แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เออ, เรื่อง จุดตั้งต้นของความทุกข์นะ มันเป็นหัวข้อที่ใช้ได้เรื่อย มันต้องฟังให้ออกว่ามัน เราพูดเรื่อง จุดตั้งต้นของความทุกข์ด้วย เรื่อยไปนะ แต่ว่ามัน ชี้เฉพาะ ชี้เป็นแง่ ๆ ทีละแง่ ทีละแง่ รวมความแล้วมันก็เรื่อง ตัวกู เพราะอะไร ๆ มันเกี่ยวกับตัวกู ก็หมายความว่า เป็นเรื่องความทุกข์ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ไอ้เรื่องความเป็นธรรม ตามแบบของตัวกูนั้น มันก็พูดไปแล้ว ก็ชี้ให้เห็นว่า มันเป็น แขนงหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ของการที่ทำให้เกิดความทุกข์ แต่คำว่า ความเป็นธรรมนี้มันหมายถึง เรื่องเกี่ยวกับ บุรุษที่ ๒ หรือสังคม เรียกร้องความเป็นธรรม แล้วพูดว่าความดี ตามแบบของตัวกู มันไม่ต้องเนื่องกับ ผู้อื่นก็ได้ ทำไปคนเดียวก็ได้ ก็มีความทุกข์
ในเรื่องความดี ตามแบบของตัวกูนั่นแหละ มันคือ จุดตั้งต้นของความทุกข์ เพราะฉะนั้นเรา เรียกว่า ไอ้ความดีตามแบบของตัวกู นี่ท่องให้ชัดลงไปว่า ความดีตามแบบของตัวกู ถ้าพูดว่า ความดีเฉย ๆ มันกำกวม จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็ยังไม่แน่ แต่ถ้าพูดว่า ความดีตามแบบของตัวกูแล้ว เป็นอันว่าทุกข์แน่ แล้วพระพุทธเจ้าตามแบบของตัวกูก็เหมือนกันแหละ เป็นอันว่าใช้ไม่ได้แน่ พระพุทธเจ้าเฉย ๆ แล้วมันก็ ต้องแล้ว แต่ว่าจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ ถ้าพระพุทธเจ้าของตัวกู ตามแบบของตัวกู หมายความว่า ยึดถือ เสร็จแล้ว มันก็เป็นพระพุทธเจ้าชนิดภูเขาหิมาลัย เป็นอะไรไป เหมือนกับที่เคยพูดกัน ยุคหนึ่ง
ทีนี้อยากจะแนะในแง่ที่ว่า ถ้ามันมีตัวกูเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็แย่ ความดีของตัวกู พระพุทธเจ้าของ ตัวกู ความหลุดพ้นของตัวกูในที่สุด มันก็แย่ทั้งนั้นนะ คือ ว่ามีตัวกูขึ้นมาแล้วก็เป็นผิดหมด ดังนั้นไอ้การ ปฏิบัติชนิดไหนก็ตาม ที่ว่าลืมตัวกูเสียได้ อย่าให้มีตัวกูเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ก็เป็นถูกต้องหมด โดยเฉพาะการ ทำงาน ที่เราถือเป็นหลักว่า การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรมนั้น มันต้องปราศจากตัวกู ถ้ามีตัวกู ในการ ทำงานนั้น จะเป็นการปฏิบัติธรรมไม่ได้ ดังนั้นไอ้ความหมายมันมีจำกัด ก็ต้องมีคำจำกัดความไว้เรื่อยไป ให้ให้ผิดไม่ได้ อย่าให้ผิดได้ ที่ว่าการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม นี่หมายถึง การทำงานที่บริสุทธิ์ ที่ปราศจาก ตัวกู เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปฏิบัติกัน อย่างลัดที่สุด อีกทีหนึ่ง ก็คือว่า อย่ามีตัวกูนะ ก่อนนี้เรา เคยพูดว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือว่าอะไรก็ตาม เดี๋ยวนี้เราพูดว่า อย่ามีตัวกู ตลอดเวลา มันก็ได้
มันเป็น เป็นเรื่องที่เขามักจะถือเสียว่า สูงสุดปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติได้ จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต่อเมื่อเป็น พระอรหันต์แล้ว นี่มีปัญหาอย่างนี้ ที่เราบอกว่า ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ ก็พยายามปฏิบัติ มีคำว่า เราจะทำ ตามพระอรหันต์ อะระหะตัง อะนุกะโรมิ (นาทีที่ 05:02) อย่างนี้ เราจะทำตามพระอรหันต์ ไม่ใช่ว่าเราเป็น พระอรหันต์แล้ว พยายามทำตามพระอรหันต์ ก็คือว่า ทำอะไรโดยไม่ต้องมีตัวกู ให้หายใจเป็นผู้อื่นด้วย แล้วก็ เป็นถูกต้องหมดเลย คือ ให้หายใจเป็นประโยชน์ของผู้อื่นไว้ ก็หมายความว่า ไม่ทำลายประโยชน์ ผู้อื่น แล้วก็เพื่อผู้อื่น ให้หายใจให้เป็นประโยชน์ของผู้อื่นไว้ อย่ามีตัวเรา มันก็ไม่มีทางจะผิดนะ แล้วแล้วไปไกลลิบเลย เป็นชั้นสูงเลย
ทีนี้เราก็มีแต่จะเผลอ เผลอหายใจเป็นตัวเรา ไม่หายใจเป็นผู้อื่น ก็มีแต่เผลอเท่านั้น ก็ลองอย่าเผลอ มันไม่ใช่เพียงแต่เรื่อง ส่วนตัวบุคคล เดี๋ยวนี้ไอ้หมู่คณะ มันก็เป็นเรื่องตัวกูเสียหมด ผมกำลังมีปัญหามาก ที่จะต้องต่อต้าน แล้วก็โกรธ แค้น โกรธเคืองกันไป อย่างพุทธสมาคมนี่ ก็มีหลักเกณฑ์ของการทำงาน เพื่อพุทธสมาคม ไอ้พุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก ก็ทำอะไรแต่ในขอบเขตของ พุทธบริษัท มันก็เพื่อพวก พุทธบริษัท ล้วน ๆ เสีย ใจไม่กว้าง เป็นเป็นว่ามนุษย์ทั้งหมด ไอ้นี่มันผิด มันมันย้อมนิสัยให้เห็นตัวกู เป็นของกู เป็นพวกกูอยู่อยู่เรื่อย แม้ภายในพุทธกันเอง ภายในวงพุทธบริษัทกันเอง มันก็แบ่งเป็น สมาคม ๆๆ มันก็เพื่อ ตัวกู สมาคมของกูกันไปหมด
นี่ปัญหาส่วนใหญ่ก็มีอยู่อย่างนี้ พวกพุทธบริษัทที่เคร่ง หัวเก่า ๆ ลังกา พม่า นี่เขาก็ว่า พวกอื่น ผิดทั้งนั้น พวกคริสต์ พวกอิสลาม พวกศาสนาอื่นแล้วเป็นมิจฉาทิฐิทั้งนั้น เป็นข้าศึก เป็นศัตรูทั้งนั้น ถือเป็นศัตรูกันเลยนี่ นี่มันไม่คิดดูให้ดีมันเป็นผิด ความทำผิดอย่างยิ่ง เป็นตัวกูเป็นของกูอยู่เรื่อย มันไม่มี วันดีขึ้น กี่กี่ปี กี่ ๑๐ ปี กี่ ๑๐๐ ปีมันก็ไม่ดีขึ้น มันก็เพื่อดีของตัวกูเหมือนกัน เขาคิดว่าเพื่อตัวกูเจริญ เพื่อตัวกูดี ไอ้ความดีของตัวกู มันมีลักษณะอย่างนี้ นี่พระพุทธเจ้าท่าน ไม่พูดถึงตัวเรา พูดถึงโลก ทั้งหมด เลยนี่ ก็เพื่ออย่าให้มีตัวกู มัชฌิมนิกาย ภยเภรวสูตร ตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเกื้อกูล แก่โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์
ถ้าว่าแก่โลกทั้งเทวดาและมนุษย์ ตถาคตเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่โลกทั้งเทวดาและมนุษย์ แล้วก็มี อย่างหลายแห่ง อังคุตตรนิกายมี การที่มีธรรมะ คือ มีระเบียบการปฏิบัติธรรมะของตถาคต อยู่ในโลกนั้น คือ ความสุขของโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ถ้ามีศาสนาของตถาคตอยู่ในโลกนั้น เป็นความสุขของโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ถ้าพุทธศาสนามีอยู่ในโลก ก็เป็นความสุขของโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ดังนั้นคิดดู ให้ดี มันจะมีพุทธ มีคริสต์ได้อย่างไร หรือว่าจะแยกเป็นไอ้เทวดาพุทธ เทวดาคริสต์กันอีก เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ความคิดของพระพุทธเจ้า
