แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาติโมกข์ของเราก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู อีกตามเคย วันนี้อยากจะพูดเรื่อง ตัวกู-ของกู นี่ประเภทที่เป็นใต้สำนึกคือไม่เต็มสำนึก เรื่องที่เรียกว่าใต้สำนึกหรือไม่ๆ ไม่สำนึกนี่ก็มีความจำเป็นมากที่มนุษย์เราจะต้องรู้ คือมันเกี่ยวกับความสุข-ความทุกข์ของมนุษย์เรามากที่สุดด้วยเหมือนกัน เช่น บางวันเราตื่นนอนขึ้นมารู้สึกสดชื่นกระชุ่มกระชวย โลกนี้เยือกเย็นไปหมด แต่บางวันตื่นนอนขึ้นมาก็อ่อนเพลีย ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไร ตัวเองก็บอกไม่ถูกว่าเพราะเหตุอะไร? เพียงแต่ตื่นขึ้นมามันก็ไม่สบายเสียแล้ว ไม่ได้ทำอะไรสักที ไม่ได้ทำอะไรสักที ไอ้เรื่องทำนองนี้มันอธิบายได้หลายอย่าง แต่ผมเห็นว่าที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจก็คือเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ประเภทที่อยู่ภายใต้สำนึก
เมื่อพูดว่าภายใต้สำนึกอย่างนี้ มันก็ยังเป็นภาษาที่ดิ้นได้กำกวม ไอ้ใต้สำนึกนั่นหมายความว่า มันไร้สำนึกข้างนอก ความรู้สึกข้างนอกไร้สำนึกแต่ข้างในมันรู้สึก ไอ้ความรู้สึกที่...ที่สมบูรณ์ทางอายตนะนี้เราเรียกว่าเต็มสำนึกแต่ทีนี้มันไม่รู้สึกสมบูรณ์ มันรู้สึกอยู่ภายใต้นั้นนี่เขาเรียกว่ามันใต้สำนึก บางคนอาจจะเรียกว่าไร้สำนึกมันก็เหมือนกันละ แต่ตัวหนังสือมันไม่เหมือนกันนะ ใต้สำนึกกับไร้สำนึก แต่เราเล็งถึงสิ่งเดียวกันได้เพราะคำว่าไร้สำนึกมันไร้สำนึกข้างนอกแต่มันมีสำนึกข้างใน ยกตัวอย่างเช่นการทดลองเกี่ยวกับคนเป็นอัมพาต เขาใช้เข็มแทงเข้าไปที่ส่วนที่เป็นอัมพาตที่ไม่รู้สึก ไม่สะดุ้ง ไม่อะไรทั้งนั้น แล้วก็บอกให้คนที่เป็นอัมพาตนั้นนึกถึงเลขจำนวนหนึ่ง อยากจะนึกถึงเลขอะไรก็ให้นึกถึงเลขนั้น ทีนี้คนอัมพาตจะบอกเลขที่มันตรงกับจำนวนที่เอาเข็มไปแทง เอาเข็ม เอาหนามไปแทงที่ส่วนที่อัมพาตเจ็ดครั้งอย่างนี้ ไอ้คนเป็นอัมพาตที่ถูกขอร้องให้นึกถึงจำนวนเลขจำนวนหนึ่งมันนึกถึงเลขเจ็ด นี่เขาถือว่ามันเป็นเรื่องมีอะไรอยู่อันหนึ่งข้างใต้สำนึกคือไร้สำนึกทำงานอยู่เพื่อจะบอกให้คนทั่ว ๆ ไปรู้ว่าอย่าเข้าใจว่าไอ้จิตนี้มันมีแต่เพียงชั้นเดียว คือชั้นที่รู้สำนึกทางอายตนะที่มันมีอยู่ส่วนหนึ่งคือมันรู้สึกอยู่ใต้ภายใต้นั้น แต่ว่าคนไม่ค่อยสนใจก็เลยไม่ได้รับการฝึกหรือปรับปรุงให้ดี มันก็เลยใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ถ้าปรับปรุงให้ดี มีวิธีฝึกที่ถูกต้องตามเทคนิคของธรรมชาตินี้ ไอ้เรื่องจิตใต้สำนึกก็จะมีประโยชน์อีกทางหนึ่งเหมือนกัน เช่น อย่างน้อยเราก็อาจจะทำให้ถูกวิธี พอตื่นนอนมาแล้วสบาย ตื่นนอนขึ้นมาแล้วสบายไปทุกวัน หรือฝันดีไปทุกคืนก็ฝันเป็นสุขไปทุกคืน แต่ก็ไม่มีใครสนใจกับมัน นี่ตัวอย่างของคำว่า ไร้สำนึก หรือ ใต้สำนึก มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ผมพูดถึงเรื่อง ตัวกู-ของกู แล้วก็ใช้คำว่าใต้สำนึกก็มีความหมายถึงระบบความรู้สึกส่วนนี้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องอัมพาตไม่ใช่คนเป็นอัมพาต มันเป็นใต้สำนึกของคนธรรมดา ๆ นี้เราไม่รู้สึกมันแต่มันก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นขอให้ทบทวนไปถึงเรื่องที่เคยอธิบายมาแล้วมากมายหลายครั้งหลายหน เรื่องจิตว่าง จิตว่างตามธรรมชาติหรือจิตว่างเพราะประจวบเหมาะ จิตว่างเพราะไปบังคับเข้าไว้ได้ หรือจิตว่างเพราะหมดกิเลสเลยมันมีอยู่หลายอย่าง
ไอ้จิตว่างตามธรรมชาติหรือจิตว่างประจวบเหมาะนี่เป็นเรื่องไร้สำนึกหรือภายใต้สำนึก เช่นว่า คนเดินเข้ามาในสวนโมกข์นี่พอเข้ามาเดิน สักว่าเข้ามาเดินอยู่ พอไม่ทันจะทั่วมันรู้สึกสบาย รู้สึกสบายบอกไม่ถูก สบายอย่างไรก็ไม่รู้แต่มันสบาย นี่ละคือของตัวอย่างของการที่ว่าพฤติของจิตนั้น เป็นไปอย่างไร้สำนึกหรือภายใต้สำนึก ถ้าเขาเป็นผู้ศึกษามาอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องจิต เขาอาจจะรู้ได้อธิบายได้ แต่มันก็เป็นเรื่องไร้สำนึกหรือใต้สำนึกอยู่ดี ทีนี้พวกชาวบ้านทั่วไปไม่มีความรู้เรื่องนี้เข้ามาเดินในที่นี้สบายก็บอกว่ารู้สึกว่าสบายนั่นละ แต่บอกไม่ถูกว่าเพราะเหตุอะไร พิสูจน์ได้ง่าย ๆ ตรงที่ว่าจะทำให้เป็นอย่างนี้ตามลำพังเมื่อไร ที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้...