แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์เกี่ยวกับตัวกูของกูตามเคย วันนี้จะพูดเรื่อง “ควาย ๒ ตัว” เนื่องจากพูดเรื่องควาย ๒ ตัวมาครั้งหนึ่งคือครั้งที่แล้วมา ทีนี้เกรงว่าจะไม่เข้าใจอย่างชัดเจนหรือทั่วถึง อยากจะพูดเพิ่มเติมไอ้คำว่าควาย ๒ ตัวนี้มันมีอยู่ ๒ ความหมาย ถ้าคุณฟังมาแล้ว สังเกตดูให้ดีก็จะรู้ได้เองว่ามี ๒ เรื่องหรือ ๒ ความหมายซึ่งผมพูดอยู่เสมอ ที่ว่าควาย ๒ ตัวนี้พูดมากที่สุดก็ที่พูดกับพวกนิสิตว่า “ชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว” ควาย ๒ ตัวอย่างนี้มันความหมายหนึ่ง แล้วควาย ๒ ตัวที่มันขวิดกันอยู่ตลอดเวลาในจิตใจของปุถุชนคนธรรมดานั้นนี่มันอีกความหมายหนึ่ง โดยใจความสั้น ๆ สรุปแล้วไอ้ควาย ๒ ตัวประเภทแรก มันเป็นควายที่ต้องสร้างขึ้นมา, ต้องหามา ส่วนควาย ๒ ตัวประเภทหลังนี้มันมีอยู่แล้วเต็มอัดอยู่ในใจและไม่ต้องการให้มี ที่ว่าชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัวนั้น หมายความว่ามีความรู้ทางทำมาหากิน เทคโนโลยี-อันนี้ตัวหนึ่ง และอีกตัวหนึ่ง-มีความรู้แจ้งสว่างไสวทางจิตทางวิญญาณเรียกว่า Spiritual Enlightenment นี่ ก็อีกตัวหนึ่ง รวมเป็น ๒ ตัว ถ้าชีวิตของผู้ใดได้เทียมด้วยควายทั้ง ๒ ตัวแล้วชีวิตนั้นก็สบายเป็นสุข
เดี๋ยวนี้พวกคนในโลกนี้มันขาดควายตัวใดตัวหนึ่ง พวกฝรั่งมีแต่ควายตัวแรกคือเทคโนโลยีเจริญทางวัตถุ แล้วมันขาดควายตัวที่ ๒ คือความสว่างไสวในทางวิญญาณ ทีนี้, นี่พวกเราชาวตะวันออกชาวเอเชียทางนี้ก็ขาดควายตัวแรก ขาดวิชาเทคโนโลยีกำลังตามก้นฝรั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ง้อฝรั่งตามก้นฝรั่งอยู่ก็เพื่อควายเทคโนโลยีนี้ แต่เราก็มีควายตัวที่ ๒ คือความสว่างไสวทางวิญญาณ ในยุคโบราณคือความรู้ทางจิต, ทางวิญญาณ, ทางศาสนานั้นนะดีมาแต่เดิม คือพวกฝรั่งก็ไม่เคยมี เราก็มีควายตัวที่ ๒ แล้วต่อมาเราก็โง่ลง ๆ ทิ้งควายตัวที่ ๒ นี้ไปตามก้นฝรั่ง ควายตัวที่ ๒ ก็หายไปเสีย ควายตัวที่ ๑ ก็ยังไม่ได้โดยสมบูรณ์ไปมัวตามก้นฝรั่งอยู่ ฝรั่งอย่างน้อยมันก็มีควายตัวที่ ๑ มีเทคโนโลยีก้าวหน้าเต็มที่มาก เราก็สูญเสียควายตัวที่ ๒ คือความสว่างไสวทางวิญญาณแล้วก็ไปตามก้นฝรั่ง ก็ยังไม่ทันพวกฝรั่ง ก็เลยมีควายสักครึ่งตัวก็ไม่ค่อยจะได้ ไอ้ควาย ๒ ตัวอย่างนี้หมายความว่าต้องสร้างขึ้นให้มีนะ เอามาเทียมให้ชีวิตนี้มันถูกลากไปด้วยควาย ๒ ตัว เรื่องนี้ยังไม่พูด พูดแต่หัวข้อให้ฟังอย่างนี้
ทีนี้, ไอ้เรื่องควาย ๒ ตัวที่ต้องฆ่ามันเสียให้ตายนั่น ที่มันขวิดหรือมันชนกันอยู่ในจิตใจของเราอยู่เป็นประจำ ก็อย่างที่พูดมานิดหน่อยแล้วเมื่อคราวก่อนคราวที่แล้วมา อาจารย์ไปถามลูกศิษย์ที่ทำวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างเดี๋ยวนี้ บอกเห็นแต่ควาย ๒ ตัวขวิดกันเรื่อย ไปถามอีกก็ตอบอย่างนั้นอีก ไปถามอีกก็ตอบอย่างนั้นอีก พอครั้งสุดท้ายบอก อ้าว ทั้ง ๒ ตัวขวิดกันตกลงไปในน้ำ ละลายหมด เพราะมันเป็นควายดิน อาจารย์ว่า พอ ๆๆ
ควาย ๒ ตัวนี้, อยากจะพูด ที่ว่าควาย ๒ ตัวขวิดกันอยู่เป็นประจำนี่มันหมายถึงเรื่อง ตัวกู-ของกู โดยตรง การยึดมั่นถือมั่น เป็นดี-เป็นชั่ว, เป็นสูง-เป็นต่ำ, เป็นอย่างนั้น-เป็นอย่างนี้, เป็นคู่ ๆๆๆ ไป มันกลุ้มอยู่ในหัวใจเรื่อย ถ้าจะพูดแจกเป็นเรียงอย่างแล้วมันมากมายหลายสิบ หลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นชนิดละที่เป็นคู่ ๆๆๆ นี้ สรุปสั้น ๆ ก็มาอยู่ ที่ดี-ที่ชั่ว, บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, ได้-เสีย กระทั่งทุก ๆๆๆ คู่ เรื่องหญิง-เรื่องชาย, เรื่องสวย-ไม่สวย เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เป็นคู่ ๆๆๆ กันแล้ว มันก็มีหนทางที่จะต้องเกิดการขวิดกัน คือเกิดการกระทบกระทั่งกัน เขาเรียกว่ามันกระทบกระทั่งกันด้วยความยื้อแย่งไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดี ภาษาฝรั่งเขาเรียก Conflict
Conflict สั้น ๆ อย่างนี้หมายความกว้างมาก เราไม่สบายใจ, หม่นหมองใจนี่ก็เพราะมี conflict คือ ควาย ๒ ตัวขวิดกัน ยังไม่รู้ว่าจะสึกดีหรือจะอยู่ต่อไปดี ควายตัวหนึ่งมันจะสึก ควายตัวหนึ่งมันจะอยู่ต่อไป มันก็ขวิดกันนี่ conflict ไปทำงานเหนื่อยเสียหน่อย เอ้า, ก็ลืม หยุด ๆ ขวิดกันพัก แต่ทั้ง ๒ ตัวยังไม่ตาย เดี๋ยวก็มานอนก่ายหน้าผากขวิดกันอีก จะอยู่ดี ? หรือจะสึกดี ? อย่างนี้เรียกว่าควาย ๒ ตัว
ถ้าจะพูดเป็นหัวข้อรวบรัดให้หมดก็พูดเป็นว่า (๑) ปัญหาทางสังคมอย่างหนึ่ง แล้วก็ (๒) ปัญหาทางร่างกาย, ระบบร่างกายอย่างหนึ่ง แล้วก็ (๓) ระบบวิญญาณ, ระบบจิตใจ ๓ อย่าง เป็น ๓ อย่างด้วยกัน
(๑) ปัญหาทางสังคมนี่นอก - เปลือกนอกสุดเลย มันอยู่เปลือกนอกสุดเลยเพราะมันคบหากับผู้อื่น ปัญหามันก็เป็นเปลือกนอกสุด จะคบหาคนไหนดี ? คนนี้เป็นมิตรหรือศัตรู ? คนนี้เป็นคนซื่อตรงหรือเป็นคนคดโกง ? นี่, เรามีปัญหาอย่างนี้เรื่อยทางสังคม กระทั่งว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ดีหรือเป็นประชาธิปไตยดี ? หรือว่าจะเลือกเอาสังคมไหนดี ? แม้กระทั่งว่าจะบวชอยู่ดีหรือจะไปเป็นพระ ? ไปเป็นฆราวาสดี ? นี่ก็เป็นปัญหาทางสังคมเหมือนกัน ไม่รู้จะเข้าสังคมไหน ฉะนั้นไอ้ที่เกิดเป็นควาย ๒ ตัวขึ้นมา แล้วขวิดกันอยู่ในใจของเรานี่ มีได้มาก เนื่องมาจากปัญหาทางสังคม มันต้องไม่มีปัญหาทางสังคมอย่างนี้ เรา ใจคอเราจึงจะสบาย
