แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๖ กันยายน เป็นวันอันดับที่ ๖๐ แห่งระยะการเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๑๒ เป็นเวลาของพรรษาที่ล่วงไปแล้ว ๒ ใน ๓ ส่วนซึ่งจะต้องนึกถึงสำหรับผู้ที่บวช ๑ พรรษาว่า บัดนี้มันล่วงไปแล้วถึง ๒ ส่วนใน ๓ ส่วน มีอะไรที่จะต้องทำ จะต้องศึกษา ก็จะได้จัดให้มันลงจังหวะกัน
สำหรับในวันนี้จะได้กล่าวถึงธรรมะ ในฐานะที่เป็นตัวชีวิตเสียเอง เพื่อเข้าใจคำว่า ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือยิ่งขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ภาษาพูดของมนุษย์เป็นสิ่งที่ทำความยุ่งยากลำบากในระหว่างการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในทางธรรมะชั้นสูง เขาพูดกันว่าไอ้ภาษานี้มันเป็นสื่อสำหรับทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน พูดอย่างนี้มันถูกแต่ในเฉพาะเรื่องราวตามธรรมดาสามัญเท่านั้น เป็นเรื่องของไอ้เด็ก ๆ หรือคนธรรมดาสามัญ แต่พอมาถึงไอ้เรื่องของธรรมะหรือธรรมะชั้นสูงขึ้นไปแล้ว ไอ้ภาษานี้ก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว มันมีเรื่องสับสนก็ผิดแปลกแตกต่างอะไรกันนี่เข้ามา เพราะว่าไอ้เรื่องธรรมะนี้มันเป็นเรื่องทางจิตใจมากขึ้น ความคิดความเห็นมันมองกันไปคนละทาง และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า ต่างคนต่างคิด หรือต่างพวกต่างคิด แล้วก็ต่างยุคต่างสมัยซึ่งต่างกันมากเป็นร้อยปีพันปี จึงมีทางที่จะคิดหรือว่ามองเห็นไปคนละอย่าง คนละแง่ คนละมุม
นี้จะเอาเราจะลองเอาไอ้คำพูดทางธรรมะมาเปรียบเทียบกันดู คำเดียวกันก็ต่างกันได้หลาย ๆ อย่าง เช่น อย่างคำว่า ความสุข หรือคำว่า นิพพาน มันต่างกัน มันเปลี่ยนกันมาเรื่อยโดยความหมาย ถึงแม้เดี๋ยวนี้มันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่นั่นเอง เพราะว่าความรู้สึกของคนมันไม่เท่ากัน เช่นพูดคำว่า ความสุข นี้มันก็ มันมองกันคนละแง่ ตามความแตกต่างของจิตใจระหว่างบุคคลแต่ละคน จึงมองความสุขหรือหวังความสุขกันคนละอย่าง ทั้งที่พูดว่า ความสุข ๆ เหมือนกัน ความที่ภาษามันสับสนอยู่ในตัวนี้ หรือบางทีก็โดยไม่รู้สึก อย่างนี้มันมานมนานแล้ว เราจึงมีปัญหาเกี่ยวกับภาษาพูดนี่มาก หรืออุปสรรคเกี่ยวกับภาษาพูดมันมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาหรือมองดูกันให้ดีเป็นพิเศษ มันก็จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง เช่นว่าเรามองธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือ นี้มันก็มองไปอย่างหนึ่ง ซึ่งมองธรรมะในฐานะที่มันเป็นผลของการใช้เครื่องมือ มันก็อย่างหนึ่ง
ทีนี้ก็มองดูในฐานะที่เป็นชีวิตโดยตรง คือเป็นทั้งเครื่องมือ และเป็นทั้งการใช้เครื่องมือ เป็นทั้งผลของการที่จะได้รับจากการใช้เครื่องมือ พอมันเป็นอะไรได้หมดอย่างนี้ก็จะเห็นว่า ไอ้คำว่า ธรรมะ นี่มันก็สับสนจึงต้องแบ่งแยกเท่าที่จำเป็น สำหรับจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำ ๆ นี้ เป็นเรื่องเป็นราวไป ที่ทำความสับสนมากก็ดูจากคำ ๒ คำคือ คำว่า โลก กับคำว่า ธรรม ในการแยกเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องโลกกับเป็นเรื่องธรรมนี่ มันก็มีมาก มีทั่ว ๆ ไป แม้นอกพุทธศาสนาก็มันมีการแบ่งแยกอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องโลก ๆ ไม่เกี่ยวกับธรรมะ ไม่เกี่ยวกับศาสนา ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า ก็หมายความว่าตรงกันข้าม อย่างนั้นมันก็ไม่ถูกในทางภาษาที่ลึก ภาษาชั้นลึกของทางธรรมะนี่ ไอ้เรื่องโลกนั้นมันก็คือโลก ก็คือธรรม ไอ้เรื่องธรรมมันก็คือธรรม แม้แต่ตัวโลกเองมันก็คือธรรม การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในโลกมันก็คือธรรม
