แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะปาติโมกข์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ของเราก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ไปตามเคย เนื่องจากวันนี้มีพระบวชใหม่มาสมทบด้วยก็เลยอยากจะพูดไอ้เรื่องที่มันเป็นเบื้องต้นลงไปบ้างเพื่อจะเข้าใจได้ วันนี้จะพูดด้วยหัวข้อที่ว่าชื่อว่า ตัวกู-ของกู ก็เป็นสิ่งที่ต้องละโดยส่วนเดียว ไม่ว่าจะเป็นลัทธิที่ถือว่ามีอัตตา มีปรมาต, มีอาตมัน, ปรมาตมัน, ลัทธิฮินดู หรือพราหมณ์ หรืออื่นๆ ก็ตาม หรือจะเป็นลัทธิพุทธศาสนาที่ไม่มีอัตตา, ไม่มีอาตมันก็ตาม ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู นี้ต้องละโดยส่วนเดียว นี่คือหัวข้อหรือว่าหลักใจความของเรื่องที่จะพูด คือคุณจะต้องทราบเป็นส่วนกว้างๆ ไป เป็นหลักกว้างๆ เสียก่อนว่าศาสนาบางกลุ่มคือหลายๆ ศาสนา เขาสอนว่ามีอัตตาคืออาตมัน (มีอาตมันเป็นส่วนบุคคล) แล้วก็มีปรมาตมันเป็นส่วนรวม (เป็นอัตตาส่วนรวม) เป็นของสากลโลก บางทีที่เรียกว่าพระเจ้าก็หมายถึงอันนี้หมายถึง ปรมาตมัน นี้ลัทธิประเภทนี้เขามีอัตตา (มีอาตมัน) การปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อเปลื้องอัตตาออกไปเสียจากโลกนี้แล้วไปสู่ปรมาตมันเป็นอัตตาใหญ่ ทีนี้คติพวกนี้ก็มีอยู่พวกหนึ่งเราเรียกว่าพวกที่มีอาตมัน ตามชื่อของเขาคืออัตตานั่นเอง จะต้องจำคำว่าอัตตาไว้ให้ดีว่าแม้พวกที่ถือว่ามีอัตตาก็ต้องละไอ้ ตัวกู-ของกู เสียก่อน จึงจะมีอัตตา ทีนี้พวกพุทธศาสนาไม่มีอัตตา, ไม่ถือเรื่องอัตตาหรืออาตมันว่ามีอยู่ นั่นก็คือยิ่งต้องละไอ้ ตัวกู-ของกู โดยเด็ดขาดและก็ทุกระดับไปเลย บางคนอาจจะยังไม่...ไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยหลักใหญ่ ๆ จึงต้องทราบอย่างนี้ สิ่งที่เรียก ตัวกู-ของกู ในที่นี้ ถ้าเรียกเป็นภาษาชาวอินเดียเขาเรียกว่า “อหังการ” “มมังการ” ผมแปลเอาเองให้มันตรงความ...ความหมาย อหังการ แปลว่าตัวกู, มมังการ แปลว่าของกู, อหังการะ แปลว่ากระทำความรู้สึกว่าฉัน, อหัง แปลว่าฉัน, มมังการะ ทำความรู้สึกว่าของฉัน นี่, ผมเอาใจความก็ว่า อหังการ ก็ว่า ตัวกู, มมังการ ก็ว่า ของกู แล้วพึงรู้เสียด้วยว่าไอ้ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่นั้นก็ความหมายไม่เหมือนเดิม เช่น อหังการ ในภาษาไทยมันหมายแต่จองหอง, หัวสูง, หัวดื้อ, จองหอง คำว่า อหังการ เมื่อเป็นภาษาไทย คำว่า อหังการ เมื่อยังเป็นภาษาเดิมของเขานู้นก็คือความรู้สึกที่เป็น ตัวฉัน มันก็ถูกแล้ว เพราะมีความรู้สึกเป็น ตัวฉัน นี่มันจึงหัวดื้อ, ถือตัว, ไม่ยอม หรือว่าอะไรทุกอย่างไปเลย คำว่า โอหัง ก็น่าจะมาจากคำว่า อหังการ นี้นี่ภาษาไทย เมื่อใช้เป็นภาษาไทยมันมีความหมายเปลี่ยนไปบ้างนี่ให้รู้ไว้นะแทบจะทุกคำเลย เมื่อเป็นภาษาบาลีสันสฤตความหมายของเขามักจะกว้างกว่าเสมอ เมื่อเป็นภาษาไทยมันจะแคบเข้าหรือบางทีก็เปลี่ยนไปเลย บางทีกลับตรงกันข้ามก็มี นี่อย่าพูดเรื่องภาษาเลย มันจะกินเวลามาก แต่บอกให้รู้ว่าไอ้ภาษาไทยที่ถอดมาจากภาษาบาลีสันสฤตนั้นไม่ค่อยคงรูป ไม่ค่อยคงความหมายเท่าเดิม มันเป็นกว้าง...แคบ มันมักจะแคบเข้ามา เพราะบางทีมันเปลี่ยนไปบ้าง และบางทีมันตรงกันข้ามก็มีไม่น่าเชื่อ
และทีนี้สำหรับคำว่า อหังการ-มมังการ นี่ เอาตามหลักเดิมในภาษาศาสนา และก็ในภาษาอินเดียคือบาลีสันสฤต ความรู้สึกว่า ฉัน ว่า ของฉัน เป็นความหมายที่กว้าง พวกที่ถือลัทธิอาตมันก็มีอาตมันก็ต้องปฏิบัติให้อาตมันหลุดรอดจากโลกนี้ไปสู่ปรมาตมัน เขาก็สอนให้ละ อหังการ-มมังการ ในที่สุดก็ต้องละ อหังการ-มมังการ อหังการตรงความรู้สึกว่า ตัวฉัน นั้นนะ แม้จะเป็น ตัวฉัน ตัวนั้นมันก็ไม่ใช่อาตมัน ไม่ใช่อัตตาที่ต้องการ เป็นกิเลส เป็นอัตตาเลว เป็นอัตตาของกิเลส อาตมันหรืออัตตาที่เขาต้องการไม่ใช่อย่างนั้น ต้องละ อหังการ-มมังการ นี้เสียก่อนจึงจะเปลื้องอาตมันออกมาจากโลกได้ หรือที่แท้ก็เปลื้องอาตมันออกมาจาก อหังการ-มมังการ นั่นละก็เป็นอาตมันบริสุทธิ์-เป็นอัตตาบริสุทธิ์ และอาตมัน-อัตตาบริสุทธิ์นี้ตายไป ก็ไปสู่ปรมาตมัน คืออาตมันตัวใหญ่ (ตัวบรมใหญ่) อยู่ตลอดอนันตกาลไปเลย มีอัตตาถาวรตลอดอนันตกาลไปเลย มันก็ต้องจับใจความให้ได้ว่าแม้พวกที่ถือว่ามีตัวตนเป็นแก่นสารนั้นก็ยังต้องละ อหังการ-มมังการ
