” นี่มากไปกว่าไอ้ชั้นต่ำ ๆ เสียอีก  คนธรรมดาก็มี “ตัวกู” อย่างหยาบ ๆ โลดโผนกวัดแกว่งที่เรียกว่าเควี้ยวคว้าวไปอย่างนั้น  ชั้นกามาวจรภูมินี้มันมี “ตัวกู” อย่างโลดโผน  เพราะฉะนั้นมันจึงเป็น “ตัวกู” ที่ไม่มั่นคงหรือว่าปึกแผ่นอะไรนัก  มันสู้ “ตัวกู” ที่สูงขึ้นไปไม่ได้  คือที่เหนือกามารมณ์แล้ว มันไปมี “ตัวกู” ที่แน่นแฟ้นกว่ามั่นคงกว่า  ขั้นสูงขึ้นไปจนเป็นอรูปภพ  ฉะนั้นเขาจึงกล่าวไว้ว่าเห็นพวกที่มีอัสมิมานะจัด  คือมี “ตัวกู” จัดก็คือชั้นพวกพรหม  คือพูดให้ฟังง่ายก็ว่าไอ้กลัวตายจัดนั้นน่ะคือชั้นพรหม  ไม่อยากตาย  ถ้าว่าความไม่อยากตายของชั้นกามาวจรมีหนึ่ง  แล้วก็ไอ้ความไม่อยากตายของชั้นพรหมนั้น มันก็มีพันหมื่นแสนล้านไปเลย  เมื่อพูดถึงว่าจะต้องทำลาย ตัวกู-ของกู เสียนี่  พวกพรหมสะดุ้งหวั่นไหวกว่าพวกชาวบ้านธรรมดา  เพราะเขาไม่อยากตาย  เพราะเขากำลังได้ความเป็นที่เขาเห็นว่ามันดีที่สุด  คือมันไม่มีความทุกข์เลย  ความทุกข์กำลังไม่เบียดเบียนเลย  จะว่าไม่มีความทุกข์เลยก็ไม่ถูก  แต่ความทุกข์กำลังไม่ปรากฏและรู้สึกว่าตัวอยู่ฐานะที่สูงที่ประเสริฐ  เพราะฉะนั้นไม่อยากละไปจากความภาวะอันนี้  เพราะ(ฉะ)นั้นจึงไม่อยากตายยิ่งกว่าพวกใด  และพวกนี้จึงมีสักกายทิฏฐิเข้มข้นกว่าพวกคนธรรมดา  จึงเป็นพระโสดาบันก็ยาก  คนธรรมดาสามัญนี้เป็นพระโสดาบันหรือพระอริยเจ้าง่ายกว่าพวกพรหม  ซึ่งมันเหนียวแน่นไปด้วยอัตตาตัวตนที่ปึกแผ่นแน่นหนา  

    ฉะนั้นตัวกูมาจากเนื้อหนังที่อร่อยอย่างคนธรรมดาสามัญก็ได้  แล้วตัวกูมาจากเนื้อหนังที่จืด เช่น พวกพรหม-รูปภพ ก็ได้  ตัวกูมาจากเนื้อหนังที่มองข้ามเนื้อหนังไปเสียแล้วเป็นนามธรรมไป  ฉะนั้นก็เลยเป็นตัวกูที่เหนียวแน่นขึ้นไป  เป็นชั้น ๆๆ ตามความที่รู้สึกว่าดีกว่าอย่างไร  พวกที่รู้สึกว่าดีกว่าก็ถือตัวยิ่งกว่า  มีตัวยิ่งกว่า  เพราะฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าขึ้นชื่อว่า “ตัวกู” แล้วต้องมาจากรสของเนื้อหนัง  ที่เป็นชั้นกามาวจรนี้ก็มาจากรสของเนื้อหนังในชั้นกามาวจร, ที่เป็นชั้นรูปาวจรก็มาจากเนื้อหนังในชั้นที่เป็นรูปาวจร  ทีนี้ที่เป็นชั้นอรูปาวจรก็มาจากเนื้อหนังชั้นอรูปาวจร  ตรงนี้จะฟังไม่ถูก  เพราะคำว่า อรูป นี้แปลว่าไม่มีรูป  คล้าย ๆ กับว่าไม่มีร่างกาย, ไม่มีเนื้อหนัง  ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้นมันเพียงแต่ไม่ให้ความสำคัญแก่ความมีอยู่แห่งเนื้อหนังเท่านั้น  มันก็ยังเป็นคนมีเนื้อหนัง

