แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมบรรยายทบทวนธรรมในวันนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่องการให้ทานชนิดที่หก แต่ว่าจะต้องมีการทบทวนถึงการให้ทานชนิดต้นๆให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนอยู่ด้วยจึงจะเข้าใจการให้ทานชนิดที่หกอยู่ได้ ฉะนั้นจึงต้องขอทบทวนย้อนต้นบ้างตามสมควร และขอให้ถือว่าเป็นการทบทวนครั้งสำคัญด้วย หมายความว่ามันเป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะก้าวขึ้นสู่การให้ทานชนิดที่พิเศษที่สูงสุด หรือผิดธรรมดาจากที่เขาเข้าใจกันอยู่ แต่เท่าที่กล่าวมาแล้ว ทุกคนพอที่จะมองเห็นได้ลางๆว่า เราถือว่าการบรรยายครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานั้นมีแต่การให้ทานอย่างเดียวก็พอ ที่นี้การให้ทานนั่นแหละเป็นตัวพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการให้ทานไปเสียเลย เพราะมันมีการให้ทาน แต่ท่านให้ทาน กิเลสที่เป็นความเคยชิน ให้ทานตัวกูของกูออกไป แล้วก็ให้ทาน ผลที่จะเกิดขึ้นมาจากการหมดตัวกูของกูด้วย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องหมด ทั้งพระไตรปิฎก หรือหมดทั้งพระพุทธศาสนา และการให้ทานตัวกูของกูนั่นแหละ มันเป็นการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จะมีศรัทธาหรือจะถือจริณาคม ถือศีลหรืออะไรก็เพื่อสิ่งนี้ทั้งนั้น เรียกว่าศรัทธาทานศีลสมาธิปัญญา ประกอบมันเพื่อสิ่งนี้ ที่เรียกว่าให้ทานออกไปเสียเป็นตัวกูของกู ในที่อื่นหรือผู้อื่นอาจจะไม่เรียกว่าการให้ทาน แต่ที่นี้เราจะเรียกว่าการให้ทาน โดยมีเหตุผลอะไร จะได้พูดกันต่อไป จะต้องรู้ไว้ว่าผลที่เกิดขึ้นมาจากการหมดตัวกูของกูแล้ว เป็นความสุขอะไรก็ตามแล้วนี่ ยังจะต้องให้มันออกไปอีกทีหนึ่งจนไม่มีอะไรเหลือจนว่างไปหมด ไม่ใช่ว่าเมื่อละตัวกูของกูได้แล้ว มีความสุขสบาย หรือเป็นนิพพานอะไรขึ้นมาได้แล้วก็ยึดไว้เป็นความเป็นของตัว นี่มันใช้ไม่ได้ นี่มันผิดอย่างยิ่ง ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แม้ผลที่เกิดขึ้นเป็นความสุขก็หมดตัวกูของกู ก็ยังต้องละไปอีกทีหนึ่ง นี่คือปัญหาสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรื่องที่จะบอกว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการให้ทาน ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะว่าที่นี่เราจะทบทวนตั้งแต่ต้นไปว่าการให้ทานนั้นมี ๖ ชนิดเหมือนที่ได้พูดมาแล้ว แต่นี่เอามาทบทวนโดยหัวข้อแล้วก็สำคัญอยู่ที่ลำดับ ทาน ๖ ชนิด อันที่แรกคือให้วัตถุสิ่งของ จะถวายเป็นบุคคลหรือเป็นสังฆทาน หรือเป็นอะไรให้แก่ใครก็ตามใจ ให้สิ่งของอย่างหนึ่ง อย่างที่สอง ให้อภัย