แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำบรรยาย ทบทวนธรรมในวันนี้ จะได้กล่าวถึงกิเลสทาน คือ การสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะเป็นการสรุปเรื่องนี้ คำว่ากิเลสทานคงจะไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินนัก เพราะบางคนอาจจะคิดว่าเป็นคำนอกรีตประดิษฐ์ขึ้นมาเองก็ได้ ที่จริงมันควรจะเรียกว่ากิเลสทานมากกว่าที่จะไปเรียกยาวๆ ว่าการสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจ ซึ่งมันยืดยาดเลยเรียกสั้นๆ ว่ากิเลสทาน เช่นเดียวกับที่เราเรียกไอ้ทานอื่นๆ มาแล้วตามลำดับโดยชื่อในภาษาบาลีทั้งนั้น เริ่มขึ้นด้วยวัตถุทานให้สิ่งของ ธรรมทานให้ธรรมะ อภัยทานให้ความไม่มีเวรมีภัย ทีนี้ก็มาถึงกิเลสทานให้กิเลส คำว่ากิเลสแปลว่าสิ่งเศร้าหมอง ถ้าเป็นภาษาธรรมดาก็คือของสกปรก เพราะฉะนั้นกิเลสทานคือการให้ของสกปรกออกไปเสียจากตน
เมื่อสองสามครั้งที่แล้วมาเคยพูดถึงการให้ทาน สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนเป็นลำดับมา นับตั้งแต่เรื่องจริต ๖ อาสวะ ๔ อุปกิเลส ๑๖ และอบายมุข ๖ ในที่สุด นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ที่จริงก็ไม่ใช่เป็นเพียงตัวอย่างเพราะเป็นรายชื่อตัวอย่าง ที่เขาใช้เรียกชื่อกิเลสในลักษณะหนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง แล้วก็เรียกว่าชื่อนั้นชื่อนี้ตามความหมาย ตามความมุ่งหมายเฉพาะในกรณีนั้นๆ เช่นเมื่อรักก็เรียกว่าราคะ เมื่อโกรธก็เรียกว่าโทสะ หรือโกรธะ อย่างนี้เป็นต้น แต่แท้จริงมันก็เป็นกิเลสเหมือนกัน ตรงที่เป็นสิ่งเศร้าหมองของใจ คือ ที่ว่าจะสรุปกันอีกครั้งหนึ่งนั้น มันก็จำเป็นจะต้องขอให้ทบทวนมาถึง ทบทวนไปถึงรายชื่อกิเลสต่างๆ ที่เราได้กล่าวกันมาแล้ว แล้วก็จะสรุปได้โดยง่าย จะโดยหัวข้อที่จะสรุปนั้นมันก็มีอยู่ ๓ หัวข้อด้วยกัน ที่ว่าการละหรือแก้นิสัยเลวที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง และการละหรือแก้นิสัยความเคยชินของนิสัยเลวนั้นอย่างหนึ่ง แล้วแก้การที่ไม่มีเครื่องมือ ธรรมะที่เป็นเครื่องมือสำหรับละกิเลสนี้อย่างหนึ่ง
อย่างแรกที่ว่าแก้นิสัยเลว คือ กิเลสที่ยังไม่ถึงขนาดที่จะเรียกว่ากิเลสโดยสมบูรณ์ ถึงเรียกว่าอุปกิเลสบ้าง เรียกว่าอบายมุขบ้าง ที่เราเรียกว่าอุปกิเลส ก็แปลว่าเฉียดกิเลส ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ก่อขึ้นก่อขึ้น จนจะกว่าจะเป็นนิสัย โดยเฉพาะอบายมุขนี่ ถ้าเป็นกิเลสก็เป็นกิเลสอย่างหยาบเรียกว่าเฉียดกิเลส อยากจะเรียกว่านิสัยเลวมากกว่า การละนิสัยเลวที่เพิ่งค่อยๆบังเกิดขึ้นมา เป็นการละอุปกิเลส ๑๖ หรือว่าละอบายมุขเป็นอย่างต่ำเป็นการเริ่มต้น