    ทีนี้คำอธิบายที่เขาพูดกันมาแต่เดิมในหมู่ชาวบ้านนั้นนะ  อย่างรูปพรหมนี้เขามีพรหมรูปฟักเหมือนกับลูกฟักหรือก้อนหินที่ไม่มีความรู้สึก  แล้วอรูปพรหมก็ไม่มีร่างกายอะไร  มีแต่จิตล้วน ๆ แล้วมันจะอยู่อย่างไร  มันก็พูดกันไปอย่างนั้น  คนค้านก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาค้าน  คนพูดก็พูดไปได้เรื่อย  จะเป็นสัตว์ที่มีอยู่แต่จิตใจไม่มีร่างกายนี้  เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาไปไว้ที่ภพอื่น ชาติอื่น ไปถึงต่อเข้าโลงแล้ว  เป็นสัตว์ชนิดที่มีแต่จิตใจไม่มีร่างกาย  แล้วคำอธิบายนี้ที่ทำให้เขาหาว่าผมเป็นมิจฉาทิฏฐิว่าเอาเอง  ว่าแล้วอะไรก็ตามใจเขาเถอะก็ยังพูดอย่างนี้อยู่  เมื่อเราไปยึดมั่นที่สิ่งใด-สิ่งนั้นก็มี  เมื่อไม่ได้ยึดมั่นสิ่งใด-สิ่งนั้นก็มิได้มี  แม้แต่ชีวิตนี้บางเวลามันก็มิได้มีเพราะว่าเรามิได้รู้สึกว่ามีหรือชีวิตของเรา  เพราะฉะนั้นเพียงร่างกายนี้ไม่มีปัญหา  เมื่อรู้สึกอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น  สำเร็จอยู่ที่จิตดวงเดียวที่มีความคิดนึกอย่างไรในขณะนั้น

    ทีนี้สรุปความกันเสียทีหนึ่งก่อนว่า “ตัวกู” นั้นต้องเกิดมาจากรสของเนื้อหนัง  เนื้อหนังเป็นที่ตั้งแห่งการให้รส  ก็มีตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย รวมทั้งใจด้วยอยู่ที่เนื้อหนัง  เพราะฉะนั้นเนื้อหนังมันจึงเป็นสิ่งที่ให้รสแล้วแต่ว่ามันจะเป็นรสระดับไหน  ถ้าจิตมันต่ำทราม-มันก็เป็นเรื่องกามารมณ์, ถ้าจิตมันสูงขึ้นไป-มันก็เป็นเรื่องร่างกายบริสุทธิ์ เรื่องวัตถุบริสุทธิ์, ถ้าเก่งกว่านั้นขึ้นไปอีกก็เพิกถอนไอ้สิ่งที่เป็นร่างกายเสียเลย  แต่แล้วเขาก็มีความรู้สึกได้จากการที่มันมีชีวิตอยู่, ยังมีร่างกายอยู่, มีจิตใจอยู่  ก็เรียกว่ารสที่มาจากเนื้อหนัง  ทีนี้ สำหรับอรูปพรหมนั้นมันยังมีทางที่จะพูดแบบเอาเปรียบทางหนึ่งว่าเพราะมันเกลียดเนื้อหนังมันจึงมีความตั้งใจที่จะไม่ ๆ สนใจแก่เนื้อหนัง  คืออยากจะให้ไม่มีเนื้อหนัง  เขาถือว่าเนื้อหนังนี้เป็นที่ตั้งของความทุกข์  เพราะเนื้อหนังมีตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ  ฉะนั้นถ้าเราอย่ามีเนื้อหนังเสีย  เราก็ไม่มีตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ  มันก็ไม่ต้องมีความทุกข์อย่างนี้ก็ได้  เพราะเขาเกลียดเนื้อหนังก็แปลว่าเพราะเนื้อหนังนี่มันให้รสชนิดแสบเผ็ดแก่ความรู้สึกของคนประเภทนี้  เขาจึงต้องการจะไม่ให้อำนาจหรืออิทธิพลของเนื้อหนังเข้ามาเกี่ยวข้องได้เลย  จึงบำเพ็ญสมาธิในชั้นอรูปญาณ 

