แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๙ กันยายน เป็นวันอันดับที่ ๖๓ แห่งระยะการเข้าพรรษา ในวันนี้จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกกันว่าธรรมประยุกต์ คือการประกอบธรรมะเข้ากับชีวิตหรือกับตน ในครั้งที่แล้วมาเราได้พูดถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ และธรรมะในฐานะที่เป็นตัวชีวิตเสียเอง
ทีนี้ก็จะต้องนึกถึงกันต่อไปถึงข้อที่ว่าทำอย่างไรจึงจะใช้เครื่องมือ ใช้ธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือประกอบกันเข้าได้กับธรรมะในฐานะที่เป็นตัวชีวิตเสียเอง สำหรับสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือ ก็คือเครื่องมือ รู้จักกันดีว่าเครื่องมือหมายความว่าอะไร เครื่องมือนี้ทำอะไร เครื่องมือนี้ก็ทำธรรมะให้มีขึ้นมาในตัวสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั่นเอง งั้นเราจึงพูดได้ด้วยคำที่ค่อนข้างจะประหลาดว่า ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือสำหรับประกอบธรรมะเข้ากันกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ซึ่งก็คือธรรมะอีกเหมือนกัน คำว่า ธรรมะ หรือธรรม มันมีความหมายกว้างถึงขนาดนี้ ใช้ก็ใช้ธรรมเป็นเครื่องมือประกอบสิ่งที่เรียกว่าธรรม เข้ากับสิ่งที่เรียกว่าธรรม อาการอย่างนี้แหละเรียกว่า ธรรมประยุกต์ คำว่าประยุกต์เป็นคำที่ใช้กันมากจนลืมสำหรับสมัยนี้ จนรู้กันดีว่าเล็งถึงอะไร ในภาษาไทยใช้คำว่า ประยุกต์ ซึ่งเป็นรูปของภาษาสันสกฤต ส่วนภาษาบาลีก็ปฺรยุกฺตเฉย ๆ ปฺรยุกฺต แปลว่า ประกอบแล้ว ธรรมปฺรยุกฺต ก็คือประกอบแล้วด้วยธรรม ธรรมประยุกต์ก็เหมือนกัน ไม่ได้ผิดอะไร ก็แปลว่าประกอบแล้วด้วยธรรม
ทีนี้เราจะเห็นได้ทันทีว่าไอ้คำว่าประยุกต์ที่ใช้ ๆ กันอยู่นี่มันยังไม่ถึงความหมายของมัน มันเป็นเพียงการศึกษาให้ตรงกับเรื่องราวที่จะใช้ ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งมันมีมากเฉพาะที่มันตรงกับที่เราต้องการจะใช้นี้เรียกว่าประยุกต์ นั่นแหละคือประยุกต์อย่างเด็กอมมือหรือสำหรับเด็ก ๆ ถ้าประยุกต์หรือปฺรยุกฺตในภาษาบาลีจริงแล้วหมายความว่าต้องประกอบอยู่ด้วยธรรมจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่ว่ากำลังศึกษาหรือคัดเลือกหรืออธิบายกันในแง่ที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ นั้นมันเป็นเบื้องต้นของประยุกต์มากกว่า แต่เขาไม่เรียกว่าประยุกต์ เพราะฉะนั้นเราจะดูไอ้สิ่งที่เรียกว่าประยุกต์หรือปฺรยุกฺตนี่กันให้ชัดเจนให้ละเอียดสักหน่อย
เมื่อวานนี้ก็มีผู้มาถามปัญหาซึ่งออกจะแปลก คือถามผมว่าเท่าที่รู้จักในประเทศไทย ใครมันมีธรรมะเข้าขั้นบ้าง คำถามนี้เองเป็นเหตุให้นึกได้ถึงข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นอยู่ ที่เรายังเข้าใจผิดกันอยู่มากคือคำว่าเข้าขั้น หรือถึงขั้น หรือถึงขนาด นี้ยังเข้าใจผิดกันอยู่ เมื่อนึกได้ก็อยากจะพูดเสียเลยว่าที่เรียกว่าเข้าขั้นนั้นมันยังเป็นคำที่กำกวม เอาไปใช้ได้อย่างน้อยก็ ๓ ขนาด ถ้าพูดว่ามีธรรมะเข้าขั้นอย่างนี้แล้วก็ออกจะชัดเจนคือว่ามีธรรมะจริง ๆ แต่เมื่อไปดูถึงไอ้ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเข้าขั้นหรือถึงขนาดหรือถึงขั้นนั้นมักจะเป็นไปในรูปอื่น คือรูปที่มีความรู้ดี มีความรู้ดีเสียมากกว่า ขอให้แยกคำว่าเข้าขั้นนี่ว่ามีอยู่ถึง ๓ ระยะ เรียกกันง่าย ๆ ว่าความรู้เข้าขั้น การปฏิบัติเข้าขั้น แล้วก็ภูมิของจิตใจซึ่งเป็นผลของการปฏิบัตินั้นเข้าขั้น เป็น ๓ เข้าขั้นหรือถึงขั้นหรือถึงขนาด มีอยู่ ๓ อย่าง ความรู้เข้าขั้น การปฏิบัติเข้าขั้น และผลของการปฏิบัติเข้าขั้น
