แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฎิโมกข์ของเราในวันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู อีกตามเคย ขอซ้อมความเข้าใจไว้เสมอไปว่าที่พูดเรื่อง ตัวกู-ของกู กันตลอดกาลนี้ก็เพื่อจะให้รู้เรื่อง อนัตตา หรือเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือเรื่องสุญญตา ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ในเมื่อยังไม่เข้าถึง อนัตตา หรือ สุญญตา คนเราก็มี ตัวกู-ของกู จัดแล้วก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นเพราะไอ้ ตัวกู-ของกู นี้ เกิดอยู่เรื่อยเพราะไม่เข้าถึง อนัตตา หรือ สุญญตา เพราะฉะนั้นเราจึงพูดเรื่องอันเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู คือเรื่องที่เนื่องด้วย ตัวกู-ของกู ในทุกแง่ทุกมุม, มุมไหนก็ได้ จะเป็นเรื่องตัวกูโดยตรง หรือว่าเหตุของตัวกู หรือว่าผลของตัวกู หรืออะไรก็มันได้ทั้งนั้น เรียกว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูก็แล้วกัน ทำนองเดียวกับเรื่อง สุญญตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสโดยใช้คำว่า สุญฺญฺ ต ปฏิ สํ ยุตฺตา แปลว่า เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา คือ เรื่องที่เกี่ยวกันอยู่กับ สุญญตา ทั้งหมด ฝ่ายที่มันจะดับเสียซึ่ง ตัวกู-ของกู
เดี๋ยวนี้เรามาพูดเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ที่กำลังอาละวาดที่ทำให้เป็นทุกข์ แต่ก็พูดถึงโดยทุกๆ แง่, ทุกๆ มุม, ทุกๆ ปริยายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจึงใช้คำว่า เรื่องอันเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ดูจะพูดตลอดชีวิตก็จะได้คือ พูดได้แง่ใดแง่หนึ่ง, มุมใดมุมหนึ่ง, ปริยายใดปริยายหนึ่งเสมอไป ฉะนั้นขอให้เข้าใจไว้ว่า เราพูดกันเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู และก็เพื่อให้เข้าใจเรื่องที่ไม่มี ตัวกู-ของกู คือ สุญญตา อนัตตา เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้ปัญหารีบด่วนหรือปัญหาเฉพาะหน้ามันมียิ่งไปกว่านั้นคือว่า ตัวกูมันกำลังอาละวาดเล่นงานเราแย่อยู่ทุกวันๆ เพราะนั้นจึงต้องพูดเฉพาะในส่วนที่มันเล่นงานเราทุกวันๆ แล้วจะต่อสู้ป้องกันมันอย่างไร ที่พูดมาแล้วตั้งสองสามปีมันก็แต่ในปริยายอย่างนี้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นถึงแม้ในวันนี้ก็จะได้พูดโดยหัวข้อว่า ตัวกูเกิดได้ทั้งที่ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน, นี่ตัวกูเกิดได้ทั้งที่ไม่มีตัวตน บางคนก็พอได้ยินอย่างนี้บางคนก็พอจะมองเห็นลางๆ แต่บางคนก็ยังเลย เพราะไม่เข้าใจคำว่าตัวตนก็ได้เพราะคำว่าตัวตนนี้มันก็เป็นคำที่เข้าใจยากที่สุดด้วยเหมือนกันคือ มันหลายความหมายนั่นเอง ในทางศาสนาแม้ในประเทศอินเดียแห่งเดียวคำว่า ตัวตนนี่ก็มีหลายความหมายหลายปริยาย พวกที่ถือว่าตัวตนมีจริงเป็นที่พึ่งได้มันก็มีไปพวกหนึ่ง พวกที่ถือว่าตัวตนเป็นเพียงมายาก็อย่าไปยึดถือไปหวังพึ่งมัน ก็มีอีกอย่างไอ้พวกหนึ่ง ทีนี้เราเอาพวกธรรมดาสามัญในเมืองไทยเราตามปกตินี้ก็ยังเชื่อว่ามีตัวมีตนที่เป็นตัวเวียนว่ายตายเกิดนั่นนะอยู่อีกพวกหนึ่งเพราะตามความรู้สึก หรือตามความรู้ที่ศึกษากันอยู่พูดกันอยู่มันก็ว่า มีตัวเราไปเกิดเราอุตส่าห์ทำบุญไว้เราจะได้เกิดดีอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องมีตัวตนเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาจนให้รู้ว่า เอ้า, ไอ้นั่นน่ะไม่ใช่ตัวตน ถ้าถือว่ามีตัวตนก็ไม่เป็นพุทธศาสนาจะเห็นได้ว่ามันยุ่ง, ยุ่งกันใหญ่ เข้าใจยากสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่อง และมันลำบากตรงที่ทุกคนอยากที่จะมีตัวตน, ตัวฉัน, ตัวตนของฉันเพื่อจะไปเกิดดีไปสวรรค์หรือไปอะไรทำนองนี้ ทีนี้แม้ที่สุดแต่เรื่องของคนขลาดคนโง่คนอะไรอย่างเด็กๆ ก็ยังเชื่อว่าผีมี คนตายลงไปอย่างนี้ ร่างกายแตกดับแต่ตัวตนไปเป็นผีแล้วยังคอยมาหลอกเราอีก นี่ถ้าตัวตนไม่มีแล้วผีจะมีได้อย่างไร เด็กๆ ก็ไม่ยอมเชื่อเสียตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าไม่มีตัวตน
ไอ้ตัวตนในความหมายอย่างนี้น่ะ เขาเรียกกันว่า soul เป็นคำที่ใช้กันมานมนานโบราณกาล ก่อนพุทธกาลก็เรียกว่าตัวตนด้วยเหมือนกัน ไอ้คำว่าวิญญาณนี่ทำยุ่งไอ้วิญญาณที่ว่า soul นี่คือ ตัวตนอย่างนี้ แล้ววิญญาณทางตาทางหูนี้ไปใช้ conscious, consciousness อะไรไปทำนองนั้น ก็ทำให้คนแรกเรียนก็ยุ่ง, ยุ่งเอาการอยู่เหมือนกัน ที่เราพูดนี้เราหมายถึงตัวตนที่เขาเรียกในภาษาอังกฤษว่า soul เช่น ตายแล้วไอ้ soul นี่ก็ยังอยู่นี่เที่ยวล่องลอยไปเวียนว่ายไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่บางทีมาปรากฏตัวให้เห็นเป็นเรื่องผี นี้ก็เป็นรากฐานที่เหนียวแน่นที่ถอนยาก และอีกทีหนึ่งคัมภีร์ทางศาสนาส่วนมากก็มีว่า เวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร แล้วอะไรเล่าเวียนว่ายมันก็ต้องเป็นตัวตนของใครคนใดคนหนึ่งสิที่จะเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร นี่มันเป็นรากฐานที่ถอนได้ยาก และมันก็เป็นคำกล่าวอยู่ในศาสนานั้นเองที่จะมาสอนให้ถอนตัวตนให้ถอนความรู้สึกว่าตัวตนเสีย ถ้าเราไม่รู้จักแบ่งแยกว่า เป็นคำสอนทางศีลธรรม และเป็นคำสอนทางปรมัตถ์ หรือไอ้สัจจะอะไรก็แล้ว มันก็ตีกันยุ่งไม่มีทางจะเข้าใจได้
