แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แรกของเรื่องเกี่ยวกับวินัย เนื่องจากมีผู้บวชใหม่มากรูปด้วยกัน ก็เลยอยากจะพูดเรื่องเกี่ยวกับวินัยก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด สำหรับในวันแรกนี้จะพูดเรื่องประโยชน์ของวินัย ตามธรรมดาเราจะไม่พูดถึงประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก่อนแต่ที่จะพูดถึงเรื่องตัวไอ้สิ่งนั้น ๆ ผมก็เคยถือหลักว่าเราจะต้องพูดเรื่องสิ่งนั้นคืออะไร แล้วก็สิ่งนั้นมาจากอะไร สิ่งนั้นเพื่อประโยชน์อะไร สิ่งนั้นโดยวิธีใด ซึ่งเป็นหลักทั่วไปทาง Logic แม้ในพุทธศาสนาเช่นเรื่อง อริยสัจจ์
เดี๋ยวนี้ก็อยากจะแหวกแนวดูบ้าง จะพูดเรื่องประโยชน์ของสิ่งนั้น ก่อนแต่ที่จะพูดถึงสิ่งนั้นว่าคืออะไร ข้อนี้ถือว่าเป็นการทดลองดูก็แล้วกัน คือถ้าจะพูดถึงตัววินัยคืออะไร มันก็ชวนง่วงนอนเสียตั้งแต่ทีแรก ถ้าพูดถึงประโยชน์ของวินัยคืออะไร มันก็ชวนให้เกิดความสนใจ และความตื่นเต้นหรืออยากจะรู้ ก็เลยมีความคิดใหม่ว่า ถ้าจะพูดเรื่องอะไร ก็จะพูดเรื่องประโยชน์ของสิ่งนั้น ก่อนแต่ที่จะพูดถึงตัวสิ่งนั้นว่าคืออะไร
สิ่งแรกที่จะเตือนให้นึกถึง ก็คือข้อที่ว่า เราบวชแล้วในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าไม่เข้าใจก็จะไม่รู้สึกว่าไอ้คำนี้มีความสำคัญ พระพุทธเจ้าท่านเรียกศาสนาของท่านน่ะว่าธรรมวินัย ท่านไม่เคยเรียกศาสนาเหมือนพวกเรา พวกเราเรียกว่าศาสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าธรรมวินัย เช่นเราคนไทยจะพูดว่าบวช เราบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า คนไทย ภาษาไทย พูดกันอย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัสอย่างนี้ ท่านจะตรัสว่า บวชแล้วในธรรมวินัยของตถาคต ไม่เคยมีพูดว่า บวชในศาสนาของตถาคต นี่คำมันต่างกันอย่างนี้
ไปค้นดูให้หมดทั้งพระไตรปิฎก จะไม่พบว่า บวชแล้วในศาสนาของตถาคต ไม่มีใช้เลย แต่มีคำใช้แทน อ่า, ใช้ว่า บวชแล้วในธรรมวินัยของตถาคต บวชแล้วในธรรมวินัยนี้ ที่เราบวชในธรรมวินัย ก็คือบวชเข้ามาในศาสนานี้ ซึ่งประกอบอยู่ด้วยธรรมะกับวินัย ธรรมะกับวินัยนี่แฝดกันอยู่ ไม่แยกกัน บวชเข้ามาในธรรมวินัยนี้ คือคำพูดที่เป็นภาษาของพระพุทธเจ้า
ธรรมะก็คือข้อปฏิบัติประเภทธรรมะ ไม่บังคับ แล้วก็เพื่อความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนวินัยนี้ เป็นข้อปฏิบัติที่บังคับ เพื่อการเรียบร้อยในเบื้องต้น ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าวินัย มันจึงผิดกันกับธรรมะ จึง ๆ ๆ ได้มีอยู่เป็นสองอย่าง เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เป็นวินัยอย่างหนึ่ง
ทีนี้เราจะพูดถึงวินัย ที่เราบวชเข้ามาในวินัยนี้ ก็หมายความว่า บวชเข้ามาในขอบเขตของวินัยนี้ เป็นภิกษุสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ อย่าลืมว่า มันมีคำว่าภิกษุสงฆ์ คือว่าสงฆ์ที่รวมกันเป็นหมู่เดียวเรียกว่าภิกษุสงฆ์ แล้วก็ภิกษุสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ นี่ถ้าคุณไม่ต้องการจะบวชเป็นภิกษุสงฆ์หรือเป็นสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ก็ได้ คือไม่ต้องการจะเนื่องกับหมู่สงฆ์นี้ก็ได้
แม้ว่าจะปฏิบัติอย่างเดียวกันนี้ แต่ปฏิบัติอย่างเดียวกันแต่ไม่เนื่องด้วยหมู่ก็ได้ ถ้าอย่างนี้เขาไม่บังคับ ไปอยู่ตามป่า ตามดง ตามอะไรก็ได้ ไม่ต้องมารวมหมู่เพื่อสิทธิหรือเพื่ออะไรบางอย่าง จะไปบวชอย่างแบบ เอ่อ, ไม่ ๆ เกี่ยวข้องกับหมู่คณะนี้ แล้วก็ทำอะไรได้ตามชอบใจเท่าที่อยากจะทำ แม้ว่าทำให้ถูกต้องนี้ ทำตามที่อยากจะทำ เช่นจะหุงข้าวกินเองหรือจะอะไรทางนี้ ก็ ๆ ตามใจ มันก็ได้ แต่ต้องไม่เนื่องด้วยสงฆ์หมู่นี้ ถ้าอยากจะเนื่อง คือรวมอยู่ในสงฆ์หมู่นี้ ต้องทำตามวินัย
ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าวินัย คือระเบียบหรือข้อบังคับของหมู่สงฆ์นี้ หมู่นี้ คณะนี้ ของพระพุทธเจ้า นี่ถ้าเราประพฤติตามวินัย ก็จะมีประโยชน์เกิดขึ้นหลายอย่าง ผมอยากจะแบ่งเอาเองตามชอบใจว่า ประโยชน์ที่จะได้แก่ตัวผู้นั้นเองนี้อย่างหนึ่ง นี้ประโยชน์ที่จะได้แก่คณะสงฆ์นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็ประโยชน์ที่จะได้แก่พระศาสนาส่วนรวมนี้อีกอย่างหนึ่ง
อย่างแรกที่ว่าจะได้ประโยชน์แก่ตัวผู้ปฏิบัติวินัยเองนั้น มันก็มีมาก ข้อแรกที่สุดก็คือความผาสุกทางกายของบุคคลนั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามวินัยอย่าง ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้นี้ ผู้นั้นจะมีความผาสุกทางกายก่อน หมายความว่าเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ ร่างกาย การเป็นอยู่ทางร่างกาย นี้จะมีความผาสุก
ขอให้ไปอ่านดูวินัยทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ใน ปาฏิโมกข์ และนอก ปาฏิโมกข์ นี้ มันมีมากข้อที่จะให้เกิดความผาสุกทางร่างกาย มีวินัยหลายข้อเกี่ยวกับภิกษุจะต้องรักษาความสะอาด แก่วัตถุสิ่งของ แก่เนื้อหนังร่างกายนี้ มีวินัยอีกหลายข้อที่เกี่ยวกับอนามัย จะต้องอาบน้ำอย่างนั้น จะต้องผึ่งตัวอย่างนี้ จะต้องถ่ายอุจจาระอย่างนั้น แม้แต่ถ่ายอุจจาระ เบ่งแรงก็ปรับอาบัติ อย่างนี้เป็นต้น มันมีมากเกี่ยวกับอนามัย
นี้เกี่ยวกับการประหยัด คนโดยมากไม่รู้ ในวินัยมีแต่เรื่องประหยัด รักของและประหยัดยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก ถ้าถือตามวินัยนี้ ใช้บาตรอย่างสะเพร่า ทำให้บาตรแตกง่าย เสียหายง่าย นี้ก็เป็นอาบัติ ไม่ดูแลจีวรให้เรียบร้อย ทิ้งไว้จนปลวกกัดหนูกัด แม้คืนเดียวนี้ก็เรียกว่าปราศจากไตรจีวร นี้ก็เป็นอาบัติ ก็ให้ใช้ทุกอย่างในลักษณะที่ประหยัดที่สุด
นี่คุณลองคิดดูว่า เมื่อมีความสะอาด มีอนามัย มีการประหยัด แม้แต่ประหยัดร่างกาย มันก็มีความผาสุกทางกายนี้ นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าปฏิบัติตามวินัยอย่างถูกต้องแล้ว จะมีร่างกายที่สบายผาสุก ไม่ได้หมายความถึงว่า มันจะมีความแข็งแรงอย่างนักมวยหรืออะไรทำนองนั้น แต่มีความผาสุก มีความสบาย ตามปรกติของนักบวช ที่มีร่างกายเหมาะสมที่จะประพฤติพรหมจรรย์
นี้ข้อสองก็อยากเรียกว่า มันมีอานิสงส์ คือให้เกิดความสบายทางจิต อย่างที่หนึ่ง มันทางกาย อย่างที่สอง มันทางจิต นับตั้งแต่ว่า เมื่อปฏิบัติตามวินัยแล้ว มันก็รู้สึกพอใจตัวเอง มีความเคารพนับถือตัวเองขึ้นมา ถ้าคุณไม่ปฏิบัติวินัยแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะพอใจตัวเอง อยากทำอะไรทำ อยากพูดอะไรพูด มีลักษณะเป็นนักเลงโต เป็นอันธพาลไปเลย แล้วจะไม่มีส่วนไหนที่จะพอใจตัวเองหรือจะยกมือไหว้ตนเองได้ จะไม่มี
ดังนั้นการที่ไม่สำรวมในวินัยนี้ จะไม่มีส่วนที่จะรับความสุขทางจิตใจ ความผาสุกทางจิตใจ คือไม่เกิดความพอใจแก่ตัวเองและไม่เคารพนับถือตัวเอง มันก็เป็นอันธพาล คือทำอะไรตามชอบใจ ตามอยากที่จะทำ อยากจะพูด คุยโขมงโฉงเฉง กิริยาท่าทางเป็นอันธพาลไปเลยนี่ มันจึงไม่เคยพบกับความพอใจตัวเองหรือยก ๆ มือไหว้ตัวเองได้ มันก็ไม่เป็นพระเท่านั้นน่ะ มันก็ไม่มีชีวิตจิตใจวิญญาณอะไรที่เป็นพระน่ะ
ในที่สุดมันก็อยู่ไม่ได้ มันก็จะมีความน้อมเอียงไปในทางอยู่ไม่ได้ จะต้องทำจนมีความพอใจตัวเอง นับถือตัวเอง ไม่มีวิปฏิสาร ความเดือดร้อนใจเพราะว่าได้ประพฤติผิด เมื่อได้ประพฤติผิดวินัย ก็ ๆ จะต้องมีแต่ความเดือดร้อนที่เรียกว่าวิปฏิสาร คือวิตกกังวลแต่เรื่องความเสื่อมเสียของตัวเอง มันก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นถ้าประพฤติวินัย มันก็เต็มไปด้วยความรู้สึกที่พอใจ เลื่อมใสในตัวเอง จะมีความผาสุกทางจิตใจเพราะการประพฤติวินัยนั้น