จากทีแรกที่เรียกว่าความรู้เข้าขั้นนี้ก็ยังเข้าใจผิดกันอยู่นั่นเอง อาจจะมีผู้คิดว่าเรียนนักธรรมเรียนบาลีเรียนอะไรมากถึงขนาดที่เรียกว่าเข้าขั้น กระทั่งเรียนพระไตรปิฎกแตกฉานที่เรียกว่าความรู้เข้าขั้นอย่างนี้เสียมากกว่า ที่จริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกแต่เพียงแตกฉานในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าเรียกคนชนิดนี้ปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่เราศึกษากันอยู่นั่นเองว่าเป็นโมฆะบุรุษ เป็นบุรุษเปล่า คนเปล่า คนกำมือเปล่า คือไม่มีอะไรอยู่ในมือ มีภิกษุองค์หนึ่งชื่อโพธิรักษ์ แตกฉานในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ยังไม่จัดเป็นพระไตรปิฎก แต่ถ้าเรียกอย่างเดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก คือว่าเป็นผู้แตกฉานในการพูดจา ในการใช้คำพูด ในการอธิบาย ถ้าเกี่ยวกับเรื่องระเบียบ การเป็นอยู่ของหมู่คณะก็เรียกว่าวินัย เกี่ยวกับเรื่องราวที่มาต่าง ๆ อะไรต่าง ๆ นี้ก็เรียกว่า สุตตันตะ เกี่ยวกับธรรมะชั้นลึกก็เรียกว่า อภิธรรม แม้ยังไม่แจกกันโดยชื่อว่าวินัยสุตตันตะ อภิธรรมมันก็มีรูปเค้าโครงอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็ยังถูกเรียกว่ากำมือเปล่า เรียกว่าคนเปล่า เพราะคนตรัสล้อภิกษุชนิดนี้ว่า เอ้า, คนเปล่า แล้วก็พูดขัดขึ้นว่า เอ้า, คนเปล่ามาแล้ว คนเปล่านั่งลงสิ เขาใช้ล้อเอา ล้อหรือว่าอะไรก็ตามกับภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ เอ้า, คนเปล่าลุกขึ้นไปแล้วโว้ย คือคนดีแต่รู้ในทางความรู้ที่มีเรื่องราวหลายแห่งในอรรถกถาธรรมบทหรือที่อื่น ๆ ซึ่งพูดถึงพวกเทวดา รุกขเทวดา อารามเทวดาอะไรต่าง ๆ นี้ ไม่สนใจกับภิกษุผู้แตกฉานในปริยัติ ในพระไตรปิฎกในปริยัติอย่างนี้ แล้วไปสนใจไปเคารพไปบูชา ไปเอาใจใส่กับพระแก่ ๆ ที่พูดอะไรไม่เป็น แต่เทวดาพวกนั้นถือว่าเป็นผู้มีภูมิธรรมแห่งจิตใจสูง
นั่นแหละขอให้สังเกตดูและคำนวณดูว่าการแตกฉานในพระไตรปิฎกได้ถูกจัดไว้ในฐานะเป็นผู้มีกำมือเปล่า ซึ่งในมือไม่มีสิ่งที่มีประโยชน์อะไรทั้งที่แตกฉานในพระไตรปิฎก และคนสมัยนี้ก็คงจะพูดกันโดยไม่รู้สึกตัวว่าไอ้ความรู้มันเข้าขั้นเพราะรู้พระไตรปิฎก ที่จริงเปล่าเลย ถ้าพูดโดยคำว่าประยุกต์หรือธรรมประยุกต์แล้ว ความรู้ชนิดที่แตกฉานในพระไตรปิฎกก็ยังไม่เรียกว่าความรู้เข้าขั้น ที่พูดนี้ไม่ได้พูดให้เกิดความท้อถอยหรือเสียกำลังใจในการที่จะศึกษาพระไตรปิฎก แต่พูดให้รู้ความจริงหรือข้อเท็จจริงว่า ความรู้ที่เข้าขั้นนั้นหมายถึงความรู้ชนิดที่ทำให้แน่ใจในการปฏิบัติ เป็นความรู้เพียงพอที่จะทำให้แน่ใจลงไปในการที่จะไม่ยึดถืออะไร เช่นสมัครที่จะดับไม่เหลือ พอใจที่จะเป็นผู้ดับไม่เหลือ เพราะว่าในโลกนี้หรือในกระแสแห่งวัฏสงสารนี้ ไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจ หรือน่าเอาน่าเป็นหรือน่ายุ่งด้วย หรือน่าวิ่งว่อนไปกับเขาด้วย หรือน่าวิ่งว่อนไปในกระแสโลกนั้น มันไม่มีอะไร มีความรู้สึกอยากดับไม่เหลือหรือว่าเข้าใจ เพียงแต่เข้าใจว่าในโลกนี้มันมีแต่สิ่งที่น่าเอาน่าเป็น ความดับไม่เหลือหยุดวิ่งไปในโลกนั้นดีกว่าแน่ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าความรู้เข้าขั้น แม้จะไม่รู้เรื่องวินัย เรื่องสุตตะ เรื่องอภิธรรม ไม่รู้อะไร ไม่รู้พระไตรปิฎกเลย ไม่รู้แม้กระทั่งที่จะแจกคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่รู้แม้แต่จะแจกขันธ์ ๕ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่รู้ชื่อเหล่านี้เลย แต่ในใจมันเกิดเข้าใจ มองเห็นลงไปว่าทุกอย่างเลยในโลก