ทีนี้เรามาแบ่งแยกกันเป็น ๒ เรื่อง เป็นเรื่องโลก กับเป็นเรื่องธรรม มันโง่หรือฉลาดก็ลองคิดดู บางทีมันจะเป็นเรื่องที่โง่ไปตามประสาไอ้คนโง่ คือคนไม่รู้เรื่องธรรม ในการที่ไปแบ่งแยกให้มันเป็น ๒ ฝ่ายตรงกันข้ามเป็นเรื่องโลกกับเรื่องธรรม แล้วก็ยืนลังเลอยู่ตรงกลางไม่รู้จะไปข้างไหน ทีนี้บางทีเราเป็นเรื่องน่าขันที่ว่าเดี๋ยวจะเอาโลก เดี๋ยวจะเอาธรรม เดี๋ยวจะเอาโลก เดี๋ยวจะเอาธรรม ในวันหนึ่ง ๆ ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน จนคล้ายว่าคนบ้า มันคล้ายกับคนบ้าชนิดหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเอาโลก หรือจะเอาธรรม มันรักอย่างนั้น มันเสียดายอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็รักอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เสียดายอย่างนั้น มันเป็นความไม่แน่ใจเพราะไปแบ่งแยกเป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องธรรม ผมก็เคยเข้าใจอย่างนั้น ในเมื่อมันแรกศึกษา หรือว่าแรกได้ยินได้ฟังไปตามเขาว่า ที่เขาสอนกันอยู่ เพราะว่าแบ่งให้เป็นโลกกับเป็นธรรม แล้วแยกกันเดินหันหลังให้กันอย่างนี้ ไม่มีใครทำได้ ขืนทำก็บ้าตาย แล้วมันทำไม่ได้มันขัดอยู่ในตัวโดยธรรมชาติอย่างนี้ แล้วทำไมจึงไปเข้าใจกันอย่างนั้น ทั้งโลก คนทั้งโลกเข้าใจอย่างนั้น ก็ต้องขออภัยที่พูดตรง ๆ ว่าคนมันโง่ มันเป็นปุถุชน แล้วคนหนาไปด้วยฝุ่นธุลีในดวงตานี้มันก็ต้องโง่ มันก็ต้องมองเห็นไอ้สิ่งต่าง ๆ ไปในทางที่มันไม่เป็นประโยชน์ หรือถูกต้อง หรือมันขัดขวางกันอย่างที่ว่ามานี้
นี่เมื่อมันเป็นอย่างนี้เสียแล้วก็จะเล็ง หรือมองถึงสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นในลักษณะไหนกัน ไอ้ชีวิตมันจะคืออะไร ที่ตรงไหนกันแน่ เดี๋ยวมันเป็นโลก เดี๋ยวมันเป็นธรรม เดี๋ยวมันเป็นอะไร มันก็คือสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไร จะไปทางไหน นั้นมันยังไกล จากการที่จะมองว่า ไอ้ธรรมนี้มันคืออะไร ชีวิตมันคืออะไรในเมื่อเกี่ยวกันกับธรรม ดังนั้นอยากให้มองกันในทางที่จะเป็นประโยชน์ตามวิธีของพุทธบริษัท ในชีวิตมันก็คือการอะไร ๆ ได้หลายอย่างแล้วแต่เราจะเปรียบเทียบหรืออุปมาสำหรับพูด แต่ว่าตัวชีวิตแท้ ๆ มันก็ ที่ไม่ต้องอุปมาก็คือ ไอ้สิ่งที่มันเป็นไปตามความโง่หรือความฉลาดของคน ถ้ามันของชีวิตนั่นเอง เพราะบางทีเราก็เรียกว่าคน บางทีเราก็เรียกทั้งหมดนั้นว่าคน บางทีก็แยกว่าชีวิตของคน แต่เราก็มองเห็นได้ชัดว่ามันก็คือ ไอ้สิ่งที่กำลังเป็นไปนี่ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อะไรจะมาทำให้มันเป็นไปถูกต้องเราก็ต้องเรียกว่าธรรม ความถูกต้องตัวนี้พร้อมกัน ๒ อย่าง อย่างตรงกันข้ามนี้เป็นไปไม่ได้ นั้นชีวิตต้องเป็นไปตามทางธรรมเสมอ ถ้าเป็นไปตามทางโลกที่มันตรงกันข้ามจากธรรมนี้เป็นไปไม่ได้ ใครจะทำอะไรได้ แต่ว่าเดินไปหน้าทีก็ต้องถอยหลังมาที เดินไปหน้าทีก็ถอยหลังมาที มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเป็นไปได้มันก็ต้องเดินหน้าไปเรื่อยหรือว่าถอยหลังไปเรื่อย นี้ไอ้วิธีที่มันจะเดินให้ถูกต้องนี้เขาเรียกว่าธรรม จริง ๆ มีแต่ความถูกต้องอย่างเดียว พอการกระทำถูกมันก็ต้องเดินไปทางข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง
ทีนี้เป็นอย่างนี้แล้วไอ้เรื่องโลกกับเรื่องธรรม มันต้องไม่ตรงกันข้ามมันต้องช่วยกันไปข้างหน้าด้วยกัน นึกไม่มีหนทางหรือไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปแยกมันว่าเป็นโลก กับเป็นธรรม แล้วไปตรงกันข้าม เดี๋ยวนี้มักจะสอนกันไปในทางที่ให้แยกกันเสมอ ถ้ายิ่งร้ายไปอีกก็คือ สอนให้คนอยู่ในโลกนี้เดินอย่างโลก ไม่เดินอย่างธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งไอ้สิ่งที่ชาวโลกเขานิยมกัน ซึ่งเล็งถึงไอ้ความได้ตามใจของกิเลส หนักเข้ากลายเป็นเรื่องไม่ถูก กลายเป็นเรื่องสกปรก หรือกลายเป็นเรื่องลามกอนาจารอย่างที่เห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้ ที่นิยมกันอยู่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องลามกอนาจารว่าเป็นของถูกต้อง ถ้าไม่ใช่อย่างธรรมะก็เรื่องอย่างโลก ๆ เป็นของถูกต้อง เหมือนกับที่เขียนคัดค้านฟัดเหวี่ยงกันไปมาอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องกระโปรงสั้น มีหลายคนเป็นฝ่ายหนึ่งที่เขียนว่าถูกต้อง ควรสนับสนุนไม่ใช่ควรเฉย ๆ คือ ควรยอมรับว่าเป็นการถูกต้อง นี่เพราะว่าไอ้คนเหล่านั้นมันเป็นคนที่มีลูกตาหรือมีจิตใจอีกแบบหนึ่งต่างหากนะ ก็ได้อย่างนั้นก็อย่างกิเลสต้องการนั่นมันถูกต้องแล้วสำหรับคนอยู่ในโลก ไม่ใช่คนที่จะเป็นอริยบุคคล แยกกันให้เด็ดขาด ตรงกันข้ามอย่างนี้มันก็มีแต่ผลร้าย พวกหนึ่งก็จะเดินลงเหวลงนรกไปทีเดียว แล้วก็ว่าถูกต้อง ๆ นี่เรื่องโลกมันจะเป็นไปได้อย่างนี้ แม้ที่สอนหรือที่เทศน์กันอยู่ตามวิทยุก็มีบ่อย ๆ แยกเป็นเรื่องโลก เรื่องธรรม