แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อยู่ด้วยศรัทธา คือศรัทธาที่จะมีชีวิตอยู่ มีความเชื่อในการที่จะมีชีวิตอยู่ นั่นหมายถึงความแน่ใจในการที่จะอยู่หรือจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคนเราไม่มีความเชื่อในตัวเอง ในการกระทำของตัวเอง มันก็อยู่ไม่ได้ จะมีความคิดหรือความรู้สึกที่ผิดปกติที่ว้าวุ่น ที่ทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยเราก็ต้องมีศรัทธาในตัวเอง ในความปลอดภัยของตัวเอง ในความถูกต้องของตัวเอง ฉะนั้นถึงได้นอนไม่หลับในวันหนึ่งๆ พออยู่ไปได้ด้วยความผาสุก ซึ่งเรามองกันให้ดีๆแล้วก็จะเห็นว่า ศรัทธานี่ก็มีความสำคัญเป็นพื้นฐาน ถ้าปราศจากสิ่งนี้ คนเราก็กลัว ก็ระแวง ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล รำคาญอย่างมากเกินกว่าที่จำเป็น ไม่มีความสุขและยังจะมีความทุกข์ และยังจะมีโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น นี่เรียกว่าความหมายของคำ คำของคำว่าศรัทธาโดยทั่วๆไป ทีนี้ที่เราจะต้องดูกันต่อไปก็ที่เกี่ยวกับการปฎิบัติธรรมในพระศาสนา ศรัทธาทำให้เกิดกำลังใจ นี่เป็นข้อหนึ่ง ถ้าเราไม่มีศรัทธาก็ไม่มีกำลังใจ ไม่มีความกล้าหาญ ไม่มีความบากบั่น กระทั่งไม่มีความพากเพียรในสิ่งนั้น นี่จึงถือว่าศรัทธานี่เป็รนกำลังใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่จะทำการทำงาน อย่างบ้านเรือน ขึ้นไปจนถึงหน้าที่ที่สำคัญที่สูงสุด กระทั่งปฎิบัติธรรมในพุทธศาสนา ล้วนถือว่าศรัทธาเป็นเครื่องให้เกิดกำลังใจ มีพุทธภาษิตอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งน่านึก พระพุทธภาษิตนั้นว่า สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ เขาแปลกันว่าศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ได้ซึ่งเสบียง นี้คำอธิบายไม่รู้จะอธิบายยังไงกันแน่นะ ว่าเสบียงอาหารเกี่ยวกับการเดินทาง มันก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ก็หมายความว่าเดินทางไปนิพพานมากกว่า ที่จะเดินทางตามธรรมดาสามัญด้วยเท้า คนเดินทางไกลเขาต้องเอาเสบียงติดตัวไปด้วย ก็ข้าวปลาอาหารอะไรต่างๆ นี่เป็นเสบียงทางวัตถุ ทางภาษาคน ทีนี้คนที่จะเดินไปนิพพาน หรือปฎิบัติเพื่อไปนิพพาน ก็ไกลกว่านั้น ก็ต้องมีเสบียงทางวิญญาณ เสบียงที่ไม่ใช่วัตถุ แต่ได้จากศรัทธานี่ถึงจะถูก ขึ้นชื่อว่าศรัทธาเป็นเครื่องรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง เข้าใจไหม มีความสำคัญอยู่ ถ้าคำว่าเสบียงน่ะหมายความกว้างไปถึงคุณธรรมอย่างอื่นด้วย มันก็ยิ่งมีความจำเป็น และนอกจากจะเป็นกำลังใจแล้วก็ยังหมายถึงคุณธรรมอย่างอื่นด้วยที่จะได้ได้จากศรัทธา เมื่อเป็นดังนี้ก็หมายความว่าจะต้องมีศรัทธาที่เพียงพอที่ถูกต้อง กันอยู่เป็นประจำวัน และตั้งแต่ต้นจนปลาย และตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆจนถึงเรื่องใหญ่โต ถึงเรื่องถึงสูงสุด เรื่องนิพพานเป็นต้น
