แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาปรารภมาฆบูชา จึงมีเรื่องที่จะต้องกล่าวกันถึงคำว่า มาฆบูชา และเรื่องที่จะกระทำจิตใจให้เหมาะสมที่จะทำประทักษิณบูชาในโอกาสนี้
ข้อแรกที่สุดนี้ ก็คือข้อที่จะต้องเตือนกันแล้วเตือนกันเล่า เตือนกันอีกทุกปีไปในโอกาสเช่นนี้ ว่าในปีหนึ่งเพียงครั้งเดียวนี้ จะต้องทำในใจถึงพระอรหันต์เป็นพิเศษ เพราะว่าวันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจก็จงเข้าใจ ที่เข้าใจแล้วก็ขอให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป ว่าวันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า วันสำหรับพระสงฆ์ ขอทำความเข้าใจซ้ำ ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า วันวิสาขบูชานั้นเป็นวันที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงควรเรียกว่า วันพระพุทธเจัา คือวันเพ็ญในเดือนที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ ซึ่งตามปกติก็ตรงกับเพ็ญเดือน ๖ ส่วนวันอาสาฬหบูชาถัดมาอีก ๒ เดือนนั้น เป็นวันที่พระองค์ตรัสแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงไปในโลกนี้เป็นครั้งแรกด้วยการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็น วันพระธรรม คือพระธรรมถูกแสดงออกไปเป็นครั้งแรกในโลก ทำให้พระสงฆ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่องค์ ยังไม่เรียกว่าคณะสงฆ์มีแล้วโดยสมบูรณ์ ต่อมาอีกไม่กี่เดือนก็มาถึงวันมาฆบูชา คือวันเช่นเดียวกับวันนี้ เป็นวันที่พระศาสดาทรงประชุมสังฆสันนิบาต พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์นั้น เป็นหลักสำหรับสงฆ์จะพึงประพฤติปฏิบัติต่อไป ถ้าจะเรียกกันในสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า สังฆรัฐธรรมนูญ ดังนี้ อ้า, สังฆธรรมนูญ ดังนี้เป็นต้น เราจึงถือว่าวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกัน เป็นวันที่ระลึกแก่พระสงฆ์หรือแก่พระอรหันต์ ถ้าพูดทางประวัติศาสตร์ก็เป็นวันพระสงฆ์ ถ้าพูดทางธรรมะก็เป็นวันพระอรหันต์ เพราะว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อวันเช่นวันนี้เป็นวันพระอรหันต์ เราก็ต้องทำในใจถึงพระอรหันต์ให้เป็นพิเศษมากกว่าวันอื่น ซึ่งในปีหนึ่งมีตั้ง ๓๖๐ กว่าวัน ขอเพียงวันเดียวเท่านั้นที่จะทำใจให้เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ท่านทุกคนจงดับไฟในอกในใจที่กำลังมีอยู่เดี๋ยวนี้ อย่างน้อยชั่วสักขณะหนึ่งก็ยังดี จึงจะเป็นที่ระลึกแก่วันเช่นวันนี้ซึ่งเป็นวันของพระอรหันต์ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร นอกจากจะเป็นการเล่นตลกแก่พระอรหันต์ ไหนๆ เราก็จะบูชาพระอรหันต์ ระลึกถึงพระอรหันต์เป็นพิเศษกันในวันนี้แล้ว ก็ขอให้พยายามทำจิตใจให้เหมือนพระอรหันต์เท่าที่จะทำได้ แม้ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี คือให้จิตใจว่างไปจากกิเลส ไม่มีกิเลสที่กำลังกลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ ทำจิตใจให้ว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู ที่กำลังฟุ้งซ่านเดือดพล่านอยู่นั้นเสีย ขอให้ค่อยๆ สำรวมจิตใจลงไปทีละเล็กละน้อย ให้นึกถึงคุณของพระอรหันต์ ให้นึกถึงความที่ตนมีคุณสมบัติยังไม่ถึงนั้น แล้วก็เกิดความละอายแก่ใจ มีความสลดสังเวชในตัวเองแล้ว จิตใจก็จะค่อยๆ ว่างลงไป จนมีจิตใจทำนองเดียวกันกับจิตใจของพระอรหันต์ และให้ถือเอาคุณธรรมข้อนี้เป็นสักการะ เป็นเครื่องสักการะสำหรับบูชาพระอรหันต์ในวันเช่นวันนี้ เช่นเดียวกับดอกไม้ ธูป เทียน ซึ่งเตรียมมาเป็นการบูชาด้วยวัตถุหรืออามิส ส่วนการบูชาด้วยการกระทำจิตใจให้คล้ายพระอรหันต์นั้นย่อมเป็นปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญปฏิบัติบูชา แต่ก็ไม่ละทิ้งเสียซึ่งอามิสบูชา ดังนั้นเราจึงต้องทำการบูชาโดยประการทั้งสอง คือทั้งอามิสบูชาและทั้งปฏิบัติบูชา โอกาสแห่งวันเช่นวันนี้มาถึงเข้าวันหนึ่งนี้ ก็มีการบูชาเป็นพิเศษเช่นนี้ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
