แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์เกี่ยวกับตัวกูของกูในวันนี้ อยากจะพูดถึง โดยหัวข้อว่ามีแต่ความรู้สึกว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรผิดอะไรถูก คือหมายความว่า อย่ามีความรู้สึกว่า ใครผิด ใครถูก มีความรู้สึกแต่ว่าอะไร อะไรผิดหรืออะไรถูก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องสังเกตดู คนทั่วไป คนธรรมดานะ ทั่วไปทุกคน มันเต็มอยู่ด้วย ความรู้สึก ว่าตัวกูของกู และก็ว่าตัวกูถูก คนอื่นผิด เสมอไป นี่เป็นความเคยชินตามธรรมดาที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเราเอา ไอ้ความรู้สึกเป็นตัวกู ออกเสียได้ มันก็ไม่มีใครผิดใครถูก มีแต่ว่าอะไรผิด อะไรถูก คือ ความถูกเป็นอย่างไร ความผิดเป็นอย่างไร ให้รู้สึก เอ่อ, เพียงเท่านั้น อย่าไปค้นหรือไปรู้สึกว่า ใครผิด หรือใครถูก
ไอ้ความเคยชินในเรื่องว่า เราเราถูกเขาผิดเสียเสมอนี่ เป็นนิสัย มันเป็นนิสัย เป็นสังโยชน์ ลึกซึ้ง เคยชินประเภท มานะ เขาเรียกว่า มานะ ดีกว่าเขา เสมอไป ดังนั้นจึงมีแต่ว่า เราถูก เขาผิดเสมอ ทั้ง ๆ ที่มัน รู้ว่าเราผิด ก็ยังไม่ยอมว่าผิด ก็ต้องหาทางแก้ตัว หรือบิดพลิ้ว ถ้าไม่ได้ก็เอากันซึ่งหน้าเลย คือว่า ยืนกระต่าย ขาเดียวซึ่งหน้า นี่ผลของการที่ทำความสำคัญว่าใครผิดใครถูก นี่มันก็มีเรื่อง มีผลเป็นความทุกข์ เดือดร้อน กันทั้ง ๒ ฝ่าย หรือทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง เรื่องมันเคยมีมาแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ยอมกัน เพราะเหตุนี้เท่านั้นแหละ ทำให้พินาศ ฉิบหาย กันทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งประเทศก็ได้
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในพุทธศาสนา หรือตามหลัก ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น อย่ามีตัวกู มีแต่ไอ้ สิ่งเหล่านั้น ซึ่งไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกู แล้วก็รู้ว่าอันไหนเป็นกุศล อันไหนเป็นอกุศล คือ ผิดหรือถูก และทั้งที่เป็นกุศล เป็นอกุศล นั้นอย่าเป็นตัวกู อย่าเป็นของกู นี่เรียกว่าโดยหลักใหญ่ สรุปใจความสั้น ๆ ให้ได้กันเสียก่อนว่า อย่าไปสำคัญ มั่นหมาย หรือว่าอย่าไปค้นคว้า ว่าใครผิดใครถูก ทำความเข้าใจแต่เพียง ว่าอย่างไรนี่ มันเรียกว่าผิด อย่างไรมันเรียกว่าถูก
ตรงนี้ขอแทรก ไอ้ที่ว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูกนี่เสียก่อน หมายความ ว่าเอาความรู้อะไรมาตัดสิน ว่าอย่างไร ผิดอย่างไรถูก ในชั้นแรกที่สุด เรื่องแทบทั้งหมด มันรู้อะไรผิดอะไรถูก โดยสามัญสำนึก พอจะ สำนึกได้ ขอแต่ให้ยั้งคิดสักหน่อย เฮอะ, ไอ้เรื่องมันเกิด เพราะไม่ยั้งคิดเลย ผลุนไป ผลันมา เอ่อ, มันก็ไม่ ไม่มีการยั้งคิด มันจึงผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด โดยไม่ทันรู้ตัว นี่ในขั้นแรกรู้ รู้ได้ว่าโดยสามัญสำนึก ก็รู้ได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก
ทีนี้ในขั้นที่ ๒ ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ต้องถือโดยหลัก ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้ามันเป็น ที่เดือดร้อน กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ฝ่าย เขาเรียกว่า ผิด ไม่ทำความเสียหายให้แก่ทุกฝ่าย จึงจะเรียก ว่า ถูก นี่เราถือเอาหลักว่า ถ้ามันทำให้มีเรื่องให้เกิดเรื่องแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นผิด ต้องอดกลั้น
ที่นี้ถ้ามันเป็น ยังเป็นปัญหา ที่ก้ำกึ่งกันจะต้องตัดสิน จะต้องตัดสิน ก็ต้องเอาตามหลัก จริยธรรม ศีลธรรม ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี อะไรก็ตาม ที่เขา มีอยู่ มาเป็นเครื่องคำนวณดู สัก ๕๐% อีก ๕๐% ให้เป็น อิสระแก่ตัว ลองคิด วิพากษ์วิจารณ์ดูว่า ตามนั้นจริงไหม นี่เดี๋ยวจะไม่เข้าใจ คือว่า ครึ่งหนึ่ง ๕๐% นะ ยึดหลัก ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรม ศาสนา อะไรก็ตาม แล้ว ๕๐% นะ เหตุผลของตัว ทีนี้ในที่สุด มันจะถูกต้องถูกแน่ เพราะเหตุผลของตัวมันมีได้ไม่ไม่เต็ม ๕๐% มันมีข้อสงสัย ข้ออะไร ไอ้ฝ่ายหลักเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณีเขามีอยู่แล้ว นั่นให้ไป ๕๐% เสียแล้วผลสุดท้ายมันก็ปลอดภัย
สำหรับข้อนี้หมายความว่า การที่ถือเอาผิดถูกนี่ มันต้องเล็งถึงไอ้ระเบียบ แบบแผน นั่นแหละ ก่อน แล้วจึงมาถึงไอ้ความรู้สึก ความต้องการของตัว ตามหลักจริยธรรมสากล เขามีว่า มันต้อง ที่จะเรียก ว่าผิดหรือถูกนะ ให้คนอื่น เอ่อ, เกี่ยวกับคนอื่น ให้คนอื่นเข้าใจด้วยได้ มันก็ต้องเป็นที่คนอื่น เป็นสิ่ง เอ่อ, เป็นหลักที่คนอื่นเขาเข้าใจได้ มีเหตุผลเพียงพอ สำหรับอธิบายว่าผิดถูกอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้เรามันพูดกัน ไม่รู้เรื่อง มันต่างคนต่างมีเหตุผล มันก็ต้องเอาอย่างนี้ คำนึงถึงศาสนา ถึงศีลธรรม ถึง อ่า, อะไรก่อน แล้วก็ให้ไปตั้ง ๕๐% อีก ๕๐% นี่คือ ความต้องการของเรา ความพอใจของเรา ความมีเหตุผลของเรา เอาไปฟัดกัน ผลสุดท้ายมันก็ ก็ทำลาย ๕๐% ฝ่ายโน้นไม่ได้ ไอ้ฝ่ายของตัวนี่มันจะ พบความบกพร่อง พบจุดอ่อนอะไร ลดลงไปต่ำกว่า 50% มันก็แพ้ นี่ถ้าสมมุติ ว่ามัน ๕๐% ต่อ ๕๐% มันก็เป็นเรื่องที่ต้อง ระมัดระวังอยู่ดี คือ จะถือเอา จะจะถือเอา ตัวถูก โดยส่วนเดียวมันไม่ได้ ทีนี้การที่คอยระมัดระวังเรื่อย ๆ ไปนี่ มันทำให้ รู้อีกทีหนึ่งว่า ถูกผิดอย่างไร ก็เป็นที่แน่นอน นี้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์หยาบ ๆ กว้าง ๆ ทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับว่า อะไรผิดอะไรถูก จะใช้กันอย่างไร
ทีนี้การ ปฏิบัติมันยากตรงที่ว่า มันมีตัวกูแทรกเข้ามา ไม่ใช้หลักเกณฑ์อันนี้ เอาแต่ว่า กูถูก คนอื่นผิด เสมอไป นี่เป็นสัญชาตญาณ เป็นความเคยชิน ในนิสัยสันดาน โลกก็โกลาหลวุ่นวาย สังคม โกลาหลวุ่นวาย แม้แต่ในครอบครัว ผัวเมียก็โกลาหลวุ่นวาย เพื่อนฝูงมิตรสหาย นักเรียนเพื่อนนักเรียน ด้วยกัน ก็โกลาหลวุ่นวาย เพราะเรื่องใครผิดใครถูก นี่ก็ให้ตัดทิ้งไปเสียว่า เหลือแต่ว่าอย่างไรเรียกว่า ผิด อย่างไรเรียกว่า ถูก มาปรึกษาหารือกันทั้งหมด เอาบุคคลที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๘ เอามารวมด้วย ก็ได้อย่างไร มัน เรียกว่า ผิด อย่างไรมันเรียกว่า ถูก แล้วก็เห็นแก่ความผิด เห็นแก่ความถูก อย่าเห็นแก่ตัวกู ซึ่งทำให้คิดว่า ใครผิดใครถูก
ทีนี้คือ หลักพระพุทธศาสนา ที่เป็นชั้นหัวใจ คือ เรื่องที่อย่ามีตัวกู อย่ามีของกู อุปาทานว่าตัวตน ว่าของตนนั้นต้องไม่เกิด ต้องทำให้ไม่เกิด ต้องควบคุมให้ได้ ที่นี้ชาวบ้านเขาปฏิเสธเสียว่าไม่ได้ เราทำไม่ได้ โดยเฉพาะไอ้นักศึกษาสมัยใหม่ ๆ นี่ ที่เรียน ที่อวดว่าเรียนรู้อะไรมากนี่ จะปฏิเสธ หลักเกณฑ์เหล่านี้ว่า ทำไม่ได้ เราจะคิด จะพูด จะทำ จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ ไม่มีความรู้สึก ว่าตัวกู ว่าของกู นี่เป็นไปไม่ได้ นั้นมันคือ ความโง่ของปุถุชน และความเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วนั่นแหละ คือ ความเป็นปุถุชน ดังนั้นเดี๋ยวนี้ ถ้าเราจะ ดีกว่าปุถุชน จะเลื่อนชั้นจากปุถุชน มันก็ต้องมีอะไรที่ทำได้ สูงขึ้นไป ถ้าจะมีอะไรที่สูงขึ้นไป มันก็ตรงนี้ ตรงที่ทำอะไร โดยไม่ต้องเป็นความรู้สึก ว่าตัวกู ว่าของกู
เราเคยถกกันมากเหมือนกันในเรื่องนี้ จากพฤติการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง เช่น คำพูดที่ว่า ทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง นี่ ก็มีแต่คนคัดค้านว่าทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้ และก็คัดค้านด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ว่าเขาตั้งใจจะค้านตะพึด เป็นว่าเหลือวิสัยที่จะปฏิบัติ นี้เราก็บอกว่า เอ้า, ถ้าอย่างนั้นก็สมัครเป็น คนธรรมดา ไปตามเดิมก็แล้วกัน อย่ามาแตะต้องพุทธศาสนาเลย ถ้าจะมา เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา จะถือ เอาประโยชน์จากพุทธศาสนา ก็ต้องทำบทเรียนบทนี้ บทเรียน คือ มีความรู้สึกอยู่ อะไรอยู่ ไม่ไม่แต่เรื่อง ที่ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรเป็นอย่างไร ก็ไม่ไม่ต้องมีตัวกู หรือตัวเรา ผู้ทำ ผู้กิน ผู้ใช้ อะไรอย่ามี นี่คือ บทเรียน ที่จะเลื่อนขึ้นมาจากความเป็นคนธรรมดา มาสู่ความเป็นพุทธบริษัท เป็นอริยสาวก ที่มันสูง ๆ ขึ้นไป
ทีนี้เราจะพิจารณากันว่า เรื่องนี้ปฏิบัติได้หรือไม่ แล้วเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัย ที่มนุษย์จะทำได้หรือไม่ ครั้งแรกจะต้องขอพูด อย่างที่เรียกได้ว่าเอาเปรียบ หรือกำปั้นทุบดิน คือพูดขึ้นว่า หลักพุทธศาสนามีอยู่ อย่างนี้ นี่อย่างนี้เรียกว่า ผู้พูดเอาเปรียบ หลักพุทธศาสนามีอยู่ว่า อย่ามีความยึดมั่นเรื่องตัวกูของกู บางคน ก็จะพาลสงสัยเอาว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส หรือหลักพุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนี้ด้วยซ้ำไป ว่าเอาเอง อืม, ว่าอย่างนี้ ถ้าปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ มันก็ต้อง มันก็ต้องอาศัยข้อเท็จจริง ว่าไปดูเอาสิ ในพระไตรปิฏก แทบทุกหน้า มีแต่พูดเรื่อง ทำลายความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกู หรือว่าทุกคำพูด ทุกเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัส ท่านสรุปความว่าอย่างนั้น มีผู้ไปถามเรื่อง คำสอนทั้งหมด สรุปเป็นประโยค ประโยคเดียวว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ประโยคเดียวว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็อย่าไปสำคัญมั่นหมายสิ่งใด ว่าเป็น ตัวกูของกู พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองอย่างนี้
ทีนี้เราดูให้ละเอียดปลีกย่อยลงไปถึงข้อปฏิบัติที่สำคัญ ที่ถือว่าเป็นชั้นสำคัญ ในพุทธศาสนา คือ สิ่งที่เรียกว่า สติ เมื่อพูดถึง สติ ก็หมายถึง สติปัฏฐาน ที่ตรัสไว้เป็นสูตรยาวเฟื้อยเลย ก็มหาสติปัฏฐานสูตร ก็มี สติปัฏฐานสูตรเฉย ๆ ไม่มีมหาก็มี แต่แล้วมันเป็นเรื่อง สติ ในข้อที่ระมัดระวัง ควบคุม ป้องกัน อะไร ก็ตาม ไม่ให้เกิดความสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นตัวกู เป็นของกู สมมุติว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักอย่างนี้ มันก็เรื่องให้มี สติติดต่อกันไป ไม่ไม่ไม่เผลอได้ ว่ากายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เวทนานี้ก็สักว่า เวทนา ไอ้ความรู้สึกสุข ทุกข์ต่าง ๆ นี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จิตจิตนี้ก็ตัดว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี้ธรรมทั้งปวง ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
