แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเรามันก็มีพูดเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ต่อไปตามเคย ที่ขยันพูดเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู นี้ก็เพราะว่ามันไม่มีเรื่องอื่นที่สำคัญเท่าแล้วมันก็มีหลายแง่หลายมุม เพราะฉะนั้นเราก็พูดกันหรือเอามาดูกันเรื่อย ๆ ไปทุกแง่ทุกมุมจนกว่าจะเข้าใจมันดี ผมเห็นว่าเรื่องอื่นไม่คุ้มค่าที่จะเอามาพูดแล้วไม่สมแก่ตำแหน่งหรือเกียรติที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ เรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู เรื่องเดียวเท่านั้นคุ้มค่าของเวลา หรือสมกับคำว่าธรรมปาฏิโมกข์
ถ้ามันมี ตัวกู-ของกู ก็เป็นเรื่อง วุ่น ถ้าไม่มี ตัวกู-ของกู ก็เป็นเรื่อง ว่าง ก็พูดกันไปพูดกันมาแต่เรื่อง วุ่น กับเรื่อง ว่าง พูดเรื่อง วุ่น ; ก็เพื่อให้รู้จักทำลายความวุ่น ป้องกันความวุ่นให้กลายเป็นความว่าง, พูดเรื่องความว่าง ; ก็คือให้รู้จักทำลายความวุ่น ในที่สุดให้ได้ผลเป็นความว่าง เพราะฉะนั้นขอให้กำหนดหัวข้อของเรื่องไว้อย่างนี้อย่าให้ฟั่นเฝือหรืออย่าให้ดูเป็นหลายเรื่องแล้วก็ฟุ้งซ่านไปเสียเอง มันไม่มีเหตุผลที่จะต้องฟุ้งซ่านคือมันเรื่องเดียวเรื่อย มันอยู่ที่ว่าฟังเป็นหรือฟังไม่เป็น ถ้าฟังไม่เป็นมันก็กลายเป็นหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นขอให้ฟัง เข้าใจแล้วสรุปลงไปได้ในเรื่องเดียวกันหมด เพื่อมุมนั้นมุมนี้แง่นั้นแง่นี้หรือขยายซ้ำไปในแง่นั้นแง่นี้ละเอียดออกไปกว่าที่เคยพูด
ในครั้งที่แล้วมาเราพูดโดยอาศัยคำว่า ความสมดุล เป็นหลักสำหรับทำความเข้าใจ แล้วก็มันได้ใจความสั้น ๆ ว่ามันมีสมดุลอยู่ ๒ ชนิด (๑) สมดุลจริง ๆ สมดุลแท้จริง กับ (๒) สมดุลมายาหลอกลวง
นี่เราอย่าไปหลงไอ้คำว่าสมดุล ๆ ไม่ว่าในเรื่องโลกหรือในเรื่องธรรมะ ไอ้สมดุลนี้มีอยู่ ๒ แง่ ๒ ความหมาย คือจริงอยู่อย่างหนึ่งและก็เท็จอีกอย่างหนึ่ง และก็ได้พูดให้เห็นแล้วว่าสมดุลจริงนั้นคือสมดุลในทางที่จะไม่ให้เกิดอะไรขึ้นมานี่คือสมดุลจริง จะว่างอยู่เรื่อย จะว่างจาก ตัวกู-ของกู อยู่เรื่อย ทีนี้สมดุลเท็จมันก็มีความเหมาะสม ที่แท้มันไม่ใช่สมดุลหรอก มันมีความเหมาะสมแต่เขาก็เรียกกันว่าสมดุล ถ้าไม่สมดุลมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา นี่สมดุลเท็จสำหรับเกิดอะไรขึ้นมา สำหรับเกิดนั่น เกิดนี่ เกิดโน่นขึ้นมา เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเหมือนกับว่าพระเจ้าสร้างราวกับว่าพระเจ้าสร้างอย่างนั้นและอย่างนี้และอย่างโน้นเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด และก็ไม่มีทางที่จะสิ้นสุด เรียกว่าความไม่มีที่สิ้นสุดในฝ่ายเกิด เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีความไม่มีที่สิ้นสุดในฝ่ายดับชั่วคราวเหมือนกัน มันดับชั่วคราว ๆ นี่พวกสมดุลเท็จ ถ้าสมดุลจริงมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่เราก็เลยได้หลักว่า สมดุลสำหรับจะว่าง หรือว่า สมดุลสำหรับจะวุ่น ถ้าเรียกเป็นความสมดุลเสมอกันหมด ไอ้สมดุลอย่างแรกคือสมดุลแท้จริงนั่นเป็นภาษาธรรม สมดุลในภาษาธรรมคือจริง แล้วสมดุลในภาษาคนนั้นคือไม่จริง จะเกิดนั่น เกิดนี่ เกิดโน่นขึ้นมาเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
ทีนี้ก็อยากจะช่วยความจำด้วยเรื่องภาพที่มีอยู่ที่บนเพดานหน้ามุกชั้นบนนั่นคือ ภาพยินแยง(หยิน-หยาง) ภาพหนึ่งและก็ ภาพว่าง ไม่มีอะไรนี่อีกภาพหนึ่ง นั่นละจะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความเข้าใจและจำได้แม่นยำ ไอ้ภาพที่มีดำขาวคนละซีก มีลักษณะ ยิก ไล่กันก็วิ่งจี๋อยู่เรื่อย เขาเรียกว่า ภาพยินแยง คือสมดุลฝ่ายเกิด เหมาะสมฝ่ายเกิดเรื่อย ทีนี้อีกภาพหนึ่งเป็นวงกลมเฉย ๆ ภาพนี้ก็หมายถึง ไม่มีสีอะไร ไม่มีรูปร่างอะไร ไม่มีขนาดอะไรหมด ไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลอะไรหมด เรียกว่า รูปว่าง นี่คือภาพของความสมดุลจริง (ไม่เกิดอะไร)