ให้ถูกต้องทั้งทางโลกและทางธรรมนี่มันพูดว่ายังไงก็ฟังยาก มันฟังยาก มันเข้าใจไม่ได้ นี้ขยายความ เขาขยายความออกไปว่า ไอ้เรื่องโลกนั้นก็มีทั้งบุญและบาปเจือกันไป มีบุญ มีบาปเจือกันไปเรียกว่าเรื่องโลก ๆ ไอ้เรื่องธรรมนั้นมีแต่บุญอย่างเดียว ก็เท่ากับหลอกให้คนฟังงงไปหมด เรื่องโลกมีทั้งบุญและบาป ทั้งผิดและถูก ทั้งสุขและทุกข์ อะไรก็ตามเจือกันไป นี้ก็สอนให้ให้นอนใจ ให้ตายใจอย่างนั้น มันไม่ถูก แม้จะอยู่ในโลกจะเป็นอย่างชาวโลก ยังไม่เป็นพระอริยะเจ้าอย่างนี้ มันก็ต้องเลือกเอาแต่ฝ่ายถูก ฝ่ายผิดอย่าไปทำเป็นอันขาด เรื่องบาปนั้นอย่าไปเกี่ยวข้องเป็นอันขาด จะเป็นชาวนา ชาวสวน คนค้าขายอะไรก็ตาม มันมีทางที่จะไม่ต้องเป็นบาป พุทธศาสนาสอนให้เว้นจากบาปโดยประการทั้งปวง ถ้าเกิดไปแนะนำสั่งสอนให้เอาพร้อม ๆ กันไปทั้งบุญและบาปตามมีตามได้อย่างนี้มันก็ถูกของเขาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่พุทธศาสนาอย่างแน่นอน ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เคยพบในพระไตรปิฎกที่ตรงไหนเลยว่า ที่เราจะต้องเอาทั้งบุญและบาปคลุกเคล้ากันไปตามวิสัยของชาวโลก พระพุทธเจ้าท่านไม่แนะนำอย่างนั้น ไม่สั่งสอนอย่างนั้น และก็ยังห้ามไม่ให้ทำอย่างนั้น ให้เลือกเอาแต่ฝ่ายดี ฝ่ายถูก ฝ่ายบุญนี้มันเรื่อยไปอย่างเดียว ให้เรื่องโลกนี้มันก็มีแต่เรื่องทำให้ดีขึ้น เรื่องธรรมมันก็ทำให้ดีขึ้น มันก็ต้องเหมือนกัน เป็นเรื่องเดียวเท่านั้นอย่าแบ่งแยกเป็น ๒ เรื่อง เรื่องบาปอย่ารับเข้ามา อย่าเปิดโอกาสเปิดช่องไว้ สำหรับว่าผู้ที่อยู่ในโลกแล้วก็ต้องเอาทั้งบุญทั้งบาป มันไม่ใช่พุทธศาสนา
ทีนี้ถ้าจะพูดว่าชีวิตอย่างโลก ๆ มันก็ต้องไม่มีเรื่องของบาปรวมอยู่ด้วย หมายความแต่เพียงว่ายังอยู่ในระดับตั้งต้น ในระดับต่ำ แต่เอาความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ อย่าเดินทางไปยังจุด ๆ เดียวกัน เพียงแต่ว่าโลกนี้มันอยู่ในขั้นตั้งต้นยังทำไม่ได้มาก แม้จะมีการทำผิดก็ต้องโดยไม่เจตนา เพราะฉะนั้นไม่บาป ไม่ควรจะเรียกว่าบาปหรือทำผิดสำหรับผู้ที่ไม่มีเจตนา เพราะเขาตั้งใจดี ตั้งใจแต่จะเดินไปข้างหน้าที่ถูกเท่านั้น และมันเผอิญ มันเหลือวิสัย มันไม่เข้าใจ มันทำผิดอย่างนี้ ไม่ควรจะเรียกว่าบาป มันต่างกับคนที่สมัครใจว่าบาป รู้อยู่ว่าบาปแล้วก็เอา ก็ได้รับคำสั่งสอนว่าปฏิบัติอย่างชาวโลก อย่างโลก ๆ นี้ต้องรับเอาทั้งบุญและบาป ฉะนั้นมันจึงโกหกตัวเองหลอกลวงตัวเองอยู่เรื่อยไป ไม่มีทางที่จะเจริญในทางจิตใจหรือตามทางของธรรมะ จึงไม่ควรจะรับเอาไอ้ลัทธิชนิดนั้นหรือคำพูดชนิดนั้นมา มันจะทำให้มีปัญหามากขึ้น มีความยุ่งยากสับสนเวียนหัวมากขึ้น
ทีนี้คำพูดที่ใช้พูดกันอยู่นี่มันทำความยุ่งยากลำบากอย่างนี้ มันต้องระวังให้ดี ๆ ไอ้เรื่องโลกเรื่องธรรมไอ้คู่นี้ไม่มีในภาษาทางพุทธศาสนา แม้จะมีคำว่าโลกียธรรม โลกุตรธรรม ก็เป็นเรื่องที่แบ่งแยกทีหลัง พระพุทธภาษิตไม่มีหลักอย่างนี้ พระพุทธภาษิตโดยตรงไม่มีหลักอย่างนี้ มีคำพูดเกิดขึ้นในชั้นหลัง ในยุคที่ร้อยกรองอภิธรรม พูดเรื่องต่าง ๆ โดยการแบ่งแยกให้มันแบ่งชัดลงไปทางภาษา ทาง logic ทางจิตวิทยา ต้องว่าโลกียธรรม โลกุตรธรรม มันก็เกิดขึ้นอย่างที่เรียกว่าชัดขึ้นมา ก่อนนี้จะพูดถึงแต่กับคำว่า ธรรม เฉย ๆ คำว่า ธรรม ก็คือไปข้างหน้าเรื่อย ไปในทางที่ถูกและไปข้างหน้าเรื่อย ถ้ายังล้มลุกคลุกคลานนะมันก็เรียกว่า โลกียธรรม ถ้ามันแน่วแน่เด็ดขาดลงไปแล้วไม่มีล้มลุกคลุกคลานอีกต่อไปก็เรียกว่า โลกุตรธรรมได้ นี้คำว่าล้มลุกคลุกคลานนี่อย่าหมายความว่าสมัครใจทำบาป หรือว่าถอยหลัง หรือยินดีถอยหลัง มันเหมือนกับเด็ก ๆ วิ่งตามพ่อแม่ไป มันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันเป็นเด็กเล็ก ๆ มันก็เดินไม่ค่อยทันมันก็หกล้ม มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ถอยหลังเท่านั้น มันจะต้องถือว่าแม้ไอ้โลกียธรรมนี้ก็ไม่ใช่เรื่องถอยหลัง ไม่ใช่เรื่องตรงกันข้าม ไม่ใช่เรื่องกลับมาหาบาปโดยเจตนา นี่ถ้าทำได้อย่างนี้น่ะ ไอ้ชีวิตเองมันก็จะเป็นธรรม เป็นตัวธรรมขึ้นมา ให้ชีวิตนี้เป็นการเดินทาง เป็นการก้าวหน้า แล้วก็เป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา ถ้ายังไม่แน่วแน่ ไม่มั่นคง ก็ยังเป็นโลกียะ ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าจะมีอาการกลับไปกลับมาก็ไม่ใช่เรื่องบาป มันเป็นเรื่องทำผิดโดยไม่รู้ นี้ก็ต้องมีความมั่นใจ แน่ใจ ปักใจลงไปอย่างนี้ เรื่องโลก เรื่องธรรม อย่าให้กลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม เหมือนที่เข้าใจกันโดยมาก ให้เป็นเรื่องไปทางเดียวกันเลย ตามหลังกันไปเลย มันก็จะเป็นเรื่องการเดินทางอย่างเดียว ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างเดียว
