แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
การพูดกันที่ตรงนี้มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร ที่มาใหม่หลายๆ องค์อาจจะไม่ทราบ เพราะฉะนั้นอยากจะย้อนไปพูดถึงความมุ่งหมายของการพูดที่นี้ ตรงนี้เราเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ คำว่า ปาฏิโมกข์นี้ตามปกติรู้จักกันในฐานะเป็นชื่อของวินัย เช่นไปลงปาฏิโมกข์ ก็เป็นเรื่องวินัย คนเลยเข้าใจไปว่าปาฏิโมกข์หมายถึงวินัย ที่แท้คำว่า ปาฏิโมกข์ ไม่ได้หมายถึงวินัย ก็หมายถึงไอ้ใจความสำคัญของเรื่องนั้นๆ ที่สรุปเข้าไว้ในรูปของหัวข้อสั้นๆ รัดกุม สำหรับจำง่ายและเป็นหลักปฏิบัติง่าย นั่นเขาเรียกว่าปาฏิโมกข์ ก็อยากจะบอกให้ทราบเสียได้เลยว่า ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจคำว่า ปาฏิโมกข์ ผิดอยู่อย่างนี้ ที่เขาเข้าใจว่าเป็นวินัย เพราะได้ยินว่าพระลงปาฏิโมกข์ ก็คือลงสวดวินัย นั้นคำว่าปาฏิโมกข์ ในภาษาชาวบ้านเป็นอย่างนั้น ภาษาบาลี ก็หมายถึงหัวข้อสำคัญที่ต้องเอามาพูด มาท่อง มาจำ มาปฏิบัติ อย่างคำว่าโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญมาฆะ นั่นหล่ะ โอวาทเหล่านั้นเป็น ๓ ข้อสั้นๆ หรือขยายออกเป็น ๖ ข้อ ก็เรียกว่าปาฏิโมกข์เหมือนกัน โอวาทปาฏิโมกข์ คือหัวข้อของพระโอวาททั้งหมด สรุปเป็นเรื่องไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ใน ใน ในหลักสำหรับศึกษาในการกระทำ ก็ว่าไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย สำรวมในระเบียบวินัยนั้น กินอยู่พอดี อยู่ในที่อันสงัด และก็ทำจิตให้สูง ให้ยิ่ง คือทำจิตให้เจริญอยู่เสมอ นี้ก็เรียกว่าปาฎิโมกข์ เป็นเรื่องธรรมะ คำว่า ปาฏิโมกข์ แปลว่าหัวข้อสรุปที่ต้องกำหนดจดจำ
ที่เราก็มีหัวข้อหรือปาฏิโมกข์ฝ่ายธรรมขึ้นมาเป็นคู่กับวินัย พูดตรงนี้จะพูดแต่เรื่องหัวข้อฝ่ายธรรม ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู ที่สรุปให้เป็นเรื่องตัวกูของกูนี้ก็เพื่อสะดวกแก่การจำ การศึกษา การปฏิบัติสำหรับคนทั่วไป ที่แท้เรื่องพุทธศาสนาทั้งหมดนั้น สรุปไว้หลายอย่างแต่ว่าที่สรุปสั้นที่สุด และก็เพื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สรุปไว้ในประโยคว่า สิ่งทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ไอ้ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละคือเป็นตัวกูของกูขึ้นมา ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกูขึ้นมา นั้นเราถือว่าไอ้เรื่องตัวกูของกูนี่คือ ใจความที่สั้นที่สุดของพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ถ้าเป็นฝ่ายความทุกข์มันก็เรื่องตัวกูของกู ถ้าฝ่ายไม่มีความทุกข์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีตัวกูของกู ทีนี้ไอ้เรื่องมีความทุกข์มันก็กระจายไปได้มากเรื่อง เราก็เอาเรื่องตัวกูของกู ฝ่ายความทุกข์นี่เอามาพูดกันที่นี่อยู่เสมอ พร้อมทั้งเอาเรื่องตัวกูของกูฝ่ายที่ดับ ดับตัวกูของกูนั่นแหละมาพูดกันอยู่เสมอ จึงเป็นอันว่าการพูดที่ตรงนี้ไม่มีพูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องตัวกูของกูในแง่ใดแง่หนึ่ง ให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที
เช่นครั้งที่แล้วมานี่ เราพูดเรื่อง อย่าไปค้นหาว่าใครผิด ใครถูก ให้ค้นแต่ว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูก แล้วก็ชวนกันทำเสียให้ถูก ไอ้เรื่องที่ไปค้นว่าใครเป็นฝ่ายผิด ใครเป็นฝ่ายถูก อย่าไปทำเป็นอันขาด ค้นกันแต่ว่าโดยไม่ต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่เรื่องหรือธรรมปรากฏอยู่ว่าอย่างไรผิด อย่างไรถูก ที่ว่าอย่างไรผิด ก็หมายความว่ามันขัดกับหลักที่พระพุทธเจ้าท่านสอน สรุปแล้วก็คือ ว่าทำให้เรื่องเกิดขึ้นมาเป็นความทุกข์ นี่เรียกว่าผิด นี้มันไม่ขัดกับหลักทั่วไปในพระศาสนาแล้วก็ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าถูก แม้พูดกันอย่างนี้ก็เป็นเรื่องตัวกูของกู คือถ้าเป็นเรื่องตัวกูของกู มันก็จะมัวแต่ค้นหาว่าใครผิดใครถูกอยู่เรื่อยไป มันจะเอาแพ้เอาชนะ หรือว่ามันจะเอาไอ้อีกฝ่ายหนึ่งให้ลงไปให้จนได้ จะยกตัวเองขึ้นมาจนได้