ทีนี้ชาวพุทธเราไม่มีอาตมันหรือไม่มีอัตตาชนิดนั้น สอนว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาหมดกระทั่งนิพพาน หรือกระทั่งบรมธรรม หรือธรรมชาติอันไม่รู้เปลี่ยนแปลงอันอยู่ถาวรตลอดอนันตกาลเราก็ถือเป็น อนัตตา ไม่ยอมเรียกว่าอัตตาหรืออาตมัน เมื่อเป็นดังนี้มันก็ยิ่งเป็นข้าศึกกันมากขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า อหังการ-มมังการ ละ อหังการ-มมังการ อย่างเลวที่เป็นเหตุให้จองหองหรือเป็นทุกข์ทรมานมาก แล้วก็ยังละ อหังการ-มมังการ ชั้นดีชั้นละเอียดที่ไม่ทำอันตรายใครแต่มันมีตัวตน, มีของตนเป็นเครื่องยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ละ อหังการ-มมังการ เรื่อยไปไม่มียกเว้น จนกระทั่งสุดท้ายหมดความรู้สึกว่าตัวฉัน-ว่าของฉัน มันจึงจะเป็นหลุดพ้นไปจากความคิดว่ามีตัวฉัน-มีของฉัน ก็หลุดพ้นไปจากความผูกพันของความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวฉัน-ว่าของฉัน ก็แปลว่าหมดอะไรที่จะเป็นเครื่องยึดมั่นถือมั่นจึงเรียกว่าดับสนิท ทีนี้มันก็ต่างกันสิ มีการหลุดพ้นด้วยกัน ฝ่ายโน้นฝ่ายพวกลัทธิมีอัตตา มันก็พูดถึงมีการหลุดพ้นหรือโมกษะนี่เหมือนกัน อัตตานั้นหลุดพ้นจาก อหังการ-มมังการ แล้วไปมีอัตตาถาวรอยู่ ทีนี้พวกเรา จิต นี่ไม่พูดว่า จิต ไม่พูดว่าอัตตา พูดว่า จิต นี่บริสุทธิ์หลุดพ้นจาก อหังการ-มมังการ แล้วดับสนิท ถือว่าเป็นความดับสนิท ไอ้ความดับสนิท ภาวะดับสนิท เป็นที่ดับสนิทนั้นนะคืออนันตกาล ส่วนทางฝ่ายโน้น ฝ่ายตรงกันข้ามก็มีอัตตาใหญ่เป็นอนันตกาล คืออยู่เป็น positive , ของเราดับสนิทเป็น negative การบัญญัติตรงกันข้ามอย่างนี้ ฝ่ายโน้นเป็น positive คือมีอยู่ตลอดกาลเป็นตัวฉัน, ฝ่ายนี้ดับตัวฉันหมดเลยเป็น negative การพูดหรือวิธีพูดเป็นอย่างนี้วิธีสอนก็เป็นรูปอย่างนี้ เราจึงมองเห็นว่าเสียเปรียบ พูดอย่าง negative นี่ มันเสียเปรียบ คือคนไม่ค่อยชอบหรอกที่จะไม่มีอะไรดับไป ไม่มีอะไรเหลือ คนทั่วไปไม่ชอบ เขาไปชอบให้มี...มีฉันเหลืออยู่ มีฉันเป็นอนันตกาลถาวร ไอ้รูปนั้นเขาชอบ เพราะฉะนั้นคนจึงชอบไอ้ศาสนาที่มีอัตตา ที่มีตัวตนถาวรนั้นมากกว่า มากกว่าที่มาชอบดับสนิทไม่มีเหลือ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวฉันเหลือ มันน่าหวาดเสียวสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่อง แหม, มันไม่มีอะไรเหลือเลย มันน่าหวาดเสียว ส่วนไอ้พวกนั้นเขามีเหลืออยู่เป็นตัวฉันบริสุทธิ์ เป็นอนันตกาล เป็นนิรันดรก็น่าเอา ต่างกันอย่างนี้
แม้ว่ามันจะต่างกันในวัตถุประสงค์มุ่งหมายปลายทางอย่างนี้ แต่มันก็ยังเหมือนกันตรงที่ว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ด้วยละ อหังการ-มมังการ ด้วยกันทั้งนั้น คือละ ตัวกู-ของกู นี้ ความยึดมั่นว่า ตัวกู, ความยึดมั่นว่า ของกู นี่เรียกว่า อหังการ-มมังการ นี้ต้องละด้วยกันทั้งนั้น นี้จึงจำเป็นหลักไว้ว่า, ไม่ว่าลัทธิที่มีตัวตนหรือลัทธิที่ไม่มีตัวตนล้วนแต่ต้องละ อหังการ-มมังการ ด้วยกันทั้งนั้น นี้เป็นข้อแรกเป็นข้อใหญ่หรือเป็นหลักใหญ่
ทีนี้, อยากจะแทรกเข้ามาตรงนี้ว่าพุทธศาสนานี้สอนให้มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนกันแน่ บางคนเขาค้านว่าที่ผมพูดหรือใครพูดก็ตามว่าพุทธศาสนาไม่มีตัวตน ไม่สอนเรื่องตัวตน นี่เขาค้านว่าไม่ถูก เขามีเหตุผลว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าทั้งหมดเป็นอนัตตา คือพูดแต่ว่า รูป เวทนา ปัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา เขาก็ถือว่ายังมีสิ่งที่นอกไปจาก รูป เวทนา ปัญญา สังขาร วิญญาณ อันนั้นยังเป็นอัตตาอย่างนี้ก็มี พอเราพูดว่ามีพุทธสุภาษิตว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา เขาก็เถียงว่า นั่นหมายถึงเฉพาะสังขารธรรมหรือสังขตธรรมเท่านั้น นี้มันเถียงกันได้แล้วก็ไม่มีใครจะตัดสินได้ คือเขาตีความไปเสียอย่างอื่น แต่มีพระพุทธสุภาษิตที่จะช่วยตัดสินคือ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ - ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นหรือฝังตัวเข้าไป เมื่อเขาจะเถียง, เขาก็เถียงว่าไอ้ธรรมทั้งปวง ทั้งหลายทั้งปวงในทีนี้ก็หมายแต่สังขตธรรมหรือสังขารธรรมอีกก็ได้ ทีนี้เขาก็อ้างเหตุผลต่อไปอีกว่ามีพุทธภาษิตว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ - ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ถือว่ามีตนเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัส จงมีตนเป็นที่พึ่ง หรือว่าตนนั่นละเป็นที่พึ่งแก่ตนก็มี และยังมักจะอ้างเรื่องราวในพุทธประวัติตอนหนึ่งคือว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ไอ้พวกหนุ่มๆ ภัททวัคคีย์ ๓๐ คน เที่ยวตามหาผู้หญิง ไปเจอพระพุทธเจ้า ทูลถามว่า “มีผู้หญิงมาทางนี้บ้างไหม?” พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “เที่ยวหาผู้หญิงดีหรือเที่ยวหาตัวเองดี? เที่ยวหาตนดี จะเที่ยวหาหญิงดี หรือจะเที่ยวหาตนดี?” ไอ้พวกหนุ่มเหล่านี้ก็ชอบใจขึ้นมาทีเดียวว่ามันแปลก มาหาตนดี เขาว่าหาตนดีกว่า พวกหนุ่มๆ นั้นก็ตอบว่า “มาหาตนดีกว่า” พระพุทธเจ้าว่า “ถ้าเช่นนั้นก็นั่งลงพูดกัน อย่าไปเที่ยวตามหาผู้หญิงเลย” นี่ก็ทรงแสดงธรรมจนไอ้คนหนุ่มๆ เหล่านี้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันหรืออะไรทำนองนี้ แม้ไม่เป็นพระอรหันต์ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ไอ้ที่ว่า หาตนดีหรือหาผู้หญิงดีนี้มันมีปัญหาอยู่ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หาตน แล้วไอ้สิ่งที่ว่าตนนั้นมันจะมีๆ อยู่ เหมือนที่เป็นตัวตนถาวรนี่อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งที่พวกหนุ่มๆ ๓๐ คนนี้สนใจเรื่องตนขึ้นมานี่ก็เพราะว่าเขาที่มีที่เป็นชาวอินเดียอยู่ในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าหรือสมัยพระพุทธเจ้าแต่ว่านอกพุทธศาสนานั้นล้วนแต่ได้รับคำสั่งสอนเรื่องตน ต้องสอนเรื่องอาตมัน เรื่องตน เรื่องตนที่ถาวร ตนที่แท้จริง ตนที่บริสุทธิ์ ตนที่เป็นอนันตกาล แม้ว่าคนหนุ่มๆ เหล่านี้จะยังไม่รู้เรื่องนี้ชัดเจนละเอียดลออ แต่ก็ต้องรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เหมือนพวกเราเดี๋ยวนี้พูดว่าบุญ-ทำบุญดีกว่า นี่ก็รู้ว่าบุญนั้นคือสิ่งที่ควรทำ, ต้องทำ แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรก็ได้ เอาสำหรับที่จะเอาบุญ
ทีนี้คนของพุทธกาลก็เหมือนกันที่แม้ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่ในพุทธบริษัทนี่ เขาก็มีคำว่าตนพิเศษ ตนอาตมันอยู่แล้ว ดังนั้นคนหนุ่มๆ เหล่านี้คงจะเข้าใจเป็นอย่างนั้นไปก็ได้ คือว่าแสวงหาอาตมันนั้นดีกว่าที่จะหาผู้หญิง เอาละ, ทีนี้ถ้าเขาไม่เข้าใจอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ชวนฉงนอย่างยิ่งว่าทำไมนะ พระพุทธเจ้าหรือว่าคนๆ นี้ซึ่งเขายังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าเขามาชักชวนเราให้หาตัวเอง ให้หาตัวเอง คล้ายๆ ว่าเราเป็นคนโง่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีตัวเอง มาชวนให้หาตัวเองอีก อย่างนี้มันก็น่าทึ่งที่สุด, น่าสนใจที่สุด เขาจึงตกลงที่จะหาตน ลองคิดดูเองสิมันจะเป็นตนชนิดไหน? เป็นตนที่เที่ยงแท้ถาวรได้หรือไม่? แม้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า “หาตนดีกว่าหาผู้หญิง” ตามความรู้สึกของผมพุทธภาษิตเหล่านี้ทั้งหมด คำว่า ตน นี้มีความหมายเป็นสมมติทั้งนั้น สมมตินี้-สมมติตามภาษาชาวบ้านพูด คือ ตน อย่างที่ชาวบ้านพูดทั่วๆ ไป อิทธิพลนี้มันแรงมาก เพราะว่าไม่มีใครเคยรู้เรื่องไม่ใช่ตน หรือไม่มีตนเลย มันตนมาทั้งนั้น และไอ้ตนนี้มันก็ภาษาที่ออกมาจากจิตใจตั้งแต่อ้อนแต่ออกตั้งแต่เป็นเด็กทารกคือ ตัวฉัน, ตัวฉัน ฉันต้องมีตัวของฉัน นี่ไอ้คำว่าตัวนี้คือตนจริงๆ และไม่ใช่ เพราะฉะนั้นไอ้คำว่าตนนี้มันเป็นของที่รู้จักดีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกทุกชาติทุกภาษา ไม่ว่ามันจะเกิดมาในโลกไหน มุมโลกไหน เพราะมนุษย์พูดภาษามนุษย์พูด ไม่ว่าภาษาไหน ชาติไหน ภาษาไหน มันพูดเรื่องตนนี่ทั้งนั้น ต้องพูดด้วยคำว่าตนทั้งนั้น ขอให้นึกให้ละเอียดว่า เมื่อเด็กคลอดออกมามันก็ถูกสอนถูกชวนให้พูดในลักษณะที่มีตน คือมีตัวเขาฝ่ายหนึ่ง - ตัวเราฝ่ายหนึ่ง เราก็คือตัวเรา เขาก็คือ พ่อแม่ พี่น้อง คนอื่นๆ ทั้งหมดเรียกว่าเขา เขาก็ตาม เราก็ตาม ล้วนแต่มีตัวมีตน มีตัวเป็นของตัว มันก็ฝังแน่นในเรื่องตัว ตัว ตัว หรือ ตน มาแต่อ้อนแต่ออกทุกชาติ ทุกภาษา ทุกลัทธิศาสนา เพราะมันอาศัยสัญชาตญาณเป็นรากฐานมาพูดอย่างนี้
ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าตนมันก็มีความหมายมากหรือครอบงำจิตใจได้มาก ทีนี้ศาสนาอื่นนอกจากพุทธศาสนาก็ไปในเรื่องมีตนที่ถาวร มันเข้ารูปกันพอดีกับความรู้สึกตามสัญชาตญาณมาแต่อ้อนแต่ออก ว่ามีตนให้ดีขึ้นไป ตนที่ดีขึ้นไป ตนที่จริงยิ่งขึ้นไป ตนที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป จนถึงตนที่สูงสุดไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ดับอีกต่อไป นี่ก็เป็นศาสนาที่มีอิทธิพลมากแน่นแฟ้นมาก เพราะว่าไอ้รากฐานของศาสนามันเข้ากันได้กับสัญชาตญาณของสัตว์ในรูป positive คือมีให้ มีให้ มีอยู่ หรือมีให้ ทีนี้เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ ท่านก็ได้ศึกษาลัทธิศาสนาเหล่านี้แล้วจะไปมีตัวมีตนอยู่ชนิดไหนก็ตามมันไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ คุณต้องจำคำว่า ที่สุดของความทุกข์ คือมันเพียงแต่ดับทุกข์ได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ ดับทุกข์ได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ที่ปฏิบัติเพื่อความมีตนชนิดนั้น แต่แล้วไม่ใช่ที่สิ้นสุดของความทุกข์ ยังมีความทุกข์เหลืออยู่โดยปริมาณอันหนึ่งหรือโดยปริยายอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าไปศึกษากับดาบส อาฬารดาบส, อุทกดาบส อะไรก็ตาม ทำให้ตนนั้นบริสุทธิ์สะอาด ไม่ข้องเกี่ยวใน อหังการ-มมังการ ถึงขนาดว่าตายก็ไม่ใช่, มีชีวิตอยู่ก็ไม่ใช่ ท่านจึงปฏิเสธว่า ยังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ จึงจะต้องไปศึกษากับศาสดาองค์อื่นๆ ที่สอนไปในทำนองที่ว่าในที่สุดก็มีตัวตนยังเหลืออยู่นั่นละ - ไม่ดับหมด พระพุทธเจ้าจึงไม่ยอมรับและไม่พอพระทัย จึงออกไปแสวงหาของพระองค์เอง จึงไปค้นคว้าและพบไอ้เรื่องที่ว่าความเข้าใจถูกต้องถึงที่สุด เพราะไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่าตน ไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่าตน ไม่มีค่า ไม่มีลักษณะ ไม่มีคุณสมบัติอะไรที่ควรเรียกว่าตน และเมื่อจิตมีความรู้ถึงขนาดนี้เท่านั้นนะจิตจึงจะไม่มีความทุกข์จริงๆ จิตจึงจะหมดความทุกข์จริงๆ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ เรียกว่านี่คือที่สุดทุกข์แล้ว จะมีพุทธภาษิตหลายแห่งหลายครั้งว่า นี่ละ-ที่สุดทุกข์แล้ว, นี่ละ-ที่สุดทุกข์แล้ว แล้วแต่ละแห่งละแห่งก็เรื่องไม่มีตนทั้งนั้น เมื่อใดเห็นรูปก็สักว่าเห็น, เมื่อใดฟังเสียงสักว่าได้ยิน, เมื่อใดได้กลิ่นก็รู้สึกว่าได้กลิ่น ได้ดมก็รู้สึกว่าได้กลิ่น เป็นต้น เมื่อนั้นละตัวเธอจะไม่มี ตัวเธอไม่มีนั่นคือที่สุดแห่งความทุกข์ หรือว่าที่สุดแห่งความทุกข์อยู่ที่ตัวเธอไม่มี คือตัวเราไม่มี ถ้าพูดกับผู้อื่น พูดเป็นบุรุษที่ ๒ ว่าตัวเธอไม่มี เมื่อนั้นละตัวเธอไม่มีนั่นนะคือที่สุดแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านพอพระทัย ท่านแน่พระทัยว่านี่คือที่สุดแห่งความรู้ ที่สุดแห่งการตรัสรู้ รู้ว่าความทุกข์เกิดมาจากตัณหาอุปาทาน ว่าตัวตนหรือเกี่ยวกับตัวตน และดับทุกข์ก็คือดับตัณหาอุปาทานเสีย ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน จะตนจริง หรือตนปลอม หรือตนอะไรก็ตาม ไม่มี ไม่เอา ไม่เอาทั้งหมดเลย ไม่เอาสิ่งที่เรียกว่าตน เพราะมันเป็นอุปาทาน นี่คือความแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูเวทานตะที่ใกล้ชิดกันมาก
ถ้าคุณอ่านต่อๆ ไปคุณจะพบ คุณก็จะพบลัทธิเวทานตะนี่สอนใกล้ชิดกันมาก และยิ่งกว่านั้น ยังจะพบพวกเวทานตะเขาคุยว่า “พุทธศาสนานี่งอกออกไปจากเวทานตะ” ครั้งหนึ่งเมื่อสวามีสัตยานันธบุรี (นาทีที่ 27:39) เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ เขาแสดงปาฐกถาถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เขาให้ชื่อปาฐกถานั้นว่า “บ่อเกิดแห่งพุทธมติ” คือบ่อเกิดแห่งพุทธศาสนา เขาก็เลยแสดงลัทธิเวทานตะของเขาโดยตรงเลยว่าคือบ่อเกิดของพุทธศาสนา พุทธศาสนาเกิดจากนี้ ทุกคนก็ฟังในฐานะเป็นของแปลกของใหม่ แต่ก็ไม่มีใครที่จะไปค้านสวามี เพราะว่ามันจะเป็นกิริยาหยาบ หรือว่าจะเพราะฟังไว้หูก็แล้วกัน ถ้าใครสนใจก็ลองติดตามหาปาฐกถาเรื่องนี้อ่านดู แล้วตอนนั้นผมก็ยังไม่มีความรู้สึกรุนแรงอะไร แล้วก็ไม่แน่ใจไอ้หลักของพุทธศาสนา เพราะมันตั้ง ๓๐ กว่าปีมาแล้วก็ไม่ออกความเห็นอะไร แต่ต่อมาผมเอามาพิจารณาดูก็เห็นได้ว่า อ้าว, นี่มันเป็นเรื่องที่เอาเปรียบหรือว่าคล้ายๆ กับจะกลืนพุทธศาสนาเข้าไปในลัทธิฮินดูเวทานตะ แล้วใจความมันก็อยู่ที่ตรงนี้ คือให้ละ อหังการ-มมังการ เสีย และก็มีอีกสิ่งที่เรียกว่าอาตมันปรากฏแก่ใจที่เป็นตัวตนที่แท้จริงบริสุทธิ์ถาวรแล้วร่างกายแตกดับ มันก็รวมกันเป็นปรมาตมันสากล หรือว่าอนันตกาลไปเลย รายละเอียดปลีกย่อยอย่างอื่นมันก็เพื่อสนับสนุนหลักการอันนี้ทั้งนั้น แต่เราจะพูดมากไปก็ไม่ดีมันก็จะเป็นบาป เป็นอกุศล แล้วก็มองไปในแง่ร้ายว่าเขาตั้งใจกลืนพุทธศาสนาหรือเข้ามาสวมรอยให้คนนับถือลัทธิเวทานตะไป ปาฐกถานั้นชื่อว่า บ่อเกิดแห่งพุทธมติ แล้วก็แสดงลัทธิเวทานตะมา ถ้าใครฟังไม่ดีก็จะเห็นว่าพุทธศาสนานั้นคลอดออกมาจากเวทานตะ (ศาสนาเวทานตะ) และตัวผู้สอนในที่นี้ก็คือตัวสวามีนั้นเอง เวลานี้ศาสนาเวทานตะกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก ทำงานได้ดี เผยแพร่ได้กว้างขวางโดยเฉพาะในอเมริกาก็ได้แพร่หลายลัทธิเวทานตะ เป็นลัทธิที่มีอาตมัน มีปรมาตมันถาวร ที่จริงลัทธิฮินดูทุกแขนงเขาสอนอย่างนี้ทั้งนั้น ทีนี้พวกเวทานตะนี้ก็หมายถึงพวกที่รู้จักพูดให้ดี ให้ทันสมัย ให้เป็นยอดสุดของคำสอนนิกายนี้ของพระเวท สุดยอดของคัมภีร์พระเวท ใจความสำคัญเป็นอย่างนี้
นี่ตอนนี้ ตรงนี้ พูดนอกเรื่องออกไปก็เพื่อให้รู้ว่าไอ้ศาสนามันไปสุดยอดกันที่พุทธศาสนา ตรงที่ดับแห่งไอ้ความคิด ความเข้าใจ ความเชื่อว่ามีตัวตนนั่นเสีย เพราะว่าหลังจากนี้ก็ไม่มีใครพูดอะไรให้แปลกออกไปได้อีก มันเป็นจุดจบกันไปเลย พอพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องอนัตตา สุญญตา ออกมาในลักษณะอย่างนี้ ก็เลยไม่มีใครพูดให้แปลกไปกว่านี้ หรือสูงไปกว่านี้ได้ ลัทธิฝ่ายโน้นก็พูดเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตาบ้าง หรือพูดเหมือนกัน หรือพูดบ้างเหมือนกัน แต่เขาไม่อนัตตาหรือสุญญตา แต่พวกสังขารคือพวกโลกียธรรมทั้งหลาย เขาปฏิเสธเป็นอนัตตา-สุญญตา เหมือนกัน แต่พอความหลุดพ้นจากทุกข์ เหนือโลกเหนือเป็นโลกุตตระแล้วเขาให้มันเป็นอัตตา นี่, พระพุทธเจ้าตรัสอนัตตา ตรัสสุญญตา อย่างที่เราเรียกภาษาหยาบๆ ว่ากราวเดียวรูด หรือรูดกราวเดียว คือว่าหมดเลย ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้เป็นอัตตา หรือเป็นของที่มีอยู่ เป็นตัวตน คือใช้อนัตตาหรือสุญญตาแก่ทุกสิ่ง, หมด, ไม่มีอะไรเหลือ เพราะมันพูดในแบบดับไม่เหลือในลักษณะ negative ที่สุดของสิ่งทั้งปวงคือดับไม่เหลือ จะได้ประโยชน์อะไร? คงจะมีคนถามว่า ถ้าอย่างนั้นจะได้ประโยชน์อะไร? เพราะพวกโน้นเขายังมีตัวตนเหลืออยู่ตลอดเป็นอนันตกาลถาวร เขาได้ประโยชน์อย่างนั้น ทีนี้พูดอย่างพระพุทธศาสนา ดับ ไม่มีอะไรเหลือนี้จะได้ประโยชน์อะไร? เขาอาจจะล้อด้วยซ้ำไป เราก็บอกว่าก็นี่คือที่สุดจบของความทุกข์แล้ว ได้อะไรหรือไม่ได้อะไรก็ตามใจสิ คุณจะเอาอะไรเล่า? บอกว่านี่คือที่สุดที่จบของความทุกข์ ถ้าได้ก็ได้ที่สุด-ที่จบของความทุกข์ ตัวตนไม่มีเหลืออยู่เลย ธรรมชาติอันนี้เป็นอนันตกาลได้ สภาพหรือว่าไอ้ภาวะ สภาพอันหนึ่งที่มันเป็นความดับของความทุกข์ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้มันมีอยู่ ถ้ามันไม่มีอยู่เราก็บรรลุไม่ได้ ถึงไม่ได้ ค้นพบไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันมีอยู่ เราเข้าถึงได้ บรรลุได้ ปรากฏแก่จิตได้ แล้วเมื่อจิตบรรลุถึงภาวะอันนี้มันก็สบายคือเป็นสุข (ไม่มีทุกข์เลย) นี่ถ้าได้ก็ได้ตอนนี้ ทีนี้ว่าสังขาร ร่างกาย และจิตมันแตกดับไป มันก็เลิกกันก็ได้ ก็เป็นความดับไม่เหลือของจิตดวงนั้น หรือบุคคลนั้นโดยสิ้นสุดลงไปเท่านั้น ถ้าเขายังมีตัวตนอยู่อีกก็หมายความว่าจะดับทุกข์สิ้นเชิงไม่ได้ ไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ เพราะจิตที่รู้สึกว่ามีตัวตนอยู่นั้นมันต้องรู้สึกอยู่ว่ามีตัวตน ต้องทรง ต้องแบก ต้องทูน ต้องอะไรตัวตนอยู่ในจิตอย่างละเอียดและประณีตที่สุด เพราะว่ามีตัวฉันอยู่อย่างนั้น ที่จริงมันมีไม่ได้หรอก ถ้ามันจะเป็นความดับทุกข์จริง มันมีตัวฉันไม่ได้ มันมีความรู้สึกเป็นตัวฉันไม่ได้ ทีนี้ถ้าพูดให้เป็นนามธรรม สภาวธรรมไป อ้าว, ก็ไม่มีตัวฉัน ใครจะไปเอาสิ่งนั้นเป็นตัวฉัน ก็น่าจะพูดว่ามันบ้า เอาสภาวธรรมที่เป็นที่ดับแห่งความทุกข์นั้นมาเป็นตัวฉันอีก ก็ควรจะกลายเป็นคนที่ว่าเหนียวเกินไป ไม่ยอมปล่อยตัวฉัน ทีนี้ถ้าบัญญัติให้เป็นตัวฉันใหญ่ เป็นตัวปรมาตมันตัวใหญ่ทั้งสากลปรากฏจักรวาลนี่มันก็ไม่ใช่ตัวฉัน มันก็ไม่ควรถือว่าตัวฉัน นี่ลัทธิที่ว่ามีตัวตนกับลัทธิที่ไม่มีตัวตนมันต่างกันอยู่อย่างนี้