โดยร่างกาย เราก็ทำการบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และเดินเวียนประทักษิณซึ่งเรียกกันว่า เวียนเทียน นี้เป็นการบูชาในส่วนร่างกาย
ในส่วนวาจา บูชาด้วยการเปล่งวาจาออกมาถึงคุณของพระอรหันต์ ปฏิญาณตัวที่จะเดินตามรอยพระอรหันต์ จะกระทำตามพระอรหันต์ จงสรรเสริญคุณของพระอรหันต์ ชักชวนผู้อื่นในคุณของพระอรหันต์ ดังนี้เรียกว่าบูชาด้วยวาจาในวันมาฆบูชา
ส่วนการบูชาด้วยจิตใจนั้น พึงกระทำในใจให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จงสลัดปัดเป่าสิ่งทั้งหลายออกไปเพราะมันไม่มีค่าอะไรที่จะเก็บไว้ ให้เหลืออยู่แต่คุณธรรมแห่งความสะอาด สว่าง สงบ ด้วยความพยายามอย่างยิ่ง จะได้ใช้เป็นการบูชาด้วยจิตใจในวันมาฆบูชานี้
เพราะฉะนั้นจึงเป็นการกล่าวได้ว่า เราได้กระทำบูชาแล้วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ อุทิศเจาะจงแด่พระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันเช่นวันนี้ การกระทำอย่างนี้เรียกว่ากระทำมาฆบูชาโดยสมบูรณ์ ไม่เสียทีที่ท่านทั้งหลายอุตส่าห์ลำบากกายขึ้นมาจนถึงที่นี่ ขอให้พยายามตั้งใจให้ดี กระทำให้สุดความสามารถ ให้มีการบูชาที่ครบถ้วน ถูกต้อง บริสุทธิ์ผุดผ่อง เต็มตามความสามารถของตนเท่าที่จะกระทำได้
ทีนี้ อยากจะให้ระลึกนึกถึงการบูชาทั้งสาม คือ บูชาด้วยกาย บูชาด้วยวาจา และบูชาด้วยใจ ว่าในบรรดาการบูชาทั้งสามนี้ การบูชาด้วยใจย่อมเป็นของกระทำยาก ดังที่ท่านทั้งหลายก็พอจะทราบได้อยู่เองว่าเป็นของกระทำยาก การกระทำการบูชาด้วยกาย กระทำได้ไม่ยาก มีระเบียบ มีพิธี มีตัวอย่างดีอยู่แล้ว เขาทำกันได้แม้แต่เด็กๆ การบูชาด้วยวาจาก็มีระเบียบ มีวิธี ดีอยู่แล้ว และก็กระทำได้แม้แต่เด็กๆ ส่วนการบูชาด้วยใจนั้นยังเป็นปัญหา เพราะว่าเป็นของละเอียด ประณีต และลึกซึ้ง จึงต้องพูดกันถึงเรื่องนี้เป็นส่วนมาก ดังจะได้กล่าวต่อไป
การที่มีจิตใจอนุโลมตามจิตใจของพระอรหันต์นั้น พึงถือเป็นหลักโดยทั่วไปว่า จะต้องมีจิตที่สะอาด สว่าง และสงบ เมื่อพูดขึ้นอย่างนี้ บางคนก็จะท้อใจว่าเป็นสิ่งที่ยังไกลต่อความหวัง แต่ถ้ามาคิดดูให้ดีแล้วมันไม่ได้ไปไกลถึงอย่างนั้น คือตามธรรมชาติแห่งจิตของมนุษย์นี้ ถ้าระวังสักหน่อยก็จะป้องกันการเกิดของกิเลสได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประมาท อวดดี ไม่คิดที่จะระวังแล้ว มันก็ย่อมเป็นไปในทำนองที่จะมีกิเลสหนาแน่น ฉะนั้นจงกลับความคิดเสียใหม่ ว่าสิ่งนี้ไม่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย เพราะว่าจิตนี้มันมีลักษณะที่จะสะอาด สว่าง สงบ อยู่ตามธรรมชาติ คนอย่าไปเผลอให้มากเกินไปแล้ว ก็พอจะรักษาไว้ได้ในสภาพที่สะอาด สว่าง สงบ ตามธรรมชาติ ข้อเท็จจริงข้อนี้มีพระพุทธภาษิตเป็นหลักอยู่แล้วว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีลักษณะเป็นประภัสสร อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ แปลว่า จิตนั้นเกิดไปเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา ฟังดูให้ดีท่านก็จะเข้าใจได้ว่า กิเลสนี้เป็นเพียงอาคันตุกะ ไม่ใช่เจ้าของบ้านเจ้าของเรือน เป็นแขกมาเป็นครั้งเป็นคราว เราอย่าต้อนรับแขกชนิดนี้ บ้านเรือนของเราก็จะยังสะอาดดีอยู่ตามเดิม การที่จะไม่ต้อนรับแขกชนิดนี้ ก็คือต้องมีสติสำหรับที่จะกลัวแขกชนิดนี้ สำหรับที่จะเกลียดแขกชนิดนี้ คือกิเลส มีความละอายในการที่จะปล่อยให้จิตใจมีลักษณะเช่นนั้น เพียงแต่ความละอายอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะสามารถกีดกันแขกชนิดนี้ออกไปจากบ้านเรือนคือจิตใจได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีความละอาย แม้จะมีกิเลสก็ไม่มีความละอาย แล้วยังชอบที่จะรักษากิเลสไว้สำหรับยืนยันด้วยมานะทิฏฐิ นี้เรียกว่า ประมาท นี้เรียกว่า ขาดสติ นี้เรียกว่า ไม่ละอาย นี้เรียกว่า ไม่กลัวต่อกิเลส แต่ถ้าเรามานึกคิดอยู่เสมอ จนรู้ว่า จนเห็นว่า จนเข้าใจว่า มันเป็นสิ่งที่น่าละอาย น่าเกลียด น่ากลัว น่ารังเกียจ มันก็จะเกิดความรู้สึกที่เกลียดกลัวกิเลสอยู่เป็นประจำ สติสัมปชัญญะในการที่จะระวังรักษากิเลสก็มีอยู่โดยง่าย เมื่อป้องกันไว้ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ จิตนี้ก็ยังคงมีลักษณะเป็นประภัสสรอยู่ตามเดิม จิตที่มีลักษณะเป็นประภัสสรนั่นแหละสมควรแล้วที่จะใช้เป็นวัตถุบูชาคุณของพระอรหันต์ เป็นเครื่องสักการะบูชาพระอรหันต์ ถ้าอย่างนั้นเราจะมาคิดกันเสียเวลานี้ก็ได้ว่า ในวันนี้ ปีหนึ่งเพียงวันเดียวนี้ เดี๋ยวนี้ก็จะมาทบทวนดูให้ดี ตลอดทั้งปีที่แล้วมานี้ เราเป็นผู้ประมาทแล้วอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็จะมาสลดสังเวชใจ ละอายแก่ใจของตัวเอง เพื่อกำจัดความประมาทนั้นออกไปเสียที่นี่และเดี๋ยวนี้ ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ก็จะมีจิตใจเหมาะสมที่จะทำมาฆบูชาเป็นแน่แท้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจโดยแยบคายโดยลักษณะนี้เถิด
ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า การที่มี การที่เราจะมีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ นั้น ถ้าทำไม่ได้ชนิดที่สมบูรณ์สูงสุด ก็ทำอย่างธรรมดาๆ สามัญ แม้แต่ชั่วขณะหนึ่งในเวลานี้ก็ยังดี คือขอให้เข้าใจดังต่อไปนี้ว่า จิตที่จะว่างจากกิเลสนั้นมีได้ถึง ๓ สถานด้วยกัน สถานที่ ๑ คือว่างเองโดยบังเอิญ สถานที่ ๒ ว่างเพราะเราควบคุม บังคับ ระมัดระวังไว้ สถานที่ ๓ มันว่างเพราะกิเลสหมดไปเสียแล้ว ไม่มีอยู่เหลืออยู่ ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดาน
สำหรับอย่างแรก ที่ว่าจิตว่างได้เองโดยบังเอิญนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเข้ามาสู่สถานที่นี้ มาจากบ้านจากเรือน พอเข้ามาสู่สถานที่นี้ ธรรมชาติแห่งสถานที่นี้ก็บังคับให้จิตใจเปลี่ยนไปอยู่ในสภาพที่ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูขึ้นมาในจิต ฉะนั้นจึงรู้สึกสบาย ถ้าท่านผู้ใดรู้สึกสบาย ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่านั่นแหละคือการที่จิตนี้เกิดความว่างขึ้นมาเองโดยบังเอิญ คือจากสิ่งที่แวดล้อมอยู่รอบๆ ตัวเรา ดึง จูง จิตใจให้เป็นไปในลักษณะเช่นนั้น เมื่ออยู่ที่บ้านหมกมุ่นอยู่ด้วยการงาน แล้วก็เผลอสติด้วย ก็มีจิตใจเป็นตัวกูของกูจัด พอมาที่วัด มาอยู่ในที่อย่างนี้ เต็มไปแต่ธรรมชาติ ตามธรรมชาติ มีต้นไม้ มีก้อนหิน เป็นต้น สิ่งที่กระทบทางตาหรือทางหูก็ผิดกันกับที่มีอยู่ที่บ้าน ฉะนั้นจึงแวดล้อมจิตใจไปทางหนึ่ง คือไปในทางหยุด ไปในทางสงบ หรือเป็นไปในทางว่าง ดังนั้นความรู้สึกชนิดที่เป็นตัวกูของกูจึงหายไปในขณะนั้น แล้วเราก็รู้สึกสบายใจ สบายใจชนิดที่บอกไม่ถูก คือไม่ได้สบายใจอย่างที่สบายใจที่บ้าน ที่สบายใจด้วยเงิน ด้วยของ ด้วยวัตถุ ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา สามี เป็นต้น ความสบายใจอย่างนี้มันเป็นความสบายใจอีกชนิดหนึ่ง คือสบายใจเพราะจิตว่างจากตัวกูของกู