    นี้, เราพูดทีเดียวหมดทั้ง ๓ ชั้น (๑) ชั้นกามภพ (๒) รูปภพ และ (๓) อรูปภพ  มันก็หมด  ทีนี้ก็อยากจะพูดต่อไปอีกนิดเถอะเวลาที่เหลือนี่  ว่าที่มันเป็นอันตรายร้ายแรงก็คือชั้นที่เป็นกามาวจร  คือตัวกูที่มาจากเนื้อหนังที่มีความเอร็ดอร่อยนี่มันดึงไปทางวัตถุนิยมจัดเข้า  แต่ถ้าไปในฝ่ายรูปภพ, อรูปภพมันเป็นวัตถุนิยมที่ประณีตที่ละเอียด  ละเอียดจนกระทั่งจะเงียบหายไป  แต่ก็ไม่พ้นจากความเป็นวัตถุนิยม  ถ้ามันไม่ใช่เรื่องมรรค ผล นิพพานอยู่เพียงใด  แล้วมันยังเป็นวัตถุนิยมอยู่เพียงนั้นหากแต่ว่ามันเป็นไปในทางจิตมากกว่า  หรือ...และมากขึ้น ๆ ความสำคัญทางร่างกายมันน้อยลง ๆ เพราะฉะนั้นถึงแม้เป็นพรหม  เป็นพวกพรหมมันก็ยังเป็นพวกวัตถุนิยม  แต่เขาไม่จัด เขาไม่พูด  คือไม่ควรจะจัดเพราะว่าวัตถุนั้นมันละเอียดประณีตเกินไปเสียแล้วคือเป็นร่างกายที่บริสุทธิ์ที่ไม่เป็นวิสัยแห่งกามารมณ์ไปเสียแล้วในเวลานั้น  ทีนี้ที่มันเป็นปัญหาแก่มนุษย์เราก็คือเนื้อหนังที่เป็นที่ตั้งแห่งความเอร็ดอร่อยทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางผิวหนัง  นี่สินี่คือปัญหาเพราะมันเป็นด่านหน้า  เป็นด่านหน้าหมายความว่าเราต้องปะทะเข้ากับสิ่งนี้  การปฏิบัติเพื่อจะไปมรรค ผล นิพพานก็ดี  มันปะทะเข้ากับสิ่งนี้  หรือแม้แต่การปฏิบัติเพื่อไม่ไปมรรค ผล นิพพาน  แต่ไปเพื่อ “ตัวกู” ที่ดีขึ้นไปอีก  มันก็ปะทะกับด่านหน้านี้คือ “ตัวกู” แห่งกามารมณ์  ฉะนั้นไม่ว่าใคร ไม่ว่าภิกษุ สามเณร บรรพชิตอะไรก็ตามที่มันจะต้องประสบปัญหาอันแรกก็คือ “ตัวกู” ที่มันเหนียวแน่นไปในทางความรู้สึกเกี่ยวกับกามารมณ์  อย่างเราทำสมาธิทำไม่ได้เพราะความรู้สึกทางกามารมณ์รบกวน  ถ้าทำสมาธิ เป็นสมาธิไปเสียได้มันก็เป็นเรื่องรูปาวจรไปเลยไปเสีย  แต่นี่ทำไม่ได้มันก็เป็นกามาวจรอยู่นี่  ทีนี้ความเห็นความยึดมั่นถือมั่นในรสของเนื้อหนังประเภทกามารมณ์นี่เป็นปัญหา  จนกระทั่งว่าเดี๋ยวนี้คนในโลกทั้งหมดก็ว่าได้  ทั้งโลกก็ว่าได้มันยกเว้นไม่ถึง ๐.