แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะได้กล่าวถึงธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือตอนสุดท้าย และจะไม่ได้กล่าวอะไรมากมายหรือแปลกออกไป เพียงแต่จะซักซ้อมส่วนที่กล่าวไปแล้วซึ่งมากเรื่องด้วยกันแล้วก็ชวนให้ฟั่นเฝือ แต่ว่าความมุ่งหมายสำคัญ สิ่งที่จะตัดปัญหาสักข้อหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญหรือว่ากำลังรบกวนจิตใจคนทั่วไปอย่างยิ่ง คือปัญหาที่ว่าจะปฏิบัติธรรมะกันให้ครบถ้วนได้อย่างไร คือคนทั่วไปจะรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสคำสั่งสอนมากเหลือเกิน เดี๋ยวตรัสอย่างนั้นเดี๋ยวตรัสอย่างนี้มากมายอย่างนี้จะปฏิบัติกันให้หมดสิ้นได้อย่างไร ในภาษาคนที่ไม่จริงหรือไม่ตรงอยู่แล้วก็จะพูดว่าจะปฏิบัติให้หวาดไหวได้อย่างไร การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่าเขาไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของธรรมะกับความเป็นอันเดียวกันหมดในความสัมพันธ์อันนั้น เราจะสำรวจดูพระพุทธภาษิตที่เป็นคำสั่งสอนที่สำคัญ ๆ จะเห็นว่ามันมีมาก ถ้าจะดูผิวเผินแล้วมันต่างกันมาก ทุกรูปพระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสในทำนองยกย่องอย่างยิ่ง ทุกอย่าง แต่ละอย่าง ถ้าสมมติว่าเป็นพ่อค้าขายของอย่างสมัยนี้ก็มีอาการเหมือนกับว่า นี่ของฉันก็ดี นี่ของฉันก็ดี นี่ก็ดี ๆ ๆ เอายกขึ้น ชูให้เห็นว่าดีไปหมด จนคนซื้อก็จะงงไปก็ได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น มันกลายเป็นเพียงของสิ่งเดียวยกขึ้นมาพูด ในนามหรือในที่ที่มันต่าง ๆ กัน อย่างที่เรากล่าวมาแล้วว่าธรรมะสารพัดนึก ๔ อย่างนี้ท่านก็ตรัสในทำนองท้าทายว่าไม่เชื่อไปถามผู้อื่นดู มีอะไรที่ดีกว่านี้ มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ แล้วก็คนทั่วไปหรืออิทธิบาทนี่ก็ตรัสมาก ผิดถูกว่าการตรัสจนเห็นว่าการตรัสรู้มีขึ้นมาเพราะอิทธิบาท ในตอนสุดท้ายว่าอยากจะมีอายุยืนอยู่กัปหนึ่งก็ยังได้ เลยอาศัยอิทธิบาท นี้ความเพียรก็เป็นสิ่งธรรมดาที่สุดที่ใครจะต้องมองเห็นว่ามันสำคัญอย่างไร เลยตรัสว่าคนจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร
มาถึงสติปัฏฐาน ๔ ก็มีความสำคัญเช่นคำว่า เอกายโน ภิกฺขเว มัคโค ภิกษุทั้งหลายนี้เป็นหนทางเอก หนทางอันเอก ซึ่งเราขยายความออกไปว่าเป็นหนทางสายเดียวเท่านั้น เอาไว้สำหรับคนคนเดียว แต่ละคน ๆ เดิน แล้วก็ไปสู่สิ่งที่สิ่งเดียว เอกอุตตรที่สุด คือนิพพาน แล้วก็เรียกว่ายกย่องถึงที่สุดสำหรับสติปัฏฐาน ส่วนวิริยะ ส่วนอินทรีย์หรือพละนั้นก็ยกย่องมากเช่นเดียวกันในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไปค้นดูก็มีทรงย้ำมากเรื่องอินทรีย์ ๕ ในขณะที่จะมีการตรัสรู้นั้นทำได้อย่างไร
นี่มาถึงโพชฌงค์ ๗ ก็มีเครดิตมากอย่างที่พูดมาแล้วทั้งเมื่อวานนี้ ส่วนเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ท่านไม่ต้องสงสัย มันก็รู้จักกันดีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้านั้นตรัสไว้ในฐานะว่าคือตัวพรหมจรรย์ มรรคมีองค์ ๘ นี่คือตัวพรหมจรรย์ทั้งหมด ว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เป็นสหายที่ดีที่สุด ถ้าโดยตรงก็คือว่าคือทางที่ดับทุกข์เธอได้ นี่เราก็มีอย่างอื่นอีกมาก
แล้วทีนี้มันก็มีอีกประเภทหนึ่งที่ตรัสไว้ในฐานะที่มันสั้นที่สุดจนคนเข้าใจไม่ได้ เช่นว่าให้ปฏิบัติในลักษณะที่สรุปได้ว่า เมื่อตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นก็สักว่าได้กลิ่นนี้เรื่อยไป สักว่าหมายความว่าไม่ได้จริงจังอะไร มันไม่มีความหมายไปเลย ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ซึ่งคนธรรมดาสามัญฟังแล้วก็จะรู้สึกไปในทำนองว่าไม่ได้สอนให้ปฏิบัติอะไรเลย แต่มันกลับเป็นตัวการปฏิบัติอย่างยิ่ง นี่เป็นการพูดตรง ๆ แท้ ๆ ก็ยังฟังยาก ถ้าเป็นการพูดอย่างพูดอุปมาเป็นปริศนาแล้วก็ยิ่งฟังยากเข้าไปอีก ตัวอย่างเช่นว่า ให้ฆ่าบิดามารดาเสียเป็นคนอกตัญญูแล้วก็จะดับทุกข์หมด เป็นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น นี่เรามาสังเกตดูว่าทำไมมันจึงยุ่งไปหมดอย่างนี้ก็เพราะเราฟังไม่ออกฟังไม่ถูก ไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ที่เป็นหลักทั่ว ๆ ไปเป็นหมวดเป็นหมู่นั้น มันก็พูดทุกสิ่งเดียวกันหมดตั้งมากมาย หรือปฏิบัติตามธรรมะหมวดใดหมวดหนึ่งหมู่ใดหมู่หนึ่ง มันจะมีหมู่อื่นรวมอยู่ด้วยหมด ที่ที่มากล่าวไว้อย่างข้อเดียวแบบสั้น ๆ ปฏิบัติแล้วมันก็กระจายออกไปเป็นในธรรมะหลาย ๆ หมู่ แต่ละหมู่ ๆ ก็หลาย ๆ ชื่อนั้น กระจายออกไปได้หมด แล้วแต่ว่าจะดูเข้าหรือดูออก หรือจะพูดกันในกระจายให้มากออกไปหรือจะพูดในลักษณะที่รวบรวมสงเคราะห์กลับมาให้เหลือน้อยเข้า ๆ จนเหลือสิ่งเดียวคำเดียวนั้น มันเป็นวิธีพูด พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไปตามความเหมาะสมแก่ผู้ฟังแก่เหตุการณ์ มันจึงมีหลายแบบหลายอย่าง ตรัสอย่างจำแนกออกไปก็มี ตรัสอย่างสงเคราะห์เข้ามาให้เหลือเพียงสิ่งเดียวก็มี แล้วแต่จะทรงเห็นว่าผู้ฟังนั้นมีปัญญาหรือมีอะไรเท่าไหร่ อย่างตรัสแก่พระพาหิยะซึ่งมันฟังแล้วชวนฉงน เมื่อเธอเห็นรูปก็ต้องตรัสบอกว่าเห็น หูได้ยินก็ตรัสว่าได้ยิน รวมความว่ารู้สึกอะไรก็ตรัสว่ารู้สึก ไม่อย่างนั้นตัวเธอก็ไม่มี เมื่อตัวเธอไม่มี มันก็ไม่มีการไป การมา การเกิด การดับอะไร นั่นแหละที่สุดความทุกข์ ในคำพูดว่า ตาเห็นรู้สึกว่าเห็น หรือว่ารู้สึกอะไรแต่ว่ารู้สึก มันกินความหมดเลย เพราะการที่จะทำอย่างนั้นได้นั่นมันก็มีการรวมเอาไว้ในความหมายของธรรมะทั้งหมด อย่างน้อยก็ในฐานะที่มันเป็นผลของการปฏิบัติเบ็ดเตล็ดเรี่ยราดนั่นทั้งหมดเข้ามาไว้ คือมันเกิดประมวลเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้แล้วมันก็หมดกันเท่านั้นเอง เรื่องมันก็หมดกันเท่านั้นเอง บางคนฟังเท่านั้น ประพฤติเท่านั้นก็ทำได้จะรู้สึกไปในทนองวไมไดสอนใหปฏบตอไรเลย แตมนกลบเปนตวกรปฏบตอยงยง เสร็จแล้ว และบางคนไม่ได้มันต้องแจกแจงออกไปอย่างนั้นอย่างนี้ ตามสัดส่วนของความโง่ของเขา
ทีนี้มาถึงพวกเรา ยังไม่ถึงพวกเรา มาถึงพวกอาจารย์ท่านต่อ ๆ มา ท่านรับเอาคำสอนนี้ต่อ ๆ มา ก็ชอบในการที่จะขยายออก ขยายออกในแง่นั้น ขยายออกในแง่นี้ ละเอียดลึก ลึกไปเกินความจำเป็น เกิดพวกที่เรียกว่า อภิธรรมขึ้นมา มันก็ยิ่งมากใหญ่ อภิธรรมส่วนเกินนั้นคือธรรมะส่วนเกินสำหรับคนธรรมดา นี่มาถึงพวกเราสมัยนี้โดยเฉพาะก็ชอบขยายออกไป ชอบแจกออกไป ในทางที่ตัวถนัดเพื่อจะหาประโยชน์มากกว่าอย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยตรงนั้นก็มาก คนสมัยปัจจุบันจึงตกอยู่ในฐานะที่เรียกว่าลำบากโชคร้ายที่มาพบแต่ความมากมายจนเวียนหัวจนฟั่นเฝือ จากการที่พิจารณาธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือจะเห็นได้ว่า เรามิจำเป็นที่จะต้องรู้สึกว่ามากมายหรือเวียนหัว คือปฏิบัติธรรมะในฐานะที่เป็นเครื่องมือหมวดใดหมวดหนึ่งหรือจะเลือกเป็นหมวดอื่นหรือเป็นอันเดียวกัน ที่สำคัญที่สุด ยกตัวอย่างเช่น สติปัฏฐาน ๔ จะปฏิบัติในรูปอานาปานสติ ๑๖ ขั้นก็ตามหรือในรูปสติปัฏฐาน ๔ หมวดแยกกันก็ตาม ถ้าปฏิบัติถูกต้องมันก็จะมีอะไรครบหมดอยู่ในนั้น แม้แต่หมวดแรกที่สุด ที่เราจะกำหนดลมหายใจยาวลมหายใจสั้น รู้จักลมที่ปรุงแต่งร่างกายและควบคุมมันให้ระงับอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้เท่านั้นนะ ก็นั่งกำหนดลมหายใจเพื่อจะหาวิธีทำให้มันระงับลง ๆ มันก็มีอะไรหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดที่สำคัญที่สุดที่ท่านแนะให้ทำ ก็แนะให้ดู ว่าในเมื่อเรากำหนดลมหายใจทำให้ระงับอยู่อย่างนี้ มันเป็นโพชฌงค์ครบทั้ง ๗ ได้อย่างไร เมื่อนั่งกำหนดลมหายใจอยู่อย่างนั้นก็ลองคิดดูเอง มันเป็นสติข้อที่ ๑ ของคำโพชฌงค์ เพราะมันต้องทำด้วยสติ มันต้องมีสติถึงขนาดจึงจะกำหนดลมหายใจได้ ถ้ากำหนดได้เท่าไร รู้สึกอยู่อย่างไรก็มีสติที่จะรู้ว่ามันเป็นอยู่อย่างไรด้วย กำหนดอยู่เสมอตลอดเวลา เค้าเรียกว่ามีสติอยู่ในขณะที่ฝึกปฏิบัติการกำหนดลมหายใจนั่นเอง
นี่ธรรมวิจยะหรือธรรมวิจัยโพชฌงค์ ข้อที่ ๒ มันมีอยู่ในการที่เราคอยสังเกตอย่างละเอียดลออเกี่ยวกับลมนั้นหรือจะกล่าวให้หมดกับว่านับตั้งแต่เราเลือกเอาวิธีนี้มา ปฏิบัติมันก็เป็นธรรมวิจัยอยู่แล้ว ที่ว่าปฏิบัติอยู่มันต้องมีอาการที่เรียกว่า วิจัย ๆ นี่อยู่ตลอดเวลา คือสังเกตสังกากันอย่างละเอียดเกี่ยวกับลมนั้น แล้วก็มันเป็นเรื่องออกไปถึงว่ามันมีผลอะไรเกิดขึ้น มันมีอุปสรรคอย่างไร แก้ไขอย่างไร มันก็เป็นธรรมวิจยะ โพชฌงค์ข้อที่ ๒ อยู่เต็มตัว นี่เราพยายามเอาจริงเอาจัง ปฏิบัติอยู่ด้วยความพากเพียรนี้มันก็เป็นวิริยะของโพชฌงค์ ข้อที่ ๓ อยู่เต็มตัว
ที่เราพอใจในการปฏิบัตินี้ แน่ใจในการปฏิบัตินี้ก็ดี หรือว่าเมื่อประสบความสำเร็จแม้แต่นิดหนึ่งก็ดีในขณะนั้นเราก็พอใจ เรียกว่า มีปีติ ของโพชฌงค์ ข้อที่ ๔ อยู่แล้ว ในฐานะเป็นเครื่องมือของการที่หล่อเลี้ยงการปฏิบัติเอาไว้ให้ชุ่มชื่น ไม่เบื่อหน่าย
ทีนี้เมื่อทำไป ๆ จนมันระงับลง ลมหายใจระงับลง ๆ หรือว่าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามันเข้ารูป มันจึงลดลง มันถูกต้อง มันเข้ารูป มันลดลง ระงับลง เรียกว่า มีปัสสัทธิของโพชฌงค์ ข้อที่ ๕ อยู่แล้ว ทีนี้ในการทำนั้นมันต้องทำด้วยสมาธิ แม้ที่สุดแต่ในขณะลงมือทำก็เรียกว่าปฏิกรรมสมาธิ เครื่องเพ่งจิตที่ลมหายใจก็เรียกว่าเป็นปฏิกรรมสมาธิอยู่แล้ว ที่ทำมาได้จวนจะเป็นสมาธิเค้าเรียกว่า อุปจารสมาธิอยู่แล้ว ขั้นสมาธิมากอยู่เหมือนกันนะ ที่เราทำได้ถึงขนาดว่าลมหายใจระงับ เป็นเพียงขั้นปฐมฌาน มันก็เป็นสมาธิเต็มตัว เรียกว่าเป็นสมาธิ ของโพชฌงค์ ข้อที่ ๖ อย่างเต็มตัว
ทีนี้การที่รักษาสภาพอย่างนั้นไว้ได้สม่ำเสมอไป เรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่แล้ว นี่ก็เป็นโพชฌงค์ ครบทั้ง ๗ บริบูรณ์อยู่ในการที่นั่งกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่เท่านั้น มีแล้วมันจะมากมายอะไร ในเมื่อทำอยู่อย่างเดียวอย่างนี้ คือเจริญสติปัฏฐาน ๔ แม้แต่เพียงข้อที่ ๑ เท่านั้น มันก็มีลักษณะอาการแห่งโพชฌงค์ทั้ง ๗ อยู่ครบถ้วนตามมากตามน้อย หรือจะมองดูในลักษณะอานาปานสติ ๑๖ ขั้น มันก็กลุ่มที่ ๑ มี ๔ ขั้น ที่เรียกว่ากลุ่มกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น มันก็เป็นอย่างเดียวกัน เป็นสติปัฏฐานอย่างเดียวกัน เราทำอานาปานสติอย่างเดียวกันนั้นมันก็มีอะไรหมดอย่างนี้