นี่ถ้าพูดตามตัวหนังสืออย่างนี้ เดี๋ยวก็ง่วงนอน ไอ้คนที่มันอยากรู้นั่นแหละ มันก็สูญความอยากรู้ ถึงกับง่วงนอนก็ได้ เพราะว่าพูดตามตัวหนังสือมันเป็นอย่างนี้ และเขาก็ไม่เข้าใจ และเขาก็มาดื้อว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ พอเราเอาตัวบทจริง ๆ มาร่ายให้ฟัง มันก็หลับเสียอีก นี่กายก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคลนี่ ตัวตน เรา เขา เวทนาก็เหมือนกัน จิตก็เหมือนกัน ธรรมก็เหมือนกัน มันเป็นอะไร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้วมันเป็นอะไร มันเป็นไอ้นั้นแหละ เป็นอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ คือ เป็นธรรมชาติ เป็นสักว่า เป็นธรรมชาติ ตามที่มันเป็น ตามที่มันเรียก เราเรียก กายนี้คือ ร่างกายนี้ ร่างกายนี่ สักว่าส่วนประกอบ ตามธรรมชาติ มีเหตุมีปัจจัยซับซ้อน น่าพึลึกพิลั่น ปรุงแต่งกันอยู่ เป็นร่างกาย เป็นเป็นสิ่งมีชีวิตนี้ มันก็สักว่าธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติ จิตอย่าได้ไปโง่ ว่ากายนี้เป็นตัวกู
ทีนี้มาถึงเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขสบาย เอร็ดอร่อย หรือความรู้สึกเป็นทุกข์ ไม่ชอบใจ หรือความ ยังรู้สึกงุ่นง่านอยู่ ไม่รู้ว่าอะไรแน่อันนี้ก็ ขอให้ถือว่ามัน เป็นธรรมชาติทางจิต เป็นธรรมชาติฝ่ายจิต ธรรมชาติอย่างนั้นเอง ไม่ใช่ของเรา หรือถ้าจะว่าเป็นเป็นเรา เราอร่อย เรามีความสุข หรือเรามีความทุกข์ อะไรก็ตาม ก็ผิด ให้ถือว่ามันผิดไม่ใช่เรา มันสักว่าเวทนา คือ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นมาตามกฏเกณฑ์ ของธรรมชาติ ตรงตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ รู้สึกอยู่อย่างนั้น แล้วจิตนี่มันโง่ไปเอง ว่าเรา เราสุข เราทุกข์ เราชอบ เราไม่ชอบ เรา ให้มีสติว่าเวทนา แฃ้วสักว่าเวทนา คือ ธรรมชาติอย่างที่เรียกว่า เวทนา
ทีนี้มาอันที่ ๓ เรื่องจิต ให้รู้ว่าจิตนี้ สักว่าจิตนั่น จิตนี้สักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ตามธรรมดาคนเราจะต้อง เข้าใจเอาเองว่าไอ้จิตนั้นแหละ ไอ้จิตนี่แหละ เป็นตัวกูแล้ว เป็นตัวเจตภูมิ เป็นตัววิญญาณ เป็นตัวที่เป็นแกนกลาง เป็นจุดกลางของไอ้ทั้งหมดนี้เป็นตัว เป็นตัวเรา อ่ะ, แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัส อย่างเดียวกันอีกว่า จิตสักว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี้ก็ได้แก่ทุกคน ทุกคนทั่วไปที่เห็นว่า จิตนี้ คือ ตัวกู เราคิดได้ ดังนั้นเรามีอยู่อย่าง เดส์การ์ตส์ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มันก็เป็น เรื่องน่าหัว เพราะความคิดนึกรู้สึกได้นี่ ไปถือว่านั่นแหละ คือ ตัวเรา เรามีอยู่ ทั้งพุทธกาลเขาเคยโง่อย่างนี้ แล้วเขาก็เลิกโง่กันนานแล้ว ท่านนักปรัชญา ๒-๓ ศตวรรษมานี้ ยังมาพูดอย่างนี้อีก มันก็น่าหัว แต่คนสมัยนี้ก็ชอบ ยึดถือ เพราะเขาเป็นนักปรัชญา กลุ่มเดส์การ์ตส์
ทีนี้อัน กลุ่มที่ ๔ ก็คือ ธรรม ธรรมนี้หมายถึง ไอ้ที่เป็นนามธรรม นับตั้งแต่การกระทำ ทำผิดทำถูก ความดีความชั่ว ความอะไรก็ตาม กระทั่งถึงธรรมที่เป็นเครื่องปฏิบัติ เพื่อผลอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรก็ตาม กระทั่งเพื่อนิพพานก็ตาม ให้ถือว่าไอ้ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม คือ ธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ หรือการเป็นไปตามธรรมชาติ อย่าได้คิดว่าตัวเรา ของเรา หรือสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี่สำหรับพระ บวชใหม่ ก็น่าจะจำไว้ ที่พระพุทธเจ้ายกขึ้นมากล่าวถึง ๔ อย่าง ร่างกายอย่างหนึ่ง เวทนา ความรู้สึก หรือ Feeling ต่าง ๆ นี้อย่างหนึ่ง และไอ้จิต คือ ตัวสิ่งที่คิด เดี๋ยวนี้เขาเรียกกัน Consciousness นี่อย่างหนึ่ง แล้วก็ธรรม คือ Phenomena Nominal อะไรทั้งหมดนี่ เรียกว่า ธรรม ทั้งหมด เอามาเอามาพูดเพียง ๔ อย่าง เพราะว่ามันพอแล้ว ในร่างกายนี้ มันก็ มันก็ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาและเกี่ยวข้องหรืออะไรอยู่ตลอดเวลา เด็ก ๆ อาจจะคิดว่าเหมา ๆ ว่ากายนี้ตัวกู เพราะเด็กมีความรู้น้อย ผู้ใหญ่นี่จะรู้จักแยกเป็นร่างกายเป็นจิตใจ
ทีนี้สำหรับเวทนานั้นนะ มันเป็นตัวที่มีอำนาจมาก มีกำลังมาก ครอบงำจิตมาก จึงยกขึ้นมาพูด อีกแขนงหนึ่ง ทีนี้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า จิตนั่น คนเขาพูดกันมานมนานก่อนพุทธกาล ในฐานะที่มันจะเป็นตัวตน ก็เอามาพูด เสียด้วย เอามาปฏิเสธเสียด้วย นี่พอพูดถึงธรรม ก็คือ ทุกสิ่ง นอกจาก ๓ สิ่งนี้ ก็แปลว่า หมดเลย ไม่มีอะไรเหลือเลย ที่จะเหลือไว้สำหรับจะเป็น ตัวกูของก ูไม่มีเหลือเลย นี่พระพุทธเจ้าท่านสอน นัก สอนหนา ย้ำแล้วย้ำเล่า ขอร้องแล้วขอร้องอีก ให้ภิกษุเป็นอยู่ด้วยสติ ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ถ้าภิกษุเป็นอยู่ ด้วยลักษณะอย่างนี้ มันไม่มีตัวกูของกู ที่ตรงไหนเกิด เพราะมันมีการประพฤติ กระทำ หรือเกิดเรื่องราวอะไรก็ตาม ก็ก็ตามเถอะ ถ้าไม่เกิดความรู้สึก คือ ถ้าไม่เสียสตินะ ไม่เผลอสติ ไม่เสียสติ ก็ไม่เกิดตัวกูของกู ให้มันเป็นเรื่องของกาย ของจิต ของเวทนา ของอะไร ของธรรมไปหมด หรือว่ามันมีการกระทบกระทั่งอะไรกัน ในระหว่างบุคคล มันก็เลยเป็นธรรม หรือธรรมชาติ หรือธรรมดา ไปหมด ไม่มีตัวกูของกูเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว มันก็ไม่มี ใครผิดใครถูก นี้ถ้ามันเป็นปัญหา เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับบุคคลหลายฝ่าย มันก็เหลืออยู่แต่ว่า เราจะผ่านมันไปได้อย่างไรโดยไม่เกิดเรื่อง เป็นความเดือดร้อน และก็มาตกลงกันว่า อย่างไรเรียกว่าผิด อย่างไรเรียกว่าถูก
