แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์วันนี้ไม่มีเรื่องอะไรที่เรียกว่าเป็นเรื่องเป็นราวออกไป แต่เป็นเรื่องพิเศษที่จำเป็นกว่าเรื่องที่เป็นเรื่องเป็นราวเสียอีกคือเรื่องตัวธรรมะหรือหลักธรรมะแท้ ๆ เกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู เป็นอย่างไรนั้นเราก็พูดกันมาเรื่อย ๆ พูดแง่นั้นแง่นี้, มุมนั้นมุมนี้, อย่างนั้นอย่างนี้
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงอุปสรรคหรือปัญหาที่ทำให้ไม่ค่อยจะเข้าใจคำอธิบายเหล่านั้น บางทีมันยิ่งกว่าไม่เข้าใจคือมันฟังดูแล้วมันเป็นเรื่องคัดค้านกันไปเสีย ไม่ใช่ว่าฟังไม่รู้เรื่องอย่างเดียว มันกลายเป็นว่าฟังแล้วมันกลายเป็นคัดค้านกันไปคัดค้านกันมาจนกระทั่งไม่รู้ว่าจะถือเอาใจความว่าอย่างไร อย่างนี้เป็นอยู่ได้, มีอยู่จริงและก็โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ ในหมู่พระเราที่ฟังกันอยู่เสมอ ๆ ทีนี้, ถ้าสำหรับชาวบ้านนอกวัดออกไปหรือว่าพวกนักศึกษาที่เขาเรียนมาอย่างอื่นตามภาษาธรรมดาของชาวบ้านหรืออย่างโลก ๆ นั่น เขาจะยิ่งฟังไอ้ภาษาธรรมะไม่เข้าใจเพราะรู้แต่ภาษาเดียวคือภาษาชาวบ้าน ส่วนเราชาววัดนี่มันรู้ภาษา ๒ ภาษา คือ ภาษาชาวบ้าน และ ภาษาชาววัด คือภาษาธรรมะด้วย แม้ว่าจะไม่รู้ภาษาธรรมะลึกซึ้งถึงที่สุดมันก็ยังรู้บ้าง รู้มากกว่าชาวบ้าน ยิ่งเป็นชาวบ้านที่เป็นนักเรียนสมัยใหม่ด้วยแล้วก็ยิ่งไม่รู้มากขึ้น ที่จะฟังคำเหล่านี้ไม่ออกมากขึ้น เช่น คำว่า “ว่าง” นี้ฟังไม่ถูกแน่ฟังไม่ถูกเลย แม้แต่คำว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นี้เด็กนักเรียนก็ฟังไม่ถูก นิสิตมหาวิทยาลัยก็ยังฟังไม่ถูก ฟังไม่ถูกเพราะว่ามันไม่เคยสนใจก็มี ฟังไม่ถูกเพราะมันอวดดีไม่อยากจะสนใจก็มี หรือมันอวดดีว่าไอ้คำง่าย ๆ ฟังทีเดียวก็เข้าใจ ฟังทีเดียวก็เข้าใจแล้วก็พอแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เข้าใจชนิดฟังทีเดียวเข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่าเข้าใจตามภาษาหนังสือ, เข้าใจโดยตัวหนังสือ, เข้าใจโดยพยัญชนะ แต่ไม่เข้าใจโดยอรรถะหรือความหมาย และยิ่งกว่านั้นก็ไม่เข้าใจโดยความจริง ความจริงนี่มันยังลึกไปกว่าอรรถะหรือความหมายซึ่งเข้าใจยาก
พวกอยู่วัดอาจจะเข้าใจตัวหนังสือและเข้าใจอรรถะหรือความหมาย แต่แล้วก็ไม่เข้าใจความจริง เข้าใจความจริง นี่มันหมายความว่า ความเข้าใจนั้นมันลึกจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจหรือในสันดาน, ในวิญญาณของผู้นั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าความเข้าใจจริง-เข้าใจความจริง เข้าใจแต่ตามตัวหนังสือไม่มีผลอย่างนั้น เข้าใจความหมายของหนังสือก็เป็นเรื่องทางใช้เหตุผล ใช้คำนึงคำนวณ ใช้อะไรเสียมากกว่า มันก็หลอกกันไปหลอกกันมาตามวิธีของพวกความคิดที่เดินอยู่ตามเหตุผลเป็นเรื่องตรรกะหรือ logic มันก็เข้าใจอย่างนัก คิดก็ใช้ไม่ได้ คือไม่พอที่จะทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลง ต่อเมื่อได้ไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนไอ้ข้อเท็จจริงข้อนั้นมันมีอิทธิพลมากจนถึงเปลี่ยนจิตใจของผู้นั้นได้นั่นละจึงจะเรียกว่าเห็นธรรม-รู้ธรรม, เห็นธรรม-รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม
ฉะนั้นความเข้าใจอย่างชั้นต้นที่สุดคือความเข้าใจของนักอ่าน นักที่อ่านแล้วก็เข้าใจตามการอ่าน ความเข้าใจของนักอ่านนี้น่าสงสารมาก แล้วก็ถัดมาก็คือความเข้าใจของนักคิดหรือนักใคร่ครวญ นี่ที่เรียกว่าไปตามเหตุผลก็น่าสงสารอยู่ไม่น้อย บางทีไปเตลิดเปิดเปิงไกลไปยิ่งกว่านักอ่านเสียก็มี นี่, นักคิดนักใคร่ครวญนี้ แต่ถ้าทำถูกวิธีก็ยังดีกว่านักอ่าน ทีนี้ความเข้าใจของนักวิปัสสนาที่แท้จริง, ที่ถูกต้อง, ที่ไม่ปลอม คือมันเห็นแจ้งลงไปจริง ๆ ด้วยปัญญาจริง ๆ ไม่ใช่ปัญญาหลอกลวงนะ นี่คือจะเรียกว่าเข้าใจ จะเรียกว่าเห็นแจ้งแทงตลอด หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามใจ มันเอาแน่กันตรงที่ว่าไอ้ความเข้าใจนั้นมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เคยยึดถือตามธรรมดาอยู่นั้นกลายเป็นไม่ยึดถือ นี่ เรียกว่าความเข้าใจ
ทีนี้เมื่อพูดกันในวัดพูดว่า ความรู้ หรือ ความเข้าใจ หรือ ความรู้แจ้ง มันหมายถึงอย่างนี้ทั้งนั้นถ้าเป็นภาษาชาววัด ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านหรือเป็นของเด็ก ๆ ด้วยแล้วมันก็เข้าใจอย่างผู้อ่าน เข้าใจอย่างผู้คิดใคร่ครวญใช้เหตุผล มันเข้าใจอย่างนั้น เรียกว่าคนละอันเลย
ทีนี้ที่มันจะต้องระวังหรือก็มีอาการที่น่าเป็นห่วงอยู่ มันก็มีอยู่ที่ว่าเดี๋ยวนี้แม้ในวัด ; เราก็กลายเป็นนักอ่าน, นักฟังกันไปเสียหมด ส่วนนักวิปัสสนาคือว่าอ่านอะไรต่าง ๆ ด้วยวิปัสสนานั้นมันไม่ค่อยจะมี ทีนี้มันก็มีคำพูดหรือคำสอนที่มันเป็นธรรมะชั้นสูงพูดออกมาเรื่อย, พูดออกมาเรื่อย, พูดออกมาเรื่อย เหมือนที่เราพูดกันอยู่เสมอ ๆ ไม่ใช่พูดกันแต่เราที่นี่ ที่ไหนเขาก็พูด ทีนี้พูดครั้งหนึ่งมักจะเล็งไปในแนวหนึ่ง พูดครั้งหนึ่งเล็งไปในแนวอื่น นี่คำพูดมันก็เกิดขึ้นมามากจนเรื่องเดียวพูดได้หลายอย่าง หรือสิ่ง ๆ เดียวกันพูดได้หลายอย่างหลายวิธีพูดจนกลายเป็นตรงกันข้ามอยู่ก็มี
และแม้ที่เราพูดกันอยู่ในวัดนี้ซึ่งส่วนมากก็ผมเป็นผู้พูดก็มีอยู่มากที่ทำให้เข้าใจไม่ได้ เรื่องความว่าง, เรื่องความยึดมั่นถือมั่น, เรื่องอะไรเหล่านี้ ฯลฯ กระทั่งเรื่องที่พูดมากที่สุดก็ต้องการให้สนใจที่สุดก็คือเรื่องที่พูดว่า ตายเสียก่อนตาย อย่างนี้เป็นต้น
เรื่องความไม่ยึดมั่น, เรื่องความว่าง นี่คนข้างนอกเขาฟังไม่รู้เรื่องเป็นธรรมดา, ไม่เห็นด้วยและยิ่งกว่านั้นก็มีคัดค้านหรือหาว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ไปเลยก็มี ถึงเราจะบอกว่าเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัส และเป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาก็ไม่มีใครยอมเชื่อยอมฟัง ไอ้อย่างนั้นมันก็ต้องยกให้, ต้องยกให้ คือไม่ต้องพูดกันอีก แต่ทีนี้สำหรับผู้ที่จะต้องพูดกันอีก หรือที่จะต้องพูดกันต่อไป หรือพูดกันได้นี้มันก็มีอยู่มาก แล้วก็มีปัญหาที่เรียกว่าปัญหานี้ คือมันทำความยุ่งยากเป็นอย่างน้อยมันทำความยุ่งยาก ทีนี้มันทำให้ไม่เข้าใจและก็เสียเวลา เราก็เสียดายเวลาจึงคิดว่าควรจะแก้ปัญหาเหล่านี้
จะยกตัวอย่างเหมือนอย่างผมพูดว่า ตายเสียก่อนตาย นี้ไอ้เด็กนักเรียนมันก็จะค้านว่ามันผิด logic คือ ทำไม่ได้ นี่มันเอาทางร่างกาย (ทางเนื้อหนัง) เป็นหลัก ตายเสียก่อนตาย จะทำอย่างไรได้? คือว่าถ้าตายจริงมันก็เลิกกันแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ตายเสียก่อนตาย มันก็คือชิงฆ่าตัวตายเสียก่อนที่ถึงเวลาจะตายนั่นละ เด็กนักเรียนหรือนิสิตมหาวิทยาลัยก็ตามจะเข้าใจอย่างนั้น ก็ ตายเสียก่อนตาย นี้ก็คือรีบไปฆ่าตัวตายเสียก่อนที่อายุจะถึงเขตที่ควรจะตาย แล้วคุณฟังดูมันน่าหัวเท่า(ไร) ทีนี้มันผิดเรื่องกันกับเรื่องที่เราพูดอย่างไร?
