แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นี้คำบรรยายทบทวนธรรมในวันนี้ จะได้กล่าวต่อจากตอนที่แล้วมา โดยหัวข้อที่ว่า มีหลักฐานอย่างไรจึงได้บัญญัติเรื่องทานขึ้นมาในลักษณะที่เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ ที่เป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา จนถึงกับยืนยันว่าพระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งการให้ทาน ฟังดูให้ดีว่า พระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งการให้ทาน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น มีแต่ทอทหารสระอา นอหนูสะกด คำเดียวอ่านว่า ทาน แล้วก็ไม่มีอะไรอีก ที่ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรนั้น ในขั้นแรกก็ต้องอ้างหลักพระพุทธภาษิต หรือหลักที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นหลักกันก่อน เรียกว่าอ้างหลักพระพุทธภาษิต ยังไม่อ้างหลักโดยเหตุผลที่จะพิสูจน์ด้วยเหตุผล โดยไม่อ้างอิงอะไร นั่นมันเป็นอีกตอนหนึ่ง
หลักพระพุทธภาษิตนี้ต้องอาศัยที่มาในพระไตรปิฎกนั่นเอง คนที่ไม่เคยเรียนพระไตรปิฎกก็ต้องพลอยเชื่อตามคนอื่นที่เขาอ้างพระไตรปิฎกมา นี้ก็เป็นเรื่องน่าหัวเราะ แต่เดี๋ยวนี้พระไตรปิฎกมีอยู่แพร่หลาย รวมทั้งมีอยู่ในหลายๆภาษา ภาษาไทยก็มี ใครต้องการก็เข้าไปเปิดดูได้ ทีนี้พระพุทธภาษิตที่จะแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติที่ดีที่สุดที่เป็นความสุขสวัสดีแก่คนทั่วไป คือการให้ทานนั้นก็มีอยู่โดยใจความสั้นๆว่า “นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ” เราไม่เห็นความสวัสดีอันอื่นสำหรับสัตว์ทั้งหลาย นอกไปจาก “สพฺพนิสฺสคฺคา” คือการสละเสียซึ่งสิ่งทั้งปวง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราไม่มองเห็นความ “โสตฺถึ” หรือความสวัสดีใดๆแก่สัตว์ทั้งหลายนอกไปจากการสละเสียซึ่งสิ่งทั้งปวง แม้ว่าจะมีคำตรัสก่อนหน้านั้นว่า “นาญฺญตฺร โพชฺฌาตปสา” เราไม่มองเห็นอื่นนอกจากความรู้ และความเพียร “นาญฺญตฺร อินฺทริยสํวรา” ไม่มองเห็นอื่นนอกจากการสำรวมอินทรีย์ มาก่อนดังนี้ก็ตาม นั่นเป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์สำหรับที่จะสละเสียซึ่งสิ่งทั้งปวง ก็หมายความว่าเป็นเรื่องที่ต่ำกว่า เบื้องต้นกว่า และเป็นอุปกรณ์ที่เราจะต้องมี
“โพชฺฌา” คือความรู้ มี “ตปสา” มี “ตป” คือความเพียร มี “อินฺทริยสํวรา” คือสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์สังวรณ์ก่อน มีความรู้เพื่อจะละสิ่งทั้งปวง มีความเพียรเพื่อละสิ่งทั้งปวง สำรวมอินทรีย์ทั้งหลายนั่นคือเริ่มการละสิ่งทั้งปวง มีการสำรวมกายใจ ไม่ให้ไปหลงยึดมั่นติดอะไร แต่แล้วก็กล่าวเป็นบทสรุปท้ายว่า “นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ” เราไม่มองเห็นความสวัสดีอื่นใดนอกไปจากการสละสิ่งทั้งปวงสำหรับสัตว์ทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลายต้องการความสุขสวัสดี สัตว์ทั้งหลายต้องสละสิ่งทั้งปวง