แต่แล้วมันเหมือนกันตรงที่การปฏิบัติที่ต้องละตัวกู ละของกูกันทั้งสองลัทธิ พวกเราพุทธศาสนาก็ทำลาย อหังการ-มมังการ ก็ดับหมดตลอดเลย ไม่มีตัวตนเหลืออยู่เลย ทีนี้พวกโน้นก็ทำลาย อหังการ -มมังการ ก็จะดับ ตัวกู อะไรเลวๆ นั้นเสียแล้วก็มีตัวตนที่บริสุทธิ์ที่ถาวร ทีนี้มันจะต่างกันอย่างไร? ถ้าว่าดับ อหังการ-มมังการ ด้วยกัน มันก็ต่างกันที่ว่าเขาดับไม่สิ้นเชิง มันยังมีอะไรที่เล่นตลกหลอกลวงอยู่ ไอ้เรานี่ดับสิ้นเชิงไม่มีเหลือเลย ไม่มีอะไรมาหลอกได้ มันก็ต้องดับไม่สิ้นเชิง มันมีอะไรเล่นตลก เขาไม่รู้เท่าไม่รู้ทัน มันไปเหลืออยู่เป็นตัวตน ฉะนั้นการดับ อหังการ-มมังการ ของทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ไม่เท่ากัน แม้จะดับ อหังการ-มมังการ เหมือนกันแต่ไม่เท่ากัน ฝ่ายนั้นดับไม่หมดยังเหลือความหมายไว้เป็นตัวตนเป็นอัตตา เป็นอัตตาถาวรอยู่อย่างเร้นลับ นี่เราดับไม่ให้มีเหลือเลย ไม่มีเชื้อเหลือเลย ให้มันอัตตาตัวนี้มันดับหมดไปเลย ถ้าเราพูดกัน ถ้าผมไปพูดต่อหน้าเขา เขาคงด่าผมเลย ทนไม่ได้ เพราะมันเป็นการเหมือนกับว่าพูดอย่างทำลายกันนี่ นี่เราพูดกันเองก็พูดให้ฟัง พูดให้เข้าใจว่าลัทธิทั้ง ๒ ลัทธินี้ต้อง ดับตัวกู, ดับของกู ด้วยกันทั้งนั้น แต่เขาดับไปอย่างไรไม่รู้ ดับไปดับมาก็เหลือตัวตนถาวรอยู่ เราดับไปดับมาดับจนหมดและไม่มีตัวตนเหลืออยู่เลย
ทีนี้พุทธศาสนาถ้าจะมีตัวมีตนบ้าง พุทธบริษัทจะมีตัวมีตนบ้างก็มันชั่วสมมติ ชั่วสมมติว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนก็อย่าให้คนอื่นช่วย พยายามช่วยนี่ ไอ้ตนที่มันมีอยู่อย่างไร มันต้องพยายามช่วยตน หรือว่าถ้ามีตนเป็นที่พึ่งก็ต้องทำตนให้ประกอบด้วยธรรม ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา - จงมีตนเป็นสรณะ มีตนเป็นดวงประทีป นั่นคือมีธรรมะเป็นสรณะ มีธรรมะเป็นดวงประทีป อตฺตทีปา ก็คือ ธมฺมทีปา อตฺตสรณา ก็คือ ธมฺมสรณา ให้อัตตาในที่นี้หมายถึงธรรม ถ้าอยากจะมีตนเป็นที่พึ่งแล้วก็ให้ประพฤติธรรมแล้วธรรมก็จะเป็นที่พึ่งแก่ตน มันก็ได้เข้าบทว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ - มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน เพราะเดี๋ยวนี้เรายังละไม่ได้ เรายังมีตน เราก็ต้องมีตนนี้เป็นเครื่องช่วยตน อย่าไปหวังพึ่ง อย่าไปหวังให้คนอื่นช่วย ทีนี้เราจะพูดอย่างโฆษณาชวนเชื่อกันบ้างนะว่า ถ้าพุทธบริษัทจะมีตนกับเขาบ้างก็ขอให้มีตนที่ธรรมะ ที่ธรรมอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัส อตฺตทีปา ธมฺมทีปา อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ถ้าพุทธบริษัทอยากจะมีตนกับเขาบ้างเพราะว่าปากยังพูด “อยากจะมีตนกับเขาบ้าง” ก็ขอให้เอาธรรมะคือความเอาธรรมะที่ถูกต้องที่ตัวธรรมอันนั้นมาเป็นตน มันก็โดยสมมติ หรือว่าถ้าพุทธบริษัทอยากจะมีปรมาตมันกับเขาบ้าง มีตนใหญ่แล้วก็อยู่ถาวรเป็นอนันตกาล เป็นที่เข้าไปหาแห่งอัตตาทั้งหลาย ก็เอาพระธรรม...อย่าเอาอย่างอื่น พระธรรมนั่นละเป็นอัตตาใหญ่ เป็นปรมาตมัน เป็นพระเจ้า เอาพระธรรมเป็นพระเจ้า พระเจ้าตั้งความหมายอย่างนี้ คือเอาสิ่งที่มีอยู่จริง มีอยู่ตลอดอนันตกาล ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีเกิด ไม่มีดับ คือพระเจ้า ถ้าจะพูดเป็น positive กับเขาบ้าง ให้มีๆ ไว้กับเขาบ้าง นี่ก็เอาพระเจ้า เอาพระธรรมเป็นพระเจ้าเป็นตัวตนใหญ่ เอาธรรมะเป็นตัวตนเล็ก ก็เลยพอจะโฆษณาชวนเชื่อไปทีได้ เพื่อให้ทุกคนหันมาหาคำสอนอันนี้ว่าไม่เปล่าโว้ย! ยังมีหวังโว้ย! คือให้ตัวหรือให้ปรมาตมันได้เหมือนกัน ก็เลยเป็นภาษาพูดสำหรับชวนเชื่อหรือสำหรับสมมติ แต่ที่จริงมันมีอยู่ว่าขอให้ถึงธรรมะชนิดนี้เถิด จะเรียกว่าตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตนอะไรก็ตามขอให้ถึงธรรมะชนิดนี้ไป ก็เรียกว่าถึงพระเจ้า ถึงตัวตนได้ แล้วมันก็ดับทุกข์ได้จริง ถ้าไปเอาธรรมะจริงมาเป็นตัวตน มันก็ดับทุกข์ได้จริงเหมือนกัน ไอ้เรื่องชื่อเรียกนั่นยอมให้ว่าจะต้องพูดไปตามสมมติก็พูดไปตามสมมติ แต่ถ้าพูดอย่างปรมัตถ์พูดจริงแล้วก็ว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ไม่ควรจะเรียกอะไรว่าเป็นตัวตน เป็นอนัตตา และทุกข์ ให้มันเป็นสุญญตา หรือว่างจากตัวตน ว่างจากไอ้ภาวะที่จะเข้าไปจับฉวยเอาเป็นตัวตน หรือไปจับฉวยเอาเป็นตัวตนไม่ได้ ถึงจะเรียกว่าสุญญตา ทุกสิ่งมันเป็นอย่างนั้น และก็นิพพานอย่างนี้ ไม่มีการจับฉวยเอาเป็นตัวตน หรือจับฉวยเอาเป็นตัวตนไม่ได้ เขาจึงเรียกว่าแม้นิพพานก็เป็นสุญญตาและเป็นอนัตตา นี่จุดหมายปลายทางของพุทธบริษัท พุทธศาสนาก็คือนิพพานนั่นละคือจอมอนัตตา จอมสุญญตา สุญญตาอย่างยิ่ง อนัตตาอย่างยิ่ง...อยู่ที่นั่น