ดังนั้นการค้นหาว่าใครผิดใครถูกกันแน่นี่เป็นเรื่องเพิ่มตัวกูของกูเปล่าๆ โดยไม่มีประโยชน์ และเป็นทุกข์เท่านั้น นี่เราไม่กระทำไปในรูปนั้น แต่ไปค้น ค้นไปในทางที่ว่าผิดคืออย่างไร ถูกคืออย่างไร แล้วก็เว้น เว้นคำว่าใครเสีย นี่มันจะดับไอ้ตัวกูของกูลงไปได้ แล้วก็ไม่มีการวิวาทกัน เหมือนกับเล่นกีฬานั้นน่ะ มันมีความผิดอยู่มากตรงที่ไปต้องการผลว่าใครแพ้ใครชนะ ฝ่ายไหนแพ้ฝ่ายไหนชนะ อย่างนั้นไม่ใช่กีฬา ถ้าจะดูกันว่าใครเก่งอย่างไร ใครเก่งทางไหน หรือว่าใครมีความเห็นแก่ตัวน้อย ใครมีความเห็นแก่ตัวมากอย่างนี้จึงจะเป็นกีฬาที่ไม่ทำอันตราย และก็ได้ผลตามความมุ่งหมายของกีฬา ถ้าสมมติว่ากรรมการจะดูให้ดี เก็บคะแนนไว้ๆ และสรุปความว่าใครฝ่ายไหนแสดงความเห็นแก่ตัวออกมามากฝ่ายนั้นแพ้ ใครฝ่ายไหนแสดงความเห็นแก่ตัวมาน้อยหรือไม่แสดงเลยฝ่ายนั้นชนะ ไอ้เรื่องลูกบอลเข้าประตูของใครไม่มีปัญหา ช่างมัน อย่างนี้จะเป็นเรื่องของกีฬาแท้ๆ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันจะหมายมั่นปั้นมือเรื่องแพ้เรื่องชนะ แล้วมันก็ลืมตัว ชกต่อยกันในสนามกีฬา ทำอันตรายกันในสนามกีฬา แล้วขนเอากองเชียร์จากโรงเรียน จากมหาวิทยาลัยมานั่งเชียร์ มันเพื่อเพิ่มตัวกูของกูโดยตรง นี่เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า ไอ้การกระทำอย่างเดียวเรื่องเดียว มีชื่ออย่างเดียวกันนี้ ทำไปทางหนึ่งมันก็เป็นการเพิ่มตัวกูของกู ทำไปอีกทางหนึ่งเป็นการลดตัวกูของกู นั้นควรจะมีความรู้เรื่องนี้ เรื่องที่ว่าทำอย่างไรมันเป็นการเพิ่มตัวกูของกู ทำอย่างไรมันไม่เพิ่มหรือมันลดนี้ไว้ๆ กันให้ดีดี
เดี๋ยวนี้มันก็ทั้งโลกหล่ะ เป็นการทำผิดกันทั้งโลก คือเพื่อเพิ่มตัวกูของกูทั้งนั้น มันจึงได้เกิดสงคราม ไม่รู้สร่างไม่รู้สิ้นสุด ถ้าไม่รู้เท่าทันเรื่องนี้ ไม่เลิกลัทธิอันนี้เสีย มันก็ไม่มีเวลาที่จะยุติไอ้สิ่งที่เรียกว่าสงครามหรือการเบียดเบียนกันได้ คือจะเอาแพ้เอาชนะกันโดยตรง ผิดหรือถูกไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อย่างไหนผิดอย่างไหนถูกเอาแต่แพ้ ชนะกันโดยตรง หรือว่าอย่างดีที่สุดที่เขาจะทำได้ก็จะพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก ทีนี้มันก็มีปากกันทุกคนเพราะฉะนั้นมันก็แก้ตัวกันได้ทุกคน เพราะนั้นมันก็ด่ากันเป็นประจำวันเรื่องใครผิดใครถูก ทางเครื่องมือสำหรับด่า เช่น วิทยุกระจายเสียงเป็นต้น นี้มันก็ไม่มีทางลดตัวกูของกู
นั้นโลกไม่ถือธรรมะในข้อที่ว่า อย่างไรเรียกว่าผิด อย่างไรเรียกว่าถูก อย่าไปค้นหาใครผิดใครถูก มันก็ไม่มีวันสิ้นสุดของการทะเลาะวิวาท ภาพเขียนที่มุมนั้นเป็นภาพที่ดีอยู่ภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่เด็กๆ ข่วนหน้ากัน ทะเลาะกัน ร้องกันกระจองอแง และเด็กอีกคนหนึ่งโผล่ขึ้นมาว่า ไม่ต้องๆ ไม่ต้องว่าใครผิดใครถูก มาร้องเพลงกันดีกว่า เซ็นสัญญาหย่าศึกด้วยการร้องเพลง ไม่ต้องค้นหาว่าใครผิดใครถูก ภาพนั้นเขียนดี เอาไปคิดดู ให้เลิกเสียว่าใครผิดใครถูก ระงับไปเลย แล้วก็มาร้องเพลงสันติภาพกันดีกว่า ความผิดเป็นอย่างนั้น ความถูกเป็นอย่างนั้น ใครอยากนั่นก็ทำให้มันถูกเสียก็แล้วกัน
นี่เราเรียกว่าเรื่องตัวกูของตัว แขนงหนึ่ง แง่หนึ่ง มุมหนึ่ง อย่างนี้ ทุกคราวที่พูดที่นี่ กลายเป็นว่าที่พูดเรื่องตัวกูของกู และการย้ำแต่เรื่องนี้อยู่เสมอเรียกว่า ธรรมปาฏิโมกข์ หัวข้อเรื่องตัวกูของกู ฝ่ายธรรมไม่ได้เป็นฝ่ายวินัย ไอ้เรื่องที่ผิดวินัยต่างๆ ทุกๆ ข้อ ทุกๆ สิกขาบทมันก็เรื่องเห็นแก่ตัวเหมือนกัน ไปตรวจสอบดูทุกข้อ มันก็เห็นแก่ตัวเลยทำผิดวินัยข้อใดข้อหนึ่ง ในรูปร่างต่างๆ กัน ฆ่าเขา ลักของเขา หลอกเขา หรือว่าทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ที่จารีตหรือวินัยห้ามอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย นั้นวินัยก็เป็นแขนงหนึ่งของธรรม คือเป็นธรรมส่วนที่ต้อง จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนถือหรือกระทำ เรียกว่าวินัย ธรรมะส่วนนี้มันมีอยู่เขา เรียกว่าวินัย ทีนี้ธรรมะส่วนใหญ่หรือส่วนทั่วไปนั้นไม่บังคับ นี่ก็แสดงไว้ใครอยากจะดีอยากจะเจริญก็ปฏิบัติ ในส่วนนี้ไม่บังคับก็ยังคงเรียกว่าธรรม คือพระธรรมอยู่ ส่วนใดที่เป็นการบังคับเราเรียกว่าพระวินัย พระธรรม พระวินัยรวมกันเป็นพระธรรมวินัย สองเรื่องแฝดก็เป็นเรื่องธรรมด้วยกัน
นี้ผู้มาใหม่นี้ก็จะเข้าใจได้ว่าเราพูดเรื่องตัวกูของกูกันทีนี่ ในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ ที่นี้วันนี้ จะพูดเรื่องตัวกูของกูอีกเหมือนกัน ตาม..เรียกว่าตามธรรมเนียมการพูดที่นี่ แล้วก็อยากจะพูดเรื่อง ความกลัว กันสักที สิ่งที่เรียกว่าความกลัว ก็เป็นความทุกข์แขนงหนึ่งซึ่งรบกวนความสุขของมนุษย์มาก แล้วก็มากอย่างที่เรียกว่าไม่น่าจะมาก แล้วก็ได้ยินกันแต่เรื่องความรัก ความเกลียด หรือความโกรธ โลภะ โทสะ เป็นเรื่องความรักและความเกลียด ส่วนโมหะนี่มันมีขอบเขตกว้าง ในที่นี้เรายกเอาความกลัวมาพูดในฐานะเป็นโมหะ เพื่อให้รู้ว่าไอ้ความกลัวนี้มันอยู่ในกิเลสประเภทโมหะ ไม่ใช่โลภะ โทสะ หมายความว่า ความกลัวนี้เป็นความโง่ เป็นความมืด เป็นความไม่รู้ เราก็ไม่เข้าใจมัน มันก็ยังคงกลัวอยู่เรื่อย ไอ้ความรัก หรือความไม่รักคือโกรธ มันก็เป็นเรื่องตัวกูของกู เห็นชัดอยู่แล้ว รักก็จะเอามา โกรธก็จะทำลายออกไป มีมูลมาจากเรื่องที่จะเป็นตัวกูของกู หรือมันมาขัดขวาง ขัดคอเรื่องตัวกูของกู จะมีโลภะ โทสะขึ้นมา ส่วนโมหะนี่มันโง่ มันไม่ได้อยากจะเอาอะไรหรือไม่ได้อยากจะทำลายอะไร แต่มันก็โง่ จนกลัวจะเสียสิ่งที่มีอยู่แล้วไป คุณรู้จักแยกให้มันต่างกันสิ ราคะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะ โมหะ ไอ้พวกราคะ หรือโลภะนั่น มันจะเอาอะไรที่มันรัก หรือมันรักอะไร กำลังรักอะไรที่มีอยู่ก็ได้ นี้ไอ้โทสะหรือโกรธะนั่น มันโกรธคือทำลายไอ้สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ต่างจากไอ้โลภะหรือราคะแล้ว ราคะมันจะดึงเข้ามาหา มาเอามาไว้ ส่วนไอ้โทสะนี้มันจะผลักออกไปหรือมันจะทำลายเสีย ส่วนโมหะนี่มันยังโง่ ยังไม่แน่ว่าจะรักหรือจะไม่รัก แต่มันก็กลัวว่าจะเสียไอ้ของรักไป หรือว่าจะไม่ได้ทำลายสิ่งที่เป็นศัตรูอย่างนี้ เป็นต้น