สบายใจที่บ้านนั้นสบายใจชนิดที่จิตกำลังเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู ดังนั้นมันจึงเป็นของที่ต่างกัน ไม่เหมือนกัน ความสุขที่บ้านต้องเป็นความสุขร้อนเพราะเต็มไปด้วยตัวกูของกู ความสุขที่ในป่าจะต้องเป็นความสุขที่เย็นเพราะว่ากำลังว่างจากตัวกูของกู เดี๋ยวนี้เราได้อาศัยธรรมชาติชนิดนี้มาเป็นเครื่องแวดล้อม ให้มีจิตใจน้อมไปในทางที่จะว่าง จะหยุด จะสงบ ก็ถือเอาจิตชนิดนี้แหละว่าเป็นจิตที่เราทำให้ว่างได้ตามสติปัญญาสามารถและโอกาสของเราในเวลานี้ ก็พอแล้วที่จะใช้เป็นจิตที่รองรับการกระทำมาฆบูชา หรือว่าใช้เป็นเครื่องสักการะสำหรับทำมาฆบูชา สำหรับเราท่านทั้งปวงตามธรรมดาเช่นนี้ เรียกว่า มีจิตว่างหรือมีจิตบริสุทธิ์โดยบังเอิญ ก็รักษาไว้ให้พอสำหรับที่จะทำมาฆบูชาในโอกาสนี้
ส่วนจิตที่จะว่างจากตัวกูของกูในลักษณะที่ ๒ คือการบังคับควบคุมนั้น ก็หมายถึงการประพฤติปฏิบัติ มีสติรักษาไว้นั่นเอง เมื่อจิตมันว่างขึ้นมาโดยบังเอิญ โดยวิธีที่ ๑ แล้ว ก็พยายามรักษาไว้ ควบคุมไว้โดยวิธีที่ ๒ คือควบคุมสติ รักษาสติ นี้ก็ยังจะช่วยกัน ซึ่งกันและกันได้ แต่ถ้าจะกล่าวอย่างเต็มรูปแล้ว ก็จะต้องกล่าวโดยหัวข้อแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตให้ขาวรอบ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นั่นเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือเราพยายามระมัดระวังในการที่จะเว้นจากบาป อกุศล พยายามให้กุศลเกิดขึ้น และพยายามรักษาจิตไม่ให้หลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดแม้ในสิ่งที่เป็นกุศล อย่างนี้เรียกว่า ต้องบังคับ ต้องควบคุม ต้องปลุกปล้ำ ไม่ใช่เป็นไปได้โดยบังเอิญ จึงได้จัดไว้อีกประเภทหนึ่ง เป็นวิธีที่จะทำจิตให้ว่างโดยลักษณะที่ ๒
ส่วนลักษณะที่ ๓ คือจิตว่างเพราะหมดกิเลสแล้วนั้น มันมีได้เฉพาะแก่พระอริยบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพระอรหันต์นั่นเอง พระอรหันต์เป็นผู้หมดกิเลสแล้ว ถ้าว่าโดยที่แท้ก็คือ หมดสภาพความเคยชินที่จะเกิดเป็นกิเลสได้แล้ว ไม่มีความเคยชินอะไรเหลืออยู่สำหรับจะเกิดกิเลสอีกต่อไป แม้ท่านไม่ต้องคิด ไม่ต้องสำรวมระวังอะไร มันก็ไม่อาจจะเกิดกิเลสได้ และมันเป็นการว่างเองอยู่ในเนื้อในตัวของความหมดกิเลสนั้นเอง ยิ่งกว่าว่างโดยบังเอิญเสียอีก มันจึงต่างกับความว่าง ๒ ชนิดที่แล้วมา เป็นอันว่าไม่ใช่ ไม่ใช่วิสัยของบุคคลธรรมดาที่จะมีความว่างชนิดนั้น แต่อย่างไรก็ดี คนธรรมดาก็มีความสามารถ มีโอกาส ที่จะมีจิตว่างจากตัวกูของกูได้โดยวิธีที่ ๑ และโดยวิธีที่ ๒ โดยวิธีที่ ๑ ก็คือ จัดสิ่งแวดล้อมให้แก่ตัวให้เหมาะ จิตก็จะว่างไปด้วยอำนาจของสิ่งแวดล้อมนั้น อีกอย่างหนึ่งก็คือ มีสติ คอยระมัดระวังไว้เป็นอย่างดี ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางจิตใจเอง อย่าให้เผลอ อย่าให้โง่ ปล่อยให้จิตนั้นมีความคิดปรุงแต่ง ไหลไปในทางที่จะเกิดกิเลสเป็นตัวกูของกู เช่นเกิดเป็นความโลภขึ้นมา เช่นเกิดเป็นความโกรธขึ้นมา เช่นเกิดเป็นความหลงขึ้นมา อย่างนี้ มันก็จะมีจิตว่างได้ด้วยอำนาจความพากเพียรพยายาม เราก็มีถึง ๒ วิธีที่จะทำจิตให้มีความเหมาะสมสำหรับจะทำมาฆบูชาในวันนี้
จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้สนใจทำให้ดีที่สุดเพื่อมาฆบูชา ซึ่งปีหนึ่งมีเพียงหนเดียว เพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ข้อปลีกย่อยนอกจากนี้ยังมีอีก คือว่าเราจะต้องคิดนึกให้ละเอียดละออลงไป ว่าวันนี้เป็นวันที่จะต้องเสียสละ ท่านทั้งหลายจงฟังดูให้ดีว่า วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องเสียสละ ถ้าไม่มีการเสียสละย่อมไม่มีการบูชา นี้เป็นคำกล่าวที่เด็ดขาดและแน่นอน ถ้าไม่มีการเสียสละย่อมไม่มีการบูชา ถ้าจะให้มีการบูชา จะต้องมีการเสียสละ ส่วนข้อที่ว่าจะเสียสละอะไรบ้างนั้น เราก็จะไปดูกันต่อไป ส่วนใหญ่ส่วนลึกนั้นจะต้องเสียสละมานะทิฏฐิ ที่เป็นความยึดมั่นถือมั่น อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น เต็มอัดอยู่ในใจตลอดปีจนกระทั่งถึงเวลานี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเสียสละในส่วนลึกคือทางจิตใจโดยตรง ทีนี้มองดูต่อไปก็ถึงการเสียสละที่จะต้องกระทำในทางภายนอกหรือทางร่างกาย เราอุตส่าห์มาจนถึงที่นี่ ก็เป็นการเสียสละ เปลืองทรัพย์ เปลืองเวลา เปลืองเรี่ยวแรง หรือเหน็ดเหนื่อย เพราะเรายังจะต้องมาทำพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความระมัดระวังและด้วยเสียสละ เพื่อจะทำตามพระอรหันต์ เราจึงจัดการกระทำของเรานี้ให้เป็นไปในลักษณะที่มีการเสียสละ เช่นว่าท่านทั้งหลายจะต้องนั่งที่พื้นดิน จะต้องเดินเท้าเปล่า เป็นต้น นี้ก็เพื่ออะไร ก็เพื่อจะระลึกนึกถึงข้อที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมพระอรหันต์นั้นก็ดี หรือว่าพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ท่านก็มีชีวิตอยู่แต่ตามพื้นดินเช่นนี้ ท่านไม่มีร่ม ท่านไม่มีรองเท้า ท่านไม่มีมุ้ง ดังนี้เป็นต้น ที่ว่าท่านมีชีวิตอยู่ตามพื้นดินนั้น ใครๆ ก็รู้ หรือควรจะรู้ แต่แล้วก็แกล้งทำลืมเสีย แม้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ สามเณร ก็ดูเหมือนจะยังแกล้งทำลืมเสีย ว่าพระพุทธเจ้านั้นประสูติก็กลางพื้นดิน ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้กลางพื้นดิน นิพพาน ดับขันธ์ ก็ปรินิพพานกลางพื้นดิน เมื่อแสดงธรรมจักรประกาศพระศาสนา ก็แสดงธรรมจักรนั้นกลางพื้นดิน เมื่อประชุมจาตุรงคมหาสันนิบาตในโอกาสแห่งมาฆบูชาเช่นนี้ ก็ประชุมพระอรหันต์เหล่านั้นกลางพื้นดิน ท่านทบทวนดูอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าเกี่ยวกับวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าก็ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานกลางพื้นดิน ถ้าเกี่ยวกับอาสาฬหบูชา พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมจักรกลางพื้นดิน ถ้าเกี่ยวกับมาฆบูชา พระองค์ก็ประชุมมหาสังฆสันนิบาตนี้กลางพื้นดิน อะไรๆ ก็กลางพื้นดิน แล้วท่านจะนึกถึงแต่เรื่องบนบ้านบนเรือน บนปราสาทราชวัง อย่างนี้ มันก็เดินกันไปคนละทาง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยวันนี้วันหนึ่งหรืออย่างน้อยในโอกาสเดี๋ยวนี้ ที่นี่นี้ เราจะต้องนึกถึงพื้นดิน จะต้องเสพคบกับพื้นดิน จะต้องรู้รสของการนั่ง นอน ยืน เดิน บนพื้นดิน เพื่อจะได้มีความรู้สึกอย่างเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น ที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่ามกลางดินหรือตามพื้นดิน ที่นี้เราก็จะเวียนเทียนประทักษิณ ก็ขอร้องว่า อย่าสวมรองเท้าเลย เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สวมรองเท้า พระอรหันต์ทั้งหลายก็ไม่ได้สวมรองเท้า แม้แผ่นดินจะขรุขระบ้าง มีกรวด มีไม้บ้าง มันก็เหมือนกันกับแผ่นดินในครั้งพุทธกาล ในประเทศอินเดีย ชมพูทวีปโน้น เมื่อท่านอยู่ได้ ทำได้ ทนได้ เราก็ควรจะอยู่ได้ ทำได้ ทนได้ เช่นเดียวกัน ดังนั้นจงถอดรองเท้าออกเถิด แล้วก็เวียนประทักษิณทำมาฆบูชา ถ้ามันเกิดการเจ็บปวดที่ฝ่าเท้าขึ้นมา นั่นยิ่งเป็นการบูชาด้วยความเจ็บปวดนั้น แล้วยังจะได้สติปัญญาระลึกนึกได้ว่า พระอรหันต์ท่านสัมผัสอยู่กับสัมผัสชนิดไหน หยาบกระด้าง นิ่มนวล ชนิดไหน อยู่เป็นปกติเป็นประจำดังนี้ นี่แหละคือลักษณะของการเสียสละ