นี้ข้อถัดไป ข้อที่สามก็อยากจะพูดว่า เมื่อปฏิบัติวินัยแล้ว ตัวเองก็จะได้ชื่อว่าปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาทฐานของการบรรลุธรรม ถ้าเราปฏิบัติตามวินัยให้ครบถ้วน ให้ถูกต้องและให้ครบถ้วน ไอ้ตัวนั้นน่ะ กาย วาจา ใจนั้นน่ะ มันก็จะพร้อมที่จะบรรลุธรรม บรรลุมรรคผลนิพพานนั่นน่ะ ถ้าไม่ประพฤติวินัย มันก็มีแต่ความไอ้เกเร เกกมะเหรก โกลาหล วุ่นวาย กระสับกระส่าย ระส่ำระสาย ทั้งกายทั้งจิต มันก็ไม่พร้อมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ถ้ามันพร้อมที่จะบรรลุธรรมะสูงขึ้นไปนี่ ก็เรียกว่ามันเป็นบาทฐาน เป็นรากฐาน เป็นบาทฐานของการบรรลุธรรม ดังนั้นเราจะต้องประพฤติวินัย เพื่อประโยชน์แก่การเป็นบาทฐานของการบรรลุธรรม ก้าวหน้าในทางธรรมที่สูงขึ้นไป เพราะว่า อ่า, เพราะ เพราะว่าพรหมจรรย์นี้มีทั้งธรรมะและวินัย นี่ถ้าประพฤติวินัยบริบูรณ์ดี มันก็เตรียมไอ้กายใจนี้ เพื่อการบรรลุคุณธรรมที่สูงขึ้นไปในทางฝ่ายธรรม
ดังนั้นเราจะต้องมองดูให้ดี ๆ ถ้าไม่มีวินัย มันเป็นคนหยาบคายทั้งทางกายทั้งทางจิต มันอาจจะเลวเลยไปจนไม่มีอะไรดีเลยก็ได้ ทีนี้ว่าไม่ถึงกับขนาดเลวมากอย่างนั้น มันก็มีกายกับจิตที่ไม่เหมาะที่จะเป็นสมาธิ คือทำสมาธิไม่ได้ มันมีร่างกายเลวเกินไป มีจิตใจเลวเกินไป ไม่พร้อมไม่เหมาะที่จะทำให้เกิดสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่า มันมีแต่ความเกลียด เกลียดชังตัวเอง ไอ้คนที่ไม่ประพฤติวินัยนั้นจะมีความเกลียดชังตัวเอง นึกแล้วอิดหนาระอาใจแก่ตัวเอง นึกแล้วรังเกียจตัวเอง มันก็รบ สู้กันกับตัวเองอย่างไม่มีความผาสุก แล้วจิตจะเป็นสมาธิได้อย่างไร
มันต้องการไอ้ใจคอที่ปรกติ หรืออย่างน้อยก็มีปีติปราโมทย์ ต่อตัวเอง ต่อการมีชีวิตอยู่ว่า อะไรเป็นผู้ได้ดี ได้เกิดมาดี ได้การกระทำที่ดี และไม่มีส่วนเสียทางไหนเลย นี่คือ ๆ ทางวินัยนี่ นี้จิตมันก็เป็นสมาธิง่าย เพราะว่าปีตินั้นมันก็เป็นสมาธิ เป็นองค์ประกอบของสมาธิอยู่แล้ว ถ้าใครพอใจในตัวเอง นับถือตัวเองได้ ไอ้ปีติอันนั้นก็เป็นองค์ของสมาธิ คือเป็นสมาธิอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว แล้วมันก็ง่ายที่จะเป็นสมาธิให้สมบูรณ์
นี่ถ้าไม่มีวินัย มันก็ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิ มันก็ไม่มีปัญญา มันมีแต่จิตที่หม่นหมอง มืดมัว เร่าร้อน ฟุ้งซ่าน มันไม่มีปัญญาอย่างที่พระพุทธเจ้าต้องการ มีปัญญาแต่อย่างชนิดเฉโก ปัญญาฉลาดที่จะทำชั่วทำผิด ความฉลาดในการที่จะตามใจกิเลสนั้น มีแต่ความฉลาดอย่างนั้น ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ที่จะไปรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น นี้เรียกว่าเมื่อ ๆ ไม่มีศีล ก็ไม่มีสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิก็ไม่มีวิ เอ่อ, ไม่มีปัญญานี้ ที่มีอยู่ก็คือความระส่ำระสายทางกายและทางจิต ดังนั้นเราจะต้องเห็นความสำคัญของวินัย ปฏิบัติเพื่อให้เป็นบาทฐานของการบรรลุธรรม
ทีนี้อานิสงส์ประการที่สี่ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสมาก คือว่าจะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน คำนี้ฟังไม่ดี คล้าย ๆ กับว่าจะทำนาบนหลังมหาชน ทำให้เขาเลื่อมใสแล้วเอาอะไรมาพะเน้าพะนอ ถ้าคิดไปอย่างนั้นมันก็ผิด นอกลู่นอกทางไปอีกแล้ว คือนอกลู่นอกทางของวินัย ที่ว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน คือว่าจะเป็นเครื่องช่วยให้มหาชนเข้ามาเลื่อมใสในพุทธศาสนา
เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส นี้หมายความว่า เมื่อเขาไม่เคย เมื่อเขาไม่ได้เห็นพระที่เป็นระเบียบเรียบร้อยนี้ เขาไม่สนใจพุทธศาสนา เมื่อเขาเห็นพระประพฤติดี มีวินัย ปฏิบัติเรียบร้อยดี ก็เลยเกิดสนใจใน ๆ ๆ พุทธศาสนาหรือในธรรมะนี้ขึ้นมา นี่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาความเลื่อมใส ในความเชื่อความเลื่อมใสของมหาชน แล้วข้อนี้มันขยายออกไปถึง เป็นโชคดีของมหาชนที่จะได้ผล ได้กำไร เกิดมาจากการถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสงฆ์นั้น ๆ
บทที่สำหรับสวดตอนท้าย ปาฏิโมกข์ ก็มีอยู่แล้วข้อนี้ว่า เราบริโภคจตุปัจจัยของทายกเหล่าใด จักมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีกำไรนั้นน่ะ แก่ทายกเหล่านั้น มันเนื่องกันไปว่า ให้มี ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน เป็นโชคดีแก่มหาชน เป็นกำไร คือเป็นเนื้อนาบุญแก่มหาชน เพราะมหาชนนี้ไม่รู้จะไปทำบุญที่ไหน นอกจากจะทำบุญกับผู้ที่ประพฤติดี มีวินัยถูกต้อง ตามหลักของวินัย ถ้าเขาจะไปทำบุญในนาบุญอย่างอื่นก็ได้เหมือนกัน แต่ถือว่าไม่มีกำไรมากเหมือนกับนาบุญ คือผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องและสมบูรณ์ในเรื่องของวินัย
นี้โดยหัวข้อ มันมีอยู่เป็นสี่หัวข้อใหญ่ ๆ อย่างนี้ ถ้าจะซอยให้ละเอียด มันก็ยิ่งมีมาก มันก็เฝือ ผมจึงเอาแต่เพียงสี่ข้อมาพูดให้ฟัง ซึ่งมันกินความข้ออื่น ๆ ที่ไม่ได้เอามาพูดด้วย เพราะเราจะมีความผาสุกทางกาย เราจะมีความผาสุกทางจิต แล้วก็จะเป็นบาทฐานของการบรรลุธรรมอันสูงขึ้นไป แล้วก็จะเป็นโชคดีของมหาชน เขาจะได้เลื่อมใส เขาจะได้สนใจ เขาจะได้กำไร ในการบำเพ็ญบุญ ในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาต่อไปอีก
ดังนั้นเพียงสี่ข้อเท่านี้มันก็พอแล้วที่จะชอบวินัย หรือว่าจะสนใจในการที่จะปฏิบัติวินัย เท่าที่เห็น ๆอยู่ดูมันยังไม่มี ยังไม่มีความผาสุกทางกายทางใจ หรือยังไม่เป็นบาทฐานที่จะบรรลุธรรมอันสูงขึ้นไป ทายก ทายิกายังขาดทุนอยู่นี่ พระยังชอบเปิดวิทยุเพลงฟังอยู่อย่างนี้ แล้วชาวบ้านใส่บาตรให้ฉันจะมีกำไรที่ตรงไหน บางทีก็ยังเล่นหัวกันอยู่เหมือนกับเด็ก ๆ คุยโขมงโฉงเฉงเป็นนัก ๆ เลงโต อย่างเหมือนกับเมื่อ ๆ ยังไม่ได้บวช นี้มันก็ไม่มีโชคดีหรือกำไรอะไรแก่มหาชนผู้ถวายจตุปัจจัย มันจะต้องแก้ไขไอ้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป
ทีนี้ประเภทที่สอง อานิสงส์ที่มันจะได้แก่คณะสงฆ์ จะเป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์อย่างไร มันรู้ได้จากคำว่าวินัยนั่นเอง วิ แปลว่าวิเศษ นัย แปลว่านำ นัย แปลว่านำไป วินัย แปลว่านำไปอย่างวิเศษ คือระบบปฏิบัตินี้จะนำหมู่คณะไปอย่างวิเศษ ถ้าคณะสงฆ์ทั้งหมดนี้ปฏิบัติวินัย วินัยจะนำคณะสงฆ์นี้ไปสู่สภาพหรือภาวะที่วิเศษ ดังนั้นก็แปลว่า ทำให้คณะสงฆ์นี้มันเคลื่อนเหมือนกับถูกขนไป พาไป สู่วัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายที่ประเสริฐที่สุด
ข้อที่หนึ่ง มันทำให้หมู่คณะนี้ งดงาม เป็นระเบียบเดียวกัน เพราะว่าคนที่มาบวชในธรรมวินัยนี้ มาจากสกุลที่ต่างกัน พื้นเพที่ต่างกัน มาจากชาวนาชาวป่าก็มี มาจากชาวบ้านชาวเมืองก็มี มีการศึกษาก็มี ไม่มีการศึกษาก็มี เป็นอันธพาล พ่อแม่อยากให้บวชให้มันกลับตัวก็มี ไม่เป็นอันธพาล เป็นคนดีมาแล้วก็มี มีการศึกษาสูงก็มี มันต่างกันมากอย่างนี้
ทีนี้พอมารวมหมู่กันเข้า มันก็จะต้องมีการปะทะ ตัวไอ้ที่มัน ๆ ญาติหยาบ มันก็ประพฤติมันญาติหยาบ ที่มันญาติดี มันประพฤติมันญาติดี มันเปะปะ มันจะเกลียดชังกันเอง มันจะกระทบกระทั่งกันเอง ดูแล้วต่างคนต่างทำ นี้พระพุทธเจ้าท่านฉลาดกว่าพวกเรานี้ ก็บอกว่าทุกคนถือระเบียบเดียวกัน คือถือวินัยตามที่ได้วางไว้ คนที่กิริยาหยาบโง่เง่าไม่รู้หนังสือก็ต้องถือวินัยอย่างนี้ คนฉลาดก็ต้องถือวินัยอย่างนี้ เพื่อทำให้มันเหมือนกัน ทำให้ทุกคนเข้ากันได้ เป็นหมู่คณะที่งดงาม