อย่างที่สามนั้น ให้ธรรมะคือความรู้ รวมสามอย่างนี้เป็นทานที่คล้ายกันคือมีผู้รับทานนั้น มีบุคคลที่สองที่ได้รับทานนั้นและได้รับประโยชน์จากทานนั้น เมื่อสามอย่างแรกนี่มันมีบุคคลที่สองเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามารับทาน เข้ามารับประโยชน์จากทานนั้นด้วย เพียงแต่ว่าผู้ให้ได้ผลฝ่ายเดียว ที่นี้อีกสามอย่างต่อไปนั้น มันเป็นให้สิ่งที่สี่คือให้สิ่งไม่ควรมีอยู่ในตัว ทานที่ห้า คือให้ตัวกูของกู ทานที่หกก็ให้แม้ผลที่เกิดขึ้นมาจากการหมดตัวกูของกู สามอย่างนี้ไม่มีใครผู้ใดเป็นบุคคลที่สองเข้ามารับ ผู้ให้ทานเป็นผู้ได้รับ ให้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนนี้ ก็หมายถึงกิเลสขั้นธรรมดาสามัญที่มีกันอยู่ทั่วไป ที่รบกวนกันอยู่เป็นประจำวันนี่ให้ออกไปเสีย เท่านี้ไม่พอเพียงแต่ให้กิเลสที่ละเอียดขึ้นไปอีก คือให้ตัวกูของกู เข้าไปอีก ที่หมดตัวกูของกูแล้ว มันมีผลเกิดมาจากการหมดตัวกูของกูนั้น มันก็ต้องให้อีก นี่มันสำคัญที่ลำดับอยู่เรื่อย ขออย่าให้ทำลำดับให้สับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามอย่างขั้นปลายนี้ ให้กิเลสหรือว่ากิเลสเฉียดๆ กิเลสเล็กๆน้อยๆ กิเลสประจำวัน ให้ออกไปเสียจากตน แล้วก็ให้กิเลสอันละเอียดชนิดเป็นอฺปธิ คือที่ชอบแบกชอบหามชอบยึดเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยง่ายๆ นั้นได้แก่ตัวกูของกูนั้นไป มันสูงขึ้นไปกว่า ถึงให้อฺปธิของแบกหามออกไปแล้ว ได้รับความสุขสบายก็ยังต้องสลัดออกไปทีหนึ่งว่าแม้ความสุขอันนี้หรือนิพพานนี้ มันก็ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู ให้ออกไปอีกทีหนึ่ง จึงจะจบเรื่อง นี่คือการให้ทานหกชนิดและมีลำดับอย่างนี้ ที่นี้ปัญหาต่อไปก็เกิดการสงสัยขึ้นมาแก่คนบางคน อันนี้เป็นเรื่องแหวกแนวหรือเปล่า ไม่เคยมีใครพูดว่า มีการให้ทานหกชนิดอย่างนี้ มักจะพูดกันเพียงสามชนิดข้างต้นที่ให้สิ่งของให้อภัยให้ความรู้ นี้พูดกันอยู่ทั่วไป มีหลักปรากฏชัดอยู่ แล้วก็นำมาพูดกันทั่วไปจนเป็นที่เข้าใจกันดี ตอนนี้คงไม่ถูกหาว่าแหวกแนว นี้พอมาถึงสามอย่างข้างท้าย ให้สิ่งที่ไม่ควรมีในตัวตน ให้ตัวกูของกู ให้ผลที่เกิดขึ้นจากตัวกูของกู ก็ยังจัดว่าเป็นทานอีกหนึ่ง ก็จะมีคนหาว่านี้มันเป็นเรื่องแหวกแนว หรือว่าเอาเอง หรือตู่พระพุทธเจ้า ใครจะคิดอย่างนั้นก็ตามใจ แต่ผมยืนยันว่าทั้งสามอย่างนี้ ก็ยังเป็นการให้ทาน และมีหลักพระพุทธภาษิตที่คำตรัสของพระพุทธเจ้านั่นเองเป็นหลักอยู่ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป ในตอนนี้จะพูดกันแต่เพียงว่ามันแหวกแนวหรือไม่และอยากที่จะให้เข้าใจคำว่าแหวกแนวคืออะไร เจตนาอันแท้จริงของการอธิบายให้เห็นว่า