ทีนี้ไอ้สมดุลเท็จที่มันเกิดอะไรขึ้นมานั้นละ มันปิดบังไอ้สมดุลจริงหรือว่าง เราจึงไม่เห็นไอ้ว่าง หรือสมดุลจริง เราไปเห็นไอ้สมดุลเท็จอยู่เรื่อย แล้วสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ถูกลวงด้วยสมดุลเท็จนี่อยู่เรื่อยไป และรสอร่อยที่เป็นอัสสาทะทั้งหลายก็เกิดมาจากสมดุลเท็จนี้ รสอร่อยชนิดไหนแล้วแต่เราจะชอบ ทั้งเรื่องหวาน เรื่องมัน เรื่องหอม เรื่องอะไรก็ตามใจมันเป็นเรื่องสมดุลเท็จ พอดีกันกับที่มันจะเกิดขึ้นและพอดีกันกับที่อายตนะของเราจะรับเอา เขาเรียกกันว่า ความพอดี หรือ ความสมดุล อย่างนี้มันเท็จ เช่น หวาน อย่างนี้มันต้องพอดีสำหรับจะรู้สึกอย่างนั้น ถ้าหวานมากกว่านั้นมันก็กลายเป็นขม ถ้าหวานนั้นมันเข้มเข้าไปนักก็กลายเป็นขม ถ้าเค็มมากเกินไปมันก็กลายเป็นขม ก็กลายเป็นสู้ไม่ไหวทั้งนั้น ถ้าเปรี้ยวพอดีรสก็อร่อยกับลิ้น ถ้าเปรี้ยวหนักเข้าก็ขมเป็นน้ำกรดกัดลิ้น หอมนี่ก็เหมือนกันต้องพอดี ไอ้แก๊ซที่กระจายอยู่ในอากาศนั้นต้องพอดีพอที่จะให้ประสาทที่จมูกรู้สึกอย่างนั้นพอดี นั่นแปลว่ามันพอดีกันมันจึงรู้สึกว่าถูกบำเรอถูกกระกระตุ้นในลักษณะพอดีแล้วจึงรู้สึกหอม ถ้ามันเข้มเกินไปกว่านั้นมันก็กลายเป็นเหม็น เป็นฉุน แล้วก็เป็นเหม็นแล้วก็เป็นสำลัก สู้ไม่ได้ทุกเรื่องเลย ไอ้ความสัมผัสที่ผิวหนังนี่ที่ร้ายกาจที่สุดนี่คือพอดีที่จะรู้สึกว่านิ่มนวล มันต้องมีการสัมผัสที่ปลายเส้นประสาทสัมผัสนั้นพอดีคือมากพอดีจึงจะรู้สึกว่านิ่มนวล ถ้าน้อยไปมันรู้สึกกระด้าง ถ้านิ่มนวลเกินไปมันก็จะกลายเป็นอะไรที่ทนไม่ได้อีกเหมือนกัน ที่มากเกินไปกว่าพอดี
เพราะฉะนั้นการที่จะเกิดความคิดเป็นกิเลสขึ้นมาได้ มันก็ต้องมีความพอดี มีความสมดุลที่จะเกิดกิเลส คือเกิดเวทนาชนิดที่เป็นสุขเวทนา แล้วก็พอดีกับเวลาที่มันไม่มีปัญญา ไม่มีสติ มันก็เกิดกิเลส มันก็ยุ่งและเป็นทุกข์ นี่ความสมดุลสำหรับจะเกิดกิเลส ไม่สมดุลมันก็เกิดไม่ได้ คือไม่พอดีมันก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นหรือพอจะเข้าใจได้ว่ามันเต็มไปหมดทั้งสากลจักรวาลนี้คือความพอดีที่จะเกิดกิเลสสำหรับเราสำหรับมนุษย์นี้ มันเต็มไปหมดทั้งสากลจักรวาลหรือมากกว่านะ แม้จะแบ่งแยกเป็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียง ๖ อย่าง แต่ว่าใน ๑ อย่างนั้นมันมีมากแง่ มากมุม มากชนิด มากลักษณะ ที่จะเกิดความพอดีสำหรับให้รัก แล้วก็เกิดความไม่พอดีสำหรับให้เกลียด นี่การเกิดมีอยู่ ๒ ชนิด ๒ อย่าง คือ (๑) เกิดไปในทางให้รัก (๒) เกิดไปในทางให้เกลียด
นี้แต่เราหมายถึงคนหมายถึงไอ้ความรู้สึกของคน มันก็ไม่ตรงกันกับความรู้สึกของสัตว์หรือของคนชนิดอื่น คนประเภทอื่นที่มันไกลกันมาก เช่น เราชอบ-เขาไม่ชอบ หรือ มนุษย์ชอบ-สัตว์ไม่ชอบ ฯลฯ นี่เอาลักษณะคนทั่ว ๆ ไปเป็นหลัก อย่างนี้เกิดความยินดี - อย่างนี้เกิดความยินร้าย : นี่คือความเกิด เป็นความสมดุลเท็จเสมอกันทั้งสำหรับยินดีและยินร้าย คือทำให้เกิดความวุ่นวายและความทุกข์ ถ้ามันไม่เกิดมันจึงจะเป็นสมดุลแท้ เป็นสุขแท้ ซึ่งเขาไม่เรียกว่าสุข ที่แท้ก็ไม่เรียกว่าสุข เรียกว่า เหนือทุกข์-เหนือสุข
ความว่าง มัน เหนือทุกข์-เหนือสุข แต่ถ้าพูดว่าภาษาคนก็พูดว่าสุขเหมือนกัน เช่น พูดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จริง ๆ แล้วนิพพานนี่มันอยู่ เหนือทุกข์-เหนือสุข ไอ้เรื่องทุกข์, เรื่องสุขนี่มันอยู่แค่เวทนา มันเป็นมายา เกิดขึ้นเพราะความเหมาะสมสำหรับจะรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้นี่เรียกว่า วุ่น เรารู้สึกสัมผัสกันแต่ความวุ่นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ส่วนความว่างนั้นไม่ค่อยได้สัมผัส เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีทำเป็นพิเศษเรียกว่า ปฏิบัติธรรม สำหรับให้จิตพบกับ ความว่าง หรือ ความสมดุลที่แท้จริง ที่เป็นของจริง คือ นิพพาน นี้เป็นของจริง วัฏสงสาร นี้เป็นของเท็จ ไอ้เรื่องสุข, เรื่องทุกข์, เรื่องอร่อย, ไม่อร่อย, เรื่องสนุก, ไม่สนุก นี่มันอยู่ที่วัฏสงสาร นี่เขาเรียกว่าจมอยู่ในวัฏสงสาร ก็หมายความว่าไม่รู้จักวัฏสงสาร สมัครใจที่จะขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ในวัฏสงสาร เดี๋ยวชอบขม – เดี๋ยวชอบหวาน, เดี๋ยวชอบหัวเราะ – เดี๋ยวชอบร้องไห้ แม้แต่เรื่องร้องไห้ก็มีคนชอบ ถ้ามันเป็นมากเกินไปมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะ(ฉะ)นั้นสิ่งที่เรียกว่านิพพานก็เลยไม่ค่อยมีใครต้องการหรือไม่รู้จัก แล้วมันจึงทนทรมาน ทนทุกข์ทรมาน เพราะไม่รู้จักนิพพาน