ที่มหาวัคค์ในพระไตรปิฎก พอจะส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา ก็ว่า เธอจงถือเอาจารึกไปนี่ ประกาศพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขทั้งแก่ แก่โลกทั้งเทวดา และมนุษย์ อีก พอโลกก็หยอดท้าย ด้วยเทวดาและมนุษย์เสมอไป เข้าใจความหมายข้อนี้ให้ถูกต้องเสียก่อน ไอ้คำว่า โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั้งโลกเทวดา ทั้งโลกมนุษย์ ไม่ต้องยกเว้นใครสักตัวเดียว มันแม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานด้วย ถ้าทำได้ ถ้ามันเกี่ยวข้องกัน มันก็ต้องด้วย จึงจะเรียกว่า ทั้งโลกเทวดาและโลกมนุษย์
ทีนี้ทำไมเราไม่ ถือเป็นหลักสำคัญ ว่าพระพุทธเจ้าท่านสั่งหรือท่านต้องการนะ ท่านสั่งไว้เพื่อให้ ให้ทำเพื่อโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ เดี๋ยวนี้เรามันมากเกินไป เพื่อตัวกู เพื่อตัวกูอยู่เรื่อย อะไร ๆ ก็อย่างตัวกู เพื่อตัวกู แบบตัวกู ของตัวกูอยู่เรื่อย นี้อย่างดี ที่ว่าอย่างดีกันแล้ว ก็เพื่อของกู เพื่อพวกของกู เพื่อหมู่คณะ ของกู เพื่ออะไรของกู เพื่อนิกายของกู ก็เป็นเสียอย่างนี้ มันไม่เคยนึกถึงว่า ทั้งโลกทั้งเทวดา และมนุษย์ เสียเลย ดังนั้นถ้าว่า จะเอากันง่าย ๆ ที่สุด ก็มองให้เห็นในข้อนี้และตั้งจิตอธิษฐาน ว่าทำ ทไอะไรอยู่เวลานี้ ทุกวัน ๆ นี้ เพื่อโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์อยู่เรื่อย เช่น สมมุติว่าสร้างวัด วัดนี้หรือวัดไหนก็ตาม นี่ต้องเพื่อ ประโยชน์ แก่โลกทั้งเทวดาและมนุษย์อยู่เรื่อย อย่าเพื่อคนนั้นคนนี้ หรือเพื่อประเทศไทยก็ยังไม่ถูก ไม่ใช่เพื่อประเทศไทย เพื่อโลกทั้งเทวดาและมนุษย์อยู่เรื่อยไป
ดังนันถ้าแม่ครัวโง่ ๆ ที่สุดสักคนหนึ่ง ก้มหน้าก้มตา หลับหูหลับตาทำไป เลี้ยงพระไป โดยคิดว่า นี่กูทำเพื่อ โลกเป็นส่วนรวม อย่างนี้ยังดีกว่าพระเณร ที่มีสติปัญญา ความรู้มากมาย แล้วมีอะไรก็เพื่อตัวกู เพื่อของกู นี่ผม ผมจะพูดตรง ๆ อย่างนี้ ถ้าไม่มีแม่ครัวแก่ ๆ โง ่ๆ ไม่รู้หนังสือ ไม่มีสติปัญญา มีแต่ความ ต้องการนิดเดียวว่า ทำนี่เพื่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อโลกทั้งหลายทั้งปวง โดยคิดว่า ทำให้ศาสนามันมีอยู่ มันก็เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวงเอง อย่างนี้เราทำให้ศาสนามีอยู่ ไม่ใช่ทำเพื่ออาจารย์ ไม่ใช่ทำเพื่อวัดนี้ ไม่ใช่ทำเพื่ออะไรโดยเฉพาะ นั่นแหละถูกที่สุด และวิเศษที่สุด จะดีกว่าพระเณร หรืออะไรก็ตามที่มันรู้มาก พูดมาก พูดเก่ง ไอ้ อะไรเก่ง มันก็ไม่เคยฝันเลยว่า เพื่อโลกทั้งเทวดาและมนุษย์ มันควรจะลืม ตัวกู ลืมของกู เสีย แล้วมันก็จะเป็นไปเอง เป็นไปถูกต้องเอง
ทีนี้จะเรียนก็เรียนเพื่อตัวกู จะทำก็ทำเพื่อตัวกู เพื่อเป็นอะไรเป็นตัวกูขึ้นมา มันก็เลยแยก แตกแยก เพื่อหาโอกาสแก่ตัวกู ความรวมกันมีไม่ได้ ความสามัคคีที่แท้จริงมีไม่ได้ มีแต่เท่าที่จำเป็นบังคับ เพราะต่าง คนต่างแตกแยกออกไป เพื่อหาประโยชน์แก่ตัวกู มันก็เลย เดินไปไกล ไปในทางที่มีตัวกู ตัวกู ตัวกูออกไป เรื่อย เพราะฉะนั้นหลับหูหลับตา ไม่รู้ไม่ชี้ว่าอยู่ที่ไหนได้เป็นดี อย่างพระพุทธภาษิตที่เคยพูดถึงบ่อย ๆ นานมาแล้วก็ว่า ภิกษุโง่ พูดว่า กูจะอยู่จำพรรษาที่นี่สัก ๓ เดือน นั่นคือ ภิกษุพาลหรือภิกษุโง่ โดยคิดว่า กู กูจะอยู่ที่นี่ เท่านั้นเท่านี้ ถ้าภิกษุไม่โง่ ไม่เป็นพาล ก็ไม่มีความคิดว่า กูหรือกูอยู่ที่ไหน อะไรอย่างนี้ต้องการ
ไอ้เรื่องจำพรรษา มันเป็นเรื่องวินัย เขาก็ทำไปตามวินัย ให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อยทางหมู่คณะ ทางวินัย แต่ว่าถ้าทางธรรมะในจิตใจแล้ว ต้องไม่มีตัวกู อยู่จำพรรษาที่ไหนเลย จึงจะเรียกว่า ไม่เป็นพาล ไม่เป็นภิกษุโง่ อิธะ วัสสัง วัสสิ สามิ อิติ พาโล วิหัญญะติ (นาทีที่ 14:57) นั่นนะ คาถาธรรม บทบาลี ไปดูเอาเอง นี้ถ้าว่าทุกองค์ทำอะไรอยู่ หรือเรียนอะไรอยู่ นี่ต้องชำระให้มันสะอาด ว่าเพื่อโลกเทวดา และมนุษย์ จะเรียนหนังสือจีน หนังสือฝรั่ง หนังสือไทย เรียนอะไรก็ตาม ให้มันชำระจิตใจสะอาดว่า นี้มันต้องเพื่อโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อความดีเด่นของตัวกู
ทีนี้จะจะทำอะไร จะทำงานฝีมือชั้นดีหรือว่างานหยาบ งานกรรมกร งานกุลี งานอะไรก็ตาม มันก็ต้องชำระใจให้สะอาด เพราะว่า นี้มันเพื่อประโยชน์แก่โลก เทวดาและมนุษย์ กลับมาจากบิณฑบาต กวาดโรงฉัน นี่ก็ต้องเพื่อ โลก เทวดาและมนุษย์ อย่าว่าเพื่อ เขาจะนินทาหรือเพื่ออาจารย์จะชอบใจ นี่ก็ยัง ไม่ถูกทุกอย่าง ที่ทำลงไปในวัด ในศาสนา มันก็ต้องเพื่อส่วนหนึ่ง ที่ว่าศาสนามันจะอยู่ได้ แล้วจิตใจมันเป็น ไปเพื่อโลก ส่วนรวม ทั้งเทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนัั้นหัด หัดตั้งความคิด จิตใจ อธิษฐานจิตอะไรกัน เสียใหม่ ให้มันหายใจเป็นผู้อื่นทั้งเทวดาและมนุษย์อยู่เรื่อยไป ตัวกูตายแล้ว ตายแล้วตั้งแต่แรก นี่ก็มี เนื้อความชัดเจนอยู่แล้ว ในไอ้คำกลอนบทหนึ่ง ทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง กินอาหารของ ความว่าง ตายแล้วตั้งแต่ทีแรก นี่คุณอย่า มีความคิดน้อมมาเพื่อตัวกูแล้ว ก็ทำเพื่อผู้อื่น ทั้งเทวดา และมนุษย์นี่ มันเหมือนกับ อันนั้นนะ คือ ตายแล้วตั้งแต่ทีแรก ไม่มีฉันเพื่อเอาประโยชน์อันนี้
ทีนี้ที่ว่าไปบิณฑบาต ไปหาอาหารมาฉันนี้นะ ให้มันเหมือนกับว่า ละเมอ ๆ ไปก็แล้วกัน คือ ไม่มีตัวฉัน ให้มันเป็นละเมอ ๆ นี่หมายความว่า ไม่ใช่ว่าปราศจากสติสัมปชัญญะ คือ มันเป็นของร่างกาย ล้วน ๆ ไม่มีของกู ไม่มีตัวกู ก็ต้องกินอาหาร ต้องถ่ายอุจจาระ ต้องบริหารร่างกาย ต้องอะไรต่าง ๆ ให้มัน ทำไปตามสัญชาตญาณที่เคยชิน หรืออะไรก็ได้ โดยปราศจากตัวกู สติสัมปชัญญะมันก็มี เป็นส่วนของ ร่างกายไป ร่างกายกับจิตเป็นไปได้ แต่ว่าทิฐิความคิดเห็น สติปัญญานั้นไม่ไม่ต้องมีตัวกู ร่างกายกับจิตใจ มันก็ไปของมันได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องมีตัวกู ไม่ต้องมีของกูเข้ามาเจือ
นี่มันมีปัญหาที่ว่าเผลอ เผลอมีตัวกูขึ้นมาอีก จะเรียนหรือจะทำ หรือว่าจะแสดงบทบาทอะไร จะเทศน์ จะสอนผู้อื่น จะช่วยเหลือผู้อื่น ต้องลบตัวกูออก คล้าย ๆ กับเหลือ เป็นเครื่องจักรอะไรชนิดหนึ่ง เหมือนกับภาพเขียนชุดทางนี้พอหมดตัวตน หมดตัวกูเป็นวงว่างกลมแล้ว ก็โผล่ใหม่ก็เที่ยวแจกของ เที่ยวส่องตะเกียง ให้แก่ผู้อื่นอย่างนั้นนะ ไอ้เรื่องตัวก ูมันเป็นเรื่องต่อสู้ เรื่องจับวัว เรื่องขี่วัว เรื่องมี ความสุขจากวัวอะไร เสร็จแล้วมันก็ไม่ไหว วัวก็ทิ้งไป เสร็จแล้วก็ยังไม่ไหว ตัวกูก็ทิ้งไป เป็นวงกลม ว่าง แต่ว่าสิ่งต่าง ๆ ยังไม่สิ้นสุด เหตุปัจจัยยังไม่สิ้นสุด ยังงอกงามต่อไปก็ มันมาในรูปอื่น หรือว่าเป็นของ ผู้อื่นไป เที่ยวแจกของ เที่ยวส่องตะเกียงไปนี่