ทีนี้เมื่อคนเหล่านั้น เขามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เขาก็ยินดีที่จะทำในเรื่อง ให้มันถูก ทำที่มันผิด ให้มันถูก ก็ไม่เกิดตัวฉันของฉัน ตัวกูของกูอะไรที่ไหนมา ก็ไอ้ร่างกายจิตใจตามเดิมนั่นแหละ มันก็ทำไป โดยเห็นแก่ความผิดหรือความถูก ไม่เห็นแก่ตัวกู ไม่เห็นแก่ตัวสู มันไม่มีตัวกูผู้ทำ ไม่มีตัวสูผู้ทำ แล้วมา ทะเลาะกัน เพราะฉะนั้น มันยังแบ่งออกไปได้ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองบุรุษที่ ๑ ล้วน ๆ นี้อย่างหนึ่ง ว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูก เราแก้ไขของเรา นี่อยากจะใช้คำว่า อะไรควรอะไรไม่ควร เราอยู่ตามลำพัง เรามีปัญหาเฉพาะของเรา ไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ ๒ แล้วก็มี การระมัดระวัง ตรวจสอบด้วยว่าอะไรควร อะไรไม่ควร มันก็คือ ผิดหรือถูก ถูกก็ควร ไม่ถูกก็ไม่ควร
ทีนี้ถ้ามันเกี่ยวกับคนภายนอก บุคคลที่ ๒ ขึ้นไปนี่ มันก็มีว่า อะไรผิดอะไรถูก เพื่อว่าอย่ามี ใครผิด ใครถูก แล้วจะมาฟาดกันมาฟัดกัน นี้ถ้าว่า อะไรผิดอะไรถูก เป็นที่แน่นอนแล้ว เราก็ยกส่วนของเรามา ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เราควรทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น เราไม่ควรทำอย่างไร เราก็ไม่ควรทำ อย่างนั้น หรือเราไม่ต้องทำเลยเราก็ไม่ทำเสียเลย นี่เรียกว่า เราเอาความควรหรือไม่ควร นี่เป็นหลักในส่วนตัวเรา ความผิดหรือความถูกนั้น เอาเป็นหลักระหว่างที่มันเกิดปัญหาขึ้น ในระหว่างบุคคล บุคคลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี่มันจะขจัดปัญหาต่าง ๆ ไปได้หมด นับแต่ปัญหาของตัวแท้ ๆ คนเดียว นั่งมีความทุกข์อยู่นี่ และก็ มีปัญหาที่ ๒ สามีกับภรรยาทะเลาะกันอย่างนี้ มันก็ควรจะ สะสางไปได้ด้วยหลักเกณฑ์อันนี้ เพื่อนบ้าน ทะเลาะกัน หรือทะเลาะกันเป็นหมู่ หรือจนกระทั่งทะเลาะกันระหว่างประเทศชาติ เป็นสงคราม เป็นมหา สงคราม ถ้ามันถือหลักกันอย่างนี้ มันก็เกิดไม่ได้ สงครามเกิดไม่ได้ หรือเกิดขึ้นมาก็ระงับไป
นี่ที่ผมยืนยันแล้วยืนยันอีกว่า สมัยนี้ เวลานี้ ปัจจุบันนี้ ชั่วโมงนี้ มันจะต้องถือหลักที่ว่า รบกันไป พลาง แลกเปลี่ยนธรรมะกันไปพลาง ในโลกนี้ มันหยุดรบไม่ได้ เพราะมันระแวงกันเกินไป มันต้องรบกัน ไปพลาง แต่ว่าในขณะที่รบกันไปพลางนี่ แลกเปลี่ยนธรรมะกันไปพลาง เพราะว่ายอมฟังกันทั้ง ๒ ฝ่าย เดี๋ยวมันก็จะได้ความรู้ที่ถูกต้อง ว่าอะไรผิดอะไรถูก อย่าว่าเป็นใครผิดใครถูก ที่มันแบ่งกันเป็นพวก ๆ รบกันอยู่เวลานี้ในโลกนี้ ก็ต้องถือหลักเกณฑ์อย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันยืนยันกระต่ายขาเดียว ว่าเราจะต้องถูกไว้ เสมอ และบางทีก็พูดออกมาตรง ๆ ว่ายอมไม่ได้ เพราะมันเสียหน้า นี่ก็แสดงว่าเขารู้แล้ว ว่าเขาผิด แต่เขายอมไม่ได้ เพราะว่ามันเสียหน้า อย่างนี้คือ มีกูถูกมึงผิดนะ มันต้องยืนยันอย่างนั้นเสมอ
นี้ถ้าว่าเราเอาหลักเกณฑ์ อย่างที่ว่า อะไรผิดอะไรถูก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มันอาจจะพูดกัน รู้เรื่อง แม้ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์นี่ จะพูดกันรู้เรื่อง ว่าเพราะอะไรมันทำความเดือดร้อน ขึ้นมา อะไรมันทำความทุกข์ทรมานไม่มีที่สิ้นสุด เรารู้ว่านี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็น ธรรมชาติ เป็นตัวกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นตัวการที่เป็นไปตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ และถ้าเราไป ต่อสู้กับธรรมชาติ เรามันบ้า บ้าทำสงครามกับธรรมชาติ นี่มนุษย์คู่สงครามทั้ง ๒ ฝ่ายนี่ มันทำสงคราม กับธรรมชาติ ไม่ใช่ทำสงครามระหว่างกัน หรือพูดให้ดีกว่านั้น พูดอย่างสมมุติว่ามันกำลังทำสงครามกับ พระเจ้า พระเจ้า คือ ธรรมชาติ ทำสงครามกับธรรมะ แล้วมันจะยุต จะยุติได้อย่างไร
มันทั้ง ๒ ฝ่าย คู่สงครามทั้ง ๒ ฝ่ายมันทำสงครามกับพระเจ้า แล้วมันจะหยุดได้หรือ ในระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้ มันหยุดไม่ได้ พระเจ้า คือ ธรรมชาติจะต้องลงโทษ ให้มันเดือดร้อนต่อไป และมันต้องแลกเปลี่ยน ความรู้ กันจนทั้ง ๒ ฝ่ายรู้เรื่องพระเจ้า รู้เรื่องธรรมชาติ รู้เรื่องธรรม อย่างที่กำลังว่า ธรรม คือ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มีแต่ธรรมชาตินี่ แล้วมันก็จะเห็นว่า มันป่วยการ ที่จะมารบกัน เพราะว่าใครผิดใครถูก หรือว่า เพราะจะเอานั่นเอานี่ เป็นตัวกูเป็นของกู ดังนั้นไม่มีที่สิ้นสุดได้ ถ้าจะมีตัวกูของกู แล้วมันก็รบกันได้ เรื่อยไป ภายในประเทศกันเองก็รบกันได้ ระหว่างบุคคลก็รบได้ ทะเลาะวิวาทกันได้ ผัวกับเมียก็ได้