ทีนี้ถ้าเราจะพูดไปทำนองว่าพุทธศาสนาเป็น negative โดยท่าเดียว ไม่มีใครสนใจ เพราะมันไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นจึงมีการพูดอย่างสมมติ พูดกับชาวบ้านร้านตลาด ต้องพูดอย่างสมมติว่าดี ว่าสุข ว่าน่ารัก น่าปรารถนา อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามเรื่อง ให้เขาไปหาสิ่งนั้นเถิดมันมีอยู่เหมือนกัน ถ้าพูดว่าว่างไม่มีอะไรเลย - ไม่มีใครเอา ไม่มีใครสนใจตั้งแต่ทีแรก บางทีจะด้วยเหตุผลอันนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับไอ้คนหนุ่ม ๓๐ คนนั้นว่า “หาตนดีหรือว่าหาผู้หญิงดี?” คนหนุ่มๆ เหล่านั้นก็สนใจในคำว่า ตน ว่าหา ตน ดี ก็นั่งลงคุยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องอริยสัจพูดไปพูดมาในที่สุดก็ไปเรื่องอริยสัจ ถ้าจะตรัสตัดอนุปุพพิกถาก่อนก็ได้ แล้วในที่สุดก็ตรัสเรื่องอริยสัจ ไอ้คนหนุ่มๆ เหล่านี้ก็เข้าใจและเป็นพระโสดา นั่นคือจุดตั้งต้นของการเข้าใจเรื่องอนัตตาว่าทุกข์เกิดมาจากตัณหา-อุปาทาน ไม่ได้เกิดมาจากพระเจ้า ไอ้ความทุกข์นี้จะเป็น ตัวกู-ของกู หรือไม่ก็ตามใจ แต่มันเกิดมาจากตัณหา-อุปาทาน มันไม่ต้องมีตัวใครที่บันดาลให้ความทุกข์นี้เกิด
ฉะนั้นถ้าจะดับทุกข์ก็ดับตัณหา-อุปาทาน คือจะดับตัณหา-อุปาทานอย่างไร? ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ๘ ประการ มีความรู้ถูกต้อง มีความปรารถนาถูกต้อง พูดจาถูกต้อง การงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง เป็นมรรค ๘ ถูกต้อง ก็เลยนี่ดับตัณหา-อุปาทานทุกระดับเลย ไม่ต้องพูดถึงตัวกูหรือตัวตนของใครที่ไหนอีกทุกข์ก็ดับ มันเป็นที่สุดของความทุกข์ ไอ้คนหนุ่มๆ ที่กำลังเที่ยวตามผู้หญิงอยู่เมื่อตะกี้นี้ก็กลายเป็นพระโสดาบันไปได้ เพราะเรื่องพูดให้มองเห็นธรรมะที่เป็นทุกข์และดับทุกข์ ไม่ต้องมีตัวตน แต่เมื่อจะหลอกให้เขามาสนใจ หรือว่าดึงความสนใจของเขานี่ใช้คำว่าตนมาหาตนกันดีกว่า ในที่นี้ก็คือเอาธรรมะมาเป็นตนในที่สุด ถ้าคนหนุ่มๆ เหล่านี้รู้จักธรรมะดับทุกข์ได้นี่ก็เอา นี่เป็นตน เป็นสาระของตน เป็นตัวตนไปก็แล้วกัน นี่พูดนอกเรื่องอีกหน่อยว่าถ้าคุณนี่อยากจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปข้างหน้า และก็ต้องพูดสำนวน positive อย่างพระพุทธเจ้าตรัสกับไอ้คนหนุ่ม ๓๐ คนนั่นเสมอ พูดให้มันมีหวังที่จะได้อะไรและดึงมาพูดจากัน และก็พูดให้รู้ว่ามันเป็นอนัตตาหรือสุญญตา โดยไม่ต้อง...ต้องการอะไร ไม่มีอะไรที่จะต้องไปต้องการมัน สมมติว่านะ, พระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสว่ามาหาตนดีกว่านะ แต่เรามาเรียนเรื่องอริยสัจกันดีกว่า พวกนั้นมันไม่เอาแน่ ยิ่งถ้าพูดว่ามารู้เรื่องสุญญตา-อนัตตากันดีกว่านะ มันยิ่งไม่เอาใหญ่เลย เอาแต่มาหาตน-มาหาตน หาให้พบตนที่วิเศษก็เลยเอา
ฉะนั้นเราจะต้องสรุปไว้ทีว่าถ้าจะพูดเผยแผ่ชักชวนแล้วก็ต้องพูด positive เสมอ พูดให้มีอะไรที่มันน่ารัก น่าหวัง น่าต้องการเข้าไว้ แล้วจึงดึงมาสู่จุดของเรา คือว่าไอ้ที่เขาหวัง เขารัก เขาต้องการนั้น มันเหลวไหล มันเป็นคว้าน้ำเหลว ไอ้อันนี้มันจริงกว่ามันก็ได้ ถ้าพูดว่าตน ตนนี้ก็ได้ เอ้า, ก็เดี๋ยวก็ต้องพิสูจน์ว่า โอ้ย, มันก็ไม่ไหว มันก็ไม่ไหว ไอ้ตนๆ มันก็ไม่ไหว มันสู้ดับทุกข์ ดับๆ ไอ้ความเวียนว่ายในวัฏฏสงสารไม่ได้ ดับตนที่จะเวียนว่ายในวัฏฏสงสารดีกว่า
ทีนี้ก่อนแต่ที่จะตรัสอริยสัจนั้นมีหลักตรัสเรื่องอนุปุพพิกถา ถ้าพระพุทธเจ้าท่านเห็นว่าไอ้หมอนี่อาจจะเข้าใจธรรมะได้รวดเดียวไปถึงจุดที่ต้องการ ก็ท่านจะตรัสอนุปุพพิกถาก่อน อนุปุพพิกถาก็พูดเรื่องทาน เรื่องศีล ในฐานะเป็นเครื่องมือให้ได้สวรรค์ เพราะคนเหล่านี้มันติดสวรรค์กันมาทั้งนั้น ไอ้เรื่องตนนี่ มันก็เรื่องของสวรรค์ ทีนี้ตนจะได้ดีวิเศษที่ตรงไหน มันก็มีทาน มีศีลมาแล้ว ก็มาได้สวรรค์เป็นตนที่ดีที่งดงามแล้วก็ตรัสเรื่อง อาทีนวะ ไอ้ความเลวของสวรรค์ว่ามันเป็นอย่างนั้น, อย่างนั้น เพราะมันเป็นที่ลุ่มหลง เป็นที่ทำให้มีกิเลสไม่สิ้นสุด และก็ทำให้เกิดความทุกข์ชนิดที่ร้ายไปกว่าก่อนแต่ที่จะไปสวรรค์เสียอีก ต้องชี้ให้เห็นโทษของกามารมณ์ว่ามันเผาผลาญเสียบแทงยิ่งกว่าก่อนที่เรายังไม่มาเกี่ยวข้องกับกามารมณ์เสียอีก และก็เรื่องที่ ๕ ก็พูดถึงอุบายที่จะออก และหนทางที่จะออกมาจากความเผาลนของสวรรค์