ทีนี้เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ เรายังไม่ไม่ปฏิญาณตัวว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าทำได้ ทำแบบนั้น เลยพยายามไม่มีตัวกูอยู่เรื่อย แจกของ ส่องตะเกียงผู้อื่นไปเรื่อย แล้วก็เผลอ เป็นคราว ๆ ที่มีตัวกู ทีนี้ก็ระวัง อย่าให้เผลอ ดังนั้นหน้าที่มันมีแต่เพียงว่า ระวังอย่าให้เผลอ แล้วก็กระทำอยู่ด้วยมือ ด้วยตีน ด้วยอะไรก็ ตามนี่ โดยอุทิศ สรรพสัตว์ เทวดาและมนุษย์ โดยอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า เมื่อศาสนายังอยู่ ประโยชน์ย่อมมีอยู่ แก่เทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราทำอะไร ก็เพื่อศาสนายังอยู่ แม้แต่ว่าจะกวาดโรงฉันตอนเช้า ๆ นี่ ก็เพื่อศาสนายังอยู่ คือ มันแบ่งงานกันทำเป็นส่วนน้อย ๆๆๆ ออกไป ไม่ต้องคุยถึงเรื่องที่มีฝีมือ มีอะไร ต่าง ๆ ถ้าว่าจิตใจมันทำเพื่อ เทวดาและมนุษย์แล้ว มันมันมีผลเท่ากันแหละ มันมีบุญเท่ากันแหละ อย่าอวดดีไป ไอ้คนที่มีสติปัญญา มีฝีไม้ลายมือก็อย่าอวดดีไป
เมื่อมันไม่เพื่อตัวกูหรืออะไรนั่น มันมีบุญ มีผลเท่ากัน แล้วไอ้คนที่มีฝีไม้ลายมือนะ ระวังให้ดีเถอะ มีสติปัญญานั้นนะ มันจะมีตัวกูมาก มีตัวกูจัด มีตัวกูเก่ง แล้วระวังยาก เผลอง่าย ไอ้คนพวกนี้ ไอ้คนที่มัน สมองมัน ไม่ปราดเปรื่องอย่างนั้นนะ มันทำง่าย มันหลับหู หลับตาทำไปก็ได้ โดยอธิษฐานจิตง่าย ๆ ว่าอันนี้ มันเพื่อ เพื่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนะ มันก็ง่ายกว่า เผลอ เผลอยากกว่าหรือไม่เผลอ ในกรณีอย่างนี้ นี่เรียกว่า ความดีของตัวกู ความดีตามแบบของตัวกู มันจะต้องนำมาซึ่งความทุกข์
ถ้าความดีจริง ความบริสุทธิ์จริง มันก็ต้องไม่ยึดถือ ไม่ใช่ความดีของตัวกู เพราะฉะนั้นความดี ของความดี อย่างนี้ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ ถ้าความดีของตัวกูก็ต้องนำมาซึ่งความทุกข์ ถ้าความดีตาม ธรรมชาติ ของธรรมะ ของความดีเอง ก็ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ ดังนั้นเราต้อง จำกัดลงไปให้ชัดว่า ของตัวกู ความดี ความจริง ความงาม ความถูกต้อง ความเป็นธรรม อะไรก็ตาม ของตัวกูแล้วมันใช้ไม่ได้ทั้งนั้นเลย นั่นคือ จุดตั้งต้นของความทุกข์ คือ อะไร ๆ ที่มีความหมายเป็น เพื่อตัวกูนั่นแหละ คือ จุดตั้งต้นของ ความทุกข์ แต่แล้วสิ่งที่มาก่อนก็ ต้องคือ ความดี เพราะความดีมันน่ารัก มันก็ถูกถูกแล้วอย่างที่คัมภีร์ ไบเบิ้ล ของพวกคริสเตียนเขาเขียนไว้ พอเริ่มรู้จักดีชั่วก็เริ่มรู้ เริ่มมีความทุกข์ ความทุกข์ตั้งต้นเมื่อ เริ่มรู้จักดีชั่ว คือ มันรู้เพื่อยึดถือเป็นตัวกูเป็นของกู ความดีของกูความชั่วของกู มันมีปัญหาเป็นความทุกข์ ขึ้นมา จนกว่าเมื่อไรจะรู้ว่า ความดีความชั่ว ไม่ใช่ของกู ไร้ค่า ไร้ความหมายไป นี่มันจึงจะไม่มีความทุกข์
เดี๋ยวนี้มันรู้จัก ว่าอันนี้ดีตามที่เขานิยมกัน เราก็ต้องมี เราก็ต้องพยายามมาให้ได้ มันก็มีปัญหา ขึ้นมา เกี่ยวพันกันยุ่งไปหมดนะ มันไม่ใช่ปัญหาที่จะเป็นของเดี่ยวได้ มันมันยุ่งหมด มันพันกันยุ่งหมด นับตั้งแต่ว่า ถ้าไม่มีความชั่ว ความดีมันก็ไม่มีความหมาย มันต้องมีความชั่วเป็นคู่แข่งขัน คู่เปรียบเทียบ อยู่ด้วย ความดีมันจึงจะมีความหมาย หรือมีค่าว่าเป็นความดี เพราะฉะนั้นเลยแยกกันไม่ออก ถ้ามีความดี ตามแบบนี้ แล้วก็ต้องมีความชั่วอยู่ด้วย เพื่อจะได้ว่าคนอื่นชั่ว ว่าตัวกูดี เพราะฉะนั้นมันจึงยึดถือทั้ง ความชั่ว และความดี
ทีนี้ก็มีปัญหาสิ จะต้องหา จะต้องสร้าง จะต้องแข่งขันกันสร้าง แล้วถ้ามันเลวมาก มันก็ทำทำลาย ความดีของผู้อื่น กีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้ดี มันก็มีปัญหาเป็น ขยายตัวไปมากยิ่งขึ้นทุกที เนื่องด้วยความดี นั่นแหละ ก็เลย มีแต่ความทุกข์ เพราะความดี ฆ่าตัวตายก็เพราะความดี นอนไม่หลับก็เพราะความดี อะไรก็หลายอย่าง หมายถึง ความดีตามแบบของตัวกู ความดีที่ยึดมั่นถือมั่น นี่คือ จุดตั้งต้นของความทุกข์ ของมนุษย์ ก่อนหน้านี้ไม่มี ไม่มีความทุกข์แบบนี้ ไอ้เรื่องจะต้องหา ต้องหาอาหารกิน ตามธรรมชาติ เจ็บไข้ตามธรรมชาตินั้น เขาไม่เรียกว่า ความทุกข์ในความหมายอันนี้ มันเป็นความเจ็บปวด เป็นความรู้สึก ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่น
เว้นไว้แต่ว่าสัตว์เหล่านั้น มันจะเจริญมากถึงขนาด รู้จักยึดมั่นถือมั่น ว่าความทุกข์ของกู ความตาย ของกู ความเจ็บไข้ของกู ความอยู่ของกูนั่นนะ มันจึงจะเป็นทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าอย่างสุนัขอย่างนี้ ไม่รู้หรอก ว่าความเจ็บไข้ของกู ความตายของกู อะไรก็ไม่รู้ มันรู้สึกแต่ว่าเจ็บหรือไม่เจ็บเท่านั้น หิวหรืออิ่ม มันรู้สึก เท่านั้น เพราะฉะนั้นมนุษย์ ชั้นแรก ๆ ก็ยังคล้ายสัตว์เดรัจฉานอยู่ เพราะยังไม่มีความทุกข์ จนกว่ามนุษย์ จะเจริญ ด้วยการศึกษา สติปัญญาอะไรพอสมควรจนรู้จักสมมุติ สมมุติว่านี่ดีนี่ชั่ว เกิดนิยมสมมุติขึ้นมา เป็นดีเป็น ชั่ว นี่ความทุกข์ตั้งต้นที่นี่ ถ้ายึดมั่นถือมั่นในเรื่องความดี
เพราะฉะนั้นมนุษย์ป่าเถื่อน สมัยโน้น สมัยก่อน มันก็ไม่มีความทุกข์ เรื่องชั่วเรื่องดี มันมีแต่ เรื่องหิวกับเรื่องอิ่มเท่านั้น ดังนั้นจุดตั้งต้นของความทุกข์ ก็คือ จุดตั้งต้นของความเจริญ ที่เขาเรียกกันว่า ความเจริญ ยิ่งเจริญมากก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะฉะนั้นได้ความดับทุกข์ มันอยู่นอกเหนือไปจากความชั่ว และความดี โลกุตระเหนือโลก หรือเหนือ ๆๆ ขึ้นจาก เหนือไปจากความดีความชั่ว เรียกว่า กรรมที่ ๓ คือ อริยมรรค เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดีและกรรมชั่ว ไอ้กรรมที่ ๓ คือ อริยมรรค ก็หมายความว่า มีสัมมาทิฐิ ความเข้าใจถูกต้อง ไม่มีตัวกู ของกู
สัมมาทิฐิข้อแรก คือ ไม่มีตัวกูของกู มันก็เหมือนอย่างว่า ทำไปก็แล้วกัน โดยไม่ต้องเพื่อตัวกู มองให้เห็นสักแว็บหนึ่ง ว่าไอ้ทำนี้ มันเพื่อศาสนา แล้วมันก็เป็นเพื่อโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้นว่า ความมีอยู่แห่งระเบียบ การปฏิบัติธรรมของตถาคต มีอยู่นั้น เพื่อความสุขของโลก ถ้าใช้ว่า คือ เฉย ๆ ก็ได้ การมีอยู่แห่งธรรมะและศาสนา นี่คือ ความสุขของโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ มันสั้นดี การมีอยู่แห่งศาสนา คือ ความสุขของโลก ความปลอดภัยของโลก
