แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราประจำสัปดาห์เกี่ยวกับเรื่อง ตัวกู-ของกู ตามเคย เพราะ(ฉะ)นั้นต้องรู้จักทบทวนเอามาทำความเข้าใจให้มันติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ผมได้บอกแล้วว่ามันไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่อง ตัวกู-ของกู แต่มันมีหลายแง่หลายมุมฉะนั้นเราพูดกันได้ไม่รู้จักจบ แง่ใดแง่หนึ่งมุมใดมุมหนึ่งในวิธีที่จะให้รู้จักสิ่ง ๆ เดียวเท่านั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู ให้มองเห็นอย่างนี้ไว้เสมอว่าจะเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งสักสิ่งนั้นก็ต้องมองดูกันรอบ ๆ ด้านทุกแง่ทุกมุม แล้วมันยังไม่พอคือต้องมองดูซ้ำลงไปที่แง่หรือที่มุมที่เราเคยมองแล้วนั้นละอีกที่มันจะยิ่งเข้าใจลึกเข้าไปอีก ไม่ใช่ว่ามองกันทุกแง่ทุกมุมแล้วมันจะพอ มันต้องมองซ้ำแง่ใดแง่หนึ่งมุมใดมุมหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นการพูดของเราที่นี้มันมีลักษณะอย่างนี้ เพราะนั้นจึงพูดเรื่อง ตัวกู-ของกู ได้ไม่รู้จักจบแล้วก็เรียกว่า ธรรมปาฏิโมกข์ เรื่องที่เป็นประธาน (หรือประมุข) ของสิ่งที่เรียกว่าธรรม
สำหรับในวันนี้จะพูดเรื่อง “ความสมดุลคือความไม่เกิด” โดยหัวข้อว่า ความสมดุลคือความไม่เกิด สำหรับเรื่องความสมดุลนี้ก็เคยพูดกันมาบ้างแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าผู้ฟังยังเข้าใจไม่ทั่วถึงอยู่นั่นเอง ฉะนั้นจึงพยายามพูดในส่วนที่เห็นว่าอาจจะยังเข้าใจไม่ได้หรือเข้าใจไม่ถึง
หัวข้อใหญ่ ๆ ว่าไอ้ความสมดุลคือความไม่เกิดอะไรขึ้นมา ถ้ามันมีความไม่สมดุลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วมันก็ต้องเกิดมีอะไรขึ้นมา ทีนี้มันอาจจะไปปนกันหรือว่ามันไปพ้องกันแล้ว เข้าใจไม่ได้กับไอ้ที่เรามักจะคิดกันอยู่ว่ามันต้องพร้อม (พร้อมบริบูรณ์) แล้วจึงจะเกิดอะไรขึ้นมา หรือต้องเหมาะสมครบถ้วนทุกอย่างแล้วจึงจะเกิดอะไรขึ้นมา แล้วคุณก็จะคิดว่านั้นคือ ความสมดุล แต่ความสมดุลของผมไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นความสมดุลทางฝ่ายวิญญาณอีกตามเคย นั่นนะ, เราก็พูดกันเรื่องทางฝ่ายวิญญาณ ไอ้ทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายฟิสิกส์ หรือทางฝ่ายชีววิทยา (นาทีที่4:25) โดยเฉพาะเขาก็จะพูดว่าเหมาะสมที่สุดแล้วจึงจะเกิดขึ้นและอยู่ได้ ต้องมีอะไรครบถ้วน, ถูกต้อง, เหมาะสมที่สุดมันจึงจะมีอะไรเกิดขึ้นมา แล้วก็มีความเหมาะสมที่สุดนะมันจึงจะอยู่รอดไปได้ไม่เช่นนั้นมันก็จะตายเสียแล้วสูญหายไป ทางฝ่ายวัตถุก็พูดอย่างนั้นได้ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังเห็นว่าไอ้ความเหมาะสม, ครบถ้วน, ถูกต้องนั้นไม่ใช่ความสมดุลในที่นี้ คือมันมีความครบถ้วน, เหมาะสม, ถูกต้องของความไม่สมดุล คือของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ผิดจากธรรมชาติไปแล้วก็มามีความเหมาะสมถูกต้องในทางที่จะปรุงแต่ง คือครบถ้วน, เหมาะสม, ถูกต้องในทางที่จะปรุงแต่ง มันจึงปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ นี่ไม่ใช่ความสมดุล
ความสมดุลที่เราจะพูดถึงกันนั้น คือความที่มันถูกต้องไปตามธรรมชาติเดิมไม่กระดุกกระดิกอะไรขึ้นมาก็คือไม่ปรุงแต่ง ไม่เคลื่อนไหวขึ้นมา ให้รู้จักคำว่าความสมดุลหรือความไม่สมดุลก็ตาม มันมีอยู่ ๒ ชนิดอย่างนี้ ถ้าว่าที่แท้มันก็มีชนิดเดียว แต่คนมันเข้าใจไปอีกชนิดหนึ่งก็ได้ ความเหมาะสมนั่นเป็นความสมดุลไปถ้าเรื่องทางวัตถุมันก็เป็นอย่างนั้นได้ แต่ถ้าเรื่องทางที่เป็นนามธรรมลึกซึ้งแล้วก็ให้เข้าใจความสมดุลเป็นอย่างอื่น เพราะ(ฉะ)นั้นเราจะลองพูดในเรื่องความสมดุลนี้กันให้ครบถ้วน ทุกแง่ทุกมุม ทางฝ่ายธรรมะหรือทางฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุจึงมีหัวข้อว่า ความสมดุลคือความไม่เกิด พอไม่สมดุลเมื่อไรจะมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อนั้น นี่, ให้จำไว้เป็นหลักหัวข้อก่อนว่า ความสมดุลคือความไม่เกิด ความไม่เกิดก็หมายความว่าไม่มีอะไรเกิด-ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่ ฉะนั้นไอ้ความสมดุลก็คือปรกติภาวะของธรรมชาติอันลึกซึ้ง ธรรมชาติที่ลึกซึ้งที่เข้าใจได้ยาก ไอ้ธรรมชาติที่เราเห็น ๆ อยู่เป็นโลก เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นอะไรก็ตามที่เรียกว่าธรรมชาตินี้มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่ไม่สมดุล ธรรมชาติอันเร้นลับอันลึกซึ้งที่เป็นต้นเหตุของสิ่งเหล่านี้นั้นมันมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันจะต้องมีความสมดุล-ความถูกต้องอะไรของมันเหลือมาให้เห็นเสมอ นี้เราเอากันทางวัตถุก็เรียกว่าไอ้ความปกติภาวะทางวัตถุนี้ก็อย่างหนึ่ง ปกติภาวะทางจิตใจนี้ก็อีกอย่างหนึ่ง ปกติภาวะทางวิญญาณภาษาของเราที่นี่โดยเฉพาะนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นก็อย่าลืมเรื่องทางกาย, ทางจิต, ทางวิญญาณ ๓ หัวข้อนี้เสีย ไอ้เรื่องปกติ-ภาวะปกติ หรือที่ชาวบ้านจะเรียกว่าความสมดุลในทางธรรมชาตินั้นทางวัตถุนั้นมันก็มีเหลือให้เห็น เป็นความสมดุลฝ่ายที่จะเกิดขึ้น และความสมดุลหลอก ๆ ความสมดุลที่เป็นมายา สมดุลเหมาะสัดเหมาะส่วนที่จะเกิดขึ้นนั้นผมเรียกว่า ความไม่สมดุล ถ้ามีความสมดุลเป็นความไม่เกิดขึ้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คล้ายกับว่าจะเรียกว่านิพพานอยู่เรื่อยก็ได้