ฉะนั้นผมก็คิดว่า ควรจะทำความเข้าใจเรื่องนี้กันเสียทีโดยหัวข้อว่า ตัวกูนี้มันมีได้ทั้งที่ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นมันต้องทำลายไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวตน ให้หมดไปเสียก่อน เพราะว่าไอ้ ตัวกู-ของกู นี้มันก็ออกมาจากไอ้ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตน หรือแม้ที่สุด แต่มันออกมาจากไอ้ความรู้สึกของสัตว์ หรือของสิ่งที่มีชีวิตโดยที่ไม่ต้องเนื่องกับสิ่งอื่นคือว่า สิ่งที่มีชีวิตนี้มันนึกคิด, คิดนึก, คิดนึก, คิดนึกเรื่อยมาในรูปของไอ้เป็นตัวฉัน เพราะว่าถ้าไม่เช่นนั้น มันก็ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต ทีนี้เราจะมาบอกว่าไอ้สิ่งที่คิดนึกรู้สึกได้ว่า ไอ้ตัวฉันนั้นไม่ใช่ตัวตนนี่คนก็ไม่ค่อยยอมฟังคือ พูดว่าเป็นแต่เพียงปฏิกิริยาทางจิต, จิตใจที่เกี่ยวกับร่างกาย หรือเกี่ยวกับชีวิต แล้วก็อยากจะตัดบทเรื่องตัวตนหรือวิญญาณท่องเที่ยวใน วัฏฏสงสาร สักทีหนึ่งก่อนว่า เป็นเรื่องทางศีลธรรมมาแต่โบราณกาลก่อนพระพุทธเจ้ามีตัวตนคือ ตัวเรานี่ล่ะท่องเที่ยวเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร ไม่รู้สิ้นไม่รู้สุด นี่คำสอนอันนี้มีก่อนพระพุทธเจ้า ทีนี้มันแปลกกันอยู่ตรงที่ว่า เขาที่พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านั่นน่ะหมายถึง ตัวตนที่เหมือนกับที่เป็นผีอย่างเป็นคนเป็นเรานั่นล่ะเป็นวิญญาณนั้นน่ะท่องเที่ยวไปเป็นตัวคนเดียวกันเรื่อยคนๆ นั้น คนเดียวกันเรื่อยเวียนไป
ทีนี้พอมาถึงพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างเดียวกันนั่น เวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร แต่ความหมายมันไม่เหมือนกัน และ วัฏฏสงสาร ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เกิด-ดับๆๆ ได้วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้งกี่ชาติ โดยเอาจิตที่คิดเป็นตัวตนตัวกูครั้งหนึ่งเป็นประมาณ ส่วนพวกโน้นก็เอาจิตวิญญาณตามความคิดของเขาว่า ชาติหนึ่งนี่คือ ตั้งแต่เกิดจากท้องแม่ถึงเข้าโลงนี่เรียกว่าชาติหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็ไปชาติอื่นๆๆ มันยาวมาก เขาก็เชื่อกันอย่างนั้นไปแบบหนึ่งมันเป็นตัวตนโดยเอาร่างกายนี้เป็นประมาณ คุณจำคำนี้ไว้ให้ดีเพราะพวกนั้นเอาตัวตนบัญญัติตัวตนโดยเอาร่างกายเป็นประมาณ หรือร่างกายเกิดมาทีหนึ่งแล้วก็อยู่ไปจนเข้าโลงเรียกว่า ชาติหนึ่งสำหรับเวียนว่ายไปหลายๆ ชาติ
ส่วนตัวตนอีกแบบหนึ่งคือ แบบ ปฏิจจสมุปบาท ของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้เอาร่างกายเป็นประมาณเอาจิตใจนี่ความรู้สึกคิดนึกเป็นประมาณ ถ้ามันคิดนึกเป็นตัวฉันครั้งหนึ่งก็เรียกว่า ตัวตนหนึ่ง ฉะนั้นวันเดียวเรามีตัวตนที่เกิดดับเกิดตายตั้งหลายๆๆ ตน, หลายๆ ตัว หรือหลายสิบตัวก็ได้ถ้ามันคิดเก่ง ฉะนั้นยังไม่ทันตายก็มีเวียนว่ายใน วัฏฏสงสาร ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนชาติเสียแล้ว แล้วความทุกข์มันอยู่ที่นี่อยู่ในขณะที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่, ยังมีความรู้สึกอยู่ ฉะนั้นเราจะต้องดับไอ้ตัวตนนะคือ ดับตัวตนชนิดนี้จึงจะเป็นการดับตัวตนในพุทธศาสนา ถ้าดับตัวตนชนิดเอาร่างกายเป็นประมาณอย่างโน้นนั้นเขาพูดกันก่อนพระพุทธเจ้าก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แล้วไม่อาจจะปฏิบัติได้ แต่ถ้าเราเอาตัวตนชนิดที่เอาจิตใจเป็นหลักนี่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้, ควบคุมได้, แก้ไขได้, ปรับปรุงได้, แล้วทำให้มีความสุขบรรลุนิพพานทันตาเห็นนี้ได้ นี่อย่างไหนจะมีประโยชน์คือ อย่างไหนมันปฏิบัติได้และมีประโยชน์ อันโน้นถ้าเอากันเป็นหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นชาติแล้วไม่มีหวังอยู่ยังไกลนักควบคุมไม่ถึงอะไรไม่ถึง แล้วไม่มีใครได้รับผลทันตาเห็นไม่เป็น สันทิฏฐิโก ไม่เป็น อกาลิโก แต่ถ้าเราเอาตัวตนโดยอาศัยจิตความคิดยึดมั่นครั้งหนึ่งเป็นตัวตนครั้งหนึ่งนี้มันควบคุมได้ แล้วมันเกิดมาให้ควบคุมวันหนึ่งตั้งมากมาย ให้ศึกษาให้ปฏิบัติ และภายในไม่กี่ปีมันมีมากจนเรารู้แจ้งทั่วถึงไถ่ถอนได้ แล้วมีความสุขทันตาเห็นเป็นนิพพาน นี่มันดีอย่างนี้
นั่นตัวตนมันมีอยู่ ๒ แบบ ที่เอาร่างกายเป็นหลักเป็นแบบคนทั่วไปนะอย่างหนึ่ง และก็เอาจิตความคิดนึกเกิดเป็นยึดมั่นถือมั่นครั้งหนึ่งเป็นหลัก นี่คือตัวตนใน ปฏิจจสมุปบาท ตามหลักของพุทธศาสนาที่สอนให้ดับทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็เข้าใจง่ายขึ้น ต่อไปไอ้ข้อที่ว่า ไอ้ตัวกูนี่มันเกิดได้ทั้งที่ไม่มีตัวตนก็หมายความว่า ตัวกูนี้เป็นเพียงจิตคิดผิดสำคัญผิดครั้งหนึ่ง เป็นความยึดมั่นถือมั่นครั้งหนึ่ง นี่เรียกว่าตัวกู ไอ้จิตนั้นไม่มีตัวเองอะไรนัก มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อมเข้ามาปรุงให้เกิดความคิดอย่างไรมันก็คิดอย่างนั้นมันก็เป็นจิตชนิดนั้นขึ้นมาไม่รู้กี่สิบดวงกี่ร้อยดวง ในเมื่อมันถูกปรุงให้เข้าใจว่า ตัวฉันว่าของฉัน มันก็มีในความรู้สึกของจิตนั้นว่าตัวฉันว่าของฉัน พอความรู้สึกอย่างนี้มีมันก็มีความทุกข์เท่านั้นมันก็ไม่มีทางอื่นไม่มีอย่างอื่นนี่คือ ปัญหา, ปัญหาเฉพาะหน้า, ปัญหาด่วนจี๋มันอยู่ที่นี่ว่า ทำอย่างไรอย่าเป็นทุกข์อย่าต้องเป็นทุกข์ เราก็มีหลักใหญ่ๆ ว่า ก็อบรมจิตเรื่อยๆ ไป จนมันไม่มีความคิดนึกอย่างนี้ ทีนี้พอมีคนถามขึ้นมาสลอนเลยทันทีว่า ถ้าจิตไม่ได้มีตัวตน แล้วเราก็ไม่ได้มีตัวตน, แล้วใครจะอบรมจิต, แล้วจิตจะถูกอบรมได้อย่างไร ทีนี้มันก็ตอบยากแต่มันก็ตอบได้ตรงที่ว่า เมื่อมันคิดผิดๆ มันก็คิดถูกๆ ได้ ทำไมมันจึงคิดผิดจนมี ตัวกู-ของกู ขึ้นมาได้ ทีนี้มันก็ทำในทางตรงกันข้ามมันก็ไม่เกิด เด็กคลอดออกมาจากท้องแม่หยกๆ มันคิดเป็น ตัวกู-ของกู เป็นเมื่อไหร่ มันพึ่งมีพึ่งคิดเป็นเมื่อมันโตขึ้นทีละน้อยๆๆ สิ่งต่างๆ มันแวดล้อมให้มีความรู้สึกคิดนึกไปในทางมีตัวกู มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ถ้ามันมีการกระทำที่ตรงกันข้ามมันก็หายโง่เรื่องนั้นกลายเป็นรู้ ฉะนั้นจิตมันก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มันยืนอยู่เป็นหลัก สำหรับมีความรู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึกปัญหามันก็หมดมันไม่มีใครที่จะเป็นปัญหา
ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่มันยังมีจิตที่รู้สึกคิดนึกได้ในร่างกายนี้มันก็เลยเป็นทุกข์ก็ได้ไม่ทุกข์ก็ได้แล้วแต่ทำถูกหรือทำผิด แล้วใครเป็นผู้ทำถูกหรือทำผิดในเมื่อไม่มีตัวตน อ้าว, มันก็คือจิตที่มีความรู้สึกมันรู้สึกในทางผิดทำผิดมันก็เป็นทุกข์ ทีนี้มันเข็ด, มันหลาบ, มันจำ, มันก็เปลี่ยน, เปลี่ยน, เปลี่ยนวิธีการเช่น มาเป็นตรงกันข้ามได้ เช่น สุนัขมันนอนตรงนี้ไม่สบายมันก็ขยับไปตรงโน้น, ยังไม่สบายอีกก็ขยับไปตรงโน้น, ยังไม่สบายอีกก็ขยับไปตรงที่อื่นอีกจนพบไอ้ที่ๆ มันนอนสบาย จิตนี้ก็เหมือนกันเมื่อมันถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์มันก็ดิ้นไปหาทางที่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนี้ เอ้า, ไม่พบก็ดิ้นต่อไปๆ จนกระทั่งมันพบเข้าครั้งหนึ่ง แล้วผู้พบคนแรกโดยลำพังตนเองก็คือ พระพุทธเจ้า เราสมมติจิตนี้ว่าเป็น พระพุทธเจ้า, เป็นผู้มีจิตหรือร่างกายนี้ประกอบไปด้วยจิตชนิดที่รู้เรื่องนี้แล้วก็ชนะในเรื่องนี้ด้วย ฉะนั้นขอให้มองให้เห็นว่า แม้ว่าจิตมิได้เป็นสิ่งที่เป็นของจริงเป็นตัวตนอะไร มันก็ทุกข์ได้และหลุดพ้นได้ ที่ว่ามิได้เป็นตัวตนอะไรนี่ นี่คือข้อที่ยากมากที่จะศึกษาและมองเห็นถ้าเราจะเว้นปัญหานี้เสีย เราจะตั้งปัญหาแต่เพียงว่า เราจะตั้งจิตไว้อย่างไรอบรมจิตไว้อย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ เท่านี้มันก็ค่อยยังชั่วมันเร็วเข้า แต่ถ้าไปตั้งปัญหาจะเอาตัวตนกับจิตจริงๆ แล้วว่าไม่มีตัวตนจริงๆ ทำไมจึงจะมาคิดได้อย่างนี้ มันก็ไกลออกไปๆ ฉะนั้นเราอย่าไปสนใจก่อนก็ได้ไว้คิดทีหลังดีกว่าว่า จิตนี้มันคืออะไรแน่เช่นเดียวกับเรื่องทางวัตถุนี้บางทีเราก็ไม่รู้มันคืออะไรแน่แต่เราเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้เช่น เรื่องไฟฟ้าเรื่องอะไรที่มันเกี่ยวกับไฟฟ้า ไกลออกไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิเลคโทรนิคอะไรก็ตาม ตัวแท้ของไฟฟ้าก็ไม่มีใครรู้จัก แต่เอามาใช้ได้ เพราะว่า ถ้าเราทำอย่างนี้ปรากฏการณ์มันออกมาอย่างนี้, ถ้าเราทำอย่างนั้นปรากฏการณ์มันออกมาอย่างนั้น ฉะนั้นเราเอาผลที่นั่นไอ้ตัวไฟฟ้าจริงๆ ซึ่งเป็นเหมือนผีก็ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร
ไอ้เรื่องจิตนี่ก็เหมือนกันเท่าที่จำเป็นแก่มนุษย์ก็มีแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจิตจะไม่เป็นทุกข์ มันจะคืออะไร ก็ยัง, อย่าพึ่งไปคิดแต่เอาวิธีเพียงว่า จิตจะไม่เป็นทุกข์โดยวิธีอย่างไร ไอ้เรื่องจิตไม่ใช่ตัวตนนี้มันมีทั้งที่เป็นพุทธศาสนา และไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาของเรายอมรับว่า มีสิ่งที่เรียกว่าจิตต่างหากจากร่างกาย จิตนี่เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งต่างหากจากรูป ฉะนั้นจึงแจกเป็น รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ได้ตั้ง ๕ อย่าง แต่แล้วในพุทธศาสนาก็มีหลักว่า รูป ก็ไม่ใช่ตน เวทนา ก็ไม่ใช่ตน, สัญญา ก็ไม่ใช่ตน, สังขาร ก็ไม่ใช่ตน, วิญญาณ ก็ไม่ใช่ตน มันมีอย่างนี้เพื่อบอกให้รู้ว่า ไม่ควรจะไปเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ว่าตนว่าเป็นตน ให้มันเป็นของธรรมชาติไป
ทีนี้เดี๋ยวนี้พวกวัตถุนิยมอย่างใหม่ๆ ของพวกคอมมิวนิสต์ลัทธิไอ้ dialectic materialism นี่ก็บอกว่า จิตนี้เป็นเพียง reaction หรือ by-product ของวัตถุนั้น เมื่อร่างกายหรือวัตถุนี่มันถูกทำให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เกิดความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาก็เลยถือว่าไม่มีจิต, จิตไม่มีอยู่, มีแต่วัตถุ, มีแต่ร่างกาย ฉะนั้นถ้าร่างกายดี, จิตก็ดี, ร่างกายไม่มีทุกข์, จิตก็ไม่มีทุกข์ ฉะนั้นอย่าไปนึกเรื่องจิต เอาร่างกายเป็นหลักอย่างนี้ก็ถือว่าจิตมิได้มีอยู่จริงเป็นเพียง by-product คือ ของที่เป็นปฏิกิริยาเป็น reaction พิเศษออกมาจากสิ่งอื่นซึ่งในที่นี้ก็คือ ร่างกาย