นี้ไอ้ตัวธรรมะนั้นน่ะมันก็กลายเป็นชีวิต ชีวิตนั้นก็คือธรรมะ ธรรมะนั้นก็คือชีวิต ชีวิตก็คือธรรมะ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่แยกเป็นเรื่องวกกลับมาหาไอ้สิ่งที่เป็นโลก คือ ธรรมะฝ่ายผิด เขาเรียกว่าบาป ที่จริงทำบาปโดยเจตนา กับทำบาปโดยไม่เจตนามันผิดกันมากนะ ไอ้ทำบาปเพราะว่าเกิดมายังไม่รู้ ทำบาปเข้า บาปมันก็เผาลนให้ มันก็เป็นการสอนที่ดี แล้วก็ไม่ทำอีกต่อไป ทำบาปอย่างนี้ไม่ควรได้รับการติเตียน แต่ถ้ารู้ว่ามันเป็นบาป มันเป็นสิ่งสกปรก มันเป็นสิ่งถอยหลัง แล้วยังไปทำ แล้วสอนกันว่าควรทำ ตามประสาคนอยู่ในโลกนี้มันผิด มันไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นการทำบาปโดยเจตนา นี้ถ้าว่าจะมีการทำบาปบ้างในการเดินทางของชีวิตนั้นน่ะ มันก็แปลว่ามันไม่รู้ ถูกเข้าแล้วก็เข็ดหลาบอย่างนี้ก็ไม่มีถอยหลัง ไม่มีหยุดอยู่ เพื่ออะไรบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สมควร ดังนั้นก็ให้มองสิ่งที่เรียกว่าชีวิตในลักษณะอย่างนี้ แล้วให้มองทิวทัศน์ของมันที่จะต้องไป ที่จะต้องเดินทางไปในลักษณะอย่างนี้ มันก็จะเป็นผลดีที่มันเป็นพร้อมกันไปในตัว เพราะชีวิตนี้เป็นการเดินทาง แล้วก็มีเครื่องมือของการเดินทางด้วย แล้วมันก็การเดินทางด้วย เป็นการถึงด้วย เป็นการได้รับประโยชน์จากการถึงด้วย ให้มันกลมเกลียวกันไปอย่างนี้ทุกวัน ๆ
มองดูธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือกันมามากแล้วเพียงพอแล้ว ก็มองดูในส่วนทั้งหมด ธรรมะในฐานะที่เป็นตัวชีวิต ที่เป็นอะไรรวมอยู่ทั้งหมดนั้นด้วย แล้วก็มาถึงความสับสนของภาษาอีกตอนหนึ่งที่ว่าจะให้ชีวิตนี้เป็นเครื่องมือ หรือว่าชีวิตนี้เป็นผลของเครื่องมือ มันก็แล้วแต่จะมองนั้น คนที่มีสายตาไกลก็มองเห็นชีวิตเป็นเพียงเครื่องมือ เพราะเป็นการเดินทางไปสู่จุดหมายอะไรอย่างหนึ่ง คนที่มีสายตาสั้น รู้จักโลกน้อย รู้จักแต่เรื่องเอร็ดอร่อยสนุกสนานก็มองดูชีวิตในฐานะที่เป็นผล เป็นตัวกู เป็นของกู เป็นตัวกูเรื่อย ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเสียแล้ว ก็มีทางที่จะลุ่มหลงได้มากไม่ใช้อย่างเครื่องมือ ใช้อย่างของเอร็ดอร่อยสนุกสนานที่นี้ เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ เรื่องมันก็จบอยู่ที่นั่นน่ะสำหรับคนชนิดนั้น แต่ถ้าคนที่รู้ว่าไอ้นี่ยังไม่ใช่ ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของชีวิต หรือว่าของไอ้ที่ความเป็นมนุษย์น่ะ ของความเป็นมนุษย์นี้ยังมีอะไรที่ต้องไปต่อไปอีก มันก็มองดูชีวิตเป็นการเดินทาง ๆ ๆ กว่าจะถึงไอ้ที่สุดของมันที่เรียกว่า นิพพาน คือ ความว่างไปจากชีวิตชนิดนี้ ไปมีชีวิตชนิดใหม่ ชีวิตนิรันดร สละชีวิตบ้า ๆ บอ ๆ ออกนี้เสีย สิ้นสุดเสีย มันก็ไปมีชีวิตใหม่เป็นชีวิตนิรันดร คือ อมตะหรือนิพพาน จะมองเห็นได้ว่า ไอ้ชีวิตตามความหมายของคนธรรมดาสามัญนี้มันเป็นอะไรได้ด้วยตนเอง มองเห็นได้ด้วยตนเอง
ทีนี้ชีวิตอีกคำหนึ่ง คือว่าชีวิตนิรันดร ไม่มีเกิด ไม่มีดับ อาจจะเป็นนิพพานอีกอันหนึ่ง สละชีวิตนี้ก็ได้ชีวิตโน้น หรือว่าเปลี่ยนชีวิตชนิดนี้ให้เป็นกลายเป็นชีวิตชนิดโน้น ถ้าอย่างนี้ได้ พูดว่าชีวิตชนิดโน้นเป็นชีวิตจริง เป็นวัตถุประสงค์ หรือที่บางคนเขาเรียกว่า ควรจะเรียกว่าตัวตน เรียกชีวิตชนิดนั้นว่าตัวตน ว่าอาตมัน ว่าตัวตนก็ได้ ก็ถูกของเค้า เพราะมันเป็นชีวิตที่จริงกว่าชีวิตชนิดลม ๆ แล้ง ๆ นี้ นี้ว่าเราพูดกันอย่างที่กำลังพูดกันว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง เราจะหมายความว่ายังไง หมายความว่าชีวิตที่ไม่บ้า ๆ บอ ๆ แยกไอ้ความบ้า ๆ บอ ๆ ออกไปเสียให้หมด เหลือแต่ชีวิต หรืออะไรก็ตามใจแล้วแต่จะเรียก ที่มันประกอบอยู่ด้วยธรรม มันก็คือธรรม แล้วก็เจริญไปคือเดินไป เจริญไป ก้าวหน้าไป พัฒนาไปมันก็จนถึงยอดสุดปลายทาง เป็นชีวิตที่นิรันดร เป็นอมตะ ถ้ามีชีวิตที่ถูกต้องมันก็ต้องเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง แล้วไปจบลงตรงที่ศูนย์ ความหมายของคำว่าชีวิตหรือการเดินทาง ไปอยู่กับสภาพธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ไม่ต้องเรียกว่าตัวเราอีกแล้ว ไม่ต้องเรียกว่าชีวิตอีกแล้วก็ได้ แต่คนมันยังหลงใหลในสิ่งว่าตัว ในสิ่งที่เรียกว่าตัวเราหรือชีวิต ไปสมมติเรียกว่าชีวิตใหม่ ตัวตนที่แท้จริงอะไรขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัสอย่างนี้ พระองค์ไม่ต้องการจะใช้คำชนิดนี้ ใช้คำว่า ว่าง หรือนิพพาน หรือดับ แต่ทีนี้ไอ้พวกชาวบ้านชาวโลกทั่วไปเขายังชอบไอ้คำว่าชีวิต ไอ้คำว่าตัวตน ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะพูดเอาใจคนเหล่านี้ หรือว่าชักจูงคนเหล่านี้ ก็ยอม ๆ ยอมรับเอาคำเหล่านี้มาใช้อีกแต่ให้ความหมายอย่างอื่น อะไรคืออมตะ ก็คือสิ้นไปแห่งกิเลส อะไรคือของเที่ยงแท้นิรันดร มันก็คือไอ้ความสิ้นไปแห่งกิเลสเพื่อจะจูงคนที่ยังติดแน่วแน่อยู่ในเรื่องคำว่าชีวิตหรือว่าตัวตน บางที ๆ ไอ้คำว่าอัตตาของพระพุทธเจ้าที่ใช้อยู่ว่า ตนพึ่งตนอะไรทำนองนี้ มันก็จะต้องคนชนิดนี้ มาเรียกโดยสมมุติว่าตน ที่แท้ก็คือธรรม คือธรรมะ คือธรรมะสูงสุดใช้ว่าตน เอามาเป็นที่พึ่งแก่ตน เอาตนแท้จริงมาเป็นที่พึ่งแก่ตนหลอกเหลวไหลแก่ตนที่ไม่จริง เอาชีวิตจริงมาดึงดูดชีวิตเหลวไหลนี้ไป เป็นเรื่องพูดโฆษณาชวนเชื่อ ที่ควรจะพูด คือที่มันประกอบไปด้วยธรรมไม่ใช่หลอกเขา แต่ถ้าไม่เข้าใจมันก็คล้ายกับถูกหลอกอยู่นั่น ถึงแม้ว่าจะพูดจริง ถ้าไม่เข้าใจจริงเหมือนคล้าย ๆ กับถูกหลอกอยู่อย่างนั้น แล้วนั่นเรียกว่า ชีวิตคือธรรมะ ธรรมะคือชีวิต มีแต่อย่างเดียวดีกว่า อย่าไปแยกเป็นเรื่องโลกเรื่องธรรม
เอาละ ทีนี้ไอ้วัตถุ ไอ้ความตั้งใจที่จะพูดในวันนี้ก็คือว่า ให้รู้จักมองไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรืออะไรก็ตาม เอาละ ในที่นี้เราเรียกกันว่าชีวิต ให้รู้จักมองชีวิตให้ถูกต้อง ก็หมายความว่าให้รู้จักมองให้เห็นธรรมะที่เป็นตัวชีวิตหรือที่มีอยู่ในชีวิต หรือที่เป็นเครื่องมือของชีวิต หรือว่ารวมกันทั้งหมดเรียกว่าชีวิต แล้วก็มาถึงไอ้ชีวิตในแง่ไหนน่ะ ชีวิต คือ ธรรมะในแง่ที่เป็นเครื่องมือ ชีวิต คือ ธรรมะในแง่ที่เป็นการใช้เครื่องมือ ชีวิต คือ ธรรมะในแง่ที่เป็นการใช้เครื่องมือได้ถูกต้องและสำเร็จ หรือชีวิตในฐานะที่เป็นผลเกิดมาจากการใช้เครื่องมือได้ถูกต้องและสำเร็จ ทั้งหมดก็คือว่าคำ ๆ เดียวที่เรียกว่าชีวิต ไอ้พวกชีวิต ๆ อย่างนี้ มันภาษานักประพันธ์ เอาภาษานักประพันธ์หรือวิธีของนักประพันธ์มาใช้ในทางธรรมะนี้ก็เป็นเรื่องที่เคอะเขิน น่าบัดสีอยู่เหมือนกัน ในเมื่อคนเข้าใจคำอย่างนั้นอยู่ก่อน หรือมาก อยู่มาก มันก็คงพูดกันบ้าง เมื่อคนจะพูดว่าธรรมะก็เอาไปพูดว่าชีวิต เพราะมันเป็นภาษามีชีวิตชีวาตามแบบของคนสมัยนี้ ผมก็ไม่ค่อยชอบ แต่ก็ยังต้องพูด เพื่อประหยัดเวลา หรือเพื่อทำความเข้าใจ หรือว่าเพื่อดึงความสนใจอย่างน้อย ให้รู้จักมองธรรมะที่มีอยู่ในชีวิต หรือมองชีวิตในฐานะเป็นสิ่งที่เต็มอยู่ด้วยธรรมะนานาชนิด หรือมองธรรมะนานาชนิดที่มีอยู่ในชีวิตได้จริงจังทุกอย่าง แต่ละอย่าง ๆ จะมองอย่างดีดับหรือดีดับ (นาทีที่ 37:25) ก็แล้วแต่ คือมองเข้าหรือมองออกก็แล้วแต่ แต่ขอให้มองให้เห็นก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ไม่มองก่อน แล้วก็มองไม่เป็นด้วย ไม่มองน่ะเราไม่เห็นไปเลย ทีนี้มองนะแต่มองไม่เป็น มันก็ยังไม่เห็นอยู่นั่นแหละ มันก็มีผลเท่ากับไม่มอง นั่นเรียกว่าไม่มองดีกว่า ถ้ามองก็หมายความว่าต้องมอง คือมองเป็นและก็มองเห็น เห็นธรรมะอยู่ในชีวิต ประจำวันทุกกระเบียดยิบหรือทุกอนุภาค ทุกอณูของชีวิต ให้เห็นมันเป็นธรรมะ ให้มีธรรมะ ให้เป็นธรรมะ ประกอบด้วยธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จะได้รู้จักกันเอาไอ้ธรรมะผิด ๆ ออกไป ธรรมะอกุศล อกุศลธรรม ออกไป ๆ ให้เหลือแต่กุศลธรรม
เดี๋ยวนี้มันเข้าใจผิดขนาดหนักถึงกับว่าเอาธรรมะไว้ที่วัด เอาตัวเองไว้ที่บ้าน กูจะสมัครค้าขาย จะหาเงิน จะสำมะเลเทเมา เอาไว้ที่บ้าน ธรรมะไว้ที่วัด ศาสนาไว้ที่วัด นาน ๆ พบกันที วันพระวันอะไรจึงพบกันที นี่สอนกันอย่างนี้ก็ไม่ไหว มันเป็นความต้องการของคนที่ยังรักความสำมะเลเทเมามาก มันจึงกีดกันเอาธรรมะเลว ๆ อกุศลธรรมออกไปไม่ได้ มันก็เลยเอาธรรมะอกุศลธรรมนี้เป็นตัวเองเข้าไปจนโลภเข้าไป ผิดวิธีการที่จะ ถอนตนออกจากบาป หรือว่าถอนตนออกจากทุกข์ ไม่สามารถจะควบคุมตัวเองได้เพราะเหตุนั้น ปัญหามันก็เกิดอยู่ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น พร้อมกันไปในตัวหมด