ความเป็นนั่นเป็นนี่ในโลก หรือความมีนั่นมีนี่ในโลกนั้น ไม่น่าจะมี ไม่น่าจะเป็นด้วยความหมายมั่น ด้วยความยึดถือ ที่จริงมันก็มีก็เป็นอยู่แล้ว มีทรัพย์สมบัติ แล้วก็เป็นนั่นเป็นนี่ มีชื่อเสียงอย่างนั้นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะว่ามองเห็นว่ามันเป็นเด็กเล่นทั้งนั้น หรือว่าถ้าไปหมายมั่นที่จะมีจะเป็นให้มากขึ้นก็มีความทุกข์อย่างยิ่งขึ้นมาทันทีอย่างนี้ ความรู้เพียงเท่านี้เท่านั้นแหละเรียกว่าเข้าขั้น เต็มขั้น หรือถึงขนาด พูดอะไรไม่ได้นอกจากว่าไม่ไหว ๆ หรือสั่นหัวหรือรู้สึกอยู่อย่างนี้ อย่างนี้ผมเรียกว่าความรู้มันเข้าขั้น เป็นธรรมประยุกต์ในขั้นความรู้ ก็ไปคำนวณดูว่ามันมีแก่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาชนิดไหนที่เรียกว่าเป็นผู้มีความรู้เข้าขั้น
เอาละ นี่ก็เลยไปก่อนดีกว่าถึงไอ้สิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติเข้าขั้น มันก็มีหลักเกณฑ์เหมือนกันอีกแหละ การปฏิบัติอยู่อย่างครบถ้วนตามแบบฉบับ อย่างเคร่งครัด อย่างเอาเป็นเอาตายอย่างนี้ มันก็ยังไม่แน่ว่าเข้าขั้นหรือถึงขนาด ต่อเมื่อการปฏิบัตินั้นมันถูกจุดหมายที่ทำให้เกิดการวางมือจากความยึดมั่นถือมั่น การคลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติเข้าขั้น คนบางคนก็ไม่ได้เล่าเรียนอะไร ก็ปฏิบัติอยู่อย่างเคร่งครัดตามคำบอก เหมือนกับที่เขาบอกคำบอกให้ แล้วทำอย่างนั้น ๆ เป็นวัน ๆ ไปเลย แล้วก็ปฏิบัติอยู่อย่างเคร่งครัด กลายเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น ระวังให้ดี ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่มองหน้าใครเลยนั่นแหละ ระวังให้ดี มันอาจจะ แทนที่จะไม่ถึงขั้นมันอาจจะลดขั้น คือมันทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเพื่อตัวกู เพื่อของกูมากเกินไป คือเพื่อตัวได้เพื่อตัวดีเพื่อตัวเด่น แม้แต่เพื่อตัวนิพพานก็ตามเถอะ ไอ้ความเข้าใจว่านิพพานแล้วมันมาจากความยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว การปฏิบัตินั้นมันก็ตึงเครียดหรือเฟ้อไปก็ได้ มันไม่ถึงขั้นเฟ้อ แต่ไม่ถึงขั้น ฟังยากหน่อย มันมากจนเฟ้อแล้วก็มองดูแล้วมันยังไม่ถึงขั้น มันน่าหัวนะ ที่ท่านได้พูดว่าเกินขั้น นี่พูดว่าไม่ถึงขั้น ทั้งที่ปฏิบัติอย่างเคร่งเครียด อย่างมากมาย อย่างไม่ดูหน้าใครเลยทั้งวันทั้งคืน ถ้าว่าการปฏิบัติเข้าขั้นนี้มันก็คือไอ้ที่เราเรียกกันว่าปกติสัมโพชฌงค์นั่นแหละ ดูให้ดี ๆ เลือกมา สติรู้เลือกมาปฏิบัติแล้วก็พินิจพิจารณาอยู่ ก็ใช้ความเพียรทุ่มเทลงไป แล้วก็มีปีติหล่อเลี้ยงความเพียรไว้ จนกว่าเมื่อไรมันจะลงรูป คือเป็นปกติ เข้ารูปเข้ารอย ตรงนี้จะเรียกว่าปฏิบัติถึงขั้น เพียงแต่มีสมาธิ มีอุเบกขาอะไรรักษาไอ้ความเป็นอย่างนั้นไว้เรื่อย ไว้เรื่อยไป เมื่อถึงขั้นแล้วก็ยังต้องรักษาไอ้ความถึงขั้นนั้นน่ะไว้เรื่อยไป จนกว่าจะถึงวันดีคืนดีโอกาสหนึ่งที่มันทำหน้าที่ต่อไปถึงกับตัดกิเลสได้ นี่การปฏิบัติถึงขั้น มันก็ต้องมา การปฏิบัติถึงขั้นนี้มันก็ต้องมีมาจากไอ้ความรู้ที่ถึงขั้น คือเข้ารูปด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าจะพูดมันก็พูดได้ว่าถ้าการปฏิบัติถึงขั้นแล้ว ไอ้ความรู้มันก็ต้องถึงขั้นอยู่ในตัว