นี่เราเอาความสมดุลที่ชาวบ้านพูดเห็นง่าย ๆ ที่มันแสดงอาการให้เห็นแล้วคุณก็สังเกตดูเอา ไอ้วัตถุต่าง ๆ ที่มันเจริญงอกงามขึ้นมาที่เรียกว่าเหมาะสม เช่น เราดูที่ดอกบัวบานอยู่ในน้ำ ถ้ามันมีความปรกติ, ภาวะปรกติ หรือสมดุลตามฝ่ายที่มันเกิดจะเกิดนี่ เราจะเห็นว่ากลีบของมันได้สัดได้ส่วนเท่ากันออกมารอบตัวในชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นในอะไรก็ตาม เพราะ(ฉะ)นั้นดอกบัวมันมีลักษณะสวยงามถูกสัดส่วนอย่างนั้นไม่ต้องมีฝีไม้ลายมือของพระเป็นเจ้าก็ได้ มันเป็นฝีไม้ลายมือของไอ้ความสมดุลทางฝ่ายฟิสิกส์ (ทางฝ่ายวัตถุ) ทีนี้, ดอกกุหลาบ ดอกอื่นก็เหมือนกัน มันออกกลีบมาถูกต้องรอบด้าน พอลองความไม่สมดุลอะไรจะมาแทรกแซงมันเบี้ยว มันบูด หรืออะไรมันขาดไปแหว่งไป หรือฝ่ายหนึ่งบานฝ่ายหนึ่งไม่บานนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้ง่ายที่สุด ก็เรื่องความสมดุลทางฝ่ายวัตถุทางฝ่ายฟิสิกส์ดูที่ดอกบัวหรือดอกไม้ชนิดนั้น ทีนี้เราดูที่ต้นไม้ทั้งต้น ถ้ามีความสมดุลทางฝ่ายเกิดนี้ฝ่ายงอกงามนี้ ความสมดุลมายานี้ ซึ่งออกมาจากความสมดุลแท้จริงอันลึกซึ้งลึกลับ เราเห็นต้นไม้ต้นนั้นขึ้นตรงออกกิ่งรอบเท่ากันทั้งทุก ๆ ด้านด้วยอำนาจความดึงดูดของโลกรอบตัวเหมาะสม เท่ากัน หรืออะไรก็ตามแต่มันมีความสมดุล ต้นไม้นั้นจะเป็นพุ่มเท่ากัน ออกกิ่งรอบตัวออกรากรอบตัว ไอ้รากแก้วก็ดิ่งลงไปนี่ แต่ถ้าเผอิญมีความไม่สมดุลอะไรเข้ามาแทรกแซงมันจะเอนไปทางโน้นบ้าง, กิ่งฝ่ายนี้ไม่ออกบ้าง, กิ่งฝ่ายโน้นออกมากเกินไปบ้าง นี่คือความไม่สมดุลได้เกิดขึ้นแล้วที่ทรงพุ่มของต้นไม้นั้นนะ
นี่คน, สัตว์หรือคนก็ตาม ถ้าความสมดุลที่มันมีอยู่ตามเดิมมันก็มีร่างกายที่ได้สัดส่วนไม่ผิดปกติตามที่มันจะต้องเป็น พอความไม่สมดุลอะไรเกิดขึ้นร่างกายมันก็ผิดปกติ เว้าแหว่ง เอียง สั้นยาวไปตามเรื่อง นี่เรารู้จักไอ้ความสมดุลทางฝ่ายวัตถุทางฝ่ายฟิสิกส์ล้วน ๆ นั้นเป็นความสมดุลที่แสดงปรากฏการณ์ หรือปรากฏการณ์แห่งความสมดุลของฝ่ายที่มันเกิดมาจากความไม่สมดุลส่วนที่มันลึกซึ้งที่สุด อย่าลืมว่าถ้าสมดุลแล้วไม่มีอะไรเกิด ถ้ามีอะไรเกิดเพราะไม่สมดุล ทีนี้เกิดมาแล้วต้องอาศัยความสมดุลถึงจะมีรูปร่าง-ทรวดทรงปกติเพราะมันเป็นมายาหรือว่าอิทธิพลอันหนึ่งที่มาจากความสมดุลอยู่เรื่อย แต่มันต้องการจะเกิดต้องการจะดิ้นไป คือว่าจะไม่ยอมหยุดมันดันทุรังไป ก็ไปตามกฎของความสมดุล นี่ ดูดอกไม้ดอกหนึ่งก็ดีมีความสมดุลก็จะเป็นดอกไม้ที่น่าดู ไม่ต้องพระเจ้าวาดหรือปั้น อำนาจของความสมดุลของมัน ดูทรง...ทรวดทรงของต้นไม้ต้นหนึ่ง ดูทรวดทรงของสัตว์, ของคน มาตามไอ้ลักษณะอย่างนี้ พอผิดที่มันต้องการแล้วมันก็บูดเบี้ยวไปผิดปรกติไป นี่เป็นข้อแรกที่จะต้องสังเกตให้เห็น
ทีนี้ข้อที่สองไอ้ความสมดุลของจิตใจ ถ้ามันมีความสมดุลมันจะไม่เกิดความคิดอะไร ถ้ามันเกิดความคิดอะไรขึ้นมาก็ให้รู้เถิดว่ามันมีความไม่สมดุลอะไรเข้าไปแทรกแซง เอาตั้งแต่ง่าย ๆ ที่ว่าใจคอเราปกติไม่มี nervous อะไรที่จะต้องยุ่งยิ่งใจ ก็คือสมดุลของจิตใจตามธรรมชาติ พอมันมีอะไรมาทำให้ยุ่งใจมันก็สูญเสียความสมดุล ทีนี้โดยมากก็เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เข้าไปปรุง ทำลายสภาพเดิม ฉะนั้นแม้จิตที่ได้กล่าวในบาลีว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ (นาทีที่ 15.18) ก็คือจิตชนิดที่ยังสมดุลอยู่ตามธรรมชาติยังไม่มีอะไรจะกวนแต่ยังเป็นจิตชนิดที่อะไรยังกวนได้อยู่ จะกวนเมื่อไรก็ได้ แต่เมื่อยังไม่มีอะไรกวนมันก็มีความสมดุล เป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาติเราก็สบายดี เรายังสบายดีอยู่ ก็เรียกว่ายังไม่เกิดตัวกู จิตชนิดนั้นยังไม่ได้เกิดตัวกู แม้ตามภาษาที่ละเอียดออกไปก็จะเรียกว่า ภวังคจิต มีการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป, เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ล้วน ๆ ปราศจากอารมณ์ ปราศจากหน้าที่การงานนี้ อย่างอื่นก็เรียกว่ายังมีความเหมาะสมหรือสมดุลอยู่ตามธรรมชาติ ไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดเป็นบวก ไม่เกิดเป็นลบ ไม่เกิดเป็นอะไรขึ้นมาก็ยังสบายดีอยู่ นี่ความสมดุลทางจิต
ทีนี้อันที่สามที่เรียกว่าความสมดุลทางวิญญาณนี้ จะเข้าใจไม่ได้สำหรับคนที่ไม่เคยฟังมาก่อน หมายถึงทางสติปัญญา ทางความคิด ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ไอ้ทางจิตนี่หมายถึงจิตล้วน ๆ มีพฤติหรือไม่มีพฤติขึ้นมาเรียกจิตล้วน ๆ ไอ้ทางสติปัญญา ทางความคิด ความนึก คุณสมบัติของจิตนั้น มันอีกชิ้นหนึ่งต่างหาก อันนี้ถ้าสมดุลจะอยู่ในสภาพ สุญญตา คือว่างอยู่เสมอ พอไม่สมดุลเมื่อไร ตัวกู-ของกู เกิดนี่เรียกว่าทางฝ่ายวิญญาณ ถ้ามีความสมดุลมันเป็นศูนย์อยู่เสมอ
ฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าไอ้ที่สมดุล ๆ นี้มีหลายชั้น ทางฝ่ายวัตถุก็มี ฝ่ายจิตก็มี ฝ่ายวิญญาณนี่ก็มี จิตกับวิญญาณในที่นี้ไม่เหมือนกัน เรามีคำอธิบายความหมายเป็นพิเศษสำหรับพูดกันที่นี้ ทบทวนอีกทีหนึ่งว่าทางฝ่ายวัตถุ - ดูดอกไม้ ดูทรวดทรงของต้นไม้ ดูทรวดทรงของสัตว์ ของคน ถ้ามีความสมดุลเป็นไปตามปกติไม่บูดเบี้ยว ทีนี้ทางจิต จิตใจนี่ถ้ามีความสมดุลก็ใจคอปกติตามธรรมขาติ ตามธรรมชาติแท้ ๆ ไม่ต้องทำอะไร สบายอยู่ตามธรรมชาติ ทีนี้ทางวิญญาณ ถ้ามีความสมดุลก็ย่อมเป็นสุญญตา ปราศจากความหมายแห่งตัวกู แห่งของกู
ทีนี้ผมเรียกเป็นความสมดุลและก็แบ่งเป็น ๓ อย่าง แล้วหัวข้อที่พูดว่าถ้ามีความสมดุลแล้วจะไม่เกิดอะไรขึ้นมานี่คุณจะเห็นได้โดยผมไม่ต้องบอก ว่ามันหมายถึงไอ้ความสมดุลทางฝ่ายวิญญาณคือ สุญญตา นั่นเอง ถ้าความสมดุลทางฝ่ายวิญญาณมีอยู่ สติปัญญา ความคิด ความนึก ความรู้สึก ความเข้าใจ อะไรก็ตาม จะไม่ไปในทางมีตัวฉัน มีของฉัน นี่ภาวะนี้เป็นศูนย์หรือเป็นสุญญตา แล้วขอร้องให้เข้าใจคำว่าศูนย์ (หรือสูญไม่แน่ใจ) กันให้มาก ๆ ศูนย์ (สูญ) ไม่ใช่สูญหาย ไม่ใช่เสียเปล่า ศูนย์(สูญ)นี้คือบอกไม่ถูก จะเรียกว่า ว่าง ก็ได้ จะเรียกว่า ปรกติ ก็ได้ จะเรียกว่า ไม่มีอะไร ก็ได้
คิดถึงตัวเลขกันบ้างก็ได้ เลข ๑ เลข ๒ เลข ๓ เลข ๔ จนถึงเลข ๙ แล้วก็มี ๐ ไอ้ภาษาเด็ก ๆ โง่ ๆ มันก็ต้องว่าศูนย์นี่ไม่มีค่า ศูนย์ไม่มีค่า ค่าคือ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ แล้ว ๐ ก็คือไม่มีค่า แล้วที่จะนับว่า ๐, ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ศูนย์ไม่มีค่านี่ เป็นภาษาวัตถุ ภาษาเอาวัตถุเป็นหลักแห่งการคำนวณยังโง่มาก ถ้าเอาไอ้หลักเกณฑ์ทางฝ่ายวิญญาณ-ทางฝ่าย spiritual เป็นหลักแล้ว ศูนย์ กลับมามีค่ากว่าอะไรทั้งหมด ขนาดของมันก็มากกว่าใคร ๆ น้ำหนักของมันก็มากกว่าใคร ๆ ความหมายของมันก็กว้างใหญ่กว่าอะไร ๆ ทั้งหมดเลย ไอ้คำว่า ศูนย์ ฉะนั้นคำว่า สูญ นี้มันไม่ใช่เลขศูนย์ แต่ถ้าจะให้เป็นเลขศูนย์ก็ต้องให้ความหมายแก่เลขศูนย์นั้นเป็นอย่างอื่น คือมากกว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ คุณไปคิดปริศนานี้ดูบ้างเป็นอย่างไร ว่าไอ้ ๐ นั้นละมากกว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ หรือว่า ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๔ อะไรไปเรื่อยจนถึงล้าน ถึงแสน ถึงอสงไขยอะไรก็ตาม ศูนย์มีค่ามากกว่าใคร ๆ ผมว่าอย่างนี้ ถ้ามองไม่เห็นก็เป็นเด็ก ๆ ไปตามเดิม ที่เรียนเลขมา ศูนย์ ไม่มีค่า แต่ถ้าเรียนธรรมะ เป็นนักธรรมะ รู้ธรรมะแล้ว ศูนย์ นี้มีค่ามากกว่าทั้งหมดทุกทั้งหมดรวมกัน แล้ว ศูนย์ นี้คือความสมดุลอันลึกซึ้งอันมองเห็นได้ยาก แต่เขาก็พูดว่ามันไม่มีอะไร แล้วผมก็บอกว่าไอ้ไม่มีอะไรนั่นละคือความสมดุลที่สุดละแล้วก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา แล้วจนกว่าจะสูญเสียความสมดุล สูญเสียความสมดุลทางวิญญาณ ก็เกิดเป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา สูญเสียความสมดุลทางจิต-ทาง mentality ก็เกิด nervous อะไรนะ จะเกิดจิตยุ่งยิ่งขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าสูญเสียความสมดุลทางฟิสิกส์มันก็มีการบูดเบี้ยวของไอ้มิติต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่งดงามเหมือนดอกบัวดอกที่มันสมบูรณ์สมดุล
ฉะนั้นผมนั่งดูดอกบัวแล้วก็รู้สึกไอ้ความสมดุลอันนี้ แล้วก็รู้สึกว่าแหม เขาฉลาดมาก เขาเอาดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้, ของการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านี้ ไอ้คนนี้มันฉลาดมาก คนทีแรก กี่พันปีมาแล้วก็ไม่รู้ ความสมดุลในทางที่จะให้เกิดนั้นอย่างหนึ่ง ความสมดุลในทางที่จะไม่ให้เกิดอะไรขึ้นมาเลยนั้นอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้ความสมดุลที่เป็นนิพพานนั้นมันอยู่ในพวกที่จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย พอมีอะไรในลักษณะที่ไม่สมดุลทางฝ่ายธรรมะอันลึกซึ้งนี้แล้ว มันก็มีการเกิดขึ้น, มันก็มีการตั้งอยู่, แล้วก็มีการแตกดับ คือมีเกิดแล้วมีตาย ซึ่งเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคน มนุษย์เรามีปัญหาเรื่องเกิด-เรื่องตาย คุณไปดูก็แล้วกัน ฉะนั้นปัญหาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติอะไรมันก็ขึ้นอยู่กับเรื่องเกิด-เรื่องตาย มันเป็นความโง่หลาย ๆ ชั้น หลาย ๆ ซับ หลาย ๆ ซ้อน มันจึงมองดูไปเป็นอย่างอื่นว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องเกิด-เรื่องตาย ถ้ามีปัญญาสมบูรณ์เมื่อไรจะเห็นว่าทุกอย่างมันมารวมอยู่ที่ ตัวกู-ของกู เดี๋ยวเกิด-เดี๋ยวตาย, เดี๋ยวเกิด-เดี๋ยวตาย ถ้าไม่มีตัวกู ไม่มีอะไรเป็นฐานเป็นที่ตั้งของไอ้ความรู้สึกยินดี ยินร้าย สุข ทุกข์ อะไร นี้มันเกิดขึ้นมาก็เกิดสำหรับเป็นทุกข์ คือผิดปรกติ, ผิดธรรมชาติ, ไม่สมดุลทั้งนั้นมันก็ต้องเป็นทุกข์ไป พอมันดับไปสู่สภาพเดิมของมัน มันก็สบายไม่มีทุกข์