นี้เมื่อดูให้เห็นว่าไอ้ความกลัวทั้งหมดมันขึ้นอยู่ที่กลัวตาย ขึ้นอยู่ที่กลัวความตายทั้งนั้น นี้ต้องดูกันให้ดี สักทีหนึ่ง เสียสักชั้นหนึ่งก่อน ว่ากลัวอะไรก็ตาม มันจะสรุปไปอยู่ที่ว่า เรากลัว กลัวจะเสียชีวิต อะไรบ้างที่เรากลัว ที่มันน่ากลัว เช่น เสือ เช่นอันตราย เช่น..แม้แต่ ฟ้าผ่า ฟ้าร้องนี่เราก็กลัว เพราะกลัวว่ามันจะทำอันตรายชีวิตของเรา กระทั่งสิ่งที่ประหลาดๆ เห็นแล้วไม่รู้จักว่าเป็นอะไรเราก็กลัว กลัวว่ามันจะทำทำลาย อาจจะทำอันตรายชีวิตของเรา แม้แต่กลัวไอ้ของเล็กๆ กลัวตุ๊กแก กลัวกิ้งกืออะไรนี่ มันก็มีมูลมาจาก กลัวว่ามันจะเป็นอันตรายกับชีวิตของเรา แล้วมันก็กระเดียด เจือไปในทางที่เรียกว่าเกลียด ไอ้เกลียดก็คือไม่ชอบเหมือนกัน แต่เนื้อแท้ของมันหมายถึงไอ้ กลัว ว่าจะเป็นอันตรายแก่เราโดยปริยายใดปริยายหนึ่ง เราไม่กล้าจับต้องไม่กล้าเกี่ยวข้อง จนกระทั่งถึงกลัวสิ่งที่ไม่เห็นตัว เช่นกลัวผีหรือกลัวอะไรที่ไม่มีตัว มีตนปรากฏ นี่ก็มีความหมายตรงที่ว่า กลัวว่ามันจะทำอันตรายแก่ชีวิตเหมือนกัน ที่เรากลัวผี แม้จะพูดว่ากลัวผีหลอก กลัวผีหลอก กลัวไอ้การที่มันหลอก แต่ความหมายอีกชั้นหนึ่งมันอยู่ที่ว่า มันจะทำให้ตายหรือเสียอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ไอ้สัญชาตญาณของสัตว์ที่มีชีวิต มันก็คือไม่อยากตาย อันนี้ไม่ต้องนึก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้เหตุผล เพราะเป็นสัญชาตญาณเกิดอยู่เองว่าไม่อยากเสียชีวิต คือไม่อยากตายอันนี้มัน ๑๐๐ % นั้นพอมีอะไรที่พอเป็นวี่แววของความตาย หรือจะทำให้ตายมันก็กลัว นั้นจึงจัดเป็นความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกูหรือแต่ของกู หรือชีวิตของกู หรือตัวกูนี่ อย่างรุนแรง สัญชาตญาณแห่งการไม่อยากเสียชีวิต อยากรอดชีวิต อยากอะไรนี่ ก็เป็นใจความของตัวกู หรือของกูอยู่ เพราะฉะนั้นมันจึงหลีกเลี่ยงไปไม่พ้นที่ว่าจะต้องเป็นทุกข์ นั้นสิ่งที่เรียกว่าความกลัวมันจึงเป็นมูลเหตุของความทุกข์ หรือเป็นตัวความทุกข์ ก็ได้เหมือนกัน คำว่า ความทุกข์ กับนำมา เอ้อ..สิ่งนำมาซึ่งความทุกข์ หรือมูลเหตุของความทุกข์นี่มันแยกกันไม่ได้ โดยตัวหนังสือโดยคำพูด ก็พูดแยกกันได้ แต่โดยที่มันเกิดอยู่จริงหรือโดยพฤตินัยนั้นไม่แยก แยกไม่ทัน เพราะว่าพอมีเหตุของความทุกข์ มันก็ทุกข์ทั้งนั้น เพราะสิ่งที่นำมาซึ่งทุกข์มันก็ทุกข์เสียแล้ว มันไม่เพียงว่ามันจะนำมาซึ่งทุกข์ นี้ความกลัวก็เหมือนกัน พอกลัวเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น นั้นเราจะพูดว่าความกลัวนำมาซึ่งความทุกข์มันก็ได้เหมือนกัน หรือว่าเป็นตัวทุกข์เสียเอง มันก็ได้เหมือนกัน มันแยกไม่ทัน มันเป็นขณะจิตที่ติดต่อกันอย่างแยกกันไม่ออก รวมความแล้วความกลัวก็คือความทุกข์
ทีนี้คุณลองไปเปรียบเทียบกันดู ว่าโอกาสที่จะรัก กับโอกาสที่จะเกลียด กับโอกาสที่จะกลัว อันไหนมันมากน้อยกว่ากัน ไปดู ไปสังเกตดูตนเอง หรือสังเกตดูคนทั่วไป การอยู่ในสภาพที่คนทั่วไปเขาอยู่กัน โอกาสที่จะรักและโอกาสที่จะไม่รักคือเกลียดนี่ หรือโอกาสที่จะกลัวนี่ อันไหนจะมากกว่ากัน เรื่องนี้ก็ไม่ต้อง ไม่ต้องการให้พิสูจน์อะไรให้ชัดเจนแยกเด็ดขาดอะไรนัก เพียงต้องการให้รู้ว่ามันพอๆ กันเป็นอย่างน้อย ไอ้ข้อที่เราต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลานี่มันเป็นความกลัว เป็นปัญหาเดียวที่ต้องระมัดระวังอะไรอยู่อย่างหนึ่งตลอดเวลา นี้ไอ้เกี่ยวกับความรักหรือความโกรธนั้นมันก็เป็นเรื่องของความกลัว ต้องดูให้ดีด้วย เพราะว่าเรากลัวจะไม่ได้ของรัก แล้วเรากลัวจะสูญเสียของรัก เพราะฉะนั้นพอมีความรักเกิดขึ้นที่ไหน มันก็จะต้องมีความกลัวเกิดขึ้นที่นั่น เพราะว่าพอมีสิ่งที่ตัวรักมันก็มีความหวาดระแวง วิตกกังวลว่าจะสูญเสียของรัก หรือว่าก่อนแต่จะได้มา มันก็กลัวว่าจะไม่ได้ นั้นตลอดเวลาที่หวัง มีความหวังที่จะได้ของรักนี้ มันก็เต็มไปด้วยความกลัว หรือเต็มไปด้วยความกลัว กลัวจะไม่ได้ มันบีบคั้นหรือเผารนจิตใจ เพราะข้อนี้เอง ตัวความรักจะเผาอะไรล่ะ ถ้าเราไม่กลัวว่าจะไม่ได้ของรัก เพราะตลอดเวลานั้นมันกลัวว่าจะไม่ได้ของรัก เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่าของรักมันก็เผา หรือได้มาแล้วก็มันก็กลัวว่าจะสูญหายไป มันก็เผา นั้นถ้าแยกความกลัวออกไปเสียได้ ไอ้ความรักก็แทบจะไม่มีพิษสงอะไร