นี่, ขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ เพราะเราไม่รู้จักความสมดุลที่แท้จริง เราจึงไปหลงในความสมดุลที่เท็จที่หลอกลวงคือวัฏสงสาร ให้เกิดความเอร็ดอร่อยแก่ความรู้สึกของเรานี่มันเลยถูกหลอกด้วยสมดุลเท็จอยู่เสมอตลอดเวลา นี้ถ้าไปพูดเรื่อง ตัวกู-ของกู มันก็คือเกิด ตัวกู-ของกู ขึ้นมาเรื่อยทยอยกันไปทีเดียวเป็นความสมดุลที่จะเกิดขึ้นแห่งตัวกู คือสมดุลมายา (สมดุลเท็จ) เรื่องนี้แล้วเรื่องนั้น, เรื่องนั้นแล้วเรื่องโน้น, เรื่องโน้นแล้วเรื่องโน้นเรื่อยไป เมื่อเป็นกิเลสก็มี ตัวกู ชนิดหนึ่ง เมื่อทำกรรมก็เป็น ตัวกู ชนิดหนึ่ง เมื่อรับผลกรรมก็เป็น ตัวกู ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ไม่ได้ทั้งนั้นถือเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นเรียกว่าเรามองกันละเอียดยิ่งขึ้นทุกที แล้วก็เป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายธรรมะ, ฝ่ายวิญญาณ มากขึ้นทุกทีที่เราจะศึกษากันอย่างนี้ ที่จะมองกันอย่างนี้ ที่จริงมันก็เกินไปที่จะเอามาพูดหรือสอนให้มองกันอย่างนี้ แต่ผมเห็นว่าเวลามันมีหรือว่าเราอยู่ในฐานะที่พอจะเข้าใจได้ อยู่ในฐานะที่พอจะทำความเข้าใจกันได้ จึงเอามาพูด ที่จริงไม่ต้องพูดถึงอย่างนี้ก็ได้ มันพูดเป็นวิทยาศาสตร์หรือค่อนเข้าเป็นปรัชญาเป็นอะไรมากไปก็ได้เหมือนกัน ครั้งโบราณครั้งพุทธกาลจะไม่อธิบายในรูปอย่างนี้ แต่เพราะเหตุที่คนเรามันไม่เหมือนกัน คนยุคปัจจุบันกับยุคพุทธกาล สิ่งแวดล้อมไกลกันลิบ สิ่งแวดล้อมในยุคพุทธกาลทำให้คนเบื่อสิ่งเย้ายวนได้ไม่ยาก ได้ง่าย เพราะมันมีสิ่งเย้ายวนที่ไม่ประณีตซับซ้อนเหมือนสมัยนี้ แปลว่าเบื่อสิ่งแวดล้อมที่มาเย้ายวนได้ง่ายกว่าสมัยนี้ ส่วนสมัยนี้นั้นมันมีศิลปะแห่งการเย้ายวนนี่สร้างขึ้นมาในโลกมากมายเหลือเกิน พูดกันก็ตั้งหลายร้อยเท่าหลายพันเท่า ที่มันยั่วยวนสมัยนี้ ฉะนั้นคนจึงหลงได้ จึงเข้าโลงไม่เคยเบื่อ และถ้าคนมีปัญญามันก็อาจจะตีกลับได้เร็ว เบื่อได้เร็ว เบื่อได้ลึกซึ้งได้เหมือนกัน แต่ตามปรกติแล้วมันยากที่จะเบื่อ
เพราะฉะนั้นคนสมัยนี้มันจึงยาก ที่ว่าพอหงอกเกิดขึ้นเส้นแรกในศีรษะแล้วก็จะมอบสมบัติพัสถานให้ลูกให้หลานออกไปเป็นฤๅษีอยู่ในป่านี่มันยาก เพราะมันมีอะไรที่ช่วยให้คนแก่หลงใหลได้ไม่มีที่สิ้นสุดจนเข้าโลงไปได้เหมือนกัน มันมีเครื่องแก้ไข ประคบประหงม บำรุงบำเรอมากมาย นี่ก็เรียกได้ว่าความสมดุลเท็จ ความเหมาะสมหรือความสมดุลเท็จที่มาหล่อเลี้ยงคนไว้จนแก่จนเฒ่า จนเข้าโลง ไม่เคยรู้จักไอ้ความสมดุลจริง คือ หยุด หรือ สงบ หรือ ว่าง ทีนี้พวกเราจะเป็นอย่างไรก็ลองไปคิดดู เราก็หนุ่ม ๆ กันอยู่เยอะนะที่นั่งอยู่ที่นี่ จะรู้จักสิ่งเหล่านี้ในลักษณะอย่างใดหรือว่าจะเข้าใจมันได้โดยทั่วถึงโดยเร็วอย่างไร อย่าให้มันหลอกเอานานนัก นี่ผมจึงเอามาพูดด้วยวิธีพูดหรือด้วยเรื่องที่มันเป็นเรื่องสำหรับคนสมัยนี้พูด โดยที่พยายามสอดส่องสังเกตว่าวิธีพูดชนิดไหนจะช่วยให้เข้าใจได้แล้วก็เอามาพูด หรืออุทาหรณ์ หรืออุปมา หรือข้อเปรียบเทียบชนิดไหนที่จะช่วยให้เข้าใจได้ แล้วใช้อุปมานั้น อุทาหรณ์นั้น เพื่อให้เข้าใจได้
นี่เรากำลังพูดถึงความสมดุล ๒ ชนิด (๑) สมดุลจริง กับ (๒) สมดุลเท็จ เพราะสมดุลจริงนั้นมันอยู่ลึกเข้าไม่ถึง ส่วนสมดุลเท็จนั้น กิน หรือ ดื่ม หรือ ชิม หรืออะไรอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นบรรพชิตก็หลีกไม่พ้น มันมีขมมาสลับหวานเพราะฉะนั้นมันจึงไม่รู้จักเบื่อ มันมีอนิฏฐารมณ์มาสลับกับอิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นคนเราไม่รู้สึกเบื่อ ไม่รู้จักเบื่อ ยากที่จะรู้จักเบื่อ นี่ไปคิดดูเอาเอง อย่าต้องให้พูดมากนักในตัวอย่างง่าย ๆ อย่างนี้ ถ้าเรากินแต่น้ำตาลเรื่อยเราก็กินไม่ได้ เราต้องหยุด ให้มันเปรี้ยว ให้มันขม ให้มันอะไรแทรกแซงสลับกันอยู่เรื่อย เดี๋ยวเรากินน้ำตาล, เดี๋ยวก็กินน้ำเฉย ๆ น้ำจืด, เดี๋ยวเรากินของเปรี้ยว, เดี๋ยวเรากินของเค็ม, เดี๋ยวเรากินน้ำจืด นี่เพื่อมันจะได้มีรสที่หลอกลวงอยู่ได้เรื่อยไปเรียกว่ารสของความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงแล้วไอ้คนเราก็จะไม่ถูกหลอกมากอย่างนี้แล้วจะเบื่อเร็วกว่านี้ แต่นี่มีรสของความเปลี่ยนแปลงเหมาะสมไปเรื่อย เป็นเด็กก็ถูกหลอกอย่างนี้, เป็นหนุ่มสาวก็ถูกหลอกอย่างนี้, เป็นคนอายุแล้วมีอายุแล้วก็ถูกหลอกอย่างนี้, เป็นคนแก่คนเฒ่าก็ถูกหลอกอย่างนั้นเรื่อยไป มันมีเรื่องเหมาะสมที่จะหลอก ให้ถูกหลอกจนไม่มีเวลาสร่างซา ถ้าเรียกโดยภาษาธรรมะก็เรียกว่า ประมาทอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ประมาทอยู่ตลอดเวลา ไม่ลืมหูลืมตา ไม่ได้ต่อสู้เป็นแต่หลงใหลไปเรื่อยอย่างหลับหูหลับตา ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเกิดมาทำไมก็ไม่รู้