นี่ก็เห็นได้ว่า พวกนี้มันก็บอกอยู่แล้วว่า จิตไม่ใช่ตัวตน ใครเข้าใจผิดๆ เข้าใจไม่ดีก็จะว่า คอมมิวนิสต์ก็เป็นพุทธศาสนาไปก็ได้เพราะว่ามันก็บอกว่า จิตไม่ใช่ตนไม่มีตัวจริงของจิต ระวังให้ดีมีคนบางคนพูดว่า พุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์เหมือนกันนี่มีหลายแง่หลายมุมรวมทั้งไอ้แง่นี้ด้วยซึ่งมันไม่จริงมันคนละเรื่อง แต่เอาเถอะแม้ว่าจะจริงอย่างพวก materialism แบบนี้ เขาว่า จิต คือ by-product อย่างนี้ก็ตาม ไอ้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์มันรู้สึกที่จิตเพราะไอ้สิ่งที่เป็น by-product นี้ ก็ต้องได้รับการควบคุมรับการปฏิบัติแก้ไขดัดแปลงให้มันไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ ที่ผมพูดนี้ก็เพียงแต่ต้องการให้คุณจับหลักให้ได้ว่า จิตมันจะคืออะไร มันจะมาจากไหนก็ตามใจมันเถอะ เรามีหน้าที่อย่างเดียวที่จะควบคุมมันไม่ให้ทำให้มันรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมาคำว่า เรา ในที่นี้ก็ไม่มีอะไรนอกจาก จิต หรือ ความรู้สึกของจิต แล้วเราควบคุมจิตอีกนั่นเอง มันเข้าหลักว่า ตนนั่นล่ะจะต้องจัดการกับตนหรือเป็นที่พึ่งแก่ตนอะไรนี่ แต่เดี๋ยวนี้มันคือจิต, มันก็คือจิตนี่ จะจัดการกับจิตเพราะเราไม่มีอะไรไปมากไปกว่าความรู้สึกของจิต โลกนี้ทั้งหมดทั้งสากลจักรวาลนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าความรู้สึกของจิต ถ้าจิตไม่มีความรู้สึก, โลกนี้ก็เท่ากับไม่มี, จักรวาลนี้ก็เท่ากับไม่มี ถ้าจิตไม่มีความรู้สึกมันก็เหมือนกับไม่มีอะไร ในเมื่อมันมีความรู้สึกมันก็มีขึ้นมา, รู้สึกเท่าไรมันก็มีเท่านั้น, รู้สึกอย่างไรมันก็มีอย่างนั้น นี่เรื่องพิลึกกึกกือของจิตมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้เราจะไปติดตามรู้ หรือแก้ไขมันหมดทุกเรื่องทุกราวมันก็ทำไม่ได้ มันก็ทำเฉพาะแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ที่ทรมานจิตอยู่, ทรมานเราอยู่คือ ทรมานจิตอยู่จิตมันเองมันก็ทนไม่ได้แล้วมันก็ต้องดิ้นรนเหมือนสุนัขที่จะดิ้นรนจนพบที่นอนที่สบายอย่างนั้นละ จิตนี้มันก็ต้องดิ้นรนไปจนกว่าจะไปพบภาวะที่มันเย็น หรือไม่เผา รวมความแล้วให้เห็นว่ามันไม่มีตัวตนที่จริงอย่างไรที่แท้จริงอย่างไร แต่แล้วความทุกข์มันก็เกิดขึ้นได้ และความดับทุกข์มันก็ต้องเป็นสิ่งที่มีได้ ในเมื่อความทุกข์มันเกิดขึ้นมาได้ทั้งแก่สิ่งที่ไม่มีตัวตน ความดับทุกข์มันก็มีได้นี่จึงไม่ให้ยึดถือเป็นตัวตนทั้ง สังสารวัฏ และ นิพพาน, สังขารธรรม, สังขตธรรม ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมีเหตุปัจจัยก็อย่าได้ยึดส่วนใดว่าเป็นตัวตน ไอ้ที่ตรงกันข้ามไอ้ความดับแห่งสิ่งเหล่านี้ก็อย่าได้ไปยึดว่าตัวตน นี่คือบทว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงใดๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน หรือว่า สพฺเพ ธฺมมา อนัตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนันตา ซึ่งเป็นหลักของพุทธศาสนา คำพูดวันนี้มันก็ซ้ำกับคำพูดวันอื่นแต่ความมุ่งหมายไม่ซ้ำ วันนี้มุ่งหมายจะให้รู้ว่า ไอ้ที่ตัวตนนั่นละเป็นตัวการ, เป็นตัวเรื่องราว, เป็นตัวปัญหา, เป็นตัวอะไรได้ทั้งที่ไม่ต้องมีตัวตนจะเรียกว่า ตัวตนอย่างจิตปรุงแต่งชั่วขณะ หรือว่าตัวตนที่เป็นวิญญาณถาวรเวียนว่ายไปตายเกิดไปอย่างที่คนทั่วไปเชื่อก็ตาม จะเป็นจิตหรือวิญญาณชนิดไหนก็ตามมันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนของมันเองแต่แล้วมันทำเรื่องได้
แล้วไอ้จิตชนิดที่ทำเรื่องให้เป็นทุกข์ได้นั้นมันไม่ใช่จิตที่ล่องลอยไปเกิดเวียนว่ายไปใน วัฏฏสงสาร มันคือจิตเดี๋ยวนี้ จิตเดี๋ยวนี้ที่ปรุงขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อมทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย อะไรที่เรียกว่าวิญญาณนี้ถ้าเกิด ผัสสะ ก็เกิด เวทนา และเกิด ตัณหา โดยรายละเอียดก็เป็นอย่างนี้เมื่อมีอะไรมากระทบเราทางตา ทางหู เป็นต้น อายตนะ ข้างในก็ทำหน้าที่เป็น อายตนะ เกิดขึ้นมา วิญญาณ ก็เกิดขึ้น แล้วการกระทบที่เรียกว่า ผัสสะ มันก็มีพร้อมสมบูรณ์ ทีนี้ สัญญา มันก็เกิดขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็เกิด เวทนา ขึ้นมาว่ารสของมันเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร ก็เกิด ตัณหา อยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้ยึดมั่นในความอยากอย่างนั้นอย่างนี้เป็นอุปาทาน ขึ้นมา นี่ตัวกูเกิดสมบูรณ์อย่างนี้นี่ละจิตชนิดนี้คือ จิตปรุงแต่งทุกคราวที่ตาได้เห็นรูป เป็นต้น แล้วเผลอสติ หรือปราศจากสติ หรือว่าปราศจากความรู้ในเรื่องนี้ ฉะนั้นเราก็พยายามศึกษาอบรมให้มีความรู้กันตอนนี้ความรู้ตอนที่ว่า พอกระทบรูป ตากระทบรูป เป็นต้นนี้ ให้มีความรู้มาช่วยทันในนามของสติ หรือความรู้ที่ถูกต้องว่า อ้าว, นี่มันเป็นอย่างนี้จะต้องจัดการอย่างนี้จะต้องแก้ไขอย่างนี้ อย่าให้เลยไปเป็นตัวฉันของฉันเต้นเร่าๆ อยู่ด้วยความโลภ, ความโกรธ, ความหลง, หลักมันเป็นอย่างนั้น