ก็ได้ไหม ก็ได้ อาจจะทำได้ไหมหรือทำไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างไร นี้เราเรียกว่าจิตว่างประเภทประจวบเหมาะโดยธรรมชาติแวดล้อม อย่าเอาไปปนกับไอ้ที่พูดว่าจิตว่างตามธรรมชาติ เช่น นอนหลับ เช่นอะไรนั่นมันจิตว่างตามธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับเราจัดหรือเราทำมันเลย ทีนี้ไม่ได้นอนหลับกำลังตื่นอยู่ กำลังทำอะไรอยู่ ถ้าสิ่งนั้นมันประจวบเหมาะ มีความประจวบเหมาะ ไอ้ ตัวกู-ของกู มันไม่ลุกขึ้นมา ไม่มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมา มันก็สบาย เรายังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร? ในภาษาที่ใช้พูดกันอยู่มันไม่มีเรื่องนี้ก็ไม่เคยพูดกันถึงเรื่องนี้ ไม่เคยรู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำไป ผมอยากจะพูดก็ไม่มีคำจะพูดก็เลยพูดไปตามที่จะนึกได้ เช่น คำว่าจิตว่างประจวบเหมาะ แต่ในอาการอย่างนี้ผมอยากจะเรียกว่ามัน (คือ) ความสมดุลของตัวกู ไม่ใช่สมดุลให้ตัวกูเกิด แต่สมดุลให้ตัวกูไม่อาจจะเกิด นี้, หมายความว่าคนนั้นไม่ได้หมดกิเลส ยังมีกิเลสที่อาจจะเกิด ตัวกู-ของกู เมื่อไรก็ได้ แต่แล้วสิ่งแวดล้อมมันทำให้เกิดไม่ได้ ไอ้ความสมดุลในการที่มันจะไม่เกิดนั่น - มันมีอยู่ในขณะนั้นแล้วเราก็รู้สึกสบาย ไอ้ที่ว่าพฤติของจิตเป็นไปโดยไร้สำนึกนี่มันก็แสดงอยู่แล้วว่าจิตไม่ได้หยุด จิตไม่ได้หยุด ไม่ได้หลับ หรือไม่ได้สลบ หรือไม่ได้อะไร มันมีพฤติการปรุงแต่งทางจิตอยู่ตามธรรมชาติ ตามที่ว่ามันจะต้องเปลี่ยนไป, เปลี่ยนไป เช่น เรามาเดินอยู่ในสวนโมกข์นี่ความคิดนึกรู้สึกมันก็มีทำงานอยู่ตาม...ตามปกติ ตาเห็นรูปแล้วมันก็มีพฤติของจิตปรุงกัน รู้ว่าเห็นรูปอะไร จำได้ว่าต้นไม้อะไร ก้อนหิน ก้อนดิน อะไรนี่มันก็รู้สึกแล้ว จนกระทั่งรู้สึกเป็นเวทนาที่สบาย อย่างนี้ทุก ๆ ขั้น ทุก ๆ ตอนเรียกว่าพฤติของจิตไม่ได้หยุดเป็นไปเองโดยไร้สำนึก แล้วสมดุลในทางที่จะไม่เกิดตัวกู หรือถูกต้องในทางที่จะไม่เกิด ตัวกู-ของกู พอผิดคือไม่ถูกต้อง มันก็เกิด ตัวกู-ของกู และเป็นทุกข์
สมมติว่าคน ๆ หนึ่งเข้ามาในสวนโมกข์แล้วสบาย...สบายบอกไม่ถูก แล้วภายในไม่กี่นาทีมันหวนกลับไปถึงไอ้ความที่เราไม่มีที่อย่างนี้ หรือว่าน้อยเนื้อต่ำใจอะไรบางอย่างเพราะไม่มีอย่างนี้ หรืออีกทางหนึ่งเกิดอยากจะมีขึ้นมาอย่างรุนแรง ก็มีไอ้ความอยากความต้องการขึ้นมาอย่างรุนแรง อยากจะมีไอ้ที่อย่างนี้ที่บ้านเราบ้าง นี่พฤติของจิตเป็นไปในทางที่ไม่สมดุลแก่การที่ตัวกูจะไม่เกิด แค่สบายใจอยู่หน่อยหนึ่งเดี๋ยวก็เกิดเป็นความทุกข์ไม่สบายใจ ทีแรกเป็นความสมดุลที่ตัวกูจะไม่เกิดโดยธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัวนี่สบายบอกไม่ถูก แล้วสักเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเสียความสมดุลจนตัวกูเกิด จนต้องการ จนกระหายนี่ขึ้นมาอย่างไร้สำนึก ไร้สำนึกจนกระทั่งเป็นความทุกข์ก็เป็นความทุกข์อย่างไร้สำนึก เช่นเดียวกับอีกทางหนึ่งมันเป็นความสุขสบายอย่างไร้สำนึก ไอ้ความไร้สำนึกในทางธรรมะหรือทางภาษาธรรมะเราเอากันแต่เพียงเท่านี้ก็พอ ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์อะไรมากมาย เพราะว่าความประสงค์ของเราเพียงแต่จะรู้จักเรื่องนี้ เพื่อบังคับมันให้ได้, ปรับปรุงมันให้ได้ และจัดมันให้ได้ ตามที่เราต้องการจะให้มันเป็น เพื่อเราจะได้ไม่...ไม่มีความทุกข์ ป้องกันความทุกข์และไม่มีความทุกข์ก็พอแล้ว คุณก็ไปทบทวนเรื่องจิตว่างชนิดที่ประจวบเหมาะ ที่เป็นไปโดยประจวบเหมาะให้มาก ๆ เมื่อไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ก็ตามหรือเมื่ออยู่ในกุฏิ ในที่อยู่อาศัยแคบ ๆ นี้ก็ตามมันมีได้ด้วยกันทั้งนั้น มันมีได้ง่ายในที่ ๆ ออกไป ในที่โล่ง ที่สบาย ตามธรรมชาตินั้นมันมีได้ง่าย ส่วนที่จะมีอยู่ในห้อง, ในที่ทำงานไหนมันมีได้ยาก ต้องฉลาด ผลของมันคือตทังคนิพพาน
ทีนี้บางองค์ที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยฟังเรื่องนี้ แต่ว่าผู้ที่อยู่ประจำก็เคยได้ยินได้ฟังมาหลายครั้ง หลายสิบครั้ง คือเวทนาเป็นของเย็น เพราะความประจวบเหมาะของสิ่งแวดล้อมไปในทางที่ไม่ให้เกิด ตัวกู-ของกู มีความสมดุลในการที่ไม่เกิด ตัวกู-ของกู พฤติของจิตก็ยังคงเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมัน จนกระทั่งถึงเวทนา เวทนานั้นเลยเย็น-ไม่ร้อน คือไม่เป็นทุกข์ ทั้งหมดเป็นไร้สำนึก ตรงนี้ก็อยากจะเตือนอีกว่าไอ้ที่ว่าไร้สำนึก, ไร้สำนึกนี่ อย่าไปเข้าใจว่าไม่มีประโยชน์ หรือว่ามันไร้สำนึก หรือมันใต้สำนึกแล้วเราบังคับมันไม่ได้ ที่จริงเรื่องไร้สำนึก, เรื่องใต้สำนึกนั่นมันบังคับได้เหมือนกัน แต่มันมีวิธีอีกวิธีหนึ่ง เพราะเราไม่รู้จักต้นเหตุมันโดยตรงมันก็ยังบังคับไม่ได้โดยตรง แต่มันมีทางที่บังคับได้โดยอ้อมเหมือนกับสิ่งบางสิ่งเราไม่เห็นตัวแต่เราดักหรือว่าเราล้อมจนได้ตัวมาก็ได้ หรือให้ถูกวิธีที่มันจะทำอันตรายอะไรเราไม่ได้ก็ได้เหมือนกันโดยไม่ต้องไปจับตัวมันมา ทีนี้เพื่อให้มันง่ายเข้าก็ใช้คำว่าเป็นความสมดุลประจวบเหมาะในลักษณะนั้น มิได้หมายความว่าหมดกิเลส เพราะว่าไอ้การหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงนั้นมันยังเอามาพูดไม่ได้ เช่นมันยังไม่ถึงแต่เดี๋ยวนี้เราต้องการจะมีความสบายอย่างคนไม่มีกิเลส ทั้ง ๆ ที่มีกิเลสอยู่นี่เราก็ต้องมีวิธีอ้อมโดยอ้อมบางอย่าง, บางอย่าง แล้วก็มีอยู่หลายอย่าง แต่โดยเฉพาะในที่นี้ก็เรื่องการควบคุมจิตใต้สำนึกนี่เอง