นี่ข้อ ๒ ที่ว่า ละหรือแก้ความเคยชินของนิสัยเลวที่ประพฤติมาจนชิน จนเป็นกิเลสจริง นี่คือละอาสวะ ๔ ละจริต ๖ เป็นต้น อาสวะ ๔ นี่เป็นความเคยชินถึงที่สุดของกิเลส รวมได้เป็น ๔ พวก ๔ หมวด ๔ จำพวกนี้ก็พอ คือ ละกาม ละภพ ละทิฐิ ละอวิชชา นี่เป็นความเคยชิน จนถึงกับเขาเรียกกันว่า เครื่องดองสันดาน เครื่องนอนในสันดาน เครื่องผูกพันสันดาน ว่าเรียกว่าอาสวะบ้าง เรียกว่าสังโยชน์บ้าง เรียกว่าอนุสัยบ้างแล้วแต่จะเรียก ซึ่งที่แท้ก็เป็นเรื่องความเคยชินของนิสัยเลวที่มากขึ้นมากขึ้นจนเป็นกิเลสเต็มที่ แต่อย่าได้ไปเข้าใจว่าอาสวะก็ดี อนุสัยก็ดี สังโยชน์ก็ดี เป็นของที่ตายตัวไม่มีเกิดดับ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นมันจะกลายเป็นสัสสตทิฐิไป มันจะนอนนิ่งในสันดานอย่างตายตัวนั้นไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นอย่างนั้นในบรรดาสังขารทั้งหลาย มันจะเป็นสังโยคหรือเป็นอนุสัยหรือเป็นอาสวะอะไรก็ตาม มันต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับ แต่การเกิดดับ แต่การเกิดนั้นมันไวเกินไปเพราะมีความเคยชินมาก จนรู้สึกคล้ายๆ ว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าเป็นกิเลสชั้นละเอียดที่สุดถึงที่สุด สูงสุด แต่ที่แท้เป็นความเคยชินของกิเลส เมื่อเราละความเคยชินของนิสัยเลวที่ชินมากจนเป็นนิสัยเป็นกิเลสสมบูรณ์ จะเรียกชื่อว่าจริต ๖ ก็ได้ รวมประพฤติจนเป็นนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
นี่พวกที่ ๓ ให้ละ คือละสิ่งที่ไม่เป็นเครื่องมือหรือตรงกันข้ามกับเครื่องมือของการละกิเลส ข้อนี้เราเล็งถึงฆราวาสธรรม คือสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ละความไม่มีสัจจะ และก็ละความไม่มีทมะ และความไม่มีขันติ ความไม่มีจาคะ ละไอ้ความไม่มีเครื่องมือสำหรับจะแก้ไขกิเลสนี้ ทำไมจึงละความไม่มี เพราะว่าไอ้ความไม่มีนี้เป็นนิสัยอันหนึ่ง คือที่ค่อยๆ เกิดขึ้น คือเมื่อเป็นคนไม่ซื่อตรง ไม่ไม่จริงนานเข้า นานเข้า ก็เป็นคนไม่มีสัจจะและไม่บังคับตัวเองเสียจนเคยชิน มันก็ไม่บังคับตัวเอง ไม่อยากจะบังคับตัวเอง ไม่สามารถจะบังคับตัวเอง อะไรก็ตามแต่ หรือไม่อดทนซะจนชิน หรือว่าไม่บริจาคไอ้สิ่งที่ควรบริจาคเสียจนชิน เรียกว่าเราละสิ่งที่ไม่เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขกิเลส
นี้โดยสรุปเป็นพวกใหญ่ๆมันก็มีอย่างนี้ ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ละกิเลส และก็ละความเคยชินของกิเลส และก็ละความไม่มีเครื่องมือที่จะแก้ไขกิเลส รวมกันทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่าละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจ หรือเรียกสั้นๆว่าละกิเลส หรือกิเลสทาน ให้ของสกปรกออกไปเสียให้หมดไม่เป็นสิ่งที่ควรจะเอาไว้ ทีนี้เรื่องที่อยากจะชี้แจงให้เข้าใจกันอย่างยิ่งให้เห็น ก็คือว่าการที่เรามีหลักอย่างนี้ เป็นการดีที่สุดที่เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องให้มันมากเรื่อง พูดถึงเรื่องเดียว คือ กิเลสทาน ละกิเลสนี่จะพอ จะหมดทุกเรื่องเดี๋ยวจะชี้ให้ดูว่าพวกเราอย่าไปเรียนกันให้มันมากนัก อย่าไปเป็นห่วงให้มันมากนัก เรื่องเรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เหมือนที่เขาเป็นห่วงกันว่าต้องเรียนนั่นเรียนนี่ นั้นมันยิ่งเรียนก็ยิ่งลำบากยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน หรือจะพูดกันตรงๆ ก็ว่ายิ่งเรียนยิ่งไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไรก็เท่ากับว่ายิ่งโง่นั้นเอง นี่จะไม่พูดถึงสิ่งใดหมด จะพูดถึงแต่การละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิตใจอย่างเดียว ซึ่งเรียกว่ากิเลสทาน จะเป็นกำไรที่ใหญ่หลวงด้วยการลงทุนน้อย หรือเพียงสิ่ง อย่างเดียว ปฏิบัติโดยหัวข้อธรรมะข้อเดียวว่า บริจาคของสกปรกนี่ แล้วก็จะได้กำไรอะไรมา ก็คือจะได้หมดทุกอย่าง เราทำอย่างที่ได้อธิบายมาแล้วในหมวดนี้ หมวดที่ว่าด้วยการละกิเลสนี้ แล้วก็จะได้สิ่งที่ควรปรารถนาทุกอย่างในในพระศาสนานี้ หรือว่าได้ทั้งหมดในข้อที่ควรได้ในพระไตรปิฎกหรือในอะไรก็ตาม แต่ถ้าจะกล่าวโดยหัวข้อตามลำดับว่าเราเป็นพวกใหญ่ๆซึ่งกินความไปหมดทุกอย่างละก็เราจะได้ศรัทธา จะมีศรัทธา จะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เพราะว่าการละกิเลสนี้ มันก็เป็นการที่เชื่อแล้วก็ทำตามถึงที่สุดในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อพระพุทธเจ้า จะขยายออกไปถึงเชื่อกรรมเชื่อผลกรรมเชื่อการที่ตนต้องรับผลกรรมอะไรก็ได้ ขอแต่ให้ทำการละสิ่งสกปรกออกไปจากใจนี้ มันจะเป็นศรัทธาทุกอย่างอยู่ในบุคคลนั้น คนนอกนั้นก็ศรัทธาแต่ปากพูดว่าเชื่อแล้วก็ไม่เห็นทำอะไร ไม่เห็นปฏิบัติตามอะไร ส่วนคนที่กำลังละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจนี้นี่คือคนที่ศรัทธาจริง และเชื่อและทำตามจริงๆ ทำอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่ามีศรัทธา
ทีนี้เรื่องที่ ๒ ก็เป็นผู้มีทาน การให้กิเลสออกไปนี้มันเป็นทานอย่างยิ่งอยู่แล้ว และเป็นทุกข์ ทุกข์ทานที่เราได้พูดมาแล้ว และกำลังจะพูดต่อไปด้วย การที่เราให้สิ่งของข้าวปลาอาหารเจือจานผู้อื่นนั้นก็เป็นการให้ทาน เพื่อจะขูดเกลาความโลภ ความขี้เหนียว ความเห็นแก่ตัวอย่างนี้ ที่นี้เราละความโลภ ความขี้เหนียว ความเห็นแก่ตัวไปมันก็คือ มีทานอย่างนั้น แม้ว่าเราจะให้ทานเพื่อบำรุงพระศาสนาเอาไว้ ก็มีศาสนาเอาไว้เพื่อกำจัดความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง เล็งถึงอภัยทานมันก็คือไม่โกรธอยู่แล้ว จะพูดถึงทานไหนก็ตามมันก็อยู่รวมอยู่ที่ทาน ที่กิเลสทานได้ทั้งนั้น ขอให้ทำทานกิเลสให้ออกไปเสีย แล้วไอ้ผลของทานอื่นๆ ก็จะได้มาหมด