นี่ระวังให้ดี ถ้าเราจะปฏิบัติอะไรลงไปในศีล สมาธิ ปัญญา หรือกิจประจำวันต่าง ๆ สวดมนต์ภาวนา ก็ให้ทำด้วยสติสัมปชัญญะ ให้มีความรู้สึกในการกระทำ ความหมายของการกระทำอยู่เสมอ ถ้าทำเพียงสักว่าครบบริบูรณ์ตามพิธีเป็นพิธี ตามพิธีอย่างนี้ มันก็จะไม่ถึงขั้นอยู่นั่นเอง เป็นพิธีต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ จะสวดมนต์ จะไหว้พระ จะทำอะไรก็ตามมันต้องให้เป็นความแจ่มแจ้ง ซึมซาบในคำพูดหรือในการกระทำนั้น อย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติมันถึงขั้น กล่าวโดยเฉพาะคือว่าสมบูรณ์อยู่ด้วยโพชฌงค์นั่นแหละ แม้ยังไม่บรรลุมรรคผลอะไรเลยก็สมบูรณ์อยู่ด้วยโพชฌงค์ครบทั้ง ๗ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถึงขนาด ไม่ถึงขั้น แต่มันมีถูกต้องแล้ว มันมีครบแล้ว ชำระไอ้สิ่งที่เรียกว่าโพชฌงค์ให้ดี ๆ หมวดอื่นไม่สะดวก นี่ผมรู้สึกว่าอย่างนี้ ธรรมะมีหลายหมวดหลายสิบหมวด หมวดอื่นไม่สะดวกเท่าหมวดโพชฌงค์ ๗ ประการ จนกระทั่งว่าแม่ครัวจะตำน้ำพริกแกงสักครกหนึ่ง หรือว่าลูกเด็ก ๆ อย่างเมื่อผมสมัยเด็กจะต้องช่วยแม่ตำน้ำพริกแกงสักครกหนึ่ง มันก็ต้องมีโพชฌงค์ ๗ นั่นแหละ จะโดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม จึงจะเรียกว่าการปฏิบัติที่เข้าขั้น แม้แต่จะช่วยขูดมะพร้าว มันก็ต้องมีสติ มันก็ต้องขูดผิด ขูดเอามือเข้าก็ได้ แล้วก็ต้องมีธรรมวิจยะ คือการวิจัย ขูดอย่างไรมันจะเร็วและได้ผลดี มันมีเรื่องหลายเรื่อง เช่น ขูดไปแต่ข้างริมอย่างนี้ ริมนอก มันทำให้หมด ไม่มีส่วนที่เหลืออยู่ติดกะลามะพร้าวและเสียเปล่า ซึ่งขูดมาแต่ข้างใน ตอนนอกมันจะขูดไม่ได้ มันจะขูดลำบาก แล้วมันจะหลุดเป็นชิ้น ๆ ออกไปเสียเปล่า หรือว่าถ้าใช้ไม่หมดซีกมันก็จะเหลือในลักษณะที่ใช้อะไรไม่ได้ แล้วมันยังมีข้อที่จะต้องพินิจพิจารณาสังเกตว่าถูอย่างไรมันจึงจะออกมาละเอียด ถูอย่างไรมันจึงจะออกมาหยาบ ดู ไอ้ธรรมวิจัยแม้ในการขูดมะพร้าว หรือก็มีความเพียรที่จะขูดไป แล้วก็มีความพอใจที่ได้กระทำงานอันนี้ อย่าให้มันเบื่อได้ เดี๋ยวมันขี้เกียจ เดี๋ยวมันวิ่งหนีไปเสีย แล้วจนกว่าไอ้มือที่จับขูดนี่มันเข้ารูปเข้ารอยจนว่าหลับตาขูดหรือว่าใจลอยขูด นึกถึงเรื่องอื่นก็พลาง ขูดมะพร้าวไปพลาง มันก็ยังทำได้ แล้วก็สมาธิมันก็มีอยู่โดยอัตโนมัติ ขูดเรื่อยไปกว่าจะหมดนี่คืออุเบกขา แล้วยิ่งพูดไปมันก็ยิ่งทำให้เขาหัวเราะ ยิ่งทำให้คนสมัยนี้หัวเราะที่จะพูดอย่างนี้ เพราะเขาไม่สนใจในเรื่องอย่างนี้ ไม่สนใจในสิ่งที่เรียกว่าวิจัยหรือประยุกต์
เอาละ ขอให้ยุติกันทีในเรื่องนี้ว่าจะตำน้ำพริกแกง จะขูดมะพร้าวชั้นต่ำที่สุดนี่ หรือว่าจะไปทำอะไรที่ไหน จะอาบน้ำหรืออะไรก็ตาม ถ้ามันถึงขั้นแล้วก็มันจะประกอบอยู่ด้วยไอ้ลักษณะอย่างนี้ทั้งนั้น นี่การที่เราจะปฏิบัติธรรมะเรื่องศีล เรื่องสมาธิ ปัญญา ไหว้พระ สวดมนต์ภาวนา มันก็ต้องครบด้วยสิ่ง ๗ อย่างนี้ทั้งนั้น มันจึงพูดได้เลยว่าที่ว่าปฏิบัติ การปฏิบัติถึงขั้นนั้นน่ะคือมัน เดี๋ยวนี้มันพร้อมอยู่ด้วยลักษณะของโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว ทีนี้ก็ต้องดูต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า ไม่ต้องเป็นผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก หรือแม้ไม่เคยเรียนนักธรรมเรียนบาลี ก็อาจจะมีการปฏิบัติที่ถึงขั้นได้ ประกอบอยู่ด้วยโพชฌงค์ ๗ ได้โดยที่เขาไม่รู้ตัว ไม่รู้จัก ไม่รู้จักชื่ออย่างนี้ แต่มันมีพร้อม นี่ลองใครคนไหนขูดมะพร้าวหรือว่าทำน้ำพริกแกงได้ดีนี่ ได้ดีเท่านั้นแหละ มันก็จะมีไอ้สิ่งที่เรียกว่าโพชฌงค์นี้โดยไม่รู้สึกตัว โดยที่เขาไม่รู้จักชื่อเหล่านี้เลย ขยายขึ้นไป ให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปตามลำดับของการงานที่มันสูงขึ้น จนถึงการปฏิบัติธรรมเพื่อจะบรรลุมรรคผล มันก็เรียกว่าการปฏิบัตินั้นเข้าขั้นเพื่อดำรงใจไว้เหมาะ ให้มันตั้งต้นด้วยความไม่ได้อยากดีอยากเด่นอะไร มองเห็นความทุกข์เป็นสิ่งที่ควรจะละกันเรื่อยไปอย่างนี้พอแล้ว มองเห็นว่าอยากด้วยความโง่คืออวิชชา แปลว่ายึดมั่นด้วยความโง่คืออวิชชา นี่คือตัวการที่เป็นทุกข์