๐๐๐๑% แล้วมันเห็นว่าไอ้วัตถุนี่สำคัญ  ความเอร็ดอร่อยนี่สำคัญ  ถ้าคนเราได้ความเอร็ดอร่อยถึงที่สุดทางวัตถุ  ซึ่งจะเรียกว่าอยู่ดีกินดีหรืออะไรก็ตามใจให้สมบูรณ์เสียแล้ว ปัญหามันก็จะหมดเพราะว่าจะมีสันติภาพ  มนุษย์กำลังคิดอย่างนี้และโดยเฉพาะกับพวกคอมมิวนิสต์คิดไกลกว่าเพื่อน  แต่แม้ที่ไม่ใช่เป็นคอมมิวนิสต์ที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอะไรก็คิดอย่างนี้  คิดว่าถ้าเราได้ความสมบูรณ์ทางเนื้อหนังแล้วทุกคนจะหยุด  แล้วก็จะหยุดเบียดเบียนกัน  แล้วก็จะมีสันติภาพ  เพราะฉะนั้นมันก็เป็นคอมมิวนิสต์ทุกคนหรือทุกพวก  ถ้ามีความคิดว่าสมบูรณ์ทางเนื้อหนังแล้วเป็นถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์  แต่แล้วคุณดูสิเขาจัดให้คอมมิวนิสต์พวกเดียวเป็นคอมมิวนิสต์  แล้วผมว่ามันเป็นทุกพวก  พวกที่ยังเห็นว่าเนื้อหนังสำคัญ  ได้ความสมบูรณ์ทางเนื้อหนังแล้วถึงที่สุดแห่งสันตินี่ผมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทุกพวก  แม้แต่พวกที่ทำบุญไปสวรรค์  คุณย่าคุณยายทำบุญทำทานอุทิศจะได้วิมานในสวรรค์อย่างนี้ก็เป็นคอมมิวนิสต์  เพราะมันต้องการไอ้ความ[  ] (นาทีที่ 51:26) ทางวัตถุทางเนื้อหนัง  โดยคิดว่าถ้าเราได้สิ่งนี้แล้วมันจบ  คนเหล่านั้นคิดว่าสวรรค์นั้นละคือนิพพาน  ไปคุยกันดูให้ดีสิ  แต่ปากเขาพูดว่าสวรรค์อย่าง นิพพานอย่าง  แต่ใจเขารู้สึกว่านั้นละคือนิพพาน  หรือบางคนก็ไม่รู้เอาเสียเลยบอกว่าสวรรค์กับนิพพานเป็นสิ่งเดียวกันเลยก็มี 

    ไอ้คอมมิวนิสต์ที่กลัวกันนักนั่นมันหมายถึงว่ามันจะใช้ลัทธิบังคับให้ทุกคนช่วยกันทำอย่างนี้ ๆๆ  ตามที่เขาบังคับ  แล้วเพื่อว่าทุกคนจะได้มีความสมบูรณ์ทางวัตถุ  ที่คอมมิวนิสต์เขาบังคับพลเมืองให้ทำงานนั้นก็เพื่อว่าทุกคนจะได้เกิดความสมบูรณ์ทางวัตถุขึ้นมาแล้วก็เป็นสันติภาพของประเทศหรือของโลก  ถ้าพูดว่าเป็นลัทธิของโลกก็เป็นของโลก  แต่ทำได้หรือไม่ได้นั้นมันอีกปัญหาหนึ่ง  แต่ว่าหลักของเขาคือว่าต้องทำให้มนุษย์สมบูรณ์ทางวัตถุแล้วโลกจะมีสันติภาพ  ทีนี้ถ้าพูดกันด้วยปากไม่รู้เรื่องก็ใช้อำนาจบังคับให้ทุกคนต้องทำ  ทีนี้พวกที่ไม่ชอบก็เกลียดคอมมิวนิสต์ไม่อยากให้เข้าไปในบ้านในเมือง  นี่ก็, นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ว่าหัวใจของมันอยู่ที่ว่า  