ทีนี้เรื่องที่ ๓ มันก็เป็นเรื่องศีล เมื่อทำอยู่อย่างนี้ละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจอย่างนี้ ศีลของคนนั้นจะมีเป็นศีลที่สมบูรณ์ จะมีศีลจริงๆลองปฏิบัติในการละอบายมุข ละอุปกิเลส ละอะไรอย่างที่ว่า แล้วจะเป็นคนมีศีล คำว่าศีลแปลว่าปรกติภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นปรกติโดยจิตใจที่ไม่มาอะไรมารบกวนให้กำเริบนี่เป็นปรกติ ถ้ากิเลสเกิดขึ้น ทำให้ไปฆ่า ไปลัก ไปประพฤติผิดในกาม ไปต่างๆนั้น ก็เรียกว่าผิดปรกติ เดี๋ยวนี้มันก็มีการระบายกิเลสออกอยู่เรื่อย กิเลสเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งขึ้นไม่ได้ ถูกทำให้ไม่มีโอกาสเกิดอยู่เรื่อยไป อันนี้ก็มีศีลเป็นทันทีและบริบูรณ์ด้วย ศีลที่มัวรับกันแต่ปากอย่างนกแก้วนกขุนทองนั้น มันก็เป็นเหมือนกับเรียน กอ ขอ กอ กา อยู่นั้น ไม่เคยเลื่อนชั้นขึ้นไปจนถึงชั้นประถม มัธยม อะไรกับเขาเลย เรียกว่ารักษาศีลจนตายก็ไม่มีศีลที่แท้จริงได้ นี่ถ้าประพฤติในกิเลสทานละสิ่งสกปรกออกจากใจอยู่เสมอแล้วนั่นมีศีลขึ้นมาทันที มีตามปรกติ มีโดยอัตโนมัติ มีอย่างถูกต้อง และมีอย่างสมบูรณ์ทันที จึงจะเรียกว่ามันได้ศีลมาอย่างสมบูรณ์เป็นปรกติภาวะทั้งของตนเอง และของบุคคลอื่น มันเป็นศีลที่สูงสุดอย่างนี้ ที่เมื่อปฏิบัติละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจต่อไปอีก มันก็จะมีสิ่งไอ้ที่เรียกว่าธุดงค์ คำว่าธุดงค์ ตามความหมาย หมายถึงความมักมาก ที่ว่าต้อง ต้องการจะมี ต้องการจะได้ ต้องการจะสะสม ต้องการจะทำในสิ่งที่เกินจำเป็น รวมเรียกสั้นๆ ว่าความมักมาก คนอยู่กันด้วยความมักมากถึงพระถึงเณรนี่ก็อยู่ด้วยความมักมาก เพราะว่าไปค้นดูในกุฏิก็จะพบสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องมีเยอะแยะ นี่เรียกว่าไม่มีธุดงค์ ทีนี้ที่เขาแจกไว้เป็นชัดๆลงไปเรื่อง ให้ฉันหนเดียว ให้มีแต่บาตรใบเดียว ให้ไปบิณฑบาตรแต่ทางเดียว ให้ฉันคราวเดียวอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เพื่อให้มันไม่ให้เกินจำเป็น ให้มีจีวรแต่ ๓ ผืน ให้มีแต่ผ้าที่เขาทิ้งเอามาใช้เป็นต้น เพื่อไม่ให้มันเกินจำเป็น ให้อยู่โคนไม้ ให้อยู่กลางแจ้ง ให้อยู่ป่าช้านี่ก็เพื่อไม่ต้องมีอาสนะ เสนาสนะที่มันไม่จำเป็น รวมความแล้วก็เพื่อกำจัดความมักมาก เรียกง่ายๆ คือบาป บาปที่เกิดขึ้นจากการหาเกินจำเป็น จากการมีไว้เกินจำเป็น จากการกินเข้าไปเกินจำเป็น จากกระทำนั่นทำนี่ที่เกินจำเป็น นี่เป็นบาป ทีนี้ถ้าเราคอยให้ทาน อุปกิเลสที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจเสมอ มันก็เป็นธุดงค์ที่สมบูรณ์อยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง เกินกว่า ๑๓ อย่างที่กล่าวไว้ในแบบแผนซะอีก ทีนี้ก็จะไม่มีความมักมากสิ่งใดเหลืออยู่ นั้นผู้นั้นจึงเป็นผู้มีธุดงค์ เรียกสั้นๆ ว่ามันเป็นการกำจัดความมักมาก หรือกำจัดบาปที่เกิดมาจากการมีการหา หรือการบริโภคหรืออะไรที่เกินความจำเป็น เป็นผู้มีธุดงค์เต็มที่อย่างนี้