ทั้งหมดนี้เป็นการให้ทานนี้ มันมีอยู่ตรงที่ว่า ต้องการให้เรื่องมันง่าย การทำของยากให้เป็นของง่ายนี้ไม่ใช่เรื่องแหวกแนว พระพุทธเจ้าท่านทำเป็นประจำ และเป็นความพยายามของท่านที่จะทำของยากให้เป็นของง่าย และเมื่อผู้ฟังได้ฟังธรรมของพระองค์ หรือบรรลุธรรมแล้วก็ออกปากสรรเสริญด้วยคำคำนี้เหมือนกัน คือทำของยากให้กลายเป็นของง่าย ทำของคว่ำให้กลายเป็นของหงาย ทำของลึกให้กลายเป็นของตื้น ที่กลายเป็นปกตินิสัยของพระพุทธเจ้าไปที่จะต้องทำอย่างนี้ ที่นี้เราก็ทำตามพระพุทธเจ้าด้วยการทำของยากให้มันเป็นของง่าย เพราะผมจึงพยายามที่จะทำสุดความสามารถ ที่ของที่มันยากหรือมันยุ่งยาก มันฟั่นเฝือ มันมากมาย ก็ทำให้เหลือเพียงกะทัดรัดที่สุด และเข้าใจได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ไม่ต้องนึกถึงอะไรอีก นึกถึงแต่การให้ทานอย่างเดียวพอ และขอให้ทานให้เป็นตามที่กล่าวมานี้ก็แล้วกัน มันก็จะยากไอ้ตอนสามอย่างข้างปลายนั่นเอง คือว่าจะให้ทานกิเลสประจำวันออกไปอย่างไร ให้ทานตัวกูของกูออกไปอย่างไร และให้ทานผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นคือหนึ่งอย่างไร นี่ก็หมายความว่า เอาไอ้ทั้งหมดที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุมรรคผลนิพพานอะไรทั้งหมดในพระพุทธศาสนามารวมไว้ในคำว่าทาน คือการให้ การบริจาค การสละ นี่ เพียงคำเดียวเท่านั้น ก็เลยเป็นอันว่าเหมือนกับตั้งนิกายใหม่ก็ได้คือตั้งนิกายทานขึ้นมา แต่ผมไม่ได้ต้องการเกียรติยศชื่อเสียงหน้าตาอะไรว่าจะเป็นผู้ตั้งนิกายใหม่ แต่อาการมันเหมือนกับตั้งนิกายใหม่ แต่ที่นี้ต้องการเพียงว่าให้มันง่ายอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำเรื่องที่มันยุ่งยากให้มันกลายเป็นของง่าย นี่คือความประสงค์ เอาล่ะไหนๆก็พูดถึงคำว่าตั้งนิกายใหม่ ก็อยากจะบอกให้ทราบกันเสียบ้างว่าพุทธศาสนานั้นมีแบ่งแยกเป็นนิกายๆ โดยเฉพาะทางฝ่ายมหายาน แต่ทุกนิกายก็ยังเป็นพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง แล้วทำไมเกิดเป็นต่างนิกายขึ้นมา ก็เพราะว่ามันมีแนวปฏิบัติที่เขาเลือกเอามาเฉพาะหมู่คณะของเขา เช่นนิกายหนึ่งถือเอาพระธรรมเบญจนิตรสูตร (ไม่แน่ใจนาทีที่ 15.18) เป็นหลักปฏิบัติ นิกายอื่นก็ถือเอาสูตรอื่นเป็นหลักสำหรับปฏิบัติแล้วแต่เขาจะชอบ ก็ได้เกิดเป็นพวกๆขึ้นมา พวกนั้นถือหลักปฏิบัติโดยสูตรนั้น พวกนั้นถือหลักปฏิบัติโดยสูตรนี้ ที่นี้เลยมีมากนิกาย แต่แล้วมันก็ไม่มีอะไรผิดแผกกันตรงที่ว่า ไม่ว่านิกายไหน ไม่ว่าสูตรไหน มันเพื่อทำลายเสียซึ่งไอ้ตัวกูของกูทั้งนั้น คือทำให้ว่าง แต่อุบายมันต่างกัน กระทั่งนิกายที่ถือเอาความเชื่อเป็นหลัก เช่นนิกายสุขาวดี เพียงแต่เอาชื่ออมิตาภะวันละหลายพันครั้งหลายร้อยครั้ง