สรุปความแล้วเราต้องมองให้เห็นธรรมะ แม้ในฐานะที่เป็นเพียงเครื่องมือสำเร็จเรื่อยไป ทีนี้ธรรมะในฐานะเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตก็ได้ ยิ่งดี ๆ ขึ้นไป เป็นตัวชีวิตที่สมบูรณ์อยู่ด้วยธรรมะ เอ้า, แล้วก็เวลาเล็กน้อยนี้เราพูดกันถึงเรื่องการมองให้เป็นนั้นน่ะ การมองให้เป็น หรือการมองที่เรียกว่าเป็นการมองของผู้ที่อยากจะมองและสามารถจะมอง ทีนี้ก็ต้องย้อนไปนึกถึงไอ้เรื่องหรือคำที่พูดมาแล้ว ๆ มาแต่วันก่อน ๆ นั้นถ้าธรรมะนั้นมันใช้ได้ มีได้ในทุกกรณีของหน้าที่การงาน จนกระทั่งได้เอ่ยให้ฟัง ถึงแม้แต่ว่าแม่ครัวจะตำน้ำพริกแกงสักครกหนึ่งให้เสร็จไปได้ ก็สามารถที่จะมองให้เห็นได้ว่า มีธรรมะครบถ้วนของโพชฌงค์ ๗ ประการ ธรรมะที่ทำให้เกิดการตรัสรู้ หรือโพธิ หรือมรรคผลเรียกว่า โพชฌงค์ แม้แต่สามารถที่จะเอามาใช้ แม้แต่การตำน้ำพริกแกงของแม่ครัว นี้เรียกว่าเป็นส่วนน้อยที่สุด ส่วนต่ำที่สุดนะ ที่เอามาเปรียบการตำน้ำพริกแกงสักครกหนึ่งน่ะมันเล็ก มันน้อย มันแคบกว่าที่จะพูดว่า ทำนา ค้าขาย เดินทางอะไรนั่นน่ะ มันยังใหญ่ ยังกว้างมาก
ทีนี้ก็ขอเล่าเรื่องไอ้ตัวอย่างที่ผมเคยประสบดีกว่า คุณบางคนอาจจะเคยประสบ ผมน่ะยิ่งเคยประสบ เพราะว่าผมก็เคยเป็นแม่ครัว เมื่อเป็นเด็ก ๆ ก็ถูกใช้ ถูกโยมใช้ให้ตำน้ำพริกแกงอยู่เป็นประจำ กลับมาจากโรงเรียนก็ต้องช่วยโยมในครัว ที่ใช้มากที่สุดก็คือขูดมะพร้าวหรือตำน้ำพริกแกง มันจึงรู้เรื่องนี้ดีในขณะนั้น และพอมาเดี๋ยวนี้มองย้อนหลังก็ยิ่งรู้ดี จนถึงอธิบายได้ว่าแม้แต่การตำน้ำพริกแกงสักครกหนึ่งนั้นยังจะต้องมีธรรมะครบทุกอย่างในพุทธศาสนาก็ว่าได้ แต่ในสมัยเด็ก ๆ นั้นไม่รู้ ไม่รู้เลย แต่มันมี experience ในการทำนั้นมากแล้วก็มันก็เหลืออยู่สำหรับจะมองดูกันเดี๋ยวนี้ จนถึงกับอธิบายได้ว่า ตำน้ำพริกแกงก็มีโพชฌงค์ครบทั้ง ๗ โว้ย แต่แล้วใครมันเคยมองกันบ้าง หรือว่าใครเชื่อว่ามันจะมีได้ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องแยกให้ดูว่าโพชฌงค์ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา เหล่านี้ ๗ อย่างนี้จะมีในการกระทำของเด็กเล็ก ๆ ที่ตำน้ำพริกแกงได้ยังไง ถ้าใครมองเห็นก็เป็นอันกล่าวได้แน่นอนว่า คนนั้นมีความสามารถในการมองธรรมะ ถ้ายังมองไม่เห็น ก็ยังไม่มีความสามารถในการมองธรรมะ ยังอวดดี ยังสะเพร่า ยังมองอะไรผิว ๆ เผิน ๆ นั้นพระ เณร ก็ดี อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ใครเคยมองเห็นโพชฌงค์ ๗ ประการในการตำน้ำพริกแกงก็วัดสอบตัวเองดู
ในการตำน้ำพริกแกง มันก็มีสติ ข้อที่ ๑ คือ สติ ถ้าไม่มีสติมันก็จะเป็นยังไงล่ะ มันก็หกหมดหรือมันก็ล้มไปเลย มันผิด ๆ ถูก ๆ เพราะมันต้องมีสตินับตั้งแต่ที่ว่าจะเอาอะไรมาใส่ลงไป แล้วก็ตำให้มันถูกต้องตามวิธี มันต้องทำด้วยสติ ไม่มีปัญหาข้อนี้คงไม่มีใครค้าน ทีนี้ข้อถัดไป ธัมมวิจยะ ธรรมวิจัย คือ การค้นคว้า การทดสอบ การสังเกต การสอบสวนอะไรอย่างนี้ มันก็มีอย่างยิ่ง ก็เป็นเด็กโง่ และไม่อยากจะทำ จำใจที่จะทำเพราะกลัวแม่ใช้ ไม่ทำไม่ได้จะถูกตี มันก็คงไม่มีธัมมวิจยะ แต่ผมไม่เคยเป็นอย่างนั้น ตามันดูเรื่อยจนเผลอก็น้ำพริกมันกระเด็นเข้าตา มันดูลงไปเรื่อยที่ว่า ไอ้สากมันตำลงไปที่ก้นครกนั่นมันเกิดผลอย่างไร ปฏิกิริยาอย่างไร มันถูกดุว่าตำเม็ดพริกไม่ละเอียด เม็ดพริกยังเป็นเม็ดอยู่ มันก็จริง เพราะในที่สุดไปละลายน้ำดูเม็ดพริกยังอยู่ ทีนี้ก็ตั้งเจตนาจะตำแต่เม็ดพริกนะ ตาดูอย่างดี เจตนาอย่างยิ่งจะตำให้ถูกแต่เม็ดพริกเท่านั้น เม็ดพริกแหลกละเอียดลงไปยังไง ยังจำได้ติดตาเหมือนกับอุคหนิมิต ที่ไม่รู้จักลืมเลือนจนกระทั่งบัดนี้ ไอ้การที่เมื่อสมัยเป็นเด็กเล็ก ๆ ยังติดตาอยู่จนกระทั่งบัดนี้ เหมือนกับอุคหนิมิตว่าเม็ดพริกมันถูกตำแหลกลงไปเม็ดหนึ่งน่ะอยู่ในสภาพยังไง มันก็รู้ รู้แบบมีสติปัญญาที่จะตั้งใจตำแต่เม็ดพริกนี่ เพื่อจะตัดปัญหาที่ถูกดุ ทีนี้อื่น ๆ มันพลอยแหลกไปเองหมด ไม่ว่าจะเป็นเส้นของตะไคร้หรืออะไรก็ตาม เมื่อตั้งใจตำอยู่แต่ไอ้สิ่งนี้มันก็ได้ผลเหมือนกัน มันพลอยแหลกกันไปหมด แต่จะรับประกันให้แน่นอนว่าเม็ดพริกทุกเม็ดต้องแหลก