เพราะฉะนั้นคนโบราณเขาก็ฉลาด เขามีอะไร มีระเบียบ พิธี มีประเพณีอะไรที่มันให้เป็นอยู่ในประจำวันนี้ชนิดที่จะช่วยให้มีความสมดุลของการไม่เกิดแห่งตัวกูนี้มาก ระเบียบทางศาสนา, วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนา หรือบทบัญญัติทางศาสนา ส่วนใหญ่ก็มุ่งหมายอย่างนี้ เช่นว่าพอตื่นขึ้นมาก็ให้ทำอะไร พอตื่นขึ้นมาก็ไหว้พระ ไหว้พระหัวรุ่ง จะไม่นึกถึงอะไรหมด จะไม่ปล่อยให้จิตไปนึกถึงอะไรเลย จะไหว้พระหัวรุ่ง แล้วออกมาจากที่ไหว้พระ ที่นอน หรือที่อะไรก็ตามแต่ด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็นึก คิด ตามแบบที่เขามีไว้สอนไว้ว่า เราจะต้องควบคุมความนึกคิดอย่างนั้น จะไปทำงานด้วยความมีสติสัมปชัญญะ ความอดกลั้น อดทน ตลอดถึงไอ้บทบัญญัติอื่น ๆ ที่เขามีไว้สำหรับให้ประพฤติ เป็นเหมือนกับว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปเลย สิ่งเหล่านี้จะช่วยควบคุมไอ้พฤติของจิตใต้สำนึกได้ทั้งนั้น ทีนี้เมื่อทำถูกวิธีแล้วมันก็จะช่วยให้มีความสมดุลในการที่จะไม่เกิดตัวกูอยู่เรื่อยไป มันก็สบายเลย-เรื่อยไป นี่ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อให้คุณสวดมนต์ไหว้พระนะ บอกให้รู้ เพราะมันยังมีอย่างอื่นอีกซึ่งไม่ใช่การไหว้พระสวดมนต์ มันมีอีกมาก ๆ อย่างละ ไปสังเกตเอาให้รู้ มันมีความสัมพันธ์กันภายใต้ความสำนึก ทีนี้เราไม่มีปัญญาจะค้นหาได้เองก็เชื่อคนเฒ่าคนแก่บ้างสิ หรือว่าเชื่อพระพุทธเจ้าที่สอนให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร นี่ก็คือการปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรมนั่นละ เมื่อปฏิบัติอยู่ตามนั้นแล้วความรู้สึกเต็มสำนึกก็ดี, ใต้สำนึกก็ดี จะเป็นไปแต่ในทางที่ไม่เกิด ตัวกู-ของกู ด้วยกันทั้งนั้นแล ฉะนั้นอย่ามองกันอย่างหยาบ ๆ หรือว่าไม่ถูกต้องว่าทำไมเราปฏิบัติแล้วไม่เห็นได้ผลอะไรในทันที นี่ต้องนึกไว้ก่อนว่ามันยัง...มันยังไม่พอ แต่ขอให้ทำไป มันจะสะสมไว้ภายใต้สำนึกแล้วค่อยแสดงผลทีหลัง และเป็นผลออกมาชนิดที่เรารู้ไม่ได้อีกเหมือนกันว่ามันเป็นความสุขมาจากอะไร ที่แท้ก็มาจากที่เราอุตส่าห์ปฏิบัติ สังวรณ์ ระวัง รักษาให้ดี
ทีนี้, สรุปความสั้น ๆ ว่า ไอ้ที่เราปฏิบัติธรรมะนี่เพื่อผลเป็นความรู้สึกเต็มสำนึกด้วยและเพื่อผลชนิดที่เป็นใต้สำนึกหรือไร้สำนึกด้วย ความสำคัญในข้อนี้มันมีอยู่ที่ว่าถ้าเราจะต้องมีการกำหนดรู้สึก เต็มสำนึกอยู่เรื่อยเราก็เหนื่อยตาย นี่เราก็เหนื่อยตายเลย ตายเพราะความเหนื่อยในการเฝ้าระวังจิต ฉะนั้นก็ต้องจัดไว้ให้ดีจนกระทั่งว่ามันอยู่ได้ภายใต้สำนึก ไอ้ความถูกต้องมันก็เลยมีอยู่ตลอดเวลา เราไม่ต้องนั่งเกร็งข้อเฝ้ามันเหมือนกับเฝ้ายิงนกยิงสัตว์อะไรซึ่งมันเหนื่อย...เหนื่อยที่สุด เราจัดทำให้ดีมันก็จะเกิดความถูกต้องขึ้นภายใต้สำนึกและก็มีอยู่เป็นพื้นฐานได้ นี้มีผลทันตาเห็นให้เราสบายอย่างหนึ่งก่อน ได้กำไรก่อน และผลที่ดีไปกว่านั้นก็เรียกว่าเดี๋ยวนี้, เราเป็นผู้อยู่โดยชอบชนิดที่กิเลสไม่มีทางเกิด กิเลสไม่ได้อาหาร สักวันหนึ่งกิเลสจะต้องตายไปเพราะไม่ได้อาหาร มันก็เป็นความหมดกิเลส ได้ผลที่สูงสุด ผมได้พูดมาหลายครั้งแล้วเรื่องการเป็นอยู่ชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นพระพุทธภาษิตว่าอย่างนี้ เป็นอยู่ชอบโดยเฉพาะก็ เช่น มรรคมีองค์๘ เป็นอยู่อย่างนี้กิเลสไม่มีทางเกิด ไม่มีคือไม่ได้อาหารหล่อเลี้ยงกิเลสนั้นมันก็เป็นความดีสูงสุดที่ว่าวันหนึ่งมันจะสิ้นกิเลส แต่เดี๋ยวนี้มันได้ผลทันตาเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือเราเป็นสุขตลอดเวลา การที่เราเป็นอยู่อย่างนั้นคือมีความถูกต้องในการเป็นอยู่นั้นมันเต็มไปด้วยไอ้ความถูกต้องภายใต้สำนึกซึ่งจะปรุงแต่งจิตใต้สำนึกให้สงบ ให้สบาย ให้อะไรไป อีกส่วนหนึ่งเราก็ไม่ฝันร้าย เราก็ไม่ตื่นขึ้นมาแล้วละห้อยละเหี่ยไม่มีความสุข ผมไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็เรียกว่าไอ้ความสมดุลของตัวกูในทางที่จะไม่เกิดขึ้นมา เรียกว่าสมดุลแห่งอัตตา สมดุลแห่งอัตตาในทางที่จะไม่เกิดเป็นตัวกูขึ้นมาเต้นเร่า ๆ อยู่, มันอยู่สบายทั้ง ๆ ที่มันเป็นอัตตาเป็นเชื้อ หรือว่าเป็นไอ้ความรู้สึกที่พร้อมที่จะเกิด ตัวกู-ของกู แต่มันไม่เกิด มันมีความพอดีไปในทางที่ไม่ให้เกิด เราก็สบาย เรื่องนี้มันยืดยาวจะพูดให้ละเอียดมันก็ต้องยืดยาวมาก แต่นี่พูดโดยคร่าว ๆ โดยเค้าโครงว่ามันมีอยู่อย่างนี้ เราจะต้องรู้และต้องทำต่อไปให้ได้