ที่ว่าพูดทบทวนนี้ก็คือต้องการให้ไปมองดูเสียใหม่ ว่าสิ่งที่เรียกว่าศรัทธานั้นมันมีอยู่ที่ไหน มีความหมายสำคัญอย่างไร เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่หรือเกี่ยวกับการที่จะบรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ เมื่อมีความเชื่อถูกต้องคือประกอบอยู่ด้วยความถูกต้องก็เรียกว่าศรัทธา ถ้าผิดจากนั้นก็จะเรียกว่าความเชื่ออย่างงมงายมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า อธิโมกข์ อ่อนน้อมใจเชื่อไปตามผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผล แม้โดยสุจริตใจ ฉะนั้นความเชื่อแม้โดยสุจริตใจ มันก็ยังมีทางที่จะให้โทษได้ เมื่อมีปัญหาสำหรับคนที่เชื่อมากเกินไป เชื่อง่ายเกินไปจะกลายเป็นเหยื่อของคนคดโกง ความเชื่อที่อ่อนโยนและมากเกินไปอย่างนี้ เขาไปเรียกชื่อใหม่ว่า มุทุปสันนา คือความเลื่อมใสที่อ่อนโยนหรืออ่อนเปียกเกินไปเป็นเหตุให้ถูกหลอกลวง โดยบุคคลอื่นแม้โดยบรรพชิตนักบวช ทายก ทายิกาบางคนมีมุทุปสันนา ในความเชื่อที่อ่อนโยนเกินไป จึงทำบุญทำทานทำอะไรอย่างที่ผิดปกติ หมดเนื้อหมดตัว อย่างนี้ก็มี แต่ในพุทธศาสนามีธรรมะและวินัยวางไว้ไม่ให้ภิกขุเข้าไปเบียดเบียนบุคคลผู้มีมุทุปสันนา ซึ่งจะต้องรู้กันไว้ด้วย ทายกทายิกาที่มีศรัทธาไม่มีขอบเขตอ่อนโยนเกินไปนี้ ห้ามให้ภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องคือเบียดเบียน เอาล่ะทีนี้เราจะพูดถึงตัวศรัทธาที่เป็นหลักธรรมในทางปฏิบัติ ตามหลักพุทธศาสนา ได้จำแนกศรัทธาไว้เป็นสี่หัวข้อ ความเชื่อกรรม เรียกว่า กัมมสัทธา ความเชื่อผลกรรม เรียกว่า วิปากสัทธา ความเชื่อในการที่ผู้ทำจะต้องรับผลกรรม นี่เรียกว่า กัมมัสสกตาสัทธา และก็เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา นี่ก็เป็นสี่อย่าง สามอย่างแรกเนื่องด้วยกรรมทั้งนั้น เชื่อกรรมคือเชื่อว่าการกระทำที่ทำลงไปนั้นมีความหมาย มีคุณค่ามีความหมายเป็นกรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ว่าทำลงไปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือไม่มีความหมาย พวกที่ถือลัทธิว่าทำอะไรลงไปไม่มีความหมายนั้นเขาเรียกว่าพวก อกิริยทิฐิ ทำอะไรก็ไม่มีความหมายเป็นดีเป็นชั่วเป็นถูกเป็นผิด พวกนี้ไม่มีกรรมไม่เชื่อกรรมไม่เชื่อการกระทำ แม้ตั้งใจจะทำว่าเป็นกรรม ในพุทธศาสนาถือว่าเมื่อกระทำสิ่งใดลงไปด้วยเจตนาแล้วให้ถือว่านั่นเป็นกรรม เป็นกายกรรมก็ได้ วจีกรรมก็ได้ มโนกรรมก็ได้ แล้วก็เป็นกุศลกรรมก็ได้ เป็นอกุศลกรรมก็ได้ มีความเชื่อแน่ว่าการกระทำทุกอย่างที่ทำไปด้วยเจตนานั้นเป็นกรรม เชื่ออย่างนี้เรียกว่า เชื่อกรรม