มันก็มีวิธีพิเศษที่จะต้องสังเกตตรงนั้นที่ว่าจะต้องให้ตำอย่างไรให้มันได้ผลตามนั้น มันบอกไม่ถูก มันมีมากแง่มากมุม ที่จะต้องสังเกตและทำให้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นมันเป็นธรรมวิจัยเสียยิ่งกว่าธรรมวิจัยในการตำให้ถูกเม็ดพริก จนกว่าจะมองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นเม็ดพริกแล้วอื่น ๆ มันแหลกไปเมื่อไหร่มันก็ไม่รู้ แหลกไปแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันแทนเข้ามามันปนเข้ามา นั้นคงจะไม่มีใครค้านว่าไอ้นี่มันก็คือธรรมวิจัย คือ การสอดส่องข้อเท็จจริง การสอดส่องไอ้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มันมีอยู่ในนั้นน่ะ ทีนี้วิริยะโพชฌงค์ที่ ๓ มันก็มีอยู่แล้ว มันต้องพยายามอยู่อย่างยิ่ง ใช้กำลัง ใช้กำลังแรง กำลังกาย กำลังจิตอยู่อย่างยิ่งแล้ว
ทีนี้ก็มาถึงปีติโพชฌงค์ คุณไปลองทำดูก็ได้ เพราะว่าทำอะไรถูก ทำอะไรที่ต้องการตามเป้าหมายแล้วมันปีติทุกที งั้นเมื่อตำถูกเม็ดพริกเม็ดเดียวแหลกไปเท่านั้นแหละมันก็มีปีติทุกที มีปีติพอใจทุกทีที่ทำได้ตามที่เราตั้งใจว่าจะทำ คือ ตำให้มันถูกเม็ดพริกเม็ดเดียวเท่านั้นแหละ ทีนี้มันก็มีเม็ดพริกมาก มันก็มีปีติมาก มีฉันทะ มีปีติที่จะทำ ไม่ต้องการจะไปเล่นที่ไหน เพราะว่าที่นี่ก็สนุกพอใช้สนุกเหลือเกินที่เป็นคนเก่งเป็นคนสามารถทำได้อย่างนี้ คือตำเม็ดพริกถูกทุกที ไอ้ปีติสัมโพชฌงค์นี้ก็มีเต็มที่ของมันในเรื่องนี้
ทีนี้พอมาถึง ปัสสัทธิ ต้องแปลคำนี้ว่า ความเข้ารูป ลงรูป เข้ารอย เข้าร่อง เป็นไปได้ดี ความสงบระงับลงแห่งความยุ่งยากต่าง ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในครก หรือของมือที่มันไม่แน่นอนมันไม่ฉลาด เดี๋ยวนี้มันแน่นอนมันฉลาดทุกอย่างเป็นไปดีมาก เป็นที่น่าพอใจ เข้ารูปเข้ารอยหมดเรื่องกระวนกระวาย ระงับไปแห่งความยุ่งยากใจความกระวนกระวายแล้ว มันก็คือ ปัสสัทธิ เต็มตัว
ทีนี้สมาธิไม่ต้องพูดถึงแล้ว แม้แต่จะตำเม็ดพริกเม็ดหนึ่งให้แหลกไปมันก็ต้องมีสมาธิอยู่แล้ว ทีนี้อุเบกขา ก็คือตำเรื่อยไป ทำอย่างนั้นเรื่อยไป ทำด้วยคล้าย ๆ ว่าอัตโนมัติ เป็นเวลาเท่าไหร่ก็ตามใจ กว่ามันจะแหลกจนเป็นที่พอใจ ก็เรียกว่าครบอยู่ทั้ง ๗ โพชฌงค์ ในการทำงานเล็ก ๆ ของคนครัว คือตำน้ำพริกแกง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคำนวณดูเถอะว่าไอ้เรื่องอื่น ๆ ที่มันยากกว่านี้ ใหญ่กว่านี้ สูงกว่านี้ มันจะไม่ต้องใช้ไอ้ธรรมะเหล่านี้ได้อย่างไรกัน หรือว่ามันจะไม่มีธรรมะเหล่านี้ครบอยู่ได้อย่างไรกัน เพราะว่าเรื่องอันนี้มันก็มี เรื่องเล็กขนาดนี้มันก็ยังมีแล้ว เรื่องสูงกว่านั้นมันก็ต้องยิ่งมี แต่ละคนมันไม่มอง มันจึงเห็นว่าไม่มี และเห็นว่ามันไม่เกี่ยวกัน เรื่องน้ำพริกแกง เรื่องโลก เรื่องชาวบ้าน ไม่เกี่ยวกับธรรมะเลย ไม่เอาธรรมะเข้ามาใส่ในเรื่องเหล่านี้เลย จัดเป็นเรื่องโลกกระเด็นไปทางหนึ่งเลย แล้วก็มันก็เป็นโลกที่ตำน้ำพริกแกงอยู่อย่างนั้นแหละโดยไม่เจริญด้วยธรรมะ
ถ้าว่าให้ชีวิตเป็นการเดินทางจริง ๆ แล้ว ทุกอย่างมันย่อมประกอบอยู่ด้วยธรรมะแล้วมองเห็น ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ เป็น experience จริง ๆ ในทางวัตถุขึ้นมาก่อน คือเราจะทำสิ่งเหล่านี้จริง ประจักษ์อยู่แก่ความรู้สึก ฉะนั้นต้องมีการทำสำเร็จ ทำไม่สำเร็จ แล้วก็อุปสรรคแทรกแซง มีหลายครั้งหลายหนที่ว่าน้ำพริกแกงกระเด็นเข้าตาร้องอู้ว, กันเลยนี่ ครั้งแรก ๆ มันจะเป็นยังไงก็ลองดูจนกว่ามันจะรู้จักกัน น้ำพริกแกงเข้าตานี้มันร้ายกว่าสบู่เข้าตา มันก็โกลาหลวุ่นวายพอใช้ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นั้น experience ที่เกิดจากไอ้น้ำพริกแกงเข้าตานี่ก็มีประโยชน์ที่สุด ต้องให้เราฉลาดขึ้นมาจนไม่ให้มันเข้าตาได้อีก ถึงมันเข้าตาก็กลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ คือแก้ไขได้ง่าย แก้ไขได้ดีโดยไม่ทรมานมากนัก ไอ้สิ่งเหล่านี้นี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นธรรมที่สอนอยู่ในชีวิตหรือในการงาน แล้วก็ไม่มีใครสนใจ มันก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีรากฐานที่ตั้ง มันก็ไม่เป็นไปได้