ในการพูดครั้งแรกคุณคงเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด ถ้าเข้าใจได้สักครึ่งพอเป็นเลา ๆ ก็ยังดี ว่าความสมดุลที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร? แล้วความสมดุลที่หลอกลวงเป็นความสมดุลมายา ทำให้ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นอย่างไร? ถ้าจะใช้คำพูดให้ถูกต้องควรจะใช้คำว่า เหมาะสม มันมีความเหมาะสมมันจึงเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง เป็นไป เป็นสาย เป็นวัฏฏสงสารไปเลยนั้นเป็นความเหมาะสม ไม่ใช่ความสมดุล ถ้าพูดว่าความสมดุลต้องเป็นสมดุลสมมติ-สมดุลมายา สมดุลสำหรับจะเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย สมดุลที่แท้จริงที่ไม่ใช่มายาคือสมดุลที่จะไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นมา ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นสภาพเดิมแท้ สภาพเดิมสูงสุด สภาพพื้นฐานของสิ่งทั้งปวง นั่นละมันรวมอยู่บนสิ่งนี้ ถ้าจะมีอะไรเกิดออกมาก็เกิดออกมาจากสิ่งนี้คือความไม่สมดุลนั่นเอง ถ้ามันยังคงสมดุลอยู่ตามเดิม-ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา ทางฝ่ายวัตถุก็ไม่เกิด, ทางฝ่ายจิตก็ไม่เกิด, ทางฝ่ายวิญญาณก็ไม่เกิด จะไม่มีอะไรขึ้นมา เดี๋ยวนี้มันสูญเสียสภาพความสมดุล มันจึงเกิดโลกนี้ขึ้นมา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ สากลจักรวาลขึ้นมาทางฝ่ายวัตถุ แล้วมันไม่มีความสมดุลในทางจิต มันก็เกิดชีวิตจิตใจเป็นเรื่องเป็นราวสำหรับทุกข์ สำหรับร้อนขึ้นมา ถ้ามันยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ถูกต้อง มันก็ไม่มีความรู้ชนิดที่จะทำให้มันหยุด หรือว่าง หรือสงบได้ มันก็มีเรื่อง ตัวกู-ของกู อันลึกซึ้งอันลึกลับซับซ้อนอยู่ ก็มีปัญหาสำหรับมนุษย์ที่จะมีความทุกข์อย่างละเอียด จนจำเป็นที่จะต้องมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมารู้เรื่องนี้แล้วสอนเรื่องนี้ สอนเรื่องให้สามารถกลับไปสู่สภาพเดิมคือความสมดุลจนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วนิพพาน ในความหมายนี้จึงแปลว่าเป็นแดนที่ดับสนิทแห่งสังขารทั้งปวง นิพพานในความหมายอย่างนี้ก็เป็นแดนเป็นเขตแดนเลย แต่มันเป็น เขตแดนทางวิญญาณ ไม่ใช่ทางวัตถุ เป็นแดนที่ดับแห่งสังขารทั้งปวงคือนิพพานในความหมายที่สมดุลในทางฝ่ายวิญญาณอันลึกซึ้ง
เอ้า ทีนี้ ในคน ๆ หนึ่ง มาดูกันต่อไปว่าในคน ๆ หนึ่งคือเรานี้ประกอบอยู่ด้วยสิ่ง ๓ สิ่งนี้ ทางฝ่ายร่างกายนี้เป็น physical faculty ไปอันหนึ่งเลย ทีนี้ทางฝ่ายจิตเป็น mental faculty ไปอันหนึ่งเลย ทีนี้ทางฝ่ายวิญญาณมี spiritual faculty ไปอันหนึ่งเลย คนเรามี ๓ ชั้นเห็นไหม พอเกิดความไม่สมดุลขึ้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมันมีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ไม่สมดุลทางร่างกายก็เป็นร่างกายที่วิปริตผิดปกติ, ไม่สมดุลทาง mental ก็เป็นจิตที่ผิดปกติต้องไปปากคลองสานนะ ทีนี้ถ้าไม่สมดุลทางฝ่าย spiritual นี่ก็นอนไม่หลับละ ไม่ต้องไปหาปากคลองสานแต่ก็นอนไม่หลับ ต้องมีความถูกต้องสมดุลจนไม่เกิดอะไรขึ้นไม่เกิดความผิดปรกติขึ้น ถ้าสมัครใช้คำว่า สมดุล ต้องหมายความว่า ถูกต้อง, ครบถ้วน, ไม่ผิดปกติ ที่มันต้องการ จะใช้ ความเหมาะสม ก็พอจะเข้าใจได้ค่อยยังชั่ว เพราะความสมดุลมันมีเพียงอย่างเดียวคือไม่เกิดอะไรเลย ที่เกิดขึ้นมาไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเรื่อยนี้ไม่ใช่ความสมดุล แต่ชาวบ้านเขาจะต้องพูดว่าความสมดุล สมดุลสำหรับเกิดขึ้นแล้วไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปนั้นนะก็คือโง่ การศึกษาของโลกในปัจจุบันนี้เอาไอ้ความอย่างนี้มาเป็นสมดุล เรียกมันเป็นความสมดุล ไอ้เราก็หลงกันตาย
ฉะนั้นจำไว้เป็นหลักว่าถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้นแล้วมันก็ต้องไม่สมดุล มันเกิดเป็น positive - negative ขึ้นมา ผสม, ปรุงแต่ง, เปลี่ยนแปลงไป, ไม่หยุด, ไม่ว่าง, ไม่สงบ นี่ความสมดุลต้องไม่มีอาการ ๒ อย่างนี้ ไม่มีบวก (+), ไม่มีลบ (-) นี้แล้วมันว่าง มันหยุด มันสงบ จนกว่าจะเผลอให้มันมีโอกาสที่จะเกิดเอียงไปทางบวกทางลบ เอียงไปทางลบเท่าไร ทางบวกก็มีขึ้นเท่านั้น มันหลีกกันไม่ได้ ไปนั่งหลับตาสำรวมจิตใจ นั่งหลับตามองให้ลึกลงไป ๆๆ จนถึงมองเห็นความสมดุลอันแท้จริงที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเกิดขึ้นของสิ่งใด แต่แล้วก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นว่าถ้าสิ่งนั้นมันเป็นความสมดุล ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเกิดขึ้น แล้วทำไมสิ่งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมานี่ก็ต้องยกให้ของข้างนอก คืออารมณ์ที่จะเข้าไปกระทบมันเป็นปฏิกิริยาเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งอื่นเข้าไปกระทบ ไอ้ความว่างแท้ ๆ ไอ้ความสมดุลแท้ ๆ นั้นมันลึกจนเรามองไม่เห็น เราเห็นแต่ปฏิกิริยาที่มีสิ่งอื่นเข้าไปกระทบแล้วมันกระเด็นกลับออกมา มันก็จะเป็นไอ้เรื่องวิทยาศาสตร์ ทางฝ่ายวิญญาณ-ทางฝ่าย spiritual มากเกินไปพูดกันไม่จบ แล้วหาของเปรียบเทียบยาก เรื่องความว่างสูงสุดคือนิพพานนี้หาอุปมาเปรียบเทียบยากที่สุด อย่าว่าแต่จะพูดตรง ๆ ลงไปเลย ลักษณะของมันพูดไม่ได้ ทีนี้หาอุปมามาเปรียบเทียบก็ยังยากที่สุดเพราะมันมองไม่เห็นในสิ่งนั้น