นี้ถัดไปก็เชื่อผลของกรรมว่าการกระทำทุกอย่างจะต้องมีผลเกิดขึ้นไม่หยุดอยู่เพียงแค่การกระทำ และผลนั้นจะเกิดขึ้นตามสมควรแก่การกระทำ เรียกว่าไม่เป็นหมันเปล่า นี่เรียกว่า วิปากสัทธา เชื่อผลกรรม นี้ถัดไปก็เชื่อว่าผู้ทำกรรมนั้นเองไม่ใช่ใครอื่นจะต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น นี้เป็นการกล่าวอย่างภาษาโลก ภาษาคน คือให้มีคนมีบุคคลผู้กระทำกรรมผู้รับผลกรรม นี่พูดตามภาษาธรรมดาสามัญที่ชาวบ้านเขาพูดจากัน ก็ถือว่าคนนั้นเป็นผู้ได้รับผลกรรมมีความเชื่อว่าผู้ทำกรรมย่อมได้รับผลกรรม เรียกว่า กัมมัสสกตาสัทธา ทั้งสามหัวข้อนี้เป็นเรื่องกรรมทั้งนั้น เป็นเรื่องกรรม เรื่องผลกรรม เรื่องความที่ต้องรับผลกรรม ทั้งสามหัวข้อนี้รวมเป็นเรื่องเดียวก็ได้คือเชื่อกรรม
แต่ควรจะมองให้กว้างออกไปถึงข้อที่ว่าเชื่อกรรมในลักษณะอย่างนี้นั่นแหละคือการเชื่อตัวเอง คนเราถ้าขาดความเชื่อตัวเองความนับถือตัวเอง ความไว้ใจตัวเองแล้วมันล้มละลายหมด การเชื่อกรรมมันเป็นการทำให้เกิดความแน่ใจในตัวเอง ว่าตนเป็นพวกสามารถทำกรรม แล้วก็ทำกรรมที่ดีและก็ได้รับผลแห่งกรรมที่ดีก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองทำให้สบายใจ เมื่อพูดถึงความเชื่อที่เป็นเรื่องหลักทั่วไปหรือเป็นหลักธรรมสากล เขาก็จะนึกถึงไอ้ความเชื่อตัวเองนี่ก่อนสิ่งอื่นหมด มันก็เป็นตั้งแห่งการเคารพตัวเอง นับถือตัวเองไปตามลำดับ ไว้ใจตัวเองได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทเราจึงมีหลักอันนี้ เป็นเครื่องให้เกิดความเชื่อตัวเองไว้ใจตัวเอง ในเมื่อศาสนาอื่นเขาก็ต้องมีอย่างอื่นที่ทำให้เกิดความเชื่อตัวเองนับถือตัวเองได้ เช่นพวกที่เชื่อพระเจ้าเขาก็มีศรัทธาในพระเจ้า หวังความปลอดภัยจากพระเจ้า ซึ่งจะมาช่วยผู้นั้น แล้วผู้นั้นก็มีความอุ่นใจตัวเอง เชื่อตัวเอง นับถือตัวเอง ไว้ใจตัวเองได้เหมือนกันเพราะเขาได้ทำตามบทบัญญัติ หรือความประสงค์ของพระเป็นเจ้าอย่างถูกต้องอย่างสมบูรณ์ ทีนี้ถ้าพวกที่เขาไม่นับถือพระเจ้า เขาจะเชื่อภูตผีปีศาจ เชื่อเครื่องรางของขลังอะไรก็ไปตามเรื่องของเขา อย่างน้อย แต่ว่าอย่างน้อยเขาก็มีความเชื่อตัวเอง ความไว้ใจตัวเองได้ ได้ๆระยะหนึ่งหรือระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน เขาก็สบายใจได้เหมือนกัน แต่เราถือว่านั่นมันเป็นอารยธรรมหรือเป็นวัฒนธรรมที่มันยังต่ำมากและไม่จริง หรือไม่จริงจนเป็นที่พึ่งได้ อย่างกับ อย่างพระพุทธภาษิต สรณธีกิติผาฐา(ไม่แน่ใจนาทีที่ 15.36) ที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเชื่อต้นไม้ เชื่อเทวดา เชื่อภูเขา เชื่ออะไรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น มันก็ได้แต่มิใช่ที่พึ่ง อันเกิดเสริมไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด เป็นที่พึ่งหลอกๆ ที่ไม่ต้องการที่พึ่งอันเกิดเสริมเป็นสูงสุด มันก็ต้องเชื่อกรรม มันเนื่องไปถึงเชื่อพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นข้อที่สี่ ที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธาคือเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า บางคนอาจจะสงสัยอ่ะ กรรมก็เชื่อ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็เชื่อ แล้วมันจะเชื่อได้ยังไง สองอย่าง สามอย่าง เมื่อมันมองเห็นได้ง่าย เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือรู้เรื่องความจริง เรื่องธรรมะ รวมทั้งเรื่องกรรมนี้ด้วย พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วจึงสอนเรื่องกรรม เรื่องผลกรรม เรื่องความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตัว ท่านที่เชื่อกรรมก็คือเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าส่วนหนึ่งอยู่แล้วแม้ไม่ใช่ทั้งหมด นี่ก็เป็นหลักสำคัญพอที่จะให้เกิดความอุ่นใจหรือสบายใจได้ ทีนี้เมื่อเรารับไปเลือกว่า เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทีนี้ก็มองต่อไปว่า สรุปแล้วก็คือเชื่อธรรม คือเชื่อพระธรรม เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้วก็สอนพระธรรมในเรื่องต่างๆหลายเรื่องด้วยกัน ถ้ารวมความแล้วเป็นเรื่องดับทุกข์ เป็นเรื่องดับกิเลสตัณหา การที่เชื่อกรรมนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรม แล้วก็เป็นเรื่องที่ประพฤติปฏิบัติเพื่อดับกิเลสตัณหา ในกรรมที่ดีกรรมที่แท้จริงนั้นคือกรรมที่ทำให้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ถ้าพูดอย่างลึกซึ้งคือว่ากรรมที่เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งหลาย กรรมชั่วนั้นอย่างหนึ่ง กรรมดีนั้นอีกอย่างหนึ่ง และกรรมที่เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดีและกรรมชั่วนั้นคืออริยมรรค และนั้นคือพระพุทธเจ้าสอน ซึ่งเรื่องดีเรื่องชั่วนั้นเขาสอนกันอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าท่านมาสอนกรรมอีกชนิดหนึ่ง ที่ประพฤติแล้วจะถอนความยึดถือไปได้ทั้งในกรรมดีและกรรมชั่ว หมายความว่าทำให้กรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองอย่างนี้หมดน้ำหนัก หมดความหมาย หมดค่า หมดอิทธพล หรือหมดวิบากไป ผู้มีจิตใจอยู่เหนือกรรม กรรมที่ทำให้สิ้นกรรมอีกทีหนึ่ง นั่นแหละคือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเวียนว่ายตายเกิดไปตามกรรมในวัฏสงสารนั้นเป็นเรื่องกรรม เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่ว เกิดดีเกิดชั่ว เพราะกรรมที่ทำให้นิพพานมันก็คือกรรมที่ทำให้สิ้นกรรมดีกรรมชั่ว เพิกถอนกรรมดีกรรมชั่วออกไปหมด ก็เลยกลายเป็นกรรมที่ทำให้บรรลุนิพพานเหนือดีเหนือชั่วเหนือบุญเหนือบาปเหนือสุขเหนือทุกข์ นั่นแหละ ตถาคตโพธิสัทธาเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทีนี้การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราเรียกว่าพระธรรม เรียกรวมๆกันว่าพระธรรม มันก็มีคำอธิบายกันอีกหลายอย่างหลายเรื่อง เรื่องอริยสัจ เรื่องอนัตตา หรือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องสำคัญๆอีกมากมายหลายเรื่อง แต่รวมความแล้วเรื่องดับทุกข์ ถ้าพูดภาษาธรรมดาๆ หน่อยก็คือเรื่องสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับก็คือนิพพาน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วก็ท่านก็สอนเรื่องสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วเราก็ได้ฟัง