มีหลักในขั้นแรกก่อนคือต้องสละทุกสิ่งเอาไว้ให้ได้ในความเป็นตัวกูหรือของกู นั่นจึงจะเกิด “โสตฺถึ” คือความสวัสดีขึ้นมาแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธภาษิตนี้ใน (นาทีที่ 5.26) ที่อื่นก็มีที่มีความคล้ายกัน ขอให้สังเกตดูให้ดีว่าสละสิ่งทั้งปวง ‘สพฺพ’ แปลว่าทั้งปวง หรือ ‘นิสฺสคฺคา’ แปลว่าสละ สละสิ่งทั้งปวง นี่เป็นความสวัสดีสำหรับสัตว์ทั้งปวง แต่เดี๋ยวนี้สัตว์ทั้งปวงมันไม่มีอะไรเหมือนกัน วิธีที่จะสละสิ่งทั้งปวงมันจึงต่างๆๆๆกัน ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นนิกายดังที่กล่าวแล้ว ทีนี้อย่าลืมว่า “นิสฺสคฺคา” คือการสละมีความหมายคือ การให้ หรือทานนั่นเอง ตัวหนังสือจะต่างกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น แต่ใจความอย่างเดียวกัน คือการให้ออกไป กิริยากระทำคือสิ่งเดียวกัน คือการสละออกไป จะพูดว่าสละออกไป บริจาคออกไป ปล่อยวางออกไปก็ตาม มีความหมายอย่างเดียวกัน คือให้ออกไป อย่าให้อยู่กับเรา อย่าให้อยู่ที่เรา หมายความว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นไว้ โดยความเป็นตัวตนของตนเอง ไม่แบก ไม่หาม ไม่ทูน ไม่หอบ ไม่หิ้ว ไม่อะไรทุกอย่าง
“สพฺพนิสฺสคฺคา” คือการให้ทุกสิ่ง คือความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีวิธีให้ต่างๆกัน แยกได้เป็น 6 อย่าง ให้สิ่งของ ให้อภัย ให้ธรรมะ ให้กิเลสที่จะก่อขึ้นเป็นนิสัย ให้ตัวกูของกู ให้ผลที่ได้มาจากการหมดตัวกูของกู นี่คือวิธีที่จะสละสิ่งทั้งปวง จะว่าผมว่าเอาเองก็ตามใจ ผมมีหลักอย่างนื้ และพูดอย่างนี้ เป็นหลักทั่วไปที่ใช้กับคนประเภทไหนก็ได้ สละสิ่งทั้งปวงออกไปจึงจะเกิดความสวัสดี คำว่าความสวัสดีเรารู้จักกันแต่เพียงว่า ‘สบายดี ใช่ไหม (นาทีที่ 7.44)’ นั่นเป็นความสวัสดีทางภาษาคน ถ้าเป็นความสวัสดีทางภาษาธรรมะแล้วต้องมีความหมายกว้าง คือไม่มีความทุกข์โดยประการใดๆ ไม่ว่าในระดับไหน จึงรวมคำว่านิพพานไว้ในความสวัสดี
นิพพาน คือความเกษม เกษมจากโยคะ “เขมะ” ภาษาบาลี “เกษมะ” ภาษาสันสกฤษ ภาษาไทยเราว่าเกษม คำว่า ‘เกษม’ เป็นถึงนิพพาน หมายถึงนิพพาน เช่นเดียวกับคำว่าสวัสดีในที่นี้ “สวัสดี” แท้จริงสูงสุดก็คือนิพพาน ฉะนั้นการสละสิ่งทั้งปวงออกไป เพื่อให้เกิดความสวัสดีทุกๆชนิด อย่างเด็กเล่นขึ้นไปจนถึงสูงสุดคือนิพพาน นั่นคือหลักอันแรกหรืออันทั่วไปที่จะต้องมองเห็นหรือเข้าใจกันเป็นอันดับแรก ทีนี้เรามีหลักที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า สละของหาบหิ้วทั้งปวงออกไปเสียนั่นแหละคือนิพพาน คนที่เรียนนักธรรมเอกก็จะเคยพานพบ “เอตัง สันตัง เอตัง ประณีตัง ยทิทัง สัพพ สังขาร สมโถ สัพพุปธิปฏินิสสัคโค วิราโค นิโรโธ นิพพานัง” (นาทีที่ 9.11) ตรัสถึงไวพจน์ที่ทำแทนที่ที่ใช้แทนกันได้สำหรับนิพพาน และบอกว่านี้ปราณีตที่สุด