ทีนี้จะมองดูกันในแง่ของมรรคมีองค์ ๘ บ้าง เมื่อเราเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในรูปอานาปานสติอย่างนี้ มันก็มีมรรคมีองค์ ๘ มีองค์แห่งมรรคครบทั้ง ๘ องค์ เมื่อนั่งทำอยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ รู้อยู่อย่างนี้ เรียกว่ามีสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐินั้นมันมีมาตั้งแต่แรกที่ดึงมาให้ทำการปฏิบัติเรื่องนี้ ก็เมื่อทำอยู่นั่นก็เป็นคนมีสัมมาทิฐิอยู่ ทีนี้ถ้ายิ่งทำไปได้ ทำอานาปานสติไปได้ถึงกลุ่มที่ ๒ กลุ่มที่ ๓ กลุ่มที่ ๔ แล้วก็ไม่ต้องสงสัยอะไร คือความงอกงามของสัมมาทิฐิยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ๆ กลุ่มสุดท้ายมันมีอนิจจานุปัสสี วิลาคานุปัสสี นั้นคือยอดสุดของสัมมาทิฐิ เห็นความไม่เที่ยงอย่างสมบูรณ์ เอาเถอะ แม้ว่าในกลุ่มที่ ๑ คือแรกลงมือโดยกำหนดลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น ลมทั้งปวง แล้วทำให้ลมมันระงับอยู่ มันก็คือสัมมาทิฐิ คือความฉลาดเฉลียวของคนที่ปฏิบัติ แล้วก็รู้มากขึ้น รู้จริงมากขึ้น ๆ ๆ ทุก ๆ นาทีที่มีการปฏิบัติจึงพอกพูนความฉลาดความรู้จริงมากขึ้น
ทีนี้องค์มรรคที่ ๒ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ หมายถึงความปรารถนาชอบ ใฝ่ฝันชอบ หวังชอบ อะไรชอบพวกนี้ มันก็เกือบที่จะไม่ต้องบอกกระมัง ว่าคนที่นั่งทำอยู่อย่างนี้ พยายามอยู่อย่างนี้ จะไม่เรียกว่าดำริชอบหรือใฝ่ฝันชอบได้ไง มันต้องการถูกต้องที่สุดแล้วมันก็ต้องการอยู่จริง ๆ หวังความสำเร็จอยู่จริง ๆ เอานะ ถ้าว่าจะพูดให้มันสูงไปว่า สัมมาทิฐินั้นเล็งถึงการเห็นหรือรู้อริยสัจ ๔ แต่ในการพิจารณาลมหายใจนั้นทำให้รู้ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ได้ในปริยายต่ำ ๆ หรือว่าสัมมาสังกัปโปจะหมายถึงดำริ ออกจากกามดำริ ในอันไม่พยาบาทดำริ อันไม่เบียดเบียนเหมือนที่ท่อง ๆ จำกันอยู่ คอยมองดูในแง่ที่ว่าผู้ที่ปฏิบัติอานาปานสติอยู่มันมีความหวัง ซึ่งมีความหวังที่สำเร็จแล้วในการที่ออกมาเสียจากโลก จากกาม แล้วก็ไม่พยาบาทใครไม่เบียดเบียนใคร ถ้ามัวพยาบาทใคร เบียดเบียนใครอยู่ มันทำไม่ได้ ที่จริงมีสัมมาสังกัปโปในแง่ไหนก็ตามอยู่แล้วในตัว การเจริญอานาปานสติ
ทีนี้มาถึงสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ก็ดูเอาเอง ว่าการพูดจาในเวลานั้นเป็นอย่างไร ถ้าจะมีการพูดจา ถ้าจะนิ่งเสียมันก็ไปมีผลของการพูดจาที่ถูกต้อง เป็นผลเหมือนกับมีการพูดจาที่ถูกต้อง ถ้าพูดมันก็พูดแต่วาจาที่ถูกต้อง ทีนี้การงาน การงานชอบ สัมมากัมมันโต คือมันก็ยอดสุดของการงาน การทำอยู่อย่างนี้คือยอดสุดของการงาน ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่อะไรเหมือนตามที่จำแนกไว้ แล้วก็ไม่ไปทำอะไรชนิดที่มันเป็นความทุกข์ เป็นความเสียหาย
นี่สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ อยู่กันในแง่ไหนก็ได้ ดูในแง่ของการเลี้ยงชีวิต หาเลี้ยงชีวิตก็ได้ ที่ว่าทำอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าหาเลี้ยงชีวิตชอบตามวิธีของสมณะ ถ้าสัมมาอาชีโวก็แปลว่าดำรงชีวิตชอบ มันก็คือการดำรงชีวิตที่ชอบที่สุด จะมองในแง่ว่าหาเลี้ยงชีวิตก็ตาม จะมองในแง่ว่าดำรงชีวิตอยู่ก็ตาม มันเป็นเรื่องชอบทั้งนั้น สำหรับผู้ที่นั่งทำอานาปานสติได้สำเร็จอยู่ในขณะนั้น จึงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว คนทั่วไปฟังแล้วจะรู้สึกว่าแกล้งพูด ให้เอาเปรียบมาก เอาเปรียบจริง ๆ เพราะว่าอยู่นิ่ง ๆ ก็ให้มันมีอย่างนี้หมดครบถ้วน หรือปฏิบัติธรรมะอยู่ก็พาลถือเอาว่าคือการเลี้ยงชีวิตชอบก็ได้ ไม่เห็นว่าไปทำมาค้าขายอะไรที่ไหน ขนาดเขาไม่รู้จักเรื่องฝ่ายวิญญาณ รู้จักแต่เรื่องฝ่ายวัตถุ เรื่องทำมาค้าขายมันเรื่องฝ่ายวัตถุ เลี้ยงชีวิตชอบ