แต่แล้วเราก็ทำไม่ได้, ทำไม่ได้แน่ เมื่อไม่ได้ยินคำสั่งสอนของพระอริยเจ้าแล้วทำไม่ได้แน่แล้วไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรด้วย อันนี้มันพึ่งจะเป็นคำสั่งสอนของพระอริยเจ้าที่ว่า เห็นรูปก็สักว่าเห็น, ได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน, ได้กลิ่นก็สักว่าได้กลิ่น นี้คือว่า อย่าให้มันปรุงแต่งจนไปเกิด ตัณหาอุปาทาน เพียงต้องเป็นอะไรจะต้องทำอะไรก็ทำไป หรือว่าถ้ามันเผลอไปเป็น ตัณหาอุปาทาน ขึ้นมาแวบหนึ่งก็ดับเสียก่อน แล้วมีปัญญาเข้ามาจัดการ ว่าทำอย่างไร สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ได้ยินก็ทำไปก็แล้วกันเช่น เห็นสิ่งสวยงามมานี่ก็รู้ว่าสวยงามแล้วจะทำอย่างไรจะเอาหรือไม่เอาก็เอาด้วยสติปัญญา, ไม่จำเป็นจะต้องเอา, ไม่ควรเอาก็ไม่สนใจเลย อย่างนี้มันก็ไม่ถึงกับเกิด โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งนั้นมันก็สบาย แต่แล้วเราก็ทำไม่ได้แน่เพราะยังไม่เคยมีความรู้ที่จะทำอย่างนี้
เดี๋ยวนี้เรามีความรู้ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ แต่แล้วเรายังทำไม่ได้อีกมันก็น่าสงสาร ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนเลย ไม่ได้ยินได้ฟังการตรัสรู้หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเลยทำไม่ได้นี่ก็น่าเห็นใจ เดี๋ยวนี้ได้ยินได้ฟังแล้วก็ยังทำไม่ได้ หรือไม่พยายามจะทำมันก็น่าสงสารเรื่องมันก็มีอย่างนี้
ทีนี้เรามันมีปัญหายากอยู่อีกข้อหนึ่งที่ว่า ไอ้ความเคยชินในการที่จะมีตัวกูนี่มันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกมันชินเป็นนิสัยหรือที่เรียก สังโยชน์ หรือ อนุสัย หมายถึง ความเคยชินอันนี้ที่มันถอดยาก ยกตัวอย่างเช่นว่า เราเดินไปสุนัขแฮ่เข้ามาแยกเขี้ยวแฮ่เข้ามามันยากที่จะไม่ให้กลัวเพราะเราเคยหัดในทางกลัวชินในทางกลัวมาเสียแล้วตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้วเราก็ต้องกลัวและเป็นทุกข์ ถ้าเราได้รับการฝึกฝนมาดีจนก็ไม่ต้องเกิดความกลัวแต่มีความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจะหลีกอย่างไร หรือจะตีสุนัขอย่างไรจะเตะสุนัขอย่างไรโดยไม่ต้องกลัว นั่นละมีประโยชน์คือ เป็นคำสั่งสอนที่ช่วยได้แต่แล้วเราก็ปฏิบัติไม่ได้เพราะว่าเราชินในการกลัว เราก็กลัวเสียก่อนเราก็เผลอสติไป, ไปเสียมากแล้วจนไม่รู้ว่าจะเตะมันอย่างไรจะสู้มันอย่างไร หรือจะหนีมันอย่างไรบ้าง นี่อย่าลืมนึก, อย่าลืมนึกถึงข้อนี้ว่า ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาถูกอบรมให้ชินไปในทางที่จะแล่นความคิดจะแล่นไปจนเกิด ตัณหาอุปาทาน ทั้งนั้น และมันเป็นของดั้งเดิมของสัญชาตญาณของชีวิต, ของสิ่งที่มีชีวิตมีสัญชาตญาณในการหนีภัย เอาตัวรอดมันจึงต้องกลัว อย่างนี้เป็นต้น
แต่ว่าไอ้อย่างนั้นมันก็ต้องถือว่าเพราะไม่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยเจ้าด้วยเหมือนกัน มันมาตามธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่มีชีวิตมีสัญชาตญาณอย่างนี้ แล้วถ้าเผื่อปล่อยไปตามสัญชาตญาณอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ตลอดกัลปาวสาน มนุษย์ไม่ได้ดีขึ้นมนุษย์ก็จะมีความทุกข์อยู่ตลอดกัลปาวสาน ฉะนั้นจึงเกิดพระพุทธเจ้าสอนเรื่องมีสติ มีปัญญาและมีสติในการที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็นความโลภ, ความโกรธ, ความหลง, ความเกลียด, ความกลัว, ความเศร้า, ความอะไรขึ้นมาทั้งหมด เมื่อจะเอาเรื่องนี้มาพูดกันในลักษณะที่เป็นผล, เป็นผลดีกับจิตใจนี่ ท่านอธิบายลักษณะของพระอรหันต์ว่า อัจฉัมภี อะนุตราสี อะปะ ลายี อัจฉัมภี ก็ไม่สะดุ้ง อะนุตราสี ก็หวาดเสียว อะปะลายี ก็ไม่วิ่งหนี เราเคยแต่สะดุ้ง, หวาดเสียว และวิ่งหนีเป็นนิสัย เมื่ออะไรโฮกฮากออกมา เกิดขึ้นมาแล้วจะอบรมกันอย่างไรจนจิตใจมันเปลี่ยนไปถึงไอ้ขนาดว่า ไอ้สิ่งนั้นโฮกฮากออกมาก็ไม่สะดุ้ง, ไม่หวาดเสียว, ไม่วิ่งหนี มันถึงขนาดนี้ ทีนี้ก็เปรียบเทียบเองดูว่า มันจะสบายอย่างไรจะต่างกันอย่างไรจะมีความสบายผิดกันอย่างไร
นี่จิตซึ่งไม่ใช่ตัวตนนั่นละถูกอบรมได้, อบรมได้ๆ จนกลายเป็นลักษณะตรงข้ามกันอย่างนี้ เคยกลัว, เคยสะดุ้งหวาดเสียว, เคยเกลียด, เคยรัก, เคยอะไรก็ตาม มันกลายเป็นไม่มีไอ้อย่างนั้นมันเป็นได้ถึงขนาดนี้ทั้งที่จิตนั้นมิใช่สิ่งที่เป็นตัวเป็นตน พูดอีกทีหนึ่งก็เกือบจะคล้ายคอมมิวนิสต์คล้ายกับหลัก materialism dialectic ของเขาของพวกคอมมิวนิสต์ที่พวกนั้นเขาพูดว่าจิตนี่เป็นเพียง by-product ของร่างกาย เดี๋ยวนี้เราก็กำลังพูดว่า จิต หรือความคิดข้อนี้มันเกิดจากสิ่ง, มีสิ่งมากระทบตา เป็นต้น แล้วตาที่เป็นร่างกายนี่มันรับอารมณ์นั้นทำหน้าที่เป็น อายตนะ ขึ้นมา ฉะนั้นมันก็คือ ผัสสะ แล้วมันก็มีความรู้สึกที่ตาขึ้นมาที่เรียกว่า วิญญาณ แล้วเกิด ผัสสะขึ้นมาเกิดการกระทบระหว่าง อายตนะภายนอกภายใน และ วิญญาณ ฉะนั้นมันจึงเกิด สัญญา จำได้ว่าอะไรๆๆ เกิด เวทนา คือ รู้สึกไปตาม สัญญา นั้น นี่จะเห็นได้ว่ามันคล้ายๆ กับ by-product ของไอ้วัตถุข้างนอกข้างใน วัตถุข้างนอกคือ รูป วัตถุข้างในคือ ตา คือดวงตานี่ แต่แล้วมันมีไอ้สิ่งที่เรียกว่า จิต นั่นต่างหากเกิดขึ้นตาม หรือว่าเป็น reaction เกิดขึ้น หรือว่าเป็น by-product เกิดขึ้นแล้วแต่จะพูด แต่เราไม่พูดอย่างพวกคอมมิวนิสต์พูดเราไม่ได้พูดว่าจิตนี้เป็น by-product พูดว่ามันเป็นสิ่งๆ หนึ่งคู่กันกับ รูป-นาม เป็นสิ่งๆหนึ่งซึ่งคู่กันกับ รูป มีด้วยกันไปด้วยกันอะไรด้วยกันเพียงแต่ว่า ถ้า รูป ไม่ทำหน้าที่ นาม ก็ไม่ปรากฏออกมาอย่างนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้เป็นอันเดียวกับไอ้ dialectic materialism ของพวกคอมมิวนิสต์ แต่แล้วมันก็มีหน้าที่เหมือนกันที่จะทำอย่างไรอย่าให้เป็นทุกข์เพราะจิตที่ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นความยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นอะไรก็ตาม