นี้ละเอียดที่สุด “เอตัง สันตัง เอตัง ประณีตัง” นี้ระงับที่สุด นี้ปราณีตที่สุด “ยทิทัง” คืออะไรเล่า คือ “สัพพ สังขาร สมโถ” คือสิ่งที่เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง “สัพพุปธิปฏินิสสัคโค” คือการสละออกไปหมดทุกสิ่ง “วิราโค” คลายหรือจางออก “นิโรโธ” ดับ “นิพพานัง” ระบุลงไปยัง “สัพพุปธิปฏินิสสัคโค” ว่านี่คือไวพจน์ของนิพพาน เป็นสิ่งเดียวกับนิพพาน สิ่งที่เรียกว่านิพพานคือ การสลัดกลับออกไปซึ่งอุปธิทั้งปวง จำไว้ให้แม่นๆ ทุกตัวหนังสือ ทุกตัวพยัญชนะสักหน่อย “สัพพุปธิปฏินิสสัคโค” สัพ - ทั้งปวง อุปธิ – อุปธิ ปฏิแปลว่ากลับ นิสสัคแปลว่าสละ หรือ สลัด ปฏินิสสัค แปลว่า สลัดกลับ สลัดคืนออกไป สัพพุปธิ – อุปธิทั้งปวง
คำว่าอุปธิเคยพูดกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ก็ยังจำได้ เกือบไม่ต้องอธิบาย ถ้าเอาแต่ใจความสำคัญ ก็แปลว่า ของที่คนกำลังหอบหิ้ว แบกหามทูนอะไรอยู่ก็ตาม คือว่าของหนักอันหนึ่งที่คนไม่รู้ว่าเป็นของหนัก เพราะเขารัก เขาก็เอามาหิ้ว มาถือ มากุม มากอด มาแบก มาทูน มาหาบ มาอะไรอยู่ก็ตามใจ โดยหลักใหญ่ระบุถึงกิเลส คือ เบญจขันธ์ เบญจขันธ์กว้าง หมายถึงความรู้สึกคิดนึกก็ได้ ขันธ์ ๑ รวมอยู่ในเบญจขันธ์ ดังนั้นจึงรวมความรู้สึกว่าบุญ ว่ากุศล ว่าของรักของพอใจเอาไว้ด้วย คราวนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นอุปธิยิ่งไปกว่าบุญ เพราะว่าบุญมันน่ารัก น่าชื่นใจ น่ายึดถือ ดังนั้นบุญจึงเป็นอุปธิที่ล่อตาล่อใจยิ่งกว่าสิ่งใดหมด โอปติกัง ปุญยัง (นาทีที่ 12.02) บุญเป็นไปโดยอุปธิ คือของหนัก แบกไว้โดยจิตใจ
คราวนี้อุปธิอื่นๆ แล้วแต่อะไรที่ว่าไปเกาะ เข้าไปจับไว้ กิเลสก็เป็นของหนัก เบญจขันธ์ก็เป็นของหนัก ที่จริงไม่ต้องพูดแจ้งทั้งสองอย่างนี้ เพราะว่าการแบ่งแยกธรรมะเป็นคำอธิบายครั้งหลังที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเอง เมื่อพูดว่าเบญจขันธ์ก็รวมกิเลสอยู่แล้ว เพราะกิเลสคือสังขารชนิดหนึ่ง แต่ก็แยกให้เห็นชัดออกไปว่ากิเลสคืออุปธิอันแรก เบญจขันธ์คืออุปธิอันที่สอง เพราะกิเลสเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหตุที่จะทำให้ยึดถือ และสิ่งที่ถูกยึดถือคือเบญจขันธ์นั้น ทั้งผู้ยึดถือก็ตาม ผู้ถูกยึดถือก็ตาม เป็นอุปธิไปทั้งนั้น อุปธิในฐานะเป็นผู้ยึดถือ อุปธิในฐานะเป็นผู้ถูกยึดถือ แต่ใจความสำคัญเหมือนกันตรงที่ว่าเป็นของหนัก เป็นของที่เป็นอันตราย เราไม่รู้ว่าหนัก ไม่รู้ว่าเป็นอันตราย ไม่รู้ว่าไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น และก็ยึดถือในทางจะเอาจะเป็นอยู่เรื่อยไป ต้องสลัดคืนอุปธิทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ออกไปจึงจะเป็นนิพพาน