คิดให้เห็นข้อนี้เสียก่อน แล้วก็หลับหูหลับตาทำไปตามถนัด ตามสะดวก ตามสบาย แล้วก็ไม่ต้อง ใครดีกว่าใคร แม้แต่คนกวาดโรงฉัน ก็ต้องตีราคาของเขาเท่าไหร่ คนที่มีวิชาความรู้เป็น มหาเปรียญ เป็นอะไร ก็ตามใจ ที่ว่ามีสติปัญญา เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ มันก็ทำเพื่ออยู่แห่ง ศาสนา ทำเพื่อความมีอยู่ แห่งศาสนา และศาสนานั่นต่างหาก มันเป็นประโยชน์แก่โลก เหมือนกับช่วยกันเลี้ยงแมวไว้ก็แล้วกันนะ มันก็ หนูก็ไม่มีเองอย่างนี้ เราจะไปจับหนูเอง เพราะว่าเราไม่สามารถจะทำได้ สติปัญญาอย่างเรา ๆ นะมัน ช่วยโลกไม่ได้ แต่เรามีความสามารถ ในการที่จะช่วยให้ศาสนา ที่ช่วยโลกได้ ให้มันอยู่ในโลก สมมุติว่า แมวมันจับหนูได้ เราจับไม่ได้ ก็เราช่วยให้มันมีแมวก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นให้มันกินอาหาร หรืออย่าให้ มันเจ็บไข้ตายเสียหมด หรือให้มันมีอยู่ก็แล้วกัน มันง่ายดี ไม่ต้องเป็นโรคเป็นประสาท
พวกฝรั่งบ้ามากกว่าพวกเราอีก มันอยากจะเรียนไม่มีที่สิ้นสุด จะเรียนทุกภาษา เรียนทุกนิกาย เรียนทุกอะไร มันก็อย่างนั้นแหละ คอยดูไปมันก็ทำให้โลกนี้ ให้มีสันติภาพไม่ได้ แต่ว่าถ้ามันอาจจะเรียน ได้ตามสะดวก ไม่มีความลำบากยุ่งยากมากนัก ก็เรียน ๆ ไป และความคิดที่ว่า มันจะเพื่อประโยชน์แก่โลก ก็ดีเหมือนกัน แต่กลัวว่าไอ้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งชนิดนี้ นี่มันจะติดกับ ติดบ่วง ติดแร้ว เอาโดยไม่ทันรู้สึกตัว มีความเย่อหยิ่ง จองหอง เป็นประจำอยู่ แล้วก็มีไอ้ เกียรต์ิ มีชื่อเสียง มีอะไรเป็นเครื่องดึงอยู่ ลดไม่ลง เพราะฉะนั้นพวกยกหูชูหาง ก็คือ พวกนี้ พวกที่มีอะไร มากกว่าคนอื่น ตามสติปัญญา เฉลียวฉลาด มันมีหางมากเข้า ก็มันก็ยกมาก ไอ้คนที่ไม่มีหาง มันก็ไม่รู้จะยกอะไร มันมีน้อยมันก็ยกยกน้อย ให้มันลืม เสียเลยจะดีกว่า ลืมตัวกูเสียเลย ก็ไม่ต้องมีอะไรยก นี่มันเป็นจุดตั้งต้นของความทุกข์อย่างนี้
ทีนี้การปฏิบัติ จะทำอย่างค่อยทำค่อยไปนี้ มันจะตายเสียก่อน การปฏิบัติอย่างค่อยทำค่อยไป มันจะตายเสียก่อน ผมจึง ถูกด่าถูกหา ถูกอะไรโดยคนทั่วไป ผู้หลักผู้ใหญ่อะไรว่า สอนนอกเรื่องนอกแบบ เอาเรื่องโลกุตระ พ้นโลกเหนือโลก มาสอนประชาชน อย่างที่คุณคึกฤทธิ์เขาค้านอยู่เสมอ เขาเยาะ เขาด่า อยู่เสมอ ว่าเอาเรื่องโลกุตระมาสอนประชาชน นี่ไม่ใช่แต่คุณคึกฤทธิ์หรอก พระเถระผู้ใหญ่ หรือพระสังฆราช วัดเบญจฯ ก็เคยดุผมอย่างมาก เรื่องเอาไอ้ธรรมะเรื่องหลุดพ้นมาสอนประชาชน นี่หลายปีมาแล้ว ไอ้เราก็ไม่ใช่คนดื้อดึง ใครพูดว่าอะไร เราฟังอย่างดี ฟังอย่างดีว่า เขาพูดนั้นถูกหรือไม่ถูก จริงหรือไม่จริง มันก็ มันก็ไม่เห็นว่า ยังถูกอยู่ เห็นว่าไอ้ทำอย่างนี้ มันยังถูกอยู่ ดังนั้นจึงยังทำต่อไป ใครจะว่ายังไง จะด่ายังไง ก็ไม่ไม่ไม่สนใจ
นี่มันเป็นการรวบรัดการปฏิบัติให้เร็วเข้า พยายามอย่า ๆๆ ทำอะไร ให้มันมากเรื่องเลย ถือหลักว่า เป็นอยู่ด้วยความว่าง ทำงานด้วยจิตว่าง กินอาหารของความว่าง เป็นอยู่เหมือนตายแล้วนี่ กระโดดมา ทีเดียวอย่างนี้เลย แล้วขอให้เป็นอยู่อย่างนี้ อยู่เรื่อยไป ผลสุดท้ายมันจะเหลือแต่ว่า เหมือนที่พูดเมื่อ ก่อนหน้านี้ ให้เหลือประโยคเดียวว่า มันทำไปเพื่อ โลกทั้งเทวดาและมนุษย์นี่ นี่มันเหลือว่า ทำเพื่อผู้อื่น ทำทุกอย่างเพื่อผู้อื่น เรื่องอื่นมันคิดตกหมดแล้ว ปัญหาอย่างอื่นมันตอบตอบได้หมดแล้ว คิดตกหมดแล้ว ว่าทำไมในจุดที่ว่าทำไปนี่ ทำไปทำเพื่อผู้อื่น อย่างนี้ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่ลัดที่สุด ที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุด
แต่ว่าทำเพื่อผู้อื่นนี่ ของเรานี่มีความหมาย ที่เราพูดกันนี่มีความหมายมากกว่าที่คนอื่นพูด ที่คนอื่นเขาพูดก็มีเยอะแยะไป ทำเพื่อผู้อื่นนะ เป็นเรื่องศีลธรรมเด็ก ๆ เด็กอมมือ ทำเพื่อผู้อื่น ลูกเสือก็มี แต่ไอ้เราทำเพื่อผู้อื่นนี่ เราทำอย่างเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า เพื่อโลก คือ ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเรา ไอ้ศีลธรรมเด็กอมมือนั่น มันก็มีตัวกู กูทำเพื่อผู้อื่น จะได้อยู่เป็นสุขด้วยกัน หรือว่าเขาจะขอบใจเรา หรือว่า เราจะมีเกียรติ์ ทำเพื่อผู้อื่นของเด็ก ๆ แต่ทำเพื่อผู้อื่นของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นั้น ก็คือว่า มันไม่มี ตัวเรา ไม่มีตัวกู แล้วจะทำเพื่อตัวกูได้อย่างไร มันทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวกู ดังนั้นมันไม่มีตัวเรา มันก็ทำ เพื่อผู้อื่นเสียเรื่อยไปเลย กระดิกอะไร ก็ไปที่ไหน มันก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นไปเสียเรื่อยเลย
ทีนี้ก็เรียกว่า นี่คือ การปฏิบัติธรรม ที่แท้จริงที่สูงสุด จนเกินกว่าที่จะเรียกว่า วิปัสสนา หรืออะไร อะไรเสียอีก เพราะว่าคำว่า วิปัสสนา เดี๋ยวนี้มันแย่เต็มทีแล้ว เหมือนที่ผมเคยเล่าว่า ผม ผมก็เคยถูกถาม ไปที่ไหน ก็มักจะเคยถูกถาม ว่าที่สวนโมกข์นะทำวิปัสสนาไหม นี่คุณคิดดูผมจะตอบว่ายังไง เขาถามว่า ที่สวนโมกข์ทำวิปัสสนากันหรือเปล่า นี่มีคนกล้าถามถึงอย่างนี้ ถ้ามันเป็นวิปัสสนาตามแบบที่ผู้ถามว่า แล้วเราไม่มี เราไม่ทำด้วย แล้วไม่อยากจะทำด้วย นี่วิปัสสนาตามความหมาย ที่ผู้ถามเขาถามนั่นนะ เราไม่อยากจะมี ไม่อยากจะทำ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ อย่างที่ผมว่าที่ที่จะเป็นวิปัสสนา หรือยิ่งไปเสียกว่า วิปัสสนานี่ มันเป็นการทำในขั้นผล ของวิปัสสนาเสียอีกนี่
นี่เรามี แต่เขาไม่เรียกว่า วิปัสสนา ไอ้ผู้ถามนั่นมันไม่เรียกว่า วิปัสสนา เพราะว่าวิปัสสนามัน เขาเข้าใจเป็นอย่างอื่น ต้องตั้งต้นตั้งแต่พิธีขึ้นครู ขึ้นครูบาอาจารย์ มีระเบียบพิธีต่าง ๆ ท่าทางต่าง ๆ เดินจงกลม ยุบหนอพองหนอ อะไรก็ตาม มันมามากมายก่ายกอง เป็นระเบียบ เป็นไอ้แบบที่ผู้อื่นเห็นได้ เข้าใจได้ เห็นได้ อย่างนี้ก็ได้ ใคร ๆจะทำก็ได้ มันก็เป็นวิปัสสนา แล้วก็ตามแบบนั้น วิปัสสนาตามแบบนั้น แล้วก็เลยเป็นแบบของตัวกูเสียด้วยซ้ำไป คือ วิปัสสนาอวดคน วิปัสสนา ทำให้คนเห็นนะ ก็คือ วิปัสสนา ของตัวกู มันก็จะแย่ไปเหมือนกัน
นี่อาจารย์วิปัสสนาเหล่านี้ยังยังโง่มาก คือจะทำวิปัสสนาหรือสอนวิปัสสนาให้ผู้อื่น เห็นนี่มันเพิ่ม ตัวกูของกู ตายโหงเลย มันยังไม่รู้ พระเยซูพูดอะไรดี ๆ หลาย ๆ อย่างว่า ปฏิบัติอะไรนี้อย่าให้คนเห็น ปฏิบัติอะไรอย่าให้คนเห็น อย่าให้เขารู้ว่า ปฏิบัติ พอถึงวันพระ วันซับบาธนี่ แต่งตัวสวย กินอาหารเย็น ไม่ให้ใครมันรู้ว่า เราถืออุโบสถ แต่ในใจ มันมี มันมียิ่งกว่าวันอื่น หรือคล้าย ๆ กับว่า ทำดีอย่าให้ใครอื่น อย่าให้คนเห็นนั้นนะ ทำความดีอย่าให้ใครเห็น มันปลอดภัยกว่า เพราะว่าเรามันยังเลวนัก ทำความดี อยากให้คนอื่นเห็น ให้เขาชม เรามันยังเลวนัก เรามันยังอยากอย่างนั้นอยู่นัก เพราะฉะนั้นหัดทำอย่าให้ คนอื่นเห็น หรือว่าทุก ๆ อย่าง ป้องกันไม่ไม่สนใจเรื่องคนติ หรือคนชม