นี่พูดไปทุกทีทุกตอนคุณพยายามจับให้ได้ว่า ไอ้สิ่งที่เป็นเพียงมายาไม่มีตัวไม่มีตนนี้มันทำเรื่องได้ทำเรื่องใหญ่โตยุ่งยากเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคนหรือทั้งโลกได้อย่ามองข้ามไปเสียนะว่า ปัญหานี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นจิตทางตาทางหูนี่คือ เป็นต้นตอของทุกอย่างในโลก แม้สงครามมหาสงครามในโลกซึ่งกำลังมีอยู่ทั่วโลกเดี๋ยวนี้ หรือว่าถ้ามีได้มนุษย์จะไปรบกับเทวดาในเทวโลกอะไรก็ตาม จะมีเรื่องโกลาหลขนาดไหนก็ตามมันเนื่องมาจากสิ่งๆ เดียว คือ จิต ซึ่งมันเป็นไปในทางที่มี ตัวกู-ของกู เมื่อเกิดโกรธ, โลภ, โกรธ, หลง, เกิด ตัณหา, อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น, อยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้, กลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ มันก็ทำตามที่มันกลัวตามที่มันอยาก ที่มันรบกันนี่มันก็มีเพื่อเหตุ ๒ อย่างคือ จะเอา หรือจะได้ เพราะอยากอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็เพราะกลัว, กลัวว่าเขาจะมาทำอันตรายเรา เราจึงฆ่าเขาเสียก่อนมันก็มีเท่านี้ การที่เรารบกันทั้งโลกมันก็มีเพียงเท่านี้ มันก็มาจากจิตที่เกิดความอยาก และความกลัว ถ้าไม่มีความรู้สึกชนิดนี้โลกนี้ไม่มีทางจะรบกันมนุษย์ไม่มีทางจะเบียดเบียดกัน ทำเล่นกับจิตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีตัวตนเป็นเพียงมายาไม่ใช่ตัวตนมันทำเรื่องทุกเรื่องในโลกจนพูดได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือ จิต ทุกอย่างทั้งหมดขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือ จิต
แม้สิ่งที่เรียกว่า รูป หรือ กาย ก็พลอยขึ้นอยู่แก่อำนาจของจิต ถ้าอย่างนี้ก็ตรงกันข้ามกับพวกคอมมิวนิสต์ พวกคอมมิวนิสต์ว่า ไอ้จิตมันอยู่ภายใต้อำนาจของกายหรือวัตถุ แต่เราถือว่า กายหรือวัตถุนี้อยู่ใต้อำนาจของจิต เพราะว่าเมื่อเราอบรมจิตไปสักอย่างหนึ่งแล้ว ไอ้กายหรือวัตถุนี้มันก็ไม่ทำเรื่องหรือทำปัญหาอะไรขึ้นมาได้จึงสอนแต่ให้อบรมจิตไม่ได้พูดถึงอบรมกาย หรือว่าจะอบรมกาย มันก็อบรมส่วนที่เฉพาะส่วนที่มันเกี่ยวกับจิตที่มันเนื่องกันกับจิต ถ้าไม่อบรมกายอย่างนั้นมันอบรมจิตไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น เช่น เราอบรมกายของเราให้พร้อมที่จะเป็นความสะดวกสบาย แล้วก็อบรมจิตให้อยู่เหนือวิสัยที่มันจะถูกทำให้เป็นทุกข์โดยสิ่งที่เข้ามากระทบมาแวดล้อมจนเกิด โลภะ, โทสะ, โมหะ อะไร ให้จิตมันอยู่ในลักษณะที่มันไม่สร้าง โลภะ, โทสะ, โมหะ ขึ้นมา
คิดดูให้ดีว่ามันล้วนแต่เป็น มายา ไปทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อไอ้ต้นตออันเดิมของมันเป็น มายา คือ เป็น อนัตตา แล้วทุกอย่างมันเป็น มายา ไปทั้งนั้น ที่ว่าจิตเป็น มายา ก็อบรมได้ทั้งที่มันเป็น มายา จนมีความสุขขึ้นมาไอ้ความสุขก็พลอยเป็น มายา ไปด้วย หรือว่าถ้าปล่อยไปตามเรื่องของมันเกิดความทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์ก็คือมายา นั่นเอง ฉะนั้นความรู้สึกต่างๆ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์นี้เป็น มายา ไปหมดเช่นเดียวกับจิตที่เป็นตัวการ ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงระบุลงไปว่า รูปเป็นอนัตตา, เวทนาเป็นอนัตตา, สัญญาเป็นอนัตตา, สังขาราเป็นอนัตตา, วิญญาณังเป็นอนัตตา นี่ประพฤติของจิตทุกตอนรวมทั้งรูปที่เนื่องกันอยู่กับจิตด้วยเป็นมายาเป็น อนัตตา แต่แล้วคำว่า เป็น มายา ในที่นี้มันไม่เป็นเหลวคว้างเฉยๆ มันเป็นทุกข์โพลงๆ ขึ้นมาทีเดียวในจิตนั้น ฉะนั้นจิตต้องมีการหนี, หนีทุกข์ไม่ใช่วิ่งหนี หนีทุกข์ก็คือว่า มีความรู้สึกเข็ดหลาบ, จำและเข็ดหลาบ แล้วขอให้เปลี่ยนวิถีทางไปเสียทางอื่น อย่าไปทางนั้นอีก นี่แหละพอเห็นรูปเข้าก็อย่าไปในทางที่ว่า ไปยึดมั่นเป็นสวยงามเอร็ดอร่อยเป็นของกู, กูอยากได้อะไรขึ้นมา เปลี่ยนไปในทางหนึ่งที่ว่า อ้าว, นั่นมันอย่างนั้น, มันคืออย่างนั้น เราต้องทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ถ้าไม่ต้องทำก็ไม่ต้องทำ ถ้าจะกินก็กินถ้าไม่กินก็ไม่ต้องกิน อย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้องไปหลงใน เวทนา อันนั้น สุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา จนเกิดทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ทุกขเวทนา เป็นทุกข์อยู่เต็มตัวแล้ว แต่ สุขเวทนา ก็ทำให้เกิด ตัณหาอุปาทาน มาก ซึ่งทำให้ทุกข์ยิ่งไปกว่า ทุกขเวทนา เสียอีกคือ มันทุกข์อย่างมองไม่เห็นยึดมั่นถือมั่นเป็นของกูแบกอยู่โดยจิตใจอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ยิ่งเราไปรักอะไรเข้าสิ่งนั้นมันก็เผาเรา เราไปเกลียดอะไรเข้าสิ่งนั้นมันก็เผาเรา นี่จิตมันรู้จักเข็ดหลาบได้ตามลำพังถ้าไม่อย่างนั้นเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ ทีนี้พวกเรานี้สบายตรงที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ ถ้าไม่มีใครสอนจะให้มนุษย์ค้นพบตามลำพังมนุษย์มันก็นาน