ใน ๆ ๆ ๆ ๆ ชั้นแรก คือว่างดงามทางภายนอก งดงามทางกายหรือทางภายนอก คนอันธพาลก็ไม่มีโอกาสที่จะแสดงบทบาทอันธพาล ในเมื่อมาบวชแล้ว เพราะมันมีวินัยนี่ แม้แต่จะเดิน แม้แต่จะลุก จะนั่ง จะฉัน จะกิน จะดื่ม จะอาบ จะถ่าย จะอะไร มันมีวินัย ที่เคยกิริยาหยาบ มันก็เลยเข้ามาสู่ไอ้ระเบียบเดียวกันหมด กับที่ เอ่อ, ที่ ๆ ดี ที่งาม ที่ใช้ได้
ลองไม่มีวินัยดูสิ แล้วต่างคนต่างทำตามความพอใจนี้ แม้ที่สุดแต่ว่ามันจะต้องนุ่งห่มเหมือนกันอย่างนี้ จีวรนี่นุ่ง ๆ ห่มเหมือนกันอย่างนี้ มันก็เป็นความงดงาม นี้ต่างคนต่างนุ่งห่มตามความพอใจ มันก็ดูเถิด มันก็เหลือที่จะดูได้ นี้คืออานิสงส์ของวินัยที่ทำให้หมู่คณะนี้เป็นระเบียบ งดงามเสมอกันทุกคน แล้วเกิดเป็นหมู่ที่งดงามขึ้นมา
ทีนี้อานิสงส์ข้อที่สอง ที่สำคัญมากก็คือว่า จะทำให้มีศีลนั่นแหละเสมอกัน มี เขาเรียกว่า สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน นี้ไม่ได้เพ่งถึงความงาม แต่เพ่งถึงความเสมอกัน ความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีได้เพราะมีความเสมอกัน ในส่วนศีลและส่วนความคิดเห็น สีลสามัญญตา เสมอกันในส่วนศีล คือการประพฤติทางภายนอก ทางกิริยาท่าทาง ทางอะไรต่าง ๆ นี้ ต้องเสมอกัน แล้วอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนธรรมะ คือมีทิฏฐิ ความคิดความเห็นเป็น สัมมาทิฏฐิ เหมือนกัน ก็เรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา
ทีนี้วินัยช่วยได้ในส่วน สีลสามัญญตา พอทุกคนมีวินัย ก็มีศีลเสมอกันหมด ไม่มีใครเกลียดใคร ไม่มีใครกินแหนงแคลงใจต่อใคร มันก็มีความสามัคคี ที่เรียกว่ามอง ๆ ดูกันด้วยสายตาแห่งความรักใคร่ เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำนมกันน้ำอย่างนี้ เหมือนนมกับน้ำเข้ากันได้สนิท เมื่อทุกคนประพฤติวินัยถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว มันก็จะมองดูกันได้ด้วยสายตาที่รักใคร่และเข้ากันได้ สนิทสนมกลมเกลียวกันเหมือน ๆ นมกับน้ำ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำอย่างนี้ นี้เรียกว่า สีลสามัญญตา นอกจากจะเป็นหมู่คณะที่งามแล้ว ยังเป็นหมู่คณะที่สามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้น ไม่มีใครเกลียดใคร
ทีนี้อานิสงส์ข้อที่สาม ก็อยากจะพูดอย่างเดียวกันอีกว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตะกี้มันส่วนตัวบุคคล ส่วนตัวภิกษุคนหนึ่ง ๆ มีวินัยแล้ว เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน เดี๋ยวนี้รวมกันทั้งหมด ทั้งหมู่ทั้งคณะเป็นคณะสงฆ์ แล้วคณะสงฆ์นี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน ก็เป็นโชคดีแก่มหาชน ที่มีที่พึ่ง ที่มีเครื่องจูงใจให้มั่นคงในศาสนา แล้วก็เป็นผลเป็นกำไรแก่มหาชน ผู้บริจาคจตุปัจจัยแก่คณะสงฆ์ที่ดี ที่มีวินัยนี้
เราได้ยินเขาพูดเสมอ ๆ ว่า ถวายสังฆทานนี่มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ ขอให้สังฆทานนี้มันถวายแก่หมู่สงฆ์ ไม่ได้ถวายแก่บุคคล ถ้าถวายแก่บุคคลที่พอใจเฉพาะบุคคลนั้น แม้จะเป็นภิกษุนะ เขาก็เรียกว่าบุคลิกทาน คือการให้ทานเฉพาะบุคคล ถึงอย่างไร ๆ ก็มีอานิสงส์น้อยกว่าให้ แก่คณะสงฆ์ แก่หมู่สงฆ์ ดังนั้นหมู่สงฆ์ที่มีวินัย ที่มีการปฏิบัติดี ก็เป็นที่ตั้งแห่งบุญกุศลนะ ของทายกทายิกาอย่างมหาศาล
นี้เพียงสามข้อเท่านี้ ผมก็คิดว่าพอแล้ว ประโยชน์อานิสงส์ที่จะได้แก่คณะสงฆ์ ในเมื่อภิกษุทุกองค์ประพฤติวินัยอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ คือว่าคณะสงฆ์นี้จะสม่ำเสมอเป็นระเบียบงดงาม ทั้งที่แต่ละคนมาจากที่ต่าง ๆ กันนี้ และคณะสงฆ์นี้ก็จะมี สีลสามัญญตา อันเป็นปัจจัยสำคัญของความสมัครสมานสามัคคี ถ้าสงฆ์ไม่สามัคคี ศาสนาล่มจม ถ้าสงฆ์เกิดแตกแยก ศาสนาล่มจม ถ้าสงฆ์สามัคคี ศาสนายังอยู่ นี่เราต้องการความสามัคคีของสงฆ์ แล้วในที่สุดก็เป็นประโยชน์แก่มหาชนด้วย