ที่พูดว่า ตายเสียก่อนตาย นี่ถ้าใครฟังถูกมันพอ นี่ผมยืนยันว่า ถ้าใครฟังถูกมันพอ จบ, ไม่ต้องพูดกันอีกก็ได้ ไม่ต้องพูดอะไรกันอีกต่อไปก็ได้ แต่ถ้ามันยังฉงน, ยังสงสัยอยู่, ยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ก็หมายความว่ามันไม่เข้าใจว่า ตายเสียก่อนตาย นั้นเป็นอย่างไร? ถ้าใครฟังเข้าใจมันก็มี มันก็แสดงในตัวว่า คนนั้นรู้ธรรมะ รู้ธรรมะเรื่องอนัตตา, เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ทั่วถึงมากทีเดียว เพียงแต่ได้ยินเขาพูดว่า ตายเสียก่อนตาย มันฟังถูกตลอดทะลุตลอดไปจนถึงว่าหมายถึงว่าอะไร ๆ จนรู้ว่าคืออะไร, รู้ว่ามีความสุขอย่างไร? หรือเป็นนิพพานอย่างไร? ในความหมายที่ว่า ตายเสียก่อนตาย นี้
ทีนี้คุณก็พอจะเข้าใจได้แล้ว เพราะเราก็พูดกันมาเรื่อยว่าดับความรู้สึกคิดนึกยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู – ว่า ของกู นี้เสียให้เสร็จเดี๋ยวนี้, แต่เดี๋ยวนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ก่อนแต่ว่าร่างกายมันจะตาย อย่างนี้ก็เรียกว่า ตายเสียก่อนตาย
ฉะนั้น ตายเสียก่อนตาย มันก็คือไม่ได้ตายนั่นเอง คือไม่มีตายอีกต่อไปนั่นเอง นี่, มันสับปลับกลับไปกลับมาอย่างไรลองสังเกตดู มันยิ่งกว่ากำกวมนะ นี่ลักษณะอย่างนี้มันยิ่งกว่ากำกวม คือมันสับปลับทีเดียวพูดว่า ตายเสียก่อนตาย กลายเป็นไม่ตายอีกต่อไป ไอ้ความ ตายเสียก่อนตาย นั้นคือ ความไม่ตาย เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันมีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วว่าในเบญจขันธ์ในตัวคนทั้งหมดนี้ไม่มี ตัวตน ที่จะเกิดหรือที่จะตาย มีแต่การไปเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาติล้วน ๆ ไม่มีส่วนไหนที่เป็น ตัวตน เป็น ตัวกู หรือ ของกู ที่จะเกิดหรือจะตาย ถ้าทำลาย ตัวกู-ของกู ในความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้เสียได้นั้นนะคือ ตายเสียก่อนตาย และต่อไปนี้ก็ไม่มีความรู้สึกว่ากูตายอีกต่อไปนั่นละคือไม่ตาย มันกลายเป็นไม่ตายเสร็จ
ทีนี้ ร่างกายจะเจ็บไข้จะตายหรืออะไรนั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่จะเรียกว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ หรืออะไรก็ตามใจ ไปตามเหตุตามปัจจัยตามอะไรของมันเอง ไม่มีตัวกูอยู่ในนั้น ทีนี้ คำว่า “จิต” มันไม่มีความรู้สึกว่าเป็น ตัวกู-ของกู อีกต่อไป มันก็เลยไม่มีใครที่จะตาย
จนบัดนี้มันก็มิได้มีใครอยู่และถอยหลังไปจนวันแรกก็ไม่ได้มีใครเกิดมา เมื่อก่อนนี้มันโง่ว่ามี กู เกิดมา, แล้ว กู อยู่, แล้ว กู จะตาย เดี๋ยวนี้มันไม่มีทั้งหมด คือ ไม่มี กู ที่เกิดมา, ไม่มี กู ที่กำลังอยู่ และไม่มี กู ที่จะตาย อย่างนี้เรียกว่า ตายก่อนตาย มันมีผลย้อนหลังไปถ้าเห็นในธรรมะข้อนี้ มันกลายเป็นมีผลย้อนหลังว่าไม่เห็นว่ามีการเกิด ไม่เห็นว่ามีกูเกิดมา มีอะไร ถ้าเช่นนั้นมีแต่ สุทธิ ธมฺมา ภวตนฺติ (นาทีที่ 16.11) คือ ธรรมชาติล้วน ๆ เป็นไปตามเรื่องตามราว, ตามกฎตามเกณฑ์ของธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ หลายอย่างเป็นไปตามเรื่องตามราว, ตามกฎตามเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่มีส่วนไหนเลยที่จะเป็น ตัวกู หรือเป็น ของกู โดยแท้จริง