ทีนี้ข้อต่อไปเมื่อปฏิบัติการละสิ่งที่ไม่ควรมีอยูในใจอย่างเสมอนี้มันก็เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ ไม่ใช่สมาธิเฟ้อ ไม่ใช่สมาธิกิริยาท่าทางแบบฉบับน่าประหลาด น่าอัศจรรย์อะไรทำนองนั้น แต่ว่าเป็นสมาธิที่พอดีสำหรับจะมีความสุข ก็พอดีสำหรับจะมีปัญญา หรือตัดกิเลส ในเรื่องนี้ก็วางหลักได้สั้นๆว่า เมื่อมีการสละกิเลสนะ หรืออุปกิเลสที่ไม่ควรจะมีในตนอยู่เสมอ จะด้วยการระวังไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือด้วยละที่มันเกิดขึ้นอยู่ก็ตาม หรือมันไม่มีอยู่แล้วจิตนั้นเป็นสมาธิ คือ จิตนั้นมีลักษณะหรือองค์คุณของความเป็นสมาธิพร้อมบริบูรณ์ ความเป็นสมาธิเราวางกลับไว้ว่าต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ ปริสุโธ บริสุทธิ์ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง สมาหิโต ตั้งมั่นรวมเป็นอารมณ์เดียว ตั้งมั่น ข้อกัมมนีโย แคล่วคล่อง แคล่วคล่องว่องไวต่อหน้าที่ของมันหรือของจิตนี่ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสมาธิสมบูรณ์ถึงที่สุดเลย ก็คิดดูสิ เมื่อจิตมันกำลังไม่มีอุปกิเลส ตัวละอุปกิเลสออกไปจากจิตได้ ก็ไม่มีอะไรจะรบกวนจิตให้ ให้สูญเสียสภาพของสมาธิ นั้นคือความเป็นสมาธิ เมื่อเราละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิตออกไปจากได้ จิตมันก็เป็นสมาธิตามธรรมชาติ โดยอัตโนมัติถูกต้องและสมบูรณ์
ทีนี้ข้อต่อไปก็อยากจะพูดถึงปัญญา ในการที่สละออกไป สละออกไปนั้นคือไม่มีอะไรที่กำลังยึดถืออยู่ นี่ไอ้ความสำคัญมันอยู่ที่ว่าเมื่อมันไม่มีอะไรที่เป็นกิเลส เกิดอยู่ในใจ ก็หมายความว่าไม่ได้ยึดถืออะไรอยู่ นี่มันเป็นความรู้ ความที่ไม่ได้ยึดถืออะไรอยู่ นี่เป็นความรู้สูงสุดในพระพุทธศาสนา มันรู้ได้เองในขณะที่กิเลสไม่รบกวน เอากิเลสออกไปเสีย จิตมีลักษณะเป็นธรรมชาติเดิมแท้ ในความเป็นธรรมชาติเดิมแท้มีความรู้ที่ถูกต้อง คือ รู้ว่าไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่น คือไม่แส่ไปหาอะไรๆ ที่มันจะเป็นไปเพื่อความทุกข์มันรู้ มันรู้ตัว มันรู้กลัว มันรู้ระวัง มันจะทำจิตให้เป็นปรกติตามธรรมชาติเดิม มันก็ทำถูกของมันเองหมด เห็นที่เข้ามาใหม่ อยากนั่นอยากนี่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ยุ่งไปหมด นี่ไม่ใช้ธรรมชาติเดิม ของพึ่งโง่ ของพึ่งจะมีนิสัยเลวเกิดขึ้น งั้นเราละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจออกไปให้เกลี้ยงก็เหลือแต่ใจที่เกลี้ยง ใจที่เกลี้ยงนั้นประกอบอยู่ด้วยความรู้ในตัวโดยอัตโนมัติ นั้นภาวะทางจิตชนิดนั้นก็คือภาวะที่เต็มไปด้วยปัญญา นี่ฟังดูให้ดีจะเข้าใจ จะเห็นด้วยหรือไม่ไว้พูดกันทีหลัง เดี๋ยวนี้กำลังเสนออย่างนี้