มันมองเห็นแต่ปฏิกิริยาที่เกิดมาจากสิ่งนั้นเท่านั้น มีอะไรไปทำให้มันวุ่น มันไม่ใช่วุ่นที่ความว่าง มันวุ่นที่สิ่งที่เข้าไปทำให้เกิดขึ้นปรุงเป็นของใหม่ขึ้นมา เป็นสังขารธรรมขึ้นมา ไอ้นิพพานหรือธรรมชาติว่างเดิมแท้นั้นเป็น อสังขาร หรือ วิสังขาร เป็น อสังขตะ เป็น อสังขาร เป็น วิสังขาร มันเปลี่ยนไม่ได้ มันอะไรไม่ได้ มันมองไม่เห็น ทีนี้พออะไรไปกระทบมันเข้ามันก็ปรุงปฏิกิริยาเป็นฝ่าย สังขาร (สังขตะ) อะไรที่มันมีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นมาแล้วก็เห็นสิ่งนี้ รู้จักแต่สิ่งนี้จนกว่าจะตรัสรู้ ตรัสรู้อย่างพระอรหันต์หรืออย่างพระพุทธเจ้าจึงจะมองเห็นสภาพฝ่ายที่เป็น อสังขตะ เป็น วิสังขาร ที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เดี๋ยวนี้ก็พยายามที่จะมองด้วยการเปรียบเทียบ คือเมื่อใดจิตไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการอะไรรบกวนให้การปรุงแต่งเปลี่ยนแปลง พยายามดูจิตชนิดนั้นไปตามลำดับ เข้าไปตามลำดับ ลึกไปตามลำดับ เมื่อจิตมันว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลงในบางคราวนะ ก็พยายามสังเกตดูให้ดี ๆ ว่ามันต่างจากจิตที่กำลังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างไร? นี่เป็นต้นเงื่อนที่จะเข้าใจสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงหรือสภาพที่สมดุลที่สุด เราเอาสมดุลทางจิตกันก่อนถ้าสมดุลทางวิญญาณยังไม่ได้ สมดุลทางจิต มันก็จิตเป็นประภัสสรอยู่ตามธรรมชาตินี้เองก็ดูว่ามันไม่มีอะไรปรุงแต่ง-มันก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ทางลบ เป็นจิตล้วน ๆ เป็น...จะเรียกว่า จิตเดิม หรือว่า จิตแท้ หรือว่า จิตสงบตามธรรมชาติ นั่นก็ได้ นี่เป็นต้นเงื่อนที่จะรู้จักไอ้สภาวะที่ลึกไปกว่านั้นที่มีอยู่อย่างไม่ต้องมีการเกิดแล้วก็ไม่มีการตายด้วย ความสมดุลเดิมแท้คือความว่างนั้น ไม่มีการเกิด, ไม่มีการตั้งอยู่, ไม่มีการดับไป ถ้ามองเห็นอันนี้ก็คือมองเห็นธรรมะที่เป็น ไม่เกิด, ไม่ตาย, ไม่ดับ ถ้าจิตมันน้อมไปเพื่อสิ่งนั้นมันก็เป็นจิตที่น้อมไป เพื่อไม่เกิด-ไม่ตาย เพื่อความไม่เกิด-ไม่ตาย
เดี๋ยวนี้มาหลงอยู่เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ, เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ตั้งแต่เกิด มาเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว จนแก่จนเฒ่าจนจะเข้าโลง มันก็ยังเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ คือไปเห็นแต่ควันที่กลุ้มไปเรื่อย เห็นควันที่กลุ้มอยู่เรื่อย มันไม่เห็นอะไรมากกว่านั้น ไม่เห็นรากเหง้าดั้งเดิมอะไรมากไปกว่านั้น ฉะนั้นต้องพรากจิตออกมาเสียจากเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องอะไรที่เป็นควันกลุ้มเป็นไอ้ปรุงแต่งมายานี้ ในบางครั้งมันก็ช่วยได้มาก ธรรมชาตินี้มันช่วยได้มาก เราไปนั่งในท่ามกลางธรรมชาติ ที่มีความสมดุลทางฝ่ายธรรมชาติเหนือวัตถุนี้คือความสงบสงัด ในป่า ในภูเขามันก็ยังช่วยให้เกิดจิตชนิดหนึ่งซึ่งกำลังสมดุลคือเป็นจิตประภัสสรชนิดหนึ่ง สมดุล เข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายว่า ความไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่ปรุงแต่ง มันเป็นอย่างไร? การขยันเสพคบกับธรรมชาติอันสงบสงัดนี้มันมีประโยชน์อย่างนี้ ฉะนั้นเราพยายามจัดสวนโมกข์ให้มันมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมจิตที่หยุด ที่สงบแม้ชั่วคราวนี้ให้มันมีขึ้นมา พอเข้ามาเดินอยู่ในสถานที่อย่างนี้ใจคอก็เปลี่ยนไปจากเดิม เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติไม่ครอบงำหรือไม่ค่อยจะครอบงำ ก็มีความว่างในทางฝ่าย mentality ชั้นจิตนี้ขึ้นมาบ้าง พอเป็นต้นทุนสำหรับศึกษาพิจารณาให้รู้จัก ความว่างเดิมแท้, ความว่างพื้นฐาน ในทางฝ่ายวิญญาณ ถ้าเรายังหลงเรื่องมี เรื่องความเกิด เรื่องความตาย มีปัญหาเรื่อง ความเกิด-ความตาย อยู่เราก็ไม่เห็นธรรมะข้อนี้ ถ้าธรรมะข้อนี้จะเห็นว่า ไม่มีเกิด-ไม่มีตาย จะเห็นว่าไม่มีคนสำหรับจะเกิด-จะตาย แต่ถ้าเรายังรู้สึกว่าเราต้องเกิด, เราต้องตายอยู่ก็คือเรายังไม่เห็นธรรมะอันนี้ เป็นคนที่ถูกสอนให้โง่ให้หลง เป็นไปตามเรื่องของคนโง่ มีตัวกู, มีของกู, มีเกิด, มีตายไปตามสมมติ ถ้าได้รับการสั่งสอนตามแบบของพระพุทธเจ้าเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา มันก็มองเห็น เลยไปถึง ไม่มีตัวกู-ไม่มีของกู ซึ่งเป็น ความไม่เกิด-ไม่ตาย เป็นสิ่งที่เป็น ไม่เกิด-ไม่ตาย เป็นอมตะ ไม่เกิดไม่ตายนี้
ทีนี้ ไม่เกิด-ไม่ตาย นี้ไม่มีคำไหนดีที่จะพูดว่ามัน ว่าง ไม่มีคำพูดที่ดีกว่าคำว่า ว่าง ว่าง ไม่มีตัวตน, ไม่มีตัวกูนั้นจึง ไม่เกิด-ไม่ตาย ถ้าเห็นความว่างก็คือเห็นความ ไม่เกิด-ไม่ตาย ทีนี้จะเรียกว่าอะไร?มันก็เรียกไม่ได้ เรียกว่าเกิดก็ไม่ได้ เรียกว่าตายก็ไม่ได้ ถ้ามันว่างมันไม่มีอะไรปรุงให้เกิด เมื่อไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมามันก็ไม่มีอะไรตาย มันยกเลิกไปทั้งเกิดและทั้งตายหมดไปเลย มันเหลือแต่ความว่าง ตัวกู ไม่มี ตัวกู ดับหายไปทันทีเรียกว่า ตัวกู ตายไปทันที เหลืออยู่แต่ธรรมชาติที่ไม่ตายอีกต่อไป ไม่ใช่ตัวกู แต่ใครบางลัทธิเขาจะเรียกนี้ว่า ตัวกู เรียกว่า อาตมัน ว่าตัวตนขึ้นมาอีกก็ตามใจเขาสิ พุทธศาสนาไม่เรียก ไม่เรียกสิ่งนี้ว่า อาตมัน หรือตัวตน แต่ว่ามีลัทธิศาสนาอื่นเขาเรียก ตามใจเขาสิ