ที่จริงถือว่า ไม่มีเกิดขึ้น, ไม่มีเป็นอยู่, ไม่มีตายไป เพราะไม่มี เรา ให้เกิด, อยู่ หรือตาย ๓ อย่างนี้มันเป็นเรื่องของตัวเราต่อความรู้สึกคิดนึกยึดมั่นถือมั่นว่าเรามิได้มีอย่างเดียวเท่านั้น ไอ้เรื่องเกิดมา หรือเป็นอยู่ หรือตายไปมันก็พลอยไม่มีไปด้วย นี้มันกลายเป็นไม่มีตาย เป็นความตายที่ไม่มีตาย และย้อนหลังไปเป็นไม่มีเกิดและไม่มีอยู่เดี๋ยวนี้แล้วก็ไม่มีตายอีก จึงเรียกว่า ตายเสียก่อนตาย นั้นคือ ความไม่ตาย เพราะไม่มีความเกิด
นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้นนะ ที่ยกตัวนี้ก็หมายความว่ามันมีความสำคัญอย่างไรคุณลองคิดดู ไอ้คนที่เขาพูดกันด้วยภาษานี้เขาพูดกันไม่กี่คำ เพราะว่าเขาได้เข้าใจอะไร เห็นแจ้งอะไรมาตามลำดับ ๆ จนพอได้ฟังคำพูดอย่างนี้เป็นคำสุดท้ายก็เลิกกันไม่ต้องพูดกันอีก แล้วพูดออกไปทีไรเขาก็เข้าใจ เพราะว่าเขามีภาษาที่ตรงกัน ทีนี้ขออภัยที่จะพูดว่าคุณกับผมนี่ไม่มีภาษาที่ตรงกัน เมื่อผมพูดอย่างหนึ่ง-หมายความอย่างหนึ่ง คุณเข้าใจไปเสียอีกอย่างหนึ่ง มันมีภาษาที่ไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องการคำอธิบายมากมาย บางทีจนลำบาก จนยาก เวียนหัว เว้นไว้แต่ว่าจะพยายามมาเรื่อย ๆ จนมีพื้นฐานความเข้าใจตรงกัน เรามีภาษาตรงกัน เมื่อผมพูดว่า ตายเสียก่อนตาย คุณเข้าใจหมด อย่างนี้แล้วก็ใช้ได้
ลักษณะอย่างนี้มันไม่ค่อยจะมีหรือที่เรียกว่าไม่มีสำหรับสมัยนี้หรือเวลานี้ แต่มันเคยมีมากในเวลาอื่น ยุคอื่น หรือสมัยอื่น หรือที่อื่น ที่ ๆ เขานิยมพูดกันอย่างนี้เขาไม่นิยมพูดด้วยภาษาคน, ด้วยคำพูดมาก ๆ เขาจะพูด ๒-๓ คำแล้วไปคิด ๆๆๆ จนเข้าใจ แล้วพูดต่ออีก ๒-๓ คำแล้วไปคิด ฉะนั้นเขาพูดคำสุดท้ายกัน ๒-๓ คำแล้วก็เลิกกัน
ยกตัวอย่างเพื่อกันลืมสักเรื่องหนึ่งก็ได้ มันก็เป็นเรื่องของพวก ZEN อีกละ เพราะว่าพวก ZEN เขาชอบใช้วิธีนี้ คือลูกศิษย์ที่ฉลาดคนหนึ่งรับคำอธิบายจากอาจารย์แล้วก็ไปปฏิบัติอยู่เป็นของตัวเอง ในที่อยู่ของตัวเอง ไม่ได้พบปะกันบ่อย ๆ หรือทุกวันอะไร ถึงคราวที่จะพบปะกันเป็นคราว ๆ ก็ไปพบกัน คราวหนึ่งพบกัน, อาจารย์ถามลูกศิษย์นั้นว่า เป็นอย่างไรการปฏิบัติ? ลูกศิษย์ตอบแต่เพียงว่า ควายดิน ๒ ตัวขวิดกันอยู่เรื่อย ควายดิน ๒ ตัว – ตัวหนึ่งดำ, ตัวหนึ่งขาว ควายที่ทำด้วยดินเป็นควายดิน ๒ ตัวขวิดกันอยู่เรื่อย อาจารย์พยักหน้าแล้วกลับนะ หมายความว่าเข้าใจหมด หมายความว่าอะไร? อาจารย์นั้นเข้าใจหมดว่านี้มันหมายความว่าอะไร ทีนี้ลูกศิษย์ถ้าไม่รู้ไอ้เรื่องนั้นจริง ๆ ก็พูดออกมาอย่างนี้ไม่ได้ ว่าควายดิน ๒ ตัวขวิดกันอยู่เรื่อย คุณคิดดูเถอะ มันสรุปไอ้เรื่องทั้งหมด เรื่องเกี่ยวกับการยึดมั่นถือมั่นทั้งหมดนั้นได้ในประโยคอย่างนี้ ควายดิน ๒ ตัวขวิดกันอยู่ชุลมุนวุ่นวายเรื่อย วันหลังโอกาสหลังอาจารย์ถามอีกก็ตอบเหมือนกันอีก ควาย ๒ ตัวขวิดกันอยู่เรื่อยหลายครั้งหลายหน อันนั้นพูดคำเดียว อันนี้ก็ฟังถูก แล้วกลับไป นี้ครั้งสุดท้ายก็บอกว่า ควาย ๒ ตัวขวิดกันตกลงไปในแม่น้ำละลายหมด-ไม่มีอะไรเหลือ อาจารย์ก็พยักหน้า อืม...พอ กลับไป พอแล้วก็กลับไปก็ไม่พูดอะไรกันอีกต่อไป ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดกันอีกต่อไป