นี้อานิสงส์ประเภทที่สาม ที่ว่าจะได้แก่พระศาสนาเป็นส่วนรวมนั้น เขามีคำพูดที่พูดไว้ดีว่า วินัยนี้เป็นรากแก้วของพระศาสนา วินัยเป็นรากแก้วของพระศาสนา ดังนั้นอานิสงส์ข้อแรกที่จะได้แก่พระศาสนาก็คือว่า ศาสนามันได้รากแก้ว ไอ้รากแก้วนี้มันยืมมาจากต้นไม้ เอ่อ, มี เป็นคำพูดภาษาต้นไม้ ต้นไม้ถ้ามีรากแก้ว เขาก็หมายความว่าเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงแน่นอน ต้นไม้หลายชนิดใน ๆ วัดเรานี่ บางชนิดไม่มีรากแก้ว ไอ้พายุตะลุมพุกช่วยถอนทิ้งไปหมดแล้ว ไม่ค่อยมีเหลือแล้ว ไอ้ต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้ว เมื่อปีพายุตะลุมพุก ที่เหลือ ๆ อยู่นี้ส่วน ๆ ใหญ่มีรากแก้ว
รากแก้วคือรากที่มันแข็งแรง มันดิ่งลงไปตรง ๆ ลึกและใหญ่ด้วย มันโค่นยาก สำหรับให้ต้นมันอยู่ ไอ้รากฝอยน่ะ มันหาน้ำ หาอาหาร หาอะไรไปตามเรื่องมันไปตามผิวดิน ไอ้ต้นไม้ที่มีแต่รากฝอย ไม่มีรากแก้วนี้มันก็ล้มง่าย แล้วก็ไม่อยู่ยืนยาว ไม่ อายุมันไม่ยืน วินัยเป็นรากแก้ว เขาเปรียบเหมือนกับว่ามันเป็นไอ้แกนที่หยั่งลงไปลึก ทำให้ศาสนานี้มี ๆ ๆ รากที่หยั่งลึก ง่อนแง่นคลอนแคลนยาก คำว่ารากแก้วนี้มันหมายถึงมั่นคงอยู่ใน ๆ ปัจจุบันนี้
ทีนี้มันมีอีกคำหนึ่ง ตั้งอยู่นาน ข้อสองหมายถึง ๆ ว่า การมีวินัยนี้จะทำให้ศาสนาตั้งอยู่นานกว่าการไม่มีวินัย มีข้อความที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเล่มแรก เล่มหนึ่งน่ะ ตอนหน้าแรก ๆ เลย ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระสารีบุตรเพื่อจะตอบคำถามว่า ทำไมศาสนาของพระพุทธเจ้าบางองค์ บางพระองค์นี้ ระยะสั้นมาก ทำไมศาสนาของพระพุทธเจ้าบางองค์มีระยะยาวนานมาก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ศาสนาที่พระศาสดาบัญญัติวินัยจะอยู่นาน ศาสนาที่พระศาสดาไม่ได้บัญญัติวินัยนั้นจะอยู่ไม่นาน คือเหมือนศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์แรก ๆ วิปัสสี สิขี กกุสันโธ อะไรนี้ เป็นศาสนาที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติวินัย โดยสอนให้เป็นพระอรหันต์ ให้ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว เป็นพระอรหันต์กันมากเหมือนกัน แต่ว่าวินัยไม่บัญญัติ ก็ปล่อยไปตามเรื่อง
นี้เมื่อ อ่า, ทีนี้ไม่เท่าไรมันก็เกิดไอ้ ๆ ที่เรียกว่าอุปัทวะขึ้น เพราะว่าไม่มีใครที่จะต้องเกรงใคร ไม่มีใครจะถือหลักอะไรที่อย่างสม่ำเสมอกัน เอาตามชอบใจ แม้เป็นพระอรหันต์ก็เถอะ เมื่อท่านตายไปแล้ว มันคนข้างหลังมันก็ทำ ๆ เลอะ ก็ท่านไม่พูดว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนอะไร ส่วนตัวท่านมันก็ไม่มีอะไรผิดพลาด เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่ส่วนหมู่คณะไม่มีใครบริหาร ทีนี้ไอ้ที่บวชเข้ามาทีหลังมันไม่เป็นพระอรหันต์ มันก็ทำเลอะเทอะ พักเดียวก็เจ๊ง ใช้คำหยาบ ๆ ว่าล้มละลายหมด ศาสนาของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นจึงมีอายุยืนเพียงนิดเดียว
ส่วนศาสนาของพระพุทธเจ้าบางพระองค์นั้นบัญญัติวินัย ต้องอย่างนั้น ๆ โดยเฉพาะศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ มีบัญญัติวินัยไว้อย่างนี้ ๆ ดังนั้นในวินัยนี้มันอยู่เป็นพระศาสดาแทน ๆ พระพุทธองค์ที่ปรินิพพานโดย ๆ ๆ ร่างกายไปแล้ว และพระพุทธเจ้าท่านก็ยังได้ตรัสกำชับเมื่อจะปรินิพพานว่า ธรรมะ อ่า, ธรรม ๆ ธรรมะและวินัยใดที่ได้บัญญัติแล้ว แสดงแล้วแก่พวกเธอ นั้นจักอยู่เป็นศาสดาของเธอ ภายหลังแต่การล่วงลับไปแห่งเรานี้ มันก็เหมือนกับพระพุทธเจ้าไม่ได้ ๆ ไปไหนเสีย เหมือนกับพระพุทธเจ้ายังอยู่ แล้วก็มีระเบียบที่จะให้วินัยนี้ทำหน้าที่คุ้มครอง คือการปฏิบัติวินัยตามที่บัญญัติไว้ แล้วพอครบสิบห้าวันก็มาประชุมกันลง ปาฏิโมกข์ เพื่อให้ทุกคนยืนยันว่ายังปฏิบัติวินัยอยู่
