แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายทบทวนธรรม ต่อไปนี้ก็จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า อบาย โดยตรง เพื่อจะเกิดความสะดุ้งหวาดเสียวต่อสิ่งนี้ หรือปากทางแห่งสิ่งนี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ตอนก่อนนี้ว่าอบาย แปลว่าปราศจากความเจริญ แต่ความหมายมันไม่ใช่ว่าเพียงแต่ปราศจากความเจริญ มันต้องมีความเสื่อมด้วย เมื่อมีความเสื่อมแล้ว มันก็ต้องมีความทุกข์ด้วย มันจึงจะสมกับคำว่าอบาย ที่ได้ยินได้ฟังกันมาจนถือเป็นหลักเป็นเกณฑ์ พระพุทธเจ้าจะปรับหรือไม่ปรับก็ไม่แน่ มันไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่น่าเชื่อถือกันมาเป็นหลัก หรือการแนะนำสั่งสอนหรือว่า ถูกต้องตามอย่างยิ่งที่จะถือตามหลักอันนี้ว่าอบายนี่คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย ภาษิตที่ได้ยินแต่ละอบาย ทุกคตินี่เป็นบาปทั้งหมดถ้าทำรวม ๆ ความหมายแทน ๆ กันไป ทีนี้เรามาแยกกันใหม่ให้มันเด็ดขาดกันไป ว่านรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย นรกนี่มีเป็นขุม ๆ อยู่ข้างล่างใต้แผ่นดิน ล้อมเป็นชั้น เป็นชั้น ทรมานอย่างนั้น อย่างนี้ ล้วนแต่ว่าเป็นความทรมานครบถ้วนทุกแบบเท่าที่มนุษย์จะนึกออก นั่นคือมันเจ็บปวดที่สุด อเวจี นรกโลกันต์ที่อยู่ล่างสุด เป็นชั้นสุดของนรก รวมความแล้วก็คือความทรมาน เพราะฉะนั้น ความหมายของนรก จะเป็นนรกที่นี่นรกที่ไหนก็ตามใจ คือความเดือดร้อน ทนทรมานอย่างเจ็บปวดแสนสาหัสนั่นก็คือนรก ด้วยใจเป็นสิ่งที่รู้สึกก็เรียกว่า ร้อนใจ ร้อนใจนี่มันยิ่งกว่าร้อนกายถ้าดูให้ดี แต่ว่าคนเขาไม่สนใจเรื่องร้อนใจ เขาสนใจเรื่องร่างกายมากกว่า เอามีดมากรีดที่เนื้อที่หนังให้มันเกิดความที่ว่า มันมีความร้อนใจ คือเจ็บใจ ที่จริงควรถือว่าความเจ็บใจ ความร้อนใจ ความเสียหายในทางใจ นี่มันยิ่งกว่าความเจ็บในทางกาย แต่เนื่องจากมันรู้สึกได้ยาก แต่ทางกายรู้สึกง่าย เขาก็เลยเขียนภาพนรก เป็นเอาต้มในน้ำร้อนบ้าง ต้มในน้ำกรดบ้าง แทงด้วยหอกบ้าง นานาชนิดที่เป็นความเจ็บทางกาย ถือว่าเป็นนรกสำหรับเด็ก ๆ หรือนรกสำหรับคนโง่มากกว่า นรกที่น่าเจ็บปวดอย่างนั้นก็คือ ความร้อนใจ ความเจ็บใจ ความทรมานใจ สรุปแล้วก็คือว่า นรกนี่คือความร้อนใจ
เดรัจฉานเป็นอบาย ปราศจากความเจริญ แล้วความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ความหมายสำคัญอยู่ที่ตรงไหน ถ้าพูดให้ดีแล้วมันสบายกว่าคน มันคดโกงน้อยกว่าคน มันขี้ฉ้อตอแหลน้อยกว่าคน หรืออะไรมันน้อยกว่าคนทั้งนั้น เดรัจฉานนี่ แต่มันจัดเป็นอบาย ก็เพราะมันปราศจากความรู้ เรียกว่ามีความโง่ ถ้าเราไม่อยากโง่ เราจึงจัดเดรัจฉานเป็นอบาย ความหมายของสัตว์เดรัจฉานจึงอยู่ที่ว่า โง่ คือไม่รู้อะไร ปราศจากปัญญา ที่แท้ความโง่นั้นเป็นอบาย ถ้าคนเราโง่แล้วมันก็มีปัญหามาก คือมีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะความโง่อีกมากมาย ทำบาปทำชั่วเพราะความโง่ แล้วโง่อย่างคนนี่อันตรายมากกว่าโง่อย่างสัตว์เดรัจฉานเสียอีก เพราะงั้น คนโง่คือสัตว์เดรัจฉานกำลังสอง กำลังสาม กำลังสิบ สิบเท่า ยี่สิบเท่า คนที่โง่คือสัตว์เดรัจฉานที่แท้จริง ร้อยเปอร์เซนต์ สองร้อยเปอร์เซนต์ สามร้อยเปอร์เซนต์