ดังนั้นคำว่านิพพานนี้จะอธิบายด้วยคำอธิบายอย่างไรก็ได้ เช่น หมดไป สิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ นี้คือนิพพานอย่างนี้ก็มี ในที่นี้หมายถึงว่า สลัดคืนออกไปแห่งอุปธิทั้งปวง (นาทีที่ 14.08) สังขารทั้งปวง และที่กล่าวทีเดียวครอบจักรวาร คือ ว่างนั้นคือนิพพาน นิพพานคือความว่าง ว่างที่แท้จริง ว่างถึงที่สุด เมื่อว่างก็หมายความว่า ปราศจากอุปธิโดยสิ้นเชิง ดูซิว่าจะว่างยังไงได้ ทีนี้ถ้ามองดูอย่างที่คนธรรมดาสามัญจะมองเห็น ตัวกูของกูคืออุปธิ ตัวกูคือกิเลส กิเลสอุปธิ อุปธิคือกิเลส ของกูคือเบญจขันธ์อุปธิ แล้วมีตัวกูของกูนี้เป็นของหนัก สำหรับหาบหามกันไป สลัดตัวกูของกูออกไปได้เมื่อไรก็เป็นการสลัดอุปธิทั้งปวงเมื่อนั้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะหาบ จะหิ้ว จะหาม จะหอบอีกต่อไปแล้ว นั่นคือนิพพาน
ฉะนั้นจึงสรุปใจความสำคัญว่า นิพพานคือการให้ออกไปเสียให้หมด ซึ่งอุปธิทั้งปวง นิพพานเกิด มีความหมายคือการให้ที่เป็นทาน คือการสลัดออกไป นี่ก็หมายความว่า เมื่อสลัดอุปธิออกไปหมด และผลที่ปรากฏอยู่ก็คือนิพพาน ว่างจากทุกข์ ทีนี้เพื่อความสิ้นเชิงก็จะต้องพูดทับลงไปอีกที แม้สิ่งที่เรียกว่านิพพานซึ่งเป็นผลก็ต้องไม่ถูกยึดถือไว้ว่าเป็นนิพพานของเรา นิพพานของนิพพาน คือไม่เป็นนิพพานของใคร เรียกว่าถึงที่สุดจริงๆ ที่นี้เราดูได้จากการปฏิบัติ คืออานาปานสติ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในนั้นแล้ว ไปเปิดดูเองได้ จะเตือนให้ระลึกเฉพาะอานาปานสติ หมวดที่ 4 ที่เรียกว่า ธรรมมานุปัสสนา สติปัฏปฐาน ขั้นที่ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ สี่ขั้นนี้เรียกว่า ธรรมมานุปัสสนา สติปัฏปฐาน
ขั้นที่ ๑๓ ก็มีว่า อนิจจานุปสสี เป็นความปกติของความไม่เที่ยงของสังขารทั้งปวงอยู่ ทั้งหายใจเข้า และออก
ขั้นที่ ๑๔ วิราคานุปัสสี มองเห็นความคลายออกแห่งความยึดมั่นถือมั่น เพราะเห็นว่าไม่เที่ยง จึงเกิดความคลายออกจางออกจากความยึดถือ อย่างนี้เรียกว่า วิราคะ มีการเห็นชัดอยู่ซึ่ง วิราคะ คือความจางออก คลายออกเรื่อยๆไปจากความยึดมั่นถือมั่น
ขั้นที่ ๑๕ คือ นิโรธานุปัสสี เห็นความดับไปแห่งกิเลส และความทุกข์
อันสุดท้ายขั้นที่ ๑๖ คือ ปฏินิสสัคคานุปัสสี การสลัดคืนออกไปโดยสิ้นเชิง
เรื่องก็จบ อานาปานสติก็จบเพียงขั้นที่ 16 คือปฏินิสสัคคานุปัสสี ขอให้ตั้งข้อสังเกตุตรงที่ว่า มันจบที่ตรงนี้ มันไม่ได้จบเพียงแค่นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่านิโรธ ดับทุกข์สิ้นเชิง นี่เป็นนิพพาน มันยังไม่จบ มันต้อง ปฏินิสสัคคานุปัสสี มองเห็นภาวะที่ว่า บัดนี้เป็นการสลัดกลับ สลัดคืนทุกสิ่งที่เคยยึดถือไว้ และกำลังจะยึดถือหรือยึดถือต่อไป อะไรก็ตาม แม้แต่สิ่งที่เรียกว่านิโรธหรือนิพพานของขั้นที่ 15 ก็ถูกสลัดออกไปหมด โดยการปฏิบัติขั้นที่ 16 คือปฏินิสสัคคานุปัสสี สรุปใจความสั้นๆว่า การปฏิบัติต้องไปจบลงที่ปฏินิสสัคคะ คือการสลัดคืนทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งใด โดยอาศัยหลักอันนี้ เราพูดได้ว่าพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาไปจบลงที่ปฏินิสสัคคะ ปฏินิสสัคคะก็คือทานนั่นเอง คือการให้ นี่ความหมายที่เราพูดถึงสุงสุด ในการให้อันสุดท้าย พูดอย่างภาษาสมมติ หรือภาษาบุคคลาธิษฐาน ภาษาคน ก็คืนให้เจ้าของเดิมไป คือ ธรรมชาติ