เรื่องที่ ๑ ทาน
เรื่องที่ ๒ ศีล สองเรื่องนี้ เป็นเหตุให้ได้สวรรค์
เรื่องที่ ๓ สวรรค์
และเรื่องที่ ๔ โทษความเลวของสวรรค์ และกามารมณ์
และเรื่องที่ ๕ หนทางออกมีอยู่ชนิดละนะ
ทีนี้ถ้าไอ้คนนั้นมันเป็นคนไม่โง่ เป็นคนมีภูมิจิตใจสูงมันฟังถูก และเปลี่ยนจิตใจมาตามลำดับ ถ้ามันโง่เกินไป มันไม่เข้าใจ มันไม่ยอมทิ้งสวรรค์ มันก็ติดอยู่แค่สวรรค์ ถ้าพระพุทธเจ้าท่านเห็นว่าถ้าไอ้คนนี้มันจะโง่ขนาดนี้แล้วท่านจะไม่ตรัสอนุปุพพิกถา เพราะตรัสก็ไม่มีประโยชน์ ก็จะตรัสแต่เพียง ทาน ศีล สวรรค์แล้วก็หยุดแค่นั้น ใช้แค่ไปหาสรรค์ ไปทำความดีเรื่องทานเรื่องศีลต่อไป ไม่ตรัสเต็มรูปทั้ง ๕ อย่าง อย่างที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา ถ้ามันจะเข้าใจได้ก็ตรัสมาถึงว่าสวรรค์เป็นอย่างนั้น แล้วมันซ่อนไอ้ความเลวทรามไว้อย่างนั้น แล้วมันมีหนทางออก เขาก็มีจิตใจพร้อมที่จะฟังว่าหนทางออกนั้นมันจะไปอย่างไรต่อไป นี่ก็จึงตรัสเรื่องอริยสัจ คือทำลายตัณหา-อุปาทานเสียด้วย อัฏฐังคิกมรรค และก็เข้ามาในวงของพุทธศาสนา อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบันคือไม่กลับออกไปอีก เป็นพระโสดาบันหมายความว่าจะไม่กลับเข้าใจผิดอีก หรือจะไม่กลับถอยหลังไปอีก ก็เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน แปลว่าแรกถึงกระแสของนิพพาน ฉะนั้นการถึงพระโสดาบันก็คือ แรกถึงกระแสของการทำลายเสีย, ตัดเสียซึ่งตัวกู (หันไปพูดกับโยม) นี่ผมไม่เห็นผมจะรู้ว่านานเท่าไร ...เท่าไรแล้ว หมดหรือยัง เคยตั้งให้แลเห็นมาก่อน (นาทีที่ 50:06)
เอาละ, ขอให้จับใจความเหล่านี้ให้ดีๆ ว่าอัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ นั่นละ เครื่องมือที่จะทำลาย ตัวกู-ของกู ถ้าคุณมีการเป็นอยู่อย่างที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ นี่มันไม่มีทางที่จะเกิด ตัวกู-ของกู ขึ้นมาใหม่ แล้วมันจะทำลายความเคยชินในทางมี ตัวกู-ของกู แต่กาลก่อนตั้งแต่เด็กแต่อ้อนแต่ออกมาให้ค่อยๆ ร่อยหรอไป ที่ว่าธรรมะ ๘ ประการนั้นมันปิดกั้นเสียเองปิดกั้นเสียทุกวิถีทาง มันคอยบีบคั้นกดดันอยู่ไม่ให้มันเกิดได้ ไม่ให้ไอ้ความรู้สึกที่เป็นกิเลสมันเกิดได้ ไม่ให้ ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นมา จนกระทั่งนานไปๆ มันก็หมดฤทธิ์หมดกำลัง ความเคยชินที่เกิด ตัวกู-ของกู นั้นมันร่อยหรอไปจนไม่มีความเคยชินที่จะเกิด นี่เราก็เป็น..เราก็มีไอ้ตัวพุทธศาสนานั่นเองคือตัวอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นนะคือตัวพุทธศาสนา มีตัวพุทธศาสนานั่นเอง สำหรับทำลาย ตัวกู-ของกู ทำลาย อหังการ-มมังการ อยู่ตลอดเวลา พูดได้ว่าตัวพุทธศาสนานั้นคือตัวข้าศึกของ อหังการ-มมังการ อยู่ตลอดเวลา พูดภาษาผมก็พูดว่าตัวพุทธศาสนานั้นคือข้าศึกของตัวกูและของกูอยู่ตลอดเวลานี่มันมีหลักเกณฑ์อยู่อย่างนี้ คุณมองดูทีเดียวให้มันเห็นกว้างขวางไปหมดว่า ตัวกู-ของกู ที่เพาะนิสัยมาแต่อ้อนแต่ออกตั้งแต่แรกคลอดจนบัดนี้คือสิ่งที่ต้องละ จะเป็นลัทธิศาสนาไหนก็ตามมันก็สอนให้ละไอ้สิ่งนี้ ละไอ้ ตัวกู-ของกู นี่ นับตั้งแต่ไอ้อย่างเลวที่สุดลงไปจนไปถึงขั้นสูงสุด
ทีนี้บางศาสนามันละได้แต่เพียงบางส่วน ส่วนพุทธศาสนาต้องการจะละให้หมดเลยสิ้นเชิงเลย ไม่มีส่วนเหลือ บางลัทธิบางศาสนาเขาจึงขยักไว้ว่ามีตัวตน มีตัวตนใหญ่ มีตัวตนที่เล็กๆ นี่จะเข้าไปรวมก็ตามใจ เพราะนั่นมันอาจจะดีกว่าพวกเราก็ได้ เพราะว่าคนในโลกมันมีคนโง่มาก ในโลกมีแต่คนโง่มาก ทีนี้จะสอนคนโง่มันต้องสอนประเภท positive เสมอ คือหวังจะได้อะไรหรือได้ เราอย่าพูดว่ายกตัวเลย คือเราจะพูดว่าเราจะเอาข้างฝ่ายฉลาดถึงที่สุดนั่นละจึงบอกความจริง ซึ่งมันอยู่ในรูป negative ว่าไม่ทั้งนั้นเลย ไม่เอาอะไรเลย ฉันไม่เอาอะไรเลย เพราะมันไม่น่าเอา ไปเอาเข้าแล้วเป็นทุกข์ นี่จึงเรียกว่าอิสระ หรือหลุดพ้น หรืออิสระ จิตได้รับอิสระอย่างนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์เลย
เอาละ พอกันที