ทีนี้ต่อไปอีก วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ถ้าเราเสียสละได้ เราก็ควรจะเสียสละเวลาให้ทั้งหมดเพื่อกระทำแต่ในสิ่งที่จิตใจจะมีความระลึกนึกถึงพระอรหันต์หรือมีลักษณะที่คล้ายพระอรหันต์ ดังนั้นจึงชักชวนกันว่า วันนี้ตลอดเวลาคืนหนึ่ง วันหนึ่งนี้ จงทำตามพระอรหันต์ด้วยการรักษาอุโบสถสำหรับอุบาสก อุบาสิกา เพื่อว่าจะเป็นการทำตามพระอรหันต์ให้เต็มวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง อย่ามีความขลาด อย่ามีความกลัว ว่ารักษาอุโบสถแล้วจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ จะหิว จะกระหาย เป็นต้น จงมีความกล้าเพื่อจะเสียสละทุกอย่างออกไป กระทำตามพระอรหันต์ในวันเช่นวันนี้
ทีนี้มองไปอีกทางหนึ่งก็ว่า ถ้าจะทำให้ดีแล้ว วันนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะนึกถึงอะไร จะเคลื่อนไหวอะไรสักนิดหนึ่ง ก็ขอให้ใช้เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์เถิด จงสำรวจตัวเองดูว่าในวันนี้ได้ทำอะไรบ้าง ได้ถวายทานอย่างไร ได้รักษาศีลอย่างไร ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันอย่างไร ได้กระทำจิตใจอย่างไร ทั้งหมดนี้ให้เป็นการเสียสละของเราเพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชาแด่พระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้น ในโอกาสแห่งวันมาฆบูชานี้ จงนึกดูว่าตั้งแต่เช้ามาจนถึงบัดนี้ ตลอดไปถึงกลางคืนคืนนี้ เราจะเสียสละอะไรได้บ้าง ก็จงเสียสละเถิดเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาดังที่กล่าวมานั้น ถ้าว่าจะต้องอดทน มีร่างกายแข็งแรงพอที่จะอดทน ก็ควรจะอดทนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นการบูชาไปจนถึงเวลารุ่งสว่าง จะสวดมนต์ภาวนาก็ได้ จะสนทนาธรรมก็ได้ จะศึกษาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้จนกระทั่งสว่าง ด้วยความเสียสละ นี้ก็จะเป็นการเสียสละที่เป็นเครื่องสักการะสำหรับบูชาพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้นด้วยเหมือนกัน พูดถึงการอยู่สว่างแล้วก็เป็นเรื่องน่าขัน พอชักชวนให้อยู่สว่างแล้ว ก็มีคำแก้ตัว มีข้อแก้ตัวกันมากมายหลายสถาน แต่แล้วมันก็เป็นการฟ้องตัวเอง ว่าในบางเวลา ตัวก็ไม่ได้หลับได้นอนจนรุ่งสว่างก็มีอยู่หลายอย่างหลายกรณี เช่นว่า บุตร ภรรยา สามี เจ็บไข้หนักจวนจะตาย อย่างนี้ก็นอนไม่หลับ ก็นั่งเฝ้าปรนนิบัติได้จนสว่าง หรือว่าถ้าเกิดเหตุเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา คนก็ไม่นอน ก็ไม่ต้องนอนหรือนอนไม่หลับ ก็อยู่ได้จนสว่าง แม้แต่จะเล่นไพ่ เล่นหมากรุก ก็ยังอยู่ได้จนสว่าง แต่พอทีว่าจะมาทำในใจระลึกนึกถึงพระอรหันต์จนสว่าง ก็ว่าทำไม่ได้ นี่ก็เพราะว่าไม่รู้จักพระอรหันต์อย่างเพียงพอนั่นเอง รู้จักไพ่ รู้จักหมากรุก เป็นต้น ยิ่งกว่าพระอรหันต์ มันจึงเล่นไปได้จนสว่าง กินเหล้าเมายา เต้นรำ หรืออะไรก็ตาม ก็ยังกระทำไปได้จนสว่าง แต่ทีจะมานั่งทำจิตใจบูชาพระอรหันต์เช่นนี้ก็ทำไม่ได้ แล้วก็รู้สึกง่วงนอน นี้มันก็เป็นความจริงเพราะว่าจิตใจของผู้นั้นมีความรู้สึกต่อพระอรหันต์น้อยนิดเดียว เพื่อจะแก้ปัญหาข้อนี้ จงรีบทำความเข้าใจในพระอรหันต์ให้มากให้พอ ให้มี ศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ฉันทะ ความพอใจ ในองค์คุณของพระอรหันต์นั้น ให้มาก ให้พอ แล้วหูตามันก็จะสว่าง นอนไม่หลับเอง ด้วยปีติปราโมทย์เช่นเดียวกับถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ ก็ทำให้กระสับกระส่าย นอนไม่หลับได้จนสว่างก็ได้เหมือนกัน นั้นเพราะปีติปราโมทย์ชนิดที่เป็นโลกๆ เป็นไปอย่างแรงกล้า นี้ถ้าเรามาสร้างปีติปราโมทย์ในทางธรรม ให้เป็นไปอย่างแรงกล้าเช่นนั้น มันก็อาจจะอยู่สว่างได้ด้วยปีติปราโมทย์นั้น ฉะนั้นจึงขอชักชวนท่านทั้งหลาย ให้พยายามดู ให้พยายามลองดู มันจะต้องลำบากบ้าง จะต้องขาดประโยชน์ทางการงาน ทางวัตถุไปบ้างก็จริง แต่จะได้ประโยชน์จากทางจิตใจที่เหนือกว่ากันเป็นอันมาก จะทำตนให้เป็นพุทธบริษัทมากขึ้น จะทำให้รู้จักพระอรหันต์ดีขึ้น จะทำให้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากขึ้นเป็นแน่นอน