นั่นมันเพราะว่ามันใช้ภาษาที่เราเรียกว่าภาษาธรรมนี้ ภาษาธรรมะเฉพาะพูดกันมันจึงเข้าใจ ทีแรกไอ้คนข้างนอก ๆ เผอิญไปได้ยินเข้า ได้ไปได้ยินไอ้ ๒ คนนี้พูดกันก็หาว่าคนบ้า คนบ้า ๒ คนพูดกันไม่มีความหมายอะไร? ไม่รู้เรื่องอะไร? ก็คิดดูมันก็จะถูกหาว่าเป็นคนบ้าพูดภาษาอะไรก็ไม่รู้? หรือถ้าสมมติว่าเทวดาวิเศษขนาดเทวดาหูทิพย์ได้ยินคำพูดนี้ เทวดาก็จะพูดว่า ๒ คนนี้มันบ้า พูดอะไรก็ไม่รู้ เลิกกัน
ทีนี้ความหมาย, ถ้าเราเคยเรียนเคยฟังมาแล้ว เราก็พอจะรู้ว่าควายดิน ๒ ตัวขวิดกันอยู่เรื่อยนี่ก็เท่ากับตอบว่า จิตของผมนี่ยังยึดมั่นถือมั่นเรื่องดีเรื่องชั่ว ปล่อยไม่ลง ปล่อยไม่ได้ เดี๋ยวมีปัญหาด้วยความดีอยากดี เดี๋ยวมีปัญหาด้วยความชั่ว กลัวทุกข์ มันอยู่จะอย่างนี้เรื่อย ยังรู้สึกอย่างนี้อยู่ จึงสรุปขึ้นเป็นอุปมาเป็นคำเปรียบว่าเหมือน ควายดิน๒ ตัว ; ตัวหนึ่งดำคือชั่ว ตัวหนึ่งดีคือขาว ควาย ๒ ตัวนี้ขวิดกันเรื่อย แกสามารถพูดอุปมาสั้น ๆ นี่ถึงจิตใจมีความรู้สึกกว้างขวางวุ่นวายมากมายว่าอย่างนี้ ขนาดลูกศิษย์มันยังรู้จักพูดอย่างนี้ นี้อาจารย์ก็เกิดที่จะฟังถูกว่าหมายความว่าอะไร เพราะว่าคนที่เป็นอาจารย์ ZEN นั้นมันหมายถึงคนที่รอบรู้เชี่ยวชาญผ่านอะไรต่าง ๆ มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ทีนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการทำจิต...ทำจิตใจทางวิปัสสนานั้นบอกว่า เดี๋ยวนี้ ควายทั้ง ๒ ตัว ขวิดกันตกลงไปในแม่น้ำแล้วมันก็ละลายหมด ความหมายมากนะ คุณคิดดูให้ดี
ความหมาย ควายดำ-ขาว มันก็เป็นคือ ดี-ชั่ว, กุศล-อกุศล นี้ก็มีความหมายลึกนะ ทีนี้ทำไมถึงพูดว่ามันเป็นดิน ทำไมต้องพูดว่ามันถูกน้ำแล้วละลายหมด มันละลายหมดนี่ ๆ ว่าสังขารทั้งปวง ; ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล เมื่อเข้าไปในเขตของนิพพานย่อมสลายตัวหมด จึงแปลว่านิพพานเป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งปวง จะเป็นสังขารดีหรือสังขารชั่วอะไรก็ตาม เมื่อถึงจุดของนิพพานนั้นก็คือหมดความหมายว่าดี, ว่าชั่ว, ว่าอะไรหมด ก็เท่ากับเป็นความคิดหรือความเข้าใจที่ดีมากที่อุปมาขึ้นมาพูดสั้น ๆ ว่า วันนี้ควายทั้ง ๒ ตัวขวิดกันจนตกลงไปในแม่น้ำ แล้วละลายเป็นน้ำหายไปหมด กลายเป็นน้ำไปหมด ไม่มีควายอีกต่อไป นั่นละคือ ตัวกู-ของกู มันละลาย คือจิตไม่มีอะไรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น ตัวกู อีกต่อไป
นี้ก็เป็นตัวอย่างเพื่อให้จำไว้ง่าย ๆ กันลืมว่าเขามีวิธีพูดกันอย่างไร? และคำพูดชนิดนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ถ้าไม่เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจที่ชัดเจนจริง ๆ ในใจของตนเอง ไม่ใช่เที่ยวอ่าน, เที่ยวจำ, เที่ยวยืม ของคนอื่นมาพูด ฉะนั้นปีหนึ่งเขาไม่ได้พูดกันกี่คำ ไม่เหมือนกับเรา บ้าพูดบ้าฟังมากมาย ฉะนั้นเขาคิดมากพิจารณามาก - มันจึงเข้าใจมาก มันจึงพูดอย่างนั้นได้ง่าย ๆ แล้วถึงเวลาพูดจริง ๆ ก็เลยพูดไม่กี่คำ มันจะฟังถูกกันแต่ในหมู่คนผู้คิดมากและโดยวิธีเดียวกันหรือถูกต้อง