จนลืมตัวเองไป มุ่งอยู่แต่อมิตาภะ อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์แก่คนพวกนั้นมาก ที่เขาไม่มีความทุกข์เลยจนตายได้เหมือนกัน แต่อาศัยความเชื่อ พิสูจน์ดังกล่าวกับเรื่องอนิตาภะนี่อย่างเดียวเป็นหลัก เพราะไม่ต้องการจะอยู่ในโลกนี้ ไม่หลงใหลอะไรในโลกนี้ ต้องการจะให้อยู่กับพระพุทธเจ้าอมิตาภะในแดนสุขาวดี บางทีก็เรียกว่าอมิตายุ ซึ่งเป็นองค์เดียวกัน มีหลายชื่อ อมิตาภะแปลว่ามีแสงสว่างที่คำนวณไม่ได้ อมิตายุก็แปลว่ามีอายุที่คำนวณไม่ได้ ที่นี้ก็ลองคิดดูสิว่ามันคืออะไร สิ่งใดบ้างที่มีแสงสว่างคำนวณไม่ได้ และสิ่งใดบ้างที่จะมีอายุที่คำนวณไม่ได้คำนวณไม่ไหว ไม่มีตัวเลขจะคำนวณ มันก็ไม่มีอะไร นอกจากความว่าง ความว่างเป็นอมิตาภะ ความว่างเป็นอมิตายุ มีแสงสว่างหรือมีอายุอะไรอีก มันคำนวณไม่ได้ บางทีใช้คำว่านิพพานแทน แทนคำว่าความว่าง ว่างนั้นคือนิพพาน มันแล้วแต่ว่านิกายไหนจะใช้คำอะไร มันเล็งถึงสิ่งเดียวกันนี้ นี่ขอให้นึกดูเถอะว่าแม้แต่นิกายเซี่ยงไท้หรือสุขาวดีของพวกอาซิ้มที่ถือกันมากที่สุด นี้ก็ยังมีประโยชน์แก่คนเหล่านั้นเพราะว่าคนเหล่านั้นไม่สามารถจะทำอย่างอื่นได้หรือทำไม่เป็น ทำไม่ได้ แต่ถ้าทำอย่างนี้ ทำได้และทำได้เป็นที่สุด คือยอมสละหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ข้างหลังนี้ จะเป็นทรัพย์สมบัติภรรยาสามีอะไรก็ตาม จะไปอยู่อมิตาภะอย่างเดียว จะไปเป็นผู้ที่มีแสงสว่างคำนวณไม่ได้ หรือมีอายุคำนวณไม่ได้อย่างเดียว มันมั่นเข้ามั่นเข้าด้วยความเชื่อ จนถึงกับเห็นรถเห็นรถราชรถสวรรค์ รถที่สวรรค์ส่งมาที่สวยงาม ที่มาลอยอยู่บนฟ้าหน้าบ้าน แล้วบอกลูกบอกหลานว่าพร้อมแล้วที่จะไป ไปขึ้นรถนั้นแล้วก็ไปสู่สุขาวดี นี่ความยึดถือมันมีมากอย่างนี้ ความเชื่อมันมีมากอย่างนี้ จนถึงกับครอบงำความทุกข์ความเจ็บความไข้ความห่วงความอาลัยอาวรณ์ความอะไรต่างๆหมดเกลี้ยงเหมือนกัน นี้มันเป็นวิธีหนึ่ง ดังนั้นจึงเรียกว่านิกายหนึ่ง ซึ่งถือเอาสูตรที่ว่าด้วยสุขาวดีเป็นหลัก สำหรับอาซิ้มแก่ๆโดยมาก เพราะผู้ชายก็มี แต่ก็เป็นผู้ที่มิอาจจะเรียนอะไรได้ หนังสือก็ไม่รู้ หรือว่าสติปัญญามันอยู่ในฐานะที่ไม่อาจจะเรียนอะไรได้ แต่เขาก็มีอะไร จะเรียกอุบาย หรือว่าจะเรียกลูกไม้หรืออะไรตามใจแล้วแต่จะเรียก เพื่อทำให้คนเหล่านี้สลัดความทุกข์ออกไปได้เหมือนกันด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด มันก็เป็นนิกายนี้ขึ้นมา ยังมีอีกหลายสิบนิกาย คล้ายๆสูตรนั้นสูตรนี้ ตามยากตามง่าย มีให้เลือก ประจำนิกายนั้นๆ ฝ่ายมหายานเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่นิกายอย่างเมืองไทยซึ่งทำอะไรเหมือนกัน แล้วเพียงแต่แบ่งพวกกันอย่างนี้ ผมไม่ถือว่าเป็นนิกายนิกายอะไร ถ้าเป็นนิกายต้องมีหลักปฏิบัติที่ต่างออกไป มีสูตรมีหลักคล้ายๆยึดถือปฏิบัติ แล้วมันต่างกัน เรียกว่าคนละนิกาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่านิกายนี้มันจำเป็นอย่างนี้ สำหรับคนโง่ที่สุดมันก็มีให้ระเบียบระบอบหนึ่ง โง่น้อยก็ให้ระบอบหนึ่ง ไม่โง่นักก็ให้ระบอบหนึ่ง ฉลาดแล้วก็ให้ระบอบหนึ่ง ฉลาดมากให้ระบอบหนึ่ง มันเกิดเป็นหลายๆระบอบ หลายๆนิกาย เข้าใจคำว่านิกายอย่างนี้กันไว้ก่อน แล้วที่นี้ก็มาถึงปัญหาว่าคนไหนนิกายไหนแหวกแนว จะเห็นได้ว่าไม่มีใครแหวกแนว เพราะเขาทำเพื่อผลอันเดียวกัน เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เอาอะไร แล้วก็ไม่มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ อย่างน้อยก็มีความรู้สึกที่ไม่เป็นทุกข์ ส่วนจะเป็นจริงมากน้อยเท่าไรกับตาหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องสะสาง ปัญหามันมีอยู่ตรงที่ว่าตั้งแต่เกิดจนตายนั้น อย่ามีความทุกข์ก็แล้วกัน นั่นแหละคือใจความสำคัญมันมีอยู่เท่านั้น ส่วนเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงเรื่องเท็จ เรื่องจริงมากจริงน้อยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพราะว่าเมื่อไม่มีความทุกข์ได้แล้ว..ก็พอแล้ว ผิวคนน่ะมันต่างกันลิบลับเลย ตาสีตาสายายมียายมา เหมือนพวกอาซิ้มนี่ก็พวกหนึ่ง มันก็สูงขึ้นไปสูงขึ้นไปตามลำดับ ถึงคนที่เรียกว่าเป็นนักปราชญ์มาตั้งแต่ในท้องนี่มันก็มีเหมือนกัน มันจะเรียนอย่างเดียวกัน ถืออย่างเดียวกัน ทำอย่างเดียวกัน อย่างไหนได้ เพราะฉะนั้นคำสอนเหล่านี้หรือหลักเกณฑ์ที่เขาจัดขึ้นเป็นระบบอย่างนี้ ไม่มีใครแหวกแนวเลย ต้องไปสู่แนวแนวเดียวคือความว่างจากตัวตนโดยอุบายอันใดอันหนึ่ง ตั้งต้นคือมีตัวกู แล้วก็ไปจบลงที่ไม่มีตัวกู แนวมีแต่อย่างนี้ ไม่มีใครแหวกได้ แต่ว่าในการปฏิบัติหรือในการเดินไปตามทางนั้น มันด้วยกิริยาท่าทางที่ต่างกัน คืออ้อมไปอ้อมมา อ้อมซ้ายอ้อมขวาอะไร มันก็ต่างกัน ไม่เป็นไร นี่เรียกว่าทุกนิกายไม่มีใครแหวกแนว ถ้าหากว่านิกายนั้นๆ แต่ละนิกายนำไปสู่ความว่าง ที่นี้ผมก็ยืนยันว่าได้ว่า คำอธิบายเรื่องทานหกชนิดนี้ไม่มีตรงไหนจะแหวกแนว เป็นการแสดงแนวตามลำดับตามลำดับตามลำดับ จะภายใต้ชื่อเพียงชื่อเดียวว่าทานหรือการสละ แล้วก็มีให้เป็นหกชนิดหรือหกลำดับ ขอยืนยันว่าไม่ต้องนึกถึงเรื่องอื่น นึกถึงแต่จะให้ทานหกชนิดนี้ก็จะหมดการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่จบพรหมจรรย์ได้เหมือนกัน ใช้คำว่าทานเพียงคำเดียวยกขึ้นมาเป็นหลักใหญ่ จึงอยากจะเรียกมันว่านิกายทานหรือทานนิกาย นี้เป็นหลักสำคัญ นี้เป็นธรรมะนอกนั้นยังมีอีกเยอะ มีอีกมากมายหลายสิบชื่อหลายร้อยชื่อ ให้เป็นบริวารของเรื่องทานนี้ไปเสียหมด เอเอาคำว่าทานคำเดียวขึ้นมาติดป้ายติดยี่ห้อ นอกนั้นเป็นอุปกรณ์เป็นบริวารเป็นเครื่องช่วย ศีลเพื่อให้เกิดอภัยทาน สมาธิก็ช่วยให้เกิดการสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจ คือทานที่ห้า ที่นี้ปัญญาก็ใช่จะทำลายตัวกูของกูให้หมดไป มันก็เป็นอุปกรณ์ช่วยให้เกิดทานที่ห้าและทานที่หก ที่นี้ศรัทธาและจริณาคม สติวิริยะอะไรนี่มันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ในทุกกรณี เป็นอุปกรณ์รอบตัวสารพัดนึกจะไปใช้อะไรก็ได้ มีศรัทธาก็ให้ทาน มีการถือจริณาคมก็เพื่อจะทำการให้ทานเสีย ไม่ว่าธรรมะข้อไหนก็เอามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการสละตัวกูของกูออกไปในที่สุด ที่นี้ทุกคนควรจะมีหลักว่าเราจะไม่ไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปเสียเวลา ที่นี้มันยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือว่าบางคนไม่สามารถที่จะไปเสียเวลากับอะไรได้ เพราะมันโง่เกินไป อย่างอาซิ้ม ที่นี้เราก็ทำให้ง่ายเข้ามาว่า ไม่ต้องไปนึกอะไรมาก อุตส่าห์ให้ทานไปตามลำดับ ให้ศีลไปตามลำดับ..ให้ศีลตามลำดับ ให้ทานสิ่งของ แล้วให้ทานความมีเวรมีภัย ให้ทานความรู้ความฉลาดตามที่เราจะมี แล้วก็ให้ทานนิสัยเลวๆที่จะเกิดขึ้นในสันดานนี้ แล้วก็ให้ทานไอ้ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูนั้นเสีย แล้วที่นี้ก็ในที่สุดก็ให้อันสุดท้ายก็คือว่า ผลอันใดที่มันเกิดขึ้นจากการหมดตัวกูของกู ก็ทิ้งมันไปอีกทีหนึ่ง เป็นของว่างเป็นความว่างมันก็เลยจบอยู่ที่ความว่าง ไม่ได้เอาอะไรไว้ นิพพานก็สักว่านิพพาน ไม่มาเป็นตัวกูไม่มาเป็นของกู ก็ถูกซัดออกไปก่อน นี้จึงพูดได้เต็มปากว่าหลักที่เราจะต้องปฏิบัตินั้นมีเพียงอย่างเดียวคือการให้ทานแล้วก็จำแนกแจกแจงออกไปเป็นหกอย่าง อย่างนี้ตามลำดับ ที่จะต้องไปตามลำดับอย่างนี้ สลับลำดับไม่ได้ ผลสุดท้ายก็พูดได้คำเดียวว่า ฉันไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากการให้ทาน เพราะฉะนั้นการกระทำอย่างนี้ไม่เป็นการแหวกแนว เพราะว่าจะทำสิ่งที่มันยากให้มันง่ายเข้า และการแยกนิกายอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการทะเลาะวิวาทกัน เป็นการแยกนิกายเพื่อว่าใครเหมาะที่จะใช้เครื่องมืออันไหนก็ใช้เครื่องมืออันนั้น เพราะว่าเรามีอะไรที่ไม่เหมือนกัน คนแก่ๆจะกินหมากพลูอย่างนี้ ก็ใช้เครื่องมือที่ทำให้หมากแหลกนั้นไม่เหมือนกันแล้วแต่ใครจะมีอะไร แล้วแต่ใครจะสะดวกอย่างไร ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นจึงขอให้สังเกตดูให้ดีและทบทวนดูให้ดีในทานหกชนิดนี้ โดยเฉพาะลำดับของทานนั้น เวลาของเราก็หมด