ไอ้หัวข้อที่ว่า เกิดมาทำไม? นี่ละสำคัญมาก เพราะถ้ารู้สิ่งนี้สิ่งเดียวแล้วสิ่งต่าง ๆ จะเป็นไปในทางถูกต้องหมดและได้ง่ายเข้า เดี๋ยวนี้มันยากลำบากตรงที่เราเกิดมาทำไมเราไม่รู้ เด็ก ๆ ก็ไม่ได้รับการสั่งสอนให้รู้และเข้าใจว่า เกิดมาทำไม? แม้ในรูปของขนบธรรมเนียม, ประเพณีหรือวัฒนธรรมที่จะพูดให้เด็กฟังไว้ก่อนว่า เกิดมาทำไม? นี้ก็ไม่มี มันเหลือวิสัยที่เด็ก ๆ จะรู้ได้เองว่า มนุษย์เกิดมาทำไม? แต่ถ้ามีการพูด, การสอน, การอบรม เป็นวัฒนธรรมเป็นประเพณีประจำชาติอยู่เสมอ ให้เด็ก ๆ มีหลักที่จะยึดถือว่า เกิดมาทำไม? แล้วก็ติดตามเรื่อยไปหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยไปก็ได้มันก็ยังดีกว่า ทีนี้เมื่อปล่อยเขาไปตามเรื่อง เขาก็มีแต่ถูกหลอกด้วยเรื่องสมดุลเท็จนี้อยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ของเราถูกหลอกด้วยเรื่องเอร็ดอร่อย ทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายตลอดเวลา ยิ่งเรียนมากยิ่งถูกหลอกลึก พูดแล้วมันก็ไม่น่าเชื่อและไม่มีใครเชื่อว่ายิ่งเรียนมากอย่างสมัยนี้ยิ่งถูกหลอกลึก ลึกเข้าไปอีก เรียนมาสำหรับหลอกตัวเองให้ลึกยิ่งขึ้นไปอีก มันไม่มีของแก้กันที่จะให้รู้สึกนึกได้ เพราะว่าเขาให้เรียนแต่เรื่องได้มาซึ่งสิ่งที่กิเลสต้องการนะ กิเลสส่วนตัวหรือกิเลสส่วนรวมก็ตามใจ เขาเรียน เขาสอน เขาอะไรกันแต่ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่กิเลสต้องการ ไม่รู้เรื่องที่จะข่มขี่กิเลสหรือทำลายกิเลส มันก็เป็นอันว่าเจริญงอกงามก้าวหน้าไปอย่างหลอกลวงอย่างเท็จ ก็ไปเล่าเรียนมาเพื่อให้มันเกิดก้าวหน้าในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ จนกระทั่งไปโลกพระจันทร์ได้ ก็คือ การค้นพบความถูกต้อง, ความเหมาะสมหรือความสมดุลของเรื่องเท็จ สำหรับให้เกิดสิ่งใหม่สิ่งหนึ่งขึ้นมาเรื่อย ๆๆ จนเรามีรถไฟ มีเรือบิน มียานอวกาศไปพระจันทร์ได้ และเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี ไม่ได้คิดว่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้ยุ่งมากขึ้นเกินกว่าที่จำเป็น
นี่ฝรั่งคนนี้เมื่อเช้าและเมื่อวานเราก็คุยกันเรื่องนี้ เขาพูดทำนองจะสอบไล่ผม หรือว่าจะซักฟอกผม หรือจะหยั่งผม อะไรเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์สมัยนี้ เรื่องคุมกำเนิด เรื่องเปลี่ยนหัวใจ เรื่องไปโลกพระจันทร์ ผมบอกว่าเรื่องบ้าทั้งนั้นเรื่องที่มนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องทำ เรื่องที่พระเจ้าไม่ต้องการให้ทำ แล้วอธิบายให้เข้าใจว่าผมมีความเห็นอย่างไรแล้วมนุษย์ยังจะทำเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทำ หรือพระเจ้าไม่ต้องการจะให้ทำอีกมาก ต่อไปข้างหน้าในอนาคตแล้วโลกมันก็ยุ่งมากขึ้นตามส่วน เขาสามารถค้นพบวิชาความรู้หรือความสมดุลเท็จนี้เรื่อยไปจนไม่รู้ว่าจะทำอะไร มันทำไปได้หมดทุกอย่าง ไปโลกพระจันทร์ได้ก็ไปดาวอื่น ๆ ได้ หรือก็ไปขย้ำพระอาทิตย์เล่นก็จะทำได้ในที่สุดแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากยุ่งเปล่า ๆ นี่เราต้องการว่าเราเจริญ เรากำลังก้าวหน้า เรากำลังได้อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเรามันขยายไอ้ความต้องการออกไปอย่างคนที่โง่ที่สุด สมัยนี้ก็จะพูดว่าถ้าเราไม่มีรถไฟ เราไม่มีเรือบินแล้วเราจะแย่ เราจะตาย เราจะฉิบหาย ผมว่ามันบ้าที่สุด-มันโง่ที่สุด ถ้าไม่มีเรื่องอย่างนี้เราจะสบายกว่า เราไม่ต้องทำอะไรให้มันมาก เดี๋ยวนี้ต้องบินไปเมืองนอกเรื่อยไม่มีหยุด เพราะมันไปทำเรื่องขึ้นไปทำเรื่องที่มันเกินขอบเขตออกไปจึงเกิดความหวาดกลัว เกิดความรู้สึกได้เสียอะไรเรื่อยขยายวงกว้างออกไปจนต้องสัมพันธ์กัน ไม่ไปประชุมเมืองนอกไม่ได้นี่มันก็จริงของเขา เพราะเขาไปทำเรื่องให้มันมีขึ้นล้วนแต่เรื่องที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทำและมาทำพร้อม ๆ กันทั้งโลก มันก็ไม่มีใครทนอยู่ได้ เพราะมันมีความกลัวก็เลยต้องไป ลำบากอย่างไรก็ต้องไป จะต้องสร้างเรือบินอีกมากมายสำหรับให้มนุษย์พอใช้ แล้วมันก็ยิ่งยุ่งกันใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องเหล่านี้เกินจำเป็นพระเจ้าไม่ต้องการให้ทำ ไปทำเรื่องเหล่านี้ ไปหลงทำเรื่องเหล่านี้ก็เรียกว่าเป็นบาป บาปโดยไม่รู้สึกตัวก็คือทนทุกข์โดยไม่รู้สึกตัว