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่านามหรือรูปชนิดไหน ไม่ว่าการปฏิบัติ หรือผลของการปฏิบัติชนิดไหน มันเป็นของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้สัตว์ที่ประกอบไปด้วยอวิชชานี่ไม่เห็นอย่างนั้น เห็นเป็นตัวฉัน เห็นเป็นของฉัน อะไรมาเกี่ยวข้องกับฉันก็เห็นเป็นของฉัน อะไรเป็นผู้รู้สึกในสิ่งนั้น ก็เรียกว่าตัวฉัน นี่เป็นโจรปล้นธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาเป็นของฉัน ธรรมชาติก็ลงโทษให้เป็นทุกข์ ทีนี้รู้แจ้งในธรรมะของพระพุทธเจ้า จึงเกิดการสลัดคืนกลับให้เจ้าของเดิม ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ อยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีตรงไหนที่เป็นตัวฉัน หรือเป็นของฉัน นั่นคือความจริงหรือหลักที่มีอยู่ตลอดกาล ทีนี้เราพูดคล้ายๆทำนองเป็นเรื่องบุคคลสมมติ ธรรมชาติก็เป็นตัวตนของธรรมชาติ เราก็เป็นตัวตนของเรา เราเคยบ้า เคยโง่ เคยหลงไปพักหนึ่ง เอาธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกู ทีนี้คืน คืน คืน ให้ไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ เรื่องก็จบอยู่ที่การให้คืน การให้ทานอันสุดท้าย คืนให้ธรรมชาติไป ถ้าในศาสนาถือพระเจ้า ก็คืนให้พระเจ้าไป ก่อนนี้มันโง่ มันหลง มันบ้า มันบอ ว่าของกูเหมือนกัน เห็นแก่ตัวอยู่พักหนึ่ง พอรู้แจ่มแจ้งถึงที่สุดก็คืน คืนให้พระเจ้า เป็นของพระเจ้าตามเดิม
ถ้าว่าฉลาดกว่านั้น หรือจะเรียกว่าโง่ก็ตามใจ คือทำให้ง่ายเข้า เขาก็สร้างระบบศรัทธาขึ้นมาเสียตั้งแต่ทีแรก ว่าทุกอย่างเป็นของพระเจ้า ชีวิตร่างกาย อะไรของเรา เป็นของพระเจ้า (นาทีที่ 22.33) ไม่มีอะไรเป็นของเรา เชื่ออย่างนั้นเสียตั้งแต่ทีแรก ก็เท่ากับให้ไปแล้วเสียตั้งแต่ทีแรก ไม่ไปปล้นเอาของพระเจ้ามาเป็นของตน เรื่องก็น้อยเข้า เหมือนกับอาซิ้มไปสุขาวดีได้โดยง่ายเพราะความเชื่ออย่างนั้น ศาสนาที่เขามีพระเจ้าหลายๆศาสนาด้วยกัน เขาสอนให้ถือพระเจ้าเป็นหลัก ของพระเจ้าอย่ากล้าคิดลึกรู้สึกว่าของเรา เรื่องก็จบตั้งแต่ทีแรกได้ และเขาถือกันจริงๆ เขาถือได้จริง มีศรัทธาอย่างนี้จริงๆ ก็สบายจริงๆ ความเจ็บไข้มาถึงเข้า ร่างกายนี้เป็นของพระเจ้า ความเจ็บไข้เป็นของพระเจ้า พระเจ้าท่านต้องการ พระเจ้าบรรดาลให้เป็นไปตามที่พระเจ้าต้องการหรืออย่างไร เขาก็ไม่มีความทุกข์ ความตายมาถึงก็ไม่เป็นทุกข์ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระบิด อะไรต่างๆ ไม่มีใครเป็นทุกข์ เพราะทุกอย่างเป็นของพระเจ้า นี่ก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนที่จะไม่มีความทุกข์ อย่าไปถือว่าผิด อย่าไปหาว่าผิด มันเป็นนิกายหนึ่ง เป็นอุบายอันหนึ่ง เป็นหนทางอันหนึ่งที่จะตัดไปว่าไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกูด้วยเหมือนกัน ถ้าเราไปว่าเขาโง่ เราจะโง่กว่า เขานี่แหละฉลาดกว่า เพราะเขามีความมุ่งหมายที่ฉลาด ที่จะให้คนยึดถือได้ง่ายๆ ปฏิบัติได้โดยง่าย