นี่เรื่องฝ่ายวิญญาณนี้ก็ถือว่าผู้ที่ปฏิบัติเพื่อไปนิพพานเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม เขามีการทำอยู่อย่างนี้ แล้วก็ได้มาบริโภคด้วยการทำอยู่อย่างนี้ เรียกว่าอาชีพของบรรพชิต พูดกล่าวกันอีกทีหนึ่งว่า มีกินใส่ปากอยู่เมื่อทำอย่างนี้ เขาเรียกว่ามีกินใส่ปากอยู่ด้วยอาการที่ชอบ ทีนี้ผมบอกเลยว่า ที่ว่านี้ไม่ใช่ผมว่าเอง คำอธิบายอย่างนี้ไม่ใช่ผมแกล้งว่าเอาเอง มันมีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ปฏิกรรมภิฐามัก ที่อธิบายถึงการ สโมทานธรรมะว่า เมื่อเราทำอยู่อย่างนี้มันมีธรรมะอะไรบ้าง กี่อย่าง ที่อาจจะประมวลออกมาได้ สโมทานมาได้ คืออาการที่เรียกว่า ธรรมะสโมทาน เมื่อเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้อย่างเดียวคือ ทำอานาปานสติ มันก็ลากเอาธรรมะทุกหมวดมาทุกอย่างมาได้ มีสัมมาทิฐิอยู่ในนี้ มีสัมมาสังกัปโปอยู่ในนี้ แล้วก็มีที่ไม่น่าจะมีหรือไม่น่าจะพูดก็คือมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบอยู่ในขณะนี้ เขามองกันลึกและกว้าง
ทีนี้ตัวในสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ต้องพูดถึง มันมีอยู่ชัด ๆ เต็มตัว เวลาทำอานาปานสติอยู่ มันก็มีสัมมาวายาโม ความเพียรชอบ มีสัมมาสติ สติชอบ มีสัมมาสมาธิ สมาธิชอบ อยู่อย่างเต็มตัวโดยตรง ตรงตามที่ตามตัวอักษร นี่ไม่ต้องอธิบาย อธิบายต่อในขณะนี้มันมี ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบอย่างไร ขอให้ไปดูในส่วนนั้นให้มาก จนกระทั่งมองเห็นว่า อ้าว, นั่งอยู่ที่โคนไม้เจริญอานาปานสติอยู่ ทำไมมันมีโพชฌงค์ ๗ ครบ มรรคมีองค์ ๘ ครบบริบูรณ์ นั่นคือคำอธิบายที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อบุคคลเจริญอานาปานสติอยู่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ย่อมบริบูรณ์ ต้องทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ เมื่อมีสติปัฏฐาน ๔ อยู่ก็มีโพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ เมื่อครบทั้ง ๗ บริบูรณ์ก็มีวิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ นี่จะชี้ให้เห็นว่า เมื่อปฏิบัติธรรมะชื่อใดชื่อหนึ่งอยู่มันหมายถึงปฏิบัติธรรมะทุกชื่อได้อย่างไร จะมองเห็นว่ามันจริงอย่างนั้น ไม่ใช่แกล้งว่า แกล้งเอาเปรียบ พูดอย่างเอาเปรียบ จึงขอให้ถือว่าการพูดในวันนี้ พูดเพื่อการทดสอบ ในที่พูดมาแล้วว่าเข้าใจหรือเปล่า อย่างเดียวกับการสอนในโรงเรียน เมื่อพูด ๆ ๆ ไปมากพอแล้วก็ทดสอบถามนักเรียน ทดสอบดูว่าเข้าใจว่าอย่างไร ก็ถามคนนั้น ถามนักเรียนคนนี้ ถามนักเรียนคนโน่นดูว่าอย่างไร ๆ ให้มันตอบมาเข้าใจถูก แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่ก็เป็นการทดสอบเหมือนกันว่า ผู้ฟังฟังไปแล้วเข้าใจว่าอย่างไร ให้ไปทดสอบดูเอง นี้ถึงว่าวันนี้จึงไม่พูดอะไรมาก นอกจากจะพูดเพื่อเป็นการทดสอบ ยกเอาโพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักสำหรับการทดสอบที่สำคัญที่สุดว่า เมื่อปฏิบัติธรรมะที่เป็นตัวพุทธศาสนา หรือเป็นหัวใจพุทธศาสนาชื่อใดชื่อหนึ่งอยู่ มันจะมีธรรมะทั้งหมดในพุทธศาสนาได้อย่างไร