เพราะฉะนั้นมีธรรมะให้ถูกต้องกันเสียที ว่ามันไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก มีแต่ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะต่างคนต่าง เอามาพิจารณาดู ในฐานะที่เป็นของควรไม่ควร แก่เราอย่างไร และก็เลิกเสีย นี่สงครามมันจะหยุดได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ญาติดีกัน คืนดีกัน กับพระเจ้า หรือธรรมะ หรือกฎธรรมชาติอะไรอย่างนี้ ถ้าหากมันยังมีตัวกูของกู กูผิดกูถูก มึงผิดกันอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นสงครามตลอดกาล เป็นไอ้ความวิกฤติการณ์ ตลอดกาลนิรันดรไปเลย ดังนั้นถ้าสมัยไหนในโลกนี้ มันมีธรรมะเข้ามามาก มันก็ค่อยยังชั่ว สมัยไหนมันหันหลังให้ธรรมะ ไปบูชาวัตถุนิยม แล้วก็มัน มันก็ต้อง เดือดร้อน ยิ่งขึ้น ๆๆ เพราะมันจะเต็มไปด้วย คำว่า กูถูกมึงผิดเสมอ กูที่จะเอาของมึงแหละ เป็นฝ่ายถูก
เพราะว่าในโลกนี้ มันมีอำนาจเป็นธรรม ความรู้สึกที่เดือดพล่านไปอย่างโลก ๆ นั้น มันจะมี อำนาจเป็นธรรม มีความได้หรือของของตัวเองเป็นความถูก มีความได้ของตัวเอง ได้อะไรตามที่ตัวเอง ต้องการนี่แหละเป็นความถูก ฉันอดขึ้นมา ฉันก็ต้องไปปล้นแกมากิน นี่มันถูก มันถูกของฉันแล้ว อย่างนั้นมันถูกของตัวกู ดังนั้นก็เอาออก เอาตัวกูออกไปเสีย เอาตัวกูออกไปเสีย มีแต่ว่า มีแต่ว่าอะไรผิด อะไรถูก มันก็รู้ว่าไปปล้นเขานะมันผิด เว้ย, เพราะฉะนั้นยอมอดตาย ถ้ามันไม่มีทางหากินอย่างอื่นแล้ว ยอมอดตาย ไม่ไปปล้นเขา ไม่ไปแย่งเขา ไม่ไปบุกรุกดินแดนของเขา ไม่ไปหาเมืองขึ้น ด้วยวิธีอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่มีปัญหาที่จะรบราฆ่าฟันกัน ไม่ถือว่าอะไร แค่ถือแต่ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร ไม่ทะลุอำนาจแห่งกิเลสว่ากูถูกมึงผิด กูต้องได้อย่างใจกู มันก็ถูก ถ้าต่างฝ่ายต่างเสียอย่างนี้ มันก็ฆ่ากันไม่มีที่สิ้นสุด
เดี๋ยวนี้ไอ้ที่เรื่องรบกันอยู่นี้ ก็ไม่ไม่ใช่เห็นแก่ธรรมะ ไม่ใช่เห็นแก่พระเจ้า มันพูดแต่ปากเท่านั้น แหละ ที่ว่ารบเพื่อความเป็นธรรม ยุติธรรม เพื่อพระเจ้า เพื่ออะไรนี้ มันพูดแต่ปาก เพื่อประโยชน์ เพื่อป้องกันประโยชน์ เพื่อเอาประโยชน์มาเพิ่มหรืออะไรต่าง ๆ อย่างน้อยก็เพื่อรักษาประโยชน์ที่มีอยู่ อย่างนายทุนรบกับกรรมกรอย่างนี้ นายทุนก็มีหน้าที่ป้องกันประโยชน์ ที่ได้รวบรวมเอาไว้มากมาย กรรมการก็ต้องยื้อแย่งประโยชน์จากนายทุน เพราะว่าตัวไม่มีจะกินจะใช้ มันก็ถูกกันทั้ง ๒ ฝ่าย กูถูกมึงผิด ทั้ง ๒ ฝ่าย
ถ้าเราเอาเอาพระเจ้าเข้ามาตัดสิน พระเจ้าก็ตัดสินว่า นายทุนมีความผิด เพราะกอบโกยเอามาว่า เอามาไว้มากเกินจำเป็น เกินที่ธรรมชาติกำหนดไว้ นายทุนก็เป็นความผิด หรือมีความผิด แล้วนายทุนก็ เห็นว่า (นาทีที่ 31:45) อย่างนี้ คือ ความผิด ไม่ต้องพูดว่าเราผิดนะ เลิก ๆ คำว่า เราผิด เลิกว่าเรากอบโกย เอามา การที่นะ การที่ใครคนใดคนหนึ่ง กอบโกยเอาของธรรมชาติ มาไว้เกินที่ธรรมชาติกำหนด คนนี้ผิด ไอ้การกระทำอย่างนี้ผิด ไม่พูดว่าบุคคลนี้ผิด นี้กรรมการก็คิดว่า เอ้า, มันก็ต้องมีกรรม เป็นของตัว เราก็ต้อง ทำ ตามกำลังสติปัญญาด้วยกันทุกคน
เพราะฉะนั้นการที่ การที่ไม่ไปยื้อแย่งของใคร นั้นนะเป็นความถูก เป็นความถูก มันก็มีไอ้ความถูก ขึ้นมา มีความถูกความผิดขึ้นมาให้เห็นชัด มันก็เลือกเอาแต่ความถูก ไอ้ฝ่ายนายทุนก็เลือกเอาแต่ความถูก มันก็มีการผ่อนคลายเข้าหากัน คนคนหนึ่งไม่เอาไว้เกิน ธรรมชาติกำหนด มันก็รั่วไหลมาหาคนจน แต่นี้เขาทำทำนบกั้นเอาไว้ ไม่ให้รั่วไหลมาถึงคนจน เขามีอิทธิพลการเงิน มีอิทธิพลได้อำนาจ วาสนา อะไรต่าง ๆ เขากั้นผลประโยชน์เอาไว้ ด้วยทำนบสูง ได้ไม่ไหลมาหาคนจน คนจนก็ต้องการจะเจาะ พังทำนบ นี่ความที่ว่ามี ใครผิดใครถูก มีกูมีสู
นี้ถ้าว่าเห็นว่าการทำทำนบไว้ไม่ไม่ถูก เว้ย, ปล่อยมันรั่วออกไป อันนี้ก็จะมีโอกาสเงยหน้าอ้าปาก ก็ทำมาหากิน ตามที่ถูกที่ควร โลกมันก็สงบได้ เดี๋ยวนี้มันมีตัวกู ตัวสู คือ ตัวใครตัวมึง มือใครยาวก็สาวเอา ใครดีใครได้ มันก็เป็นอย่างนี้ไปหมด มันก็เป็นเรื่องสงบไม่ได้ มีสันติภาพไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะให้เรียน ให้พูด ให้แก้ไข กันอย่างไร จะตั้งองค์การโลกขึ้นกี่สักกี่ ๑๐๐ องค์การ มันก็แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ เพราะมันทำผิด โดยไม่ยอมรับว่าผิด กูถูกเสมอ ยิ่งมีปัญญาความรู้มาก แล้วยิ่ง เอ่อ, บิดพลิ้วเก่ง ยิ่งแก้ตัวเก่ง ยิ่งเอาเปรียบคนอื่นเก่ง
นี้เราพูดกันในข้อที่ว่า ความผิดความถูก กับใครผิดใครถูก นั้นมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หลักศาสนาทุกศาสนา ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสเตียน อิสลามก็ตาม ใจความสำคัญแท้ ๆ ไม่ใช่ฝอยนะ ใจความสำคัญแท้ ๆ ก็จะต้องเรื่องไม่เห็นแก่ตัว ต้องทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ไปดูเถอะ ไปค้นเถอะ ศาสนาอิสลามหน้า ตามคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม น่า น่าเลื่อมใสอยู่อย่างหนึ่ง ทุก ๆ บท มันจะลงท้ายด้วย เพื่อเห็นแก่พระเจ้า หรือว่าตามความประสงค์ของพระเจ้า แม้แต่เรื่องผัวเรื่องเมียจะนอนกันอย่างนี้ มันก็ยังมีบทบัญญัติ เพื่อลงท้ายตามคำสั่ง ของพระเจ้าผู้อย่างนั้นอย่างนี้ ก็แปลว่า เขาต้องการให้เห็นแก่ ธรรม แก่ธรรม แก่พระเจ้า แก่ที่ไม่ใช่ตัวกู นั่นแหละ