ผมไม่ใช่อวดดีนักนะ ไอ้เรื่องนี้ผม ผมได้ ได้คติ ได้คติมาจากสวามี สัตยานันทบุรี คนนี้ตายแล้ว เมื่อก่อนนี้มีชื่อเสียง มาอยู่ในกรุงเทพฯ ที่บางลำพู คือ สวามี สัตยานันทบุรี เขาเขียนหนังสือเรื่องหนึ่ง ออกมา คือ โยคะนี่ ปรัชญาโยคะนี่ ผมก็เขียนวิจารณ์ ลงในหนังสือรายภาคฉบับหนึ่ง ไม่ใช่ประจบสวามี กว่าที่จริง แต่ว่ามันเหมือนเหมือนกับประจบสวามี คือว่า การที่ทำให้หนังสือโยคะมีขึ้นในประเทศไทยนี้ มันมีประโยชน์ แก่ประเทศไทยมาก โดยเฉพาะพวกภิกษุสามเณร ที่อยากจะปฏิบัติกรรมฐานนี่ แล้วเขียน อย่างอื่นอีกมาก นั้นเป็นการเชียร์มาก สวามี
ทีนี้มีคน ไปบอกสวามีต่อหน้าผม ผมนั่งอยู่ด้วย ว่าท่านท่านมหานี่ ผมยังเป็นมหาอยู่นะ เขียน วิจารณ์หนังสือโยคะของท่านอาจารย์ดีมาก ท่านสวามีว่า ไม่เห็น ไม่อ่าน ไม่ไม่เคยอ่าน หรือไม่ก็ไม่ ๆๆ คือ ไม่รู้ไม่ชี้ ที่จะอ่านคำวิจารณ์ต่าง ๆ นี่เราก็นึกได้ว่า ไอ้นี่มันดี ไอ้นี่มันดี ไอ้การที่เราจะไม่รู้ไม่ชี้เรื่อง ใครว่าเราดีนั่นนะ มันดี คนโดยมากพอเขียนอะไร ทำอะไรลงไป คอยฟังทีเดียว ฟังคำวิจารณ์ของคนอื่น ว่าเขาจะยอหรือไม่ยอ มันอยากดี แล้วอีกทีมันก็ขี้ขลาด มันกลัวไอ้ที่มันเขียนไปแล้ว เขาจะคัดค้าน หรือตำหนิ นี่มันขี้ขลาด ส่วนหนึ่งมันขี้ขลาด มันกลัว มันก็เลยต้องคอยดูว่าใครจะเขียนวิจารณ์ว่ายังไง
ทีนี้ส่วนหนึ่งมันอยากดีอยากได้หน้า มันก็คอยอ่าน แต่คำวิจารณ์ ว่าใครเขาจะยอเราว่าอย่างไร ถ้าขืนทำอยู่อย่างนี้แล้วแย่เลย มันก็จะต้อง ฟุ้งซ่านหมด จิตใจจะฟุ้งซ่านหมด ไอ้ทางหนึ่งมันกลัว กลัวผิด ทางหนึ่งมันอยากจะดี ให้เขายกยอ มันก็ฟุ้งซ่านหมด มันก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นเราไม่อยากรู้ ในเรื่องที่ว่า เขาจะคัดค้านหรือว่าเขาจะเยินยอ ไม่เป็นห่วงมัน เอาจิตใจไว้ ทำเรื่องอื่น ไว้เขียนเรื่องอื่นต่อไปดีกว่า แล้วมันก็ยังเป็นเครื่องช่วยได้ดีมาก ที่จะไม่ให้เข้าไปยุ่งกับไอ้ความดี ความมีชื่อเสียงหรือความดีนั่นนะ
ส่วนข้อที่ว่า ทำอย่างไร จะรู้ว่าที่เราเขียนไปนั้นถูกหรือผิด นั้นไม่เป็นไร ทีหลังมันรู้ได้ ทีหลังเรา ก็รู้เองได้ นานหน่อยก็รู้เองได้ คือว่า เราฟัง ทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ ไม่ต้องจริงจังอะไรก็รู้ได้ แล้วไอ้ที่เราจะรู้ ว่าที่เราเขียน ไปนั้นถูกหรือผิดนะ ไม่มีประโยชน์อะไรนัก ที่จะไปฟังจากคำวิจารณ์ของพวกนั้น มีแต่ทำให้ เคลิ้มมากกว่า ค่อย ๆ อ่าน ๆ ฟัง อ่านทั่วไป ต่อไปอีก ศึกษาต่อไป เรียกว่า ศึกษาต่อไป จากที่มาทุก ๆ แห่ง ไม่เท่าไหร่เราก็รู้ ว่าที่เราเขียนนั่นนะถูกหรือผิด ไม่ต้องอาศัยคำวิจารณ์ของคนนั้นคนนี้
ผมก็เลยปฏิบัติอย่างสวามี มานานเต็มทีแล้ว เรื่องที่ว่าจะไม่สนใจกับคำวิจารณ์ คำวิพากษ์วิจารณ์ นี่เห็นคนโดยมากพอเขียนอะไรลงไปสักนิด แล้วก็หูผึ่ง คอยค้นหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น หนังสือพิมพ์ ฉบับโน้น ว่ามันจะวิจารณ์กูว่าอย่างไร นี่มันมีเสียอย่างนี้ ทางหนึ่งมันกลัว ทางหนึ่งมันอยากให้เขาชม เพราะฉะนั้นเราอย่าไปสนใจ กับไอ้เรื่องว่าดีแล้ว หรือไม่ดีอันนี้ อย่าไปสนใจในทำนอง ให้มันเกิดกลัว หรือให้มันเกิดเหลิงขึ้นมา ก็ว่าไม่มีตัวกูแล้วจะเอาดีให้ใครล่ะ คือ คิดว่าเราไม่มีตัวกูไม่มีตัวเราแล้ว จะเอาดีให้ใคร มันก็ไม่ต้องเกี่ยวยุ่ง ยุ่งเกี่ยวกับไอ้เรื่องดี เรื่องอะไรทำนองนี้ ตั้งใจจะทำให้มันมีประโยชน์ แก่โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์เรื่อยไป
งานมันมีให้เลือก ไม่รู้กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่าง ตามถนัดมือของเรา นี่เรียกว่า มีลมหายใจ คือ มีชีวิต อยู่วันหนึ่ง ๆ ด้วย การเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์แก่โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ตามสมควรแก่สติปัญญา สามารถของตน ของตน แล้วก็สบายเลย มันจะเป็นการทำงาน ที่เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มันเป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้ ที่จริง ที่ถูกไปหมด แล้วยังเหมือนกับนอนหลับอยู่นั้นด้วย พูดอย่างนี้เข้าใจไหม ไอ้คนทำงานแล้วเหนื่อย แล้วปวดหัว แล้วปวดประสาทนั่นนะ เพราะว่ามันทำเพื่อ ตัวกู ผมล้อ คุณโพธิ์ แต่ละครั้ง ๆ แล้วก็น่าหัวเราะ คุณโพธิ์นี่นะตัวร้ายนะ ตาแบร้ง ประสาทตึงเครียด แกทำอะไร มันทำด้วยความหวัง ด้วยความอะไรมาก เรียนบาลีไม่กี่เดือนจะเป็นบ้า นี่เพราะมันทำไปด้วย ตัวกู
จนคนอื่น ๆ ก็มี ไม่ใช่แค่คุณโพธิ์ ไอ้ทำอย่างนั้นไอ้การงานนั้นหรือไอ้การเรียนนั้น ไม่ใช่การ ปฏิบัติธรรม มันทำอะไรก็ได้ เรียนอะไรก็ได้ ด้วยจิตใจอย่างที่ว่า นี่เป็นการปฏิบัติธรรมด้วย และเป็นการ เหมือนกับหลับ คือ พักผ่อนอยู่ในการงานนั้นด้วย คือ มันอิ่ม มันจะมีความอิ่มใจอยู่ในการงานนั้น มันเหมือนกับพักผ่อนหรือหลับ ทั้ง ๆ ที่นั่งเขียนภาพ เขียนหนังสือ เขียนไอ้ ทำการงานอะไรอยู่ ถ้าทำงานด้วยความสนุก พอใจ เพราะไม่มีตัวกูของกู แล้วมันก็เหมือนกับหลับ อยู่ในนั้นด้วย หลับอยู่ ในงานนั้นด้วย คือ พักผ่อน พักผ่อนอย่างยิ่ง
เดี๋ยวนี้มันทำด้วยความเครียดไปหมด เครียดก็เครียดเพื่อตัวกู เพื่อจะดีจะเด่น จะได้อย่างนั้น จะได้อย่างนี้ ดุคนนั้นด่าคนนี้ ตะเพิดคนนั้นตะเพิดคนนี้ไป ถ้าทำหลายคนนะ ถ้าทำคนเดียวมันก็หงุดหงิด งุ่นง่านอยู่ในใจ ไม่มีการพักผ่อน เพราะฉะนั้นจงทำงาน ชนิดที่มันเหมือนกับหลับไปด้วยในตัว คือ พักผ่อนอยู่ในตัว นั่นแหละเป็นงานที่เรียกว่า คือ การปฏิบัติธรรม ไอ้การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม ที่ว่ายิ่งกว่าการปฏิบัติ ธรรม คือ การหลับไปด้วย มันก็สบาย คนนั้นจะสบาย จะไม่มีโรคเส้นประสาท รบกวน จะไม่มี อะไรที่เป็นปัญหายุ่งยาก ทางจิตทางวิญญาณ กระทั่งทางสังคมก็ไม่มี มันดุใครไม่ได้ มันด่าใครไม่ได้ มันตะเพิดใครไม่ได้ มันแกล้งใครก็ไม่ได้ ก็เรียกว่า มันเรียบ ไปหมด เป็นสันติไปหมด ทั้งโดยส่วนตัว โดยส่วนรวม โดยอะไร
แล้วงานนี้มันก็เป็นไปเอง ทั้งประโยชน์แก่โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ งานนี้มันเป็นงานใหญ่เต็มไป ทั้งโลก ไอ้งานที่จะเป็นประโยชน์แก่โลก มันก็มันใหญ่เท่าโลกแหละ มันเต็มไปทั้งโลก เราก็ทำส่วนของเรา ส่วนที่เราจะต้องทำ ควรจะทำน้อย ๆๆๆ แต่แล้วมันก็ไปอยู่ในชุดที่ ว่าเป็นประโยชน์แก่โลก พระพุทธเจ้า ก็ว่า ให้ไป ให้ไป ให้ไป นี่ก็หมายความว่า ให้ทำประโยชน์แก่โลก ให้หยุดก็คือ ขี้เกียจหรือนอนเสีย หรืออะไรเสีย ให้ลุกขึ้นทำประโยชน์ สุขเกื้อกูลแก่โลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ประโยชน์นี้มันก็หมายถึง ไอ้ความหลุดพ้น เรื่องเหนือโลก ถ้าไม่ต้องการเรื่องเหนือโลกก็ไม่ต้องมีพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อ ผู้ทักท้วงว่า อย่าเอาเรื่องโลกุตระมาสอนชาวบ้าน เราก็สอนเรื่องสุญตา เรื่องอนัตตา อยู่เรื่อยแก่ชาวบ้าน เพราะมันเป็นไอ้เรื่องที่จำเป็น แก่มนุษย์ ในฐานะที่มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ ยังไม่มี เรื่องมนุษย์ยังไม่รู้ เรื่องนี้มนุษย์ยังไม่รู้ ยังไม่มี เพราะฉะนั้นเราต้องให้ ไอ้ส่วนที่เป็นเรื่องของชาวบ้าน เรื่องโลก ๆ เรื่องเขารู้ เขามีแล้วก็ไม่ต้อง ไปทำ
ทีนี้ถ้าว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เราก็เอาไปให้ในฐานะที่ว่าเขาทำอย่างโลก ๆ อย่าได้เป็นทุกข์ เขาจะได้ทำการงาน ตามประสาชาวโลก โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่เอาธรรมะเหนือโลกไปให้เขา เพื่อว่าเขา จะทำงานอย่างโลก ๆ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเขาไม่มีความรู้อันนี้ เขาก็จะเป็นทุกข์ ในหน้าที่การงาน จะเป็นโรคเส้นประสาท แล้วมันก็จะเป็นบ้าและตาย เดี๋ยวนี้มันดีอยู่ที่ว่า ในประเทศไทย หรือประเทศ อย่างประเทศไทยนี่ วัฒนธรรมมันแน่นแฟ้น แล้วมันเนื่องมาแต่ศาสนาก่อนแล้ว ดังนั้นชาวบ้านเขารู้ ธรรมะโลกุตระอยู่ โดยไม่รู้สึกตัวแล้ว มันอยู่ในวัฒนธรรม ชาวบ้านเขาพูดพลั้งออกมาโดย ไม่รู้ตัวก็ได้ เรื่องเกี่ยวกับโลกุตระ เพราะเขาสอนไว้ดี เขาวางไว้ดีแต่กาลก่อน
เอ้า, สิ้นเวรกันที สิ้นกรรมกันที หมดกรรมกันที มันก็เป็นเรื่องโลกุตระสูงสุด เข้าใจไหม เมื่อคนตาย เพื่อนบ้านตาย เพื่อนบ้านก็มาเยี่ยม เห็นนอนตายอยู่ ก็ เอ้า, สิ้นกรรมกันที อย่างนี้นี่มัน ยอดโลกุตระนะ แต่มันจะรู้หรือไม่รู้ผมก็ไม่แน่ แต่ถ้ามันรู้หรือมันเท่าที่มันจะรู้ มันก็ว่านี่ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันหมดกรรมกันที มันหมดความเวียนว่าย ความทนทรมานกันที นี่มันก็สูงอยู่แล้ว เป็นเรื่องโลกุตระ อยู่แล้ว นี่ไม่ใช่คิดออกเอง มันเป็นวัฒนธรรมประจำชาติมาแต่โบราณ ที่ผู้รู้บัณฑิตนักปราชญ์ตั้งขึ้น สอนขึ้นให้ให้พูดอย่างนี้ ให้พลั้งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาออกมา เพื่อหยุดความเสียใจ หยุดความกลัว มีมากนะในวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมชนิดนี้ มันถ่ายทอดกันมาด้วยปาก โดยไม่ต้องรู้ความหมายก็ได้ แต่ถึงอย่างไรมันก็มีผล มันเรียกว่า ไอ้ชาวบ้านของเรา นั้นรู้หรือมีโลกุตรธรรม ความรู้เรื่องโลกุตรธรรม อยู่แล้วเหมือนกัน
เรื่องมะพร้าวนารี (นาทีที่ 51:50) เรื่องอะไรต่าง ๆ ก็อยู่ในเครือเดียวกันนะ ที่แสดงว่าเขามี วัฒนธรรม ชนิดที่เป็นโลกุตระเจืออยู่ เพื่อช่วยดับความทุกข์ ชนิดที่ทางอื่นดับไม่ได้ ทางอื่นดับไม่ไหว จะต้องร้องไห้ จะต้องเป็นบ้า แต่ไอ้วัฒนธรรมนี้มันช่วยได้ ไม่ต้องร้องไห้ไม่ต้องเป็นบ้า ดังนั้นคนที่ ไม่สนใจกับไอ้เรื่องธรรม หรือวัฒนธรรม หรือศาสนานี้ มันต้องเป็นบ้า หรือมันต้องเป็นโรคเส้นประสาท ทนทรมานอยู่จนตลอดชีวิต ดังนั้นมันควรจะได้รับ เพราะมันมีเกลื่อนไปหมด มีคำพูดชนิดนี้เกลื่อน ไปหมด แม้แต่เกิดทุกข์อะไรขึ้นมา ก็เรียกหา พระพุทธเจ้า พุธโธ พุธโธนี่ก็ยังดี
คำว่า พุธโธ มีความหมายมาก แต่มันลบเลือนไปเสียเอง เหลือแต่ โธบ้าง พุธโธเหลือแต่โธ โธ เป็นพี่โธ่พี่ถังอะไรไปเลย ไม่รู้ว่าอะไรเลย ผู้กล่าวก็ไม่รู้ว่าอะไรเลย ถ้าโธเป็นพุธโธอะไรเรื่อยไปมันก็ดี เดี๋ยวนี้มันพี่โธ่พี่ถังอะไร ว่าไปเรื่อยจนไม่รู้ว่าอะไร มีความทุกข์ขึ้นมาเรียกหาพระพุทธเจ้า นั้นมันถูกแล้ว สำหรับคนทั่วไป มีความเศร้า มีความกลัวอะไรขึ้นมา ก็เรียกหาพระพุทธเจ้าก็ถูกแล้ว เป็นระดับพื้นฐาน แต่ถ้าอะไรเกิดขึ้น เรียกว่า นี่มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ดีมาก หรือว่าถ้ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้น ที่เขากลัวกันนัก มันก็ เราไม่ต้องกลัว เราไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่มันก็ดี
ไอ้ระดับศีลธรรม มีดี ๆ อยู่หลายข้อ ใครลองรวบรวมดูเอา มันมีอยู่ทั่วไป พอถูกขโมย โอ้ย, เมื่อชาติก่อน เราเคยขโมยของมัน ดีแล้ว ดีแล้ว เอาไป ใช้หนี้เลิกกันทนี่ี ที่นี่ยังมีมากเมื่อผมเด็ก ๆ ผมได้ยิน อย่างนี้มาก ถูกขโมยผลไม้ในสวน ถูกขโมยอะไรก็ตาม มันจะพูดว่า โอย, เราคงจะเคยขโมยของเขามา ดีแล้ว ใช้หนี้ เสร็จกัน ทีนี้อีกคนว่าเราไม่ได้ขโมย เอ้า, ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เราฝากเขาไว้ก่อน ชาติหน้าเขา ต้องใช้ให้เรา ต้องใช้คืนเรา ไม่สูญไปไหนเสีย มันก็เลยไม่มีความทุกข์ เพราะว่าถูกขโมย เดี๋ยวนี้มันด่าโขมง เลย เอาปืนมาคอยยิงเลย เดี๋ยวนี้นะ ความเจริญของไอ้สมัยใหม่พวกนักปราชญ์หางยาวนี่ มันจะต้องหาปืน มายิงเลย มันก็ต้องมาคอยเฝ้าซุ่มดักยิงเลย มันไม่พูดอย่างนี้ นี่ความเจริญของสติปัญญาของไอ้มนุษย์ ในปัจจุบัน
นกอะไร นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน พวกแขกมากันอยู่ถามว่า เราอยู่สวนโมกข์ต่อกัน แขกของเราอยู่ พระองค์หนึ่งถาม เอ้า, คุณปลูกต้นไม้เมื่อไหร่จะได้กิน ปลูกมะขามมะเขิม ต้นไม้นั้นมัน นานนัก นั่นเขาว่า นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน ไอ้นี่เลย เลวไปเสียเอง พระนะที่เขาถาม ถามผู้หญิง เวลาอยู่ ผู้หญิงเวลาอยู่ มันตอบอย่างนี้ พระแก่ ๆ หลวงตาช่วยถางหญ้าให้ผม ผู้หญิงเวลาอยู่ต้องตอบว่า นกกินเป็นบุญ คนกิน เป็นทาน นี่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ของของอิสลาม มันเป็นคนไทยมาแต่เดิม เพิ่งถืออิสลาม หรือว่าวัฒนธรรมเก่า มันเป็นพุทธ อิสลามมาทีหลัง มันพูดอย่างนี้เป็น ต้นไม้นี้ เราปลูกไว้ เราตายแล้ว มันโตขึ้นมา มันถูกลูกนกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน นี่คนมีตัวกูทำได้เหรอ คนที่มีตัวกูของกู มันก็ไม่ทำ เดี๋ยวนี้ก็ดูสิ จะปลูกต้นไม้สักต้นก็ขี้เกียจ ไม่ได้คิดว่ามันอยู่ข้างหลัง นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน แล้วมันยังไปทำลายไอ้ต้นที่เขาปลูกไว้เสียด้วย ไปตัดเอาเสียฉิบหายหมด