เพราะฉะนั้นจึงนานจึงจะเกิดพระพุทธเจ้าแล้วสอน ทีนี้เราก็ได้เปรียบที่ไม่ต้องใช้เวลานานเราได้ยินได้ฟังก็รู้แล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้นมันเร็วกว่า ทีนี้ผมก็พูดว่าเราๆ คุณฟังดูให้ดีถ้าไม่รู้เรื่องๆ นี้ ก็แปลว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลยแล้วก็พูดว่าเราทั้งที่บอกว่า เรามิได้มี มาพูดว่าเราอย่างนี้มันก็คือ จิตที่รู้สึกได้ จิตที่รู้สึกได้คือ เรา เราพูดว่า เรา นี่เป็นภาษาพูดธรรมดาภาษาชาวบ้านพูด ทีนี้ถ้าพูดจิตที่รู้สึกได้พูดภาษาความจริงภาษาปรมัตถ์ ฉะนั้นเมื่อปากพูดว่า เรา, ใจอย่าเป็น เรา นี่มันจึงจะเป็นลูกไม้ที่ทัดเทียมกับจิตที่เป็นมายา ถ้าจิตมันเป็นมายาเราก็ใช้ลูกไม้กับมัน จิตที่มีความรู้สึกถูกต้องนั้นละจะเล่นงานกับจิตที่โง่ที่เขลาที่ผิดพลาดเสมอ ไอ้จิตที่เกิดมาจากความรู้สึกเข็ดหลาบนั่นนะหลายๆ หนเข้ามีความทุกข์มากเข้ามันมีความรู้สึกว่าเข็ดหลาบ นี่ทีนี้มันยักมาทางนี้มันไม่ไปทางนั้นนี่ล่ะคือ เรานี่ละ สมมติเรียกว่า เราที่จะแก้ไขความทุกข์ ทีนี้จิตที่ยังโง่ไปตามเดิมก็คือ จิตที่เราจะต้องกำจัดเสียจะต้องแก้ไขปรับปรุงมัน ถ้าพูดว่าเราก็คือ จิตที่มีเรียกว่ามี โพธิ คือ มี ปัญญา
ทีนี้จะฝึกฝนจิตจะปราบจิตที่โง่คือ จิตที่ไม่มี โพธิ แต่ทีนี้มันยังไม่เป็นถึงขนาดนั้นหรอกเพราะว่ามันจะมี ๒ จิตพร้อมกันไม่ได้ แต่อาศัยความเข็ดหลาบของสิ่งมีความรู้สึกคิดนึกคือ จิตนั่นล่ะ ทีนี้มันเอือมมันระอามันกลัวในทางที่จะไปในทางฝ่ายนั้นฝ่ายที่จะเป็นทุกข์มันก็จะเอียงมาทางฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ อะไรดึงมาทางนี้นั่นละคือ โพธิ ถ้าเผลอดึงทำให้จมไปทางฝ่ายโน้น นั้นก็คือ กิเลส, กิเลส กดลงไปในกองทุกข์ โพธิ ก็ดึงออกมาจากกองทุกข์ เป็นสิ่งที่มีได้อย่างมโหฬารโดยไม่ต้องมีตัวตนโดยไม่ต้องเป็นตัวตน กิเลส ก็เกิดขึ้นได้มากมายเป็นภูเขาเลากาโดยที่มิใช่ตนแต่นึกว่าเป็นตัวตน ทีนี้การดับ กิเลส ก็มีได้เป็นภูเขาเลากาเท่ากับ กิเลส นั้นเอง มันก็มีได้โดยที่ไม่ต้องมีตนหรือไม่ใช่ตนก็คือ สิ่งที่มีความรู้สึกอยู่ในตัวมันเองคือ นามรูป นี้ เราเรียกว่า นามรูป ก็เป็นของที่ติดกันอยู่ ร่างกายกับใจที่ยังร่วมกันเป็นทำหน้าที่ด้วยกันเรียกว่า นามรูป ถ้าเกิดแยกกันสองส่วนก็คือ ตายแล้วทำอะไรไม่ได้ ที่จริงเรียกว่า นามรูป นั้นอุตสาห์จำไว้ด้วยพูดก็พูดหลายหนแล้วว่าไม่ใช่สองอย่าง นามรูปนั้นต้องอย่างเดียวมีอยู่สองสิ่งจริงแต่ว่ารวมกันเป็นสิ่งเดียวมันจึงจะเป็น นามรูป ใน นามรูป ที่เป็นเพียงมายานี่ มันก็เป็นมายาตลอดไป มันโง่ก็เป็นมายา, มันฉลาดก็เป็นมายาไม่ใช่มีตัวตนจริง นี่มันมีความรู้สึกเพราะนั้นมันต้องเลือกเอาข้างที่มันไม่มีความทุกข์มันจึงค่อยมาในทางที่เราสมมติเรียกว่าฉลาด หรือสติปัญญา ฉะนั้นเราจึงไม่ยึดไอ้ตัวจิตที่รู้สึก และเราก็จึงไม่ยึดมั่นในตัวสติปัญญา หรือความฉลาด แล้วเราก็ไม่ยึดมั่นในตัวผลที่เกิดขึ้นบนความสุขนี่คือ ความไม่ยึดมั่นตลอดกาล
ฉะนั้นก็เรียกว่าเราได้รู้ และได้ปฏิบัติสิ่งที่ต้องรู้ และต้องปฏิบัติโดยแท้จริง และก็ปฏิบัติได้เสร็จได้ทัน เพราะว่าเราไม่ไปคว้าเอาเรื่องมากมายที่คิดไม่ได้มาเป็นเรื่องที่ต้องคิด ฟังให้ดีว่า อย่าไปเอาเรื่อง อจินไตย หรือเรื่อง อัพยากตวัตถุ มาคิด จะไปมัวคิดว่าตัวจิตแท้ๆ คืออะไร อย่างนี้มันก็ป่วยการมันรู้แต่ว่าปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างไร, มันจะเป็นอย่างไร, มันจะเกิดทุกข์อย่างไร, มันจะไม่เกิดทุกข์อย่างไรก็เท่านี้ก็พอ เราจะไปค้นเรื่องจิตโดยตรงแล้วมันก็ไม่มีวันพบ แต่เราจะคิดเฉพาะที่มันแสดงอะไรออกมาเกี่ยวกับความสุขหรือความทุกข์ นี่เรียกว่าไม่คิดไปในรูป อจินไตย และไม่คิดไปในรูป อัพยากตวัตถุ เรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมพยากรณ์ เรียกว่า อัพยากตวัตถุ ตายแล้วเกิดหรือไม่, อะไรไปเกิดอะไรนี่พระพุทธเจ้าท่านไม่พยากรณ์ขืนพยากรณ์ก็คือว่า มันบอกให้คนเหล่านั้นหลับตาเชื่อ แต่ท่านจะตอบว่า ไอ้ที่อยู่เดี๋ยวนี้จะดับทุกข์อย่างไรคือ เรื่อง อริยสัจ อยู่เดี๋ยวนี้ เวลานี้จะดับทุกข์อย่างไรน่ะท่านพยากรณ์ ที่ว่าตายแล้ว, เกิดหรือไม่, อะไรไปเกิด, คนเดียวกันหรือเปล่า หรือว่าต่างคนกันอะไรนี่ท่านไม่ยอมตอบ
จงจำไว้ให้ดีว่า อย่าไปจับเอาปัญหาที่ไม่ควรจับมันจะตายเปล่า แล้วดับทุกข์ไม่ได้ แล้วไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งความดับทุกข์ ที่ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งความดับทุกข์นี่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่ใช่ อาทิพรหมจรรย์ ไม่ใช่เงื่อนต้น หรือจุดตั้งต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาที่จะไปถามว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่, อะไรไปเกิด, คนเดียวกันหรือเปล่า หรือว่าต่างคนกันนั้นไม่ใช่ อาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์ คือว่า เดี๋ยวนี้มันทุกข์เพราะอะไรแล้วจะดับมันได้อย่างไร ถ้ามันทุกข์เพราะ ตัณหาอุปาทาน ก็ทำลาย ตัณหาอุปาทาน เสีย ทำลายได้อย่างไรทำลายด้วยการเป็นอยู่ชอบตาม อริยมรรคมีองค์แปด เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ ตัณหาอุปาทาน เกิดไม่ได้ก็หมดกัน มันก็ไม่มีทุกข์แล้วมันก็หมดกันเท่านั้นเอง แล้วในที่สุดก็จะมารู้ว่า อ้าว, เป็น มายา ตลอดสายตลอดกาลโว้ยไม่มีตัวตนโว้ย ก็เลยไม่ถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด, อะไรไปเกิด, คนเดียวกันหรือเปล่านี้มันตอบได้เอง หรือมันเป็นปัญหาที่สลายไปในตัวเอง เป็นปัญหาขึ้นมาไม่ได้เพราะมันไม่มีตัวเรามันจึงไม่มีใครไปเกิด หรือว่าไม่เกิด หรือว่าคนเดียวกันหรือไม่ หรือว่าต่างคนกันมันก็สลายไปเอง