ผมก็เคยโง่ที่สุด ในข้อที่ว่านิกายนั้นดี นิกายนี้ไม่ดี ศาสนานั้นดี ศาสนานี้ไม่ดี เคยโง่ขนาดนี้มาแล้ว ทีนี้มีความรู้สึกว่า จะเป็นศาสนาไหน นิกายไหน หลักไหนก็ตาม ถ้าทำให้คนไม่มีความทุกข์ได้ ให้ถือว่าใช้ได้ ให้ถือว่ามีประโยชน์ ให้ถือว่าเหมาะสมแล้วแก่บุคคลนั้นๆ ที่มันดีเกินไป ที่ถูกเกินไปนั้นกลับไม่มีประโยชน์ คือเข้าไม่ถึง สำหรับทุกคน ที่ทุกคนจะเข้าถึงแม้แต่อาซิ้ม มันต้องง่าย พอตัวทีเดียว หมายถึงว่าง่ายต่อการปฏิบัติ และนำไปสู่ผลคือการสลัดตัวกูของกูออกไปได้ และไม่มีความทุกข์ จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายที่เขาจะดับชีวิตไป ทีนี้เราถือหลักใหญ่ๆที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า หัวใจของพระพุทธศาสนานั้นคือ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” แปลว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันไปไกลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเรา” อย่างนี้ก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ให้ทาน ให้สละอยู่แล้วตั้งแต่วินาทีแรก ตั้งแต่คำพูดคำแรก หรือตั้งแต่การปฏิบัติก้าวแรก หรือตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว ท่านบอกว่าทุกสิ่ง ใครจะยึดมั่นถือมั่นว่าฉัน ว่าของฉัน ว่าตัวตน ว่าของตน ว่าตัวกู ว่าของกูไม่ได้ ก็เท่ากับท่านบอกให้ละ ให้สละ ให้ปล่อย ให้วางมาตั้งแต่คำพูดคำแรก นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ฉะนั้นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งหมดคือการให้ ให้ออกไปๆๆๆๆ จนกว่าจะไม่มีอะไรเหลือ เป็นความว่างเหลือ
การที่เราจะพูดว่าพุทธศาสนาทั้งหมดคือการให้ ก็ไม่มีทางจะผิด เพราะหลักพุทธภาษิตมีอยู่อย่างนี้ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” อยู่แล้ว ทีนี้เรามาทำให้เป็นรูปร่างของการปฏิบัติกันหน่อย การที่จะทำลายความยึดถือที่เราไม่รู้ตัวเราว่ายึดถือมาแต่อ้อนแต่ออก จะทำลายลงได้อย่างไร ขอบอกว่าจงเป็นผู้ให้ทานไปตามลำดับๆ ในลักษณะ ๖ ประการนี้ ทบทวนอีกทีหนึ่งให้ของ ให้อภัย ให้ธรรมะ ให้นิสัยเลวๆออกไป ให้ตัวกูของกู และให้อันสุดท้าย คืออะไรก็ตามที่มันจะเหลืออยู่ คือว่าถ้าได้นิพพานมาก็ให้นิพพานนั้นกลับออกไปอีกที ถ้าได้นิโรธก็ให้นิโรธกลับออกไปอีกที เป็นไม่มีอะไรเหลืออยู่ เป็นว่าง ถือโดยหลักอานาปานสติ จบแค่ปฏินิสสัคคานุปัสสี เป็นผู้มีปกติของการสลัดคืนอยู่เป็นประจำ ถือหลักโดยทั่วๆไปว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” เป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร เวลาของเราก็หมด