นี้เรื่องความโกรธก็เหมือนกัน ที่จะไปโกรธอะไรเข้าสักอย่างหนึ่งมันต้องมีความกลัวว่าอันนี้มันมีอันตราย มันจะเป็นอันตรายแก่เรา เป็นคู่แข่งขันของเรา เป็นศัตรูของเรา เราจึงไม่ชอบ ไม่ชอบหน้ามัน ไม่ชอบแม้แต่จะเห็นมัน เกลียดมัน ฉะนั้นจะโกรธใครเป็นฟืนเป็นไฟนี้มันต้องมีมูลเหตุมาว่า ไอ้ ผู้นั้นหรือสิ่งนั้นมันทำอันตรายเรา เรากลัวเราจะตาย หรือมันจะทำลายของรักของเรา เราก็จะสูญเสียของรัก ดังนั้นเราจึงเกลียดมัน หรือโกรธมัน ไว้แต่เนิ่นไว้แต่ล่วงหน้า พอมันแสดงอาการทำลายของรัก หรือชีวิตของเราขึ้นมาจริงๆ ความโกรธก็ถึงขีดสุดได้ เพราะนั้นมันเนื่องที่ความกลัวจะเสียชีวิตหรือเสียของรัก เพราะฉะนั้นในไอ้เรื่องของความรักหรือความโกรธ มันก็มีเรื่องของความกลัวอยู่เต็มที่ เป็นตัวที่ทำลายความสงบสุข
ทีนี้เรื่องกลัวล้วนๆ เช่นกลัวความมืด กลัวผี กลัวอะไรเหล่านี้ มันก็รวมอยู่ในข้อที่เชื่อหรือสงสัย หรือระแวงว่าไอ้นี่มันเป็นอันตราย มันจะทำอันตราย หรือจะเป็นอันตรายแก่เรา ผีหรือความมืดอะไรก็ตาม ส่วนสิ่งที่มันปรากฏชัดว่าจะทำอันตรายแก่เรา เช่นเห็นเสือถ้าอย่างนี้ มันก็กลัวเสือ เพราะก็มีความรู้อยู่ก่อนแล้วว่า เสือนั่นเป็นอันตราย แม้ไม่เคยเห็นเสือก็ได้มีความเชื่อเสียแล้วว่า เสือนั้นเป็นอันตราย แต่นี่ก็เคยเห็นรูปเขียนของเสือ ความกลัวเสือก็สมบูรณ์แล้วตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นเสือตัวจริง ความกลัวเสือนี่มันก็สมบูรณ์แล้วตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นเสือตัวจริง มันก็ฝันเอาก็ได้ว่ากลัว นี้ความกลัวมันจึงมี มีได้ทุกๆ เวลา ในกรณีที่เป็นเรื่องรัก หรือเรื่องโกรธ หรือเรื่องเกลียด หรือเรื่องกลัวล้วนๆ ทีนี้ว่าในโลกในสมัยนี้ ที่เป็นโลกวัตถุนิยมนี่ มันก็กลัวจะสูญเสียความสุข ทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง นั้นเขาจึงป้องกันกันมาก จึงได้รบได้ราได้ฆ่าฟันกัน ฝ่ายที่เป็นเจ้าของวัตถุหรือเอาวัตถุไว้มากนี่จะต้องกลัวฝ่ายที่ไม่มีวัตถุ เช่นฝ่ายนายทุนนี่ต้องกลัวกรรมกร เพราะกรรมกรจะเป็นผู้ยื้อแย้งวัตถุ กรรมกรก็ไม่ค่อยมีเรื่องที่ต้องกลัวอะไรนัก นั้นจึงพูดได้ว่าใครยึดมั่นถือมั่นไว้มาก คนนั้นจะต้องมีความกลัวมาก ใครมีตัวกูมีของกูมาก คนนั้นจะต้องมีความกลัวมาก นั้นพวกฝ่ายนายทุนจึงเป็นฝ่ายที่นอนไม่หลับ เพราะว่ามีไอ้ตัวกูของกูมาก แล้วก็มีความกลัวมาก ฝ่ายชนกรรมาชีพมีน้อยหรือไม่มีมันจึงนอนหลับ นี่สงครามในโลกปัจจุบันนี้ระหว่างนายทุนกับชนกรรมาชีพ มันก็มีความหมายอย่างนี้ ถ้าอย่ามีตัวกูของกูมันก็สบายมันไม่กลัว แต่แล้วเขาก็บอกว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้ที่จะไม่ให้กลัวนี่ทำไม่ได้
เช่นเดียวกับทำให้ทำจิตให้ว่างนี่ทำไม่ได้ ทุกคนจะร้องออกมาเสียแต่ทีแรกเลยว่า ทำไม่ได้ ทำจิตให้ว่าง เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องเอาความทุกข์ไปไม่มีปัญหาอะไร นี้เรื่องความกลัวนี่ก็เหมือนกัน จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องกลัวนี่เขาก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้มันก็ถูกแล้วเพราะว่าตามธรรมดามันทำไม่ได้ ตามธรรมดาคนเราจะละตัวกูของกูไม่ได้ แล้วจะเป็นคนธรรมดาอย่างนั้นอยู่เรื่อยไปหรืออย่างไร เป็นคนธรรมดาสามัญอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป ก็หมายความว่าจะยอมรับเอาความทุกข์ไว้เรื่อยไป เป็นปุถุชนอยู่เรื่อยไป เป็นคนทาน เป็นคนอ่อน เป็นคนเขลา เป็นคนโง่นะนี่อยู่เรื่อยไป นี่ถ้าเราไม่ต้องการจะเป็นคนธรรมดาอยู่เรื่อยไป ต้องการจะเลื่อนชั้น แล้วมันไม่มีทางอื่น มันต้องเลื่อนชั้นมาในทางสิ่งที่ตนพูดว่าทำไม่ได้นั่นแหละ อะไรที่พูดว่าทำไม่ได้นั่นแหละมันต้องเลื่อนชั้นมาทางนั้น เช่นทำลายความยึดมั่นถือมั่นให้มีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นจากตัวกู นี้มันก็ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ หรือทำให้ได้ขึ้นมา
ทีนี้ไอ้สิ่งที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ก็คือเรื่องความกลัว น่าเอามาคิดมานึก ทำไม เราจะอยู่โดยไม่มีความกลัวจะได้หรือไม่ เราจะมีชีวิตอยู่โดยความกลัวไม่รบกวนเลยนี่จะได้หรือไม่ มันก็ต้องได้เพราะว่ามีคนทำได้ หรือพระอรหันต์โดยเฉพาะเป็นผู้ที่ทำได้ โดยมีความกลัวเด็ดขาด เอ้อ..