เปรต ความหมายของเปรต เรื่องราวของเปรต ทั้งหมดทั้งสิ้น มาประมวลดูสรุปดูแล้ว ก็คือความหิวในทางวิญญาณ หรือหิวในทางจิตใจ จะมาเขียนภาพหิวในทางจิตใจไม่ได้ ก็เลยเขียนภาพหิวอาหาร ผอมแห้งผอมโซ ความหิวทางร่างกายนี่ไม่ร้ายเท่าความหิวในทางจิต ทางวิญญาณ ผอมแห้งผอมโซทางร่างกายก็ไม่ร้ายเท่ากับผอมแห้งผอมโซในทางวิญญาณ ทางจิตใจ เพราะงั้นที่น่ากลัวที่สุดที่น่าหวาดเสียวที่สุดก็คือความเป็นเปรตในทางวิญญาณ คือความหิวด้วยกิเลสตัณหา คือหิวอยู่เรื่อย อุปมาว่า ท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม เพื่อจะวัดกำลังของความหิวว่ามันจะหิวเท่าไร ท้องเท่าภูเขาปากเท่ารูเข็ม เมื่อดื่มเข้าไปกินเข้าไปทางปากเท่ารูเข็ม เมื่อไรมันจะเต็มท้องเท่าภูเขา แล้วก็หาตัวเลขมาดู ก็จะรู้ว่าเป็นความหิวกี่ร้อยเท่า กี่พันเท่า กี่หมื่นเท่า ความหิวแบบนี้ทางร่างกายมีไม่ได้ แต่ทางจิตทางวิญญาณมีได้ เพราะว่าจิตมันไม่มีขอบเขต อย่างนี้มันจะหิวได้ร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า แสนเท่า ล้านเท่า คือเปรต เมื่อไรตัณหามันครอบงำทำให้หิว นั่นเป็นเปรต นี่ถ้าเณรองค์ไหนซื้อลอตเตอรี่ไว้บ้าง จะเข้าใจตรงนี้ได้ง่าย เข้าใจในความเป็นเปรตนี้ได้ง่าย คืออยากจะถูกลอตเตอรี่ มันหิวมันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรหิวมากไปกว่านั้น ในทางกามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในทางกายยังปิดไม่ได้ ยังอยากจะปิดตัณหาอารมณ์เหล่านี้ ยังเป็นเปรตอยู่เรื่อย ใกล้จะออกพรรษารีบปิดแลย ไม่ได้ปิดในวันออกพรรษานี่ก็มี แต่นี่ไม่ใช่ทุกองค์ หมายถึงบางองค์บางประเภทมันมีลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าปรตในผ้าเหลืองมันฟังง่ายดีนะ คือมันหิวอารมณ์เหล่านี้ มีทั้งคนในผ้าเหลือง เปรตก็หิวได้ในวัดในวา ในกุฏิ คือความหิวสองพยางค์ พยางค์เดียวก็คือหิว เปรตคือหิว
อสูรกาย อันสุดท้าย สำหรับพวกคนขลาด กายนี่แปลว่าหมู่หรือพวก อสุระแปลว่าไม่กล้าหาญ กลัวหรือขลาดก็คือกลัว ทีนี้กลัวอะไรก็ตามไม่เป็นความผาสุข ถ้ามีความกลัวแล้วไม่มีความผาสุข เป็นความเสื่อมเสียเป็นการทรมาน ดูกันได้ในโลกนี้ในปัจจุบันนี้ โลกมนุษย์ในปัจจุบันนี้เป็นโลกอสุรกาย มีความหวาดเสียวหวาดกลัวต่าง ๆ นานาสารพัด ไม่รู้กี่หมื่นอย่างแสนอย่าง อยู่ใจกลางพระนครก็ไม่เบาใจ หรือนอนใจได้ว่าจะปลอดภัย มันก็สะดุ้งกลัว ในทางโลกมันเป็นอย่างนี้ เป็นมากขึ้นด้วย เป็นอาณาจักรแห่งความกลัว ครอบงำมนุษย์ทั้งโลก แล้วก็เป็นโลกแห่งอสูรกาย คือโลกแห่งคนกลัว ทีนี้ไปพูดถึงอสูรกายที่เขียนรูปตามฝาผนัง มันก็มีความหมายว่ากลัว ตามฝาผนังนี้มันก็มีความหมายถึงความกลัวว่ากลัว ซ่อนตัวไม่กล้าให้ใครเห็นเพราะมันกลัว ยิ่งไปทำชั่ว ทำผิด ก็ซ่อนตัวเพราะความกลัวเขาจะจับไปลงโทษ นี่ก็เป็นอสูรกาย คนกลัวว่าความทุกข์ ความร้อน ผลกรรมจะมาถึงเข้าเมื่อไร เป็นความกลัวนี่ก็เป็นอสูรกาย อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอันธพาล มีแต่จะรบราฆ่าฟันกันเรื่อย ก็กลัว อย่างนี้ก็เป็นอสูรกาย ถ้าไม่เชื่อขื่อแปของบ้านเมือง รู้สึกบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป มันเป็นเรื่องหวาดเสียวมีความกลัว มันก็เป็นอสูรกาย อสูรกายคือความกลัว ความหมายมันคือความกลัว
สรุปว่า นรกคือความร้อนใจ เป็นทุกข์ เดรัจฉานคือความโง่ เปรตคือความหิว อสูรกายคือความกลัว นี่ขอให้ทบทวนอันนี้อยู่เสมอ เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดอบาย ทั้งแก่ภายหน้าที่นี่และเดี๋ยวนี้ พอมาเห็นความหมายของคำว่าอบายมีลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ละอายกันมาก ในเมื่อปรากฏว่าสิ่งที่เรียกว่าอบายมันเป็นอยู่ติดเนื้อติดตัวของเรา โดยมีอบายมุข เพื่อจะเห็นได้ง่าย ๆ อยากจะยกตัวอย่างเรื่องการเล่นการพนัน อบายมุขคือเล่นการพนัน ถ้ามันร้อนใจเหมือนไฟเผาจิตใจ นักเล่นการพนันนั้นมันจะตกนรก ที่นั่นและเดี๋ยวนั้นในวงการพนันนั้น คือมีความโง่มากโดยหวังว่าการพนันนั้นจะช่วยเราได้ นี่มันเป็นสัตว์เดรัจฉานตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนไปเล่น กำลังเล่น ตลอดเวลา ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน คือโง่ที่คิดว่าการพนันจะช่วยได้ ถ้ามันลืมไปมันไปร้อนใจ มันก็เป็นนรก คิดว่าการพนันนั้นจะช่วยได้ คิดว่าจะเอาตัวรอดแล้ว นี่มันคือความโง่ มันเป็นเดรัจฉานไปอีก ทีนี้มันหิวที่จะชนะ ถ้าใครเคยเล่นการพนันก็ลองนึกดูถึงความหิวที่จะชนะอย่างนั้นน่ะมันเป็นเปรต เวลานั้นมันเป็นเปรต ที่มันกลัวพระ มันกลัวพระอย่างยิ่งเพราะมันไปเล่นการพนันแต่ทางเดียวมันกลัวแพ้ มันเล่นการพนันแล้วมันกลัวแพ้ ก็เรียกมันเป็นอสูรกาย เมื่อมันไปลุกจากที่ไปนั่งเล่นการพนันมันก็เป็นทั้งนรก ทั้งเดรัจฉาน ทั้งเปรต ทั้งอสูรกาย ทบไปทบมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างนั้นอย่างนี้ไม่รู้จักกี่ครั้ง กี่สิบครั้ง อบายมันก็อยู่ที่นั่นครบไปหมดทั้ง ๔ อย่าง ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าการเล่นการพนันเป็นอบายมุข ก็จริงของท่าน โดยไม่ต้องรอให้ตายแล้ว มันเป็นที่นั่นทันที ไปทำอบายมุขเข้ามันก็เป็นอบายที่นั่นทันที ครบถ้วนทั้งสี่ เดี๋ยวเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวเป็นเดรัจฉาน เดี๋ยวเป็นเปรต เดี๋ยวเป็นอสูรกาย นี้เรียกว่า อบาย มีติดเนื้อติดตัวเฉพาะคนที่ประกอบอบายมุข ทีนี้ก็มีปัญหาให้เปรียบเทียบดูว่า อบายเดี๋ยวนี้กับอบายตอนตายแล้ว อันไหนมันน่ากลัวกว่า คนอื่นไม่ทราบ ผมว่าอย่างที่นี้และเดี๋ยวนี้น่ะน่ากลัวที่สุด เสื่อมเสียที่สุด แต่ภายหน้าน่ะมันก็ไม่มากไปกว่านี้ แต่มันยังไกล อย่างนี้มันก็นึกถึงไม่ได้ มันตายแล้ว มันไม่ได้มีน้ำหนักอะไรนักเวลามันตายแล้ว แต่ที่นี่ประเดี๋ยวนี้น่ะมีน้ำหนักมาก มากกว่ากันหลายเท่า มันเผากันที่นี่ ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์กันที่นี่ประเดี๋ยวนี้ มันน่ากลัวมากแล้วก็หลีกไม่พ้น ทันทีทันควันด้วย นี่น่าสนใจอบายอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าให้ปฏิเสธว่าอย่างโน้นน่ะ อย่างแต่ตายแล้วน่ะมันไม่มี อย่าไปเถียงกันด้วยว่าอบายแต่ตายแล้วโน้นน่ะมีหรือไม่มี มันจะโง่ โง่เข้าไปอีกขนานหนึ่ง กรณีปัญญามีวิธีที่จะป้องกันไหม ไม่ให้ตกอบาย ไม่ว่าชนิดไหนหมดนั่นน่ะดี ทีนี้เรื่องมันง่ายอยู่ที่ว่า ถ้าไม่ตกอบายชนิดนี้ คือที่นี่ประเดี๋ยวนี้แล้ว อบายชนิดไหนก็ไม่ตก อบายก็ตายแล้วมันก็ยกเลิกไปเอง เป็นหมันไปเอง ถ้าไม่มีการตกอบายชนิดที่นี่ประเดี๋ยวนี้ อบายก็ตายแล้ว ชาติหน้าชาตินี้ก็ยกเลิกไปเอง จึงกล้าพูดกล้ายืนยันว่าไม่ต้องไปสนใจมัน สนใจอบายที่ร้ายกาจที่สุด ที่นี่ประเดี๋ยวนี้ อย่าให้มีอบาย ไม่มีอบาย ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกไหน
เมื่อเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอบายนี้ดี ถูกต้อง อันนี้จะเป็นสัมมาทิฐิเพียงพอที่จะทำให้คนกลับเนื้อกลับตัวจากอบายมุขได้ นี่เป็นวิธีละที่ดีที่สุด เป็นธรรมะที่สุดคือ สัมมาทิฐิ เป็นเครื่องมือสำหรับละความทุกข์ ถ้าเราเป็นมิจฉาทิฐิ มันก็เป็นอบาย เป็นมิจฉาทิฐิทันทีทันควันที่นั่น อย่างน้อยก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน คือโง่ไปทำผิด ที่ไปดูให้เห็นชัดเลยว่า อบายมุขคืออะไร และอบายคืออะไร อยู่ที่นี่ประเดี๋ยวนี้อย่างไร มันก็เป็นสัมมาทิฐิ คือ เห็นชอบเห็นแจ้งเห็นจริงอย่างถูกต้อง สัมมาทิฐินั้นจะช่วยได้ ทีนี้เราชอบสิ่งที่เรียกว่า Subrelation คือเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี มาลองนึกถึงเรื่องนี้กันดูบ้าง เราก็ยังจะทำได้ ถ้าลงนรก มันแปลว่าร้อน ก็เปลี่ยนมันเป็นความร้อนชนิดที่ว่า จะเผากิเลส จะเผาความชั่ว เหมือนในนรกมีความร้อนชนิดที่ว่าจะเผาเนื้อหนังมังสา เอาความหมายของคำว่าร้อน มาเป็นชื่อของ ตบะ ตบะนี่ก็แปลว่าไฟ ตะโกตะบะนี่แปลว่าร้อน หรือไฟ ส่วนไฟนรกนี่เป็นไฟตบะ เพราะว่าเผากิเลส พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ไฟนรกไม่ต้องมี มีแต่ไฟตบะสำหรับเผากิเลส ถ้าบำเพ็ญตบะ นี่มีอาการเหมือนกับว่ามันย่างกิเลสให้สุกให้แห้งให้สูญหายไป บำเพ็ญตบะก็คือปลอดภัย แล้วก็ย่างกิเลส เผากิเลส แล้วเรารู้ไหมว่าทำความดีคราวนี้ มันกระดูก เวลาเราก่อไฟย่างกิเลสเราก็ต้องทนมากเหมือนกัน ถ้าไม่งั้นเราจะบำเพ็ญตบะไม่ได้ ต้องอดทน ต้องมีขันตี อดทน ความร้อนของตบะ ตบะ บางคนเชื่อว่าจะไม่ไปดูหนัง คืนนี้จะไม่ไปดูหนัง ไม่ทำอบายมุข มันก็เผาหัวใจเหมือนกัน บางทีแทบตายเหมือนกัน ก็ต้องทนได้ ให้ไฟนรกมันกลายเป็นไฟตบะสำหรับเผากิเลส นี่มันคืออย่างนี้
ทีนี้ เดรัจฉาน เป็นความโง่ เป็นความหมายของความโง่ ถ้าโง่ให้ถูกวิธีอย่างนั้นน่ะสบายที่สุด ผมเคยพูดหลายครั้งหลายหนแล้ว ว่าความโง่ของสัตว์เดรัจฉานนั้นทำให้มันไม่เป็นทุกข์ ผมดูปลาทุกวันทุกวัน เห็นความโง่ของปลาแล้วก็รู้ว่ามันไม่เป็นทุกข์ เพราะมันคิดไม่เป็น มันอยากไม่เป็น มันคดโกงไม่เป็น มันเห็นแก่ตัวไม่เป็น มันอะไรไม่เป็น ด้วยความอินโนเซ้นท์ของมันคือไม่ประสีประสา ที่ถูกหมายว่าเป็นความโง่ ความโง่อย่างนี้ผมว่าดี ผมก็อยาก คือเรื่องมันดับไปได้โดยง่าย ดับทุกข์ไปได้โดยง่าย ไม่กี่วันมันก็ตาย เรื่องจะทำให้โง่อย่างนั้นมันทำไม่ได้ จะโง่อย่างปลานี่ทำไม่ได้ มันมีบาปกรรมอะไรไม่รู้ มันทำให้ฉลาดมาก มันคิดนึกไปอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น นี้มันทำให้มีปัญหามาก มีความทุกข์ยากลำบากมาก งั้นขอให้โง่ คิดที่ทำให้ไม่เกิดทุกข์ ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ คนเขามองว่าเป็นคนโง่ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักคิดจักนึก ไม่รู้จักอยากอะไร ที่ไม่ต้องการอะไรนี่ไม่ใช่เป็นคนโง่ ไม่รู้จักต้องการอะไร ไม่รับอะไร ไม่ยึดถืออะไร ทำไม่เป็นมันโง่อย่างนี้เอง เป็นเดรัจฉานทางวิญญาณ แบบนี้มันก็สบาย แค่ความโง่ที่จะทำบาปทำชั่วทำกรรม มากลายเป็นทำความสงบ ทำความหยุด ทำความไม่ต้องการอะไร
ทีนี้เปรต คือความหิว ถ้าเราไปหิวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี่ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เป็นกันได้ อาศัยตัณหา ละตัณหา นี่คือคำสั่งสอนที่ยอมรับกันทั่วไป อาศัยความอยาก ก็ละความอยากเสีย ถ้าหิวจงละความหิวเสีย ความหิวที่จะต้องละมันคือความอยาก ทั้งความไม่รู้ ความที่เป็นจริง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็หิว จะต้องละเสียด้วยความอยากที่เป็นความฉลาด คือปัญญานี่ต้องการให้ทำ สมมติว่าหยุดอยากเสีย ก็มันมีความทุกข์นี่ก็อยากจะหยุดอยากเสีย ทำกามราคะให้กลายเป็นธรรมราคะ ทำให้มันทุกข์ดังที่เคยพูดแล้วในเรื่องจริต ทีนี้ความหิวที่มีแรงมากนี่ พัดกิเลส คือเปลี่ยนกระแสไปในทางที่ว่าจะไปอยากนิพพาน คืออยากดับทุกข์ จากเป็นเปรตก็กลายเป็นพระอริยเจ้าได้ นี่ในความหมายของคำว่า ความหิว ความต้องการนี้ กลายเป็นความหิวที่ถูกต้อง