แล้วก็เชื่อโดยอาศัยหลักเช่นกาลามสูตร เป็นต้น เราจึงเข้าใจคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสและมองเห็นว่ามันเป็นไปได้แล้วก็รับมาปฏิบัติ มันก็ยิ่งพิสูจน์ว่ามันเป็นสิ่งที่จริง และความเชื่อก็ดีถึงที่สุดได้ และเมื่อเราเชื่อพระพุทธเจ้า ก็หมายความว่ามีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ชนิดที่เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ ประกอบอยู่ด้วยปัญญา ทีนี้อยากจะพูดเลยไปถึง เอ่อ เรื่องที่น่านึกน่าคิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า พุทธบริษัทบางพวก เขาให้ความหมายแก่คำว่าพุทธะหรือพระพุทธเจ้านี้กว้างกว่าที่เราถือกันอยู่ ที่เขาให้ความหมายว่าทุกคนมีความเป็นพุทธะหรือมีเครื่องความเป็นพุทธะอยู่ในตน แต่ถ้าอวิชชาหรือกิเลสครอบงำ ไอ้ความเป็นพุทธะที่มีอยู่ในตนก็ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่กิเลส อวิชชา เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อใดกิเลสหรืออวิชชาไม่รบกวน ความเป็นพุทธะในบุคคลคนนั้นก็แสดงแก่บุคคลคนนั้น เป็นพระพุทธเจ้าชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้าเราไปเชื่อพระพุทธเจ้าชนิดนี้นั้นก็คือเชื่อตัวเองพร้อมกันไปด้วย ตัวเองก็เป็นพุทธะอย่างหนึ่งชนิดหนึ่งเหมือนกันทุกคนเหมือนกับพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป เหมือนคำว่าถ้ากิเลสออกไปเสียอย่างเดียวก็มีความเป็นพุทธะ ในคราวหรือในโอกาสในที่ที่เราไม่มีกิเลสรบกวน มีจิตใจว่างจากกิเลส ต้องมีสติปัญญาที่ถูกต้องคือไม่ไปหลง ยึดมั่นถือมั่นอะไร นี่ก็ยิ่งเป็นปัจจัตตัง ที่จะรู้จัก คือพระพุทธเจ้าที่เราจะรู้จักได้ถนัดถนี่และเป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน และสติปัญญาชนิดนี้มันก็แสดงชัดอยู่ใน ในตัวมันเองว่าเป็นอย่างไร เราจึงมีความเชื่อตัวเองหรือเชื่อสติปัญญานั้น ไม่เชื่อตามคนนอกพูด ไม่เชื่อตรัส ว่ามีการเล่าลือกันมาหรือเชื่อกันมาอย่างนั้นหรือมันมีเหตุผลอย่างนั้น หรือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา หรือว่าผู้พูดนี้ควรเชื่อได้หรือว่านี้มันมีในพระไตรปิฎกนี่ที่เขาห้ามไม่ให้เชื่อ ที่พระพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้เชื่ออย่างที่ตรัสไว้ให้กาลามสูตร แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังมีจิตที่ว่างจากกิเลส มีสติปัญญาที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่เป็นตัวกูของกู ฉะนั้นก็เลยเชื่อตัวเองว่าไม่ควรจะไปยึดมั่นนั่นนี่ว่าเป็นตัวกูของกู และเป็นกิเลสและเป็นความทุกข์ก็อยู่ในพวกที่เคลิ้มตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้เชื่อ เชื่อจากความรู้สึกที่รู้สึกอยู่จริงๆไม่ใช่การใช้เหตุผลไม่ใช่การไปตามอำนาจแห่งเหตุผล มันรู้อยู่ว่าเมื่อว่างจากกิเลสอย่างนี้ มัน มัน