หายไป ขาดตอนไป ขาดสูญไปอย่างเด็ดขาดเลย ทีนี้เราไม่เป็นพระอรหันต์ จะถือว่าทำไม่ได้ หรือว่าจะทำได้บางส่วน หรือว่าทำได้ตามที่จะทำได้ เราก็อาจจะคิดเห็นได้ด้วยเหตุผลของมัน sense ของเราเองว่า ไอ้ความกลัวนี่มันคือความโง่เหมือนที่พูดมาแล้วตอนต้นว่าความกลัวไม่ใช่อะไรนอกจากความโง่ กลัวผี กลัวเสือ กลัวผี กลัวอะไรที่มัน ไม่มีตัวมีตนนี่ กลัวผี กลัวความมืด กลัวอะไรที่ไม่มีตัวตนจริงนี่ คือความโง่มาก แต่ถึงกลัวไอ้สิ่งที่มีอยู่จริง เช่น กลัวเสือที่เดินมาเฉพาะหน้านี้ มันก็ยังเป็นความโง่อยู่นั่นแหละ ลองคิดดูเถอะ ไอ้อย่างทีแรกที่ว่ากลัวผีนี่เป็นความโง่ เพราะถูกสอนให้โง่มาแต่เล็ก สุนัขหรือแมวหรือเอ่อ ไม่กลัวผี เพราะมันไม่มีอะไรถูกสอนมาให้กลัวผี มา มาสอนให้กลัวผี มันจึงกัดกินสิ่งที่คนเรียกว่าผีด้วยซ้ำไป สุนัขเข้าไปในป่าช้าขุดผีกินเลย ทำไมไม่เห็นกลัว ทีนี้ไอ้คน.. กระดูกเล็กๆ สักชิ้นหนึ่งก็กลัว กลัวจนใจสั่นก็มี นี่คือความโง่ของคนที่สัตว์ไม่มี ไอ้โครงกระดูกที่แขวนอยู่ที่ศาลานี่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่คนกลัวแล้วบางคนก็หายโง่ก็ไม่กลัว ทีแรกเอามากลัวทั้งนั้นแหละ นี่ผมจะเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อเอาโครงกระดูกมาใหม่ๆ มาแขวนเอาไว้ที่นั่น พอรู้ไปถึงไอ้คนนั้นคนนี้ก็มาดูกัน แล้วครูก็พานักเรียนมาศึกษาจำนวนหนึ่ง สามสี่สิบคนและในนักเรียนสามสี่สิบคนนั้นมีต่างๆ กัน ไอ้นักเรียนสองสามคนกอดเสาอยู่ที่บันได ตรงที่บันได ไม่กล้าย่างขึ้นมาชั้นบน กอดเสากลัวตัวสั่น แล้วกลัวจริงๆ ด้วย แต่ว่าตาก็ยังอยากจะดู ทีนี้นักเรียนส่วนมากก็ยืนอยู่ห่าง ๆ แล้วก็นักเรียนจำนวนน้อยเข้าไปใกล้มาก แล้วมีนักเรียนสองคนหรือไม่เกินสามคนนี่กล้าจับต้อง และมีนักเรียนคนเดียวเท่านั้นแหละที่กล้าเอาหัวดุนเข้าไปในระหว่างโครงกระดูกให้โครงกระดูก แตะต้องเขากอดเขาเหมือนกับ เด็กๆ ก็ยังต่างกันอย่างนี้ ความกลัว แล้วโครงกระดูกก็อันเดียวกัน ชิ้นเดียวกัน และไอ้เด็ก ๒- ๓ คนที่ว่ากลัวตัวสั่นอยู่ที่เชิงบันไดนั้น กลับไปถึงบ้าน ยังเป็นไข้อีกตลอดคืน ไอ้เด็กพวกหนึ่งก็ไม่เป็นไรนัก ไอ้เด็กที่ไม่กลัวเลยก็ไม่เป็นอะไรเลย โครงกระดูกอันเดียวกัน แต่ว่าเพราะความโง่ที่มีอยู่มากน้อยกว่ากันจึงมีปฏิกิริยาต่างกันหลายชนิด หลายชั้น
ทีนี้ผมก็บอกว่า ไอ้เด็กพวกนี้คิดเลขไม่เป็น คิดเลขไอ้ชั้นแรกที่สุดไม่เป็น ถ้าคิดเป็น มันก็จะต้องคิดได้ว่าในเรานี่มีโครงกระดูกชนิดนั้นครบเหมือนกัน ที่โครงกระดูกนั่นมีอย่างไร ในเรานี่ก็มีครบ และที่อะไรๆ ที่เรามีอีกเยอะแยะ โครงกระดูกนั้นไม่มี เช่นเลือด เช่นเนื้อ เช่นหัวใจ ตับ ปอดอะไรเรามีเยอะแยะ ไอ้โครงกระดูกนั้นไม่มี และถ้าสมมติว่าไอ้โครงกระดูกนั้นมีวิญญาณยังสิงอยู่ ไอ้เราก็มีวิญญาณยังสิงอยู่ ดีกว่าและมากกว่าเป็นวิญญาณที่ดีกว่ามากกว่า เช่นสมมติว่าจะชกกัน เราก็ต้องทำได้ดีกว่าสิ เรามีวิญญาณที่ดีกว่า เรามีกล้ามเนื้อ มีเลือด มีอะไรจะชกจะฆ่ากันเราก็ต้องชนะวันยังค่ำ นั้นถ้าคิดเลขเป็นเสียหน่อย มันก็ไม่ต้องกลัว นี่ว่ากันโดยตรงไปตรงมาตามเหตุผลมันก็ไม่ต้องกลัวแล้ว เดี๋ยวนี้มันมีแต่ความโง่ที่ทำให้กลัว นี่ก็หลายคนก็ยอมฟัง ยอมเชื่อ ยอมฟังแล้วก็ทำให้บรรเทาความกลัวลงไปได้ แต่ถ้าไม่ขยันคิดไม่หมั่นคิด ขยันคิดตามแนวนี้ แล้วมันก็ไม่ทำลายความกลัวที่เรื้อรังในจิตใจได้ นั้นก็ต้องเอาไปคิด ไปเจริญภาวนา คิดอยู่เสมอ มันจึงจะค่อยทำลายความกลัวให้หายไปได้
ทีนี้ไอ้เรื่องไม่มีตัวตนนั้น มันก็ดูเป็นเรื่องง่ายที่จะทำลายความกลัว ทีนี้ไอ้เรื่องที่มีตัวตนจริงเช่น กลัวเสือ กลัวงู กลัวฟ้าผ่าลงมาถูกตาย อันนี้กลัวในสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริงนี้ มันก็ยังยากขึ้นไปกว่า เพราะมันมีอารมณ์กลัวนั้นมากกว่า มันปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แต่ถึงอย่างนั้น มันก็น่าจะมองไปแง่เดียวกันว่า เรายังมีความโง่ เราจึงต้องลำบากเพราะความกลัว เราไม่กลัวเสียไม่ดีกว่า มันจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่กลัวแล้วจะไม่ดีกว่า ความกลัวนี้กลัวมากกว่าเหตุ กลัวมากกว่าต้นเหตุแห่งความกลัว พอเห็นนิมิต เห็นไอ้วัตถุหรือเห็นไอ้สิ่งที่มันกลัวแล้ว มันก็กลัว แล้วมันอาจจะคิดไปล่วงหน้าสำหรับกลัวก็ได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ได้ทำอันตรายเราเลย สมมติว่าเราเห็นเสือปลอม ที่ไม่ใช่เสือจริงที่เขา ทำหลอกๆ นี่ในป่า ในที่ที่เราเชื่อว่ามันมีเสือ เราก็กลัวเท่าๆ กับกลัวเสือจริงๆ นี่ไอ้รูปหลอกมันทำให้คนกลัวจนเป็นไข้เป็นอะไรได้ เพราะฉะนั้นไอ้ความกลัวนั้นไม่ได้เกิดจากของจริง อย่างที่เราคิดนะ มันเกิดจากความโง่ที่เราสร้างอะไรขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เช่นเสือปลอมนี่เราคิดว่าเสือจริง เราก็สร้างเสือจริงขึ้นมาในจิตใจแล้วเราก็กลัว นั้นไอ้การสร้างมโนภาพ หรือที่เรียกว่า imagine imagination ขึ้นมานี่ นี่เป็นตัวร้ายเป็นตัวการตัวร้ายที่สุดที่ทำให้เกิดความกลัว ถ้าทำลายอันนี้ได้ความกลัวก็ไม่มี มีไม่ได้ อย่างเราเห็นเสือ เราก็ต้องมี imagine ว่ามันจะกัดเราหรือมันกัดเรา แม้ว่าเสือปลอม มันก็มี imagine ว่ามันจะกัดเรา ทีนี้เห็นเสือจริง แต่เสือตัวนั้นมันไม่กัดใคร ธรรมดาสัตว์หรือเสือมันไม่ได้กัดใครเสมอไป แต่เราก็กลัว มี imagine ว่ามันกัดเราเสมอ นี่มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริงของสิ่งที่เรากลัว มันสร้างภาพที่ทำให้เรากลัวขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยตัวมันเอง โดยไม่ต้องเจตนา แล้วมันก็ครอบงำจิตใจที่เป็นสติปัญญาหมด สติปัญญาไม่มีเหลืออยู่เลยตอนนั้น มันก็ต้องกลัว
ทีนี้ใครมีตัวตนจัด รักตัวจัดก็คือกลัวตายมากนั่นเอง ใครยิ่งรักตัวมาก ก็กลัวตายมาก ใครรักทรัพย์สมบัติมากก็กลัวตายมาก รักลูกรักเมียมากก็กลัวตายมาก และคนที่มีความรักชนิดนั้นน้อยมันก็กลัวตายน้อย เห็นเสืออย่างเดียวกันคนหนึ่งมันกลัวน้อย คนหนึ่งมันกลัวมาก ไม่แน่นอน บางคนเกือบจะไม่กลัว คนที่เขากล้าเป็นพรานหรือเป็นอะไรเกือบจะไม่กลัว หรือถ้าเขาดีไปกว่านั้นอีก เขาก็ไม่กลัว เพราะเขาไปมัวแต่คิดจะยิงเสือเลยลืมกลัวเสือไปเสีย อย่างนี้ imagination อันพื้นฐานมันถูกครอบงำไปหมด ไม่มีปรากฏ มันเหลือแต่ว่ากูจะยิงมึง แล้วก็ไม่มีความกลัว
ทีนี้พระอรหันต์ไม่กลัว เพราะว่าไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกู ว่าอะไรเป็นตัวกู หรือเป็นของกูเหลือ เพราะฉะนั้นจึงไม่กลัว นั้นไม่กลัวโดยเด็ดขาดหรือโดยประการทั้งปวงเพราะว่ามันไม่มีอุปาทานว่าตัวกู มันก็ไม่มีวัตถุที่จะถูกทำลาย คือไม่มีตัวกูที่จะถูกเสือกัด มันก็เลยไม่กลัวด้วยประการทั้งปวง ทีนี้ถ้ามันเต็มไปด้วยสติปัญญา มันเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา ถ้าความกลัวไม่ครอบงำจิต จิตเต็มไปด้วยสติปัญญา ก็พอจะรู้ได้ว่าควรทำอย่างไร จะยืนเฉยอยู่หรือว่าจะเดินหลีกไปหรืออะไรก็ตาม พอสมควรแก่เหตุการณ์นั้นไม่มากมาย นั้นถ้าว่าเสือมันจะเข้ามากินก็ไม่ต้องวิ่งหนีมันก็กินก็ได้ หรือถ้าว่าจะหลบหลีกก็หลบหลีกตามสมควร ซึ่งไม่มากเกินไป
เพราะฉะนั้นมันจึงมีเรื่องที่เป็นปัญหาขึ้นมาระหว่างมนุษย์ธรรมดากับพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่กลัวตายเพราะว่าหมดอุปาทานว่าตัวกูของกู ถ้าคนธรรมดาจะเกิดไม่กลัวตายขึ้นมาบ้างก็ต้องมีอะไรมากลบเกลื่อนอุปาทานอันนี้ มีความบ้าบิ่น หรือความอะไรก็ตามเถิดให้มันรุนแรงเข้ามากลบเกลื่อนอุปาทานอันนี้ก็ไม่กลัวตายได้เหมือนกัน เช่นว่า เป็นนายพรานจะยิงเสือมันก็มัวกลัวตายอยู่ไม่ได้ มันมีเอาอีกอันหนึ่งมากลบเกลื่อนอุปาทานอันนี้ไม่ให้ทำหน้าที่กลัว หรือว่าคนบ้าบางชนิดอาจจะไม่กลัว มันเป็นบ้าบิ่นมันอาจจะไม่กลัว มันจะถึงกับว่าอยากจะชกเสือ ต่อยเสือให้คนดูก็ได้ มันก็ไม่กลัวก็ได้
นั้นการไม่กลัวนี้มันมีหลักอยู่ที่ว่า อุปาทานว่าตัวกูของกูนี่มันไม่ได้ทำหน้าที่ เพราะไม่มีจะทำหน้าที่ หรือเพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่ ถ้ามีอุปาทาน อุปาทานไม่มีโอกาสทำหน้าที่ มันก็เลยไม่กลัว ถ้าไม่มีอุปาทานเช่นทหาร มันก็ไม่กลัวมันทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะมันไม่มี นั้นบางทีไอ้คนบ้าหรือว่าโจรใจร้ายกาจ ทำอะไรได้เหมือนพระอรหันต์ก็มี เช่นเรื่องไม่กลัวตายอย่างนี้เป็นต้น นี้เอาเถอะเรามาพูดกันเรื่องคนธรรมดาสามัญคือพวกเราที่กำลังจะเลื่อนชั้นนี้ดีกว่า นั้นอย่าปล่อยให้ความกลัวมันครอบงำ ย่ำยีอะไรมากมายเหมือนที่แล้วๆ มา ตัวเราจะบรรเทามันลงไปเรื่อยๆ จะเป็นการดีกว่า แล้วก็ไม่มีทางอื่นนอกจากจะศึกษาเรื่องราวของพระอรหันต์ เพื่อจะเดินตามรอยของท่าน คือทำลายอุปาทาน หรือบรรเทาอุปาทานหรือว่ามีสติปัญญาขึ้นมาแทนที่จะมีอุปาทาน ฟังถูกไหม พอเมื่อเห็นเสือ อุปาทานที่จะเห็นแก่ตัวกูของกู มันทำให้กลัว ทีนี้เราอย่าให้เกิดโดยให้มีสติปัญญา ให้มีสติสัมปชัญญะมาแทน เป็นความคิดที่เป็นสติปัญญาเสีย มันก็ยังดีกว่า คือมีความกลัวน้อยกว่า มีความทุกข์น้อยกว่า ในเมื่อเห็นเสือ ก็ไม่ ไม่ ไม่ต้องปล่อยให้ความกลัวครอบงำจนทำอะไรไม่ถูกนะ ความกลัวนี่มันก็ครอบงำหนักแล้วคนทำอะไรไม่ถูก กลัวตัวสั่น กลัวจนสลบไปเลยหรือกลัวจนทำหน้าที่อะไรไม่ได้ ทำไม่ถูก เราก็มีการสร้างความรู้สึกที่เป็นสติปัญญาขึ้นมาแทน
เอาล่ะว่าถ้าเจอเสือเราต้องกลัวทำไม เราก็ต้องคิดด้วยสติปัญญาที่มีอยู่แทน แทนความกลัวนั้นน่ะ ว่าเราควรจะทำอย่างไร ถ้าควรวิ่งก็วิ่ง ถ้าเราไม่ควรวิ่ง ควรขึ้นต้นไม้ ก็ขึ้นต้นไม้สิ หรือควรจะหลบจะแอบจะทำอย่างไรจะเตรียมตัวทำอย่างนั้นโดยไม่ต้องกลัว ถ้าวิ่งด้วยความกลัว มันก็แน่ มันต้องหกล้มหกลุก ขึ้นต้นไม้ด้วยความกลัวมันก็ต้องขึ้นไม่ได้หรือว่าผลัดตกลงมา ขึ้นแล้วขึ้นอีก ก็พลัดตกลงมา นี่ทำให้เสือกินได้ทั้งนั้น เสือเป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งนั้น นี่ถ้าไม่กลัวก็วิ่งได้อย่างดี วิ่งได้อย่างดีที่สุด หรือขึ้นต้นไม้ ก็ขึ้นได้อย่างดี หรือจะเตรียมอะไรเพื่อจะหลบหลีกอย่างใดก็ทำได้อย่างดี นี้ถ้าเราเห็นว่าหมดทางจะวิ่ง หมดทางจะขึ้นต้นไม้ วิ่งไม่ได้ ไม่มีต้นไม้จะขึ้น ไม่มีอะไรจะต้องเผชิญกับเสือแน่ก็อย่ากลัว ก็ต้องเข้าไปเผชิญกับเสือด้วยความไม่กลัว เพราะมันไม่มีอะไรดีกว่านั้นแล้ว นั่นหละมันยังมีทางที่จะต่อสู้เสือมือเปล่าก็ได้บ้างดีกว่าคนที่มัวแต่กลัว อาจจะมีสติปัญญาใช้ยูโดใช้อะไรไปตามเรื่อง โดยไม่ต้องกลัว ไม่เป็นทุกข์หรืออาจจะสนุกไปเลยก็ได้