เรื่องสุดท้ายคือความกลัว นี่ง่ายนิดเดียว หิริ แปลว่าความละอาย โอตัปปะ แปลว่าความกลัว ก็ไม่ได้ละอายอย่างโง่ ๆ ไม่ใช่กลัวอย่างโง่ ๆ เดี๋ยวนี้มีแต่ละอายอย่างโง่ ๆ คือละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย นี่เด็ก ๆ นี่ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอายนี่ก็มีมาก กลัวในสิ่งที่ไม่ควรจะกลัวก็มีมากแม้แต่ผู้ใหญ่ นี้เราต้องย้ำให้ชัด หิริแปลว่าความละอาย คือละอายอะไร โอตัปปะคือความกลัว คือกลัวอะไร เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษเขาไม่ใช้คำว่าละอายหรือกลัว จะเป็นคำว่า Moralก็ได้…..(ไม่แน่ใจนาทีที่ 23.03 ถึง 23.13) แปลว่าละอายหรือกลัว ตามความหมายทางวิญญาณ ทางศีลธรรม นี่คือหิริและโอตัปปะ เมื่อความกลัวของพวกอสุรกายนั้นมันมาจากทางตัณหา จากกิเลส จากตัณหาคือความอยาก มันอยาก มันกลัวว่าจะไม่ได้ มันก็เลยกลัวว่าจะไม่ได้มันก็กลัว กลัวว่าจะอุบัติพลัดพรากจากกันไป มันก็เลยกลัว ไม่นึกเลยว่าอันนี้มันจะมาแทรกแซงทำให้เราไม่ได้รับผลจากทรัพย์สมบัติ อารมณ์ กามารมณ์ นี่ก็เลยกลัว กลัวตาย กลัวอะไรอย่างนี้ อันนั้นมันเป็นเรื่องที่กลัวอย่างโง่เขลา ที่จริงมันควรจะกลัวกิเลสที่น่ากลัวกว่าสิ่งใดหมด ก็เลยเป็นความกลัวที่เป็นเริ่มต้นสำหรับจะนำไปสู่นิพพาน สัตตบุรุษทั้งหลายก็มีความกลัวต่อกิเลส แต่ไม่ใช่อสุรกาย พระอริยเจ้าหรือสัตตบุรุษทั้งหลายก็กลัวต่อความทุกข์ กลัวต่อกิเลส จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงจะหมดกลัว แต่สัตตบุรุษเหล่านี้ไม่ใช่อสุรกาย ไม่ใช่อยู่อย่างคนขลาด อยู่อย่างคนฉลาดแล้วก็รู้จักว่าอะไรคือกลัว แล้วก็หลีกเลี่ยงพ้นจากสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่าเปลี่ยนความกลัวชนิดเลว ให้กลายเป็นความกลัวชนิดดี คำว่าอบาย ก็เปลี่ยนเป็น สบาย คือเป็นสบาย คำว่าอบายก็เปลี่ยนเป็นภาพดูดซับกิเลสเป็นสบาย เรื่องมันก็จบกัน คือสบายแล้วจะเอาอะไรอีก นี่เรื่องอบาย กลายเป็นสบาย ทีนี้เลยกลายเป็นพูดตรงกันข้าม อบายมุข ก็เลิกเสียสิ งั้นก็มี สบายมุข คือปากทางแห่งความสบาย ทำตรงกันข้าม ปฏิบัติให้ถูกต้อง เมื่อค้นคว้ารู้วิธีที่จะละอบายมุข และอบายซึ่งเป็นผลของอบายมุข และเป็นวิธีที่เรียกว่า แก้ร้ายให้กลายเป็นดี เพราะว่าตอนนี้ใครเดินอยู่อย่างนี้ แล้วก็เปลี่ยนทุกวิถีทางของมันให้ใช้กำลังไปในทางที่มันจะเป็นสบายขึ้นมา ทั้งหมดนี้ก็ขอให้ถือว่ามันเป็นเรื่องที่มันอยู่ในประเภท จาคะคือเสียสละออกไป ให้ทานนี่อย่าให้มันมาก มากมายกว่าคนอื่น ให้ทานอบายมุขออกไปเสียเถอะ แล้วมันก็ให้ทานอบายออกไปแล้วกัน ตั้งนานถึงจะหมด นิสัยเลว ๆ ที่เป็นอบายมุข มันก็ถูกซัดขว้างทิ้งไปหมด ถึงเรียกว่า จาคะ คือการให้ หรือการสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจ เวลาของเราก็หมด