ทีนี้ถ้าเราจัดไปในรูปที่ไม่ต้องไปไหนได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี และก็อย่าต้องการอะไรที่เกินจำเป็น, ที่ไม่จำเป็นให้มากยิ่งขึ้น แต่มันเป็นเรื่องพูดบ้า ๆ ไปคนเดียว ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครเห็นด้วย แต่ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ มันก็ตอบได้โดยหลักที่ว่า ไม่มีใครชอบความสมดุลที่แท้จริงคือความสมดุลสำหรับหยุด, สำหรับสงบ, สำหรับไม่เกิด นะไม่มีใครชอบ ทุกคนเขาชอบไอ้ความสมดุลเท็จ คือให้มันเกิดอะไรขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็ยั่วเย้ายั่วยวนหลอกลวงไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด เดี๋ยวนี้ดูสิมนุษย์จะต้องทำอะไรบ้าง จะต้องบินไปนั่นไปนี่ ว่อนไปหมดไม่มีหยุด จะต้องส่งวิทยุไปถึงนั่นถึงนี่เต็มไปในบรรยากาศไม่มีหยุด ซึ่งก่อนนี้ไม่เคยมี มันเงียบสงบ แล้วก็ถามดูข้อเดียวว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไรบ้าง? มันร้อนระอุ ร้อนระอุมากขึ้นไม่เหมือนกับสมัยโน้นที่มันเย็น มันเยือกเย็น ก็แปลว่าสิ่งไม่สมดุล ไอ้ความสมดุลเท็จ ๆ นี้มันก็คือต้นเหตุของความทุกข์, ความเร่าร้อน แล้วต้องเป็นอย่างนี้ไปยิ่งขึ้นทุกที นี่คือตัวโลกเรื่องโลก ความหมายของโลกที่เรียกว่าโลก มันจะต้องหมุนไปในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ประชาธิปไตยคุณสมัครจะเอายังไงก็ได้ ผมก็ไม่ว่า ใครก็ไม่ว่า เอายังไงก็ได้ ทุกคนมันตกเป็นทาสของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสียแล้วมันก็สมัครเอาเรื่องที่ยุ่งทั้งนั้นละ เอาเรื่องวุ่นทั้งนั้นละ ไม่มีใครสมัครเอาเรื่องสงบ พูดกันก็ไม่รู้เรื่อง ในที่สุดมันก็ต้องรวมหัว รวมกลุ่ม รวมสมัครพรรคพวกกันทำให้มันวุ่นมากที่สุดเท่าที่มันจะวุ่นได้ ไม่มีใครต้องการความสงบ นี่เรียกว่าส่วนใหญ่นะไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย มันก็จะต้องมีบ้างละคนที่บ้าอย่างพวกเรา พระบ้าไม่เอาอะไร หรือว่าบ้าอยากที่จะตายเสียก่อนตาย อย่างนี้มันก็ต้องมีบ้าง มาอยู่ตามป่าตามเขาไปตามเรื่อง แต่มันเป็นส่วนน้อย แต่ถ้าเกิดมิคสัญญีขึ้นจริงไอ้พวกนี้จะเหลือชีวิตรอดอยู่ ตามนิยายสมมติเรื่องมิคสัญญี สมัยหนึ่งมนุษย์ในโลกเลือดเข้าตา ฆ่าฟันกันอย่าง อย่างฆ่าเนื้อ ฆ่าปลา แล้วมันก็ตายไปมากมายจนเหลืออยู่ไม่กี่คนออกมาจากป่าเพราะมันอยู่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ออกมาจากป่า มาเห็นแล้วสังเวชก็ตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นมนุษย์ที่มีความรู้สึกไปในทางสงบกันใหม่ นอกนั้นส่วนใหญ่ก็ตายไป นี่เป็นเรื่องเขาถือว่าเป็นนิยายหรือนิทานเสียแล้ว แต่ความจริงมันก็จะกลายเป็นความจริงอย่างยิ่งไปก็ได้โดยถ้ามันเลือดเข้าตาถึงขนาดที่เรียกว่าทำลายกันด้วยอาวุธอย่างวิเศษอาวุธปรมาณู ไฮโดรเจนอะไรก็ตาม มันก็ตายวินาศมากเหลืออยู่ไม่กี่คนได้เหมือนกัน แล้วก็ตั้งต้นกันใหม่ในทางที่จะไม่วุ่นกันมากอย่างนี้ จะไม่วิ่งวุ่นไกลออกไป ไกลออกไปอย่างนี้ คือว่าจะหมุนไปหาไอ้ความสมดุลที่แท้จริงของธรรมชาติ
เราอยู่ในป่ากับธรรมชาติ มันใกล้ชิดความสมดุลที่แท้จริงตามธรรมชาติมากกว่าที่จะอยู่ในเมือง เพราะฉะนั้นอยู่กันอย่างหมู่บ้านนี่เป็นสุขกว่าการอยู่กันอย่างเมืองหรือนคร มหาตมะคานธีเขามีความคิดอย่างนี้ เขาเสนอความคิดเห็นอันนี้ก็ไม่มีใครเชื่อมหาตมะคานธี แต่ผมคนหนึ่งเห็นด้วย เห็นด้วยจากความรู้สึกในใจ อยู่กันอย่างหมู่บ้านนี่คล้าย ๆ กับอยู่กันในป่า หมู่บ้านเล็ก ๆ อย่างนี้มันมีเรื่องน้อย มันมีเรื่องให้เกิดกิเลสน้อย ทั้งอิจฉาริษยาน้อย ทั้งความต้องการน้อย เรื่องอะไรก็น้อย แล้วยิ่งเป็นผู้มีจิตใจสูงถึงขนาดที่เรียกว่าสมัครตายเสียก่อนตายแล้วยิ่งไม่มีปัญหาอะไร พอไปอยู่กันเป็นนครเป็นนครใหญ่มันมีปัญหาขึ้นมาทันทีทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องกิน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องอะไรเป็นปัญหาหมด เรื่องอิจฉาริษยา เรื่องแข่งขัน เรื่องแย่งชิง เรื่องไม่พอ เรื่องอะไรต่าง ๆ นี้มันมีมากขึ้นท่วมหัวท่วมตา สิ่งเย้ายวนให้เกิดกิเลสนั้นไม่ต้องพูดถึงนั่นละคืออยู่ในนคร อยู่กันเป็นนครกับอยู่กันเป็นชาวป่าหรือหมู่บ้านเล็ก ๆ มันเป็นอย่างนี้มันมีอยู่อย่างนี้ มันเดินกันคนละทาง อันหนึ่งมันใกล้ชิดธรรมชาติตามธรรมชาติ ความสมดุลตามธรรมชาติ ซึ่งไม่หลอกลวงมาก อันหนึ่งมันหมุนจี๋ไปในทางไอ้สมดุลเท็จ มีอะไรงอกงามออกมาโดยเร็วสำหรับให้ลุ่มหลงมากขึ้นจนไม่รู้สึกตัว จนลืมตัว