ฉะนั้นเราไม่เรียกนิพพานว่าเป็นตัวตน นิพพานก็เป็นนิพพาน มีความหมายหลายชนิด นิพพานนี้แปลว่าเย็น ถ้ามีความหมายไปในทางเหตุ เป็นเหตุ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเย็น เป็นแดนเป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งปวง นี้เป็นเหตุทำให้เกิดความเย็น ถ้าเล็งไปในทางเป็นผล เป็นความสุข เป็นความสงบเย็น ไม่มีความทุกข์ นิพพานก็เป็นที่ดับสนิทแห่งความทุกข์ทั้งปวงไปเลย ถ้าเป็นเหตุก็เป็นที่ดับแห่งกิเลส ถ้าเป็นผลก็เป็นที่ดับแห่งความทุกข์ มันก็เป็นผลเป็นความสุข เรื่องสมมติทั้งนั้น เรื่องทำให้โง่ทั้งนั้น ที่จะไปมัวเกลียดความทุกข์เอาความสุขอะไรอยู่นี้ มันเป็นเรื่องปรุงแต่งชนิดละเอียดชนิดที่รู้ไม่ถึงอีกละ ถ้ามันเป็นเรื่องรู้ถึงมันก็ไม่มีความเกิด ไม่มีความตาย ไม่มีความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรหมดเหลือแต่ความว่าง เพราะ(ฉะ)นั้นจิตใจที่มันเฉียบแหลมมันตรัสรู้ มันก็คือรู้เรื่องความว่าง รู้เรื่องความไม่มีตัวตน และว่างที่สุดก็คือนิพพาน --- ว่างจากกิเลส, ว่างจากความทุกข์, ว่างจากตัวตน, ว่างจากความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง, ว่างจากเหตุปัจจัยอะไรหมด ว่างที่สุดก็คือนิพพานนั้นละ เพราะ(ฉะ)นั้นก็เห็นนิพพานก็คือเห็นว่าง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เห็นและไม่เข้าใจ มันก็คิดหรือหลงไปว่าเป็นความสุข เป็นเมืองที่มีความสุข เป็นที่มีความสุขอะไรไปเสีย มันก็ถูกหลอกให้หลงอยู่ที่นี่ เรียกว่า เฝ้าความสุข, เฝ้าความทุกข์, เฝ้าความเกิด-ความตาย อยู่ที่นี้
นี่หน้าที่ของพุทธบริษัทมันสูงสุดอย่างนี้ หน้าที่ของพุทธบริษัทคือเกิดมาเพื่อรู้สิ่งนี้ ทีนี้คนพาล คนโง่ คนเขลา คนอันธพาล เกิดมา เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ แต่พุทธบริษัทเกิดมาเพื่อรู้สิ่งนี้เพื่อเข้าถึงสิ่งนี้คือความว่าง นี้ไม่ใช่เกิดมา เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ ทีนี้พอไปหลง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เสียมันก็ปิดบังสิ่งนี้ มันก็เลยไม่เข้าถึงสิ่งนี้ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจถึงสิ่งนี้ พูดกันจนตายก็ไม่รู้เรื่องก็คือไม่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง เป็นแต่ปากว่า
เพราะ(ฉะ)นั้นต้องมองให้เห็นความจริงหรือพระธรรมอันสูงสุดที่ว่า ความสมดุลที่สุดคือความว่างหรือความไม่เกิดของสิ่งทั้งปวง เพราะ(ฉะ)นั้นไอ้สิ่งที่สมดุลที่สุดก็ไม่ใช่อะไรอื่น คือนิพพานนั่นเอง ไม่มีคำเรียกนิพพานว่าเป็นอะไร เป็นภาวะ หรือว่าเป็นวัตถุ หรือว่าเป็นอะไรไม่มีคำเรียก เราเรียกว่านิพพานก็แล้วกันคือธรรมเป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งปวง ถ้ามีเกิดก็เพราะมีอะไรไปกระทบแล้วเป็นปฏิกิริยาออกมาอย่างนั้นอย่างนี้ กระทบความว่างเช่นว่าลมไปกระทบน้ำก็มีแสดงเป็นคลื่นออกมา ไอ้ในความเป็นน้ำนั้นไม่ได้สูญเสียความเป็นน้ำแต่ว่ามันแสดงความเป็นคลื่นออกมา รูปภาพที่มีอยู่ในฝาผนังนั้นรูปหนึ่ง เรื่อง แม่น้ำคด-น้ำไม่คด นั้นก็พอจะช่วยอธิบายข้อนี้ได้ ไอ้ที่มันคดไปนั้นคือความเปลี่ยนแปลง คือแม่น้ำ คือสิ่งที่เราสมมติเรียกกันว่าแม่น้ำ ส่วนน้ำแท้ ๆ นั้นเป็นน้ำอยู่เรื่อยไป มันจะเป็นน้ำอยู่เรื่อยไป รูปร่างมันจะเป็นอย่างไรไม่แน่แต่มันมีความเป็นน้ำอยู่เรื่อยไป ก็จึงเรียกว่าน้ำไม่ได้เปลี่ยน แต่แม่น้ำนี้เปลี่ยนเรื่อย ความว่างไม่ได้เปลี่ยนแต่ปฏิกิริยาอะไรที่มันมีอะไรไปกระทบความว่างนั่นคือปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่มีที่สิ้นสุดนี้ก็คือ รูปธรรม-นามธรรม ที่เกิดขึ้น จนเป็นสิ่งที่สมมติเรียกได้ว่าเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเทวดา เป็นบ้า ๆ บอ ๆ อะไรไปไม่มีที่สิ้นสุด มันก็เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแล้วมันเป็นส่วนน้อยคือเกิดขึ้นทางคนเท่านั้น ที่มันไม่เกี่ยวกับคนมันก็เกิดไม่ได้ ทีนี้สิ่งที่มีชีวิต มันมีรูป มีนาม มีกาย มีใจ สำหรับเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึก แล้วก็รู้สึกต่อความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นแก่ตัวมันเอง มันก็มีเท่านี้เป็นเรื่องนิดเดียว ส่วนเรื่องความว่างแท้ ๆ เรื่องสุญญตาแท้ ๆ เรื่องนิพพานแท้ ๆ มันใหญ่โตมโหฬารมากกกว่านั้นไม่รู้กี่ล้านกี่โกฏิเท่า อย่างที่ผมพูดว่า ๐(ศูนย์) นั้นมีค่ามากกว่า ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ รวมกันเท่าไรก็ตาม