ทีนี้มีอยู่กันในสมัยหนึ่งในกรุงเทพนั่นละ ในยุคสัก ๔๐-๕๐ ปีมาแล้วขึ้นไปโน่น มีการศึกษาธรรมะเข้าใจลึกซึ้งแจ่มแจ้งมากจนพูดกันโดยลักษณะอย่างนี้หรือวิธีอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน เขาไม่พูดกันมาก แล้วก็พูดกันโดยวิธีนี้ ทีนี้ต่อมามันเปลี่ยนเป็นเรียนปริยัติ เป็นเรียนหนังสือ เรียนนักธรรม เรียนบาลี เจริญรุ่งเรืองไปทางเรียนอภิธรรมหรืออะไรก็ตาม มันกลายเป็นพูดเรื่องตัวหนังสือกันไปหมด พูดอย่างที่ไม่มีอีก จนเดี๋ยวนี้หายาก จะมีที่ไหนบ้างผมไม่ทราบแต่เชื่อว่าไม่มี ฉะนั้นสมัยก่อนเขาจึงทิ้งอะไรไว้ให้เราชนิดที่เรากลายเป็นคนโง่ เขาได้พูดอะไรทิ้งไว้ให้เราเพื่อทำให้เรากลายเป็นคนโง่มีอยู่มากมาย ท้ายที่สุด แม้แต่มะพร้าวนาฬิเกร์นี่พวกคุณดูสิ คนที่มาจากมหาวิทยาลัยมาจากกรุงเทพฯ มาฟังถูกเมื่อไร มาถึงก็กลายเป็นคนโง่ พอได้ยินคำเหล่านี้แต่สมัยปู่ยาตายายเขาฟังถูกว่าอะไร แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลึกลับอะไร ก็มีอีกเยอะแยะนะ ที่ผมเคยเอามาเล่าให้ฟังมาพูดให้ฟังก็มีอีกเยอะแยะ
งามอยู่ที่ซากผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย
อย่างนี้ก็คนที่ปู่ย่าตายายพูดแล้วก็เราหาว่าเป็นคนโง่ แต่เขาพูดไว้สำหรับให้เรากลายเป็นคนโง่ เพราะไม่มีหนังสือ ไม่มีพระไตรปิฎก ไม่มีอะไรเล่าเรียนมากเหมือนเราเดี๋ยวนี้ ไม่มีชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ชั้นเปรียญสิบประโยคร้อยประโยคเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่เขาพูดกันอย่างนี้ ฟังไว้ก็แล้วกัน
เพราะ(ฉะ)นั้นขอให้ใคร่ครวญดูสิ่งเหล่านี้ ผมบอกแล้ววันนี้ไม่พูดหัวข้อธรรมะอะไร พูดแต่เรื่องปัญหาหรืออุปสรรคที่มันมีอยู่ในการที่จะเข้าใจธรรมะคือคำพูดภาษาธรรมะ เป็นสิ่งที่ไม่คุ้นหูไม่คุ้นเคยกันกับชาวบ้านที่พูดภาษาชาวบ้าน เพราะ(ฉะ)นั้นจึงฟังไม่ถูก ในคำพูดที่ประหยัดเวลาที่สุด เช่น พูดว่า ตายเสียก่อนตายนี้ เป็นคำพูดที่มีความหมายดีที่สุด ลึกซึ้งที่สุด กว้างที่สุด ประหยัดเวลาที่สุด และหมดที่สุดด้วย หมดเรื่องหมดราวที่สุดด้วย ก็ฟังไม่ถูกเพราะไม่คุ้นเคย ไม่ชินกันกับที่จะพูดภาษานี้คือภาษาของผู้ที่เห็นธรรมะด้วยจิตใจ ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือการใคร่ครวญตาม logic ตามเหตุผล
ทีนี้การศึกษาอย่างสมัยใหม่นี่มันพาเข้ารกเข้าพงเพราะว่าพวกฝรั่งซึ่งเป็นเจ้าตำรับตำราเรื่องการศึกษานี่เขามีหลักการศึกษาหรือวิธีการศึกษาอย่างอื่น เช่น เขาจะศึกษาเรื่องพระเจ้า ; พระเจ้าคืออะไร? เขาก็ไปค้นมาก่อนตั้งแต่พระเยซูเกิด คำว่าพระเจ้ามีความหมายอย่างไร? ใครพูดไว้อย่างไร? ในสมัยพวกกรีกก่อนพระเยซู กระทั่งสมัยพระเยซู กระทั่งพวกกรีกหลังพระเยซู เรื่อยมาจนถึงคนปัจจุบันนี้ มันก็มีคนเคยพูดอธิบายคำว่าพระเจ้านี่ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนที่ว่าพระเจ้าคืออะไร? อะไรเกี่ยวกับพระเจ้า? นี้ คนพูดไปทาง, คนพูดไปทาง, คนพูดไปทาง ที่ตรง ๆ มันก็มีเหมือนกัน
ทีนี้ฝรั่งเดี๋ยวนี้ฝรั่งปัจจุบันนี้ เขาจะเอาความหมายของคำว่าพระเจ้าทั้งหมดนั้นมารวมกันเข้าแล้ว หลอมมาเป็นอันเดียวกันสำหรับเขาจะยึดถือมันก็เลยทำไม่ได้ เลยทำไม่ได้ ฝรั่งเลยไม่มีพระเจ้า เลยยุบพระเจ้าเสียว่าเดี๋ยวนี้พระเจ้าตายแล้ว เราไม่ต้องมีพระเจ้า นี่ผลมันเป็นอย่างนี้ ที่กุฏิผมก็มี เขาเรียกว่า Great Book of the West เป็นหนังสือ ๖๐ เล่ม ยาวกว่าวา ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีมาจนกระทั่งนักปรัชญาคนแรก ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พูดเรื่องพระเจ้าว่าอย่างไรก็มีสารบัญหมดให้ค้นได้จากหนังสือ ๖๐ เล่มนั้นนะ แล้วก็มีที่มา บอกที่มา ที่มานี้ตั้งหลายพันที่มาเรื่องพระเจ้าทั้งนั้น ผลสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าพระเจ้าคืออะไร? เรื่องอื่นก็เหมือนกันอีก
ทีนี้พอเขาจะมาศึกษาพุทธศาสนา สมมติว่าเขาจะศึกษาพุทธศาสนา เขาก็จะฟังว่าเคยพูดว่าอย่างไร? มีอะไรอย่างไร? อะไรอย่างไร? ประวัติของมันมาอย่างไร? ประวัติศาสตร์ของมันมาอย่างไร? ออกมาเรื่อยมา, เรื่อยมา จนเดี๋ยวนี้ก็เรียนเรื่องประเทศอินเดียกันก่อน เรียนอินโดโลยี ; เรื่องเกี่ยวกับประเทศอินเดียทั้งหมดก่อนจนกว่ามันจะเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา ก็เรียนประวัติของพระพุทธเจ้าเสียมากมาย แล้วก็เรียนคัมภีร์มหายานอันมากมาย, เถรวาทอันมากมาย แล้วมันตีกันยุ่ง จนในที่สุดไม่รู้ว่าพุทธศาสนาคืออะไร? เอาไปได้แต่ตัวหนังสือที่ยุ่ง ๆๆๆ กองรวม ๆๆ กันไว้นี่ ถ้าเราจะไปอ่านหนังสือที่ฝรั่งแต่งก็จะพบแต่อย่างนี้เพราะฉะนั้นฝรั่งจึงไม่รู้อะไรนอกจากความยุ่งหรือปนกันยุ่ง คัดค้านกันยุ่ง ของทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันเรื่องเดียวเท่านั้น นี้มันก็น่าหัว ครั้นจะให้เขามาฟังคำพูดผมไว้ว่า ตายเสียก่อนตาย นี่เขาไม่ฟัง, ไม่ยอมฟัง, ไม่สนใจ แล้วฟังก็ไม่เข้าใจ
นี่ผมยกตัวอย่างด้วยคำว่า ตายเสียก่อนตาย นี่มันมีใจความสำคัญที่ว่าน่าเอาไปคิดนะว่า
ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง
ตายทำไม เพื่อให้ เขาใส่โลง ตายโอ่โถง นั้นคือ ตายเสียก่อนตาย
ตายก่อนตาย ไม่ต้องกลาย ไปเป็นผี แต่กลายเป็น สิ่งที่ ไม่สูญหาย
ที่แท้เป็น ความตาย ที่ไม่ตาย มีความหมาย ไม่มีเกิด เลิศนักแล
คำพูดนี้ ผันผวน ชวนฉงน เหมือนเล่นลิ้น ราววน คนตอแหล
แต่เป็นความ จริงอัน ไม่ผันแปร ใครคิดแก้ อรรถได้ ไม่ตายเอย
นั่นคุณลองฟังดู ไอ้ตายตามธรรมดานี้ตายไปเป็นผี แต่ตายเร็วนักเรียกผีตายโหง ตายทำไมเพียงเพื่อให้เขาใส่โลง ตายดีหน่อยก็คือ ตายเสียก่อนตาย นี้ ตายก่อนตาย นั้นไม่ไปเป็นผี คุณฟังดูเถิด ถ้าใคร ตายเสียก่อนตาย ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คนนั้นไม่มีโอกาสที่จะเป็นผีอีกต่อไป เมื่อไม่เป็นผีแล้วเป็นอะไร? กลายเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักสูญ ธรรมชาติที่ไม่รู้จักสิ้นสูญนั้นก็คือธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรก็ตามใจมันก็ไปของมันเรื่อย ไม่ใช่ ตัวกู-ของกู แล้วก็เรียกว่า ความตายที่ไม่ตาย นี่คือปัญหา นี่คือสิ่งที่เขาจะหาว่า ผู้พูดเป็นคนบ้า เพราะพูดว่า ความตายที่ไม่ตาย พูดว่าความตายแล้วบอกที่ไม่ตายมันเป็นคนบ้า ๆ ที่สุด มันเป็นคำพูดที่บ้าสำหรับคนฟังไม่ถูก ยิ่งกว่าที่พูดว่า ตายเสียก่อนตาย อีก เพราะผมพูดว่า ตายเสียก่อนตาย ไอ้หนุ่ม ๆ นี่คงฟังถูกว่าไปฆ่าตัวตายเสียก่อนอย่าให้จนแก่จนเฒ่าตาย ฟังดู! ตายเสียก่อนตาย แต่พอพูดว่า ความตายที่ไม่ตาย โอย! ไม่มีทาง...ไม่มีทางที่จะเข้าใจ แต่ว่าปู่ย่าตายายของเราเข้าใจ ปู่ย่าตายายของเราเข้าใจ แล้วใครมันโง่ ไอ้ลูกหลานเดี๋ยวนี้มันดูถูกปู่ย่าตายายว่าไม่ได้เล่าไม่ได้เรียนเป็นคนโง่ ไอ้ลูกหลานเดี๋ยวนี้มันฟังคำว่า ความตายที่ไม่ตาย นี่ไม่ออก แต่ปู่ย่าตายายฟังออก เพราะปู่ย่าตายายได้พูดว่า นิพพานคือตายเสียก่อนตาย เขารู้ว่าความตายคือนิพพานนั้นคือสิ่งที่ไม่ตาย ปู่ย่าตายายนั่นโง่หรือฉลาด? คุณคิดเอาเองจะได้หายอวดดี แล้วปู่ย่าตายายได้พูดอะไรไว้ก็เพื่อให้ลูกหลานกลายเป็นคนโง่ นี่ผมรู้สึกอย่างนี้ ไอ้ลูกหลานก็กลับอวดดี อวดดี กูฉลาด กูเรียนมาก กูไปเมืองนอก ปริญญายาวเป็นหาง ปู่ย่าตายายไม่ได้เรียนอะไรกลายเป็นคนโง่ นี้ไม่รู้ว่าตัวเองคือคนโง่ที่สุด ไปตามก้นฝรั่งที่โง่เหลือประมาณอยู่แล้วโดยการศึกษา ชนิดที่จับอะไรไม่ได้ นี่พวกฝรั่งไม่ชอบผมเพราะผมพูดอย่างนี้อยู่เรื่อย แล้วฝรั่งมันโง่ จะไปตามก้นมัน ฝรั่งเลยไม่ค่อยชอบผม
ดังนั้นคุณฟังคำพูดชนิดนี้ไว้บ่อย ๆ แล้วเข้าใจ จนทีหลังผมไม่ต้องอธิบายแล้วก็ใช้ได้ เพราะว่าปู่ย่าตายายสมัยหนึ่งเขาพูดกันภาษาอย่างนี้แล้วเข้าใจกันได้ เช่นเดียวกับลูกศิษย์อาจารย์ ๒ คนนั้นพูดกัน ๒ หน มี ๒ ประโยคเท่านั้น ควายชนกันเรื่อยครับ ต่อมาพูดว่า อ้าว, ตกน้ำละลายหมดแล้วครับ ก็หมดเท่านั้นไม่มีอะไร
นี่ผมขอหวังขอภาวนาธิษฐานว่า ; เมื่อไรไอ้ยุคอย่างนี้มันจะกลับมาอีก ทีนี้ผมไม่มีแรงพูดแล้วจะตายอยู่แล้ว จะตายจริง ๆ เพราะไม่มีแรงจะพูด ก็อยากจะให้มีวิธีที่ประหยัดคำพูดไม่ต้องพูดมาก ยักคิ้วทีเดียวก็ได้ บอกว่าควายชนกันเรื่อยครับ มันยักคิ้วทีเดียวมันก็กลับไปได้ ควายตกน้ำละลายหมดแล้วครับ ยักคิ้วทีเดียวมันก็กลับไปได้ มันก็มีเท่านั้นเอง เมื่อไรจะถึงสมัยนี้อีก สมัยที่คนเห็นแจ้งลึกซึ้งในพระธรรมในใจของตนเองจากธรรมชาติเอง จากความรู้สึกในใจเองไม่ใช่จากหนังสือ ซึ่งยิ่งเรียนมาก-ยิ่งโง่, ยิ่งเรียนมาก-ยิ่งไม่รู้ นี่มีเวลาพูดวันนี้ก็เท่านี้ แล้วก็ไม่ได้พูดหัวข้อธรรมะอะไรที่แปลกใหม่ เพื่อให้รู้อุปสรรคที่มันมีอยู่ที่จะทำให้เราไม่เข้าใจคำพูดภาษาธรรมะที่ลึกซึ้ง ที่ปู่ย่าตายายได้เคยใช้ ในบางยุคบางถิ่นก็ได้เคยใช้ แล้วสมัยก่อนเขานิยมศึกษากันเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งอย่างนี้แล้วก็ไม่พูดกันไม่พูดกันกี่คำ พูดใบ้กันอย่างนี้ก็พอแล้ว ก็ได้เรียกว่ามีใจความเพียงเท่านี้ ว่าเราหัดภาษาธรรมะกันเสียบ้าง อย่าใช้ภาษาชาวบ้านอย่างเดียวเลย มันน่าละอายขายหน้าบรรพบุรุษ พอกันที