ที่ผมอธิบายนี้ก็เพื่อประกอบคำอธิบายเรื่องจิตว่างประจวบเหมาะหรือตทังคนิพพานนั่นเอง ส่วนเรื่องจิตว่างเพราะเราบังคับหรือว่าวิกขัมภนนิพพานนั้นมันก็ต้องพูดอย่างอื่นคราวอื่น และก็ได้พูดมากแล้วเหมือนกัน โดยเฉพาะเช่นการทำอานาปานสติครบทั้งชุดนั่นละนั่นนะมันคือไอ้การทำให้จิตว่าง เพราะบังคับเอาไว้แล้วก็ได้รับนิพพานที่เป็นวิกขัมภนะ คือบังคับให้มันเย็น ให้เวทนาเป็นของเย็นอยู่ได้อย่างนี้ นี่ที่พูดนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้น เกี่ยวกับไอ้หัวข้อแรกที่ว่า นิพพาน-ไอ้จิตว่างประจวบเหมาะ ไอ้นิพพานเพราะความประจวบเหมาะนี้ ทีนี้ความประจวบเหมาะนี่เราก็จัดไม่ได้ก็เลย...มันเป็นเรื่องใต้สำนึก เราก็เพียงแต่ทำตัวให้มันเหมาะที่มันจะเป็นของมันเองอย่างที่จะทำได้ เว้นเสียแต่ว่าเราเป็นผู้แตกฉานในเรื่องไอ้จิตใต้สำนึกเราก็จัดได้มาก แต่เราจะจับตัวมันมาจัดก็ไม่ได้ มันก็จัดสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเอง การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันและสถานที่ที่เราจะเสพคบ หรือบุคคลที่เราจะเสพคบ อาหารการกินที่เราจะบริโภคอะไรก็ตามมันก็เกี่ยวเนื่องไปหมดมีความประจวบเหมาะ มันก็ช่วยในเรื่องนี้ แล้วผมว่าไม่มีอะไรดีมากไปกว่าเรื่องไอ้วัตรปฏิบัติสำหรับภิกษุสามเณรหรือว่าอุบาสกอุบาสิกาที่เขาวางไว้ดีแล้ว จะช่วยมากในเรื่องจิตว่างใต้สำนึก คือจิตว่างประจวบเหมาะ คุณรู้จักแยกให้ดีนะว่าผมพูดเรื่องจิตว่างนี่มาเรื่องเกี่ยวกัน ตัวกู-ของกู นี่มาไม่รู้กี่สิบครั้ง หรือ ๒๐๐-๓๐๐ ครั้ง แต่วันนี้แยกพูดเรื่องจิตว่างชนิดที่เป็นอย่างไร้สำนึกหรือใต้สำนึก ให้รู้จักใช้ให้มันเป็นประโยชน์ คือเราทำให้มัน...มันจะใช้คำว่าอะไรก็ยาก ต้องใช้คำว่าเหมาะสม-สมดุล คือเหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อย ไม่แรง ไม่เบา ไม่สูง ไม่ต่ำอะไรนี้ คือมีความสมดุลในลักษณะที่มันไม่อาจจะเกิดหรือจะพูดให้มันเป็นบุคลาธิษฐานมากกว่านั้น ก็มาพูดว่าชนิดที่ว่าไอ้อัตตานั้น, ตัวกูนั้นมันพอใจ มันพอใจเพียงเท่านั้น มันนอนหลับ ไม่มีอะไรไปกวนให้มันลุกขึ้นมา มันนอนหลับได้ นี่พูดอย่างบุคลาธิษฐาน เมื่อมันนอนหลับได้มันก็ไม่กวนเราเท่านั้นเอง เหมือนกับว่าโรคพยาธิในตัวเรานี่ถ้ามันหยุด มันหลับ มันไม่ทำอะไร เราก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ถ้ามันลุกขึ้นมากัด มาดูด มาอะไรเข้าเราก็ไม่สบาย ทีนี้เรามีเชื้อกิเลสหรือความเคยชินแห่งการเกิดของกิเลสประเภท ตัวกู-ของกู นี่อยู่เป็นประจำด้วยกันทุกคน เรามีวิธีชนิดที่จะให้มันนอนหลับอยู่เรื่อยเราจึงจะสบาย ถ้าเราไปจับเอาเชือกมัดจับมัดมัน มันก็ดิ้นวุ่น มันก็กวนเราด้วยเหมือนกัน เหมือนเราจะต้องเลี้ยงเด็ก ๆ นี่ถ้าเด็ก ๆ มันหลับเราก็สบาย ถ้าเด็กมันไม่หลับเราก็จะต้องจับ จะต้องอุ้ม หรือจะต้องผูกให้มันอยู่ มันก็ไม่ ๆ ไม่สนุกเลย มันรู้จักประคับประคอง หรือทำอะไรชนิดที่เรียกว่ามีศิลปะนี่เหมือนการที่ให้ตัวกูมันไม่พล่านขึ้นมา ให้มันนอนหลับ อดอาหาร จนกระทั่งตายไป ให้มันนอนหลับและอดอาหารตายไป ฟังดูแล้วก็น่า น่าขัน ถ้ามันไม่ได้นอนหลับ มันอดอาหาร มันดิ้น เราก็แย่เหมือนกัน
ไอ้ความทุกข์มันก็อยู่ที่ตรงนี้เองเหมือนกับเราให้มันกินยานอนหลับเรื่อยไปจนไม่ได้กินอาหาร จนมันตายไปเอง นี่มันไม่กวน ไม่กวนเรา ไม่กวนจิตใจของเรา อุบายไร้สำนึกใต้สำนึกมันมีอยู่อย่างนี้ ในทางปฏิบัติธรรมะ คุณจะเห็นว่าสำคัญหรือไม่สำคัญก็ลองคิดดู ส่วนผมรู้สึกว่าสำคัญมาก แต่มันออกจะประณีตละเอียดคล้าย ๆ กับว่าเหลือวิสัย มันมีความประณีตมีความละเอียด ทีนี้ต้องดูต่อไปว่าเมื่อไอ้เรื่องที่มันสงบสบายมันเป็นเรื่องใต้สำนึก ไอ้เรื่องที่มันจะโผล่หัวออกมาจะเกิดขึ้นมามันก็เป็นของใต้สำนึกเหมือนกัน มันเท่ากันอย่างนี้ ในเมื่อไอ้ความสุขที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่มีเหตุผลเพราะใต้สำนึกมันมีได้เท่าไร ไอ้ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นโดยไร้เหตุผลใต้สำนึกมันก็มีได้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราจะได้เปรียบอะไรมากมายนัก เพราะเราต้องรู้จักแก้ไข หรือป้องกัน หรือว่าต่อสู้อะไรก็ตามให้มันถูกวิธีในการที่จะได้เปรียบทางฝ่ายที่ว่าจะไม่เกิดเป็นความทุกข์จึงต้องระวังเท่ากัน หรือว่าต้องจัดต้องทำเท่ากันเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ เพื่อให้เกิดความสุข เลยกลายเป็นคำ ๆ เดียวกัน ถ้าความทุกข์ไม่เกิด ก็คือความสุขเกิด นี่คืออธิบาย คำอธิบายที่ละเอียดลงไปอีกสำหรับหลักที่ว่า เป็นอยู่โดยชอบ-โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์