มันประเสริฐที่สุด ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีโลภะสบายอย่างนี้ ถ้ามีโลภะมันเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้ามีโทสะมันเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้าไม่มีโทสะเป็นทุกข์อย่างนี้ นี่เขาไม่เรียกว่าเหตุผล มันไม่เกี่ยวกับเหตุผลมันเกี่ยวกับความรู้สึกในจิตใจล้วนๆ เมื่อเรามีจิตใจชนิดที่รู้สึกได้ทั้ง ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายที่มีกิเลสรบกวนก็รู้สึกหรือรู้จัก ฝ่ายที่ไม่มีกิเลสรบกวนก็รู้สึกหรือรู้จัก ก็มีความเชื่อตนเอง ว่านั่นถูกแล้วที่จะทำไม่ให้มีกิเลส ยังไงความเชื่อ ที่ปลงลงไปถึงที่สุดคือปลงความเชื่อลงไปหมดเลย โดยอาศัยการเชื่อตัวเอง ได้เรียกว่าปลงศรัทธาลงไปด้วยปัญญาด้วยสัมมาทิฐิที่รู้สึกอยู่ในจิตในใจนะโดยประจักษ์ ไม่เชื่อตามผู้อื่นไม่เชื่อตามพระไตรปิฎกไม่เชื่อพระพุทธเจ้าพูดไม่เชื่อเลยอะไรหมดตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เชื่อ ต้องเชื่อความรู้สึกของตัวเองที่รู้สึกกับสิ่งนั้น อย่างนี่ยิ่งเป็น ตถาคตโพธิสัทธาเราเชื่อฟังพระพุทธเจ้าจนถึงขนาดไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ฟังดูก็น่าเวียนหัว เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นบุคคลคนหนึ่งแล้วพูดให้เราฟัง แต่เราเชื่อพระพุทธเจ้าที่เป็นความรู้สึกเป็นสติปัญญาของเราเองและเข้าใจได้ด้วยตนเอง ผู้ที่ฟังไม่เข้าใจก็อาจจะเข้าใจไปว่าขัดขวางกัน คำพูดนี้ขัดขวางกันแต่โดยเนื้อแท้แล้วเรามีพระพุทธเจ้าที่แท้จริงในตัวเรา คือพระธรรม เป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้เข้าถึงและเราก็เชื่อ นั่นแหละเชื่อพระพุทธเจ้าจริง
นี่สรุปความว่าศรัทธาหรือความเชื่อในพระพุทธศาสนามีอยู่สี่หัวข้อ เชื่อกรรม เชื่อผลกรรม เชื่อการที่ต้องรับผลกรรม นี่เรียกว่าเชื่อกรรมหมดและอีกข้อหนึ่งก็คือเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยที่เราทำความประจักษ์ด้วยใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ และสอนก็เลยกลายเป็นเชื่อตัวเองตามที่พระพุทธเจ้าท่านเคยแนะนำไว้ให้ทุกคนเชื่อตัวเอง และทั้งหมดนี้ขอให้เอาไปทบทวนดูว่าเรากำลังมีปัญหาอย่างไร มีการทำผิดทำถูกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าศรัทธา เราอาจจะมีศรัทธาอย่างเด็กเล่นก็ได้หรือมีศรัทธาชนิดที่เขาล้อเลียนกันว่าศรัทธาหัวเต่า เดี๋ยวโผล่ออกมาเดี๋ยวผลุบเข้าไปก็ได้ เมืองนี้เขาเรียกกันอย่างนั้น เพราะว่ายังไม่มีศรัทธาที่แท้จริงหรือเพียงพอ ฉะนั้นจะต้องศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจดี ให้มีสิ่งที่เรียกว่าศรัทธานี้ที่เป็นศรัทธาจริงๆไม่ไปฟังเชื่องมงาย เพราะฉะนั้นก็จะเป็นรากฐานที่ดีเป็นพื้นฐานที่ดี สำหรับประพฤติปฏิบัติต่อไปตามลำดับตามลำดับ ให้ว่าตั้งต้นดีมีรากฐานดีคือศรัทธา ในการทบทวนธรรมในวันนี้ว่าด้วยเรื่องศรัทธา มีข้อความดังที่ได้พรรณนามานี้