ทีนี้เมื่อมองกลับเมื่อลองปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนาทั้งหมดอยู่ มันรวมลงไปได้ในคำพูดคำเดียวหรือชื่อเพียงชื่อเดียวว่าอย่างไร เราปฏิบัติอานาปานสติกลายเป็นมีโพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ นี่เราปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ แล้วกลายมาเป็นอานาปานสติคำเดียว หรืออาจจะเป็นชื่ออื่น ธรรมะชื่ออื่นก็ได้ในทำนองเดียวกันนี้ ทีนี้เรายกตัวอย่างอานาปานสติหรือสติปัฏฐาน ๔ ว่าปฏิบัติอานาปานสติอยู่มันก็เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ แล้วทำไมต้องพูดกันหลาย ๆ พวก หลาย ๆ หมวด หลาย ๆ หมู่อย่างนั้น ก็เพราะว่าแต่ละหมู่มันเล็งถึงหน้าที่อย่างหนึ่ง ๆ ก็มี จนถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ก็มี จนถึงความสำเร็จในขณะที่มีการปฏิบัติหน้าที่ไปตามลำดับ ๆ อย่างนี้ก็มี ขอให้ย้อนไปนึกถึงที่พูดมาแล้วว่าเราจะต้องมีเครื่องมือ มีการใช้เครื่องมือ มีการถูกต้องในการใช้เครื่องมือ มีการก้าวหน้าไปในการงานนั้นจนถึงความสำเร็จ หรือถ้าเป็นการเดินทางเราก็ต้องมีถนน ต้องมีรถ มีคนขับรถแล้วก็มีการไปอย่างเรียบร้อย แล้วก็มีการถึง มันแยกออกได้เป็นส่วน ๆ อย่างนี้ ในส่วน ๆ หนึ่งเขาเรียกว่าธรรมะกลุ่มหนึ่ง ธรรมะหมู่หนึ่งแล้วมันยังสัมพันธ์กันหมดทุก ๆ ข้อแล้วทุก ๆ หมู่ เพราะนั่งพิจารณาทบทวนอย่างนี้เขาเรียกว่านั่งสโมทานธรรมหรือทำสโมทาน นั่งกระทำธรรมะ สโมทาน คือประมวลมาเป็นธรรมทั้งหลายจากรอบด้านดู มาดู อย่างน้อยที่สุดเมื่อต้องการหล่อเลี้ยงปีติ ถ้าใครเป็นคนไม่ค่อยจะปีติกับเขาได้ ไม่รู้สึกปีติ ก็เอาอาการอย่างนี้มาใช้มาปฏิบัติอยู่เพราะว่าเรามีปีติ เพราะว่าเราก็มีอะไรเกิดขึ้น มีความสำเร็จแล้วก็พอใจได้ เพราะฉะนั้นจึงพูดถึงธรรมะสโมทานนี้อยู่เสมอเรื่อยไปเคียงคู่ขนานกันไปกับการปฏิบัติ มันเป็นเหมือนกับการหล่อเลี้ยงความหวัง ปีตินี้มันหล่อเลี้ยงความหวัง เหมือนกับเราขับรถ ม้าพารถวิ่งไปเรื่อยตามเรียบร้อยราบรื่นแล้ว คนก็นั่งปีติอยู่ได้ ถือเชือกบังคับม้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ไม่กระดุกกระดิกอะไรเลยแต่ในใจมันก็มีปีติได้ ถ้าเราจะดูกันในแง่ของถนนก็ดูได้มากแง่ ดูในแง่ของรถก็ดูมากแง่ ดูในแง่ของคนขับก็ดูกันมากแง่ ดูการไปก็ดูกันมากแง่ ดูการถึงก็ดูกันได้มากแง่ แล้วประโยชน์ที่ได้รับจากการถึงก็ยิ่งมากมาย ถ้ารู้จักดูหมวดนี้ เขาเรียกว่าเป็นผู้มีธรรมะสโมทานเก่งและสามารถที่จะสโมทานธรรมมาได้เก่ง ทำให้รู้สึกเป็นสุขพอใจตลอดเวลา ท่านให้ดูแต่ว่าในอาการอย่างนี้เราจะดูกันเหลี่ยมไหนก็ได้ เหลี่ยมคูมันมีให้ดู มากมายไปหมดเลย จะย้อนไปดูมาตั้งแต่ต้นว่ามีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะอยู่ในส่วนการกระทำอย่างนี้อย่างไรบ้าง แล้วก็เห็นก็มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อย่างไรบ้างมันก็เห็น เครื่องมือพื้นฐาน เครื่องมือสารพัดนึกมันก็มีการทำงานอยู่อย่างเต็มที่ ทีนี้พวกเรามักจะอัดเข้าไป ๆ ๆ ๆ จนไม่รู้ว่าอะไรเพื่ออะไร อะไรอย่างไร มันก็เวียนหัวไม่ต้องสงสัย ผมก็เคยเวียนหัวด้วยความมากมายของธรรมะ แล้วเมื่อจับใจความมันไม่ได้ ก็รู้สึกว่ามันมาก มันฟั่นเฝือ มันวนเวียนแล้วมันยังบางทีก็คัดค้านกันเสียด้วย ธรรมะหมวดนี้คัดค้านกับธรรมะหมวดโน้น ธรรมะหมวดนี้จะดึงไปทางนี้ ธรรมะหมวดโน้นจะดึงไปทางโน้น เราโง่เอง อย่างน้อยที่สุดก็ไปโง่ในข้อที่แยกออกเป็นธรรมะชาวบ้าน ธรรมะบรรพชิต แล้วธรรมะโลกียะ ธรรมะโลกุตตระ มันก็ไม่ถูก ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้ว มันพาไปหาจุดหมายปลายทางเสมอ แม้ชาวบ้านประพฤติมันก็พาไปสู่จุดนั้น แม้บรรพชิตประพฤติมันก็พาไปสู่จุดนั้น ดังนั้นธรรมะสูงสุดที่เรียกว่าโพชฌงค์ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นมันก็ดึงเอามาใช้สำหรับชาวบ้าน ฆราวาสทำไร่ทำนา อยู่ตามบ้านตามสวนตามเรือนนี่ก็ได้เหมือนกันเพราะมันเป็นหลักที่เป็นเครื่องมือหรือความสัมพันธ์แห่งเครื่องมือ