นี่เราก็ศึกษาได้จากการที่เราอยู่ที่นี่ กับการที่เราจะไปอยู่ที่อื่นหรือไปอยู่ที่อื่นมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นมีคนชวนไปเที่ยวเมืองนอก ผมไม่รู้สึกอยากเลย ทั้งที่เขาจะออกค่าใช้จ่ายให้อะไรให้ ไม่รู้สึกอยากและก็ไม่อยากเลยในที่สุด คือไม่อยากเข้าไปในกลุ่มที่มันยุ่ง อยากอยู่ในกลุ่มที่มันไม่ยุ่ง อยู่ตามธรรมชาติที่มันไม่ยุ่ง เพราะว่าไม่เป็นกลุ่มอะไร เหมือนกับเราอยู่ที่นี่มันอยู่ด้วยความไม่ยุ่ง เรามีเวลาอยู่กับความสมดุลเดิมแท้ของธรรมชาติอันแท้จริงนี่มากขึ้น-มากกว่า เพราะฉะนั้นพอคิดว่าไปเมืองนอกนี่มันเหมือนจะไปตกนรก ความรู้สึกมันรู้สึกอย่างนั้น เพราะมันคาดล่วงหน้าได้ว่ามันจะไปเห็นอะไร จะไปพบอะไร จะไปนั่นกับอะไร ถึงผมไม่เคยไปผมก็หยั่งรู้ได้ด้วยการอ่าน การอะไรมานมนานแล้วว่าเมืองนอกมันมีอะไร? เขาว่าคนกลุ่มหนึ่งอยากศึกษาพระพุทธศาสนา คนกลุ่มนั้นยังไม่มีจิตใจเหมาะสมที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาที่แท้จริงสำหรับศึกษาพระพุทธศาสนาแบบเปลือก ๆ เลยก็ได้ แล้วมันกำลังหลงอยู่ในความวุ่น มัวเมาอยู่ในความวุ่น วุ่นวายนี่เป็นความรู้สึกส่วนตัว มันไม่เกี่ยวกับผิดหรือถูก มันเป็นความรู้สึกส่วนตัวเฉพาะตัว มันรู้สึกอย่างนี้ ไม่ต้องวินิจฉัยว่ามันผิดหรือถูก กระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากจะไปไหน ไม่อยากจะทำอะไร ดูจะเป็นความเห็นแก่ตัวก็ได้ มันอยากจะอยู่นิ่ง ๆ นี่ว่าง ๆ นิ่ง ๆ นี่ มากขึ้น แต่ขอให้มองดูเถิด ผมอยู่ที่นี่ไม่ใช่ไร้สาระ ไร้ประโยชน์เลยเสียทีเดียว ผมยังคิด ยังนึก ยังพูดให้คุณฟังก็ได้ และคำพูดเหล่านี้ยังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ต่อ ๆไปได้ และที่มันสำคัญอย่างยิ่งหรือสำคัญที่สุดก็คือว่า ถ้าเราไม่อยู่กันอย่างนี้ ; ความคิดมันไม่เกิดอย่างนี้, ถ้าผมไม่ได้อยู่อย่างนี้ ; ความรู้สึกคิดนึกมันก็ไม่เกิดอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้เป็นแน่นอน ฉะนั้นก็ขอบใจมันธรรมชาติที่นี่ ที่มันช่วยให้อยู่ได้อย่างนี้ มีความคิดอย่างนี้ พูดจากันอย่างนี้ มองโลกกันในลักษณะอย่างนี้
เอ้า, ผิดหรือถูกไม่พูด แต่พอใจที่ว่ามันไม่ยุ่งมาก มันมีความสะดวกสบายพอสมควร ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรเลย เราไม่แส่เข้าไปหาไอ้เรื่องยุ่งหรือไปหาไอ้ต้นเหตุแห่งโรคภัยไข้เจ็บ ไปอยู่ในนครหลวงนั่นละแส่เข้าไปหาต้นเหตุแห่งโรคภัยไข้เจ็บ อยู่กับธรรมชาติอย่างนี้มันยังมีเรื่องต้องมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย คิดดูสิ แล้วก็ไม่มีเรื่องที่จะทำให้ต้องยุ่งยากลำบากด้วยการเป็นอยู่ ด้วยการกิน ด้วยการอะไรต่าง ๆ นานาสารพัด เพราะฉะนั้นผมอยากจะขอให้คุณหลับตาทำจิตใจให้ปรกติ ให้กลมกลืนกับธรรมชาติที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติในวัดเรานี้ เรียกว่าเข้าไปในตัวธรรมชาติ ซึมซาบเข้าไปในตัวธรรมชาตินั้นให้มาก, ให้มาก, ให้มากยิ่งขึ้นทุกวัน มันจะช่วยเรา คือ ทำให้มีจิตใจชนิดที่มันจะหยุด จะสงบ จะว่าง จะสมดุลแท้จริงตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น
อยากจะพูดถึงพวก ZEN นิดหน่อย เมื่อถามว่า ZEN คืออะไร? คืออย่างไร? และปฏิบัติอย่างไร? มีคนตอบอย่างนั้นอย่างนี้อย่างนู้นอย่างโน้นไปตามความเข้าใจของตัวซึ่งเป็นคำตอบที่ผิดหรือที่โง่กัน พวก ZEN เขาประณามอย่างนั้น แล้วเขาก็ตอบว่าไอ้ ZEN ที่แท้จริงนั้นคือการทำตัวให้เป็นธรรมชาติไปเสียนั่นละคือ ZEN พูดอย่างอื่นผิดทั้งนั้นคือไม่ถูกเต็ม ไม่ถูกจริง การทำตัวให้กลายเป็นธรรมชาติไปเสียหรือการผสมตัวเองเข้ากับธรรมชาติไปเลยนั่นละคือ ZEN และถามปฏิบัติอย่างไร? ไม่รู้ ๆไม่ตอบก็คือตอบผิด ก็เลยหุบปากไปหมด ผมตอบได้ ถ้าพวก ZEN เขาไม่ตอบ คือฝังตัวหรือทำตัวให้มันเป็นธรรมะไปเสียเป็นพระธรรมไปเสีย พระธรรมคือธรรมชาติในที่นี้เป็นธรรมชาติ หรือเป็นพระธรรมในที่นี้คือความสมดุลแท้จริงตามกฎของธรรมชาติที่จะทำให้ไม่เกิดอะไรขึ้นมา สมดุลแท้ชนิดที่ไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นมานั่นละคือธรรมชาติที่แท้จริง ไม่ใช่ธรรมชาติฝ่ายหลอกลวงหรือปรุงแต่ง