เห็นว่าสมบูรณ์ทางวัตถุนั้นคือยอดสุดของสันติภาพก็หาว่าเป็นเรื่องวัตถุนิยมจัด  ก็ถูกแล้วเป็นเรื่องวัตถุนิยมจัด  แต่พวกอื่น ๆ ก็ระวังให้ดี  ถ้ามีความคิดอยู่ว่าความสมบูรณ์ทางเนื้อหนังนี่ เป็นยอดของความสุขหรือเป็นของประเสริฐสุดแล้วก็ต้องมีความหมายอย่างเดียว  เพราะฉะนั้นพวกเสรีประชาธิปไตยก็บูชาความสุขทางเนื้อหนัง  มันก็เป็นคอมมิวนิสต์ชนิดที่ไม่บังคับเท่านั้นละ  และคอมมิวนิสต์ที่เมืองจีน-คอมมิวนิสต์ที่บังคับ, คอมมิวนิสต์ที่อเมริกันมันก็เป็นคอมมิวนิสต์ที่ไม่บังคับ

    ทีนี้พวกที่ดีดตัวออกมาจากสังคมนั้นมาเป็นฮิปปี้ก็ยิ่งเป็นคอมมิวนิสต์ชนิดหนึ่งเพราะว่ายิ่งหลงในรสของเนื้อหนัง  ไม่รู้เรื่องทางจิตใจ  ทั้งปากพร่ำหาไอ้เรื่องทางจิตใจ  พวกฮิปปี้เรียกไอ้เรื่องของเขาว่าเป็นความสูงทางวิญญาณแต่ที่แท้ก็คือความโง่  ไม่รู้ว่านั่นคือความหลงใหลในเรื่องทางวัตถุ  เรื่องสูบกัญชาก็ดี  เรื่องสำมะเลเทเมาทางเพศก็ดี  มันเป็นเรื่องทางที่เห็นว่าเนื้อหนังเป็นสิ่งสูงสุดนะ  เพราะถ้าเป็นเรื่องทางวิญญาณจริงเขาก็ไปหาอย่างอื่นได้ไม่จำเป็นต้องมาทำอย่างนี้  ฉะนั้นพวกนี้ก็เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่องทางวิญญาณ, ไม่รู้เรื่องทางร่างกาย, ไม่รู้เรื่องทางวิญญาณ  เขาต้องการเสรีภาพ  เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องทางวิญญาณ  แต่ที่แท้เสรีภาพเพื่อได้วัตถุตามต้องการของกิเลสของเนื้อหนัง  เพราะฉะนั้นอย่างนี้ไม่ใช่เสรีภาพ  กลายเป็นเสียเสรีภาพในทางจิตทางวิญญาณให้แก่กิเลส  เพราะฉะนั้นไปอ่านดู  น่าหัวที่สุดที่พวกฮิปปี้เขาคุยว่าเขาได้รับเสรีภาพจากขนบธรรมเนียมประเพณีจากการบีบคั้นของระเบียบ, ของอะไรต่าง ๆ, ของศาสนา, ของอะไรก็ตาม  เขาได้เสรีภาพที่จะทำตามที่เขาอยากจะทำแล้วไม่รู้จักว่านั่นคือการเสียสูญเสียเสรีภาพหมดเลย  สูญเสียเสรีภาพให้แก่ความโง่ให้แก่กิเลส, ให้แก่อะไร  อาจจะได้เสรีภาพบ้า ๆ บอ ๆ ทางวัตถุแต่สูญเสียเสรีภาพทางวิญญาณโดยสิ้นเชิง  นี้ก็เป็นปัญหาอันหนึ่งที่ว่าจะระบาดไปทั่วโลกที่มีการศึกษาอย่างเดี๋ยวนี้  การศึกษาที่มนุษย์มีอยู่อย่างเดี๋ยวนี้นั่นละจะนำไปสู่ความเป็นฮิปปี้คือต้องการเสรีภาพที่บ้าหลัง  แล้วก็ระวังในเมืองไทย  ในประเทศไทยเราฮิปปี้ไม่ต้องเข้ามา  ตัวจริง  แต่ว่าไอ้หนังสือที่เอามาเขียนนี้พอแล้ว  พอที่จะฟักฮิปปี้ขึ้นมาในประเทศไทยโดยเด็กไทย