ทีนี้ดูกันอีกทีหนึ่ง วันนี้ไม่พูดอะไรมากแล้ว จะพูดแต่เรื่องทดสอบหรือชี้ให้เห็นในส่วนที่พูดมาแล้วว่าชาวนาทำนา ตาสีตาสาโง่เง่าไม่รู้หนังสือ เมื่อการทำนา ถูกต้องตามวิธีการของการทำนาจึงถ่ายทอดกันมาด้วยการเห็น ๆ บรรพบุรุษทำ ไม่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไหนมา ก็ดูมันก็ยังมีโพชฌงค์ทั้ง ๗ อยู่ในตัวมันนั้นโดยไม่รู้สึก การมีสติ สติสตังไม่ฟั่นเฟือน ไม่ใช่คนบ้า แล้วก็มีสติระลึกอะไรได้รอบคอบทั่วถึงดี ไม่ถึงกับว่าไปไถนาแล้วลืมเอาควายไปด้วยอย่างนี้ มันเป็นคำพูดใช้สำหรับด่าบ้านนี้เมืองนี้ ด่าคนไปไถนาแต่ลืมเอาควายไปด้วย ไถนาลืมควาย เพราะมันไม่มีสติ ทีนี้คนไถนา คนชาวนาเหล่านี้เขาเอาอะไรไปครบถ้วนถูกต้องเพราะมันมีสติ ไม่ลืมควาย ไม่ลืมไถ ไม่ลืมอะไรที่จะต้องเอาไปใช้ที่นา ตลอดถึงเมื่อไถนาอยู่นั้น มันมีสติอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นมันไถนาเรียบร้อยไม่ได้หรอก แล้วในตัวความชำนาญนั้นเองมันก็มีสติ ที่เป็นสติ
ทีนี้สำหรับธรรมวิจยะ คือการวิจัยข้อเท็จจริงต่าง ๆ อะไรต่าง ๆ มันมีอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว คือการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น ไถนาได้ เพราะตลอดเวลามันต้องมีความฉลาดที่เป็นธรรมวิจัยอยู่ในการไถนา ในการตัก ดำนา หรือว่าไม่ได้สุดแต่การที่จะกำจัดโรคภัยของต้นข้าว อุปสรรคศัตรูของต้นข้าว เป็นธรรมวิจัยที่สมบูรณ์อยู่ในเรื่องของการทำนานั้น ก็มีโพชฌงค์ข้อที่ ๒ โพชฌงค์ข้อที่ ๓ คือ วิริยะ พอเห็นเด่นชัดแสดง เหงื่อไหลตลอดเวลา แล้วก็พากเพียรทุกอย่าง โพชฌงค์ข้อที่ ๔ คือ ปีติ ชาวนามาตรฐานบรรพบุรุษ แบบบรรพบุรุษของเราพอใจในการทำนา ไม่อยากไปเป็นนายกรัฐมนตรี ลูกหลานสมัยมันบ้า มันโง่ ทะเยอทะยาน ที่จะเป็นอะไร มากไปกว่านายกรัฐมนตรี เมื่อผมเด็ก ๆ ก็ยังจำได้ที่มีบางคนพูดแสดงไว้ชัดเลย ว่ากูไม่ยอมเลิกการทำนา ให้ไปเป็นนายอำเภอก็ไม่เอา คือว่ารักการทำนาเป็นชีวิตจิตใจ เพราะการมีปีติปราโมทย์ในการที่ได้เป็นชาวนาแล้วมีความสำเร็จในการทำนาเป็นลำดับไปทุกวัน ๆ ๆ ๆ แล้วเมื่อถือคันไถอยู่ก็สบายใจที่สุด บางคนก็ร้องเพลง มีความอิ่มใจที่เห็นว่าต้นข้าวมันขึ้นมา มันมีท้องแล้วอย่างนี้ตลอดเวลา เขาจึงสบายตลอดเวลาไม่ตกนรกทั้งเป็นเหมือนชาวนาสมัยนี้ ชาวนาสมัยผมเป็นเด็ก ๆ กับชาวนาสมัยนี้ผิดกันเยอะ ความรู้สึกมันเปลี่ยน ความเจริญของใหม่มาครอบงำ ไม่อยากเป็นชาวนา
นี่คำว่ามีปีติ แล้วก็มีปัสสัทธิ คือความสงบ ระงับความกระวนกระวายใจได้แล้วก็มีการเข้ารูปลงรูป ที่ผมใช้คำว่าพิเศษเฉพาะนี้เอาเองว่ามันมีการเข้ารูปลงรูป ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายกระวนกระวายเป็นปัสสัทธิ เป็นความสงบระงับแห่งความทะเยอทะยานที่จะไม่เป็นอะไรที่ไหนแล้ว เพราะฉะนั้นใจก็มีสมาธิ แล้วก็มีอุเบกขาอย่างยิ่งเพราะต้นข้าวมันไม่ออกรวงในวันเดียว เพราะการทำนาถูกต้องแล้วและก็นั่งดูเฉย ๆ สบายใจไปพลาง นั่งดูเฉย ๆ ไปพลาง ทนได้ รอได้ จนกว่าถึงวันที่มันจะเกี่ยวข้าว เก็บข้าว มาใส่ในยุ้งในฉาง นั่นแหละความครบของโพชฌงค์ มันมีอยู่แล้วในการทำนาอย่างนี้