เอาละทีนี้เรามันมันผ่านไปได้แล้ว ในข้อที่ว่า หลักศาสนาทุกศาสนา สอนเรื่องทำลายตัวกูของกู ทำลายความรู้สึกว่า ตัวกูของกู ที่เห็นแก่ตัวนี่ ให้มี ให้ให้หมดไป ไม่มีความรู้สึกมั่นหมาย ว่าเป็นตัวกู เป็นของกู แล้วมันก็เหลืออยู่แต่ว่า อะไรผิดอะไรถูก ด้วยกันทุกศาสนา แล้วก็ปฏิบัติตามศาสนา ก็ปฏิบัติไป ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้เห็นแก่พระเจ้า เห็นแก่ธรรมะ เห็นแก่ความจริง เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ ธรรมชาติ เห็นแก่กฎของธรรมชาติ ตามคำสั่งพระเจ้า มันหมายความว่าอย่างนั้น อย่าเอาตามตัวเรา เอาตามพระเจ้า หมายความว่า เอาตามความจริงของธรรมชาติ ของพระเจ้า อ่า, ของธรรมะ ของที่เราเรา สมมุติ เรียกว่า พระเจ้า
เพราะฉะนั้นมันควรจะยุติ ได้ว่า ปัญหาทางศาสนาไม่มีเหลืออยู่ ที่จะขัดแย้งเรื่องนี้ สอนอย่างที่ เหมือนกันหมด นี่ก็เหลืออยู่แต่ว่า จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ก็คือ จะมีสติได้หรือไม่ได้ มีสติเพียงพอหรือไม่ เพียงพอ เพราะมันเผลออยู่เรื่อย พร้อมที่จะเผลออยู่เสมอ จึงเรียกว่า เผลออยู่เรื่อย ถ้าพูดอย่างไม่ไม่ ระมัดระวัง ก็พูดว่า เผลออยู่เรื่อย นี้ไม่ถูกนักหรอก พูดอย่างนี้ ต้องพูดว่า พร้อมที่จะเผลออยู่เรื่อยไป พร้อมที่จะเผลออยู่ทุกเวลา เพราะพอ พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราก็เผลอสติทุกทีไป อย่าพูดว่าเผลออยู่เสมอ มันเป็นไปไม่ได้ อะไรมันจะคงที่อย่างนั้นไม่ได้ แต่มันพร้อมที่จะเผลอ พร้อมที่จะโง่อยู่ อยู่เรื่อยไปแหละ พอเรื่องเกิดขึ้นมันก็โง่ หรือเผลอนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราอย่าเผลอ ต่อไอ้ความรู้ ที่เราเข้าใจแล้ว ที่เราคิดนึกทบทวน ศึกษา ใคร่ครวญเสร็จแล้วว่า อะไรผิดอะไรถูก อะไรผิดอะไรถูก นี่เราแจ่มแจ้งแล้ว แล้วก็อย่าเผลอสติ ต่อกฏเกณฑ์นี้ ควบคุมให้มันเป็นไปแต่ในทางถูก
ทีนี้มันตอบปัญหามันก็มีอยู่ว่า ทำทำได้อย่างไรโดยไม่ต้องเห็นแก่ตัว ทุกคนจะต้องพูดว่า ต้องเห็น แก่ตัวสิมันจึงทำอะไร ทีนี้มาพูดว่าทำโดยไม่เห็นแก่ตัว ก็ต้องย้อนกลับไปคิดอีกว่า ถ้าทำด้วยความเห็น แก่ตัว มันจะกูถูกเสมอ คนอื่นผิดเสมอให้รู้จักกลัวเสียบ้าง ถ้าทำไปด้วยความเห็นแก่ตัวแล้ว กูจะถูก คนอื่นจะผิดเสมอ เพราะฉะนั้นต้องทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัว และเห็นแก่พระเจ้า เห็นแก่ความจริง เห็นแก่ความงาม ความยุติธรรม ความถูกต้อง อะไรก็ตาม ทำด้วยเห็นแก่สิ่งนั้น แล้วใครเป็นผู้ทำ ถ้าถาม ว่าใครเป็นผู้ทำ มันก็จิตนั่นแหละ จิตนี่มันจะมีความรู้สึกได้เป็น ๒ แง่ สิ่งที่เรียกว่า จิตเป็นธรรมชาติ เป็นกลาง เป็นของธรรมชาติ แต่มันจะ เกิดความรู้สึก สำคัญมั่นหมาย ขึ้นได้เป็น ๒ แง่ คือ เพื่อตัวกู หรือว่าเพื่อความถูกต้อง เพื่อพระเจ้า เพื่อศาสนา เพื่อธรรมะ
เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีตัวกูที่ไหนก็ได้ คือ จิตนั่นแหละ ถ้ามันโง่ มันก็มีตัวกู เพื่อตัวกู เห็นแก่ตัวกู ขึ้นมา จิตนั้นนะ จิตเดียวนั้นแหละ พอมันฉลาด มันรู้จริง มันก็เอา เพื่อความจริง เพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรม เพื่อพระเจ้า เพื่อศาสนา มันก็จิตนี้แหละเป็นผู้ทำ ทำอะไรทุกอย่าง ที่ว่าทำด้วยจิตว่าง ก็คือ ทำด้วยจิตที่ไม่มีตัวกู แล้วก็เห็นแก่ความจริง ความถูกต้อง ความงาม ความยุติธรรม นี่ทำงานด้วย จิตว่าง จากตัวกู นี้คนมันโง่มากเกินไปว่า จิตว่าง นั้นคือ จิตที่ไม่มีความรู้สึกอะไร ตัวแข็งนอนเหมือน ท่อนไม้ แล้วจะทำอะไรได้ อย่างนี้มัน มันว่าเอาเอง เพราะไม่เข้าใจ
คำว่า จิตว่าง ในที่นี้คือ ว่างจากการกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกูของกู มันเป็น Concept เท่านั้นเอง ตัวกูของกูนี่ มันเป็น Concept ที่มันโง่ มันบ้า มันหลง มันอะไรขึ้นมา เห็นแก่ตัว อย่ามีอันนั้น เรียกว่า จิตว่าง ว่างจากตัวกู พอว่างจากตัวกู มันก็เป็นจิตที่เข้าใจ ความถูกต้อง ความผิด ความจริง ความไม่จริง อะไร กระทั่งเข้าใจพระเจ้า เข้าใจธรรมะ มันก็ทำไปตาม ระเบียบ ตามฝ่ายที่มันเป็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้นทำงานทุกชนิด ด้วยจิตว่าง มันไม่มีทางผิด มีแต่ถูก ๑๐๐% เสมอไป
เอ้า, ทีนี้ปัญหาถัดมาอีก มันมีอยู่ว่า เราเคยชินแต่ทำงาน หรือทำอะไรทุกอย่าง เพื่อตัวกู ตั้งแต่ เกิดมา จนถึงบัดนี้ จนถึงเวเว ชั่วโมงนี้ มันจริงถูกแล้วจริงแน่นอน อ่ะ, ทำอะไรแต่ความเห็นแก่ตัว เรื่อยมาทั้งนั้นแหละ เพื่อตัวกูเพื่อของกูเรื่อยมา นี่มาเปลี่ยนนิสัยความเคยชิน จากหน้าหน้ามือเป็นหลังมือ นี้มันก็ทำยาก นี่ก็ยอมรับ ดังนั้นปัญหามันก็มีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้นิสัย อันแสนจะฝังแน่นนี้ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ยอมรับ ว่าเรื่องนี้มันนานแล้ว มันฝังแน่นแล้ว มันก็ต้องใช้ไอ้ ไอ้สิ่งแก้ไขที่มัน ทัดเทียมกัน เพราะฉะนั้นจึง พูดถึงการ อบรมจิตนี้เสียใหม่ ในปริมาณที่เรียกว่า ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ ทำให้เคยชิน ให้เกิดน้ำหนัก เกิดสมรรถภาพ หรืออะไรก็ตามเท่า ๆ กัน โดยที่ว่าแม้จะใช้เวลาเล็กน้อยกว่า น้อยกว่า
เราเคยชินในความเห็นแก่ตัวมาอายุ ๓๐ ปีนี่ ถึงอายุ ๓๐ ปี แล้วจะมาแก้ ให้หมดนิสัยอันนี้ ภายใน ๒-๓ ปี ถ้าทำเป็นทำจริงมันก็ทำได้ การปฏิบัติ ไอ้เรื่องสติปัฏฐานหรือเรื่องอะไร ให้จริงเถอะ มันก็แก้ได้ ภายใน ๒-๓ ปี สำหรับความเคยชิน ที่ชินมาตั้ง ๓๐ ปี ดังนั้นบางคนอาจจะเป็นพระอรหันต์ได้ ในชั่วระยะ ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี นี่ถ้ามันไม่จริง มันก็กว่าจะตายมันก็แก้ไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ เปลี่ยนกลับเป็น ไอ้หน้ามือเป็น หลังมือไม่ได้
