แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริม ศรัทธา ความเชื่อในวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุเนื่องที่ เนื่องด้วยการที่วันนี้เป็นวันที่สมมติกำหนดเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีทุกคนแล้ว ธรรมเทศนาในโอกาสเช่นนี้จึงไม่มีอะไรเหมาะสมดีไปกว่า การที่จะตักเตือนซึ่งกันและกันให้ระลึก ให้ระลึกนึกถึงความหมายอันสำคัญของคำว่าปีใหม่หรือคำว่าของใหม่นั่นเอง และก็เป็นการตักเตือนกันเพื่อความไม่ประมาทยิ่งยิ่งขึ้นไปนั่นเอง
สำหรับคำว่าปีใหม่หรือของใหม่หรือความใหม่หรืออะไรทำนองนี้นั่นก็เป็นคำพูดที่มนุษย์พูดๆ กันอยู่ และตามธรรมดาคำพูดของมนุษย์ก็ย่อมจะมีความหมายเป็นสองชั้นเสมอไป อย่างที่เราเคยวินิจฉัยกันมามากแล้วว่า พูดอย่างภาษาคนก็มี พูดอย่างภาษาธรรมก็มี โดยใช้คำๆ เดียวกันนี้แต่มีความหมายเป็นสองชั้นอยู่ ถ้าใครเข้าใจแต่เพียงภาษาคนหรือภาษาธรรมดาที่ใช้พูดจากันตามธรรมดา ก็เรียกว่าคนนั้นยังรู้จักสิ่งนั้นๆ น้อยหรือจะไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป แต่ถ้าผู้ใดเข้าใจความหมายในทางภาษาธรรมของคำนั้นๆ แล้ว ก็เรียกว่าเข้าใจสิ่งนั้นครบถ้วนทั้งสองสถานคือเข้าใจทั้งความหมายในภาษาคนและความหมายในภาษาธรรมก็เป็นอันว่าคนนั้นเข้าใจสิ่งนั้นๆ ถูกต้อง ความแปลกประหลาดในเรื่องนี้ก็มีอยู่หน่อยหนึ่ง ก็อยากแนะให้สังเกตว่าความหมายในภาษาคนนั้นมันง่อนแง่น คลอนแคลน และมีความหมายตื้นๆ กระจัดกระจายกัน มากเรื่องมากราย หลายอย่างต่างระดับกันตามความชอบใจของคนผู้กล่าว จึงเรียกว่ามันมีมากมันเป็นเรื่องสมมุติมันจึงมีได้มาก ส่วนความหมายในทางภาษาธรรมนั้นแทบจะกล่าวได้ว่ามีเรื่องเดียวเพราะเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องสมมุติไปตามความรู้สึกของคนที่ยังไม่รู้อะไร เรื่องที่เป็นของจริงมันจึงมีเรื่องเดียวเสมอไปดังนี้
ทีนี้เราจะได้วินิจฉัยกันดูถึงคำว่า ปีใหม่ หรือของใหม่ หรือความใหม่ หรืออะไรที่เรียกกันว่าใหม่ใหม่ โดยความหมายทั้งสองอย่างดังที่กล่าวแล้ว ความใหม่ในทางภาษาคนก็เป็นอย่างหนึ่งความใหม่ในทางภาษาธรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ความใหม่ในทางภาษาคนนั้น คนพูดกันไปตามความรู้สึกของคนตามธรรมดา ถ้าคนธรรมดาเป็นปุถุชนเป็นคนยังไม่รู้ คำพูดนั้นๆ มันก็เป็นคำพูดที่ไม่จริงหรือจริงน้อย คำว่าใหม่ตามความรู้สึกของคน ก็รู้สึกเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับเวลาคือ คนรู้สึกแบ่งแยกเวลาให้เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และคนเหล่านั้นก็รู้จักแต่สิ่งที่แบ่งแยกเป็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขาจึงพูดไปตามความรู้สึกอย่างนั้น คำพูดทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องภาษาคนเกี่ยวกับความใหม่ พอว่าอดีตล่วงไปของใหม่ก็เข้ามา และของใหม่นั้นก็กลายเป็นของเก่าแล้วก็ล่วงไปแล้วของใหม่ก็เข้ามา แล้วไม่เท่าไหร่ของใหม่นั้นก็กลายเป็นของเก่าเป็นอดีตตกล่วงไปแล้วของใหม่ก็เข้ามา วกวนซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องโง่เขลาอยู่ในตัวมันเองแล้วคือไม่มีอะไรใหม่ คือไม่มีอะไรใหม่แท้จริง ใหม่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็กลายเป็นของเก่า ถ้าใครไปถือว่าเป็นของใหม่คนนั้นจะโง่หรือจะฉลาดก็ลองคิดดู มิหนำซ้ำยังไปกลับความหมายอะไรบางอย่างกันให้ยุ่งยาก ถัดไปเช่นคำว่า ปีใหม่มันก็เป็นคำหลอกๆ อยู่คำหนึ่งด้วยเหมือนกัน คำว่าปีนี้มันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัติไปตามลักษณะอาการของธรรมชาติ เช่นฝนตกคราวหนึ่งก็เรียกว่าปีหนึ่ง หมายความว่าฤดูฝนนี้มาถึงซะแล้วก็รอไปอีกจนกว่าจะถึงฤดูฝนหน้า ก็คือระหว่างฤดูฝนนั้นเองเรียกสมมติว่าเป็นปีหนึ่ง และเมื่อฝนมันตกซ้ำๆซากๆ กันอยู่อย่างนี้ในลักษณะเดียวกันอย่างนี้ไปเรียกว่าปีใหม่ มันโง่หรือฉลาดก็ลองคิดดูก็แล้วกัน มันมีอะไรใหม่ที่ตรงไหนในตอนที่ฝนตกซ้ำๆ ซากๆ ในลักษณะที่เหมือนกันทุกปี นี้เรียกว่าปีแท้ๆ มันก็ไม่ได้ใหม่อะไรขึ้นมา ทีนี้ความรู้สึกของคนแทนที่จะไปรู้สึกที่ตัวเอง กลับไปรู้สึกที่ปี เรียกว่าปีใหม่อย่างนี้มันก็หลับตาเป็นคนหลับตา ทำไมไม่มามองดูที่ชีวิต จิตใจ ร่างกายของตนเอง ว่ามันมีอะไรใหม่อะไรเก่าอย่างไร ถ้ามาดูที่เนื้อที่ตัวที่ชีวิตจิตใจของตัวเองเห็นอะไรมันใหม่ออกมาบ้างก็ควรจะเรียกว่าไอ้นั้นแหละมันใหม่ ไม่ใช่ปีมันใหม่ ทีนี้ความใหม่ของคนหรือที่เนื้อที่ตัวของคนก็คือความเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอย่างหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นเป็นเด็กทารก แล้วก็เป็นเด็กโต เป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว เป็นคนผู้ใหญ่เต็มที่เป็นคนแก่คนเฒ่า แล้วก็คนตายนี่แหละดูเสียว่ามันมีอะไรมากไปกว่านี้ ถ้าจะดูให้ดี ดูให้จริงกันป่านนี้แล้วก็ไม่มีอะไรนอกจากว่า คนเกิดขึ้นมาแล้วคนก็เป็นทุกข์ไปตามธรรมดาของคน แล้วคนก็ตาย และก็เป็นอยู่อย่างนี้ไม่ว่าประวัติศาสตร์มันจะยืนยาวไปสักกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านหรือกี่ร้อยล้านปี คนมันก็เกิดขึ้นมาแล้วมันก็เป็นทุกข์ แล้วมันก็ตายไป ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้อะไรมันใหม่ มันก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรใหม่ แต่แล้วคนก็ไม่ได้คิดกันในทำนองนี้ ไปคิดแบ่งแยกเล็กน้อยเป็นรายละเอียดออกไปถึงเรื่องของตัว เป็นความอยากเป็นความได้มาแล้วก็เป็นความพอใจหรือเป็นความเสียใจ แล้วก็เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นใหม่ซ้ำๆ ซากๆ กันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรใหม่เหมือนกันนี่แหละตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญนั้น จะเรียกว่าโง่หรือฉลาดนั้นดูเอาเองเถิด ไม่มีอะไรใหม่ก็พูดว่าใหม่ แล้วความหมายของคำว่าใหม่ ก็มิได้มีอะไรผิดแปลกออกไปจากธรรมดา เมื่อเขากำลังพอใจในสิ่งที่แปลกเข้ามาก็เรียกว่าเป็นของใหม่ แต่แล้วมันก็เคยเป็นของที่เก่ามาแล้วซ้ำๆซากๆ ความใหม่อย่างนี้มันเป็นมายา หรือว่าเป็นของหลอกลวงอย่างไร ทุกคนมองดูเอาเองก็แล้วกัน แต่ในที่สุดจะต้องมองให้เห็นว่าความใหม่ชนิดนี้มันเป็นมายา ความใหม่ชนิดนี้มันเป็นของหลอกลวง อย่าไปกระหยิ่มหรือ อย่าไปเห่อหรืออย่าไปหลงใหลในความใหม่ชนิดนี้ นั่นแหละก็จะเรียกว่าไม่ต้องติดกันไปกับความหลอกลวงหรือความมายา ถ้าจิตใจมันฉลาดอย่างนี้บ้างจึงควรจะเรียกว่าจิตใจใหม่ ถ้าเป็นจิตใจที่ยังยินดียินร้าย ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามสิ่งทั้งหลายที่ตัวมีตัวได้ หรือมาเกี่ยวข้องกับตัวแล้วมันก็เป็นจิตใจเก่าคือโง่อยู่ตามเดิม จิตใจที่มันไม่รู้อะไรมันไปโง่ในเรื่องเก่าเรื่องใหม่ในลักษณะอย่างนี้ ไม่ควรจะเรียกว่าจิตใจใหม่เพราะมันซ้ำซากอย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
ทีนี้ถ้าเผอิญว่ามีจิตใจอันใดได้รับการอบรมดีมีความรู้ที่ถูกต้องในทางของธรรมะ จนกระทั่งจิตใจนั้นไม่ไปมัวยินดียินร้ายในเรื่องได้เรื่องเสียในเรื่องสิ่งต่างๆ แล้ว นั้นแหละดูให้ดีเถิดมันเป็นจิตใจใหม่ออกมา คือมันแปลกออกมา นั้นจิตใจของคนธรรมดาสามัญทั่วไปนั้นไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีความใหม่ อยู่ที่ตรงไหน จนกว่าเมื่อไรจะมีการตรัสรู้หรือการรู้อย่างรู้แจ้งแทงตลอดที่ แท้จริงที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้นต่างหาก จิตใจนั้นจึงเป็นจิตใจใหม่ ถ้าจะมองดูโดยเหตุมันก็คือปราศจากกิเลส ถ้าจะมองดูโดยผลมันก็เป็นจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบดี เมื่อมีจิตใจชนิดนี้เกิดขึ้นก็เรียกว่าจิตใจใหม่ มันไม่ได้อยู่ที่เวลา วันคืน เดือนปี ที่เปลี่ยนไปหมุนไปตามสมมุติหรือบัญญัติเหล่านั้นเลย แต่มันอยู่ที่ว่าจิตใจของคนได้เปลี่ยนหรือไม่ ถ้าจิตใจของคนเปลี่ยนไปอย่างตรงกันข้ามจากธรรมดาจึงจะเรียกว่าใหม่ งั้นจิตใจใหม่จึงคือจิตใจที่มีการตรัสรู้เกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน
ทีนี้เรามาพูดกันว่าปีใหม่ เอาความใหม่ไปยกให้กับเวลาที่เรียกว่าปี ปีหนึ่งปีหนึ่งเป็นปีใหม่ปีเก่าขึ้นมาดังนี้ดูมันจะไม่ฉลาดอะไรนักเพราะปีมันเป็นของซ้ำๆ ซากๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ควรจะเป็นปีใหม่อะไรขึ้นมาได้เลยเพราะมันซ้ำอยู่อย่างนั้น แต่สำหรับหัวใจของคนนั้นมันเปลี่ยนได้นั้นถ้ามันเปลี่ยนได้จริงจึงจะเรียกว่าจิตใจใหม่ เช่นนั้นเราจะมีจิตใจใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องตรงกับวันปีใหม่ เดือนใหม่อะไร ถ้ามันใหม่อยู่ที่ชีวิตของเราก็ให้มันใหม่จริงก็แล้วกัน ความหมายในทางภาษาคนมันสิ้นสุดลงเท่านั้น คือว่าเอาเวลาเป็นหลัก เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นเรื่องของคนโง่ ที่ยังไม่รู้ว่าเวลานั้นคืออะไร ทีนี้ไอ้สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเข้าใจและศึกษากันให้ดีก็คือคำว่า ปัจจุบัน นั่นแหละสำคัญอย่างยิ่ง คำว่าปัจจุบันในภาษาคนโง่นั้นมันเป็น อย่างหนึ่ง คำว่าปัจจุบันในภาษาพระอริยเจ้าหรือผู้รู้ที่แท้จริงนั้นมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันสองปัจจุบันอยู่ดูให้ดีๆ ปัจจุบันในภาษาคนนั้นเป็นของหลอกลวงที่สุด คือไม่มีจริง ปัจจุบันในภาษาธรรมหรือภาษาพระอริยเจ้านั้นเป็นของจริงที่สุดและได้มีอยู่จริงขอให้สังเกตดูให้ดีและค้นหาดูให้พบ ปัจจุบันในภาษาคนมิได้มีอยู่จริงเพราะคนมันไปโง่หลงเป็นทาสของเวลาสมมติเป็น อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต แต่แล้วเวลานั้นมันเป็นสิ่งที่ไหลเรื่อยจนเราไม่อาจจะยึดเอาส่วนไหนให้เป็นอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่าปัจจุบัน ปัจจุบันตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญนั้นมันมีไม่ได้เพราะว่าสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนไปเรื่อย แม้แต่ร่างกาย จิตใจนี้ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย และเมื่อเอาจิตเป็นหลักแล้ว ปัจจุบันแทบจะหาไม่ได้เพราะว่าจิตมันเกิดดับ เกิดดับ อยู่เสมอ ความคิดของคนเราจะเป็นปัจจุบันอยู่ไม่ได้ มันกลายเป็นความคิดที่อดีตไปทุกๆ คำที่พูดหรือว่าทุกๆ เรื่องที่เอามาพูด พูดไม่ทันจบเรื่อง ส่วนต้นๆ มันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว จิตนี้มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดังนั้นใครจะเอาส่วนไหนของมันมาเป็นปัจจุบันได้ นี่แหละที่ผู้รู้เขารู้กันและพูดกันว่า ปัจจุบันชนิดนั้นมิได้มี แต่คนโง่ๆ ก็ว่ามี คนธรรมดาสามัญ ก็ว่ามี
จะยกตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พอเข้าใจได้ เป็นนิทานของพวกมีสติปัญญา คือพวกที่เรียกกันว่า นิกายเซน คนๆ หนึ่งไปหาพระอาจารย์ไปขอร้องให้พระอาจารย์ช่วยชำระจิตให้บริสุทธิ์ อาจารย์ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาจิตมาดู ผู้ขอร้องก็เลยงงอยู่สักครู่หนึ่ง ในที่สุดก็เอาจิตมาให้อาจารย์ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง ถึงแม้มีอยู่จริงมันก็เป็นเรื่องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หาปัจจุบันอันใดเป็นตัวกูไม่ได้ ในที่สุดก็ไม่สามารถจะเอาจิตมาให้อาจารย์ช่วยล้างได้ ก็บอกว่าจิตนั้นไม่มีตามความรู้สึกของตนอย่างนี้ อาจารย์ก็บอกว่านั่นแหละล้างเสร็จแล้ว เป็นการล้างจิตให้สะอาดแล้ว คือหายโง่ไปทีแล้วว่า ตัวกูมิได้มี จิตที่จะเป็นปัจจุบันพอที่จะหยิบยกมายื่นให้ดูได้ก็มิได้มี นี่จงพิจารณาดูเถิดว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นเป็นของไหลเรื่อย และไหลเร็วยิ่งกว่าน้ำไหลจนเราไม่สามารถเอาตรงไหนเป็นปัจจุบัน พูดไม่ทันจบคำมันก็กลายเป็นอดีตไปอย่างนี้ เรียกว่ามิได้มีอยู่สำหรับจะเอามาเป็นของเก่า ของใหม่อะไรได้ ถ้าเก่ามันก็เก่าไปทั้งหมดถ้าใหม่มันก็ใหม่ไปทั้งหมดไม่มีความหมายอะไรเลย จะเรียกว่าจิตไหนเป็นจิตปัจจุบันมันก็ไม่มีเวลาพอที่จะกำหนดลงไปว่าเป็นปัจจุบันได้ เป็นอดีตไปทุกๆ ขณะจิตเช่นนี้ นี่แหละลองคิดดูให้ดีว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้มันก็ไม่มีเก่าไม่มีใหม่ เป็นจิตโง่อยู่ตามเดิมไปหลงติดยึดมั่นในความเป็นอดีต เป็นปัจจุบันและเป็นอนาคต
ทีนี้เรื่องอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะช่วยให้กันลืมได้ดีว่า พระนักศึกษาองค์หนึ่ง ศึกษาปรมัตถ์มาเป็นเวลาสิบๆ ปีเขียนคำอธิบายที่ลึกซึ้งไว้มากมายเป็นหนังสือหาบใหญ่ๆเต็มหนักอึ้งทีเดียว วันหนึ่งก็หาบเอาคำอธิบายปรมัตถ์เหล่านี้จะไปอวดแสดงแก่เพื่อนฝูงที่เมืองอื่น ไปตามทางหิว ก็แวะข้างทางซื้อขนมอี๋ของอาซิ้มแก่ๆ คนหนึ่ง อาซิ้มบอกว่าจะขอถามปัญหาสักนิดเดียวเท่านั้นถ้าตอบได้เป็นที่พอใจแล้วก็จะถวายขนมอี๋ให้กินไม่ต้องซื้อ พระองค์นั้นก็ถามว่า “ปัญหาว่าอย่างไรเล่า” อาซิ้มก็บอกว่า “ความคิดที่เกิดขึ้นพอเกิดแล้วก็กลายเป็นอดีต ความคิดที่ยังไม่ได้เกิดก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น จิตหรือความคิดที่เป็นปัจจุบันอยู่ที่ตรงไหน ขอให้พระคุณเจ้าช่วยชี้ให้เห็นสักที” พระองค์นี้ก็งง นิ่งอึ้งไปในที่สุด ก็สารภาพว่า “ไม่เห็นว่ามีชีวิตหรือจิตที่เป็นปัจจุบัน” ยายแก่ก็ถามว่า “ถ้ามันไม่มีชีวิตที่เป็นปัจจุบันแล้วการปฏิบัติของเรามันจะได้ประโยชน์อะไร ก็มิได้มีอะไรที่มีอยู่จริงเช่นนี้” พระองค์นั้นก็เลยตอบไม่ได้ ยายแก่ก็ไม่ให้ขนมกิน พระก็ละอายจนหายหิวก็เลยเอาพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ตั้งหาบหนึ่งนั้นไปเผาไฟเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป เพราะว่าความคิดหรือสติปัญญาเขียนมาตั้งหาบหนึ่งอย่างนี้แล้ว มันก็ยังไม่ตอบปัญหาของยายแก่เพียงคำๆเดียวได้ ตรงที่ว่าจิตไหนนะเป็นจิตปัจจุบัน เอาคัมภีร์เหล่านั้นไปเผาซะให้หมดแล้วไปทำความเพียรต่อไปอีก เพื่อให้รู้ได้ว่ามันมีจิตไหนที่เป็นปัจจุบันอย่างนี้ ท่านทั้งหลายลองคิดดูให้ดีๆ ว่า ตัวอย่างเช่นนี้มันมีความหมายอย่างไร อย่างน้อยที่สุดมันก็แสดงว่าพวกคนโง่เท่านั้นที่จะมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยไม่คำนึงถึงข้อที่ว่าสิ่งต่างๆ มันไหลเรื่อย เมื่อมันมีการไหลเรื่อยก็หมายความว่ามันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเรื่อยจนเราไม่รู้จะเอาส่วนไหนมาเป็นปัจจุบันได้ทันกับเวลา แต่คนก็ยังคิดว่ามันมีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าจะอธิบายกันในข้อนี้มันก็เป็นเรื่องของกิเลส ตัณหา คือความอยากและความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ของความอยากเขาก็ว่าเป็นเรื่องใหม่ เปลี่ยนอารมณ์ของความยึดมั่นถือมั่นเขาก็ว่าเป็นเรื่องใหม่ ก็เลยเอาไอ้เรื่องที่แล้วไปนั้นเป็นอดีต และเรื่องใหม่ที่กำลังอยาก กำลังยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้นเป็นปัจจุบัน โดยไม่ต้องรู้ว่าแม้แต่ความอยากหรือความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันก็เปลี่ยน แต่เมื่อมันโง่ทันกันไปกับอารมณ์เหล่านั้นมันก็ดูเหมือนกับว่ามิได้เปลี่ยน เหมือนกับว่าเรามองดูสิ่งที่เดินไปหรือเคลื่อนไปพร้อมๆ กันกับเรา เราก็ไม่รู้สึกว่ามันมีอะไรเคลื่อนไป ตัวอย่างที่ท่านอาจสังเกตเห็นได้ง่ายๆ ก็เช่นว่า ถ้ารถไฟสองขบวนแล่นเคียงกันไปในความเร็วที่เท่ากันไอ้คนที่นั่งมองหน้าต่างจ่อหน้าซึ่งกันและกันก็จะไม่รู้สึกว่ารถไฟนี้วิ่งไปเพราะมันเคลื่อนไปพร้อมกัน นี่แหละคือความโง่ของคน ที่มันเคลื่อนไปพอดีกันกับความเปลี่ยนแปลงของ อดีต อนาคต ปัจจุบัน มันก็ทำให้เห็นเป็นเรื่องที่ว่า มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่เห็นว่ามีอดีต อนาคต ปัจจุบัน แต่เพราะว่าไอ้ความโง่นั้นมันมีมากไม่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นมันจึงมีอดีต มีอนาคต มีปัจจุบัน เราจะต้องระวังไม่ให้ถูกหลอกเช่นนี้จึงจะถอนตัวออกมาเสียได้จากความโง่ชนิดนั้น และรู้สึกว่า อดีต อนาคต ปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องหลอก เป็นเรื่องมายา ที่พูดกันว่าปัจจุบันนั้นหาได้เป็นปัจจุบันจริงไม่ คือในกระแสของความเปลี่ยนแปลงนั้นมันมี อดีต อนาคต ปัจจุบัน แต่เพียงสมมติเท่านั้นมิได้มีอยู่จริงเลย คือถ้าจะพูดว่าปัจจุบันมันก็ปัจจุบันแต่ในภาษาคนหาใช่ปัจจุบันในภาษาธรรมไม่ เพราะว่าปัจจุบันในภาษาธรรมนั้นต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นความว่างเป็นต้น ถ้าผู้ใดได้ศึกษาพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าความว่างเป็นต้นนั้นหรือจะเรียกว่า พระนิพพาน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามใจ มันไม่มีความเปลี่ยนแปลง เมี่อไม่มีความเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นอะไรอยู่อย่างนั้นเอง มันจึงเป็นปัจจุบันอยู่ที่นั่น คือไม่อาจจะเป็นอดีต หรือเป็นอนาคต แต่อย่าลืมว่าที่พูดว่าปัจจุบันในที่นี้ก็หมายถึงปัจจุบันในภาษาธรรมไม่ใช่ในภาษาคน ปัจจุบันที่มีอยู่จริงนั้นเป็นปัจจุบันที่มีอยู่ในภาษาธรรมคือความไม่เปลี่ยนแปลง เราจะต้องรู้จักสิ่งที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง เท่าที่พูดกันถึงมากที่สุดก็คือสิ่งที่เรียก นิพพาน แต่นิพพานก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความว่างจากตัวตน สุญญตา หรือความว่างเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรจะกล่าวได้ว่าเป็นปัจจุบันที่แท้จริง คือมันเป็นอดีตไม่ได้ เป็นอนาคตไม่ได้ ถ้ามันไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันมีอะไรที่มากเกินไปกว่าความตั้งอยู่ตามความหมายของคนธรรมดาสามัญ คนธรรมดาสามัญแม้พูดว่าปัจจุบันก็หมายความว่ามันเปลี่ยนเป็นอดีตได้ แต่ในทางภาษาธรรมนั้นถ้าพูดว่าปัจจุบันแล้วหมายความว่าไม่ได้เปลี่ยนเลย ดังนั้นมันจึงมีอยู่โดยไม่ต้องมีความมี มันจึงตั้งอยู่โดยไม่ต้องมีการตั้งอยู่อย่างนี้เป็นต้น นี้คือปัจจุบัน เมื่อใด บุคคลใด มีจิตใจเข้าถึงความว่างคือปราศจากตัวกู ของกูแล้วก็เรียกว่าเข้าถึงปัจจุบัน เข้าถึงธรรมะที่เป็นปัจจุบัน หรือเป็นปัจจุบันธรรม จิตใจชนิดนี้เท่านั้นที่น่าจะเรียกว่าเป็นจิตใจใหม่ เวลาของบุคคลนั้นก็กลายเป็นเวลาใหม่ไปด้วย เขาเป็นผู้สามารถมีอำนาจเหนือเวลาทำให้เวลากลายเป็นของใหม่ขึ้นมาได้เพราะการทำให้มีจิตใจใหม่ขึ้นมาได้โดยการเข้าถึงสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง
ใจความในส่วนนี้ก็มีแต่เพียงว่าสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงและเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อยนั้นก็คือ ความว่าง ผู้ใดเข้าถึงความว่างผู้นั้นก็เข้าถึงความใหม่ ความใหม่ของอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ความใหม่ของจิตใจ ความใหม่ของร่างกาย ความใหม่ของวันคืน เดือน ปี ความใหม่ของอะไรๆ ทุกอย่างไปหมดเพราะว่าเขาได้เข้าถึงสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงคือ เป็นปัจจุบันในความหมายทางภาษาธรรมนั้นเอง ปัจจุบันในความหมายทางภาษาคนนั้นเป็นของหลอก เป็นของมิได้มีอยู่จริงแล้วคนก็เข้าถึงอยู่เรื่อยด้วยอาการหลอกๆ ไม่รู้สึกตัว เหมือนคนนั่งในรถไฟสองคนที่วิ่งไปสองคันพร้อมๆ กันฉันท์ใดก็ฉันท์นั้นมันก็โง่ไปตลอดกาลไม่มีทางรู้ได้ว่ารถไฟกำลังวิ่ง คนโง่เหล่านี้ไม่มีทางที่รู้ได้ว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคตนี้มันไหลวิ่งไป จนไม่มีอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต มันไปเห็นเป็น มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต เสียเรื่อยมันจึงได้ติดอยู่ในวัฏฏสงสาร พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ไม่ติดอยู่ข้างต้น ไม่ติดอยู่ข้างปลาย ไม่ติดอยู่ที่ตรงกลางก็จะหลุดพ้นได้ นี่ก็หมายความว่าต้องไม่ติดอยู่ในอดีตคือข้างต้น ไม่ต้องติดในอนาคตคือขั้นปลาย และไม่ต้องติดอยู่ที่ตรงกลางคือปัจจุบันด้วย เมื่อเขาไม่ติดอยู่ในอดีต ปัจจุบัน อนาคตในภาษาคนเช่นนี้แล้วเขาก็จะเข้าถึงปัจจุบันที่แท้จริงในภาษาธรรมคือ สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นเป็นแน่นอน ที่เรากล้าเผยอปากเผยอหน้าเผยอตาขึ้นมาพูดว่าปีใหม่ของเรา เรามีอะไรใหม่นี่ก็ลองไปคิดดูเถอะว่ามันมีความโง่สักเท่าไหร่ หรือว่าความอวดความโอ้อวดมันเป็นความอวดที่โง่เขลาสักเท่าไหร่ ถ้ามันใหม่กันจริงๆ มันก็ต้องไม่เหมือนของเก่า เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะเป็นผู้ที่มีปีใหม่หรือมีอะไรใหม่ขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ควรจะเป็นผู้ที่เข้าถึงปัจจุบันที่แท้จริงในภาษาธรรมนั่นเอง พูดไปพูดมาก็ไม่พ้นไปจากเรื่องของพระนิพพานชนิดที่เป็นของชั่วคราว นิพพานชิมลองของชั่วคราวนั้นก็ยังดีกว่าที่จะไม่รู้เรื่องนิพพานเสียเลย ข้อนี้หมายความว่าเมื่อยังบรรลุพระอรหันต์ไม่ได้ก็พยามกระทำจิตใจนี้ให้ว่างจากตัวกู ของกู เป็นขณะๆ ไปก็ได้ โดยเหตุประจวบเหมาะบังเอิญก็ได้ โดยการเจริญสมาธิภาวนาตั้งจิตไว้ให้ชอบ ไว้ให้ถูกก็ได้ โอกาสนั้นก็จะเป็นโอกาสที่จิตใจไม่มีอดีต อนาคต และปัจจุบันตามประสาโลกๆ แต่จะไปมีปัจจุบันชิมลอง ปัจจุบันตัวอย่างของพระอริยเจ้าคือเป็นจิตที่กำลังว่างจากตัวกู ของกู ไม่อยากอะไรไม่ต้องการอะไร ไม่ได้อะไรไม่เสียอะไร ไม่อยู่ที่ไหนไม่ไปไหนไม่มาไหน มีลักษณะอย่างนี้ก็เป็นปัจจุบันที่แท้จริงขี้นมา ที่เรียกว่านิพพานตัวอย่างหรือนิพพานชิมลอง ผู้ใดได้โอกาสได้มีโอกาสถึงนิพพานตัวอย่างนิพพานชิมลองเช่นนี้สักขณะหนึ่งก็ยังพอจะกล่าวได้ว่า ได้รับของใหม่ เป็นคนใหม่ จิตใจใหม่ อะไรใหม่ไปชั่วขณะหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันยังเป็นของที่ยังไม่แน่นอนเป็นของชิมลองเท่านั้นจะต้องทำต่อไปจนให้เป็นของที่ตายตัว การทำให้เป็นของตายตัวก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเราระวังให้ดีอย่าให้มันวกกลับหลังให้มันเดินไปข้างหน้า ให้มันขยายไปข้างหน้าเรื่อย เวลาที่จิตวุ่นวายนั้นให้มันน้อยลง เวลาที่จิตว่างให้มันมากขึ้น และขยายเวลาที่จิตว่างนี้ให้ยาวไปยาวไปยาวไป เวลาที่จิตวุ่นมันก็หดสั้นเข้ามาเอง นี่ถ้าเรามีสติมากพอรักษาความว่างไว้ของจิตไว้ได้เรื่อยไป สักโอกาสหนึ่งสักวันหนึ่งมันก็จะเด็ดขาดลงไปในการที่จะไม่กลับมาวุ่นอีก นิพพานชิมลองนิพพานตัวอย่างมันก็มีประโยชน์อย่างนี้คือว่าเราต้องเอาให้ได้ก่อนและก็รักษาไว้ให้ยาวออกไป ยาวออกไปๆ จนยาวถึงที่สุดจนตัวและตายตัวลงไปนี่แหละคือของใหม่หรือความใหม่ของจิต ของกาย ของอะไรทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับเราแม้แต่เวลาก็ต้องเรียกว่าเป็นเวลาใหม่ คือเวลาชนิดที่เป็นอิสระหรือเป็นเวลาของคนที่มีปัจจุบันอันแท้จริง ควรจะเรียกว่าเป็นปัจจุบันอันแท้จริงจึงเป็นเวลาชนิดใหม่ เวลาอย่างใหม่ เวลาแบบใหม่เพราะมันเป็นปัจจุบันที่แท้จริง
ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พอจะทำให้เข้าใจได้แล้วว่า ถ้าเราต้องการปีใหม่อะไรใหม่กันบ้างแล้วก็รีบต้องพยายามจะทำให้มีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู ให้หยุดเสียซึ่งความอยากและความยึดมั่นถือมั่น และไม่เป็นผู้โง่ไปหลงติดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างหลับหูหลับตาไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะถือเอาให้ได้ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าปัจจุบันอันแท้จริงที่ไม่อาจจะกลายเป็นอดีตหรือเป็นอนาคตอะไรได้ เป็นปัจจุบันที่ไม่ขึ้นอยู่กับอดีต หรืออนาคตหรือปัจจุบันอย่างภาษาคนอีกต่อไป ก็กลายเป็นสิ่ง สิ่งใหม่ที่เรียกกันว่า ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตายหรือเรียกกันว่าเป็นอมตะ หรือเรียกกันว่าเป็นนิรันดร เป็นอนันตกาล เป็นอะไรๆ อีกหลายอย่างหลายชื่อแต่ความหมายอย่างเดียวกันหมด คือไม่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันตามภาษาคน แต่เป็นปัจจุบันที่แท้จริงตามภาษาธรรม ตามความหมายในทางภาษาธรรมอย่างเดียวแล้วก็เป็นปัจจุบันจริงคือไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอดีต
ในโอกาสเช่นวันนี้คือวันขึ้นปีใหม่นี้ควรจะเอาเรื่องอย่างนี้มานึกกันบ้าง อย่าได้ประมาทเพ้อเจ้อผ่านไปแต่เรื่องเก่าๆ ที่พูดแล้วพูดเล่า พูดแล้วพูดเล่ามันไม่สมควรกันกับการที่จะเอาพูดในวันที่สมมติว่าเป็นปีใหม่ และมาเรียกเรื่องอย่างนั้นว่าเป็นเรื่องใหม่มันก็เป็นเรื่องไม่จริง จะต้องเอาเรื่องที่มันจริงกว่านั้นมาพูดกันในวันปีใหม่จึงจะเรียกว่าเรามีปีใหม่ เราขึ้นปีใหม่ เราอะไรๆ กันอย่างใหม่เพราะมันขึ้นปีใหม่แล้ว ถ้าว่าทุกคนจะนึกถึงกันในลักษณะอย่างนี้ แล้วตักเตือนกันในลักษณะอย่างนี้ในวันขึ้นปีใหม่ ปีนั้นก็อาจเป็นปีใหม่ขึ้นมาได้จริงเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้วมันก็จะเป็นปีเก่าที่คร่ำครึ ขึ้นสนิมมากขึ้นทุกทีไม่มีอะไรดีไปกว่าปีเก่าๆ ที่ล่วงมาแล้วเป็นร้อยปี พันปี หมื่นปี แสนปีก็ได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนสนใจกันบ้างในเรื่องชนิดนี้เพราะถ้าอย่างไรเสียร่างกายนี้อย่าได้เพ่อแตกดับไปเสียก่อนแต่ที่จะได้รู้จักสิ่งที่เป็นปัจจุบันอันไม่รู้จักกลายเป็นอดีตก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพุทธศาสนา ได้รับความรู้และวิชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเพื่อเอาชนะกิเลสและความทุกข์ เอาชนะกระทั่งเวลาที่ผ่านไป เป็นผู้อยู่เหนืออำนาจของเวลาไม่ตกอยู่ในกระแสแห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตทุกๆ คนเทอญ
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้