ถ้าใคร เห็นศูนย์, เห็นสุญญตา, เห็นว่าง นี้มันก็ไม่ เกิดโลภ, เกิดโกรธ, เกิดหลง เดี๋ยวนี้มันเกิดความโลภเพราะมันไม่เห็นความว่าง-ไม่เห็นธรรมะ มันเกิดความโลภมันต้องการ โลภมากไม่ได้ตามใจมันก็ขโมยอย่างไม่น่าขโมย เป็นพระเป็นเณรมันก็ยังขโมย นี่เพราะความโลภมันครอบงำคิดดูสิ ทีนี้มันก็ไม่รู้ เรื่องความยินดียินร้าย, เรื่องเป็นไปตามสังขาร มันก็โกรธ โกรธนั่นโกรธนี่ เป็นพระเป็นเณรก็ยังโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ ทีนี้ส่วนข้อเท็จจริงมันก็ไม่รู้ เป็นพระเป็นเณรมันก็มีโมหะมีความหลงอยู่มันช่วยไม่ได้ คือว่าถ้าจิตใจมันไม่รู้ มันก็ต้องมีเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ยิ่งเป็นปฏิกิริยาใหญ่ เป็นปฏิกิริยาอย่างเลวอย่างออกมาข้างนอกไกลออกมามากทีเดียว จากจิตที่มันปรกติเดิมหรือเป็นประภัสสร เป็นสุญญตา หรือเป็นอะไร เอ้า, ที่จิตเป็นประภัสสรก็คือความสมดุลมายาตามแบบของสิ่งที่เรียกว่าจิตคือกลับเปลี่ยนไปเป็นเศร้าหมองได้ แต่ถ้าว่าจิตนี้ถูกอบรมให้มีสุญญตา ให้เข้าถึงสุญญตา ความเป็นประภัสสรก็คงที่และตายตัว คือเป็นประภัสสรที่ไม่เปลี่ยนเป็นเศร้าหมองได้อีกต่อไปที่เราเรียกว่าจิตที่บรรลุนิพพาน
คำว่านิพพานนี้ก็มันคืออะไรก็ไปคิดเอาเอง คือ ความสมดุลที่สุด, ความว่างที่สุด เป็นพื้นฐานของสิ่งทั้งปวง ใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง มีความหมายกว่าสิ่งทั้งปวง แล้วเราก็ไม่รู้ ก็หาว่าเลขศูนย์นี้ไม่มีราคาสู้เลขหนึ่งก็ไม่ได้ มันเป็นเรื่องทางคณิตศาสตร์ที่เอาวัตถุเป็นหลัก เป็นเรื่องของคนโง่เอาวัตถุเป็นหลัก แต่เรื่องของคนฉลาดเขาเอาไอ้เรื่องที่สูงไปกว่าวัตถุ, สูงไปกว่าจิต หมายถึงความว่างนั้นเป็นหลัก ฉะนั้น ศูนย์ จึงมีค่ามากแปลว่า ว่าง แต่มันเป็นความว่างที่ประหลาดที่สุดคือมันกลับมีตัวตนที่แท้จริง เป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นความสมดุลตลอดอนันตกาล --- ไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดของกู ไม่เกิดอะไร
ทีนี้จิตใจของสัตว์ธรรมดาสามัญไม่รู้จักสิ่งนี้ มันก็รับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี่มาปรุงแต่งเป็นควันโง่ ๆ เป็นควันกลุ้มขึ้นมา เป็นความโลภบ้าง เป็นโกรธ เป็นความหลงบ้างในจิต ในขอบเขตแห่งจิตอันเล็ก ๆ นี่ จิตโง่ ๆ นี่มันไม่มองเห็นความว่างที่ใหญ่โตมโหฬารได้ นี้ จากไอ้คำพูดที่พูดกันมาทั้งหมดมา คุณก็ไปดูเอาเองสิว่า ตัวกู-ของกู มันเกิดตรงไหน? เมื่อไร? ผมก็บอกได้แต่หัวข้อว่า มันเกิดเมื่อสูญเสียความสมดุลของธรรมชาติ ถ้าความสมดุลอันลึกซึ้งยังมีอยู่ ตัวกู-ของกู เกิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้ในจิตของมนุษย์ปุถุชนนี้สูญเสียความสมดุลได้ง่ายที่สุด อะไรเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ก็ทำสูญเสียความสมดุล ความเป็นประภัสสรก็สูญหายไป ความเป็นสมดุลตามธรรมชาติของจิตประภัสสรก็สูญหายไป เราก็มีอุปกิเลสของความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะ(ฉะ)นั้นถ้าเอาไว้ได้ รักษาไว้ได้เพียงความสมดุลอย่างเดียวเท่านั้นสิ่งต่าง ๆ จะน่าดู (๑) สมดุลทางวัตถุ---ดอกบัวก็งาม มีกลีบเท่ากันรอบด้าน, ต้นไม้ก็งาม มีทรงพุ่มสม่ำเสมอเท่ากันรอบด้าน สมบูรณ์ทางวัตถุ สมดุลทางวัตถุ (๒) สมดุลทางจิต---จิตมีความเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ ไม่ต้องปฏิบัติอะไรก็ได้ก็อยู่สบายดี ถ้าสมดุลแท้จริง (๓) สมดุลทางฝ่ายวิญญาณ---แล้ว ตัวกู-ของกู ไม่เกิด มันก็มี ความหยุด, ความสงบ, ความว่าง, ความไม่มีทุกข์, ไม่มีทุกข์, ไม่มีสุข ฯลฯ เดี๋ยวจะไปเอาสุขเข้าอีกมันก็สูญเสียความสมดุล ทุกข์เป็น negative, สุขเป็น positive สองอย่างนี้คบไม่ได้ มีมาเมื่อไรก็สูญเสียความสมดุลเมื่อนั้น ดังนั้นนิพพานนั้นจึงอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป ก็ไปอยู่ที่ตรงนั้นละ
วัฏฏสงสารคือความทุกข์อยู่ที่ไหน - ความดับทุกข์ก็อยู่ที่นั่น เพราะว่ามันเป็นความดับของความทุกข์ มันมีคลื่นที่ตรงไหนในน้ำนั้นมันก็มีความหมดคลื่นที่ตรงนั้นนะ เมื่อมันไม่มีอะไรปรุงแต่งให้เกิดคลื่นมันก็ดับคลื่นอยู่ที่ตรงนั้น ไม่มีคลื่นอยู่ที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นให้หานิพพานได้ที่วัฏฏสงสาร หาจุดเย็นที่สุดกลางเตาหลอมนี่เป็นอุปมาก็เข้าใจยาก ให้หา ความว่าง ที่สุดกับท่ามกลาง ความวุ่น มันเข้าใจยากแต่ที่แท้มันจริงที่สุดเลยในความว่างเราจะหาพบหรือมองเห็นความวุ่น เอาความวุ่นเป็นปฏิกิริยา เป็นควันหรือเป็นคลื่นที่เกิดขึ้นปิดบังความว่าง ฉะนั้น ต้นมะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้ง มีประโยชน์, มีประโยชน์เป็นอุปกรณ์การคิดนึกนี้มาก ก็ไปนั่งดูมันบ่อย ๆ ก็คงจะมีความก้าวหน้า นิพพานหาพบที่วัฏฏสงสาร ทีนี้คนฉลาดมาเหนือเมฆก็ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันเสีย ว่า กิเลส กับ โพธิ มันของสิ่งเดียวกันคือว่าเพิกถอนไปเสียให้หมด ให้เหลือแต่ ความว่าง ---กิเลสก็ว่าง, โพธิก็ว่าง, วัฏฏสงสารก็ว่าง, นิพพานก็ว่าง น้ำคดไม่ได้-แม่น้ำคด เพราะ(ฉะ)นั้นเอาไอ้น้ำที่ไม่รู้จักคดเป็นหลัก ส่วนแม่น้ำเป็นเรื่องมายาเป็นเรื่องหลอกลวง เดี๋ยวเดียวเท่านั้น นี่กิเลสเป็นเรื่องหลอกลวงเดี๋ยวเดียว ความไม่มีกิเลสนั้นนะเป็นของแท้ ของถาวร ความว่างถาวร ความวุ่นนี่เป็นของมายาเดี๋ยวเดียว ๆ แต่มันก็จะเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยจะมีที่สิ้นสุด มันเปลี่ยนได้มากไม่มีที่สิ้นสุด