ไอ้เรื่องนกกินเป็นบุญ คนกินเป็น ทาน นี้ก็เรื่องไม่มีตัวกูนะ ถ้ามีตัวกูไม่ปลูก กูไม่ได้กินกูก็ไม่ปลูก ทีนี้นกกินคนกินมันไม่เกี่ยวกับตัวกู ไม่ใช่ ของกู นี่วัฒนธรรมชนิดนี้มีมากแล้วกำลังสูญไป โลกนี้จะลุก เป็นไฟ โลกของนักศึกษาปริญญาหางยาวนี่ จะลุกเป็นไฟ มันไม่เคยพูดอย่างนี้ พูดเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง ประเทศชาติเข้มแข็ง รบคนอื่นให้วินาศ ไปหมด นี่มันไปพูดไปอย่างโน้น
เพราะฉะนั้นเรามันยังเป็นพุทธอยู่ ก็ให้มันเป็นพุทธ ตลอดไป คงเส้นคงวา ไม่มีตัวกู มีแต่ผู้อื่นที่ เราจะต้องนึกถึง เท่านี้มันหมด มันปลอดภัยหมด ขาดศีลก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ไปขโมยก็ไม่ได้ จะไปฆ่าเขาก็ ไม่ได้ จะประพฤติกาเมก็ไม่ได้ มันนึกถึงแต่ผู้อื่นมันทำไม่ตก มันทำไม่ได้ พอมันมีตัวกู มันก็ฆ่าเขา ลักเขา ประพฤติผิดในกามเขา โกหก กินแล้วเมาอะไรได้สารพัด เพราะฉะนั้นถือศีลให้ไม่มีตัวกูแล้ว ข้อเดียวคุ้มได้ ดีกว่าเสียอีก พระเขากลับว่าอย่าเอามาสอน สูงไปเป็นโลกุตระ อย่าเอามาสอนชาวบ้าน ไอ้เราก็ฟังไม่ถูก เพราะฉะนั้นอันนี้มันเป็นไอ้สิ่งที่เหมาะที่สุดนะ เป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด ความเห็นแก่ผู้อื่น ให้เห็นแก่ผู้อื่น เสีย มันก็ทำอะไรผิดศีลผิดธรรมไม่ได้ ไม่ต้องไปนึกถึงตนให้ป่วยการ เมื่อทำกับผู้อื่น ตามแบบที่ทำกับผู้อื่น แล้วมันก็เป็นการช่วยตน เกินกว่าที่ช่วย เพราะตนไม่มีปัญหา
เพราะฉะนั้นผมบอก ปาสาทิโก (นาทีที่ 58:14) ว่า พวกฝรั่งไม่มีอะไรที่ดี ๆ หรอก เหมือนที่ คนไทยมี ผมกล้าพูด พูดเล่น ๆ ด้วย พูดประชดด้วย เดี๋ยวนี้คุณก็พูดไทยได้มากแล้ว ฟังภาษาไทยได้มาก แล้ว คุณจงพยายามคุยกับชาวบ้าน คนแก่ คนอะไรชาวบ้านนี่ แล้วก็ฟังในเรื่องมันมีอะไรที่ที่ประเทศอื่น ไม่มี ให้ฟังไอ้เรื่องที่ประเทศอื่นไม่มี ที่ประเทศเยอรมันไม่มีกระมัง ไอ้นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทานนี้ ไม่มีกระมัง
ทีนี้เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมา ไอ้คนหนึ่งร้องว่า ก๊อด ๆพระเจ้านะ ไอ้คนหนึ่งร้องว่า พุธโธ พุธโธ นี่ใคร มันฉลาดกว่ากัน คุณคิดใครมันฉลาดกว่ากัน อย่างน้อยก็เสมอกัน เพราะฉะนั้นฝรั่งไม่มีอะไรดีกว่าไทย ยังมีอะไรที่ของไทยที่ยังดี ๆ อยู่นะคุณพยายามรวบรวมไป เอาไปบอกกล่าวกับเพื่อน ฝรั่ง ว่าคนไทยอยู่ได้ อย่างไม่น่าจะอยู่ได้ มันโดยวัฒนธรรมชนิดไหน ประเทศไทยนี่อยู่ได้ อย่างไม่น่าจะอยู่ได้นะ หมายความว่า เราจะต้องเป็นไอ้ขี้ข้าเขา อย่างประเทศลาว เขมร ญวนอะไรนี่ มันก็ไม่เป็น มันอยู่ได้ด้วยอะไร
นี่พูดไปเป็น ยืดยาว หลายคุ้งหลายแคว ยาว ๆ ทั้งนั้น แล้วมันสรุปอยู่ตรงที่ ว่าระวัง ระวังไอ้ไอ้ ความคิดเป็นตัวกูของกูนะระวัง พอมันมีมาแล้วมันก็หมดแล้ว ก็เป็นนรก เป็นวัฏสงสารอะไรขึ้นมาทันที พอตัวกูมา พอตัวกูหายไปก็เป็นนิพพานชั่วขณะหนึ่งเหมือนกัน พอตัวกูมา เอ้า, ก็เป็นวัฏสงสารอีกแหละ ไม่มนุษย์ ก็นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย อย่างดีก็เทวดา เป็นพรหม มันก็มีตัวกูทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไม่มีตัวกูนั้น สบายที่สุดแล้ว อะไรมันทำช่วยให้ลืมตัวกูหรือของกูได้ แล้วก็อุตส่าห์ ขวนขวาย เป็นเวลาที่อยู่กับนิพพาน พักผ่อนที่สุด ดังนั้นการทำงานโดยเฉพาะงานที่ละเอียด เช่น งานเขียนภาพนี่ มีโอกาสมากที่จะฝึก ให้ทำไปโดย โดยปราศจากความเร่าร้อน หรือไอ้ตัวกูของกู ต้องตั้งสมาธิ จนลืมตัวกูของกู จึงจะเขียนภาพได้สวย ถ้ายังจับอยู่ที่ตัวกูของกู เพื่อกูอะไรนั้น ไอ้ภาพนั้น มันก็ไปตามแบบ ของตัวกูของกู นี้คนที่จะทำงานฝีมืออย่างอื่นก็เหมือนกันนะ ทำอะไรก็ทำใจ แม้แต่จะ หุงข้าว จะทำการงาน ด้วยแรงก็ตามนะ ทำด้วยใจคอปกติ มันดีที่สุด มันได้ผลดีที่สุดแล้ว
ถ้าทำด้วยใจคอที่มันอึดอัด เดือดพล่าน อยู่ด้วยตัวกูแล้วมันก็ มันก็ไม่ดีแล้ว ที่เคยทำดีก็เสียหมด ไม่เคยทำพลาดก็พลาด ที่ไม่เคยมีอันตราย ก็เกิดมีอันตรายขึ้นมา เพราะว่าในวันนั้น ในขณะนั้น ไอ้ตัวกู ของกู มันแทรกแซง มันทำให้เผลอ ให้ลืม ให้ให้เสียสติสัมปชัญญะ ให้ขาดความรอบคอบ ถ้าว่าการ ทำงาน เป็นทีมอย่างนี้ มันยังมีอึดอัด ยังมีฮื่อแฮ่ ยังมีอะไรกันอยู่ แล้วก็ เรียกว่า มันยังใช้ไม่ได้ ได้ยินพูดว่า อ้ะ, พูดกันแล้วไม่ฟัง ก็เตะสอนสักที อย่างนี้คุณฟังดู มันสักเท่าไรอย่างนี้ ในใจมันคิดว่าจะเตะสอนสักที นี่ก็ไม่ไหวแล้ว ยิ่งถ้าพูดออกมาด้วยก็ยิ่งไม่ไหวเลย แล้วถ้าไปเตะเขาจริง ๆ แล้ว ยิ่งไม่ไหวใหญ่
ให้เราถือเสียว่า ไอ้ความไม่ได้อย่างใจ จากผู้อื่นนั่นแหละ คือ ลาภอันประเสริฐ คือ ขุมทรัพย์ หรือลาภอันประเสริฐ แล้วค่อยมาสอบไล่เรา ให้บทเรียนแก่เรา พวกอุปสรรค ศัตรูอะไรต่าง ๆ ก็ควรจะ ต้อนรับในลักษณะที่มาเลื่อนๆเป็นชั้นเราให้ดีขึ้น ไม่ใช่มาทำลายเราหรืออะไรเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไป โกรธเขา คือ เราบ้าเอง เราเลวเอง พอเกิดขึ้นก็ต้องนึกวกไปวนมา ทดสอบเรา มันมาเลื่อนชั้นให้แก่เรา เราจะทำอย่างไร มันจะได้หลาย ๆ ชั้น มันจะได้เลื่อนหลาย ๆ ชั้น ฉะนั้นอย่าไป ฟันต่อฟันตาต่อตา อย่าไปโกรธ อย่าไปอะไร
ผมพูดมากโดยตั้งใจ ว่าจะให้เรื่องต่าง ๆ มันเหลือน้อยเข้า ให้ทุกคนจับจุด จุดหมายหรือใจความ ของกันได้ โดยคำพูดเพียง ๒-๓ คำ เรื่องว่าพูดมากนี่ไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวเรื่อง หรือไม่ใช่หลัก มันเป็นคำอธิบาย ให้จับหลัก เพียงคำพูดเพียง ๒-๓ คำได้ ตัวอย่างเช่นว่า วันนี้ก็อยากจะให้จับหลักให้ได้ว่า นึกถึงแต่ผู้อื่น ก็แล้วกัน วันคืนล่วงไป นึกถึงผู้อื่น มันก็ไม่มีทางผิดได้ ทีนี้นึกถึงแต่ผู้อื่นนี้ ก็หมายถึงว่า ทำอะไรที่ มันเป็น ประโยชน์กับผู้อื่น แล้วก็ทำให้ไอ้คำอธิบายต่อไป มันก็คือ ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วก็ทำให้มันได้ผลมาก ที่สุด แล้วก็ใช้ฝีไม้ลายมือ ให้มันถูกกับเรื่อง แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย นี่มันก็ยิ่งดี ตัวเราไม่จำเป็น หรือมันไม่ไม่ยุติธรรม แบบไหนก็ตาม มันไม่ยุติธรรม ที่ว่าไม่ต้องลำบากมากไปสำหรับผู้ทำ มันต้องพอ เหมาะพอสม แล้วประโยชน์นั้นยังมีมากเสียอีก ดังนั้นเราใช้สติปัญญาความรู้ของเรา ให้ถูกวิธี ให้พอ สะดวกสบาย ทั้งแก่เรา และทั้งแก่การงานหรือผู้อื่น