ดังนั้นจึงมีบทเรียนเพิ่มเติมเข้ามา เป็นของผนวกแฝงเข้ามาว่า ให้มีความรู้สึกคิดนึก ช่วยแวดล้อม เข้ามา อย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ความละอาย เป็นต้น ละอายว่าแหม ไอ้ที่เป็นมาแล้วนี่ มันน่าละอาย มันเลว มันต่ำ มันโง่ มันอะไรก็ละอาย นี้มันช่วยร่นเวลา ถ้ารู้สึกละอายมาก มันร่นเวลา ในการเปลี่ยนนิสัยได้มาก และรู้สึกมันน่ากลัว มันไอ้นี้เสียหายหมดเลย น่ากลัว มันก็ร่นเวลาเข้ามาได้ หิริและโอตตัปปะ นี้จึงเป็น เบื้องต้นของทั้งหมด และต้องเริ่มลงมือด้วยความมีหิริโอตตัปปะ ภาษาสมัยใหม่อาจจะรู้ อาจจะเรียกว่า ความเคารพตัวเอง หรือความผิด ชอบชั่วดี อะไรทำนองนี้ แต่ภาษาพุทธศาสนา ภาษาบาลี เรียกว่า หิริและโอตตัปปะ คือ ละอายในความผิดพลาด กลัวในความผิดพลาด หรือความไม่ควรทุกอย่างแหละ ดังนั้นต้องตั้งต้นด้วยอันนี้ก่อน มีความเป็นสุภาพบุรุษ คือ บูชาความดี ความถูกต้อง ความงาม ความจริง ความยุติธรรมก่อน มีความละอาย ความกลัว ในส่วนที่ผิด มันก็ขูดเกลาอย่างแรง ขูดเกลานิสัย สันดาน ที่เกรอะกรัง อยู่ด้วยความเห็นแก่ตัว มาแต่ก่อนนะ อย่างแรง
ทีนี้มันก็ไม่ยากนักที่จะทำต่อไป ในการเปลี่ยนนิสัยต่อไป คือ เป็นผู้บังคับตัวเอง มีความจริงใจ บังคับตัวเอง อดกลั้นอดทน ระบายไอ้ของกดดันนี้ออกอยู่เสมอ ที่เราเรียกกันว่า ฆราวาสธรรม นี่เขาเห็น เป็นเรื่องเล็กน้อยนี่ เห็นเป็นของฆราวาสธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นก็คือ คนที่ไม่รู้ค่าของธรรม ฆราวาสธรรม คือ สัจจะความจริงใจ ทมะการบังคับตัวเอง ขันติ ความอดกลั้นอดทน จาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในใจ ออกไปจากใจอยู่เสมอ
สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ท่องจำก็ง่าย ความจริงใจ การบังคับตัวเอง ความอดกลั้น อดทน สละสิ่งที่ ควรสละจากใจอยู่เสมอ นี่ทำเป็นปกติเถอะ มันจะเปลี่ยนจากนิสัย ที่มีความเห็นแก่ตัว เกรอะกรังอยู่ด้วย ตัวกูของกู มาเป็นนิสัยสันดานที่สะอาด ๆๆ ยิ่งขึ้น ๆ มันมีเห็น ความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีความเป็นตัวกู ของกูน้อยลง ๆ จนถึงวันหนึ่ง มันก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ไม่อาจจะเกิด แม้แต่มีอะไรมายั่ว มากระทบ หรือยั่วให้เกิด มันก็ไม่เกิด นี่เรียกว่า ถึงที่สุด ความเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์อะไรก็ตาม แต่เราอย่า ไปใฝ่ฝัน ถึงขนาดนั้น มันจะเป็นการเห่อไป
เอาเถอะ เท่าที่เราปฏิบัติได้เดี๋ยวนี้ จะไปถึงไหนก็ตามใจ จะเรียกว่าอะไรก็ตามใจ บังคับมันให้ได้ ในการที่จะไม่ เกิดตัวกูของกู ในทางที่จะสู้ว่าใครผิดใครถูก กูผิดกูถูกนี่นี่ต้องบังคับ แล้วให้เหลือเพียงแต่ว่า อะไรผิดอะไรถูก แล้วความละอายแก่ใจเองนี่ จะทำให้ถือเอาแต่ส่วนที่ถูก เพราะฉะนั้นยอมรับได้ ไม่เห็นว่า เสียหน้า ไม่รู้สึกว่าเสียหน้า เสียเกียรติ์อะไร เมื่อเราผิด ก็ว่าผิด หรือไม่เราจะไม่พูดอะไรเลยก็ได้ เราเอาแต่ว่า มันถูกแล้วเราก็ต้องทำ ไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก เดี๋ยวนี้มันต้องการแพ้ ต้องการชนะ ต้องการจะกดผู้อื่นจะยกตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องเลิกไปหมด เหลือแต่ว่า ใคร อย่างไรเรียกว่าผิด อย่างไรเรียกว่าถูก และต่างฝ่ายต่างทำเสียให้ถูก โว้ย, ก็หมดเรื่องกัน
อย่างประเพณีของชาวญี่ปุ่น เกิดละเมิดล่วงเกินอะไรกัน รถชนกันหรือทำอะไรกัน เขามีประเพณี ที่ให้ว่า ขอโทษ ๆๆ ทุกฝ่าย ทั้ง ๒ ฝ่ายขอโทษจนน้ำตาไหล แล้วก็แยกจากกันไป ไม่ต้องมีว่าใครผิดใครถูก อย่างนี้น่าดู อย่าไปคิดลงโทษผู้อื่น อย่าไปคิด ฟันต่อฟัน ตาต่อตา อะไรอย่างนั้น เท่ามาเท่าไป นั่นนะมันคือ คือ ไอ้การกระทำอย่าง ภูตผีปีศาจ ที่เขาเรียกว่า ซาตาน พญามาร อะไรอย่างนั้นนะ ไม่ยอม ๆๆ ก่อนนี่ ฟันต่อฟัน ตาต่อตา มันก็ชกกัน ฆ่ากัน ตีกัน อะไรกันยืดเยื้อ อย่างนั้นมันเป็นการกระทำอย่างมาร อย่างซาตาน อย่างภูตผีปีศาจ ไม่ใช่อย่างมนุษย์ด้วยซ้ำไป
ถ้าอย่างมนุษย์ไม่ต้องมี ว่าใครผิดใครถูก เพราะมันเกิดเรื่องนี้แล้ว ยอมผิดด้วยกัน ขอโทษ ๆๆ เสียใจ ๆ จนไม่รู้จะเสียใจอย่างไร จะขอโทษอย่างไร จึงค่อยแยกจากกันไป ก้มหัวแล้วก้มหัวอีก จับมือแล้ว จับมืออีก นั่นแหละ เพื่อไม่ต้องมีใครผิดใครถูก ทีนี้ต่างฝ่ายต่างก็ไประวังให้มันถูก ถือความผิดความถูก เป็น เป็นสำคัญ ไม่ถือว่าใครผิดใครถูกเป็นสำคัญ ถ้าเกิดไปถือว่าใครผิดใครถูก แล้วต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ทั้งนั้นแหละ ยอมกันไม่ได้หรอก ให้เถียงกัน ๒๐ ปี มันก็ยอมกันไม่ได้ อย่างรถชนกันนี่ ต้องต่างฝ่ายต่างมี เหตุผลว่า ใครผิดใครถูก ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นสรุปความแล้ว ก็อย่า คือ คือ ประสงค์จะให้ทุก ๆ คนนี่ มองเห็นว่าไอ้หลัก พุทธศาสนา เรื่องไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขานั่นนะ ถ้าจะเอามาปฏิบัติกันง่าย ๆ ในชีวิต ประจำวัน ตามบ้าน ตามเรือน ให้ได้ผลเต็มที่ก็ให้ถือหลักอันนี้ ถือหลักอย่ามีใครผิดใครถูก อย่ามีใครผิด ใครถูกมีแต่ว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วรีบทำเสียให้ถูก แล้วผัวเมียก็จะไม่ทะเลาะกัน เพื่อนบ้านก็จะไม่ ทะเลาะกัน อะไรก็จะไม่ไม่ทะเลาะกัน ไม่มีสงคราม ไม่มีมหาสงคราม เป็นธรรมะที่คุ้ม โลก คุ้มครองโลก เป็นประโยชน์ ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ เทวดาก็ไม่ต้องรบกับมนุษย์