ทีนี้เรามาดูในแง่ของมรรคมีองค์ ๘ ความทิฐิของใจว่าชอบแล้ว ที่เลือกเอาอย่างนี้ ความใฝ่ฝันความหวังใจก็ชอบแล้วที่เป็นอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนี้อยู่ การพูดจามันก็ไม่เป็นพาล การงานก็ไม่เป็นพาล อาชีพก็ไม่เป็นพาล มันชอบไปหมด แล้วก็มีความเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบมันก็มีอยู่ตามสัดส่วน ทำนามีความพากเพียรที่ถูกต้อง มีสติควบคุมตัวที่ถูกต้อง มีสมาธิปักใจมั่นในหน้าที่การงานของตนอย่างถูกต้อง มันก็มีมรรคมีองค์ ๘ ตามระดับของชาวนา ถึงการงานในขั้นชาวบ้านชาวโลก ทั้ง ๓ อย่างนี้ ครบมรรคมีองค์ ๘ ประการ ที่เรียกว่าโลกียธรรมนี้ มันก็คือ บุพภาค หรือรากฐานอันแรกของโลกุตรธรรม อย่าไปเข้าใจว่า โลกียธรรมนั้นสำหรับชาวบ้านที่จะต้องโลภโมโทสัน ที่จะต้องสกปรก โสมมไปในเรื่องกามารมณ์ เรียกว่าเรื่องชาวบ้าน นั่นมันก็เป็นข้อแก้ตัวของคนสกปรก เราเอาทะเบียนโลกียโว้ย แล้วก็ไปสกปรก สำมะเลเทเมา เพราะฉะนั้นจึงมีการแบ่งแยกกันเรียกว่า โลกียมรรค และโลกุตรมรรค ถ้ามรรคมีองค์ ๘ มันไม่ถึงขนาดที่บรรลุมรรคผล นิพพานโดยสมบูรณ์ก็ยังเรียกว่า โลกียมรรคไปก่อน คือว่ามันยังกลับได้ โลกียะ หมายความว่ามันยังกลับหลังมาสู่ความเป็นปุถุชนได้ เขาเรียกว่าโลกียะ คือจิตใจยังกลับทำผิดได้ เรียกว่าโลกียะ จิตใจที่แน่ไม่มีการทำผิดอีกต่อไป มีแต่ก้าวในทางถูก นี่เขาเรียกว่าโลกุตระ
ก็เป็นอันว่าในการทำนานี้มันก็มีทั้งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ มีโพชฌงค์ก็ได้ มีอิทธิบาทก็ได้ หรือสติปัฏฐานก็ได้ มีอินทรีย์พละก็ได้ แล้วก็ต้องมีอย่างยิ่งก็คือธรรมะสารพัดนึก คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ทีนี้คุณก็ไปพิจารณาดูตามที่ผมอุปมาให้ฟังว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง ชีวิตนี้เป็นการทำสงคราม ชีวิตนี้เป็นการทำนา ชีวิตนี้เป็นการค้าขาย ทุกแง่ทุกมุมไหนก็ตาม จะประกอบพร้อมอยู่ด้วยธรรมะเหล่านี้ มรรคมีองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ เรื่อยลงมา คนค้าขายที่ถูกต้องก็มีลักษณะของธรรมะเหล่านี้ครบหมดในฐานะเป็นเครื่องมือ ก็ค้าขายให้ได้ดี แม้แต่แม่ครัวจะตำน้ำพริกแกงสักครกหนึ่งในครัวก็ต้องมีสติทำ มีธรรมวิจยะ คือความฉลาดรอบคอบไหวพริบทำ คือมีความพากเพียรทำ มีปีติพอใจในการตำเครื่องแกงอย่างนี้ แล้วก็มีการได้ที่การถูกต้องสำเร็จไปตามลำดับ เขามีกำลังใจทำ มีอุเบกขารอได้จนกว่ามันจะแหลกละเอียดจะไปใส่แกงได้ อย่างนี้มันมากหรือน้อยไป คุณคิดดู คนที่เขาอยากจะแย้งจะค้านตามนิสัยสันดานของเขาคือแย้งได้ แต่คนที่มองไปตามข้อเท็จจริงต่าง ๆ อะไรในส่วนลึกของธรรมะแล้วก็เห็นได้ว่ามันมี แม้แต่แม่ครัวโง่ ๆ ไม่รู้อะไรมากไปกว่าการทำครัวก็มีธรรมะที่เป็นความฉลาดอย่างยิ่งอยู่ในตัว ที่เรียกว่าเป็นของที่ต้องมีทั่วไปหมด ในสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ในสิ่งที่เรียกว่าชีวิตจะต้องมีธรรมะเหล่านี้ครบหมด จะขยายรายชื่อออกไปเท่าไหร่ก็ได้ จะสรุปให้เหลือเป็นชื่อเดียวคำเดียวก็ได้ นี่เรียกว่าธรรมะสโมทานแก่ธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือ มีลักษณะ มีชนิด มีหน้าที่การงาน มีความสัมพันธ์ในหน้าที่การงาน มีการก้าวหน้าไปในการงาน มีความสำเร็จในการงาน เรียกว่า ธรรมะสโมทาน มองดูแล้วเห็นว่ามีธรรมะอะไรบ้างในชีวิตนี้ ถ้าเขาไม่สับสนไม่ฟั่นเฝือไม่เวียนหัว จึงจะมีความสุขได้จากธรรมะหรือจากศาสนา ทีนี้มันขาดสิ่งนี้ แล้วก็กำลังเวียนหัวอยู่กันเป็นส่วนมาก ขอให้ไปคิดดูให้ดี เวลาของเราหมด