นอกจากจะตำน้ำพริกแกงแล้ว ผมยังถูกใช้ให้หยิบฟืนขึ้นมาจากใต้ถุนเป็นประจำวัน ไอ้ฟืนที่เขาไปพิง ๆ อยู่ใต้ถุน จะต้องหยิบขึ้นมาข้างบนทางร่อง การหยิบฟืนนี้มันถูกไอ้แมงป่องตัวเล็ก ๆ เขาเรียกว่าตัวใยมัน ตัวใยมันนั้นต่อยมือบ่อย ๆ ครั้งแรก ๆ มันก็เหมือนกับตกนรกนะ ถูกไอ้ตัวอย่างนี้ต่อยมือ มันก็เป็น experience ที่ดีที่ว่ามันเป็นอย่างไร การเจ็บเป็นอย่างไร ความอดกลั้นอดทนเป็นอย่างไร ความโง่ความฉลาดเป็นอย่างไร ความละอายเป็นอย่างไร สมัยนั้นมันมียาอยู่ชนิดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ดูจะไม่มีขายแล้วเขาเรียกว่า ยาปฐวีหรือปฐวีพิการ ที่แท้ผมมารู้ทีหลังก็คือ ไอ้ทิงเจอร์พริกขี้หนู Capsicum Tincture ใส่ไอ้เมื่อถูกแมลงป่องนี้ต่อยวิเศษที่สุดนะ ถ้าเขาทำมาดีนี่แรงจิ้มเข้าไปทีเดียวหายเลย ดีกว่ายาหม่องยาแหม่งสมัยนี้อีก แล้วทำไมมันหายสูญไปเสียได้ก็ไม่ทราบ ไม่มีใครทำ ไม่มีใครนิยมใช้ ดังนั้น การที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จะตำน้ำพริกแกงก็ดี จะหยิบฟืนจากกองใหญ่มาไว้ข้างเตาเล็ก ๆ นี้ก็ดี มันมีเรื่องที่จะต้องเป็นธรรมะ มีธรรมะ เต็มไปด้วยธรรมะ นี่มันง่ายถึงขนาดว่า เอ้ย, มันเล็กมากถึงขนาดว่าหยิบฟืนนี่ หยิบฟืนมันก็ง่ายหรือเล็กกว่าตำน้ำพริกแกง มันก็ยังต้องมีธรรมะอย่างเดียวกันอีกมันจึงจะปลอดภัย รวมความแล้วก็ว่าอยู่ที่ไม่มอง
ทีนี้ความมุ่งหมายหรือปัญหาใหญ่ก็ขอให้ทุกคนหยุดอวดดีสักที ความอวดดีมากมายที่แล้วมาแต่หนหลังหยุดกันเสียบ้าง หยุดเสียที แล้วตั้งใจมองไอ้สิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญ โดยหลักที่กล่าวนี้ก็คือว่ามองให้เห็นโพชฌงค์ ๗ ประการในทุกสิ่งที่จะต้องทำ โดยยกตัวอย่างที่ต่ำที่สุดแล้ว การตำน้ำพริกแกง ทีนี้ก็เรื่องอะไรก็ตามเช่น คุณจะอาบน้ำ กว่าจะสำเร็จการอาบน้ำนี่ ถ้าทำได้ดีเต็มที่ก็จะมีโพชฌงค์ ๗ เต็มปรี่อยู่ในการอาบน้ำครั้งหนึ่ง เรียกว่าในชีวิตประจำวันแท้ ๆ การอาบน้ำ หรือจะแปรงฟันหรือจะอะไรก็ตาม มันมีอยู่ในนั้นครบ แต่ไม่มอง ไม่เคยมอง เพราะว่าไม่มองก็ไม่เป็นไรนี่ ไม่มีใครมาทำอะไร แต่ต้องรู้ไว้ว่าการไม่มองอย่างนั้นน่ะ มันเป็นการได้เปรียบของอวิชชา ของพญามาร เป็นการเสียเปรียบของเรา ของสัตว์ทั้งหลายนี้ ที่เราหัดมองเราก็จะไม่ยอมให้เสียเปรียบ ไม่เป็นการได้เปรียบข้างพญามาร ไม่เท่าไหร่เราก็จะฆ่าพญามารได้ นี่จึงหวังว่าทุกคนที่มีอายุล่วงมาถึงขนาดนี้แล้ว ควรจะหัดมองและมองได้ ในเมื่อเด็กเล็ก ๆ อายุ ๗ ขวบ ๘ ขวบมันมองไม่ได้ แต่มันมี experience เหลืออยู่แล้วก็ย้อนไปมองได้ ก็เลยว่าเป็นมองได้หมด ความผิด ความถูก ความอะไรมาตั้งแต่เล็กอย่างไรมันก็มองได้หมดนะ ในที่สุดก็มองเห็นได้ว่าทุกกรณีทุกเรื่องทุกอะไรก็ตาม ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรมะแล้วเป็นล้มเหลว เป็นไม่ได้ผลดี ธรรมะอาจจะมีอยู่ได้แม้แต่ในเรื่องตำน้ำพริกแกง และนับประสาอะไรกับเรื่องเรียนหนังสือ เรื่องเล่นกีฬา เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่มันสูงขึ้นมาซึ่งมันจะต้องมีธรรมะเหล่านี้ ๗ อย่างนี้ครบถ้วน นี้สูงขึ้นมาที่จะเป็นนักคิดเป็นศิลปินเป็นอะไร เป็นผู้มีปัญญา ตอนหลังนี้มันก็ยิ่งต้องมีสิ่งเหล่านี้ เป็นครูบาอาจารย์ก็ยิ่งต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือ มีธรรมะครบถ้วนอยู่จึงจะทำได้ แต่แล้วเมื่อมันโง่ มันไม่เคยมอง มันไม่หัดมอง มันก็มีไม่ได้ มันสร้างขึ้นไม่ได้ หรือมันปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ได้ มันก็เป็นครูบาอาจารย์ที่เลว เป็นศิลปินที่เลว เป็นคนงานที่เลว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่เลว ไว้สมัครกับโจรไปข้างนู้นโว้ย ไปหาทางโลก ทางสำมะเลเทเมา ไม่ต้องรับผิดชอบในทางธรรมะเลย นี่โทษของการที่ไม่มอง แล้วก็มองไม่เป็น แล้วก็มองไม่เห็น เอาไว้เป็นพวกไม่มองหมด
ขอให้มองชีวิตอย่างลึกซึ้งในฐานะที่ว่ามันมีธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต ชีวิตเป็นธรรมะ ธรรมะนี้มีมากเกินกว่าที่จะเป็นเพียงเครื่องมือ แล้วธรรมะนี้เป็นตัวชีวิตเอง เป็นตัวการงานเอง เป็นตัวความสำเร็จประโยชน์ในการงานเอง ทีนี้เรามองสูงขึ้นมาถึงขนาดนี้ คือไกลมากเกินกว่าที่จะเป็นเพียงเครื่องมือ เมื่อได้พูดเรื่องเครื่องมือพอสมควรแล้ว ก็มองให้สูงขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ มันเป็นตัวอะไรทั้งหมด มันอยู่ในธรรมะนั้น เพราะว่าธรรมะเป็นตัวชีวิตทั้งหมด ชีวิตทั้งหมดก็คือธรรมะทั้งหมด แล้วเวลาวันนี้ของเราก็หมด