พูดอย่างสมมุติ เดี๋ยวนี้ก็อย่างว่า นายทุนรบกับกรรมกร มันก็คล้าย ๆ กับเทวดารบกับมนุษย์ อสูรรบกับเทวดา ยืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุด บางคราวตกลงกันได้โดยธรรม ถือธรรม แต่พอวันไหนลูกหลาน มันเผลอขึ้นมาอีก มันก็รบกันอีก จนหายเงียบไปอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ในอินเดียเขามีเรื่องปรัมปรา ไมเทอริยี่ เมทเทอริยี่ (นาทีที่ 48:48) ไอ้เรื่องอสูรกับเทวดารบกันนี่ อย่างนี้ ที่บ้านนอกเรา นี่นี่เรื่องฝอยเบล็ดเตล็ดนะ มีหนังตะลุงหนังตะลุง ที่แสดงถูกต้อง ตามมาตรฐาน ตามแบบฉบับนั้นนะ พอแรกลงโรงแสดงนั้นนะ มันก็จะต้องมี ไอ้ตัวฤๅษีอยู่ตรงกลาง แล้ว ๒ ข้าง เป็นยักษ์ตัวหนึ่ง เป็นมนุษย์ตัวหนึ่ง สวยมาก มันต้องเริ่ม การแสดงด้วย ฤๅษีพูดข้างนี้ พูออะไรข้างนี้ที แล้วพูดอะไรข้างนี้ที แล้วไป ไอ้ ๒ ตัวนี้ก็รบกัน รบกัน ร่ายไปฝ่ายทางนี้ทีตัวนี้แพ้ เดี๋ยวกลับไปร่ายไปทางนี้ทีตัวนี้แพ้ อยู่อย่างนี้ สักพักหนึ่ง จนกว่าจะหมดเรื่อง และพรุ่งนี้มันก็เอาอีกนะ พรุ่งนี้แสดงอีกก็ต้องอย่างนี้อีก ขาดไม่ได้ จนไอ้ เป็นของ เป็นระเบียบ เป็นระเบียบตายตัว เป็นของศักดิ์สิทธิ์ จะต้องแสดงอย่างนี้
แต่เดี๋ยวนี้มันไม่แสดงแล้ว มันบ้ามันเห่อ มันเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่แล้ว ไอ้ ๒ ตัวนี้ก็ไม่มี บางทีฤๅษี ก็ไม่มี เอารูปบ้า ๆ บอ ๆ นุ่งกระโปรงใหม่ ๆ มาตั้งแทนนี่ก็มี นี่อย่าไปพูดถึงมันเลย มันมันบ้าถึงขนาดนั้น ตัวแบบฉบับโบราณ ดึกดำบรรพ์มาจนถึง มาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไอ้ยักษ์กับมนุษย์นี่ คือ ไอ้ฝ่ายผิดฝ่ายถูก ธรรมะ หรืออธรรมนี่ มันต้องรบกันเรื่อย ฤๅษี เป็นเหมือนกับ ตัวกลางที่จะปราม ห้ามปรามฝ่ายนี้ที ห้ามปราม ฝ่ายนี้ที มันก็ยัง รุ่งขึ้นมันก็เอากันอีก ฤๅษี มาพูดกับตัวนี้ที เอ้า, ตัวนี้ไปทางนี้ หันหน้าไปพูดกับตัวนี้ ตัวนี้ไปทางนี้ เลิกกันไปวันนี้ รุ่งขึ้นมันก็เอาอีก นี่ความผิดกับความถูก เออ, ธรรมะกับอธรรม มันจะต้องมี ฟัดเหวี่ยงกันอย่างนี้เรื่อยไป ถ้ามันยังมีใครผิดใครถูก จนกว่ามันจะไม่มีคน ไม่มีตัวกูของ อ่า, ไม่มีตัวกูตัวสู นั่นแหละ มันจึงจะหยุดรบกัน
นั้นเป็นคติที่ดีมาก ที่หนังตลุง เขาเริ่มแสดงด้วย ภาพนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ถ้ามนุษย์นึกถึงเสมอ ให้ระวัง ๆ การรบกันระหว่างธรรมและอธรรมนี้ ไม่สิ้นสุดอย่างนี้ เพราะมันดื้อ ๆ มันไม่เชื่อ ไอ้ผู้ที่บอก ฤๅษีเป็นผู้บอกนะ มันไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นมันจะมองในแง่ไหนก็ได้ มองกันว่าในโลกนี้ จะรบกันเรื่อยก็ได้ หรือจะมองให้ดีกว่านั้น ก็ถ้าเชื่อ มันก็เลิกรบกันได้ อย่ามีกูมีสู อย่ามีเรามีเขา อย่ามีมึงมีกู มีแต่ว่าต่างฝ่าย ต่างทำให้ถูก ตามความถูกที่มีอยู่อย่างไร โลกนี้ก็สบาย ทำให้ถูกไว้ให้หมดนะ เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว เรื่องบ้านเมือง ประเทศชาติ เรื่องโลก เรื่องอะไร ก็ทำให้มันถูกทั้งนั้น ไม่ต้องมีกูมีสู
เอามาพูดคล้ายกับเรื่อง เล่น ๆ ไม่สำคัญ แต่ขอยืนยันว่านี่คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา หัวใจของ ธรรมะ หัวใจของไอ้ทั้งหมด ของศาสนาทั้งหมด เพราะฉะนั้นฟังให้ดีดี ให้เข้าใจ แล้วเอาไปคิด ไปนึกดู ให้เข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป และในที่สุดอาจจะปฏิบัติได้ ในเรื่องว่า ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก อยู่เสมอไป หน้าที่ของ เรามีแต่เพียงว่า ทำหน้าที่ที่ถูก ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำเพื่อความถูก ไม่ใช่เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อแก้เก้อ ไม่ใช่เพื่อชนะใคร หรือไม่ใช่เพื่ออะไรทั้งหมด ทำความถูกก็เพื่อความถูก ไอ้ผลสนองอย่างอื่น มันมาเอง มาเอง มีกินมีใช้ มีความสบายนะ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นธรรมชาติไปอีกเหมือนกัน เป็นของ ธรรมชาติหมด ไม่ใช่ของกู กระทั่งบุตร ภรรยา สามี นี้ก็ไม่ใช่ของกู ของธรรมชาติที่มีอยู่เอาไว้ เพื่อถือเอา ประโยชน์ เพื่อความเป็นไปด้วยดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่เพื่อหลงใหล เพื่อหมกจม เพื่อติดตรังอะไรอย่างนี้ หรืออย่างดีที่สุด ก็เป็นคู่หู เป็นคู่ปรึกษาหารือ ที่จะเดินไปเร็ว ๆ ด้วยกัน คือ ช่วยกันทำความถูกให้มากขึ้น ด้วยกัน
เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น มีลูกของกู มีเมียของกู มีเงินของกูนี่ จนถูกลิงด่า ด้วยการล้างหูใส่หน้า เช่น ภาพเขียนที่ตรงนี้ ดังนั้นดูอะไรก็ดูให้ดี ดูให้เข้าใจ โดยเฉพาะที่บวชใหม่ที่เพิ่งมานี้ ระวัง ใช้เวลาให้ถูกต้อง ใช้เวลาให้มันสมกับค่า นี่ธรรมปาฏิโมกข์ ย้ำแล้วย้ำเล่า เรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู วันนี้เพื่อแสดงวิธีที่จะ ปฏิบัติกันอย่างง่ายที่สุด เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะว่า อย่าพยายามทำความรู้สึก หรือค้นหา อ่า, ใครผิดใครถูก ฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนถูก ไม่จำเป็น ค้นหาแต่เพียงว่า อย่างไรผิดอย่างไรถูก เราทำหน้าที่ของเรา แต่ในทางที่ถูก หมดเรื่องกัน เอาล่ะพอกันที