ทีนี้ไม่รู้จักคำว่าอวิชชา ไม่รู้จักคำว่าตัณหา ไม่รู้จักคำว่าอุปาทานเลย ไม่รู้จักคำพูดเหล่านั้นเลย แต่รู้จักไอ้สิ่งที่มันเกิดขึ้นในใจ ที่ที่มีชื่ออย่างนั้นแหละรู้จักดี เลยเข็ดเลยไม่กล้าปล่อยให้ไอ้ความรู้สึกชนิดนั้นเกิดขึ้นในใจอีก ระวังอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติเข้าขั้น เป็นปัจเจกพุทธะยิ่งกว่าปัจเจกพุทธะ ไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักพูด ไม่รู้จักอะไรหมด แต่รู้จักไอ้สิ่งที่มันเกิดอยู่ในใจว่าไอ้หมอนี่มาทุกทีแล้วเป็นทุกข์ทุกที ก็รู้จักเข็ดรู้จักหลาบ ไม่ปล่อยให้มันมา มาเกิดขึ้นในใจ ปฏิบัติเพียงอย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติเข้าขั้นและเพียงพอและถึงขนาด
เอ้า, ทีนี้เราเลยต่อไปอีกถึงที่เรียกว่า ภูมิธรรมของจิตใจมันเข้าขั้น นี่คือการบรรลุมรรคผล คือผลของการปฏิบัติเข้าขั้น ว่ามาดูสิ ความรู้เข้าขั้นก่อน แล้วการปฏิบัติมันเข้าขั้นก่อน แล้วผลของการปฏิบัติมันจะเข้าขั้น เหมือน ๆ ว่าเราขูดมะพร้าวมา ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการของโพชฌงค์เรื่อยมาจนขูดเสร็จนี่ ทีนี้มาดูไอ้ที่มันเสร็จแล้วนี่ ผลมันเสร็จแล้วนี่ก็เรียกว่าผลมันเข้าขั้น เมื่อยังปฏิบัติอยู่ผลมันยังไม่เสร็จ มันยังไม่เข้าขั้น ทีนี้ผลเข้าขั้นมันก็คือว่ามันแน่นอนในสิ่งที่เราต้องการจะได้ มันได้ อย่างนี้เรียกว่าภูมิธรรม ภูมิธรรมของจิตเข้าขั้น คือจิตอยู่ในระดับที่ว่าตัณหาอุปาทานย่ำยีไม่ได้เหมือนแต่ก่อนนะ ย่ำยีได้น้อยก็อยู่ในลักษณะที่มันจะย่ำยีไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ แม้แต่ว่าเข้าไปในขั้นที่เรียกว่าต่อไปนี้ มันจะแน่นอนที่ว่ามันจะย่ำยีไม่ได้ มันเริ่มย่ำยีได้น้อยลง แล้วก็จะแน่นอนว่าจะย่ำยีไม่ได้อีกเลย อันนี้ก็เรียกว่าภูมิธรรมเข้าขั้น เข้าถึงสูงสุดเป็นพระอรหันต์ ที่เราไม่เรียกว่าเข้าขั้นต่อเมื่อบรรลุพระอรหันต์หรอก แม้แต่เพียงพระโสดาบันนี้ก็เรียกว่าเข้าขั้น ที่จะลดลงมาอีกหน่อยก็ได้ เป็นปุถุชนชั้นดีที่สุดก็เรียกว่าเข้าขั้นเหมือนกัน มันจะไหลไปหาพระโสดาบัน พระอรหันต์ ที่เรียกว่า กัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่งดงาม กัลยาณปุถุชน หวังเข้าขั้นเพียงเท่านี้ก็จะไม่เหลือวิสัยอะไรเลย อยู่ในระดับธรรมดาสามัญที่สุด พูดอย่างสมัยใหม่พูดอย่างสมัยชาวบ้านทั่วโลกพูดก็เรียกว่าเป็นสุภาพบุรุษแท้จริง เขาเป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริง ก็พอจะเรียกได้ว่ามีภูมิธรรมของจิตใจเข้าขั้น สุภาพบุรุษที่แท้จริงก็ไม่ไปรุกรานใคร ไม่ไปล่วงเกินใคร แล้วก็ไม่มีอะไรที่น่าเกลียดอยู่ในตัวสุภาพบุรุษนั้น ก็เรียกว่าเข้าขั้นของความเป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริง ไม่ใช่แต่ชื่อ ไม่ใช่แต่ปากนะ ก็เรียกว่าภูมิธรรมเข้าขั้น ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ก็ยังมีไอ้ความเป็นสุภาพบุรุษเข้าขั้นได้เหมือนกัน เพราะว่าศาสนาไหนก็ต้องการอย่างนี้ หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่ดีมันก็ต้องการอย่างนี้ ต้องการความเป็นสุภาพบุรุษที่ถูกต้องนี้ ก็พอจะเรียกว่ามีภูมิธรรมของจิตใจมันเข้าขั้นในระดับแรก ในระดับตระเตรียม ก็เจริญต่อไปจนถึงขั้นที่เรียกว่าถึงกระแสของนิพพานนี่ ถึงต้นกระแสเบื้องต้นของนิพพาน ก็เรียกเข้าขั้นแล้วก็ไปเลย นี่ก็เรียกว่าภูมิธรรมเข้าขั้น