ใจความสำคัญของการลง ปาฏิโมกข์ นั้น คุณยังไม่รู้ก็ได้ ยังเพิ่งบวช ยังไม่เคยลงก็มี คือวินัยบัญญัติไว้แล้วเป็นข้อ ๆ ๆ ๆ อย่างนั้น และโดยเฉพาะที่สำคัญ ๒๒๗ ข้อเรียกว่า ปาฏิโมกข์ จะมีผู้อ่านหรือผู้ว่า ปาฏิโมกข์ ไปทีละข้อ ๆ แล้วก็ให้ภิกษุผู้นั่งฟังนั้นนึก ๆ ตามไปทีละข้อ และถ้า ๆ ไม่ได้ต้องอาบัติข้อนั้น ๆ ก็คงนิ่งอยู่ แล้วก็ว่าไปเรื่อย ถ้าต้องอาบัติข้อนั้นน่ะ เมื่อ ที่เขาบอกขึ้นนะ บอก ๆ ๆ ขึ้นมานั้นน่ะ เรารู้ว่าเรา ๆ ต้องอาบัติข้อนี้ เราก็ต้องบอกขึ้นทันทีว่าต้องอาบัติข้อนี้
ทีนี้เมื่อไม่มีใครต้องอาบัติ นิ่งกันอยู่ทั้งหมด ก็หมายความว่ามีการประพฤติวินัยอยู่อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ทุกองค์ ทั้งคณะ นี้เมื่อทำอย่างนี้ ไอ้คนชั่วคนเลวมันก็ติดเข้ามาไม่ได้ เพราะว่าถ้ามา ๆ ต้องอาบัติ เอ่อ, มานั่งอยู่ในที่นั้น กลายเป็นคนปลอมเข้ามาอย่างนี้ แล้วก็เรียกว่าไม่ใช่ภิกษุหรือเป็นคนปลอมเข้ามา แล้วก็ต้องอาบัติเติมเข้าไปอีก แล้วก็เป็นคนโกหกที่ตรงที่นั่นเอง เพราะได้บอกกันแล้วว่า ถ้าต้องอาบัติให้พูดขึ้นในข้อนั้น ๆ ที่กำลังอ่าน กำลังว่าไปทีละข้อ
ทีนี้คนนั้นรู้ว่าตัวต้องอาบัติแล้วไม่พูด ก็เป็นคนโกหก นั่งอยู่ที่นั่นก็ต้องอาบัติที่นั่นอีก ถ้าไม่มีคนโกหกชนิดนี้ก็หมายความว่า ทุกคนมีวินัย พระศาสนาของพระพุทธเจ้าจึงหมดจดบริสุทธิ์เรื่อยมา ด้วยการทำวินัยกรรมอย่างนี้ คือลง ปาฏิโมกข์ นี่ เพราะฉะนั้นศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติวินัยไว้ จึงเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่ยืนยาวเป็นพัน ๆ ปี อย่าง ๆ ศาสนานี้เราก็ ๆ ถือกันว่าสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว และอย่างน้อยก็คงจะไปถึงห้าพันปี ประมาณกันไว้อย่างนั้น
ถ้าภิกษุเหล่านี้ ยังไม่คดในข้องอในกระดูก ยังมีวินัย ยังรักษาวินัย ยังประพฤติวินัยกรรม เอ่อ, ปาฏิ ปาฏิโมกข์ อยู่ มันก็อยู่ไปได้เรื่อย อาจจะถึงหมื่นปีก็ได้ เพราะมันมีอยู่เป็นหลักตายตัวอย่างนี้ อย่าว่าแต่ห้าพันปีเลย หลายหมื่นปีก็ได้ นี้ถ้ามันเกิดเหลวไหลกันขึ้นมา ไม่ถือวินัย มันก็สูญสิ้นไปในเร็ว ๆ นี้ก็ได้ ไม่ถึงห้าพันปีล่ะ
ดังนั้นวินัยคือสิ่งที่จะทำให้พระศาสนายืนยาว ข้อที่หนึ่ง เป็นรากแก้ว คือว่ามั่นคง ที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้มันมั่นคง เป็นรากแก้ว แล้วข้อที่สอง ทำให้อายุของศาสนานั้นยืนยาว มีอะไรมา ๆ ๆ ทำให้ล้มละลายยาก ไม่มีอะไรมาทำให้มันสูญไปได้ เพราะว่าทุกองค์มีวินัย ถือวินัย แล้วก็ปฏิบัติตามหลักของวินัย แล้วก็ใช้ระเบียบนี้ ระเบียบที่ว่าสิบห้าวันจะต้องมายืนยันความที่ตัวมีวินัยอยู่ครั้งหนึ่ง ๆ เสมอไป ที่เรียกว่าลง ปาฏิโมกข์ ดังนั้นเพียงสองข้อนี้ก็พอแล้ว ที่ทำให้พระศาสนาอยู่ยืนยาวไปได้นานมาก เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลายตลอดกาลนาน ด้วยการที่ภิกษุองค์หนึ่ง ๆ มีวินัยตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ แล้วก็จะใช้คู่กันไปกับธรรมะ
วินัยมันเหมือนกับรากแก้วหรือว่าจะเหมือนเปลือกนอกก็ได้ คือจะหุ้มห่อเอาไว้ ส่วนธรรมะนั้นมันเหมือนกับเนื้อใน แล้วแต่เราจะเปรียบ ต้นไม้น่ะไม่ใช่ มันไม่ใช่มีแต่ลำต้นกับราก มันต้องมีดอกมีผลถึงมีประโยชน์ ไอ้ส่วนที่มันเป็นดอกเป็นผลที่มีประโยชน์นั้นเป็นส่วนธรรมะ ส่วนที่มันเป็นต้นหรือเป็นรากแก้วไปนี้มันส่วนวินัย เมื่อวินัย วิ วินัยดี ก็หมายความว่ามีรากดี มีต้นดีนั่น มันไม่ตาย มันจึงจะมีดอกมีผลได้ ถ้ารากมันเสียหมดแล้วต้นมันจะอยู่ได้หรือ แล้วผลหรือดอกมันก็มีไม่ได้