เมื่อก่อนนี้เราพูดกันแต่เรื่องเต็มสำนึก มีเจตนาปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอยู่โดยชอบ เป็นประเภทวิกขัมภนะไปหมด ถ้าจิตว่างก็ว่างประเภทวิกขัมภนะ ถ้าได้นิพพานมาก็เป็นนิพพานวิกขัมภนะ ทีนี้เราพูดเป็นประเภทไร้สำนึกใต้สำนึกเป็นตทังคะ (เป็นความประจวบเหมาะ) ก็เพราะเหตุผลอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ไอ้วิกขัมภนะนี้ไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา มันเหนื่อยตายเลย ทีนี้ต้องมีการจัด, การทำที่ถูกต้องดีแล้ว ที่ไม่ต้องนั่งระวังนั่งเฝ้าอยู่นี่มันก็เกิดไม่ได้ เป็นเรื่องไร้สำนึกหรือเป็นเรื่องใต้สำนึกเราก็สบาย แต่ว่าโดยที่จริงแล้วที่เราอยู่เป็นคนอยู่ได้ไม่เป็นบ้า-ไม่วิกลจริตอย่างนี้ก็เพราะว่ามีความถูกต้องของจิตภายใต้สำนึกอยู่พอสมควร แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความถูกต้องอย่างไร? ธรรมชาติมันจัดให้พอเหมาะ พอไม่ต้องเป็นบ้า แล้วถ้าใครมันพลาดผิดไปเกินกว่าที่ธรรมชาติกำหนดแล้วเกิน ๑๕ เปอร์เซนต์หรือเกินอะไรแล้วมันก็ต้องเป็นบ้า นี้เรียกว่าโดยเนื้อแท้ธรรมชาติก็ดีที่สุดนะ ดีต่อเรานะนี่พูดอย่างสมมติ นี่มันดีต่อเรา ดีอย่างที่สุดแล้วที่เราอยู่ได้โดยไม่เป็นบ้าโดยฝีไม้ลายมือของธรรมชาติ แต่พวกนักวิทยาศาสตร์เขาไม่พูดอย่างนี้ เขาไม่พูดว่าเราเป็นหนี้บุญคุณธรรมชาติ อย่างผมกำลังพูด เขาพูดกลับไปทางอื่นก็ตามใจเขา เช่น เขาจะพูดว่ามันมีธรรมชาติหลายอย่าง ไอ้ธรรมชาติที่ประจวบเหมาะนี่มันจึงเหลืออยู่ได้ คือเราที่นั่ง...ที่นั่งอยู่ได้แล้วไม่เป็นบ้า ไม่พูดอย่างนั้น ผลมันก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของธรรมชาติทำให้ ความประจวบเหมาะนี้ธรรมชาติทำให้ก็ไร้สำนึก ถ้าธรรมชาติไม่ทำให้เราก็ตายแล้ว ตายหมดแล้ว ไม่มี ไม่เหลืออยู่ในโลกนี้เลย
ตามหลักธรรมชาติที่ว่า...อันไหนไม่เหมาะ อันนั้นตายไปแล้ว อันนั้นดับไปแล้ว The fittest is the survival. อันไหนเหมาะที่สุด อันนั้นอยู่ แต่นี้เราไม่พูดในแง่วิทยาศาสตร์, วัตถุ เราพูดในแง่ศีลธรรม เราจะพูดว่าเรามีความกตัญญู ขอบใจธรรมชาติที่จัดไว้ดี นี่เราจะเพาะนิสัยกตัญญูลงไปในหัวใจของเรา เป็นเรื่องของศีลธรรมผมว่าดีกว่า ดีกว่าจะพูดเป็นเรื่องของวัตถุล้วน ๆ แล้วก็รู้เพียงว่า มึงก็มึง กูก็กู ไม่ต้องขอบใจกัน ทีนี้เราจะเรียกธรรมชาติว่าพระเจ้า เราก็ขอบใจพระเจ้าเป็นประจำวันเลยที่ทำไว้ดีจนลูกได้มีความสุขคืออยู่รอดไปได้วันหนึ่ง พวกที่ถือพระเจ้าก็ขอบใจพระเจ้ากันอย่างนี้ก็ถูกเหมือนกัน คือทำให้มันง่ายเข้า ให้มันง่ายเข้าสำหรับเด็ก ๆ ทีนี้เราไม่ใช่เด็ก บางอย่างเราก็ยังเป็นเด็กอยู่มาก เอาละ, เราก็ไม่ใช่เด็ก เราก็มีปัญญาอย่างไรที่จะทำให้มันได้ผลดีก็ทำไปเถิดก็ทำไปตามนั้น ความหวังอันสูงสุดของมนุษย์หรือสิ่งที่มีชีวิตนี้ มันก็อยู่ไอ้ที่ความสบาย ความสุข ไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่านี้ แต่แล้วมันเข้าใจคำว่าความสุขนี้ผิดกันไป ผิด ๆ กันไปตามระดับ ความสมหวังเป็นความสุขนั่นมันจริง แต่ว่ามันเป็นสุขชนิดหลอกลวง เพราะว่าความหวังนั้นอาจจะไม่ถูกต้องหรือทุจริต เพราะฉะนั้นความสมหวังมันก็เป็นความสุขอย่างหลอกลวง ดังนั้นมันก็เลยเป็นสิ่งที่ไม่สงบ มันเป็นสิ่งที่โยกโคลง หวั่นไหว โยกโคลง
ทีนี้เราต้องการความสุขที่ดีกว่านั้นเราก็เลยไปหวังความสุขที่ความไม่หวังอะไร เด็ก ๆ มักจะพูดว่าชีวิตอยู่ด้วยความหวัง คุณก็จะต้องได้ยิน แล้วบางทีคุณก็เป็นเด็กคนหนึ่งในจำพวกเด็กเหล่านั้นก็ได้ ว่าชีวิตนี้อยู่ด้วยความหวัง มันก็ถูกละว่าความหวังนี้มันทำให้ดิ้นรนต่อสู้แล้วมันเป็นสุขต่อเมื่อไร มันเป็นสุขต่อเมื่อสมหวังนู่น ไม่ใช่มันมีความสุขในความหวัง ถ้ามีความสุขในความหวังมันก็เป็นเรื่องหลอกหรือประเล้าประโลมปลอบโยนไปเท่านั้นเองจนกว่ามันจะสมหวัง ทีนี้ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความหวังนี่ ผมขอร้องว่าให้ดูให้ดี ๆ มันมีอยู่เป็น ๒ ชนิดเหมือนกัน ในความหวังที่มันไม่เดือดพล่านขึ้นมานั้นมันก็ยังไม่เป็นไร คือยังไม่เป็น ตัวกู-ของกู ที่เดือดพล่านขึ้นมา