ทีนี้ถัดไปอีกในขณะที่มีการละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจนั้น เราได้นิพพาน หากแต่ว่าเป็นนิพพานชั่วคราว นิพพานประเภทตทังคนิพพานหรือวิกขัมภนนิพพาน ถ้าเราต้องจัด เราต้องทำ เราต้องปรับปรุงอยู่ เราทำการให้กิเลสออกไป ละกิเลสออกไปอยู่นี่ มันจะมีอะไรนอกจากความว่างหรือความเย็น แต่มันเป็นชั่วคราว ช่วงที่เราทำได้ ที่เราทำอยู่ พอเราทำไม่ได้หรือไม่ทำอยู่ มันก็ไม่เป็นนิพพาน ในระยะขณะเท่าใด ระยะเท่าใดที่เราทำได้อยู่ขณะนั้นเป็นนิพพานชั่วคราว มีความเย็นเหมือนกันกับนิพพานที่แท้จริงหรือถาวร เดี๋ยวนี้มันไม่มีกิเลสกวนใจหรือเกิดขึ้นในใจ มันก็ไม่มีไฟที่ทำให้ร้อนมันก็เย็น สิ่งร้อนนั้นคือกิเลสที่เรากำลังควบคุมไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นมาก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปเสีย จึงไม่ใช่ ไม่เป็นกิเลสคือละเสีย ก็เลยเย็นอยู่ด้วยนิพพานชั่วคราวนั้นตลอดไป นี่ได้กำไรสูงสุดที่ตรงนี้ แล้วก็อย่าลืมในข้อที่เคยตักเตือนหรือขอร้องให้เป็นสัตว์กตัญญูกันเสียบ้างอย่าเป็นสัตว์อกตัญญูกันนักเลย คือ ให้รู้คุณของนิพพานชั่วคราวนี้ให้มาก ถ้าไม่มีนิพพานชั่วคราวนี้แล้วจะเป็นโรคเส้นประสาทบ้าง จะเป็นบ้าบ้าง จะต้องตายบ้าง ทีนี้นิพพานชั่วคราวนี้มันมีพอ มันมีสัดส่วนพอที่จะหล่อเลี้ยงคนๆ หนึ่งไว้ ไม่ให้เป็นโรคเส้นประสาท เป็นบ้าหรือเป็นหรือตายในที่สุด นิพพานชั่วคราวชนิดเป็นเองประจวบเหมาะก็ได้ นิพพานชั่วคราวนี้ที่เราจัดเราทำโดยวิธีที่กำลังพูดนี้ก็ได้ ด้วยการสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจให้ออกไปเสียจากใจนี้ก็ได้ นิพพานชั่วคราวนี้จะเป็นผู้คุ้มครองไม่ให้เป็นบ้า ไม่ให้เป็นโรคเส้นประสาท อย่างน้อยที่สุดก็ให้นอนหลับได้ ไม่ปวดหัว ก็เรียกว่าเป็นความเย็นของนิพพานชนิดนี้เป็นกำไรสูงสุดจากกิเลสทาน คือ การให้ทานกิเลสอยู่เสมอ
อย่างสุดท้ายเมื่อทำไป ทำไป ทำไป โดยนัยนี้ ไอ้นิพพานชั่วคราวนี้ก็จะกลายเป็นนิพพานจริงโดยสมบูรณ์ขึ้นมา คือ โดยวิธีการอย่างนี้เท่านั้น จะบรรลุมรรคผลตามลำดับแล้วก็จะถึงนิพพานจริงที่สมบูรณ์ ที่ไม่กลับไปกลับมาอีกต่อไป กำไรสูงสุดกันที่ตรงนี้เอง แต่ว่าเมื่อยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานที่แท้จริงก็ขอให้มีนิพพานชั่วคราวนี้ไปเรื่อยๆ มันมีได้ก็เพราะว่าการขจัดกิเลสออกไปจากใจในขณะนั้น หรือในกรณีนั้นๆ นี่เราได้อะไรบ้างก็ลองทบทวนดู มันเป็นกำไรมหาศาลแสนที่จะพูด เผื่อด้วยการกระทำอยู่เพียงอย่างเดียว คือ กิเลสทาน ระมัดระวังตั้งหน้าตั้งตาระวังไม่ให้สิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในใจนั้นเกิดขึ้นในใจ ไม่ให้สิ่ง ไม่ให้ความรู้สึกที่ควรจะมีอยู่ในใจนั้น ไม่มีคือสิ้นไปจากใจ ด้วยการทำเพียงอย่างเดียวนี้เรียกว่ากิเลสทาน และทำให้ผู้นั้นประกอบไปด้วยคุณธรรมที่เป็นกำไรมหาศาล