(๒) ทีนี้เรื่องถัดมามันก็เป็นเรื่องทางร่างกาย ร่างกายของเราไม่รู้จะเอาอย่างไรดีที่มันจะมีความปกติสบายทางร่างกายนี้ แม้จะกินอาหารก็ไม่รู้จะกินอาหารผักดีหรือจะกินอาหารเนื้อสัตว์ดี ? นี่, ดูมันก็ยังมีปัญหา จะบริหารร่างกายอย่างไรดีก็มีปัญหา เรื่องเส้นประสาทไม่ปกติอย่างนี้ก็มันมีปัญหา นี่, ปัญหาที่ต้องแก้ไข แล้วก็ลังเลสงสัย, ไม่รู้แจ้ง, ไม่รู้แน่ ปัญหาทางร่างกายเป็นอย่างนี้
(๓) ทีนี้ปัญหาทางจิตใจอันที่ ๓ ทางวิญญาณนี้มันก็ยิ่งลึกไปอีก ร่างกายก็สบายดี, เส้นประสาทก็ปกติดี, เป็นคนปรกติดี แต่จิตใจหรือดวงวิญญาณไม่ปกติ ปัญหาใหญ่กว้างที่สุดก็คือว่าจะอยู่อย่างโลกียะดีหรือว่าจะเป็นโลกุตระดี ? จะไปนิพพานดีหรือว่าจะปล่อยไปตามเรื่องในวัฏสงสารดี ? นี่, มันเป็นเรื่องหยาบ ๆ ทีนี้เรื่องละเอียด มันก็เป็นเรื่องดี-ชั่ว เป็นปัญหาที่ความดีกับความชั่วมันรบกันเรื่อย จิตฝ่ายต่ำมันก็ไม่ยอมแพ้ จิตฝ่ายสูงมันก็เอาชนะไม่ได้ แล้วมันก็มีการรบกันระหว่างจิตฝ่ายต่ำกับจิตฝ่ายสูง จะไปนิพพานดีหรือจะออกไปในโลกดี ? แม้แต่พระนี้, จะสึกดีหรือจะไปหาพระพุทธเจ้าดี ? นี่มันก็มีปัญหาทางวิญญาณอยู่อย่างนี้
นี่เป็นหัวข้อใหญ่มีอยู่ ๓ ประเภท แล้วแต่ละประเภท ๆ นี่มันก็แจกลูกออกไปได้มากมาย (๑) ปัญหาทางสังคม (๒) ปัญหาทางร่างกาย (๓) ปัญหาทางวิญญาณ ๓ ชุด ๓ พวก ๓ ประเภทนี้แจกลูกออกไปได้มาก มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยว่าควายนี้จะลุกขึ้นมาขวิดกันเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นเมื่อมีการกระทบกระทั่งในทางจิตใจ คือลังเลต่อสู้กันอยู่นี่ก็เรียกว่าเมื่อนั้นมีควายขวิด ๒ ตัวขวิดกันอยู่ แล้วก็มันก็ต้องมี ตัวหนึ่งดี-ตัวหนึ่งชั่ว, ตัวหนึ่งผิด-ตัวหนึ่งถูก เสมอไป ที่ขวิดกันได้นะ ถ้ามันไม่แตกต่าง, ตรงกันข้าม มันขวิดกันไม่ได้ แม้คนพาล, คนอันธพาล มันอยากจะกลับใจเป็นคนดี มันก็ต้องมีการต่อสู้ในจิตใจ ใจหนึ่งไม่อยากกลับ-ใจหนึ่งอยากกลับ, ใจหนึ่งไม่อยากกลับ-ใจหนึ่งอยากกลับ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญมีอยู่ในจิตใจของคน ไม่ต้องสร้าง, ไม่ต้องหามาจากไหนอีกแล้ว นี่คุณลองเปรียบเทียบกันดู ไอ้ควาย ๒ ตัวชนิดที่ว่าโน้นต้องไปหามา, ต้องไปสร้างมา, ต้องอบรมบ่มมันขึ้นมา ส่วนควาย ๒ ตัวนี้มันมีอยู่ตลอดเวลาเต็มอัด –จะต้องฆ่า, ต้องทำลายมันเสียให้ตาย ควาย ๒ ตัวมี ๒ ชนิดอย่างนี้
ทีนี้, ถ้าว่าเป็นพระอย่างนี้ ควายตัวใหญ่เบ้อเริ่มก็คือว่า สึกดีหรือว่าอยู่ดี ? ผมกล้าพูดนี่เป็นควายตัวใหญ่ลุกขึ้นมา ทีนี้, ถ้าควายตัวย่อมลงไปก็ว่า อยู่ป่าดีหรืออยู่ในเมืองดี ? อย่างผมนี้ก็เคยคิดว่า อยู่ในกรุงเทพฯ ดีหรืออยู่ในป่าดี ? นี้, ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสทำการทำงานได้เป็นใหญ่เป็นโต ป่านนี้เป็นเจ้าคุณชั้นใหญ่ชั้นโตไปแล้วก็ได้ นี่, อยู่ในป่า มันก็ไม่ต้องเป็นอะไร มันก็มีปัญหาว่า จะเป็นพระป่าดีหรือพระบ้านดี ? ทีนี้, มันก็แยกออกมาอีก ละเอียดออกมาอีกว่า จะเป็นพระบริหารการปกครอง, เป็นเจ้าคณะ อำเภอ, จังหวัดดีหรือว่าเป็นนักศึกษาบ้าหนังสืออย่างผมนี่ดี ? มันก็เป็นที่มีปัญหาขึ้นมาเอง ผมไม่อยากเป็นเจ้าคณะ-เป็นอะไรทั้งนั้น พยายามปลีกตัวเรื่อย ก็บ้าหนังสือไปเป็นนักศึกษาหนังสือ หรือคิดนึกเรื่องวิชาความรู้ไปตะพึด นี่, มันก็ยังมีปัญหา ที่เคยมีปัญหาเพราะว่าถ้าไปเป็นเจ้าคณะ ไปไหนมันก็ได้ดิบได้ดีเร็ว ได้เงิน, ได้ชื่อเสียง, ได้เกียรติ, ได้อะไร มีอำนาจวาสนาบารมีมาก แต่มาเป็นพระเถื่อนนี่มันไม่แน่ บางทีต้องกินข้าวจานแมวอย่างนี้อยู่เรื่อยไปนี่มันก็มีปัญหา เป็นควายขวิดกันอยู่เหมือนกัน จนกว่ามันจะเด็ดขาดลงไป ถ้าคู่นี้มันหายไป คู่อื่นมันก็เกิดขึ้นมาอีกเช่นว่า จะสร้าง สิ่งใดสักสิ่ง จะสร้างดีหรือไม่ดี ? จะสร้าง โรงหนัง นี่จะสร้างดีหรือไม่สร้างดี ? ถ้าว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นมากมันก็ขนาดเป็นไฟทีเดียวเว้นเสียแต่ว่า มันจะมีความรู้ความเข้าใจที่แน่ใจไม่ต้องถึงกับลังเล ถ้าลังเลเมื่อไรแล้วมันก็ต้องมีอาการควายขวิดกันเมื่อนั้น ฉะนั้นความลังเลมาจากความยึดมั่นถือมั่น เอ้า, สมมติว่าสร้างตึกหรือสร้างโบสถ์ใหญ่ ๆ อย่างนี้ มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาคือวิตกกังวลว่ามันจะเสร็จหรือจะไม่เสร็จ นี่, สมภารที่กลัวจะไม่เสร็จ ทรมานใจจน ๆ เป็นโรคตายไปก็มี มันทรมานใจว่าไอ้งานที่ทำอยู่นี้จะไม่เสร็จแล้วมันทรมานใจอยู่นั่นเพราะปลงไม่เป็นสลับออกไปไม่เป็น มันก็เป็นควายขวิดอยู่เรื่อย ทรมานจิตใจของแกว่าไอ้โบสถ์ของเรานี้จะเสร็จหรือจะไม่เสร็จ ? ๑๐ ปีแล้วมันก็ยังไม่เสร็จ, ๒๐ ปีแล้วมันก็ยังไม่เสร็จ ผลสุดท้ายก็เป็นวัณโรคตาย หรือว่าพอสร้างเสร็จก็ตายก็มี สร้างโบสถ์เสร็จตายก็มี ไอ้ความทรมานนี่เกี่ยวกับเหน็ดเหนื่อยการสร้าง, การทำนี้ ฉะนั้น ผมจึงสอนหรือแนะไปว่าถือลัทธิใหม่ของเราดีกว่าคือ “เสร็จทุกวัน” ถามว่าเสร็จหรือยัง ? ก็ว่าเสร็จแล้ว เสร็จทุกวันเลย พอเย็นลง, ค่ำลงมันก็เสร็จ คือมันเสร็จเท่านี้แล้วพอใจที่สุด วันนี้มันทำอะไรเท่านี้ก็เสร็จเท่านี้, ก็พอใจเท่านี้ แปลว่าเสร็จทุกวัน ไม่มีไม่เสร็จ ฉะนั้นเราก็ไม่มีควายที่จะขวิดในจิตในใจ มันเสร็จทุกวัน มันเลิกกันไป ถ้าลองไม่เสร็จก็ไปนอนก่ายหน้าผากอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้มันเสร็จ มันก็เป็นเรื่องทรมาน นี่ปัญหาของพระแคบ ๆ อันนี้มันก็ยังมีอย่างนี้