ความคิด, ความปรารถนา, ความตั้งใจ หรือปณิธานอะไรก็ตามที่เราทุกคนก็มีอยู่ แต่แล้วควบคุมอยู่ได้ ไม่ให้ ๆๆ เดือดพล่านขึ้นมา เป็นความหวังที่อยู่ใต้สำนึกอีกทีหนึ่ง ความหวังชนิดนี้ไม่ขบกัดเรา ไม่เสียดแทงเรา คือยังไม่เป็นความหวังที่เป็นกิเลสตัณหา หรือเป็นความตั้งใจที่ถูกต้อง หรือบางทีก็เป็นตัวสัมมาทิฏฐิเสียเองก็มี มันจึงไม่ขบไม่กัดเราให้เดือดร้อน แต่ภาษาบาลีจะไม่เรียกว่าความหวัง ภาษาไทยก็เรียกว่าความหวังไปหมด มันทำยุ่งตอนที่ภาษามันยุ่งภาษามันสับปลับ ในเมื่อเอามาเทียบกันระหว่าง ๒ ภาษาหรือว่าในภาษาเดียว ๆ กันมันก็ยังมีความสับปลับกลับไปกลับมา ฉะนั้นเข้าใจคำว่าความหวังไว้ดี ๆ ตั้งปณิธานว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้นะมันเป็นไอ้ความหวังในภาษาไทย แต่ไม่ใช่เป็นความหวังในภาษาบาลี ความหวังในภาษาบาลี หมายถึงมันเดือดจัด เป็น ตัวกู-ของกู ครุ่น (กรุ่น)อยู่เรื่อย มันก็ทรมาน ทั้งการตั้งปณิธานเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นเรื่องทรมานมันก็เป็นเรื่องโง่เขลา มันต้องเป็นเรื่องที่จัดทำไว้ดีแล้ว ปล่อยให้เป็นไปภายใต้สำนึก เจริญงอกงามไปภายใต้สำนึก มันก็สบาย ชื่นอกชื่นใจไปเรื่อยจนกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าคุณเป็นเด็กที่ถือหลักว่าชีวิตอยู่ด้วยความหวัง และก็เข้าใจความหวังให้ดี ๆ ความหวังที่ไม่รบกวน เป็นความหวังที่อยู่ใต้สำนึก มีเหตุมีผลมีความถูกต้องอย่างนั้นก็ใช้ได้ ถ้าเป็นความหวังที่ทำให้สะดุ้งฝันร้ายอยู่ตลอดเวลานั่นคือตกนรกทั้งเป็น มันเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นอะไร เป็น ตัวกู-ของกู ทั้งใต้สำนึกและเต็มสำนึก มันก็จะต้องจวน ๆ เป็นบ้าแล้ว มันจะนอนฝันสะดุ้ง แล้วตื่นอยู่มันก็หิวกระหายในทางจิตทางวิญญานอยู่เรื่อยไม่มีประโยชน์อะไร โดยสมมติเราเรียกว่ามีตัวเรา มีอัตตา มีตัวเรา คือจิตที่มันยังรู้สึกว่ามีตัวเราและมันก็ต้องมีความหวัง ทีนี้ ความหวังคำนี้ดูให้ดีมีอยู่หลายแง่หลายมุม เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ เหมือนกับไฟลุกอยู่โพลง ๆ ก็ได้ ถ้าปล่อยให้มันเป็นเต็มสำนึกขึ้นมาด้วยไอ้ความโง่เขลาเป็นอวิชชา แต่ถ้ามีความรอบรู้ มีสติปัญญาเพียงพอมันก็ไม่ ๆ เป็นอย่างนั้น มันก็กลายเป็น ๆ รากฐานที่ดี หรือเป็นต้นทุนที่ดี หรือปณิธานที่ดี เป็นความต้องการของสัมมาทิฏฐิ เรียกว่าปณิธานที่ดี มันก็เจริญงอกงามไป (หันไปพูดกับโยม นาทีที่ 43.50 -44. 17)
ทีนี้เราจะมองดูง่าย ๆ ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรมันจึงจะเต็มอยู่ด้วยความอิ่ม ความรู้สึกอิ่ม คำว่าอิ่มในที่นี้ก็เป็นภาษาทางวิญญาณ ไม่ใช่ภาษาทางอิ่มข้าว อิ่มน้ำ อิ่มไอ้วัตถุ ไอ้ชีวิตที่จะเต็มอยู่ด้วยความอิ่มไม่ต้องการอะไรนี่ มันเป็นไอ้...มันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากน้อยอย่างไรคุณอาจจะยังไม่เข้าใจ ที่จริงมันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา ถ้าให้ผมพูดตามภาษาของพุทธศาสนามันก็พูดอย่างนี้ ไอ้ชีวิตที่มันรู้สึกอิ่มไปหมดไม่ต้องการอะไรคือสูงสุด คือชีวิตของพระอรหันต์ ไอ้ชีวิตที่หิวที่ต้องการอยู่เรื่อยนี้มันก็เป็นชีวิตของปุถุชน ถ้าเรายังถือหลักว่าชีวิตอยู่ด้วยความหวังก็หมายความว่ายังไม่อิ่มยังหิวอยู่เรื่อย เว้นไว้แต่จะเป็นความหวังอย่างที่ผมได้พูดไปแล้วคือปณิธานที่ตั้งไว้ดีแล้วก็อยู่ใต้สำนึก ถ้าเป็นชนิดนี้ทำให้อิ่มอยู่ได้ ทำให้เรารู้สึกอิ่มอยู่ได้ เราจะใช้เครื่องมืออุปกรณ์วิธีไหนก็ตามใจนะ จะใช้สมาธิ ใช้อะไร วิปัสสนาวิธีไหนก็ตามใจ ที่มันสามารถทำให้อิ่มอยู่ได้โดยไร้สำนึกมันก็ใช้ได้แล้ว ถ้ามันกลับไม่อิ่มได้อีกก็เรียกว่ายังไม่บรรลุถึงที่สุด ถ้ามันอิ่มได้ไม่กลับมาหิวอีกก็เรียกว่าถึงที่สุด เพราะฉะนั้นคุณไปสังเกตดูให้ดี ๆ ว่าความหิวของคุณมีเท่าไร? ความหวัง, ความหิว แล้วมีชนิดที่ไร้สำนึกหรือใต้สำนึกอยู่อย่างไร? ก็สังเกตได้ที่ความฝัน เรามีอะไร ๆ ชนิดที่ใต้สำนึกอย่างไรนั้นสังเกตได้ที่ความฝันเป็นส่วนใหญ่ แต่เราต้องรู้จักสังเกต รู้จักคำนวณ รู้จักเอามาประมวลมาคำนวณดู ไอ้ความฝันนี้สนุกมากตีความได้พิสดาร แต่ถ้าเป็นนักเลงพุทธศาสนา พุทธบริษัทก็ตีความไปในทางที่จะให้รู้จักกิเลสที่ซ่อนอยู่ภายใต้อย่างที่กำลังพูดว่าเรามีความหิว, ความหวัง, ความอยากอยู่อย่างไร? เท่าไร? สังเกตได้จากความฝัน ก็จะได้รู้จักตัวเองดีขึ้น ว่าตัวเองนี่มันยังต่ำต้อยอยู่เพียงไรในทางธรรมะนี่ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ฝันเลย เพราะว่าหยุดหวัง หยุดอยาก หยุดต้องการ ใต้สำนึกไม่มีให้ฝันให้อะไรทำนองนั้น ทีนี้ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังฝันอยู่ ด้วยอำนาจพฤติใต้สำนึกของจิตมันก็ช่วยให้เรารู้จักจิตนั้นได้ดี รู้ขั้นชั้นแรกรู้ว่ามันมีกิเลส และขั้นต่อไปก็รู้ว่ากิเลสประเภทไหน...ประเภทโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้การปรับปรุงให้ดีขึ้นมันก็ทำได้ง่าย เพราะมันรู้อะไรพอสมควร ทีนี้เราก็เอาไอ้หลักที่ว่ามันอิ่มหรือไม่อิ่มนี่มาเป็นเครื่องวัด ถ้ามันอิ่มมันก็ไม่ฝัน หรือก็ไม่ฝันร้าย ถ้ามันไม่อิ่มมันก็ฝันร้ายหรือฝันมาก ฉะนั้นอย่าปล่อยให้มันแล้ว ๆ ไปเรื่องอย่างนี้ ถ้าสนใจจะศึกษาพุทธศาสนาก็ต้องสนใจเรื่องอย่างนี้ คือเรื่องของกิเลส เรื่องปรากฏการณ์ของกิเลส เรื่องนิมิตเรื่องอะไรของกิเลสก็ต้องสนใจเป็นธรรมดา นั่นมันยังยากลำบากตรงที่ว่าจะต้องสนใจลงไปถึงขั้นใต้สำนึกอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว บางทีมีคนพูด หรือผมก็ชอบพูดกับเขาด้วยเหมือนกันว่ามันเหมือนกับมีคน ๒ คนในเรานี่ มีคน ๒ คน คนข้างนอกที่กำลังอะไร ๆ อยู่นี่คนหนึ่ง และคนที่เป็นใต้สำนึกอีกคนหนึ่ง ที่แยกเป็น ๒ คนก็เพราะว่าบางทีไอ้จิตไอ้คนนอกนี่-คนเต็มสำนึกนี่ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่คนใต้สำนึกนั่นทำอยู่อย่างตัวเป็นเกลียว และไอ้คนข้างในนั้นคือคนสำคัญ จะบ้าหรือดีก็อยู่ที่ไอ้คนข้างใน อย่าทำเล่นกับไอ้จิตที่เรียกว่ามันเป็นประเภทใต้สำนึก
เมื่อมองดูในแง่ของธรรมะแล้ว มันก็คือที่ประมวลรวบรวมไว้ซึ่งสิ่งต่าง ๆ สิ่งที่เป็นอดีตต่าง ๆ ที่เขาเรียกกันว่า Experience หรืออะไรพวกนี้ จะเรียกเป็นภาษาไทยว่าอะไรคุณก็คงจะรู้ มันเป็นคลังใหญ่ที่รวบรวมไอ้สิ่งเหล่านี้ไว้ นั่นนะมันอยู่ใต้สำนึก มันเป็นบุคคลที่อยู่ใต้สำนึก มันพร้อมที่จะแสดงอะไรออกมาก็ได้ เพราะมันไว้มาก มันรวมไว้หมดตั้งแต่เราเกิดมา บางทีจะเรียกมันง่าย ๆ ว่านิสัย สันดานอะไรก็ได้ ไอ้ที่ว่านิสัย สันดานนี่ ต้องใต้สำนึกเสมอ ถ้ามันเต็มสำนึกอย่างนี้ไม่มีใครเรียกว่านิสัย สันดาน พฤติของจิตประเภทใต้สำนึก ความเคยชินของจิตประเภทใต้สำนึก กระทั่งผลที่เกิดขึ้นมาแสดงออกมาข้างนอกก็ล้วนแต่เป็นเรื่องคน ๆๆ ที่...บุคคลที่เป็นคนอยู่ใต้สำนึก ตัวเราประเภทใต้สำนึก ทีนี้มันเนื่องกันกับไอ้คนข้างนอก (คนที่เต็มสำนึก) ฉะนั้นการกระทำใด ๆ ที่กระทำแก่คนข้างนอกนี่มันมีผลลงไปบนบุคคลคนใน...คนข้างในด้วย
เพราะ(ฉะ)นั้นตัวอย่างไอ้ทางวัตถุที่ว่าเมื่อตะกี้ว่า ที่ว่าเอาเข็มแทงกี่ครั้งไอ้คนอัมพาตก็จะนึกถึงเลขนั้นขึ้นโดยไม่รู้ว่ามันมาจากอะไรถ้าให้เขานึกตัวเลข เอาแต่เพียงว่า..ขอสรุปเอาแต่เพียงว่า เราจัดการกับไอ้จิตเต็มสำนึกนะ เสร็จแล้วผลจะลงไปมีแก่จิตใต้สำนึกด้วย ฉะนั้นก็อย่าท้อถอยในการที่จะทำกิเลสให้สิ้นไป มันเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แล้วก็รู้จักวิธีการที่จะปรับปรุงไอ้เรื่องใต้สำนึกนี่ ให้มันดีกว่าที่แล้วมา ที่แล้วมาเราไม่รู้จัก ไม่รู้สึก ไม่เคยคิดจะปรับปรุงอะไรกับมัน ทีนี้ขอร้องว่าให้รู้จักมันบ้างและปรับปรุงมันให้มากขึ้น ถ้าทำอะไรไม่ถูกก็ขอให้ทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี หลักพระพุทธศาสนาที่วางไว้อย่างไรในชีวิตประจำวันมันก็เป็นการปรับปรุงที่ดี ตัวเรื่องแท้ ๆ อยู่ที่จิต และโดยเฉพาะจิตใต้สำนึก เพราะว่ามันเนื่องกันถึงร่างกายถึงอะไรหมดมันก็เลยต้องช่วยมันหมด ช่วยปรับปรุงให้มันดีหมด ถ้าร่างกายมันไม่ดี เช่น กำลังไม่สบายอย่างนั้นอย่างนี้กำลังท้องเสีย แม้ที่สุดแต่กำลังท้องเสียอย่างนี้มันก็มีผลลงไปถึงจิตหรือจิตใต้สำนึก ฉะนั้นเมื่อเราต้องการจะปรับปรุงไอ้จิตใต้สำนึก มันก็ต้องปรับปรุงร่างกายด้วย ปรับปรุงทางกายด้วย ทางระบบประสาทด้วย ส่วนการปรับปรุงทางสติปัญญานั้นเราถือเป็นหลักว่าต้องทำเป็นประจำวันอยู่แล้ว การปรับปรุงทาง Spiritual นั้นก็ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรง ๒๔ ชั่วโมงอยู่แล้วสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะนี่ แต่ถึงอย่างนั้นก็จะต้องปรับปรุงไอ้ทางร่างกายล้วน ๆ อย่าให้เกิดร่างกายวิปริต และก็ปรับปรุงทางระบบ mental ต่างๆ ให้ระบบประสาทมันดี ถ้าไปทำอะไรชนิดที่มันทำลายระบบประสาทแล้วเราจะทำอย่างไรได้ เช่น เราไปเสพของเสพติดหรืออะไรเข้าไปทำนองนี้ มันก็เป็นเรื่องหลอกให้ผิด ให้เข้าใจผิดกันไปหมด