แท้จริงทุกอย่า งคือ หนึ่ง มีศรัทธา เพราะเชื่อและทำตามพระพุทธเจ้าจริงๆ ถึงที่สุด สอง มีทาน ที่เป็นการเสียสละทั้งหมดอยู่โดยทุกกระ ทุกๆกระเบียดนิ้ว เพราะเป็นศีล คือ มีปรกติภาวะทั้งเพื่อส่วนตัว และเพื่อผู้อื่น เมื่อเป็นธุดงค์ ไม่มีบาปเพราะไปมีหรือทำสิ่งที่เกินจำเป็น แล้วก็มี เป็นสมาธิ มีสมาธิเพราะจิตที่มันสละอยู่เสมอนั้นมันเป็นสมาธิ ไม่มีอะไรมาให้ทำให้เสียความเป็นสมาธิ เมื่อมีปัญญารู้อยู่ตลอดเวลาในขณะนั้น ในข้อที่ว่าจะไม่รับเอาอะไรเข้ามายึดมั่นถือมั่น ที่จะเอามามีไว้ในใจ เมื่อเป็นนิพพานชั่วคราวอาบรดให้เย็นอยู่ คุ้มครองไว้เหมือนกับเครื่องรางที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้เป็นบ้า ในที่สุดและไม่ให้นอนหลับยากที่ทำไป ทำไปก็จะได้รับผลนิพพานจริง นี่เรียกว่าเป็นพูด เป็นการพูดโดยสรุปอีกครั้งหนึ่งของรายละเอียดต่างๆ ที่เราเรียกว่าการสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจให้ออกไปเสียจากใจ ที่เรียกว่าสรุปที่สุดก็หมายความว่าสรุปอยู่ในคำว่ากิเลสทานเพียงคำเดียว ถ้าเราไม่เรียนมาก ไม่พูดมาก ไม่เถียงกันมาก ไม่ถามกันมาก ไม่อภิปรายกันมาก ไปกว่าเรื่องเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องกิเลสทาน ทีแรกบางคนจะแย้งจะค้านมันก็มากมายไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน ก็เพียงแต่มีหลักละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจ โดยนัยอย่างที่ว่ามาแล้ว ในการบรรยายสองสามครั้งที่แล้วมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องอุปกิเลส ๑๖ อย่าง นี่ก็เอาอะไรมาเป็นน้ำหนัก เป็นกำลังสำหรับจะละมัน ก็เอาความรู้สึกละอายเป็นผู้ที่ซื่อตรงต่อตัวเอง บังคับตัวเอง อดกลั้นอดทนและก็สละมันอยู่เรื่อยไป ทั้งหมดนี้มัน มันขึ้นอยู่กับความรู้จักละอาย ถ้าเป็นคนหน้าด้านไม่รู้จักอายในข้อที่ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ทำอย่างมนุษย์มันไม่มีหวังเลย ไม่มีหวังที่ผู้นั้นจะบรรลุธรรมะอะไรได้เลย เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ไม่ทำอย่างมนุษย์ หมายความว่าคำว่ามนุษย์แปลว่ามีใจสูง มีใจสะอาด มีใจสว่าง มีใจสงบ คำว่ามนุษย์ที่ไม่พยายามทำ มันต้องร่วมเป็นคนที่ละอายอย่างยิ่ง ไวต่อความละอาย ไวต่อความรู้สึกที่เป็นความละอายเหมือนเด็กๆ พอถูกทักเข้านิดเดียวมันก็สะดุ้ง มันก็เสียใจร้องไห้ก็มี คอยเอาหลักเกณฑ์อย่างนี้มาใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการสรุปสั้นๆ ว่ากิเลสทาน บริจาคอย่างสุรุ่ยสุร่ายเลย จุนเจือกิเลสแล้วไม่เก็บเอาไว้ นี่เป็นคำสรุปของการบรรยาย เรียกว่าการให้ทานชนิดที่ ๔ แต่อาตมาชี้ให้เห็นว่าทำอย่างเดียวก็พอ เวลาของเราก็หมด