ผมยังลังเลอยู่ เดี๋ยวก่อนนี่ ๆ ขอแถมเล่าเรื่องส่วนตัว เผื่อผมตายแล้วไม่มีคนรู้ ไอ้เรื่องเบ็ดเตล็ด ฝอย ๆ นี่ ทำไมผม ไม่ไปกับพระโลกนาถ หรือไม่ออกแบกกลดธุดงค์ ให้แดดเผาเกรียม ให้ฝ่าเท้าเป็นหนอง เหมือนกับที่เขา เขาทำกันโดยมากนี่ นี่มันก็นานแล้วนะ ๓๐ กว่าปี ๔๐ ปีนี่ ก็มันมีอย่างนี้แหละ ว่ามันที่อัน ไหน มันจะได้ประโยชน์มากกว่า กับผู้ ประโยชน์ผู้อื่นมากกว่า ไอ้เรามีสวนโมกข์บ้า ๆ บอ ๆ ตามแบบ ของเรา เพื่อเขียนหนังสือ หนังหา ตามแบบของรา ก็ทำมาเรื่อย ๆ ออกหนังสือพิมพ์พุทธศาสนา ทีละ ๑ บาท ทำอยู่อย่างนี้นะ อย่างหนึ่ง หรือว่าจะไปกับพระโลกนาถ
ตอนนั้นเราไม่รู้จักอะไรหมดเลย ไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้จักรู้เรื่องพระโลกนาถ ก็เพียงตามโฉมหน้า ที่ปรากฏนะ มันก็ไม่ไป ไม่ไม่อยากไป ใคร ๆ ก็ยุให้ไป คุณสัญญาก็ยัง ยุให้ไป พระโลกนาถเลยยิ่ง ต้องการ ผมใหญ่เลย พบกันที่วัดบวรฯ ในที่สุดก็ไม่ไป เพราะเราเห็นว่าไอ้ที่เราทำอยู่นี่เหนื่อยน้อยกว่า ลำบากน้อย กว่า เป็นประโยชน์มากกว่า หรือที่ไอ้เรื่องว่าทำไม ไม่เที่ยวแบกกลดธุดงค์ดูบ้าง มันก็มองเห็นว่ามี ประโยชน์ คงจะมีอนามัยดี มีอะไรดีเหมือนกัน แต่มันก็ยังไม่จำเป็น มันยังทำมาได้ โดยที่เหนื่อยน้อยกว่า ทำประโยชน์ได้มากกว่า จนเดี๋ยวนี้มันแก่แล้วมันไปไม่ได้ มันจะแบกกลดไม่ได้ เดินตรงไม่ได้ เลยเหลว เลยไปกับเขาไม่ได้ นี่เรื่องมันมีอย่างนี้ ว่าทำไมถึงไม่ใช้วิธีให้ รุนแรงหรือว่าโลดโผนหรือว่า เสียสละมาก
ไอ้คำว่า เสียสละมาก มันต้อง มันต้องวัดด้วยว่า มันได้ผลมากหรือเปล่า หรือว่าไอ้เสียสละนั้น มันอาจจะ อันไหนมันมากกว่า เออ, ถ้าเราจะไปเดินธุดงค์ทรมานกายเสียบ้างก็ดี กับที่เรานั่งเขียนหนังสือ หลังขดหลังแข็งทั้งวันทั้งคืน อันไหนเสียสละมากกว่า มันก็ต้องคิดได้ มันก็ต้องเทียบกันได้ นี่ผิดหรือถูก อย่าเอาไปประมาณ พูดนี่เพียงแต่ ให้ให้รู้จักคิดว่า ในการที่จะเสียสละ จะเหน็ดจะเหนื่อย จะอะไรนั่นนะ ต้องคิดให้ถูกต้อง ให้มัน เป็นที่สะดวกสบาย และได้ผลดี แก่กันทุกฝ่าย เราก็ตาม ผู้อื่นก็ตาม การงานก็ตาม อะไรก็ตาม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความลำบาก ยุ่งยาก เหน็ดเหนื่อยมาก ก็ได้
นี้จะลองดูก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ขอให้รู้จักใช้การเสียสละ ให้มันมีผลมาก แล้วมันง่ายเหมือนกับว่า ไอ้ความสูงของการกระทำนั้น เหมือนที่ผมเปรียบว่า คนโง่ ๆ คนหนึ่ง สมัครทำอะไรไปตลอดชีวิต โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ เช่น กวาดขยะอย่างนี้ก็ ถ้าเขามีจิตใจเพื่อ เพื่อศาสนาเป็นส่วนรวม ก็อย่าไป ดูถูกนะ อย่าไปดูเล่น อย่า อย่าไปดูแคลนดูถูก ถ้ามันทำเพราะจิตใจที่ว่าไม่มีตัวกู ทำเพื่อโลกทั้งหลาย ทั้งเทวดา และมนุษย์ ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่ง ของการบำรุงพระศาสนา อย่าไปดูถูก
บางทีมันก็มีคนที่ร่างกาย ไม่สมบูรณ์ ไม่สมประกอบ มีโรคภัยไข้เจ็บ มันก็ต้องทำไปตาม ที่มันจะ ทำได้ แต่แล้วขอให้ทำด้วยจิตใจที่สูง จิตใจที่ประกอบไปด้วยธรรม อย่าไปเรื่องยกหูชูหาง มานะทิฐิ เขาก็พอแล้ว ก็ถือว่าสูงเหมือนกันหมด คล้าย ๆ กับที่ชาวบ้าน เดี๋ยวนี้เขาก็จะรู้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แว่ว ๆ ว่า ให้ถือว่าไอ้ความสำคัญมีเท่ากัน ระหว่างนายกรัฐมนตรี กับคนกวาดถนน หรือบุรุษไปรษณีย์ อะไรอย่างนี้ นี่ก็เป็นคำพูดที่ถูกต้อง และน่าฟัง ถ้ามันทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ด้วยกันแล้ว ไม่ใช่เพื่อตัวกูแล้ว มันก็ควรจะมีความสำคัญเท่ากัน
ทำงานบุรุษไปรษณีย์นี้ มันก็ก็ง่ายหรือต่ำ หรือทำเป็นเทถัง กวาดขยะ เทถังขยะอะไรนี้ หรือว่า เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเสนาบดี เป็นประธานาธิบดี เป็นอะไรก็ตาม มันก็ต้องมีความสำคัญเท่ากัน ไม่อย่างนั้นโลกนี้ มันอยู่ ไม่ได้ ลองไม่มีใครเข้าสักพวกหนึ่งเข้า โลกนี้มันก็อยู่ไม่ได้ ความคิดความเห็น ของไอ้นายกรัฐมนตรี ก็เป็นหมันหมด เมื่อไม่ไม่มีคนปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานมันต้องมีทุก ทุกชนิด แม้แต่คนล้างรถยนต์ มันก็ต้องมีความสำคัญเท่ากัน ถ้าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่แล้วก็ มีความสำคัญเท่ากัน
ทีนี้ว่าถ้าทำ โดยไม่มีตัวกูของกูแล้ว ถ้าทำได้นะ มันก็วิเศษสูงสุดเท่ากัน เพราะฉะนั้นเราควรจะ สอนเรื่องนี้กันตั้งแต่เล็ก ๆ เด็ก ๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ให้มันรู้จักคิดนึกอย่างนี้ ปัญหาต่าง ๆ มันจะไม่มี ในโลก เดี๋ยวนี้มันไม่อย่างนี้ มันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีทุกคนเลย ไอ้เด็ก ๆ นี่ มันไม่รู้ว่าไอ้ความสำคัญ เท่ากันหรืออะไรเท่ากัน ที่จริงมันก็ไม่รู้หรอก ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีทำไม มันรู้แต่เพียงว่าได้เงินมาก ก็ใช้สนุกเท่านั้น แล้วมันก็บูชาเงินกัน นี่มันมันต่างกันตรงที่ มันเป็นวัตถุนิยม บูชาเงินไปหมด แล้วเป็นยุคของตัวกูของกู ไปหมด
ก็น่ากลัว ว่ามันจะระงับการเบียดเบียนกันไม่ได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องน่าหัวเราะ ทั้งวันทั้งคืน ฟังวิทยุข่าวต่างประเทศดู เป็นเรื่องน่าหัวเราะ ทั้งวันทั้งคืน มีข่าวอยู่ มันไม่มีทางจะยุติได้ มันมีแต่ เรื่องตัวกูของกูเข้าเข้าใส่กัน เข้าฟัดกัน แบบฟันต่อฟันตาต่อตาอยู่เรื่อย มันก็ไม่มีทางจะได้ ไม่ถูกต้องตาม ประสงค์ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นพระเจ้าก็ลงโทษ มนุษย์ที่ทำไม่ถูกความประสงค์ของพระเจ้า ให้มนุษย์ นั้นมีความทุกข์ยืดเยื้อ
มันก็รวมความกันทีว่ามัน จุดตั้งต้นของความทุกข์ มันอยู่ที่ตัวกู ของกู มันอยากดีอย่างนี้ คำอธิบายความหมายเหมือนที่แล้ว ๆ มา ทุกครั้งที่เคยพูด เอาตัวกูของกูออกไปเสีย ไม่มีใครอยากดี มันก็มีแต่จิตใจบริสุทธิ์ ร่างกายบริสุทธิ์ ไม่มีความทุกข์เป็นนิพพานอยู่เรื่อย ตัวกูโผล่มา เห็นวัฏสงสารของ ความทุกข์อยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้น อยู่ที่ตัวกูมันโผล่ขึ้นมา เพราะมันอยากดี แล้วมันก็ติดกับของ ความดี ติดกับของตัวเอง คือ ติดกับของความดี ติดบ่วงติดกับของความดี อยู่ในกองทุกข์
เพราะฉะนั้นถ้าทำอะไร ให้แปลกออกไป ระวังอย่าติดกับของตัวเอง ความคิดที่ก้าวหน้า มันก็นับว่า น่าเลื่อมใส แต่ว่าไอ้ความก้าวหน้าระวังให้ดี มันจะไปติดกับของตัวเอง แล้วบนความ ทะเยอทะยานความดี ความเถอะพอกันที มืดค่ำแล้ว