นี่ของชาวบ้านแล้วยิ่งแย่เลย ชาวบ้านนี้เขามีเรื่องมากไม่ใช่มันเรื่องน้อยนะ ชาวบ้านเรื่องมากกว่าพระเราตั้ง ๑๐ เท่า มันก็มีส่วนที่จะเกิดควายขวิดกันมาก แล้วควายเลว ๆ ควายหยาบ ๆ ควายโง่ ๆ ด้วยซ้ำ มันก็โกลาหลใหญ่ ในตัวอย่างนิทานเรื่องที่เล่านั้นมันควายชั้นละเอียด ไปนั่งทำวิปัสสนาอยู่ในป่า ทำเซน ปฏิบัติเซนอยู่ในป่า เห็นแต่ควาย ๒ ตัวขวิดกัน คือความโต้แย้งกันระหว่างไอ้เรื่อง เอา-ไม่เอา, เป็น-ไม่เป็น อะไรนี้ เอาหรือไม่เอา ? เป็นหรือไม่เป็น ? ดีหรือชั่ว ? อะไรนี้ มันมีละเอียดมากก็ยังเป็นควายขวิดกันได้ ทีนี้, พวกชาวบ้านที่ยุ่งอยู่ด้วยการงาน, เงินทอง, ลูก, เมีย นี่มันก็เหลือ ๆๆ ประมาณที่จะมีควายขวิดกันในจิตใจ
นี่, เราสมมติเรียกว่าควาย ๒ ตัว ตัวหนึ่งดำ - ตัวหนึ่งขาว แล้วก็ขวิดกันเรื่อย พอมันเหนื่อยนักมันก็ลงนอนหอบ หยุดขวิดกันบ้าง แล้วก็นอนหลับเสียแค่นี้ พอมันหายเหนื่อย มันก็ลุกขึ้นขวิดกันอีก มันไม่มีตัวไหนแพ้ตัวไหนชนะจนกว่ามันจะหมด ตัวกู-ของกู นะ จนกว่าเมื่อไรมันจะหมดกิเลสเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู นั่นคือสุญญตาหรือความว่างเข้ามา ไม่มี ตัวกู นี่ ฉะนั้นควายทั้ง ๒ ตัวนั้นทั้งตัวดำและตัวขาวมันถึงจะพลัดตกน้ำ ละลาย ๆๆ เป็น ละลายน้ำหายไปหมด
เดี๋ยวนี้เรายังมีความอยากมาก มีความอยากอย่างนั้น, อยากอย่างนี้, อยากอย่างโน้นอยู่มาก พระเณรทุกองค์ลองคิดดูในข้อนี้ มันยังมีความอยากอะไรอยู่มาก บางทีมันก็อยากเกินประมาณ อยากไม่ควรอยากด้วยซ้ำไป ถ้ามีความอยากแล้วมันก็มีอุปาทาน ตณฺหา ปจฺจยา อุปาทานํ อุปาทาน ปจฺจยา ภะโว (นาทีที่ 18:45) นี่, ปฏิจจสมุปบาทมีหลักชัดอยู่แล้ว เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย-อุปาทานจึงมี อุปาทานนั่นละคือ ตัวกู-ของกู คือควายขึ้นมาแล้ว ส่วนตัณหานั้นคือความอยาก ตามหลักของตัณหาก็ ๓ ความอยาก (๑) กามตัณหา อยากในกาม ในกามารมณ์นี่นี้มันก็เหลือ ๆ เหลือเกิน มหึมาใหญ่โตยิ่งกว่าภูเขา อยากในกามารมณ์มากมายหลายสิบแบบไม่รู้สิ้นรู้สุด ก็เกิดควายขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีเรื่องกามารมณ์ มันก็มี (๒) ภวตัณหา อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ แต่ยังอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ ระบุไปยังพวกพรหมมันอยากมีชีวิตอยู่ เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นท้าวมหาพรหมแต่ไม่มีกามารมณ์เลย นี่เรา, เราแม้ไม่เกี่ยวกามารมณ์ เราก็ยังมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็นใหญ่-เป็นโต อยากเป็นดี-เป็นเด่น อะไรก็ไปตามเรื่องของมัน ก็อยากแรงเหมือนกัน มันก็เป็นควายอย่างหนึ่งชนิดหนึ่งอีก นี้ประเภทที่ (๓) อยากไม่เอา-ไม่เป็น อยากไม่ให้มี, ไม่ให้เป็น มันก็มีเรื่องมากอีกเหมือนกัน กระทั่งอยากตายขึ้นมา อยากตายอย่างโง่เขลาขึ้นมา
๓ อยากนี้ไม่รู้ว่ามันสักกี่มากน้อยแต่ละอยาก ๆ ก็ให้เกิดอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน หรือเกิดควายขึ้นมา ทีนี้, ยิ่งอยากมากเท่าไรก็ยิ่งมีควายตัวโตเท่านั้น คือรบกวนจิตใจขนาดร้อนเป็นไฟไปได้ ทีนี้,, ถ้าสัตว์ใดหรือผู้ใดมันไม่มีความอยากด้วยเหตุใดก็ตาม-มันก็ไม่เป็นควาย, ไม่เป็นไฟ, ไม่เป็นอะไรขึ้นมา เมื่อเวลาเรานอนหลับ ควาย ๒ ตัวนอนพักไม่ได้ชนกัน-มันก็สบาย แต่พอเราตื่นขึ้นมา พอคึกคะนองขึ้นมาดี ก็อยากนั่น, อยากนี่อีก มันก็ขวิดกันอีก
ฉะนั้นจึงพูดได้สั้น ๆ ว่า ยิ่งอยากมากก็ยิ่งมี ตัวกู มาก มี ตัวกู-ของกู มาก อยาก, ความอยากใหญ่เท่าไร-ตัวกูของกูใหญ่เท่านั้น ฉะนั้นไอ้ควายจะเป็นตัวโตหรือตัวเล็กมันก็อยู่ที่ความอยาก อยากในกามตัณหาก็ได้, ภวตัณหาก็ได้, วิภวตัณหาก็ได้ พออยากแล้วมันก็เป็นอุปาทาน คือเป็นควายชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วอุปาทานมันก็ต้องยึดมั่นในทางดี-ชั่ว, บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, เป็นคู่ เป็นคู่ เป็นคู่ไปเสมอ
ไอ้ ดี-ชั่ว นั่นละเป็นคำสรุปของทั้งหมดของทุกคู่ เพราะจะแยกเป็นคู่ ๆๆๆ อย่างไรก็ตาม มันแยกได้หลายหมื่นหลายแสนคู่ แต่แล้วมันจะสงเคราะห์ได้เป็นว่า ฝ่ายดี หรือ ฝ่ายชั่ว มนุษย์เริ่มมีความทุกข์เมื่อเริ่ม รู้จักดี-รู้จักชั่ว เรื่องนี้ก็พูดหลายหนนะแต่จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไม่ทราบ แล้วบางคนก็ไม่เข้าใจเพราะว่าเขาสอนให้ รู้จักดี-ให้รู้จักชั่ว กันอยู่ทุกวัน ๆ ให้เด็ก ๆ รู้จักดี-รู้จักชั่วกันอยู่ทุกวัน แล้วเรามาสอนว่าความทุกข์นี่เกิดมาจาก รู้จักดี-รู้จักชั่ว มันฟังยาก เพราะเห็นมันค้านกันหรือว่าเป็นไปไม่ได้ รู้จักดี-รู้จักชั่ว อย่างที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้มันสอนอย่างให้ยึดถือทั้งนั้นละ ยึดถือดี, ยึดถือชั่ว ถ้าไม่ยึดถือดี, ไม่ยึดถือชั่วนั่น จึงจะไม่มีทุกข์ จึงจะไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นถ้าสอนไปในทางให้ยึดมั่น ดี-ชั่ว มันจะต้องมีความทุกข์ คือทุกข์อย่างละเอียดอย่างที่ไม่เรียกว่าเป็นทุกข์ก็คือควาย ๒ ตัวขวิดกัน มันไม่ ๆ ถึงกับทำให้ตายแต่มันขวิดกันได้เรื่อย มันทรมานจิตใจอยู่ได้เรื่อย