ดังนั้นจะต้องเห็นไอ้ ๆ ความจำเป็นหรือ ๆ คุณค่าของสิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้กันให้ ๆ ถูกต้อง ให้เพียงพอด้วย แล้วก็ช่วยกันมีวินัย นั่นแหละคือช่วยกันสืบอายุพระศาสนาในส่วนรากแก้วหรือลำต้น แล้วธรรมะซึ่งเป็นตัวศาสนาก็จะออกดอกออกผล เป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน นี่ประโยชน์ของวินัยที่จะพึงได้แก่ตัวพระศาสนานั้นเอง
ก็จะ อ่า, สรุปความทบทวนอีกทีหนึ่งก็คือว่า ประโยชน์หรืออานิสงส์ของวินัยนั้นมีอยู่สามประเภท ประเภทที่หนึ่ง เป็นอานิสงส์ที่จะได้แก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง เขาจะมีความผาสุกทางกาย เขาจะมีความผาสุกทางจิต เขาจะมีบาทฐานที่ดีของการบรรลุธรรมสูงขึ้นไปตามลำดับ เขาจะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสหรือบุญกุศลของมหาชน นี้อานิสงส์ประเภทที่หนึ่ง
อานิสงส์ประเภทที่สอง คณะสงฆ์จะพึงได้รับ ก็คือว่าจะมีความงดงามเป็นระเบียบอยู่ที่คณะสงฆ์นั้น แม้ว่าจะมีคนเข้ามาบวชจากพื้นเพเดิมที่ต่างกัน แล้วก็จะมี สีลสามัญญตา คือความสามัคคีกลมเกลียว สนิทมั่นคงในหมู่สงฆ์นั้น แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและบุญกุศลของมหาชน นี้อานิสงส์ประเภทที่สอง
อานิสงส์ประเภทที่สาม ศาสนามีรากแก้ว แล้วก็ศาสนาอยู่นาน แล้วก็ลองทบทวนดูสิว่า อานิสงส์เพียงเท่านี้มันวิเศษประเสริฐสูงสุดแล้ว พอที่เราจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปฏิบัติวินัย แม้ว่าจะต้องน้ำตาไหลด้วยความอดกลั้นอดทน ประพฤติพรหมจรรย์จนน้ำตาไหล เพื่อไม่ให้เสียวินัยนี้ มันก็คุ้มกันแล้ว นี้ผู้ที่มีศีลเป็นที่รัก เขายอมสละแม้แต่ชีวิตนี่ ถ้ามันจะต้องตายไป ก็ตายไปเลย จะไม่ยอมให้เสียในส่วนศีลหรือในส่วนวินัย ก็เป็นอานิสงส์ที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งแก่ส่วนบุคคล และส่วนคณะสงฆ์ และส่วนศาสนา
เดี๋ยวนี้ดูชักจะไม่ ๆ ถึงนั้น เพียงแต่จะประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา นี้ก็จะหายากแล้ว อย่าว่าถึงกับต้องเสียชีวิต ถ้ายังเอาแต่ความสะดวกสบาย สนุกสนาน สรวญเสเฮอาแล้ว มันก็ไม่มีวินัยเหลืออยู่ มันต้องถึงขนาดที่จะเรียกว่า อดกลั้นอดทนรักษาวินัยไว้ให้ได้ จนแม้น้ำตาไหลก็รักษาไว้ให้ได้ มันจึงจะ ๆ มีได้ จะอยู่ได้ จึงจะได้รับอานิสงส์เหล่านี้ของวินัย นี้ส่วนจะประพฤติได้อย่างไร นี้เราค่อยพูดกันวันอื่น วันนี้เราพูดกันแต่อานิสงส์
อย่าได้ลืมเสีย อย่าได้มองข้ามไปเสีย อย่าได้เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เอาไปคิดเอาไปนึกจนเกิดความศรัทธา ความเสียสละ หรือความกล้าหาญ ที่จะปฏิบัติให้มันได้รับอานิสงส์เหล่านี้ ซึ่งมันประเสริฐที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ตัวเองก็ได้ คณะสงฆ์ก็ได้ ศาสนาก็ได้ มหาชนทั้งโลกก็พลอยได้ มันก็จะได้ประโยชน์ อานิสงส์ของการบวชบรรพชานี้ ที่เราพูดกันในวันบวช ในวันอุปสมบท ในอุโบสถว่า ขอให้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วก็สืบอายุพระศาสนากันไปจริง ๆ
นี่ถ้าลืมเสียก็ ๆ ไม่ไหว เคยพูดหลายครั้งหลายหน ในวันที่บวช วันบรรพชาอุปสมบท ในวันบวชนะว่า ให้บวชจริง ให้เรียนจริง ให้ปฏิบัติจริง ให้ได้ผลจริง แล้วให้สืบอายุพระศาสนากันไปจริง ๆ รวม ๕ จริง แล้ว ๕ จริงนี้ มันมี อ่า, มันขึ้นอยู่กับวินัยคำเดียวนี้ ขอให้มีวินัยเพียงคำเดียวอย่างเดียวนี้ มันจะมีจริง ๕ จริงนั้นขึ้นมาได้ บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สืบอายุพระศาสนาไปจริง
ดังนั้นเมื่อเราแน่ใจในการบรรพชา ต้องการอานิสงส์การบรรพชา แล้วก็ตั้งใจจะทำจริงอย่างว่า ก็ต้องสนใจเป็นพิเศษกับสิ่งที่เรียกว่าวินัย ซึ่งมีประโยชน์ มีอานิสงส์ อย่างลึกซึ้ง อย่างสูงสุด อย่างมากมาย อย่าง ๆ เหลือที่จะพูดได้ ที่กล่าวมาแล้ว นี่วันแรกเราพูดกันถึงอานิสงส์หรือประโยชน์ของวินัยอย่างนี้