ดังนั้น โอกาสแห่งวันมาฆบูชา วันหนึ่ง คืนหนึ่งนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีแล้วสำหรับเราทุกคน ที่จะจัดการกับตนของตน ให้มีความก้าวหน้าไปในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา คือการทำตามพระอรหันต์
ทีนี้ ก็จะพูดกันถึงคำว่า พระอรหันต์ ต่อไป คำว่า พระอรหันต์ นั้น มันเป็นคำที่ชักจะรางเลือนเต็มที เพราะความไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไรมากขึ้น สำหรับคนหนุ่มสาว พอได้ยินคำว่าพระอรหันต์ก็สั่นหัว บางคนรู้สึกขยะแขยง เกลียดชัง รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคกีดขวางความสนุกสนานสำเริงสำราญของตัว ไม่อยากจะได้ยิน เช่นเดียวกับไม่อยากจะได้ยินคำว่า นิพพาน หรืออะไรทำนองนั้น คนที่ประมาทมากเกินไปก็ยิ่งเป็นอย่างนั้น ไม่อยากจะได้ยินคำเหล่านี้ ได้ยินเข้าแล้วก็รู้สึกนึกดูหมิ่น ทีนี้มันมีอีกทางหนึ่งซึ่งควรจะต้องนึกถึงด้วยเหมือนกัน คือพระอรหันต์ปลอม คำว่าพระอรหันต์นี่มันเป็นคำที่กว้างขวางใช้กันไปในทางหลายๆ ทาง คือหมายความว่า หมายถึงคนที่พิเศษกว่าธรรมดา แปลกกว่าธรรมดา อย่างนี้ก็ได้ มีคนเอาคำว่า พระอรหันต์ หรือ อร (ออ-ระ) มาใช้เป็น อรหันต์ (ออ-ระ-หัน) (นาทีที่ 38:58) และใช้เป็นคำล้อเลียนสำหรับคนที่คดโกง คนขี้เมา คนสูบกัญชา อย่างนี้ก็ยังเคยมี โดยที่แท้แล้วคำว่าพระอรหันต์นั้น หมายถึงบุคคลพิเศษ บุคคลที่ไปไกลเป็นพิเศษ โดยที่คนเรานี่แหละอยากจะรู้ว่า หรืออยากจะมีอยากจะเป็นว่า การที่จะเป็นให้ดีที่สุด ให้สูงที่สุด ให้ประเสริฐที่สุดนั้นจะเป็นอย่างไร มันก็เกิดคำพูดว่า อรหันต์ (ออ-ระ-หัน) หรือ อรหันต์ (อะ-ระ-หัน) (นาทีที่ 39:41) ขึ้นมา แปลว่า บุคคลผู้สูงสุด ประเสริฐที่สุด ไปไกลกว่าใครทั้งหมด ไกลที่สุด ไปจากโลกนี้ คำนี้ก็เกิดขึ้นมาในโลกนี้ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล คนสมัยนั้นมีสติปัญญาอย่างไรก็เข้าใจกันอย่างนั้น ว่าเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นอย่างนั้น, เป็นอย่างนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วมากมายหลายชนิดในประเทศอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาลก็เรียกว่าพระอรหันต์ จนกระทั่งเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา ท่านปฏิเสธว่าอย่างนั้นไม่ใช่พระอรหันต์หรือไม่ใช่พระอรหันต์ที่เราชอบใจ พระอรหันต์ที่ถูกต้องหรือที่เราชอบใจต้องเป็นอย่างนี้ๆ คือผู้หมดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่มีความยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูหรือของกู มีจิตสะอาด สว่าง สงบถึงที่สุด อย่างนี้จึงจะเรียกว่า พระอรหันต์ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด เป็นผู้ไปไกลถึงที่สุดคือไกลจากกิเลสและความทุกข์ มีจิตใจอยู่เหนือโลก นี้เรียกว่าพระอรหันต์ ดังนั้น เราจะมองเห็นได้ทันทีว่า คำว่า พระอรหันต์ นี้ถูกใช้พร่ำเพรื่อ จนกลายเป็นของชวนหัว เป็นของเล่นตลกไปก็มี เราจะต้องถือเอาแต่ความหมายที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนานี้ ว่าพระอรหันต์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลสและความทุกข์ ไกลจากกิเลสก็คือว่ากิเลสตามไปไม่ถึง ดังนั้นจิตใจนี้จึงไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป เมื่อไม่เกิดกิเลสแล้วก็ไม่มีความทุกข์ นี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องประธาน เป็นเรื่องหลัก ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็มีเรื่องประกอบเข้ามาว่า คนชนิดนี้แหละคือคนประเสริฐที่สุด คนที่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คนชนิดนี้แหละเป็นผู้ที่ควรเคารพสักการะ นับถือบูชา หรือคนชนิดนี้แหละเป็นเนื้อนาบุญของโลกที่คนทั้งหลายควรจะสละเพื่อบูชาด้วยอามิส ด้วยวัตถุปัจจัย เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งบุคคลชนิดนี้ให้คงมีอยู่ในโลก แล้วการกระทำนั้นเรียกว่า ได้บุญ พระอรหันต์ที่แท้จริงก็เป็นนาบุญ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ด้วยประการฉะนี้ เดี๋ยวนี้เรามาพูดว่าพระอรหันต์ เราก็ต้องนึกถึงบุคคลอย่างนี้ เราทำในใจถึงบุคคลอย่างนี้ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างน้อยก็ ๑,๒๕๐ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ประชุมกันในที่แห่งหนึ่งในวันเช่นวันนี้ คือวันที่ดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์ คืออยู่ในกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อมาฆะ เป็นวันสำคัญก็เพราะว่าเป็นวันที่พระอรหันต์ประชุมกัน ความสำคัญมันอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ คนธรรมดาประชุมกันก็ไม่เห็นมีความหมายอะไร แต่ถ้าพระอรหันต์ประชุมกันเป็นพิเศษอย่างนี้ ก็ควรจะถือเป็นลักษณะพิเศษ เป็นประวัติการณ์ เราจึงเอามารักษาไว้กระทำในใจ ถือเป็นโอกาสสำหรับทำพิธีเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ท่าน บูชาคุณของท่าน แล้วชักจูงจิตใจของเราให้น้อมไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น
นี่แหละคือความหมายของการทำมาฆบูชาในวันนี้ ในโอกาสเช่นนี้ ซึ่งเรากำลังมาประชุมกันอยู่ที่นี่ก็เพื่อจะกระทำสิ่งนี้ ธรรมเทศนานี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องตักเตือน เครื่องซักซ้อมความรู้สึก เป็นการนำทางให้เตรียมเนื้อเตรียมตัวสำหรับที่จะมีเนื้อตัว จิตใจอันเหมาะสมสำหรับจะทำมาฆบูชาแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงค่อยๆ สำรวมสติให้สงบ ให้มีจิตสงบรำงับลง, มีจิตสงบรำงับลงจากความเร่าร้อนแห่งไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ที่กำลังกรุ่นอยู่ในใจ ให้เย็นสนิทเสียก่อนแล้ว จะได้กระทำมาฆบูชา ได้รับอานิสงส์แห่งการกระทำนั้นโดยสมควรแก่การกระทำของเราที่ได้มีการเสียสละมาจนถึงที่นี่ เวลานี้ และจะได้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันนี้เอาไว้เป็นเครื่องยึดหน่วงจิตใจของเราทั้งหลาย ให้ยังคงเจริญงอกงามก้าวหน้าไปในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาในลักษณะเช่นกล่าวนี้ตลอดไปจนตราบเท่าชีวิตจะหาไม่ และจะเป็นประเพณีที่ดีสำหรับลูกหลานต่อไปในอนาคต เพื่อรักษาความเป็นพุทธบริษัทไว้อย่าให้สูญสลายได้ เพื่อรักษาความเป็นคนไทย คือมนุษย์ที่มีคุณธรรมสูงเพราะมีพระธรรม มีพระศาสนา เป็นเครื่องชักจูงประคับประคอง ชนชาติไทยก็จักเป็นไทยสมชื่อ คืออยู่ได้ไม่สูญสลาย และอยู่ได้ด้วยความเป็นไทย จากความย่ำยีครอบงำของข้าศึกกล่าวคือกิเลส เป็นผู้มีใจเป็นอิสระ สมควรที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา เพราะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับด้วยกันจงทุกคน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้