ทีนี้ผมจะพูดคราวเดียวเพื่อเปรียบเทียบ แล้วเพื่อชี้ไอ้สิ่งที่จะควรชี้ เพื่อแก้ไขความประมาท จึงรู้จักมันดี เพิ่งเคยรู้จักมันดี เราตั้งต้นว่าความรู้เข้าขั้น การปฏิบัติเข้าขั้น ภูมิธรรมเข้าขั้น ทีนี้คนทั่วไปก็จะคิดว่ามันจะต้องตั้งต้นมา ๓ ขั้น จะต้องตั้งต้นมา ๓ ขั้นตามลำดับ ๆ เหมือนเหยียบบันได ๓ ขั้นขึ้นมาตามลำดับ นี่คือคนที่หลับตาพูดหรือลืมตาพูด ที่จริงสิ่งนี้มันเป็นไปตามกฎของอริยมรรคหรืออัฏฐังคิกมรรค คนหลับตาพูดก็จะพูดว่ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญามาตามลำดับ หรือเหมือน ๆ บันได ๓ ขั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านกลับตรัสปัญญามาก่อน แล้วมีศีล แล้วมีสมาธิ คือรูปของอริยมรรคมีองค์ ๘ น่ะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปนี่มันเป็นปัญญา มันต้องมาก่อน แล้วจึงมาถึงศีล คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว แล้วมันจึงมาถึงสมาธิ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มันกลายเป็นปัญญา ศีลและสมาธิ โดยพฤตินัยมันเป็นอย่างนี้ แต่โดยนิตินัยมันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็ท่องกันอยู่ ถึงพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่างเป็นลำดับอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน แต่ตรัสในฐานะเป็นทฤษฎีสำหรับพูด แต่พอตรัสเป็นหลักปฏิบัติ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี่กลับเป็นปัญญา แล้วเป็นศีล แล้วเป็นสมาธิ แล้วเป็นปัญญา แล้วเป็นศีล แล้วเป็นสมาธิ วกเป็นวงกลมกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็เจริญขึ้นไป ข้อนี้เป็นอย่างไร ไอ้เรื่องที่เรากำลังพูดก็คืออย่างนั้นแหละ ความรู้เข้าขั้น การปฏิบัติเข้าขั้น ภูมิธรรมของจิตใจเข้าขั้น ไอ้ภูมิธรรมของจิตใจเข้าขั้นนี่มันมาก่อนก็ได้ ถ้าภูมิธรรมของจิตใจไม่พอ มันไม่มาเลือกเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง ไม่มาเลือกเอาศาสนาเป็นที่พึ่ง
ทีนี้ผมอยากจะพูดตัดบทยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า คนเราอาจจะมีภูมิธรรมเข้าขั้นได้เลย โดยไม่ต้องไปสนใจกับเรื่องความรู้เข้าขั้นหรือการปฏิบัติเข้าขั้น ให้มันเป็น ๒ เรื่อง ๓ เรื่อง มากเรื่องออกไป เหมือนตัวอย่างพระองค์หนึ่งที่ยกมากล่าวว่า เทวดาบูชากันนักน่ะ แกไม่ได้มีความรู้เข้าขั้นหรือการปฏิบัติเข้าขั้น แต่กลับมีภูมิธรรมเข้าขั้น สำหรับกรณีทั่วไปผมอยากจะยกตัวอย่างที่ยิ่งไปกว่านั้น ที่เขาไม่ค่อยจะเชื่อกันนะ ยิ่งไปกว่านั้นว่าคนบางคนมันคล้ายว่าเกิดมามีอะไรอยู่ในตัว ซึ่งอธิบายยาก แต่ก็สันนิษฐานได้ว่ามีความประจวบเหมาะของอะไรอยู่ในตัวเขา ทำให้เป็นผู้ที่มีกิเลสน้อยมาโดยกำเนิด ผมเห็นคุณยายบางคนมีอะไรที่เป็นอย่างนี้มาแต่กำเนิด หนังสือก็ไม่รู้ นี่อย่าออกชื่อกันเลยเพราะมันเป็นเรื่องที่จะเอาไปพูดต่อ ๆ ไปเดี๋ยวจะลำบาก แต่ผมยืนยันว่ามันเป็นเรื่องจริงที่เห็นอยู่ทุกวันด้วยตาเองจนกระทั่งเขาตายไป หนังสือก็ไม่รู้ วัดวาก็ไม่ได้ไป แล้วก็ไม่ชอบไปด้วย ฝนตกฟ้าร้องก็อยู่แต่ในสวนหลังบ้านสวนครัวสวนอะไร แต่มีจิตใจที่ประหลาด คือโลภไม่ค่อยจะเป็น โกรธไม่ค่อยจะเป็น แล้วก็ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความเงียบสงบ ไม่มีใครรบกวนไปวันหนึ่ง ๆ นั่นแหละ มีความสบาย ๆ แล้วก็ตายเหมือนกับน้ำมันหมดตะเกียง ในตะเกียงหมดลงไปนั่นแหละ อายุมาก แล้วก็ตายไปโดยไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร นี้ก็มี