มนุษย์เริ่มมีความทุกข์เมื่อเริ่ม รู้จักดี-รู้จักชั่ว ตรงเป๊ะถูกต้องที่สุดตามคัมภีร์ไบเบิ้ลของพวกคริสเตียนคัมภีร์แรกคือคัมภีร์ Genesis มนุษย์อีฟ อดัมกับอีฟดื้อพระเจ้า กินผลไม้ต้นแรก รู้จักดี-รู้จักชั่ว ขึ้นมา เริ่มมีความทุกข์ตั้งแต่นั้น ก่อนแต่นั้นเขาไม่มีความทุกข์, ไม่มีที่หวัง, ไม่มีที่ต้องการ, ไม่มีที่ยึดมั่นถือมั่น, ไม่มีความทุกข์ พอถึงยุคที่มันกินผลไม้ชนิดทำให้รู้ดีรู้ชั่วไปมันก็เริ่มยึดมั่นถือมั่นเป็น มันก็เริ่มความทุกข์ตั้งแต่นั่น นี้ก็ตรงกับหลักพุทธศาสนาเป๊ะอีกเหมือนกัน แต่คัมภีร์ไบเบิ้ลเขาพูดไว้อย่างอุปมาอุทธาหรณ์ นี่เราพูดตรง ๆ นี่พวกที่ท่องไบเบิ้ลได้มันก็ไม่รู้ว่าอะไรมันก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นก็ต้องขอโอกาสพูดเรื่องนี้ให้มากที่สุดเลยก็พูดอย่างนั้น, พูดอย่างนี้, พูดกันจนกว่าจะเข้าใจ แล้วก็เคยพูดมามากแล้วด้วยว่าความทุกข์ตั้งต้นเมื่อ รู้จักดี-รู้จักชั่ว เพื่อยึดมั่นถือมั่นว่าอันนี้ดี, อันนี้ชั่ว ถ้าไม่รู้จักเสียเลยมันก็ไม่ยึดมั่นเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักเสียเลยมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน เมื่อผัวเมียคู่นั้นไม่ได้กินผลไม้นั้นไม่มีความทุกข์เลย ฉะนั้นมันไม่รู้จักดี-รู้จักชั่วเสียเลย ทีนี้, มันมา รู้จักดี-รู้จักชั่ว ในลักษณะยึดถือมันเป็นทุกข์ตลอดมาจนถึงลูกหลานเวลานี้ จนกว่าจะ รู้จักดี-รู้จักชั่ว ตามแบบของพระพุทธเจ้า คือ รู้จักดี-รู้จักชั่ว เพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องดี-เรื่องชั่ว พ้นดี-พ้นชั่วไปเลยนี่จึงจะไม่มีความทุกข์เลย อีกครั้งหนึ่ง, เมื่อไม่รู้เรื่องดี-เรื่องชั่วก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นเรื่องดี-ชั่วได้หมดก็จะไม่มีความทุกข์เหมือนกันแต่ต่างกันมาก
ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังปลาทองที่เลี้ยงไว้ ผมดูทุกวัน ๆ ละหลายชั่วโมง ดูเพียงข้อที่จะมองให้เห็นว่ามันมีกิเลสอยู่ที่ตรงไหน ? นี่ผมดูอย่างนี้เช่นดูอย่างนี้ เป็นต้น ดูหลาย ๆ อย่างแต่ว่าอย่างนี้ดูมากที่สุด นั่งเพ่งอยู่ที่ปลาทองที่มันเป็นอยู่ตลอดวัน ตลอดวัน ตลอดวัน ว่ามันจะเป็นอย่างไรบ้าง ? แล้วเพ่งดูของมันว่ามันมีกิเลสอยู่ที่ตรงไหน ? ในรูปร่างอย่างไร ? ตั้งต้นอย่างไร ? ยิ่งดู, ยิ่งเห็นว่ามันไม่มีกิเลสเลย ไม่ปรากฏกิเลสของปลาทองนี่เลย จะพูดถึงแง่ของความโลภ-มันไม่เห็นเลย ไม่เห็นว่ามันโลภเลย มันหิว-มันก็ไม่ตะกละตะกรามเหมือนมนุษย์นะ มันไม่หิว-มันก็อยู่อย่างนั้นละ เพราะว่ามันไม่มีความคิดเรื่อง ตัวกู-ของตัวกู ไอ้ปากมันไปกินอาหารนี่เพราะว่ามันหิว ตามร่างกายมันหิว, เนื้อหนังร่างกายมันหิว มันอยากมันก็กินอาหารเท่านั้นละ ส่วนความคิดว่ากูกิน, กูอร่อยหรือไม่อร่อยนะ ไม่มี ไม่ ไม่มีทางจะเห็นได้ ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า สัตว์ไม่มีของกู นี่ปลาทองนะไม่มีของกู, ไม่มียุ้งฉาง, ไม่มีถุงเงินถุงทองไอ้ที่จะเก็บไว้เป็นของกู ไม่ ๆ สะสมอาหาร แล้วตัวไหนผัวของกู, ตัวไหนเมียของกูก็ไม่มี ไม่เหมือนกับปลาประเภทตรงกันข้ามปลากัดนี้เป็นประเภทปลาน้ำนิ่ง หางมน เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งฝ่ายหนึ่งทีเดียว ไอ้นี้มีผู้มีเมียของกู, มีรังของกู, มีอะไรของกู ส่วนปลาไอ้ตระกูลปลาตะเพียนนี้ เขาเรียก ... Cyprinidae? (นาทีที่ 27:06) ตระกูลปลาตะเพียนทุกชนิดนี้ไม่มีบ้าน, ไม่มีเรือน, ไม่มีรังของกู โดยเฉพาะปลาทองกันดีกว่าไม่มีผัวของกู ไม่มีตัวนี้ผัวของกู, เมียของกู ถ้าตัวเมียตัวหนึ่งมีไข่จัดสุกขึ้นมามีกลิ่น ตัวผู้กี่ตัว กี่ตัว ก็ตอมไปอย่างนั้นอย่างเครื่องจักรนะ มันมีกลิ่นจากตัวเมียแล้วมันก็ตอม มันไม่เคยกัดกัน-แย่งกันว่านี่ “มึงออกไป กูจะนั่น” ไม่เหมือนสุนัข ตัวเมียก็ไม่มีความรู้สึกอะไรนอกจากว่ามันตามธรรมชาติ ไอ้ Gland ที่เป็นไข่มันสุกมันก็ทำหน้าที่ไปตามนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามันมิได้มีราคะอย่างมนุษย์ที่ถือยึดมั่นว่าของกู, เอร็ดอร่อยของกู ทีนี้ไอ้ตัวหนึ่งมันคาบเหยื่อก้อนหนึ่งแล้วกินอยู่ในคาปากอยู่ อีกตัวหนึ่งมันมาแย่งทึ้งไปจากมัน มันก็ไม่ได้ไปโกรธ ไม่ได้ไปไล่กัด, ไม่ได้ต่อสู้, ไม่ได้อะไร นี่มันมองไม่เห็นว่ามันจะมีราคะหรือโลภะอย่างไร เพราะมันไม่มีความรู้สึกว่าของกู นี่ผมหมายถึงปลาทองและปลาตระกูลปลาตะเพียนนะ อย่าเอาไปปนกับปลาที่ตรงกันข้าม คือตระกูลปลาน้ำนิ่ง, ปลาน้ำโคลน
ปลาตระกูลปลาตะเพียนเขาก็มีปากกว้าง เปิดตลอดถึงกระเพาะ เขาเรียก …ไทรปินนอยด์ (นาทีที่ 28:39) ทุกชนิด มีหลายร้อยชนิด มันเป็นหางแฉก อยู่น้ำไหลไม่มีบ้านเรือน มันอยู่น้ำไหลในแม่น้ำไม่มีบ้านเรือนตรงไหนเป็นของเรา ทีนี้ไอ้ปลาตระกูลน้ำโคลนน้ำนิ่ง – ปลากัด, ปลาช่อน, ปลาดุก, ปลาอะไรก็ตามนี้มันมีบ้านเรือนมีตรงกันข้าม มีอยู่ที่นั่น, มีอยู่ที่นี่ แล้วก็เป็นต่อสู้, กัด, หวง, เมียของกู, ผัวของกู อะไร มีเป็นคู่ ๆ อะไรอย่างนี้ ทีนี้เราไปดูปลาทอง เราจะเห็นว่ามันไม่มีเหมือนที่ไอ้ปลากัดมันมีก็คือไม่(มี)ราคะ, ไม่มีโลภะ, แล้วไม่มีโกธะ (คือความโกรธ) ขนาดเพื่อนแย่งเอาไปจากปากก็ไม่โกรธ ไม่ได้ไล่กัด ทีปลากัดแล้วไม่ได้ ขนาดนี้แล้วเอากันตายเลย คือแย่งตัวเมียแย่งเอากันตายเลย นี่ไม่มี ไม่มีตัวเมีย, ไม่มีภรรยาของฉัน, ไม่มีผัวของฉัน innocent ที่สุดเลย ไม่ประสีประสาอะไรหมดเลย บริสุทธิ์อย่างไม่ประสีประสา ทีนี้ พูดถึง พูดถึงโมหะ มันไม่ต้องการอะไรมันไม่มีโมหะ โมหะนั้นหมายความว่าต้องการอะไรแล้วไปหลงในอะไรอยู่จึงจะเรียกว่าเป็นโมหะ ปลาทองไม่ได้ต้องการอะไรจึงไม่มีโมหะ ปล่อยไปตามอะไรตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงมองไม่เห็นโลภะหรือราคะของปลาทอง, มองไม่เห็นโทสะหรือโกรธะของปลาทอง, ไม่เห็นโมหะ (อวิชชา) อะไรของปลาทอง เพราะมันไม่ต้องการอะไรมันเลยไม่มีควายขวิดกันในหัวใจของปลาทอง ไม่อาจจะมองเห็นได้ว่ามีควายขวิดกันในหัวใจของปลาทอง ไอ้ปลาอื่นมันอาจจะต้องมีแม้มันน้อยมาก น้อยกว่าคนมาก คนมันมีมาก มีโลภะ, ราคะ, กามารมณ์ของกู, เอร็ดอร่อยของกู, ลูกเมียของกู, อะไร เพราะความโลภ เงินของกู, ทองของกู สร้างยุ้งสร้างฉางไว้ใหญ่ ๆ เปิดออมสินไว้เยอะแยะ มันเลยมีของกูนี่ก็ราคะและโลภะมันมี เพราะมันมี มีตัวกูและมีของกู นี่ขนาดโทสะนี่มันโกรธอย่างไม่น่าจะโกรธแล้วมันก็โกรธ แล้วมันอาฆาตเป็นปี ๆ จนตายมันก็ยังไม่หายอาฆาตถ้ากิเลสมันมาก นี่คนเป็นอย่างนี้ ทีนี้โมหะมันหลง จะเอา ๆ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ควรจะเอาแล้ว เช่น ไปโลกพระจันทร์ ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องกระทำมันก็ไปกระทำ แล้วมันยังมีอย่างอื่นอยู่ที่นี่อีกมากมาย มีโลภะ, โทสะ, โมหะ มหึมา หาไม่พบในปลาทอง แล้วก็มีบ้างในปลาที่ประเภทตรงกันข้าม ก็มีมากขึ้นในสุนัข, ในแมว, ในสัตว์สูงขึ้นมา แต่ก็ยังน้อยกว่าคนมาก คุณดูสุนัขเหล่านี้เมื่อไรมีควายขวิดกัน สุนัขนี้จะมีควายขวิดกันในจิตใจน้อยที่สุดเกือบมองไม่ค่อยเห็นเหมือนกันแต่มันมี ส่วนคนนั้นมันมีมาก ๆ มหึมา จึงว่าคนนี่มันเลวกว่าสุนัขในแง่นี้ มันมี ตัวกู-ของกู มาก แล้วมีความทุกข์มาก
ฉะนั้น, เมื่อเข้าใจไอ้เรื่องควาย ๒ ตัวในจิตใจของเราดีแล้ว นี่มองให้เห็นเสียก่อนแล้วก็ไปดูที่ควายจริง ๆ เราก็จะละอายควายแย่เลย ไอ้ควายนั้นกลับยิ่งมีควายในมันน้อย เรากลับมีควายมากกว่า ในเรากลับมีควายมากกว่า ในควายกลับมีควายน้อยกว่า เพราะควายมันมีโลภะ, โทสะ, โมหะน้อยกว่า ที่จะมีอะไร conflict อยู่ในจิตใจทั้งวันทั้งคืนเหมือนคน-ไม่มี หิวกินหญ้า, นอนสบาย นอนหนองนอนอะไรสบายเลย ที่จะมี ของกู-ตัวกู มันมีน้อย มันจะหึงหวงตัวผู้ตัวเมียบ้างมันก็ชั่วเวลาอันสั้นนิดหน่อยละไม่เหมือนคน มันหวงตลอดชาติ มันหิวกามารมณ์ตลอดชาติ ส่วนวัวควายมันต้องการกามารมณ์เพียงช่วยให้ต่อม gland มันสุกชั่ว ๒-๓ วันเท่านั้นละนอกนั้นมันไม่มี แล้วไอ้เรื่องที่มันจะขวิดกันเป็นการใหญ่อยู่ในจิตใจเสมอ มานอนก่ายหน้าผากให้ขวิดกันอยู่นี้มันก็มีไม่ได้ นี่คนมันมีได้ เป็นพระแล้วมานอนก่ายหน้าผาก สึกดีหรืออยู่ดี ? ไปหาลูกหาเมียดีหรือว่าอยู่กับพระพุทธเจ้าดี ? มันก็มีนอนก่ายหน้าผากอย่างนี้อยู่เรื่อย ก็ดูสิ! ในเรากลับมีควายมากและตัวโต ๆ ด้วย แต่ในควายจริงกลับหาควายไม่ค่อยพบว่าควายอยู่ที่ตรงไหน มันก็ไม่มีควายขวิดกันในควาย แต่มามีอยู่ในคน ทีนี้สุนัขและแมวหรือสัตว์ต่าง ๆ นี้ยิ่งมีน้อยลงไป ๆ กระทั่งปลาก็น้อยลงไป กระทั่งปลาทองดูไม่เห็นเลย นั่นละ innocent มันยังไม่ตั้งต้นเรื่องดี-เรื่องชั่ว ไม่ยึดมั่นเรื่องดี-เรื่องชั่ว แปลว่ามันไกลกว่าอดัมกับอีฟมาก อดัมกับอีฟนี่สมมติว่าคนอายุสมัยหิน สมัยหินคนป่าสมัยหินยังไม่รู้จักดี, ไม่รู้จักชั่ว รู้จักแต่กินอยู่เหมือนกันสัตว์อย่างนี้ มันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดี-ชั่ว มันก็สบายสิ มันก็อยู่ตามธรรมชาติ, อยู่โคนไม้, อยู่ในถ้ำ, อยู่ในเพิง, อยู่อย่างคนป่าสมัยหินนั่นละ ไอ้เรื่องควายขวิดอยู่ในจิตใจมันมีน้อยหรือไม่มี ไม่ปรากฏ เขาจึงว่าพระเจ้ายังไม่ถือว่าเป็นความทุกข์ ต่อมันเจริญมาเจริญมา จนวันหนึ่งมัน รู้จักดี-รู้จักชั่ว นะ ถึงยุคที่มนุษย์คนป่าสมัยหิน รู้จักดี-รู้จักชั่ว พูดระบุง่าย ๆ รู้จักนุ่งผ้า รู้จักละอายนุ่งผ้านั่นละเริ่ม ๆๆ ตั้งต้นมีความทุกข์คือรู้ดี-รู้ชั่ว ถึงเรื่องในไบเบิ้ลมันก็เป็นอย่างนั้น เมื่ออดัมกับอีฟมันขโมยผลไม้นั้นกินเข้าไปแล้ว มันก็ไปหลบอยู่ในสุมทุม มันเกิดรู้ว่าเป็นหญิง-เป็นชายขึ้นมา ไม่ออกมา ไปซ่อนตัวในสุมทุม พระเจ้ามาไม่เห็นอดัมกับอีฟทำหน้าที่อยู่ตามเคยก็ตะโกนเรียกหา มันขานร้องมาแต่ในพุ่มไม้ สุมทุม พระเจ้าว่า “อ้าว ทำไมไม่ออกมา” มันบอก “ไม่ได้นุ่งผ้า” นี่พระเจ้ารู้ทันทีว่า “อ้าว ไอ้นี่มันดื้อกู ไปกินผลไม้ต้นนั้นเข้าแล้ว” รู้จักความเป็นหญิง, รู้จักความเป็นชาย, รู้จักนุ่งผ้า, รู้จักไม่นุ่งผ้าแล้วนี่ก็เลย วันนั้นก็เลยเป็นวันเกิดเรื่องใหญ่ที่พระเจ้าสาปว่า “ต่อไปนี้ไป มึงก็เป็นทุกข์ไปตลอดกาลเลย เป็น Original Sin ลูกหลานของมึงก็เป็นอย่างนี้ไปตลอดกาลเลย” แล้วพระเจ้าก็ไม่พูดถึงเรื่องว่ามียาแก้คือต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ต้นที่ ๒ คือ Tree of Life ถ้ากินเข้าไปแล้วมีชีวิตนิรันดร นี่ถ้ากินเข้าไปแล้ว มันรู้ดี-รู้ชั่วว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไอ้ต้นที่ ๑ กินเข้าไปแล้วรู้ดี-รู้ชั่วสำหรับยึดมั่นถือมั่นเลยเป็นความทุกข์ Tree of Knowledge of Good and Evil นี่เป็นต้นไม้แห่งความรู้ดี-ชั่ว กินเข้าไปมีความทุกข์ แต่ Tree of Life ชีวิตนิรันดร ถ้ากินแล้วมันไม่อยากดี, ไม่อยากชั่ว, ไม่หวังดี, ไม่หวังชั่ว เลยพ้นกลายเป็นชีวิตที่ไม่มีทุกข์ ทีนี้พระเจ้าก็ให้เทวดาของแกรักษาต้นไม้ต้นที่ ๒ เด็ดขาด ไม่ให้หมอนี่กิได้อีกต่อไป ไม่ให้มนุษย์กินได้อีกต่อไป ให้เทวดาถือดาบแกว่งอยู่รอบต้นไม้เข้าไปไม่ได้ เรื่องคัมภีร์เก่ามันก็จบเสีย ก็แปลว่ามนุษย์ไม่มีโอกาสจะกินผลไม้ต้นที่ ๒ รู้ ๆไอ้ความอยู่เหนือดี-เหนือชั่ว จนกว่าพระเยซูจะมาหรืออะไรก็ตามใจมัน เรื่องก็เป็นว่าความทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วนิรันดรไปตามแบบนี้