นี้จึงเป็นการกระทำที่สัมพันธ์กันหมด ทาง physical (ทางร่างกาย) หรือว่าทาง mental (ทางระบบประสาท) คือจิตที่เกี่ยวกับร่างกาย และก็ทาง Spiritual คือทางจิตประเภทที่เป็นสติปัญญา ความคิดความเห็นทั้ง ๓ ชนิด และทั้ง ๓ กลุ่มนี้ต้องได้รับการกระทำที่ถูกต้องแล้วความเป็นไปใต้สำนึกก็จะดีที่สุด บุคคลที่ ๒ คือบุคคลข้างใน บุคคลใต้สำนึกนี่จะได้รับการปรับปรุงให้ดีที่สุด ทีนี้เราก็ได้กำไรทันตาเห็น คือเดี๋ยวนี้มีความอิ่ม เดี๋ยวนี้มีความสบาย เดี๋ยวนี้ก็มีความไม่ต้องการอะไร เหมือนพระอรหันต์เหมือนกัน ในเมื่อเราปรับปรุงจิตใจของเราอยู่อย่างนี้ เว้นไว้แต่เมื่อไรเราเผลอไป เราเกิดต้องการอย่างคน อย่างสัตว์ อย่างอะไรขึ้นมาอีก ถ้าเรายังมีสติสมบูรณ์อยู่เพียงไรเราก็จะมีความสบายเหมือนพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เรามันเผลอได้ พระอรหันต์ท่านไม่เผลออีกต่อไปมันต่างกันเท่านี้ เรายังกลับฝันร้ายได้ เมื่อพระอรหันต์จะไม่มีการฝันอีกต่อไปเพราะความเป็นผู้ชนะหมด ทั้งเต็มสำนึกและใต้สำนึก ไอ้เราก็ไม่เคยชนะเลยทั้งเต็มสำนึกและใต้สำนึกมาก่อน เพิ่งจะมาศึกษาปรับปรุงกันนี่ ที่รอดตัวมาแล้วแต่หนหลังเพราะธรรมชาติช่วยต่างหาก เพราะฉะนั้นอย่าอวดดี อวดดี คือประมาท ประมาทคือความตาย เพราะฉะนั้นอย่าได้อวดดี อย่าพลุ่งพล่าน โมโห โทโส ผลุนผลัน หุนหันพลันแล่น มันจะล้มละลายหมด
นี่ผมพูดเรื่องสิ่งที่ควบคุมยากหรือบางทีใช้คำว่าควบคุมไม่ได้โดยตรง ต้องควบคุมกันโดยอ้อมไอ้ความรู้สึกใต้สำนึกหรือจิตใต้สำนึก แล้วก็ให้มองมันในแง่ที่มันเป็นธรรมชาติ และให้มองหลักวิชาอันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ แม้การควบคุมจิตใต้สำนึกนี้มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของผีสางเทวดาหรือเรื่องลึกลับอะไร หากแต่ว่ามันเป็นวิทยาสาสตร์ของธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่ค่อยสนใจกัน อย่างนั้นเอาอย่างนี้ดีกว่า ว่าคุณจะไม่ถือเรื่องใต้สำนึกนี้ว่าเป็นเรื่องพุทธศาสนาก็ได้ แต่ขอให้ถือเป็นเรื่องสำคัญของสิ่งมีชีวิตของคนทุกคน จะถือศาสนาอะไรก็ตามใจเขาจะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจในการปรับปรุงไอ้ความรู้สึกใต้สำนึกหรือที่เราเรียกว่าบุคคลที่ ๒ ถ้าเขามีความสุขความสบายเหมือนพระอรหันต์ได้คือควบคุมคน ๆ นี้อยู่มือ ไม่เป็นไปในทางอันธพาลอีกต่อไปมันก็สบายแล้ว เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักไอ้หมอนี่อันธพาลใต้สำนึก เราก็มัวควบคุมแต่ข้างนอก มันก็เหมือนกับจับปูใส่กระด้ง ไม่เคยเหลือเลยอยู่ในกระด้งคือทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้มันเป็นเรื่องจับปูใส่กระด้งนี่จะต้องลึกเข้าไปถึงข้างใน ออกมาจากข้างใน มีความรู้ มีความเข้าใจ มีการปฏิบัติที่มันลึกลงไปถึงข้างใน แล้วมันออกมาจากข้างใน มาเป็นผลข้างนอก การปฏิบัติก็จะก้าวหน้าคือประสบผลสำเร็จเรื่อยไป มีความสำเร็จเรื่อยไป, เรื่อยไป ตามลำดับ สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทันตาเห็น ผิดจากนี้ก็คือความประมาท
ฉะนั้นขอให้ถือว่าความรู้เรื่องจิตใต้สำนึกนี้เป็นความรู้สำหรับทุกคน ไม่ใช่ของพุทธศาสนาโดยตรง เป็นของธรรมชาติ แล้วพุทธศาสนาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าของธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้คนมันโง่ แยกอะไร ๆ ออกมาจากธรรมชาติ เป็นของตัว เป็นของพวก เป็นของศาสนา ของตัว กระทั่งศาสนานั้น ในประเทศของตัวซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นและก็ดีกว่าของประเทศอื่น...นี้มันบ้า แล้วถ้ามัวแต่บ้ากันอย่างนี้ก็ไม่มีวันที่จะได้พบไอ้สิ่งที่ผมกำลังพูด ว่ามันเป็นของธรรมชาติอันลึกลับสำหรับคนโง่ แล้วก็ไม่ลึกลับสำหรับคนมีปัญญา พระอรหันต์ผู้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ถึงท่านไม่รู้หนังสือก็เป็นผู้ที่มีปัญญาสูงสุดสำหรับมนุษย์จะมีได้ เดี๋ยวนี้เราเรียนนั่นเรียนนี่ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมีปริญญา มีอะไร แต่แล้วก็โง่ในเรื่องนี้ ฉลาดแต่ในเรื่องทำให้หิวมากขึ้น ฉลาดแต่ในการที่จะทำให้จิตใต้สำนึกกระสับกระส่ายมากขึ้น เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายอยู่อย่างนี้ ก็เห็น ๆ กันอยู่แล้ว
ดังนั้นอย่าไปหวังพึ่งการศึกษาชนิดนั้น ไม่เรียนก็ไม่เป็นไรเราเป็นคนดีได้ เราเป็นคนมีความสุขได้ เพราะเรารู้จักธรรมชาติอันลึกซึ้งอันแท้จริงอย่างที่พระอรหันต์รู้นะ พูดตรง ๆ เรียกว่าทำกิเลสให้สูญสิ้นไปจากสันดาน สันดานคือใต้สำนึก กิเลสอยู่ใต้สำนึก ทำกิเลสใต้สำนึกให้หมดไปจากสันดาน เรื่องมันก็จบกัน นี่เรื่องที่เป็นความรู้สึกใต้สำนึกโดยคร่าว ๆ มีอยู่อย่างนี้ ถ้ามีโอกาสเราค่อยพูดกันโดยรายละเอียดเป็นส่วน ๆ ไป วันนี้พอกันที, นี่ทำไมมันรู้สึกเหนื่อย