ทีนี้ถึงกะเอาเป็นว่าสู้เสือไม่ได้เสือกัดเอาแล้วหรือถูกเสือเคี้ยวกินอยู่ก็ไม่ต้องกลัว อย่างนี้มีหวังที่จะเป็นพระอรหันต์ประเภทชีวิตสมสีสี คือเป็นพระอรหันต์พร้อมกับดับจิต เราไม่กลัวอยู่เรื่อยจนดับจิต มีอาการอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็น ชีวิตสมสีสี ถ้าเป็นคนเคยศึกษามาดีแล้ว ในเรื่องความดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลืออยู่ก่อนแล้ว แล้วสมัครดับไม่เหลือที่นี่อีก ก็เป็นพระอรหันต์ชีวิตสมสีสีในปากเสือ คือวินาทีสุดท้ายที่เสือมันกัด ถึงที่ที่ต้องตาย มันยังดีกว่าเป็นไหนๆ นี่ยกตัวอย่างเรื่องเสือ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่คนกลัวกันมาก ว่าถ้าเราอยากเป็นผู้ที่อยู่ในระดับที่เลื่อนชั้นขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่คนพาลหรือปุถุชนเกินไป มันก็ควรจะเป็นอย่างนี้ ทีนี้ที่อยู่ระหว่างนี้ มีเรื่องเล่าอยู่ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานอยู่เรื่องหนึ่งว่าภิกษุองค์หนึ่งไม่ได้เป็นพระอรหันต์เป็นพระธรรมดา ไปนั่งอยู่ในป่าทำความเพียรเพื่อเป็นพระอรหันต์ แล้วพอดีเสือกัด ทีนี้ท่านเป็นผู้เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าเวทนานี้ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก mechanism ในจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขาอะไร ก็เอาเวทนาที่เสือกัดเข้าแล้วนี่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ก็พิจารณาไป เสือก็กัดกินไป พระภิกษุองค์นี้ก็เรียกว่าเบ่งกำลังจิต เพิ่มกำลังจิตให้แรงพอที่จะพิจารณาอย่างนี้อยู่ อยู่เรื่อยไป พิจารณาไปพลางเสือกินไปพลาง จนถึงวินาทีสุดท้ายหรือมันไปกินถูกที่ทำให้ต้องตายก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกันประเภทชีวิตสมสีสี
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่กลัว ที่เคยกลัวหรืออันตรายที่ทำให้เสียชีวิต ก็ควรจะไม่กลัว หรือกลัวน้อยกว่าคนอื่น ก็ถือเอาโอกาสนั้นหล่ะ เป็นโอกาสที่จะได้เป็นพระอรหันต์ นี่ นี่กำลังใจมานี่ ให้เป็นพระอรหันต์พร้อมกับไอ้การตาย ยังดีกว่าที่จะไม่เป็นพระอรหันต์เสียเลย หากว่ากลัว กลัว กลัว ทำอะไรไม่ถูก มันก็ตายโหง มันก็สมน้ำหน้าของคนโง่ ตายโหงคือว่าตายโดยไม่อยากตาย นั้นคนแทบทั้งหมดตายโหงทั้งนั้นแหล่ะ เพราะว่าตายด้วยความไม่อยากตาย แล้วมีอะไรมาทำให้ต้องตาย มันก็ตายโหง ไม่มีสติสัมปชัญญะตาย นั้นเราป้องกันการตายโหงได้โดยการที่ไม่กลัว อย่าให้ต้องตายลงเพราะความกลัวตาย อย่าให้ไม่อยากตายแล้วต้องตาย พอมีอะไรเกิดขึ้นมันก็มีสติสัมปชัญญะทันท่วงที แม้ในกรณีที่เรียกว่าอุบัติเหตุ ลูกระเบิดตกลงมา หรือรถไฟชนกันหรืออะไรก็ตาม อุบัติเหตุต่างๆ เราก็ควบคุมสติได้ ถ้าเผื่อมันต้องตายก็ตายอย่างคนมีสติ ไม่ตายโหง เหมือนกับว่าตายกันทั้งขบวนรถชนกัน มันตายโหงหมด คนไม่อยากตายแล้วเอะอะโวยวายตายลงไป ส่วนเราไม่ปล่อยตายโหงกับเขา มีสติสัมปชัญญะ ให้สิ่งต่างๆ ดับไป แล้วถือเอานั้นเป็นอารมณ์ สมัครดับไม่เหลือ ไม่เกิดอีกต่อไปอะไรทำนองนี้ อย่างนี้เรายังจะได้เป็นพระอรหันต์โดยไม่ทันรู้ตัวก็ได้ ถ้าหากฝึกฝนไว้ดีแล้วไม่ใช่ของยากเลย นี่เรื่องความกลัวมันมีอยู่อย่างนี้ จะใช้เป็นประโยชน์ก็ได้ วัตถุสำหรับกลัวหรือกรณีของความกลัวนี้จะใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ประโยชน์ในทางธรรมะก็ได้ หรือสำหรับจะได้เป็นคนขี้ขลาด เป็นผีตายโหงไปในที่สุดก็ได้
เพราะฉะนั้นระวังอย่าให้เสียอะไรมากไปในเรื่องนี้ ไปคิดดูให้ดีดี ไปเตรียมตัวให้ดีดี เพราะว่าเราจะต้องเผชิญกับความกลัวตลอดเวลา คืนนี้คุณเดินกลับไปกุฏิ คุณก็กลัวงูตลอดเวลา แล้วคนก็โง่ตลอดเวลา นั้นเราต้องมี เดินไปโดยไม่ต้องกลัว ไอ้ความกลัวมันเป็นอย่างไร แยกออกไปไม่ได้อย่างไร คุณก็รู้เอาในเวลาที่กลัวนี่ จะมารู้เวลานี้ ที่นี่ไม่ได้ ที่นี่ไม่มีอะไรกลัว ดีไปหมด เก่งไปหมด แต่พอต้องเดินไปในที่มืดแม้ไม่มีงู คุณก็กลัวว่ามันมีงูอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไปรู้เอาเองว่ามันแยกออกไม่ได้จากจิตใจอย่างไร ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมดาของคนที่ไม่รู้อะไร ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเราควรจะมีอะไรที่แยกออกไปได้ กันออกไปได้ หรือไม่กลัวเลย แล้วก็มีสติปัญญาที่จะป้องกันที่จะไม่ให้งูกัดด้วย หรือว่าถูกงูกัดแล้วยังได้ประโยชน์จากการกัดนั้นอีกมากมาย ในวิธีเดียวกันคือการทราบข้อเท็จจริงของธรรมชาติ ของชีวิตของไอ้โลก ของสังขาร แล้วก็ไม่ได้หมายความว่านี่จะสอนให้ไปหาเสือให้เสือกัด หรือให้งูกัด ต้องการแต่เพียงปล่อยให้ไปตามเรื่องตามราว ตามธรรมชาติ แล้วเราก็มีสติปัญญามีความรู้พอที่จะศึกษาแล้วก็ถือเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นบทเรียน เป็นบทศึกษาแล้วก็วัดตัวเองเรื่อยๆ ไป รู้ตัวเองเรื่อยๆ ไป ในการที่จะสูงขึ้นๆ ในทางจิตใจเกี่ยวกับกิเลส