นี่มนุษย์เราก็มีควายอยู่ ๒ ตัว คือดีกับชั่วขวิดกันอยู่เรื่อยไป บางทีก็ว่าสึกดีอยู่นี่ไม่ดี, บางทีก็ว่าอยู่นี่ดี สึกนี่ไม่ดี มันก็มีดี-ชั่ว ๒ ตัวนี้อยู่อย่างนี้ เรื่องอื่นก็เหมือนกัน ฉะนั้นความทุกข์เกิดมาจากความรู้เรื่องว่าดี-ว่าชั่วสำหรับจะยึดถือ ถ้าว่ายังไม่รู้เสียเลยเหมือนกับปลาทองนี้ มันไม่มี-ไม่มีความทุกข์ เมื่อยังไม่รู้ดี-รู้ชั่ว ยังไม่มีความทุกข์ พอเริ่มรู้ดี-รู้ชั่วเริ่มมีความทุกข์แล้วไปเรื่อยไปจนกว่าจะสามารถอยู่เหนือดี-เหนือชั่วนั่นจึงจะไม่มีทุกข์เด็ดขาด ทีนี้ปลาทองก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมะ, ไม่ต้องปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา, วิปัสสนากรรมฐานอะไร มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะจิตมันอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะเกิดความรู้สึกเป็น ตัวกู-ของกู ไม่เกิดโลภ, ไม่เกิดโกรธ, ไม่เกิดหลง คุณไปนั่งดู ผมดูมาไม่รู้กี่เดือนกี่ปีแล้ว ทีนี้สัตว์ที่มันคล้าย ๆ กันอย่างนี้ก็มีมาก แต่นี้ปลาทองมันดูง่ายและมันอยู่ในระดับต่ำประเภทที่ว่ามันตั้งต้นแรกตั้งต้นทีเดียว นี่ไปนั่งดูปลากัดสิจะตรงกันข้าม มี ตัวกู-ของกู เอามาขังไว้เฉย ๆ ไม่มีตัวเมีย มันก็มี ตัวกู-ของกู หมุนวนอยู่รอบ หันซ้ายหันขวา จะกัดเงาของตัวเองด้วยซ้ำไป นี่มันไม่เหมือนกันอย่างนี้ ฉะนั้นจึงแยกไว้คนละตระกูล ตระกูลปลาน้ำโคลน-น้ำนิ่ง มีที่อยู่อาศัยมีบ้านมีเรือน, มีลูกมีเมีย นี่พวกปลากัด, ปลาช่อน, ปลาอะไรก็ตาม ส่วนไอ้ปลาทองนั้นมันเป็นอนาคาริก ไม่มีบ้านเรือนเหมือนภิกษุบรรพชิต ไม่มีบ้านเรือน ปลาตะเพียนทั้งหลายไม่มีบ้านเรือน, ไม่มีผู้เมีย, เป็นผัวเป็นเมียของตัวไหนๆ และก็โกรธไม่เป็น และก็ราคะชนิดที่เรียกว่ารุนแรงเหมือนสัตว์หรือคนนี้ไม่เป็น ไม่มีผัวหรือเมียของใครและเพราะไม่อยากอะไร ไม่อยากเป็นอะไรจึงไม่มีความหลงในอะไร ปล่อยไปตามธรรมชาติ
เรื่องโมหะ ความไม่รู้ (อวิชชา) นี้อธิบายยาก คุณคงจะเข้าใจไปว่าไอ้สัตว์เหล่านี้มีอวิชชา อย่าเข้าใจว่ามีอวิชชาเพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “แม้อวิชชาก็เพิ่งเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย การกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อวิชชาจึงเกิด” จะให้ถือ จะให้ถือว่ามีอวิชชาตลอดกาลนี้ไม่ได้ เป็นความเข้าใจผิดและโง่เขลาที่สุด อวิชชาเองก็เพิ่งเกิด เกิดเป็นคราว ๆ เมื่อมันเผลอสติ เดี๋ยวนี้มันไม่ต้องการอะไรมันก็ไม่มีโอกาสจะเผลออะไร ถ้าหิวมันก็อะไรกินได้มันก็กิน ไม่ให้อาหารมันก็กินไอ้ตะไคร่เขียว ๆ หาอาหารอะไรกินได้ กินทั้งนั้นเลย แล้วการยึดครองอะไรเป็นของตัวก็ไม่มี ไข่ราดออกไปแล้วก็ทิ้งเลย ในการผสมพันธุ์ของเขา ตัว เมื่อตัวเมียมันรู้สึกมากเพราะว่าไข่มันแก่จัดนี่ตัวผู้มันได้กลิ่นแล้วมันก็ไปช่วยกันเบียดกระทบกระแทกตัวเมีย สะบัดตัวให้ไข่หลุดออกมาไปปะอะไรติดนั่นแล้วก็ต่างคนต่างไปกันหมดเลย ไม่มีลูกของฉัน, ไม่มีบ้านของฉัน, ไม่มีอะไรของฉัน และภายในไม่กี่ชั่วโมงมันหมดความรู้สึกอันนั้น-ปกติ ระหว่างนั้นมันเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่ง
นี้ผมเอาตัวอย่างมาพูดนี้ก็หมายความว่าเพื่อจะเปรียบเทียบว่าในหัวใจของสัตว์ชนิดไหน, ระดับไหน มีควาย ๒ ตัวขวิดกันอยู่นี้ ในสัตว์ที่มีอัสมิมานะจัดมันก็ยังไม่ได้ขวิดกันมากเหมือนในคน เพราะมันเอามาคิดไม่เป็น ส่วนคนนี้เอามาคิดได้ สัตว์ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้วเอามาคิดอีกไม่ได้ ไม่มีสมองที่จะเอามาคิด ไอ้คนนี้มันมีบาปที่มันมีสมองดีสำหรับที่จะเอามาคิดอีกส่วนหนึ่งคือสัญญานี้ มันก็มานอนคิด มานอนก่ายหน้าผากคิด คิดแล้วคิดอีก คิดแล้วคิดอีกนี้ อย่างคิดจะสึกนี่คิดกันกี่เดือน ? คิดกันกี่ปี ? นี่มันเช่นเดียวกับที่ว่ามันยึดมั่นถือมั่นในเรื่องโกรธเรื่องเกลียดอะไรต่าง ๆ มันก็มียืดยาวอย่างนี้ แต่ในสัตว์มันไม่มี สุนัขมันกัดกัน มัน ๆ ไม่ได้มาผูกเวรเจ็บใจจะคอยคิดฆ่าตายอยู่เหมือนกับคนนะ เพราะฉะนั้นคนมันก็ ๆ ใจบาปหยาบช้าอำมหิตอะไรกว่าสุนัขนี่หลายร้อยเท่า มานอนคิดเพื่อจะฆ่าเขานี้ คิดได้เป็นเดือน ๆ ปี ๆ สุนัขกัดกันแล้วมันก็เลิกกัน
ดูความ ดูการตั้งต้นของกิเลส, ดูความเจริญงอกงามของกิเลส วิวัฒนาการสูงมาเป็นจิตใจละเอียดลออของมนุษย์ แล้วก็มีเรื่องทุกข์มากมีความทุกข์ จนพูดได้ว่ามีควาย ๒ ตัวขวิดกันอยู่เสมอไป เดี๋ยวอยากอยู่บ้าน, เดี๋ยวอยากอยู่ป่า, เดี๋ยวอยากกินอย่างนั้น, เดี๋ยวอยากกินอย่างนี้ มันเหลือที่จะพูด มันก็เลยสมน้ำหน้ามนุษย์ ถ้าพูดต้องพูดอย่างนั้นสมน้ำหน้าของความเป็นมนุษย์ที่มันรู้จักคิดรู้จักนึก มันก็มีความทุกข์มาก ทีนี้ จะทำอย่างไรต่อไปนี่ ก็เดิน ก็ต้อง ก็ต้องเดินไปข้างหน้าเรื่อย แล้วไปตายกันดาบหน้า เจริญไปจนถึงกับว่า สูงจนไม่ยึดดียึดชั่วอีกนั่นละ จนไม่มีดีไม่มีชั่วอีก ควายมันจึงจะตายหมด มันจึงมีหลักที่ตายตัวว่าพระอรหันต์อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องดี-เรื่องชั่ว ถ้ายังเป็นโสดา สกทาคา นี่ก็ยังเหลืออยู่บ้าง แต่ว่ามันเริ่มจะหมดแน่นะ ส่วนปุถุชนนั้นมันยังไม่มีการเริ่มจะหมด มันยังเต็มอัดอยู่ ยังยึดมั่นถือมั่น ส่วนพระโสดา สกทาคานี่เริ่มจะหมดแน่ แน่เสียด้วยนะ เพราะพระอรหันต์ก็คือหมดเลย ถึงจุดที่จะหมดเลย ฉะนั้นเรื่องของพระโสดาบัน สกทาคามิ นี้ก็ต้องมีควายน้อย ๆ ขวิดกันบ้างเป็นครั้งเป็นคราว มันจะไปหมดกันเลยก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ นี่ก็ไม่ต้องพูดถึงบุถุชน บุถุชนแปลว่าคนหนา หนาปึกเลย แล้วมันก็มีควายมาก มีควายที่จะขวิดกันอย่างนั้นอย่างนี้เป็นไม่รู้จักสิ้นสุด
นี่เรื่องควาย ๒ ตัวที่ไม่มอง ที่ไม่ค่อยจะมองหรือไม่มอง แล้วก็ไปไปด่าควายในทุ่งนาว่าเป็นควาย ส่วนตัวเองเป็นควายเยอะแยะนั่นไม่มอง ผมก็เอามาพูดให้รู้จักมองว่าไอ้ควาย ๒ ตัวนี้เป็นควายที่จะต้องฆ่ามันเสียให้ตาย คือทำให้มันละลาย สูญหายไปในน้ำ น้ำคือธรรมะที่สูงสุดของพระพุทธเจ้า ธรรมะสูงสุดคือเรื่องสุญญตา-เรื่องนิพพาน, เรื่องสุญญตา-นิพพาน แปลว่าเป็นที่ดับสนิทแห่งสังขารทั้งปวงแล้วก็ว่างจากสังขารทั้งปวงนี่ก็คือสุญญตา ฉะนั้นสุญญตากับนิพพานมันก็อันเดียวกัน เมื่อพูดถึงนิพพานมันเล็งถึงธรรม ธรรมะประเภทที่เป็นที่ดับก็แปลว่าธรรมชาติเป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งปวง พอสังขารทั้งปวงดับคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสังขารใดว่า ตัวกู-ของกู มันไม่เกิดความคิดชนิดนี้แล้ว เรียกว่าว่างจาก ตัวกู-ของกู นี่ก็เรียกว่าสุญญตา (ความว่าง) ในสุญญตามีควายไม่ได้ เพราะว่าควายนั้นทำด้วยดิน พอตกลงไปในน้ำมันละลายหมด ไอ้สังขารที่ปรุงขึ้นด้วยสังขารนี้พอเข้าไปถึงเขตของนิพพานมันก็ว่างไปหมด ก็เรียกว่าควายตกน้ำละลายสูญหายไปหมด อาจารย์ “เอ้อ พอ เราไม่ต้องพูดอะไรกันอีก” ก่อนนี้ลูกศิษย์ว่า “อู้ย ควายขวิดกันเรื่อย” อาจารย์ก็ “อื้อ” เท่านั้น ถามทีไรควายขวิดกันเรื่อยก็ “อื้ม” เท่านั้น พออาจารย์ พอลูกศิษย์บอกว่า “นี่ ควายตกน้ำละลายหมดแล้ว” “เอ้อ พอ” ก็เท่านั้นเอง สอนกันเท่านั้นเอง ไม่ได้มีพูดอะไรกัน ก็เหลืออยู่แต่ว่าเราที่ใช้วิธีธรรมดาสามัญ ไม่ใช้ ๆ ปริศนา ไม่ใช้ความลึกลับของปริศนานี้ ก็มีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ไอ้ควายนี้มันละลายไปได้ ให้ควายมันละลายน้ำสูญหายไปได้ทั้งตัวดำและตัวขาว อย่าโง่ไปเห็นดำเห็นขาวสิ ถ้ามันยังโง่เป็นคู่ ๆ ยังเห็นดำ-เห็นขาวอยู่เรื่อย ดังนั้นพระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่าฉันเป็นบรรพชิตหรือฉันเป็นฆราวาส ความเป็นฆราวาสเป็นบรรพชิตนี้มันเป็นคู่สำหรับโง่เหมือนกันนะ เป็นคู่สำหรับโง่ สำหรับยึดมั่นถือมั่นอันสูงสุด เป็นบรรพชิตนี้ดี - เป็นฆราวาสนี้เลว นี่ละคู่สำหรับความยึดมั่น เพราะฉะนั้นในจิตใจของพระอรหันต์จึงไม่มีความยึดมั่นว่าเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิตนี่ก็ว่ามันอยู่เหนือไปเสีย
นี่เราก็มีปัญหาเรื่องนี้เรื่องเดียว ทำกันไป ทำอย่างไรจึงจะทำลาย ตัวกู-ของกู เสียได้ มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยจิตที่ว่างจาก ตัวกู-ของกู เสียได้ ปีก่อนก็เคยพูดกันมากเรื่องนี้ว่าจงใช้บทเรียนที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ถ้าใครทำงานด้วยจิตวุ่นขึ้นมาให้ขนทราย ๑๐ บาทไปขึ้นยอดเขา ภูเขาพุทธทอง ถ้าเผลอไปทำงานด้วยจิตวุ่นเข้า มีควายขวิดขึ้นมานี้ก็ลงโทษตัวเอง ขนทรายขึ้นไปไว้บนยอดเขาแล้วไปดูบ่อย ๆ มันไม่มีวิธีอื่น ที่ว่าหัดมีชีวิต มีลมหายใจอยู่ด้วยจิตว่างทุกอิริยาบถ แล้วโอกาสไหนจิตมันจะวุ่นได้ง่ายก็ใช้โอกาสนั่นละเป็นโอกาสสำหรับฝึกหัดให้มาก เวลานอนสบายมันจะมีปัญหาอะไร ทีนี้เวลาเมื่อจะกินจะฉันนี่วันแรกเมื่อตื่นขึ้นมาวันแรก ระยะแรกของวันคือว่าจะกินจะฉันนี่มันจะเกิดควาย ๒ ตัวขึ้นมาแล้ว กินนั่น, กินนี่, ไม่ได้กินนั่น, ไม่ได้กินนี่, นั่นอร่อย, นี่ไม่อร่อย นี่เกิดควายขึ้นมา เพราะเรื่องปากเรื่องท้องแล้ว หรือว่าแม้ที่สุดยังไม่ทันจะฉัน เดินไปบิณฑบาตอย่างนี้มันก็เกิดได้ มันเกิดชอบ, เกิดไม่ชอบ, เกิดเกี่ยวกับคนใส่บาตร, หรือว่าเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็น, หรือว่าสิ่งที่ตกลงไปในบาตรแล้ว, หรือว่ากริยาอาการที่เขาให้มันไม่น่าดูหรือมันน่าดู นี่มันเกิดควายได้ทุกเมื่อ ตั้งแต่เริ่มออกไปเดินบิณฑบาตนี่ต้องมีสติสัมปชัญญะแล้วกลับมาถึง จะฉัน, ลงมือฉันอยู่, หรือฉันเสร็จแล้ว ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ ถ้าเผลอเมื่อไรเป็นควายเกิดขึ้นมาขวิดกันอีกแล้ว
ทีนี้มันไม่ใช่แต่เรื่องฉัน เดี๋ยวเรื่องไปส้วม เอ้า พอไปมีอะไรกระทบกันในส้วม อะไรไม่เรียบร้อยอะไรอย่างนี้ เอ้า, ก็ควายขวิดอีกแล้ว หรือไปอาบน้ำมันก็ไปพบนั่นพบนี่ เห็นนั่นเห็นนี่ก็อีกแล้ว แต่ไม่สำคัญเท่าที่ทำการงาน ที่เรามาทำการงานหลาย ๆ คนทำงานร่วมกันนี่ โอกาสที่จะเกิดไอ้ควายนี้มากที่สุด เช่น ไม่ชอบกันบ้าง รู้สึกเหนื่อยขึ้นมาบ้าง อะไรบ้าง มันพอ พอเหนื่อย คนเราพอเหนื่อยขึ้นแล้วมันเสียหลัก มันเสียสติสัมปชัญญะ ระวังให้ดี พอหิวหรือเหนื่อยขึ้นมามันเริ่มมีโอกาสที่จะเสียหลักแล้ว ระวังให้ดี ฉะนั้นจึงว่าถ้าเป็นนักเลงแล้วก็ต้องเผชิญกับโอกาสที่มันจะเกิดกิเลส เช่นว่าถ้าอยากจะมีศีลก็นอนนอกมุ้งสิ ลองสู้กับยุงดูสิ จะตบหรือไม่ตบก็รู้กันละ ถ้าไปมุดอยู่ในมุ้งมันก็ไม่รู้หรอก นี่มันเป็นเครื่องทดสอบ ทีนี้โอกาสที่จะเกิดกิเลสส่วนมากเมื่อมันเหนื่อย, เมื่อมันหิว, หรือเมื่อเข้าสังคมกัน เพราะฉะนั้นเรื่องให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนี้ มี ๆๆ ความหมายหลายอย่าง เช่น ให้เสียสละไปเรื่อยนี่ก็อย่างหนึ่งได้ทดสอบจิตใจของตัวเองว่าเข้าใกล้บุคคลที่ ๒ ที่ ๓ แล้วจะเป็นอย่างไร ? มันจะฮื่อ แฮ่ เหมือนกับสุนัขหรือไม่ บางทีมันไม่ได้ฮื่อ แฮ่มาทางปาก แต่ในใจมันฮื่อ แฮ่ อยู่ก็มี เราจึงเห็นการเอาความคิดความนึกที่มันเป็นอกุศลต่อกันและกันมากต้องดูด้วยตาทิพย์ คนอื่นดูของเราไม่ค่อยได้ มีจิตที่เป็นอกุศลต่อกันและกันไม่ได้แสดงออกมาข้างนอกนั้นมีมาก แล้วก็มีมากเมื่อสังคมกัน เราก็ไม่มีบทเรียนอะไรดีไปกว่าทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ก็ขอให้พยายามต่อไป แล้วมัน ความหมายมันเนื่องกันไปละ ยกผลงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง ตายแล้วตั้งแต่แรกเกิด พยายามให้เป็นว่าตายแล้วตั้งแต่แรกเกิด ไม่มี ตัวกู-ของกู เอานั่นเอานี่ เป็นนั่นเป็นนี่ นี่มันไม่ทำชั่ว มันไม่ลักมันไม่ขโมย มันไม่ฆ่า มันไม่โกหก ไม่อะไรในทางชั่ว และในทางดีมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันทำ มันไม่มี มันไม่มีความหมายไปทั้งดีและทั้งชั่ว นั่นละคือทั้งควายดำและทั้งควายขาวมันละลายน้ำหมด มันจะทำได้ด้วยสติสัมปชัญญะที่เพียงพอ พอสูญเสียสติสัมปชัญญะมันก็มีควายตัวโต ๆ มาขวิดกันไม่ทันรู้ ไปรู้เมื่อมันขวิดกันแล้ว
ในที่สุดมันเหลืออยู่ปัญหาเดียวคือสติสัมปชัญญะ มีหรือไม่ ? ถ้าขาดอันนี้ควายเรื่อย ควายขวิดกันเรื่อย ถ้ามีอันนี้มันก็คุมไว้ได้เรื่อย ในที่สุดไอ้ควายนั้นมันสู้ธรรมะไม่ได้ มันละลายไปทีละนิด ๆๆ เมื่อควายดินตกน้ำมันคงไม่ละลายวูบเดียวได้หรอก เพราะมันเป็นดินก้อนโต มันก็ค่อย ๆ ละลายไปทีละนิด ๆ ฉะนั้นอย่าไปหวังอะไรอื่นเลย ถ้าจะต้องการไอ้ที่ดีที่สุดของมนุษย์หรือว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นของเราก็อุตส่าห์ฆ่าควายนี้ ทำลายควายนี้ ทำลายควาย ๒ ตัวนี้คือดีและชั่ว ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องดี-เรื่องชั่ว แต่ไม่หมายถึงควายอีก ๒ ตัวที่พูดทีแรกนะที่มนุษย์เราจะต้องมีความถูกต้องทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความถูกต้องทางร่างกายเป็นควายตัวหนึ่ง ความถูกต้องทางจิตใจเป็นควายตัวหนึ่ง ๒ ตัวคู่กันไปกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง นั่นเป็นควายอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ควายอย่างที่ว่านี้ ไม่ใช่ควายดินดำ-ขาว ๒ ตัวนี้ เป็นความถูกต้องของอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่จะเดินไปเรื่อยไปเป็นธรรมะ
ทีนี้คุณก็เห็นได้แล้วว่าอุปมา อุปมา อุทธาหรณ์ อุปมานี้ มันกลับกลอกกันอยู่อย่างนี้ เพราะเราไปยืมเอามาใช้ได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วไม่ว่าอะไร เช่น เสือ อย่างนี้ใน ๆ พระพุทธภาษิต เปรียบเสือด้วยกิเลสเลว ๆ ต้องฆ่าให้ตายก็มี เปรียบเสือด้วยกุศลธรรม ปฏิบัติ ให้ปฏิบัติเหมือนเสืออย่างนี้ก็มี อย่างเป็นปัญหาก็มี ไปซุ่มหมอบคอยจับเหยื่ออยู่ในดงของสติปัฏฐาน ๔ อย่ากระโต๊กกระต๊ากให้สัตว์มันได้เห็นได้ยิน มันจะหนีเสียหมด ให้ซุ่มอยู่เงียบ ๆ ในที่ซุ่ม แล้วพอเหยื่อออกมาก็ตะครุบให้ได้ หมายความว่ามีสติสัมปชัญญะคอยดูควายมันจะเกิด คือกิเลสมันจะเกิด เพราะ (ฉะ) นั้นกิเลสมันจะเกิด ตีหัวมันให้ตายเลย นี่เสือที่ฉลาดฆ่าเหยื่อได้ ภิกษุปฏิบัติเหมือนเสือก็ฆ่ากิเลสได้อย่างนี้เสือก็กลายเป็นอุปมาที่ดีไปเลย แต่บางทีก็อุปมาเสือเหมือนกิเลส โทสะร้าย โกรธะร้าย ก็ตีให้ตายเสียก็มี ตีเสือให้ตายเสียเองก็มีไม่เอาอย่างเสือ นี่พูดให้เห็นว่าอุปมานี่อย่าไปยึดเอาอย่างเดียวตายตัวเรื่อยไป มันแล้วแต่เขาจะอุปมาในแง่ไหน
ในที่สุดมันก็มีสติสัมปชัญญะไม่ให้โอกาสที่จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็น ตัวกู-ของกู ไม่ให้เกิดควายขวิดกันขึ้นมาได้ เพราะถ้ามียึดมั่นถือมั่นแล้วไม่ต้องสงสัย ต้องคู่นี้ทั้งนั้นละ คู่ดี-คู่ชั่ว ไม่เช่นนั้นมันไม่รู้จะยึดมั่นอย่างไร ถ้ามันไม่มีคู่ดี-ชั่วมาเปรียบเทียบแล้วมันไม่มีทางจะยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นมันต้องเรื่องได้-เรื่องเสีย, เรื่องได้มาหรือเรื่องเสียไป, เรื่องดีหรือเรื่องชั่ว, เรื่องสุขหรือเรื่องทุกข์นะ ฉะนั้นเราก็ไม่ใช่เพิ่งบวช บวชมาหลายปีแล้ว แล้วอายุก็ไม่ใช่น้อยก็หลาย ๆ สิบปีแล้ว ควรจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตจิตใจที่มันได้ผ่านมาแล้วนี้ให้มันถูกต้องจนกระทั่งเห็นไอ้ควาย ๒ ตัวเต็มอยู่ในอกในใจ ก็เลยแน่ใจที่จะทำให้มันสิ้นสุด
นี่ ตัวกู-ของกู ละคือควาย ๒ ตัว มันเกิดเมื่อมี ตัวกู-ของกู เกิด ฆ่า ตัวกู-ของกู ก็เท่ากับฆ่าควาย ตัวกู-ของกู มันหยุดไปพักหนึ่ง ก็คือควาย ๒ ตัวมันนอนพักไม่ขวิดกันมันเหนื่อย มันมีแรงมันก็ขวิดกันอีก ตัวกู-ของกู ได้อารมณ์มันก็เอา คึกคักขึ้นมา พอซ้ำซากมันเบื่อเข้ามันก็หยุดเดี๋ยวเดียว แล้วเดี๋ยวมันก็เกิดอีก ลักษณะของกิเลสเป็นอย่างนี้ ทีนี้ควาย ๒ ตัวมันมีความหมายเป็นดี-เป็นชั่ว เราก็ทำลายความหมายของดีและของชั่วในทางที่จะยึดถือนั่นเสียให้เป็นไปในทางที่จะไม่ยึดถือ เรื่องมันก็จบกัน นี่ควาย ๒ ตัวมันก็ตายไป แปลว่าวันนี้ไม่พูดอะไรพูดเรื่องควาย ๒ ตัว เป็นหลักสำหรับเปรียบเทียบ เป็นหลักที่เด่นชัดสำหรับเปรียบเทียบเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว เรื่องจะฆ่ามันอย่างไรโดยละเอียดก็พูดอย่างอื่น พูดคราวอื่น พูดโดยละเอียดอย่างอื่น วันนี้เราพูดให้ละเอียดที่สุดเป็นลักษณะของควาย ๒ ตัว เกิดขึ้นอย่างไร ? มีอาการอย่างไร ? ทรมานเราอะไร ? อย่างไร ? เรื่องควาย ๒ ตัววันนี้ก็จบกันที