ทีนี้ ZEN หรือการปฏิบัติ ZEN คือการทำตัวให้เป็นธรรมชาติไปเสีย ไม่ต้องมีทำอะไรมากไปกว่านั้น ฉะนั้นก็อยู่ที่ว่าไม่ให้อะไรมาปรุงแต่งเกิดขึ้น ไม่ให้อะไรมาห่อหุ้มเกาะเกี่ยวเกิดขึ้นใหม่ ปล่อยไปตามธรรมชาติเดิม ให้มันมีโอกาสที่จะเป็นอยู่ตามธรรมชาติเดิม จะพูดว่าง่ายมันก็ได้ จะพูดว่ายากมันก็ได้ ถูกทั้งนั้นละ มันเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา ถ้าจับเงื่อนของมันถูก มันก็ง่ายแสนจะง่าย ถ้ามันจับปมของมันไม่ถูกมันก็ยากเหมือนเส้นผมสามารถจะบังภูเขา นี้จึงเอาเรื่องนี้มาพูดว่ามีความสำคัญมากสมดุลอยู่ตามธรรมชาติอันแท้จริงไม่เกิดอะไรขึ้นมา ก็คือไม่มีความคิดปรุงแต่งเป็น ตัวกู-ของกู นั่น ๆ นี่ ๆ ขึ้นมา จงพยายามให้จิตมัน เอ่อ...อะไรล่ะ มันดื่มลงไปในนั้น มันกลายเป็นสิ่งนั้น เป็นความไม่เกิด ตัวกู-ของกู ขึ้นมา เกิด ตัวกู-ของกู ขึ้นมาก็คือมาหลงไอ้สมดุลเก๊ สมดุลเท็จ สมดุลเทียม มีนั่น - มีนี่เข้ามาจับจิตจับใจ ลุ่มหลงไปนี่เรียกว่าไม่ใช่ธรรมชาติแท้ ไม่ใช่ธรรมชาติเดิมแท้
ธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ๆ และหลอกลวง ที่แท้ก็ไม่ควรเรียกว่าธรรมชาติ แต่หลักธรรมะมันก็ยังคงเรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติปรุงแต่งตรงกันข้ามกับธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง ธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่ง มันจบ สงบ ว่าง หยุด เย็น เขาก็มีธรรมชาติที่ปรุงแต่งก็ไปกันเรื่อยตามหลักของปฏิจจสมุปบาท เป็นวงกลม มีความทุกข์เพราะความโง่เป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมานี้โง่โดยไม่รู้สึกตัว นี่เขาเรียกว่าอวิชชา มีความรู้ผิดหรือว่ารู้ถูกแต่มาช่วยไม่ทัน พออารมณ์กระทบอายตนะมันก็กลายเป็นความโง่ เกิด ตัวกู-ของกู เมื่อไรก็ไม่รู้ ก็เป็นทุกข์อยู่อย่างยิ่งแล้วก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องเกิด ตัวกู หรือไม่เกิด ตัวกู เรื่องนี้เรื่องเดียว นิพพานนั้นคือไม่เกิด ตัวกู เด็ดขาดลงไปนิพพานจริง นิพพานชั่วคราวมันก็เกิด ๆ ดับ ๆ บ้าง แต่ว่ายังดีกว่าที่ไม่รู้จักดับเสียเลย เพราะฉะนั้นเราพยายามอะไรปรับปรุง ๆๆ นี่ขยับขยาย หรือว่าปรับปรุงแล้วแต่จะเรียก ไอ้ตัวสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่ให้ดี ๆ ปรับปรุงไอ้ตัวชีวิตนี้ให้ดี ๆ ให้มันอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ที่มันถูกต้อง ถ้าไม่รู้จะพูดอย่างไรก็พูดไปตามหลักอัฏฐังคิกมรรค (๑) ความเข้าใจถูกต้อง (๒) ความปรารถนาถูกต้อง (๓) พูดจาถูกต้อง (๔) การงานถูกต้อง (๕) เลี้ยงชีวิตถูกต้อง (๖) พากเพียรถูกต้อง (๗) สติถูกต้อง (๘) สมาธิถูกต้อง นี่คือความถูกต้อง เครื่องมือที่ทำให้ หยุด สงบ ว่าง เป็นความสมดุลแท้จริงตามธรรมชาติไม่มีอะไรกระดุกกระดิกงอกงามขึ้นมาในลักษณะที่จะเป็นความทุกข์
“ถ้าเป็นอยู่โดยชอบไซร้โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์” พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ เป็นอยู่โดยชอบ นึกดูนี้ ถูกต้อง ๘ ประการนี้อยู่ในภาวะที่สมดุลตามธรรมชาติเดิมแท้ ไม่เกิดอะไรขึ้นมาใหม่ ไม่ปรุงแต่งเป็นความคิดประเภทอุปาทานยึดมั่น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา และผมก็รู้สึกเหนื่อยกับคนทุกวันนี้ ก็อยากจะสรุปว่าขอให้ย้อนไปนึกไปคิดถึงไอ้เรื่องที่เคยพูดมาแล้วหลายครั้งหรือหลายสิบครั้งว่าผมก็ได้พูดแต่เรื่องนี้อย่างไร? พูดแต่เรื่องนี้เรื่องเดียวอย่างไร? หรือพูดคราวอื่นมันใช้คำอย่างอื่นแต่ว่าเรื่องก็เรื่องนี้ เรื่องก็เรื่องเดียวกันนี้ เรื่องวุ่น–เรื่องว่าง, เรื่อง ตัวกู-ของกู นี่ละมันเรื่องเดียวนี้ละแต่ใช้คำพูดอย่างอื่นก็ฟังดูคล้าย ๆ กับว่าแปลกออกไป เพราะฉะนั้นมันเป็นเครื่องทดสอบได้อยู่ในตัวว่าฟังเข้าใจหรือไม่เข้าใจ?