แล้วก็ท่านสมภารวัดบ้านนอก อย่างที่เขาเรียกว่าบนป่าบนดอยอย่างนั้นแหละ ก็มีคุณสมบัติประหลาด ที่เป็นที่นับถือยกย่องของคนทั้งหลาย แม้กระทั่งในเมือง พูดอะไรก็ไม่เป็น อธิบายธรรมะง่าย ๆ ที่สุดก็ไม่ได้ ไม่เป็น พูดไม่เป็นเลยเสียทีเดียว แต่มีนั่นแหละอย่างที่ว่านี้ มีอากัปกิริยาแสดงออกมาจนใครเห็นได้ว่ามันไม่มีกิเลสที่จะทำอันตรายใคร โดยส่วนตัวก็เยือกเย็น คนนับถือบูชายิ่งกว่าไอ้พระที่เป็นมหาเปรียญ เป็นเจ้าคุณ คือว่าต้องกล้าพูดตรง ๆ ว่าพระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ผู้มีเกียรติ พระที่ไม่รู้อะไรนี่ ก็ใครไปเห็นเข้าด้วยตา ผมก็เลยเห็นแล้วก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ทีนี้ก็นึกไปว่ามันจะเป็นเพียงอาการของคนบ้า ๆ บอ ๆ นั้น ดูแต่ข้างนอกมันเป็นอย่างนั้น แต่ดูไปแล้ว มันยิ่งดูเท่าไรมันก็ยิ่งเห็นว่ามันเป็นออกมาด้วยความบริสุทธิ์จริงจากข้างใน ที่ไม่อยากเอาอะไร ไม่ทะเยอทะยานอะไร ไม่อะไร ทำไปอย่างนั้นแหละ เป็นด้วย (นาทีที่ 41:45) มีอะไรก็ทำไปอย่างนั้นแหละ มีความสงบสุขอย่างยิ่งของส่วนตัวนี้ แล้วใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมันก็พลอยสงบสุข เยือกเย็น อยากจะทำบุญกับคนชนิดนี้ ได้ทำบุญกับพระชนิดนี้ก็สบายใจ แล้วก็ไม่มีอะไรมากหรอก ไม่มีอะไรมากมาย ไม่มีเรื่องใหญ่โต ไม่มีเรื่องหรูหรา ไม่มีเรื่อง นี่ตามความรู้สึกของผมว่าคุณยาย ๒ - ๓ คนอย่างที่ว่านั้น พระชนิดนี้องค์หนึ่งหรือ ๒ องค์อย่างมากนี่คือผู้ที่มีภูมิธรรมเข้าขั้น โดยที่เราไม่เคยเห็นแกเล่าเรียนนักธรรมเรียนอะไร โดยที่ไม่เคยเห็นแกตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้แบบโน้นเลย ไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยเห็นแม้แต่เดินจงกรมเลย จะมีบ้างก็เรื่องไอ้สันโดษมักน้อย เรื่องฉันอาหาร ที่น้อยที่คนเดียวหรือที่ไม่มักมาก เห็นเป็นเพียงรูปการแต่อย่างนั้น ไม่มีรูปการปฏิบัติเคร่งครัดด้วยท่าทางที่ว่าทำวิปัสสนา นั่งทั้งวันทั้งคืน เดินจงกรมอย่างนี้ไม่มีเลย แต่ถ้าดูลึกไปในหัวใจมันกลับมีภูมิธรรมเข้าขั้นโดยอะไรก็บอกยาก โดยฟลุคหรือโดยบังเอิญหรือว่าโดยพระเจ้าสร้างมาอย่างนั้นหรืออะไรก็บอกยากแหละ แต่มันปรากฏเฉพาะหน้าอยู่ว่ามันเป็นผู้มีภูมิธรรมเข้าขั้น ผมว่าเอาอย่างนี้กันแหละจะง่ายกว่า คือกระโดดมายึดหลักที่เรียกว่ามีภูมิธรรมเข้าขั้นให้ได้ แล้วความรู้มันจะเข้าขั้นทันที การปฏิบัติมันจะเข้าขั้นทันที ไม่เฟ้อไม่ขาดไม่เกิน เพ่งเล็งถึงการที่จะมีภูมิธรรมเข้าขั้นกันให้มาก คือว่าเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าภูมิธรรมนี่มันหมายถึงอะไร
ทีนี้ก็มีสิ่งที่ควรจะสังเกตต่อไปอีกนิดหนึ่งว่าไอ้คำว่า ธรรมประยุกต์ นี่มันไม่ใช่ประยุกต์กับปาก มันไม่ใช่ประยุกต์แก่กิริยาท่าทาง มันประยุกต์ที่จิตใจ ประยุกต์ที่ปากก็คือว่าพูด ๆ พูด ๆ กัน สอน ๆ สอนกันว่าอย่างนั้นแหละ ประยุกต์ apply ได้อย่างนั้น apply ได้อย่างนี้ apply ได้ ประยุกต์กันด้วยปากทั้งนั้นแหละ ที่สอนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในโรงเรียนก็สอนประยุกต์ด้วยปากทั้งนั้นแหละ ที่เรียกว่าปฏิบัติก็เหมือนกัน อย่าหวังที่จะอวดความเคร่งเป็นอันขาด หรืออย่ายึดมั่นถือมั่นไอ้การปฏิบัติด้วยอุปาทาน แล้วก็เพ่งเล็งในภูมิของจิตใจว่าเดี๋ยวนี้ความโกรธของเราเป็นอย่างไรมากขึ้นหรือน้อยลง ความโลภของเรามากขึ้นหรือน้อยลง ความยกหูชูหางของเรามากขึ้นหรือน้อยลง เท่านี้ ทดสอบอยู่อย่างนี้เรื่อย แล้วก็ทำให้มันน้อยลง มันจะเป็นทีเดียวเลย เป็นภูมิธรรมเข้าขั้น แล้วไอ้ความรู้หรือการปฏิบัติมันพลอยถูกลากไปด้วย ไปสู่ความเข้าขั้นตามที่ภูมิธรรมมันมีอยู่อย่างไร ให้มันมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว ถ้าพูดก็ให้มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวจริง ๆ ก็คือมีที่กาย ที่วาจา ที่ใจจริง ๆ แล้วข้อนี้มันง่ายอยู่หน่อยตรงที่ว่าถ้าที่ใจมันมี แล้วก็ไม่ต้องสงสัยหรอก ที่กายที่วาจามันก็ต้องมี ไปสนใจมาจากข้างใน คือตั้งใจหรือดำรงใจ หรือว่าอะไรเกี่ยวกับใจนี่ให้มันถูกต้องไปหมด พอใจถูกต้องแล้วมันลากเอากายวาจาถูกต้องไปได้ด้วย จะง่ายกว่าที่จะตั้งพิธีรีตองจากข้างนอก ซึ่งปรากฏผลอยู่ชัด ๆ แล้วว่ารักษาศีลจนตายก็ไม่เคยมีศีลนี่ เพราะมันไม่มีเจตนารมณ์ของศีล มันมีแต่พิธีรีตอง ท่าทาง ทางปาก ทางร่างกายทางอะไรก็เป็นพิธีรีตองไปหมด นี่ก็เพราะไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าภูมิธรรม หรือมิได้หวังไอ้สิ่งที่เรียกว่าภูมิธรรม หวังแต่แสดงออกซึ่งพิธีรีตองให้เขาเห็นหรือให้หลอกตัวเองว่าดี ว่ากูดี อะไรกันนี่มันเป็นเรื่องหลอกตัวเอง พอมีความรู้สึกว่ากูดีเท่านั้นแหละ ภูมิธรรมมันล้มละลายสูญหายหมด โดยมันยึดมั่นถือมั่นแล้วมันหวังด้วยความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเรามันดีจริง แล้วก็รู้สึกอยู่ว่ามันดีขึ้นนี่ก็ไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นหรือความไอ้กระโดดโลดเต้นอะไรว่ากูดีแล้วโว้ย มันไม่ต้องมี แต่มันดีโดยไม่ต้องอวด หรือมันดีโดยไม่ต้องรู้สึกยึดมั่นถือมั่น นั่นน่ะมันจะเรียกว่ามีเนื้อตัวเป็นธรรมหรือมีธรรมอยู่ที่เนื้อที่ตัวจริง ๆ ถ้ามันมีความยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็ไม่มีธรรม มันเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ปรารถนา เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมฝ่ายทุกข์ เป็นธรรมฝ่ายโน้นไป ที่เราพูดว่าธรรมนี่มันหมายถึงฝ่ายที่มันจะดับทุกข์หรือดับทุกข์แล้ว ให้ตั้งใจจดจ่ออยู่แต่ภูมิธรรมที่สามารถจะทำให้เรายกมือไหว้ตัวเองได้อยู่เงียบ ๆ คนเดียวโดยไม่ต้องมีใครรู้ นี่เรียกว่าภูมิธรรมเข้าขั้น และการประยุกต์ธรรมะให้มีอยู่ในชีวิตซึ่งในเนื้อในตัวมันก็มีเท่านี้ มันก็เสร็จกันเพียงเท่านี้ สามารถใช้ธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือ ทำการประยุกต์คือประกอบธรรมะที่เป็นความมุ่งหมายนั้น เข้ากันได้กับชีวิตเนื้อตัวได้สำเร็จ เราไม่มีเครื่องมือเฉย ๆ เราโง่ไม่รู้จักวิธีใช้ หรือว่าใช้ก็ใช้ผิด ๆ ถูก ๆ เกินไปบ้าง ขาดไปบ้าง มันก็ไม่ได้ผล
เราพูดกันมากแล้วถึงเรื่องธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ เรื่องอิทธิบาท สติปัฏฐาน ความเพียรอะไรต่าง ๆ ไปทบทวนดูเอง ในที่สุดก็เพื่อจะใช้มันให้เกิดผลอย่างที่ว่านี่ คือมีภูมิธรรมเข้าขั้น ไอ้ความรู้นั้นมันซอยเข้าขั้นไปเอง การปฏิบัติมันเข้าขั้นไปเอง ตลอดเวลาให้มีธรรมะอยู่พอตัว แล้วมันก็เป็นการลากเข้าไปพร้อม ๆ กัน ลากดึงเข้าไปพร้อม ๆ กันทั้ง ๓ ชนิด ๓ อย่าง มันกลับส่งเสริมซึ่งกันและกัน ภูมิธรรมเข้าขั้นมันก็ย้อนมาให้ความรู้ หรือการปฏิบัติเข้าขั้นทันที แล้วภูมิธรรมนี่มันจะเป็นเรื่องสำคัญ หรือเป็นเรื่องนำหน้า แล้วเราต้องบริสุทธิ์ใจในภูมิธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องเอาหน้าหรือเรื่องหลอก ๆ เป็นอันว่าเราพูดกันถึงการประกอบธรรมะเข้ากับชีวิต ให้ชีวิตกลายเป็นเต็มไปด้วยธรรมะด้วยเครื่องมือต่าง ๆ แต่โดยวิธีที่มันง่าย หรือว่ามันเป็นธรรมดาสามัญที่สุด ไม่ใหญ่โตอะไร เป็นไปได้แม้ในคนที่ไม่รู้หนังสือ แล้วเป็นไปได้ในคนที่ ดูสิ อย่างที่ว่านี้ คุณยายหรือว่าหลวงตา ๒ - ๓ คน ๒ - ๓ องค์ มีภูมิธรรมสูงจนแม้แต่เทวดาก็จะหันไปหาคนชนิดนั้น พระพุทธเจ้าก็จะสรรเสริญคนชนิดนั้น ไม่ให้เกียรติแม้แก่คนที่เรียนแตกฉานในพระไตรปิฎก เอ้า, เวลาของเราก็หมด