โดยเมื่อไหร่ก็ได้ และโดยเร็ว ๆ นี้ด้วยซ้ำ  หนังสือแต่ละเล่มที่มันเขียนออกมาน่าใจหาย  ผมลองอ่านดูหนังสือนี้พอแล้วที่จะฟักฮิปปี้ขึ้นมาในเมืองไทย  ตัวฮิปปี้จริง ๆ ไม่ต้องเข้ามาเพาะเชื้ออะไร  และบางทีจะเป็นฮิปปี้ที่ดีกว่าที่อเมริกาด้วยซ้ำไป  ฮิปปี้ที่จะเพาะฟักขึ้นเองในเมืองไทย  คุณรู้ไหมว่าเมืองไทย  คนไทยมันเก่งอย่างไร  ผมคุยโตได้ว่าคนไทยต้องทำอะไรเก่งกว่าครูเสมอ  มองเห็นไหมว่าถ้าเป็นไทยจริง ๆ ต้องทำอะไรเก่งกว่าครูเสมอ  ดูเรื่องกินอาหารเอาสิ  อาหารจีน, อาหารแขก, อาหารอะไรเข้ามาคนไทยจะต้องทำได้ดีกว่าเสมอ  การแต่งเนื้อแต่งตัวก็เหมือนกัน  ที่เห็นได้ง่ายที่สุด เช่น ไอ้กวีนิพนธ์นี้  เรารับกวีนิพนธ์มาจากอินเดีย สันสกฤต บาลีนั้นไม่มีสัมผัส  ไม่มีไพเราะอย่างกวีนิพนธ์ไทย  อะไรที่รับเข้ามาสามารถที่จะทำให้ดีกว่าครูได้ทุกอย่างไป  เป็นศิลปิน

    ทีนี้ถ้าคนไทยเราเพาะฮิปปี้ขึ้นมาได้  จะต้องดีกว่าไอ้ฮิปปี้ที่เป็นครูนี้ก็น่าอันตรายของ “ตัวกู” ที่เกิดมาจากรสของเนื้อหนัง “ตัวกู” อย่างฮิปปี้นี้จะอาละวาดหรือจะทำปัญหาให้มีมากขึ้น  มันก็เป็นอันว่าไอ้ “ตัวกู” ที่เกิดมาจากรสของเนื้อหนังนี่คือวัตถุนิยม  ฉะนั้นระวังให้ดี  ถ้าทำบุญกุศลเพื่อจะได้ไปวิมานได้นางฟ้าอะไรมันก็เป็นวัตถุนิยมหรือเป็นคอมมิวนิสต์ชนิดหนึ่ง  เว้นเสียแต่ว่าจะทำบุญเพื่อขจัด “ตัวกู” นี้  จะทำบุญทำทานนี้ทำเพื่อขจัดเสียซึ่ง “ตัวกู”  ทำลายความเห็นแก่ตัวให้มันน้อยลงไปอย่างนี้เรียกว่าทำบุญทำทานถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา  ถ้าทำบุญทำทานเพิ่มความเห็นแก่ตัว  เพื่อจะเอามากกว่าเดิม  หรือเอามาทางกามารมณ์ด้วยแล้วมันก็ไม่ใช่พุทธศาสนา  แต่ว่าพูดไปก็ลำบาก  ฉะนั้นไม่พูดดีกว่า  นี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่มีอำนาจครอบงำมนุษย์ร้ายกาจที่สุดก็คือวัตถุนิยมกระทั่งสวรรค์ก็เป็นวัตถุนิยม

    ทีนี้วัตถุนิยมทุกแบบมันก็คือ “ตัวกู” ที่มาจากรสของเนื้อหนัง  ฉะนั้นถ้าเราแก้ไขไอ้ “ตัวกู” นี้ได้ก็เอาชนะวัตถุนิยมนี้ได้  ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็พ่ายแพ้แก่วัตถุนิยมมากขึ้น  ไอ้โลกนี้ก็เป็นโลกวัตถุนิยมมากขึ้น  แล้วมันก็จะมียุ่งยาก, โกลาหล, วุ่นวาย หรือวินาศฉิบหายมากขึ้น  นี้คือเรื่อง “ตัวกู” ที่เกี่ยวกับปัญหาของโลกปัจจุบันคือวัตถุนิยมที่จะครองโลก  