ถ้าฟังเข้าใจจะเห็นชัด อ้าว, มันเรื่องเดียวกัน แต่พูดโดยใช้วิธีพูดอย่างนี้ด้วยวิธีพูดอย่างนั้น หรือแง่นั้นแง่นี้มุมนั้นมุมนี้เพื่อแวดล้อมเข้าไปถึงใจความสำคัญ หรือจุดศูนย์กลางอันเดียวกันแท้ จุดศูนย์กลางคือความว่าง พูดเข้าไปหาความว่าง เอาวุ่นออกเสีย เอาดำกับขาวนั้นนะออกเสียก็ไม่มีอะไร พูดอย่างวิทยาศาสตร์ทางสีสักนิดหนึ่งก็ได้ ดำก็คือไม่มีสี ไอ้ขาวนั่นคือทุกสีรวมกัน ไอ้ที่เรียกว่าสีขาวนั้นเป็นที่รวมของสีทุกสี ถ้าเอาไอ้สีขาวนั้นมาแยกตามหลักของสเปกตรัมมันจะออกมาทุกสีจากสีขาว หรือถ้าเอาทุกสีมาทำให้สัมพันธ์กันอย่างเร็วมันจะเห็นเป็นสีขาว เพราะ(ฉะ)นั้นสีขาวคือทุกสี สีดำคือไม่มีสี นี่ลักษณะ positive - negative นี้คือมันมีไอ้ของที่ตรงกันข้าม วุ่น เมื่อมันเกิดสัมพันธ์กันแล้วก็วุ่น เป็นความไม่สมดุลตามธรรมชาติเดิมแท้ แต่เป็นความสมดุลสำหรับจะเกิดอะไรใหม่ ๆ เรียกว่า ดำ-ขาว วงนี้เอียง ๆ นี่สำหรับหมุนไป เปลี่ยนไป ตามไอ้ที่มันปรุงแต่งกันอย่างไร ทุกอย่างหมดเลยในโลก เป็นดี เป็นชั่ว เป็นบุญ เป็นบาป เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นได้ เป็นเสีย เป็นทุกอย่างที่มันจะพูดเป็นคู่ ๆ นั่นละคือวุ่น นี้ทำลาย ๆ อันนี้เสีย คือควักดำและขาวออกไปทิ้งเสียมันก็เหลือแต่ว่าง ซึ่งไม่มีขนาด ไม่มีขอบเขต ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสี และก็ยิ่งกว่าไม่มีสีอีก มันเหนือความไม่มีสีและเหนือความมีสี ตามภาษาโลก, ตามภาษาโลกถือว่าถ้าดำนั้นคือไม่มีสี (ว่างจากสี) เดี๋ยวนี้มันยิ่งกว่านั้นไปอีก คือว่าเหนือความมีสีและไม่มีสีไปเสียอีก แต่เราก็ต้องพูดว่าไม่มีสี ไม่มีสีสัน ไม่มีขนาด ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอะไรทุกอย่าง นี่คือวงฝ่ายโน้น วงความว่าง หรือ นิพพาน หยุด ๆๆๆ ตลอดอนันตกาล มีลักษณะเป็นอนันตกาล หยุด หรือสงบ หรืออะไร เป็นอนันตกาล ไอ้เจ้านี่ก็ยุ่งหรือวุ่นหรืออะไรไปเป็นอนันตกาลด้วยเหมือนกัน
ทีนี้จิตของใครจะอยู่กับอันไหนมันก็แล้วแต่คนนั้นทำได้อย่างไร? มากน้อยอย่างไร? นี่เรื่องเกี่ยวกับสีที่มันลวงตา เป็นสีเกิดขึ้นใหม่ ๆ เรื่อย แสดงออกมาเรื่อ และก็หลงกันไปได้เรื่อย จนกว่าจะรู้เท่า รู้ทันแล้วก็ไม่หลง มีจิตใจชนิดที่ไม่มองเห็นว่าอะไรเป็นสีอะไร เห็นแต่ไอ้ของเหลว ๆ ว่ามายาเหมือนกันไปหมด นี่คล้ายกับคนบ้า ไม่เห็นเป็นสีแดง สีเขียว สีเหลืองเลย คือไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานว่าสีอะไร พอไปยึดมั่นเข้ามันก็เป็นสีนั้นสีนี้ มีความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา สีเขียวก็ชื่นใจ สีดำก็ไม่ชื่นใจ จนเกิดความโง่ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก ยึดมั่นในความหมายของสีซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ว่าอย่างนั้นมันช่วยได้ อย่างนี้มันช่วยไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องจริงเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับคนโง่ที่ยังยึดมั่นสี มันก็มีจริงสำหรับคนโง่ พอเห็นสีเขียวก็สบายตา พอเห็นสีอื่นเขาก็ไม่สบายตา แต่ว่าพระอรหันต์จะไม่เป็นอย่างนั้น คือไม่มีสีไปเสีย ตาบอดสีไปเสีย คือไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องปรุงแต่งอะไรทำนองนี้เหมือนคนตาบอดสี ไม่มีสีก็ได้เหมือนกัน ก็มีเรื่องยุ่งน้อย
พูดไปอีกกี่ร้อยครั้งมันก็พูดกันแต่เรื่องนี้ ปรุงแต่งขึ้นมามันก็วุ่น ไม่ปรุงแต่งมันก็ว่าง ต้องพยายามอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะที่ไม่ให้เกิดความปรุงแต่ง ก็เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้นั่งใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้ใกล้ต่อนิพพาน หรือว่าถึงนิพพานอยู่เป็นประจำ นี่เรื่องที่เราพูดกันในฐานะเป็นธรรมปาฏิโมกข์ไม่รู้จักสิ้นจักสุดจนกว่าจะไม่มีแรงพูด
เอาล่ะ, พอกันที