ทีนี้ยิ่งมนุษย์ก้าวหน้าในทางการประดิษฐ์ในทางสร้างเหยื่อของกิเลสอย่างสมัยปัจจุบันนี้แล้วละก็มนุษย์จะถูกขังอยู่ในความหลอกลวงนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นมนุษย์สมัยนี้ออกจากความหลอกลวงได้ยากกว่ามนุษย์ในสมัยพุทธกาล เพราะว่าสมัยนี้มันเก่งในทางที่สร้างสิ่งที่หลอกลวง ยั่วยวน หลอกลวง เพราะ(ฉะ)นั้นถ้าเราต่อสู้ได้ ชนะได้เราก็เก่งกว่ามนุษย์ครั้งพุทธกาล จะถือว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายได้ทั้งนั้นละ ถ้าถือว่ามันมาให้เรามีความสามารถกว่าก็โชคดี ถ้ามองไปในแง่ท้อแท้ว่าสมัยนี้มันเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนก็เป็นโชคร้าย ผมสมัครที่จะถือว่ามันเป็นโชคดี มันให้บทเรียนที่สูง ที่ยาก ที่ละเอียด ที่ประณีต เราทำได้มันก็เก่งกว่าก็เป็นโชคดี หาความว่างในความวุ่นและพบได้ เมื่อโลกมันบ้ากันอย่างไร-เราไม่บ้า เมื่อเป็นทุกข์ร้องห่มร้องไห้กัน-เราไม่มีความทุกข์เลย ธรรมะช่วยได้อย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ช่วยให้อยู่ในโลกที่มีความทุกข์โดยที่ไม่ต้องมีความทุกข์ นี่เรามันไม่เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าเสียเองแล้วก็ไปโทษโลกนี่ เราก็บ้าเท่าตัว ๒ เท่าตัว ก็รีบทำตัวให้เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า โลกนี้เป็นของเล็กไม่มีความหมายอะไร จิตนี้ก็ไม่มีความทุกข์ รักษาความสมดุล ความปกติ ภาวะเดิมแท้ไว้ได้นี่ความสมดุล คือความไม่เกิดคือความไม่มีอะไรเกิด เพราะ(ฉะ)นั้นก็ไม่มีอะไรตาย จึงหมายถึง ไม่มีตัวกู-ไม่มีของกู ไม่มีคน แล้วก็ไม่มีเกิด แล้วก็ไม่มีตาย ถ้าใครมองเห็นข้อนี้คนนั้น ไม่มีเกิด-ไม่มีตาย พูดได้สมมติว่า ตายแล้วก่อนตาย คือว่าดับเป็นธรรมชาติเดิมแล้วก่อนแต่ที่ร่างกายนี้จะแตกดับ ปริญญาของสวนโมกข์ ตายให้ได้เสียก่อนตาย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
ฉะนั้นถือเอาความสมดุลเป็นความไม่เกิด ถ้าไม่สมดุลก็มีความเกิด ถ้าสมดุลแท้ ๆ ทางฟิสิกส์ ; ไอ้โลกทางฟิสิกส์นี้ก็ไม่เกิดขึ้น, ถ้าสมดุลทางจิตใจ ; ความยุ่งใจต่าง ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น, ถ้ามีความสมดุลทางวิญญาณ ; ตัวกู-ของกู ก็ไม่เกิดขึ้น ก็เป็นสุญญตาอยู่เรื่อยนี่เรียกว่าไม่เกิด ไม่เกิดก็คือไม่ได้ตาย ถ้าเรามองเห็นอันนี้ก็คือว่าเรามองเห็น ความไม่เกิด-ความไม่ตาย คือมองเห็นนิพพาน ก็หมายความว่ามันจะเรียกว่าอะไรก็ได้โดยสมมติแต่เรียกโดยถูกต้องแล้วเรียกว่า ความว่าง
ความสมดุลเป็นความว่าง ; ความว่างเป็นความสมดุล คนที่เห็นแต่ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ไม่มีทางจะเข้าใจ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ท้อแท้ไม่อยากสอน ตรัสรู้เรื่องนี้แล้วท้อแท้ใจไม่อยากสอน คือเห็นว่ามันไม่มีใครเข้าใจ จะไม่มีใครเข้าใจป่วยการ มันมีความลึกมากถึงอย่างนี้ เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน นี่ ความไม่เกิด นี่ แต่แล้วอาศัยความกรุณาซึ่งอบรมมามากแต่กาลก่อนมาเชื้อเชิญเหมือนกับเป็นมหาพรหมมาเชื้อเชิญ มันยังมีบางคนอาจจะเข้าใจได้กระมัง ก็คิดว่าสอนคนเหล่านี้ก็แล้วกันมีไม่กี่คน ก็เลยเปลี่ยนพระหฤทัยใหม่ว่า เอาละ, สอน ๆ เรื่องนี้ สอนเรื่องสุญญตา หรือเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตา เรียกว่า สุญญตัปปฏิสังยุตตา สุตตันตา เรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวเนื่องกับสุญญตา นี่สอนเป็น ตถาคตภาสิตา เป็นคำที่ตถาคตกล่าว คัมภีรา ลึกซึ้ง คัมภีรัตถา มีอรรถะอันลึกซึ้ง โลกุตตรา นำไปเหนือโลก พระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องที่เนื่องกับสุญญตาเป็นพระพุทธภาษิตมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้คนบ้า ๆ ในเมืองไทยว่า สุญญตา นี่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเสียอีก ผมเขียนไปว่าพระพุทธเจ้าจะสอนแต่เรื่องสุญญตา, เกี่ยวแต่เรื่องสุญญตา - เรื่องอื่นไม่สอน ก็ไปดูบาลีนี่ พวกฝรั่งก็ไม่เคยฟังเรื่องนี้ไม่เคยเข้าใจอย่างนี้ มีคนเขียนมาถามจากสวีเดนว่า อยู่ตรงที่ไหนในพระไตรปิฎก เห็น ผมก็ยังไม่ตอบนะ มันอยากโง่ ก็เรื่อง สุญญตาทั้งหลายที่ขึ้นได้ว่า เย เก สุตตันตา สุญญตัปปฏิสังยุตตา ที่เราอ้างมาพูดในสุญญตา ในสังยุตตนิกายมีมาก และมีทั่วไปในพระไตรปิฎก
นี่ขอให้ถือว่า สุญญตา คือความว่าง, คือความสมดุลอันแท้จริง, ไม่เป็นการเกิดแห่งสิ่งใด ทีนี้เมื่อใดมนุษย์นี้ไม่ใช้ สุญญตา นะ มนุษย์นี้มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มนุษย์โง่ ๆ นี่มันรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ มันปรุงแต่งเป็นควันกลุ้มขึ้นมา เป็น ตัวกู-ของกู มียินดี ยินร้าย มีสุข มีทุกข์ นั่นมันไม่เกี่ยวกับ สุญญตา สุญญตาคงเป็นสุญญตาเช่นเดียวกับน้ำไม่มีคดแต่แม่น้ำมันคด ข้อความที่ว่าความสมดุลคือความไม่เกิด ความสมดุลคือความว่าง ความสมดุลแท้จริงคือธรรมชาติแห่งนิพพาน เป็นแดนที่รำงับแห่งสังขารทั้งหลายทั้งปวง
เอาละ, พอกันทีวันนี้ เลยเวลาไปมากแล้ว