ถ้าสมมติว่าความกลัวน้อยลงได้ กิเลสอื่นก็น้อยลงตามหมด ความรัก ความโกรธก็น้อยลงตามหมด เพราะมันมาจากต้นตออันเดียวกัน คือยึดมั่นว่าตัวกูว่าของกู นั้นเราทำลายกิเลสชื่อไหนก็ได้ กิเลสชื่อราคะก็ได้ ชื่อโทสะก็ได้ ชื่อโมหะก็ได้มันกระเทือนถึงรากเหง้า คือตัวกูของกูทั้งนั้นแหละ แล้วมันก็พลอยบรรเทาตามลงไปด้วยกัน มันก็มีปัญหาเหลืออยู่ว่าอะไรมันรบกวนความสงบสุขของเรามากกว่า เราก็เล่นงานกับไอ้ตัวนั้น หรือเรื่องนั้นก่อน ถ้าความกลัวมันรบกวนเราตลอดเวลา เราก็ต้องเล่นงานกับมันก่อน อย่างน้อยก็เรื่องกลัวเล็กๆ น้อยๆ ที่กลัวๆ กันอยู่ กลัวความมืดบ้าง กลัวผีบ้าง กลัวงูบ้างกลัวอะไรบ้าง เอาของจริงนี่แหละเป็นบทเรียนสำหรับปฏิบัติ อย่าไปนอนคิดฝันเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง คิดฝันอย่างนั้นมันดีไปหมด มันเก่งไปหมด ต้องไปเรื่องที่มีอยู่จริง ที่มัน มัน มีกำลังที่จะครอบงำจิตใจของเรานี่จริง แล้วเราก็จะมีกำลังใจต่อสู้มันหรือไม่ ก็ลองดู นั้นอย่าไปกลัวมันเสียหมดจนถึงกลับว่าไม่กล้าทำอะไร เดี๋ยวคุณก็จะไม่กล้าทำอะไรเสียจริงๆ ไป ฟังถูกไหม ถ้าคุณมีแต่ความกลัว ขยายตัวออกไปๆ แล้วคุณจะไม่กล้าทำอะไร แม้แต่กินข้าว คุณจะไม่กล้าฉันอาหารของหมู่บ้านนี้ซึ่งทำไม่สะอาด มีเชื้อไทฟอยด์ มีเชื้อบิด มีเชื้ออะไรอยู่ในนั้น แล้วคุณก็ไม่กล้ากินข้าวของที่นี่ก็ได้ นี่เป็นถึงขนาดนี้
แล้วนี่ที่ผมว่านี่จริงนะ ไม่ใช่ผมหลอก หมู่บ้านแถวนี้ หรือว่าชนิดนี้แล้วกันที่ไหนก็ตามใจ เขาจะทำความสะอาดไม่ได้หรอก มันก็ยังมีเชื้อไทฟอยด์เชื้อบิดอะไรอยู่ เมื่อก่อนนี้ร้ายกว่านี้ ผมมาอยู่วันแรกก็เป็นบิดพออยู่ไปนานๆ มันก็ชิน immunity เกิดขึ้นมาก็ชิน เราควรจะขอบใจมัน ไอ้เชื้อไทฟอยด์เชื้อบิดที่เรากินมันไปสร้าง immunity แล้วต่อไปเราก็กินได้ แล้วเรากินได้มากขึ้น คือกินเชื้อโรคได้มากขึ้น พูดกันอย่างนี้ดีกว่า นี้ถ้าไปมัวกลัวอยู่ก็ไม่ต้องกินแน่ หรือถ้ากินก็ด้วยความลำบาก แล้วก็ยิ่งเลวลงๆ แล้วก็จะต้องตายด้วย เรื่องจริงมีอยู่เรื่องที่บ้านดอน ผู้พิพากษาคนหนึ่งนี่หลายสิบปีมาแล้ว อะไรๆ ก็ต้องสะอาดหมด นึ่งแล้วนึ่งอีก ลวกแล้วลวกอีก ล้างแล้วล้างอีก จะเป็นช้อนส้อม เป็นถ้วยชาม ผ้าปูโต๊ะ อะไร แม้แต่กระทั่งโอ่งไหบันไดอะไรก็ต้องล้างลวกกันไปหมดเลย แล้วไม่กี่เท่าไหร่แกก็ตาย เพราะว่าแกไม่มี immunity ในตัวเลย เผลอวันหนึ่งนิดเดียวแกก็ตาย เพราะโรคไอ้ที่มีโรค นั่นแหละความกลัวมันต้องรู้จักขอบเขตกันบ้าง ถ้ากลัวถึงอย่างนั้นหละก็ มันก็ต้องคิดดูว่าจะเรียกว่าคนโง่หรือคนฉลาด นี่มันจะโง่อย่างไม่น่าให้อภัยเลย
นั้นเราควรจะขอบใจไอ้สิ่งที่ทำให้เรากลัวนั่น ไอ้สิ่งที่ทำให้เรากลัว เราควรจะขอบใจมันเพราะมันทำให้เราเก่งขึ้น เก่งขึ้นๆ ถ้าเรามีสติปัญญาต้อนรับมันด้วยลูกไม้หรือกลเม็ดของพระพุทธเจ้านี่ คือถือเอาเป็นบทศึกษาที่จะรู้ว่าเวทนานี้สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา และเราก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุด จากสิ่งที่เขากลัวกัน พระอรหันต์เขามีคำเรียกหลายๆ คำ เช่น อัจฉัมภี (นาทีที่ 58 : 33 ) ไม่สะดุ้ง อะนุตราสี ( นาทีที่ 58 :35 ) ไม่ ขนไม่ลุก อ้า..ไม่หวาดเสียว แล้วมีคำเหล่านี้ ไม่มีขนลุก ไม่มีอะไรด้วยความกลัว มีขนอันตกสนิทอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะว่ามันหมด หมดความสำคัญที่เป็นตัวกูของกู หมดตัวกูของกูที่เป็นความรู้สึก ที่จะเกิด ที่พร้อมที่จะเกิดนี่ มันก็หมดความกลัว นั้นเรื่องตัวกูของกูเป็นเรื่องเดียวที่สำคัญที่สุด ที่ทุกคนจะต้องค่อยๆ ศึกษาไป ศึกษาไป ทำไป ปฏิบัติไป แล้วก็ต้องปฏิบัติได้ อย่ามัวโง่อยู่ว่าเรื่องนี้ปฏิบัติไม่ได้ เรื่องจิตว่างปฏิบัติไม่ได้ มันก็ปฏิบัติไม่ได้จริงๆ เหมือนกัน เพราะไม่ยอมปฏิบัติ ไม่สมัครจะปฏิบัติ เรื่องความกลัวก็เป็นสิ่งที่ละได้ ทำให้เบาบางไปได้ เพราะฉะนั้นควรจะทดสอบตัวเองอยู่เสมอ ว่าเดือนนี้มันดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้วหรือไม่ ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่ในเรื่องเกี่ยวกับความกลัว ความสะดุ้งกลัว สิ่งที่เราเคยขนลุกเราก็ไม่ลุก ความมืดที่เราเคยกลัวเราก็ไม่กลัว ไม่ต้องมีอะไรหรอก มันมืดๆ มีอะไรแจ๊ดขึ้นมาเราก็ขนลุก ทั้งที่แท้มันเป็นเพียงตั๊กแตนตัวหนึ่งเท่านั้น เราก็มีขนลุก นี้มันก็เป็นเรื่องน่าหัวสำหรับมนุษย์ที่เลวกว่าสัตว์ในเรื่องนี้ นี่คือว่าธรรมปาฏิโมกข์ที่ตรงนี้ ไม่พูดในเรื่องอะไร พูดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวกูของกูเรื่องเดียวเรื่อยไป เอาล่ะพอกันที สำหรับเวลา ข็นขรกราเรกอออvyอvy