เราจะต้องรู้จักมันไว้ในฐานะว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดมาจากรสของเนื้อหนังคือเนื้อหนังอร่อยก็เป็นกามาวจร, เนื้อหนังจืดก็เป็นรูปาวจร, เนื้อหนังที่หมดความหมายไปก็เป็นอรูปาวจร  ลำดับสูงต่ำมีกันอยู่อย่างนี้  แต่ก็ไม่พ้นไปจาก “ตัวกู”  ถ้าอยากจะพ้นไปจาก “ตัวกู” ก็คือไม่เอาหมดทั้ง ๓ อย่างนี้  หันไปเอาไอ้การทำลายเสียซึ่ง “ตัวกู” ; ทำลายสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพตปรามาส อันเป็นรากฐานของ “ตัวกู”  ก็เลยเดินไปตามทางของมรรค ผล นิพพานอยู่เหนือวัตถุนิยม  เหนือไอ้ความทุกข์เหล่านี้

    เอาล่ะวันนี้รู้กันแต่เพียงว่าไอ้ “ตัวกู” นี่มาจากรสของเนื้อหนัง  แล้วก็มีอยู่ ๓ ชั้น หรือ ๓ ระดับ  ยิ่งสูงขึ้นไปเท่าไรยิ่งเหนียวแน่น ยิ่งละยากเท่านั้น  ก็พยายามเพื่อจะเอาชนะมันตามสมควรแก่การที่ได้เป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา  ซึ่งแสดงไว้โดยพระพุทธเจ้าที่ท่านมองเห็นว่ามนุษย์ยังขาดความรู้ส่วนนี้  ขาดความรู้ที่จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นที่มีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก  และท่านก็มาสอนให้  และเพื่อไม่ให้เราเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา  เราก็ต้องรู้เรื่องนี้และก็พยายามแก้ไขมันให้ได้  ทุกวันจะต้องอยู่ด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัว  มีชีวิตลมหายใจอะไรอยู่ด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัวเรื่อย  แม้แต่เมื่อกินอาหารอยู่ก็นึกถึงเรื่องนี้  แม้เมื่อทำงานอยู่ก็นึกถึงเรื่องนี้  แม้ว่าพักผ่อนอยู่ก็นึกถึงเรื่องนี้  เมื่อกินอาหารก็นึกถึงเรื่องนี้ ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ทำลายความยึดมั่นว่าตัวตน  และเมื่อทำการงานนั้นก็รู้จักอดกลั้นอดทนไม่ให้ “ตัวกู” มันกลุ้มขึ้นมาได้  เมื่อพักผ่อนก็อย่าไปหลงในความสบายของการพักผ่อน  อย่าให้ “ตัวกู” มันเหนียวแน่นขึ้น  เป็นอยู่ทั้งหลับและทั้งตื่นเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว  ทำลาย ตัวกู-ของกู ก็ชื่อว่าปฏิบัติพระธรรมในพระพุทธศาสนาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก  เอาละพอกันที

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service