ฉะนั้นเมื่อตรัสรู้หรือรู้เรื่อง อริยสัจ ครบทั้ง สัจจญาณ, กิจจญาณ, กตญาณ แล้ว ปัญหาเหล่านั้นหมด สลายไปหมด ปัญหาเรื่องตัวตนสลายไปหมดไม่มีเหลือ นี่ทั้งๆ ที่ว่า จิตนั้นมิได้เป็นสิ่งที่มีตัวตนก็สามารถที่จะวิวัฒนาการได้โดยตัวมันเอง, โดยตัวมันเองนี่ได้ถึงอย่างนี้ เมื่อมันปรุงเป็น กิเลส ขึ้นมามันก็เจ็บปวดทรมานในตัวมันเอง เมื่อมันปรุงเป็น โพธิ ขึ้นมามันก็สบายเป็นสุขในตัวมันเองแล้วมันก็รู้จักเข็ด, รู้จักหลาบ, รู้จักทำไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ในตัวมันเอง มันก็วิวัฒนาการขึ้นมาจนถึงขนาดที่เรียกว่าไม่ทุกข์อีกแน่นอน เราเรียกว่า มรรคผลนิพพาน กันตอนนี้ นิพพาน คือ ความเย็นสนิทของการที่จิตมันไม่ทำผิดอีกต่อไปไม่มีความร้อนที่จะเกิดขึ้นมาอีกต่อไป
ฉะนั้นขอให้ถือเอาแต่ปัญหาปัจจุบันว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์เลยคือ เอาแต่ปัญหาปัจจุบันว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์เลยที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นเรื่องมันเป็นตัวตนหรือไม่, เป็นอะไรหรือไม่, เป็นเจตภูตวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดอย่างไรนี้อย่าพึ่งไปคิดมัน หรือไม่ต้องคิดด้วย ปัญหาปัจจุบันมีแต่เรื่องทุกข์เท่านั้นกับความดับทุกข์ เรื่อง ตัวกู-ของกู ไม่ต้องพูดถึงเพราะว่าถ้ามันดับทุกข์ได้มันก็คือ ดับตัวกู ถ้ามีทุกข์ก็คือ มีตัวกู ถ้าดับทุกข์ได้คือ ไม่มีตัวกู ฉะนั้นเราพูดเรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์นั่นละจริงเป็นตัวเรื่องเป็นตัวจริงเป็นไอ้เรื่องจริง ถ้าเราไปพูดเป็นสมมติเป็นตัวกูเป็นของกูเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดับตัวกูของกูเสียได้ก็คือ ดับทุกข์ ตัวกู-ของกู ก็ยิ่งเป็นมายาใหญ่ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดได้ในความเป็นมายาโดยความเป็นมายาในลักษณะที่เป็นมายา เกิดแล้วทำให้เป็นทุกข์มันก็ตกนรกทั้งเป็นทั้งความทุกข์ก็เป็นมายา ทีนี้ดับตัวกูที่เป็นมายาเสียมันก็ต้องมีผลเกิดขึ้นเป็นความไม่ทุกข์ตามกฎของธรรมชาติเป็นตามธรรมชาติก็ไม่ใช่ตัวตนอีก
เพราะฉะนั้น นิพพาน นี่ไม่ใช่ตัวตน พุทธศาสนาไปถึงยอดสุดอย่างนี้จึงเรียกว่า เป็นขั้นสูงสุดของวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ซึ่งใครทำให้ดีกว่านี้อีกไม่ได้ ใครจะมารู้อะไรให้ดีให้สูงไปกว่าพระพุทธเจ้านี้ เป็นไปไม่ได้ เขาเคยรู้กันเพียงครึ่งๆ กลางๆ นี้มามากมายแล้วจวนๆ จะถึงความจริงนี้แล้วก็ยังไม่ถึงจนกว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นแล้วก็รู้ถึงที่สุดมันก็มีอย่างนี้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็น อนัตตา ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเลยเป็น มายา ไปหมดทั้งความทุกข์และความดับทุกข์ ให้มันดีที่ว่าจิตไม่เป็นทุกข์ก็ใช้ได้ จิตไม่เป็นทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ตลอดเวลาที่มันรู้สึกอยู่จนร่างกายแตกดับมันก็มีเท่านั้นเอง แล้วมันก็ประเสริฐที่สุดเพียงที่ว่า ไม่เป็นทุกข์ประเสริฐที่สุดอยู่ตรงที่ไม่เป็นทุกข์ แต่เราถือมันว่าไม่ใช่ตนคือ เป็น มายา ในทางที่จะเป็นตัวตนแต่มันประเสริฐวิเศษตรงที่มันไม่เป็นทุกข์ นิพพาน นี้ไม่มีความทุกข์ปรากฏแก่จิตได้ในเมื่อจิตนี้มันรู้จักเข็ดรู้จักหลาบในการที่จะคิดในทางเป็นกิเลส แล้วมันก็ไม่ปรุงความคิดไปในทาง กิเลส อีกต่อไป หมุนมาในทางที่เป็น โพธิ เป็น ปัญญา เรื่อยไปแล้วมันก็ไม่มีทุกข์
พอมองลึกก็มองจนเห็นว่า ทั้ง กิเลส และทั้ง โพธิ ก็เป็น มายา ด้วยกัน เพราะเป็น มายา ด้วยกันบางคนก็เลยพูดว่า กิเลส กับ โพธิ เป็นสิ่งเดียวกัน คนทั้งหลายฟังไม่ถูก เพราะไม่มองมันไปในแง่ว่ามันเป็นเพียง อนัตตาด้วยกัน เอาละพอกันทีในข้อที่ว่า ตัวกู-ของกู ก็ตามมันมีได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน ไอ้ของกูมันฝากอยู่กับตัวกู ตัดทิ้งออกไปได้ ถ้าตัวกูมี, ของกูมันต้องมี ฉะนั้นตัวกูไม่พูดถึงเราพูดแต่ว่า ตัวกูเป็นสิ่งที่มีได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวมีตน หรือเป็นตัวเป็นตนอันแท้จริง เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกคิดนึกได้ แล้วแต่จะเป็นไปในทางทุกข์ หรือทางไม่ทุกข์ เมื่อเป็นไปในทางทุกข์หนักเข้ามันก็เข็ดหลาบ แล้วก็หมุนไปทางตรงกันข้ามมันก็ไม่ทุกข์
ฉะนั้น นิพพาน ก็เป็นสิ่งที่มีได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน ตัวกูนี้เป็น วัฏฏสงสาร มีได้ทั้งที่ไม่มีตัวตน แล้ว นิพพาน ก็เป็นที่สุดของ วัฏฏสงสาร ก็มีได้ทั้งที่ไม่ต้องมีตัวตนจึงพูดว่า ทุกสิ่งเป็น อนัตตา แต่ถ้าพูดเฉพาะว่าตัวกูแล้วก็พูดว่าตัวกูมีได้โดยไม่ต้องมีตัวตน ระวังให้ดีให้เข้าใจให้ดี แล้วก็เข้าใจพุทธศาสนาทั้งหมดได้ด้วยเหตุนี้ พอกันที